Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 19

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 19 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๑ ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสิ่งที่ควรทำยิ่งของพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องกำลังอิทธิบาท, เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย

ตอนที่ ๑๙
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสิ่งที่ควรทำยิ่งของพระพุทธเจ้า


สมเด็จพระราชาธิบดินทร์มิลินทราชพระบาทท้าวเธอตรัสถามปัญหาข้อต่อไปอีกว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า สิ่งที่ควรทำทั้งสิ้น สมเด็จพระมหามุนินทร์ทรงทำสำเร็จแล้วที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ ไม่มีสิ่งที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีการสะสมสิ่งที่ทำแล้ว ดังนี้ แต่มีปรากฏอยู่ว่า พระตถาคตเจ้าได้ทรงประทับอยู่ในที่สงัดถึง ๓ เดือน ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ทำสิ่งที่ควรทำหมดแล้ว คำที่ว่า พระตถาคตเจ้าทรงเจ้าอยู่ในที่สงัดอยู่ถึง ๓ เดือนนั้นก็ผิดไป ถ้าถือว่าการที่พระตถาคตเจ้าเข้าอยู่ในที่สงัดตลอด ๓ เดือนนั้นถูก คำที่ว่า พระตถาคตเจ้าได้ทำสิ่งที่ควรทำหมดแล้วนั้นก็ผิดไป ข้าแต่พระนาคเสน การอยู่ในที่สงัด คือการเข้าฌานสมบัติ ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว เหมือนกับความจำเป็นที่จะต้องทำด้วยยา ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีโรค ความจำเป็นด้วยโภชนาหาร ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หิวฉะนั้น ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอได้โปรดแก้ไขด้วยเถิด ”

พระนาคเสนเถระวิสัชนาว่า “ ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว ที่ภายใต้โพธิพฤกษ์ไม่มีสิ่งที่ควรทำอีก ไม่มีการสะสมสิ่งที่ควรทำไว้แล้วนั้นก็จริง คำที่ว่า พระตถาคตเจ้าได้ทรงเข้าฌานสมาบัติอยู่ตลอด ๓ เดือนนั้นก็จริง คือเมื่อพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเจ้าฌานอันมีคุณมาก มีคุณเป็นเอนก แล้วจึงสำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อทรงระลึกถึงคุณที่ฌานเหล่านั้นได้กระทำไว้แล้ว จึงทรงเข้าฌาณอีก เหมือนกับผู้ได้รับพรจากพระราชา คือได้ลาภยศจากพระราชาแล้ว เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระราชา ก็ไปเฝ้าพระราชาอยู่เนืองๆ หรือเหมือนกับบุรุษผู้เจ็บไข้ได้หายเจ็บไข้เพราะหมอคนใด เมื่อระลึกถึงคุณของหมอคนนั้น ก็ไปหาหมอเนืองๆ ไปเพิ่มทรัพย์ให้หมอคนนั้นอีกเนืองๆ ฉะนั้น ”

การเข้าฌานมีคุณ ๒๘

“ ขอถวายพระพร การเข้าฌานมีคุณ ๒๘ เมื่อสมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงระลึกถึงคุณ ๒๘ นั้น ก็ทรงเข้าฌาน คุณแห่งการเข้าฌาณ ๒๘ นั้น คือ ๑. รักษาตัว ๒. ทำให้อายุเจริญ ๓. ให้เกิดกำลัง ๔. ปิดเสียซึ่งโทษ ๕. กำจัดเสียซึ่งสิ่งที่ไม่ใช่ยศ ๖. ทำให้เกิดยศ ๗. กำจัดเสียซึ่งความไม่ยินดีในธรรม ๘. ทำให้เกิดความยินดีในธรรม ๙. กำจัดเสียซึ่งภัย ๑๐. กระทำให้เกิดความกล้าหาญ ๑๑. กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน ๑๒. ทำให้เกิดความเพียร ๑๓. กำจัดเสียซึ่งราคะ ๑๔. ระงับเสียซึ่งโทสะ ๑๕. กำจัดเสียซึ่งโมหะ ๑๖. กำจัดเสียซึ่งมานะ ๑๗. ทิ้งเสียซึ่งวิตก ๑๘. ทำจิตให้มีอารมณืเป็นหนึ่ง ๑๙. ทำให้จิตรักในที่สงัด ๒๐. ทำให้เกิดร่าเริง ๒๑. ทำให้เกิดปีติ ๒๒. ทำให้เป็นที่เคารพ ๒๓. ทำให้เกิดลาภ ๒๔. ทำให้เป็นที่รักแก่ผู้อื่น ๒๕. รักษาไว้ซึ่งความอดทน ๒๖. กำจัดเสียซึ่งอาสวะแห่งสังขารทั้งหลาย ๒๗. เพิกถอนเสียซึ่งการเกิดในภพต่อไป ๒๘. ให้ถึงซึ่งสามัญผลทั้งปวง

ดูก่อนมหาราชะ การเข้าฌานย่อมีคุณ ๒๘ ประการดังนี้ สมเด็จพระชินสีห์ทั้งหลายจึงทรงเจ้าฌาน อีกประการหนึ่งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงต้องการเสวยสุขอันสงบ ก็ทรงเข้าฌาน อนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายย่อมทรงเข้าฌานโดยเหตุ ๔ คือ เพื่อความอยู่เป็นสุข ๑ เพื่อความไม่มีโทษมีแต่มากด้วยคุณ ๑ เพื่อความเจริญแห่งพระอริยะอย่างไม่เหลือ ๑ เป็นของที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงสรรเสริญว่าประเสริฐ ๑ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงเจ้าฌานด้วยเหตุเหล่านี้ไม่ใช่ทรงเข้าฌานเวยเหตุที่ยังมีสิ่งที่ควรทำอยู่ หรือด้วยเหตุเพื่อจะสะสมสิ่งที่ควรทำแล้ว ทรงเข้าด้วยทรงเล็งเห็นคุณวิเศษโดยแท้ขอถวายพระพร ”
“ พระผู้เป็นเจ้าโปรดนี้โยมไม่มีข้อสงสัย โยมจะรับไว้ซึ่งถ้อยคำของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยประการดังนี้ ”

ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องกำลังอิทธิบาท

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ เป็นของที่พระตถาคตเจ้าได้อบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานพาหนะแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนืองๆ แล้ว สะสมไว้มั่นแล้ว ปรารภไว้ดีแล้ว เมื่อพระตถาคตเจ้าจำนงจะดำรงอยู่ตลอดกัป หรือเกินกัปกัปก็ได้” แล้วตรัสอีกว่า “เมื่อล่วง ๓ เดือนจากนี้ไป พระตถาคตเจ้าจักปรินิพพาน” ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคตเจ้าทรงเจริญอิทธิบาท ๔ จนสามารถให้อยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัปนั้นเป็นของจริง การกำหนดเดือนนั้นก็ผิดไป ถ้าการกำหนดเดือนนั้นถูก คำว่าจะดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่านั้นก็ผิดไป คำของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ผิด เป็นคำจริงทั้งนั้น ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ เป็นปัญหาลึกละเอียด รู้ได้ยาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงทำลายเสียซึ่งข่าย คือความเห็นเถิด ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ว่าพระตถาคตเจ้าทรงเจริญอิทธิบาท อาจให้ทรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่านั้นก็เป็นของจริง การกำหนดเดือนนั้นก็เป็นของจริง เพราะกัปที่ตรัสไว้นั้น หมายถึงอายุกัป ไม่ใช่ว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงกำลังของพระองค์จึงได้ทรงตรัสไว้อย่างนั้น แต่เมื่อจะทรงแสดงกำลังแห่งอิทธิบาทจึงได้ตรัสไว้อย่างนั้นต่างหาก ขอถวายพระพร เมื่อพระราชาจะทรงแสดงกำลังรวดเร็วแห่งม้าอาชาไนย ก็ได้ตรัสขึ้นในท่ามกลางมหาชนว่า ม้าตัวประเสริฐนี้อาจวิ่งไปรอบโลก แล้วกลับมาถึงที่นี้ได้ในขณะเดียว ดังนี้ ไม่ใช่ว่าตรัสอย่างนี้เพื่อจะทรงแสดงความรวดเร็วของพระองค์ ทรงประสงค์เพื่อจะทรงแสดงความรวเร็วของม้าอาชาไนยต่างหาก ข้อที่พระตถาคตเจ้าตรัสอย่างนั้นก็เพื่อจะทรงแสดงกำลังอิทธิบาทเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อจะทรงแสดงกำลังของพระองค์เลย พระตถาคตเจ้าไม่ต้องการความมีความเป็นทั้งปวงแล้ว ทรงติเตียนภพ คือความมีความเป็นทั้งสิ้น ข้อนี้สมกับพระพุทธฏีกาขององค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าคูถถึงมีเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็นฉันใด ภพถึงมีเพียงเล็กน้อย ชั่วดีดนิ้วมือเดียว เราตถาคตก็ไม่สรรเสริญ” มหาบพิตรทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธเจ้ทรงพอพระทัยในภพทั้งปวง เพราะอาศัยอิทธิฤทธิ์หรือไม่ ? ”
“ หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจะทรงแสดงกำลังอิทธิบาท จึงได้ทรงบันลือพระพุทธสีหนาทไว้อย่างนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน โยมยินดีรับคำที่พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนามานี้ ”

ฎีกามิลินท์

ในฎีกาอธิบายว่า ผู้เจริญอิทธิบาทสำเร็จแล้ว ควรมีอายุอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่าด้วยกำลังอิทธิบาท
คำว่า “ถึงภพมีเพียงเล็กน้อย ชั่วดีดนิ้วมือเดียว เราตถาคตก็ไม่สรรเสริญนั้น” ได้แก่พระตถาคตเจ้าไม่ทรงสรรเสริญซึ่งเป็นการเป็นไปแห่งภพ อันได้แก่ขันธ์ ๕ โดยที่สุดเพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว ได้ทรงสรรเสริญแต่พระนิพพาน คือความไม่เป็นไปแห่งขันธ์ ๕ เท่านั้น

อธิบายต่อฎีกา คำว่า “อายุกัป” ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนีอรรถกถาแห่งอภิธรรม หน้า ๓๐๖ ว่า ได้แก่ส่วนหนึ่งๆ แห่ง ๘๐ ส่วนของกัปหนึ่งๆ คือในกัปหนึ่งๆ แบ่งออกเป็น ๘๐ ส่วน ในอิทธิพลกถาวรรณนา หน้า ๒๙๖ ว่าอายุกัปนั้น ได้แก่กำหนดอายุแห่งสัตว์นรกและสวรรค์นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงได้ใจความว่า ผู้สำเร็จอิทธิบาท เมื่อจำนงจะอยู่ตลอดอายุกัปหนึ่งหรือเกิดกว่าก็ได้ แต่ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครประสงค์จะอยู่เลย จึงไม่มีใครอยู่ ดังนี้

จบวรรคที่ ๑

วรรคที่ ๒

ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราแสดงธรรมอันควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่แสดงธรรมอันไม่ควรรู้ยิ่ง” ดังนี้ แต่ต่อมาได้ตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติว่า “ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จำนงถอนขุททานุขุททกสิกขาบท (สิกขาบทเล็กน้อย) ก็ถอนเถิด” ดังนี้ จึงขอถามว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขุททานุขุททกสิกขาบทนั้น ทรงบัญญัติไว้ไม่ดีหรือ หรือว่าทรงบัญญติไว้ในเวลายังไม่มีเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงอนุญาตให้ถอนขุททานุขุททกสิกขาบท ในเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรมอันควรรู้ยิ่ง การโปรดให้ถอนสิกขาบทก็ผิดไป ถ้าการโปรดให้ถอนสิกขาบทเป็นการถูก การที่ว่าแสดงธรรมอันควรรู้ยิ่งผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ เป็นปัญหาอันสุขุมละเอียด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงความกว้างขวางแห่งกำลังญาณ เหมือนกับมังกรที่อยู่ในท้องสาครฉะนั้นเถิด ”

พระนาคเสนถวายพระพรว่า “ มหาราชะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เราแสดงธรรมอันควรรู้ยิ่งไม่ใช่แสดงธรรมอันไม่ควรรู้ยิ่ง ดังนี้จริง และตรัสไว้อีกในพระวินัยบัญญัติว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จำนงจะถอนขุททานุขุททกสิกขาบทก็จงถอนเถิด ดังนี้ก็จริง เป็นอันว่าจริงทั้งสองคำ ขอถวายพระพร เมื่อพระตถาคตเจ้าจะทรงทดลองภิกษุทั้งหลายว่า สาวกของเราจักเลิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบทที่เราอนุญาตไว้หรือจักยึดมั่นไว้ ดังนี้ จึงได้ตรัสไว้อย่างนั้น มหาราชะ เหมือนอย่างว่า พระเจ้าจักรพรรดิตรัสแก่พระราชโอรสว่า “ ลูกเอ๋ย...บ้านเมืองอันกว้างขวางนี้ มีมหาสมุทรเป็นที่สุดในทิศทั้งปวง เป็นของปกครองยาก เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว จงสละปัจจัตประเทศตามความประสงค์เถิด ” พระราชกุมารเหล่านั้น จะยอมสละปัจจัตประเทศ (จังหวัดชายแดน) อันตกอยู่ในเงื้อนมือของตน ตามพระดำรัสสั่งของพระราชบิดาหรือไม่ ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชกุมารเหล่านั้น มีแต่อยากจะหาเพิ่มขึ้นอีกถึงสองเท่า ด้วยความโลภ จะสละทิ้งบ้านเมืองที่อยู่ในเงื้อมมือของตนแล้วได้อย่างไร ”
“ ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละพระพุทธบุตรทั้งหลาย ก็มีแต่จะเพิ่มสิกขาบทอื่นเข้าไปอีก ด้วยความโลภในธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ อย่าว่าแต่สิกขาบทอื่นที่ทรงบัญญัติไว้แล้วเลย ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ขุททานุขุททกสิกขาบทนั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ขุททกสิกขาบท ได้แก่ ทุกกฎฯ อนุขุททกสิกขาบทๆ ได้แก่ ทุพภาษิตฯ ขุททานุขุททกสิกขาบททั้งสองนี้เมื่อก่อนพระอรหันต์ทั้งหลายเกิดความสงสัย ท่านจึงได้รวมเข้าไว้เป็นอันเดียวกับสิกขาบทอื่นๆ ด้วยธรรมสังคีตปริยาย เพราะเห็นว่าปัญหานั้นสมเด็จพระภควันต์ได้เข้าไปเห็นแล้ว ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อลี้ลับของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เก็บไว้นานแล้ว ได้เปิดให้ปรากฏขึ้นในโลกวันนี้แล้ว ”

ฎีกามิลินท์

ท่านอธิบายคำว่า “ ได้รวมกันเข้าไว้ด้วยธรรมสังคีติปริยายนั้น ” หมายถึงพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้รวมปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ อธิกรณสมถะ ๗ เข้าไว้เป็นหมวดเป็นหมู่กันแล้วไม่ตัดสินชี้ขาดไว้ว่าขุททานุขุททกสิกขาบท คือสิกขาบทเล็กน้อยนั้นได้แก่อะไร

อธิบายต่อฎีกา คำว่า “ ขุททานุขุททกะ ” แยกออกเป็นสองได้แก่ ขุททกะ แปลว่า เล็ก อนุขุททกะ แปลว่า เล็กตามลำดับ ขุททกสิกขาบท อันแปลว่า สิกขาบทเล็กนั้น ได้แก่ ทุกกฏ ( การทำไม่ดี ) ซึ่งเป็นอาบัติเบากว่าอาบัติทั้งปวง อนุขุททกสิกขาบท อันแปลว่า สิกขาบทเล็กตามลำดับนั้น ได้แก่ ทุพภาษิต (การพูดไม่ดี ในที่นี้หมายถึงพูดเพ้อเจ้อ พูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์) ที่จัดว่าเล็กตามลำดับ

(ขอพักเรื่องปัญหาไว้ก่อนเพื่อผ่อนคลายในเรื่องพระสูตรกันบ้าง เป็นอันว่าเรื่องเทพบุตรที่ต้องลงมาเกิดเพราะพระอินทร์ทรงอ้อนวอน ๔ ท่านนั้น ได้เสนอกันมาถึงเรื่องสุดท้ายแล้ว แต่เรื่องนี้มีความยาวมาก จะเสนอท่านผู้อ่านเป็นลำดับไป)

พระเจ้ากุสราชบรมโพธิสัตว์

กุสราชชาดกนี้มีใจความว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุสราช พระองค์เป็นผู้ฉลาดรู้จบศิลปศาสตร์ทั้งปวง แต่มีพระรูปขี้เหร่ จนพระอัครมมเหสีต้องเสด็จหนีไม่อภิรมย์ด้วย พระองค์ได้เสด็จตามและได้ทรงพยายามด้วยประการต่างๆ ที่จะได้พระมเหสีกลับคืนมา ภายหลังก็ได้รับความอนุเคราะห์ของท้าวสักกะ จึงได้ปรองดองกัน ต่อไปนี้เป็นเนื้อความพิสดารในพระสุตตันปิฏกขุททกนิกาย สัตตกนิบาต เริ่มต้นว่า

เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มีความกระสันอยากจะสึกรูปหนึ่งให้เป็นเหตุจึงตรัสเทศนาชาดกนี้ ให้เป็นผลแก่ประชุมชน มีเนื้อเรื่องเบื้องต้นว่า

ยังมีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่งได้ ถวายชีวิตออกบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งเธอเที่ยวไปบิณฑาตในกรุงสาวัตถี เห็นสตรีนางหนึ่งซึ่งแต่งกายงดงาม เกิดความรักใคร่พอใจ จนถึงกับเบื่อหน่ายในพระธรรมวินัยทั้งกิจวัตรต่างๆ เสีย โดยที่สุดแม้แต่ผมก็ไม่โกน เล็บก็ไม่ตัด มีจีวรเศร้าหมอง ทั้งข้าวปลาอาหารก็กินไม่ได้ จึงมีร่างกายซูบผอมลงทุกวัน มีเส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งไปทั้งตัว มีอุปมาเหมือนกับเทพบุตรทั้งหลายผู้ที่จะจุติจากเทวโลก ย่อมมีบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นคือ พวกดอกไม้ทิพย์เหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าทิพย์เศร้าหมอง ๑ ผิวพรรณไม่ผ่องใส ๑ มีเหงื่อออกตามรักแร้ ๑ ไม่รู้สึกยินดีในทิพยอาสน์ ๑ ส่วนภิกษุผู้จะสึกจากพระพุทธศาสนาก็มีบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นก่อนเหมือนกันได้แก่ ดอกไม้คือศรัทธา ย่อมเหี่ยวแห้งไป ๑ ผ้าคือศีลย่อมเศร้าหมอง ๑ ผิวพรรณไม่ผ่องใส ๑ มีเหงื่อคือกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ ๑ ไม่ยินดีที่จะอยู่ในป่า หรือโคนต้นไม้ หรือเรือนว่าง ๑ ดังนี้ บุพนิมิตทั้งหลายปรากฏแล้วแก่ภิกษุนั้น ลำดับนั้นภิกษุทั้งหลาย จึงได้นำเธอเข้าไปในสำนักของพระศาสดา แล้วกราบทูลเล่าเรื่องถวายให้ทรงทราบ

สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงทรงซักถาม เมื่อภิกษุนั้นรับตามความเป็นจริงแล้ว จึงทรงตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุ เธออย่าตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสเลย ธรรมดาว่ามาตุคามนี้เป็นข้าศึก (ต่อการประพฤติพรหมจรรย์) เธอจงหักห้ามจิตใจจากมาตุคามนั้นเสีย แล้วยินดีในศาสนาของเราเถิด บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวาสนายังเสื่อมเสียจากอำนาจ ตกทุกข์ได้ยากเพราะรักใคร่ในมาตุคามเลย ”

ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ ได้รับการอาราธนาจากภิกษุเหล่านั้น จึงทรงยกชาดกนี้แสดงต่อไปว่า กุสาวดีราชธานีในอดีตกาล พระเจ้าโอกกากราชครองราชสมบัติโดยธรรมในกุสาวดีราชธานี แว่นแคว้นมัลละ พระบาทท้าวเธอมีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าสีลวดี แต่ทว่าพระนางหามีพระโอรสและพระธิดาไม่ ต่อมาชาวเมืองไม่พอใจต่างพากันกราบทูลให้พระราชาปล่อยนางนักสนมออกไป แต่ก็ไม่มีผู้ใดจะได้บุตรกลับมา จึงให้พระอัครมเหสีไปเป็นนางบำเรอของบุรุษทั้งหลายบ้าง ครั้งนั้น ด้วยอำนาจศีลของพระนางจึงทำให้ทิพย์อาสน์ของสมเด็จอมรินทราธิราชเร่าร้อนผิดสังเกต เมื่อทรงทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงเสด็จไปอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ และเทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ให้ลงมาถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระนางสีลวดี ครั้งแล้วสมเด็จอมรินทราธิราชได้ทรงจำแลงเพศเป็นพราหมณ์ชราพาพระนางสีลวดีออกไปเนรมิตเรือนแก้วขึ้นที่ข้างประตูพระนคร เมื่อพระนางเอนพระกายลงพระองค์จึงทรงลูบพระกายของนางด้วยพระหัตถ์ พอพระนางถูกต้องทิพยสัมผัสแล้วก็ทรงเคลิบเคลิ้มหลับไปในทันใด ท้าวสหัสนัยน์จึงทรงอุ้มพระนางไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอถึงกำหนด ๗ วันก็ทรงตื่นจากบรรทม ครั้งได้ทรงเห็นทิพย์สมบัติทั้งปวงแล้วจึงทรงทราบว่า พราหมณ์ชราที่พามานั้นเป็นพระอินทร์ ซึ่งกำลังประทับทอดพระเนตรนางอัปสรฟ้อนระบำรำถวายอยู่ พระนางจึงลุกขึ้นไปถวายบังคม สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสว่า “ ดูก่อนพระนาง เราจะให้พรแก่เจ้าสักอย่างหนึ่ง ขอเจ้าจงเลือกเอาตามประสงค์เถิด ”

พระนางจึงกราบทูลว่า “ เมื่อพระองค์จะทรงพระกรุณาแล้ว หม่อมฉันขอพระราชทานพระโอรสสักพระองค์หนึ่งเถิดเพคะ ”
ท้าวสักกเทวราชาจึงตรัสว่า “ เราจักให้สัก ๒ คน คนหนึ่งมีปัญญาแต่รูปร่างไม่สวย อีกคนหนึ่งรูปร่างสวยงามแต่ไม่เฉลียวฉลาด ทั้งสองคนนี้ เจ้าต้องการใครก่อน ? ”
พระนางทูลสนองว่า “ หม่อนฉันต้องการคนฉลาดก่อนเพคะ ”
สมเด็จอมรินทราจึงตรัสว่า “ ได้...เราจะให้สมประสงค์ ”

แล้วจึงทรงประทานของ ๕ อย่างแก่พระนางคือ หญ้าคา ๑ ผ้าทิพย์ ๑ จันทน์ทิพย์ ๑ ดอกปาริฉัตตก์ทิพย์ ๑ พิณชื่อโกกนท ๑ ครั้งพระนางทรงรับของทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว พระองค์จึงพาพระนางลงมาส่งวางลงไว้บนพระแท่นบรรทมของบรมกษัตริย์ผู้เป็นพระราชสวามีของพระนาง แล้วทรงลูบพระนาภีของพระนาง ด้วยปลายนิ้วพระหัตถ์เบื้องซ้าย

พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก

ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์ทรงถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระนางแล้ว ท้าวสักกะก็เสด็จกลับสู่เทวสถาน พระเทวีทรงทราบว่าพระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ เมื่อพระราชาทรงตื่นบรรทมขึ้น ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาง จึงทรงซักถามเรื่องราวที่ผ่านมา พระนางก็ทูลเล่าให้ฟังตามความเป็นจริง เมื่อพระราชายังทรงกริ่งอยู่ในพระทัยพระนางจึงนำของสำคัญ ๕ ประการ ออกถวายให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน ท้าวเธอจึงทรงเชื่อว่า พระอินทร์ได้เป็นผู้นำพระนางไปสมกับคำให้การของพระนางจริงทุกประการ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า “ ก็แต่ว่าเธอได้บุตรหรือไม่ ? ”
พระเทวีทูลว่า “ ได้แล้วเพคะ บัดนี้หม่อมฉันกำลังตั้งครรภ์ ”
พระบาทท้าวเธอก็ทรงดีพระทัย จึงทรงพระราชทานเครื่องบริหารรักษาพระครรภ์แก่พระนาง พอได้กำหนดครบถ้วนทศมาสนั้น พระนางเจ้าก็ประสูติพระราชโอรสอันมีนามปรากฏว่ากุสติณะ ซึ่งแปลว่าหญ้าคา ในกาลที่กุสติณราชกุมารเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ พระนางก็ได้ประสูติพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าชยัมบดี พระราชกุมารที่เป็นพระเจ้าพี่ คือพระบรมโพธิสัตว์เจ้ามีพระปรีชาเฉลียวฉลาดในศิลปศาสตร์ทุกประการ พอพระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๖ พระชันษาพระราชบิดาทรงปรารถนาจะมอบพระราชสมบัติให้ จึงทรงปรึกษากับพระอัครมเหสีเพื่อหาพระราชธิดามาอภิเษกให้เป็นเอกอัครมเหสีของลูก ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าทรงทราบข่าว จึงทรงพระดำริว่า เรามีรูปร่างไม่สะสวยงดงาม พระราชธิดาผู้สมบูรณ์ด้วยรูปแม้ถูกนำตัวมาพอเห็นเราก็จักหนีไปด้วยความรังเกียจ ความอับอายก็จะพึงมีแก่เรา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะต้องการราชสมบัติ จะตั้งหน้าปฏิบัติพระชนกชนนีไปจนกว่าจะสิ้นบุญของท่าน แล้วเราก็จะออกบวช ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงแจ้งข่าวให้ทรงทราบ พระราชาก็ทรงเสียพระทัย พอล่วงไป ๒ - ๓ วันก็ทรงส่งข่าวสาส์นไปอีก พระราชกุมารนั้นก็คัดค้านอีกเหมือนเดิม เมื่อเป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ จึงทรงดำริว่า ธรรมดาลูกจะขัดขืนมารดาบิดาอยู่ร่ำไปนั้นย่อมไม่เป็นการสมควร เราจักกระทำอุบายสักอย่างหนึ่ง

หล่อพระรูปทองคำ

ครั้งทรงดำริแล้ว จึงให้หาหัวหน้าช่างทองคนหนึ่งมาเฝ้า ได้ประทานทองคำให้เป็นอันมากแล้วตรัสว่า “ เจ้าจงเอาทองคำเหล่านี้ไปหล่อเป็นรูปผู้หญิง แล้วนำมาให้เรา ”
แต่ว่าพอช่างทองรับเอาทองไปแล้ว พระองค์ก็ทรงหล่อรูปผู้หญิงด้วยทองคำขึ้นไว้รูปหนึ่งด้วยพระองค์เอง แล้วเอาตั้งไว้ในห้องแห่งหนึ่ง พอช่างทองนำรูปผู้หญิงที่ตนทำนั้นมาถวาย ก็ทรงติว่ายังไม่สวยพอ จึงทรงรับสั่งให้นายช่างไปยกเอารูปซึ่งอยู่ในห้องนั้นมาดู พอช่างทองโผล่เข้าไปในห้องนั้นก็ตกใจว่า รูปนั้นเป็นนางเทพธิดาที่จะมาเป็นพระชายาของพระราชกุมาร ไม่อาจจะเอื้อมมือไปแตะต้องได้ จึงกลับออกมาทูลว่า รูปที่สั่งให้ไปยกมานั้นข้าพระองค์ไม่เห็น เห็นแต่พระแม่เจ้าผู้เป็นพระชายาประทับอยู่ในห้องนั้นพระองค์เดียว จึงตรัสสั่งอีกว่า เธอจงไปยกมาเถิดนั่นแหละคือรูปหล่อที่เราหล่อขึ้นเอง ช่างทองจึงกลับไปยกรูปนั้นออกมาถวายแล้วให้เก็บเอารูปหล่อที่นายช่างหล่อไปไว้เสียในห้องเก็บทอง แล้วจึงให้ประดับตกแต่งรูปหล่อที่พระองค์ทรงหล่อเองนั้นอย่างวิจิตรงดงาม แล้วให้นำไปถวายพระราชมารดา ทรงสั่งให้กราบทูลว่า “ ถ้าพระแม่เจ้าทรงหาหญิงที่มีรูปร่างงามเหมือนกับรูปทองคำนี้ได้แล้ว หม่อมฉันจึงจะยอมมีอัครมเหสี”

เมื่อพระชนนีได้ทรงเห็นรูปหล่อ และทรงทราบความประสงค์ของพระราชโอรสแล้วจึงโปรดให้ประชุมเหล่าเสวกามาตย์ราชมนตรีทั้งหลายแล้วตรัสเล่าให้ฟังว่า “ ดูก่อนอำมาตย์ทั้งหลาย ลูกชายของเราซึ่งเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก ที่พระอินทร์ทรงประธานให้นั้น เขาอยากได้อัครมเหสีที่มีรูปสวยเหมือนกันรูปหล่อนี้ โดยเหตุนี้ ท่านทั้งหลายจงยกซึ่งรูปหล่อนี้ขึ้นตั้งไว้บนยานอันปกปิด แล้วพาไปสืบเสาะหากุมารีในที่ต่างๆ ด้วยวิธีเอารูปไปตั้งไว้ในที่ใดที่หนึ่งแล้วคอยฟังดูว่า จะมีใครพูดกันว่ามีผู้หญิงที่งดงามเหมือนรูปหล่อนี้บ้าง ถ้าได้พบแล้วจงไต่สวน ให้รู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่ากอของใคร ถ้าเป็นลูกกษัตริย์จงเข้าไปทูลขอทีเดียวว่า บัดนี้ พระเจ้าโอกกากราชมีพระราชประสงค์จะทรงอภิเษกพระราชโอรสให้เสวยราชสมบัติแทนพระองค์ จึงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมาทูลขอพระราชธิดาของพระองค์ไปอภิเษกเป็นเอกอัครมเหสีของพระราชโอรสนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์นั้นทรงยินยอมยกให้แล้ว จงทูลนัดฤกษ์วันเวลาที่จะทำพิธีอาวาหมงคล เมื่อตกลงอย่างไรแล้ว จงกลับมาแจ้งแก่เราโดยเร็วอย่าได้ช้า ”

พวกอำมาตย์รับพระราชเสาวนีย์แล้วก็นำรูปหล่อนั้นขึ้นยานอันปกปิดนำออกจากพระนครไป เมื่อไปถึงราชธานีใดก็ประดับประดารูปหล่อนั้นให้ดี แล้วก็ยกไปตั้งไว้ข้างมรรคาที่คนทั้งหลายไปมาเป็นอันมาก เป็นต้นว่าทางที่จะไปอาบน้ำอันมีในบ้านเมืองนั้นๆ แล้วพากันไปแอบฟังเสียงคนทั้งหลายพูดกัน เมื่อคนทั้งหลายได้เห็นรูปหล่อนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นหญิงจริงๆ ได้พากันชมเชยด้วยถ้อยคำต่างๆ แล้วก็พากันกลับไป อำมาตย์เหล่านั้นก็ทราบได้ว่า ในเมืองนี้ไม่มีหญิงคนใดที่จะสวยเหมือนรูปนี้ จึงตกลงกันว่าพวกเราควรจะออกจากเมืองนี้ แล้วก็พากันออกจากเมืองนี้ไปเมืองอื่นต่อไปอีก และได้กระทำพิธีทดลองตามที่ทำมาแล้วจนกระทั่งถึงสาคลบุรี ในประเทศมัทราชโดยลำดับ

พระนางประภาวดี

ในเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองสาคละซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามัทราช ทรงมีพระราชธิดาอยู่ ๘ พระองค์ ทรงพระรูปพระโฉมงดงามปานดังนางฟ้า พระราชธิดาองค์ใหญ่มีพระนามว่าประภาวดี พระนางมีพระรัศมีซ่านออกจากพระกายข้างละ ๑ วา พระรัศมีนั้นมีสีดังสีพระอาทิตย์แรกอุทัย แต่พระรัศมีนี้หมายถึงพระรัศมีแผ่ออกไปในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนนั้นพระรัศมีส่องสว่างมากกว่านี้ จนไม่ต้องจุดไฟในเวลาราตรีในห้องที่พระนางประทับอยู่ พระนางประภาวดีนี้มีพระพี่เลี้ยงคนหนึ่งชื่อว่านางขุชชา เป็นหญิงค่อมพิการ ในเวลาเย็นมีพวกอำมาตย์ของพระเจ้าโอกกากราชนำรูปทองคำไปตั้งไว้ข้างทางที่ลงท่าน้ำ นางขุชชาให้พระนางประภาวดีเสวยเสร็จแล้ว ส่วนตนได้ออกจากพระราชวัง ลงไปสู่ท่าน้ำกับพวกทาสีประมาณ ๗ - ๘ คน พอได้เห็นรูปหล่อนั้น พลันก็เข้าใจว่าเป็นพระนางประภาวดี จึงร้องออกไปด้วยความโกรธว่า “ พระนางนี้ช่างว่ายากเสียจริงๆ เขาจักตักน้ำไปถวายไม่ได้หรือ จึงต้องเสด็จมาเอง ถ้าพระราชบิดามารดาทรงทราบเข้า พวกหม่อนฉันมิต้องย่อยยับไปหรือ... ”

ว่าแล้วก็ตรงเข้าไปจับรูปหล่อนั้น จึงรู้ว่าไม่ใช่พระนางประภาวดี พวกอำมาตย์ได้เห็นดังนี้ จึงออกจากที่ซ่อนพากันไปซักถามว่า “ เหตุไรจึงมาจับรูปหล่อของเรา ? ”
นางขุชชาจึงตอบว่า “ เพราะเข้าใจว่าเป็นรูปพระนางประภาวดีซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งพระเจ้าอยู่หัวของเรา ”
“ พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวเมืองนี้สวยเหมือนกับรูปหล่อนี้หรือ ? ”
“ สวยยิ่งกว่านี้อีกเจ้าข้า ”

พวกอำมาตย์นั้นจึงพากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ามัทราช ตามที่ได้รับมอบหมายมาแล้วนั้น เมื่อพระเจ้ามัทราชทรงรับเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นไว้ พวกอำมาตย์จึงพากันกลับไปกราบทูลพระเจ้าโอกกากราชและพระราชเทวีให้ทรงทราบ กษัตริย์ทั้งสองจึงเสด็จมาสู่สาคลนครโดยเร็วพลัน

อุบายของพระนางสีลวดี

ฝ่ายพระนางสีลวดีได้ทอดพระเนตรเห็นพระนางประภาวดี จึงทรงดำริว่าราชธิดาองค์นี้ เป็นหญิงมีรูปร่างงดงามมากนัก ส่วนโอรสของเรามีรูปร่างไม่งดงาม ถ้านางได้เห็นโอรสของเราแล้ว คงจะรีบหนีไปเป็นแน่แท้ แม้เพียงราตรีเดียวก็ไม่อาจจะอยู่ร่วมได้ เห็นเราจักต้องทำกลอุบาย ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงทูลพระเจ้ามัทราชว่า “ นางประภาวดีนี้สมควรกับพระโอรสของหม่อนฉันแท้ แต่ทางบ้างเมืองของหม่อมฉันมีราชประเพณีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งถือกันมานานแล้วคือ ถ้าพระภัสดากับพระชายาคู่ใดอยู่ด้วยกันยังไม่ทันมีครรภ์แล้ว ห้ามไม่ให้ทั้งสองเห็นกันในเวลากลางวันหรือในที่สว่างเป็นอันขาด ให้เห็นกันแต่ในเวลากลางคืน ในที่มืดๆ เท่านั้น ต่อเมื่อมีครรภ์แล้วจึงให้เห็นกันได้ทุกเวลา ถ้าพระนางประภาวดีประพฤติตามพระราชประเพณีนี้ได้ หม่อมฉันก็ยินดีจะรับเขาไปเป็นศรีสะใภ้ของหม่อมฉัน ”

ครั้นพระเจ้ามัทราชหันไปตรัสถามพระราชธิดา พระนางกราบทูลว่าได้แล้ว พระเจ้าโอกกากราชจึงได้ถวายพระราชทรัพย์เป็นอันมากแก่พระเจ้ามัทราช แล้วทรงรับพระนางประภาวดีเสด็จกลับไปสู่พระนครของพระองค์ เมื่อกลับถึงราชธานีแล้วจึงทรงจัดการราชาภิเษกพระราชโอรส ให้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามบัญญติว่า พระเจ้ากุสราช กับพระราชเทวีอันทรงพระนามว่าประภาวดี พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งหมดพระองค์ใดมีพระราชธิดา ก็ส่งพระราชธิดาไปถวาย พระองค์ใดมีพระราชโอรส ก็ทรงส่งพระราชโอรสไปถวาย พระราชาเหล่านั้นทรงหวังความเป็นมิตรไมตรีกับพระเจ้ากุสราชนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงมีพระนางสนมเป็นบริวารมากมาย ทรงปกครองพระราชสมบัติด้วยพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร ดังนี้

(เหตุการณ์ต่อไปคงจะสนุกแน่ เพราะพระราชาอยากจะเห็นหน้าพระเทวี เรื่องราวจะวุ่นวายแค่ไหน โปรดอดใจรอฉบับหน้า ซึ่งยังจะมี “ มิลินทปัญหา ”
ในข้อต่อไปอีกด้วย สวัสดี)


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น