ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
หน้านี้เป็นการรวมคำถามและคำตอบเรื่องเกี่ยวกับศีลที่ผู้สนใจสอบถามเข้ามานะครับ
เกร็ดเล็กน้อยของศีล 5
คำถาม
สวัสดีครับ
ขอเรียนถามดังนี้นะครับ
- ศีลข้อ1 ที่ว่าด้วยการห้ามพูดปด ข้อนี้รวมถึงการพูดส่อเสียด, ประชดประชัน ฯลฯ ด้วยหรือเปล่าครับ
- ศีลข้อที่ห้ามประพฤติผิดในกาม ข้อนี้รวมถึงในทางความคิดด้วยหรือเปล่าครับ
ตอบ
ขอบคุณครับที่มีความสนใจในเว็บไซต์ธัมมโชติ
สำหรับคำถามที่ถามมานั้น ผมขอตอบอย่างนี้ครับ
ก่อนอื่น ผมอยากให้คุณ ... ทำความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ของศีล 5 ในหมวดศีล ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนนะครับ เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น
1. ศีลข้อ1 ที่ว่าด้วยการห้ามพูดปด ข้อนี้รวมถึงการพูดส่อเสียด, ประชดประชัน ฯลฯ ด้วยหรือเปล่าครับ
ในศีล 5 จริงๆ แล้ว จะพูดเน้นที่การงดเว้นจากการพูดปดเท่านั้น แต่ถ้าใครจะทำให้สูงขึ้นกว่านั้น เพื่อการพัฒนาจิตใจให้ประณีตขึ้น โดยการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด (คือการยุยงให้เขาแตกแยกกัน) พูดคำหยาบ (คือการพูดให้เขาเจ็บช้ำใจ ซึ่งการประชดประชันก็เข้าข่ายข้อนี้ด้วย) พูดเพ้อเจ้อ (การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์) ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่ประเสริฐไม่น้อยนะครับ
เรื่องของการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อนี้ จะอยู่ในส่วนของวจีทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10 ดังนั้น การพูดปดจึงเป็นทั้งวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรม และผิดศีล 5 ด้วย ส่วนการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ จะเป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรม แต่ไม่ผิดศีล 5 (แต่ก็ไม่ควรทำอยู่ดีนะครับ)
2. ศีลข้อที่ห้ามประพฤติผิดในกาม ข้อนี้รวมถึงในทางความคิดด้วยหรือเปล่าครับ
ศีล 5 นั้นจะเน้นที่กายและวาจาเป็นหลักครับ ดังนั้นการคิดจึงไม่ผิดศีล 5 แต่การแสดงออกทางกาย วาจาย่อมมีเหตุมาจากใจ ดังนั้น การพอกพูนในทางความคิดมากๆ นอกจากจะทำให้จิตหยาบขึ้นแล้ว ในอนาคตเมื่อความคิดนั้นๆ มีกำลังมากพอ การทำผิดทางกาย วาจาก็ย่อมจะตามมาได้โดยง่ายนะครับ
การทำผิดเรื่องนี้ในระดับความคิดนั้น จะเข้าข่ายอภิชฌา (ความเพ่งเล็ง อยากได้สิ่งของๆ ผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม) ซึ่งเป็นหนึ่งในมโนทุจริต ในอกุศลกรรมบถ 10 ดังนั้น จึงเป็นอกุศลกรรม แต่ไม่ผิดศีล 5 ครับ
หวังว่าจะพอทำให้คุณ ... หายสงสัยได้บ้างนะครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยในเรื่องอื่นๆ อีก ก็เมล์มาถามได้เรื่อยๆ นะครับ ผมยินดีตอบให้ทุกฉบับ ไม่ต้องเกรงใจ
ธัมมโชติ
การสมาทานกับการรักษาศีล
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ครับ
ต้องขออภัยด้วยนะครับที่บางข้ออาจจะโป๊ไปบ้าง แต่ก็คิดว่าอาจจะมีประโยชน์กับผู้สนใจบางท่าน และคิดว่าผู้ถามก็ถามอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ เลยนำมาลงไว้ด้วย
คำถาม
สวัสดีครับ
1. .....
2. .....
3. การบำบัดความใคร่ด้วยตัวเอง ถือว่าผิดศีล 5 หรือไม่ครับ
4. การสมาทานศีล กับการระวังตัวไม่ให้ผิดศีล มีค่าเท่ากันหรือไม่ครับ
ขอบพระคุณมากครับ
ตอบ
สวัสดีครับ ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
- .....
- .....
- ไม่ผิดศีล
5 แต่ผิดศีล 8 ครับ
-
การสมาทานศีลเป็นเจตนาในขั้นต้น ส่วนการระวังตัวไม่ให้ผิดศีลเป็นเจตนาในขั้นปลาย
ถ้าสมาทานโดยไม่ได้คิดว่าจะรักษาจริงๆ เพียงแค่ทำตามธรรมเนียมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
แต่ถ้าตั้งใจจริงก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยจิตก็ผ่องใสขึ้นมาในช่วงนั้น แต่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่แท้จริงก็ในขณะที่มีการระวังตัวไม่ให้ผิดศีลนั่นเองครับ
ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญกว่า
ความจริงเพียงแค่ตั้งใจว่าจะระวังตัวไม่ให้ผิดศีล ก็ถือได้ว่าเป็นการสมาทานศีลแล้วครับ ถ้าตั้งใจจริงก็ดีกว่าไปสมาทานจากพระด้วยซ้ำไป (กรณีที่สมาทานกันพอเป็นพิธีเท่านั้น)
ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้แต่การสมาทานศีล 8 ก็เพียงแค่บ้วนปาก (คงเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารติดค้างอยู่ในปาก จะได้ไม่เป็นวิกาลโภชนา หรืออาจเพื่อให้ปากสะอาดเพื่อให้เกียรติแก่ศีล) แล้วก็ตั้งใจอธิษฐานเอาเองที่บ้านก็เป็นอันเสร็จพิธีแล้ว ไม่ต้องไปวัดให้ยุ่งยากเหมือนสมัยนี้ (เขารักษาศีล 8 กันเองที่บ้านครับ)
ธัมมโชติ
ศีล 227 กับคฤหัสถ์
คำถาม
เรียน webmaster
การให้ชาวบ้านเรียนรู้ถึงศีลของพระ (๒๒๗) โดยไม่ลึกซึ้งทำให้ชาวบ้านเพ่งโทษพระ อยากทราบความเห็นของท่านทั้งด้านดีและด้านเสีย เพื่อจะได้ตอบคำถามเมื่อมีผู้วิจารณ์การทำตัวของพระ (ขออภัยถ้าใช้สรรพนามพระไม่ถูกต้อง)
ขอบคุณและอนุโมทนาที่ได้รักษาเว็บนี้ให้มีคุณค่าตลอดมา
ตอบ
เรียน คุณ .....
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
ขอแสดงความเห็นดังนี้ครับ
ข้อดี
-
ทำให้พระระวังตัวมากขึ้น เพราะคนทั่วไปรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร
ซึ่งก็จะเป็นผลดีทั้งต่อตัวท่านเอง (ทำให้ศีลบริสุทธิ์ขึ้น) และต่อศาสนานะครับ
-
คนทั่วไปจะได้ปฏิบัติต่อพระได้ถูกต้อง เหมาะสมยิ่งขึ้น จะได้ไม่ถวายสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้พระ
รวมทั้งไม่วางตัวอย่างไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งก็จะทำให้สิ่งยั่วกิเลสของพระลดน้อยลงไป
ก็จะทำให้พระรักษาศีลได้ง่ายขึ้นด้วยครับ
-
ถ้าเป็นคนที่รู้จักแยกแยะ เมื่อเห็นพระทำผิดศีล
ก็จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ไม่ทรงสรรเสริญ เพราะฉะนั้น
ถ้าจะตำหนิ ก็ควรจะแยกแยะได้ว่าพระรูปนั้นน่าตำหนิ ไม่ใช่ไปตำหนิศาสนา เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้นั้น
ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้ประโยชน์ และน่าเลื่อมใสทั้งสิ้นครับ
-
เมื่อมีคนคอยสอดส่องกันมากขึ้น ภิกษุที่ทำตัวไม่ดีก็จะอยู่ไม่ได้ไปเอง เพราะขาดคนสนับสนุนเกื้อกูล
(ถ้าคนส่วนใหญ่รู้จักแยกแยะตามข้อ 3. นะครับ)
-
คนที่มีศรัทธาคิดจะบวชจะได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ก่อน เมื่อบวชแล้วจะได้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น
และมีโอกาสผิดพลาดน้อยลงด้วยครับ
- คนที่พิจารณาตนเองแล้ว คิดว่าไม่สามารถทำตัวให้เหมาะสมได้ ก็จะได้ไม่เข้ามาบวชแล้วทำให้ศาสนามัวหมองครับ
-
ในสมัยพุทธกาลมีกรณีเกิดขึ้นดังนี้ครับ คือมีชายคนหนึ่งกำลังจะบวช แล้วพระบอกอนุศาสน์ 8
ก่อนบวช (คือ นิสสัย 4 และ อกรณียกิจ 4, นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต
มี 4 อย่าง ได้แก่ 1. การบิณฑบาตเลี้ยงชีพ 2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล 3. อยู่โคนไม้
4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (น้ำปัสสาวะ) เป็นยารักษาโรค - ปัจจุบันยารักษาโรคหาได้ง่าย
จึงไม่จำเป็นต้องฉันน้ำมูตรเน่าแล้วนะครับ อกรณียกิจ คือ กิจที่ไม่ควรทำ มี 4 อย่างได้แก่
1. เสพเมถุน 2. ลักขโมย 3. ฆ่าสัตว์ 4. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน)
พอชายคนนั้นได้ฟังแล้ว เลยเปลี่ยนใจไม่บวชครับ และกล่าวว่าถ้าบวชแล้วจึงได้ฟังเรื่องนี้ก็คงจะพยายามปฏิบัติตาม แต่นี่ยังไม่ได้บวชก็ขอเปลี่ยนใจดีกว่า
พระพุทธเจ้าก็เลยทรงห้ามให้อนุศาสน์ก่อนบวชครับ เรื่องนี้ก็คงเป็นตัวอย่างได้ว่า สำหรับคนที่ศรัทธาไม่แน่วแน่นั้น เมื่อรู้ระเบียบวินัยต่างๆ มากเกินไป ก็อาจท้อ และไม่อยากบวช ทั้งๆ ที่ถ้าเขาได้บวช ได้ศึกษาศาสนาอย่างจริงจัง เขาก็อาจจะได้ประโยชน์อย่างมากเลยก็ได้นะครับ
-
มีภิกษุอยู่ไม่น้อยที่รักษาศีลได้อย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อคนที่รู้เรื่องศีลมาก
แต่ไม่รู้จักแยกแยะให้ดีไปพบเห็นภิกษุเหล่านั้นเข้า
ก็อาจพลอยรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาไปทั้งหมดเลยก็ได้นะครับ ซึ่งก็จะเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ที่เสื่อมศรัทธานั้นเอง
(ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น และอาจถึงขั้นไปชักจูงให้คนอื่นๆ
เสื่อมศรัทธาไปด้วยก็ได้) และต่อศาสนาอีกด้วยครับ
- เป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ในการโจมตีศาสนา
เมื่อมีการให้ความรู้เรื่องศีลแก่คนทั่วไป ก็คงจะต้องพิจารณาผู้ฟังด้วยนะครับ ว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วให้ความรู้ตามความเหมาะสม เช่น
- ควรรู้ศีลข้อไหนบ้าง (ศีลมีหลายประเภท ทั้งที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ และไม่เกี่ยวข้อง ทั้งที่มีผลต่อตัวผู้ปฏิบัติเอง มีผลต่อสงฆ์ และมีผลกระทบต่อคฤหัสถ์)
- ควรรู้ลึกซึ้งแค่ไหน
- ควรชี้แนะให้เขารู้จักแยกแยะมากน้อยแค่ไหน
- ฯลฯ
ธัมมโชติ
คนที่เอาสัตว์ไปทำหมัน บาปไหมครับ
ตอบลบ
ลบการทำหมันเป็นการป้องกันการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นการทำในขณะที่ชีวิตใหม่ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่จัดว่าเป็นการฆ่าสัตว์ครับ (เพราะจะเริ่มนับว่ามีชีวิตใหม่เกิดขึ้นในขณะปฏิสนธิ) ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วไข่และอสุจิเมื่อไม่มีการปฏิสนธิก็ย่อมสลายไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำหมันหรือไม่ทำก็ตาม
ดังนั้น ลำพังการทำหมันไม่ได้เป็นบาปครับ
แต่การเอาสัตว์ไปทำหมันจะเป็นบุญหรือเป็นบาปก็ขึ้นกับเจตนาของคนที่เอาไปทำครับ ถ้าเอาไปด้วยกุศลเจตนาก็เป็นบุญ เช่น ทำหมันเพื่อสุขภาพของสัตว์นั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากการตั้งท้อง เพื่อไม่ให้ลูกที่จะเกิดขึ้นติดโรคบางอย่างหรือพิการ ฯลฯ
แต่ถ้าเอาไปทำหมันด้วยอกุศลเจตนาก็เป็นบาปครับ เช่น ทำไปเพราะความโกรธ ต้องการกลั่นแกล้ง ต้องการทำร้าย ฯลฯ
ธัมมโชติ
ด้วยความเคารพต่อท่านบรรณาธิการครับ
ตอบลบผมอ่านเจอที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำตอบเรื่องการทำหมันสัตว์ โดยท่านได้อ้างอิงพระไตรปิฎกตามนี้ครับ
การตอนสัตว์ มีพูดไว้ในตติยสามน ตายแล้วต้องตกนรกก่อน
เพราะเป็นการทรมานสัตว์ พอออกจากนรกก็มาเป็นเปรต
ออกจากเปรตมาเป็นอสุรกาย ออกจากอสุรกายก็มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน
เพราะถูกทำลายเพศ ใช่ไหม…พอพ้นจากนั้นแล้วก็มาเป็นบัณเฑาะก์ มี ๒ เพศ มีทั้งเพศผู้ชายและผู้หญิง
จากนั้นก็มาเป็นกะเทย แล้วจึงมาเป็นคนปกติ
เห็นท่านอ้างอิงพระไตรปิฎก ผมเลยกลัวครับ เพราะเคยจับแมวไปทำหมันถึงสองตัว กลัวบาปขนาดตกนรกตามที่ท่านพูดครับ
ท่านบรรณาธิการเห็นตามหลวงพ่อฤาษีลิงดำหรือไม่ประการใดครับ
ลบขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
1.) ไม่ทราบว่า "ตติยสามน" คืออะไร อยู่ในคัมภีร์ไหนนะครับ ผมพยายามค้นในพระไตรปิฎกหลายฉบับ รวมทั้งอรรถกถาก็หาไม่เจอเลยครับ ถ้าใครมีรายละเอียดตรงนี้ กรุณาแจ้งให้ทราบก็จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมากครับ
2.) เท่าที่พิจารณาดูคำตอบของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เหมือนท่านจะอธิบายไปในแง่การทรมานสัตว์นะครับ ซึ่งไม่ทราบว่าท่านตอบเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ปีไหน แต่น่าจะนานมากแล้ว และเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปมากแล้วนะครับ
เป็นความจริงที่ว่าการตอนสัตว์ในสมัยก่อนนั้นเป็นการทรมานสัตว์อย่างมากครับ เพราะใช้วิธีการทุบให้ลูกอัณฑะของสัตว์นั้นแหลกละเอียด และไม่มีการใช้ยาชาหรือยาสลบช่วยเลย สัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหวต้องวิ่งหนี คนก็ยังวิ่งไล่ทุบลูกอันฑะจนกว่าจะแน่ใจว่าสัตว์นั้นเป็นหมันแล้ว
แต่ในสมัยนี้ต่างกันมากนะครับ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมถึงยาชา ยาสลบช่วย สัตว์จึงไม่ทรมานมากเหมือนสมัยก่อน
แน่นอนว่าสัตว์ก็ได้รับความเจ็บปวดบ้าง แต่ก็เพื่อประโยชน์ในอนาคตไม่ใช่เหรอครับ ไม่อย่างนั้นการที่หมอชีวกรักษาพระพุทธเจ้า โดยการบ่งเอาพระโลหิตออกมา (ในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขาเพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ) ก็เป็นบาปมากสิครับ เพราะทำให้พระพุทธเจ้าได้รับความเจ็บปวดเช่นกัน
เรื่องนี้ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะครับ เพราะเรื่องการให้ผลของกรรมนั้นเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะรู้ได้ ผมก็ทำได้เพียงแค่เทียบเคียงเอาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงพระสาวกที่พระพุทธเจ้ารับรองเอาไว้เท่านั้นครับ ซึ่งความรู้ของผมก็มีอยู่จำกัดเช่นกันครับ
ธัมมโชติ
กราบขอบพระคุณครับ เห็นด้วยกับท่านบรรณาธิการครับ อ่านเจอแล้วสงสัย จึงมาถามเพื่อความกระจ่างครับ
ตอบลบ1. ขอให้ท่านอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับการถือศีลแปดข้อที่ว่าอพรัหมจริยาครับ ว่าต้องกระทำอย่างไรและห้ามกระทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดศีล
ตอบลบ2. การถูกต้องตัวผู้หญิงโดยไม่เจตนา ไม่ผิดศีลแปด ใช่ไหมครับ
3. ในวันที่ถือศีลแปด การตรวจรักษาคนไข้ ต้องถูกต้องตัวผู้หญิง ไม่ผิดศีล ใช่ไหมครับ
4. ข้ออพรัหมจริยาครอบคลุมถึงการห้ามนึกถึงเรื่องอารมณ์ทางเพศด้วยใช่ไหมครับ
และรวมไปถึงห้ามอุ้มสัตว์ ห้ามจูบสัตว์เพศตรงข้ามหรือเปล่า
5. ศีลแปดถ้าผิดข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่า ขาดทุกข้อ และถ้าถือศีลแปดแล้วศีลขาด จะมีโทษ มีบาปอย่างไรครับ
ลบขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
1. ขอให้ท่านอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับการถือศีลแปดข้อที่ว่าอพรัหมจริยาครับ ว่าต้องกระทำอย่างไรและห้ามกระทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดศีล
>>> ศีลข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ครับ
พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. มหาวรรค ๑๐. อุโปสถสูตร
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๘๖
พระอรหันต์ทั้งหลายละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (๑) คือประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้านอยู่ตลอดชีวิต แม้เราก็ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้านอยู่ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งนี้ในวันนี้ เพราะองค์แม้นี้เราชื่อว่าทำตามพระอรหันต์และรักษาอุโบสถ
เชิงอรรถ :
(๑) พรหมจรรย์ มีความหมายหลายนัย ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ หรือการงดเว้นจากเมถุนธรรม คือกิจของคนคู่ การร่วมประเวณีหรือการเสพสังวาสกัน
นั่นคือการกระทำที่ถึงขั้นทำให้ผิดศีลข้อนี้อย่างสมบูรณ์คือการเสพเมถุนครับ อันได้แก่การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกับมนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่กับอมนุษย์ ในช่องทางใดช่องทางหนึ่งใน 3 ช่องทาง คือ ทวารหนัก ทวารเบา ปาก ไม่ว่าจะเป็นกับเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่กับซากศพ หรือกับตนเอง ทั้งนี้แม้สอดเข้าไปลึกแม้เพียงเท่าเมล็ดงาก็ผิดศีลข้อนี้แล้วนะครับ (เทียบเคียงจากอาบัติปาราชิกของภิกษุ)
2. การถูกต้องตัวผู้หญิงโดยไม่เจตนา ไม่ผิดศีลแปด ใช่ไหมครับ
>>> ถ้าไม่เจตนา และเมื่อสัมผัสแล้วไม่เกิดความยินดีในทางกำหนัดก็ไม่ผิดศีลครับ แต่ถ้าเกิดความยินดีในทางกำหนัดแม้ไม่ถึงขั้นผิดศีล ก็ทำให้ศีลด่างพร้อยได้ครับ
3. ในวันที่ถือศีลแปด การตรวจรักษาคนไข้ ต้องถูกต้องตัวผู้หญิง ไม่ผิดศีล ใช่ไหมครับ
>>> เมื่อสัมผัสแล้วไม่เกิดความยินดีในทางกำหนัดก็ไม่ผิดศีลครับ แต่ถ้าเกิดความยินดีในทางกำหนัดแม้ไม่ถึงขั้นผิดศีล ก็ทำให้ศีลด่างพร้อยได้ครับ
ลบ4. ข้ออพรัหมจริยาครอบคลุมถึงการห้ามนึกถึงเรื่องอารมณ์ทางเพศด้วยใช่ไหมครับ
และรวมไปถึงห้ามอุ้มสัตว์ ห้ามจูบสัตว์เพศตรงข้ามหรือเปล่า
>>> โดยทั่วไปแล้ว ศีลจะครอบคลุมแค่ระดับกายกับวาจาครับ ถ้าแค่ความคิดโดยยังไม่มีความพยายามทางกายหรือวาจาจะยังไม่นับว่าผิดศีลครับ แต่ถ้ามีความพยายามแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จก็จะถือว่าผิดศีลไปตามขั้นที่ทำครับ เช่น อาจจะแค่ศีลด่างพร้อย ไปจนถึงขั้นผิดศีลอย่างสมบูรณ์
การอุ้มสัตว์ จูบสัตว์ ไม่ว่าเพศใด ถ้าทำไปด้วยความกำหนัดก็ทำให้ศีลด่างพร้อย แต่ไม่ถึงขั้นผิดศีลอย่างสมบูรณ์ครับ ถ้าไม่ทำด้วยความกำหนัดก็ไม่เป็นไรครับ
5. ศีลแปดถ้าผิดข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่า ขาดทุกข้อ และถ้าถือศีลแปดแล้วศีลขาด จะมีโทษ มีบาปอย่างไรครับ
>>> ศีล 8 เป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสที่พิเศษเข้มข้นขึ้นกว่าศีลปกติ คือศีล 5 การผิดศีล 8 ที่ไม่เป็นการผิดศีล 5 ไม่มีส่วนไหนที่เป็นการล่วงอกุศลกรรมบท 10 จึงไม่ถึงขั้นเป็นบาปนะครับ เพียงแต่จะไม่ได้ประโยชน์ที่ควรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น เช่น เรื่องของการขัดเกลากิเลส การพัฒนาจิต ศีลบารมี ขันติบารมี (คือได้ตามส่วนที่รักษาไปแล้ว)
ถึงแม้การผิดศีล 8 นั้นจะทำให้ศีลข้ออื่นทั้งหมดขาดไปด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดการล่วงอกุศลกรรมบท 10 นะครับ เช่น การลูบไล้ของหอม ทำให้ศีลทั้ง 8 ข้อขาดไป แต่ไม่ได้แปลว่าเกิดการฆ่าสัตว์ขึ้นมา เพียงแต่ว่าทำให้เราพ้นสภาพจากการเป็นผู้รักษาศีล 8 เท่านั้นเองครับ ซึ่งถ้าเราพร้อมก็สามารถสมาทานศีล 8 ใหม่ได้อีกครั้งทันที
แต่ถ้าการผิดศีล 8 นั้นเป็นการผิดศีล 5 ด้วย ก็เป็นโทษ เป็นบาปตามศีล 5 ตามอกุศลกรรมบท 10 ที่ก้าวล่วงครับ
*** เพื่อให้การถือศีล 8 เป็นประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ควรอ่านพระสูตรนี้ให้จบครับ
อุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถ
พระสุตตัตนตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. มหาวรรค
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๗๙ - ๒๙๐
ธัมมโชติ
กราบขอบพระคุณครับ ผมได้ไปดูพระสูตรตามที่ท่านแนะนำครับ จึงได้กินมื้อเดียวตอนถือศีลแปดตามที่พระพุทธเจ้าอนุญาต
ตอบลบเรียนถามว่า เหตุใดพระหลายวัดยังฉันสองมื้อ มีอนุญาตในพระสูตรใดหรือไม่ครับ และถ้าฉันสองมื้อไม่ได้ อาบัติอย่างไร ต้องแก้ไขอาบัติอย่างไร และถ้าไม่แก้ไขอาบัติ พระสงฆ์จะเป็นโทษเป็นบาปอย่างไร
ลบพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการฉันมื้อเดียว แต่ก็ทรงผ่อนผันให้ฉัน 2 มื้อได้สำหรับผู้ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ครับ จะเป็นอาบัติเมื่อฉันในเวลาวิกาล คือเที่ยงวันจนถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นครับ
อ่านพระสูตรเรื่อง ภัททาลิสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๕๐ - ๑๖๔
อ่านพระสูตรนี้ให้จบแล้วจะเข้าใจประเด็นที่ถามทั้งหมดอย่างชัดเจนครับ
ขอยกข้อความบางตอนมาให้อ่านคร่าวๆ ก่อน ดังนี้ครับ
๕. ภัททาลิสูตร
ว่าด้วยพระภัททาลิ
คุณแห่งการฉันอาหารมื้อเดียว
[๑๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารมื้อเดียว เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด แม้เธอทั้งหลายก็จงฉันอาหารมื้อเดียวเถิด เธอทั้งหลายเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว จักรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถฉันอาหารมื้อเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารมื้อเดียว จะมีความกระวนกระวาย และมีความเดือดร้อน”
“ภัททาลิ ถ้าเช่นนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำอีกส่วนหนึ่งมาฉันก็ได้ เมื่อเธอฉันอาหารได้อย่างนี้ ก็จักดำรงชีวิตอยู่ได้”
เนื้อความเต็มอ่านได้จากในลิ้งค์ข้างบนนะครับ
*** เชิงอรรถท้ายหน้า ๑๕๐ นั้น นำมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระสูตรอื่นนะครับ ถ้าเอามาอธิบายพระสูตรนี้โดยตรงจะสับสนได้ คือพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เก็บอาหารบางส่วนไว้ฉันอีกครั้งในกาลนะครับ แต่พระภัททาลิทนหิวไม่ได้จึงฉันในเวลาวิกาลด้วย จึงต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ซึ่งแก้ได้โดยการสารภาพผิดแก่ภิกษุรูปอื่น (การปลงอาบัติ) ซึ่งในพระสูตรนี้พระภัททาลิสารภาพกับพระพุทธเจ้าครับ
พระวินัยเรื่องการฉันอาหารในเวลาวิกาลคือ
วิกาลโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการฉันโภชนะในเวลาวิกาล
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๐๔ - ๔๐๖
พระบัญญัติ
[๒๔๘] ก็ ภิกษุใดเคี้ยวของเคี้ยว หรือฉันของฉันในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ธัมมโชติ
กราบเรียนถาม เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้องตอนถือศีลแปด
ตอบลบ1. น้ำปานะคืออะไรบ้าง พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันเวลาไหนได้บ้าง
2. น้ำที่ทำจากดอกไม้เช่น น้ำเก๊กฮวย เป็นน้ำปานะหรือไม่
3. นมเป็นน้ำปานะหรือไม่ จำได้ว่ามีคนถวายนมให้สงฆ์ยามวิกาล พระพุทธเจ้าไม่ตรัสห้าม ใช่ไหมครับ
4. น้ำผลไม้ที่ซื้อเป็นกล่อง ๆ ต้องผ่านการพาสเจอไรซ์ ไม่ใช่น้ำปานะ ใช่ไหมครับ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามน้ำปานะที่ผ่านความร้อน
ลบขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
1. น้ำปานะคืออะไรบ้าง พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันเวลาไหนได้บ้าง
>>> เรื่องน้ำปานะที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตนั้น มีกระจายอยู่หลายที่ ซึ่งแต่ละที่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันนะครับ แต่ที่เหมือนเป็นบทสรุปรวมน้ำปานะทุกชนิดที่ทรงอนุญาตก็คือใน
เกณิยชฏิลวัตถุ ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๙ - ๑๓๒
ซึ่งในหน้า ๑๓๒ พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด”
*** น้ำข้าวถือเป็นอาหาร น้ำผักดองถือเป็นอาหาร (ในสมัยพุทธกาลคนยากจนจะบริโภคปลายข้าวหรือข้าวหักหุง แล้วราดด้วยน้ำดองผัก) ส่วนน้ำดอกมะซางเห็นว่าเป็นพิษนะครับ เรื่องน้ำดอกมะซางนี่ฟังมาอีกทีนะครับ ไม่เห็นมีอธิบายในพระไตรปิฎก
ส่วนเวลาที่อนุญาตให้ฉัน ถ้าเป็นภิกษุก็เก็บไว้ได้ไม่เกินคืนของวันที่รับมาครับ (จนถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันใหม่) ช่วงเวลานี้ฉันได้ตลอด คือมีอายุเก็บได้ถึงแค่คืนนั้น ถ้าพ้นคืนวันนั้นไปแล้วต้องสละครับ
แต่กรณีเป็นฆราวาส เนื่องจากไม่มีข้อห้ามเรื่องการสะสม ดังนั้นก็ถือว่าถ้ายังไม่เสีย หรือกลายเป็นเหล้าก็บริโภคได้ตลอดครับ
ลบ2. น้ำที่ทำจากดอกไม้เช่น น้ำเก๊กฮวย เป็นน้ำปานะหรือไม่
>>> น้ำเก๊กฮวยเป็นน้ำปานะครับ
3. นมเป็นน้ำปานะหรือไม่ จำได้ว่ามีคนถวายนมให้สงฆ์ยามวิกาล พระพุทธเจ้าไม่ตรัสห้าม ใช่ไหมครับ
>>> นมไม่เป็นน้ำปานะครับ นมเป็นอาหาร
ในบรรดาโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง (น่าจะหมายถึงโยเกิร์ตนะครับ) เนยข้น และเนยใส ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บริโภคได้ในเวลาวิกาลมีเฉพาะเนยข้น และเนยใส เท่านั้นครับ โดยอนุญาตในเภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ ฉันได้ทั้งในกาลและในเวลาวิกาล”
อ่านรายละเอียดได้ใน
ปัญจเภสัชชกถา ว่าด้วยทรงอนุญาตเภสัช ๕
พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๔๓ - ๔๖
ลบ4. น้ำผลไม้ที่ซื้อเป็นกล่อง ๆ ต้องผ่านการพาสเจอไรซ์ ไม่ใช่น้ำปานะ ใช่ไหมครับ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามน้ำปานะที่ผ่านความร้อน
>>> เรื่องพระพุทธเจ้าห้ามน้ำปานะที่ผ่านความร้อนนี่ผมจำไม่ได้ว่ามีในพระไตรปิฎกนะครับ ลองค้นดูแล้วก็ไม่เจอเรื่องนี้
คือพระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุทำอาหารเอง (เช่น หุง ต้ม ทอด ย่างด้วยไฟ) ดังนั้น ถ้าภิกษุจะต้มน้ำปานะเองย่อมผิดวินัยอยู่แล้วครับ แต่ถ้ามีคนถวายผลไม้มา ภิกษุสามารถคั้นน้ำฉันเป็นน้ำปานะได้ เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงให้พระอานานท์คั้นน้ำมะม่วงถวายตอนก่อนแสดงยมกปาฏิหาริย์
แต่ถ้าฆราวาสต้มน้ำผลไม้มาถวาย ตามความเห็นผมคิดว่าสามารถฉันเป็นน้ำปานะได้นะครับ รวมถึงน้ำผลไม้กล่องด้วย อันนี้ก็พิจารณาเอาเองนะครับ ถ้าไม่สบายใจก็ไม่กินดีกว่า
ธัมมโชติ
คนที่จิดใจไม่ค่อยปกติ เป็นคนก้าวร้าว แต่ไม่ถึงกับขั้นเป็นบ้า ื่ไม่ถึงขั้นเป็นโรคจิต
ตอบลบถ้าเขาคิดไปเองว่า คนอื่นไปขโมยของเขา แล้วเขาไปด่าคนอื่น เขาจะบาปไหม เขาจะผิดศีลไหม เขาจะผิดอกุศลกรรมบถไหม
ลบถ้าเขาด่าคนอื่นด้วยเจตนาให้ผู้ที่ถูกด่านั้นเจ็บใจ ไม่สบายใจ หรือร้อนใจ ก็เข้าข่ายผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) และในขณะที่ด่านั้นจิตของผู้ที่ด่านั้นย่อมเป็นอกุศล เศร้าหมองด้วยกิเลสคือโทสะ (ความโกรธเคือง)
การกระทำนั้นย่อมเป็นบาปครับ (บาปคือธรรมชาติที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บุญคือธรรมชาติที่ชำระจิตให้ผ่องใส)
การพูดคำหยาบนั้นไม่ถือเป็นการผิดศีล 5 รวมถึงไม่ผิดศีล 8 (ไม่ใช่มุสาวาท คือไม่มีเจตนาที่จะโกหก หลอกลวง) แต่ถ้าผู้พูดคำหยาบนั้นเป็นภิกษุก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์
การกระทำนั้นเป็นอกุศลกรรม คือเป็นวจีทุจริต ข้อผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) ในอกุศลกรรมบถ 10 ครับ
ธัมมโชติ
ตอนถือศีล 8 แขวนคอด้วยสร้อยพระเครื่องและใส่นาฬิกาข้อมือ จะผิดศีล 8 ไหมครับ
ตอบลบ
ลบขึ้นกับเจตนาและความรู้สึกนะครับ
ถ้าเจตนาใส่เพื่อประดับ ตกแต่งร่างกายก็ผิดศีล 8 ตั้งแต่ตอนเริ่มใส่อยู่แล้วครับ
แต่ถ้าใส่สร้อยพระเพราะความศรัทธา ใส่นาฬิกาเพียงเพื่อใช้ดูเวลา ไม่มีเจตนาประดับ ตกแต่งร่างกาย ในขณะที่ไม่มีความยินดีพอใจในการประดับตกแต่งก็ไม่ผิด แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดความยินดีพอใจในการประดับตกแต่งขึ้นมา เวลานั้นย่อมผิดศีล 8 ครับ
เหมือนการพลาดพลั้งทำสัตว์ตายโดยไม่เจตนาฆ่าก็ไม่ผิดศีล 8 ศีล 5 แต่ถ้ามีจิตคิดจะฆ่า และสัตว์ตายไปเพราะความพยายามนั้นย่อมผิดศีลครับ
ธัมมโชติ
1.ผมได้ไปช่วยหล่อพระซึ่งคนที่หล่อมีทั้งฆราวาสและพระช่วยกัน ่ผมได้เอาน้ำดื่มจำนวนหนึ่งไปวางไว้ให้คนทีมาช่วยหล่อพระได้กิน และมีพระภิกษุมาหยิบน้ำฉันเอง คงไม่ปาราชิกหรืออาบัติใช่ไหมครับ
ตอบลบ2.ถ้าข้างต้นพระปาราชิก ถ้าผมอธิษฐานเพิ่มว่าน้ำดื่มนี้ถ้าพระภิกษุสงฆ์ประสงค์จะฉัน ก็ถือว่าเป็นการประเคนให้ท่านฉัน อย่างนี้พระคงไม่ปาราชิกหรืออาบัติใช่ไหมครับ
ลบ1. ตามพระวินัยภิกษุสามารถฉันน้ำเปล่าได้โดยไม่ต้องรับประเคนครับ ดังนั้น ถ้ากรณีเป็นน้ำเปล่าก็ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเป็นน้ำอย่างอื่น เช่น น้ำหวาน ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ไม่ถึงขั้นปาราชิกครับ เพราะไม่มีจิตคิดจะลักขโมย แต่ฉันเพราะคิดว่าเจ้าของนั้นยินดีให้ฉันอยู่แล้ว
2. การประเคนไม่สามารถทำได้โดยการอธิษฐานครับ ต้องให้ด้วยกาย หรือของเนื่องด้วยกาย (เช่นโยงเชือกหรือผ้า) หรือโยนให้ ภิกษุต้องรับด้วยกาย หรือของเนื่องด้วยกาย (เช่นใช้ผ้ารับประเคน)
อ้างอิง : พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๔.โภชนวรรค ๑๐.ทันตโปนสิกขาบท นิทานวัตถุ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๑๔ - ๔๑๗
...
[๒๖๕] อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่ยังไม่มีผู้ถวายให้ล่วงลำคอ นอกจากน้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
...
ลักษณะการรับประเคน
ที่ชื่อว่า มีผู้ถวาย คือ (๑) เขาถวายด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยโยนให้ (๒) เขาอยู่ในหัตถบาส (๓) ภิกษุรับประเคนด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย นี้ชื่อว่ามีผู้ถวาย
...
ธัมมโชติ
ผมได้เห็นคลิปพระภิกษุกราบเณรตามลิงค์นี้ https://fb.watch/ePnVQWait7/
ตอบลบเรียนถามว่า พระสามารถกราบเณรได้หรือไม่ ถ้ากราบได้กราบได้ในกรณีใดบ้างครับ
ลบสวัสดีครับ
เรื่องพระกราบเณรนั้นไม่ถึงขั้นระบุเป็นข้อห้ามเอาไว้นะครับ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ก็ขึ้นกับเจตนา และสภาวะในขณะนั้น เช่น
- พระกราบเณรเพื่อหวังในลาภ ย่อมไม่สมควรอย่างแน่นอนครับ
- พระมีอาการผิดปกติทางจิตกราบเณร อย่างนี้จะไปตำหนิท่านก็คงไม่เหมาะนะครับ เพราะท่านทำไปเพราะความป่วยทางจิต ซึ่งกรณีในคลิปที่ถามมานี้ ก็มีข่าวว่าเป็นเช่นนั้นนะครับ เห็นว่าอาจจะมีเชื้อบางอย่างขึ้นสมอง เพราะหลังจากออกจากถ้ำแล้วท่านทำอะไรแปลกๆ หลายอย่าง
- ตัวอย่างเรื่องพระไหว้เณร (ประคองอัญชลีในสำนักของสามเณร) ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่มีตรงไหนที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงตำหนิเลยนะครับ เพราะท่านทำไปเพื่อขอร้องให้สามเณรนั้นสอนกรรมฐานแก่ท่าน และท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เพราะกรรมฐานนั้น สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ เรื่องพระโปฐิลเถระ
ธัมมโชติ
ลบทำลิ้งค์ให้ใหม่นะครับ จะได้เริ่มตั้งแต่ต้นเรื่อง
เรื่องพระโปฐิลเถระ
ธัมมโชติ
กฎแห่งกรรมไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่ไม่เจตนาเลยหรือครับ เคยได้ยินมาว่า มีพระสงฆ์องค์หนึ่งไม่ได้ตั้งใจเดินเหยียบเขียดตายไป 1 ตัว ต่อมา เขียดตัวนั้นเกิดเป็นนายพราน พระองค์นั้นก็เกิดเป็นพระอีกชาติหนึ่ง นายพรานเผลอสลัดหอกไปโดนพระสงฆ์องค์นั้นตาย
ตอบลบการที่ต้องชดใช้กรรมทั้งที่ไม่มีเจตนา มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกไหมครับ
ลบในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ" ตามนี้ครับ
๙. นิพเพธิกสูตร
ว่าด้วยธรรมบรรยายชำแรกกิเลส
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๖. มหาวรรค
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า : ๕๗๑ - ๕๗๙
[๖๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายเป็นเหตุชำแรกกิเลสแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุชำแรกกิเลสนั้น อะไรบ้าง คือ
๑. เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม
วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกาม
๒. เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่ง
เวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งเวทนา
๓. เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างกันแห่ง
สัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งสัญญา
๔. เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างกันแห่ง
อาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอาสวะ
๕. เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างกันแห่ง
กรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งกรรม
๖. เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างกันแห่ง
ทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
แห่งทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิด
แห่งกาม ความต่างกันแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ข้อปฏิบัติให้
ถึงความดับแห่งกาม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
.
.
.
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคล
คิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ
เหตุเกิดแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างกันแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่พึงเสวยในนรกก็มี กรรมที่พึงเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี
กรรมที่พึงเสวยในแดนเปรตก็มี กรรมที่พึงเสวยในมนุษยโลกก็มี กรรมที่พึงเสวยใน
เทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เรากล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ
๑. กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน
๒. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไป
๓. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป๑
นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไร
คือ เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ
เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่พึงเสวยในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐเวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไปเรียกว่า อุปปัชช-
เวทนียกรรม กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม (องฺ.เอกาทสก. (แปล)
๒๔/๒๑๗/๓๕๗, อภิ.ก.๓๗/๖๓๕/๓๘๕, ๘๙๐-๘๙๑/๕๐๖-๕๐๗)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๗ }
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
ฯลฯ
๘. สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอริยสาวกรู้ชัดกรรมอย่างนี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งกรรมอย่างนี้
รู้ชัดความต่างกันแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดวิบากแห่งกรรมอย่างนี้ รู้ชัดความดับแห่ง
กรรมอย่างนี้ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ เธอจึงรู้ชัดพรหมจรรย์
ที่เป็นเหตุชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม ฯลฯ ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งกรรม’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
.
.
.
นิพเพธิกสูตรที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗๙ }
*** อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ตามลิ้งค์ข้างบน (ตรงชื่อพระสูตร) นะครับ
ธัมมโชติ
นะมัสการ กาบถาม กานที่พระสงเทดน์แหล่ สวดพุดทาพิเสกคาถา ผิดวินัยข้อใดบ่อคับ และ มีข้อยกเว้นบ่อคับ
ตอบลบ
ลบสวัสดีครับ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com
พระวินัยเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุขันธกะ] ขุททกวัตถุ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๑ - ๑๒
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว
[๒๔๙] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวดธรรมด้วยเสียงขับยาวคล้ายเพลงขับ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงสวดธรรมด้วยเสียงขับยาว เหมือนพวกเราขับร้องเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงสวดธรรมด้วยเสียงขับยาวเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว จริงหรือ” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สวดธรรมด้วยเสียงขับยาวมีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการคือ
๑. แม้ตนเองก็กำหนัดในเสียงนั้น
๒. แม้ผู้อื่นก็กำหนัดในเสียงนั้น
๓. แม้คหบดีทั้งหลายก็ตำหนิ
๔. เมื่อภิกษุพอใจการทำเสียง ความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมมี
๕. ภิกษุรุ่นหลังจะพากันตามอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว มีโทษ ๕ ประการนี้แล (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๙/๓๕๒)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวธรรมด้วยเสียงขับยาว รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ”
เรื่องภิกษุสวดสรภัญญะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงในการสวดสรภัญญะ
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการสวดเป็นทำนองสรภัญญะ”
สรุปคือการสวดด้วยเสียงขับยาว เช่น การแหล่ การร้องเพลง ฯลฯ ผิดวินัย เป็นอาบัติขั้นทุกกฏครับ ยกเว้นการสวดเป็นทำนองสรภัญญะ
ธัมมโชติ