Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

ข้อเตือนใจนักบวช

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

ในส่วนนี้เป็นการรวมพุทธพจน์ และคำสอนของพระสาวกสำคัญอื่นๆ จากพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นข้อเตือนใจนักบวช และผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนะครับ

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร (พระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๔ หน้า : ๑๐๔ ข้อ : ๔๘)

ธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ 10 ประการ
  1. เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
  2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
  3. อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่
  4. เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีล หรือไม่
  5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีล หรือไม่
  6. เราจะต้องพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
  7. เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน ...... เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
  8. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่
  9. เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่า หรือไม่
  10. ญาณทัสสนะวิเศษ อันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คืออุตตริมนุสสธรรมอันเราได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือหนอ.
นิรยวรรค ที่ 22 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๒๙ ข้อ : ๓๐๘ และ หน้า : ๑๓๐ ข้อ : ๓๑๑)

@ ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่า
ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะประเสริฐอะไร.

@ หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
(หมายถึงนักบวชที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม - ธัมมโชติ)
ย่อมคร่าเขาไปนรก ฉันนั้น.

นีตเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า : ๓๓๔ ข้อ : ๘๔)

@ คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน
และคลุกคลีอยู่ในหมู่ชน ตลอดวันยังค่ำ
เมื่อไรจักทำที่สุดแห่งทุกข์ (พระนิพพาน - ธัมมโชติ) ได้เล่า.

ยโสชเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า : ๓๗๘ ข้อ : ๒๔๕)

ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูปเหมือนเทวดา
อยู่สามรูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น.....

อรรถกถา ที่ 3 (ธัมมัฏฐวรรค ที่ 19 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๓ ข้อ : ๒๕๙)

@ ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมาก ว่า"เป็นผู้ทรงธรรม"
ส่วนผู้ใด เรียนคาถาแม้คาถาเดียว แล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย (บรรลุมรรคผล - ธัมมโชติ)
ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม.

บัณฑิตวรรค ที่ 6 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑ ข้อ : ๗๖)

@ บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต
เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก.

อรรถกถาที่ 8 (มลวรรค ที่ 20 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๔๒ เรื่อง : ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร)

@ ความเพียรเครื่องเผากิเลสควรทำในวันนี้ ทีเดียว
ใครพึงรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย
มุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น
มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ตลอดกลางวันและกลางคืน
นั้นแล ว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ.

สัพพกามเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๖ หน้า :๔๑๖ ข้อ : ๔๕๓)

@ เบญจกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่มีปรากฏอยู่ในรูปร่างหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก
เหมือนพรานเนื้อแอบดักเนื้อด้วยเครื่องดัก
พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด
บุคคลจับวานรด้วยตัง ฉะนั้น.

ตัณหาวรรค ที่ 24 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๓๗ ข้อ : ๓๓๔ และหน้า : ๑๓๙ ข้อ : ๓๔๒)

@ ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประมาท
เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ดังวานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่า ฉะนั้น.

@ หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว ฉะนั้น.

สุขวรรค ที่ 15 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๕ ข้อ : ๒๐๒)

@ ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี
ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มี.

อรรถกถาที่ 8 (นาควรรค ที่ 23 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท - ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๐๐ ข้อ : ๑๕๖)

@ บรรพต พึงเป็นของล้วนด้วยทองคำที่สุกปลั่ง
แม้ความที่บรรพตนั้น (ทวีขึ้น) เป็นสองเท่า
ก็ยังไม่เพียงพอแก่ (ความต้องการของ) บุคคล (เพียง) คนหนึ่ง
บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติแต่พอสม.


ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

2 ความคิดเห็น :

  1. หมอฉัตร เนติฯ6 เมษายน 2564 เวลา 08:16

    1.พระสงฆ์ปฏิเสธไม่รับบาตรจะได้ในกรณีไหนบ้าง
    2.เราใส่บาตรอาหารและน้ำ พระรับเฉพาะอาหารและปฏิเสธรับน้ำ โดยให้เหตุผลว่าท่านพึ่งผ่าตัดตามา ่หมอห้ามยกของหนัก ถ้าเช่นนี้จะอาบัติไหม แต่เราก็เข้าใจว่าพระท่านมีเหตุผลที่จะปฏิเสธ
    3.พระนำเงินมาเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวให้คนที่มาช่วยหล่อพระพุทธรูปที่วัด ซึ่งเป็นเจตนาดีมาก ี๋ผมอนุโมทนาบุญด้วย แต่คนทำก๋วยเตี๋ยวทำก๋วยเตี๋ยวแล้วนำไปถวายพระฉันเพลด้วย โดยที่พระไม่ได้สั่งให้ทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าพระจะอาบัติหรือไม่ ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่ แต่กรณีนี้พระไม่มีเจตนา แต่การที่แม่ครัวนำก๋วยเตี๋ยวกลับไปประเคน กลัวจะทำให้พระอาบัติ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      จากคำถาม

      1.พระสงฆ์ปฏิเสธไม่รับบาตรจะได้ในกรณีไหนบ้าง

      >>> โดยทั่วไปพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการปฏิเสธการรับบาตรนะครับ โดยความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักประมาณในการรับ คือไม่รับมากเกินพอดี

      ที่ใกล้เคียงกับการห้ามการปฏิเสธการรับบาตร ก็คือธุดงควัตรข้อ "ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร" คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไปนะครับ ซึ่งธุดงควัตรนั้นไม่ได้บังคับใช้กับภิกษุทั่วไป ภิกษุรูปใดจะสมาทานข้อไหนในช่วงเวลาใด หรือจะไม่สมาทานเลยก็ได้ ไม่บังคับครับ

      ส่วนตัวอย่างการปฏิเสธการรับบิณฑบาตก็เช่น พระมหากัสสปะท่านมีข้อปฏิบัติของท่านเองว่าจะรับบิณฑบาตเฉพาะจากคนยากจนเท่านั้น คือท่านปฏิเสธการรับบิณฑบาตจากคนฐานะดีทุกคนครับ

      อีกตัวอย่างคือพระสารีบุตร มีครั้งหนึ่งมีคนถวายอาหารท่าน พอรับไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็เอามือปิดบาตรเอาไว้ ปฏิเสธการรับเพิ่มอีก ชายคนนั้นจึงกล่าวกับท่านทำนองว่า ท่านอย่าได้สงเคราะห์กระผมในชาตินี้เลย (คืออาหารครึ่งที่เหลือนั้น ถ้าพระสารีบุตรไม่รับ ก็ทำให้ชายคนนั้นมีอาหารกินได้อีก 1 มื้อเท่านั้น ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ชายคนนั้นเพียงมื้อเดียวในชาตินี้ แต่ถ้าพระสารีบุตรรับอาหารส่วนนี้ไป บุญที่ชายคนนั้นได้รับจะส่งผลได้มากกว่า)

      ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้ไม่ได้รับการตำหนิจากพระพุทธเจ้าแต่อย่างใดเลยครับ

      2.เราใส่บาตรอาหารและน้ำ พระรับเฉพาะอาหารและปฏิเสธรับน้ำ โดยให้เหตุผลว่าท่านพึ่งผ่าตัดตามา ่หมอห้ามยกของหนัก ถ้าเช่นนี้จะอาบัติไหม แต่เราก็เข้าใจว่าพระท่านมีเหตุผลที่จะปฏิเสธ

      >>> ไม่เป็นอาบัติครับ ตามเหตุผลในข้อ 1.

      3.พระนำเงินมาเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวให้คนที่มาช่วยหล่อพระพุทธรูปที่วัด ซึ่งเป็นเจตนาดีมาก ี๋ผมอนุโมทนาบุญด้วย แต่คนทำก๋วยเตี๋ยวทำก๋วยเตี๋ยวแล้วนำไปถวายพระฉันเพลด้วย โดยที่พระไม่ได้สั่งให้ทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าพระจะอาบัติหรือไม่ ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่ แต่กรณีนี้พระไม่มีเจตนา แต่การที่แม่ครัวนำก๋วยเตี๋ยวกลับไปประเคน กลัวจะทำให้พระอาบัติ

      >>> ถ้ากล่าวตามวินัยแล้ว ภิกษุครอบครองเงินทองไม่ได้ครับ การที่ภิกษุครอบครองเงินทอง หรือแม้แต่การยินดีในเงินทองที่คนอื่นเก็บไว้เพื่อตน (คือภิกษุนั้น) โดยแม้ยังไม่ได้นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรก็เป็นอาบัติแล้วครับ

      แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะครับว่าจะปรับตัวอย่างไร หรือใครจะยอมรับเรื่องไหนได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้โดยกิเลสไม่งอกเงยขึ้นมา

      จากคำถามที่ว่า "ไม่ทราบว่ามีวินัยสงฆ์ห้ามพระจ่ายเงินซื้ออาหารฉันเองหรือไม่" ถ้ายึดตามวินัยแล้ว ไม่ว่าจะจ่ายเงินเพื่อฉันเองหรือให้ผู้อื่น ก็ผิดวินัยทั้งนั้นครับ ผิดตั้งแต่ครอบครองเงินแล้วครับ ส่วนข้อพิจารณาแวดล้อมก็อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับ ว่าทำยังไงให้ชีวิตเป็นไปได้โดยกิเลสไม่งอกเงยขึ้นมา ก็พิจารณาเอานะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ