Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

อินทรียสังวร

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

อินทรียสังวรคือการสำรวมระวังในอินทรีย์ 6 หรือผู้เป็นใหญ่ในกิจ 6 อย่างนะครับ คือ
  1. จักขุนทรีย์ คือตา ผู้เป็นใหญ่ในการมองเห็น ในที่นี้หมายถึงประสาทตานะครับ
  2. โสตินทรีย์ คือหู ผู้เป็นใหญ่ในการฟังเสียง ในที่นี้หมายถึงประสาทหู
  3. ฆานินทรีย์ คือจมูก ผู้เป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ในที่นี้หมายถึงประสาทที่รับรู้กลิ่นในโพรงจมูกนะครับ
  4. ชิวหินทรีย์ คือลิ้น ผู้เป็นใหญ่ในการลิ้มรส ในที่นี้หมายถึงประสาทรับรสที่ลิ้น
  5. กายินทรีย์ คือระบบประสาททางกาย ผู้เป็นใหญ่ในการรับรู้สัมผัสทางกาย
  6. มนินทรีย์ คือใจ ผู้เป็นใหญ่ในการนึกคิดและรับรู้สัมผัสทางใจ ทั้งนี้จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็จัดเป็นมนินทรีย์ด้วยนะครับ
ยกตัวอย่างเช่นเวลาเห็นรูปจะเป็นการรวมตัวกันของ 3 สิ่งนะครับ คือ
  1. รูปคือแสงสีที่สะท้อนจากวัตถุมาเข้าตา
  2. จักขุนทรีย์คือประสาทตาที่จอตาซึ่งทำหน้าที่เป็นสถานีรับภาพเป็นสถานที่ให้จักขุวิญญาณเกิด
  3. มนินทรีย์ซึ่งในกรณีนี้คือจักขุวิญญาณคือจิตหรือวิญญาณซึ่งเป็นส่วนของใจที่เกิดขึ้นที่จักขุปสาทหรือประสาทตา ทำหน้าที่รู้ภาพที่ตา โดยอาศัยประสาทตาเป็นสถานที่เกิด
ประสาทตาอย่างเดียวจะทำให้เกิดการมองเห็นไม่ได้ถ้าไม่มีจิต เช่น ศพที่ตายใหม่ๆ ถึงแม้ประสาทตายังดีอยู่จนสามารถนำไปเปลี่ยนถ่ายให้คนอื่นได้ แต่ในขณะที่ตายแล้วนั้นก็ไม่สามารถมองเห็นได้เพราะไม่มีจิต (เมื่อจิตไปเกิดที่จักขุปสาทก็เรียกว่าจักขุวิญญาณนะครับ)

จิตอย่างเดียวก็ทำให้เกิดการมองเห็นไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นสถานที่ให้อาศัยเกิดนะครับ เช่น คนตาบอดสนิทจักขุประสาทคือประสาทตาถูกทำลายไปหมดแล้วก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากจะมีประสาทตาใหม่มาทดแทน การนอนฝันหรือคนที่หลับตาแล้วเห็นภาพนั้นไม่นับรวมในกรณีนี้นะครับ อันนั้นเป็นรูปชนิดละเอียดเกิดขึ้นทางใจโดยตรงไม่ได้อาศัยจักขุปสาทเป็นแดนเกิด

สำหรับการพิจารณาเรื่องอินทรียสังวรนี้ไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงการทำงานของอินทรีย์ต่างๆ อย่างรายละเอียดด้านบนซึ่งอธิบายเอาไว้เผื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นในอนาคตนะครับ ในที่นี้เพียงแค่ให้เข้าใจถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำเมื่อรับรู้สิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพียงพอแล้ว

อินทรียสังวรจัดเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติขั้นที่สูงกว่าศีลอีก 1 ขั้นนะครับ หรือจะกล่าวว่าเป็นศีลในระดับจิตใจ หรือเป็นศีลขั้นสูงก็ว่าได้ อินทรียสังวรนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นเป็นอย่างมากครับ

พระไตรปิฎก :

พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๙ หน้า : ๗๒ ข้อ : ๒๑๓)

อินทรียสังวร

[๑๒๒] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย?
(พระพุทธเจ้าตรัสโปรดพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร - ธัมมโชติ)

ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ (คือไม่ยินดียินร้าย ไม่ฝักใฝ่ผูกพัน คือเห็นก็สักว่าเห็น ไม่ถูกกิเลสครอบงำ - ธัมมโชติ) เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการมองเห็น คือตานั่นเองครับ - ธัมมโชติ) ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ - ธัมมโชติ) และโทมนัส (ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ - ธัมมโชติ) ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
ดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
ลิ้มรสด้วยชิวหา ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...

รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการคิด คือใจหรือจิตนั่นเองครับ - ธัมมโชติ) ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน

ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

2 ความคิดเห็น :

  1. ยังเข้าใจไม่ลึก เหมือนคำอธิบายยังไม่ครบ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ