Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 15

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 15 : ตัวอย่างผู้ที่รับผลบุญเห็นทันตา นายสุมนมาลาการ, พระนางมัลลิกาเทวี, พระนางโคปาลมาตาเทวี, นางสุปิยอุบาสิกา

ตอนที่ ๑๕

ตัวอย่างผู้ที่รับผลบุญเห็นทันตา


เมื่อตอนที่แล้วท่านได้ยกตัวอย่าง  “ผู้ที่รับผลบุญเห็นทันตา ๗ คน” คือ นายยสุมนมาลาการ ๑ พราหมณ์เอกสาฏก ๑ นายปุณณะ ๑ พระนางมัลลิกาเทวี ๑ พระนางโคปาลมาตาเทวี ๑ นางสุปิยอุบาสิกา ๑ นางปุณณทาสี ๑ ในตอนนี้จึงขอนำเรื่องราวที่มีในพระสูตรมาให้ทราบประวัติแต่เพียงโดยย่อ เอาเฉพาะบางท่านเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังบ้างแล้ว จึงขอเริ่มท่านแรกกันเลย...

นายสุมนมาลาการ

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภนายสุมนมาลาการ ผู้เก็บดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารทุกวัน วันหนึ่งเขาได้พบพระศาสดาทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ เสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เขาจึงมีจิตยินดีเลื่อมใส ได้ตัดสินใจเอาดอกมะลิที่ตนจะต้องนำไปถวายพระราชา ด้วยคิดว่า เมื่อพระราชาไม่ทรงได้ดอกไม้ จะทรงฆ่าเราหรือขับไล่เสียจากแว่นแคว้น เราก็ยอมทุกอย่าง เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงได้ยอมสละชีวิตของตนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เขาได้ซัดดอกมะลิทีละ ๒ กำ ขึ้นไปเบื้องบนแห่งพระตถาคต ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ ดอกมะลิทั้ง ๘ กำ ๘ ทะนาน ได้ลอยเป็นตาข่ายแวดล้อมพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ด้าน พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็เลื่อมใส ได้พระราชทานสมบัติเป็นอันมากแก่นายสุมนมาลาการนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสพยากรณ์ด้วยเหตุนี้ว่า “ อานนท์ เธออย่าได้กำหนดว่า การกระทำนี้มีประมาณเล็กน้อย การที่นายมาลาการได้สละชีวิตกระทำการบูชาด้วยความเลื่อมใสในเราแล้ว จักดำรงอยู่ในเทวดาและมนุษย์ จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า “สุมนะ” ”

พระนางมัลลิกาเทวี

ในกรุงสาวัตถีมีธิดาช่างดอกไม้ผู้ใหญ่คนหนึ่ง เป็นผู้มีรูปร่างสวยงามยิ่ง เป็นผู้มีบุญมาก มีอายุ ๑๖ ปี อยู่มาวันหนึ่ง ธิดาของช่างดอกไม้นั้นเอาขนมถั่วใส่ลงกระเช้าดอกไม้ ออกไปที่สวนดอกไม้ ก็ได้พบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดากับทั้งพระภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปบิณบาตในพระนครก็ดีใจ จึงเอาขนมเหล่านั้นใส่ลงในบาตรของพระศาสดา ไหว้แล้วก็เกิดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แล้วยืนอยู่ เมื่อสมเด็จพระบรมครูทอดพระเนตรดูแล้วก็ทรงยิ้ม เวลาพระอานนท์ทูลถามถึงเหตุที่ทรงยิ้ม ก็ตรัสว่า “ อานนท์ กุมาริกานี้จักได้เป็นอัครมเหสีของพระราชาโกศลในวันนี้ ด้วยผลที่ถวายขนมถั่ว ”

ดังนี้แล้วก็เสด็จไป ฝ่ายธิดาช่างดอกไม้นั้น ไปถึงสวนดอกไม้แล้ว ก็ร้องเพลงเก็บดอกไม้ ในวันนั้นเองพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ทรงสู้รบกับพระเจ้าอชาตศัตรู เวลาพ่ายแพ้ก็เสด็จหนีขึ้นทรงม้าเสด็จมา ได้ทรงสดับเสียงร้องเพลงแห่งกุมาริกานั้น ก็มีพระหฤทัยปฏิพัทธิ์ พระบาทท้าวเธอจึงเสด็จไปที่สวนดอกไม้ทรงทราบว่ากุมาริกานั้นยังไม่มีสามี จึงโปรดให้ขึ้นนั่งบนหลังม้า ห้อมล้อมด้วยพลนิกายเสด็จเข้าสู่พระนคร แล้วโปรดให้ส่งกุมาริกานั้นกลับไปสู่เรือนตระกูล พอถึงเวลาเย็นก็โปรดให้รับมาด้วยสักการะใหญ่ อภิเษกบนกองแก้วแล้วตั้งให้เป็นพระอัครมเหสี พระนางมัลลิกานั้นได้เป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นที่คุ้นเคยกระทั่งพระพุทธเจ้าเป็นต้น ปรากฏพระนามว่า “พระนางมัลลิกาเทวี” ดังนี้

พระนางโคปาลมาตาเทวี

ในครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่โน้น มีนิคมหนึ่งชื่อว่า “นาลินิคม” ที่นิคมนั้นมีธิดาเศรษฐีอยู่ ๒ คน คนหนึ่งเมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้วก็ยากจน จึงได้อาศัยอยู่กับพี่เลี้ยง แต่มีร่างกายสวยดี มีผมยาวกว่าสตรีอื่น อีกคนหนึ่งเป็นผู้ยังมั่งมีอยู่ แต่เป็นคนมีผมน้อย ได้เคยให้สาวใช้ไปขอซื้อผมของธิดาเศรษฐีนั้นเป็นราคาตั้งร้อยตั้งพันก็ไม่อาจซื้อได้ ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมยาวได้เห็นพระมหากัจจายนะเดินมาเที่ยวบิณฑบาตกับพระภิกษุ ๗ องค์ แต่ก็ไม่ได้อะไรในนิคมนั้น จึงให้พี่เลี้ยงไปนิมนต์พระเถระเหล่านั้น ให้ขึ้นมานั่งบนเรือนแล้วธิดาเศรษฐีก็เข้าห้องให้พี่เลี้ยงตัดผมของตน แล้วบอกว่า “พี่จงเอาผมเหล่านี้ไปให้แก่ธิดาเศรษฐีซึ่งไม่มีผมชื่อโน้น เขาให้สิ่งใดก็จงนำสิ่งนั้นมา เราจะได้ถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายด้วยสิ่งนั้น”

แล้วก็ใช้ให้พี่เลี้ยงไป พี่เลี้ยงได้ไปทำอย่างนั้นแล้วได้เงิน ๘ กหาปณะ (๘ ตำลึง) มาให้แก่ธิดาเศรษฐีผู้มีผมยาว ธิดาเศรษฐีนั้นก็ให้ไปซื้ออาหารมา ๘ สำรับๆ ละ ๑ ตำลึง แล้วให้ถวายแก่พระเถระทั้งหลาย ส่วนตนเองหลบลี้อยู่ในห้อง พระมหากัจจายนะรู้เหตุการณ์นั้นแล้ว จึงให้เรียกออกมา ธิดาเศรษฐีนั้นก็ได้ออกมาด้วยความเคารพพระเถรเจ้า ไหว้พระเถระทั้งหลายแล้วก็เกิดศรัทธาแรงกล้า ธรรมดาทานที่บุคคลถวายในเนื้อนาที่ดีย่อมให้ผลในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ผมของธิดาเศรษฐีนั้น จึงกลับเป็นปกติขึ้นพร้อมกับเวลาไหว้พระเถรเจ้า พระเถระรับบิณฑบาตแล้วก็พากันเลื่อนลอยขึ้นสู่เวหาต่อหน้าธิดาเศรษฐีนั้น แล้วไปลงที่กาญจนอุทยาน จึงได้ฉันในที่นั้น นายอุทยานได้เห็นพระเถระนั้นจึงไปกราบทูลพระราชา พระราชาจัณฑปัชโชตได้เสด็จไปที่พระราชอุทยานพอดีพระเถระฉันเสร็จแล้ว พระบาทท้าวเธอก็กราบไหว้แล้วตรัสถามว่า วันนี้ท่านทั้งหลายได้อาหารที่ไหน พอได้ทรงสดับเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์แล้วโปรดให้ไปรับธิดาเศรษฐีนั้นมาตั้งให้เป็นอัครมเหสีในวันนั้น ต่อมาเวลาภายหลังเมื่อพระอัครมเหสีนั้นได้พระราชโอรสแล้ว จึงทรงตั้งชื่อว่า “โคปาลกุมาร” เหมือนกับชื่อมหาเศรษฐีผู้เป็นตา จึงปรากฏพระนามว่า “พระนางโคปาลมาตาเทวี” ตามชื่อแห่งพระราชโอรส พระนางมีความเลื่อมใสต่อพระเถระยิ่งนัก จึงได้โปรดสร้างวัดถวายพระเถระไว้ในกาญจนอุทยานนั้น ดังนี้

นางสุปิยอุบาสิกา

ในกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน ครั้งนั้นมีสุปิยอุบาสกและสุปิยอุบาสิกาได้เป็นอุปัฏฐากพระภิกษุทั้งหลาย ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ทราบว่ามีภิกษุองค์หนึ่งฉันยาประจุรุถ่าย ปรารถนาจะฉันแกงเนื้อสักหน่อยสุปิยอุบาสิกา ก็รับว่าจะหามาถวาย จึงกลับไปยังเรือนใช้ให้คนไปซื้อเนื้ออันเขาขายอยู่ในตลาดนั้น ปรากฏว่าหาซื้อเนื้อที่ตายแล้วมิได้เลย สุปิยอุบาสิกาจึงคิดว่า พระภิกษุที่อาพาธนั้น มิได้ฉันแกงเนื้อแล้วอาจจะอาพาธหนักหรืออาจจะถึงตายได้เป็นมั่นคง และตัวเราได้รับปากไว้แล้ว จึงได้ตัดสินใจเอามีดเชือดเนื้อที่ขาของตน แล้วส่งให้ทาสีว่า “เจ้าจงต้มแกงเนื้อนี้แล้ว จงนำไปถวายแก่ภิกษุไข้ชื่อนั้นๆ ถ้าผู้ใดถามว่าฉันไปไหนจงบอกว่าฉันเป็นไข้อยู่”

สุปิยอุบาสิกาสั่งดังนั้นแล้ว จึงเอาผ้าห่มพันขาเข้าไว้ แล้วเข้าไปในห้องขึ้นนอนอยู่บนเตียงนั้น ลำดับนั้น สุปิยอุบาสกไปยังเรือนสุปิยอุบาสิกาแล้วถามว่า “ นางสุปิยาไปไหน ? ”
ทาสีจึงบอกว่า “ นางนอนอยู่ในห้อง ”
สุปิยอุบาสกจึงเข้าไปถาม เมื่อได้ทราบความดังนั้นแล้ว จึงสรรเสริญว่า “ อัศจรรย์จริงๆ แล้วหนอ...สุปิยานี้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจริงๆ แม้กระทั่งเนื้อหนังในกายตัวยังบริจาคได้ จะว่าไปใยถึงสิ่งของภายนอกกายนั้นเล่า ซึ่งว่าจะมิได้ให้นั้นจะมิได้มีเลย ”

แล้วจึงไปอาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง เพื่อจะให้เป็นบุญปีติปราโมทย์ในวันรุ่งเช้า ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเรือนนั้นแล้ว จึงตรัสถามสุปิยอุบาสกว่า “ สุปิยอุบาสิกาไปไหนจึงไม่เห็น ? ”
สุปิยอุบาสกจึงกราบทูลว่า “ นางป่วยไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ”
จึงมีพระพุทธฏีกาตรัสว่า “ ท่านจงช่วยพยุงมาที่นี่เถิด ”
อุบาสกรับพระพุทธฏีกาแล้ว จึงไปพยุงนางออกมาสู่สำนักพระพุทธเจ้า แต่พอนางสุปิยอุบาสิกาได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นแผลอันใหญ่นั้นก็งอกเนื้อหนังเป็นปกติขึ้นดังเก่า คนทั้งสองจึงถวายภัตตาหารอันประณีตแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์ทรงเป็นประธาน ดังนี้

(ผลบุญที่บุคคลเหล่านี้กระทำแล้ว ด้วยการบูชายิ่งกว่าชีวิตของตน ได้ให้ผลทันทีในปัจจุบันนี้ เรื่องเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังว่างจากพระศาสนา เป็นกาลที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติ แต่บุคคลเหล่านั้นได้ขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งเป็น มี ๔ ท่าน ดังนี้) โคตติลคันธัพพราชา ๑ สาธินราชา ๑ เนมิราชา ๑ มันธาตุราชา ๑ (บุคคลทั้ง ๔ ท่านนี้ ได้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกายที่เป็นมนุษย์ ความจริงผู้มีชื่อทั้ง ๔ นี้ มิใช่อื่นไกล เป็นสมเด็จพระจอมไตรองค์ปัจจุบันนี้เอง ได้เกิดขึ้นในสมัยที่เสวยพระชาติเป็น “พระโพธิสัตว์” นั่นเอง)


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น