มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 3 : พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฏกกับพระธรรมรักขิต, พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์, พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล, พระนาคเสนไปถึงอสงไขยบริเวณ, พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน
ตอนที่ ๓
พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฏกกับพระธรรมรักขิต
ในคราวนั้นมีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตรคนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อยลงในเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตรได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า “ พระคุณเจัาจะไปไหนขอรับ ? ”
พระนาคเสนตอบว่า “ อาตมาจะไปเมืองปาตลีบุตร ”
เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า “ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี “
“ ดีแล้ว คหบดี ”
ลำดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวาย เวลาฉันเสร็จแล้วเศรษฐีจึงถามว่า “ พระคุณเจ้าชื่ออะไรขอรับ ”
“ อาตมาชื่อนาคเสน ”
“ ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ ? ”
“ อาตมารู้เฉพาะอภิธรรม ”
“ เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรมให้โยมฟังสักหน่อย ”
เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลงเศรษฐีก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้งไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิดแต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด ”
พระนาคเสนตอบว่า “ อาตมาเป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ ”
“ พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น ”
“ ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต ”
ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลพร้อมกับบอกว่า “ ขอท่านจงกรุณารับกัมพลอันยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด ”
พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สำนักพระธรรมรักขิตที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า “ ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะให้กระผมด้วยเถิดครับ”
ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา
ในคราวนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้วปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสำเภามาสู่สำนักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึงกล่าวว่า “ กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด”“ เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย ”
พระนาคเสนจึงกล่าวว่า “ กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล ”
เป็นคำถามว่าเหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่าจะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสนเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคำภาษาสิงหล (อันเป็นภาษาชาวลังกา) แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่าอาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็นคำวิเศษกลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจของชาวสาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน
พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะเพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา ”
พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้องขอโทษพระติสสทัตตะ เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษแล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ ๓ เดือนก็จบพระไตรปิฏก ซักซ้อมอีก ๓ เดือนก็ชำนาญ
พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์
ฝ่ายพระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคำอุปมาว่า “ นี่แน่ะ นาคเสน ธรรมดาว่านายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโคฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฏก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผลคือมรรคผลอันควรแก่สมณะ เปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโคฉันนั้น ”พระนาคเสนได้ฟังคำเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า “ คำสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ ”
ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ในเวลากลางคืนอันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง
ในขณะที่พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาครก็ตีฟองนองละลอก ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพยจุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น
พระอรหันต์ให้ทูตไปตามพระนาคเสน
เมื่อพระนาคเสนได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งฑูตไปตามพระนาคเสน เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจากอโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลายแล้วจึงถามว่า “ เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ฑูตไปตามกระผมมา ? ”พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า “ เป็นเพราะมิลินทราชาเบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด ”
พระนาคเสนจึงเรียนว่า “ อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลย บรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด”
พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล
ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ (ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย) ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ทรงดำริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้ ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดำริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการตรัสถามพวกราชบริพารโยนกทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลว่า “ มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตรมีปฏิภาณดี ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า ”
“ ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน”
ลำดับนั้น เนมิตติยอำมาตย์จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหา
พระอายุบาลตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด
ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์พร้อมกับหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าเข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน? ”
พระอายุบาลตอบว่า “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้หลาย”
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่?”
จำนวนคฤหัสถ์ผู้ได้มรรคผล
“ ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยทรงศีล ๕ หรือศีล ๘ ไว้มั่นคง ให้ท่านและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง ดังตัวอย่างเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพลยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนาพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน ครั้งจบลงแล้วพรหมทั้ง ๑๘ โกฏิได้สำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้ ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดก ราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูสังกัสสนครมีผู้สำเร็จมรรคผลประมาณ ๒๐ โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและพรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย”กรรมของพระที่ถือธุดงค์
เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลายที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่างๆ ทำให้ลำบากกายใจนั้นล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรมในปางก่อนทั้งนั้น นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ “ เอกา ”ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจรเที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขาครั้นชาตินี้เล่าผลกรรมนั้นดลจิตใจให้ฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลรักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใด ประการหนึ่งเล่าพวกที่ถือธุดงค์ “ อัพโพกาส ” คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือนชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ “ เนสัชชิกธุดงค์ ” คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่เท่านั้นโยมคิดดูซึ่งธุงดค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า ? ”
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้านที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้อปัญหานั้น
พวกโยนก ๕๐๐ จึงกราบทูลขึ้นว่า“ ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้เป็นนักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคำถามของพระองค์”
พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคำข้าราชบริพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล (หัวเราะ) พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า “ ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใดๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ… ”
ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟังก็มิได้ตอบคำสนองพระราชโองการ ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามิลินท์อย่างนั้น จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้แต่เป็นเพราะพระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย
หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดำริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย จึงตรัสถามเนมิตติยอำมาตย์ขึ้นอีกว่า “ นี่แน่ะ เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่? ”
กิตติศัพท์ของพระนาคเสน
ในคราวนั้น พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารชำนาญในพระไตรปิฎก สำเร็จไตรเพท มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรมในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาอันประกอบด้วยองค์ ๙ ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวงเหมือนกับพญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนาได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนำ ชำนาญในอรรถธรรมทั้งปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง กระทำซึ่งแสงสว่างให้เกิด กำจัดเสียซึ่งความมืด เป็นผู้มีถ้อยคำประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดังลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียร์ถีย์ทั้งปวง เป็นผู้ฉลาดเฉียงแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจเป็นผู้ทำสงฆ์ให้งดงาม เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัทั้งสี่ เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า อันประกอบด้วยองค์ ๙ ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรมผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่สีซอ โทน รำมะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ ๔ เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลกเอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชาพระนาคเสนไปถึงอสงไขยบริเวณ
เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลำดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนครอันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลในกาลนั้นเพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชนฉลาดในเหตุผลทั้งปวง มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฏกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรงพระไตรปิฏกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึงอสงไขยบริเวณ แล้วพักอยู่ในที่นั้น พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดังตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ในป่าใหญ่ฉะนั้น พระนาคเสนนั้นเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวงเป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฏก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้
พระเจ้ามิลินท์ได้ยินชื่อทรงตกพระทัยกลัว
ในคราวนั้น เทวมันติอำมาตย์ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า “ ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่านาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญาเฉียบแหลม แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวงเป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคำไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า ”เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคำว่า “ พระนาคเสน ” เท่านี้ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอจึงตรัสถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า “ เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใคร่เห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ? ”
เทวมันติยอำมาตย์จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด
พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน
ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพาชาวโยนก ๕๐๐ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมากเสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ คราวนั้น พระนาคเสนกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า “ บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร ? ”เทวมันติยะทูลตอบว่า “ บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของพระนาคเสน พระเจ้าข้า”
พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็นพระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน (ขนลุก) เสียแล้ว คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา อุปมาดังพญาช้างถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และเหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้ เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ เหมือนกับหมีถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตามเหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม เหมือนกับงูมาพบหมองู เหมือนกับหนูมาพบแมว เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู เหมือนกับนกอยู่ในกรง เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย เหมือนกับยักษ์ทำผิดต่อท้าวเวสสุวัณ เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุรู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัยฉันนั้น
แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัยตรัสขึ้นว่า “ นี่แน่ะ เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง ”
เทวมันติยะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า “ ขอได้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า ”
ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ คือ นั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ ๔ หมื่นองค์ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก ๔ หมื่นองค์ ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตรดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า “ เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้น หรือ..เป็นพระนาคเสน? ”
เทวมันติยะกราบทูลว่า “ ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ พระนาคเสนได้ดีแล้ว”
พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอแลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชัน เพราะฉะนั้นพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า “ เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์และบัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้วไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่ เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลย”
ดังนี้จบเรื่องเบื้องต้น
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น