มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 20 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องปัญหาที่แก้ด้วยการพักไว้, ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องมรณภัย
ตอนที่ ๒๐
ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องปัญหาที่แก้ด้วยการพักไว้
พระเจ้ามิลินทร์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ อาจริยมุฏฐิ คือกำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ไม่มีแก่พระตถาคตเจ้า” แต่ภายหลัง พระมาลุงกยบุตร ได้ทูลถามก็ไม่ทรงแก้ จึงว่าปัญหานี้จักเป็นปัญหาที่เด็ดขาดลงไปใน ๒ อย่าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือไม่ทรงแก้เพราะไม่รู้ หรือเพราะกระทำข้อลี้ลับไว้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่พระตถาคต ดังนี้เป็นคำจริงแล้ว การที่ไม่ทรงแก้นั้นก็ต้องเป็นเพราะไม่ทรงล่วงรู้ ถ้าทรงล่วงรู้แต่ไม่แก้ คำว่า “กำมือแห่อาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ก็ต้องมีแก่พระตถาคต” ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ละเอียดลึกซึ่งนัก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงทำลายเสียซึ่งข่าย คือ ทิฏฐิเถิด ”
พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า “ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้อย่างนั้นจริง แต่ที่ไม่ทรงแก้นั้น ไม่ใช่เพราะไม่ทรงล่วงรู้ ไม่ใช่เพราะกระทำให้เป็นข้อลี้ลับไว้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ได้แสดงวิธีแก้ปัญหาไว้เป็น ๔ ประการ คือ ๑. เอกังสพยากรณ์ เมื่อมีผู้ถามก็แก้ออกไปทีเดียว ๒. วิภัชชพยากรณ์ แยกแล้วจึงแก้ ๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ย้อมถามแล้วจึงแก้ ๔. ฐปนียพยากรณ์ แก้ด้วยการงดไว้ ยกตัวอย่างการแก้ว่า “สิ่งที่เป็นอนิจจัง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ”
เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ การแก้ว่า “รูป เวทนา สัญญษ สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง”
เรียกว่า วิภัชชพยากรณ์ การย้อนถามว่า “ บุคคลย่อมรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุหรือ? ”
ถามดังนี้แล้วจึงแก้เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์ คำถามอันหาประโยชน์มิได้ ไม่ควรจะกล่าวแก้ เช่นถามว่า โลกยั่งยืน หรือโลกไม่ยั่งยืน โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด โลกมีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ชีพกับสรีระเป็นเดียวกัน ชีพกับสรีระเป็นอื่น พระตถาคตเจ้าตายแล้วเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี จะว่าเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่า ฐปนียปัญหา เหตุไรปัญหานั้นจึงเป็นฐปนียปัญหา เหตุว่าไม่มีเหตุที่จะให้ทรงแก้ปัญหานั้นเพราะการเปล่งพระวาจาอันไม่มีเหตุ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ... พระนาคเสน โยมยอมรับว่าเป็นอย่างนั้น ”
ฎีกามิลินท์
คำว่า เอกังสพยากรณ์ ได้แก่มีผู้ถามว่า “ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ก็ตอบออกไปทีเดียวว่า “ ไม่เที่ยง ”คำว่า วิภัชชพยากรณ์ ได้แก่แยกตอบเป็นอย่างๆ ไปว่า “ รูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง ” เป็นต้น
ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ได้แก่เมื่อมีผู้ถามว่า “ บุคคลรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุหรือ” ก็ย้อนถามออกไปว่า “หมายถึงจักษุอะไร” เมื่อมีผู้ตอบว่า “ หมายถึงสมันตจักษุ ( ตาเนื้อ ) จึงแก้ว่า “ ถูก...บุคคลย่อมรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ ”
อธิบายให้ฟังว่า ฐปนียพยากรณ์ อันแปลว่า แก้ด้วยการพักไว้นั้น คือเมื่อมีผู้ถามก็นิ่งเสียไม่ตอบ เพราะไม่มีประโยชน์
ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องมรณภัย
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้ว่า “บุคคลทั้งปวงกลัวอาชญา บุคคลทั้งปวงกลัวความตาย” ดังนี้ และตรัสไว้อีกว่า “พระอรหันต์ล่วงเสียซึ่งความกลัวทั้งปวงแล้ว” จึงขอถามว่า ความกลัวอาชญา หรือความสะดุ้งมีอยู่แก่พระอรหันต์หรือ...อีกอย่างหนึ่ง พวกสัตว์นรกที่ถูกไฟไหม้อยู่เป็นนิจนั้น เมื่อจะพ้นจากนรกใหญ่อันมีเปลวไฟลุกอยู่เป็นนิจนั้น ยังจะกลัวความตายหรือ? ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตายนั้นถูกแล้ว คำที่ว่าพระอรหันต์ล่วงความกลัวทั้งปวงแล้วก็ผิด ถ้าคำว่าพระอรหันต์ล่วงความกลัวทั้งปวงแล้วนั้นถูก คำว่าบุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตายนั้นก็ผิด ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแสดงให้สิ้นสงสัยเถิด พระคุณเจ้าข้า”พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร คำว่า บุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ได้ตัดต้นเหตุที่จะให้เกิดความกลัวแล้ว บุคคลเหล่าใดยังมีกิเลสอยู่ ยังมีความเห็นเป็นตัวเป็นตนแรงกล้าอยู่ ยังเอนเอียงในสุขทุกข์อยู่ สมเด็จพระบรมครูหมายบุคคลเหล่านั้น จึงได้ตรัสว่า บุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวความตายพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตัดคติทั้งปวงแล้ว ตัดเสียซึ่งปฏิสนธิมิได้เกิดในภพทั้งสาม หักซึ่งโครงแห่งนายช่างคือตัณหาแล้ว ตัดเหตุแห่งภพทั้งปวงแล้ว กำจัดสังขาร กุศล อกุศล เสียสิ้นแล้ว กำจัดอวิชชาไม่ให้มีพืชต่อไปแล้ว เผากิเลสทั้งปวงแล้ว ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายแล้ว เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่สะดุ้งต่อภัยทั้งปวง
อุปมามหาอำมาตย์ทั้ง ๔
ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจมหาอำมาตย์ทั้ง ๔ ของพระราชาที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์ฐานันดรแล้วมีอยู่ เมื่อมีกรณียกิจเกิดขึ้นพระราชาก็ตรัสสั่งว่า “ คนทั้งปวงในแผ่นดินของเรา จงกระทำพลีแก่เรา มหาอำมาตย์ทั้ง ๔ จงทำให้เรื่องนี้สำเร็จ ”อาตมภาพขอถามว่า ความสะดุ้งต่อภัยคือพลี จะมีแก่มหาอำมาตย์ทั้ง ๔ นั้นหรือไม่ ? ”
“ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? ”
“ เพราะเหตุว่ามหาอำมาตย์ทั้ง ๔ นั้น เป็นที่ผู้พระราชาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งสูงแล้วเป็นผู้ล่วงเสียซึ่งพลีแล้ว คำที่พระราชาตรัสสั่งว่า บุคคลทั้งปวงจงกระทำพลีนั้น หมายบุคคลเหล่านั้น นอกจากมหาอำมาตย์ทั้ง ๔ นั้น อย่างนี้แหละพระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ว่าบุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตายนั้น สมเด็จพระภควันต์ก็ไม่ได้ตรัสหมายถึงพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ได้ตัดต้นเหตุที่จะให้สะดุ้งกลัวเสียหมดแล้ว หมายเฉพาะผู้ยังมีกิเลสเท่านั้น”
ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า “ ทั้งปวงนี้จะว่าเป็นคำมีเศษหามิได้ เป็นคำไม่มีเศษโดยแท้ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงชี้แจงเหตุการณ์ในข้อนี้ให้โยมฟัง”
อุปมาดั่งนายบ้าน
“ มหาราชะ เปรียบประดุจดังนายบ้านสั่งให้บอกลูกบ้านว่า “ พวกที่อยู่ในบ้านของเราทั้งสิ้น จงมาประชุมกันในสำนักของเรา” ผู้รับสั่งก็ไปยืนประกาศในท่ามกลางบ้านขึ้นด้วยเสียงอันดังถึง ๓ ครั้งว่า “ชาวบ้านทั้งสิ้น จงรีบไปประชุมในสำนักเจ้าของบ้าน” ลำดับนั้น ชาวบ้านก็รีบไปประชุมกัน ผู้รับคำสั่งนั้นก็บอกเจ้าของบ้านว่า “ชาวบ้านทั้งปวงมาประชุมกันแล้ว สิ่งใดที่ควรกระทำขอจงกระทำเถิด” เป็นอันว่า เมื่อนายบ้านผู้นั้นจะให้ลูกบ้านเท่าที่เห็นปรากฏมาประชุม ก็สั่งลูกบ้านทั้งหมด ลูกบ้านที่รับคำสั่งแล้วก็ไม่ได้มาประชุมหมด แต่นายบ้านก็รับว่า ลูกบ้านของเราประชุมหมดแล้ว ความจริงที่ไม่ได้มาประชุมก็มีอยู่อีกเป็นอันมาก คือ สตรี บุรุษ ทาสี ทาส ลูกจ้าง คนตาบอด หญิงมีครรภ์ แพะ แกะ ช้าง สุนัข โค แม่โคนม แต่พวกนั้นก็ไม่ได้นับเข้าในพวกที่ไม่ได้มาประชุมฉันใด บุคคลเหล่าใดที่ยังมีกิเลสอยู่ สมเด็จพระบรมครูก็ทรงหมายบุคคลเหล่านั้น จึงตรัสว่า บุคคลทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญาฉันนั้น ขอถวายพระพร ถ้อยคำมีเศษก็มีความหมายมีเศษก็มีฯ ถ้อยคำมีเศษ ส่วนความหมายไม่มีเศษฯ ถ้อยคำไม่มีเศษความหมายมีเศษก็มีฯ ถ้อยคำไม่มีเศษความหมายไม่มีเศษก็มีฯ เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาความหมาย ควรรับทราบความหมายอนุโลมตามกัน ๑ มีความหมายยิ่งไปกว่าเหตุ ๑ มีความหมายเกี่ยวกับจะต้องถามอาจารย์ ๑ มีความหมายที่จะต้องอธิบายออกไป ๑ เมื่อเข้าใจความหมายอย่างนี้ จึงจะเป็นอันวินิจฉัยตัดสินปัญหานั้นได้ดี ขอถวายพระพร ”สัตว์นรกยังกลัวตายหรือ
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้จงยกไว้ โยมรับละ คือจงยกพระอรหันต์ทั้งหลายเสีย ให้สะดุ้งแต่สัตว์นอกนั้น โยมจะขอถามว่าพวกสัตว์นรกที่ได้รับทุกขเวทนาเผ็ดร้อนกล้าแข็ง มีร่างกายทั้งสิ้นถูกไฟเผา เร่าร้อนหวั่นไหวอยู่ด้วยไฟมีหน้าเต็มไปด้วยน้ำตาที่ร้องไห้รำพันคร่ำครวญ ถูกทุกข์เผ็ดร้อนกล้าแข็งครอบงำอย่างเหลือเกิน ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเวลาสร่างทุกข์โศก มีแต่จะได้รับทุกขเวทนาไปท่าเดียว มีแต่จะได้รับทุกข์โศกไปอย่างเดียว ถูกไฟเผาลนอย่างร้ายกาจ มีเสียงร้องน่าสะพรึงกลัว มีเปลวไฟ ๖ อย่างห้อมล้อมอยู่ ไม่ว่างจากเปลวไฟอันแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์ เมื่อจะตายไปจากนรกใหญ่อันเผ็ดร้อนอย่างนั้น ยังจะกลัวตายอยู่หรือพระผู้เป็นเจ้า ? ”พระนาคเสนชี้แจงว่า“ ขอถวายพระพร ยังกลัวตายอยู่ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน นรกมีแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียวไม่ใช่หรือ เหตุไรพวกสัตว์นรกที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างเดียว เมื่อจะตายจึงยังกลัวตายอยู่ สัตว์นรกเหล่านั้น ยังยินดีอยู่ในนรกหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร สัตว์นรกเหล่านั้นไม่ได้ยินดีอยู่ในนรกเลย มีแต่อยากพ้นไปจากนรก แต่ที่กลัวตายนั้น เป็นเพราะอานุภาพแห่งความตาย”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คำที่ว่าสัตว์นรกอยากพ้นจากนรก แต่ยังกลัวตายนั้น โยมไม่เชื่อ เพราะผู้ที่อยากพ้นจากทุกข์จะกลัวอย่างไร สัตว์ทั้งหลายได้สิ่งใดสมความปรารถนาก็ร่าเริงดีใจ เพราะฉะนั้น ขอจงให้โยมเข้าใจความข้อนี้ด้วยเถิด ”
“ ขอถวายพระพร อันความตายย่อมเป็นเหตุให้เกิดความสะดุ้งแก่สัตวทั้งหลายที่ยังไม่เห็นสัจจะ พวกที่ยังไม่เห็นสัจจะคือความจริง ย่อมสะดุ้ง ย่อมพรั่นพรึง ผู้ใดกลัวงูเห่าดำ ผู้นั้นก็กลัวตาย ผู้ใดกลัวตาย ผู้นั้นก็กลัวงูเห่าดำ ผู้ใดกลัวช้าง สิงห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาไน กระบือป่า กระบือบ้าน โจร ไฟ น้ำ ตอหนาม ยักษ์ ผีเสื้อน้ำ ผู้นั้นก็กลัวความตาย ความตายมีเดชแรงกล้าอย่างนี้ พวกที่มีกิเลสจึงกลัวตาย พวกสัตว์นรกอยากพ้นจากนรกก็จริงแต่ก็ยังกลัวตาย”
อุปมาบุรุษผู้เป็นฝี
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งเป็นฝีทนทุกขเวทนา อยากจะหมดทุกข์จึงให้หาหมอผ่าตัด เมื่อหมอผ่าตัดมาถึง ก็วางเครื่องมือไว้แล้วลับมีดให้คม เผาซี่เหล็กให้แดง บดยากัดไว้ เวลาหมอทำอย่างนั้นอยู่ คนที่เป็นฝีนั้น จะสะดุ้งกลัวต่อการกระทำของหมอนั้นหรือไม่ ? ”“ สะดุ้งกลัว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ผู้อยากจะหายโรคยังสะดุ้งกลัวต่อวิธีการรักษาอยู่ฉันใด พวกสัตว์นรกก็ยังสะดุ้งกลัวต่อความตายฉันนั้น ”
อุปมาบุรุษผู้มีความผิด
“ อีกอย่างหนึ่ง บุรุษที่มีความผิดต่อเจ้านาย ถูกใส่โซ่ตรวนขังไว้ในที่คุมขัง ได้รับทุกข์ลำบาก อยากจะพ้นจากความลำบากนั้นไป เจ้านายจึงให้เรียกเข้ามาเพื่อจะปล่อยเขาไป บุรุษผู้มีความผิดนั้นไม่รู้ความประสงค์ของเจ้านาย เมื่อไปถึงเจ้านาย เขาจะสะดุ้งกลัวไหม ? ”“ สะดุ้งกลัว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ความกลัวนายย่อมมีแก่บุรุษผู้มีความผิดฉันใด พวกสัตว์นรกก็กลัวความตายฉันนั้น ”
“ ข้าแต่ดพระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงเหตุที่ จะทำให้โยมเข้าใจยิ่งไปกว่านี้อีก ”
อุปมาบุรุษผู้ถูกงูพิษกัด
“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษถูกงูพิษกัดล้มกลิ้งอยู่ มีบุรุษอีกคนหนึ่ง เรียกงูพิษนั้นกลับมาด้วยอำนาจมนต์ ให้มาดูดเอาพิษไป บุรุษผู้ถูกงูกัดนั้นจักกลัวหรือไม่? ”“ กลัว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ความกลัวย่อมมีแก่บุรุษผู้ถูกงูกัด ผู้กำลังจะหายจากงูพิษฉันใด ถึงพวกสัตว์นรกอยากจะพ้นนรกก็ยังกลัวความตายอยู่ฉันนั้น ความตายเป็นของที่ไม่ต้องการ ไม่น่ารักใคร่พอใจของสัตว์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น พวกสัตว์นรกจึงกลัวตาย ขอถวายพระพร ”
“ ถูกแล้วพระนาคเสน โยมยินดีรับว่าถูกต้อง ”
พระเจ้ากุสราช (ตอนที่ ๒)
พระราชาทรงปลอมพระองค์
นับแต่นั้นมาพระเจ้ากุสราชกับพระอัครมเหสีได้ทรงพบกันแต่ในเวลาราตรีเท่านั้น พระรัศมีของพระนางไม่อาจส่องให้เห็นพระพักตร์ของพระราชสวามีได้ถนัด ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระโพธิสัตว์แรงกล้า แต่พอ ๒ - ๓ วันผ่านพ้นไป พระราชามีความปรารถนาจะได้เห็นพระอัครมเหสีในเวลากลางวัน จึงทูลพระราชมารดาให้ทรงทราบ พระราชมารดาก็ทรงห้ามว่ารอให้ได้พระโอรสองค์หนึ่งก่อนเถิด เมื่อพระราชาอ้อนวอนบ่อยๆ เข้า พระมารดาไม่อาจขัดขืนได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปลอมเป็นคนเลี้ยงช้างไปอยู่ในโรงช้างเถิด แม่จะพานางไปในที่ตรงนั้น แต่ระวังอย่าให้นางเกิดสงสัยได้ พระราชาก็ได้กระทำตามนั้น ลำดับนั้น พระมารดาจึงรับสั่งให้คนตกแต่งโรงช้าง แล้วตรัสชักชวนพระนางประภาวดีให้เข้าไปชมช้างต้นของพระราชาภายในโรงช้าง พระราชาทรงปลอมพระองค์เป็นคนเลี้ยงช้าง ทอดพระเนตรเห็นพระมเหสีเสด็จตามหลังพระราชมารดา จึงทรงหยิบเอาขี้ช้างก้อนหนึ่งขว้างไปที่หลังของพระนางประภาวดี พระนางทรงกริ้งกราดตวาดออกไปว่า “ เจ้าบังอาจมาก เราจักให้พระราชาทรงตัดมือของเจ้าเสีย”ฝ่ายพระราชมารดาจึงได้ทรงปลอบประโลมเอาพระทัยว่า อย่าถือสากับคนเลี้ยงช้างเลย แล้วทรงช่วยปัดข้างหลังให้ ต่างพากันเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ ต่อมาพระราชาใคร่จะได้เห็นนางอีกจึงใช้วิธิปลอมพระองค์เป็นคนเลี้ยงม้า แล้วทรงเอาก้อนขี้ม้านั้นขว้างไปเหมือนเดิมอีก พระนางก็ทรงกริ้งใหญ่ พระสัสสุ (แม่สามี) ก็ได้ทรงปลอบเหมือนคราวที่แล้วอีกเช่นกัน
พระมเหสีใคร่จะได้เห็นพระราชาบ้าง
ในเวลาต่อมา พระนางประภาวดีทรงใคร่จะได้เห็นพระราชสวามี จึงทูลแก่พระสัสสุเป็นหลายครั้ง พระสัสสุจึงรับสั่งว่า “ ถ้าอย่างนั้น ในวันพรุ่งนี้พระราชสวามีของเจ้าจะเสด็จเลียบพระนคร เจ้าจงคอยดูที่ช่องพระแกลเถิด”ครั้งตรัสสั่งดังนี้แล้วจึงโปรดให้ตกแต่งพระนครในวันรุ่งขึ้น แต่ให้พระชยัมบดีผู้เป็นพระเจ้าน้องของพระโพธิสัตว์เจ้าทรงเครื่องกษัตริย์ประทับนั่งบนหลังช้างพระที่นั่งแทน ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้าแต่งองค์เป็นควาญช้างประทับนั่งบนอาสนะข้างหลัง แล้วให้เสด็จเลียบพระนคร เวลานั้นพระราชมารดาทรงพาพระนางประภาวดีไปประทับยืนที่สีหบัญชรแล้วตรัสว่า “ เจ้าจงดูเถิด พระราชสวามีของเจ้าจะมีรูปทรงสวยสง่างามสักเพียงไร”
ฝ่ายพระนางประภาวดีทรงเข้าพระทัยว่า เราได้พระสวามีที่มีความเหมาะสมกันดังนี้แล้ว ทรงปลาบปลื้มดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายพระราชาได้ทอดพระเนตรพระนางประภาวดีเหมือนกัน ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จึงได้แสดงอาการยั่วเย้าด้วยการยกพระหัตถ์
เมื่อช้างพระที่นั่งคล้อยหลังไปแล้ว พระสัสสุจึงตรัสถามว่า “ เจ้าเห็นพระภัสดาของเจ้าแล้วหรือ ? ”
พระนางกราบทูลว่า “ เห็นแล้วเพคะ แต่นายควาญช้างคนนั้น ช่างไม่รู้จักขนบธรรมเนียมเสียบ้างเลย มันทำกิริยาเคาะแคะหม่อมฉัน ทั้งท่าทางก็ดูไม่มีผู้ดีเลย เหตุไรจึงให้เป็นคราญช้างพระที่นั่งเล่าเพคะ”
พระสัสสุจึงตรัสตอบว่า “ เขาต้องการเพียงแค่การระมัดระวังช้างพระที่นั่งเท่านั้น เขาหาได้ต้องการขนบธรรมเนียมแต่ประการใดไม่ ”
พระนางประภาวดีได้ทรงดำริว่า ควาญช้างคนนี้ได้รับอภัยเสียเหลือเกิน หรือควาญช้างคนนี้เป็นพระเจ้ากุสราช พระองค์คงจะมีรูปร่างน่าเกลียด พระราชมารดาจึงทรงหาอุบายไม่ให้เราได้พบเห็นกัน พระนางประภาวดีจึงทรงกระซิบนางขุชชา ผู้เป็นพี่เลี้ยงว่า “ พี่จงตามไปดูทีหรือว่า พระเจ้ากุสราชประทับช้างข้างหน้าพระที่นั่งหรือข้างหลัง แล้วจงมาบอกแก่เรา”
นางขุชชาผู้เป็นหญิงค่อมกราบทูลว่า “ หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนเป็นพระเจ้ากุสราช? ”
พระนางตรัสตอบว่า “ ถ้าคนไหนลงก่อน ก็คนนั้นแหละ คือพระเจ้ากุสราช ”
นางขุชชาจึงสะกดรอยไปดู ก็เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงจากช้างพระที่นั่งก่อน พอพระโพธิสัตว์เจ้าทอดพระเนตรเห็นนางขุชชาก็ทรงแน่พระทัยว่า นางมาพิสูจน์พระองค์จึงตรัสเรียกมากำชับว่า เจ้าอย่าไปบอกพระนางประภาวดีเป็นอันขาด นางค่อมนั้นจึงกลับไปทูลพระนางว่า พระเจ้ากุสราชผู้เสด็จประทับอยู่ข้างหน้าช้างพระที่นั่งเสด็จลงก่อน พระนางประภาวดีก็ทรงเชื่อถ้อยคำของนางค่อมนั้น
พระมเหสีเสด็จหนีกลับพระนคร
ครั้นต่อมาพระราชาทรงใคร่จะเห็นพระนางอีก จึงทูลอ้อนวอนพระราชมารดาแล้วพระราชามารดาไม่อาจจะทรงห้ามได้ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงปลอมตัวไปแอบอยู่ที่ประตูพระราชอุทยาน อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งรู้เห็น ฝ่ายพระราชาเสด็จไปยังอุทยานแล้วทรงยืนแช่น้ำอยู่ในสระโบกขรณีประมาณแค่คอ ปกพระเศียรด้วยใบบัว บังพระพักตร์ด้วยดอกบัวบาน แม้พระราชมารดาก็ทรงพาพระนางประภาวดีไปยังพระราชอุทยาน แล้วทรงพานางสนมกำนัลในลงเล่นน้ำในสระโบกขรณี ส่วนพระนางประภาวดีได้ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวที่พระโพธิสัตว์เจ้าซ่อนอยู่นั้น จึงเสด็จว่ายน้ำเข้าไปเก็บ พระบรมโพธิสัตว์จึงทรงเปิดใบบัวออกเสีย แล้วคว้าข้อพระหัตถ์ของพระนางไว้ รับสั่งขึ้นดังๆ ว่า “ ตัวเรานี้แหละ คือพระเจ้ากุสราช...! ”พระนางพอได้ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงร้องขึ้นด้วยสำคัญว่ายักษ์จับเรา แล้วสิ้นพระสติสมฤดีอยู่ที่ตรงนั้นเอง พระราชาจึงทรงปล่อยพระหัตถ์ละจากพระนาง ครั้นพระนางรู้สึกพระองค์ได้แล้วทรงดำริว่า พระเจ้ากุสราชนี้เองได้ปลอมเป็นคนเลี้ยงช้างและเป็นคนเลี้ยงม้า เรานี้ได้สามีหน้าตาน่าเกลียดขนาดนี้ เราจำเป็นต้องทิ้งไปหาสามีใหม่ให้จงได้ ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงให้พวกอำมาตย์ทั้งหลายนำความไปกราบทูลพระเจ้าโอกการาช พระองค์จึงทรงดำริว่า ถ้าไม่ให้นางไปนางก็คงจักตรอมใจตาย เราควรจักอนุญาตให้ไปเสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดผันผ่อนนำมาต่อภายหลัง พอทรงดำริดังนี้แล้วจึงทรงอนุญาตให้พระนางเสด็จกลับไปได้ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร กำลังทรงสะท้อนถอนพระทัยด้วยทรงอาลัยในพระนางเจ้าเป็นหนักหนา
ต่อนี้ไปจะกลับกล่าวถึงเหตุแห่งบุคคลทั้งสองไว้ดังนี้
บุพพกรรม
ในอดีตกาล มีหมู่บ้านอันตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองพาราณสี มีตระกูล ๒ ตระกูลที่ถนนหมู่บ้านนั้น ตระกูลหนึ่งมีลูกชายอยู่ ๒ คน อีกตระกูลหนึ่งมีลูกหญิง ๑ คน อยู่มาตระกูลที่มีลูกชาย ๒ คนนั้นเติบโตมารดาจึงไปขอภรรยาให้แก่ลูกชายคนใหญ่อยู่มาวันหนึ่งน้องชายได้ไปป่าเสีย ส่วนพี่สะใภ้อยู่ทางบ้านจึงทำขนมเบื้อง โดยแบ่งไว้ให้น้องของสามีส่วนหนึ่ง ที่เหลือนั้นแจกแบ่งกันบริโภคจนหมด พอกินขนมหมดแล้วก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเสด็จไปบิณฑบาต พี่สะใภ้จึงคิดว่า เราจะทำขนมไว้ให้น้องสามีของเราใหม่ ส่วนนี้จะเอาใส่บาตรเสีย ครั้นคิดแล้วจึงเอาขนมส่วนนั้นไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า พอน้องสามีกลับมาถึงก็เล่าเรื่องให้ฟัง น้องสามีก็โกรธว่า ส่วนของพี่ๆ ได้กินเสียหมด ยกเอาส่วนของเราไปทำบุญเสียแล้วเราจะกินอะไร ว่าแล้วก็ตามไปแย่งเอาขนมมาจากบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า ฝ่ายพี่สะใภ้จึงไปหาเนยใสใหม่ ซึ่งมีสีเหมือนดอกจำปามาทอดขนมถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกจนเต็มบาตร ขนมนั้นมีสีเหลืองปรากฏขึ้นในบาตร นางนั้นจึงตั้งความปรารถนาว่า “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดในภพใดๆ ขอให้ร่างกายของดิฉัน จงเกิดมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรูปร่างสดสวยงดงามเป็นอย่างยิ่ง และขออย่าให้ได้พบคนเลวเหมือนกับน้องสามีของดิฉันคนนี้เลย”พอน้องสามีได้ฟังดังนั้น จึงเอาขนมของตนนั้นกลับไปใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าอีก วางขนมของตนทับของพี่สะใภ้ลงไป แล้วตั้งความปรารถนาว่า “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้พบกับพี่สะใภ้คนนี้อีก ถึงจะอยู่ไกลกันตั้งร้อยโยชน์ก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้านำมาเป็นภรรยาให้จงได้”
เมื่อคนทั้งสองตายแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ ส่วนพี่สะใภ้จุติจากสวรรค์แล้ว ลงมาเกิดเป็นพระนางประภาวดี ส่วนน้องสามีลงมาเป็นพระเจ้ากุสราช คือพระโพธิสัตว์เจ้านี้เอง แต่ด้วยอำนาจแห่งบุพพกรรมที่โกรธแล้วเอาขนมกลับคืนมานั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงได้เป็นผู้มีรูปร่างไม่งดงาม น่าเกลียด ดังนี้
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น