Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 32

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 32 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๙ ปัญหาที่ ๗ ถามถึงที่ตั้งนิพพาน, ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องสิ่งที่ควรรู้ด้วยอนุมาน

ตอนที่ ๓๒

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงที่ตั้งนิพพาน


“ ข้าแต่พระนาคเสน ที่ทางบูรพาหรือทางทักษิณ ทางปัจฉิมหรือทางอุดร ทางเบื้องบน ทางเบื้องต่ำ ทางขวาง ที่นิพพานตั้งอยู่ มีอยู่หรือไม่ ? ”
“ ไม่มี มหาบพิตร ”
พระเจ้ามิลินทร์ตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าที่นิพพานตั้งอยู่ไม่มี นิพพานก็ไม่มี ข้อที่ว่าการกระทำให้แจ้งนิพพานก็ผิด ในเรื่องนี้โยมขออ้างเหตุว่า นาเป็นที่ตั้งแห่งข้าว ดอกไม้เป็นที่ตั้งแห่งกลิ่น กอไม้เป็นที่ตั้งแห่งดอกไม้ ต้นไม้เป็นที่ตั้งแห่งผลไม้ บ่อแก้วเป็นที่ตั้งแห่งแก้ว ผู้ต้องการสิ่งใดๆ ในสิ่งนั้น ไปที่นั้นแล้วก็ได้สิ่งนั้นๆ ฉันใด ถ้านิพพานมี ที่ตั้งแห่งนิพพานก็ควรมีฉันนั้น เพราะที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี โยมจึงว่านิพพานไม่มี คำที่ว่ากระทำให้แจ้งนิพพานนั้นก็ผิดไป ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี แต่นิพพานมี ผู้ปฏิบัติชอบเมื่อเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลายด้วยโยนิโสนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ไฟมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งไฟไม่มี เมื่อบุคคลเอาไม้ ๒ อันมาสีกันเข้าก็ได้ไฟฉันใด นิพพานก็มีอยู่ แต่ว่าที่ตั้งนิพพานไม่มี เมื่อผู้ปฏิบัติชอบเล็งเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย ด้วยโยนิโสมนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งนิพพานฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง แก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้วมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งแก้ว ๗ ประการนั้นไม่มี กษัตริย์ผู้ปฏิบัติชอบย่อมได้แก้ว ๗ ประการนี้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติฉันใด นิพพานก็มีอยู่ แต่ที่ตั้งนิพพานไม่มี เมื่อผู้ปฏิบัติชอบเล็งเห็นความสิ้นความเสื่อมแห่งสังขารทั้งหลายด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วก็กระทำให้แจ้งนิพพานฉันนั้น ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าที่ตั้งนิพพานไม่มี ผู้ปฏิบัติชอบตั้งอยู่ในที่ใด จึงกระทำให้แจ้งนิพพาน ที่นั้นมีอยู่หรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร มีอยู่ ”
“ มีอยู่อย่างไร โยมขอฟัง ? ”
“ ขอถวายพระพร มีอยู่อย่างนี้ คือที่ตั้งนั้นได้แก่ศีล ผู้ตั้งอยู่ในศีล ผู้มีโยนิโสมนสิการ คือตั้งใจไว้ด้วยอุบายที่ฉลาด ผู้ปฏิบัติชอบไม่ว่าอยู่ในที่ใดๆ จะเป็นป่าสักกายวัน หรือจีนวิลาตวัน อลสันทนคร นิกุมพนคา กาสีโกศลนคร กัสมิรนคร คันธารนคร ยอดภูเขา พรหมโลกก็ตาม ก็กระทำให้แจ้งนิพพานได้ทั้งนั้น ขอถวายพระพร ”
“ เป็นอันถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสนพระผู้เป็นเจ้าได้แสดงนิพพานไว้แล้ว ได้แสดงการกระทำให้แจ้งนิพพานไว้แล้ว ได้ยกธงชัยคือพระธรรมขึ้นไว้แล้ว ได้ตั้งเครื่องนำพระธรรมไว้แล้ว โยมขอรับว่าถูกต้องดี ”

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องสิ่งที่ควรรู้ด้วยอนุมาน

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ผู้ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม (ข้อปฏิบัติที่ทำให้ระลึกถึงกัน) กับผู้เป็นปราชญ์ด้วยกันแล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงทราบ ทรงสดับ ทรงจำไว้ ทรงเห็นแสงสว่างแห่งญาณ ทรงทำลายความไม่มีญาณ ทรงทำให้ญาณเกิดขึ้น ทำให้อวิชชาหมดไป ก้าวล่วงเสียซึ่งกระแสสงสาร ตัดเสียซึ่งกระแสตัณหา ทรงปรารถนาจะถึงนิพพานจะถูกต้องนิพพาน จึงทรงปลุกฉันทะความพอใจ ความเพียร ปัญญา อุตสาหะ ตั้งสติสัมปชัญญะให้แรงเต็มที่ แล้งจึงถามพระนาคเสนเถระต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น ”
“ ก็อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือไม่ ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น ”

“ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่เห็น อาจารย์ก็ไม่เห็น พระพุทธเจ้าก็เป็นอันไม่มี ”
“ ขอถวายพระพร กษัตริย์ทั้งหลายในปางก่อน ที่เป็นต้นวงศ์กษัตริย์มีอยู่หรือไม่ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้ทรงเห็นหรือไม่ ? ”
“ ไม่เห็น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ พวกปุโรหิต เสนาบดี มหาอำมาตย์ราชบริพารของมหาบพิตร ได้เห็นหรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าไม่มีผู้ได้เห็น กษัตริย์ก่อนๆ ก็ต้องไม่มี ”
“ มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ก่อนๆ มีอยู่ คือ เศวตฉัตร พระมงกุฏ พัดวาลวิชนี ที่บรรทม พระขรรค์แก้ว อันทำให้โยมเชื่อว่ากษัตริย์ก่อนๆ มีอยู่ ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมพุทธบริโภคของพระพุทธเจ้ามีอยู่ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ พระพุทธเจ้านั้น บุคคลควรรู้ว่ามีอยู่ด้วยเหตุอันนี้ ด้วยปัจจัยอันนี้ ด้วยนัยอันนี้ ด้วยอนุมานอันนี้ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา ”

“ ขอถวายพระพร นายช่างผู้จะสร้างพระนคร ย่อมพิจารณาภูมิประเทศเสียก่อนเห็นว่าที่ใดเป็นที่เสมอ ไม่ลุ่มไม่ดอน ไม่มีหินมีกรวด ไม่มีเครื่องรบกวน ไม่มีโทษ เป็นที่น่ายินดี แล้วจึงทำพื้นที่นั้นให้ราบคาบ เพื่อให้ปราศจากเสี้ยนหนามหลักตอ แล้วจึงสร้างพระนครอันสวยงามลงในที่นั้น การสร้างพระนครนั้นได้แบ่งแยกเป็นส่วนๆ มีคูและกำแพงล้อมรอบ มีป้อมประตูมั่นคง มีถนน ๔ แพร่ง ๓ แพร่ง มีถนนหลวงอันมีพื้นสะอาดเสมอดี มีตลาดค้าขาย มีสวนดอกไม้ผลไม้ บ่อน้ำ สระน้ำ ท่าน้ำไว้เป็นอันดี เมื่อพระนครนั้นสำเร็จพร้อมทุกประการแล้วนายช่างก็ไปสู่ที่อื่น ต่อมาภายหลัง พระนครนั้นเจริญกว้างขวางขึ้น บริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารเกษมสุขสำราญ มีผู้คนเกลื่อนกล่น มากไปด้วยกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร นายช้าง นายม้า นายรถ พลเดินเท้า นายขมังธนู หมู่บัณเฑาก์และกะเทย ลูกอำมาตย์ ลูกหลวงพลโยธาที่แกล้วกล้าสามารถ ลูกทาส ลูกคนรับจ้าง พวกนักมวย ช่างต่างๆ ช่างตัดผม ช่างทำผง ช่างดอกไม้ ช่างทอง ช่างเงิน ช่างดีบุก ช่างทองเหลือง ทองแดง ช่างเหล็ก ช่างแก้ว ช่างไม้ถือ ช่างไม้ค้อน ช่างเกราะ ช่างตุ้มหู ช่างเจียระไน ช่างขัดเกลา ช่างทำเงินสก ช่างหูก ช่างหม้อ ช่างคทา ช่างหอก ช่างแกะ ช่างหนัง ช่างเชือก ช่างทำฟัน ช่างหวี ช่างด้าย ช่างหญ้า ช่างทราย ช่างดินเหนียว ช่างดาบ ช่างหลาว ช่างเกาทัณฑ์ ช่างผ้ากัมพล ช่างดอกไม้ เป็นต้น ช่างผู้ฉลาดได้สร้างเมืองไว้อย่างนี้ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เปรียบ ผู้ล้ำเลิศ ผู้ไม่มีใครเหมือน ผู้ชั่งพระคุณไม่ได้ ผู้นับพระคุณไม่ได้ ผู้ประมาณพระคุณไม่ได้ ผู้บริสุทธิ์ด้วยพระคุณ ผู้มีพระปรีชา พระเดช พระกำลัง พระวิริยะ หาที่สุดมิได้ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งกำลังของพระพุทธเจ้า ทรงทำลายมารพร้อมทั้งเสนา ทำลายข่ายคือทิฏฐิ ทำลายอวิชชา ทำให้วิชชาเกิด ทรงไว้ซึ่งพระธรรมจักร สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ชนะสงครามทั้งสิ้นแล้ว ก็ได้ทรงสร้างธรรมนครไว้ฉันนั้น ธรรมดานครของพระพุทธเจ้านั้น มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคูน้ำรอบ มีสติเป็นนายประตู มีพระปรีชาญาณเป็นซุ้มประตู มีพระวินัยเป็นป้อม มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีปัญญาเป็นปราสาท มีพระสูตรเป็นทางไปมา มีพระอภิธรรมเป็นทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่ง มีพระวิริยะเป็นโรงวินิจฉัย มีสติปัฏฐานเป็นวิถี สองข้างวิถีคือสติปัฏฐานนั้น เต็มไปด้วยตลาดดอกไม้ ตลาดของหอม ตลาดผลไม้ ตลาดยาแก้ยาพิษ ตลาดยาทั่วไป ตลาดยาอมฤต ตลาดรัตนะ ตลาดสิ่งทั้งปวง ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ตลาดดอกไม้ ได้แก่อะไร ”
“ ขอถวายพระพร ตลาดดอกไม้ ได้แก่อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา อัฏฐิกสัญญา ปุฬุวกสัญญา วินีลกสัญญา วิจฉิททสัญญา วิปุพพกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา วิกขายิตกสัญญา หตวิกขิตตกสัญญา โลหิตกสัญญา อานาปานสติ มรณสติ กายคตาสติ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงการจำแนกอารมณ์เหล่านี้ไว้แล้ว ผู้อยากพ้นจากชรามรณะ ก็ถือเอาอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ในอารมณ์เหล่านี้ แล้วก็จะพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ข้ามสงสารไปได้ กั้นกระแสตัณหาได้ ตัดความสงสัยได้ ฆ่ากิเลสทั้งปวงได้ แล้วเข้าไปสู่พระนครคือ นิพพาน อันไม่มัวหมอง ไม่มีธุลี เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของขาว เป็นของไม่รู้เกิด ไม่รู้แก่ ไม่รู้ตาย เป็นสุข เป็นเมืองเย็น เป็นเมืองไม่มีภัย เป็นเมืองอันสูงสุด เป็นอันว่า บุคคลถือเอาทรัพย์อันเป็นมูลค่าเข้าไปสู่ตลาด ซื้อเอาดอกไม้ คืออารมณ์เหล่านั้นแล้วก็พ้นจากทุกข์ ขอถวายพระพร ”

“ สมควรแท้ พระนาคเสน ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน แล้วก็ตลาดของหอม ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่สิ่งใด ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่ ศีล คือพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกศีล อันมีกลิ่นหอมไปทั่วทิศทั้งปวงไว้เป็นหลายประเภท มีพระไตรสรณคมน์เป็นเบื้องต้น และศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอันนับเข้าในอุเทส ๕ ศีลอันนับเข้าในพระปาฏิโมกข์ อันนี้แหละเป็นตลาดของหอมของพระพุทธเจ้า ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า “กลิ่นดอกไม้ กลิ่นจันทร์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกมะลิ ย่อมทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัปปุรุษทั้งหลาย ย่อมหอมทวนลมไปได้ สัปปุรุษย่อมมีกลิ่นหอมไปตลอดทิศทั้งปวง กลิ่นศีล เยี่ยมกว่ากลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล เพราะกลิ่นของหอมเหล่านี้มีประมาณเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมหอมฟุ้งขึ้นไปถึงเทวโลก” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

“ ชอบแล้ว พระนาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดผลไม้ ของพระพุทธเจ้าได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่ โลกุตตรผลที่สูงขึ้นไปกว่ากันเป็นชั้นๆ คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตตผล สุญญตผลสมาบัติ อนิมิตตผลสมาบัติ อุเบกขาผลสมาบัติ ผู้ใดต้องการผลใดๆ ถือเอามูลค่าแล้วก็ซื้อเอาผลนั้นๆ ได้ตามต้องการ เหมือนกับผู้ต้องการผลมะม่วงชนิดใดๆ ก็ซื้อเอาผลอันไม่รู้จักตายของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นสุขตลอดไป ขอถวายพระพร ”

“ ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาแก้พิษงู ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพรได้แก่ อริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะผู้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง มีความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น เป็นอันว่าบุคคลเหล่าใดถูกพิษงูแล้ว ดื่มยาแก้พิษงูของพระพุทธเจ้าคือพระธรรม บุคคลเหล่านั้นก็สิ้นพิษงู ขอถวายพระพร ”

“ ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาแก้เจ็บไข้ทั่วไป ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองคื ๘ ยาอื่นที่มีดาษดื่นอยู่ในโลกเสมอด้วยยาคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งตลาดยาไว้อย่างนี้แล้ว ผู้ที่ได้ดื่มยาของพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นสุข มหาบพิตรเคยได้สดับหรือไม่ว่า มีผู้ทูลถามตามลัทธิของตน พระพุทธเจ้าก็ทรงแก้ได้สิ้น ? ”
“ เคยได้สดับ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เทพยดามนุษย์ที่ได้สดับการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ดื่มโอสถคือพระธรรมแล้ว ก็ไม่แก่ไม่ตาย ได้ถูกต้องนิพพานแล้วก็ดับทุกข์ร้อนทั้งปวง ขอถวายพระพร ”

“ ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาอมฤต ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่ กายคตาสติ ที่เทพยดามนุษย์ได้ดื่มแล้ว ก็หลุดพ้นจากการเกิด แก่ ตาย โศกเศร้า รำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ ทั้งสิ้น เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นประชุมชนเกิดโรคต่างๆ จึงได้ทรงตั้งตลาดยาอมฤตคือไม่รู้จักตายไว้ขอถวายพระพร ”

“ ข้อนี้ก็สมควรแล้ว พระนาเสน ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดรัตนะ ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่ ศีลรัตนะ สมาธิรัตนะ ปัญญารัตนะ วิมุตติรัตนะ วิมุตติญาณทัสสนรัตนะ ปฏิสัมภิทารัตนะ โพชฌงครัตนะ อันทำให้โลกทั้งสิ้นสว่างไสว ศีลรัตนะ นั้นได้แก่อะไร...ได้แก่ปาฏิโมกข์สังวรศีล อินทรีย์สังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิสิตศีล จูฬศีล มัชฌิมศีล มฺหาศีล มรรคศีล ผลศีล สมาธิรัตนะ นั้นได้แก่ สมาธิอันมีทั้งวิตกวิจาร ๑ สมาธิอันไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๑ สมาธิอันไม่มีทั้งวิตกวิจาร ๑ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑ ภิกษุได้แก้วคือสมาธินี้แล้ว ย่อมกำจัด กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เสียได้กำจัดมานะ อุทธัจจะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา กิเลสทั้งปวงเสียได้ สิ่งเหล่านั้นไม่ติดค้างอยู่ในใจเหมือนกับน้ำไม่ติดอยู่ใบบัวฉะนั้น ปัญญารัตนะนั้นได้แก่ การรู้ตามเป็นจริงซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นอกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรประพฤติ ไม่ควรประพฤติ เลว ดี ดำ ขาว ทั้งดำทั้งขาว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้ที่ได้แก้วคือปัญญาแล้วย่อมไม่ติดอยู่ในภพ ไม่ยินดีในภพ ย่อมได้ถูกต้องสิ่งที่ไม่รู้จักตายโดยเร็วพลัน วิมุตติรัตนะ ได้แก่ความเป็นพระอรหันต์อันหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง วิมุตติญาณทัสสนรัตนะได้แก่การพิจารณาเห็นซึ่งความหลุดพ้นจากกิเลส ปฏิสัมภิทารัตนะได้แก่ อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา อันทำให้แกล้วกล้าในที่ทั้งปวง โพชฌงครัตนะ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดสิ่งทั้งปวง ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ได้แก่พระพุทธวจนะอันประกอบด้วยองค์ ๙ และพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ พระสังฆรัตนะ ชาติสมบัติ โภคสมบัติ อายุสมบัติ อาโรคยสมบัติ วัณณสมบัติ ปัญญาสมบัติ ญาณสมบัติ มานุสิกสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ มีอยู่ในตลาดนี้ทั้งสิ้น บุคคลย่อมซื้อเอาได้ด้วยทรัพย์คือศรัทธาผู้ซื้อเอาสมบัติเหล่านี้ได้ด้วยทรัพย์คือศรัทธาก็มีความสุขตลอดไป

อุปมาธรรมนคร

ขอถวายพระพร ในธรรมนครของพระพุทธเจ้านั้น มีแต่บุคคลผู้วิเศษทั้งนั้น คือมีแต่พระธรรมกถึก พระวินัยธร พระผู้ทรงพระสูตร พระผู้ทรงพระอภิธรรม พระผู้ทรงชาดก พระผู้ทรงนิกายทั้ง ๕ พระผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ยินดีในโพชฌงคภาวนา เป็นพระวิปัสสนา เป็นผู้ประกอบประโยชน์ของตน และผู้อยู่ในป่าช้า ผู้อยู่ตามลอมฟาง ผู้ถือธุดงค์ต่างๆ ผู้ได้สำเร็จมรรคผลคุณวิเศษต่างๆ ทั้งนั้น ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอาสวะ ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ย่อมอยู่ในธรรมนคร ผู้ไกลจากกิเลส ผู้พ้นจากิเลส ผู้เจริญฌาน ผู้มีเครื่องนุ่งห่มเศร้าหมอง ผู้ยินดีอยู่ในป่าก็มีอยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ไม่นอนได้แต่นั่ง ผู้อยู่ในป่าช้า ผู้มีแต่ยืนกับเดิน ผู้ใช้ผ้าบังสุกุลก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ใช้เฉพาะไตรจีวรมีพระธรรมขันธ์เป็นที่ ๔ ผู้ยินดีในอาสนะเดียว ผู้รู้แจ้ง ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ยินดีในฌาน ผู้มีจิตสงบ ผู้มีจิตตั้งมั่น ผู้ปรารถนาความไม่มีสิ่งใด ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ได้มรรคผล ผู้ยังศึกษาอยู่ ผู้ยังหวังผลสูงสุดอยู่ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน ผู้ยินดีในโพชฌงคภาวนา ผู้เห็นแจ้งธรรมต่างๆ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในสมาธิภาวนาประกอบสัมมัปปธานเนืองๆ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้สำเร็จอภิญญา ผู้ยินดีในปีติและโคจร ผู้เที่ยวไปในอากาศ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้ทอดจักษุลงเบื้องต่ำ ผู้พูดน้อย ผู้สำรวมรักษาทวาร ผู้ฝึกตนดี ผู้มีธรรมสูงสุด ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ผู้สำเร็จวิชชา ๓ อภิญญา ๖ อิทธิฤทธิ์ ปัญญา ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ขอถวายพระพร พระภิกษุทั้งหลายผู้ทรงญาณอันประเสริญหาประมาณมิได้ ผู้ไม่มีเครื่องข้อง ผู้มีคุณชั่งไม่ได้ ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณและยศ ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงกำจัด ผู้ทรงเชาว์ ผู้ทรงฤทธิ์ ผู้ทรงแสงสว่าง ผู้ทรงมติ ผู้ทรงวิมุตติ ผู้ทรงธรรม ผู้ทรงพระธรรมจักร ผู้สำเร็จปัญญา เรียกว่า “เป็นธรรมเสนาบดี” ในธรรมนคร พระภิกษุทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ผู้มีเวสารัชชญาณ ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณ ผู้เข้าใกล้ได้ยาก ผู้เที่ยวไปไม่มีห่วง ผู้ทำแผ่นดินให้ไหว ลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ได้ ผู้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้เรียกว่า “ธรรมปุโรหิต” ในธรรมนคร พวกประพฤติธุดงค์ พวกมักน้อย พวกสันโดษ พวกเกลียดการแสวงหาที่ไม่ชอบธรรม พวกถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ผู้เกลียดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้อยู่ในที่สงัด ผู้ไม่ห่วงใยในกายและชีวิต ผู้ถึงพระอรหันต์ผู้ไม่ทิ้งธุดงค์ เรียกว่า “ธัมมักขทัสสนา” คือเป็นผู้ว่ากล่าวผู้น้อย ผู้ใหญ่อยู่ในธรรมนคร ผู้บริสุทธิ์ ผู้ฉลาดในการตายการเกิด ผู้ได้ทิพจักขุ เรียกว่า “พวกโชตกา” คือพวกนั่งยามตามไฟ ตรวจตราไปในธรรมนคร พวกเป็นพหูสูตร มีอาคม ทรงธรรมวินัย ทรงมาติกา ฉลาดในอักขระน้อยใหญ่และเสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น ผู้ทรงไว้ซึ่งศาสนาประกอบด้วยองค์ ๙ เรียกว่า “ธรรมรักขา” คือผู้รักษาธรรมในธรรมนคร ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เรียกว่า “รูปทักขา” คือเป็นคนทายลักษณะในธรรมนคร ผู้สำเร็จอริยสัจ ๔ เรียกว่า “ผลาปณิกา” คือชาวร้านขายดอกไม้ในธรรมนคร ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเรียกว่า “คันธาปณิกา” คือชาวร้านขายของหอมในธรรมนคร ผู้ยินดีในพระธรรม ผู้ถือธุดงค์ ผู้มั่นในกถาวัตถุ ๑๐ เรียกว่า “นักดื่ม” ในธรรมนคร ผู้ประกอบความเพียรเพื่อป้องกันกิเลสเรียกว่า “ผู้รักษานคร” ในธรรมนคร ผู้บอกกล่าวสั่งสอนซึ่งธรรมเรียกว่า “ธัมมาปณิก” ผู้ออกตลาดพระธรรมในธรรมนคร ผู้กินพระธรรม ทรงไว้ซึ่งพระธรรมคำสอนมาก ผู้แทงตลอดซึ่งลักษณะแห่งสระ พยัญชนะในพระธรรม ผู้รู้แจ้งพระธรรม เรียกว่า “ธรรมเศรษฐี” ในธรรมนคร ผู้แทงตลอดซึ่งการแสดงธรรมอย่างสูง ผู้สะสม ผู้แจก ผู้แสดงออกซึ่งอารมณ์ ผู้สำเร็จคุณคือการศึกษา เรียกว่า “อิสสรธัมมิกา” เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงสร้างธรรมนครไว้ดีอย่างนี้แล้ว จึงทำให้รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ เหมือนกับเมื่อเห็นนครมีอยู่ก็ต้องรู้ว่านายช่างผู้สร้างนครก็ต้องมีอยู่ฉะนั้น ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระภิกษุทั้งหลายผู้มีกำลังปัญญาดีอย่างพระผู้เป็นเจ้า อาจสร้างธรรมนครได้ แต่ยังเชื่อได้ยากว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาลูกคลื่นในมหาสมุทร

“ ขอถวายพระพร มหาสมุทรย่อมลึกตามลำดับ ทรงไว้ซึ่งทรายประมาณมิได้ เกลื่อนกล่นไปด้วยปลาติมิติ ปลามิงคละ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งนาค ครุฑ และผีเสื้อน้ำเป็นต้น เมื่อมีปลาใหญ่จะแสดงกำลังของตนก็ผุดขึ้นมาทำให้มหาสมุทรตีฟองนองละลอก คนได้เห็นแล้วก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่ามีปลาใหญ่อยู่ในมหาสมุทรนี้ฉันใด มหาสมุทรคือโลกนี้ ก็ลึกไปตามลำดับเป็นที่ขังน้ำ คือราคะ โทสะ โมหะ หาประมาณมิได้ เกลื่อนกล่นด้วยพาลปุถุชน แออัดรกรุงรังด้วยกิเลส ล้อมไว้ด้วยข่ายคือทิฏฐิ เป็นที่ไหลไปแห่งกระแสน้ำคือตัณหา สล้างสลอนด้วยธงชัยคือมานะ เร่าร้อนด้วยไฟ ๓ กอง มืดด้วยความไม่รู้ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งคนดีคนชั่วทั้งสิ้น มีกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร อาชีวก ปัณฑรัค์ ปริพาชก นิครนถ์ และต่างๆ หาประมาณมิได้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้ว ก็ทำให้โลกสะเทื้อนสะท้านด้วยลูกคลื่นคือพระธรรม เปลื้องสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุคติทั้งปวง ประทานความไม่มีภัย ความไม่รู้จักตาย และยาแก้พิษ ยาแก้โรคต่างๆ ทำให้โลกไปถึงที่ปลอดภัย ทำให้โลกไม่มีมลทิน ปราศจากมลทิน ทำให้โลกขาว ฝึกโลก ทำให้โลกสงบ ทำให้โลกตั้งอยู่ในปฏิสัมภิทาทั้งปวง ตลอดถึงหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ทรงแสดงลูกคลื่นคือพระธรรมว่าอันนี้เป็นทุกขอริยสัจ ผู้ได้เห็นลูกคลื่นคือพระธรรมแล้วได้สำเร็จโสดาปัตติผลก็มี สำเร็จสกิทาคามีผลก็มี สำเร็จอนาคามีผลก็มี สำเร็จอรหัตตผลก็มี ถือศีลก็มี เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็มี ได้เพียงศรัทธาเลื่อมใสก็มี เหมือนครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงทุกขสัจที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ในดาวดึงส์สวรรค์ฉะนั้น คือในคราวนั้น ด้วยกำลังลูกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้มีเทวดาถึง ๘๐ โกฏิ ได้ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีมลทินว่า “สิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งสิ้น” พวกใดได้เห็นลูกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ถึงซึ่งความตกลงใจ พวกนั้นย่อมได้คุณวิเศษยิ่งอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงสมุทัยสัจก็ทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกกระเพื่อม ทำให้เกิดละลอกคลื่นคือพระธรรม ดังคราวทรงแสดงสมุทัยสัจที่ปาสาณกเจดีย์เป็นตัวอย่าง คือในคราวนั้น ด้วยกำลังละลอกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ทำให้เทพยดามนุษย์ ๑๔ โกฏิ ได้ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีมลทินว่า “ทุกสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งนั้น” พวกใดได้เห็นละลอกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงใจ พวกนั้นก็ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงนิโรธสัจก็ทรงทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกกระเพื่อม ทำให้เกิดลูกคลื่นคือพระธรรม เหมือนครั้งทรงแสดงนิโรธสัจคราวเสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ คือในคราวนั้นมีผู้ได้สำเร็จธรรมจักษุถึง ๓๐ โกฏิ ด้วยกำลังลูกคลื่นคือกำลังของพระพุทธเจ้า พวกใดได้เห็นลูกคลื่นคือกำลังของพระพุทธเจ้าแล้วถึงความตกลงใจพวกนั้นก็ได้คุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนั้น ส่วนในบัดนี้ พระสาวกเหล่าใดของพระพุทธเจ้า ตัดเครื่องผูกได้แล้ว กำจัดราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว มีใจบริสุทธิ์แล้ว มีใจข้ามไปได้ดีแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว พระสาวกเหล่านั้น ก็ชื่อว่าถึงความสงบอย่างเยี่ยม ด้วยกำลังลูกคลื่นคือพระธรรม ด้วยเหตุการณ์อันนี้ ด้วยอนุมานอันนี้แหละ จึงควรทราบว่า พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ขอมหาบพิตรจงทรงจำไว้ว่า พวกที่ได้เห็นลูกคลื่นในสาครก็รู้ด้วยอนุมานว่า สาครนั้นจักต้องเป็นของกว้างใหญ่ฉันใด ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นลูกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าผู้กำจัดความเศร้าโศกแล้ว ผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ผู้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว ผู้เปลื้องการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภพได้แล้ว ก็รู้ได้ว่า พระพุทธเจ้าผู้ทำให้เกิดลูกคลื่นคือพระธรรมจักต้องเป็นผู้ล้ำเลิศในโลก ดังนี้ ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน โยมเคยได้ฟังมาว่าพวกฤาษีภายนอก ย่อมทำให้โลกนี้กับเทวโลกหวั่นไหวได้ แสดงกำลังฤทธิ์ก็ได้ จึงยากที่จะเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาพระยาเขาหิมพานต์

“ ขอถวายพระพร พระยาเขาหิมพานต์ประกอบด้วยระเบียบแห่งยอดเขา เงื้อมเขาล้วนเป็นศิลา ตั้งอยู่ในประเทศชื่อว่า “อชปถะ สังกุปถะ วลปถะ และเปตตปตะ” เป็นที่อาศัยอยู่แห่งตระกูลช้างฉัททันต์ ล้อมไปด้วยต้นไม้เครือไม้ อันปกคลุมเป็นสุมทุมต้นพฤกษาประดับประดาด้วยโตรกตรอกซอกเหวเขา มีต้นไม้เครือไม้นานาประการ ใหญ่สูงกว้างขวางดังท้องฟ้า เต็มไปด้วยต้นไม้ดอก ต้นไม้ผล เกลื่อนกล่นไปด้วยสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งน้ำคือซอกเขาลำเนาธาร อันมีน้ำเย็นใสสบายดี ประดับประดาไปด้วยเครื่องแวดล้อมคือหมู่สัตว์ต่างๆ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่คนธรรพ์ เป็นที่เที่ยวไปมาแห่งวิชาธรและสัตว์มีปีกต่างๆ เป็นที่อาศัยอยู่แห่ง ครุฑ นาค อสูร กุมภัณฑ์ และยักษ์ทั้งหลาย และเป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่สัตว์ร้ายนานาประการ ทั้งเต็มไปด้วยรากไม้ผลไม้ที่เป็นยา ทั้งมากไปด้วยเครื่องหอมมีจันทร์แดง กฤษณา กะลัมพัก เป็นต้น เป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งที่มีกลิ่นหอมทั้งปวง มีภูเขา ล้อมรอบ คือ เขาตรีกูฏ เขาศิริกูฏ เขาไกรลาส เขาสุมนกูฏ เขาจิตตกูฏ เขายุคันธร แลดูสูงขึ้นไปเป็นชั้นเหมือนกับก้อนเมฆในวันแรม หรือเหมือนกับดอกอัญชันสีเขียวดูเป็นสีคราม สีม่วง สีหม่น บางแห่งก็เหมือนสีกายแห่งพญานาคอันเขียวดำ หรือเหมือนกับพยับแดดในเดือน ๕ มนุษย์ทั้งหลายเห็นยอดเขานั้นตั้นแต่ไกลก็เข้าใจด้วยอนุมานว่า พระยาเขาหิมพานต์มีอยู่ฉันใด ภูเขาใหญ่คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า อันพัวพันไว้ด้วยอารมณ์ คือฌานและธรรม มรรคผลเป็นเอนก เป็นที่อาศัยอยู่แห่งยอดเขา เงื้อมเขาอันว่างเปล่าอันไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง อันมีผลคือพระธรรมกถึก พระวินัยธร พระผู้ทรงพระสูตร พระผู้ทรงพระอภิธรรม เป็นที่อาศัยอยู่แห่งกุศลคือพระอรหันต์ เป็นที่เที่ยวไปมาแห่งพระอริยเจ้าผู้ได้มรรคผล เป็นที่อาศัยอยู่แห่งผู้เข้าใกล้ได้ยากด้วยศีลธรรมคือผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ผู้ถือบิณฑบาตเป็นข้อวัตร ผู้มักน้อย ผู้ถือปฏิสัมภิทา ๔ เวสารัชชญาณ ๔ และผู้เลิศด้วยปัญญา เป็นต้น เกลื่อนกล่นด้วยยาถ่ายโรค ยาแก้พิษ ยารักษาไข้ เป็นบ่อเกิดแห่งของหอมทั้งปวง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สติปัฏฐาน สันโดษ ห้อมล้อมด้วยภูเขาอันประเสริฐคือ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ล้วนแต่เป็นภูเขาธรรมสูงๆ ทั้งนั้น ส่วนภูเขาธรรมที่สูงยิ่งก็คือพระนิพพาน อันไม่มีธุลีมลทิน อันขาวผ่อง ไม่มีสิ่งใดถูกต้อง เป็นที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง เป็นที่สักการะเคารพนับถือยิ่งของเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย ภูเขาธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ด้วยภูเขาธรรมนั้นแหละทำให้รู้ด้วยอนุมานว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แน่ ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานมาแล้วก็ดี พระศาสนาของพระองค์อันไม่หวั่นไหว อันแพร่หลายดีก็ยังมีอยู่ ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลได้เห็นยอดภูเขาอันสูงเยี่ยมเทียมเมฆก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่า ภูเขาใหญ่ในป่าหิมพานต์นั้นก็มีอยู่ฉันใด บุคคลได้เห็นธรรมบรรพตคีรี ภูเขาธรรมของพระพุทธเจ้าอันเป็นที่เยือกเย็นไม่เป็นที่ขังทุกข์ แล้วก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่า พระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศนั้นจักมีอยู่แน่ ดังนี้ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน พวกศาสนาภายนอกเขาก็แสดงมหาสมุทร โลก และธรรมคีรีได้โดยเอนกวิธี เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะเชื่อได้ว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ด้วยเหตุนี้ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาเมฆฝนห่าใหญ่

“ ขอถวายพระพร เมื่อเมฆใหญ่อันจะตั้งขึ้นมาในทิศทั้ง ๔ จะให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมานั้น ย่อมมีเครื่องหมายเป็นสำคัญ คือเบื้องบนอากาศเป็นกลุ่มเป็นก้อนห้อยย้อยเหมือนสร้อยสังวาลย์ ทั้งมีลมใหญ่พัดผ่านมา ประชาชนทั้งหลายก็ดีใจ ช้าง ม้า สกุณาก็บินร่อนชื่นชม สายฟ้าก็แปลบปลาบทั่วทิศทั้งหลาย ก้อนเมฆก็มีมากมายกว่าหมื่นพัน มีสีสันต่างๆ กัน บ้างเขียว บ้างเหลือง บ้างแดง บ้างขาว บ้างเลื่อม มีสีอ่อนแซมซ้อนสลับกัน อึงมี่กึกก้องไปด้วยเสียงฟ้าร้องเป็นอัศจรรย์ เมื่อฝนห่าใหญ่ตกลงมาก็มีน้ำฝนเต็มไปทั้งโตรกตรอกซอกเขาและห้วยหนองคลองบึง ต้นไม้ใหญ่น้อยก็เขียวชอุ่มเป็นพุ่มงาม คนทั้งหลายก็อนุมานว่าฝนครั้งนี้เป็นฝนห่าใหญ่ฉันใด   อันว่าเมฆใหญ่คือพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อจะตกลงมาก็มีอาการเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็ทำให้มนุษย์โลก เทวโลก ชื่นชมยินดีด้วยห่าฝนพระธรรม ทำให้จิตใจของผู้ได้มรรคผลเกิดความอภิรมย์ยิ่ง กำจัดเสียซึ่งกิเลสตัณหา เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน บางพวกก็ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ปาฏิโมกข์สังวรศีล และมรรคผลชั้นสูงๆ เป็นลำดับขึ้นไป จึงควรรู้ด้วยอนุมานว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่าคนทั้งหลายได้เห็นแผ่นดินชุ่มเย็นดี มีของสดเขียวเกิดขึ้น มีน้ำมาก ก็รู้ด้วยอนุมานว่า แผ่นดินดับร้อนด้วยฝนห่าใหญ่ฉันใด ผู้มีปัญญาได้เห็นเทพยดามนุษย์ร่าเริงบันเทิงใจ ก็รู้ด้วยอนุมานว่า เอิบอิ่มด้วยฝนห่าใหญ่ คือพระธรรมฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน เมฆใหญ่ คือพระธรรม อันตกลงมากำจัดเสียซึ่งอวิชชานี้ก็เป็นการดีแล้ว แต่ขอจงแสดงซึ่งกำลังของพระพุทธเจ้า ตามเหตุการณ์ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมารอยพญาช้าง

“ ขอถวายพระพร พญาช้างตัวประเสริฐอันสูง ๗ ศอก ยาว ๙ ศอก มีลักษณะดีถึง ๑๐ แห่ง เป็นเจ้าแห่งฝูงช้างอันมีในธรณี มีตาขาว หางขาว เล็บขาว เหมือนกับสีหมอก และเหมือนกับเศวตฉัตร เหมือนกับวิมานขาว มีกายเต็มไม่บกพร่อง มีอายตนะครบบริบูรณ์ ดูงามเหมือนยอดเขา อันมีหมู่ไม้ขึ้นสะพรั่ง พญาช้างนั้นอาจกำจัดข้าศึกทั้งปวงได้ มีกายใหญ่โต มีงางอกงามดังงอนไถ มีฤกธิ์ กล้าหาญ ชำนาญในการที่จะทนเที่ยวไปในที่ต่างๆ เป็นพญาช้างหนุ่ม แต่ละเสียซึ่งที่อยู่ของตน เที่ยวไปแสวงหาอาหารในป่าตามสบายใจ เวลาคนทั้งหลายได้เห็นรอยก็รู้ด้วยอนุมานว่าเป็นรอยพญาช้างฉันใด พระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับช้างฉันนั้น เพราะเหตุว่ารอยพระพุทธเจ้ามีลักษณะประเสริฐถึง ๑๐๘ ประการ พระพุทธเจ้านั้นเปรียบด้วยพญาราชสีห์ก็ได้ เปรียบด้วยโคอสุภราชก็ได้ เพราะพระองค์ทรงพร้อมด้วยพระคุณธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงสละพระนครกบิลพัสดุ์อันเป็นพระนครที่น่ายินดีเสีย แล้วเที่ยวแสวงหาทางธรรม ได้สำเร็จพระธรรมแล้วก็ทรงแสดงรอยพระบาท คือ โพชฌงค์ ๗ ไว้ รอยพระบาทเหล่านั้นล้วนแต่เป็นรอยล้ำเลิศ ทำให้เกิดผลอันเลิศนานาประการ ด้วยเหตุการณ์อันนี้ ก็ควรรู้ด้วยอนุมานว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่เป็นแน่ ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน น่าอัศจรรย์ เพราะรอยพญาช้างไม่ตั้งอยู่นาน ปรากฏอยู่เพียง ๕ - ๖ เดือนเท่านั้น นอกนั้นลบเลือนไป ส่วนรอยพระบาทคือพระธรรมของพระพุทธเจ้ายังปรากฏอยู่ในโลกกระทั่งทุกวันนี้ แต่ขอจงแสดงซึ่งกำลังของพระพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นไปอีกตามเหตุการณ์ ”

อุปมาพญาราชสีห์

“ ขอถวายพระพร พญาราชสีห์ไม่มีความสะดุ้งกลัวสิ่งใดฉันใด พระพุทธเจ้าก็ไม่สะดุ้งกลัวต่อสิ่งใดฉันนั้น พญาราชสีห์เป็นใหญ่กว่าสัตว์ทั้งหลายฉันใด พระพุทธเจ้าก็เป็นใหญ่กว่าคณาจารย์ทั้งหมดฉันนั้น เสียงพญาราชสีห์ย่อมเป็นที่สะดุ้งกลัวของสัตว์เหล่าอื่น แต่เป็นที่ยินดีของหมู่ราชสีห์ด้วยกันฉันใด เสียงแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นที่สะดุ้งกลัวแก่พวกเจ้าลัทธิ แต่ทำให้เกิดความโสมนัสยินดีแก่พวกมีความเลื่อมใสศรัทธาฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ ก็ควรทราบว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งคุณอันหาที่สุดมิได้ ขอให้มหาบพิตรทรงเข้าพระทัยเถิดว่าเมื่อคนทั้งหลายได้เห็นเนื้อและนกสะดุ้งกลัวด้วยเสียงราชสีห์ ก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่าพวกเดียรถีย์ก็สะดุ้งกลัวพระธรรมของพระพุทธเจ้าฉันนั้น ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลือพระสุรเสียง คือการทรงแสดงพระธรรมไว้ให้พวกเดียรถีย์ สะดุ้งกลัวกระทั่งทุกวันนี้ แต่ขอจงแสดงกำลังของพระพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาแม่น้ำใหญ่

“ ขอถวายพระพร แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ย่อมไหลมาจากป่าหิมพานต์ พัดเอาสัตว์และสิ่งของต่างๆ ลงไปสู่มหาสมุทร คนทั้งหลายก็รู้ว่าเป็นกระแสแม่น้ำใหญ่ฉันใด ธรรมนทีของพระพุทธเจ้าก็พัดเอาหมู่สัตว์ให้ไหลเข้าไปสู่สาครอันประเสริฐคือนิพพานฉันนั้น ด้วยเหตุอันนี้ก็ควรรู้ด้วยอนุมานว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ประกอบด้วยพระคุณธรรมทั้งปวง ขอมหาบพิตรจงทรงจำไว้ว่า เมื่อบุคคลได้เห็นเปือกตมโคลนเลนติดค้างอยู่ตามยอดไม้ก็รู้ได้ว่ามีน้ำใหญ่ท่วมมาฉันใด เวลาได้เห็นเทพยดามนุษย์ ผู้ทิ้งเปือกตมคือกิเลสไว้ในโลกก็ควรรู้ได้ด้วยอุปมาว่า พระธรรมนทีอันใหญ่ของพระพุทธเจ้าได้พัดพาเอาสัตวโลกไปฉันนั้น ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระธรรมนทีของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงตกแต่งไว้เพื่อให้พัดพาเอากิเลสไปมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ ขอถวายพระพร ”
“ ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมากลิ่นดอกไม้

“ ขอถวายพระพร เมื่อลมพัดเอากลิ่นดอกไม้ไปถึงไหน ก็หอมไปถึงนั้น แต่ว่าหอมไปได้ตามลมเท่านั้น หอมทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลม ด้วยเหตุนี้ก็ควรรู้ด้วยอนุมานว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ ขอได้โปรดใส่พระทัยว่าคนทั้งหลายได้กลิ่นหอมมาตามลม ก็รู้ด้วยอนุมานว่าเป็นกลิ่นหอมดอกไม้ฉันใด ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้กลิ่นหอมคือศีล ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่าพระพุทธเจ้าผู้เยี่ยมมีอยู่ ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่อาจแสดงให้สิ้นสุดกำลังของพระพุทธเจ้าได้ด้วยเหตุตั้งพัน จะอ้างเหตุอย่างไรก็ได้ เพราะว่าพระคุณธรรมของพระพุทธเจ้ามีมากหาประมาณมิได้ ข้อนี้เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ผู้ฉลาดเมื่อดอกไม้มีอยู่มาก จะร้อยให้เป็นดอกไม้อย่างไรก็ได้ฉันนั้น ขอถวายพระพร ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน เท่าที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงกำลังของพระพุทธเจ้ามานี้ ก็เป็นที่พอใจของโยมแล้ว โยมสบายใจด้วยการแก้ปัญหาอันวิจิตรยิ่งแล้ว ”

อธิบาย ขอแปลคำจากอุปมา ตลาดดอกไม้ ดังต่อไปนี้ว่า
อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
อนัตตสัญญา หมายความว่าไม่มีตัวตน
อสุภสัญญา หมายความไม่งามแห่งกาย
อาทีนวสัญญา หมายโทษแห่งกายคือความเจ็บป่วย เป็นต้น
ปหานสัญญา หมายเพื่อละความยึดถือ
วิราคสัญญา หมายละความกำหนัดยินดี
นิโรธสัญญา หมายความดับตัณหา
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา หมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง
สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา หมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งหลาย
อัฏฐิกสัญญา หมายร่างที่มีแต่กระดูก
ปุฬุวกสัญญา หมายซากศพที่มีหมู่หนอนชอนไช
วินีลกสัญญา หมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
วิจฉิททกสัญญา หมายซากศพที่ขาดเป็นท่อน
วิปุพพกสัญญา หมายซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
อุทธุมาตกสัญญา หมายซากศพที่พองขึ้นอืด
วิกขายิตกสัญญา หมายซากศพที่ถูกสัตว์แทะกินไปบ้างแล้ว
หตวิกขิตตกสัญญา หมายซากศพที่เละเทะกระจัดกระจาย
โลหิตกสัญญา หมายซากศพที่เปลอะเปื้อนด้วยเลือด

ส่วนในโลกุตตรผล อันมี
สุญญตผลสมาบัติ คือสมาบัติที่ว่างจากกิเลสเป็นผล
อนิมิตตผลสมาบัติ คือสมาบัติที่ไม่มีนิมิตจากกิเลสเป็นผล
อัปปณิหิตผลสมาบัติ คือสมาบัติที่ไม่ปรารถนากิเลสเป็นผล
อเนญชผลสมาบัติ คือสมาบัติที่ไม่หวั่นไหวจากกิเลสเป็นผล
อุเบกขาผลสมาบัติ คือสมาบัติที่วางเฉยจากกิเลสเป็นผล

และในข้อ สมาธิรัตนะ แปลคำว่า
สุญญตสมาธิ คือสมาธิที่พิจารณาอนัตตาว่างจากตัวตน
อนิมิตตสมาธิ คือสมาธิที่พิจารณาอนิจจัง ไม่ถือนิมิตในร่างกาย
อัปปณิหิตสมาธิ คือสมาธิที่พิจารณาทุกขังไม่ปรารถนาในร่างกาย

และคำว่า
กามวิตก คือคิดในกามคุณ
พยาบาทวิตก คือคิดปองร้ายผู้อื่น
วิหิงสาวิตก คือคิดเบียดเบียนผู้อื่น ดังนี้

คำว่า
พระพุทธวจนะ หรือ พระไตรปิฏก อันประกอบด้วยองค์ ๙ คือ
สุตตะ ได้แก่อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรต่างๆ
เคยยะ คือพระสูตรที่ประกอบด้วยคาถาทั้งหลาย
เวยยากรณะ คือพระอภิธรรมปิฏกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธวจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในองค์ ๘ ได้ชื่อว่าเวยยากรณะทั้งหมด
คาถา คือพระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต
อุทาน คือพระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ
อิติวุตตกะ คือพระสูตร ๑๑๐ สูตรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้”
ชาดก เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง
อัพภูตธรรม คือพระสูตรที่ประกอบพร้อมด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด
เวทัลละ คือระเบียบคำที่ผู้ถามได้ความรู้แจ้งและความยินดี แล้วถามต่อๆ ขึ้นไป


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น