Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๐-๑ หน้า ๑ - ๕๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส



พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
๑. วัตถุคาถา๑
เรื่องพราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา
[๑] พราหมณ์พาวรี ผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศล
อันรื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๒] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะกับแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้
[๓] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๘๓-๑๐๓๘/๕๒๔-๕๓๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔] ท่านบูชามหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่ง ก็เดินทางมาถึง
[๕] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ
[๖] พราหมณ์พาวรีเห็นเขาแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๗] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราสละไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๘] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง) กล่าวคำที่น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๑๐] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๑๑] เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๒] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้นเป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๓] (พราหมณ์พาวรีคิดว่า) เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๑๔](เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๑๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๑๖] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๗] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ
[๑๘] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๙] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็เบิกบานใจ ความเศร้าโศกก็เบาบางลง
และได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๒๐] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกประทับอยู่ ณ ที่ไหน
จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๑] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศายกบุตรพระองค์นั้น ผู้ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของพระเจ้าโกศลเขตกรุงสาวัตถี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๒] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า มาณพทั้งหลาย
มานี่เถิด เราจักบอก ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา
[๒๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวต่อไปว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ
ในโลกนั่นหาได้ยาก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
พวกเธอจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๔] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าพวกข้าพเจ้าพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๒๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับ
[๒๖] บุคคลใดมีมหาปุริสลักษณะเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๒๗] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือน
จะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม
โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๘] แต่ถ้าบุคคลนั้น ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๒๙] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้นถึงชาติ
โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๓๐] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๓๑] ครั้นฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๓๒] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๓๓] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๓๔] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา พระผู้มีพระภาค
ทรงเผากิเลสเหล่านี้ด้วยไฟคือญาณ (ดูรายละเอียดในข้อ ๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๓๕] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๓๖] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา๑
[๓๗] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๓๘] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา
[๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[๔๑] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ
[๔๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

เชิงอรรถ :
๑ วนสวหยา มีชื่ออีก ๒ อย่าง คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๓] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตร พร้อมด้วยลักษณะ
ขอโปรดตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร
มีลักษณะ๑ ๓ อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท๒
[๔๕] พราหมณ์นั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์๓และประวัติศาสตร์๔
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๕และเกฏุภศาสตร์๖
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์ ๕๐๐ คน
[๔๖] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์โปรดประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะ หมายถึงมหาปุริสลักษณะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๒๖-๗/๑๔๓๒)
๒ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ คัมภีร์ คือฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้
๓ มนตร์ ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท
ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
๔ ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๕ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๖ เกฎุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้
[๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์
ก็ปลาบปลื้มใจ ประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๔๙] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือพระอินทร์ผู้สุชัมบดีเมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสบอกปัญหานั้นกับใครเล่า
[๕๐] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามถึงเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอพระองค์โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะเป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพ มีความปลาบปลื้มใจมากล้น
สนับสนุนแล้ว พาดหนังเสือเฉวียงบ่า
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท (แล้วกราบทูลต่อไปว่า)
[๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๕๔] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุขและแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๕๕] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่เธอ
และมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จงถามเถิด
[๕๖] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปัญหาข้อแรกกับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุคาถาจบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
๒. มาณวปัญหา
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๕๗] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
[๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
[๕๙] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๔๓-๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
[๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
[๖๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ (๖)
[๖๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด (๗)
[๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (๘)
อชิตมาณวปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๖๕] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๑)
[๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (๒)
[๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓)
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๗๓-๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๓. ปุณณกมาณวปัญหา
๓. ปุณณกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๖๘] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๑)
[๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ (๒)
[๗๐] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๘๓-๑๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๗๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (๖)
ปุณณกมาณวปัญหาที่ ๓ จบ
๔. เมตตคูมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๗๔] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๑๐-๑๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (๒)
[๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓)
[๗๗] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๔)
[๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๙] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๖)
[๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ (๗)
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (๘)
[๘๒] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๙)
[๘๓] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (๑๑)
[๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว (๑๒)
เมตตคูมาณวปัญหาที่ ๔ จบ
๕. โธตกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๘๖] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๕๕-๑๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒)
[๘๘] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)
[๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔)
[๙๐] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๖)
[๙๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๗)
[๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย (๘)
โธตกมาณวปัญหาที่ ๕ จบ
๖. อุปสีวมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๙๔] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๗๗-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย
เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน (๒)
[๙๖] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ (๓)
[๙๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (๔)
[๙๘] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก (๕)
[๙๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น (๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๐] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๗)
[๑๐๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน) (๘)
อุปสีวมาณวปัญหาที่ ๖ จบ
๗. นันทมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๒] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๙๕-๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี (๒)
[๑๐๔] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๑๐๖] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๖)
[๑๐๘] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๗)
นันทมาณวปัญหาที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๘. เหมกมาณวปัญหา
๘. เหมกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙] (ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น (๑)
[๑๑๐] (ท่านเหมกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม (นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด (๒)
[๑๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (๓)
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว (๔)
เหมกมาณวปัญหาที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๑๗-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๙. โตเทยยมาณวปัญหา
๙. โตเทยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๑๓] (ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร (๑)
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (๒)
[๑๑๕] (ท่านโตเทยยะทูลถามว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด (๓)
[๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (๔)
โตเทยยมาณวปัญหาที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๒๖-๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๐. กัปปมาณวปัญหา
๑๐. กัปปมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๑๗] (ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก (๑)
[๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
กัปปะ เราจะบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัยแก่เธอ (๒)
[๑๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราเรียกนิพพาน ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร ไม่ไปบำรุงมาร (๓)
กัปปมาณวปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๓๔-๒๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๒๑] (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ (๑)
[๑๒๒] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า)
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (๒)
[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว
ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๔๕-๒๕๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา
[๑๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป (๔)
[๑๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น
ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง (๕)
ชตุกัณณิมาณวปัญหาที่ ๑๑ จบ
๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๒๖] (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้ (๑)
[๑๒๗] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า)
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๕๗-๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๒)
[๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (๓)
[๑๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (๔)
ภัทราวุธมาณวปัญหาที่ ๑๒ จบ
๑๓. อุทยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๓๐] (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๖๘-๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
[๑๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ
ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง (๒)
[๑๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา (๓)
[๑๓๓] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน (๔)
[๑๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน (๕)
[๑๓๕] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ (๖)
[๑๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท (๗)
อุทยมาณวปัญหาที่ ๑๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๔. โปสาลมาณวปัญหา
๑๔. โปสาลมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๓๗] (ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (๑)
[๑๓๘] (ท่านโปสาละทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร (๒)
[๑๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย (๓)
[๑๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๘๓-๒๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง (๔)
โปสาลมาณวปัญหาที่ ๑๔ จบ
๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๔๑] (ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ (๑)
[๑๔๒] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ (๒)
[๑๔๓] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๙๘-๓๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (๔)
โมฆราชมาณวปัญหาที่ ๑๕ จบ
๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๔๕] (ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๑)
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๒)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๗] (ท่านปิงคิยะทูลถามว่า)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๓)
[๑๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้นเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๔)
ปิงคิยมาณวปัญหาที่ ๑๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
๓. ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
(พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว
ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน เพราะธรรม
เหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้ จึงชื่อว่า
ปารายนะ
[๑๔๙] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๑)
[๑๕๐] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี (๒)
[๑๕๑] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๓๓-๓๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
[๑๕๒] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระพุทธเจ้า (อันพราหมณ์เหล่านั้น)
ทูลสอบถามปัญหาแล้ว
ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย (๔)
[๑๕๓] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ (๕)
[๑๕๔] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ (๖)
[๑๕๕] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ (๗)
ปารายนัตถุติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
๔. ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๕๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (๑)
[๑๕๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (๒)
[๑๕๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๔๖-๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๕๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (๔)
[๑๖๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ (๕)
[๑๖๑] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ
ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ (๖)
[๑๖๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๗)
[๑๖๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๔] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน (๙)
[๑๖๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๑๐)
[๑๖๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๑๑)
[๑๖๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น (๑๒)
[๑๖๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริเสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล (๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ
โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์
เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น (๑๔)
[๑๗๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ (๑๕)
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสว่า)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช (๑๖)
[๑๗๒] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ (๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๗๓] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ
ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘)
[๑๗๔] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙)
ปารายนานุคีติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
๕. มาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
คำว่า โลก ในคำว่า โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้ ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิด
เดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก๑ ขันธโลก ธาตุโลก๒ อายตนโลก๓
โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้ ตรัสเรียกว่า โลก โลกนี้ ถูกอะไรโอบล้อม
หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ รวมความว่า โลกถูกอะไร
เล่าหุ้มห่อไว้

เชิงอรรถ :
๑ เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง ๖ เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข
แต่ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (๑) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ
จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศ
ตะวันตก ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (๒) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะ
เป็นจอมเทพ (๓) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (๔) ดุสิต
แดนที่อยู่แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (๕) นิมมานรดี แดนแห่ง
เทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้
ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือ เสวยสมบัติที่พวกเทพอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ
(สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๙)
๒ ธาตุโลก หมายถึงธาตุ ๑๘ คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไป
ตามธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบ
จำเพาะตัว อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (๑) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (๒) รูปธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส อธิบายว่า เพราะเหตุไร โลกจึง
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
รวมความว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบทา คือ เกี่ยวข้อง ผูกพัน ทำให้โลกนี้เศร้าหมอง
โลกถูกอะไรฉาบ ทา ไล้ ทำให้หมองมัว หมองคล้ำ แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ ขอพระองค์โปรดตรัส คือโปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้

เชิงอรรถ :
ธาตุคือรูปารมณ์ (๓) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (๔) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (๕)
สัททธาตุ ธาตุคือสัททารมณ์ (๖) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (๗) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท
(๘) คันธธาตุ ธาตุคือคันธารมณ์ (๙) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (๑๐) ชิวหาธาตุ
ธาตุคือชิวหาปสาท (๑๑) รสธาตุ ธาตคือรสารมณ์ (๑๒) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (๑๓)
กายธาตุ ธาตุคือกายปสาท (๑๔) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (๑๕) กายวิญญาณธาตุ
ธาตุคือกายวิญญาณ (๑๖) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (๑๗) ธัมมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (๑๘)
มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือมโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๘๓-๑๘๔/๑๔๒-๑๔๖)
๓ อายตนโลก หมายถึงอายนตนะ ๑๒ คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย (๖) ใจ และอายตนะภายนอก
๖ ได้แก่ (๑) รูป (๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ (๖) ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ นี้ เรียกทั่วไปว่า
อารมณ์ ๖ คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า อะไรเป็นภัย เป็นภัยใหญ่
คือ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนั้น
รวมความว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
ว่าด้วยอวิชชา
คำว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ อธิบายว่า
คำว่า อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้
ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้
ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ในส่วนอดีตและอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้
ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอา
โดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความ
ไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคือ
อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ข่ายคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้ ตรัสเรียกว่า
อวิชชา๑
คำว่า โลก ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก
เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้
ตรัสเรียกว่า โลก
โลกนี้ถูกอวิชชานี้โอบล้อม หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้
รวมความว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๑๐๖/๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควร
เป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส๑ ธรรมรส๒ วิมุตติรส๓
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ๔ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ๕ ๑๐ อานาปานัสสติสมาธิ๖ อสุภสมาบัติ๗ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๒ ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๓ วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๔ อภิภายนตะ คือ ฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔)
๕ กสิณสมาบัติหมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปฐวีกสิณฌาน เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๖ อานาปานัสสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๗ อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพ
ที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ซากศพที่เน่าพอง (๒) ซากศพที่มีสีเขียว
(๓) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (๔) ซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (๖) ซากศพ
ที่มีมือเท้าศีรษะขาด (๗) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (๘) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (๙) ซาก
ศพที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (๑๐) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ๑ ๑๐
เวสารัชชญาณ๒ ๔ ปฏิสัมภิทา๓ ๔ อภิญญา๔ ๖ พุทธธรรม๕ ๖ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในลำดับการ
บรรลุอรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัตติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล)
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า อชิตะ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ
สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับ
ขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถ-
คามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุ-
ญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ
ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อน
แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (๗) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว
เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๑๐) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
(องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗)
๒ เวสารัชชญาณ ๔ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ได้แก่ (๑) สัมมาสัมพุทธ
ปฏิญญา (๒) ขีณาสวปฏิญญา (๓) อันตรายิกธัมมวาทะ (๔) นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. ๑๒/๑๕๐/
๑๑๐-๑๑๑)
๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึงปัญญาแตกฉาน ๔ อย่าง คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติ-
ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ(องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๗๒
/๒๔๒-๒๔๓)
๔ อภิญญา ๖ คือ ความรู้ยิ่งยวด (๑) อิทธิวิธิ ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสต
ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์ (๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้
อาสวะสิ้นไป ๕ ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/
๗๗-๘๔)
๕ พุทธธรรม ๖ หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ทั้งหมด เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) และดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๓๐๑-๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า
มัจฉริยะ ๕ อย่าง เรียกว่า ความตระหนี่ คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่)
๒. กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
๓. ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ)
๔. วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ)
๕. ธัมมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม)

ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่
อายตนะก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ ก็เรียกว่า ความตระหนี่
ขอกล่าวถึงความประมาท ความปล่อยจิตไปหรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิต
ไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ อย่าง การทำโดย
ไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน
ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่
ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญ
กุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่
ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้ ตรัสเรียกว่า ความประมาท
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า โลก
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
เพราะความตระหนี่และความประมาทนี้ รวมความว่า โลกไม่สดใสเพราะความ
ตระหนี่และความประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยตัณหา
คำว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความอยาก ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อย
ตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น
ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน
ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม
ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป
ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็น
เพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ
ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง
ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส
ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร
ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบบ่อย ๆ ธรรมชาติที่
กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ
ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัด
ในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา
ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ
ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๒ โยคะ๓ คันถะ๔ อุปาทาน๕ อาวรณ์๖ นิวรณ์
เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย๗ ปริยุฏฐาน (กิเลสที่กลุ้มรุมจิต)

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาในนิโรธ คือตัณหาที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๒ โอฆะ คือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
(ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๓ โยคะ คือสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๔ คันถะ คือกิเลสเครื่องร้อยรัดมี ๔ อย่าง ได้แก่ (๑) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา (๒) กิเลส
เครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท (๓) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส (๔) กิเลสเครื่องร้อยรัด
กายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๒/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร เหยื่อแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ที่
อาศัยแห่งมาร โคจรแห่งมาร เครื่องผูกแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหาดุจตาข่าย
ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ตรัสเรียกว่า
ความอยาก เป็นเครื่องฉาบทา คือ ข้องเกี่ยว ผูกพัน ทำให้เข้าไปเศร้าหมอง
โลกถูกความอยากนี้ฉาบทา ไล้ ทำให้หมองมัว แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ว่าด้วยทุกข์
คำว่า ทุกข์ ในคำว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์
พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ทุกข์เนื่องจากการเกิด
ในนรก ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย
ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์ ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ ทุกข์
เนื่องจากการอยู่ในครรภ์ ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ ทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตนเอง ทุกข์ที่
เกิดจากความพยายามของผู้อื่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร
ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรค
ทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม
โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก

เชิงอรรถ :
๕ อุปาทาน คือความยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลสมี ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน
ความยึดมั่นในทิฏฐิ (๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลวัตร (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น
วาทะของตน (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๖ อาวรณ์ คือสภาวะที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๗ อนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มี ๗ คือ (๑) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๒) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) ทิฏฐิ ความเห็นผิด (๔) วิจิกิจฉา ความสงสัย (๕) มานะ
ความถือตัว (๖) ภวราคะ ความกำหนัดในภพ (๗) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ที.ปา. ๑๑/๓๒๒/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ
สัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชาย
น้องชายตาย ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสีย
หายที่เกิดจากโรค ทุกข์เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าใดปรากฏในเบื้องต้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
ย่อมปรากฏในเบื้องปลาย วิบากอาศัยกรรม กรรมอาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม
นามอาศัยรูป นามรูปเป็นไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี
ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย นี้ตรัส
เรียกว่า ทุกข์ ทุกข์นี้ เป็นภัย เป็นภัยใหญ่ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง
เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนี้ รวมความว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กระแสทั้งหลาย ในคำว่า กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
ได้แก่ กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในที่ทั้งปวง ได้แก่ ในอายตนะทั้งปวง
คำว่า ย่อมไหลไป ได้แก่ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไป อธิบายว่า
กระแสจากตา ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในรูป กระแสจากหู
ย่อมไหลไป ฯลฯ ในเสียง กระแสจากจมูกย่อมไหลไป ฯลฯ ในกลิ่น กระแส
จากลิ้นย่อมไหลไป ฯลฯ ในรส กระแสจากกายย่อมไหลไป ฯลฯ ในโผฏฐัพพะ
กระแสจากใจ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในธรรมารมณ์ คือ
รูปตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางตา สัททตัณหาย่อมไหลไป คือ
ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางหู คันธตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางจมูก รส
ตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางลิ้น โผฏฐัพพตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางกาย
ธัมมตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางใจ รวมความว่า
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องขวาง
เครื่องกั้น คือ เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมเครื่องขวาง เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา
คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่อง
ป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ อธิบายว่า กระแสทั้งหลาย ถูกอะไร
ปิดกั้น คือ ถูกตัดขาด จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้
[๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นใดที่เราตอบ ชี้แจง
บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้ คือ
กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า กระแสเหล่าใดในโลก
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า สติ ในคำว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า สติ
คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้ ความจำได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์ (สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์ (สติที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค (มรรคที่เป็นทางเอก) นี้ ตรัสเรียกว่า สติ
คำว่า เป็นเครื่องกั้น อธิบายว่า เป็นเครื่องขวาง เป็นเครื่องกั้น คือ เป็น
เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครอง รวมความว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
คำว่า เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า เรากล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศเครื่องขวาง
เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า เรา
กล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า
คำว่า ปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นปัญญา
ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแส
เหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ปิดกั้นได้ คือ ตัด
ขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของ
ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่
หลั่งไหล ไม่เป็นไป
ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร
จึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายระเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ฯลฯ
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ฯลฯ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ฯลฯ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ฯลฯ
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ฯลฯ
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ฯลฯ
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯลฯ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ฯลฯ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ฯลฯ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ฯลฯ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น