Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๓-๗ หน้า ๓๘๙ - ๔๕๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๗ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
[๒๓] หม่อมฉันได้เลือกเก็บดอกสน
มาถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระมหาวีระทรงสูดดมกลิ่นดอกสน
ซึ่งมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นทิพย์
[๒๔] พระมหาวีรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าวิปัสสี ทรงรับแล้ว
ได้สูดกลิ่นในขณะที่หม่อมฉันยังมองดูอยู่นั่นเอง
[๒๕] หม่อมฉันประนมมือไหว้พระพุทธองค์
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว จากนั้นจึงขึ้นเขาไป
[๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสลฬปุปผิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬปุปผิกาเถริยาปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน
๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมทกทายิกาเถรี
(พระโมทกทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] หม่อมฉันได้เป็นนางกุมภทาสีอยู่ในกรุงพันธุมดี
หม่อมฉันถือขนมต้มที่เป็นส่วนของหม่อมฉันไปยังท่าน้ำ
[๓๑] ได้เห็นพระสมณะผู้มีจิตสงบ มีใจตั้งมั่น ที่หนทาง
ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี จึงได้ถวายขนมต้ม ๓ มัด
[๓๒] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันจึงไม่ตกวินิบาตนรกเลยตลอด ๒๙ กัป
[๓๓] หม่อมฉันสร้างสมบัติไว้แล้วได้เสวยสมบัติทุกอย่าง
หม่อมฉันได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว เพราะถวายขนมต้ม ๓ มัด
[๓๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๕] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระโมทกทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมทกทายิกาเถริยาปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนทายิกาเถรี
(พระเอกาสนทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เป็นหญิงร้อยพวงมาลัยอยู่ในกรุงหงสวดี
มารดาบิดาของหม่อมฉันไปทำงาน
[๓๘] หม่อมฉันได้เห็นพระสมณะกำลังเดินไปตามถนน
ในเวลาเที่ยงวัน จึงได้ปูลาดอาสนะถวาย
[๓๙] ครั้นปูลาดอาสนะด้วยผ้าโกเชาว์อันวิจิตรเป็นต้นแล้ว
เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีกล่าวดังนี้ว่า
[๔๐] ‘ภูมิภาคร้อนระอุ เวลาเที่ยงวัน
ลมก็ไม่รำเพยพัด และเวลาก็จะล่วงเลยแล้ว
[๔๑] ข้าแต่พระมหามุนี อาสนะนี้หม่อมฉันปูลาดไว้เพื่อพระองค์
ขอพระองค์ได้โปรดอนุเคราะห์ นั่งบนอาสนะของหม่อมฉันเถิด’
[๔๒] พระสมณะผู้ฝึกตนดีแล้ว มีใจบริสุทธิ์ ได้นั่งบนอาสนะนั้น
หม่อมฉันรับบาตรของท่านแล้ว ได้ถวายบิณฑบาตตามที่ตนหุงต้มไว้
[๔๓] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๔] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
วิมานสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
ซึ่งบุญกรรมเนรมิตสร้างขึ้นอย่างสวยงาม
เพื่อหม่อมฉันเพราะ(การปูลาด)อาสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
[๔๕] บัลลังก์ของหม่อมฉันมีหลายชนิด
คือบัลลังก์ทองคำ บัลลังก์แก้วมณี
บัลลังก์แก้วผลึก และบัลลังก์แก้วทับทิม
[๔๖] บัลลังก์ของหม่อมฉันปูลาดด้วยเครื่องลาดที่ยัดด้วยนุ่น
ด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น๑ก็มี
ด้วยเครื่องลาดแกมไหมประดับด้วยเพชรพลอยก็มี
ด้วยเครื่องลาดมีขนตั้งขึ้นด้านเดียวก็มี
[๔๗] หม่อมฉันเพียบพร้อมด้วยความร่าเริงสนุกสนาน
ไปได้ตามที่หม่อมฉันปรารถนา
พร้อมกับบัลลังก์อันประเสริฐในคราวที่หม่อมฉันต้องการจะไป
[๔๘] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๐ พระองค์
[๔๙] เมื่อหม่อมฉันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้โภคสมบัติมากมาย
หม่อมฉันไม่มีความบกพร่องด้วยโภคสมบัติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๐] หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
ภพอื่นหม่อมฉันไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๑] หม่อมฉันเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์
หม่อมฉันเกิดในตระกูลสูงทุก ๆ ภพ
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย

เชิงอรรถ :
๑ ด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น แปลมาจากศัพท์ว่า วิกติกา (ตามนัยอภิธานัป-
ปทีปิกา ๓๑๔/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
[๕๒] ความโทมนัสที่ทำจิตของหม่อมฉันให้เร่าร้อนหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๓] พี่เลี้ยงนางนม หญิงค่อม และหญิงรับใช้จำนวนมาก
ต่างก็ปรนนิบัติหม่อมฉัน หม่อมฉันถูกพี่เลี้ยงต่างผลัดกันอุ้ม
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๔] พี่เลี้ยงพวกหนึ่งอาบน้ำให้หม่อมฉัน
พวกหนึ่งคอยป้อนข้าวหม่อมฉัน
พวกหนึ่งประดับตกแต่งหม่อมฉัน
พวกหนึ่งชวนหม่อมฉันให้รื่นรมย์ทุกเวลา
พวกหนึ่งลูบไล้ของหอมให้
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๕] บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของหม่อมฉันผู้อยู่ที่มณฑป
โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ย่อมปรากฏขึ้น
[๕๖] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของหม่อมฉัน
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในวันนี้หม่อมฉันก็สละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิต
[๕๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๕๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเอกาสนทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนทายิกาเถริยาปทานที่ ๔ จบ
๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปทายิกาเถรี
(พระปัญจทีปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่ในกรุงหงสวดี
มีความต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดวาอาราม
[๖๒] ได้เห็นต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ ในกาฬปักข์(ข้างแรม)
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธิ์นั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์
[๖๓] หม่อมฉันตั้งจิตคารวะประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[๖๔] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือน
โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด
คือขอให้ต้นโพธิ์นี้จงเปล่งรัศมีเถิด’
[๖๕] ทันใดนั้นเอง พร้อมกับที่หม่อมฉันรำพึง
ต้นโพธิ์มีรัศมีดั่งทองคำล้วน โชติช่วงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๖๖] หม่อมฉันนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน
เมื่อถึงวันที่ ๗ หม่อมฉันได้ทำการบูชาด้วยประทีป
[๖๗] ประทีป ๕ ดวง โชติช่วงล้อมรอบอาสนะ
ครั้งนั้น ประทีปของหม่อมฉันโชติช่วงอยู่จนอาทิตย์อุทัย
[๖๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๙] วิมานที่บุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อหม่อมฉัน
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เรียกว่าปัญจทีปวิมาน
สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
[๗๐] ประทีปนับไม่ถ้วนส่องสว่างล้อมรอบหม่อมฉันอยู่
ทั่วทั้งเทววิมานโชติช่วงด้วยแสงประทีป
[๗๑] หม่อมฉันนั่งหันหน้าไปทางทิศบูรพา
ถ้าปรารถนาจะดู ก็จะเห็นได้ทุกอย่างด้วยจักษุ
ทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวาง
[๗๒] หม่อมฉันปรารถนาจะเห็นกรรมดีและกรรมชั่ว
ที่คนทำแล้วในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น
ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากางกั้นได้
[๗๓] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ พระองค์
[๗๔] หม่อมฉันเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ประทีปนับแสนดวงส่องแสงล้อมรอบหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๗๕] หม่อมฉันจุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในครรภ์มารดา
เมื่อหม่อมฉันอยู่ในครรภ์มารดา นัยน์ตาของหม่อมฉันมิได้หลับ
[๗๖] ประทีปนับแสนดวงส่องแสงสว่างอยู่ที่เรือนคลอดของหม่อมฉัน
ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญกรรม
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๗๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันกลับใจให้วิเศษ
จึงเห็นพระนิพพานอันเป็นสภาวะเยือกเย็น
ไม่มีชราและมรณะ
[๗๘] พอหม่อมฉันอายุได้ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าจึงให้หม่อมฉันอุปสมบท
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๗๙] ประทีปลุกโพลงส่องสว่างให้หม่อมฉัน
ผู้อยู่ที่มณฑป โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๘๐] ทิพยจักษุของหม่อมฉันบริสุทธิ์
หม่อมฉันฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๘๑] หม่อมฉันเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันชื่อว่าปัญจทีปา ขอกราบพระยุคลบาทของพระองค์
[๘๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
[๘๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระปัญจทีปทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ
๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬมาลิกาเถรี
(พระนฬมาลิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดเป็นนางกินนรี
อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
หม่อมฉันได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๘๗] หม่อมฉันเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี เกิดโสมนัส
ประนมมือแล้ว ถือพวงมาลัยดอกอ้อมาบูชาพระสยัมภู
[๘๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
หม่อมฉันละกายกินนรีแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๘๙] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๓๖ พระองค์
สิ่งที่หม่อมฉันปรารถนาด้วยใจย่อมบังเกิดตามความปรารถนา
[๙๐] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐ พระองค์
เป็นสตรีมีบุญกุศลสั่งสมไว้แล้ว เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
[๙๑] กุศลของหม่อมฉันมี หม่อมฉันได้บวชเป็นบรรพชิต
วันนี้ หม่อมฉันเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชา
ในศาสนาของพระศากยบุตร
[๙๒] วันนี้ หม่อมฉันมีใจบริสุทธิ์ ปราศจากจิตที่หยาบช้า
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๙๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพวงมาลัยดอกอ้อ
[๙๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๕] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระนฬมาลิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬมาลิกาเถริยาปทานที่ ๖ จบ
๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
(พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๗] คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงส่องโลกให้สว่าง
ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
[๙๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีพระมาตุจฉา(น้าสาว)
ของพระชินเจ้า อยู่ในสำนักของภิกษุณี
ในกรุงที่น่ารื่นรมย์นั้น
[๙๙] พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป
ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้ว
เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น
อยู่ในที่สงัดได้ตรึก(คิด)อย่างนี้ว่า
[๑๐๐] “การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี
ของพระอัครสาวกทั้งคู่ก็ดี ของพระราหุลก็ดี
ของพระอานนท์ และของพระนันทะก็ดี เราจะไม่ได้เห็น
[๑๐๑] ก่อนแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
ของพระอัครสาวกทั้งคู่ ของพระมหากัสสปะ
ของพระนันทะ ของพระอานนท์ และของพระราหุล
เราก็จะไม่ได้เห็นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๐๒] เราผู้ที่พระโลกนาถ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงอนุญาตแล้ว
พึงปลงอายุสังขารแล้วนิพพาน”
[๑๐๓] ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้น
แม้พระเขมาภิกษุณีเป็นต้นก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน
[๑๐๔] ครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือลั่น
เทพที่สถิตอยู่ในสำนักภิกษุณี
ถูกความเศร้าโศกบีบคั้น
[๑๐๕] บ่นเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาในที่นั้น
ภิกษุณีทุกรูปพร้อมด้วยเทพเหล่านั้น
ได้เข้าไปหาพระโคตมีภิกษุณี
[๑๐๖] ซบศีรษะลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำนี้ว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า
เพราะหม่อมฉันมีปกติอยู่ด้วยการเทียบเคียงในธรรมเหล่านั้น
หม่อมฉันจึงได้อยู่ในที่สงัด
[๑๐๗] แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น กลองทิพย์บันลือลั่น
และหม่อมฉันได้ยินเสียงคร่ำครวญ
ข้าแต่พระโคตมี จะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่”
[๑๐๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีนั้น
ได้บอกถึงเหตุทุกอย่างตามที่ตนได้ตรึกแล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุณีทุกรูปก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนตรึกแล้วกล่าวว่า
[๑๐๙] “ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการนิพพาน
ที่เกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงหม่อมฉันทั้งหลายก็จักนิพพานทั้งหมด
ในกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตก่อน
[๑๑๐] แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ออกจากเรือน
และจากภพพร้อมกับพระแม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันทั้งหลายก็จักไปสู่เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน
พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน”
[๑๑๑] พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า
“เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน ฉันจักว่าอะไรได้เล่า”
แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไป
พร้อมกับภิกษุณีทั้งหมดในครั้งนั้น
[๑๑๒] พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี
ได้กล่าวกับทวยเทพทั้งหลายว่า
“ขอเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ สำนักภิกษุณี
จงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
การเห็นสำนักภิกษุณีของข้าพเจ้านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
[๑๑๓] ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย
ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก
ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก
ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นอสังขตสถาน
(สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)”
[๑๑๔] พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ
ได้สดับคำนั้น เป็นผู้อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า
“น่าสังเวชหนอ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย
[๑๑๕] สำนักภิกษุณีนี้จักว่างเปล่า
เพราะเว้นจากภิกษุณีเหล่านั้น
ภิกษุณีผู้เป็นชิโนรสจะไม่ปรากฏ
เหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่าง
[๑๑๖] พระมหาปชาบดีโคตมีจะนิพพาน
พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป
เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร
พร้อมกับแม่น้ำ ๕๐๐ สาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๑๗] อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา
เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน
ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า
แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า
[๑๑๘] “การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย
ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร”
อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ
[๑๑๙] เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก
พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า
“อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย
วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย
[๑๒๐] ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว
เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ฉันเว้นขาดแล้ว
นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว
ภาณวารที่ ๑ จบ
[๑๒๑] พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระหนัก๑ฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว
[๑๒๒] กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ภาระหนัก หมายถึงขันธภาระ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (ขุ.เถร.อ.
๒/๖๐๔/๒๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๒๓] พระพุทธเจ้าและพระสัทธรรมของพระองค์
มิได้ย่อหย่อนยังดำรงอยู่ตราบใด ตราบนั้นเป็นเวลาสมควรแล้ว
ที่ฉันจะนิพพาน ลูกเอ๋ย อย่าได้เศร้าโศกถึงแม่เลย
[๑๒๔] พระชินเจ้า พระราหุล พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระอานนท์ และพระนันทะเป็นต้น ก็ยังดำรงอยู่
ขอพระสงฆ์จงมีประโยชน์สุขร่วมกัน
ขอให้เดียรถีย์จงเป็นผู้มีความโง่เขลาถูกกำจัดเสียเถิด
[๑๒๕] ยศคือการย่ำยีมารแห่งวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
ฉันก็ให้รุ่งเรืองแล้ว
ลูก ๆ ถึงเวลาที่แม่จะนิพพานแล้วมิใช่หรือ
[๑๒๖] ความปรารถนาที่แม่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นมาช้านาน
จะสำเร็จแก่แม่ในวันนี้
เวลานี้เป็นเวลาที่กลองอานันทเภรีบันลือเสียง
ลูกเอ๋ย น้ำตาจะมีประโยชน์อะไรแก่พวกลูก
[๑๒๗] ถ้าลูกทั้งหลายจะมีความเอ็นดู
หรือมีความกตัญญูในมารดา
ก็ขอให้ลูกทุกคนจงทำความเพียรให้มั่น
เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมเถิด
[๑๒๘] พระสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งแม่ทูลอ้อนวอน
จึงได้ทรงประทานการบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น แม่ยินดี ฉันใด
ลูกทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามความยินดีนั้น ฉันนั้นเถิด”
[๑๒๙] ครั้นพระนางพร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว
มีภิกษุณีทั้งหลายห้อมล้อมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ไหว้แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๓๐] “ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเคยเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์
ข้าแต่พระธีรเจ้า ส่วนพระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสุข
ที่เกิดจากพระสัทธรรม
ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้เกิดแล้ว
[๑๓๑] ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้
อันหม่อมฉันเคยฟูมฟักให้เจริญเติบใหญ่แล้ว
ส่วนพระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน
อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว
[๑๓๒] พระองค์หม่อมฉันให้ดื่มน้ำนม
อันระงับความหิวได้เพียงชั่วครู่
ส่วนหม่อมฉันพระองค์ทรงให้ดื่มแม้น้ำนม
คือพระธรรมซึ่งสงบระงับได้แท้จริง
[๑๓๓] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ชื่อว่ามิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน
ในเพราะการเลี้ยงดูด้วยความผูกพัน
หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตรขออยู่
ก็ย่อมได้บุตรเช่นนั้น
[๑๓๔] มารดาใดของจอมนรชน มีพระเจ้ามันธาตุเป็นต้น
มารดานั้นชื่อว่ายังบุตรให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพคือภพ
ข้าแต่พระปิโยรส ส่วนหม่อมฉันผู้จมอยู่แล้ว
พระองค์ทรงช่วยให้ข้ามพ้นจากสาครคือภพได้
[๑๓๕] พระนามว่า พระพันปีหลวง
สตรีทั้งหลายได้มาโดยง่าย
(แต่)พระนามว่า พุทธมารดา นี้
สตรีทั้งหลายได้มาโดยยากอย่างยิ่ง
[๑๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ก็พระนามว่า
พุทธมารดานั้นอันหม่อมฉันได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ปณิธานน้อยใหญ่ของหม่อมฉันพระองค์ก็ทรงให้สำเร็จแล้ว
ทั้งหมดนั้นพระองค์ทรงให้บริบูรณ์แล้ว
[๑๓๗] หม่อมฉันปรารถนาที่จะละร่างนี้ปรินิพพาน
ข้าแต่พระวีรเจ้า ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระองค์ทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันเถิด
[๑๓๘] ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดพระยุคลบาท
ที่วิจิตรด้วยลายจักร (ลายจักรก้นหอย)
และธงอันละเอียดอ่อนเหมือนดอกบัวออกเถิด
หม่อมฉันจะนอบน้อมพระยุคลบาทนั้น
จักขอทำความรักในบุตร
[๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันจะทำสรีระคือร่างกายของพระองค์
เหมือนกองทอง อันปรากฏเหมือนทับทิม
ให้เป็นอันหม่อมฉันเห็นดีแล้วจึงจะนิพพาน”
[๑๔๐] พระชินเจ้าทรงแสดงให้พระมาตุจฉาเห็นพระวรกาย
ที่ประกอบด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการ
ประดับด้วยพระรัศมีอย่างงดงาม
ซึ่งเป็นเหมือนดึงดูดดวงตาของคนพาล
[๑๔๑] ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น
ได้ซบพระเศียรลงแทบพื้นพระยุคลบาท
ซึ่งเป็นลายจักรคล้ายดอกบัวบาน
มีพระรัศมีดังดวงอาทิตย์แรกทอแสง แล้วได้กราบทูลว่า
[๑๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์ของนรชน
หม่อมฉันนอบน้อมพระองค์ ผู้เป็นธงแห่งวงศ์พระอาทิตย์
ขอพระองค์ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันในกาลสุดท้ายด้วยเถิด
หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศในโลก ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระกรุณา
ธรรมดาสตรีทั้งหลายรู้กันว่ามีแต่จะก่อโทษทุกประการ
ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของหม่อมฉันมีอยู่
ก็ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด
[๑๔๔] อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลขอบ่อย ๆ
ให้สตรีทั้งหลายได้บวช
ข้าแต่พระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
ถ้าโทษในข้อนั้นจะมีแก่หม่อมฉัน
ขอได้โปรดยกโทษนั้นด้วยเถิด
[๑๔๕] ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งการยกโทษ
ภิกษุณีทั้งหลาย อันหม่อมฉันสั่งสอนแล้ว
ตามที่พระองค์ทรงอนุญาต
ถ้าข้อนั้นจะมีการแนะนำผิด
ขอได้โปรดยกโทษในข้อนั้นด้วยเถิด”
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
“โคตมีผู้ประดับไปด้วยคุณ
ชื่อว่านิพพานก็สมควรแก่เธอ จะมีโทษอะไร
เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน
ตถาคตจักไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า
[๑๔๗] เมื่อภิกษุสงฆ์ของตถาคตบริสุทธิ์
ไม่บกพร่อง เธอจะออกไปเสียจากโลกนี้ก็ควร
เพราะในเวลาสว่าง เมื่อดวงดาวหมดแสง
จันทเลขาก็เห็นเลือนไป”
[๑๔๘] ภิกษุณีทั้งหลายนอกจากพระมหาปชาบดีโคตมี
พากันทำประทักษิณพระชินเจ้าผู้เลิศ
เหมือนกลุ่มดาวที่ติดตามดวงจันทร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ทำประทักษิณภูเขาพระสุเมรุ หมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้ว
ยืนเพ่งดูพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า
[๑๔๙] “จักษุของหม่อมฉัน
ไม่เคยอิ่มด้วยการเห็นพระองค์
โสตของหม่อมฉันก็ไม่เคยอิ่มด้วยภาษิตของพระองค์
จิตของหม่อมฉันดวงเดียวเท่านั้น
บรรลุธรรมจึงอิ่มด้วยรสแห่งธรรม
[๑๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้ประเสริฐ
เมื่อพระองค์บันลืออยู่ในท่ามกลางบริษัท กำจัดทิฏฐิมานะ
ชนเหล่าใดเห็นพระพักตร์ของพระองค์
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ถึงที่สุดแห่งสงคราม
ชนเหล่าใดประณตน้อมพระยุคลบาทของพระองค์
ซึ่งมีพระองคุลียาว มีพระนขาแดงงดงาม มีส้นพระยุคลบาทยาว
แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้สูงสุด
ชนเหล่าใดได้สดับพระดำรัสของพระองค์
ซึ่งไพเราะน่าปลื้มใจ เผาเสียซึ่งโทษ เป็นประโยชน์เกื้อกูล
แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๓] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉัน
อิ่มไปด้วยการบูชาพระยุคลบาทของพระองค์
ข้ามพ้นทางกันดารคือสงสารได้
ด้วยพระสุนทรกถาของพระองค์ผู้มีพระสิริ
ฉะนั้น หม่อมฉันจึงชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๕๔] ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีผู้มีวัตรงาม
ประกาศในหมู่ภิกษุสงฆ์แล้วไหว้พระราหุล
พระอานนท์ และพระนันทะแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า
[๑๕๕] “ดิฉันเบื่อหน่ายร่างกายซึ่งเสมอด้วยที่อยู่ของอสรพิษ
เป็นรังแห่งโรค เป็นสถานที่เกิดทุกข์
มีชราและมรณะเป็นโคจร
[๑๕๖] เกลื่อนกล่นไปด้วยมลทินคือซากศพต่าง ๆ
ต้องพึ่งพาผู้อื่น ปราศจากความน่าใฝ่ใจ
ฉะนั้น ดิฉันจึงปรารถนาจะนิพพานเสีย
ขอลูก ๆ ทั้งหลายจงเข้าใจตามสมควรเถิด”
[๑๕๗] พระนันทเถระและพระภัททราหุล
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก หมดอาสวะ ตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหว มีปัญญา มีความเพียร ได้คิดตามธรรมดาว่า
[๑๕๘] “น่าติเตียน ร่างกายที่ปัจจัยปรุงแต่ง
มีภาวะหวั่นไหว ปราศจากแก่นสาร เปรียบได้กับต้นกล้วย
เช่นเดียวกับพยับแดดซึ่งเป็นมายา ต่ำช้าไม่มั่นคง
[๑๕๙] พระโคตมีเถรีพระมาตุจฉาของพระชินเจ้านี้
ซึ่งได้เคยเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าก็ยังต้องเสด็จนิพพาน
สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง”
[๑๖๐] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พุทธอนุชา
ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระชินเจ้า
ยังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ท่านหลั่งน้ำตา
คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาในที่นั้นว่า
[๑๖๑] “พระโคตมีเถรีตรัสอยู่หลัด ๆ ก็จะเสด็จนิพพานเสียแล้ว
คงอีกไม่นานเลย แม้พระพุทธเจ้าก็จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๖๒] พระโคตมีเถรีได้ตรัสกับพระอานนท์
ผู้เชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมที่ลึกล้ำปานสาคร
ฝักใฝ่ในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าซึ่งพร่ำรำพันอยู่ดังกล่าวมาว่า
[๑๖๓] “ลูกเอ๋ย เมื่อกาลเป็นที่ร่าเริงปรากฏแล้ว
พ่อไม่ควรที่จะเศร้าโศกถึงการตายของแม่
การนิพพานของแม่นั้นใกล้เข้ามาแล้ว
[๑๖๔] ลูกเอ๋ย พระศาสดาลูกได้ทูลให้ทรงยินยอม
จึงได้ทรงอนุญาตให้แม่บวช
ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเสียใจไปเลย
ความพยายามของพ่อต้องมีผล
[๑๖๕] ก็บทใด ที่เจ้าลัทธิทั้งหลายผู้เก่าก่อนไม่เห็น
บทนั้นอันเด็กหญิงซึ่งมีอายุ ๗ ขวบรู้แจ้งประจักษ์แล้ว
[๑๖๖] พ่อจงรักษาพุทธศาสนาไว้
การเห็นลูกเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
ลูกเอ๋ย แม่จะไปสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่ปรากฏ
[๑๖๗] ในกาลบางคราว พระผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงเปล่งวาจาแสดงธรรม
ครั้งนั้น แม่ผู้มีความอนุเคราะห์จึงกล่าววาจาที่มีความหวังว่า
[๑๖๘] “ข้าแต่พระมหาวีระ ขอพระองค์จงทรงพระชนม์อยู่นาน ๆ
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวงเถิด
ขอพระองค์ทรงอย่าชราและปรินิพพานเลย”
[๑๖๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสกับแม่ผู้กราบทูลอยู่
เช่นนั้นว่า “พระนางโคตมี พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้อันใคร ๆ ไม่ควรวิงวอน เหมือนอย่างที่เธอวิงวอนอยู่เลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๗๐] “ก็อย่างไร พระตถาคตผู้สัพพัญญู
จึงชื่อว่าอันบุคคลพึงวิงวอน
และอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าอันบุคคลไม่พึงวิงวอน
พระองค์อันหม่อมฉันทูลถามถึงเหตุนั้นแล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเหตุนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด”
[๑๗๑] “ท่านจงดูสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
นี้เป็นการวิงวอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
[๑๗๒] ต่อแต่นั้น ดิฉันไปสู่สำนักของภิกษุณี
อยู่คนเดียวคิดได้อย่างแจ้งชัดว่า
“พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ผู้ถึงที่สุดแห่งไตรภพ๑
ทรงพอพระทัยบริษัทที่สามัคคีกัน
[๑๗๓] เอาเถิด เราจะนิพพาน
อย่าได้พบเห็นความวิบัตินั้นเลย”
ครั้นดิฉันคิดดังนี้แล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ๒(พระพุทธเจ้า)
[๑๗๔] แล้วได้กราบทูลกาลเป็นที่ปรินิพพาน
กับพระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตว่า
“จงรู้กาลเองเถิด พระนางโคตมี”
[๑๗๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ไตรภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๕)
๒ สตฺตโม=ประเสริฐ (อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๖๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๗๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๑๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
“โคตมี คนพาลเหล่าใดมีความสงสัย
ในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย
ท่านจงแสดงฤทธิ์เพื่อการละทิฏฐิของคนพาลเหล่านั้น”
[๑๗๙] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีหมอบกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า แสดงฤทธิ์เป็นอเนกประการ
ตามพุทธานุญาต
[๑๘๐] คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้
ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาก็ได้
[๑๘๑] ไปได้ไม่ติดขัด ดำลงไปในแผ่นดินเหมือนดำลงไปในน้ำก็ได้
เดินไปบนน้ำโดยที่น้ำไม่แตกกระจายเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้
[๑๘๒] นั่งขัดสมาธิลอยไปในอากาศเหมือนนางนกก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
[๑๘๓] ทำสิเนรุบรรพตให้เป็นคันร่ม
ทำแผ่นดินใหญ่ให้เป็นตัวร่ม
พลิกเอาเบื้องล่างขึ้น เดินกั้นร่มไปมาในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๘๔] ได้ทำโลกให้สวยงามประหนึ่งเวลาอาทิตย์ ๖ ดวง
อุทัยเหนือภูเขายุคันธร
และได้ทำโลกให้เป็นเหมือนกลุ่มตาข่ายดอกไม้ที่ยอดภูเขายุคันธร
[๑๘๕] ใช้พระหัตถ์ข้างหนึ่งกำภูเขามุจลินท์
ภูเขาสิเนรุ ภูเขามันทาระ
และภูเขาทัททระไว้ได้ทั้งหมด
เหมือนกำเมล็ดพันธุ์ผักกาด
[๑๘๖] ใช้ปลายนิ้วพระหัตถ์บังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้
ทัดทรงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้เป็นพัน ๆ ดวง
เหมือนทัดทรงพวงมาลัย
[๑๘๗] ใช้ฝ่าพระหัตถ์ข้างหนึ่งธารน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไว้ได้
ทำฝนห่าใหญ่ให้ตกมีอาการดังสายน้ำที่ตกจากภูเขายุคันธร
[๑๘๘] พระนางนั้นได้เนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
พร้อมด้วยบริวารในท้องฟ้า แสดงเป็นครุฑ
คชสาร ราชสีห์ ต่างบันลือร้องอยู่
[๑๘๙] พระองค์เดียวทรงเนรมิตเป็นคณะภิกษุณีนับไม่ถ้วน
แล้วก็อันตรธานกลับเป็นองค์เดียวกราบทูลพระมุนีว่า
[๑๙๐] “ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระองค์
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว
ขอกราบพระยุคลบาท”
[๑๙๑] พระนาง ครั้นแสดงฤทธิ์อย่างต่าง ๆ แล้วลงจากท้องฟ้า
ทรงไหว้พระพุทธองค์ผู้ทรงส่องโลกให้สว่างแล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง (กราบทูลว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๙๒] “ข้าแต่พระมหามุนีวีรเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันนั้นมีอายุได้ ๑๒๐ ปี
เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หม่อมฉันจักนิพพาน”
[๑๙๓] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดนั้น
ถึงความพิศวงยิ่งนักจึงได้พากันประนมมือถามว่า
“ข้าแต่พระแม่เจ้า ผู้มีความบากบั่น พระแม่เจ้าได้ทำบุญอะไรไว้
จึงเป็นผู้มีฤทธิ์หาที่เปรียบมิได้”
[๑๙๔] (พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีได้กล่าวบุพจริยาของท่านดังต่อไปนี้ว่า)
พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๑๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลอำมาตย์
ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง
เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี
[๑๙๖] ในกาลบางคราว ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบิดา
มีหมู่ทาสีห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก
[๑๙๗] พระชินเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ทำฝนคือธรรมให้ตกลงอยู่ เหมือนท้าววาสวะ
มีกลุ่มแห่งพระรัศมีโชติช่วง
เช่นกับดวงอาทิตย์ในสารทกาล
[๑๙๘] ข้าพเจ้าเห็นแล้วทำจิตให้เลื่อมใส
และได้สดับสุภาษิตของพระองค์
ได้สดับพระผู้ทรงเป็นผู้นำของนรชน
ทรงตั้งภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งที่เลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๙๙] จึงได้ถวายมหาทานและปัจจัยจำนวนมาก
แด่พระผู้เลิศกว่านรชน ผู้คงที่พระองค์นั้น
พร้อมทั้งพระสงฆ์ตลอด ๗ วัน
[๒๐๐] แล้วจึงหมอบลงแทบพระยุคลบาทได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น
ลำดับนั้น พระฤาษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
ได้ตรัสในที่ประชุมใหญ่นั้นว่า
[๒๐๑] “เราจักพยากรณ์สตรีผู้ที่นิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๐๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๐๓] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าโคตมี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๐๔] จักเป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิต
ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายรู้ราตรีนาน”
[๒๐๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีใจปราโมทย์ บำรุงพระชินเจ้า
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ตายไป
[๒๐๖] ข้าพเจ้าบังเกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ซึ่งให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทุกประการ
ครอบงำพวกเทพเหล่าอื่นด้วยองค์ ๑๐ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๐๗] คือ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ(ธรรมารมณ์)
อายุ วรรณะ สุข และยศ
[๒๐๘] อนึ่ง รุ่งเรืองครอบงำเทพเหล่าอื่นด้วยความเป็นใหญ่
ข้าพเจ้าได้เป็นพระมเหสีผู้เป็นที่รัก
ของท้าวอัมรินทราธิราชชั้นดาวดึงส์นั้น
[๒๐๙] เมื่อข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร
เป็นผู้หวั่นไหวเพราะพายุคือกรรม
จึงเกิดในหมู่บ้านทาสในอาณาเขตของพระเจ้ากาสี
[๒๑๐] ครั้งนั้น ทาส ๕๐๐ คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น
ข้าพเจ้าได้เป็นภรรยาของหัวหน้าทาสทั้งหมดในหมู่บ้านนั้น
[๒๑๑] พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์
ได้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
ข้าพเจ้ากับญาติทุกคนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
จึงมีความยินดี
[๒๑๒] ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามี เลื่อมใสแล้ว
จึงช่วยกันสร้างกุฎี ๕๐๐ หลังถวาย
อุปัฏฐากตลอด ๔ เดือนแล้วถวายไตรจีวร
[๒๑๓] จากนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามีตายไป
ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เกิดในกรุงเทวทหะ
[๒๑๔] พระชนกของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าอัญชนศากยะ
พระชนนีของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าสุลักขณา
ต่อมา ข้าพเจ้าได้ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าสุทโธทนะ
ในกรุงกบิลพัสดุ์
[๒๑๕] สตรีทุกคนเกิดในตระกูลศากยะแล้ว
ได้ไปสู่พระราชวังของเจ้าศากยะทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ข้าพเจ้าประเสริฐกว่าสตรีทุกคน
ได้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้า
[๒๑๖] พระโอรสของข้าพเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว
ได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ภายหลังข้าพเจ้าพร้อมด้วยนางศากิยานี ๕๐๐ นางจึงได้บวช
[๒๑๗] แล้วได้ประสบสันติสุขพร้อมด้วยนางศากิยานีผู้มีความเพียร
ในครั้งนั้น ชนเหล่าใดผู้เคยเป็นสามีของพวกข้าพเจ้าในชาติก่อน
[๒๑๘] ชนเหล่านั้น เคยทำบุญร่วมกันมา
ประพฤติตามคำสอนที่ควรบูชา
พระสุคตทรงอนุเคราะห์แล้ว ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๑๙] ภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก
นอกจากพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีนั้น
ได้พากันเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า รุ่งโรจน์
เหมือนดวงดาวทั้งหลายที่โคจรเกาะกลุ่มกันไป
[๒๒๐] ภิกษุณีเหล่านั้น เป็นผู้ศึกษาแล้วในบุญกรรม
จึงแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ
เหมือนนายช่างทองที่ได้รับการศึกษาแล้ว
แสดงเครื่องประดับทองคำชนิดต่าง ๆ
[๒๒๑] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น
ครั้นแสดงปาฏิหาริย์มากมายหลายอย่างแล้ว
ทำพระมุนีผู้ประเสริฐกว่าดวงอาทิตย์
พร้อมทั้งบริษัทให้ทรงพอพระทัยยินดีแล้ว
[๒๒๒] ได้พากันลงจากท้องฟ้า
ไหว้พระฤๅษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
ผู้อันพระศาสดาผู้เป็นนระผู้เลิศ
ทรงอนุญาตแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๒๓] (ได้กราบทูลว่า) “ข้าแต่พระวีรเจ้า
น่าชมเชย พระโคตมีเถรี
เป็นผู้อนุเคราะห์หม่อมฉันทั้งปวง
หม่อมฉันทั้งหลายถูกพระนางอบรมด้วยบุญ
จึงได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[๒๒๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๒๕] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๒๒๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ๑
และในเจโตปริยญาณ๒
[๒๒๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ๓
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๐-๑/๘๐)
๒ หมายถึงญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เป็นต้น (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๔๒-๓/๘๐-๘๑)
๓ หมายถึงความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน,ระลึกชาติได้ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๔-๕/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๒๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลายที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๒๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นมหามุนี
พระองค์ทรงเป็นผู้ที่หม่อมฉันทั้งหลายมีจิตเมตตา ปฏิบัติ
ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหมดนิพพานเถิด”
[๒๓๑] พระชินเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อเธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
‘จักนิพพาน’ เราตถาคตจะไปกล่าวอะไรได้
ก็บัดนี้เธอทั้งหลายจงสำคัญกาลอันสมควรเถิด
[๒๓๒] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นมีพระโคตมีเถรีเป็นอาทิ
ไหว้พระชินเจ้าแล้ว ได้พากันลุกจากที่นั่งนั้นไป
[๒๓๓] พระธีรเจ้า ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
พร้อมด้วยหมู่ชนจำนวนมาก
ได้เสด็จไปส่งพระมาตุจฉาจนถึงซุ้มประตู
[๒๓๔] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีทุกรูปนอกนี้
ได้พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกแล้วกราบทูลว่า
“นี้เป็นการกราบพระยุคลบาทครั้งสุดท้าย
[๒๓๕] นี้เป็นการเห็นพระโลกนาถครั้งสุดท้ายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจักไม่ได้เห็นพระพักตร์
ซึ่งมีอาการดังน้ำอมฤตของพระองค์อีก
[๒๓๖] ข้าแต่พระวีระผู้เลิศในโลก
การกราบไหว้ของหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
จักไม่สัมผัสพระยุคลบาทอันละเอียดอ่อนของพระองค์(อีก)
วันนี้ หม่อมฉันจะนิพพาน”
[๒๓๗] พระศาสดาตรัสว่า “จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยรูปนี้
เมื่อธรรมที่เธอเห็นแล้วตามความเป็นจริง
สังขตธรรมทั้งปวงนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดี และเป็นของเลวทราม”
[๒๓๘] พระมหาปชาบดีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีเหล่านั้น
กลับไปยังสำนักของตนแล้ว
นั่งขัดสมาธิชั้นเดียวบนอาสนะที่ประเสริฐ
[๒๓๙] ครั้งนั้น อุบาสิกาทั้งหลายในที่นั้น
ผู้มีความเคารพรักในพุทธศาสนา
ได้สดับความเป็นไปของพระนาง ต่างก็เข้าไปนมัสการพระยุคลบาท
[๒๔๐] ใช้มือตบอก ร้องไห้ คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก ล้มลงที่ภาคพื้น
ดุจเถาวัลย์ที่มีรากขาดแล้วกองลง รำพันด้วยวาจาว่า
[๒๔๑] “ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้ประทานที่พึ่งแก่หม่อมฉันทั้งหลาย
พระแม่เจ้า อย่าได้ละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลายนิพพานเลย
หม่อมฉันทุกคนขอซบเศียรอ้อนวอน”
[๒๔๒] พระมหาปชาบดีเถรีลูบศีรษะของอุบาสิกาผู้มีศรัทธา
มีปัญญา ซึ่งเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒๔๓] “ลูกทั้งหลายเอ๋ย
อย่าเลย การพร่ำเพ้อซึ่งเป็นไปในบ่วงแห่งมาร
สังขตธรรมทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง
มีแต่จะหวั่นไหวพลัดพรากจากกันไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๔๔] ต่อจากนั้น พระนางก็ละอุบาสิกาเหล่านั้นแล้ว
เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน อันยอดเยี่ยม
[๒๔๕] แล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน
และเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ตามลำดับ
[๒๔๖] แล้วพระโคตมีเถรี ก็เข้าฌานทั้งหลายโดยปฏิโลม
จนถึงปฐมฌาน เข้าฌานทั้ง ๓ จนถึงจตุตถฌาน
[๒๔๗] ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วไม่มีอาสวะนิพพาน
เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป
ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สายฟ้าก็ผ่าลงมาจากนภากาศ
[๒๔๘] กลองทิพย์ก็บันลือลั่นขึ้นเอง เทพทั้งหลายพากันคร่ำครวญ
และฝนดอกไม้ก็โปรยปรายจากอากาศลงสู่พื้นดิน
[๒๔๙] แม้ภูเขาเมรุราชก็กัมปนาทหวั่นไหว
เหมือนคนเต้นรำท่ามกลางโรงเต้นรำ
ทะเลก็ปั่นป่วนครวญครางเพราะความเศร้าโศก
[๒๕๐] เทพ นาค อสูร และพรหมต่างก็พากันสลดใจ
กล่าวขึ้นในขณะนั้นเองว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
เหมือนอย่างพระมหาปชาบดีเถรีนี้
ถึงความย่อยยับไปแล้ว”
[๒๕๑] และพระเถรีทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
ซึ่งห้อมล้อมพระมหาปชาบดีเถรีนี้ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น
พากันนิพพานไปแล้ว
เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๕๒] โอ ! ความประจวบกันมีความพลัดพรากเป็นที่สุด
โอ ! สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง
โอ ! ชีวิตมีความพินาศเป็นที่สุด
การคร่ำครวญได้มีแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๕๓] ลำดับนั้น เทวดาและพรหมต่างก็เข้าไปเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ
จึงทำความประพฤติตามโลกธรรมสมควรแก่กาล
[๒๕๔] ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนท์
ผู้เป็นพหูสูต มีปัญญาดุจห้วงน้ำมาสั่งว่า
“อานนท์ เธอจงไปประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ถึงการปรินิพพานของพระมารดา”
[๒๕๕] ในกาลนั้น ท่านพระอานนท์หมดความแช่มชื่น
มีน้ำตานองนัยนา ประกาศด้วยเสียงสั่นเครือว่า
“ขอภิกษุทั้งหลายจงมาประชุมกัน
[๒๕๖] คือภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอรสของพระสุคตทั้งที่อยู่ในทิศตะวันออก
ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ
ภิกษุณีนั้นเป็นมารดาของเรา
[๒๕๗] ผู้ประคบประหงมสรีระสุดท้ายของพระมุนีให้เจริญ
ด้วยน้ำนมของตน ภิกษุณีนั้น คือพระโคตมีเถรี
ดับสนิทแล้วเหมือนดวงดาวดับแสงในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
[๒๕๘] พระนางทรงประกาศให้รู้ว่า ‘เป็นพุทธมารดา’
แล้วนิพพาน ซึ่งเป็นที่ที่คนแม้มีดวงตา ๕ ดวงก็มองไม่เห็น
แต่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นผู้นำทรงเห็นได้
[๒๕๙] ขอพระโอรสของพระสุคต ผู้มีศรัทธาในพระสุคต
หรือเป็นศิษย์ของพระมหามุนี
จงทำสักการะพุทธมารดาเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๖๐] ภิกษุทั้งหลายถึงอยู่ในที่ไกลแสนไกล
ได้สดับคำประกาศนั้นแล้ว ก็รีบมา
บางพวกมาด้วยพุทธานุภาพ
บางพวกที่ชำนาญในฤทธิ์ก็มาด้วยฤทธิ์ของตน
[๒๖๑] ต่างช่วยกันยกเตียงที่พระโคตมีเถรีนอนสงบนิ่ง
ขึ้นตั้งบนเรือนยอดที่ประเสริฐ
สำเร็จด้วยทองคำล้วน งดงามน่ายินดี
[๒๖๒] ท้าวโลกบาลทั้ง ๔๑ ต่างก็ใช้บ่ารองรับเรือนยอดไว้
เทวดาที่เหลือมีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น
ก็เข้าช่วยรับเรือนยอดด้วย
[๒๖๓] ก็เรือนยอดทั้งหมดมี ๕๐๐ หลัง
วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตขึ้น
มีสีเหมือนดวงอาทิตย์ในสารทกาล
[๒๖๔] ภิกษุณีทั้งหมด ผู้นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง
ในที่นั้น ก็ถูกเทพทั้งหลายแบกนำออกไปตามลำดับ
[๒๖๕] พื้นนภากาศถูกเพดานบังไว้ทั่ว
ที่เพดานนั้นมีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
พร้อมทั้งดวงดาวที่ทำด้วยทองคำประดับติดไว้
[๒๖๖] ธงปฏาก (ธงผ้า) ได้ถูกยกขึ้นประดับไว้เป็นอันมาก
เครื่องคลุมดอกไม้ที่สวยงาม
ดอกบัวในอากาศมีปลายห้อยลง
ส่วนดอกไม้ที่พื้นดินมีปลายชี้ขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ (๑) ท้าวธตรฐ (๒) ท้าววิรุฬหก (๓) ท้าววิรูปักษ์ (๔) ท้าวกุเวร (ที.สี.
(แปล) ๙/๓๓๖/๒๑๙-๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๖๗] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ
และดวงดาวทั้งหลายก็ส่องแสง
อนึ่ง ดวงอาทิตย์แม้อยู่ในเวลาเที่ยงวัน
ก็เหมือนดวงจันทร์ไม่ส่องแสงให้เร่าร้อน
[๒๖๘] เทพทั้งหลายพากันบูชาด้วยของหอม
และดอกไม้มีกลิ่นหอม
ด้วยการประโคมดนตรี ฟ้อนรำ และขับร้องอันเป็นทิพย์
[๒๖๙] นาค อสูร และพรหม
ต่างก็พากันบูชาพุทธมารดาผู้นิพพานซึ่งถูกเขานำออกไปแล้ว
ตามความสามารถตามกำลัง
[๒๗๐] ภิกษุณีผู้เป็นโอรสของพระสุคต
ซึ่งนิพพานแล้วทั้งหมดถูกอัญเชิญไปข้างหน้า
พระโคตมีเถรีผู้เลี้ยงดูพระพุทธเจ้า
ผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะแล้วถูกอัญเชิญไปข้างหลัง
[๒๗๑] เทวดา มนุษย์ พร้อมด้วยนาค อสูร
และพรหมไปข้างหน้า
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกเสด็จไปข้างหลัง
เพื่อบูชาพุทธมารดา
[๒๗๒] การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
หาได้เป็นเช่นการปรินิพพานของพระโคตมีเถรีไม่
การปรินิพพานของพระโคตมีเถรีอัศจรรย์ยิ่งนัก
[๒๗๓] ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ไม่มีพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
เหมือนในเวลาที่พระโคตมีเถรีนิพพาน
ซึ่งมีทั้งพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๗๔] ชนทั้งหลายช่วยกันทำจิตกาธาน
ซึ่งสำเร็จด้วยไม้มีกลิ่นหอมล้วนและโปรยจุรณเครื่องหอม
แล้วฌาปนกิจภิกษุณีเหล่านั้นบนจิตกาธานนั้น ๆ
[๒๗๕] ส่วนที่เหลือถูกไฟไหม้ไปสิ้นเหลือไว้เพียงอัฐิ
ก็เวลานั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าววาจา
ให้เกิดความสังเวชว่า
[๒๗๖] “พระโคตมีเถรีนิพพานแล้ว
พระสรีระของพระนางก็ถูกเผาแล้ว
กำหนดได้ว่า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านี้
คงจักมีโดยกาลไม่นาน
[๒๗๗] จากนั้น ท่านพระอานนท์ถูกพระพุทธเจ้าทรงตักเตือน
จึงได้น้อมนำอัฐิธาตุของพระโคตมีเถรี
ซึ่งอยู่ในบาตรของพระนางเข้ามาถวายพระโลกนาถ
[๒๗๘] พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ
ทรงใช้พระหัตถ์ประคองอัฐิเหล่านั้น
ได้ตรัสว่า “ต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้น
[๒๗๙] ถึงจะมีลำต้นใหญ่โต ก็พึงหักทำลายไปได้
เพราะความไม่เที่ยง พระโคตมีเถรีก็เหมือนกัน
ถึงจะเป็นใหญ่กว่าภิกษุณีสงฆ์ก็ปรินิพพานไปแล้ว
[๒๘๐] ดูเถิดอานนท์ พุทธมารดาแม้ปรินิพพานแล้ว
เหลือเพียงสรีรธาตุ เธอไม่ควรเศร้าโศกคร่ำครวญถึง
[๒๘๑] คนอื่น ๆ ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึง
พระนางผู้ข้ามห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปแล้ว
ละเว้นเหตุที่ทำให้เดือดร้อนได้แล้ว เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๘๒] พระนางเป็นบัณฑิต มีปัญญามากและมีปัญญากว้างขวาง
ทั้งเป็นรัตตัญญูกว่าภิกษุณีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทราบอย่างนี้เถิด
[๒๘๓] พระโคตมีเถรีเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ
และในเจโตปริยญาณ
[๒๘๔] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุพระโคตมีเถรีก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๘๕] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณก็บริสุทธิ์แล้ว
เพราะฉะนั้น พระโคตมีเถรีนั้นอันใคร ๆ ไม่ควรเศร้าโศกถึง
[๒๘๖] ความเป็นไปของไฟที่ลุกโพลงขึ้น
ที่ถูกแผ่นเหล็กหนาทับไว้แล้ว
ดับสนิทไปตามลำดับ ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้ ฉันใด
[๒๘๗] คติของผู้หลุดพ้นโดยชอบแล้ว
ซึ่งข้ามเครื่องผูกพันคือกามและโอฆะได้
บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มี
เพื่อจะให้ใคร ๆ รู้ได้ ก็ฉันนั้น
[๒๘๘] เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง
มีสติปัฏฐานเป็นโคจร
เธอทั้งหลายเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ได้ทราบว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
๘. เขมาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเขมาเถรี
(พระเขมาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘๙] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๙๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๒๙๑] หม่อมฉันเข้าไปเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว
ได้ฟังพระธรรมเทศนา
แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[๒๙๒] หม่อมฉันได้วิงวอนมารดาบิดาแล้ว
จึงทูลนิมนต์พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
[๒๙๓] เมื่อ ๗ วันล่วงไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง
ซึ่งสูงสุดฝ่ายภิกษุณีผู้มีปัญญามากในเอตทัคคะ
[๒๙๔] หม่อมฉันได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว มีความยินดี
ทำสักการะพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้นอีก
แล้วหมอบลงปรารถนาตำแหน่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๒๙๕] แต่นั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นตรัสกะหม่อมฉันว่า
“ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จ
สักการะที่เธอทำแล้วแก่เรา
พร้อมทั้งพระสงฆ์นี้มีผลประมาณไม่ได้
[๒๙๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๙๗] สตรีผู้นี้จักเป็นภิกษุณีมีนามว่าเขมา
เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักได้ตำแหน่งอันเลิศนี้”
[๒๙๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๙๙] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๓๐๐] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[๓๐๑] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[๓๐๒] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๐๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก งดงามน่าทัศนายิ่งนัก
ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๐๔] หม่อมฉันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ได้ฟังธรรมที่ประณีตแล้วจึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[๓๐๕] ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในศาสนา
ของพระวีรเจ้าพระองค์นั้นตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี
ประกอบความเพียร เป็นพหูสูต
[๓๐๖] ฉลาดในปัจจยาการ ชำนาญในสัจจะ ๔
มีปัญญาละเอียด แสดงธรรมไพเราะ
ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์๑
[๓๐๗] ด้วยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
หม่อมฉันจุติจากภพนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
เป็นผู้มียศ เสวยสมบัติอยู่ในภพนั้นและภพอื่น
[๓๐๘] หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ ก็เป็นผู้มีโภคะมาก
มีทรัพย์มาก มีปัญญา มีรูปงาม มีบริวารชนที่เชื่อฟัง
[๓๐๙] ด้วยกรรมและความเพียรในศาสนาของพระชินเจ้านั้น
หม่อมฉันเป็นที่รักดังดวงใจ(ของสามี)
สมบัติทุกอย่างหม่อมฉันได้โดยง่าย
[๓๑๐] ด้วยผลแห่งการปฏิบัติของหม่อมฉัน
เมื่อหม่อมฉันอยู่ ณ ที่ใด ๆ
ผู้ที่เป็นสามีหม่อมฉันก็ไม่ดูหมิ่น ทั้งใครอื่น ๆ ก็ไม่ดูหมิ่นหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
๑ สัตถุศาสน์ ในที่นี้หมายถึง สัจจะ ๔ กัมมัฏฐาน และภาวนา (ขุ.เถรี.อ. ๑๑๓/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๑๑] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่าโกนาคมนะ
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๑๒] ครั้งนั้นเอง ชน ๓ คน คือนางธนัญชานีพราหมณี
พระนางสุเมธาเถรี และหม่อมฉัน
เป็นคนของตระกูลที่สำเร็จความประสงค์ทุกอย่างในกรุงพาราณสี
[๓๑๓] หม่อมฉันทั้งหลายได้ถวายสังฆารามแก่พระมุนีหลายพันองค์
และได้สร้างวิหารอุทิศถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งสงฆ์สาวก
[๓๑๔] หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมดพากันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ
และเมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
[๓๑๕] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๑๖] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๓๑๗] หม่อมฉันเป็นธิดาคนโตของพระองค์มีนามปรากฏว่าสมณี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[๓๑๘] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๓๑๙] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๒๐] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๓๒๑] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๓๒๒] บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชน
ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์
หม่อมฉันได้ฟังมหานิทานสูตร๑แล้วนำมาศึกษาปฏิบัติอยู่
[๓๒๓] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๓๒๔] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเป็นพระธิดาที่พอพระทัย
รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้ามัททราช
ในสากลนครที่อุดมสมบูรณ์
[๓๒๕] พร้อมกับในกาลที่หม่อมฉันพอเกิดมา
นครนั้นได้มีแต่ความเกษมสำราญ
เพราะฉะนั้น นามว่าเขมา จึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันโดยคุณ
[๓๒๖] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
มีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม
พระราชบิดาก็โปรดประทานหม่อมฉันแก่พระเจ้าพิมพิสาร

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๕/๕๗-๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๒๗] หม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีนั้น
ยินดีแต่ในการบำรุงรูปโฉม
ไม่เอื้อเฟื้ออย่างมากด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้ามีปกติกล่าวโทษของรูป
[๓๒๘] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นักขับ
ขับร้องเพลงพรรณนาพระเวฬุวันเจาะจงหม่อมฉัน
เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันให้มีความรู้สึก
[๓๒๙] หม่อมฉันสำคัญว่าพระเวฬุวัน
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสุคต
เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็น
ผู้นั้นก็จัดว่ายังไม่ได้เห็นสวนนันทวัน
[๓๓๐] พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่าเพลิดเพลินยินดีของนรชน
ผู้ใดได้เห็นแล้ว ผู้นั้นเหมือนได้เห็นสวนนันทวัน
ซึ่งเป็นสถานที่เพลิดเพลินของท้าวอัมรินทราธิราช
[๓๓๑] ท้าวสักกเทวราชและเทพทั้งหลายละสวนนันทวันแล้ว
ลงมาที่พื้นปฐพี เห็นพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ก็อัศจรรย์ใจ มิรู้เบื่อ
[๓๓๒] พระเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชา
อันบุญญานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าประดับแล้ว
ใครเล่าจะประมวลคุณแห่งพระเวฬุวันมากล่าวให้หมดสิ้นได้
[๓๓๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังความสำเร็จแห่งสมบัติของพระเวฬุวัน
ที่เสนาะโสตไพเราะจับใจหม่อมฉัน
ใคร่จะได้ชมอุทยานนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
[๓๓๔] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดส่งหม่อมฉัน
ผู้มุ่งจะชมอุทยานนั้น
ไปพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ด้วยพระดำรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๓๕] “พระนางผู้มีโภคะเป็นอันมาก
เชิญไปชมพระเวฬุวันซึ่งเป็นที่สบายตา
ซึ่งเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีของพระสุคต
สว่างไสวด้วยพระสิริตลอดเวลา”
[๓๓๖] (หม่อมฉันทูลว่า)
“เมื่อใดพระมุนีเสด็จเข้ามาทรงรับบิณฑบาต
ยังกรุงราชคฤห์อันยอดเยี่ยม
เมื่อนั้น หม่อมฉันจะเข้าไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร”
[๓๓๗] ขณะนั้น พระเวฬุวันมหาวิหาร
มีสวนดอกไม้ที่แย้มบาน มีเสียงหึ่งด้วยหมู่ภมรนานาชนิด
มีเสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ทั้งหมู่นกยูงก็รำแพน
[๓๓๘] สงัดจากเสียงอย่างอื่น ไม่พลุกพล่าน
ประดับไปด้วยที่จงกรมต่าง ๆ
สะพรั่งไปด้วยแถวแห่งกุฎีและมณฑป
เรียงรายไปด้วยพระโยคีผู้บำเพ็ญเพียร
[๓๓๙] หม่อมฉันเมื่อเดินเที่ยวไปได้รู้สึกว่า “นัยน์ตาของเรามีประโยชน์”
ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งประกอบกิจอยู่ แล้วคิดไปว่า
[๓๔๐] ‘ภิกษุนี้ยังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม มีรูปงาม น่าปรารถนา
ปฏิบัติดีอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืด
[๓๔๑] ภิกษุนี้มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏินั่งอยู่ที่โคนไม้
ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์เข้าฌานอยู่หนอ
[๓๔๒] ธรรมดาคฤหัสถ์บริโภคกามอย่างมีความสุข
แก่แล้วจึงควรประพฤติธรรมอันดีงามนี้ในภายหลังมิใช่หรือ’
[๓๔๓] หม่อมฉันเข้าใจว่า ‘พระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าว่างเปล่า’
จึงเดินเข้าไป ได้เห็นพระชินเจ้าผู้งดงามดังดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๔๔] ประทับสำราญอยู่พระองค์เดียว มีสตรีสาวสวยพัดวีอยู่
ครั้นแล้วจึงมีความคิดผิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นี้มิได้เศร้าหมองเลย
[๓๔๕] หญิงสาวนั้นก็มีรัศมีเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ
มีหน้าตางดงามดังปทุมชาติ ริมฝีปากก็แดงดังผลตำลึงสุก
ชำเลืองมองแต่น้อย เป็นที่ติดตาตรึงใจยิ่งนัก
[๓๔๖] มีลำแขนงามเหมือนทองคำ วงหน้าสวย
ถันทั้งคู่ก็เต่งตึงดังดอกบัวตูม มีเอวคอดกลมกลึง
สะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องประดับสวยงาม
[๓๔๗] ผ้าสไบมีสีแดงแวววาว นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว
มีรูปสมบัติที่ชวนชมโดยไม่รู้เบื่อ
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด’
[๓๔๘] หม่อมฉันเห็นสตรีสาวนั้นแล้วจึงคิดว่า
‘โอ ! สตรีสาวคนนี้มีรูปงามเหลือเกิน
เราไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตาดวงนี้ในที่ไหน ๆ มาก่อนเลย’
[๓๔๙] ขณะนั้น สตรีสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี
มีผิวพรรณแปลกไป ปากอ้า ฟันหัก ผมหงอก
น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด
[๓๕๐] หูตึง นัยน์ตาฝ้าฟาง ถันหย่อนยาน ไม่งาม
เหี่ยวย่นทั่วกาย มีศีรษะและร่างกายสั่นงันงก
[๓๕๑] หลังงอ มีไม้เท้าเป็นเพื่อนเดิน
ร่างกายซูบผอมซีดไป สั่นงันงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ ๆ
[๓๕๒] จากนั้น ความสังเวชที่ก่อให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ซึ่งไม่เคยมีก็ได้มีแก่หม่อมฉันว่า
‘น่าติเตียน รูปไม่สะอาดที่พวกคนเขลายินดีกัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๕๓] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีจิตเบิกบานโสมนัส ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉัน
ผู้มีใจสังเวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๕๔] “เขมา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า (มีของเหลว)
ไหลเข้าและไหลออก ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[๓๕๕] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว
ด้วยอารมณ์ที่ไม่งามเถิด
เธอจงเจริญกายคตาสติมากไปด้วยความเบื่อหน่ายเถิด
[๓๕๖] รูปของหญิงนี้เป็นฉันใด
รูปกายของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปกายของเธอนั้นเป็นฉันใด
รูปของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
เธอจงคลายความยินดีพอใจในกาย
ทั้งภายในและภายนอกเถิด
[๓๕๗] จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์๑ จงละมานานุสัยเสีย
แต่นั้นเธอจักเป็นผู้อยู่อย่างสงบ
เพราะมานานุสัยสงบระงับไป
[๓๕๘] ชนเหล่าใดกำหนัดเพราะราคะเกาะติดกระแสอยู่
เหมือนแมลงมุมเกาะใยอยู่ตรงกลางที่ทำไว้เอง
ชนเหล่านั้นตัดกระแสราคะนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย
ละกามสุข หลีกไป”
[๓๕๙] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงทราบว่า หม่อมฉันมีจิตควรแล้ว
จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
๑ อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ
หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตาแล้วถอนนิมิตเสียได้ (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๒๙/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๖๐] หม่อมฉันได้ฟังพระสูตรอันประเสริฐนั้นแล้ว
จึงระลึกถึงสัญญาในกาลก่อนได้
ตั้งมั่นอยู่ในสัญญานั้นแล้ว ชำระธรรมจักษุ๑ให้หมดจด
[๓๖๑] ขณะนั้น หม่อมฉันหมอบลงแทบพระยุคลบาท
ของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อประสงค์จะแสดงโทษ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๓๖๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระมหากรุณา
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เสด็จข้ามวัฏฏสงสารได้แล้ว
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานอมตธรรม
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
[๓๖๓] หม่อมฉันจมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ
หลงใหลเพราะกามราคะ
พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ
เป็นผู้ยินดีในธรรมที่ทรงแนะนำ
[๓๖๔] สัตว์ทั้งหลายพลัดพรากจากประโยชน์
เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์
จึงประสบมหันตทุกข์อยู่ในสงสารสาคร
[๓๖๕] ในกาลใดหม่อมฉันยังมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้ไม่มีข้าศึกคือกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมจักษุ หมายถึงปัญญาในมรรค ๓ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค (ที.สี.อ.
๑/๒๑๓/๑๖๕,๒๑๔,๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
ทรงถึงที่สุดแห่งมรณธรรม
ทรงมีธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างดี
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น
[๓๖๖] หม่อมฉันมัวแต่ยินดีในรูป
ระแวงว่าพระองค์จะไม่เป็นประโยชน์จึงมิได้เข้าเฝ้า
พระองค์ผู้ทรงมีความเกื้อกูลมาก
ทรงประทานพระธรรมที่ประเสริฐ
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น”
[๓๖๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีพระสุรเสียงไพเราะและก้องกังวาน
เมื่อจะทรงใช้น้ำอมฤตรดหม่อมฉันจึงตรัสว่า “ลุกขึ้นเถิดเขมา”
[๓๖๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันประณตน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า
ทำประทักษิณพระองค์แล้ว กลับไปเฝ้าพระราชา
ผู้เป็นใหญ่กว่านรชนแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๓๖๙] “ข้าแต่พระองค์ผู้ย่ำยีข้าศึก
อุบายที่พระองค์ทรงดำริแล้วโดยชอบนี้ น่าอัศจรรย์
หม่อมฉันผู้ปรารถนาจะเที่ยวชมพระเวฬุวันมหาวิหาร
ได้เฝ้าพระมุนีผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังป่าแล้ว
[๓๗๐] ข้าแต่พระราชา ถ้าพระองค์ทรงพอพระทัย
หม่อมฉันผู้เบื่อหน่ายในรูปตามที่พระมุนีทรงตรัสสอนแล้ว
จักบวชในศาสนาของพระมุนีผู้คงที่พระองค์นั้น”
ภาณวารที่ ๒ จบ
[๓๗๑] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์นั้น
ทรงประคองอัญชลีตรัสว่า “พระน้องนาง
พี่อนุญาตแก่เธอ ขอการบรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันบวชมาแล้วผ่านไป ๗ เดือน
เห็นประทีปสว่างขึ้นและดับไป จึงมีใจสังเวช
[๓๗๓] มีความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ฉลาดในปัจจยาการ
ข้ามพ้นโอฆะ๑ ๔ แล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๓๗๔] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[๓๗๕] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๗๖] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณที่บริสุทธิ์ของหม่อมฉัน
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้า
[๓๗๗] หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย๒
คล่องแคล่วในกถาวัตถุ
รู้แจ้งนัยแห่งพระอภิธรรม เชี่ยวชาญในศาสนา
[๓๗๘] จากนั้น พระราชสวามีผู้ฉลาด
ตรัสถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งในโตรณวัตถุ
หม่อมฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา
[๓๗๙] ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตแล้ว
ทูลถามปัญหาเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น
เหมือนอย่างที่หม่อมฉันพยากรณ์

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงสังกิเลสท่วมทับใจสัตว์มี ๔ คือ (๑) กาโมฆะ (๒) ภโวฆะ (๓) ทิฏโฐฆะ (๔) อวิชโชฆะ
๒ วิสุทธิทั้งหลาย หมายถึงสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธิ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๔/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๘๐] พระชินเจ้าผู้สูงสุดแห่งนระ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า
เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีผู้มีปัญญามาก
[๓๘๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๘๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเขมาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เขมาเถริยาปทานที่ ๘ จบ
๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘๔] พระอุบลวรรณาภิกษุณีถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
กราบไหว้พระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๓๘๕] “ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันข้ามพ้นชาติสงสารได้แล้ว
บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว ทุกข์ทั้งปวงหม่อมฉันให้สิ้นไปแล้วจึงขอบอกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๘๖] “ขอประชุมชนผู้เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
และชนที่ข้าพเจ้าได้ทำความผิดให้เท่าที่มีอยู่
จงยกโทษให้ข้าพเจ้า เฉพาะพระพักตร์ของพระชินเจ้า
[๓๘๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันขอกราบทูลว่า
เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร
ถ้าหม่อมฉันมีความผิดพลาด
ขอพระองค์จงยกโทษให้หม่อมฉันด้วยเถิด”
[๓๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบลวรรณา
ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา เธอจงแสดงฤทธิ์
และตัดความสงสัยของบริษัท ๔ เท่าที่มีอยู่ ในวันนี้เถิด”
[๓๘๙] พระอุบลวรรณาเถรีกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระปัญญา ผู้ทรงพระรัศมีรุ่งเรือง
หม่อมฉันเป็นธิดาของพระองค์
กรรมที่ทำได้ยาก ทำได้แสนลำบากจำนวนมาก
หม่อมฉันได้ทำแล้ว
[๓๙๐] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ๑
หม่อมฉันมีผิวพรรณเหมือนสีดอกอุบล
จึงมีนามว่าอุบลวรรณา
เป็นธิดาของพระองค์ ขอกราบพระยุคลบาท

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีพระจักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) มังสจักษุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรงาม มีอำนาจ
เห็นแจ่มใสไว และเห็นได้ไกล) (๒) ทิพยจักษุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นต่าง ๆ กัน
ด้วยอำนาจกรรม) (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุ
ให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นต้น) (๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทริย-
ปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณเป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอน
แนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ (ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบ
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๙๑] พระราหุลเถระและหม่อมฉัน
เกิดร่วมภพเดียวกันหลายร้อยชาติ
เป็นผู้มีจิตสมานฉันท์กัน
[๓๙๒] บังเกิดพร้อมกันร่วมชาติเดียวกัน
เมื่อถึงภพสุดท้าย แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่าเกิดร่วมภพเดียวกัน
[๓๙๓] พระเถระนามว่าราหุลเป็นพระโอรส
หม่อมฉันผู้มีนามว่าอุบลวรรณาเป็นธิดา
ข้าแต่พระวีระ ขอเชิญทอดพระเนตรฤทธิ์ของหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันจักแสดงพลังถวายพระศาสดา”
[๓๙๔] พระอุบลวรรณาเถรียกมหาสมุทรทั้ง ๔
วางไว้ที่ฝ่ามือเหมือนเด็กเล่นน้ำมันที่อยู่บนฝ่ามือ
[๓๙๕] ยกแผ่นดินแล้ว วางไว้ที่ฝ่ามือ
เหมือนเด็กหนุ่มดึงไส้หญ้าป้อง
[๓๙๖] ใช้ฝ่ามือปิดครอบจักรวาลแล้ว
บันดาลหยาดฝนสีต่าง ๆ ให้ตกลงที่ศีรษะบ่อย ๆ
[๓๙๗] ทำพื้นพสุธาให้เป็นครก ทำก้อนกรวดให้เป็นข้าวเปลือก
ทำภูเขาสิเนรุให้เป็นสาก
แล้วตำอยู่เหมือนนางกุมาริกาซ้อมข้าว
[๓๙๘] หม่อมฉันมีนามว่าอุบลวรรณา
เป็นธิดาของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐที่สุด
มีความชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
[๓๙๙] หม่อมฉันผู้มีจักษุแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ
ถวายพระองค์ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ประกาศนามและโคตรแล้วขอกราบพระยุคลบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๐๐] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[๔๐๑] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๔๐๒] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน
บริสุทธิ์ไพบูลย์ตามสภาวะแห่งพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๐๓] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน
อันหม่อมฉันผู้เสร็จสงครามแสดงแล้ว(กระทำแล้ว)
แด่พระชินเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายในปางก่อน
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๔] ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระองค์ทรงระลึกถึงกุศลกรรมของหม่อมฉัน
ที่หม่อมฉันกระทำแล้วในปางก่อน
ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้แล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๕] ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์ทรงเว้นอนาจาร
ในสถานที่ไม่ควร อบรมพระญาณให้แก่กล้าอยู่
หม่อมฉันได้สละชีวิตที่สูงสุดเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๖] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้ถวายชีวิต
ของหม่อมฉันหลายหมื่นโกฏิกัป
แม้ตัวหม่อมฉัน หม่อมฉันก็ได้สละแล้ว
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๐๗] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดมีความพิศวงยิ่งนัก
จึงได้พากันประนมมือเหนือศีรษะ พูดว่า
‘ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่างไร พระแม่เจ้าจึงมีความบากบั่น มีฤทธิ์
หาสิ่งใดเปรียบปานมิได้’
[๔๐๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนางนาคกัญญามีนามว่าวิมลา
หมู่นาคยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกนางนาคกัญญา
[๔๐๙] พญานาคชื่อมโหรคะ
เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงมีเดชานุภาพมาก พร้อมทั้งพระสาวก
[๔๑๐] ตกแต่งมณฑปแก้ว บัลลังก์แก้ว
โปรยทรายแก้ว เครื่องอุปโภคแก้ว
[๔๑๑] และตกแต่งหนทางประดับด้วยธงแก้ว
พญานาคนั้นบรรเลงดนตรี
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๑๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงแผ่ขยายบริษัท ๔ ประทับนั่งบนอาสนะ
อันประเสริฐในภพของพญานาคชื่อมโหรคะ
[๔๑๓] พญานาคได้ถวายข้าวน้ำ
ขาทนียะและโภชนียาหารอย่างดี ๆ มีราคามาก
แด่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่
[๔๑๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นเสวยเสร็จแล้วทรงล้างบาตร
ได้ทรงทำการอนุโมทนาอันสมควร
โดยอุบายอันแยบคายว่า ‘นางนาคกัญญาจงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๑๕] นางนาคกัญญา เห็นพระสัพพัญญู
ผู้เบิกบาน มีพระยศมาก
จึงทำจิตให้เลื่อมใส ทำใจให้มั่นคงต่อพระศาสดา
[๔๑๖] ครั้งนั้น พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงทราบวาระจิตของหม่อมฉันแล้ว
ทรงแสดงภิกษุณีรูปหนึ่งด้วยฤทธิ์
[๔๑๗] ภิกษุณีรูปนั้นมีความแกล้วกล้าแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
หม่อมฉันเกิดปีติปราโมทย์ได้กราบทูลพระศาสดาว่า
[๔๑๘] ‘หม่อมฉันได้เห็นฤทธิ์ทั้งหลายที่ภิกษุณีรูปนี้แสดงแล้ว
ข้าแต่พระธีรเจ้า อย่างไร ภิกษุณีรูปนั้นจึงเป็นผู้แกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[๔๑๙] (พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสตอบว่า)
‘ภิกษุณีรูปนั้นเป็นธิดาที่เกิดจากโอษฐ์ของเรา
ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา มีฤทธิ์มาก มีความแกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[๔๒๐] หม่อมฉันได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว
มีความยินดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
‘แม้หม่อมฉันก็ขอเป็นผู้มีความแกล้วกล้าในฤทธิ์เช่นนั้น
[๔๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
หม่อมฉันเบิกบานโสมนัส มีใจสูงสุดถึงที่แล้ว
ขอให้ได้เป็นเช่นภิกษุณีรูปนี้ในอนาคตกาลเถิด’
[๔๒๒] หม่อมฉันตกแต่งบัลลังก์แก้วมณี
และมณฑปที่ผุดผ่องแล้ว
ทูลนิมนต์พระผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
ให้เสวยและฉันข้าวน้ำจนอิ่มหนำ
[๔๒๓] แล้วได้ใช้ดอกอุบลที่มีชื่อว่าอรุณ
ซึ่งเป็นดอกไม้อันประเสริฐของพวกนาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
โดยตั้งความปรารถนาไว้ว่า
‘ขอให้ผิวพรรณของข้าพเจ้าจงเป็นเช่นนี้เถิด’
[๔๒๔] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายนาคแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๒๕] จุติจากภพนั้นแล้วก็มาเกิดในหมู่มนุษย์
ได้ถวายบิณฑบาตที่ใช้ดอกอุบลปิดแด่พระสยัมภู
[๔๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระเนตรงาม
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๒๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นธิดาของเศรษฐี
ในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ได้ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
[๔๒๘] ถวายมหาทานและบูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยดอกอุบลเป็นอันมากแล้ว
ได้ปรารถนาให้มีผิวพรรณงามเหมือนดอกอุบลเหล่านั้น
[๔๒๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๓๐] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๓๑] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๒ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่า
สมณีคุตตา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว
พอใจการบรรพชา
[๔๓๒] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๔๓๓] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๔๓๔] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๔๓๕] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้น ได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระเขมาเถรีผู้มีปัญญา ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๔๓๖] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๓๗] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาเกิดในตระกูลใหญ่ในหมู่มนุษย์
ได้ถวายผ้าอย่างดีมีสีเหลือง เนื้อเกลี้ยงแก่พระอรหันต์องค์หนึ่ง
[๔๓๘] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลในอริฏฐบุรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อติริฏิวัจฉะ
มีชื่อว่าอุมมาทันตี มีสิริโฉมงดงามเป็นที่จูงใจให้หลงใหล
[๔๓๙] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในตระกูลหนึ่ง
ที่ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์มากนักในชนบท
รักษาข้าวสาลีในครั้งนั้น
[๔๔๐] หม่อมฉันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
ได้ถวายข้าวตอก ๕๐๐ ดอก ห่อด้วยดอกปทุม
ปรารถนามีบุตร ๕๐๐ คน
[๔๔๑] เมื่อหม่อมฉันปรารถนาบุตรจำนวนเท่านั้นแล้ว
ได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระสยัมภู
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้เกิดภายในดอกบัวในป่า
[๔๔๒] ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากาสี เป็นผู้ที่ประชาชนสักการบูชา
ได้ให้กำเนิดพระราชบุตรครบ ๕๐๐ องค์
[๔๔๓] เมื่อพระราชบุตรเหล่านั้นทรงเจริญวัยแล้ว
ทรงเล่นน้ำ ได้เห็นดอกบัวที่ร่วงโรยไป
ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
[๔๔๔] หม่อมฉันนั้น เมื่อต้องพลัดพรากจากบุตรผู้ประเสริฐเหล่านั้น
ก็มีความเศร้าโศก จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในหมู่บ้านข้างภูเขาอิสิคิลิ
[๔๔๕] เมื่อหม่อมฉันทราบว่า บุตรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ได้ถือข้าวยาคูไปเพื่อบุตรและเพื่อตนเอง
ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์
[๔๔๖] เข้าไปสู่บ้านเพื่อภิกษาหาร ก็ระลึกถึงบุตรขึ้นมา
ธารน้ำนมของหม่อมฉันก็หลั่งไหลออกเพราะความรักบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๔๗] หม่อมฉันมีความเลื่อมใส ได้ถวายข้าวยาคูด้วยมือของตน
แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ไปเกิดในสวนนันทวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๔๘] ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้เสวยสุขและทุกข์และได้สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๔๙] หม่อมฉันมีทุกข์ก็มาก มีสมบัติก็หลายชนิด
ดังที่กราบทูลมานี้ เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงสาวัตถี
[๔๕๐] ในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก
ประกอบด้วยสุขสมบัติ มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ
ให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง
[๔๕๑] เป็นผู้ที่ประชุมชนสักการบูชา
นับถือและยำเกรง ประกอบด้วยสิริรูป
อันชนในตระกูลทั้งหลายสักการะอย่างยิ่ง
[๔๕๒] หม่อมฉันเป็นหญิงที่น่าปรารถนายิ่งนัก
ด้วยสิริคือรูปสมบัติและโภคสมบัติ
บุตรเศรษฐีทั้งหลายและบริวารของตนจำนวนมากต่างปรารถนา
[๔๕๓] หม่อมฉันละเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ ๔
[๔๕๔] หม่อมฉันเนรมิตรถเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ด้วยฤทธิ์
ขอกราบพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลกผู้มีพระสิริ
[๔๕๕] (พญามารมากล่าวกับหม่อมฉันว่า)
‘ท่านเข้ามายังต้นไม้ชั้นเลิศที่มีดอกแย้มบานดีแล้ว
ยืนอยู่เพียงผู้เดียวที่โคนต้นสาละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ไม่มีใครเป็นเพื่อน ท่านผู้โง่เขลา
ท่านไม่กลัวพวกนักเลงดอกหรือ’
[๔๕๖] หม่อมฉันกล่าวว่า ‘ถึงพวกนักเลงตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ คนมาในที่นี้
พึงเป็นเหมือนกับท่านนี้ ก็ทำขนของเราให้เอนให้ไหวไม่ได้
พญามาร ท่านเพียงผู้เดียวจักทำอะไรเราได้
[๔๕๗] เรานี้จักหายตัวไปก็ได้ หรือว่าเข้าไปในท้องของท่านก็ได้
ท่านจักมองไม่เห็นเราผู้ยืนอยู่ที่ระหว่างคิ้วของท่าน
[๔๕๘] เรามีความชำนาญในเรื่องจิต อิทธิบาทเราก็เจริญดีแล้ว
พ้นจากสรรพกิเลสเครื่องผูกทั้งปวง
พญามาร เรามิได้เกรงกลัวท่าน
[๔๕๙] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
แม้ขันธ์ทั้งหลาย๑ก็คล้ายกองไฟ
ท่านกล่าวถึงความยินดีในกาม
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกาม
[๔๖๐] ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวงเรากำจัดได้หมดแล้ว
กองแห่งความมืด๒เราก็ทำลายได้แล้ว
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านถูกเรากำจัดแล้ว’
[๔๖๑] พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลายว่า
‘อุบลวรรณาภิกษุณีเป็นผู้ประเสริฐสุด
แห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์’

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ทั้งหลาย หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
(ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๕/๒๙๙-๓๐๐)
๒ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๓/๑๒,๔๓,๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๖๒] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๔๖๓] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๔๖๔] ทายกทั้งหลายน้อมปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เข้ามาครั้งละหลายพันโดยรอบ
[๔๖๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๖๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอุบลวรรณาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลวัณณาเถริยาปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปฏาจาราเถรี
(พระปฏาจาราเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๔๖๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๔๗๐] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว
ได้ฟังพระธรรมเทศนา แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[๔๗๑] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงสรรเสริญภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีหิริ ผู้คงที่
คล่องแคล่วในกิจที่ควรและไม่ควรว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย
[๔๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีจิตเบิกบาน หวังตำแหน่งนั้น
จึงทูลนิมนต์พระทศพลผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์
[๔๗๓] ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน ถวายบาตรและจีวรแล้ว
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๔๗๔] ‘ข้าแต่พระธีรมุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ภิกษุณีรูปใด ที่พระองค์ทรงสรรเสริญในตำแหน่งที่เลิศ
ในวันที่ ๘ แต่นี้ ถ้าตำแหน่งนั้นจะสำเร็จแก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักเป็นเช่นนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๗๕] ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘นางผู้เจริญ อย่ากลัวเลย จงเบาใจเถิด
เธอจักได้ตำแหน่งนั้นสมความปรารถนาในอนาคตกาล
[๔๗๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๗๗] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าปฏาจารา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองคนั้น’
[๔๗๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
ปรนนิบัติพระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์จนตลอดชีวิต
[๔๗๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๘๐] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๘๑] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๘๒] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๓ ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าภิกษุณี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[๔๘๓] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๘๔] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๔๘๕] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๔๘๖] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระเขมาเถรี ๑ พระภัทราภิกษุณีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๔๘๗] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๘๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ในกรุงสาวัตถีที่เจริญมั่งคั่ง กว้างขวาง มีทรัพย์มาก
[๔๘๙] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
ได้ตกอยู่ในอำนาจของวิตก
พบบุรุษชาวชนบทผู้หนึ่งแล้วได้ตามไปอยู่กับเขา
[๔๙๐] หม่อมฉันคลอดบุตรคนที่หนึ่ง ตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๒
เมื่อนั้น หม่อมฉันปรารถนาว่าจะไปเยี่ยมมารดาบิดา
[๔๙๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันมิได้บอกสามี เมื่อสามีของหม่อมฉันไม่อยู่
หม่อมฉันคนเดียวออกจากเรือน
จะเดินทางไปยังกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๙๒] ภายหลังสามีของหม่อมฉันตามมาทันที่หนทาง
ขณะนั้น ลมกรรมชวาต๑แสนจะทารุณเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน
[๔๙๓] ครั้งนั้น มหาเมฆก็เกิดขึ้นในเวลาที่หม่อมฉันจะคลอด
สามีไปหาเครื่องกำบังแต่ถูกงูกัดตาย
[๔๙๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีทุกข์เพราะการคลอด หมดที่พึ่ง
เป็นคนกำพร้า เดินไปเห็นแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง
ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยม เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยว
[๔๙๕] หม่อมฉันอุ้มลูกคนเล็ก ข้ามไปที่ฝั่งโน้นคนเดียว
ให้ลูกคนเล็กดื่มนมจนอิ่มแล้ว
ประสงค์ที่จะนำบุตรอีกคนหนึ่ง (คนโต) ให้ข้ามมา
[๔๙๖] จึงย้อนกลับมา เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลูกคนเล็กที่ร้องไห้จ้าไป
บุตรคนโตกระแสน้ำก็พัดไป
หม่อมฉันนั้นเปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศกเหลือประมาณ
[๔๙๗] จึงเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี ได้ฟังข่าวว่า
ญาติของตน (มารดา บิดาและพี่ชาย) ตายแล้ว
เวลานั้น หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก
เปี่ยมด้วยความโสกาดูรอย่างใหญ่หลวง ได้กล่าวว่า
[๔๙๘] ‘ลูก ๒ คนก็ตายเสียแล้ว สามีของเราก็ตายในป่า
มารดาบิดาและพี่ชายของเรา
ก็ถูกเผาอยู่ที่เชิงตะกอนเดียวกัน’
[๔๙๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งซูบผอม ทั้งเหลืองซีด
ไม่มีที่พึ่ง ตรอมใจอยู่ทุกวัน เมื่อหม่อมฉันกระเซอะกระเซิงไป
ได้พบพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน

เชิงอรรถ :
๑ ลมกรรมชวาต หมายถึงลมเกิดแต่กรรมคือลมเกิดในครรภ์เวลาคลอดบุตร ได้แก่ ลมเบ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น