Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๒-๑ หน้า ๑ - ๔๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มูลปริยายวรรค
หมวดว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม
๑. มูลปริยายสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม
[๑] ข้าพเจ้า๑ ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังใหญ่ในสุภควัน เขตเมือง
อุกกัฏฐา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุ
ทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง๒แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์
๒ คำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง แปลจากคำว่า สพฺพธมฺมมูลปริยาย มีอธิบายเฉพาะคำดังนี้ คำว่า มูล
ในที่นี้หมายถึงเหตุที่ไม่ทั่วไป คำว่า เหตุ (ปริยาย) หมายถึงเทศนา เหตุ และวาระ แต่ในที่นี้หมายถึงเหตุ
หรือเทศนา คำว่า ธรรมทั้งปวง หมายถึงปริยัติ อริยสัจ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา ปุญญะ
อาบัติ และเญยยะเป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสภาวะ ดังนั้นคำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง จึงหมายถึง
เทศนาว่าด้วยเหตุให้เกิดสภาวะทั้งปวง (ม.มู.อ. ๑/๑/๑๘-๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน
[๒] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน๑ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ๒
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษ๓ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี๔(ดิน)โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี๕แล้ว กำหนดหมายซึ่งปฐวี๖ กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมาย
นอกปฐวี๗ กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี๘

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา
นานัปการ ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ (๑) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต (๒) กัลยาณ-
ปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒, ที.สี.อ. ๑/๗/๕๘-๕๙)
๒ พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะ เพราะเป็นผู้
ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๓ สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง
กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก (ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๗๘-๗๙/๖๐๘, ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๔ ปฐวี มี ๔ ชนิด คือ (๑) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง (๒) สสัมภารปฐวี
เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น
(๓) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก
(๔) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌาน ในที่นี้ ปฐวี
หมายถึงทั้ง ๔ ชนิด (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๗)
๕ หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริต คือกำหนดให้ต่าง
ออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่าง ๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่มีกำลัง
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘)
๖ กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา,
คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหา ให้เกิดฉันทราคะ
ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี,
กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น' (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘-๓๐)
๗ กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน
มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น (ดู ขุ.ป.
๓๑/๓๑๖/๒๑๐) กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อม
ทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม) ลัทธิ
อณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก)
แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๐,ม.มู.ฏีกา ๑/๒/๙๒-๙๓)
๘ ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเอง ชื่อว่ายินดี
ทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์
ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์' (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้๑’
หมายรู้อาโป(น้ำ)โดยความเป็นอาโป ครั้นหมายรู้อาโปโดยความเป็นอาโปแล้ว
กำหนดหมายซึ่งอาโป กำหนดหมายในอาโป กำหนดหมายนอกอาโป กำหนด
หมายอาโปว่าเป็นของเรา ยินดีอาโป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เตโช(ไฟ)โดยความเป็นเตโช ครั้นหมายรู้เตโชโดยความเป็นเตโชแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเตโช กำหนดหมายในเตโช กำหนดหมายนอกเตโช กำหนด
หมายเตโชว่าเป็นของเรา ยินดีเตโช
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้วาโย(ลม)โดยความเป็นวาโย ครั้นหมายรู้วาโยโดยความเป็นวาโยแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวาโย กำหนดหมายในวาโย กำหนดหมายนอกวาโย กำหนด
หมายวาโยว่าเป็นของเรา ยินดีวาโย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ไม่ได้กำหนดรู้ หมายถึงไม่ได้กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ประการ คือ (๑) ญาตปริญญา ได้แก่ รู้ว่า ‘นี้เป็น
ปฐวีธาตุภายใน นี้เป็นปฐวีธาตุภายนอก นี้เป็นลักษณะ กิจ เหตุเกิด และที่เกิดแห่งปฐวีธาตุ’ หรือได้แก่
กำหนดนามและรูป (๒) ตีรณปริญญา ได้แก่ พิจารณาเห็นว่า ‘ปฐวีธาตุมีอาการ ๔๐ คือ อาการไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นโรค’ เป็นต้น หรือได้แก่ พิจารณากลาปะ (ความเป็นกลุ่มก้อน)เป็นต้น พิจารณาอนุโลมญาณ
เป็นที่สุด (๓) ปหานปริญญา ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงละฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ) ในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตผล หรือได้แก่ ญาณในอริยมรรค
เพราะปริญญา ๓ ประการนี้ไม่มีแก่ปุถุชน เขาจึงกำหนดหมายและยินดีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุ (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑-๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
[๓] หมายรู้ภูต๑โดยความเป็นภูต ครั้นหมายรู้ภูตโดยความเป็นภูตแล้ว
กำหนดหมายซึ่งภูต กำหนดหมายในภูต กำหนดหมายนอกภูต กำหนดหมายภูต
ว่าเป็นของเรา ยินดีภูต
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา ครั้นหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดาแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเทวดา กำหนดหมายในเทวดา กำหนดหมายนอกเทวดา กำหนด
หมายเทวดาว่าเป็นของเรา ยินดีเทวดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ปชาบดี๒ โดยความเป็นปชาบดี ครั้นหมายรู้ปชาบดีโดยความเป็น
ปชาบดีแล้ว กำหนดหมายซึ่งปชาบดี กำหนดหมายในปชาบดี กำหนดหมายนอก
ปชาบดี กำหนดหมายปชาบดีว่าเป็นของเรา ยินดีปชาบดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหม ครั้นหมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งพรหม กำหนดหมายในพรหม กำหนดหมายนอกพรหม กำหนด
หมายพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ ภูต หมายถึงขันธ์ ๕ อมนุษย์ ธาตุ สิ่งที่มีอยู่ พระขีณาสพ สัตว์ และต้นไม้เป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสัตว์
ทั้งหลายผู้อยู่ต่ำกว่าชั้นจาตุมหาราช (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๔)๔)
๒ ปชาบดี หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่กว่าปชาคือหมู่สัตว์ ได้แก่ มารชื่อว่า ปชาบดี เพราะปกครองเทวโลกชั้นปรนิม-
มิตวสวัตดี (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
หมายรู้อาภัสสรพรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหม ครั้นหมายรู้อาภัสสร-
พรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอาภัสสรพรหม กำหนด
หมายในอาภัสสรพรหม กำหนดหมายนอกอาภัสสรพรหม กำหนดหมายอาภัสสร-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอาภัสสรพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สุภกิณหพรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหม ครั้นหมายรู้สุภกิณห-
พรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งสุภกิณหพรหม กำหนด
หมายในสุภกิณหพรหม กำหนดหมายนอกสุภกิณหพรหม กำหนดหมายสุภกิณห-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีสุภกิณหพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เวหัปผลพรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหม ครั้นหมายรู้เวหัปผล-
พรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเวหัปผลพรหม กำหนด
หมายในเวหัปผลพรหม กำหนดหมายนอกเวหัปผลพรหม กำหนดหมายเวหัปผล-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีเวหัปผลพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อภิภูสัตว์๑ โดยความเป็นอภิภูสัตว์ ครั้นหมายรู้อภิภูสัตว์โดยความ
เป็นอภิภูสัตว์แล้ว กำหนดหมายซึ่งอภิภูสัตว์ กำหนดหมายในอภิภูสัตว์ กำหนด
หมายนอกอภิภูสัตว์ กำหนดหมายอภิภูสัตว์ว่าเป็นของเรา ยินดีอภิภูสัตว์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

เชิงอรรถ :
๑ อภิภูสัตว์ กับ อสัญญีสัตว์ เป็นไวพจน์ของกันและกัน หมายถึงสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับ
เวหัปผลพรหม บังเกิดด้วยอิริยาบถใดก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นตราบสิ้นอายุขัย (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
[๔] หมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายใน
อากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายนอกอากาสานัญจายตนพรหม กำหนด
หมายอากาสานัญจายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอากาสานัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ครั้น
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนพรหม
กำหนดหมายนอกวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายวิญญาณัญจายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีวิญญาณัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ครั้น
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหมแล้ว กำหนด
หมายซึ่งอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายในอากิญจัญญายตนพรหม
กำหนดหมายนอกอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายอากิญจัญญายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีอากิญจัญญายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญานาสัญญายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนด
หมายในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายนอกเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมว่าเป็นของเรา
ยินดีเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๕] หมายรู้รูปที่ตนเห็น๑โดยความเป็นรูปที่ตนเห็น ครั้นหมายรู้รูปที่ตนเห็น๑
โดยความเป็นรูปที่ตนเห็นแล้ว กำหนดหมายซึ่งรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายในรูป
ที่ตนเห็น กำหนดหมายนอกรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายรูปที่ตนเห็นว่าเป็นของเรา
ยินดีรูปที่ตนเห็น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เสียงที่ตนได้ยิน๒โดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยิน ครั้นหมายรู้เสียงที่ตน
ได้ยินโดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยินแล้ว กำหนดหมายซึ่งเสียงที่ตนได้ยิน กำหนด
หมายในเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายนอกเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายเสียงที่
ตนได้ยินว่าเป็นของเรา ยินดีเสียงที่ตนได้ยิน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนทราบ๓โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบ ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนทราบโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์
ที่ตนทราบ กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตน
ทราบ กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนทราบว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนทราบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปที่ตนเห็น หมายถึงสิ่งที่ตนเห็นทางมังสจักขุ หรือทิพพจักขุ คำนี้เป็นชื่อแห่งรูปายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๐)
๒ เสียงที่ตนได้ยิน หมายถึงสิ่งที่ตนฟังทางมังสโสตะ หรือทิพพโสตะ คำนี้เป็นชื่อแห่งสัททายตนะ
(ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)
๓ อารมณ์ที่ตนทราบ หมายถึงอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว และรู้แล้วจึงรับเอา คือ เข้าไปกระทบรับเอา มีคำ
อธิบายว่า ที่ตนรู้แจ้งแล้วเพราะการกระทบกันและกันระหว่างอินทรีย์กับอารมณ์ทั้งหลาย คำนี้เป็นชื่อแห่ง
คันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง๑โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนรู้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์ที่
ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๖] หมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกัน ครั้นหมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
กำหนดหมายในความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายนอก
ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติ
เป็นอันเดียวกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ความที่กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกัน ครั้นหมายรู้ความที่
กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายในความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายนอกความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายความที่กามจิตต่างกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่กามจิตต่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง หมายถึงอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งทางใจ คำนี้เป็นชื่อแห่งอายตนะที่เหลือ อีกอย่างหนึ่ง
เป็นชื่อแห่งธรรมารมณ์ แต่ในที่นี้ได้เฉพาะอารมณ์ที่นับเนื่องในกายของตน (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สักกายะ๑ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวง ครั้นหมายรู้สักกายะ
ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวงแล้ว กำหนดหมายซึ่งสักกายะทั้งปวง กำหนด
หมายในสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายนอกสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายสักกายะ
ทั้งปวงว่าเป็นของเรา ยินดีสักกายะทั้งปวง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้นิพพาน๒โดยความเป็นนิพพาน ครั้นหมายรู้นิพพานโดยความเป็น
นิพพานแล้ว กำหนดหมายซึ่งนิพพาน กำหนดหมายในนิพพาน กำหนดหมาย
นอกนิพพาน กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล
[๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดยังเป็นเสขบุคคล๑ ไม่ได้บรรลุอรหัตตผล
ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวี
โดยความเป็นปฐวี๒ ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งปฐวี
อย่ากำหนดหมายในปฐวี อย่ากำหนดหมายนอกปฐวี อย่ากำหนดหมายปฐวีว่า
เป็นของเรา อย่ายินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ...
พรหม ... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งนิพพาน อย่า
กำหนดหมายในนิพพาน อย่ากำหนดหมายนอกนิพพาน อย่ากำหนดหมาย
นิพพานว่าเป็น ของเรา อย่ายินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ
[๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์๒แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ
[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม ...
เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่
ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ
[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ
[๑๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต๑
[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้ปฐวีนั้นแล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้นิพพานนั้นแล้ว’
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของ
เรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี สัตว์
ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้อนุตตร-
สัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา สลัดทิ้ง
ตัณหาโดยประการทั้งปวง’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี
สัตว์ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา
สลัดทิ้งตัณหาโดยประการทั้งปวง”
กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต จบ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมิได้มีใจยินดีชื่นชม๑พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มูลปริยายสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัพพาสวสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง
[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ๒ทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ มิได้มีใจยินดีชื่นชม หมายถึงภิกษุเหล่านั้นไม่รู้คือไม่เข้าใจเนื้อความของพระสูตรนี้ เหตุยังมีมานะทิฏฐิ
มาก เพราะมัวเมาในปริยัติ และเพราะพระภาษิตนั้นลึกซึ้งด้วยนัยที่ ๑ คือ ปุถุชน จนถึงนัยที่ ๘ คือ
พระตถาคต ท่านเหล่านั้นจึงไม่รู้แจ้งอรรถแห่งพระพุทธพจน์ จึงมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตนั้น ภายหลัง
ได้สดับโคตมกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสที่โคตมกเจดีย์แล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้ง
ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๓/๖๒-๖๕)
๒ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ
มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ
(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓
เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
[๑๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ๑ และอโยนิโสมนสิการ๒ เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ๓ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร๔ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี
อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ
[๑๗] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ

เชิงอรรถ :
๑ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๒ อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๓ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๒๑/๘๑, ม.มู.ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๐)
๔ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๑) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๕๘/๕๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ๑ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ๒ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะ๓ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่
ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม
ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ
เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร
มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเจริญ
[๑๘] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน
เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก
ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น
อะไรอีกหนอ’ หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า
‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ
และเขาจักไปไหนกันหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ ๕ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๒ ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต
ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๓ อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
[๑๙] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖ ก็เกิดขึ้น คือ
๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเรามีอยู่’
๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเราไม่มี’
๓. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา’
๔. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา’
๕. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา’
๖. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า ‘อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว
เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้น ๆ อัตตาของเรา
นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน’
ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ‘ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ
ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์’
[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด
ขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ไม่
ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่
เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ
เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ มนสิการถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๒๑] อริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายว่า ‘นี้ทุกข์(สภาวะที่ทนได้ยาก) นี้
ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา(ความ
ลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลและวัตร) ย่อมสิ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร
[๒๒] อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรใน
จักขุนทรีย์๑อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อม
ไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในโสตินทรีย์อยู่ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในฆานินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในชิวหินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในกายินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่
ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร
อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย
[๒๓] อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย

เชิงอรรถ :
๑ จักขุนทรีย์ หมายถึงจักขุที่เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ ที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้
เคยกระทบ กำลังกระทบ จักกระทบ หรือพึงกระทบ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๕๙๗/๑๙๑) ที่ชื่อว่า จักขุนทรีย์
เพราะทำหน้าที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร (อภิ.วิ.อ. ๒/๒๑๙/๑๓๔) โสตินทรีย์เป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความ
มัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ๑ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๒ แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้
ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า
'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความ
ดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภค
อาหาร
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว
ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา
อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๓ เพียงเพื่อบรรเทา
เวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด
ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๒ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม (ม.มู.
ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ คิลานปัจจัยเภสัชบริชาร คือเภสัช ๕ ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐,
สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓)
เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร
เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ
ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗, ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓)
เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป (สารตฺถ.ฏีกา
๒/๒๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น
[๒๔] อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว ความกระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์
เลื้อยคลาน เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำหยาบ คำส่อเสียด เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนา
ทั้งหลายอันมีในร่างกาย เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น
อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น
[๒๕] อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่วที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย
ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา
[๒๖] อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคาย
แล้วไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ
บาปอกุศลธรรม๑ที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึง
ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา
อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ
[๒๗] อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์๒ ที่
อาศัยวิเวก๓(ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ)
น้อมไปในการสละ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ บาปอกุศลธรรม หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอกุศล มี ๖ ประการ คือ (๑) ญาติวิตก ความตรึกถึง
ญาติ (๒) ชนบทวิตก ความตรึกถึงบ้านตัวเอง (๓) อมรวิตก ความตรึกที่มีทิฏฐิซัดส่ายไม่แน่นอน
(๔) ปรานุททยตาปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องอนุเคราะห์ผู้อื่น (๕) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตวิตก
ความตรึกถึงลาภสักการะและสรรเสริญ (๖) อนวิญญัติปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องเกรงผู้อื่นจะดูหมิ่น
(ม.มู.อ. ๑/๒๖/๙๐)
๒ สัมโพชฌงค์ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ (๑) สติ ความระลึกได้
(๒) ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบ
กายสงบใจ (๖) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
แต่ละข้อมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเช่น สติสัมโพชฌงค์ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑,๓๕๗/๒๕๘, อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๔๖๘/๓๕๙, ม.มู,อ. ๑/๒๗/๙๑-๙๒)
๓ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก(ความสงัดด้วยการข่มไว้) (๒) ตทังควิเวก
(ความสงัดด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก(ความสงัดด้วยการตัดขาด) (๔) ปัสสัทธิวิเวก(ความสงัด
ด้วยการสงบระงับ) (๕) นิสสรณวิเวก(ความสงัดด้วยการสลัดออกได้) (ม.มู.อ. ๑/๒๗/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร
ฯลฯ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัย
วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน
ที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ
[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยทัสสนะ อาสวะ
เหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยทัสสนะ อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละ
ด้วยการสังวร อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการสังวร อาสวะ
เหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่านั้น
เป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วย
การเว้น อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเว้น อาสวะเหล่าใด
ที่ภิกษุใดต้องละด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการเจริญ อาสวะเหล่านั้นเป็น
อาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงอยู่
ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้
โดยชอบ๑”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
สัพพาสวสูตรที่ ๒ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

๓. ธัมมทายาทสูตร
ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม
[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้พระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธออยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวกทั้งหลาย
ของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’ หากเธอทั้งหลายเป็นอามิส-
ทายาทของเรา ไม่เป็นธรรมทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะพึงถูกวิญญูชน
ทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็นธรรมทายาท’
แม้เราก็จะพึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่
ไม่เป็นธรรมทายาท’ หากเธอทั้งหลายจะพึงเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็น
อามิสทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะไม่พึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า
‘สาวกของพระศาสดาเป็นธรรมทายาทอยู่ ไม่เป็นอามิสทายาท’ แม้เราก็จะไม่พึง
ถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็น
ธรรมทายาท’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด
อย่าเป็นอามิสทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำ
อย่างไรหนอ สาวกทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย หากเราจะพึงเป็นผู้ฉันเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว
สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของเรายังมีเหลือ
จะต้องทิ้ง ในเวลานั้น ภิกษุ ๒ รูปถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำพากันมา
เราควรกล่าวกับภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ฉันเสร็จ
ห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร
บิณฑบาตนี้ของเรายังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเธอทั้งหลายประสงค์ ก็จงฉันเถิด
หากเธอทั้งหลายจะไม่ฉัน บัดนี้ เราจะทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือ
เทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์’ ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคได้เสวยเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตาม
ความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หาก
เราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มีพระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว
หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิสทายาทเลย’ บิณฑบาตนี้
เป็นอามิสอย่างหนึ่ง ทางที่ดี เราจะไม่ฉันบิณฑบาตนี้แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้
ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนี้แล’ เธอจึงไม่ฉันบิณฑบาตนั้น แล้วให้วันคืน
นั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนั้นแล
ลำดับนั้น ภิกษุรูปที่ ๒ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้เสวย
เสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่
บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจาก
ตัวสัตว์ ทางที่ดี เราควรฉันบิณฑบาตนี้บรรเทาความหิวและความอ่อนเพลีย
แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้’ เธอจึงฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ (รูปที่ ๒) นั้นฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ แต่ภิกษุรูปแรกนั้นก็ยังเป็นผู้ควรบูชา
และสรรเสริญกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการไม่ฉันบิณฑบาตของภิกษุรูปแรกนั้น
จักเป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา เลี้ยงง่าย ปรารภความเพียร สิ้น
กาลนาน เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวก
ทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว พระสุคตครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
ก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ความไม่สนใจศึกษาวิเวก
[๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระสารีบุตร ได้เรียก
ภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้นมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
เท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก๑ สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษา
วิเวก ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
สนใจศึกษาวิเวก”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกลเพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่าน
พระสารีบุตรได้โปรดแสดงเนื้อความแห่งภาษิตนั้นเถิด เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟัง
แล้วจะทรงจำไว้ได้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า
ควรละ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน๒ เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม๓ ทอดธุระ๔

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก(ความสงัด) ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๓ ประการ คือ (๑) กายวิเวก สงัดกาย (๒) จิตตวิเวก สงัดจิต
(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๐๙)
๒ ย่อหย่อน หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนหย่อนยาน (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๓ โวกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ(ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๔ ทอดธุระ ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์, อนึ่ง หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ
คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร
ในปวิเวก๑ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ๒ ๓
ประการ คือ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับ
อยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ และ
เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ
ภิกษุผู้ป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
ไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละ
ธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า
‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระ
ในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก
สาวกทั้งหลายชื่อว่าไม่สนใจศึกษาวิเวก
ความสนใจศึกษาวิเวก
[๓๒] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่าง
มีวิเวก สาวกทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดา
ตรัสว่า ควรละ ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวก คือสภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ แท้จริง คำว่า ‘ฐานะ’ มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) อิสสริยะ (ตำแหน่ง,
ความเป็นใหญ่) (๒) ฐิติ (เป้าหมาย,ที่ตั้ง) (๓) ขณะ(กาล) (๔) การณะ (เหตุ) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (ม.มู.อ.
๑/๓๑/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร
ไม่ทอดธุระในปวิเวก บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรสรรเสริญโดย
ฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดา
ประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้
ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน
ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็น
มัชฌิมะ ฯลฯ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลาย
ละธรรมทั้งหลาย ที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓
ว่า ‘สาวกทั้งหลาย ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม
ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายชื่อว่าสนใจ
ศึกษาวิเวก
มัชฌิมาปฏิปทา
[๓๓] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โลภะและโทสะเป็นบาป
มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโลภะและโทสะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้
เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน๑
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระคือ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๓/๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ
(ความผูกโกรธ) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโกธะและอุปนาหะ เป็น
ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ...
อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ...
มายา(มารยา) สาเถยยะ(ความโอ้อวด) ...
ถัมภะ(ความหัวดื้อ) สารัมภะ(ความแข่งดี) ...
มานะ(ความถือตัว) อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ...
มทะ(ความมัวเมา) และปมาทะ(ความประมาท) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทา
มีอยู่เพื่อละมทะและปมาทะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล
ธัมมทายาทสูตรที่ ๓ จบ

๔. ภยเภรวสูตร
ว่าด้วยความขลาดกลัว
[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้
มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เจาะจงท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น เป็นผู้มี
อุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชนนั้นถือเอาแบบอย่างท่านพระโคดมหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเจาะจงเรา
เราเป็นหัวหน้าของพวกเขา เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชน
นั้นถือเอาแบบอย่างเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ๑ อยู่ลำบาก ทำวิเวก๒ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์
ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ๓ให้หวาดหวั่น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก
ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้
สมาธิให้หวาดหวั่น”
เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ
[๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์
ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริว่า ‘เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่
ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำ
จิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ พระอริยะ๔เหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดา
พระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ป่าโปร่ง (อร�ฺ�) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ลูกธนู ป่าทึบ (วนปตฺถ)
หมายถึงสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เลยเขตหมู่บ้านไป (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๑, องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๓ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๔ พระอริยะ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก (ม.มู.อ. ๑/๓๕/๑๒๓) และดูเทียบเชิงอรรถ
ข้อ ๒ หน้า ๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้มีความปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑)
[๓๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีการ
เลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีการเลี้ยง
ชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มี
การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ พระอริยะเหล่าใดมีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๒-๓-๔)
[๓๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษ
ของตนคือมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และมีความกำหนัดกล้าในกามคุณ
ทั้งหลาย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่มีความกำหนัด
กล้าในกามคุณทั้งหลาย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดไม่มีปกติเพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
นั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๕)
[๓๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความ
ขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีจิตวิบัติและมีความดำริชั่วร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตวิบัติ มิใช่มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตเมตตา พระอริยะเหล่าใดมีจิตเมตตา เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตเมตตานั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๖)
[๓๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) กลุ้มรุมแล้ว เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อม
ประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการถูก
ถีนมิทธะกลุ้มรุม ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ พระอริยะเหล่าใด
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๗)
[๔๐] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือเป็นผู้ฟุ้งซ่านและมีจิตไม่สงบ ส่วนเรา
มิใช่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มิใช่มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตสงบแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีจิตสงบ เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตสงบนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
[๔๑] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ‘เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเคลือบแคลงสงสัย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้
เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้
ข้ามพ้นความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๙)
[๔๒] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการยกตนข่มผู้อื่น ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ยกตนข่ม
ผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ไม่ยกตนข่ม
ผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่นนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๐)
[๔๓] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและ
ความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความสะดุ้งกลัวและมักขลาด
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่า
โปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า พระอริยะเหล่าใดเป็น
ผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากความสะดุ้งกลัวนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๑)
[๔๔] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความ
กลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความปรารถนา
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ปรารถนาลาภสักการะและความ
สรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย พระอริยะเหล่าใดมีความปรารถนาน้อย เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๒)
[๔๕] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้เกียจคร้าน
ปราศจากความเพียร ส่วนเรามิใช่เป็นผู้เกียจคร้าน มิใช่ปราศจากความเพียร
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร๑
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ปรารภความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอ
ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมายเอา
ทั้ง ความเพียรทางกาย เช่น เพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน” (อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๕๑๙/๓๙๑) และ ความเพียรทางจิต เช่น เพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่เป็นต้น ดุจ
ในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน”
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๓)
[๔๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบ
ความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้
ขาดสติสัมปชัญญะ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีสติมั่นคง พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีสติมั่นคง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระ
อริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติมั่นคงนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๔)
[๔๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่นและมีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธินั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๕)
[๔๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
มิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๖)
เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ จบ
[๔๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะ
เช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์๑อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า
ในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า
‘เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด’ ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรี
ดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมา
หรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ความกลัวและความขลาด
นี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะ
แต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาด
ที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้น ๆ เสีย’ เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัว
และความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่า
จะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาด
เกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัว
และความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะ
ไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม
จะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้

เชิงอรรถ :
๑ อารามเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่งดงามด้วยไม้ดอกและไม้ผล ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่กระทำให้
วิจิตร ทำให้น่าบูชา วนเจดีย์ หมายถึงชายป่าที่ต้องนำเครื่องพลีกรรมไปสังเวย ป่าสุภควันและป่าที่ตั้งศาล
เป็นที่สถิตของเทวดาเป็นต้น รุกขเจดีย์ หมายถึงต้นไม้ใหญ่ที่คนเคารพบูชาใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้าน
หรือนิคมเป็นต้น โดยเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาผู้มีฤทธิ์ (ม.มู.อ. ๑/๔๙/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง
[๕๐] พราหมณ์ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางวัน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางคืน เรากล่าวการมีความเข้าใจเช่นนี้
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ด้วยความหลง ส่วนเราเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางคืน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางวัน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องควร
กล่าวกับเราว่า ‘สัตว์ผู้ไม่มีความหลงได้อุบัติแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
[๕๑] พราหมณ์ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติก็มั่นคงไม่ฟั่นเฟือน
กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ เรานั้นสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจาก
วิเวกอยู่๑ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่๒
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข‘๓ เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่๔
วิชชา ๓
[๕๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๕ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
๑-๔ ที.สี.(แปล) ๙/๔๑๓/๑๗๘
๕ กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนินคือราคะ โทสะ โมหะ มลทิน หรือเปือกตม ในที่
บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่า เนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร
ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้
เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุ
วิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัด
ความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขา
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คือ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ
คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร
[๕๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘๓ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๕] พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แม้วันนี้ พระโคดม
ยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็น
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน
(๒) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ”

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่า อเสขบุคคล (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘,
ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๒ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้แจ้ง
ซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๓ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น
แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ม.มู.อ.
๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ
[๕๖] ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชน
ผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
ภยเภรวสูตรที่ ๔ จบ

๕. อนังคณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บุคคล ๔ ประเภท
[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน๑แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน๒’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ตน ในที่นี้หมายถึงจิตตสันดาน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑,๖๕/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
๒. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๓. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๔. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
[๕๘] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้
ถามท่านพระสารีบุตรอย่างนี้ว่า “ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่
บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่ง
บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
[๕๙] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น
บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนิน
ภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม
จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ
มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองมีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะไม่พึง
ใช้สอยและไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็น
เช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมองถูกสนิมจับยิ่งขึ้น”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียร
เพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน
มีจิตเศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักทำความ
พอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น
เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมอง
ตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง
มีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะพึงใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่
เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น