มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 34 : อุปมาปัญหา โฆรสวรรคที่ ๑ อุปมาองค์ ๑ แห่งกระแต จนถึง องค์ ๒ แห่งวานร, ลาวุลตาวรรคที่ ๒ องค์ ๑ แห่งเครือน้ำเต้า จนถึง องค์ ๕ แห่งมหาสมุทร, จักกวัตติวรรคที่ ๓ องค์ ๕ แห่งแผ่นดิน จนถึง องค์ ๕ แห่งภูเขา
ตอนที่ ๓๔
อุปมาองค์ ๑ แห่งกระแต
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งกระแตได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดากระแต เมื่อพบศัตรูย่อมพองหางขึ้นให้ใหญ่ต่อสู้กับศัตรูฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น เมื่อเกิดศัตรูคือกิเลสขึ้นก็พองหางคือสติปัฏฐาน ให้ใหญ่ขึ้นกั้นกางกิเลสทั้งปวงด้วยหาง คือสติปัฏฐานอันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งกระแต ข้อนี้สมกับคำของพระจุฬปันถกว่า “เมื่อกิเลสอันจะกำจัดคุณสมณะปรากฏขึ้นในเวลาใด เวลานั้นพระโยคาวจรก็พองหาง คือสติปัฏฐานขึ้นบ่อยๆ ฉันนั้น”
องค์ ๑ แห่งแม่เสือเหลือง
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแม่เสือเหลืองนั้นคืออย่างไร ? ”“ขอถวายพระพร ธรรมดาแม่เสือเหลืองพอมีท้องแล้วก็ไม่เข้าใกล้ตัวผู้อีกฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น พระโยคาวจรได้เห็นปฏิสนธิ คือความเกิด ความอยู่ในครรภ์ ความจุติ ความแตก ความสิ้น ความวินาศ ทุกขภัยในสงสารแล้ว ก็ควรกระทำโยนิโสมนสิการด้วยคิดว่า เราจักไม่เกิดในภพทั้งหลายอีก อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งแม่เสือเหลือง ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ธนิยโคปาลสูตร ว่า “ธรรมดาโคผู้สลัดเครื่องผูกไว้ ทำลายเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว ย่อมไม่กลับไปสู่เครื่องผูกอีกฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นฉันนั้น คือควรคิดว่า เราจักไม่ยอมเกิดอีก” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งเสือเหลือง
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งเสือเหลืองนั้นได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดาว่า เสือเหลือง ย่อมไปแอบซุ่มอยู่ตามกอหญ้า พุ่มไม้ ซอกเขา ในป่าแล้วก็จับเนื้อฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือพระโยคาวจรย่อมไปหาที่อยู่ในที่สงัด อันได้แก่ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าใหญ่ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อได้ที่สงัดอย่างนั้นก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖ ในไม่ช้า อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเสือเหลือง ข้อนี้สมกับคำของ พระเถระผู้ทำสังคายนาทั้งหลาย ว่า “เสือเหลืองแอบซุ่มจับเนื้อฉันใด พระพุทธบุตรผู้ประกอบความเพียร ผู้เจริญวิปัสสนา ก็เข้าไปอยู่ในป่าแล้วถือเอาซึ่งผลอันสูงสุดฉะนั้น”
ธรรมดาเสือเหลืองย่อมไม่กินเนื้อที่ล้มลงข้างซ้ายฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือพระโยคาวจรย่อมไม่ฉันอาหารที่ได้ด้วยผิดธรรมวินัย คือได้ด้วยการลวงโลก การประจบ การพูดเลียบเคียง การพูดเหยียดผู้อื่น การแลกลาภด้วยลาภ หรือด้วยการให้ไม้แก่น ให้ใบไม้ ให้ดอกไม้ ให้ผลไม้ ให้ดินเหนียว ให้ผลผัดหน้า ให้เครื่องถูตัว ให้ไม้สีฟัน ให้น้ำล้างหน้า ให้ข้าวต้ม ให้แกงถั่ว ให้ของแลกเปลี่ยนแก่ชาวบ้าน หรือรับใช้ชาวบ้าน หรือเป็นหมอ เป็นทูต เป็นผู้รับส่งข่าว หรือให้อาหารแลกอาหาร หรือวัตถุวิชา เขตตวิชา อัควิชา อย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับเสือเหลืองไม่กินเนื้อที่ล้มลงข้างซ้าย อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเสือเหลือง ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “พระภิกษุคิดว่า ถ้าเราฉันอาหารที่เกิดจากการขอด้วยวาจา เราก็จะมีโทษ มีผู้ติเตียน ถึงไส้ของเราจะทะลักออกมาภายนอกก็ตามเราก็จักไม่ทำลายอาชีวปาริสุทธิศีล (เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ) เป็นอันขาด ” คำนี้ พระอุปเสนวังคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า “ถึงไส้ใหญ่ของเราจักทะลักออกมาข้างนอกก็ตาม เราก็จะไม่ให้เสียอาชีวปาริสุทธิศีล ไม่ประพฤติอเนสกรรม ทำลายอาชีวะนั้นเป็นอันขาด” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งเต่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งเต่า ได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เต่า ย่อมอยู่ในน้ำฉันใด พระโยคาวจรก็อยู่ด้วยเมตตาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเต่า
ธรรมดาเต่าเมื่อโผล่ขึ้นจากน้ำ ย่อมชูศีรษะแลดูสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วจึงจมไปให้ลึกด้วยคิดว่า อย่าให้มีผู้อื่นเห็นเราฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือเมื่อกิเลสเกิดขึ้น ก็ดำลงไปในสระน้ำคือารมณ์ให้ลึก ด้วยคิดว่าอย่าให้กิเลสเห็นเราอีก อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แหงเต่า
ธรรมดาเต่าย่อมขึ้นจากน้ำมาผิงแดดฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือพระโยคาวจรเลิกจากการนั่ง การยืน การนอน การเดินแล้ว ก็ทำให้ใจร้อนในสัมมัปปธาน (ความเพียรที่ตั้งไว้ถูกต้อง) อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเต่า
ธรรมดาเต่าย่อมขุดดินลงไปอยู่ในที่เงียบฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือพระโยคาวจรทิ้งลาภ สักการะ สรรเสริญ แล้วก็เข้าป่าหาที่อยู่สงัด อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งเต่า ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนวังคันตบุตร ว่า “พระภิกษุควรอยู่ในเสนาสนะที่สงัดที่ไม่มีเสียงอึกทึก มีแต่หมู่สัตว์ร้าย เพื่อเห็นแก่ความสงัด” ดังนี้
ธรรมดาเต่าเมื่อเที่ยวไป ถ้าได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือได้ยินเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็หดเท้าหดหัวเข้าอยู่ในกระดองนิ่งอยู่เพื่อรักษาตัวฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือเมื่ออารมณ์อันน่ารักใคร่ภายนอกปรากฏ พระโยคาวจรปิดประตูระวังสำรวมใจไว้ข้างในมีสติสัมปชัญญะรักษาสมณธรรมอยู่ อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งเต่า ข้อนี้สมกับคำของพระพุทธเจ้าว่า “เต่าย่อมซ่อนอวัยวะทั้ง ๕ ไว้ในกระดองของตนฉันใด พระภิกษุก็ควรตั้งใจมิให้อยู่ในวิตก ไม่อิงอาศัยอะไร ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ติเตียนใครฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งไม้ไผ่
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งไม้ไผ่ ได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ไม้ไผ่ ย่อมอ่อนไปตามลม ไม่ขัดขืนฉันใด พระโยคาวจรก็กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า กระทำแต่สิ่งที่สมควร ไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยฉันนั้น ข้อนี้สมกับคำของ พระราหุลเถระ ว่า “ควรกระทำตามซึ่งคำในพระพุทธวจนะอันมีองค์ ๙ ประการทุกเมื่อ ควรทำแต่สิ่งที่สมควร สิ่งที่ไม่มีโทษ ควรพยายามให้ยิ่งขึ้นไป” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งแล่นธนู
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแล่งธนูได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แล่งลูกธนู คือรางหน้าไม้ที่ช่างทำดีแล้ว ย่อมตรงตลอดต้นตลอดปลายฉันใด พระโยคาวจรก็ควรตรงต่อเพื่อนพรหมจรรย์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งแล่งธนู ข้อนี้สมกับคำพระพุทธองค์ใน วิธุรปุณณกชาดก ว่า “ธีรชนควรเป็นเหมือนแล่งธนู ควรอ่อนตามลมเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทำตนเป็นข้าศึก จึงจักอยู่พระราชสำนักได้” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งกา
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งกาได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา กา ย่อมระแวงสงสัยอยู่เสมอ ย่อมขวนขวายอยู่เสมอฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คือพระโยคาวจรมีความระมัดระวังอยู่เสมอ สำรวมอินทรีย์อยู่เสมอ อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งกา
ธรรมดากาเห็นอาหารสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือซากสัตว์หรือของเดน แล้วก็ป่าวร้องพวกญาติมากินฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นฉันนั้น คือเมื่อได้ลาภโดยชอบธรรมแล้ว ควรแจกแบ่งให้เพื่อนพรหมจรรย์ อันนี้เป็นองค์ ๒ แห่งกา ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ถ้ามีผู้น้อมนำโภชนาหารให้แก่เรา เราก็แจกแบ่งเสียก่อนแล้วจึงฉัน” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งวานร
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งวานรได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา วานร เมื่อหาที่อยู่ ก็ไปหาที่อยู่อันป้องกันภัยได้ คือต้นไม้ใหญ่ ที่มีกิ่งดกหนาเงียบสงัดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นฉันนั้น คือพระโยคาวจรควรหาที่อยู่กับกัลยาณมิตร ผู้มีศีลธรรมดีงาม ผู้มีความรู้มาก ผู้รู้จักสั่งสอน อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งวานร
ธรรมดาวานรย่อมเที่ยวไปตามต้นไม้ ยืนบนต้นไม้ นั่งบนต้นไม้ นอนบนต้นไม้ อยู่บนต้นไม้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นฉันนั้น คือควรยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในป่า ควรอบรมสติปัฏฐานอยู่ในป่า อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งวานร ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ภิกษุผู้ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในป่าย่อมดูงาม เพราะป่าเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
จบโฆรสวรรคที่ ๑
ลาวุลตาวรรคที่ ๒
องค์ ๑ แห่งเครือน้ำเต้า
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งเครือน้ำเต้าได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เครือน้ำเต้า ย่อมเอางวงของตนเกาะหญ้าหรือต้นไม้เครือไม้ขึ้นไปงอกงามอยู่เบื้องบนฉันใด พระโยคาวจรผู้มุ่งความเจริญในพระอรหันต์ ก็ควรยึดหน่วงอารมณ์ด้วยใจ ขึ้นไปเจริญอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งเครือน้ำเต้า ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ธรรมดาเครือน้ำเต้าย่อมเอางวงของตนพันหญ้าหรือต้นไม้ หรือเครือไม้ แล้วขึ้นไปงอกงามอยู่เบื้องบนฉันใด พระพุทธบุตรผู้มุ่งหวังอรหัตตผล ก็ควรยึดหน่วงอารมณ์ ทำให้อเสขผล (ผลที่ไม่ต้องเป็นผู้ศึกษาอีก) เจริญฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งดอกปทุม
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งดอกปทุมได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ดอกปทุม เกิดอยู่ในน้ำ โตอยู่ในน้ำ แต่น้ำไม่ติดค้างอยู่ได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรติดอยู่ตระกูล หมู่คณะ ลาภยศ การบูชานับถือ และจตุปัจจัยที่บริโภค กับกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งดอกปทุม
ธรรมดาดอกปทุมย่อมพ้นน้ำขึ้นไปตั้งอยู่ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรครอบงำโลกทั้งสิ้น สูงขึ้นไปจากโลกแล้วอยู่ในโลกุตตรธรรมฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งดอกปทุม
ธรรมดาดอกปทุมถูกลมพัดเพียงเล็กน้อยก็ไหวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรระวังกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย ควรเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยว่าเป็นของน่ากลัวฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งดอกปทุม ข้อนี้สมกับคำของพระพุทธเจ้าว่า “ภิกษุย่อมเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย แล้วถือมั่นอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งพืช
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งพืชได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พืช ถึงมีเพียงเล็กน้อย เมื่อเขาปลูกหว่านลงในที่ดี เวลาฝนตกลงมาดี ก็ย่อมให้ผลมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปฏิบัติชอบ เพื่อให้ศีลส่งให้ได้โลกุตตรผลฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรงกแห่งพืช
ธรรมดาพืชที่เขาปลูกหว่านลงในที่บริสุทธิ์ดี ย่อมงอกขึ้นได้เร็วฉันใด จิตของพระโยคาวจรผู้อยู่ในที่สงัด ผู้อบรมสติปัฏฐานก็งอกงามขึ้นได้เร็วฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งพืช ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า “พืชอันตั้งอยู่ในที่บริสุทธิ์ดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ทำให้ผู้ปลูกหว่านดีใจฉันใด จิตของพระโยคาวจรที่บริสุทธิ์อยู่ในที่สงัด ก็งอกงามขึ้นเร็วในที่ดินอันดี คือสติปัฏฐานฉันนั้น” ดังนี้ ของถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งไม้ขานาง
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งไม้ขานางได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ไม้ขานาง ย่อมเจริญอยู่ใต้ดิน แล้วสูงขึ้นตั้ง ๑๐๐ ศอก ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรแสวงหาสมณธรรมคือสามัญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อยู่ในที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งไม้ขานาง ข้อนี้สมกับคำของ พระราหุลเถระ ว่า “ไม้ขานางมีรากหยั่งลงไปใต้ดินตั้ง ๑๐๐ ศอก เวลาถึงกาลแก่แล้ว ก็งอกขึ้นในวันเดียวตั้ง ๑๐๐ ศอกฉันใด พระโยคาวจรผู้อยู่ในที่สงัด ก็เจริญขึ้นด้วยธรรมฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งเรือ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งเรือได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เรือ ย่อมพาคนเป็นอันมากข้ามแม่น้ำไป ด้วยการพร้อมกันแห่งไม้ขนานต่างๆ เป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรข้ามโลกนี้กับทั้งเทวโลกไปด้วยความพร้อมกัน แห่งความขนานกันด้วยธรรมหลายอย่าง คือ อาจารคุณ สีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ อันนี้เป็นองค์แรกแห่งเรือ
ธรรมดาเรือย่อมสู้ลูกคลื่น สู้ลมเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสู้ลูกคลื่นคือกิเลสต่างๆ เป็นอันมาก เช่นลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ การบูชา การกราบไหว้ การนินทา สรรเสริญ ความสุข ความทุกข์ ความนับถือ ความดูหมิ่น เป็นอันมากฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเรือ
ธรรมดาเรือย่อมแล่นไปในมหาสมุทรอันกว้างลึก เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหาประมาณมิได้ มีปลาติงมิงคละ มังกร เป็นต้น ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้ใจอันขวนขวายซึ่งบารมี ที่จะข่มขี่เสียซึ่งสัญญาทั้งปวง เที่ยวไปในการรู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งสัจจะ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเรือ สมกับพระพุทธพจน์ใน สัจจสังยุตต์ อันมีในสังยุตตนิกายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะคิดก็ควรคิดว่า อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นทุกขสมุทัย อันนี้เป็นทุกขนิโรธ อันนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ เครื่องขัดข้องเรือ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งเรืออันติดหินโสโครกในมหาสมุทรนั้น ได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เครื่องขัดข้องแห่งเรือ ย่อมขัดข้องเรือไว้ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ อันมากไปด้วยละลอกคลื่น ไม่ให้ไปสู่ทิศต่างๆ ได้ฉันใด พระโยคาวจรก็มีจิตข้องอยู่ในลูกคลื่น คือราคะ โทสะ โมหะ ในเครื่องกระทบคือวิตกใหญ่ไม่ให้ไปสู่ทิศต่างๆ ได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรกแห่งเครื่องขัดข้องเรือ
ธรรมดาเครื่องขัดข้องเรือ ย่อมข้องเรือไว้ในน้ำอันลึกตั้ง ๑๐๐ ศอกก็มีฉันใด พระโยคาวจรไม่ควรข้องอยู่ในเครื่องข้อง คือ ลาภ ยศ สักการะ การกราบไหว้บูชา ควรตั้งจิตไว้ในปัจจัย พอให้ร่างกายเป็นไปได้เท่านั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเครื่องขัดข้องเรือ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “เครื่องขัดข้องเรือในมหาสมุทร ย่อมไม่ลอยอยู่ มีแต่จมอยู่ข้างใต้ฉันใด ท่านทั้งหลายอย่าข้องอยู่กับลาภสักการะ อย่าจมอยู่ในลาภสักการะฉันนั้น” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งเสากระโดง
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งเสากระโดงได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เสากระโดง ย่อมทรงไว้ซึ่งเชือกและรอกและใบเรือฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะทุกเวลาก้าวหน้า ถอยกลับ แลเหลียว คู้เหยียด ครองสังฆาฏิ บาตร จีวร ฉันดื่ม เคี้ยวลิ้ม ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง นอน ตื่น พูด นิ่ง ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งเสากระโดง ข้อนี้สมกับคำของพระพุทธเจ้าว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ อันนี้เป็นคำสั่งสอนสำหรับเธอทั้งหลาย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งนายท้ายเรือ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งต้นหนคือนายท้ายเรือได้แก่สิ่งไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ต้นหน ย่อมเอาใจใส่เรืออยู่เป็นนิจ ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ประมาทเผลอเรอฉันใด พระโยคาวจรก็ควรไม่ประมาท ควรกำหนดจิตไว้ด้วยโยนิโสมนสิการอยู่เป็นนิจ ทั้งกลางวันและกลางคืนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งต้นหน ข้อนี้ สมกับพระดำรัสของสมเด็จพระทศพลใน พระธรรมบท ว่า “เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท จงรักษาจิตของตน จงยกตนขึ้นจากหล่มเหมือนกับกุญชรที่ตกหล่ม แล้วยกตนขึ้นจากหล่มได้ฉันนั้น”
ธรรมดาต้นหนย่อมรู้สิ่งที่ดีและไม่ดีในมหาสมุทรได้สิ้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรู้จักสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล มีโทษไม่มีโทษ ควรเกี่ยวขัองไม่ควรเกี่ยวข้อง เลวดี เปรียบด้วยของดำของขาวฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งต้นหน
ธรรมดาต้นหนย่อมตั้งเข็มทิศด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นแตะต้องฉันใด พระโยคาวจรก็ควรตั้งเข็มทิศไว้ในใจ ห้ามใจไม่ให้นึกถึงสิ่งที่เป็นบาปอกุศลต่างๆ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งต้นหน ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่านึกถึงสิ่งที่เป็นบาปอกุศล อันเป็นกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกเลย” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งกรรมกร
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งกรรมกรได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดากรรมกรย่อมคิดว่า เราเป็นลูกจ้าง เราจักต้องให้ได้ค่าจ้างมาก เราจักต้องไม่ประมาทฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นฉันนั้น คือควรคิดว่า เมื่อเราพิจารณากายอันประกอบด้วยธาตุ ๔ นี้เราก็เป็นผู้ไม่ประมาทเนื่องๆ มีสติสัมปชัญญะดี มีใจแน่วแน่ เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็จักพ้นจากความเกิดแก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้า รำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ เพราะฉันนั้น เราไม่ควรจะประมาท อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งกรรมกร ข้อนี้สมกับคำของพระสารีบุตรเถระ ว่า “ขอท่านทั้งหลาย จงพิจารณากายนี้ จงกำหนดรู้กายนี้ร่ำไป จงเห็นสภาพในกายจึงจักทำให้สิ้นทุกข์ได้” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งมหาสมุทร
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งมหาสมุทรได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอยู่ร่วมกับราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ลบหลู่คุณท่าน ตระหนี่ ริษยา มายา สาไถย โกหก ความคดโกง ความทุจริต กิเลสมลทินทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรงแห่งมหาสมุทร
ธรรมดามหาสมุทรย่อมรักษาไว้ซึ่งแก้วต่างๆ คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ แก้วผลึก ไว้ไม่ให้กระจัดกระจายออกไปภายนอกได้ฉันใด พระโยคาวจรได้บรรลุมรรคผล ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนา อภิญญาแล้วก็ควรปกปิดไว้ ไม่ควรนำออกไปภายนอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งมหาสมุทร
ธรรมดามหาสมุทรย่อมอยู่ร่วมกับสัตว์ใหญ่ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้กล่าวคำอันเป็นเครื่องกำจัด ผู้มีความขัดเกลา ผู้สมบูรณ์ด้วยกิริยามารยาท ผู้เป็นลัชชี ผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้เป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือ เป็นผู้ว่ากล่าว เป็นผู้ควรแก่การว่ากล่าว ผู้ตักเตือน ผู้ติเตียนความชั่ว ผู้สั่งสอน ผู้ให้รู้แจ้ง ผู้ให้เห็นจริง ให้ถือมั่น ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งมหาสมุทร
ธรรมดามหาสมุทรย่อมเต็มด้วยน้ำไหลมาจากแม่น้ำต่างๆ หลายร้อยสาย มีแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ เป็นต้น ทั้งมีน้ำฝนตกลงมาจากอากาศ แต่น้ำเหล่านั้นก็ไม่ล้นฝั่งไปได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรแกล้งล่วงสิกขาบทเพราะเห็นแก่ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ ความนับถือ การไหว้การบูชา ตลอดถึงเหตุที่จะให้สิ้นชีวิต อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งมหาสมุทร ข้อนี้สมกับพระพุทธฎีกาที่ตรัสประทานไว้ว่า “มหาสมุทรมีน้ำเต็มฝั่ง ไม่ล้นฝั่งไปได้ฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตฉันนั้น ”
ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำ อันไหลมาจากแม่น้ำทั้งปวง มีแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ เป็นต้น อีกทั้งน้ำฝนด้วยฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอิ่มด้วยการเรียน การฟัง การทรงจำ การวินิจฉัย พระธรรมวินัย พระสูตร วิเคราะห์ นิกเขปบท บทสนธิ บทวิภัตติ ในพระพุทธศาสนาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งมหาสมุทร ข้อนี้สมกับคำของสมเด็จพระบรมสุคต ในมหาสุตตโสมชาดกว่า “ไฟนี้ไหม้หญ้าและไม้ ไฟย่อมไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื่อไฟ มหาสมุทรย่อมไม่รู้จักอิ่มด้วยน้ำฉันใด บัณฑิตทั้งหลายไม่รู้จักอิ่ม ด้วยคำอันเป็นสุภาษิตฉันนั้น” ขอถวายพระพร ”
จบลาวุตตา วรรคที่ ๒
จักกวัตติวรรคที่ ๓
องค์ ๕ แห่งแผ่นดิน
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งแผ่นดินได้แก่อะไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดาแผ่นดินถึงจะมีคนเทของที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี คือการบูร กฤษณา จันทน์ หญ้าฝรั่น เป็นต้นก็ดี เทลงไปซึ่งดี เสมหะ โลหิต เหงื่อ มันข้น น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้นก็ดี ก็เป็นอยู่เช่นนั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นเช่นนั้นในสิ่งที่น่าต้องการ คือ ลาภ ความไม่มีลาภ ยศ ความไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรกแห่งแผ่นดิน
ธรรมดาแผ่นดินย่อมปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง มีแต่อบรมอยู่ด้วยกลิ่นของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง ควรอบรมด้วยกลิ่นศีลของตนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งแผ่นดิน
ธรรมดาแผ่นดินย่อมไม่มีระหว่าง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นของหนาแน่นกว้างขวางฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีศีลอยู่เป็นนิจ อย่าได้ให้ศีลขาดวิ่น เป็นช่อง เป็นรู ให้ศีลหนาแน่นกว้างขวางอยู่ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งแผ่นดิน
ธรรมดาแผ่นดินย่อมทรงไว้ซึ่งคามนิคม นคร ชนบท ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เนื้อ นก นรชน หญิงชายไม่ย่อท้อฉันใด พระโยคาวจรถึงจะต้องเป็นผู้ว่ากล่าวสั่งสอนผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นว่ากล่าวสั่งสอน ก็ไม่ควรย่อท้อฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งแผ่นดิน
ธรรมดาแผ่นดินย่อมปราศจากความยินดียินร้ายฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปราศจากความยินดียินร้าย ความมีใจเสมอกับแผ่นดินฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งแผ่นดิน ข้อนี้สมกับคำของอุบาสิกาจูฬสุภัททา กล่าวสรรเสริญสมณะของตนไว้ว่า “ถึงมีผู้ถากข้างหนึ่งด้วยมีดพร้า ทาร่างกายข้างหนึ่งด้วยของหอมให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่มีความยินดียินร้าย จิตของข้าพเจ้าเสมอด้วยแผ่นดิน สมณะทั้งหลายของข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งน้ำ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งน้ำได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา น้ำ อันตั้งอยู่นิ่งๆ ไม่ไหว ไม่มีผู้กวน ย่อมบริสุทธิ์ตามสภาวะปกติ คือความเป็นเองฉันใด พระโยคาวจรก็ควรละการลวงโลก การโอ้อวด การพูดเลียบเคียง เพื่อหาลาภ การพูดเหยียดผู้อื่นเพื่อหาลาภเสียแล้ว ควรเป็นผู้มีความประพฤติบริสุทธิ์ตามสภาวะปกติฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรกแห่งน้ำ
ธรรมดาน้ำย่อมตั้งอยู่ตามสภาพ คือความเย็นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ทำความเย็นให้แก่ผู้อื่นด้วยขันติ และความไม่เบียดเบียน ความเมตตากรุณาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งน้ำ
ธรรมดาน้ำย่อมทำสิ่งที่ไม่สะอาดให้สะอาดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำแต่สิ่งที่ไม่มีโทษในที่ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งน้ำ
ธรรมดาน้ำย่อมเป็นที่ต้องการแห่งคนและสัตว์เป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรผู้มักน้อย สันโดษ สงัด เงียบ ก็เป็นที่ต้องการแห่งโลกทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งน้ำ
ธรรมดาน้ำย่อมไม่นำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เข้าไปให้แก่ใครฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทำให้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมาง ความเพ่งโทษ ความริษยา ให้เกิดแก่ผู้อื่นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งน้ำ ข้อนี้ สมกับคำของพระพุทธเจ้าในกัณเหชาดก ว่า “ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะทรงประทานพรแก่หม่อมฉัน ก็ขอจงประทานพรว่า อย่าให้กายหรือใจของหม่อมฉัน ทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นเลย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งไฟ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งไฟได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ไฟ ย่อมเผ่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเผากิเลสทั้งภายนอกภายในด้วยไฟ คือญาณ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งไฟ
ธรรมดาไฟย่อมไม่มีเมตตากรุณาฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่มีควรมีเมตตากรุณา ในกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งไฟ
ธรรมดาไฟย่อมกำจัดความเย็นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้เกิดไฟ คือความเพียรเผากิเลศทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งไฟ
ธรรมดาไฟย่อมไม่มีความยินดียินร้ายมีแต่ทำให้เกิดความร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีใจเสมอด้วยไฟ ปราศจากความยินดียินร้ายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งไฟ
ธรรมดาไฟย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดความสว่างฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดความมืดคืออวิชชา ทำให้เกิดความสว่าง คือญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งไฟ ข้อนี้สมกับพระพุทธโอวาทที่ทรงสอน พระราหุล ว่า “ดูก่อนราหุล เธอจงอบรมจิตใจให้เสมอกับไฟ เพราะเมื่อเธออบรมจิตใจให้เสมอกับไฟได้แล้ว สิ่งที่ถูกต้องอันเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ย่อมไม่ครอบงำจิตใจได้” ดังนี้ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งพายุ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งพายุได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พายุ ย่อมพัดหอบเอากลิ่นดอกไม้ที่บานแล้ว ในแนวป่าให้ฟุ้งไปฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีอยู่ในป่า อันมีดอกไม้คือวิมุตติเป็นอารมณ์ฉันนั้นอันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพายุ
ธรรมดาพายุ ย่อมพัดหมุนหมู่ไม้ทั้งปวงให้พินาศฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณาสังขารอยู่ในป่า ขยี้กิเลสทั้งหลายให้แหลกราญฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งพายุ
ธรรมดาพายุ ย่อมเที่ยวไปในอากาศฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้ใจเที่ยวไปในโลกุตตรธรรมฉันนั้น อันนั้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งพายุ
ธรรมดาพายุ ย่อมได้เสวยกลิ่นหอมฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเสวยกลิ่นหอม คือศีลอันประเสริฐของตนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งพายุ
ธรรมดาพายุย่อมพัดเรื่อยไป ไม่ห่วงใยเสียดายสิ่งใดฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรห่วงใยต่อสิ่งทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งพายุ ข้อนี้สมกับพุทธภาษิต ที่องค์สมเด็จธรรมสามิสร์ตรัสไว้ใน สุตตนิบาต ว่า “ภัยย่อมเกิดจากตัณหา ธุลีย่อมเกิดจากอาลัย ความไม่มีอาลัย ไม่มีตัณหา เป็นความเห็นของมุนี” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งภูเขา
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งภูเขาได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ภูเขา ย่อมไม่หวั่นไหวฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรหวั่นไหว ในสิ่งที่น่ายินดียินร้ายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งภูเขา ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ภูเขาศิลาแท่งทึบ ย่อมไม่ไหวด้วยลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายก็ไม่ไหวด้วยนินทาสรรเสริญฉันนั้น” ดังนี้
ธรรมดาภูเขาย่อมเป็นของแข็ง ไม่ระคนกับสิ่งใดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีใจเข้มแข็งในสิ่งทั้งปวง ไม่คลุกคลีกับกิเลสใดๆ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งภูเขา ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ผู้ที่ไม่คลุกคลีกับคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีความห่วงใย มีแต่ความมักน้อย เราเรียกว่า พราหมณ์” ดังนี้
ธรรมดาภูเขาศิลาย่อมไม่มีพืชพรรณงอกขึ้นได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสงอกขึ้นในใจของตนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งภูเขา ข้อนี้สมกับคำของ พระสุภูติเถระ ว่า “เวลาที่จิตประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแก่เรา เราก็พิจารณาอยู่ผู้เดียว เราไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ในสิ่งที่น่าเกิดราคะ โทสะ โมหะ เราสอนตัวเราเองว่า ถ้าท่านเกิดราคะ โทสะ โมหะ ก็จงออกไปจากป่า เพราะที่ป่านี้เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่มีมลทิน ผู้มีตบะ ท่านอย่าทำลายที่อันบริสุทธิ์ ท่านจงออกไปจากป่า” ดังนี้
ธรรมดาภูเขาย่อมเป็นของสูงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้สูงด้วยญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งภูเขา ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “เมื่อใดบัณฑิตกำจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาทได้แล้ว ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญา เมื่อนั้นท่านก็ไม่มีความเศร้าโศกได้เล็งเห็นผู้เศร้าโศก เหมือนกับผู้อยู่บนเขาแลเห็นคนผู้อยู่ข้างล่างฉะนั้น”
ธรรมดาภูเขาย่อมไม่ฟูขึ้นยุบลงฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรฟูขึ้นและยุบลงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งภูเขา ข้อนี้สมกับคำของอุบาสิกาจูฬสุภัททา ว่า “พระสมณะทั้งหลายของเรา ย่อมไม่ฟูขึ้นยุบลง ด้วยความมีลาภและความไม่มีลาภเหมือนกับคนอื่นๆ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น