Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๒-๙ หน้า ๔๙๑ - ๕๕๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๙ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๓๖๘] ก็ภิกษุได้จีวรใหม่ พึงใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิดอย่างใดอย่าง
หนึ่งคือ สีเขียว สีตม หรือสีดำคลํ้า มาทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ใช้วัตถุที่ทำให้
เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้เสียสี ใช้สอยจีวรใหม่ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๙] ที่ชื่อว่า ใหม่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าที่ยังไม่ทำพินทุกัปปะ๑
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ภิกษุพึงใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้
เสียสี คือ โดยที่สุดภิกษุพึงทำให้เสียสีแม้ด้วยปลายหญ้าคาแตะ
ที่ชื่อว่า สีเขียว ได้แก่ สีเขียว ๒ อย่าง คือ เขียวสำริด สีเขียวใบไม้
ที่ชื่อว่า สีตม พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสีน้ำโคลน
ที่ชื่อว่า สีดำคล้ำ ได้แก่ สีดำคล้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า ถ้าภิกษุไม่ใช้วัตถุที่ทำให้เสียสี ๓ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มา
ทำให้เสียสี ความว่า โดยที่สุดภิกษุไม่เอาปลายหญ้าคาแตะวัตถุที่ทำให้เสียสี ๓
ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำให้เสียสี แล้วใช้สอยจีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พินทุกัปปะ” หมายถึงการทำจุดเป็นวงกลมอย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด
ที่มุมจีวร ด้วยสีเขียว สีตม หรือสีดำคลํ้า เพื่อทำให้จีวรเสียสีหรือมีตำหนิ (วิ.อ. ๒/๓๖๘-๙/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๗๐] ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ทำให้เสียสี ใช้สอย ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ยังไม่ได้ทำให้เสียสี ภิกษุสำคัญว่าทำให้เสียสีแล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ทำให้เสียสี ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้เสียสีแล้ว ภิกษุสำคัญว่าใช้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๗๑] ๑. ภิกษุทำให้เสียสีแล้วนุ่งห่ม
๒. ภิกษุห่มจีวรที่พินทุกัปปะเสียหายไป
๓. ภิกษุห่มจีวรที่ทำพินทุกัปปะไว้ แต่เก่าคร่ำคร่า
๔. ภิกษุห่มจีวรที่ไม่ได้ทำพินทุกัปปะไว้ แต่เย็บติดกับจีวรที่ทำ
พินทุกัปปะไว้
๕. ภิกษุนุ่งห่มผ้าปะ
๖. ภิกษุนุ่งห่มผ้าทาบ
๗. ภิกษุใช้ผ้าดาม
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุพพัณณกรณสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๙. วิกัปปนสิกขาบท
ว่าด้วยการวิกัปปจีวร
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๓๗๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัป๑
จีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันแล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้
ปัจจุทธรณ์๒ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้แจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “ท่านทั้งหลาย
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่กระผมแล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้
ปัจจุทธรณ์”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุแล้ว จึงใช้สอยจีวรที่ยังมิได้
ปัจจุธรณ์เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอวิกับจีวรด้วยตน

เชิงอรรถ :
๑ วิกัป เป็นวินัยกรรม คือวิธีการทางพระวินัย เพื่อป้องกันอาบัติ ตามปกติภิกษุจะใช้สอยผ้านุ่งห่มเพียง
๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตตราสงค์ ผ้าอันตรวาสก ผ้านอกจากนี้เรียกว่า ผ้าอติเรกจีวร เก็บไว้ใช้สอยได้
ไม่เกิน ๑๐ วัน ถ้าต้องการจะใช้สอยตลอดไป ต้องวิกัป คือ ยกให้แก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้ที่
รับไป ต้องให้คืนไว้ใช้สอย นี้เป็นวินัยกรรม ในกรณีนี้ถ้าเป็นสมัยจีวรกาล ไม่ต้องวิกัป ใช้ได้ตลอดจน
กว่าจะหมดจีวรกาล (ดู นิสสัคคีย์ สิกขาบทที่ ๑ ข้อ ๔๖๐-๔๗๐ หน้า ๒-๘ ในเล่มนี้ และ วิ.ม. ๕/
๓๕๘/๑๖๐, วิ.อ. ๒/๔๖๙/๑๔๖-๑๕๕)
๒ คำว่า “ปัจจุทธรณ์” แปลว่า ถอนคืน คือถอนผ้าที่วิกัปไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
เองแก่ภิกษุแล้วใช้สอยจีวรที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์ จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอ เมื่อวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุแล้ว จึงใช้สอยจีวรที่ยังมิได้
ปัจจุทธรณ์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๗๓] ก็ ภิกษุใดวิกัปจีวรด้วยตนเองแก่ภิกษุ หรือแก่ภิกษุณี หรือแก่
สิกขมานา หรือแก่สามเณร หรือแก่สามเณรี แล้วใช้สอยจีวรที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๗๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า แก่ภิกษุ คือ ภิกษุรูปอื่น
ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีที่อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สตรีผู้ศึกษาสิกขาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี
ที่ชื่อว่า สามเณร ได้แก่ บุรุษผู้ถือสิกขาบท ๑๐ ข้อ
ที่ชื่อว่า สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้ถือสิกขาบท ๑๐ ข้อ
คำว่า ด้วยตนเอง คือ วิกัปเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขนาดพอที่จะวิกัป
ได้เป็นอย่างตํ่า
ที่ชื่อว่า วิกัป มี ๒ อย่าง คือ (๑) วิกัปต่อหน้า (๒) วิกัปลับหลัง
ที่ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า คือ ภิกษุกล่าวว่า “ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน
หรือข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ภิกษุนี้”
ที่ชื่อว่า วิกัปลับหลัง คือ ภิกษุกล่าวว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านเพื่อวิกัป”
ภิกษุผู้รับวิกัปถามภิกษุผู้วิกัปว่า “ใครเป็นมิตรหรือเพื่อนของท่าน”
พึงตอบว่า “ภิกษุชื่อนี้และภิกษุชื่อนี้”
ภิกษุผู้รับวิกัปพึงกล่าวกับภิกษุผู้วิกัปว่า “ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุเหล่านั้น จีวร
ผืนนี้เป็นของภิกษุเหล่านั้น ท่านจงใช้สอย จงสละ หรือจงทำตามเหตุผลเถิด”
ที่ชื่อว่า ที่ยังมิได้ปัจจุทธรณ์ คือ จีวรที่ผู้รับวิกัปยังไม่ได้คืนให้๑ หรือภิกษุผู้
วิกัปใช้สอยจีวรโดยไม่คุ้นเคยกับภิกษุผู้รับวิกัปนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๗๕] จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้ปัจจุทธรณ์ ใช้สอย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้สอย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
จีวรยังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ภิกษุสำคัญว่าปัจจุทธรณ์แล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คือภิกษุผู้รับวิกัปยังมิได้ให้คืนด้วยกล่าวว่า “ท่านจะใช้สอย จะสละ หรือจะทำตามเหตุผลก็ได้”
ปัจจุทธรณ์ คือถอนวิกัปนั่นเอง (วิ.อ. ๒/๓๗๔/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๙.วิกัปปนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุอธิษฐานหรือสละ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้ปัจจุทธรณ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
จีวรปัจจุทธรณ์แล้ว ภิกษุสำคัญว่าปัจจุทธรณ์แล้ว ไม่เป็นอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๗๖] ๑. ภิกษุใช้สอยจีวรที่ผู้รับวิกัปคืนให้หรือใช้สอยจีวรด้วยความคุ้น
เคยกับภิกษุผู้รับวิกัป
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
วิกัปปนสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๑๐. จีวรอปนิธานสิกขาบท
ว่าด้วยการซ่อนจีวร
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๓๗๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไม่เก็บ
บริขาร พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ไป
ซ่อน พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ได้กล่าวกับพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกท่านโปรดคืนบาตรบ้างจีวรบ้างให้แก่พวกเราเถิด” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พากัน
หัวเราะ พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์พากันร้องไห้
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “พวกท่านร้องไห้ทำไม”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เอาบาตร
บ้าง จีวรบ้างของพวกกระผมไปซ่อน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของภิกษุทั้งหลายไปซ่อนเล่า” ครั้นภิกษุ
เหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเอาบาตรบ้าง
จีวรบ้างของภิกษุทั้งหลายไปซ่อน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนเธอ
จึงเอาบาตรบ้าง จีวรบ้างของพวกภิกษุไปซ่อนเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๗๘] ก็ ภิกษุใดเอาบาตรหรือจีวร ผ้าปูนั่ง กล่องเข็มหรือประคดเอว
ของภิกษุไปซ่อน ใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๗๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็.....ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุอื่น
ที่ชื่อว่า บาตร ได้แก่ บาตร ๒ ชนิด คือ (๑) บาตรเหล็ก (๒) บาตรดิน
ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดพอที่จะ
วิกัปได้เป็นอย่างต่ำ
ที่ชื่อว่า ผ้าปูนั่ง พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงผ้าปูนั่งมีชาย
ที่ชื่อว่า กล่องเข็ม ได้แก่ กล่องที่มีเข็มหรือไม่มีเข็มก็ตาม
ที่ชื่อว่า ประคดเอว ได้แก่ ประคดเอว ๒ ชนิด คือ (๑) ประคดเอวผ้า
(๒) ประคดเอวไส้สุกร
คำว่า เอาไปซ่อน คือ ภิกษุเอาไปซ่อนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้เอาไปซ่อน คือ ภิกษุใช้ผู้อื่นให้เอาไปซ่อน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑๐.จีวรอปนิธานสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่ซ่อนหลายครั้ง ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น คือ ภิกษุประสงค์จะเล่น
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๘๐] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน เอาบาตร หรือจีวร หรือ
ผ้าปูนั่ง หรือกล่องเข็ม หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้
มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ เอาบาตร หรือจีวร หรือผ้าปูนั่ง หรือกล่องเข็ม
หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน เอาบาตร หรือจีวร หรือผ้าปูนั่ง
หรือกล่องเข็ม หรือประคดเอวไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุเอาบริขารอื่นไปซ่อน หรือใช้ให้เอาไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเอาบาตร หรือจีวร หรือบริขารอื่นของอนุปสัมบันไปซ่อน หรือใช้ให้เอา
ไปซ่อน โดยที่สุดแม้มุ่งจะล้อเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๘๑] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะล้อเล่น
๒. ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี
๓. ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังจะสั่งสอนแล้วคืนให้
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
จีวรอปนิธานสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
สุราปานวรรคที่ ๖ จบ
รวมสิกขาบทที่มีในสุราปานวรรค
สุราปานวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. สุราปานสิกขาบท ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย
๒. อังคุลิปโตทกสิกขาบท ว่าด้วยการใช้นิ้วมือจี้กันและกัน
๓. หัสสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยการเล่นน้ำ
๔. อนาทริยสิกขาบท ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อต่อคำตักเตือน
๕. ภิงสาปนสิกขาบท ว่าด้วยการทำให้ตกใจ
๖. โชติกสิกขาบท ว่าด้วยการก่อไฟผิง
๗. นหานสิกขาบท ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย
๘. ทุพพัณณกรณสิกขาบท ว่าด้วยการทำจีวรใหม่ให้เสียสี
๙. วิกัปปนสิกขาบท ว่าด้วยการวิกัปจีวร
๑๐. จีวรอปนิธานสิกขาบท ว่าด้วยการซ่อนจีวร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
หมวดว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
๑. สัญจิจจสิกขาบท
ว่าด้วยความจงใจปลงชีวิตสัตว์
เรื่องพระอุทายี
[๓๘๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเป็นนักยิงธนู๑
และท่านไม่ชอบอีกา ท่านจึงยิงอีกาทั้งหลายแล้วตัดหัวมาเสียบหลาวเรียงไว้
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ใครฆ่าอีกาเหล่านี้”
ท่านพระอุทายีตอบว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมเอง กระผมไม่ชอบอีกา”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุทายีจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า ฯลฯ” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุทายี
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอจงใจปลงชีวิตสัตว์ จริงหรือ” ท่าน
พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงจงใจปลงชีวิตสัตว์เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิ
ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ สมัยเป็นคฤหัสถ์ ท่านพระอุทายีเป็นนักแม่นธนู เชี่ยวชาญในศิลปะการใช้ธนู และเป็นอาจารย์ของนัก
แม่นธนูด้วย (วิ.อ. ๒/๓๘๒/๔๑๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๘๒/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๘๓] ก็ ภิกษุใดจงใจปลงชีวิตสัตว์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุทายี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า จงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืน ล่วงละเมิด
ที่ชื่อว่า สัตว์มีชีวิต พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสัตว์ดิรัจฉาน
คำว่า ปลงชีวิต ได้แก่ ตัดทำลายชีวิตินทรีย์ ตัดความสืบต่อ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๓๘๕] สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ปลงชีวิต ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ปลงชีวิต ไม่ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑.สัญจิจจสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๘๖] ๑. ภิกษุไม่จงใจจะปลงชีวิตสัตว์
๒. ภิกษุไม่มีสติปลงชีวิตสัตว์
๓. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว
๔. ภิกษุไม่ประสงค์จะฆ่า
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
สัญจิจจสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๒.สัปปาณกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๒. สัปปาณกสิกขาบท
ว่าด้วยการบริโภคน้ำที่มีสัตว์มีชีวิต
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามี
สัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค๑
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์
มีชีวิต ก็ยังบริโภค จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่
ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่
ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๘๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “บริโภค” หมายถึง ดื่ม ใช้ล้างบาตร เอาบาตรข้าวต้มร้อนแช่ให้เย็น อาบ หรือแม้ลงไปลุยนํ้าใน
ตระพัง ในสระโบกขรณี ทำให้เกิดคลื่น (วิ.อ. ๒/๓๘๗/๔๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๒.สัปปาณกสิกขาบท อนาปัตติวาร
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง หรือคนเหล่าอื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้
ภิกษุรู้อยู่ว่า “นํ้ามีสัตว์มีชีวิต” รู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะตายเพราะการบริโภค”
ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๓๙๐] นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต บริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๙๑] ๑. ภิกษุไม่รู้ว่า “น้ำมีสัตว์มีชีวิต”
๒. ภิกษุรู้ว่า “น้ำไม่มีสัตว์มีชีวิต”
๓. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะไม่ตายเพราะการบริโภค”
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
สัปปาณกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณวรรค
๓. อุกโกฏนสิกขาบท
ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นมาพิจารณาใหม่
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๙๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ได้ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ด้วยกล่าวว่า “กรรมยังไม่ได้ทำ
กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึงตัดสินใหม่”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ รื้อฟื้น
อธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้องเพื่อพิจารณาใหม่ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่ยังขืนรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง
เพื่อพิจารณาใหม่เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึง
รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๙๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ตัดสินไปแล้วอย่างถูกต้อง เพื่อ
พิจารณาใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๙๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือคนนั้นบอก
ที่ชื่อว่า อย่างถูกต้อง คือ อธิกรณ์ที่ตัดสินโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์
ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ (๒) อนุวาทาธิกรณ์
(๓) อาปัตตาธิกรณ์ (๔) กิจจาธิกรณ์
คำว่า รื้อฟื้น...เพื่อพิจารณาใหม่ คือ ภิกษุรื้อฟื้นด้วยกล่าวว่า “กรรมยัง
ไม่ได้ทำ กรรมทำไม่ดี พึงทำใหม่ กรรมนั้นยังไม่ได้ตัดสิน กรรมนั้นตัดสินไม่ดี พึง
ตัดสินใหม่” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๓๙๕] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง รื้อฟื้น ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ รื้อฟื้น ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง รื้อฟื้น ไม่ต้องอาบัติ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๓.อุกโกฏนสิกขาบท อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๙๖] ๑. ภิกษุรู้ว่า “กรรมนั้นทำไม่ถูกต้อง แยกกันทำหรือทำแก่ผู้ไม่ควร
แก่กรรม” จึงรื้อฟื้น
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุกโกฏนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท
ว่าด้วยการปกปิดอาบัติชั่วหยาบ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๓๙๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ต้อง อาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ๑ จึงบอกภิกษุสัทธิวิหาริกผู้เป็นพี่น้องกันว่า
“ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ท่านโปรดอย่าบอกใคร ๆ” ต่อมา
ภิกษุรูปหนึ่งก็ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ได้ขอสงฆ์อยู่ปริวาสเพื่อ(จะออก
จาก)อาบัตินั้น สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่อ(ออกจาก)อาบัตินั้นแก่ภิกษุนั้น ภิกษุผู้กำลัง
อยู่ปริวาสนั้นพบภิกษุนั้นจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกา
สุกกวิสัฏฐิ จึงได้ขอสงฆ์อยู่ปริวาส สงฆ์ได้ให้ผมอยู่ปริวาสเพื่อ(ออกจาก)อาบัติแล้ว
ผมกำลังอยู่ปริวาส ขอบอกให้ทราบ ท่านจงจำผมไว้ว่า ‘บอกให้ทราบแล้ว”
ภิกษุนั้นถามว่า “ภิกษุอื่นผู้ต้องอาบัตินี้ก็ต้องทำอย่างนี้หรือ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสตอบว่า “ใช่ ต้องทำอย่างนี้”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ท่านพระอุปนันทศากยบุตรนี้ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกา
สุกกวิสัฏฐิ ได้บอกผมว่า ‘ท่าน ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ ท่านโปรด
อย่าบอกใคร ๆ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสถามว่า “ท่านปกปิดอาบัติไว้หรือ”
ภิกษุนั้นตอบว่า “ใช่ ขอรับ”
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ” แปลว่า มีความจงใจ มีเจตนาทำนํ้าอสุจิให้เคลื่อน เป็นชื่อสังฆาทิเสส
สิกขาบทที่ ๑ (ดู พระวินัยปิฎแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๓๔ หน้า ๒๔๙-๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๐๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุรู้อยู่ จึงปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิภิกษุผู้
ปกปิดอาบัตินั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุผู้ปกปิดอาบัตินั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอรู้อยู่ ยังปกปิดอาบัติชั่ว
หยาบของภิกษุจริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ จึงปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๙๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๙๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือภิกษุผู้ต้องอาบัติ
ชั่วหยาบนั้นบอก
ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท และอาบัติ
สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
คำว่า ปกปิด ความว่า เมื่อภิกษุคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายรู้แล้วจะโจท จะ
ตักเตือน จะขู่ จะบังคับ จะทำให้เก้อเขิน เราจะไม่บอก” พอทอดธุระ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๔๐๐] อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ภิกษุปกปิดอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุปกปิดความประพฤติชั่วหยาบหรือไม่ชั่วหยาบของอนุปสัมบัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ปกปิดไว้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๔.ทุฏฐุลลสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๐๑] ๑. ภิกษุคิดว่า “สงฆ์จะบาดหมาง จะทะเลาะ จะขัดแย้ง หรือจะ
วิวาทกัน” จึงไม่บอก
๒. ภิกษุคิดว่า “สงฆ์จะแตกแยก หรือจะร้าวราน” จึงไม่บอก
๓. ภิกษุคิดว่า “ผู้นี้กักขฬะ หยาบคาย จะทำอันตรายแก่ชีวิตหรือ
อันตรายแก่พรหมจรรย์” จึงไม่บอก
๔. ภิกษุไม่พบภิกษุเหล่าอื่นที่สมควรจึงไม่ได้บอก
๕. ภิกษุไม่ต้องการจะปกปิด แต่ยังไม่ได้บอก
๖. ภิกษุคิดว่า “เขาจักปรากฏด้วยกรรมของตนเอง” จึงไม่บอก
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุฏฐุลลสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท
ว่าด้วยการอุปสมบทให้บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี
เรื่องเด็กชายอุบาลี๑
[๔๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กชายผู้เป็นเพื่อนกัน
๑๗ คน เด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กเหล่านั้น ทีนั้น มารดาบิดาของเด็กชาย
อุบาลีได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่
ลำบากด้วยวิธีใดหนอ” ลำดับนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้ปรึกษากันอีกว่า
“ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลีจะ
อยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกไปว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนเขียนหนังสือ นิ้วมือจะ
ระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี
จะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” และวิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณก็จะแน่น
หน้าอก ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน๒ ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับ
ไป เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก” แต่ก็วิตกอีกว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชา
เกี่ยวกับการเงิน นัยน์ตาของเขาจะปวด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มี
ลักษณะนิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลี
ได้บวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป
เจ้าอุบาลีจะอยู่สุขสบายและไม่ลำบาก”
เด็กชายอุบาลีออกบวช
เด็กชายอุบาลีได้ยินคำสนทนาของมารดาบิดา ครั้นแล้วเด็กชายอุบาลีจึงได้ไป
หาพวกเด็ก ๆ ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพวกเด็ก ๆ เหล่านั้นดังนี้ว่า “เพื่อน
ทั้งหลาย มาเถิด พวกเราจะไปบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๙๙/๑๑๑-๑๑๓
๒ เป็นวิชาการทำบัญชี แลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นเหรัญญิก (วิ.อ. ๒/๔๐๒/๔๑๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๐๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท นิทานวัตถุ
เด็กเหล่านั้นกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย ถ้าเจ้าบวช พวกเราก็จะบวชเช่นกัน” ครั้น
แล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตน แล้วได้กล่าวขอ
อนุญาตดังนี้ว่า “พ่อแม่โปรดอนุญาตให้พวกลูก ๆ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
อนาคาริกเถิด”
มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นอนุญาตด้วยคิดว่า “เด็กพวกนี้ต่างพร้อมใจ มี
ความปรารถนาสิ่งที่ดีงามทุกคน” พวกเด็กเหล่านั้นจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย ขอ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายให้เด็กพวกนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว
ครั้นเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ภิกษุใหม่เหล่านั้นลุกขึ้นร้องไห้ว่า “ท่านทั้งหลาย
โปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยว”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “เธอทั้งหลายรอให้สว่างเสียก่อน ถ้ามีข้าวต้ม
พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีข้าวสวย พวกเธอจะได้ฉัน ถ้ามีของเคี้ยว พวกเธอก็จะได้เคี้ยว
แต่ถ้าข้าวต้ม ข้าวสวย หรือของเคี้ยวไม่มี พวกเธอต้องเที่ยวบิณฑบาตมาฉัน”
ภิกษุใหม่เหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังพากันร้องไห้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ข้าวต้ม โปรดให้ข้าวสวย โปรดให้ของเคี้ยวเถิด” พากันถ่าย
อุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง รดเสนาสนะ
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ได้ทรงสดับเสียงเด็ก
ครั้นได้ทรงสดับแล้วจึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเด็กร้องไห้เพราะ
สาเหตุใดหรือ”
ทีนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุรู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท พระบัญญัติ
รู้อยู่ก็ยังอุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปีเล่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มี
อายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ยังไม่อดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว
ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่
ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่า
ยินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี๑ จึงจะ
อดทน อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ
ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่
เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ได้ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๐๓] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ อุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี บุคคล
นั้นไม่เป็นอันอุปสมบท และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้๒
เรื่องเด็กชายอุบาลี จบ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ชื่อว่า อายุครบ ๒๐ ปี นั้นกำหนดนับเอาตั้งแต่วันที่ถือปฏิสนธิ จิตดวงแรกเกิดในครรภ์มารดา (วิ.อ.
๒/๔๐๔/๔๑๕-๖)
๒ โส จ ปุคฺคโล อนุปสมฺปนฺโนติ ชานนฺเตนาปิ อชานนฺเตนาปิ อุปสมฺปาทิโต อนุปสมฺปนฺโนว. เต จ ภิกฺขู
คารยฺหาติ ฐเปตฺวา อุปชฺฌายํ อวเสสา คารยฺหา โหนฺติ, สพฺเพ ทุกฺกฏํ อาปชฺชติ. อิทํ ตสฺมึ ปาจิตฺติยนฺติ
โย ปน อุปชฺฌาโย หุตฺวา อุปสมฺปาเทติ, ตสฺมึเยว ปุคฺคเล อิทํ ปาจิตฺติยํ เวทิตพฺพํ
คำว่า “บุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท” คือ ผู้ที่พระอุปัชฌาย์พร้อมการกสงฆ์ ซึ่งรู้อยู่ก็ดี ไม่รู้ก็ดี
อุปสมบทให้แล้ว ก็ไม่เป็นอันได้รับการอุปสมบทเลย คำว่า “และภิกษุเหล่านั้นควรได้รับการตำหนิ” คือ ยก
เว้นพระอุปัชฌาย์แล้ว ภิกษุที่เหลือสมควรถูกตำหนิ ทุกรูปต้องอาบัติทุกกฏ คำว่า “ภิกษุนั้นต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์นี้” คือ ภิกษุรูปที่เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้นั่นแหละต้องอาบัติปาจิตตีย์ (กงฺขา.อ. ๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๔๐๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง ผู้อื่นบอกให้ภิกษุนั้นรู้ หรือบุคคลผู้มีอายุไม่
ครบ ๒๐ ปีนั้นบอก
ที่ชื่อว่า มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี คือ ผู้มีอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
ภิกษุตั้งใจว่า “จะอุปสมบทให้” แสวงหาคณะ อาจารย์ บาตร หรือจีวร
หรือสมมติสีมา ต้องอาบัติทุกกฏ จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒
ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย พระอุปัชฌาย์ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ คณะ และอาจารย์ต้องอาบัติทุกกฏ
บทภาชนีย์
[๔๐๕] บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี
อุปสมบทให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุไม่แน่ใจ อุปสมบทให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทให้
ไม่ต้องอาบัติ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบทให้
ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุไม่แน่ใจ อุปสมบทให้ ต้องอาบัติทุกกฏ
บุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่าอายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทให้ ไม่
ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๕.อูนวีสติวัสสสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๐๖] ๑. ภิกษุสำคัญบุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ว่าอายุครบ ๒๐ ปี จึง
อุปสมบทให้
๒. ภิกษุสำคัญบุคคลอายุครบ ๒๐ ปี ว่าอายุครบ ๒๐ ปี จึง
อุปสมบทให้
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
อูนวีสติวัสสสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๖. เถยยสัตถสิกขาบท
ว่าด้วยการเดินทางไกลร่วมกับพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๔๐๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พ่อค้าเกวียนกลุ่มหนึ่งต้องการ
จะเดินทางจากกรุงราชคฤห์ไปถิ่นย้อนแสง๑ ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับคนเหล่านั้น
ดังนี้ว่า “อาตมาจะเดินทางร่วมไปกับพวกท่าน”
พวกพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า “พระคุณเจ้า พวกกระผมจะเลี่ยงภาษีขอรับ”
เจ้าหน้าที่เก็บภาษีทราบข่าวว่า “พวกพ่อค้าเกวียนจะเลี่ยงภาษี” จึงดักซุ่มใน
หนทาง ครั้นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีจับพวกพ่อค้าเกวียนหมู่นั้น ริบของแล้วได้กล่าวกับ
ภิกษุนั้นว่า “พระคุณเจ้า ท่านรู้อยู่ เหตุไรจึงเดินทางร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้
เป็นโจรเล่า” ไต่สวนแล้วปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถีจึงแจ้งเรื่องนี้ให้ภิกษุ
ทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุรู้อยู่จึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิยาโลกํ ถิ่นย้อนแสง สูริยาโลกํ ปฏิมุขํ คือ ย้อนแสงตะวัน ปจฺฉิมทิสํ ได้แก่ ทิศตะวันตก (วิ.อ.
๒/ ๔๐๗/๔๑๗) พระวินัยปิฎกฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” แปลว่า ถิ่นที่อยู่ทางทิศใต้กรุงราชคฤห์(The
Book of the Discipline, Vol. III, P. 15.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอรู้อยู่ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับ
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ยังชักชวนกัน
เดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๐๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับกลุ่มพ่อค้าเกวียน
ผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๐๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ได้แก่ พวกโจรผู้เคยทำการปล้นแล้ว
หรือยังไม่เคยทำการปล้น ผู้ลักของหลวงหรือเลี่ยงภาษี
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนว่า “พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราไปกัน
เถิด ท่านผู้เจริญ ไปกันเถิด ท่านผู้เจริญ พวกเราไปกันเถิด ท่าน พวกเราจะไปวันนี้
พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๑๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๖.เถยยสัตถสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่
บินตก ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ภิกษุ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ระยะกึ่งโยชน์
บทภาชนีย์
[๔๑๐] กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าเป็นกลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้
เป็นโจร ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุไม่แน่ใจ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดย
ที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ชัก
ชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุชักชวน คนทั้งหลายไม่ได้ชักชวน ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่ากลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร
ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่กลุ่มพ่อค้าเกวียนผู้เป็น
โจร ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๑๑] ๑. ภิกษุเดินทางโดยไม่ได้ชักชวน
๒. คนทั้งหลายชักชวน แต่ภิกษุไม่ได้ชักชวน
๓. ภิกษุไปผิดเวลานัดหมาย
๔. ภิกษุผู้เดินทางกับพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจรในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
เถยยสัตถสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๗. สังวิธานสิกขาบท
ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกับมาตุคาม
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๔๑๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี
ในแคว้นโกศล ผ่านทางประตูหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามี ออก
จากหมู่บ้านพบภิกษุนั้นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญจะไปไหน”
ภิกษุนั้นตอบว่า “น้องหญิง อาตมาจะไปกรุงสาวัตถี”
หญิงนั้นกล่าวว่า “ดิฉันขอเดินทางไปกับพระคุณเจ้าด้วย”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ไปเถิด น้องหญิง”
ครั้งนั้น สามีของหญิงนั้นออกจากบ้านแล้วถามพวกชาวบ้านว่า “เจ้านาย
พวกท่านเห็นหญิงรูปร่างอย่างนี้บ้างไหม”
พวกชาวบ้านตอบว่า “นาย หญิงรูปร่างอย่างนั้นเดินทางไปกับบรรพชิต”
ลำดับนั้น ชายคนนั้นได้ติดตามไปจับภิกษุนั้นได้ทุบตีแล้วปล่อยไป ครั้งนั้น
ภิกษุนั้นนั่งบ่นอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง
ทีนั้น หญิงนั้นได้กล่าวกับสามีดังนี้ว่า “นาย ภิกษุนั้นไม่ได้พาดิฉันไป ดิฉัน
เองเป็นฝ่ายไปกับภิกษุนั้น ภิกษุนั้นไม่ใช่ตัวการ ท่านจงไปขอขมาภิกษุนั้น”
ครั้งนั้น ชายคนนั้นได้ไปขอขมาภิกษุนั้น
ครั้นภิกษุนั้นไปถึงกรุงสาวัตถีแล้วจึงเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
จึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุนั้น
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม
จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง
ตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม
เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้”
พระบัญญัติ
[๔๑๓] ก็ ภิกษุใดชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้
ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๑๔] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต
คำหยาบและคำสุภาพ
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า ชักชวนกัน คือ ชักชวนว่า “พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวกเรา
ไปกันเถิด พระคุณเจ้า ไปกันเถิด พระคุณเจ้า พวกเราไปกันเถิด น้องหญิง พวก
เราจะไปวันนี้ พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านหนึ่งกำหนดชั่วไก่
บินตก ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ละแวกหมู่บ้าน ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน ภิกษุต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ ระยะกึ่งโยชน์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๑๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกัน
โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดยที่สุดแม้ชั่วละแวก
หมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันโดย
ที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุชักชวน มาตุคามไม่ได้ชักชวน ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกันกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือ
สัตว์ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ผู้หญิง โดยที่สุดแม้ชั่วละแวกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๗.สังวิธานสิกขาบ อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๑๖] ๑. ภิกษุเดินทางโดยไม่ได้ชักชวน
๒. มาตุคามชักชวน แต่ภิกษุไม่ได้ชักชวน
๓. ภิกษุไปผิดเวลานัดหมาย
๔. ภิกษุผู้เดินทางกับมาตุคามในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
สังวิธานสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๘. อริฏฐสิกขาบท
ว่าด้วยพระอริฏฐะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
เรื่องพระอริฏฐะ
[๔๑๗] ๑สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระ
อริฏฐะ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง๒ ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”๓
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่พระอริฏฐะผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จูฬ. ๖/๖๕/๘๒-๔, ม.มู. ๑๒/๒๓๔/๑๙๖-๑๙๙
๒ คทฺธาธิปุพฺโพ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง อรรถกถาอธิบายว่า คทฺเธ พาธยึสูติ คทฺธพาธิโน,
คทฺธพาธิโน ปุพฺพปุริสา อสฺสาติ คทฺธพาธิปุพฺโพ. ...คิชฺฌฆาฏกกุลปฺปสูตสฺส พรานฆ่านกแร้งเป็นบรรพ
บุรุษของเขา เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าเป็นผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง หมายความว่า เป็นคนเกิดใน
ตระกูลพรานฆ่านกแร้ง (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘)
๓ พระอริฏฐะ รูปนี้เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้แต่อันตรายิกธรรมบางส่วน เพราะเหตุที่ท่านไม่ฉลาดเรื่อง
วินัย จึงไม่รู้เรื่องอันตรายิกธรรมแห่งการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ ดังนั้น ครั้งที่ท่านอยู่ในที่หลีกเร้นจึง
ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า พวกคฤหัสถ์ที่ยุ่งกี่ยวอยู่กับกามคุณ ที่เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็น
อนาคามีก็มี ส่วนพวกภิกษุก็ยังเห็นรูปที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ ฯลฯ ยังถูกต้องสิ่งสัมผัสที่จะพึงรู้ด้วยกาย ยังใช้
สอยผ้าปูผ้าห่มอ่อนนุ่ม สิ่งนี้ทั้งหมดถือว่าควร ทำไมรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของหญิงจะไม่ควร สิ่ง
เหล่านั้นต้องควรแน่นอน ท่านเกิดทิฏฐิบาปขึ้นมาแล้ว ขัดแย้งกับพระสัพพัญ�ุตญาณว่า “ทำไมพระผู้มี
พระผู้มีพระภาคจึงบัญญัติปฐมปาราชิกอย่างกวดขัน ประดุจกั้นมหาสมุทรฉะนั้น ในข้อนี้ไม่มีโทษ” ตัด
ความหวังของเหล่าภัพพบุคคล คัดค้านพระเวสารัชญาณ ใส่ตอและหนามในอริยมรรค ประหารอาณาจักร
ของพระชินเจ้าด้วยกล่าวว่า “เมถุนธรรม ไม่มีโทษ” (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘-๔๑๙, ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙-๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
ก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาพระอริฏฐะผู้
มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระอริฏฐะผู้มีบรรพ
บุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งดังนี้ว่า “ท่านอริฏฐะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้น
แก่ท่านว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ จริงหรือ”
พระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น
ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวว่า “ท่านอริฏฐะ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่
พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้
ตรัสอย่างนั้น ท่านอริฏฐะ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มี
ความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่าง
ยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากาม
ทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน
ของที่ยืมมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น๑

เชิงอรรถ :
๑ วิสรุกฺขผลูปมา สพฺพงฺคปจฺจงฺคปลิภ�ฺชนฏฺเ�น เปรียบเหมือนผลไม้มีพิษ เพราะบั่นทอนร่างกาย
(ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๑๐)
อีกนัยหนึ่ง คนที่ต้องการผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้ เมื่อพบต้นไม้ผลดกจึงปีนขึ้นไปเก็บกิน เก็บใส่ห่อ
อีกคนหนึ่งก็ต้องการผลไม้เช่นกัน เที่ยวแสวงหา พบเห็นต้นไม้ผลดกต้นเดียวกันนั้น แต่แทนที่จะปีนขึ้น
ไปเก็บผลไม้กิน กลับเอาขวานตัดต้นไม้ผลดกนั้นในขณะที่คนแรกยังอยู่บนต้นไม้ อันตรายจึงเกิดขึ้นแก่
เขา (ดู ม.ม. ๑๓/๔๘/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท นิทานวัตถุ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มี
โทษอย่างยิ่ง”
พระอริฏฐะถูกภิกษุเหล่านั้นตักเตือนแต่ก็ยังกล่าวด้วยความยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิ
บาปนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรม
ก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะปลดเปลื้องพระอริฏฐะผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านก
แร้งจากทิฏฐิบาปนั้นได้ ครั้นแล้วภิกษุทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึงกราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระอริฏฐะว่า “อริฏฐะ ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่เธอว่า ‘เรารู้
ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริง
หรือ” พระอริฏฐะทูลรับว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่ว
ถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วได้
อย่างไร โมฆบุรุษ เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการ
ต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง มิใช่หรือ เรา
กล่าวว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้
มีโทษอย่างยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท พระบัญญัติ
ชิ้นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ เรากล่าว
ว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบ
เหมือนความฝัน ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ เรา
กล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว
ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึด
ถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก โมฆบุรุษ ข้อ
นั้นจักเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน โมฆบุรุษ การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๑๘] ก็ ภิกษุใดกล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึง
ว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดย
ประการต่างๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง”
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังยืนยันอยู่อย่างนั้น
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์จนครบ ๓ ครั้ง เพื่อให้สละทิฏฐินั้น
ถ้าเธอกำลังถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบ ๓ ครั้ง สละทิฏฐินั้นได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอริฏฐะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๔๑๙] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
พวกภิกษุที่ได้เห็น ได้ยิน พึงว่ากล่าวตักเตือนภิกษุนั้นว่า “ท่านอย่าได้กล่าว
อย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระ
ผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็น
ธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้
ครั้งที่ ๓ ถ้าภิกษุนั้นสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลายทราบเรื่องแล้วไม่ตักเตือน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลายพึงนำตัวภิกษุนั้นมาท่ามกลางสงฆ์แล้วว่ากล่าวตักเตือนว่า
“ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่าน พระผู้มีพระภาคตรัสธรรม
ที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็
สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าภิกษุนั้นสละได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๒๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
วิธีสวดสมนุภาสน์และกรรมวาจาสวดสมนุภาสน์
ภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุนั้นอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๔๒๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วก็พึงสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อ
นี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’
ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปใด
เห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นถึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็ขอกล่าวความนี้ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็ขอกล่าว
ความนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่อนี้
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่’ ภิกษุนั้นไม่สละทิฏฐินั้น สงฆ์สวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสวดสมนุภาสน์ภิกษุชื่อนี้เพื่อให้สละทิฏฐินั้น ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้ สงฆ์สวดสมนุภาสน์แล้วเพื่อให้สละทิฏฐินั้น สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๘.อริฏฐสิกขาบท อนาบัติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๒๑] กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ไม่สละ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่สละ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่สละ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๒๒] ๑. ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาสน์
๒. ภิกษุผู้สละ
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
อริฏฐสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท
ว่าด้วยการคบหาภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๒๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ก็ยัง
คบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุชื่ออริฏฐะผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยัง
มิได้ทำธรรมอันสมควร๑ ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น๒
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ยังคบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุชื่ออริฏฐะ
ผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้นเล่า”
ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ก็ยังคบหา
บ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุอริฏฐะผู้กล่าวตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำ
ธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร” หมายถึงพระอริฏฐถูกสงฆ์ลงโทษโดยการยกออกจากหมู่
จากชุมนุมสงฆ์ ที่เรียกว่า “ลงอุกเขปนียกรรม” สงฆ์ยังไม่ได้ยกเลิกโทษนั้น (วิ.อ. ๒/๔๒๔-๕/๔๒๐)
๒ พระอริฏฐะกล่าวตู่พระธรรมวินัยในสิกขาบทที่ ๘ สัปปาณกวรรค ข้อ ๔๑๗ หน้า ๕๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ไฉนพวกเธอรู้อยู่ก็ยังคบหาบ้าง อยู่ร่วมบ้าง นอนร่วมบ้างกับภิกษุอริฏฐะผู้กล่าว
ตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้นเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อม
ใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๒๔] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ก็ยังคบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วมกับภิกษุผู้กล่าว
ตู่อย่างนั้น ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๒๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือภิกษุรูปที่กล่าวตู่
นั้นบอก
คำว่า ผู้กล่าวตู่อย่างนั้น คือ ภิกษุผู้กล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรม
ก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ที่ชื่อว่า ผู้ที่สงฆ์ยังมิได้ทำธรรมอันสมควร คือ ภิกษุนั้นถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมแล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้เรียกเข้าหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า กับ...ยังไม่ยอมสละทิฏฐินั้น คือ ร่วมกับผู้ที่ยังไม่ยอมสละความเห็นนั้น
คำว่า คบหา อธิบายว่า ที่เรียกว่าคบหา ได้แก่ การคบหา ๒ อย่างคือ
(๑) คบหาทางอามิส (๒) คบหาทางธรรม
ที่ชื่อว่า คบหาทางอามิส คือ ภิกษุให้อามิสหรือรับอามิส ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า คบหาทางธรรม คือ ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดงเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ บท
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดงเป็นอักษร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ อักษร
คำว่า อยู่ร่วม ความว่า ภิกษุทำอุโบสถ ปวารณา หรือสังฆกรรมร่วมกับ
ภิกษุผู้ถูกสงฆ์อุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอนร่วมกับ อธิบายว่า ในที่ที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรมนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอน ภิกษุ
ผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมก็นอน ภิกษุที่นอนด้วย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอน
ทั้ง ๒ รูป ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุลุกขึ้นแล้วกลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๔๒๖] ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าเป็นภิกษุถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุไม่แน่ใจ คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม
ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรม คบหา อยู่ร่วม หรือนอนร่วม ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าเป็นภิกษุที่ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๙.อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลง
อุกเขปนียกรรม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๒๗] ๑. ภิกษุรู้ว่า ภิกษุนั้นไม่ได้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม
๒. ภิกษุรู้ว่า “ภิกษุนั้นถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม แต่สงฆ์เรียกเข้า
หมู่แล้ว”
๓. ภิกษุรู้ว่า “ภิกษุนั้น ยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว”
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุกขิตตสัมโภคสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๗. สัปปาณกวรรค
๑๐. กัณฏกสิกขาบท
ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถูกสงฆ์นาสนะ
เรื่องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะ
[๔๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่ง
ว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่สมณุทเทสชื่อ
กัณฏกะว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถึงที่อยู่ ครั้นถึง
แล้วได้กล่าวกับสมณุทเทสชื่อกัณฏกะดังนี้ว่า “กัณฏกะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้
ได้เกิดขึ้นแก่เธอว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่า
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมว่าก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริงหรือ”
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
กระผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มี
พระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวว่า “กัณฏกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระ
ผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส
อย่างนั้น กัณฏกะ พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้น
มาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่าง
โครงกระดูก ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ พระผู้มีพระ
ภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือน
ผลไม้คาต้น ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ พระผู้มี
พระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ใน
กามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”
สมณุทเทสชื่อว่ากัณฏกะถูกภิกษุเหล่านั้นตักเตือน แต่ก็ยังกล่าวด้วยความยึด
มั่นถือมั่นทิฏฐิบาปนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย กระผม
รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจปลดเปลื้องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะจากทิฏฐิบาปนั้นได้ ครั้น
แล้วภิกษุทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึง
กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์สั่งนาสนะกัณฏกสมณุทเทส
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามสมณุทเทสชื่อกัณฏกะว่า “กัณฏกะ ทราบว่า ทิฏฐิบาปเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่
เธอว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้
จริงไม่ จริงหรือ” สมณุทเทสชื่อกัณฏกะทูลรับว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธ
เจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วได้อย่างไร
โมฆบุรุษ เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ
และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง มิใช่หรือ เรากล่าวว่า
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่าง
ยิ่ง เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก ฯลฯ เรากล่าวว่ากาม
ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิง
หญ้า ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ เรากล่าว
ว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบ
เหมือนของที่ยืมมา ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น ฯลฯ
เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลาย
เปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ เรากล่าวว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์
มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอชื่อ
ว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญ
เป็นอันมาก โมฆบุรุษ ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอ
ตลอดกาลนาน โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย” ครั้นทรงตำหนิแล้วจึงทรงแสดง
ธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงนาสนะ๑
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะ ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงนาสนะ สมณุทเทสชื่อกัณฏกะอย่างนี้
ว่า “กัณฏกะ ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึงอ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะไม่
มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้ เธอจงไปที่
อื่น เธอจงไปให้พ้น” ดังนี้ ครั้งนั้นแล สงฆ์ได้นาสนะสมณุทเทสชื่อกัณฏกะแล้ว
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ ก็ยังปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูก
สงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “นาสนะ” แปลว่า ให้ฉิบหาย ได้แก่ การลงโทษภิกษุ มี ๓ วิธี คือ (๑) ลิงคนาสนะ ให้สึก
(๒) ทัณฑกรรมนาสนะ ไล่ออกจากสำนัก (๓) สังวาสนาสนะ ยกออกจากหมู่ สมณุทเทสชื่อกัณฏกะนี้
ถูกลงโทษโดยการไล่ออกจากสำนัก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/๔๒๐-๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ จึงปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้น
แล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้างเล่า” ครั้นภิกษุหล่านั้น
ตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ยังปลอบโยน
สมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้เธอให้อุปัฏฐากบ้าง
คบหาบ้าง นอนร่วมบ้าง จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธ
เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวก
เธอรู้อยู่ ยังปลอบโยนสมณุทเทสชื่อกัณฏกะที่ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วบ้าง ใช้
เธอให้อุปัฏฐากบ้าง คบหาบ้าง นอนร่วมบ้างเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เสื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๒๙] ถ้าสมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” สมณุทเทสนั้นอันภิกษุ
ทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า “เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มี
พระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส
อย่างนั้น สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริง” สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ ก็ยังคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ยืนยันอยู่อย่างนั้น สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนว่า
“สมณุทเทส ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึงอ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะ
ไม่มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้
เธอจงไปที่อื่น๑ เธอจงไปให้พ้น” ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ก็ยังปลอบโยนสมณุทเทสผู้ถูก
สงฆ์นาสนะแล้วอย่างนั้น ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องสมณุทเทสชื่อกัณฏกะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๐] ที่ชื่อว่า สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณร
คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ สมณุทเทสกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้วจนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่อ
อันตรายก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
คำว่า สมณุทเทสนั้น ได้แก่ สมณุทเทสผู้กล่าวอย่างนั้น
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
พวกภิกษุที่ได้เห็นได้ยิน พึงว่ากล่าวตักเตือนสมณุทเทสนั้นว่า “สมณุทเทส
เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัส
ธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้น
ก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง” พึงว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๒ พึง
ว่ากล่าวตักเตือนเธอแม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้เป็นการดี ถ้าไม่สละ สมณุทเทสนั้น

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “จงไปที่อื่น” แปลมาจากคำว่า “จร ปิเร” ตามนัยฎีกาว่า จร ปิเรติ ปรโต คจฺฉ, มา อิธ ติฏฺฐ
(สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๒๘/๑๑๑) จงไปทางอื่น อย่าอยู่ที่นี้, อีกนัยหนึ่งว่า ปิเรติ ปร อมามก (วิ.อ. ๒/๔๒๘/
๔๒๑) อมฺหากํ อนชฺฌตฺติกภูต (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๒๘/๑๑๐) โอวาทสฺส อปฏิคฺคหเณน
อติกฺกมเนน อมามกา ปเร นาม (ขุ.ธ.อ. ๑/๕/๕๘) เธอเป็นคนอื่นผู้ไม่นับถือพระรัตนตรัย, มิได้อยู่
ในวงศ์ของพวกเรา เพราะไม่รับโอวาท เพราะล่วงละเมิดโอวาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท บทภาชนีย์
อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า “สมณุทเทส ตั้งแต่วันนี้เธอไม่พึง
อ้างพระผู้มีพระภาคว่าเป็นศาสดา และเธอจะไม่มีการนอนร่วมกัน ๒-๓ คืนกับภิกษุ
ทั้งหลายเหมือนสมณุทเทสเหล่าอื่นได้ เธอจงไปที่อื่น เธอจงไปให้พ้น”
คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุรู้เอง คนเหล่าอื่นบอกภิกษุนั้น หรือสมณุทเทส
นั้นบอก
คำว่า ผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้วอย่างนั้น คือ ถูกสงฆ์ให้ฉิบหายแล้วอย่างนั้น
ที่ชื่อว่า สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงสามเณร
คำว่า ปลอบโยน คือ ภิกษุปลอบโยนว่า “เราจะให้บาตร จีวร อุทเทส
หรือปริปุจฉาแก่สมณุทเทสนั้น” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คือ ภิกษุยินดีจุรณ ดินเหนียว ไม้สีฟัน หรือ
น้ำบ้วนปากของสมณุทเทสนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า คบหา อธิบายว่า ที่เรียกว่าคบหา ได้แก่ การคบหา ๒ อย่าง คือ
(๑) คบหาทางอามิส (๒) คบหาทางธรรม
ที่ชื่อว่า คบหาทางอามิส คือ ภิกษุให้อามิสหรือรับอามิส ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า คบหาทางธรรม คือ ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง เป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุก ๆ บท
ภิกษุยกธรรมขึ้นแสดงหรือให้ยกธรรมขึ้นแสดง เป็นอักษร ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ทุก ๆ อักษร
คำว่า นอนร่วม อธิบายว่า ในที่ที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อสมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์
นาสนะนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอน สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค ๑๐.กัณฏกสิกขาบท อนาปัตติวาร
นาสนะก็นอน ภิกษุที่นอนด้วย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนทั้ง ๒ รูป ก็ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ทั้ง ๒ ลุกขึ้นแล้ว กลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๔๓๑] สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าถูกสงฆ์นาสนะแล้ว
ปลอบโยน ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ปลอบโยน ใช้เธอให้อุปัฏฐาก
คบหา หรือนอนร่วม ต้องอาบัติทุกกฏ
สมณุทเทสที่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ถูกสงฆ์นาสนะ ปลอบโยน
ใช้เธอให้อุปัฏฐาก คบหา หรือนอนร่วม ไม่ต้องอาบัติ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าถูกสงฆ์นาสนะ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
สมณุทเทสที่ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๓๒] ๑. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สมณุทเทสไม่ถูกสงฆ์นาสนะ”
๒. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สมณุทเทสสละทิฏฐินั้นแล้ว”
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
กัณฏกสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
สัปปาณกวรรคที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค รวมสิกขาบทที่มีในสัปปาณกวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในสัปปาณกวรรค
สัปปาณกวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. สัญจิจจสิกขาบท ว่าด้วยความจงใจฆ่าสัตว์มีชีวิต
๒. สัปปาณกสิกขาบท ว่าด้วยการบริโภคนํ้าที่มีสัตว์มีชีวิต
๓. อุกโกฏนสิกขาบท ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นมาพิจารณา
ใหม่
๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท ว่าด้วยการปกปิดอาบัติชั่วหยาบ
๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท ว่าด้วยการอุปสมบทให้บุคคลมีอายุหย่อน
กว่า ๒๐ ปี
๖. เถยยสัตถสิกขาบท ว่าด้วยการเดินทางไกลร่วมกับพ่อค้าเกวียน
ผู้เป็นโจร
๗. สังวิธานสิกขาบท ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกับ
มาตุคาม
๘. อริฏฐสิกขาบท ว่าด้วยพระอริฏฐะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท ว่าด้วยการคบหาภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรม
๑๐. กัณฏกสิกขาบท ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฏกะถูกสงฆ์นาสนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ร่วมประพฤติธรรม
๑. สหธรรมิกสิกขาบท
ว่าด้วยการกล่าวตักเตือนผู้ร่วมประพฤติธรรมโดยชอบธรรม
เรื่องพระฉันนะ
[๔๓๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต
กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้
ว่า “ท่านฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร” ท่านพระ
ฉันนะนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จน
กว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประฌาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น
ผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธรเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือน
โดยชอบธรรมก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้
จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น ผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร’ จริงหรือ” ท่าน
พระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรมก็กล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถาม
ภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร’ เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๓๔] ก็ ภิกษุใดอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนโดยชอบธรรม กล่าว
อย่างนี้ว่า “กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูปอื่น
ผู้ฉลาด ผู้เป็นวินัยธร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ศึกษาพึงรู้
พึงสอบถาม พึงพิจารณา นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น
เรื่องพระฉันนะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๓๕] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ อันภิกษุเหล่าอื่น
ที่ชื่อว่า โดยชอบธรรม คือ สิกขาบทใดที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้
นี้ชื่อว่าโดยชอบธรรม
ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนด้วยพระบัญญัติโดยชอบธรรมนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้
สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็น
พหูสูต ผู้เป็นพระธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๓๖] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุนั้นอันอุปสัมบันว่ากล่าวตักเตือนด้วยเรื่องที่ไม่ใช่พระบัญญัติ กล่าวว่า
“เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร” กล่าว
ว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้สอบถามภิกษุรูป
อื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็นพหูสูต ผู้เป็นพระ
ธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนั้นอันอนุปสัมบันว่ากล่าวตักเตือนด้วยพระบัญญัติ หรือไม่ใช่พระบัญญัติ
กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไป
เพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความ
เพียร” กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย กระผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ จนกว่าจะได้
สอบถามภิกษุรูปอื่นผู้ฉลาด ผู้เป็นพระวินัยธร ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้เป็น
พหูสูต ผู้เป็นพระธรรมกถึก” ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๑.สหธรรมิกสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า ผู้ศึกษา คือ ผู้ใคร่สำเหนียก
คำว่า พึงรู้ คือ พึงทราบ
คำว่า พึงสอบถาม คือ พึงสอบถามว่า “ท่านผู้เจริญ สิกขาบทนี้เป็นอย่างไร
หรือสิกขาบทนี้มีเนื้อความว่าอย่างไร”
คำว่า พึงพิจารณา คือ พึงคิด พึงไตร่ตรอง
คำว่า นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๓๗] ๑. ภิกษุกล่าวว่า “เราจักรู้ จักศึกษา”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
สหธรรมิกสิกขาบทที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒วิเลขนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค
๒. วิเลขนสิกขาบท
ว่าด้วยความยุ่งยากแห่งสิกขาบท
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๓๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรง
พรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรณนาคุณแห่ง
พระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณท่านพระอุบาลี
โดยประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะเรียนพระวินัยในสำนัก
ท่านพระอุบาลี”
ภิกษุเหล่านั้นจำนวนมาก เป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพา
กันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักท่านพระอุบาลี
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย บัดนี้ ภิกษุ
จำนวนมากเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มี ต่างพากันเล่าเรียนพระวินัย
ในสำนักท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้รอบรู้พระบัญญัติในพระวินัย ก็จักชักจูงชี้นำ
พวกเราได้ตามที่ปรารถนาในคราวที่ปรารถนาจนพอแก่ความปรารถนา อย่า
กระนั้นเลย ท่านทั้งหลาย พวกเราจะดูหมิ่นพระวินัย” ครั้นแล้วพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้น
แสดงเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อ
ความยุ่งยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงดูหมิ่นพระวินัยเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอดูหมิ่นวินัย จริง
หรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงดูหมิ่นวินัยเล่า โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๓๙] ก็ ภิกษุใด เมื่อมีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า
“สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้นแสดงเหล่านี้ จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็น
ไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยาก” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะดูหมิ่นสิกขาบท
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๔๐] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า เมื่อมีผู้ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ ความว่า เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งยกขึ้น
แสดงเอง ใช้ผู้อื่นให้ยกขึ้นแสดงอยู่ หรือกำลังท่องปาติโมกข์
คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า “สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกขึ้นแสดงเหล่านี้
จะมีประโยชน์อะไร ย่อมเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยาก”
คือ ดูหมิ่นพระวินัยให้อุปสัมบันฟังว่า “พวกภิกษุที่เล่าเรียนพระวินัยนี้จะมีความ
รำคาญ มีความลำบาก มีความยุ่งยาก พวกภิกษุที่ไม่เล่าเรียนพระวินัยนี้จะไม่มี
ความรำคาญ ไม่มีความลำบาก ไม่มีความยุ่งยาก สิกขาบทนี้พวกท่านไม่ยกขึ้น
แสดงจะดีกว่า ไม่ศึกษาจะดีกว่า ไม่เล่าเรียนจะดีกว่า ไม่ทรงจำจะดีกว่า พระวินัย
จงอันตรธานไป หรือภิกษุพวกนี้จงเป็นผู้ไม่รอบรู้พระบัญญัติ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๔๑] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ดูหมิ่นพระวินัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฎ
ภิกษุดูหมิ่นธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุดูหมิ่นพระวินัยหรือธรรมอย่างอื่นให้อนุปสัมบันฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๒.วิเลขนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๔๔๒] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะดูหมิ่นกล่าวตามเหตุว่า “นิมนต์ท่านเรียน
พระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อน ภายหลังจึงเรียน
พระวินัย”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
วิเลขนสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๘.สหธรรมิกวรรค ๓.โมหนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๘. สหธรรมิกวรรค
๓. โมหนสิกขาบท
ว่าด้วยการทำให้ผู้อื่นหลง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่
สมควรแล้ว ตั้งใจอยู่ว่า “ขอภิกษุทั้งหลายจงทราบว่า พวกเราต้องอาบัติเพราะ
ความไม่รู้ ” เมื่อภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ก็กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกกระผมเพิ่ง
ทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร๑ อยู่ในพระสูตร มีการยกขึ้น
แสดงทุกกึ่งเดือน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อภิกษุยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
กระผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร อยู่ในพระสูตร
มีการยกขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือน” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดย
ประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอ เมื่อภิกษุยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า พวกกระผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ทราบว่า
ธรรมแม้นี้มาในพระสูตร อยู่ในพระสูตร มีการยกขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือน จริงหรือ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ธรรม” หมายถึงสิกขาบท คำว่า “พระสูตร” หมายถึงพระปาติโมกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๕๕๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น