Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๑๑ หน้า ๕๓๑ - ๕๘๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๓. หัตถิปาลชาดก (๕๐๙)
[๓๕๐] สามชายหนุ่มมีชาติกำเนิดที่ดี
มีใบหน้างดงาม ทรวดทรงน่าทัศนา
มีหนวดประปรายเหมือนเกษรดอกโกสุม
ยังตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราช
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ข้าพระพุทธเจ้าจักรีบละกามคุณและเคหสถานบวช
ขอทรงพระกรุณาโปรดอนุญาต
ให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระเจ้าข้า
(ปุโรหิตเมื่อจะปรึกษากับนางพราหมณี จึงกล่าวคาถาว่า)
[๓๕๑] ต้นไม้ได้โวหารว่าต้นไม้ เพราะมีกิ่งทั้งหลาย
แต่ต้นไม้ที่ขาดกิ่ง ชาวโลกเรียกว่าตอไม้
แม่วาเสฏฐีผู้เจริญ บัดนี้เราขาดบุตร
ถึงเวลาที่จะเที่ยวภิกขาจาร
(นางพราหมณีเมื่อจะนำตัวอย่างที่เป็นอดีตมา กล่าวอุทานคาถาว่า)
[๓๕๒] นกกระเรียนทั้งหลายบินไปในอากาศได้ฉันใด
หงส์ทั้งหลายทำลายข่ายคือใยที่แมลงมุมชักขึงไว้
ในปลายฤดูฝนบินไปได้ฉันนั้น
ลูกและผัวของเราก็พากันไปหมด ไฉนเรารู้อยู่จะไม่พึงไปตาม
(พระอัครมเหสีเมื่อจะให้พระราชาทรงทราบเรื่องกามด้วยอุปมา จึงตรัส ๒
คาถาว่า)
[๓๕๓] นกเหล่านี้กินเนื้อแล้วสำรอกแล้วด้วย ย่อมบินหลีกไปได้
ส่วนนกเหล่าใดกินเนื้อแล้วไม่สำรอก
นกเหล่านั้นก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน
[๓๕๔] ขอเดชะพระมหาราช พราหมณ์ได้สำรอกกามทั้งหลายทิ้งแล้ว
พระองค์นั้นกลับจะบริโภคกามนั้นอีก
คนบริโภคสิ่งที่เขาคายทิ้งแล้วเป็นคนที่บัณฑิตไม่สรรเสริญเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
(พระราชาเกิดความสลดพระทัยเมื่อจะทรงชมเชยพระเทวี จึงตรัสคาถาว่า)
[๓๕๕] บุรุษผู้มีกำลังฉุดบุรุษผู้มีกำลังทราม
ที่จมอยู่ในเปือกตมและหล่มเลนขึ้นได้ฉันใด
แม่ธิดาแห่งปัญจาลนครผู้เจริญ แม้พระนางก็ฉันนั้น
พยุงพี่ให้ข้ามขึ้นจากเปือกตมคือกามได้ด้วยคาถาสุภาษิต
(พระศาสดาเมื่อจะประกาศว่าพระราชาทรงผนวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๓๕๖] พระเจ้าเอสุการีมหาราช ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้วละแคว้นทรงผนวชแล้ว
เหมือนพญาช้างตัดเครื่องผูกได้ขาด
(ชาวเมืองประชุมกันไปกราบทูลพระราชเทวี จึงกล่าวคาถาว่า)
[๓๕๗] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน
ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว
แม้พระนางก็จงทรงเป็นพระราชาของพวกข้าพระพุทธเจ้าเถิด
พวกข้าพระพุทธเจ้าถวายความคุ้มครองแล้ว
ขอพระนางทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรมเหมือนพระราชาเถิด
(พระราชเทวีทรงสดับคำกราบทูลของมหาชนแล้ว จึงตรัสคาถาที่เหลือว่า)
[๓๕๘] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน
ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว
ถึงเราก็จักละกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ยินดี
ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก
[๓๕๙] ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐกว่านรชน
ทรงพอพระทัยการบรรพชา ละแคว้นไปแล้ว
ถึงเราก็จักละกามทั้งหลายที่มีอยู่โดยทั่วไป
ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก
[๓๖๐] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป
ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป ถึงเราก็จักละกามทั้งหลาย
ซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ยินดีท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
[๓๖๑] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป
ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป
ถึงเราก็จักละกามทั้งหลายที่มีอยู่โดยทั่วไป
ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก
[๓๖๒] กาลเวลาย่อมล่วงเลยไป ราตรีย่อมผ่านพ้นไป
ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป
ถึงเราก็จักเป็นผู้เยือกเย็น ล่วงเครื่องข้องทั้งปวง
ท่องเที่ยวไปคนเดียวในโลก
หัตถิปาลชาดกที่ ๑๓ จบ
๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
ว่าด้วยมหาสัตว์อโยฆรราช
(พระโพธิสัตว์อโยฆรราชเมื่อจะแสดงธรรมโปรดพระราชบิดา จึงตรัสว่า)
[๓๖๓] สัตว์ถือปฏิสนธิครั้งแรก อยู่ในครรภ์ตลอดคืนหนึ่ง
ดำเนินไปไม่หวนกลับเหมือนเมฆหมอกที่ตั้งขึ้นแล้วลอยผ่านไป
[๓๖๔] นรชนทั้งหลายประกอบพร้อมด้วยกำลังพล
สู้รบอยู่ในสงคราม จะไม่แก่ไม่ตายก็หาไม่
เพราะว่ามณฑลแห่งปาณสัตว์นั้นล้วนถูกชาติและชราเบียดเบียน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า
จะประพฤติธรรม
[๓๖๕] พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้น
ทรงข่มขี่ราชศัตรู ผู้มีเสนาประกอบด้วยองค์ ๔
มีรูปร่างน่าสะพรึงกลัว เอาชนะไปได้
แต่ไม่ทรงสามารถชนะเสนาแห่งพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า
จะประพฤติธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
[๓๖๖] พระราชาบางพวกแวดล้อมด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า
กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า
ย่อมพ้นจากเงื้อมมือของปัจจามิตรได้
แต่ไม่อาจจะทรงพ้นจากพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๖๗] พระราชาทั้งหลายผู้ทรงกล้าหาญ ทรงหักค่าย
ทำลายนคร กำจัดมหาชนได้ด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า
กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า
แต่ไม่อาจจะทรงหักราญพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๖๘] คชสารทั้งหลายตัวตกมัน มีมันแตกไหลเยิ้ม
ย่อมย่ำยีบ้านเมือง เข่นฆ่าประชาชนได้
แต่ไม่อาจจะย่ำยีพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๖๙] นายขมังธนูทั้งหลายผู้มีฝีมือฝึกปรือดีแล้ว เป็นผู้กล้าหาญ
สามารถยิงไปได้ไกล แม่นยำไม่ผิดพลาด
แต่ไม่อาจจะยิงพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๐] สระทั้งหลายย่อมเสื่อมสิ้นไป
พื้นปฐพีพร้อมทั้งภูเขาและราวป่าก็หมดสิ้นไป
ถึงทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอดกาลนานเข้าก็เสื่อมสิ้นไป
เพราะสังขารทั้งปวงนั้นย่อมแตกสลายไปตามกาลกำหนด
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๑] แท้จริง ชีวิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวงทั้งหญิงชายในโลกนี้
มีสภาพหวั่นไหว ปั่นป่วน
เหมือนแผ่นผ้าของนักเลง เหมือนต้นไม้ที่เกิดใกล้ฝั่ง
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
[๓๗๒] ทั้งคนหนุ่ม ทั้งคนแก่
ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งบัณเฑาะก์ (กะเทย)
ย่อมมีกายแตกทำลายไปเหมือนผลไม้หล่นจากต้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๓] ดวงจันทร์ซึ่งเป็นราชาแห่งดวงดาวเป็นฉันใด
วัยนี้หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะส่วนใดล่วงไปแล้ว
ส่วนนั้นเป็นอันล่วงไปแล้วในบัดนี้
อนึ่ง คนแก่เฒ่าชราแล้วหามีความยินดีไม่ ความสุขจะมีแต่ที่ไหน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๔] ยักษ์ ปีศาจ หรือแม้เปรตทั้งหลายเหล่านั้นโกรธขึ้นมาแล้ว
ย่อมเข้าสิงมนุษย์ทั้งหลายได้ แต่ไม่อาจจะเข้าสิงพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๕] ยักษ์ ปีศาจ หรือแม้เปรตทั้งหลายเหล่านั้นโกรธขึ้นมาแล้ว
มนุษย์ทั้งหลายย่อมกระทำให้อดโทษได้ด้วยพลีกรรม
แต่จะทำพญามัจจุราชให้อดโทษด้วยพลีกรรมหาได้ไม่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๖] พระราชาทั้งหลายทรงทราบความผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว
จึงทรงลงอาชญาคนผู้มีความผิด
ผู้ประทุษร้าย และผู้เบียดเบียนประชาชน
แต่ไม่ทรงสามารถจะลงอาชญาพญามัจจุราชได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๗] ชนทั้งหลายผู้กระทำความผิด ผู้ประทุษร้าย
และผู้เบียดเบียนเหล่านั้น
ย่อมได้เพื่อจะทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
แต่จะทำพญามัจจุราชให้อภัยโทษหาได้ไม่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
[๓๗๘] ความเพ่งเล็งด้วยความหวังดีว่า
ผู้นี้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์
ผู้นี้เป็นคนมั่งคั่ง เป็นคนมีพลัง หรือเป็นคนมีเดช
ไม่ได้มีแก่พญามัจจุราชเลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๗๙] สิงโต เสือโคร่ง และแม้เสือเหลืองทั้งหลาย
ย่อมข่มขี่กัดกินสัตว์ที่ดิ้นรนไปมาได้
แต่ไม่อาจจะกัดกินพญามัจจุราชได้เลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๐] นักมายากลทั้งหลายเมื่อแสดงมายากลท่ามกลางสนาม
ย่อมลวงตาประชาชนให้หลงใหลได้เพียงนั้น
แต่ไม่อาจจะลวงตาพญามัจจุราชให้หลงใหลได้เลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๑] อสรพิษทั้งหลายตัวที่มีพิษร้ายกาจ
โกรธขึ้นมาแล้วย่อมขบกัดมนุษย์ทั้งหลายให้ตายได้
แต่ไม่อาจจะขบกัดพญามัจจุราชได้เลย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๒] อสรพิษทั้งหลายโกรธขึ้นมาแล้วย่อมขบกัดผู้ใด
หมอผู้เยียวยายังถอนพิษในร่างกายของผู้นั้นได้
แต่ถอนพิษอันร้ายกาจของพญามัจจุราชหาได้ไม่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๓] นายแพทย์ธรรมมนตรี ๑ นายแพทย์เวตดรุณ ๑
นายแพทย์โภชะ ๑ กำจัดพิษพญานาคทั้งหลายได้
แต่นายแพทย์เหล่านั้น ได้ยินว่า ได้ตายไปแล้วเช่นกันแล
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑๔. อโยฆรชาดก (๕๑๐)
แต่นายแพทย์เหล่านั้น ได้ยินว่า ได้ตายไปแล้วเช่นกันแล
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๔] วิทยาธรทั้งหลาย เมื่อร่ายเวทย์ชื่อโฆรมนต์
ย่อมหายตัวไปได้ด้วยโอสถทั้งหลาย
แต่จะร่ายเวทย์ไม่ให้พญามัจจุราชเห็นหาได้ไม่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความคิดว่า จะประพฤติธรรม
[๓๘๕] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[๓๘๖] สภาวะทั้ง ๒ คือ ธรรมและอธรรม
หามีผลวิบากเสมอกันได้ไม่
เพราะอธรรมนำสัตว์ไปนรก
ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
อโยฆรชาดกที่ ๑๔ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. มาตังคชาดก ๒. จิตตสัมภูตชาดก
๓. สีวิราชชาดก ๔. สิรีมันตชาดก
๕. โรหณมิคชาดก ๖. จูฬหังสชาดก
๗. สัตติคุมพชาดก ๘. ภัลลาติยชาดก
๙. โสมนัสสชาดก ๑๐. จัมเปยยชาดก
๑๑. มหาปโลภนชาดก ๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก
๑๓. หัตถิปาลชาดก ๑๔. อโยฆรชาดก

วีสตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๗ }


๑๖. ติงสตินิบาต
๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)
ว่าด้วยดาบสผู้มีความพอใจอะไร
(เทพธิดาผู้รักษาแม่น้ำกล่าวกับกิงฉันทดาบสว่า)
[๑] ท่านพราหมณ์ ท่านพอใจ๑อะไร
ประสงค์อะไร ปรารถนาอะไร
แสวงหาอะไรอยู่ และเพราะต้องการอะไร
จึงมาอยู่แต่ผู้เดียวในฤดูร้อน
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒] หม้อน้ำใบใหญ่มีทรวดทรงงดงามฉันใด
มะม่วงสุกที่อุดมไปด้วยสี กลิ่น และรสก็อุปไมยได้ฉันนั้น
[๓] มะม่วงนั้นลอยมาตามกระแสน้ำท่ามกลางสายน้ำใส
อาตมาเห็นเข้าจึงยื่นมือไปเก็บมัน นำมาเก็บไว้ในโรงบูชาไฟ
[๔] แต่นั้นอาตมาเองวางมะม่วงไว้บนใบตอง ใช้มีดฝานแล้วฉัน
มะม่วงนั้นระงับความหิวกระหายของอาตมาแล้ว
[๕] อาตมานั้นปราศจากความกระวนกระวาย
ผลมะม่วงหมดไป ก็ได้แต่ข่มความทุกข์
ยังไม่ประสบผลไม้อย่างอื่นชนิดใดชนิดหนึ่งเลย
[๖] มะม่วงสุกผลใดมีรสอร่อย มีรสเป็นเลิศ น่าพอใจ
ลอยมาในห้วงมหรรณพ อาตมาเก็บขึ้นมาจากทะเล
มะม่วงสุกผลนั้นทำอาตมาให้ซูบผอม
จักนำความตายมาให้อาตมาแน่นอน

เชิงอรรถ :
๑ พอใจ หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.ชา.อ. ๗/๑/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๘ }

๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)
[๗] อาตมาเฝ้าประจำอยู่เพราะเหตุใด
เหตุนั้นทั้งหมด อาตมาได้บอกแก่ท่านแล้ว
อาตมานั่งเฝ้าอยู่เฉพาะแม่น้ำสายที่น่ารื่นรมย์
แม่น้ำสายนี้กว้างใหญ่ไพศาล
ขวักไขว่ไปด้วยปลาโลมาตัวใหญ่ ๆ
[๘] แม่นางผู้ไม่แอบแฝงตน
แม่นางนั้นแหละจงบอกแก่อาตมาเถิด
แม่นางผู้มีเรือนร่างสง่างาม นางเป็นใครกัน
และมาที่นี่เพราะเหตุอะไร
[๙] เทพนารีเหล่าใดผู้มีเรือนร่างประดุจแผ่นทองคำที่ขัดสีดีแล้ว
หรือประดุจนางพยัคฆ์ที่เกิดอยู่ตามซอกเขา
เป็นปริจาริกาของเทพ มีอยู่ในโลก
[๑๐] และสตรีรูปงามเหล่าใดมีอยู่ในมนุษยโลก
บรรดาเทพนารี คนธรรพ์ และหญิงมนุษย์
สตรีเหล่านั้นไม่มีรูปร่างเช่นกับแม่นาง
แม่นางผู้มีลำขาอ่อนกลมกลึงประดุจแท่งทอง
อาตมาถามแล้ว ขอแม่นางจงบอกนาม
และเผ่าพันธุ์แก่อาตมาด้วยเถิด
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๑] ท่านพราหมณ์ ท่านนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะ
แม่น้ำโกสิกีอันน่ารื่นรมย์สายใด
ข้าพเจ้าอยู่ที่วิมานมีกระแสน้ำเชี่ยว
ซึ่งเป็นห้วงน้ำใหญ่สายนั้น
[๑๒] ลำธารจากภูเขาจำนวนมาก
ดื่นดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
ไหลรวมกัน ตรงมาหาข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)
[๑๓] อนึ่ง ธารน้ำจากแนวป่า ก่อตัวเป็นห้วงวารีสีเขียว
และธารน้ำอันเป็นที่ปลื้มใจแห่งพวกนาคเป็นจำนวนมาก
ไหลมาท่วมข้าพเจ้าด้วยห้วงวารี
[๑๔] สายน้ำเหล่านั้นย่อมพัดพาผลไม้หลายชนิด
คือ มะม่วง ผลหว้า ขนุนสำปะลอ
กระทุ่ม ผลตาล และมะเดื่อมาเนือง ๆ
[๑๕] ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ฝั่งแม่น้ำทั้ง ๒ หล่นลงไปในน้ำ
ผลไม้นั้นย่อมลอยไปตามอำนาจกระแสน้ำโดยไม่ต้องสงสัย
[๑๖] พระองค์ผู้จอมชนเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก
ขอพระองค์จงสดับคำของข้าพเจ้า พระองค์ทราบอย่างนี้แล้ว
อย่าทรงพอพระทัยความเกาะเกี่ยว๑
ทรงปฏิเสธเสียเถิด
[๑๗] พระราชฤๅษีผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความเป็นบัณฑิตของพระองค์เลย
ซึ่งพระองค์กำลังทรงพระเจริญวัย
แต่กลับหวังความตาย
[๑๘] พระบิดา คนธรรพ์ พร้อมทั้งเทวดา
ย่อมทราบความที่พระองค์ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา
อนึ่ง ฤๅษีทั้งหลายเหล่าใดในโลก
ผู้สำรวมตน มีตบะ ผู้เริ่มตั้งความเพียร มียศ
ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ย่อมทราบโดยไม่ต้องสงสัย
(ต่อแต่นั้น ดาบสได้กล่าวว่า)
[๑๙] บาปย่อมไม่เจริญแก่นรชนผู้รู้
เพราะรู้ธรรมทั้งปวง รู้ความแตกสลาย
และรู้การจุติแห่งชีวิต ถ้าเขาไม่จงใจจะฆ่าผู้อื่น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงเกาะเกี่ยวด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ชา.อ. ๗/๑๖/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑. กิงฉันทชาดก (๕๑๑)
[๒๐] แม่นางผู้ที่หมู่ฤๅษีรู้จักกันดี
เธอเป็นคนที่ผู้ลอยบาปรู้แจ้งชัดว่า
เป็นผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก แม่นางผู้มีความงาม
เธอย่อมแสวงหาบาปกรรม
เพราะเจรจาถ้อยคำที่ไม่ประเสริฐ
[๒๑] แม่นางผู้มีสะโพกงามผึ่งผาย
ถ้าอาตมาจักตายที่ริมฝั่งน้ำของเธอ
ชื่อเสียงอันเลวทรามจักมาถึงเธอโดยไม่ต้องสงสัย
เมื่ออาตมาล่วงลับไปแล้ว
[๒๒] เพราะเหตุนั้นแล แม่นางผู้มีเรือนร่างอันสวยงาม
เธอจงระวังบาปกรรม เมื่ออาตมาตายไปแล้ว
ขอชนทั้งปวงอย่าได้กล่าวติเตียนเธอในภายหลังเลย
(เทพธิดาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า)
[๒๓] เหตุนั้นข้าพเจ้าได้ทราบแล้ว
ขอพระองค์ทรงอดกลั้นสิ่งที่อดกลั้นได้ยากเถิด
ข้าพเจ้ายอมถวายตนและผลมะม่วงนั้นแก่พระองค์
ผู้ทรงละกามคุณที่ละได้ยาก
ดำรงสันติและธรรม๑ไว้อย่างมั่นคง
[๒๔] ผู้ใดละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต้นได้
แต่ยังติดอยู่ในสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องปลาย
ประพฤติอธรรมอยู่นั่นเทียว บาปย่อมเจริญแก่ผู้นั้น
[๒๕] เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะช่วยพระองค์
ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อยโดยส่วนเดียวเถิด
ข้าพเจ้าจะนำพระองค์ไปที่สวนมะม่วงอันร่มเย็น
ขอพระองค์ปราศจากความขวนขวายอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ สันติ หมายถึงศีลกล่าวคือความสงบจากความทุศีล ธรรม หมายถึงสุจริตธรรม (ขุ.ชา.อ. ๗/๒๓/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๒. กุมภชาดก (๕๑๒)
[๒๖] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงข่มอริราชศัตรู
สวนมะม่วงนั้นเซ็งแซ่ไปด้วยหมู่นกที่มัวเมาด้วยรสดอกไม้
ทิพยสกุณปักษี คือ นกกระเรียน นกยูง นกเขา
และนกสาลิกาก็มีอยู่ในสวนมะม่วงนี้
และในสวนนี้ยังมีฝูงหงส์ส่งเสียงร้องระงม
นกดุเหว่าเร่าร้องกึกก้องปลุกเหล่าสัตว์ให้ตื่นอยู่
[๒๗] ณ สวนมะม่วงนี้ ต้นมะม่วงทั้งหลายมีปลายกิ่งโน้มลง
ด้วยพวงผลดกดื่นเช่นรวงข้าวสาลี มีทั้งต้นคำ ต้นสน
ต้นกระทุ่ม และผลตาลสุกห้อยย้อยอยู่เรียงราย
(ดาบสเห็นเปรตเสวยทิพยสมบัติในเวลาดวงอาทิตย์ตก จึงได้กล่าวว่า)
[๒๘] เธอผู้ประดับมาลา โพกภูษา
ประดับอาภรณ์ สวมใส่กำไลมือกำไลแขน
มีร่างกายฟุ้งไปด้วยจุรณแก่นจันทน์
ถูกบำเรอตลอดคืน ส่วนกลางวันเสวยเวทนา
[๒๙] เธอมีหญิง ๑๖,๐๐๐ นางเป็นนางบำเรอ
มีอานุภาพมากอย่างนี้ ยังไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้า
[๓๐] ในภพก่อนเธอได้ทำบาปกรรมอะไรที่นำทุกข์มาให้ตน
เธอทำกรรมอะไรไว้ในมนุษย์ทั้งหลาย จึงต้องมากัดกินเนื้อหลังของตน
(เปรตจำดาบสนั้นได้ จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ข้าพระองค์ได้เล่าเรียนพระเวท หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ได้ประพฤติสิ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเหล่าอื่นตลอดกาลนาน
[๓๒] ผู้หากินบนหลังคนอื่นต้องควักเนื้อหลังของตนกิน
เหมือนข้าพระองค์วันนี้ต้องกัดกินเนื้อหลังของตนเอง
กิงฉันทชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๒. กุมภชาดก (๕๑๒)
๒. กุมภชาดก (๕๑๒)
ว่าด้วยหม้อพิเศษ
(สรรพมิตตราชาทรงสนทนากับท้าวสักกะว่า)
[๓๓] ท่านเป็นใคร มาจากสวรรค์ชั้นไตรทศหรือ
ปรากฏอยู่ในนภากาศเหมือนดวงจันทร์ส่องสว่างในยามรัตติกาล
รัศมีทั้งหลายแผ่ซ่านออกจากกายท่านดุจสายฟ้าที่แลบอยู่ในอากาศ
[๓๔] ท่านนั้นบันดาลเมฆที่ขาดลมให้ไปในอากาศได้
ทั้งเดินทั้งยืนในอากาศได้ ท่านได้บำเพ็ญฤทธิ์ของเทพ
ผู้ไม่ต้องเดินทางไกลด้วยเท้า ทำให้เป็นที่พึ่งท่านได้หรือ
[๓๕] ท่านอาศัยอากาศก้าวเดินมาหยุดอยู่
กล่าวเนื้อความนั้นว่า ท่านจงซื้อหม้อ
พราหมณ์ ท่านเป็นใครหรือ หม้อของท่านนี้มีประโยชน์อะไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
(ท้าวสักกะแสดงโทษของสุราว่า)
[๓๖] หม้อนี้มิใช่หม้อเนยใส มิใช่หม้อน้ำมัน
มิใช่หม้อน้ำอ้อย และมิใช่หม้อน้ำผึ้ง โทษของหม้อนี้มีมิใช่น้อย
พระองค์จงสดับโทษอย่างมากมายที่มีอยู่ในหม้อนี้
[๓๗] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วเดินโซเซพึงตกเหว ตกบ่อ
ตกถ้ำ ตกหลุมน้ำครำ และหลุมโสโครก
พึงบริโภคของที่ไม่ควรบริโภคได้มากมาย
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยน้ำสุราชนิดนั้น
[๓๘] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วไม่เป็นอิสระในจิต
เที่ยวเปะปะไปเหมือนโคกินกากสุรา
เป็นเหมือนคนอนาถา ร่วมวงขับร้องฟ้อนรำได้
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๒. กุมภชาดก (๕๑๒)
[๓๙] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วเปลือยกายเหมือนชีเปลือย
เที่ยวไปตามตรอกซอกซอยในหมู่บ้าน
มีจิตฟั่นเฟือน มักนอนเลยเวลา
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๐] บุคคลดื่มสุราชนิดใดลุกขึ้นแล้วตัวสั่น
โยกศีรษะและแกว่งแขนไปมา เขาฟ้อนรำเหมือนหุ่นยนต์
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๑] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วนอนหลับจนถูกไฟครอก
กินของที่พวกสุนัขจิ้งจอกกัดกินเหลือเดนได้
ย่อมได้รับการจองจำ การถูกฆ่า และความเสื่อมจากโภคะ
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๒] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วพึงพูดสิ่งที่ไม่ควรพูด
นั่งพูดพร่ำอยู่ในสภา ปราศจากเสื้อผ้า
มีกายเลอะเทอะเปรอะเปื้อน จมอยู่ในกองอาเจียน ถึงความพินาศ
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๓] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วอวดเก่ง มีนัยน์ตาขุ่นขวาง
สำคัญว่าแผ่นดินทั้งหมดเป็นของเราแต่ผู้เดียว
พระราชาแม้จะมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตก็ไม่เสมอเหมือนเรา
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๔] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วเป็นคนถือตัวจัด
ก่อการทะเลาะวิวาท มีนิสัยส่อเสียด มีผิวพรรณทราม
มักเปลือยกาย หลบซ่อนอยู่เสมอ อยู่แบบโจร แบบนักเลง
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๕] ตระกูลทั้งหลายที่มั่งคั่งสมบูรณ์
มีทรัพย์ตั้งหลายพันพึงมีอยู่ในโลก
สุราชนิดนี้ทำให้ขาดจากความเป็นทายาทได้
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๒. กุมภชาดก (๕๑๒)
[๔๖] ข้าวเปลือก ทรัพย์สิน เงิน ทอง
ไร่นา โค กระบือในตระกูลใดย่อมพินาศไป
และความขาดสูญแห่งตระกูลที่มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
ย่อมมีได้เพราะสุราชนิดใด
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๗] บุรุษดื่มสุราชนิดใดแล้วเป็นเหมือนคนกักขฬะหยาบคาย
ด่าพ่อแม่ จับต้องแม้แม่ยายและลูกสะใภ้
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๘] นารีดื่มสุราชนิดใดแล้วเป็นเหมือนหญิงกักขฬะหยาบคาย
ด่าพ่อผัว แม่ผัว และสามี จับต้องทาสและคนใช้ผู้ชาย
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๔๙] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้ว
พึงฆ่าสมณะและพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
เขาพึงไปสู่อบายเพราะกรรมนั้นเป็นเหตุ
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๐] ชนทั้งหลายดื่มสุราชนิดใดแล้ว
ประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ
เพราะประพฤติชั่ว พวกเขาย่อมตกนรก
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๑] ชนทั้งหลายแม้บริจาคเงินจำนวนมาก
อ้อนวอนผู้ใดให้กล่าวเท็จไม่ได้ ในกาลก่อน
ผู้นั้นดื่มสุรานั้นแล้วก็พูดเหลาะแหละเหลวไหลได้
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๒] ในการรับใช้ คนดื่มสุราชนิดใดแล้วถูกเขาใช้ไป
เมื่อเกิดกรณียกิจรีบด่วน เขาแม้ถูกถามก็ไม่รู้เรื่อง
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
[๕๓] คนเมาทั้งหลายเพราะความเมามาย
แม้มีความละอายใจก็ทำความไม่ละอายให้ปรากฏได้
แม้เป็นคนดีมีปัญญาก็พูดมาก
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๔] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วมักนอนสุมหัวกัน
อดข้าวปลาอาหาร นอนเป็นทุกข์อยู่บนพื้นดิน
ย่อมประสบกับความมีผิวพรรณทรามและการถูกติฉินนินทา
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๕] บุคคลดื่มสุราชนิดใดแล้วนอนคอตก
เหมือนโคที่ถูกเกราะซึ่งผูกไว้ที่คอตีกระทบ
ฤทธิ์สุราคล้ายกับทำคนให้มีความอดทนด้วยดีก็หาไม่
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๖] มนุษย์ทั้งหลายย่อมเว้นสุราชนิดใดซึ่งเปรียบได้กับงูมีพิษร้าย
ใครเล่าควรจะดื่มสุราชนิดนั้นซึ่งเป็นเช่นกับยาพิษในโลก
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๗] พวกโอรสของท้าวอันธกเวณฑะเสวยสุราชนิดใดแล้ว
พาหญิงไปบำเรอใกล้ฝั่งสมุทร
ได้ใช้สากประหัตประหารกันและกัน
ขอพระองค์ทรงซื้อหม้อนี้ซึ่งเต็มด้วยสุราชนิดนั้น
[๕๘] บุรพเทพ (คืออสูรทั้งหลาย) ดื่มสุราชนิดใดแล้วเมามาย
จุติจากสวรรค์ชั้นไตรทศ ยังสำคัญตนว่าเที่ยง
เป็นไปกับด้วยอสูรมายา พระมหาราช บุคคลเมื่อทราบ
น้ำเมานี้ว่าไม่มีประโยชน์ จะพึงดื่มน้ำชนิดนั้นไปทำไม
[๕๙] พระมหาราช ในหม้อนี้ไม่มีนมส้มหรือน้ำผึ้งอยู่เลย
พระองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้ว ขอทรงซื้อเถิด
พระเจ้าสรรพมิตร สิ่งของทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในหม้อนี้
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์ตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้วแหละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วเห็นโทษของสุรา จึงทรงชมเชยท้าวสักกะว่า)
[๖๐] ถึงบิดามารดาของข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน
ผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลหวังประโยชน์สูงสุด
วันนี้ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังคำของท่าน
[๖๑] ข้าพเจ้าจะให้บ้านส่วย ๕ ตำบล
สาวใช้ ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว
และรถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คันนี้แก่ท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ผู้หวังประโยชน์แก่ข้าพเจ้า
(ท้าวสักกะเมื่อจะให้พระราชารู้ว่าตนเป็นเทวดา จึงตรัสว่า)
[๖๒] พระมหาราช ทาสหญิง ๑๐๐ คน บ้านส่วย โคทั้งหลาย
และรถเทียมม้าอาชาไนยทั้งหลายของพระองค์
จงเป็นของพระองค์เถิด
ข้าพระองค์เป็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพชั้นไตรทศ
[๖๓] ขอพระองค์จงเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ
ข้าวปายาสที่ระคนด้วยเนยใส
และจงเสวยขนมกุมมาสที่ปรุงด้วยน้ำผึ้งเถิด
พระองค์ผู้จอมชน ขอพระองค์จงทรงยินดีในธรรม
อันใคร ๆ ไม่ติเตียนแล้ว เข้าถึงแดนสวรรค์เถิด
กุมภชาดกที่ ๒ จบ
๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
ว่าด้วยพระเจ้าปัญจาละพระนามว่าชัยทิศ
(ยักษ์จับพระหัตถ์ของพระราชาแล้วกราบทูลว่า)
[๖๔] นานจริงหนอ วันนี้ภักษาเป็นอันมากได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในเวลาอาหารในวัน ๗ ค่ำ ท่านเป็นใคร มาจากไหน
ขอเชิญท่านบอกเนื้อความนั้นและชาติสกุลตามที่ท่านทราบเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(พระราชาทรงเห็นยักษ์แล้ว ตกพระทัย ต่อมาทรงรวบรวมสติได้แล้วจึงตรัสว่า)
[๖๕] ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปัญจาละนามว่าชัยทิศ เข้ามาล่าสัตว์
บางทีท่านจะได้ยินมาแล้วบ้าง เราเที่ยวไปตามเชิงเขาแนวป่า
วันนี้ท่านจงกินเนื้อฟานนี้ ปล่อยข้าพเจ้าไปเถิด
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[๖๖] พระองค์เมื่อถูกข้าพระองค์เบียดเบียน
กลับทรงแลกพระองค์กับของที่ข้าพระองค์มีอยู่
เนื้อฟานที่พระองค์กล่าวถึงเป็นภักษาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เคี้ยวกินพระองค์แล้วอยากกินเนื้อฟาน
ก็จักเคี้ยวกินในภายหลัง เวลานี้ไม่ใช่เวลาพร่ำเพ้อรำพัน
(พระราชาทรงหวนระลึกถึงนันทพราหมณ์ จึงตรัสว่า)
[๖๗] ถ้าว่า ข้าพเจ้ารอดพ้นไปไม่ได้ด้วยการแลกเปลี่ยน
เพื่อไปแล้วจะกลับมาในวันพรุ่งนี้
กติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้นข้าพเจ้าทำไว้แล้ว
ข้าพเจ้าผู้รักษาความสัตย์จักกลับมาอีก
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[๖๘] พระมหาราช กรรมอะไรเล่า
ที่ทำให้พระองค์ผู้ใกล้ถึงการสวรรคตต้องทรงเดือดร้อน
ขอพระองค์ตรัสบอกกรรมนั้นแก่ข้าพระองค์
บางทีข้าพระองค์อาจจะอนุญาตให้พระองค์ไป
เพื่อจะกลับมาในวันพรุ่งนี้ได้บ้าง
(พระราชาตรัสว่า)
[๖๙] ข้าพเจ้าได้ให้ความหวังเกี่ยวกับทรัพย์ไว้แก่พราหมณ์
กติกานั้นข้าพเจ้าได้รับรองไว้แล้ว
ยังมิได้ปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น
ข้าพเจ้าผู้รักษาความสัตย์จักกลับมาอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[๗๐] ความหวังเกี่ยวกับทรัพย์อันใดพระองค์ได้สร้างไว้ให้แก่พราหมณ์
กติกานั้นพระองค์ทรงรับรองไว้แล้ว
ยังมิได้ปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เลย
ขอพระองค์จงทรงรักษาความสัตย์เสด็จกลับมาอีก
(พระศาสดาเมื่อทรงแสดงความนั้น จึงได้ตรัสว่า)
[๗๑] ก็พระเจ้าชัยทิศนั้นรอดพ้นจากเงื้อมมือของยักษ์โปริสาทแล้ว
ทรงรีบเสด็จไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงหวังจะปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์
รับสั่งเรียกหาอลีนสัตตุราชบุตรเข้ามาเฝ้า ตรัสว่า
[๗๒] ลูกจงอภิเษกราชสมบัติในวันนี้
จงประพฤติธรรมในบริวารของตนและแม้ในบุคคลเหล่าอื่น
อนึ่ง การประพฤติอธรรมขออย่าได้มีในแคว้นของลูก
ส่วนพ่อจะไปสำนักของยักษ์โปริสาท
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๗๓] ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท หม่อมฉันทำกรรมอะไร
จึงทำให้พระราชบิดาไม่พอพระทัย
และวันนี้พระราชบิดาจะให้หม่อมฉันดำรงราชสมบัติ
เพราะการงานที่ทำให้พระราชบิดาไม่พอพระทัยอันใด
หม่อมฉันปรารถนาจะสดับข้อนั้น ๆ
แม้ราชสมบัติเว้นพระราชบิดาหม่อมฉันก็ไม่พึงปรารถนา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๔] ลูกรัก พ่อมิได้ระลึกถึงความผิดของลูก
เพราะการกระทำหรือเพราะคำพูดของลูกนี้เลย
เพราะให้สัจจะไว้กับยักษ์โปริสาท
พ่อต้องรักษาความสัตย์ จักต้องกลับไปอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๗๕] หม่อมฉันจักไปแทน ขอพระองค์ประทับอยู่ที่นี้
การที่จะรอดชีวิตพ้นมาจากสำนักยักษ์โปริสาทย่อมไม่มี
ขอเดชะ ถ้าพระราชบิดาจะเสด็จไปจริง ๆ
หม่อมฉันก็จะตามเสด็จด้วย แม้เราทั้ง ๒ จะไม่รอดชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๖] ลูกรัก นั่นเป็นธรรมของสัตบุรุษอย่างแท้จริง
แต่เมื่อใดยักษ์โปริสาทเท้าด่าง
ข่มขี่ทำลายลูกแล้วย่างกินที่โคนต้นไม้
ข้อนั้นพึงเป็นทุกข์ยิ่งกว่าการตายของพ่อเสียอีก
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๗๗] หม่อมฉันจักเอาชีวิตแลกเปลี่ยนชีวิตของเสด็จพ่อ
เสด็จพ่ออย่าได้เสด็จไปสำนักยักษ์โปริสาทเลย
ก็หม่อมฉันจักแลกเปลี่ยนเอาชีวิตของเสด็จพ่อนั้นไว้
เพราะเหตุนั้น จึงขอยอมตายเพื่อชีวิตของเสด็จพ่อ
(พระศาสดาเมื่อจะประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘] ลำดับนั้นแล พระราชบุตรผู้ทรงมีพระปรีชา
ถวายบังคมพระยุคลบาทพระมารดาพระบิดาแล้วเสด็จไป
พระมารดาของท้าวเธอทรงระทมทุกข์ ล้มลงที่พื้นปฐพี
ส่วนพระบิดานั้นเล่าทรงประคองพระพาหาทั้ง ๒
แล้วทรงกันแสง
(และเมื่อจะประกาศสัจจะ จึงได้ตรัสต่อไปอีกว่า)
[๗๙] พระบิดาทรงทราบชัดว่าพระโอรสกำลังมุ่งหน้าเสด็จไป
จึงบ่ายพระพักตร์ต่อเบื้องพระปฤษฎางค์ ประคองอัญชลี
นมัสการว่า ลูกรัก ขอลูกจงมีเทพเหล่านี้ คือ ท้าวโสมะ
ท้าววรุณ ท้าวปชาบดี พระจันทร์ และสุริยเทพคุ้มครอง
ขอลูกจงได้รับอนุญาตกลับมาจากสำนักยักษ์โปริสาทด้วยความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(พระชนนีทรงทำสัจจกิริยาว่า)
[๘๐] ลูกรัก มารดาของพ่อรามได้รับการคุ้มครองอย่างดี
ได้กระทำความสวัสดีอันใดให้แก่พ่อรามผู้ไปยังแคว้นของพระเจ้า
ทัณฑกี แม่ขอกระทำความสวัสดีอันนั้นให้แก่ลูก
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพเจ้าโปรดระลึกถึงลูก
ขอลูกจงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(พระภคินีทรงทำสัจจกิริยาว่า)
[๘๑] น้องนึกไม่ออกเลย
ถึงการคิดประทุษร้ายเจ้าพี่อลีนสัตตุในที่แจ้งหรือที่ลับ
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพโปรดระลึกถึงเจ้าพี่
ขอเจ้าพี่ทรงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(พระชายาทรงทำกิริยาว่า)
[๘๒] ขอเดชะพระสวามี ก็เพราะพระองค์มิได้ประพฤตินอกใจ
หม่อมฉันเลย ฉะนั้น พระองค์มิได้เป็นที่รักจากใจหม่อมฉันก็หาไม่
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพโปรดระลึกถึงพระองค์
ขอพระองค์ทรงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(ลำดับนั้น ยักษ์กล่าวว่า)
[๘๓] เจ้ามีร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้างาม มาจากไหน
เจ้าไม่รู้หรือว่าเราอยู่ในป่า
ใคร ๆ เขาก็รู้จักเราผู้ชั่วร้ายว่า เป็นยักษ์กินคน
มีใครเล่าเมื่อรู้ถึงความปลอดภัยพึงมาที่นี้
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๘๔] นายพราน เรารู้ว่าท่านกินคน
เราจะไม่รู้ว่าท่านอยู่ในป่าก็หาไม่
เราเป็นพระโอรสของพระเจ้าชัยทิศ
เพราะต้องการจะปลดเปลื้องพระบิดา
วันนี้ท่านจงปล่อยพระบิดา จงกินเราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[๘๕] เรารู้ว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าชัยทิศ
เพราะใบหน้าและผิวพรรณของท่านทั้ง ๒ คล้ายคลึงกัน
การที่บุคคลยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
นี้เป็นกรรมที่กระทำได้ยาก แต่ท่านได้กระทำแล้ว
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๘๖] ในเรื่องนี้เรามิได้สำคัญว่าทำได้ยากอะไรนัก
บุคคลใดยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
หรือเพราะเหตุแห่งมารดา บุคคลนั้นไปสู่ปรโลกแล้ว
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขและอารมณ์อันเลิศ
(พระราชกุมารถูกยักษ์ถามถึงความไม่กลัวตาย จึงตรัสว่า)
[๘๗] ก็เราระลึกไม่ได้สักนิดเดียว
ถึงการกระทำความชั่วของตนทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
เราเป็นผู้มีการเกิดและการตายตามกำหนด
การพ้นจากความตายย่อมไม่มีในโลกนี้ฉันใด
ในโลกหน้าก็ฉันนั้น
[๘๘] ท่านผู้มีอานุภาพมาก วันนี้ท่านจงกินเราบัดนี้เถิด
จงทำกิจที่ควรทำกับสรีระนี้ หรือว่าเพื่อท่านเราจะตกจากยอดไม้
ท่านพอใจจงกินเนื้อของเราส่วนที่ท่านพอใจเถิด
(ยักษ์ฟังพระดำรัสแล้วตกใจกลัว จึงกราบทูลว่า)
[๘๙] ท่านราชบุตร ถ้าท่านพอใจอย่างนี้
ท่านจะสละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องพระบิดา
ฉะนั้น ท่านจงรีบหักฟืน ก่อไฟให้โพลงขึ้นในที่นี้
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๐] ลำดับนั้นแล พระราชบุตรผู้ทรงปรีชาได้รวบรวมฟืน
ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นแล้ว จึงตรัสบอกให้ยักษ์ทราบว่า
บัดนี้ไฟกองใหญ่เราได้ก่อแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๓. ชยัททิสชาดก (๕๑๓)
(พระราชกุมารทรงเห็นกิริยาของยักษ์นั้น จึงตรัสว่า)
[๙๑] บัดนี้ท่านจงข่มขี่กินเราในวันนี้เถิด
ทำไมท่านจึงขนพองเพ่งดูเราบ่อย ๆ
เรากระทำตามคำของท่าน ตามที่ท่านพอใจจะกินเรา
(ยักษ์กราบทูลว่า)
[๙๒] ใครเล่าควรที่จะกินคนผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มีปกติกล่าวคำสัตย์ รู้ถ้อยคำของผู้ขอเช่นท่าน
บุคคลใดพึงกินคนผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์เช่นนั้น
แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็พึงแตกออก ๗ เสี่ยง
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[๙๓] เพราะสสบัณฑิตนั้นสำคัญท้าวสักกเทวราชนี้ว่าเป็นพราหมณ์
จึงได้ให้สิงอยู่ในสรีระของตน ยักษ์ เพราะเหตุนั้นแล
จันทิมเทพบุตรนั้นจึงมีรูปกระต่ายปรากฏอยู่
ซึ่งให้ความพอใจแก่ชาวโลกตราบจนทุกวันนี้
(ยักษ์เมื่อจะปล่อยพระราชกุมาร จึงกราบทูลว่า)
[๙๔] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พ้นจากปากราหูแล้วย่อมไพโรจน์
ในดิถีเพ็ญ ๑๕ ค่ำฉันใด
ท่านผู้มีอานุภาพมาก แม้ท่านก็ฉันนั้น พ้นแล้วจากยักษ์โปริสาท
ยังพระบิดาและพระมารดาให้ปลื้มพระทัย
จงไพโรจน์ในกบิลรัฐเถิด
อนึ่ง ขอพระประยูรญาติของพระองค์ทุกฝ่ายจงร่าเริงยินดีทั่วหน้า
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[๙๕] ลำดับนั้น พระราชบุตรทรงพระนามอลีนสัตตุผู้ทรงพระปรีชา
ทรงประคองอัญชลี ถวายบังคมโปริสาทดาบส
ทรงได้รับอนุญาตเสด็จกลับกบิลรัฐอย่างสุขสวัสดีและปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงกิริยาที่ชาวมคธถวายการต้อนรับพระราชกุมาร
จึงตรัสว่า)
[๙๖] ชาวนิคม ชาวชนบท พลช้าง พลรถ
และพลเดินเท้าล้วนประคองอัญชลี เข้าเฝ้าถวายบังคม
กราบทูลท้าวเธอว่า ขอถวายบังคมแด่พระองค์
พระองค์ทรงเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก
ชยัททิสชาดกที่ ๓ จบ
๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
ว่าด้วยพญาช้างฉัททันต์
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๗] พระน้องนางผู้มีเรือนร่างเหลืองอร่ามดุจทองคำ
ผิวพรรณผุดผ่อง นัยนาก็แจ่มใสกว้างขวาง
ไยเล่าจึงเศร้าโศก ซูบซีดไปดังดอกไม้ที่ถูกขยี้
(พระนางสุภัทรากราบทูลว่า)
[๙๘] ขอเดชะพระมหาราช หม่อมฉันแพ้ครรภ์
หม่อมฉันฝันเห็นนิมิต จึงแพ้ครรภ์ชนิดที่หาได้ไม่ง่ายเลย
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๙] สมบัติอันน่าใคร่ชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของมนุษย์
ในโลกที่น่าเพลิดเพลินนี้ ทั้งหมดนั้นจำนวนมากของพี่
พี่ขอมอบให้พระน้องนางตามที่แพ้พระครรภ์
(พระนางสุภัทรากราบทูลว่า)
[๑๐๐] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ ขอนายพรานทุกจำพวก
ที่มีอยู่ในแคว้นของเจ้าพี่จงมาประชุมพร้อมกัน
หม่อมฉันจักบอกความแพ้ครรภ์ของหม่อมฉัน
แก่พวกพรานเหล่านั้นว่าเป็นเช่นไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
(พระราชาตรัสบอกพรานเหล่านั้นแก่พระราชเทวีว่า)
[๑๐๑] พระเทวี นายพรานเหล่านี้ล้วนมีความชำนาญ แกล้วกล้า
ชำนาญป่าและรู้จักเนื้อดี ยอมสละชีวิตเมื่อพี่ต้องการ
(พระราชเทวีตรัสกับพรานทั้งหลายว่า)
[๑๐๒] บุตรนายพรานทั้งหลาย
พวกท่านเท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี่ ขอจงฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้ฝันเห็นพญาช้างเผือก งามีรัศมี ๖ ประการ๑
ข้าพเจ้าต้องการงาของมัน เมื่อไม่ได้ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่
(พวกบุตรนายพรานได้กราบทูลว่า)
[๑๐๓] ขอเดชะพระราชบุตรี
พญาช้างที่งามีรัศมี ๖ ประการซึ่งพระนางได้ทรงสุบินเห็น
บิดาของพวกข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน
ปู่ของพวกข้าพระองค์ก็ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน
ขอพระนางโปรดบอกพวกข้าพระองค์มาเถิดว่า
พญาช้างนั้นเป็นเช่นไร
(บุตรนายพรานเหล่านั้นกราบทูลต่อไปว่า)
[๑๐๔] ทิศใหญ่ ๔ ทิศ ทิศน้อย ๔ ทิศ
ทิศเบื้องบน และทิศเบื้องล่าง ๑๐ ทิศเหล่านี้
พญาช้างที่งามีรัศมี ๖ ประการ
ซึ่งพระนางได้ทรงสุบินเห็น อยู่ทิศไหน
(พระนางสุภัทราราชเทวีทรงเหยียดพระหัตถ์ตรงไปยังป่าหิมพานต์ ตรัสว่า)
[๑๐๕] จากนี้ตรงไปทิศอุดร ข้ามภูเขาสูงใหญ่ ๗ เทือก
ภูเขานั้นสูงใหญ่ ชื่อว่าสุวรรณปัสสคีรี
มีพันธุ์บุปผชาติบานสะพรั่ง มีหมู่กินนรสัญจรไม่ขาดสาย

เชิงอรรถ :
๑ รัศมี ๖ ประการ คือ (๑) นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน (๒) ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง (๓) โลหิตะ
แดงเหมือนตะวันอ่อน (๔) โอทาตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน (๕) มัญเชฏฐะ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่ง
หรือดอกหงอนไก่ (๖) ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
[๑๐๖] ท่านจงขึ้นไปยังเสลบรรพต ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่กินนร
แล้วจงมองลงไปเบื้องล่างเชิงเขา
ทันใดนั้นท่านจะเห็นพญาไทรมีสีสันงาม
เสมอเหมือนเมฆมีย่านไทรห้อยย้อยอยู่ ๘,๐๐๐ ย่าน
[๑๐๗] ณ ใต้ต้นไทรนั้นพญากุญชรงามีรัศมี ๖ ประการ
อาศัยอยู่ ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่ได้
พญาช้างเผือกปลอดนั้น มีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก
มีงางอนงามเหมือนงอนรถ
วิ่งไล่ประหารปัจจามิตรเร็วปานลมพัด แวดล้อมรักษาอยู่
[๑๐๘] ช้างเหล่านั้นยืนหายใจเข้าออกน่าหวาดกลัว
โกรธแม้ต่อลมที่มากระทบ
ก็ถ้าเห็นมนุษย์ในที่นั้นต้องขยี้ให้เป็นเถ้าธุลี
แม้ละอองธุลีก็มิให้แตะต้องพญาช้างนั้น
(ครั้นได้ฟังดังนั้น โสนุตตรพรานตกใจกลัวความตาย จึงกราบทูลว่า)
[๑๐๙] ขอเดชะพระเทวีของข้าพระพุทธเจ้า
เครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ แก้วมุกดา แก้วมณี
และแก้วไพฑูรย์ในราชสกุลก็มีอยู่มากมาย
พระแม่เจ้าจะกระทำอะไรกับเครื่องประดับที่ทำด้วยงาช้าง
พระแม่เจ้ามีพระประสงค์จะให้ฆ่าพญาช้างงามีรัศมี ๖ ประการ
หรือจะให้พญาช้างฆ่าบุตรนายพรานกันแน่ พระเจ้าข้า
(ลำดับนั้น พระราชเทวีตรัสว่า)
[๑๑๐] พ่อพราน เรานั้นมีทั้งความริษยาทั้งความน้อยใจ
เมื่อหวนระลึกถึงความหลังขึ้นมาก็ตรอมใจ
ท่านจงช่วยทำตามความประสงค์ของเรานั้นด้วยเถิด
พ่อพราน เราจะให้หมู่บ้านแก่ท่าน ๕ ตำบล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
(โสนุตตรพรานนั้นรับพระเสาวนีย์แล้วทูลถามว่า)
[๑๑๑] พญาช้างอาศัยอยู่ที่ไหน เข้าไปยืนอยู่ที่ไหน
หนทางไหนเป็นหนทางที่พญาช้างเดินไปอาบน้ำ
ก็พญาช้างนั้นอาบน้ำอย่างไร
ไฉนเล่าข้าพระพุทธเจ้าจะรู้ความเป็นไปของพญาช้างได้
(พระราชเทวีตรัสบอกถึงสถานที่ซึ่งจะพบช้างเผือกได้ว่า)
[๑๑๒] ณ สถานที่ที่พญาช้างอาศัยอยู่นั่นแล
มีสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์ มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก
มีดอกปทุมบานสะพรั่ง มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ
พญาช้างนั้นลงอาบน้ำในสระโบกขรณีนี้แหละ
[๑๑๓] พญาช้างเผือกชำระศีรษะแล้ว ทัดดอกอุบล
มีร่างกายผิวพรรณผุดผ่องขาวราวกะดอกบุณฑริก
รื่นเริงบันเทิงใจให้พระนางสุภัทรามเหสีเดินนำหน้าไปยังที่อยู่ของตน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงขยายความให้แจ้ง จึงตรัสว่า)
[๑๑๔] นายพรานนั้นรับพระเสาวนีย์ของพระนางที่ปราสาทชั้นที่ ๗
นั้นแหละแล้วจึงถือกระบอกลูกเกาทัณฑ์และธนูคันใหญ่ไป
พิจารณาคีรีบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เทือก
จึงเห็นคีรีบรรพตสูงใหญ่ชื่อว่าสุวรรณปัสสคีรี
[๑๑๕] แล้วจึงขึ้นไปยังเสลบรรพตซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่กินนร
มองลงไปเบื้องล่างเชิงเขา ได้เห็นพญาไทรมีสีสันงาม
เสมอเหมือนเมฆ มีย่านไทรห้อยย้อยอยู่ ๘,๐๐๐ ย่าน
[๑๑๖] ณ ใต้ต้นไทรนั้น เขาได้เห็นพญากุญชร
งามีรัศมี ๖ ประการ ยากที่ใครอื่นจะข่มขี่ได้
พญาช้างเผือกนั้นมีช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก
มีงางอนงามเหมือนงอนรถ วิ่งไล่ประหารปัจจามิตรเร็วปานลมพัด
แวดล้อมรักษาอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
[๑๑๗] อนึ่ง เขาได้เห็นสระโบกขรณีอยู่ไม่ไกล น่ารื่นรมย์
มีท่าน้ำสวยงาม ทั้งมีน้ำมาก มีดอกปทุมบานสะพรั่ง
มีหมู่ภมรคลุกเคล้าเกษรอยู่เป็นอาจิณ
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พญาช้างนั้นลงอาบน้ำ
[๑๑๘] ครั้นได้เห็นความเป็นไป การยืน
และหนทางที่พญาช้างนั้นเดินไปอาบน้ำแล้ว
นายพรานผู้ชั่วช้าถูกพระนางสุภัทราเทวี
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตทรงใช้มา จึงได้ไปขุดหลุม
[๑๑๙] นายพรานผู้มีนิสัยทำกรรมหยาบช้า ครั้นขุดหลุมแล้ว
จึงปิดด้วยแผ่นไม้กระดาน แล้วหย่อนตัวลงไป
จับธนูยิงพญาช้างที่เดินมาข้างหลุมด้วยลูกเกาทัณฑ์ใหญ่
[๑๒๐] ก็แหละพญาช้างพอถูกยิงก็บันลือร้องก้องโกญจนาท
ช้างทั้งหมดก็พากันบันลือเสียงอื้ออึง
ต่างพากันวิ่งไปมารอบ ๆ ทั้ง ๘ ทิศ
ทำหญ้าและไม้ให้แหลกเป็นจุรณ
[๑๒๑] พญาช้างจับนายพรานนั้นด้วยหมายใจว่า เราจักฆ่ามัน
ได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยแห่งฤๅษีทั้งหลาย
ทั้ง ๆ ที่ได้รับทุกขเวทนา ก็เกิดสัญญาขึ้นว่า
บุคคลผู้ทรงธงชัยแห่งพระอรหันต์ สัตบุรุษไม่ควรฆ่า
(พญาช้างกล่าวกับนายพรานนั้นว่า)
[๑๒๒] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดยังไม่หมดไป
ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย
[๑๒๓] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว
ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๔. ฉัททันตชาดก (๕๑๔)
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๒๔] พญาช้างถึงถูกยิงด้วยลูกเกาทัณฑ์ใหญ่แล้ว
ก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ได้กล่าวกับนายพรานว่า
เพื่อนรัก เพื่อนต้องการอะไรหรือ
เพราะอะไร เพื่อนจึงฆ่าเรา หรือว่าใครใช้เพื่อนมา
(นายพรานกล่าวว่า)
[๑๒๕] พญาช้างผู้เจริญ พระมเหสีของพระเจ้ากาสี
พระนางทรงพระนามว่าสุภัทรา ได้รับการยกย่องบูชาในราชสกุล
ก็พระนางได้ทรงสุบินนิมิตเห็นท่าน ได้ตรัสบอกข้าพเจ้า
และได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า มีความต้องการงาทั้งคู่
(พญาช้างกล่าวว่า)
[๑๒๖] ความจริงคู่งาของบิดาและของปู่เราที่สวยงามมีเป็นจำนวนมาก
พระนางทราบดี แต่พระราชบุตรีมีนิสัยทรงกริ้ว
เป็นคนพาล ต้องการที่จะฆ่าเรา จึงได้จองเวร
[๑๒๗] ลุกขึ้นเถิด นายพราน ท่านจงจับเลื่อยตัดงาคู่นี้ก่อนที่เราจะตาย
จงกราบทูลพระราชบุตรีผู้มีนิสัยทรงกริ้วพระองค์นั้นว่า
พญาช้างถูกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าตายแล้ว
เชิญเถิด งาคู่นี้เป็นงาของพญาช้างนั้น พระเจ้าข้า
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๒๘] นายพรานนั้นลุกขึ้นจับเลื่อย
ตัดงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
แล้วจึงนำงาทั้งคู่ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี
รีบหลีกไปจากที่นั้นโดยเร็ว
[๑๒๙] ช้างเหล่านั้นถูกภัยคุกคาม เป็นทุกข์เพราะพญาช้างถูกฆ่า
ต่างพากันวิ่งไปมาทั้ง ๘ ทิศ ไม่เห็นคนผู้เป็นปัจจามิตรต่อพญาช้าง
จึงได้กลับมาหาพญาช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
[๑๓๐] ช้างเหล่านั้นต่างคร่ำครวญร้องไห้อยู่ ณ ที่นั้น
โปรยฝุ่นลงที่ศีรษะของตน ทั้งหมดให้นางช้างตัวประเสริฐกว่า
ช้างทั้งหมดเดินนำหน้าแล้วพากันกลับไปสถานที่อยู่ของตน
[๑๓๑] นายพรานนั้นนำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี
ส่องรัศมีเปล่งปลั่งดังสายรุ้งทอง สว่างไสวไปทั่วไพรสณฑ์
เข้าไปยังกรุงกาสี แล้วน้อมงาทั้งคู่เข้าไปถวายพระราชกัญญา
กราบทูลว่า พญาช้างถูกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าแล้ว
งาคู่นี้เป็นงาของพญาช้างนั้น
[๑๓๒] เพราะทอดพระเนตรเห็นงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นภัสดาที่รักในชาติปางก่อน
พระหฤทัยของพระนางก็ได้แตกทำลาย ณ สถานที่นั้นนั่นเอง
พระนางผู้เป็นคนพาลได้สวรรคตเพราะเหตุนั้นนั่นแหละ
(พระเถระผู้สังคายนาพระธรรมเมื่อจะพรรณนาคุณของพระทศพล จึงได้
กล่าวว่า)
[๑๓๓] ก็พระบรมศาสดาทรงบรรลุสัมโพธิญาณ
ทรงมีอานุภาพมาก ได้ทรงแย้มท่ามกลางบริษัท
ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้วพากันกราบทูลว่า
ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้กระทำการแย้มให้ปรากฏ
ในเพราะสิ่งมิใช่เหตุไม่
[๑๓๔] เธอทั้งหลายจงดูกุมารีสาวซึ่งครองผ้ากาสาวพัสตร์
ประพฤติเป็นผู้ไม่ครองเรือน
ภิกษุณีนั้นได้เป็นพระนางราชกัญญาในครั้งนั้น
ส่วนตถาคตได้เป็นพญาช้างในครั้งนั้น
[๑๓๕] นายพรานผู้นำงาทั้งคู่ของพญาคชสารตัวประเสริฐ
ซึ่งมีความสวยงามหาที่เปรียบมิได้ในพื้นปฐพี
เข้าไปยังกรุงกาสีในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
[๑๓๖] พระพุทธเจ้าทรงปราศจากความกระวนกระวาย
ความโศกและกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง
ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้อันเป็นของเก่า
ที่ไม่รู้จักสาบสูญตราบเท่าดวงอาทิตย์ยังไม่ดับ
ซึ่งพระองค์ได้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน
เป็นบุรพจริยาทั้งสูงและต่ำว่า
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลนั้น
เราตถาคตได้มีอยู่ที่สระฉัททันต์นั้น
เราตถาคตได้เป็นพญาช้างตัวประเสริฐในกาลนั้น
เธอทั้งหลายจงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้
ฉัททันตชาดกที่ ๔ จบ
๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
ว่าด้วยสัมภวกุมาร
(พระราชาตรัสถามปัญหากับพราหมณ์สุจีรตะว่า)
[๑๓๘] ท่านอาจารย์สุจีรตะ ข้าพเจ้าบรรลุถึงราชสมบัติ
และความเป็นอธิบดีแล้ว แต่ยังปรารถนา
เพื่อบรรลุถึงความเป็นใหญ่และเพื่อชนะทั่วทั้งปฐพีนี้
[๑๓๙] โดยธรรม มิใช่โดยอธรรม ข้าพเจ้าหาพอใจอธรรมไม่
ท่านอาจารย์สุจีรตะ พระราชาต้องประพฤติธรรมให้เป็นกิจอันสำคัญ
[๑๔๐] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุใด เราทั้งหลาย
จะไม่ถูกนินทาในโลกนี้ ละไปแล้วก็จะไม่ถูกนินทา
และพึงถึงความมียศในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๔๑] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรม
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
(สุจีรตพราหมณ์ไม่สามารถจะทูลตอบปัญหาได้ จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๒] ขอเดชะพระขัตติยราช
พระองค์ทรงปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรมใด
อรรถและธรรมนั้นใครอื่นนอกจากวิธุรพราหมณ์
หาควรที่จะกล่าวชี้แจงไม่
(พระราชาทรงประสงค์จะส่งสุจีรตพราหมณ์ไป จึงตรัสว่า)
[๑๔๓] มาเถิด ท่านอาจารย์สุจีรตะ ข้าพเจ้าจะส่งท่านไป
ท่านจงไปยังสำนักวิธุรพราหมณ์ จงนำทองคำแท่งนี้ไปด้วย
พึงมอบทองคำแท่งนี้กระทำให้เป็นเครื่องบูชา
สำหรับคำสอนอรรถและธรรม
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๔] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักวิธุรพราหมณ์แล้ว
ได้เห็นวิธุรพราหมณ์นั้นกำลังบริโภคอาหารอยู่ในเรือนของตน
(สุจีรตพราหมณ์ถูกถามถึงเหตุที่มา จึงกล่าวว่า)
[๑๔๕] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม วิธุระเพื่อน เราถามแล้ว
ขอท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด
(วิธุรพราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๔๖] สหายพราหมณ์ เราเกิดความขวนขวายขึ้นว่า
จักปิดกั้นแม่น้ำคงคา ก็ไม่อาจจะปิดกั้นแม่น้ำใหญ่นั้นได้
เพราะเหตุนั้น จักมีโอกาสได้อย่างไร
[๑๔๗] เราถูกท่านถามถึงอรรถและธรรม ก็ไม่สามารถจะบอกท่านได้
แต่ภัทรการบุตรของเรา เป็นลูกในไส้เกิดแต่ตัวเราแท้ ๆ
ท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๘] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นได้ไปถึงสำนักภัทรการแล้ว
ได้เห็นเขานั่งอยู่ในเรือนของตน
(สุจีรตพราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๑๔๙] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม ภัทรการหลานรัก
เจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นแก่ลุงเถิด
(ภัทรการพราหมณ์ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ จึงส่งเขาไปยังสำนักน้องชาย
ชื่อสัญชัยกุมารว่า)
[๑๕๐] ข้าพเจ้าเหมือนคนละทิ้งหาบเนื้อติดตามเหี้ยอยู่
ถึงถูกท่านถามถึงอรรถและธรรม ก็ไม่อาจจะบอกแก่ท่านได้
[๑๕๑] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ผมมีน้องชายชื่อว่าสัญชัย
เขาเป็นน้องชายของผม ท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[๑๕๒] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักสัญชัยแล้ว
ได้เห็นเขานั่งอยู่ในเรือนของตนจึงกล่าวว่า
[๑๕๓] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม สัญชัยหลานรัก ลุงถามแล้ว
ขอเจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด
(สัญชัยกุมารกล่าวว่า)
[๑๕๔] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ พญามัจจุราชย่อมกลืนกินข้าพเจ้าทุกเมื่อ
ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า ข้าพเจ้าถูกท่านถามอรรถและธรรม
ก็ไม่อาจจะบอกแก่ท่านได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
[๑๕๕] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ข้าพเจ้ามีน้องชายชื่อว่าสัมภวะ
เขาเป็นน้องชายของข้าพเจ้า ขอท่านจงไปถามอรรถและธรรมกับเขาเถิด
(สุจีรตพราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๕๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ
ปัญหาธรรมนี้พวกเรายังไม่พอใจ
บิดาและบุตรทั้ง ๓ คนนั้น
ก็ยังไม่มีปัญญาจะหยั่งรู้ถึงปัญหาธรรมนี้เลย
[๑๕๗] ท่านทั้ง ๓ คนถูกถามถึงอรรถและธรรมนั้นก็ไม่อาจจะบอกได้
ไฉนเล่า เด็กถูกถามถึงอรรถและธรรมจะพึงรู้ได้
(สัญชัยกุมารได้ฟังดังนั้น จึงสรรเสริญสัมภวกุมารว่า)
[๑๕๘] ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้ว
อย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[๑๕๙] ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาสธาตุ
ย่อมสว่างไสวกว่าหมู่ดาวทั้งสิ้นในโลกด้วยรัศมีแม้ฉันใด
[๑๖๐] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[๑๖๑] ท่านพราหมณ์ เดือนจิตตมาสแห่งคิมหันตฤดู
ย่อมงามยิ่งนักกว่าเดือนอื่น ๆ ด้วยต้นไม้และดอกไม้แม้ฉันใด
[๑๖๒] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[๑๖๓] ท่านพราหมณ์ หิมวันตบรรพตชื่อคันธมาทน์
ดารดาษไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นที่อยู่แห่งหมู่มหาภูต๑
ย่อมสว่างไสวและตลบอบอวลไปทั่วทิศด้วยทิพยโอสถแม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูต หมายถึงหมู่เทพ (ขุ.ชา.อ. ๗/๑๖๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๕. สัมภวชาดก (๕๑๕)
[๑๖๔] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[๑๖๕] ท่านพราหมณ์ ไฟป่ามีเปลวไฟเป็นช่อ เรืองโรจน์
ลุกโพลงอยู่ที่กอไม้ในป่า ไม่อิ่มต่อเชื้อเพลิง มีทางดำ
[๑๖๖] กินเปรียงเป็นอาหาร มีควันเป็นธง
ไหม้ลามจนถึงยอดไพรสณฑ์ มีเชื้อไฟเพียงพอ
โชติช่วงอยู่บนยอดภูเขาในเวลากลางคืนฉันใด
[๑๖๗] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
[๑๖๘] ม้าดีจะรู้ได้เพราะความว่องไว
โคพลิพัทท์จะรู้ได้ในเมื่อมีภาระที่จะต้องลากไป
แม่โคนมจะรู้ได้เพราะน้ำนม และบัณฑิตจะรู้ได้เมื่อเจรจาฉันใด
[๑๖๙] สัมภวกุมารถึงยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น เพราะประกอบด้วยปัญญา
ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมารก่อนแล้วอย่าเพิ่งเข้าใจเธอว่าเป็นเด็ก
พราหมณ์ ท่านถามสัมภวกุมารแล้วพึงรู้อรรถและธรรมได้
(พระศาสดาเมื่อทรงเปิดเผยความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐] มหาพราหมณ์ภารทวาชะนั้นไปถึงสำนักสัมภวกุมารแล้ว
ได้เห็นเขากำลังเล่นอยู่นอกบ้าน
(สุจีรตพราหมณ์ได้ถามปัญหาว่า)
[๑๗๑] เราถูกพระเจ้าโกรัพยะผู้ทรงยศส่งมาเป็นทูต
พระเจ้าโกรัพยยุธิฏฐิละได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ท่านพึงถามอรรถและธรรม พ่อหนูสัมภวะ ลุงถามเจ้าแล้ว
ขอเจ้าจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
(สัมภวกุมารกล่าวว่า)
[๑๗๒] เอาเถิด ข้าพเจ้าจักบอกลุงตามอย่างคนที่ฉลาด
ก็พระราชาย่อมจะทรงทราบปัญหานั้นได้
แต่จะทรงกระทำหรือไม่เท่านั้น
(และเมื่อจะบอกปัญหาจึงกล่าวว่า)
[๑๗๓] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ใคร ๆ ถูกพระราชาตรัสถามแล้ว
พึงกราบทูลราชกิจที่จะทำในวันนี้ว่า พึงทำในวันพรุ่งนี้
ขอพระเจ้ายุธิฏฐิละอย่าทรงเชื่อฟังยับยั้งอยู่เลยในเมื่อประโยชน์เกิดขึ้น
[๑๗๔] ท่านพราหมณ์สุจีรตะ ใคร ๆ ถูกพระราชาตรัสถามแล้ว
พึงกราบทูลปัญหาที่เป็นไปภายในเท่านั้น
ไม่พึงให้ทรงดำเนินไปสู่หนทางที่ชั่วดุจคนหลงหาความคิดมิได้
[๑๗๕] พระราชาไม่ควรลืมตน ไม่ควรประพฤติอธรรม
ไม่ควรหยั่งลงไปในลัทธิที่ผิด ไม่พึงประกอบในสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
[๑๗๖] ขัตติยราชาพระองค์ใดทรงรู้จักทำเหตุเหล่านี้
ขัตติยราชาพระองค์นั้นย่อมทรงเจริญทุกเมื่อเหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
[๑๗๗] พระองค์ย่อมทรงเป็นที่รักแห่งหมู่พระญาติ
และทรงรุ่งโรจน์ในหมู่มิตร ทรงมีพระปรีชา
เมื่อพระวรกายแตกทำลายไป จะทรงเข้าถึงโลกสวรรค์
สัมภวชาดกที่ ๕ จบ
๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
ว่าด้วยพญาวานร
(พระศาสดาทรงประกาศเนื้อความนี้ว่า)
[๑๗๘] ได้มีพระราชาแห่งชนชาวกาสี ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ในกรุงพาราณสี แวดล้อมด้วยมิตรและอำมาตย์
ได้เสด็จไปยังมิคาชินอุทยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
[๑๗๙] ณ ที่นั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์เป็นโรคเรื้อน
ขาวพราวเป็นจุด ๆ และกลากเกลื้อน
มีเนื้อหลุดออกจากปากแผลเช่นกับดอกทองกวาว
มีร่างกายผ่ายผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
[๑๘๐] ครั้นทอดพระเนตรเห็นคนตกยาก
ถึงความลำบากน่าสงสารยิ่งนัก
พระราชาทรงหวาดหวั่นพระหฤทัย
จึงตรัสถามว่า เจ้าเป็นยักษ์ประเภทไหน
[๑๘๑] มือและเท้าของเจ้าก็ด่าง ศีรษะยิ่งด่างกว่านั้น
เนื้อตัวของเจ้าก็ด่างพร้อย และมากไปด้วยกลากเกลื้อน
[๑๘๒] หลังของเจ้าเป็นปุ่มเป็นปมเหมือนกับเถาวัลย์ที่ขดกลม
อวัยวะของเจ้าก็เหมือนกับเถาวัลย์ที่มีข้อดำ
เรายังไม่เคยเห็นอะไรอื่นเป็นเช่นนี้
[๑๘๓] เจ้ามีเท้าหงิกงอ น่าหวาดเสียว มีร่างกายผ่ายผอม
สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูหิวกระหาย อดโซ
เจ้ามาจากที่ไหน และจะไปไหน
[๑๘๔] เจ้ามีรูปร่างอัปลักษณ์ ดูน่าเกลียด
ผิวพรรณก็ทราม ดูน่ากลัว
มารดาบิดาผู้ให้กำเนิดของเจ้าคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นเจ้าเลย
[๑๘๕] ในชาติปางก่อนเจ้าได้ทำกรรมอะไรไว้ ได้ฆ่าคนที่ไม่ควรฆ่าหรือ
หรือเพราะทำกรรมอันโหดร้ายทารุณอย่างใดไว้
เจ้าจึงประสบทุกข์อย่างนี้
(ต่อแต่นั้นไป พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๑๘๖] เชิญสดับเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักกราบทูล
ให้พระองค์ทรงทราบตามอย่างคนฉลาด
เพราะบัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้สรรเสริญคนพูดความจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
[๑๘๗] เมื่อข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียวเที่ยวแสวงหาโค
ได้หลงล่วงเลยเข้าไปในป่าเปลี่ยวที่แห้งแล้งกันดาร
เงียบสงัด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแห่งช้างนานาชนิด
[๑๘๘] ข้าพระพุทธเจ้าได้หลงทางเข้าไปในป่าทึบ
ซึ่งเป็นที่สัญจรไปมาแห่งเนื้อร้าย
มีความหิวกระหาย ได้ท่องเที่ยวไปในป่านั้นตลอด ๗ วัน
[๑๘๙] ณ ที่ป่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นต้นมะพลับต้นหนึ่ง
ซึ่งอยู่หมิ่นเหม่ มีกิ่งทอดตรงไปยังปากเหว
มีผลดก ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะกิน
[๑๙๐] ข้าพระพุทธเจ้ากินผลที่ลมพัดหล่น
ข้าพระพุทธเจ้าพอใจผลมะพลับเหล่านั้นมาก แต่ยังไม่อิ่ม
จึงปีนขึ้นไปบนต้นด้วยคิดว่า จักกินให้สบายบนต้นนั้น
[๑๙๑] ข้าพระพุทธเจ้ากินผลหนึ่งแล้วปรารถนาผลที่ ๒ ต่อไป
แต่นั้นกิ่งมันได้หักเหมือนถูกขวานตัด
[๑๙๒] ข้าพระพุทธเจ้านั้นพร้อมทั้งกิ่งไม้ มีเท้าชี้ฟ้า
ศีรษะปักลงตกไปในซอกเขา ซึ่งไม่มีที่จะยึดเหนี่ยว
[๑๙๓] ก็เพราะน้ำลึก ข้าพระพุทธเจ้าจึงหยั่งไม่ถึง
นอนทอดอาลัยอยู่ในซอกเขานั้น ไม่น้อยกว่า ๑๐ ราตรี
[๑๙๔] ต่อมา วานรตัวหนึ่งมีหางคล้ายหางโค
ท่องเที่ยวไปมาตามซอกเขาเป็นประจำ
ไต่ไปตามกิ่งไม้กัดกินผลไม้อยู่ ได้มาถึงสถานที่นั้น
[๑๙๕] มันเห็นข้าพระพุทธเจ้ามีร่างกายผอมเหลือง
ได้มีความการุญแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถามไถ่ว่า
ท่านผู้เจริญ ท่านชื่ออะไร ทำไมจึงมาทนทุกข์อยู่ที่นี่อย่างนี้
[๑๙๖] เป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ จงแนะนำตัวให้ข้าพเจ้าทราบด้วย
ข้าพระพุทธเจ้าได้ประนมอัญชลีแล้วกล่าวแก่มันอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
[๑๙๗] ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ประสบความพินาศ
ข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะไปจากที่นี่
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอบอกให้ท่านทราบ
ขอท่านจงมีความเจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วย
[๑๙๘] วานรผู้กล้าหาญเที่ยวไปหาก้อนศิลาที่มีน้ำหนักที่ภูเขา
ผูกเถาวัลย์ที่ก้อนศิลาแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๑๙๙] มาเถิด มาขึ้นเกาะหลังข้าพเจ้า
ท่านจงใช้แขนทั้ง ๒ ข้างกอดคอข้าพเจ้าไว้
ข้าพเจ้าจะใช้กำลังช่วยท่านขึ้นไปจากซอกเขา
[๒๐๐] ข้าพระพุทธเจ้าสดับคำนั้นแล้ว
จึงขึ้นเกาะหลังพญาวานรผู้มีสิริ เป็นปราชญ์ตนนั้น
แล้วใช้แขนทั้ง ๒ กอดคอมันไว้
[๒๐๑] พญาวานรผู้มีเดช มีกำลังตนนั้น มีความลำบาก
กระโดดพาข้าพระพุทธเจ้าขึ้นจากซอกเขานั้นด้วยความยาก
[๒๐๒] ครั้นนำข้าพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้ว
พญาวานรผู้เป็นบัณฑิต กล้าหาญ ได้กล่าวคำนี้ว่า
เพื่อนรัก ท่านโปรดรักษาความปลอดภัยให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าจักหลับสักครู่หนึ่ง
[๒๐๓] สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า
และเสือดาวพึงเบียดเบียนข้าพเจ้าผู้หลับไป
ท่านเห็นพวกมันจงห้ามกันไว้ด้วย
[๒๐๔] พญาวานรนั้นครั้นให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ป้องกันแล้ว
จึงหลับไปครู่หนึ่ง
ครั้งนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากลับได้ความคิดเห็นชั่วช้า
โดยไม่ทันคิดให้รอบคอบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
[๒๐๕] วานรนี้ก็เป็นอาหารของพวกมนุษย์
เช่นเดียวกับเนื้ออื่น ๆ ในป่าเหมือนกัน
ถ้ากระไร เราหิวพึงฆ่าวานรนี้กิน
[๒๐๖] อนึ่ง เราบริโภคอิ่มแล้วจักถือเอาเนื้อเป็นเสบียงเดินทาง
จักข้ามทางกันดาร และเราจักมีเสบียงเดินทาง
[๒๐๗] ทันใดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงหยิบก้อนหินแล้วทุ่มลงไป
ยังกระหม่อมวานร แต่การประหารของข้าพระพุทธเจ้า
ผู้มีร่างกายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะอดอาหารจึงมีกำลังด้อยไป
[๒๐๘] ก็พญาวานรนั้นทะลึ่งขึ้นโดยเร็วเพราะกำลังก้อนหินที่ทุ่มลงไป
มีตัวอาบไปด้วยเลือด ร้องไห้ มองดูข้าพระพุทธเจ้าด้วยดวงตา
ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำตา พลางกล่าวว่า
[๒๐๙] ท่านอย่าทำข้าพเจ้าเลย ขอท่านจงมีความเจริญ
ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันไม่สมควรเช่นนี้
อนึ่ง ท่านได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาว ควรจะห้ามปรามคนเหล่าอื่น
[๒๑๐] ท่านคนผู้กระทำกรรมที่คนอื่นทำได้ยากนัก น่าอนาถจริงหนอ
เราช่วยท่านขึ้นจากเหวลึกที่ขรุขระยากที่จะขึ้นได้เช่นนี้
[๒๑๑] ท่านเป็นดุจเรานำมาจากปรโลก
ยังสำคัญเราว่าเป็นคนควรประทุษร้าย
ท่านนั้นเป็นคนชั่ว มีสันดานชั่วช้า จึงคิดแต่เหตุที่ชั่วนั้น
[๒๑๒] โอ ท่านผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ขอท่านอย่าประสบเวทนาอันเผ็ดร้อนเลย
ขอบาปธรรมอย่าได้ฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่เลย
[๒๑๓] แน่ะท่านผู้มีบาปกรรม ไม่สำรวม เราไม่ไว้ใจท่าน
มาเถิด ท่านจงตามหลังเราไปใกล้ ๆ พอเห็นกัน
[๒๑๔] ท่านพ้นแล้วจากเงื้อมมือของสัตว์ร้าย ถึงถิ่นมนุษย์แล้ว
นี่แนะท่านผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม นั่นหนทาง
ท่านจงไปทางนั้นตามสบายเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๖. มหากปิชาดก (๕๑๖)
[๒๑๕] ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
วานรผู้มีปกติท่องเที่ยวไปตามขุนเขาล้างศีรษะที่เปื้อนเลือด
เช็ดน้ำตาแล้วกระโดดจากที่นั้นขึ้นไปยังภูเขา
[๒๑๖] ข้าพระพุทธเจ้านั้นถูกวานรนั้นแช่งด่า
ถูกความกระวนกระวายเบียดเบียน
มีกายเร่าร้อน จึงลงไปยังสายน้ำเพื่อจะดื่ม
[๒๑๗] ห้วงน้ำทั้งปวงปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้า
เหมือนเดือดพล่านเพราะไฟ
เจือด้วยโลหิตเหมือนช้ำเลือดช้ำหนอง
[๒๑๘] หยาดน้ำมีประมาณเพียงใดตกต้องกายของข้าพระพุทธเจ้า
หัวฝีมีขนาดเท่าผลมะตูมครึ่งผลก็ผุดขึ้นมีประมาณเพียงนั้น
[๒๑๙] ฝีเหล่านั้นแตกแล้ว น้ำเลือดและน้ำหนอง
ไหลออกจากร่างกายของข้าพระพุทธเจ้าประดุจซากศพ
ข้าพระพุทธเจ้าจะไปทางใด จะเป็นหมู่บ้านและนิคมทั้งหลายก็ตาม
[๒๒๐] พวกมนุษย์ทั้งหญิงทั้งชายถูกกลิ่นเหม็นรบกวน
ต่างถือท่อนไม้ ห้ามกันข้าพระพุทธเจ้าว่า เจ้าอย่ามาทางนี้
[๒๒๑] บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเสวยกรรมของตน
ที่ตนเองกระทำไว้ไม่ดีในปางก่อน
ข้าพระพุทธเจ้ามีทุกข์เช่นนี้ อยู่อย่างนี้ตลอด ๗ ปี
[๒๒๒] เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายเท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอพระองค์อย่าทรงเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรเลย
เพราะคนประทุษร้ายมิตรจัดเป็นคนเลว
[๒๒๓] บุคคลใดในโลกนี้ย่อมประทุษร้ายมิตร
บุคคลนั้นย่อมเป็นโรคเรื้อน โรคกลาก เกลื้อน
คนผู้มีปกติประทุษร้ายมิตรเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก
มหากปิชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
ว่าด้วยผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกากล่าวปัญหาของรากษสว่า)
[๒๒๔] ถ้าว่ามหาบพิตรทั้ง ๗ พระองค์กำลังลอยเรืออยู่ในห้วงน้ำ
ผีเสื้อน้ำผู้แสวงหามนุษย์เป็นพลีกรรมยึดเรือไว้
มหาบพิตรจะทรงสละให้ผีเสื้อน้ำตามลำดับอย่างไร
(พระราชาสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๒๒๕] โยมจะให้พระมารดาเป็นอันดับ ๑ ให้พระมเหสีแล้วให้อนุชา
แต่นั้นจะให้พระสหาย แล้วจะให้ปุโรหิตพราหมณ์เป็นอันดับที่ ๕
จะให้ตนเองเป็นอันดับที่ ๖ แต่จะไม่ให้มโหสธบัณฑิต
(เภรีปริพาชิกากล่าวคุณของมารดาว่า)
[๒๒๖] พระราชชนนีของมหาบพิตร ทรงบำรุงเลี้ยง ให้กำเนิด
และทรงเอ็นดูช่วยเหลือตลอดกาลนาน
เมื่อมหาบพิตรถูกฉัพภิพราหมณ์ประทุษร้าย
พระนางทรงเป็นบัณฑิตคิดเห็นประโยชน์
จึงทรงกระทำสิ่งอื่นแทนมหาบพิตร
ปลดเปลื้องมหาบพิตรจากการถูกลอบปลงพระชนม์
[๒๒๗] พระราชมารดานั้นทรงประทานพระชนม์ชีพ
ทรงครรภ์พระโอรสเช่นนั้น
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานให้ผีเสื้อน้ำ
(พระราชาตรัสโทษของพระมารดาว่า)
[๒๒๘] พระมารดาของโยมประดับเครื่องอลังการที่ไม่ควรประดับ
เหมือนเด็กสาวกระซิกกระซี้กับคนเฝ้าประตู
และคนชั้นต่ำเกินขอบเขต
[๒๒๙] อนึ่ง ทรงส่งทูตไปยังพระราชาฝ่ายอื่นเสียเอง
เพราะโทษนั้น โยมจะพึงให้พระมารดาแก่รากษส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
(เภรีปริพาชิกากล่าวคุณของพระนางนันทาเทวีว่า)
[๒๓๐] พระนางนันทาเทวีผู้ประเสริฐกว่าหมู่สนมนารี
มีพระเสาวนีย์น่ารัก ทรงอนุวัตรตามมหาบพิตร เป็นผู้ทรงศีล
มิได้ทรงเหินห่างมหาบพิตร ประดุจพระฉายาโดยส่วนเดียว
[๒๓๑] ปราศจากความกริ้วโกรธ ทรงมีบุญ
ฉลาด ทรงเล็งเห็นประโยชน์
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจะประทานมเหสีให้ผีเสื้อน้ำ
(พระราชาตรัสโทษของนางนันทาเทวีว่า)
[๒๓๒] พระนางนันทาเทวีนั้นชอบขอทรัพย์ที่ไม่ควรขอกับโยม
ผู้ถึงความร่าเริงยินดี ผู้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งที่มิใช่ประโยชน์
เพื่อโอรสและธิดาของตน
[๒๓๓] โยมนั้นมีความกำหนัด จึงยอมให้ทรัพย์
ทั้งมีค่ามากและมีค่าน้อยเป็นจำนวนมาก
ครั้นยอมให้ทรัพย์ยากที่จะสละได้แล้ว ภายหลังจึงเศร้าโศกเสียใจ
เพราะโทษนั้นแหละ โยมจะพึงให้มเหสีแก่ผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกาทูลถามต่อไปว่า)
[๒๓๔] พระกนิษฐภาดาพระองค์ใดทรงยังชนบทให้เจริญ
เชิญเสด็จมหาบพิตรกลับพระราชมณเฑียรและทรงครอบงำ
นำทรัพย์จากราชสมบัติอื่นมาถวายเป็นจำนวนมาก
[๒๓๕] พระกนิษฐภาดาพระองค์นั้นประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย
ทรงกล้าหาญ มีพระปรีชาเฉียบแหลม
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานให้แก่ผีเสื้อน้ำเล่า
(พระราชาตรัสโทษของพระกนิษฐาภาดาว่า)
[๒๓๖] อนุชาใดของโยมผู้ยังชนบทให้เจริญ
นำโยมกลับพระราชมณเฑียรและครอบงำ
นำทรัพย์จากราชสมบัติอื่นมาให้เป็นจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
[๒๓๗] อนุชานั้นประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย
กล้าหาญ และมีปัญญาเฉียบแหลม ยังเป็นเด็ก
แต่ดูหมิ่นโยมว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงเป็นสุขเพราะเรา
[๒๓๘] พระแม่เจ้า เขาไม่มาแม้สู่ที่บำรุงของโยมเหมือนก่อน
เพราะโทษนั้น โยมจะพึงให้อนุชาแก่ผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกาบอกคุณของพระสหายนั้นว่า)
[๒๓๙] มหาบพิตรและธนุเสขกุมาร
ทั้ง ๒ กำเนิดราตรีเดียวกัน
ทั้ง ๒ เกิดในพระนครนี้ เป็นชาวปัญจาลนคร
เป็นสหายกันมีวัยเสมอกัน
[๒๔๐] กุมารนั้นติดตามมหาบพิตรท่องเที่ยวไป
ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมหาบพิตร
มีความขยันขวนขวายในราชกิจทุกอย่างของมหาบพิตร
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานสหายให้ผีเสื้อน้ำเสียเล่า
(พระราชาตรัสโทษของพระสหายว่า)
[๒๔๑] พระแม่เจ้า ธนุเสขกุมารนี้หัวเราะดังกับโยม
เมื่อท่องเที่ยวไปกับโยม
แม้วันนี้เขาก็ยังหัวเราะดังเกินขอบเขตแบบนั้น
[๒๔๒] พระแม่เจ้า โยมแม้กำลังปรึกษากับพระเทวีอยู่ในที่รโหฐาน
ธนุเสขกุมารยังมิทันบอกกล่าว
ยังมิทันให้โยมรู้ตัวก่อน ก็พรวดพราดเข้าไป
[๒๔๓] เขาได้ช่อง ได้โอกาส
เพราะโทษนั้น โยมจึงจะให้สหายผู้ไม่มีความละอาย
ไม่เอื้อเฟื้อแก่ผีเสื้อน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
(เภรีปริพาชิกาบอกคุณของเกวัฏฏปุโรหิตว่า)
[๒๔๔] ท่านเกวัฏฏปุโรหิตเป็นผู้ฉลาดในนิมิตทุกอย่าง
รู้สำเนียงเสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท
เชี่ยวชาญในเรื่องลางบอกเหตุ ในความฝัน
ชำนาญในการหาฤกษ์ยาม ในการเคลื่อนพลและเข้าประชิด
[๒๔๕] สามารถรู้โทษและคุณทั้งในภาคพื้นดินและอากาศ
เป็นผู้ฉลาดในคลองแห่งนักษัตร
เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานปุโรหิตพราหมณ์
ให้แก่ผีเสื้อน้ำเสียเล่า
(พระราชาตรัสโทษของปุโรหิตพราหมณ์ว่า)
[๒๔๖] พระแม่เจ้า แม้ท่ามกลางบริษัท
ปุโรหิตพราหมณ์ก็ลืมตาจ้องมองโยม
เพราะเหตุนั้น โยมจะให้ปุโรหิตผู้หยาบช้า
คล้ายกับเลิกคิ้วมองดูโยมแก่ผีเสื้อน้ำเสีย
(เภรีปริพาชิกาทูลถามต่อไปอีกว่า)
[๒๔๗] พระองค์ทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู ทรงมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
[๒๔๘] ทรงมีแคว้นกว้างใหญ่ไพศาล
มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
ทรงพิชิตสงคราม มีพลานุภาพมาก
ทรงเป็นเอกราชเหนือพื้นปฐพี
มหาบพิตรทรงมีพระอิสริยยศอันไพบูลย์
[๒๔๙] ทรงมีเหล่านารีจากชนบทต่าง ๆ ถึง ๑๖,๐๐๐ นาง
ล้วนประดับด้วยแก้วมุกดาและต่างหูแก้วมณี
งามเปรียบได้กับเทพกัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
[๒๕๐] ขอถวายพระพรพระบรมกษัตริย์
ชีวิตยืนยาวที่เพียบพร้อมด้วยองค์สมบัติทุกอย่างนี้
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นที่รักของคนที่มีความสุข
ผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติ ที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
[๒๕๑] เมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องอะไรหรือเหตุไฉน มหาบพิตรจึงทรงสละ
พระชนม์ชีพที่สละได้ยาก คอยตามป้องกันบัณฑิตเล่า
(พระราชาตรัสบอกคุณของมโหสธบัณฑิตว่า)
[๒๕๒] พระแม่เจ้า เพราะท่านมโหสธแม้มาสู่เงื้อมมือโยมแล้ว
โยมยังไม่ทราบถึงความชั่วของท่านปราชญ์แม้สักเพียงอณูหนึ่ง
[๒๕๓] ถึงแม้ว่าโยมจะต้องตายไปก่อนในกาลไร ๆ ก็ตาม
ท่านมโหสธก็จะพึงช่วยลูกและหลานของโยมให้มีความสุข
[๒๕๔] ท่านมโหสธเห็นแจ่มแจ้งประโยชน์ทุกประการ
ทั้งอนาคตและปัจจุบัน โยมจะไม่ยอมให้ท่านมโหสธ
ผู้ไม่เคยทำความผิดแก่ผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกาเชิญชาวพระนครมากล่าวว่า)
[๒๕๕] ชาวปัญจาละทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงสดับพระดำรัสของพระเจ้าจูฬนีนี้
พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพที่สละได้ยาก
คอยตามป้องกันบัณฑิต
[๒๕๖] พระเจ้าปัญจาละทรงสละชีวิตของพระชนนี พระมเหสี
พระกนิษฐภาดา พระสหาย และพราหมณ์ปุโรหิต
และแม้ของพระองค์เองรวมเป็น ๖ คน
[๒๕๗] ปัญญาให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่หลวง
เป็นธรรมชาติละเอียดอ่อน เป็นเหตุให้เกิดแต่สิ่งที่ดี
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน
และเพื่อความสุขในสัมปรายภพด้วยประการฉะนี้
ทกรักขสชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
ว่าด้วยปัณฑรกนาคราช
(ปัณฑรกนาคราชคร่ำครวญว่า)
[๒๕๘] ภัยที่ตนเองก่อขึ้นย่อมติดตามคนไร้ปัญญา
พูดจาพล่อย ๆ ไม่ปกปิดความรู้
ขาดความระมัดระวัง ไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ
เหมือนพญาครุฑไล่จับปัณฑรกนาคราช
[๒๕๙] นรชนใดพอใจบอกมนต์ที่ลี้ลับ
ที่ตนควรจะปกปิดรักษา เพราะความเขลา
ภัยย่อมติดตามเขาผู้เปิดเผยมนต์โดยพลัน
เหมือนพญาครุฑไล่จับปัณฑรกนาคราช
[๒๖๐] มิตรเทียมไม่ควรจะรู้เนื้อความสำคัญซึ่งเป็นความลับ
แต่มิตรแท้ผู้ไม่รู้หรือรู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ก็ไม่ควรจะรู้ความลับนั้น
[๒๖๑] เราไว้วางใจอเจลก(ชีเปลือย)ว่า ผู้นี้เป็นสมณะ
ชาวโลกนับถือ อบรมตนดีแล้ว
ได้เปิดเผยบอกความลับแก่เขา
จึงล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ
[๒๖๒] พญาครุฑผู้ประเสริฐ สำหรับเขา
ข้าพเจ้าไม่อาจจะระวังวาจาที่เร้นลับอย่างยิ่งนี้ได้
เพราะเหตุนั้น ภัยจากฝ่ายเขาจึงมาถึงข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ
[๒๖๓] นรชนใดสำคัญผู้นี้ว่า เป็นคนมีใจดี
บอกความลับกับคนที่เกิดในสกุลต่ำทราม
เพราะความรัก ความชัง หรือเพราะความเกรงกลัว
นรชนนั้นเป็นคนโง่ ต้องย่อยยับโดยไม่ต้องสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
[๒๖๔] นรชนใดมีปกติพูดนอกเรื่อง นับเนื่องเข้าในพวกอสัตบุรุษ
ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน
นรชนนั้นปราชญ์กล่าวว่า คนมีพิษร้าย ปากเสีย
ควรระมัดระวังคนเช่นนั้นให้ห่างไกล
[๒๖๕] ข้าพเจ้าได้ละทิ้งสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งหมดไปแล้ว
คือ ข้าว น้ำ ผ้าแคว้นกาสี จุรณแก่นจันทน์แดง
หญิงที่เจริญใจ พวงดอกไม้ และเครื่องชโลมทา
ข้าแต่พญาครุฑ ข้าพเจ้าขอมอบชีวิตแก่ท่าน
(พญาครุฑกล่าวคาถาตำหนิปัณฑรกนาคราชว่า)
[๒๖๖] บรรดาเราทั้ง ๓ ในที่นี้ ใครหนอย่อมถูกตำหนิ
นาคราช เราทั้งหลายเป็นสัตว์มีชีวิตในโลกนี้
คือ สมณะ ครุฑ หรือว่าท่านกันแน่ย่อมถูกตำหนิ
ปัณฑรกนาคราช ท่านถูกข้าพเจ้าจับเพราะเหตุไร
(ปัณฑรกนาคราชฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๖๗] อเจลกนั้นเป็นผู้ที่ข้าพเจ้ายกย่องว่า เป็นสมณะ
เป็นที่รักของข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายกย่องด้วยใจจริง
ข้าพเจ้าจึงได้เปิดเผยบอกความลับแก่เขา
จึงได้ล่วงเลยประโยชน์ ร้องไห้อยู่อย่างลำเค็ญ
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๒๖๘] แท้จริง สัตว์ชื่อว่าจะไม่ตายไม่มีในแผ่นดิน
ปัญญามีอยู่หลายอย่าง บุคคลไม่ควรนินทา
นรชนในโลกนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ
ได้ด้วยสัจจะ ๑ ธรรมะ ๑ ปัญญา ๑ ทมะ ๑
[๒๖๙] มารดาบิดานับว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมแห่งเผ่าพันธุ์
บุคคลที่ ๓ ผู้ช่วยเหลือเขาไม่มี
เมื่อระแวงสงสัยว่า ความลับที่ปรึกษาไว้จะแตก
ก็ไม่พึงบอกความลับที่สำคัญ แม้แก่มารดาบิดาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
[๒๗๐] เมื่อสงสัยว่า มนต์จะแตกทำลาย
บัณฑิตไม่พึงบอกความลับที่สำคัญแม้แก่มารดาบิดา
พี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย
เพื่อนสหาย หรือญาติพวกพ้องของตน
[๒๗๑] ถึงภรรยาจะยังสาวพูดจาไพเราะ ถึงพร้อมด้วยบุตรธิดา
มีรูปร่างสวยงาม มีเกียรติยศชื่อเสียง มีหมู่ญาติแวดล้อม
พูดอ้อนสามี เมื่อสงสัยว่า ความลับที่ปรึกษาไว้จะแตก
บัณฑิตไม่พึงบอกความลับที่สำคัญแม้แก่นาง
[๒๗๒] บัณฑิตไม่พึงเปิดเผยความลับ
พึงรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์
เพราะว่าความลับบุคคลรู้อยู่ไม่เปิดเผยได้เป็นการดี
[๒๗๓] บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี ๑ ศัตรู ๑
คนที่ใช้อามิสล่อ ๑ คนผู้ล้วงความลับ ๑
[๒๗๔] คนผู้รู้ความลับที่ผู้อื่นไม่รู้
เพราะกลัวความลับที่ปรึกษาหารือกันไว้จะแตก
ย่อมอดกลั้นไว้ดุจบุคคลผู้เป็นทาสเขา
[๒๗๕] คนมีประมาณเท่าใดล่วงรู้ความลับที่เขาปรึกษากัน
คนมีประมาณเท่านั้นเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวของเขา
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับ
[๒๗๖] เวลากลางวันควรพูดความลับในที่สงัด
เวลากลางคืนไม่ควรพูดดังเกินไป
เพราะเหตุว่าคนแอบฟังได้ยินความลับที่ปรึกษากันเข้า
ความลับนั้นจะถึงการแพร่งพรายโดยเร็วพลัน
[๒๗๗] นครใหญ่ที่สร้างด้วยเหล็ก ไม่มีประตู
มีโรงเรือนล้วนสร้างด้วยเหล็ก
มีคูขุดไว้ล้อมรอบ ย่อมปรากฏแม้ฉันใด
แม้ผู้มีความคิดอันลี้ลับในโลกนี้ก็ปรากฏแก่เราฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
[๒๗๘] นาคราชผู้มีลิ้นสองแฉก นรชนเหล่าใดปกปิดความคิดไว้
ไม่พูดพล่อย มั่นคงอยู่ในประโยชน์ของตน
ศัตรูทั้งหลายย่อมหลีกห่างไกลจากนรชนเหล่านั้น
เหมือนคนรักชีวิตหลีกห่างไกลจากหมู่สัตว์อสรพิษฉะนั้น
(เมื่อพญาครุฑกล่าวอย่างนั้นแล้ว ปัณฑรกนาคราชจึงกล่าวว่า)
[๒๗๙] อเจลกละทิ้งบ้านเรือนแล้วบวช มีศีรษะโล้น
ประพฤติเป็นคนเปลือยเพราะเหตุแห่งการหากิน
เพราะข้าพเจ้าเปิดเผยความลับกับเขาแล
จึงได้เสื่อมจากอรรถและธรรม
[๒๘๐] พญาครุฑ บุคคลกระทำอย่างไร
มีศีลอย่างไร บำเพ็ญวัตรอะไร
ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราอย่างไร
จึงจะเป็นสมณะได้
อนึ่ง สมณะกระทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๒๘๑] บุคคลประกอบด้วยหิริ ด้วยความอดกลั้น
ด้วยการฝึกตน ไม่โกรธ ละคำส่อเสียด
ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราเสีย
จึงจะเป็นสมณะได้
สมณะกระทำอย่างนี้จึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้
(ปัณฑรกนาคราชเมื่อจะขอชีวิต จึงกล่าวว่า)
[๒๘๒] มารดากอดสัมผัสบุตรอ่อนซึ่งเกิดแต่ตน
แผ่ซ่านเรือนร่างทุกส่วนสัดปกป้องฉันใด
ท่านผู้เป็นจอมแห่งนก ท่านจงปรากฏแก่ข้าพเจ้าแม้ฉันนั้น
เหมือนมารดาเอ็นดูบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก (๕๑๘)
(พญาครุฑเมื่อจะให้ชีวิตแก่ปัณฑรกนาคราช จึงกล่าวว่า)
[๒๘๓] เอาเถิด ท่านผู้มีลิ้นสองแฉก
วันนี้ท่านจงพ้นจากการถูกฆ่า
ธรรมดาลูกมี ๓ ประเภท คือ
(๑) ลูกศิษย์ (๒) ลูกบุญธรรม (๓) ลูกในไส้
อย่างอื่นหามีไม่ ท่านจงยินดีเถิด
ท่านได้เป็นบุตรประเภทหนึ่งของข้าพเจ้าแล้ว
(พระศาสดาตรัสพระคาถาแล้วทรงประกาศความนั้นว่า)
[๒๘๔] พญาครุฑกล่าวอย่างนี้แล้ว
ก็โผลงจับภาคพื้นปล่อยพญานาค
กล่าวว่า วันนี้ท่านรอดพ้นภัยทั้งปวงแล้ว
จงเป็นผู้มีข้าพเจ้าคุ้มครองทั้งทางบกทางน้ำเถิด
[๒๘๕] หมอผู้ฉลาดเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้ฉันใด
ห้วงน้ำเย็นเป็นที่พึ่งของคนผู้กระหายได้ฉันใด
ที่พักเป็นที่พึ่งของคนผู้ถูกความเย็นเพราะหิมะรบกวนฉันใด
แม้ข้าพเจ้าก็จะเป็นที่พึ่งของท่านฉันนั้น
(พญาครุฑเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๒๘๖] นี่พญานาคผู้เกิดในครรภ์
ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับพญาครุฑ ผู้เกิดในฟองไข่ที่เป็นศัตรู
ยังนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ
(พญานาคกล่าวว่า)
[๒๘๗] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ
ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก
[๒๘๘] บุคคลจะพึงวางใจในคนผู้เคยทำการทะเลาะกันมาแล้วได้
อย่างไรเล่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ด้วยการเตรียมตัวอยู่เป็นนิตย์
ย่อมไม่ยินดีกับศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
[๒๘๙] พึงทำให้ผู้อื่นวางใจตน แต่ตนเองไม่พึงวางใจเขา
ไม่พึงให้ผู้อื่นระแวงตน แต่ตนพึงระแวงผู้อื่น
วิญญูชนพึงพยายามโดยที่ผู้อื่นจะไม่รู้ความเป็นไปของตน
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[๒๙๐] สัตว์ผู้ประเสริฐทั้ง ๒ นั้นมีเพศพรรณดุจเทพยดาสุขุมาลชาติ
มีทรวดทรงสัณฐานและวัยงามเสมอกัน
บริสุทธิ์ มีกองกุศลผลบุญ คลอเคลียกันไป
เหมือนพาหนะเทียมด้วยม้า ได้เข้าไปหากรัมปิยอเจลก
[๒๙๑] ลำดับนั้นแล ปัณฑรกนาคราชได้เข้าไปหาอเจลก
ตามลำพังตนเองแล้วได้กล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ ข้าพเจ้ารอดตาย
ผ่านพ้นภัยทั้งปวงมาได้ คงไม่เป็นที่พอใจของท่านแน่นอน
(อเจลกกล่าวว่า)
[๒๙๒] ก็พญาครุฑเป็นที่รักของเราอย่างแท้จริง
ยิ่งกว่าปัณฑรกนาคราชโดยไม่ต้องสงสัย เรานั้นมีความรักใคร่
ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ ก็ได้กระทำกรรมชั่วช้านั้นลงไป
หาทำไปเพราะความโง่เขลาไม่
(นาคราชกล่าวว่า)
[๒๙๓] ธรรมดาบรรพชิตผู้พิจารณาเห็นโลกนี้และโลกหน้า
ย่อมจะไม่มีความคิดว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา
หรือสิ่งนี้ไม่เป็นที่รักของเรา ก็ท่านเป็นผู้ไม่สำรวม
แต่ประพฤติลวงชาวโลกนี้ด้วยเพศแห่งผู้มีความสำรวมด้วยดี
[๒๙๔] ท่านมิใช่พระอริยะ แต่ทำเหมือนพระอริยะ
มิใช่คนสำรวม แต่ทำเหมือนคนสำรวม
มีชาติต่ำทราม หาใช่ผู้ประเสริฐไม่
ได้ประพฤติชั่วช้าลามกเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
(ครั้นตำหนิแล้วเมื่อจะสาป จึงกล่าวว่า)
[๒๙๕] เจ้าคนผู้มีนิสัยประทุษร้าย เจ้าเป็นคนประทุษร้ายมิตร
ผู้ไม่ประทุษร้าย ทั้งเป็นคนพูดจาส่อเสียด
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอศีรษะของเจ้าจงแตก ๗ เสี่ยง
(พระศาสดาทรงประกาศความที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ จึงตรัสว่า)
[๒๙๖] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรประทุษร้ายมิตร
เพราะว่าคนอื่นที่จะเลวกว่าคนผู้ประทุษร้ายมิตรไม่มี
อเจลกถูกสัตว์มีพิษสาปกำจัดลงแล้วในแผ่นดิน
ทั้ง ๆ ที่ปฏิญญาว่า เรามีความสำรวม
ก็ถูกทำลายแล้วด้วยคำของจอมนาคินทร์
ปัณฑรกนาคราชชาดกที่ ๘ จบ
๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
ว่าด้วยความซื่อสัตย์ของพระนางสัมพุลา
(ยักษ์ทานพเห็นพระนางสัมพุลามีจิตปฏิพัทธ์ จึงกล่าวว่า)
[๒๙๗] โอ้ แม่นางผู้มีลำขาอันกลมกลึง เธอเป็นใคร
ยืนสั่นสะท้านอยู่แต่ผู้เดียวใกล้ ๆ ซอกเขา
เธอผู้มีทรวดทรงน่าเคล้าคลึง เราถามแล้ว
ขอเธอจงบอกชื่อและเผ่าพันธุ์แก่เรา
[๒๙๘] แม่นางผู้มีทรวดทรงอันงดงาม
เธอเป็นใคร หรือเป็นกัลยาณีของใคร
ส่องสว่างไสวไปทั่วป่าที่น่ารื่นรมย์ซึ่งเป็นที่ที่สีหพยัคฆ์อยู่อาศัย
แม่นางผู้เจริญ เราขอไหว้เธอ เราคือทานพขอนอบน้อมแก่เธอ
(พระนางสัมพุลาได้ฟังดังนั้น จึงได้ตอบว่า)
[๒๙๙] ข้าพเจ้าชื่อสัมพุลาเป็นพระชายาของพระราชบุตรพระเจ้ากรุงกาสี
ซึ่งประชาชนรู้จักพระองค์โดยพระนามว่า เจ้าชายโสตถิเสน
ทานพผู้เจริญ ขอท่านจงทราบอย่างนี้
ข้าพเจ้าสัมพุลาขอไหว้ท่าน ขอนอบน้อมแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น