Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 22

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 22 : เมณฑกปัญหาวรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สรรพสัตว์, ปัญหาที่ ๗ ถามถึงธรรมอันประเสริฐสุด, ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเรื่องความไม่แตกกันแห่งบริษัทของพระพุทธเจ้า

ตอนที่ ๒๒

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องทรงบำเพ็ญ ประโยชน์แก่สรรพสัตว์


พระเจ้ามิลินท์มีพระราชดำรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดามีแต่กำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายออกไป ทรงเพิ่มให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ดังนี้ แล้วกล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิงให้ภิกษุทั้งหลายฟัง จิตของภิกษุ ๖๐ รูป ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ภิกษุอีก ๖๐ รูปก็ได้สึกไป ส่วนภิกษุอีก ๖๐ รูป ก็อาเจียนเป็นโลหิตออกมา ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคนเจ้ามีแต่กำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย แล้วเพิ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ คำว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อนๆ ก็พลุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูปนั้นก็ผิด” ถ้าคำว่า “เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อนๆ ก็พลุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูปนั้นถูก” คำว่า “พระพุทธเจ้าทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย เพิ่มให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นก็ผิด” ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ถอนได้ยากลึกมาก ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ”

พระนาคเสนถวายพระพรว่า “ มหาราชะ ข้อว่า พระพุทธเจ้าทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แห่งสัตว์ทั้งหลายออกไปเสีย เพิ่มแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ก็ถูก คำว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อนๆ ของภิกษุ ๖๐ รูปได้พลุ่งออกมาจากปากนั้นก็ถูก แต่ว่าการที่โลหิตร้อนๆ พลุ่งออกจากปากภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่ด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า เป็นด้วยการกระทำของภิกษุเหล่านั้นต่างหาก ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน การแก้อย่างนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง หรือภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ฟัง โลหิตร้อนๆ จะพลุ่งออกจากปากของภิกษุเหล่านั้นหรือ ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่พลุ่ง ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติผิดได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย โลหิตร้อนๆ ก็ได้พลุ่งออกจากปากด้วยความเร่าร้อนนั้น ”
“ เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าได้ทรงกระทำให้ภิกษุเหล่านั้นอาเจียนเป็นโลหิตออกมา ข้าแต่พระนาคเสน เปรียบเหมือนงูเลื้อยเข้าไปอยู่ในรูจอมปลวก มีบุรุษคนหนึ่งต้องการฝุ่นดิน จึงไปขุดจอมปลวกนำฝุ่นไป ดินก็ได้ไปถมรูจอมปลวก งูหายใจไม่ได้ก็ต้องตาย จะว่างูนั้นตายเพราะการกระทำของบุรุษนั้นได้หรือไม่ ? ”
“ ได้ มหาบพิตร ”
“ ข้อนี้มีอุปมาฉันนั้นแหละพระนาคเสน ก็เป็นอันว่าภิกษุเหล่านั้นอาเจียนเป็นโลหิตร้อนๆ ออกมาด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า ”

“ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรมไม่ได้ทรงแสดงด้วยความคิดยินดียินร้ายอย่างไร ทรงแสดงด้วยปราศจากความยินดียินร้าย เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรม พวกใดปฏิบัติถูก พวกนั้นก็รู้ธรรม พวกใดปฏิบัติผิด พวกนั้นก็ตกไป บุรุษผู้รักษาต้นมะม่วงหรือต้นหว้า ต้นมะซาง ที่กำลังมีผล ผลเหล่าใดที่มั่นคงดี ผลเหล่านั้นก็ไม่หล่น ส่วนผลเหล่าใดมีขั้วรากเน่า ผลเหล่านั้นก็หล่นไปฉันใด สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงแสดงธรรมไปตามวิถีธรรม แต่เมื่อทรงแสดงธรรม พวกใดปฏิบัติถูก พวกนั้นก็รู้ธรรม พวกใดปฏิบัติผิด พวกนั้นก็ตกไปจากธรรมฉันนั้น อีกประการหนึ่ง พวกชาวนาอยากจะหว่านข้าวจึงไถนา เมื่อไถนาไปหญ้าก็ตายตั้งพันๆ ฉันใด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ผู้มีบารมีแก่กล้ารู้ธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมอยู่พวกปฏิบัติถูกก็รู้ธรรม พวกปฏิบัติผิดก็ตายไป เหมือนกับหญ้าทั้งหลายฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพวกมนุษย์จะหีบอ้อยด้วยต้องการน้ำอ้อย ก็นำอ้อยเข้าเครื่องหีบ บุ้ง หนอน ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในอ้อยนั้นก็ตายไปฉันใด สมเด็จพระบรมโลกนาถก็บีบเวไนยสัตว์ผู้มีบารมีแก่กล้าด้วยเครื่องยนต์คือพระธรรมเพื่อให้รู้แจ้ง พวกปฏิบัติผิดก็ตายไปเหมือนตัวบุ้งตัวหนอนเล็ก ๆ ฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปนั้น ก็ตกไปด้วยพระธรรมเทศนานั้นอย่างนั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร แต่อาตมภาพขอถามว่า ช่างถากไม้ย่อมถากไม้ให้เกลี้ยงให้ตรงใช่ไหม ? ”
“ ใช่แล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสมเด็จพระพิชิตมารผู้รักษาบริษัท ไม่อาจให้ผู้ไม่ใช่พุทธเวไนยรู้ได้ ก็กำจัดพวกปฏิบัติผิดเสีย แล้วกระทำพวกปฏิบัติถูกให้รู้ธรรมพวกปฏิบัติผิดก็ตกไปด้วยการกระทำของตน อนึ่ง โจรได้ถูกควักลูกตาเสียก็มี ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นก็มี ถูกตัดมือตัดเท้า ตัดศีรษะก็มี เพราะการกระทำของเขาฉันใด พวกปฏิบัติผิดก็ตกไปจากพระพุทธศาสนาฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ต้นกล้วย ไม้ไผ่ แม่ม้าอัศดร ย่อมตายไปด้วยผลของตนเองฉันใด พวกปฏิบัติผิดก็ตกไปจากพระพุทธศาสนาฉันนั้น พวกภิกษุ ๖๐ รูป ได้อาเจียนเป็นโลหิตร้อนๆ ออกมานั้น ไม่ใช่เป็นด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า หรือของผู้อื่นเลยเป็นด้วยการกระทำของตนต่างหาก อีกประการหนึ่ง เหมือนดังเช่นบุรุษคนหนึ่งให้ยาอมฤตแก่คนทั้งปวง คนทั้งปวงนั้นได้ดื่มยาอมฤตแล้ว ก็หายโรคมีอายุยืนหมดจัญไร แต่อีกพวกหนึ่งหายโรคมีอายุยืน อีกพวกหนึ่งตายเพราะการทำไม่ดีของตน ขอถามว่าบุรุษผู้ให้ยาอมฤตนั้น จะได้บาปอย่างไรหรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้บาปอะไรเลย ผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระตถาคตเจ้าย่อมทรงประทานธรรมอันไม่รู้จักตายให้แก่เทพยดามนุษย์ในหมื่นโลกธาตุ พวกใดได้อบรมวาสนาบารมีมาแล้วพวกนั้นก็รู้ธรรม พวกนั้นก็ตกไปด้วยยาอมฤต คือพระธรรม พวกฟังอมตธรรมแล้วตกไปจากความเป็นสมณะนั้นเปรียบเหมือนพวกกินยาอมฤตแล้วตายไปฉะนั้น ธรรมดาโภชนะย่อมรักษาชีวิตสัตว์ทั้งปวงไว้ แต่บางคนกินแล้วก็เสียดท้องตาย ผู้ที่ให้โภชนะนั้นก็ไม่ได้บาปอะไร ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาข้อนี้ โยมขอรับทราบไว้ว่าถูกต้องดีแล้ว ”

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงธรรมอันประเสริฐสุด

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า พระธรรมเป็นของประเสริฐสุด ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น แต่ตรัสไว้อีกว่า คฤหัสถ์ถึงความเป็นพระโสดาบัน ละอบายภูมิทั้ง ๔ แล้ว ถึงความเห็นแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ก็ยังกราบไหว้ลุกรับ ซึ่งพระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนอยู่ ถ้าถือว่าพระธรรมประเสริฐสุดจริง คำที่กล่าวถึงการที่คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้นก็ผิดไป ถ้าคำว่า คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนนั้นถูก คำว่าพระธรรมประเสริฐสุดในโลกนั้นก็ผิดไป ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยาก ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิดพระคุณเจ้าข้า ”

พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไว้ว่า “ ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกต้องทั้งนั้น แต่ว่าเหตุที่ให้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้น มีอยู่ต่างหาก เหตุนั้นคืออะไร ? คือ สมณกรณธรรม ๒๐ อย่าง และ เพศ ๒ อย่าง สมณกรณธรรม ๒๐ นั้นคือ ๑. มีภูมิอันประเสริฐ ๒. มีความนิยมอันเลิศ ๓. ความประพฤติอันดีงาม ๔. ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๕. ความสำรวมอินทรีย์ ๖ ๖. ความระวังปาฏิโมกข์ ๗. ความอดทน ๘. ความยินดีในธรรมอันดี ๙. ความยินดียิ่งในธรรมอันแท้ ๑๐. ความประพฤติในธรรมเที่ยงแท้ ๑๑. ความอยู่ในที่สงัด ๑๒. ความละอาย ๑๓. ความสะดุ้งกลัว ๑๔. ความเพียร ๑๕. ความไม่ประมาท ๑๖. บำเพ็ญสิกขา ๑๗. ตั้งใจเล่าเรียนสอบถาม ๑๘. ยินดียิ่งในศีลเป็นต้น ๑๙. ไม่มีความอาลัย ๒๐. ทำสิกขาบทให้เต็ม เพศ ๒ นั้นได้แก่ นุ่งห่มผ้าเหลือง ๑ มีศีรษะโล้น ๑

ภิกษุย่อมถือสรณกรณธรรม ๒๐ กับเพศ ๒ ไว้อย่างนี้ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิของพระเสขะ ชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิพระอรหันต์เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ สมควรเรียกว่าผู้ถึงซึ่งระหว่างแห่งภูมิอันประเสริฐ ผู้ถึงซึ่งที่ตั้งแห่งเหตุอันจะให้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นอุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้ ลุกรับ พระภิกษุปุถุชนด้วยคิดว่า ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสมณะ คุณวิเศษอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ๑ คิดว่าท่านเข้าถึงความเป็นบริษัทอันเลิศ และได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกข์อุทเทส เราไม่ได้ฟัง ๑ ท่านให้บรรพชาอุปสมบทได้ อาจให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ เราให้บรรพชาอุปสมบทไม่ได้ ๑ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติในสิกขาบาท อันไม่มีประมาณ เราไม่ได้ปฏิบัติ ๑ ท่านประกอบด้วยเพศสมณะ ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ เราห่างไกลจากเพศนั้น ๑ ท่านไม่ปล่อยขนรักแร้ เล็บมือเล็บเท้า หนวดเคราให้รกรุกรัง ทั้งไม่หวั่นไหวในกามารมณ์ ไม่ได้ประดับประดาร่างกาย ไม่ได้ลูบไล้เครื่องหอม ส่วนเรายังยินดีอยู่ในการตกแต่งร่างกาย ๑ ขอถวายพระพร สมณกรณธรรม ๒๐ กับ เพศ ๒ นั้นย่อมมีแกภิกษุ พระภิกษุนั้นย่อมทรงธรรมเหล่านั้นไว้ และให้ผู้อื่นศึกษาในธรรมเหล่านั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบัน ควรกราบไหว้ลุกรับภิกษุปุถุชน ด้วยคิดว่า ความรู้ความดีเหล่านั้น ไม่ได้มีอยู่แก่เรา ”

อุปมาพระราชโอรส

“ ขอถวายพระพร เนื้อความข้อนี้ควรกำหนดทราบด้วยอุปมาอย่างเช่นว่า พระราชโอรสย่อมศึกษาวิชาในสำนักปุโรหิต เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นก็ได้อภิเษกเป็นพระราชา พระราชกุมารนั้นย่อมกราบไหว้ลุกรับอาจารย์ด้วยคิดว่า เป็นผู้สอนวิชาให้ฉันใด พระภิกษุก็เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความสำรวม เพราะฉะนั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้ ลุกรับภิกษุปุถุชน อีกประการหนึ่ง ขอจงทราบว่า ภูมิของภิกษุเป็นภูมิใหญ่ ไม่มีภูมิอื่นเสมอ เป็นภูมิไพบูลย์ด้วยปริยายอันนี้ ถ้าอุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันได้สำเร็จพระอรหันต์ มีคติอยู่ ๒ คือต้องปรินิพพานในวันนั้น หรือเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานั้นเป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูงคือภูมิของภิกษุ ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหานี้พระผู้เป็นเจ้าผู้มีญาณ ผู้มีกำลัง ผู้มีวุฒิยิ่ง ได้ชี้แจงไว้แล้ว ผู้อื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครสามารถให้รู้แจ้งได้ ”

ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเรื่องความไม่แตกกันแห่งบริษัทของพระพุทธเจ้า

“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดามีบริษัทไม่แตกแต่กล่าวอีกว่า พระเทวทัตทำให้ภิกษุ ๕๐๐ แตกออกจากพระพุทธเจ้าได้ด้วยการกระทำเพียงครั้งเดียว ถ้าพระตถาคตเจ้ามีบริษัทไม่แตกจริง ข้อที่ว่าพระเทวทัตทำให้ภิกษุ ๕๐๐ นั้นแตกก็ผิดไป ถ้าคำว่า พระเทวทัตทำลายภิกษุ ๕๐๐ ให้แตกนั้นถูก ข้อว่า พระตถาคตเจ้ามีบริษัทไม่แตกนั้นก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ยุ่งยากมาก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงกำลังญาณเถิด ”

พระนาคเสนถวายพระพรว่า “ มหาบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระพิชิตมารเป็นผู้มีบริษัทไม่แตกจริง พระเทวทัตก็ทำให้ภิกษุ ๕๐๐ แตกไปจริง เพราะเมื่อเหตุให้แตกมีอยู่ ความต้องแตกระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่ชายกับพี่หญิง พี่หญิงกับพี่ชาย สหายกับสหาย ก็ยังต้องแตกกัน ถึงเรือที่ขนานด้วยไม้ต่างๆ ก็ยังแตกด้วยถูกลูกคลื่นซัด ต้นไม้ที่มีรสหวาน เมื่อปะปนกับสิ่งที่มีรสขม ก็ยังมีรสแปรไป ทองคำหรือเงินปนทองแดงก็ยังเปลี่ยนสีไปได้ ก็แต่ว่าความแตกอย่างนั้น ไม่ใช่ความประสงค์ของผู้รู้ทั้งหลาย ไม่ใช่พระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่ความพอใจของบัณฑิตทั้งหลายว่า พระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีบริษัทแตก

ข้อที่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีบริษัทไม่แตกนั้นมีอยู่ คือพระตถาคตเจ้าเป็นผู้มีบริษัทไม่แตกด้วยกระทำ หรือด้วยการถือเอา หรือด้วยการกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก หรือด้วยการช่วยเหลือ หรือด้วยการวางตนสมควรของพระพุทธเจ้าเอง ขอถวายพระพร ความข้อนี้มีปรากฏอยู่ในพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙ หรือไม่ว่าบริษัทของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แตกไป ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงกระทำไว้ ในเวลายังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ? ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสยอมรับว่า “ ไม่มีเลยพระผู้เป็นเจ้า โยมไม่เคยได้ฟังเลยว่า บริษัทของพระตถาคตเจ้าได้แตกไปด้วยกรรมที่พระองค์กระทำไว้ ในเมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ โยมจึงขอรับว่าพระผู้เป็นเจ้าแก้ไขข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว ”

พระเจ้ากุสราช (ตอนจบ)


อานุภาพท้าวสักกเทวราช

ในขณะนั้นท้าวสักกเทวราชก็ทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์ทรงตกทุกข์ได้ยาก ไม่ได้ทรงพบเห็นอัครมเหสีถึง ๗ เดือนแล้ว เราควรจะช่วยพระองค์ได้สำเร็จพระราชประสงค์ ครั้งแล้วจึงทรงเนรมิตบุรุษขึ้น ๗ คนต่างอ้างว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ามัทราช นำพระราชสาส์นไปถวายกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครว่า “ บัดนี้พระนางประภาวดีทรงละทิ้งพระเจ้ากุสราชกลับมาแล้ว ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ ก็จงเสด็จออกมารับเอาพระนางไปเถิด ”

พระราชาทั้ง ๗ พระนครจึงพากันมาพร้อมด้วยบริวารใหญ่ เมื่อเสด็จถึงสาคลนครแล้ว ต่างองค์ก็ทรงไต่ถามซึ่งกันและกัน จนได้ทราบเหตุถึงกับทรงพิโรธ จึงพร้อมใจกันยกพลเข้าประชิดติดพระนครไว้และได้ส่งราชทูตเข้ากราบทูลพระเจ้ามัทราช พระบาทท้าวเธอทรงตระหนกตกพระทัยจึงรีบประชุมเสนาอำมาตย์มีพระราชดำรัสปรึกษา ฝ่ายเสนาอำมาตย์พากันกราบทูล ขอให้พระองค์โปรดส่งพระนางประภาวดีออกไปถวายกษัตริย์นั้นเสีย พระเจ้ามัทราชจึงตรัสว่า ถ้าเราส่งลูกสาวให้แก่กษัตริย์องค์หนึ่ง กษัตริย์ที่เหลืออีกจักกระทำการรบ เราไม่อาจจะยกลูกสาวของเราให้แก่กษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งได้ อีกประการหนึ่ง เราก็ได้ยกให้แก่พระเจ้ากุสราชแล้ว แต่นางได้หนีออกมาจากพระองค์เสีย เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้หนำใจ คือเราจะต้องตัดนางให้ออกเป็น ๗ ท่อน แล้วส่งไปให้พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ เมื่อตรัสดังนี้แล้วก็มีผู้นำความไปกราบทูลพระนางประภาวดี พอพระนางได้ทรงสดับเรื่องนี้ก็ทรงหวาดกลัวต่อความตายเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมด้วยพระกนิษฐา (น้องสาว) ทั้งหลายไปเฝ้าพระราชมารดา ทูลรำพึงรำพันต่างๆ นานา ทรงรำพันถึงพระเจ้ากุสราช ฝ่ายพระเจ้ามัทราชจึงตรัสสั่งให้เรียกนายเพชฌฆาตเข้ามา พระราชมารดาของพระนางประภาวดีจึงทรงเศร้าโศกเป็นอันมาก เมื่อได้ทรงทราบข่าวนี้จึงได้เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชา แล้วกราบทูลถามว่า “ พระองค์จะทรงฆ่าพระธิดาของหม่อมฉัน บั่นให้เป็นท่อนๆ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลายหรือเพคะ ? ”
พระราชาตรัสว่าจริงเพราะเรื่องยุ่งยากคราวนี้ได้เกิดเพราะลูกคนเดียว ถ้านางไม่ทิ้งพระเจ้ากุสราชมาก็จะไม่มีเรื่องยุ่งยากอย่างนี้

พระราชเทวีได้ทรงสดับดังนี้ จึงเสด็จกลับไปหาพระราชธิดาทรงรำพันว่า “ พระลูกน้อยเอ๋ย พระราชบิดาไม่ทรงกระทำตามคำขอร้องของแม่ ลูกจะต้องตายในวันนี้แล้ว ผู้ใดถ้าไม่ทำตามคำของบิดามารดาผู้มีเมตตาหาประโยชน์ในภายหน้าให้ ผู้นั้นจะได้รับโทษเหมือนตัวเจ้านี้ ถ้าเจ้ายังอยู่กับพระเจ้ากุสราชจนวันนี้ ก็จะมีพระราชโอรสสักหนึ่งองค์แล้ว ตัวเจ้ากับหมู่ญาติก็จะมีความสุขไม่ต้องได้รับทุกข์อย่างนี้ อันกรุงกุสาวดีนั้น สนุกสนานด้วยเสียงร้องรำทำเพลง ช้างม้าที่เป็นสัตว์พาหนะพากันคำรณกึกก้องอยู่เป็นนิตย์ นกต่างๆ ก็ส่งเสียงไพเราะจับใจอยู่ในพระราชวังของพระเจ้ากุสราช ลูกคิดอย่างไรจึงได้กลับมาเสีย ถ้าพระเจ้ากุสราชประทับอยู่ในที่นี้ ก็จักเสด็จออกต่อตีกับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้นให้แตกไปโดยเร็ว บัดนี้ พระเจ้ากุสราชผู้สามารถปราบอริราชศัตรูให้พ่ายแพ้นั้น เสด็จอยู่ที่ไหนหนอ... ”

ฝ่ายพระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า ถ้าจะปล่อยให้พระมารดารำพันถึงพระเจ้ากุสราชอยู่อย่างนี้ เห็นที่จะไม่รู้จบ ควรที่เราจะกราบทูลให้ทรงทราบ ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลขึ้นว่า “ พระเจ้ากุสราชซึ่งทรงสามารถปราบอริราชศัตรูให้พ่ายแพ้ และแก้ไขให้พวกเราได้พ้นทุกข์ ได้เสด็จอยู่ที่นี่แล้วเพค่ะ ”
พระมารดาจึงทรงดำริว่า ลูกของเราเห็นจะกลัวตายเกินไปจึงพูดเพ้อไปได้เช่นนี้ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “ เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือไร จึงได้พูดอย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชเสด็จอยู่ในที่นี้จริงทำไมมารดาจึงไม่ทราบเล่า ”

พระโพธิสัตว์ทรงแสดงพระองค์

เมื่อพระนางประภาวดีทรงเห็นว่า พระราชชนนีไม่ทรงเชื่อถือถ้อยคำนี้ พระนางจึงจับพระหัตถ์ของพระราชชนนี เสด็จไปที่ช่องพระแกลแล้วชี้ให้พระมารดาดูว่า “ นั่นแน่ะ... พระเจ้ากุสราชซึ่งทรงปลอมพระองค์เป็นพ่อครัว นุ่งผ้าหยักรั้งกำลังล้างภาชนะอยู่ในตำหนักของพวกน้องๆ นั้น ”

กล่าวคือ เวลานั้นพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ความประสงค์ของเราจะสำเร็จในวันนี้แล้ว เพราะเมื่อพระนางประภาวดีมีความกลัวตาย ก็จะทราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบว่าเราได้มาอยู่ที่นี้แล้ว เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงทรงจัดแจงล้างถ้วยล้างชามวุ่นอยู่ในเวลานั้น ฝ่ายพระราชชนนีจึงตรัสขึ้นว่า “ เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าเลวทรามหรือจึงมีสามีเป็นทาสเช่นนี้ ไม่สมกับที่เจ้าเกิดในตระกูลกษัตริย์มัทราชเลย”
พระนางประภาวดีจึงสนองพระวาทีว่า “ หม่อมฉันหาได้เป็นภรรยาทาสไม่ นั่นคือพระเจ้ากุสราชผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราชโดยแท้ แต่พระมารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาสไปเอง พระเจ้ากุสราชนั้น เมื่อพระองค์ยังทรงประทับอยู่ในพระนครของพระองค์ ได้พระราชทานอาหารเลี้ยงพราหมณ์วันละ ๒ หมื่นอยู่เป็นนิตย์ พวกพนักงานกรมช้าง กรมม้า กรมรถ ได้พากันจัดช้าง ม้า และรถไว้อย่างละหมื่นๆ เพื่อใช้ในราชกิจได้ทันท่วงทีอยู่เป็นนิตย์ พวกพนักงานรีดนมโค ก็ได้รีดนมจากแม่โควันละ ๒ หมื่นตัว ไปถวายทุกวันมิได้ขาด ผู้นี้แหละ คือพระเจ้ากุสราชที่สมบูรณ์ด้วยพระราชพาหนะพลโยธาหาญ ทรัพย์ศฤรคาร ดังที่หม่อมฉันกราบทูลถวายแล้วนี้ ”

เมื่อพระราชชนีได้ทรงฟังพระนางกราบทูล โดยท่าทางมิได้สะทกสะท้านก็เชื่อว่าเป็นจริง จึงเสด็จไปเฝ้าพระเจ้ามัทราชกราบทูลให้ทรงทราบตามคำบอกเล่านั้น พระเจ้ามัทราชจึงรีบเสด็จไปยังตำหนักพระนางประภาวดี ทรงตรัสถามจนทราบความนี้แล้ว แต่พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อถือ จึงได้ตรัสถามนางขุชชา ได้ความว่าจริงตามถ้อยคำของพระราชธิดาแล้วตวาดพระนางว่า “ ดูก่อนเจ้าผู้เป็นพาล เหตุไรจึงไม่บอกพ่อให้ทราบเสียแต่ต้น ปล่อยให้พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐปลอมเป็นคนครัวเช่นนี้เล่า... ”

ครั้งตวาดพระราชธิดาอย่างนี้แล้ว จึงรีบเสด็จไปขอโทษพระบรมโพธิสัตว์ว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐในพื้นปฐพี ขอพระองค์จงทรงกรุณาอดโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด ที่ไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ เพราะเหตุที่พระองค์ทรงปกปิดเสีย ”
ฝ่ายพระโพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจะตัดพ้อต่อว่าขึ้น พระเจ้ามัทราชก็จะสะดุ้งกลัวจนถึงกับความตาย ควรเจ้าจะโลมเล้าเอาพระทัยท้าวเธอไว้ เมื่อทรงดำริดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “ หม่อมฉันไม่ได้ปกปิดตัวเลย หม่อมฉันได้เข้ารับเป็นพนักงานเครื่องต้น ขอพระองค์อย่าทรงเสียพระทัยเลย ความผิดจะได้มีแก่พระองค์ก็หามิได้ ”

พระนางประภาวดีทรงขอขมาโทษ

ครั้งพระเจ้ามัทราชได้ทรงสดับดังนี้แล้วจึงเสด็จกลับมาสู่ปราสาท ตรัสสั่งพระนางประภาวดีให้ไปขอขมาโทษต่อพระเจ้ากุสราช พระนางได้ทรงสดับพระราชโองการก็ไม่รู้จะทำประการใด จึงพร้อมด้วยพระราชกุมารีผู้เป็นน้องๆ กับเหล่าสนมเข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์โดยความจำเป็น ในเวลานั้นพระโพธิสัตว์กำลังทำงานหน้าที่พ่อครัวอยู่ เมื่อพระองค์ทรงเห็นพระนางประภาวดีเสด็จมา จึงทรงพระดำริว่าวันนี้เราจักทำลายทิฏฐิมานะของพระนางให้หมอบลงติดกับโคลนข้างเท้าของเรานี้ให้ได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงทรงเทน้ำมันที่พระองค์ตักมาทั้งสิ้นลงไปในดิน แล้วเหยียบให้เป็นโคลนกว้างเท่าลานนวดข้าว พอพระนางเสด็จมาถึง จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์ แล้วทูลขอโทษว่า “ ข้าแต่ใต้ฝ่าพระบาท หม่อมฉันขอน้อมเกล้าลงถวายบังคมพระบาทของพระองค์ทั้งคู่ โทษที่หม่อมฉันได้เกลียดชังพระองค์ตลอดกาลนานแล้วนี้ ขอพระองค์ได้ทรงอดโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด นับแต่วันนี้ไปหม่อมฉันจะไม่เกลียดชังพระองค์อีกแล้ว ถ้าพระองค์ไม่ทรงพระกรุณาแก่หม่อมฉันในเวลานี้แล้ว หม่อมฉันก็จักไม่แคล้วจากความตาย ขอพระองค์จงทรงโปรดแก่หม่อมฉัน ให้พ้นจากอันตรายครั้งนี้ด้วยเถิดเพคะ ”

หน่อพระบรมพงษ์โพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า ถ้าเราจักไม่โต้ตอบ หรือจักตวาดให้แก่พระนางในเวลานี้ เธอก็จักต้องขาดใจตายเป็นแน่นอน ครั้งทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสปลอบพระทัยว่า “ เมื่อน้องอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จักไม่ทำตามคำของน้องเล่า พี่ไม่โกรธไม่เกลียดชังน้องอีกต่อไป ความจริงพี่สามารถทำลายตระกูลกษัตริย์มัทราช แล้วนำน้องไปได้ แต่เพราะความรักต่อน้อง พี่จึงสู้ยอมทนทุกข์มากมายเช่นนี้.... ”

พระบาทท้าวเธอทรงตรัสอย่างนี้แล้วทรงรับอาสาออกต่อสู้กับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้น แล้วเสด็จเป็นจอมทัพออกไปต่อสู้กับข้าศึก จึงตรัสประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า ตัวเรานี้แหละคือพระเจ้ากุสราช ใครยังรักชีวิตก็จงอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์โดยเร็วพลัน ครั้งกษัตริย์ ๗ พระนครพร้อมทั้งพลโยธาหาญได้สดับพระราชโองการดังนี้ต่างก็มีความสยดสยองทิ้งกองทัพหนีไปด้วยอำนาจพระบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ 

พระโพธิสัตว์ทรงงดงามทั้งกายและใจ

ฝ่ายท้าวสักกเทวราชได้ทรงเห็นว่าพระโพธิสัตว์มีชัยชนะแก่ข้าศึกแล้ว จึงพระราชทานแก้วมณีดวงหนึ่งให้แก่พระโพธิสัตว์ พระองค์จึงยกทัพกลับเข้าสู่พระนคร แล้วกราบทูลพระเจ้ามัทราชว่า ควรยกพระราชธิดาอีก ๗ พระองค์ ให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครนั้น จึงจะเป็นการสมควร เมื่อพระเจ้ามัทราชทรงอนุญาตแล้วพระเจ้ากุสราชจึงจัดการราชาภิเษกพระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ กับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครแล้วก็ส่งกลับพระนคร ส่วนพระเจ้ากุสราชได้ทรงรับแก้วมณีจากท้าวโกสีย์แล้ว ก็ทรงส่องแก้วมณีนั้นตามเทวบัญชา พอทรงส่องแก้วมณีต้องพระพักตร์และทรงพระกายทั้งสิ้น ก็มีพระพักตร์และพระกายทั้งสิ้นสุกใสเปล่งปลั่งขึ้นดังประหนึ่งแท่งทองชมพูนุทฉะนั้น นับแต่วันนั้นไปพระองค์ก็มีพระรูปพระโฉมอันงดงามล้ำเลิศ ด้วยอานุภาพของแก้วมณีดวงนั้น ทำให้พระนางประภาวดีทรงมีพระเสน่หาอาลัยอย่างสุดซึ้ง

พระโพธิสัตว์จึงพาพระอัครมเหสีถวายบังคมลาพระราชบิดามารดา แล้วเสด็จกลับสู่กรุงกุสาวดี พร้อมด้วยพลโยธาแห่แหนแน่นขนัด ทั้งสองพระองค์นั้นประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้ากรุงกุสาวดีมีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์ และพระชยัมบดีราชกุมารผู้เป็นพระอนุชาได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร ในกาลนั้นพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดีให้รุ่งเรืองตลอดกาลสวรรคต

ครั้งสมเด็จพระทศพลโปรดประทานเทศนาชาดกนี้จบลงแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ สืบต่อไป โปรดให้ภิกษุผู้เป็นต้นเหตุแห่งพระธรรมเทศนานี้ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระชนกชนนีของพระเจ้ากุสราชนั้นได้มาเกิดเป็นพระชนกชนนีของเราตถาคตนี้ ชยัมบดีราชกุมาร ได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ นางขุชชา ได้มาเกิดเป็นนางขุชชุตตรา พระนางประภาวดี ได้มาเกิดเป็นมารดาพระราหุล บริวารเหล่านั้นได้มาเกิดเป็นบริวารของเราตถาคต ส่วนพระเจ้ากุสราช คือเราตถาคตในบัดนี้แล

จบ กุสชาดก แต่เพียงนี้


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น