Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 23

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 23 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องการทำบาปของผู้ไม่รู้, ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องความไม่ทรงห่วงพระภิกษุสงฆ์, วรรคที่ ๓ ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องทรงแสดงของลับ, ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องผรุสวาจาของพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องวิญญาณของต้นไม้, ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องอานิสงส์แห่งบิณฑบาตทั้งสองคราว, ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องทรงอนุญาตพุทธบูชา

ตอนที่ ๒๓

ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องการทำบาปของผู้ไม่รู้


สมเด็จพระบรมกษัตริย์แห่งสาคลนครจอมบพิตรอดิศรตรัสถามอรรถปัญหาอีกว่า " ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า ผู้ไม่รู้ทำปาณาติบาต ย่อมได้บาปมากกว่าผู้รู้ แต่กล่าวไว้ในพระวินัยบัญญัติว่า ภิกษุผู้ไม่รู้ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้ถ้าผู้ไม่รู้ทำปาณาติบาต ได้บาปมากกว่าคำว่า "ภิกษุผู้ไม่รู้ไม่ต้องอาบัติ" ก็ผิดไป ถ้าคำว่า "ภิกษุผู้ไม่รู้ไม่ต้องอาบัติ" นั้นถูก คำว่า "ผู้ไม่รู้ทำปาณาติบาตได้บาปมากกว่า" ก็ผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ข้ามไปได้ยากนะพระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า " ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสไว้จริงว่า ผู้ไม่รู้ทำปาณาติบาต ย่อมได้บาปมากกว่า และที่ทรงบัญญัติไว้ก็จริงว่าภิกษุผู้ไม่รู้ไม่ต้องอาบัติ แต่ความหมายในข้อนี้มีอยู่ต่างหาก คืออย่างไร...คืออาบัติแยกเป็นหลายอย่างเช่น เป็น สัญญาวิโมกข์ คือพ้นเพราะรู้ เพราะเข้าใจก็มี และที่เป็น นสัญญาวิโมกข์ คือไม่พ้นเพราะรู้ เพราะเข้าใจก็มี ข้อที่ว่า ภิกษุผู้ไม่รู้ไม่ต้องอาบัตินั้น หมายอาบัติที่เป็น สัญญาวิโมกข์ ขอถวายพระพร "
" ถูกดีแล้ว พระนาคเสน "

ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องความไม่ทรงห่วงพระภิกษุสงฆ์

" ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ มีพระพุทธฏีกาโปรดประทานไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเจ้าย่อมไม่คิดว่า เราปกครองภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุสงฆ์มุ่งเฉพาะเรา" ดังนี้ แต่เมื่อจะทรงแสดงสภาวคุณของพระเมตไตรยโพธิสัตว์เจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า "พระศรีอาริยเมตไตรยนั้น จักบริหารภิกษุสงฆ์ไม่ใช่พันเดียว เหมือนเราบริหารพระภิกษุสงฆ์ไม่ใช่ร้อยเดียวอยู่ในบัดนี้" ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคตเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า "เราไม่ได้คิดว่าเราบริหารพระภิกษุสงฆ์ หรือว่าพระภิกษุสงฆ์มุ่งเฉพาะต่อเรา" นั้นถูก คำที่ว่า "พระเมตไตรยโพธิสัตว์เจ้า จะบริหารพระภิกษุสงฆ์ไม่ใช่พันเดียว เหมือนเราบริหารภิกษุสงฆ์ไม่ใช่ร้อยเดียวอยู่ในบัดนี้ก็ผิดไป" ถ้าคำนี้ถูก คำที่ว่า "พระพุทธเจ้าไม่ได้คิดว่า เราบริหารภิกษุสงฆ์" ก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดวิสัชนาให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด"

พระนาคเสนถวายพระพรว่า "ข้อความทั้งสองข้อนั้น จริงทั้งนั้น ถูกทั้งนั้น แต่ว่าในปัญหาข้อนี้ ข้อหนึ่งเป็นคำมีเศษอีกข้อหนึ่งเป็นคำไม่มีเศษ ไม่มีเหลือ ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าไม่ใช่ผู้ติดตามบริษัท ส่วนบริษัทก็ไม่ได้ติดตามพระตถาคตเจ้า คำว่า "เรา...ของเรา" เป็นคำสมมุติ ไม่ใช่คำปรมัตถ์ สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ได้ปราศจากความรัก ความใยดีเสียแล้ว การถือว่าเป็น "ของเรา" ย่อมไม่มีแก่พระองค์ แต่มีการอาศัยเนื่องถึงเท่านั้น

อุปมาอุปมัย

แผ่นดินย่อมเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายที่อยู่บนภาคพื้น แต่แผ่นดินไม่ได้มีความเยื่อใยว่า สัตว์เหล่านี้เป็นของเราฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็เป็นที่พึ่งที่อาศัยของสัตว์ทั้งปวง แต่ไม่ทรงห่วงใยว่าเป็นของเราฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เมฆใหญ่ที่ตกลงมาย่อมให้ความเจริญแก่ต้นหญ้า ต้นไม้ สัตว์เลี้ยงและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเลี้ยงรักษาสัตว์ทั้งปวงไว้ สัตว์ทั้งปวงก็มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำฝน แต่ว่าน้ำฝนไม่ได้ถือว่าเป็นของเราฉันใด สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงทำให้เกิดกุศลธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงรักสัตว์ทั้งปวงไว้ด้วยศีล  สัตว์ทั้งปวงที่เลื่อมใสก็ได้อาศัยพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงห่วงใยว่า "เป็นของเรา" ฉันนั้น ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร...เป็นเพราะเหตุว่า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงละอัตตานุทิฏฐิคือ ความเห็นว่าเป็นตัวตนอย่างเด็ดขาดเสียแล้วขอถวายพระพร"
" ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ไขชัดแล้ว "

จบวรรคที่ ๒

วรรคที่ ๓

ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องทรงแสดงของลับ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระพิชิตมารได้ตรัสประทานไว้ว่า "ความสำรวมทางกาย วาจา ใจ เป็นของดี ความสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นของดี" ดังนี้ แต่มีกล่าวไว้ว่า พระตถาคตเจ้าประทับนั่งในท่ามกลางบริษัท ๔ ได้ทรงแสดงวัตถุคุยหะ (ของลับ) อันอยู่ในฝักแก่เสลพราหมณ์ ต่อหน้าเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย ทั้งทรงแลบพระชิวหาออกแยงช่องพระโสตทั้งสอง และทรงแลบพระชิวหาออกปิดพระนลาต คือหน้าผาก ไม่สำรวมสิ่งที่ควรปกปิด ถ้าได้ตรัสไว้ว่า "การสำรวมเป็นการดีจริงแล้ว" คำที่ว่า "ทรงแสดงวัตถุคุยหะแก่เสลพราหมณ์นั้น" ก็ผิด ถ้าคำว่า "ทรงแสดงวัตถุคุยหะแก่เสลพราหมณ์" นั้นถูก คำว่า "การสำรวมเป็นความดีนั้น" ก็ผิด ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด

พระนาคเสนเฉลยปัญหานี้ว่า "ขอถวายพระพร คำทั้งสองข้อนั้นถูกทั้งนั้น แต่ว่าผู้ใดมีความสงสัยในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ทรงแสดงเงาแห่งพระกายคล้ายกับสิ่งนั้นด้วยฤทธิ์ เพื่อให้ผู้นั้นสิ้นสงสัยผู้นั้นก็ได้เห็นปาฏิหาริย์นั้น"
" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนั้นใครจักเชื่อถือคือผู้อยู่ในที่ประชุมนั้น ได้เห็นวัตถุคุยหะนั้นแต่ผู้เดียว นอกนั้นไม่มีใครเห็น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงชี้แจงให้โยมเข้าใจอีก "
" ขอถวายพระพร มหาบพิตรเคยเห็นบุรุษผู้เจ็บไข้ เกลื่อนกล่นด้วยญาติมิตรหรือไม่? "
" อ๋อ...เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า "
"ขอถวายพระพร ญาตมิตรที่อยู่ในที่ประชุมนั้น ได้เห็นทุกขเวทนาของบุรุษนั้นหรือไม่ ? "
" ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้อุปมาฉันใด ผู้ที่ยังสงสัยอยู่ ผู้นั้นก็ได้เห็นเพียงแต่เงาแห่งวัตถุคุยหะ ที่อยู่ในภายในผ้าสบงของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงบันดาลให้เห็นฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เวลาภูตผีปีศาจเข้าสิ่งบุรุษ มีผู้เห็นหรือไม่ ? "
" ไม่เห็น พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดสงสัยในเรื่องวัตถุคุยหะของพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงแสดงให้เห็นแต่ผู้นั้นเท่านั้น "
" ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า สิ่งที่ไม่น่าจะเห็นได้แต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นได้แต่ผู้เดียว เป็นการกระทำได้ยาก"

" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าไม่ได้ทรงแสดงพระคุยหะด้วยกิริยาปกติธรรมดา ได้ทรงบันดาลให้เห็นเพียงเงาเท่านั้น แต่เมื่อเสลพราหมณ์ได้เห็นแล้วก็สิ้นสงสัยถึงสิ่งที่กระทำได้แสนยาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ทรงกระทำ เพื่อให้ผู้ที่ควรรู้ธรรมได้รู้ธรรม" ถ้าพระตถาคตเจ้าไม่ทรงทำอย่างนั้น ผู้ที่ควรรู้ธรรมก็จะไม่รู้ธรรม พระตถาคตเจ้าชื่อว่าเป็นพระสัพพัญญูไม่ใช่หรือ เพราะเหตุที่พระองค์เป็นพระสัพพัญญู ผู้ที่ควรรู้ธรรมด้วยการประกอบอย่างใดๆ พระตถาคตเจ้าก็ทรงให้รู้ธรรมด้วยการประกอบอย่างนั้นๆ เหมือนกับนายแพทย์ผู้ฉลาด รู้ว่าโรคจะหายไปด้วยยาชนิดใด จะเป็นยาถ่าย หรือยาทา หรือผ่าตัด อบ รม อย่างใด ก็ทำอย่างนั้น อีกประการหนึ่ง หญิงที่มีครรภ์แก่ถ้วนแล้ว ย่อมแสดงกระทั่งของลับ ซึ่งไม่ควรแสดงแก่หมอฉันใด สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงพระคุยหะอันไม่ควรทรงแสดงแก่เวไนย เพื่อให้รู้ธรรมด้วยฤทธิ์ฉันนั้น โอกาสอันชื่อว่าไม่ควรแสดงด้วยการกำหนดบุคคลย่อมไม่มี ถ้ามีใครได้เห็นพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ธรรมได้ พระองค์ก็ต้องทรงแสดงพระหฤทัยให้ผู้นั้น สมเด็จพระภควันต์เป็นโยคัญญูคือทรงรู้จักวิธีประกอบ เป็นเทสนากุสโลคือทรงฉลาดในทางทรงแสดง พระตถาคตเจ้าทรงทราบอธิมุตติ คือนิสัยของพระนันทะได้ดี จึงทรงนำพระนันทะขึ้นไปสู่สวรรค์ ให้เห็นพวกเทพกัญญา ด้วยทรงดำริว่า กุลบุตรผู้นี้จักรู้ธรรมได้ด้วยอุบายอันนี้ แล้วกุลบุตรนี้ก็ได้รู้ธรรมด้วยอุบายนั้น เป็นอันว่าสมเด็จพระบรมศาสดาทรงติเตียนเกลียดชังศุภนิมิต คือสิ่งที่เห็นว่าสวยงามไว้เป็นอันมาก แต่ได้ทรงแสดงนางอัปสรผู้ประดับด้วยเครื่องแก้วเครื่องทอง มีสีเท้าแดงดังสีเท้านกพิราบแก่พระนันทะ เพื่อจะให้พระนันทะรู้ธรรม พระนันทะก็ได้รู้ธรรมด้วยอุบายอันนั้น พระตถาคตเจ้าเป็นโยคัญญูเป็นเทสนากุสโลอย่างนี้ ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง มหาบพิตร คือสมเด็จพระพิชิตมารถูกพราหมณ์โมฆราช ทูลถามปัญหาถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ทรงแก้ ด้วยทรงเห็นว่ามานะของกุลบุตรนี้จักหายไปด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อมานะหายไปธรรมวิเศษก็จักมีดังนี้ ด้วยอาการที่ทรงกระทำอย่างนั้น มานะของกุลบุตรนั้นก็สงบไป มานะสงบไปแล้วก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์ก็ชื่อว่าเป็นโยคัญญู คือผู้รู้จักวิธีประกอบหรือวิธีการชื่อว่าเทสนากุสโส ผู้ฉลาดในเทศนาขอถวายพระพร "

" ดีแล้ว พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหานี้ออกให้แจ่มแจ้ง ด้วยอ้างเหตุการณ์หลายอย่างแล้ว ได้ทำลายป่ารกแล้ว ทำมืดให้สว่างแล้ว ทำลายข้อยุ่งยากเสียแล้ว หักล้างถ้อยคำของผู้อื่นเสียหมดแล้ว ทำให้เกิดจักษุคือปัญญา แก่ศากยบุตรพุทธชิโนรสได้แล้ว"

อธิบาย ท่านเสลพราหมณ์ได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรวจดูพระพุทธลักษณะตามตำราของพราหมณ์แล้ว เห็นว่ายังไม่ครบถ้วนบางประการจึงมีความสงสัยอยู่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงทราบอุปนิสัย จึงได้ทรงกระทำเช่นนั้น ส่วนพราหมณ์โมฆราชท่านเป็นศิษย์หนึ่งใน ๑๖ คน ของ พราหมณ์พาวรี โดยอาจารย์เป็นผู้ตั้งคำถามให้ศิษย์ทั้ง ๑๖ คนไปถามพระพุทธเจ้า ท่านโมฆราชจะเป็นผู้ถามปัญหาคนที่ ๒ แต่ถือตัวว่าตนเป็นคนมีปัญญาดีกว่า พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไว้ก่อน เพราะรู้ว่ายังมีมานะอยู่ ต่อเมื่อถามปัญหาเป็นลำดับถึงคนที่ ๘ แล้ว ท่านโมฆราชปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๙ อีก พระบรมศาสดาก็ทรงห้ามไว้ดุจนัยหนหลัง รอให้ถามปัญหาถึง ๑๔ คนแล้วจึงทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงไม่แลเห็นคือจักไม่ตามทัน พระพุทธเจ้าข้า ? "
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า " ท่านจงเป็นคนมีสติพิจราณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าเป็นตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจะไม่แลเห็น ฯ "

ในที่สุดแห่การแก้ปัญหาข้อนี้ ท่านโมฆราชได้บรรลุพระอรหัตผล มาณพทั้ง ๑๖ คนกับทั้งบริวารจึงได้ทูลขออุปสมบท ต่อมาพระโมฆราชได้รับยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง


ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องผรุสวาจาของพระพุทธเจ้า

" ข้าแต่พระนาคเสน พระสารีบุตรธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า "พระตถาคตเจ้ามีวจีสมาจารอันบริสุทธิ์ (วาจาสุภาพ) แล้ว ไม่ต้องรักษาวจีทุจริตว่าขออย่าให้ผู้อื่นล่วงรู้วจีทุจริตนี้ของเรา "และกล่าวไว้อีกว่า" เมื่อพระสุทินกลันทกบุตรกระทำความผิด พระตถาคตเจ้าทรงบัญญัติปาราชิก ก็ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่า พระสุทินเป็นโมฆบุรุษด้วยผรุสวาจา (วาจาหยาบคาย)" ด้วยเหตุที่สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษนั้น" พระสุทินก็สะดุ้งใจด้วยความสะดุ้งใจอย่างแรงกล้า แล้วเกิดความกินแหนงไม่อาจแทงตลอดอริยมรรคได้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าคำว่า "พระตถาคตเจ้ามีวจีสมาจารบริสุทธิ์ คือมีวาจาอ่อนโยนแล้วไม่มีวาจาทุจริต" นั้นถูก ข้อที่ว่า "ตรัสเรียกพระสุทินด้วยพระวาจาว่าเป็นโมฆบุรุษนั้น เพราะความผิดของพระสุทินนั้น" ก็ผิดไป ถ้าคำว่า "ได้เปล่าวาจาเรียกพระสุทินว่าเป็นโมฆบุรุษ เพราะความผิดนั้น" เป็นของถูก ข้อว่า "พระตถาคตเจ้ามีวจีสมาจารย์บริสุทธิ์ ไม่มีวจีทุจริตนั้น" ก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ขอได้โปรดวิสัชนาต่อไปเถิด "
พระนาคเสนแก้ไขว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ว่า "พระสารีบุตรเสนาบดีกล่าวไว้ว่า พระตถาคตเจ้ามีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่มีวจีทุจริตที่จะต้องปิดบังไว้ด้วยคิดว่า อย่าให้ผู้อื่นรู้" ดังนี้เป็นของจริง ข้อที่ว่า "ทรงเปล่งพระวาจาว่า โมฆบุรุษเวลาจะทรงบัญญัติปฐมปาราชิก เพราะความผิดขอพระสุทินนั้น" ก็เป็นของจริง แต่การทรงเปล่งพระวาจานั้น ได้มีขึ้นด้วยพระหฤทัยไม่ขุ่นมัว ด้วยความไม่แข่งดีด้วยลักษณะตามเป็นจริง อะไรเป็นลักษณะจริงในข้อนั้น ? การรู้อริยสัจ ๔ ในอัตภาพนี้จะไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นบุรุษของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ ซึ่งแปลว่าบุรุษเปล่า คือจะทำบุญภาวนาสักเท่าใดจะได้สำเร็จมรรคผลก็หาไม่ ผู้นั้นจึงเรียกว่า "โมฆบุรุษ" ด้วยเหตุนี้แหละ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเรียกพระสุทินว่า โมฆบุรุษตามเป็นจริง ไม่ใช่เป็นจริง "

" ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ด่าผู้อื่น ก็ย่อมด่าตามเป็นจริง แต่โยมก็ลงโทษปรับสินไหมเพราะเขามีความผิด อาศัยเรื่องที่เขาด่านั้นเป็นของจริง"
" ขอถวายพระพร ผู้ที่กระทำผิด มหาบพิตรเคยทรงกราบไหว้ หรือลุกรับ หรือสักการบูชา หรือพระราชทานรางวัล หรือพระราชทานทรัพย์ให้มีอยู่หรือไม่ ? "
" ไม่มีเลย พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่กระทำผิดย่อมสมควรแก่การด่าว่า ขู่เข็ญ กระทั่งศีรษะของเขาก็ควรตัด ควรฆ่า "
" ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น สมเด็จพระภควันต์ก็ทรงกระทำถูกแล้ว ไม่ใช่ทรงกระทำผิด "
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะกระทำให้เหมาะ ให้ดีกว่านั้นเพราะเพียงแต่เทพยดา มนุษย์ ได้ยินพระนามของพระศาสดาจารย์เท่านั้น ก็เคารพยำเกรงสะดุ้งกลัว ละอายใจอยู่แล้ว ยิ่งได้เห็นหรือได้เข้าไปเฝ้า ได้เข้าไปใกล้ ก็ยิ่งเคารพเกรงกลัว "
" ขอถวายพระพร แพทย์ย่อมให้ยาถ่ายที่แรงกล้า ตามสมควรแก่โรคในลำไส้ เพื่อให้กัดเสมหะอันร้ายในลำไส้ออกเสีย มีบ้างไหม ?"
" มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขามุ่งความหายจากโรค "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อสมเด็จพระธรรมสามิสร์จะทรงประทานยาถ่ายโรค คือกิเลสทั้งสิ้น ก็ได้ทรงประทานยาถ่ายที่สมควรแก่โรค คือกิเลส ถึงผรุสวาจา คือคำด่าว่าของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสด้วยพระทัยเมตตา ก็ทำให้สัตว์ทั้งหลายรักใคร่ใจอ่อนโยนได้ น้ำร้อนย่อมทำของอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มียางเหนียวให้เหนียวได้ ให้อ่อนได้ฉันใด ผรุสวาจาของพระตถาคตเจ้าอันประกอบด้วยพระกรุณาก็มีประโยชน์ฉันนั้น อนึ่ง ถ้อยคำของบิดาอันประกอบด้วยกรุณา ก็มีประโยชน์แก่บุตรทั้งหลายฉันใด วาจาของพระตถาคตเจ้าถึงจะเป็นผรุวาจา แต่ประกอบด้วยพระกรุณาก็มีประโยชน์ฉันนั้น วาจาสมเด็จพระทรงธรรม์ถึงจะเป็นผรุสวาจาก็ทำลายกิเลสของสัตว์ทั้งปวงได้ น้ำมูตร (ปัสสาวะ) โคที่ดองยา ถึงจะมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อบุคคลดื่มกินเข้าไปแล้วก็แก้โรคทั้งปวงได้ฉันใด พระวาจาของพระตถาคตเจ้า ถึงจะเป็นผรุสวาจา ก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์แก่ใครฉันนั้น ปุยนุ่นถึงจะใหญ่ เวลาตกถูกร่างกายของผู้อื่นก็ไม่ทำให้เจ็บปวดฉันใด พระวาจาของพระตถาคตเจ้า ถึงจะเป็นผรุสวาจา ก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์แก่ใครฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขดี ด้วยเหตุหลายอย่างนี้แล้ว"

อธิบาย เป็นอันว่าการพูดจาหยาบคายด้วยเจตนามุ่งร้ายจึงจะเป็นผรุสวาจา แต่ที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสติเตียนพระสุทิน ก็เป็นเพราะเหตุว่ามารดาของพระสุทินพาภรรยาเก่าของท่าน (ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช) ซึ่งกำลังมีระดู ไปที่ป่ามหาวันชวนให้สึก หวังที่จะให้ครอบครองทรัพย์สมบัติ แต่พระสุทินก็ไม่ยอม ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติพระวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พอจะทำได้เพื่อให้มีบุตรไว้สืบสกุล จึงเสพเมถุนด้วยภรรยาของตน ตามคำขอร้องของมารดาว่าช่วยสร้างพืชไว้ให้สักหน่อย ซึ่งต่อมานางก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตร บุตรของพระสุทินจึงได้นามว่า เจ้าพืช ภรรยาของพระสุทินก็ได้นามว่า มารดาของเจ้าพืช ต่อมาทั้งมารดาและบุตรออกบวช ได้สำเร็จอรหัตผลทั้งสองคน ความจริงพระสุทินออกบวชด้วยศรัทธาแท้ เพราะต้องอ้อนวอนบิดามารดาถึง ๓ ครั้ง และยอมนอนอดอาหารถึง ๗ วัน เพื่อให้เห็นว่าตนมีความตั้งใจจริง ต่อมาเพื่อนๆ ช่วยอ้อนวอน บิดามารดาจึงยอมให้บวช เมื่อบวชแล้วท่านก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ พระสุทินจึงเกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม ภิกษุทั้งหลายจึงติเตียนและนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนแล้วจึงทรงติเตียนว่า "เป็นโมฆบุรุษ" จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด พระสุทินจึงเป็นต้นบัญญัติในข้อนี้

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องวิญญาณของต้นไม้

" ข้าแต่พระนาคเสน พระตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไฉนเธอผู้มีความรู้ มีความเพียร มีความไม่ประมาท จึงถามสุขไสยากับต้นไม้ซึ่งไม่มีเจตนา ฟังอะไรไม่ได้ ไม่รู้อะไร" ดังนี้ แต่ตรัสไว้อีกว่า "นี่แน่ะภารทวาชพราหมณ์ เธอจงไปถามต้นสะคร้อ ต้นสะคร้อจะตอบเธอตามถ้อยคำของเรา" ดังนี้ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าต้นไม้ไม่มีเจตนา คำที่ว่า "ภารทวาชพราหมณ์ไปพูดกับต้นสะคร้อนั้น" ก็ผิดไป   ถ้าคำว่า "ภารทวาชพราหมณ์ไปพูดกับต้นไม้นั้น" เป็นคำถูกต้อง คำว่า "ต้นไม้ไม่มีเจตนา" ก็ผิด ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยเถิด"

พระนาคเสนชี้แจงแสดงว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ว่า "สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า ต้นไม้ไม่มีเจตนานั้น" ก็ถูก ข้อที่ว่า "ภารทราชพราหมณ์ได้พูดกับต้นสะคร้อนั้น" ก็ถูก คือถูกตามโลกสมัญญา อันได้แก่ตามความเชื่อถือของคนทั้งหลาย ความจริงนั้นการพูดแห่งสิ่งไม่มีเจตนา คือไม่มีจิตวิญญาณ แต่ว่ามีเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อนั้น พราหมณ์นั้นได้ไปถามต้นสะคร้อขึ้น เทวดาจึงตอบแทนต้นสะคร้อ แต่คนทั้งหลายก็เรียกว่าพูดกับต้นไม้ อันนี้เป็นโลกบัญญัติขอถวายพระพร เกวียนอันเต็มด้วยข้าวเปลือก คนก็เรียกว่า "เกวียนข้าวเปลือก" คือเกวียนอันบรรทุกเต็มด้วยข้าวเปลือก คนจึงเรียกว่า "เกวียนข้าวเปลือก" แต่เกวียนนั้นเป็นเกวียนทำด้วยไม้ ไม่ใช่ทำด้วยข้าวเปลือก ที่เขาเรียกว่า "เกวียนข้าวเปลือก" ก็เพราะบรรทุกข้าวเปลือกฉันใด ต้นไม้พูดไม่ได้ ต้นไม้ไม่มีเจตนา แต่เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นั้นต่างหากเป็นผู้พูด คนทั้งหลายจึงถือว่าต้นไม้พูดฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เหมือนกับคนกำลังเอานมส้ม มากระทำให้เป็นน้ำมันเปรียงอยู่ เขาก็เรียกว่า "เราทำน้ำมันเปรียง" ความจริงนั้นนมส้มนั้นยังไม่เป็นน้ำมันเปรียง เพียงแต่เขากำลังกระทำอยู่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ข้อที่ว่าต้นไม้พูดซึ่งหมายถึงเทวดาที่อยู่ที่ต้นไม้นั้นพูด ก็เป็นคำโลกบัญญัติขึ้นฉันนั้น คนพูดกันตามความเข้าใจของโลกฉันใด พระตถาคตเจ้าก็ทรงแสดงธรรมตามความเข้าใจของโลกฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องแล้ว พระนาคเสน โยมยอมรับว่าถูก "

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องอานิสงส์แห่งบิณฑบาตทั้งสองคราว

" ข้าแต่พระนาคเสน พระเถระทั้งหลายผู้กระทำธรรมสังคีติ (สังคายนา) ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงเสวยอาหารของนายจุนท์ผู้เป็นบุตรช่างทองแล้วก็เกิดอาพาธหนัก มีมรณะเป็นที่สุด ดังนี้ และกล่าวไว้อีกว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่าบิณฑบาตทั้งสองคราวนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นๆ บิณฑบาตทั้งสองคราวนี้คือเมื่อใดบ้าง คือบิณฑบาตที่นางสุชาดา ถวายก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ๑ และบิณฑบาตที่นายจุนท์ถวายก่อนที่จะปรินิพาน ๑ ดังนี้ข้าแต่พระนาคเสน "ถ้าอาพาธแรงกล้าทำให้เกิดทุกขเวทนา มีมรณะเป็นที่สุดแก่พระตถาคตเจ้า เพราะเสวยอาหารของนายจุนท์" ถูกแล้ว คำที่ว่า "บิณฑบาตนั้นมีผลเสมอกันมีวิบากเสมอกัน มีผลอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นๆ" ก็ผิดไป ถ้าคำว่า "บิณฑบาตนั้น มีผลวิบากเสมอกัน มีผลานิสงส์ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่นๆ" ถูกแล้ว คำที่ว่าเกิดอาพาธแรงกล้า มีทุกขเวทนาหนัก มีมรณะเป็นที่สุด เพราะเสวยอาหารของนายจุนท์นั้น" ก็ผิดไป ข้าแต่พระนาคเสน บิณฑบาตนั้นจะมีผลมาก เพราะเจือยาพิษ เพราะทำให้เกิดโรค เพราะทำให้สิ้นอายุ ทำให้จักษุของชาวโลกพินาศไป ทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว เหตุไรจึงมีผลมาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงชี้แจงแสดงไว้ เพื่อข่มขี่ถ้อยคำของผู้อื่นเสีย ในเรื่องนี้ประชุมชนหลงเข้าใจว่าโรคพระโลหิตได้เกิดแก่พระพุทธเจ้าเพราะเสวยมากเกินไปด้วยอำนาจความโลภ ดังนี้ เรื่องนี้จึงเป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด"

พระนาคเสนจึงตอบว่า " ขอถวายพระพร คำที่ว่า "พระพุทธองค์ทรงเสวยอาหารของนายจุนท์แล้ว เกิดอาพาธหนักมีมรณะนั้น" ก็ถูก คำที่ว่า "บิณฑบาตทั้งสองคราวนั้น มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลานิสงส์ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่นๆ นั้น" ก็ถูก เพราะว่าบิณฑบาตนั้นมีคุณมาก มีผลมากมีวิบากมาก มีอานิสงส์ไม่ใช่น้อย เทวดาทั้งหลายมีความยินดีเลื่อมใสด้วยคิดเห็นว่า บิณฑบาตคราวนี้เป็นคราวสุดท้ายของพระพุทธองค์แล้ว จึงโปรยผงทิพย์ลงในสุกรมัททวะ (เนื่อสุกรอ่อน) ผลทิพย์นั้นสุกเสมอกัน สุกมาก เป็นที่ยินดีแห่งใจ ร้อนด้วยไฟในท้อง แต่ใช่ว่าโรคจะบังเกิดด้วยอาหารนั้นหามิได้ แต่เพราะพระพุทธเจ้ามีพระวรกายไม่สู้มีกำลังอยู่แล้ว อายุสังขารก็สิ้นแล้ว โรคที่เกิดขึ้นจึงกำเริบ เหมือนกับกระแสน้ำไหลอยู่ตามปกติแล้ว เมื่อฝนตกลงมาใหญ่ ก็ยิ่งมีกระแสน้ำมากขึ้นฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับไฟอันลุกอยู่ตามปกติแล้ว เมื่อใส่เชื้อไฟอย่างอื่นลงไปก็ยิ่งลุกมากขึ้น อีกนัยหนึ่ง เหมือนลมในท้องซึ่งพัดไปมาอยู่ตามปกติแล้ว เมื่อกินของไม่สุกอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ก็เกิดลมมากขึ้นฉะนั้น ไม่มีใครอาจชี้โทษในบิณฑบาตนั้นได้ว่า บิณฑบาตนั้นทำให้เกิดโรค ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน เป็นเพราะเหตุไรบิณฑบาตทั้งสองนั้น จึงมีผลวิบากเสมอกัน มีผลานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นๆ ? "
" ขอถวายพระพร เพราะอำนาจคุณธรรมในการเข้าสมาบัติอยู่เนืองๆ "
" คุณธรรมในการเข้าสมาบัติอยู่เนืองๆ นั้นได้แก่อะไร พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร ได้แก่การเข้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ ( เข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นิโรธ ๑ ) กลับไปกลับมา ถอยหน้าถอยหลัง "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระตถาคตเจ้าได้เข้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ กลับไปกลับมาถึง ๓ ครั้ง เมื่อก่อนจะนิพพานนั้นไม่เคยมีบ้างหรือ? "
" ไม่เคยมี มหาบพิตร "
" น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน ทานอย่างเยี่ยมซึ่งไม่มีทานอื่นใดเสมอเหมือน อันไม่นับเข้าในบิณฑบาตทั้งสองคราวนี้ก็มีอยู่ น่าอัศจรรย์ ! ที่ทานนั้นมีผลานิสงส์ยิ่งกว่าทานอื่นๆ ด้วยอำนาจแห่งอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ ซึ่งเป็นของใหญ่"

อธิบาย ในอรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร ได้กล่าวว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเสวยเนื้อสุกรอ่อนอันเจือด้วยผลทิพย์ ในวันนั้นจะเกิดพระโรคาพาธหนักยิ่งกว่านั้น หนักจนไม่สามารถจะเสด็จไปด้วยพระบาทได้ นอกจากจะทรงไปทางอากาศด้วยฤทธิ์ เพราะในวันนั้นโรคลงพระโลหิตที่เคยเป็นมาแล้วในกลางพรรษาได้กำเริบขึ้นอีก เพราะโรคนั้นสงบลงไปด้วยอำนาจอิทธิบาทภาวนาเพียงชั่ว ๖ เดือนเท่านั้น ถ้าทรงเข้าอิทธิบาทภาวนาอีก ก็จะบรรเทาทุกขเวทนาไปอีก ๖ เดือน เมื่อถึง ๖ เดือนแล้วทรงเข้าอีกก็จะทรงสบายไปอีก ๖ เดือน เมื่อทรงใช้อำนาจอิทธิบาททุกระยะ ๖ เดือนไป ก็จะมีพระชนม์อยู่ตั้งกัป หรือเกินกว่า แต่ไม่ทรงทำเพราะทรงปลงพระชนมายุสังขารให้เป็นไปตามเรื่องของสังขารเสียแล้ว ดังนี้

ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องทรงอนุญาตพุทธบูชา

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายไม่ต้องขวนขวายเพื่อบูชาพระสรีระของพระตถาคตเจ้า" แล้วตรัสไว้อีกว่า "เธอทั้งหลาย จงบูชาธาตุของผู้ควรบูชา เพราะผู้ทำอย่างนั้น เวลาจากโลกนี้แล้ว จักได้ไปบังเกิดในสวรรค์" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ พวกเธอไม่ต้องขวนขวาย เพื่อบูชาพระสรีระของพระตถาคตเจ้า" ดังนี้ถูกแล้ว คำว่า "เธอทั้งหลายจงบูชาธาตุของผู้ควรบูชา เพราะผู้ทำอย่างนั้น จากโลกนี้แล้วจักได้ไปสู่สวรรค์" ดังนี้ก็ผิด ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสว่า "พวกเธอจงบูชาธาตุของผู้ควรบูชา เพราะผู้ทำยอย่างนั้นจากโลกนี้แล้วจักได้ไปสวรรค์" ดังนี้ถูก คำที่ว่า "พวกเธอไม่ต้องขวนขวาย เพื่อบูชาพระสรีระของพระตถาคตเจ้า" ดังนี้ก็ผิด ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว"

พระนาคเสนแก้ข้อสงสัยว่า "ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นจริงทั้งนั้น คำที่ตรัสห้ามไม่ให้ขวนขวายบูชาพระสรีระของพระตถาคตเจ้านั้น ทรงห้ามเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ เท่านั้น เพราะการบูชาพระสรีระศพของพระตถาคตเจ้านั้น ไม่จำเป็นแก่พระภิกษุทั้งหลาย จำเป็นแก่เทวดามนุษย์นอกนั้นต่างหาก

อุปมาเรียนศิลปศาสตร์

ข้อนี้มีอุปมาเหมือนกับการศึกษาทางช้าง ม้า รถ ธนู หอก ดาบ เลข คำนวณ เวทย์ มนต์ กลยุทธ์ต่างๆ จำเป็นสำหรับราชบุตรทั้งหลายเท่านั้น ไม่จำเป็นแก่พวกเวศย์ พวกศูทร เพราะพวกนี้จำเป็นที่จะต้องทำกสิกรรม พาณิชกรรม และเลี้ยงโคเท่านั้นการพิจารณาสังขาร การกระทำโยนิโสมนสิการ (กำหนดใจไว้ด้วยอุบายที่ชอบธรรม) การเจริญมหาสติปัฏฐาน การค้นหาแก่นธรรม การสู้รบกับกิเลส การฝึกฝนอยู่เนืองๆ ซึ่งประโยชน์ของตนนั้น เป็นของจำเป็นสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย ส่วนการบูชาพระสรีระศพ หรือพระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น จำเป็นสำหรับเทพยดา - มนุษย์นอกนั้น อีกประการหนึ่ง เวทต่างๆ คือ อุรุเวทรู้ภาษาสัตว์ ยชุเวทรู้บูชายัญ อาถัพพเวทรู้ผูกแก้อาถรรพณ์ ลักขณะรู้ทายลักษณะเป็นต้น เป็นของจำเป็นที่พวกพราหมณ์มาณพจะต้องศึกษา ส่วนพวกเวศย์ พวกนอกนั้นจำเป็นที่จะต้องกระทำกสิกรรม พาณิชกรรมและเลี้ยงโคเท่านั้น เพราะฉะนั้นสมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาจึงทรงห้ามเสีย ถ้าไม่ทรงห้าม พระภิกษุทั้งหลาย ก็จะสละกระทั่งบาตรจีวรของตนออกกระทำพุทธบูชา ขอถวายพระพร "
" ถูกแล้ว พระนาคเสน "


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น