Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ย-ร-ฤ-ล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

ยกน (ยะกะนะ) ตับ

ยชุพเพท ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระเวทในศาสนาพราหมณ์ เป็นตำรับประกอบด้วยมนตร์สำหรับใช้สวดในยัญพิธีและ แถลงพิธีทำกิจบูชายัญ เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ยชุรเวท ดู ไตรเพท, เวท

ยติ ผู้สำรวมอินทรีย์, นักพรต, พระภิกษุ

ยถาภูตญาณ ความรู้ตามความเป็นจริง, รู้ตามที่มันเป็น

ยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง

ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง (ข้อ ๑๒ ในธุดงค์ ๑๓)

ยม เทพผู้เป็นใหญ่ประจำโลกของคนตาย

ยมกะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งที่มีความเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ซึ่งเป็นความเห็นที่ผิด ภายหลังได้พบกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรได้เปลื้องท่านจากความเห็นผิดนั้นได้

ยศ ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ

ยศกากัณฑกบุตร พระเถระองค์สำคัญผู้ชักชวนให้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี เดิมชื่อยศ เป็น บุตรกากัณฑกพราหมณ์ ดู สังคายนา ครั้งที่ ๒

ยส, ยสะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ วันหนึ่งเห็นสภาพใน ห้องนอนของตน เป็นเหมือนป่าช้าเกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย จึงออกจากบ้านไปพบพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน ในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจโปรด ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อ มาได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เศรษฐีบิดาของตน ก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วขออุปสมบท เป็นภิกษุสาวกองค์ที่ ๖ ของพระพุทธเจ้า

ยสกุลบุตร พระยสะเมื่อก่อนอุปสมบทเรียกว่ายสกุลบุตร

ยโสชะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมง ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ได้สำเร็จพระอรหัต

ยโสธรา 1. เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะ ผู้ครองกรุง เทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางประชาบดีโคตมี 2. อีกชื่อหนึ่งว่าพิมพา เป็นเจ้าหญิง แห่งเทวทหนคร เป็นราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อ มาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททา กัจจานา

ยอพระเกียรติ ชื่อประเภทหนังสือที่แต่งเชิดชูพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่น

ยักยอก เอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความรักษาของตนไปโดยทุจริต

ยักษ์ มีความหมายหลายอย่าง แต่ที่ใช้บ่อย หมายถึงอมนุษย์พวกหนึ่งเป็นบริวารของท้าวกุเวร หรือเวสสวัณ, ตามที่ถือ กันมาว่ามีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัวมีเขี้ยวงอกโง้ง ชอบกินมนุษย์กินสัตว์โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้

ยักษิณี นางยักษ์

ยัญ การเซ่น, การบูชา, การบวงสรวง ชนิดหนึ่งของพราหมณ์ เช่น ฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์ร้าย เป็นต้น

ยัญพิธี พิธีบูชายัญ

ยาคุภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติคือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่แจกยาคู

ยาคู ข้าวต้ม, เป็นอาหารเบาสำหรับฉัน รองท้องก่อนถึงเวลาฉันอาหารหนักเป็นของเหลว ดื่มได้ ซดได้ ไม่ใช่ของฉัน ให้อิ่ม เช่น ภิกษุดื่มยาคูก่อนแล้วไปบิณฑบาต ยาคูสามัญอย่างนี้ ที่จริงจะแปลว่าข้าวต้มหาถูกแท้ไม่ แต่แปลกันมา อย่างนั้นพอให้เข้าใจง่ายๆ ข้าวต้มที่ฉันเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้อย่างที่ฉันกันอยู่โดยมากมีชื่อเรียกต่างออกไปอีกอย่าง หนึ่งว่า โภชชยาคู

ยาจก ผู้ขอ, คนขอทาน, คนขอทานโดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน

ยาตรา เดิน, เดินเป็นกระบวน

ยาน เครื่องนำไป, พาหนะต่างๆ เช่น รถ, เรือ, เกวียน เป็นต้น

ยาม คราว, เวลา, ส่วนแห่งวันคืน

ยามะ, ยามา สวรรค์ชั้นที่ ๓ มีท้าว สุยามเทพบุตรปกครอง

ยามกาลิก ของที่ให้ฉันได้ ชั่วระยะวันหนึ่ง กับคืนหนึ่ง ดู กาลิก

ยาวกาลิก ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ดู กาลิก

ยาวชีวิก ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลา ตลอดชีวิต ดู กาลิก

ยาวตติยกะ แปลว่า “ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสน์จบครั้งที่ ๓” หมายความว่าเมื่อภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าแล้วยัง ไม่ต้องอาบัติ ต่อเมื่อสงฆ์สวดประกาศสมนุภาสน์หนที่ ๓ จบแล้ว จึงจะต้องอาบัตินั้น ได้แก่ สังฆาทิเสส ข้อที่ ๑๐- ๑๑-๑๒-๑๓ และสิกขาบทที่ ๘ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์

ยินร้าย ไม่พอใจ, ไม่ชอบใจ

ยี่ สอง โบราณเขียน ญี่ เดือนยี่ ก็คือเดือนที่สองต่อจากเดือนอ้ายอันเป็นเดือนที่หนึ่ง

ยุกติ ชอบ, ถูกต้อง, สมควร

ยุค คราว, สมัย

ยุคล คู่, ทั้งสอง

ยุคลบาท, บาทยุคล เท้าทั้งสอง, เท้าทั้งคู่

ยุติธรรม ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล

ยุทธนา การรบพุ่ง, การต่อสู้กัน

ยุบล ข้อความ, เรื่องราว

ยุพราช พระราชกุมารที่ได้รับอภิเษกหรือแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบไป

เยภุยยสิก กิริยาเป็นไปตามข้างมากได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์ โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็คือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวต คะแนนเสียง, ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์ ดู อธิกรณสมถะ

เยวาปนกธรรม “ก็หรือว่าธรรมแม้อื่นใด” หมายถึงธรรมจำพวกที่กำหนดแน่ไม่ได้ว่าข้อไหนจะเกิดขึ้น ได้แก่ เจตสิก ๑๖ เป็นพวกที่เกิดในกุศลจิต ๙ คือ ๑. ฉันทะ ๒. อธิโมกข์ ๓. มนสิการ ๔. อุเบกขา (ตัตรมัชฌัตตตา) ๕. กรุณา ๖ มุทิตา ๗. สัมมาวาจา (วจีทุจริตวิรัติ) ๘. สัมมากัมมันตะ (กายทุจริตวิรัติ) ๙. สัมมาอาชีวะ (มิจฉาชีววิรัติ) เป็นพวกที่เกิด ในอกุศลจิต ๑๐ คือ ๑. ฉันทะ ๒. อธิโมกข์ ๓. มนสิการ ๔. มานะ ๕. อิสสา ๖. มัจฉริยะ ๗. ถีนะ ๘. มิทธะ ๙. อุทธัจ จะ ๑๐. กุกกุจจะ นับเฉพาะที่ไม่ซ้ำ (คือเว้น ๓ ข้อแรก) เป็น ๑๖

เยี่ยง อย่าง, แบบ เช่น

โยคะ 1. กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา 2. ความเพียร

โยคเกษม, โยคเกษมธรรม “ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ” ความหมายสามัญว่าความปลอดโปร่งโล่งใจหรือสุข กายสบายใจ เพราะปราศจากภัยอันตรายหรือล่วงพ้นสิ่งที่น่าพรั่นกลัวมาถึงสถานที่ปลอดภัย; ในความหมายขั้นสูงสุด มุ่งเอาพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่เกษมคือโปร่งโล่งปลอดภัยจากโยคกิเลสทั้ง ๔ จำพวก ดู โยคะ, เกษมจากโยคธรรม

โยคธรรม ธรรมคือกิเลสเครื่องประกอบ ในข้อความว่า “เกษมจากโยคธรรม” คือความพ้นภัยจากกิเลส ดู โยคะ

โยคักเขมะ ดู โยคเกษม

โยคาวจร ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือกำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนา กรรมฐาน เขียน โยคาพจรก็มี

โยคี ฤษี, ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ; ผู้ประกอบความเพียร ดู โยคาวจร

โยชน์ ชื่อมาตราวัดระยะทาง เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น

โยธา ทหาร, นักรบ

โยนิ กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ ๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว ๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ ๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง ๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก

โยนิโส โดยแยบคาย, โดยถ่องแท้, โดยวิธีที่ถูกต้อง, ตั้งแต่ต้นตลอดสาย, โดยตลอด

โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นตัว สภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่ง จะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี

โยม คำที่พระสงฆ์ใช้เรียกคฤหัสถ์ที่เป็นบิดามารดาของตน หรือที่เป็นผู้ใหญ่คราวบิดามารดา บางทีใช้ขยายออกไป เรียกผู้มีศรัทธา ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาโดยทั่วไปก็มี; คำใช้แทนชื่อบิดามารดาของพระสงฆ์; สรรพนามบุรุษที่ ๑ สำหรับบิดามารดาพูดกะพระสงฆ์ (บางทีผู้ใหญ่คราวบิดามารดา หรือผู้เกื้อกูลคุ้นเคยก็ใช้)

โยมวัด คฤหัสถ์ที่อยู่ปฏิบัติพระในวัด

โยมสงฆ์ คฤหัสถ์ผู้อุปการะพระทั่วๆ ไป

โยมอุปัฏฐาก คฤหัสถ์ที่แสดงตนเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์โดยเจาะจง อุปการะรูปใด ก็เป็นโยมอุปัฏฐากของรูปนั้น

รจนา แต่ง, ประพันธ์ เช่น อาจารย์ รจนาอรรถกถา คือผู้แต่งอรรถกถา

รตนะ ดู รัตนะ

รตนวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องรัตนะเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ พระวินัยปิฎก

รตนวรรคสิกขาบท สิกขาบทในรตนวรรค

รติ ความยินดี

ร่ม สำหรับพระภิกษุ ห้ามใช้ร่มที่กาววาว เช่น ร่มปักด้วยไหมสีต่างๆ และร่มที่มีระบายเป็นเฟือง ควรใช้ของเรียบๆ ซึ่ง ทรงอนุญาตให้ใช้ได้ในวัดและอุปจาระแห่งวัด ห้ามกั้นร่มเข้าบ้านหรือกั้นเดินตามถนนหนทางในละแวกบ้าน เว้นแต่ เจ็บไข้ ถูกแดดถูกฝนอาพาธจะกำเริบ เช่น ปวดศีรษะ ตลอดจน (ตามที่อรรถกถาผ่อนให้) กั้นเพื่อกันจีวรเปียกฝนใน เวลาฝนตก กั้นเพื่อป้องกันภัย กั้นเพื่อรักษาตัวเช่นในเวลาแดดจัด

รมณีย์ น่าบันเทิงใจ, น่ารื่นรมย์, น่าสนุก

รส อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยลิ้น (ข้อ ๔ ในอารมณ์ ๖), โดยปริยาย หมายถึงความรู้สึกชอบใจ

รองเท้า ในพระวินัยกล่าวถึงรองเท้าไว้ ๒ ชนิดคือ ๑. ปาทุกา แปลกันว่าเขียงเท้า (รองเท้าไม้หรือเกี๊ยะ) ซึ่งรวมไปถึง รองเท้าโลหะ รองเท้าแก้ว หรือรองเท้าประดับแก้วต่างๆ ตลอดจนรองเท้าสานรองเท้าถักหรือปักต่างๆ สำหรับพระภิกษุห้ามใช้ปาทุกาทุกอย่าง ยกเว้นปาทุกาไม้ที่ตรึงอยู่กับที่สำหรับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะและเป็นที่ชำระขึ้นเหยียบได้

๒. อุปาหนา รองเท้าสามัญ สำหรับพระภิกษุทรงอนุญาตรองเท้าหนังสามัญ (ถ้าชั้นเดียว หรือมากชั้นแต่เป็นของเก่าใช้ได้ทั่วไป ถ้ามากชั้นเป็นของใหม่ ใช้ได้เฉพาะแต่ในปัจจันตชนบท) มีสายรัด หรือใช้คีบด้วยนิ้วไม่ปกหลังเท้า ไม่ปกส้น ไม่ปกแข้ง นอกจากนั้น ตัวรองเท้าก็ตาม หูหรือสายรัดก็ตาม จะตองไม่มีสีที่ต้องห้าม (คือ สีขาบ เหลือ แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ) ไม่ขลิบด้วยหนังสัตว์ที่ต้องห้าม (คือ หนังราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือ ชะมด นาค แมว ค่าง นก เค้า) ไม่ยัดนุ่น ไม่ตรึงหรือประดับด้วยขนนกกระทา ขนนกยูง ไม่มีหูเป็นช่อดังเขาแกะเขาแพะหรือง่ามแมงป่อง รองเท้าที่ผิดระเบียบเหล่านี้ถ้าแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว เช่น สำรอกสีออก เอาหนังที่ขลิบออกเสีย เป็นต้น ก็ใช้ได้ รองเท้าที่ถูกลักษณะทรงอนุญาตให้ใช้ได้ในวัด ส่วนที่มิใช่ต้องห้ามและในป่า ห้ามสวมเข้าบ้านและถ้าเป็นอาคันตุกะเข้าไปในวัดอื่นก็ให้ถอด ยกเว้นแต่ฝ่าเท้าบางเหยียบพื้นแข็งแล้วเจ็บ หรือในฤดูร้อน พื้นร้อนเหยียบแล้วเท้าพอง หรือในฤดูฝนไปในที่แฉะภิกษุผู้อาพาธด้วยโรคกษัยสวมกันเท้าเย็นได้

ร้อยกรอง ได้แก่ดอกไม้ที่ร้อยถักเป็นตาเป็นผืนที่เรียกว่าตาข่าย

ร้อยคุม คือเอาดอกไม้ร้อยเป็นสายแล้วควบหรือคุมเข้าเป็นพวง เช่น พวงอุบะ สำหรับห้อยปลายภู่ หรือสำหรับห้อย ตามลำพังเช่น พวง “ภู่สาย” เป็นตัวอย่าง; ร้อยควบ ก็เรียก

ร้อยตรึง คือเอาดอกไม้เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น เสียบเข้าในระหว่างใบตองที่เจียนไว้ แล้วตรึงให้ติดกันโดยรอบ แล้ว ร้อยประสมเข้ากับอย่างอื่นเป็นพวง เช่นพวงภู่ชั้นเป็นตัวอย่าง

ร้อยผูก คือช่อดอกไม้และกลุ่มดอกไม้ที่เขาเอาไม้เสียบก้านดอกไม้แล้วเอาด้ายพันหรือผูกทำขึ้น

ร้อยวง คือดอกไม้ที่ร้อยสวมดอกหรือร้อยแทงก้านเป็นสาย แล้วผูกเข้าเป็นวง นี้คือพวงมาลัย

ร้อยเสียบ คือดอกไม้ที่ร้อยสวมดอก เช่น สายอุบะ หรือพวงมาลัย มีพวงมาลัยดอกปีบและดอกกรรณิการ์เป็นต้น หรือดอกไม้ที่ใช้เสียบไม้ เช่น พุ่มดอกพุทธชาด พุ่มดอกบานเย็นเป็นตัวอย่าง

ระยะบ้านหนึ่ง ในประโยคว่า “โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตติยะระยะทางชั่วไก่บินถึง แต่ในที่คนอยู่คับ คั่ง ให้กำหนดตามเครื่องกำหนดที่มีอยู่โดยปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นชื่อหมู่บ้าน)

ระลึกชอบ ดู สัมมาสติ

รักขิตวัน ชื่อป่าที่พระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปสำราญพระอิริยาบถเมื่อสงฆ์เมืองโกสัมพีแตกกัน ดู ปาริเลยยกะ

รังสฤษฎ์ สร้าง, แต่งตั้ง

รังสี แสง, แสงสว่าง, รัศมี

รัชกาล เวลาครองราชสมบัติแห่งพระราชาองค์หนึ่งๆ

รัชทายาท ผู้จะสืบราชสมบัติ, ผู้จะได้ครองราชสมบัติสืบต่อไป

รัฏฐานุบาลโนบายราชธรรม ธรรมของพระราชา ซึ่งเป็นวิธีปกครองบ้านเมือง, หลักธรรมสำหรับพระราชาใช้เป็น แนวปกครองบ้านเมือง

รัฏฐปาละ ดู รัฐบาล

รัฐชนบท ชนบทคือแว่นแคว้น

รัฐบาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าในถุลลโกฏฐิตนิคมในแคว้นกุรุ ฟังธรรมแล้วมีความ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ลาบิดามารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต เสียใจและอดอาหารจะได้ตายเสีย บิดา มารดาจึงต้องอนุญาต ออกบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบวชด้วย ศรัทธา

รัตตัญญู ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่ รู้กาลนานมีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์มาแต่ต้น เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับ ยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะในทาง “รัตตัญญู”

รัตติกาล เวลากลางคืน

รัตติเฉท การขาดราตรี หมายถึงเหตุขาดราตรีแห่งมานัต หรือปริวาส; สำหรับมานัต มี ๔ คือ สหวาโส อยู่ร่วม ๑ วิปฺป- วาโส อยู่ปราศ ๑ อนาโรจนา ไม่บอก ๑ อูเน คเณ จรณี ประพฤติในคณะอันพร่อง ๑; สำหรับปริวาส มี ๓ คือ สหวา โส อยู่ร่วม ๑ วิปฺปวาโส อยู่ปราศ ๑ อนาโรจนา ไม่บอก ๑ เมื่อขาดราตรีในวันใด ก็นับวันนั้นเข้าในจำนวนวันที่จะ ต้องอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตไม่ได้; ดูความหมายที่คำนั้นๆ

รัตน์, รัตนะ แก้ว, ของวิเศษหรือมีค่ามาก, สิ่งประเสริฐ, สิ่งมีค่าสูงยิ่ง เช่น พระรัตนตรัย และรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ; ในประโยคว่า “ที่รัตนะยังไม่ออก เป็นปาจิตติยะ” หมายถึงพระมเหสี, พระราชินี

รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์คือเรือนแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกของรัตนจงกรมเจดีย์ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรี- มหาโพธิ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงพิจารณา พระอภิธรรมปิฎกสิ้น ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๔ แห่งการเสวยวิมุตติสุข) ดู วิมุตติสุข

รัตนจงกรมเจดีย์ เจดีย์คือที่จงกรมแก้วอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ ระหว่างต้นพระศรี มหาโพธิ กับอนิมิสเจดีย์ ณ ที่นี้พระพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๓ แห่งการเสวยวิมุตติสุข) ดู วิมุตติสุข

รัตนตรัย แก้ว ๓ ดวง สิ่งมีค่าและเคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

รัตนบัลลังก์ บัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้, ที่ประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ

รัศมี แสงสว่าง, แสงที่เห็นกระจายออกเป็นสายๆ, แสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลาง; เขียนอย่างบาลีเป็น รังสีแต่ใน ภาษาไทยใช้ในความหมายที่ต่างกันออกไปบ้าง

รัสสะ สระอันพึงว่าโดยระยะสั้นกึ่งหนึ่งแห่งสระยาว ได้แก่ อ อิ อุ

รากขวัญ ส่วนของร่างกายที่เรียกว่าไหปลาร้า; ตำนานกล่าวว่า ในบรรดาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายนั้น พระราก ขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ใน จุฬามณีเจดีย์ ณ ดาวดึงสเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้าย ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ ในทุสสเจดีย์ (เจดีย์ที่ฆฏิการพรหมสร้างขึ้นไว้ก่อนแล้ว ให้เป็นที่บรรจุพระภูษาเครื่องทรงในฆราวาส ที่พระโพธิสัตว์ สละในคราวเสด็จออกบรรพชา) ณ พรหมโลก

ราคะ ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์

ราคจริต พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน (ข้อ ๑ ในจริต ๖)

ราคา ชื่อลูกสาวพระยามาร อาสาพระยามารเข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่างๆ พร้อมด้วยนางตัณหา และ นางอรดี ในขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ หลังจากตรัสรู้

ราคี ผู้มีความกำหนัด; มลทิน, เศร้าหมอง, มัวหมอง

ราชการ กิจการงานของประเทศ หรือของพระเจ้าแผ่นดิน, หน้าที่หลั่งความยินดีแก่ประชาชน

ราชกุมาร ลูกหลวง

ราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธเป็นนครที่มีความเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยคณาจารย์เจ้าลัทธิ พระพุทธเจ้าทรง เลือกเป็นภูมิที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นปฐม พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ ครองราชสมบัติ ณ นครนี้

ราชทัณฑ์ โทษหลวง, อาญาหลวง

ราชเทวี พระมเหสี, นางกษัตริย์

ราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน, คุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผนดินโดยธรรมและยัง ประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี มี ๑๐ ประการ (นิยมเรียกว่า ทศพิธราชธรรม) คือ ๑. ทาน การให้ทรัพย์สินสิ่งของ ๒. ศีลประพฤติดีงาม ๓. ปริจจาคะ ความเสียสละ ๔. อาชชวะ ความซื่อตรง ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน ๖. ตบะ ความทรงเดชเผากิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ ๗. อักโกธะ ความไม่กริ้วโกรธ ๘. อวิหิงสา ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน ๙. ขันติ ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม

ราชธานี เมืองหลวง, นครหลวง

ราชธิดา ลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดิน

ราชนิเวศน์ ที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวัง

ราชบริวาร ผู้แวดล้อมพระราชา, ผู้ห้อมล้อมติดตามพระราชา

ราชบุตร ลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน

ราชบุตรี ลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดิน

ราชบุรุษ คนของพระเจ้าแผ่นดิน

ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีเสียภาษีอากร เป็นต้น (ข้อ ๔ แห่งพลี ๕ ในโภคอาทิยะ ๕)

ราชภฏี ราชภัฏหญิง, ข้าราชการหญิง

ราชภัฏ ผู้อันพระราชาเลี้ยง คือ ข้าราชการ

ราชวโรงการ คำสั่งของพระราชา

ราชสมบัติ สมบัติของพระราชา, สมบัติคือความเป็นพระราชา

ราชสังคหวัตถุ สังคหวัตถุของพระราชา, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครองมี ๔ คือ ๑. สัสสเมธะ ฉลาด บำรุงธัญญาหาร ๒. ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ ๓. สัมมาปาสะ ผูกผสานรวมใจประชา (ด้วยการส่งเสริมสัมมาชีพ ให้คนจนตั้งตัวได้) ๔. วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ

ราชสาสน์ หนังสือทางราชการของพระราชา

ราชอาสน์ ที่นั่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ราชา “ผู้ยังเหล่าชนให้อิ่มเอมใจ” หรือ “ผู้ทำให้คนอื่นมีความสุข”, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองประเทศ

ราชาณัติ คำสั่งของพระราชา

ราชาธิราช พระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าพระราชาอื่นๆ

ราชาภิเษก พระราชพิธีในการขึ้นสืบราชสมบัติ

ราชายตนะ ไม้เกต อยู่ทิศแห่งต้นพระ ศรีมหาโพธิ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าประทับนั่งสวยวิมุตติสุข ๗ วัน พ่อค้า ๒ คนคือ ตปุสสะกับภัลลิกะ ซึ่งมาจากอุกกลชนบท ได้พบพระพุธเจ้าที่นี่ ดู วิมุตติสุข

ราชูปถัมภ์ การที่พระราชาทรงเกื้อกูลอุดหนุน

ราชูปโภค เครื่องใช้สอยของพระราชา

ราโชวาท คำสั่งสอนของพระราชา

ราตรี กลางคืน, เวลามืดค่ำ

ราธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุ รับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึง อุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็น บุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิด ปฏิภาณ

รามคาม นครหลวงของแคว้นโกลิยะ บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล เป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แห่งหนึ่ง

รามัญนิกาย นิกายมอญ หมายถึงพระสงฆ์ผู้สืบเชื้อสายมาจากรามัญประเทศ ส่วนมากเป็นมอญเองด้วยโดยสัญชาติ

รามัญวงศ์ ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์มอญ

รามายณะ เรื่องราวของพระราม ว่าด้วยเรื่องศึกระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ พระฤษีวาลมีกิเป็นผู้แต่ง ไทยเรียก รามเกียรติ์

ราศี 1. ชื่อมาตราวัดจักรราศีคือ ๓๐ องศาเป็น ๑ ราศี และ ๑๒ ราศีเป็น ๑ รอบจักรราศี (อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ ที่ดาวพระเคราะห์เดิน); ราศี ๑๒ นั้น คือ ราศีเมษ (แกะ), พฤษภ (วัว), เมถุน (คนคู่), กรกฏ (ปู), สิงห์ (ราชสีห์), กันย์ (หญิงสาว) ตุล (คันชั่ง), พฤศจิก (แมลงป่อง), ธนู (ธนู), มกร (มังกร), กุมภ์ (หม้อน้ำ), มีน (ปลา ๒ ตัว) 2. อาการที่รุ่ง- เรือง, ลักษณะที่ดีงาม 3. กอง เช่น บุญราศี ว่ากองบุญ

ราหุล พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ คราวพระพุทธเจ้าเสด็จนครกบิลพัสดุ์ ราหุลกุมารเข้าเฝ้าทูลขอทายาทสมบัติตามคำแนะนำของพระมารดา พระพุทธเจ้าจะประทานอริยทรัพย์ จึงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุได้รับยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะในทางเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา อรรถกถาว่าพระราหุลปรินิพพานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก่อนพุทธปรินิพพาน และก่อนการปรินิพพานของพระสารีบุตร

ริบราชบาทว์ เอาเป็นของหลวงตามกฎหมาย เพราะเจ้าของต้องโทษแผ่นดิน

ริษยา ความไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้, เห็นผู้อื้นได้ดีไม่สบายใจ, คำเดิมเป็น อิสสา (ข้อ ๓ ใน มละ ๙, ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐ หมวด ๒, ข้อ ๗ ในอุปกิเลส ๑๖)

รุกข์ รุกขชาติ ต้นไม้

รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ไม่อยู่ในที่มุงบัง (ข้อ ๙ ในธุดงค์ ๑๓)

รุจิ ความชอบใจ

รูป 1. สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูต หรือ ธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (= รูปขันธ์ในขันธ์ ๕) 2. อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖) 3. ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป; ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์

รูปกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์

รูปกาย ประชุมแห่งรูปธรรม, กายที่เป็นส่วนรูป โดยใจความได้แก่รูปขันธ์หรือร่างกาย

รูปฌาน ฌานรูปธรรมเป็นอารมณ์มี ๔ คือ ๑) ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตา (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) ๒) ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา ๓) ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ๔) จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา, เอกัคคตา

รูปตัณหา ความอยากในรูป

รูปธรรม สิ่งที่มีรูป, สภาวะที่เป็นรูป คู่กับ นามธรรม

รูปนันทา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดีโคตมีเป็นพระกนิฏฐภคินีต่างพระมารดาของพระ สิทธัตถะ

รูปพรรณ เงินทองที่ทำเป็นเครื่องใช้หรือเครื่องประดับ, ลักษณะ, รูปร่าง และสี

รูปพรหม พรหมในชั้นรูปภพ, พรหมที่เกิดด้วยกำลังรูปฌาน มี ๑๖ ชั้น ดู พรหมโลก

รูปภพ โลกเป็นที่อยู่ของพวกรูปพรหม ดู พรหมโลก

รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม คือติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต (ข้อ ๖ ในสังโยชน์ ๑๐)

รูปวิจาร ความตรองในรูป เกิดต่อจาก รูปวิตก

รูปวิตก ความตรึกในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา

รูปสัญเจตนา ความคิดอ่านในรูปเกิดต่อจากรูปสัญญา

รูปสัญญา ความหมายรู้ในรูป เกิดต่อจากจักขุสัมผัสสชา เวทนา

รูปัปปมาณิกา ผู้ถือรูปเป็นประมาณ คือ พอใจในรูป ชอบรูปร่างสวยสง่างาม ผิวพรรณหมดจดผ่องใส เป็นต้น

รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป, สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา

รูปาวจร ซึ่งท่องเที่ยวไปในรูป, อยู่ในระดับจิตชั้นรูปฌาน, ระดับที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์, เนื่องในรูปภพ

รูปิยสังโวหาร การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ, การซื้อขายด้วยเงินตรง, ภิกษุกระทำ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (โกสิย วรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙)

รูปียะ, รูปิยะ เงินตรา

เรวตะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

เรวต ขทิรวนิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรพราหมณ์ชื่อวังคันตะ มารดาชื่อนางสารี เป็นน้องชายคนสุดท้อง ของพระสารีบุตร บวชอยู่ในสำนักของภิกษุพวกอยู่ป่า (อรัญวาสี) บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าไม้ตะเคียนประมาณ ๓ เดือนเศษ ก็ได้สำเร็จพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางอยู่ป่า

แรกนาขวัญ พิธีเริ่มไถนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา

โรหิณี 1. เจ้าหญิงองค์หนึ่งแห่งศากยวงศ์เป็นพระธิดาของพระเจ้าอมิโตทนะซึ่งเป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้าเป็น กนิษฐภคินี คือน้องสาวของพระอนุรุทธ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน 2. ชื่อแม่น้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่าง แคว้นศากยะกับแคว้นโกลิยะ การแย่งกันใช้น้ำในการเกษตรเคยเป็นมูลเหตุให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างแคว้นทั้งสอง จนจวนเจียนจะเกิดสงครามระหว่างพระญาติ ๒ ฝ่าย พระพุทธเจ้าเสด็จมาระงับศึก จึงสงบลงได้ สันนิษฐานกันว่า เป็นเหตุการณ์ในพรรษาที่ ๕ (บางท่านว่า ๑๔ หรือ ๑๕) แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ และเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ; ปัจจุบันเรียก Rowai หรือ Rohwaini

ฤกษ์ คราวหรือเวลาซึ่งถือว่าเหมาะเป็นชัยมงคล

ฤคเวท ชื่อคัมภีร์ที่หนึ่งในไตรเพท ประกอบด้วยบทมนตร์สรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย ดู ไตรเพท

ฤดู คราว, สมัย, ส่วนของปีซึ่งแบ่งเป็น ๓ คราวขึ้นไป เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ดู มาตรา

ฤทธิ์ อำนาจศักดิ์สิทธิ์, ความเจริญ, ความสำเร็จ, ความงอกงาม, เป็นรูปสันสกฤตของ อิทธิ; ฤทธิ์ หรือ อิทธิ คือ ความ สำเร็จ ความรุ่งเรือง มี ๒ คือ ๑. อามิสฤทธิ์ อามิสเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางวัตถุ ๒. ธรรมฤทธิ์ ธรรมเป็นฤทธิ์, ความสำเร็จหรือความรุ่งเรืองทางธรรม

ฤษี ผู้แสวงธรรม ได้แก่นักบวชนอกพระศาสนาซึ่งอยู่ในป่า, ชีไพร, ผู้แต่งคัมภีร์พระเวท

ลกุณฏก ภัททิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรในตระกูลมั่งคั่ง ชาวพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของ พระศาสดาที่พระเชตวันมีความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีรูปร่างเตี้ยค่อมจนบางคนเห็นขัน วันหนึ่งมี หญิงนั่งรถผ่านมาเห็นท่านแล้วหัวเราะจนเห็นฟัน ท่านกำหนดฟันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้สำเร็จอนาคามิผล ต่อ มาท่านได้บรรลุพระอรหัตในสำนักพระสารีบุตร แต่เพราะความที่มีรูปร่างเล็กเตี้ยค่อม ท่านมักถูกเข้าใจผิดเป็น สามเณรบ้าง ถูกพระหนุ่มเณรน้อยล้อเลียนบ้าง ถูกเพื่อพระดูแคลนบ้าง แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสยกย่องว่าถึงท่านจะ ร่างเล็ก แต่มีคุณธรรมฤทธานุภาพมาก ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีเสียงไพเราะ

ลบหลู่คุณท่าน ดู มักขะ

ล่วงสิกขาบท ละเมิดสิกขาบท, ไม่บทประพฤติตามสิกขาบท, ฝ่าฝืนสิกขาบท

ลหุ เสียงเบา ได้แก่ รัสสระไม่มีตัวสะกด คือ อ อิ อุ เช่น น ขมติ

ลหุกาบัติ อาบัติเบา คือ อาบัติที่มีโทษเล็กน้อยได้แก่อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต; คู่กับครุกาบัติ

ลหุโทษ โทษเบา คู่กับ มหันตโทษ โทษหนัก

ลหุภัณฑ์ ของเบา เช่น บิณฑบาต เภสัชและของใช้ประจำตัว มีเข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นต้น; คู่กับ ครุภัณฑ์

ลักซ่อน เห็นของเขาทำตก มีไถยจิตเอาดินกลบเสีย หรือเอาของมีใบไม้เป็นต้น ปิดเสีย

ลักเพศ แต่งตัวปลอมเพศ เช่นไม่เป็นภิกษุ แต่นุ่งห่มผ้าเหลือง แสดงตัวเป็นภิกษุ (อ่าน ลัก-กะ-เพด)

ลักษณะ สิ่งสำหรับกำหนดรู้, เครื่องกำหนดรู้, อาการสำหรับหมายรู้, เครื่องแสดงสิ่งหนึ่งให้เห็นว่าต่างจากอีกสิ่ง หนึ่ง, คุณภาพ, ประเภท

ลักษณะ ๓ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ดู ไตรลักษณ์

ลักษณพยากรณศาสตร์ ตำราว่าด้วยการทายลักษณะ

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ดู หลักตัดสินธรรมวินัย

ลัคน์ เวลาในดวงชาตาคนเกิดและในดวงทำการมงคล

ลัชชินี หญิงผู้มีละอายต่อบาป เป็นอิตถีลิงค์ ถ้าเป็นปุงลิงค์ เป็นลัชชี

ลัชชีธรรม ธรรมแห่งบุคคลผู้ละอายต่อบาป

ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่าไม้ตะพดก็ได้ บางท่านจึงแปลว่าป่าไม้รวก) อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุง ราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระ ธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น

ลัทธิ ความเชื่อถือ, ความรู้และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา

ลัทธิสมัย สมัยคือลัทธิ หมายถึงลัทธินั่นเอง

ลาภ ของที่ได้, การได้ ดู โลกธรรม

ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ได้แก่หวงผลประโยชน์ พยายามกีดกันผู้อื่นไม่ให้ได้ (ข้อ ๓ ในมัจฉริยะ ๕)

ลาภานุตตริยะ การได้ที่ยอดเยี่ยม เช่น ได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ได้ดวงตาเห็นธรรม (ข้อ ๓ ในอนุตตริยะ ๖)

ลาสิกขา ปฏิญญาตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นผู้เข้าใจความ แล้วละเพศภิกษุเสีย ถือเอาเพศที่ปฏิญญานั้น, ละเพศภิกษุสามเณร, สึก; คำลาสิกขาที่ใช้ในบัดนี้ คือ ตั้ง “นโม ฯลฯ” ๓ จบ แล้วกล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ, คิหีติ มัง ธาเรถะ” (ว่า ๓ ครั้ง) แปลว่า “กระผมลาสิกขา, ขอท่านทั้งหลายจงทรงจำกระผมไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์” (คิหีติออกเสียเป็น คีฮีติ)

ลำเอียง ดู อคติ

ลิงค์ เพศ, ในบาลีไวยากรณ์มี ๓ อย่าง คือ ปุงลิงค์ เพศชาย, อิตถีลิงค์ เพศหญิง, นปุงสกลิงค์ มิใช่เพศชายมิใช่เพศหญิง

ลิจฉวี กษัตริย์ที่ปกครองแคว้นวัชชี ดู วัชชี

ลุแก่โทษ บอกความผิดของตนเพื่อขอความกรุณา

ลุมพินีวัน ชื่อสวนเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เป็นสังเวชนียสถานหนึ่งในสี่แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และ กรุงเทวทหะ บัดนี้เรียกรุมมินเด อยู่ที่ปาเดเรีย ในเขตประเทศเนปาล ห่างจากเขตแดนประเทศอินเดียไปทางเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตรครึ่ง พระสิทธัตถะประสูติที่สวนนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี (มีปราชญ์คำนวณว่า ตรงกับวันศุกร์ ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง) ดู สังเวชนียสถาน

ลูกถวิน ลูกกลมๆ ที่ผูกติดสายประคดเอว, ห่วงร้อยสายรัดประคด

ลูกหมู่ คนที่ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการเป็นกำลังงานของเจ้านายสมัยโบราณ

ลูขปฏิบัติ ประพฤติปอน, ปฏิบัติเศร้าหมอง คือใช้ของเศร้าหมอง ไม่ต้องการความสวยงาม (หมายถึงของเก่าๆ เรียบๆ สีปอนๆ แต่สะอาด)

ลูขัปปมาณิกา ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ ชอบผู้ที่ประพฤติปอน ครองผ้าเก่า อยู่เรียบๆ ง่ายๆ

เลข คนสามัญ หรือชายฉกรรจ์ (พจนานุกรมเขียน เลก)

เลขทาส ชายฉกรรจ์ที่เป็นทาสรับทำงานด้วย

เลขวัด จำพวกคนที่ท่านผู้ปกครองแคว้นจัดให้มีสังกัดขึ้นวัด สงฆ์อาจใช้ทำงานในวัดได้ และไม่ต้องถูกเกณฑ์ทำงาน ในบ้านเมือง (พจนานุกรมเขียน เลกวัด)

เลขสม คนที่ยินยอมเป็นกำลังงานของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งด้วยความสมัครใจในสมัยโบราณ

เลฑฑุบาต ระยะโยนหรือขว้างก้อนดินตก (อ่านว่า เลดดุบาด)

เลศ แสดงอาการให้รู้ในที; อาการที่พอจะยกขึ้นอ้างเพื่อใส่ความ

เลียบเคียง พูดอ้อมค้อมหาทางให้เขาถวายของ

โลก แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย; โลก ๓ คือ ๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร ๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ ๓ โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน; อีกนัยหนึ่ง ๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์ ๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น ๓. พรหม โลก โลกของพระหรหม

โลกธรรม ธรรมที่มีประจำโลก, ธรรมดาของโลก, ธรรมที่ครอบงำสัตวโลก และสัตวโลกก็เป็นไปตามมัน มี ๘ อย่าง คือ มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์

โลกธาตุ แผ่นดิน; จักวาลหนึ่งๆ

โลกนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของโลก หมายถึงพระพุทธเจ้า

โลกบาล ผู้คุ้มครองโลก, ผู้เลี้ยงรักษาโลกให้ร่มเย็น, ท้าวโลกบาล ๔ ดู จาตุมหาราช

โลกบาลธรรม ธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กัน ด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย มี ๒ คือ ๑. หิริ ความอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาปเกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว

โลกวัชชะ อาบัติที่เป็นโทษทางโลกคือ คนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิดความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่า มนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น; บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น

โลกวิทู ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรู้แจ้งสภาวะแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงทราบอัธยาศัยสันดานของสัตวโลกที่เป็น ไปต่างๆ ทำให้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้ผลดี (ข้อ ๕ ในพุทธคุณ ๙)

โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก, ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐาน พระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน ดู พุทธจริยา

โลกาธิปเตยยะ ดู โลกาธิปไตย

โลกาธิปไตย ความถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียง นินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียง กล่าวว่า, พึงใช้แต่ในทางดีหรือในของเขตที่เป็นความดี คือ เคารพเสียงหมู่ชน (ข้อ ๒ ในอธิปไตย ๓)

โลกามิษ เหยื่อแห่งโลก, เครื่องล่อ ที่ล่อให้ติดอยู่ในโลก, เครื่องล่อใจให้ติดในโลก ได้แก่ ปัญจพิธกามคุณ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ; โลกามิสก็เขียน

โลกิยะ, โลกีย์ เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ

โลกิยฌาน ฌานโลกีย์, ฌานอันเป็นวิสัยของโลก, ฌานของผู้มีจิตยังไม่เป็นโลกุตตระ, ฌานที่ปุถุชนได้

โลกิยธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่ยังมี อาสวะทั้งหมด; คู่กับ โลกุตตรธรรม

โลกิยวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกีย์ คือความพ้นอย่างโลกๆ ไม่เด็ดขาด ไม่สิ้นเชิง กิเลสและความทุกข์ยังกลับครอบงำได้ อีก ได้แก่วิมุตติ ๒ อย่างแรก คือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ ดู วิมุตติ, โลกุตตรวิมุตติ

โลกียสุข ความสุขอย่างโลกีย์, ความสุขที่เป็นวิสัยของโลก, ความสุขที่ยังประกอบด้วยอาสวะ เช่น กามสุข มนุษยสุข ทิพยสุข ตลอดถึงฌานสุขและวิปัสสนาสุข

โลกุดร, โลกุตตระ, โลกุตระ พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้งสาม (พจนานุกรม เขียน โลกุตร) คู่กับ โลกิยะ

โลกุตตมาจารย์ อาจารย์ผู้สูงสุดของโลก, อาจารย์ยอดเยี่ยมของโลก หมายถึงพระพุทธเจ้า

โลกุตตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก มี ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่สัมปยุตด้วยโลกุตตรมรรค, ความรู้ที่พ้นวิสัยของโลก, ความรู้ที่ช่วยคนให้พ้นโลก

โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้า (ข้อ ๔ ในภูมิ ๔ อีก ๓ ภูมิ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ)

โลกุตตรวิมุตติ วิมุตติที่เป็นโลกุตตระ คือ ความหลุดพ้นที่เหนือวิสัยโลก ซึ่งกิเลสและความทุกข์ที่ละได้แล้ว ไม่กลับ คืนมาอีก ไม่กลับกลาย ได้แก่ วิมุตติ ๓ อย่างหลังคือ สมุจเฉทวิมุตติ, ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ ดู วิมุตติ, โลกิยวิมุตติ

โลกุตตรสุข, โลกุตรสุข ความสุขอย่างโลกุตระ, ความสุขที่เหนือกว่าระดับของชาวโลก, ความสุขเนื่องด้วยมรรค ผล นิพพาน

โลกุตตราริยมรรคผล อริยมรรคและอริยผลที่พ้นวิสัยของโลก

โลณเภสัช เกลือเป็นยา เช่นเกลือทะเล เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เป็นต้น

โลน กิริยาวาจาหยาบคายไม่สุภาพ

โลภ ความอยากได้ (ข้อ ๑ ในอกุศลมูล ๓)

โลภเจตนา เจตนาประกอบด้วยโลภ, จงใจคิดอยากได้, ตั้งใจจะเอา

โลมะ, โลมา ขน

โลมชาติชูชัน ขนลุก

โลลโทษ โทษคือความโลเล, ความมีอารมณ์อ่อนไหว โอนเอนไปตามสิ่งเย้ายวนอันสะดุดตาสะดุดใจ

โลหิต เลือด; สีแดง

โลหิตกะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในพวกเหลวไหลทั้ง ๖ ที่เรียกว่า พระฉัพพัคคีย์

โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อ (ข้อ ๔ ในอนันตริยกรรม ๕)

ไล่เบี้ย เรียกร้องเอาค่าเสียหายเป็นลำดับไปจนถึงคนที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น