Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 18

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 18 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องสำเร็จสัพพัญญุตญาณ

ตอนที่ ๑๘

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องสำเร็จสัพพัญญุตญาณ


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า“ ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระตถาคตเจ้าทรงเผาอกุศลสิ้นแล้ว จึงถึงพระสัพพัญญุตญาณ หรือว่าเผาอกุศลยังไม่สิ้นแต่ถึงพระสัพพญญุตญาณ? ”
พระนาคเสนตอบว่า“ ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าเผากุศลทั้งปวงสิ้นแล้ว จึงถึงพระสัพพัญญุตญาณ การที่จะเผาอกุศลที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีอีกเลย ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทุกขเวทนาเคยเกิดในพระกายของพระพุทธเจ้าบ้างหรือไม่ ? ”
“ เคยเกิด มหาบพิตร คือครั้งประทับที่กรุงราชคฤห์ พระบาทได้ถูกสะเก็ดศิลา ครั้งทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม ก็ทรงเกิดโลหิตปักขันทิกาพาธ (โรคท้องร่วง) หมอชีวกก็ถวายยาประจุ อีกครั้งหนึ่งเกิดพระอาพาธลม พระอานนท์ก็ได้เที่ยวหาน้ำร้อนมาถวาย ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสถามต่อไปว่า “ ถ้าพระตถาคตเจ้าเผาอกุศลทั้งปวงสิ้นแล้ว จึงสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ คำที่ว่า “พระอาพาธเกิดในพระสรีกายของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ผิด” ถ้าคำว่า “พระอาพาธเกิดในพระสรีรกายของพระพุทธเจ้านั้นถูก” คำว่า “พระตถาคตเจ้าเผาอกุศลทั้งปวงสิ้นแล้ว จึงสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณนั้นก็ผิด” บุคคลย่อมได้เสวยทุกขเวทนานอกจากกรรมไม่มี กรรมเท่านั้นเป็นมูลราก บุคคลได้เสวยเวทนาเพราะกรรมเท่านั้น ปัญหาอันเป็นอุภโตโกฏินี้ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกำจัดเสียซึ่งความสงสัยเถิด ”

เหคุให้เกิดทุกขเวทนามี ๘

“ ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าเวทนาทั้งปวงมีกรรมเป็นมูลรากทั้งนั้น เพราะเหตุที่จะให้เกิดเวทนาอันเป็นทุกข์นั้นมีอยู่ ๘ ประการ คือ ๑. ทุกขเวทนามีลมเป็นสมุฏฐาน ๒. ทุกขเวทนามีดีเป็นสมุฏฐาน ๓. ทุกขเวทนามีเสมหะเป็นสมุฏฐาน ๔. ทุกขเวทนามีประชุมลม ดี เสมหะเป็นสมุฏฐาน ๕. ทุกขเวทนามีการเปลี่ยนฤดูเป็นสมุฏฐาน ๖. ทุกขเวทนามีการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอเป็นสมุฏฐาน ๗. ทุกขเวทนามีการกระทำของผู้อื่นเป็นสมุฏฐาน ๘. ทุกขเวทนาอันเกิดด้วยผลแห่งกรรมบุคคลเหล่าใด ถือว่าเกิดด้วยผลแห่งกรรมเดียว ไม่เกี่ยวกับเหตุ ๘ นี้ คำพูดของคนเหล่านั้นผิดไป ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ทุกขเวทนาอันมีสิ่งทั้ง ๘ นี้เป็นสมุฏฐาน ก็เป็นอันว่ามีกรรมเป็นสมุฏฐานทั้งนั้น เกิดด้วยกรรมทั้งนั้น”

เหตุให้ลม ดี เสมหะกำเริบ

“ ขอถวายพระพร ถ้าทุกขเวทนาเหล่านั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐาน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ต้องมีลักษณะต่างกัน แต่นี่มีลักษณะต่างกัน คือลมเมื่อจะกำเริบก็กำเริบด้วยเหตุ ๑๐ อย่าง อันได้แก่ กำเริบด้วยเย็น ร้อน หิว กระหาย กินมากเกินไป ยืนนานเกินไป เพียรมากเกินไป วิ่งเร็วเกินไป การกระทำของผู้อื่น และผลแห่งกรรม ๙ อย่างข้างต้น จะเกิดขึ้นในอดีต อนาคตก็หาไม่ ย่อมเกิดแต่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรกล่าวว่า เวทนาทั้งปวงเกิดจากกรรม ส่วนดีเมื่อกำเริบจะกำเริบด้วยเหตุ ๓ อย่าง คือ เย็น ร้อน กินไม่เป็นเวลา เสมหะกำเริบด้วยเหตุ ๓ อย่าง คือด้วยเย็น ร้อน ข้าว น้ำ

ลม ดี เสมหะ กำเริบด้วยเหตุเหล่านี้ แล้วเจือกันชักมาซึ่งเวทนาอันเป็นส่วนของตนๆ เวทนาอันเกิดด้วยเปลี่ยนฤดู ก็เกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนฤดู เวทนาอันเกิดด้วยบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ก็เกิดด้วยการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ คือเปลี่ยนอิริยาบถไม่พอสมควรกัน เวทนาอันเกิดจากความเพียรเป็นกิริยาก็มี เป็นวิบากก็มี เวทนาอันเกิดจากกรรมย่อมเกิดด้วยกรรมที่ได้กระทำไว้ในปางก่อน ด้วยเหตุตามที่ว่ามานี้แหละ ชี้ให้เห็นว่าเวทนาอันเกิดด้วยกรรมมีน้อย เกิดด้วยอย่างอื่นมีมาก พวกโง่เขลาก็เข้าใจว่า เกิดด้วยกรรมทั้งนั้น กรรมนั้นไม่มีใครรู้ได้ นอกจากพระพุทธญาณเท่านั้น”

พระเทวทัตกลิ้งก้อนศิลา

“ การที่พระบาทของพระพุทธเจ้าถูกสะเก็ดศิลาแล้ว ทำให้เกิดเวทนานั้น ไม่ใช่มีลม หรือดี เสมหะ หรือสิ่งทั้ง ๓ นี้ เป็นสมุฏฐานเลย ไม่ใช่เกิดด้วยการเปลี่ยนฤดู หรือด้วยการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ เกิดด้วยการกระทำของผู้อื่นต่างหาก คือพระเทวทัตผู้ผูกอาฆาตต่อพระตถาคตเจ้ามาหลายแสนชาติแล้ว ได้กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงไปจากยอดภูเขา ด้วยคิดจักให้ตกถูกพระพุทธองค์ แต่ก้อนศิลาที่กลิ้งลงมานั้น ได้มากระทบก้อนศิลาใหญ่อีก ๒ ก้อน ก้อนศิลานั้นได้แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ น้อยๆ กระจายไป มีสะเก็ดเล็กๆ ก้อนหนึ่งได้กระเด็นไปถูกพระบาทของพระพุทธเจ้าทำให้พระโลหิตห้อขึ้น จะว่าเวทนานั้นเกิดด้วยผลแห่งกรรม หรือด้วยการกระทำของพระองค์ไม่ได้ทั้งนั้น เกิดด้วยการกระทำของผู้อื่นต่างหาก ”

ยกอุปมาขึ้นเปรียบเทียบ

“ พืชย่อมงอกงามไม่ดี ย่อมเป็นเพราะที่ดินไม่ดี หรือเพราะพืชไม่ดีฉันใด เวทนานั้นก็เกิดแก่พระพุทธเจ้า เพราะผลแห่งกรรมหรือเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งฉันนั้น นอกนั้นย่อมไม่มีโภชนะที่กินเข้าไปแล้วย่อยไม่ดี ย่อมเป็นเพราะท้องไม่ดี หรือเพราะโภชนะนั้นไม่ดีฉันใด เวทนาของพระพุทธเจ้านั้นก็เกิดด้วยผลแห่งกรรม หรือเกิดด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งฉันนั้น ก็แต่ว่าเวทนาอันเกิดด้วยผลแห่งกรรมและเกิดด้วยการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้า มีด้วยเหตุ ๑ อย่างนอกจาก ๒ อย่างนี้ต่างหาก ใครไม่อาจปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้าได้แต่ว่าเวทนาทั้งที่น่าต้องการ และไม่น่าต้องการ ดีและไม่ดี ย่อมมีในพระวรกายอันประกอบด้วยธาตุ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้เป็นของธรรมดา ก้อนดินที่บุคคลขว้างขึ้นไปในอากาศ ย่อมตกลงมาที่พื้นดิน ก้อนดินเหล่านั้นได้ตกลงมาที่พื้นดิน ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อนหรือ...มหาบพิตร? ”
“ หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า ก้อนดินเหล่านั้นไม่ได้ตกลงมาที่พื้นดินด้วยกรรมอะไร”
“ ขอถวายพระพร ควรเห็นว่าพระวรกายของพระตถาคตเจ้า ก็เปรียบเหมือนกับพื้นดินฉะนั้น การที่สะเก็ดศิลาถูกพระบาทของพระตถาคตเจ้านั้น ไม่ใช่เป็นเพราะบุพพกรรมอาตมภาพขอถามมหาบพิตรว่า การที่แผ่นดินใหญ่นี้ ถูกมนุษย์ทั้งหลายทำลายและขุดนั้น เป็นด้วยบุพพกรรมหรือ ? ”
“ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ข้อที่สะเก็ดศิลาถูกพระบาทของพระพุทธเจ้า ทำให้พระโลหิตห้อนั้น ก็ไม่ใช่เพราะบุพพกรรมฉันนั้น ถึงพระโรคโลหิตปักขันทิกาพาธก็ไม่ได้เกิดด้วยบุพพกรรม เกิดด้วย ลม ดี เสมหะ ๓ อย่างกำเริบต่างหาก ทุกขเวทนาทางพระกายของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดด้วยบุพพกรรมเลย เกิดด้วยสมุฏฐาน ๖ ต่างหากข้อนี้ สมกับที่สมเด็จพระมหามุนีได้ตรัสไว้ใน “โมลิยสีวกเวยยากรณะ” ในสังยุตตนิกายว่า “ดูก่อนสีวกะ เวทนาบางอย่างเกิดขึ้นเพราะมี “ดี” เป็นสมุฏฐาน บางอย่างมี “ลม”
เป็นสมุฏฐาน บางอย่างมี “สิ่งทั้ง ๓” นั้นเป็นสมุฏฐาน บางอย่างเกิดขึ้นเพราะเปลี่ยนฤดู บางอย่างเกิดขึ้นเพราะบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ บางอย่างเกิดขึ้นเพราะการกระทำของผู้อื่น บางอย่างเกิดขึ้นเพราะผลของกรรม สมณพราหมณ์เหล่าใดเห็นว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขทั้งสิ้นเกิดขึ้นเพราะบุพพกรรมทั้งนั้น สมณพราเหล่านั้นชื่อว่าแล่นเลยความจริงไป ความคิดความเห็นของสมณพราหมณ์เหล่านั้นผิดไป” เพราะฉะนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาจึงว่าเวทนาทั้งสิ้นไม่ใช่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เกิดเพราะกรรมทั้งนั้นเป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าได้เผาอกุศลกรรมสิ้นแล้ว จึงได้ถึงพระสัพพัญญุตญาณ ขอให้มหาบพิตรทรงจำไว้อย่างนี้เถิด ขอถวายพระพร ”
“ ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า โยมขอรับจำไว้อย่างนี้ ”

ฎีกามิลินท์

การที่พระนาคเสนกล่าวไว้ว่า “ทุกขเวทนาของพระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดด้วยกรรมนั้น” เป็น เอกังสพยากรณ์ คือเป็นการกล่าวแก้ออกไปอย่างเด็ดขาดลงไปฝ่ายเดียวเท่านั้นเพราะฉะนั้น จึงควรวิจารณ์ อย่างไหนถูกกว่าก็ควรถือเอาอย่างนั้น การวิจารณ์นั้นมีว่า กิเลสทั้งหลายเป็นของที่มรรคฆ่าแล้ว กรรมอันเกิดด้วยกิเลสซึ่งจะทำให้เกิดโรคาพาธทั้งในปัจจุบันและอนาคตของผู้สิ้นกิเลสแล้วนั้นไม่มี ท่านจึงว่า ไม่ได้เกิดด้วยกรรม หมายความว่าไม่ได้เกิดด้วยกรรมที่กระทำในปัจจุบันและจักไม่เกิดในอนาคตเป็นอันขาด เพราะว่าสิ้นกิเลสอันเป็นเหตุให้ทำกรรมที่จะให้เกิดผลทั้งในปัจจุบันและอนาคตแล้ว ส่วนบุพพกรรมอันเป็นปราปรเวทนียกรรม คือกรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ซึ่งทำไว้ในอดีตก่อนสิ้นกิเลสนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่อาจห้ามได้ คือกรรมที่เคยทำไว้ก่อนสิ้นกิเลสนั้นย่อมสามารถส่งผลได้แม้ในขณะที่สิ้นกิเลสแล้วก็ตามตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นจึงควรถือเอาว่าเวทนาของพระพุทธเจ้านั้นเกิดด้วยบุพพกรรมไม่ได้เกิดด้วยปัจจุบันกรรม แต่เพราะเหตุไรพระเถระจึงกล่าวไว้หลายอย่าง เพราะเหตุว่าพระเจ้ามิลินท์อยากทรงสดับปฎิภาณอันวิจิตรต่างๆ จึงได้แก้หลายอย่างเช่นนั้น ดังนี้

( ขอยับยั้ยปัญหาไว้เพียงแค่นี้ก่อน เพราะตอนที่แล้วยังค้างเรื่องในพระสูตร จึงขอย้อนพูดถึง ปัญหาที่ ๖ เรื่องการตั้งครรภ์ ตามที่ท่านกล่าวถึงเทพบุตร ๔ องค์ คือสุวรรณสาม ๑ พระเจ้ามหาปนาท ๑ พระเจ้ากุสราช ๑ พระเวสสันดร ๑ ว่าได้ลงมาเกิดเพราะพระอินทร์ทรงอ้อนวอนสำหรับในตอนนี้จึงขอนำเรื่อง “ พระเจ้ามหาปนาท ” มาให้อ่านกันก่อน ส่วนในตอนหน้าจะเป็นเรื่อง “ พระเจ้ากุสราช ”
ขออย่าได้พลาดในการติดตามต่อไป)

มหาปนาทชาดก

มหาปนาทชาดกนี้มีเนื้อความว่า สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาทรงพระปรารภอานุภาพของพระภัททชิเถระ จึงทรงแสดงซึ่งชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหามุนีเสด็จจำพรรษาอยู่ในกรุงพาราณสี ทรงดำริว่าจะสงเคราะห์ภัททชิกุมาร จึงเสด็จไปสู่ภัททิยนคร ประทับอยู่ในชาติยาวันตลอดไตรมาสเพื่อรอให้วาสนาบารมีของภัททชิกุมารแก่กล้า ภัททชิกุมารนั้นเป็นบุตรแห่งภัททยเศรษฐี ผู้มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีปราสาทถึง ๓ หลังเป็นที่ยับยั้งอยู่ในฤดูทั้ง ๓ ฝ่ายสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งจำพรรษาอยู่ในอารามนั้นสิ้นไตรมาส ๓ เดือนแล้ว จึงทรงตรัสอำลาชาวเมื่อทั้งหลายว่าจะเสด็จไปจากเมืองนั้น พวกชาวเมืองจึงขอให้ประทับอยู่อีกวันหนึ่ง แล้วพากันถวายมหาทานในวันรุ่งขึ้น มีมหาชนไปประชุมถวายทานเป็นอันมาก เมื่อภัททชิกุมารไม่เห็นมหาชนไปคอยดูตนในเวลาเปลี่ยนปราสาทตามฤดูเหมือนที่เคยมา จึงถามคนทั้งหลายจนรู้เหตุผลนั้นแล้ว ได้รีบตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องอลงกตพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ออกไปเฝ้าสมเด็จพระบรมสุคตเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ ก็ได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล สมเด็จพระทศพลจึงตรัสบอกแก่มหาเศรษฐีผู้เป็นบิดาของภัททชิกุมารนั้นให้ทราบว่าภัททชิกุมารได้สำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ถ้าไม่ให้บรรพชาในวันนี้ เขาก็จักปรินิพพานเสีย มหาเศรษฐีจึงกราลทูลขอให้บรรพชา เมื่อภัททชิกุมารบรรพชาแล้ว ได้ทูลอาราธนาให้สมเด็จพระบรมศาสดาเข้าไปรับมหาทานในบ้านของตนอยู่ตลอด ๗ วันในวันที่ ๗ พระองค์จึงพาพระภัททชิเสด็จไปถึงโกฏิคาม ชาวโกฏิคามได้พร้อมกันถวายพระมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์ทรงเป็นประธาน เมื่อเสร็จจากการฉันแล้ว เวลาพระพุทธองค์จะทรงอนุโมทนานั้น พระภัททชิได้ออกไปภายนอกบ้านเสียก่อน ไปนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำคงคา

อานุภาพของพระภัททชิเถระ

ฝ่ายชาวบ้านโกฏิคามได้ยกเรือทานถวายพระภิกษุสงฆ์ เวลาสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จลงประทับในเรือแล้ว โปรดให้พระภัททชิไปในเรือลำเดียวกันด้วย พอไปถึงกลางแม่น้ำคงคา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า “ดูก่อนภัททชิ ปราสาทที่เธอเคยอยู่ในเมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาปนาทราชนั้นอยู่ที่ไหน?”
พระภัททชิกราบทูลว่า “ จมอยู่ตรงนี้ พระเจ้าข้า ”

ภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชนก็พากันร้องกล่าวโทษว่า พระภัททชิอวดมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงตรัสบอกพระภัททชิให้แก้ความสงสัยของภิกษุทั้งหลาย พระภัททชิถวายบังคมแล้ว ก็บันดาลปลายนิ้วเท้าลงไปคีบยอดปราสาทอันสูงได้ ๑๕ โยชน์ ขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา ไปปรากฏอยู่บนอากาศสูงจากพื้นน้ำได้ถึง ๓ โยชน์ แล้วปล่อยไปในแม่น้ำคงคา มหาชนทั้งหลายก็หมดความสงสัย

สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสว่า ปราสาทหลังนี้พระภัททชิเคยอยู่มาตั้งแต่ครั้งเป็นพระเจ้ามหาปนาทราช

อานิสงส์สร้างบรรณศาลา

ในอดีตกาลมีช่างเสื่อลำแพนคนหนึ่งในเมืองพาราณสีเดินออกไปที่นา ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จึงบอกให้บ่าวไพร่ออกไปหว่านข้าว ส่วนตนเองได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นกลับไปฉันอาหารที่บ้านของตน แล้วนิมนต์ไปที่ริมแม่น้ำคงคาอีก ตนพร้อมกับบุตรได้สร้างบรรณศาลาด้วยเสาไม้มะเดื่อ ฝาไม้อ้อขึ้น แล้วกระทำที่เดินจงกรมถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้น นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้จำพรรษาอยู่ในที่นั้น เวลาออกพรรษาแล้วได้ถวายไตรจีวรแล้วนิมนต์ไปตามปรารถนา ต่อมาก็ได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มาจำพรรษาในบรรณศาลานั้นปีละองค์ จนถึง ๗ องค์ เวลาออกพรรษาแล้วก็ได้ถวายไตรจีวรทุกองค์ไป เวลาบิดากับบุตรทั้งสองนั้นตายแล้วก็ได้ขึ้นไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติไปๆ มาๆ อยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ต่อมาภายหลังบิดายังอยู่ในสวรรค์ ส่วนบุตรได้จุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในพระครรภ์พระนางสุเมธาเทวี อัครมเหสีของ พระเจ้าสุรุจิ ในกรุงมิถิลามหานคร

(ในตอนนี้ขอแทรกประวัติพระเจ้าสุรุจิ และพระนางสุเมธาเทวี อันปรากฏมีอยู่ในสุรุจิชาดก ซึ่งสมเด็จพระพุทธองค์ทรงพระปรารภนางวิสาขามหาอุบาสิกาไว้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงได้ทรงแสดงชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย)

สุรุจิชาดก

ในอดีตกาลพระราชาทรงพระนามว่าสุรุจิเสวยราชสมบัติในพระนครมิถิลา ทรงได้พระราชโอรสจึงขนานพระนามว่าสุรุจิกุมาร พระกุมารทรงเจริญวัยแล้วทรงดำริว่า เราจักเรียนศิลปะในเมืองตักศิลา จึงเสด็จไปประทับนั่งพักที่ศาลาใกล้ประตูพระนครฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสีทรงพระนามพรหมทัตกุมารก็เสด็จไปในที่นั้น เมื่อทรงไต่ถามกันแล้วจึงไปสู่สำนักอาจารย์ ไม่ช้านานต่างก็สำเร็จศิลปะ พากันอำลาอาจารย์ ก่อนที่จะเสด็จจากกันต่างทรงกระทำกติกากันว่า ถ้าข้าพเจ้ามีโอรส ท่านมีพระธิดาหรือท่านมีพระโอรส ข้าพเจ้ามีธิดา เราจักให้แต่งงานกัน ครั้งกุมารทั้งสองเสวยราชสมบัติ พระเจ้าสุรุจิมหาราชมีพระโอรส ทรงพระนามว่า สุรุจิกุมาร พระเจ้าพรหมทัตมีพระธิดา ทรงพระนามว่า สุเมธา พระกุมารสุรุจิทรงจำเริญวัย เสด็จไปเมืองตักศิลา ทรงเรียนศิลปะแล้วเสด็จกลับมา พระราชบิดามีพระประสงค์จะอภิเษกพระกุมารในราชสมบัติ ทรงสดับว่าพระเจ้าพรหมทัตพระสหายของเรามีพระธิดา เราจักสถาปนานางให้เป็นอัครมเหสีของลูกเรา ทรงประทานบรรณาการให้พวกอำมาตย์นำไปเพื่อต้องการพระนางนั้น ภายหลังอำมาตย์เหล่านั้นกลับมากราบทูลว่า พระเจ้าพาราณสีไม่มีพระประสงค์ที่จะส่งนางเข้าไปภายในกลุ่มสตรี ประสงค์ที่จะให้นางแก่ผู้ที่จะครองนางผู้เดียวเท่านั้น

พระกุมารสุรุจิทรงสดับรูปสมบัติของพระนางสุเมธาแล้วก็ติดพระหฤทัย จึงกราบทูลว่า หม่อมฉันจักครองนางแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการกลุ่มสตรี โปรดเชิญนางมาเถิด

ครั้นเชิญพระนางมาแล้วทรงอภิเษกให้เป็นเอกอัครมเหสีของพระกุมาร พระกุมารนั้นทรงพระนามว่าสุรุจิมหาราช ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงอยู่ร่วมกับพระมเหสีตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี ไม่ทรงมีพระโอรสหรือ พระธิดาเลย

พระเทวี ๑๖,๐๐๐ นาง

ครั้งนั้น ชาวเมืองต่างพากันกราบทูลให้พระราชาทรงรับกลุ่มสตรีไว้ เผื่อจักได้มีพระโอราสไว้สืบสันตติวงศ์ แต่พระองค์ทรงตรัสห้าม เนื่องจากทรงปฏิญาณไว้แล้วว่า จักไม่ครองหญิงอื่นเลย พระนางสุเมธาทราบเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า พระราชามิได้ทรงนำสตรีอื่นมาเลย แต่เรานี่แหละจักหามาถวายแก่พระองค์ ดังนี้แล้วจึงทรงนำสตรี ๔,๐๐๐ นาง แต่ก็หามีพระโอรสหรือธิดาไม่ จึงคัดมาถวายอีกคราวละ ๔,๐๐๐ ถึง ๓ คราว ก็ไม่ได้พระโอรสพระธิดา รวมเป็นหญิงที่พระนางนำมาถวายทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ นาง

เวลาล่วงไป ๔๐,๐๐๐ ปี รวมกับเวลาที่ทรงอยู่กับพระนางองค์เดียว ๑๐,๐๐๐ ปี เป็น ๕๐,๐๐๐ ครั้งนั้นชาวเมืองก็พากันกราบทูลพระราชาอีก ขอให้ทรงบังคับพระเทวีทั้งหลาย พระเทวีเหล่านั้นเมื่อปรารถนาพระโอรสพากันนอบน้อมเทวดาต่างๆ พากันบำเพ็ญวัตรต่างๆ แต่พระโอรสก็ไม่อุบัติอยู่นั่นเอง ครั้งถึงดิถีที่ ๑๕ พระนางสุเมธาจึงสมาทานอุโบสถ ทรงระลึกถึงศีลทั้งหลายอยู่ในพระตำหนัก พระเทวีที่เหลือพากันประพฤติวัตรอย่างแพะอย่างโคต่างไปสู่พระอุทยาน

ด้วยเดชแห่งศีลของพระนางเจ้า พิภพของท้าวสักกะหวั่นไหว เมื่อพระองค์ทรงทราบความนั้นไซร้ จึงทรงเลือกนฬการเทพบุตร ผู้เป็นบุตรแห่งช่างเสื่อลำแพนนั้นท้าวสักกะจึงเสด็จไปถึงประตูวิมานแล้วตรัสว่า “ ท่านควรจะไปสู่มนุษย์โลก ”
เทพบุตรทูลว่า “ ข้าแต่มหาราช โลกมนุษย์น่ารังเกียจ สกปรก มนุษย์ต่างทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ปรารถนาเทวโลก ข้าพระองค์จักไปในโลกมนุษย์นั้นทำอะไร? ”
“ ท่านจักได้บริโภคทิพยสมบัติที่เคยบริโภคในเทวโลก จักได้อยู่ในปราสาทแก้วสูง ๒๕ โยชน์ ยาว ๙ โยชน์ กว้าง ๘ โยชน์ อยู่ในโลกมนุษย์ เชิญท่านรับคำเถิด”

เทพบุตรรับคำแล้ว ท้าวสักกะจึงเสด็จไปสู่อุทยาน ด้วยการแปลงเพศเป็นฤาษี จงกรมในอากาศเบื้องบนสตรีเหล่านั้น แล้วตรัสว่า “ เราจะให้โอรสแก่สตรีผู้มีศีล ”
สตรีเหล่านั้นจึงพากันกล่าวว่า “ เชิญไปสู่สำนักของพระนางสุเมธาเถิด ”
เมื่อพระนางสุเมธาได้ทราบความนั้นแล้วจึงประกาศศีลคุณของตนว่า “ ดิฉันถูกเชิญมาเป็นอัครมเหสีตลอดหมื่นปีแต่ผู้เดียว ดิฉันมิได้รู้สึกเลยว่า ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิด้วย กาย วาจา ใจ ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย ฯลฯ ดิฉันเป็นที่พอใจของพระภัสดา พระชนนีและพระชนกของพระภัสดาก็เป็นที่รักของดิฉัน พระองค์ท่านเหล่านั้นทรงแนะนำดิฉันตลอดเวลา ดิฉันยินดีในความไม่เบียดเบียน มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว มุ่งบำเรอพระองค์ท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ฯลฯ ความริษยาหรือความโกรธในสตรีผู้ร่วมเทวีกัน ๑๖,๐๐๐ คน มิได้มีแก่ดิฉันในกาลไหนๆ เลย คนไหนที่จะไม่เป็นที่รักของดิฉันไม่มีเลย ดิฉันอนุเคราะห์หญิงผู้ร่วมสามีทั่วกันทุกคน เหมือนอนุเคราะห์ตนฉะนั้น ฯลฯ ดิฉันเลี้ยงดูทาสกรรมกรซึ่งจะต้องเลี้ยงดู และชนเหล่าอื่นผู้อาศัยเลี้ยงชีวิตโดยเหมาะสมกับหน้าที่ ดิฉันเบิกบานในกาลทุกเมื่อ ฯลฯ ดิฉันเลี้ยงดูสมณพราหมณ์และวณิพกเหล่าอื่นให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำทุกเมื่อ ฯลฯ ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวันอุโบสถ ดิฉันสำรวมแล้วในศีลทุกเมื่อ ฯลฯ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง...”

พระฤาษีจำแลงจึงกล่าวสรรเสริญคุณของพระนางว่าเป็นความจริง พระนางทรงโสมนัส จึงตรัสถามว่าท่านเป็นใคร (ในตอนนี้มีคำอธิบายว่า พระนางตรัสอย่างนี้ ก็เพราะท้าวสักกะทรงมีพระเนตรไม่กระพริบเลย) แล้วพระองค์จึงตรัสบอกความจริงว่าเป็นท้าวสักกเทวราชนั่นเอง

มหาปนาทราชกุมาร

ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง นฬการเทพบุตร ก็จุติถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระนาง ต่อมาได้ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่ามหาปนาทราชกุมาร ชาวเมืองทั้งสองจึงพากันถวายทรัพย์เป็นค่าน้ำนม เมื่อพระกุมารทรงเจริญวัยได้ ๑๖ พรรษา ก็ทรงสำเร็จในศิลปะทุกประการ พระราชาทรงดำริที่จะอภิเษกในราชสมบัติ จึงทรงรับให้ช่างสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างปราสาทท้าวสักกะทรงทราบเหตุนั้น ตรัสสั่งวิษณุกรรมเทพบุตร ให้ลงไปสร้างปราสาทแก้วยาว ๙ โยชน์ กว้าง ๘ โยชน์ สูง ๒๕ โยชน์ ให้แก่มหาปนาทราชกุมารนั้น เทพบุตรนั้นจึงแปลงเพศเป็นช่าง สั่งให้ช่างเหล่านั้นไปกินข้าวเช้าแล้วค่อยมา แล้วจึงตีพื้นด้วยไม้ค้อน ทันใดนั้นเองปราสาทแก้ว ๗ ประการ ๗ ชั้น มีขนาดดังกล่าวแล้วก็ผุดขึ้นจากพื้นดิน มงคล ๓ ประการ คือ มงคลฉลองปราสาท มงคลอภิเษกสมโภชเศวตฉัตร และอาวาหมงคล ของพระกุมารได้มีคราวเดียวกัน แลชาวเมืองทั้งสองได้พากันฉลองมงคลด้วยมหรสพ สิ่งของทั้งหมด เช่น ผ้า เครื่องประดับ ของเคี้ยวกิน ของชนทั้งหลาย ได้เป็นสิ่งของของราชตระกูลทั้งสิ้น

ครั้งล่วง ๗ ปี ชนทั้งหลายพากันกราบทูลต่อพระเจ้าสุรุจิมหาราชว่า เมื่อไรจะเลิกงานสมโภชเสียที พระราชาตรัสตอบว่า ตลอดงานลูกเราไม่เคยหัวเราะเลย เมื่อใดเธอหัวเราะเมื่อนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงพากันไปเถิด

ลำดับนั้น มหาชนพากันเชิญนักฟ้อน ๖,๐๐๐ คน แบ่งเป็น ๗ ส่วน พากันรำฟ้อนก็มิอาจที่จะให้พระกุมารทรงพระสรวลได้ ทั้งนี้เพราะท้าวเธอเคยทอดพระเนตรกระบวนฟ้อนรำ อันเป็นทิพย์มาช้านาน การฟ้อนของนักฟ้อนเหล่านั้น จึงมิได้เป็นที่ต้องพระหฤทัย ครั้งนั้นจอมนักฟ้อน ๒ นาย หาอุบายต่างๆ เพื่อจะให้ทรงพระสรวลแต่ก็ไม่เป็นผล ฝูงชนจึงพากันระส่ำระสายฝ่ายท้าวสักกะทรงทราบเหตุนั้น จึงทรงส่งนักฟ้อนเทวดามายืนบนอากาศในท้องพระลานหลวง แสดงขบวนฟ้อนที่เรียกว่า “ อุปัฑฒัวคะ” คือมือข้างเดียว เท้าก็ข้างเดียว ตาก็ข้างเดียว แม้คิ้วก็ข้างเดียว ฟ้อนไปร่ายรำไป เคลื่อนไหวไป ที่เหลือคงนิ่งไม่หวั่นไหวเลย พระเจ้ามหาปนาทอดพระเนตรเห็นการนั้นแล้ว ทรงพระสรวลหน่อยหนึ่ง แต่มหาชนเมื่อหัวเราะ ก็สุดที่จะกลั้นความขบขันไว้ สุดที่จะดำรงสติไว้ได้ ล้มกลิ้งไปในท้องพระลานทอง มงคลเป็นอันเลิกได้ตอนนั้น พระเจ้ามหาปนาททรงกระทำบุญ มีถวายทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ก็เสด็จไปสู่เทวโลกนั่นเอง

พระศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า มหาปนาทในครั้งนั้นได้มาเป็นภัททชิ สุเมธาเทวี ได้มาเป็นวิสาขา วิษณุกรรมได้มาเป็นอานนท์ ส่วนท้าวสักกะได้มาเป็นเราตถาคตแล

(เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าพระนางสุเมธาเทวี หรือนางวิสาขา ผู้งดงามด้วยเบญกัลยาณีมีจริยาดีมาโดยตลอด ข้อวัตรปฏิบัติต่อผู้ร่วมอาศัยชายคาเดียวกัน ประพฤติได้อย่างครบถ้วน ท่านจึงมีความผาสุขในการครองเรือน สมควรที่ยกย่องว่าเป็นกุลสตรีที่แท้จริง สำหรับช่างเสื่อลำแพนสองพ่อลูกโดยเฉพาะลูกได้รับอานิสงส์มหาศาล เป็นด้วยผลจากการถวายภัตตาหาร ผ้าไตรจีวร และสร้างบรรณศาลาถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเกิดปราสาทแก้ว ๗ ประการ เพราะผลของทานร่วมกับบิดาแต่แปลกที่ว่าบุตรทำไมจึงไปนิพพานก่อน ส่วนบิดาจะมีความเป็นมาอย่างไรโปรดติดตามได้ต่อไปนี้)

มหานฬการเทพบุตร

ครั้นพระเจ้ามหาปนาทสวรรคตแล้ว ปราสาทนั้นก็ได้เลื่อนลอยไปสู่แม่น้ำคงคา ในที่ตั้งบันไดปราสาทเดิมนั้นได้กลายเป็นบ้านเมืองขึ้นเมืองหนึ่ง ชื่อว่าปยาคปติฏฐนคร ที่ตรงยอดปราสาทนั้นได้กลายเป็นบ้านที่ชื่อว่าโกฏิคาม

มีคำถามว่า เพราะอะไรปราสาทหลังนั้นจึงยังไม่อันตรธาน มีคำแก้ว่าเป็นเพราะอนุภาพแห่งช่างเสื่อลำแพนซึ่งเป็นบิดาในปางก่อน มีนามกรว่ามหานฬการเทพบุตร จะจุติลงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่าพระเจ้าสังขจักร ปราสาทหลังนั้นจักผุดขึ้นมาเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์สมัยพระศรีอาริยเมตไตรย

ตามพระบาลีในจักกวัตติสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีเนื้อความว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักมีสามีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในคราวที่มนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปีนั้นจักเกิดมีอาพาธ ๓ อย่างคือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑ เท่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี ชมพูทวีปนี้จักมั่งคั่งและรุ่งเรืองมีบ้านนิคมและราชธานีพอชั่วไก่บินตก ชมพูทวีปนี้ประหนึ่งว่าอเวจีมหานรก จักยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อหรือป่าไม้แก่นฉะนั้น

เกตุมดีราชธานี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี เมืองพาราณสีนี้จักเป็นราชธานีมีนามว่า “เกตุมดี” เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรืองมีพลเมืองมาก และมีอาหารสมบูรณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี ในชมพูทวีปนี้จักมีเมือง ๘๐,๐๐๐ เมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นประมุข

พระเจ้าสังขจักรพรรดิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าสังขจักรพรรดิ” เสวยราชสมบัติอยู่ในเกตุมดีราชธานี เป็นพระราชาโดยธรรมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชาอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ช้าวแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปรินายกแก้ว พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม มิต้องใช้อำนาจอาชญาหรืออาวุธประการใด

พระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปี จักมีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “เมตไตรย” จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าสังขจักรนั้นจักเสวยราชย์อยู่ที่ปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทอันมีมาในอดีตกาลนั้น แล้วจักทรงสละปราสาทนั้นให้เป็นทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางและคนขอทานทั้งหลาย แล้วจักปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ออกบรรพชาในสำนักของพระศาสดา ทรงพระนามว่า “เมตไตรย”

เมื่อพระเจ้าสังขจักรทรงบรรพชาแล้วจักออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว จักไม่ประมาท จักมีความเพียร จักมีใจตั้งมั่น แล้วจักสำเร็จถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันเป็นสิ่งยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรที่พากันออกจากเรือนเป็นบรรพชิตทั้งหลาย ”

(เนื้อความในพระบาลีขอนำมากล่าวไว้แต่เพียงแค่นี้)

อรรถกถา

พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายคำว่า “พอไก่บินตก” คือพอไก่บินจากหลังคาบ้านหนึ่งไปตกลงที่หลังคาอีกบ้านหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งได้แก่ระยะทางพอชั่วไก่เดินไปมาถึงกันได้ อันได้ใจความว่า ในครั้งมีบ้างเรือนอยู่หนาแน่น

คำว่า “เหมือนกับอเวจีนั้น” คือมีคนอยู่เต็มเป็นนิจ เหมือนกับสัตว์ในอเวจีมหานรก
คำว่า “พระเมตไตรยจักเกิดขึ้นในโลกคราวที่มนุษย์มีอายุ ๘ หมื่นปีนั้น” ไม่ใช่ตรัสด้วยความเจริญของมนุษย์ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุเจริญขึ้น แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุเสื่อมลง
คำว่า “พระเจ้าสังขจักรทรงสละปราสาทให้เป็นทานนั้น” คือทรงสละโดยไม่มีความเสียดาย ก็ปราสาทหลังเดียวจะทรงสละให้แก่คนหลายคนได้อย่างไร? ได้อย่างนี้... คือพอพระเจ้าสังขจักรคิดจะสละให้ทาน ปราสาทหลังนั้นก็จะหักกระจัดกระจายเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ แล้วพระบาทท้าวเธอก็เปล่งวาจาว่า “ ผู้ใดต้องการสิ่งใดก็จงถือเอาสิ่งนั้น... ”

( เนื้อความในบาลีและอรรถกถานำมาไว้โดยย่อเพียงแค่นี้ ส่วนในหนังสืออนาคตวงค์ ท่านพรรณาไว้แปลกอีกนิดหน่อยดังนี้)

“ พระเจ้าสังขจักรมีพระราชโอรส ๑ พันพระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่าอชิตราชกุมาร และมีตำแหน่งเป็นปรินายกแก้วแห่งสมเด็จพระราชบิดาอีกด้วย ฝ่ายมหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระสังขจักรนั้นมีนามว่าสุตพราหมณ์ ส่วนนางพราหมณีผู้เป็นภริยานั้นมีนามว่านางพราหมณวดี ท่านทั้งสองนี้แหละเป็นผู้ให้กำเนิด พระศรีอาริยเมตไตรย ดังนี้ ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น