Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๒-๘ หน้า ๔๓๐ - ๔๙๐

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๘ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๓.สโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๘๓] ๑. ภิกษุนั่งในเรือนใหญ่ห่างจากบานประตูไม่เกินหัตถบาส
๒. ภิกษุนั่งในเรือนเล็กไม่ล้ำตรงกลางห้องนอน
๓. ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย
๔. ภิกษุนั่งในเรือนที่คนทั้งสองออกไปแล้ว
๕. ภิกษุนั่งในเรือนที่คนทั้งสองสร่างจากราคะ
๖. ภิกษุนั่งในที่ไม่ใช่ห้องนอน
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
สโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๔. รโหปฏิจฉันนสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับมีสิ่งกำบัง
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของสหาย
ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับภรรยาของกระผมเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม
โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งบนอาสนะที่
กำบังในที่ลับกับมาตุคาม จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึง
นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคามเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๘๕] ก็ ภิกษุใดนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับมาตุคาม ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๘๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หญิงมนุษย์นั้นโดยที่สุดกระทั่งเด็กหญิงซึ่งเกิดในวันนั้น หญิง
โตกว่านี้ไม่ต้องกล่าวถึง
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะ
ขึ้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถแลเห็นได้
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม
ปกติได้
อาสนะที่ชื่อว่า ที่กำบัง คือ อาสนะที่กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน
ม่าน ต้นไม้ เสา หรือพ้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๔.รโหปฏิจฉันนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๘๗] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม นั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์
ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ผู้หญิง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๘๘] ๑. ภิกษุนั่งในที่ที่มีบุรุษรู้เดียงสาคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง
๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งให้เป็นที่ลับ
๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
รโหปฏิจฉันนสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๕. รโหนิสัชชสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป
เรือนของสหายแล้วได้นั่งในที่ลับกับภรรยาของสหายนั้นสองต่อสอง
ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท
ศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับภรรยาของกระผมสองต่อสองเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม
โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสองเล่า” ครั้นภิกษุ
ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งในที่ลับกับ
มาตุคามสองต่อสอง จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งในที่ลับกับ
มาตุคามสองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๒๙๐] ก็ ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๙๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต
คำหยาบและคำสุภาพ
คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน
คำว่า สองต่อสอง ได้แก่ ภิกษุกับมาตุคาม
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะ
ขึ้น ใคร ๆ ก็ไม่สามารถเห็นได้
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม
ปกติได้
คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้
ต้อง อาบัติปาจิตตีย์
เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๕.รโหนิสัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๙๒] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุนั่งในที่ลับกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานมีกาย
เป็นมนุษย์ผู้หญิงสองต่อสอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๒๙๓] ๑. ภิกษุนั่งในที่ที่มีบุรุษรู้เดียงสาคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน
๒. ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง
๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ
๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
รโหนิสัชชสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๖. จาริตตสิกขาบท
ว่าด้วยการเที่ยวสัญจรไป
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันท
ศากยบุตรนิมนต์ท่านฉันภัตตาหาร แม้ภิกษุเหล่าอื่นตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระ
อุปนันทศากยบุตรก็ได้นิมนต์ฉันภัตตาหาร ครั้งนั้น ก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหาร ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูลทั้งหลาย
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด”
พวกทายกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมาเถิด”
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด”
พวกทายกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมา”
พอครั้งที่ ๓ ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกับทายกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย
พวกท่านจงถวายภัตตาหารเถิด ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไปเสีย”
พวกทายกตอบว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พวกโยมจัดภัตตาหารเพราะเหตุแห่ง
พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรอจนกว่าพระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรจะมาเถิด”
ครั้นท่านพระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลา
ฉันภัตตาหารแล้วกลับใกล้เวลาฉัน ภิกษุทั้งหลายจึงฉันภัตตาหารไม่ได้สมใจ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระบัญญัติ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารแล้ว จึงยังเที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหารเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระ
อุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอรับนิมนต์ไว้แล้ว มี
ภัตตาหารแล้ว ยังเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหาร จริง
หรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารแล้ว ยัง
เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนถึงเวลาฉันภัตตาหารเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว๑ เที่ยวสัญจรไปในตระกูล
ทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
[๒๙๕] สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตรส่งของ
เคี้ยวไปถวายสงฆ์ด้วยสั่งว่า “ขอมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้ถวาย
สงฆ์” ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พอดีพวก
ชาวบ้านไปถึงอารามถามภิกษุทั้งหลายว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้า
อุปนันทศากยบุตรไปไหน”

เชิงอรรถ :
๑ คือที่ทายกจัดเตรียมไว้ถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อุบาสกทั้งหลาย ท่านพระอุปนันทะไปบิณฑบาตใน
หมู่บ้าน”
พวกชาวบ้านเรียนว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ของเคี้ยวนี้มอบให้พระคุณเจ้า
อุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงรับประเคนแล้วเก็บไว้จนกว่าอุปนันทะ
จะกลับมา”
ฝ่ายท่านพระอุปนันทศากยบุตรคิดว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการเที่ยว
สัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร” จึงเข้าไปเยี่ยมเยียนตระกูล
ทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหาร กลับออกมาเวลาบ่าย ของฉันถูกส่งคืน
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจึงเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาภัตตาหาร
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอเที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหาร จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงเที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายภายหลังเวลาฉันภัตตาหารเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๓๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
ทรงอนุญาตให้เข้าตระกูลได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๙๖] สมัยนั้น พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย
ในสมัยที่ถวายจีวรจึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่อง
นี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เข้าไปหา
ตระกูลทั้งหลายได้ในสมัยที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้เข้าตระกูลได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๙๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเย็บจีวรอยู่ต้องการเข็มบ้าง ด้ายบ้าง
มีดบ้าง แต่มีความยำเกรงอยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้เข้าไปหาตระกูลทั้งหลายได้ในสมัยที่ทำจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว เที่ยวสัญจรไปใน
ตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็น
สมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้บอกลาก่อนเข้าตระกูล
[๒๙๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ต้องการเภสัช แต่มีความยำเกรง
อยู่จึงไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้
เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกลา
ภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปในตระกูลทั้งหลายได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขา
บทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดรับนิมนต์ไว้แล้ว มีภัตตาหารอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่
เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหาร หรือหลังเวลาฉัน
ภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่ถวายจีวร
สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๐] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รับนิมนต์ไว้แล้ว คือ ภิกษุรับนิมนต์ฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง
ที่ชื่อว่า มีภัตตาหารอยู่แล้ว คือ ภิกษุมีอาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า ภิกษุมีอยู่ คือ ภิกษุที่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ภิกษุไม่มีอยู่ คือ ภิกษุที่ไม่อาจบอกลาก่อนเข้าบ้านได้
ที่ชื่อว่า ก่อนเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้
ที่ชื่อว่า หลังเวลาฉันภัตตาหาร คือ ภิกษุฉันภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ โดย
ที่สุดฉันด้วยใช้ปลายหญ้าคาแตะ
ที่ชื่อว่า ตระกูล หมายถึง ตระกูล ๔ ได้แก่ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์
ตระกูลแพศย์ และตระกูลศูทร
คำว่า เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลาย ความว่า ภิกษุก้าวเข้าอุปจารเรือน
ของผู้อื่น ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้าที่ ๑ ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฏ ก้าวเท้า
ที่ ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนท้าย
แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๐๑] รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์ไว้แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่
มีอยู่ เที่ยวสัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉัน
ภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ เที่ยวสัญจรไปในตระกูล
ทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอกสมัย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
รับนิมนต์ไว้แล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ เที่ยว
สัญจรไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉันภัตตาหารหรือหลังเวลาฉันภัตตาหาร นอก
สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุสำคัญว่ารับนิมนต์ไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๐๒] ๑. ภิกษุฉันในสมัย
๒. ภิกษุบอกลาภิกษุที่มีอยู่แล้วจึงเข้าไป
๓. ภิกษุไม่บอกลาภิกษุที่ไม่มีอยู่เข้าไป
๔. ภิกษุเดินไปตามทางที่ผ่านเรือนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๖.จาริตตสิกขาบท อนาปัตติวาร
๕. ภิกษุเดินไปตามทางที่ผ่านใกล้เรือน
๖. ภิกษุไปอารามอื่น
๗. ภิกษุไปสำนักภิกษุณี
๘. ภิกษุไปสำนักเดียรถีย์
๙. ภิกษุไปโรงฉัน
๑๐. ภิกษุไปเรือนที่เขานิมนต์
๑๑. ภิกษุไปในคราวมีเหตุขัดข้อง
๑๒. ภิกษุวิกลจริต
๑๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
จาริตตสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๗. มหานามสิกขาบท
ว่าด้วยพระเจ้ามหานามศากยะ
เรื่องพระเจ้ามหานามศากยะ
[๓๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขต
กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยะมีเภสัชเหลือเฟือ ลำดับ
นั้น พระเจ้ามหานามศากยะจึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานามศากยะผู้นั่ง
ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์จะปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชตลอด ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชตลอด ๔ เดือนเถิด”
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยตลอด ๔ เดือน”
[๓๐๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายออกปากขอเภสัชกะพระเจ้ามหานามศากยะ
เพียงเล็กน้อย เภสัชของพระเจ้ามหานามศากยะก็ยังมีเหลือเฟืออยู่เหมือนเดิม
แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้ามหานามศากยะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานาม
ศากยะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์
จะปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัชต่อไปอีก ๔ เดือน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงปวารณา
สงฆ์ด้วยเภสัชต่อไปอีก ๔ เดือนเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาต่อไปอีก”
[๓๐๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายออกปากขอเภสัชกะพระเจ้ามหานามศากยะ
เพียงเล็กน้อย เภสัชของพระเจ้ามหานามศากยะก็ยังมีเหลือเฟืออยู่เหมือนเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้ามหานามศากยะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้ามหานาม
ศากยะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “หม่อมฉันประสงค์
จะปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัชตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาธุ สาธุ มหานามะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงปวารณาสงฆ์
ด้วยเภสัชตลอดชีวิตเถิด”
พวกภิกษุมีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับปวารณา ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ยินดีการปวารณาเป็นนิตย์”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย อากัปกิริยาไม่
เรียบร้อย พระเจ้ามหานามศากยะจึงว่ากล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ทำไมพวก
ท่านจึงนุ่งไม่เรียบร้อย ห่มไม่เรียบร้อย อากัปกิริยาไม่เรียบร้อยเล่า ธรรมเนียม
บรรพชิตต้องนุ่งให้เรียบร้อย ห่มให้เรียบร้อย และมีอากัปกิริยาเรียบร้อย มิใช่หรือ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แค้นเคืองพระเจ้ามหานามศากยะ ทีนั้น พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พวกเราจะทำให้พระเจ้ามหานามศากยะได้รับความ
เก้อเขินด้วยวิธีไหน” จึงปรึกษากันว่า “ท่านทั้งหลาย พระเจ้ามหานามศากยะ
ปวารณาสงฆ์ด้วยเภสัช พวกเราจะไปออกปากขอเนยใสกะพระเจ้ามหานามศากยะ”
ลำดับนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้เข้าไปหาพระเจ้ามหานามศากยะถึงพระตำหนัก
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระเจ้ามหานามศากยะดังนี้ว่า “โยม พวกอาตมาต้องการ
เนยใส ๑ ทะนาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท นิทานวัตถุ
พระเจ้ามหานามศากยะรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรด
รอก่อน พวกคนงานกำลังไปที่คอกเพื่อจะนำเนยใสมา พวกเขาจะนำมาให้ทันเวลา”
แม้ในครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ในครั้งที่ ๓ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ได้กล่าวกับพระเจ้ามหานามศากยะดังนี้ว่า
“โยม พวกอาตมาต้องการเนยใส ๑ ทะนาน”
พระเจ้ามหานามศากยะรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรด
รอก่อน พวกคนงานกำลังไปที่คอกเพื่อจะนำเนยใสมา พวกเขาจะนำมาให้ทันเวลา”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “โยม ท่านไม่ต้องการถวายแล้วปวารณาจะมี
ประโยชน์อะไร ปวารณาแล้วไม่ถวาย”
ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยะได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระ
คุณเจ้าทั้งหลาย ไฉนเมื่อข้าพเจ้าขอร้องว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้า
โปรดรอก่อน จึงรอไม่ได้เล่า”
พวกภิกษุได้ยินพระเจ้ามหานามศากยะตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระเจ้ามหานามศากยะ
ขอร้องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน
ไฉนจึงรอไม่ได้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ
แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พระเจ้ามหานามะขอร้อง
พวกเธอว่า ‘พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้ พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน’ แล้วรอไม่ได้ จริง
หรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอเมื่อพระเจ้ามหานามศากยะ
ขอร้องว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย วันนี้พระคุณเจ้าโปรดรอก่อน ก็รอไม่ได้เล่า โมฆบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๐๖] ภิกษุไม่เป็นไข้ พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน
เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้ายินดีเกินกว่ากำหนดนั้น
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระเจ้ามหานามศากยะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๗] คำว่า ภิกษุไม่เป็นไข้พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔
เดือน ความว่า พึงยินดีการปวารณาเพียงคิลานปัจจัย
แม้เขาปวารณาอีก พึงยินดีว่า เราจะออกปากขอในเวลาที่เราเจ็บไข้
แม้เขาปวารณาไว้เป็นนิตย์ พึงยินดีว่า เราจะออกปากขอในเวลาที่เราเจ็บไข้
คำว่า ถ้ายินดีเกินกว่ากำหนดนั้น ความว่า การปวารณากำหนดเภสัชไม่
กำหนดราตรีก็มี การปวารณากำหนดราตรีไม่กำหนดเภสัชก็มี การปวารณากำหนด
ทั้งเภสัชทั้งราตรีก็มี การปวารณาไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดราตรีก็มี
ที่ชื่อว่า กำหนดเภสัช คือ เขากำหนดเภสัชไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาด้วยเภสัช
เพียงเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดราตรี คือ เขากำหนดราตรีไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาในราตรี
เพียงเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดทั้งเภสัชกำหนดทั้งราตรี คือ เขากำหนดเภสัชและกำหนด
ราตรีไว้ว่า ข้าพเจ้าปวารณาด้วยเภสัชเท่านี้ในราตรีเพียงเท่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดเภสัชและไม่กำหนดราตรี คือ เขาไม่ได้กำหนดเภสัช
และไม่ได้กำหนดราตรีไว้
บทภาชนีย์
ปาจิตตีย์
[๓๐๘] ในการกำหนดเภสัช ภิกษุออกปากขอเภสัชอื่นนอกจากเภสัชที่เขา
ปวารณาไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดราตรี ภิกษุออกปากขอในราตรีอื่นนอกจากราตรีที่เขาปวารณา
ไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดทั้งเภสัชและกำหนดราตรี ภิกษุออกปากขอเภสัชอื่นนอก
จากเภสัชที่เขาปวารณาไว้ในราตรีอื่นนอกจากราตรีที่เขาปวารณาไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ในการไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดราตรี ไม่ต้องอาบัติ
[๓๐๙] เมื่อไม่มีความจำเป็นด้วยเภสัช ภิกษุออกปากขอเภสัช ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เมื่อมีความจำเป็นด้วยเภสัชอย่างหนึ่ง ภิกษุออกปากขอเภสัชอีกอย่างหนึ่ง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่ากำหนดนั้น ออกปากขอเภสัช ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ออกปากขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ออกปากขอเภสัช
ต้องอาบัติปาจิตตีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๗.มหานามสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ภิกษุสำคัญว่าไม่เกินกว่ากำหนดนั้น ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๑๐] ๑. ภิกษุออกปากขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้
๒. ภิกษุออกปากขอเภสัชในราตรีตามที่เขาปวารณาไว้
๓. ภิกษุออกปากขอเภสัชว่า ท่านปวารณาพวกอาตมาด้วยเภสัช
เหล่านี้และพวกอาตมาก็ต้องการเภสัชนี้และนี้
๔. ภิกษุออกปากขอเภสัชว่า ราตรีที่ท่านปวารณาผ่านไปแล้ว แต่
เรายังต้องการเภสัช
๕. ภิกษุออกปากขอเภสัชจากญาติ
๖. ภิกษุออกปากขอเภสัชจากคนปวารณา
๗. ภิกษุออกปากขอเภสัชเพื่อภิกษุอื่น
๘. ภิกษุออกปากขอเภสัชที่จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
มหานามสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๘. อุยยุตตเสนาสิกขาบท
ว่าด้วยกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกกองทัพ
ออกรบ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก็ออกไปเพื่อชมกองทัพที่กำลังเคลื่อนขบวนออกรบ
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กำลังเดินมาแต่ไกล
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งให้นิมนต์มา แล้วตรัสถามดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า
ทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกัน”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ถวายพระพรว่า “พวกอาตมาต้องการจะมาเยี่ยมมหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่มีประโยชน์ใดเลยที่
ท่านมาเยี่ยมโยมผู้ใฝ่ในการรบ พวกท่านควรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคมิใช่หรือ”
พวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงมาดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้
ไม่ดี ที่พวกเรามาอยู่ในกองทัพก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงไป
ดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไปดูกองทัพที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท พระบัญญัติ
เคลื่อนขบวนออกรบ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงไปดู
กองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๓๑๒] สมัยนั้น ลุงของภิกษุรูปหนึ่งป่วยอยู่ในกองทัพ เขาส่งข่าวไปถึงภิกษุ
นั้นว่า “ลุงกำลังป่วยอยู่ในกองทัพ นิมนต์ท่านมา ลุงปรารถนาให้ท่านมาเยี่ยม”
ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่
พึงไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ นี่ลุงของเราป่วยอยู่ในกองทัพ เราจะพึง
ปฏิบัติอย่างไรดีเล่า ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ
ทรงอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุผลที่สมควร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุผลเช่น
นั้น” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท บทภาชนีย์
พระอนุบัญญัติ
[๓๑๓] อนึ่ง ภิกษุใดไปดูกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ นอกจากมีเหตุผล
ที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๑๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า เคลื่อนขบวนออกรบ ได้แก่ กองทัพที่เคลื่อนออกจากหมู่บ้านแล้ว
ตั้งค่ายพักแรมหรือเคลื่อนขบวนต่อไป
ที่ชื่อว่า กองทัพ ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า
ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำอยู่ ๑๒ นาย ม้า ๑ ตัว มีทหารประจำอยู่ ๓
นาย รถ ๑ คัน มีทหารประจำอยู่ ๔ นาย พลเดินเท้ามีทหารแม่นธนู ๔ นาย
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่พยายามดูจนเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า นอกจากมีเหตุผลที่สมควร คือ ยกเว้นเมื่อมีเหตุผลที่สมควร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๑๕] กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่าเคลื่อนขบวนออกรบ ไป
เพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๘.อุยยุตตเสนาสิกขาบท อนาปัตติวาร
กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุไม่แน่ใจ ไปเพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่
สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
กองทัพเคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ไป
เพื่อจะดู นอกจากมีเหตุผลที่สมควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุอยู่พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่พยายามดูจนเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่าเคลื่อนขบวนออกรบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กองทัพยังไม่ได้เคลื่อนขบวนออกรบ ภิกษุสำคัญว่ายังไม่ได้เคลื่อนขบวนออก
รบ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๑๖] ๑. ภิกษุยืนดูอยู่ในอาราม
๒. ภิกษุดูกองทัพที่ยกผ่านมายังที่ที่ภิกษุยืน ที่ภิกษุนั่ง หรือที่ภิกษุ
นอน
๓. ภิกษุเดินสวนทางไปเห็น
๔. ภิกษุดูเมื่อมีเหตุผลที่สมควร
๕. ภิกษุดูเมื่อคราวมีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุยยุตตเสนาสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๙. เสนาวาสสิกขาบท
ว่าด้วยการพักอยู่ในกองทัพ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มีธุระต้องเดิน
ผ่านกองทัพ ได้พักแรมอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน พวกพลรบตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงพักแรมอยู่ในกองทัพเกิน
๓ คืนเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ไม่ดี ที่พวกเรามาพักแรมอยู่ใน
กองทัพก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา” ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวก
พลรบเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากัน
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงพักแรมอยู่ในกองทัพ
เกิน ๓ ราตรีเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอพักแรมอยู่ใน
กองทัพเกิน ๓ คืน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง
พักแรมอยู่ในกองทัพเกิน ๓ ราตรีเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๓๑๘] ก็ เมื่อภิกษุมีเหตุผลจำเป็นต้องไปในกองทัพ ภิกษุนั้นพึงพักแรม
อยู่ในกองทัพได้เพียง ๒-๓ คืน ถ้าพักแรมอยู่เกินกำหนดนั้น ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๑๙] คำว่า ก็ เมื่อภิกษุมีเหตุผลจำเป็นต้องไปในกองทัพ คือ มีเหตุผล
จำเป็น มีธุระจำเป็น
คำว่า ภิกษุนั้นพึงพักแรมอยู่ในกองทัพได้เพียง ๒-๓ คืน คือ ภิกษุอยู่ได้
๒ - ๓ คืน
คำว่า ถ้าพักแรมอยู่เกินกำหนดนั้น ความว่า เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงในวันที่ ๔
ภิกษุยังพักแรมอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๒๐] เกิน ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๓ คืน ภิกษุไม่แน่ใจ พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เกิน ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า พักอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่าเกิน ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
หย่อนกว่า ๓ คืน ภิกษุสำคัญว่ายังไม่เกิน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๙.เสนาวาสสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๑] ๑. ภิกษุพักอยู่ ๒-๓ คืน
๒. ภิกษุพักอยู่หย่อนกว่า ๒-๓ คืน
๓. ภิกษุพักอยู่ ๒ คืน แต่ออกไปก่อนอรุณของวันที่ ๓ แล้วกลับ
มาอยู่อีก
๔. ภิกษุเจ็บไข้พักอยู่
๕. ภิกษุอยู่ด้วยธุระของผู้เป็นไข้
๖. ภิกษุอยู่ในกองทัพที่ถูกข้าศึกล้อม
๗. ภิกษุถูกใครคนใดคนหนึ่งรบกวน
๘. ภิกษุพักอยู่ในคราวมีเหตุขัดข้อง
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
เสนาวาสสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๕. อเจลกวรรค
๑๐. อุยโยธิกสิกขาบท
ว่าด้วยการไปดูสนามรบ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์พักแรมอยู่ใน
กองทัพ ๒-๓ คืน ไปที่สนามรบบ้าง ที่พักพลบ้าง ที่จัดขบวนทัพบ้าง ไปดูกองทัพที่
จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง ภิกษุฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปที่สนามรบ ถูกยิงด้วยลูกศร
พวกชาวบ้านพากันเยาะเย้ยว่า “เป็นอย่างไรพระคุณเจ้า ท่านรบสนุกไหม
ท่านชนะได้กี่แต้ม”
ภิกษุนั้นถูกเยาะเย้ยจนเก้อเขิน
พวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงเที่ยวดูสนามรบเล่า ไม่ใช่เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ไม่ดี ที่พวก
เรามาสนามรบก็เพราะการครองชีพ เพราะต้องเลี้ยงดูบุตรภรรยา”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกพลรบตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้
มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง
ไปเที่ยวดูสนามรบเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอไปเที่ยวดูสนาม
รบ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงเที่ยวไปดูสนามรบเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๒๓] ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน เที่ยวไปในสนามรบก็ดี ที่
พักพลก็ดี ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๔] คำว่า ถ้าภิกษุพักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน คือ ภิกษุพักแรมอยู่
๒-๓ คืน
ที่ชื่อว่า สนามรบ ได้แก่ สถานที่รบซึ่งปรากฏอยู่
ที่ชื่อว่า ที่พักพล ได้แก่ กองช้างประมาณเท่านี้ กองม้าประมาณเท่านี้
กองรถประมาณเท่านี้ กองพลเดินเท้าประมาณเท่านี้
ที่ชื่อว่า ที่จัดขบวนทัพ ได้แก่ กองช้างจงอยู่ทางนี้ กองม้าจงอยู่ทางนี้
กองรถจงอยู่ทางนี้ กองพลเดินเท้าจงอยู่ทางนี้
ที่ชื่อว่า กองทัพ ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพล
เดินเท้า
กองทัพช้างมีช้าง ๓ เชือกเป็นอย่างน้อย กองทัพม้ามีม้า ๓ ตัวเป็นอย่างน้อย
กองทัพรถมีรถ ๓ คันเป็นอย่างน้อย กองทัพพลเดินเท้ามีทหารถือธนู ๔ นายเป็น
อย่างน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๕๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค ๑๐.อุยโยธิกสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
พ้นวิสัยจะเห็น แต่ภิกษุยังมองดูอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุยืนดูในระยะที่พอมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฏ
พ้นวิสัยที่จะเห็น แต่ภิกษุยังมองดูอีก ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๕] ๑. ภิกษุยืนดูอยู่ในอาราม
๒. ภิกษุดูการรบพุ่งที่ผ่านมายังที่ที่ภิกษุยืน ที่ภิกษุนั่ง หรือที่ภิกษุ
นอน
๓. ภิกษุเดินสวนทางไปพบ
๔. ภิกษุมีธุระเดินไปพบ
๕. ภิกษุดูในคราวมีเหตุขัดข้อง
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุยโยธิกสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
อเจลกวรรคที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๕.อเจลกวรรค รวมสิกขาบทที่มีในอเจลกวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในอเจลกวรรค
อเจลกวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. อเจลกสิกขาบท ว่าด้วยนักบวชเปลือย
๒. อุยโยชนสิกขาบท ว่าด้วยการส่งกลับ
๓. สโภชนสิกขาบท ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงในที่ที่มีคน ๒ คน
๔. รโหปฏิจฉันนสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับมีสิ่งกำบัง
๕. รโหนิสัชชสิกขาบท ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ
๖. จาริตตสิกขาบท ว่าด้วยการเที่ยวสัญจรไป
๗. มหานามสิกขาบท ว่าด้วยพระเจ้ามหานามศากยะ
๘. อุยยุตตเสนาสิกขาบท ว่าด้วยกองทัพที่เคลื่อนขบวนออกรบ
๙. เสนาวาสสิกขาบท ว่าด้วยการพักอยู่ในกองทัพ
๑๐. อุยโยธิกสิกขาบท ว่าด้วยการไปดูสนามรบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
หมวดว่าด้วยการดื่มสุรา
๑. สุราปานสิกขาบท
ว่าด้วยการดื่มสุราและเมรัย
เรื่องพระสาคตะ
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จจาริกอยู่ในแคว้นเจตีย์ เสด็จ
ไปทางหมู่บ้านภัททวดี พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคน
เดินทางได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะเลย
นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว๑ มีพิษกล้า อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ
นาคนั้นอย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพวกเขากราบทูลเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่ง แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้
ครั้งที่ ๓ พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา พวกคนเดินทางก็ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อย่าเสด็จไปที่ท่าอัมพติตถะ
เลย นาคมีฤทธิ์ มีพิษที่เขี้ยว อาศัยอยู่ที่อาศรมของชฎิล ที่ท่าอัมพติตถะ นาคนั้น
อย่าทำร้ายพระผู้มีพระภาคเลย”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงนิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงหมู่บ้านภัททวดี ประทับ
อยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อาสีวิโส มีพิษที่เขี้ยว หรือมีพิษแล่นเร็ว ท่านอธิบายไว้ดังนี้ อาสุ สีฆํ เอตสฺส วิสํ อาคจฺฉตีติ อาสีวิโส
พิษของนาคนั้นย่อมแล่นเร็ว คือด่วน ดังนี้ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษแล่นเร็ว (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๐), อาสีติ
ทาฐา วุจฺจติ, ตตฺถ สนฺนิหิตวิโสติ อาสีวิโส อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อาสิ ท่านหมายถึงเขี้ยว ที่เขี้ยว
นั้นมีพิษฝังอยู่ จึงชื่อว่าอาสีวิสะ มีพิษที่เขี้ยว (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๙/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น ท่านพระสาคตะเดินเข้าไปที่ท่าอัมพติตถะจนถึงอาศรมของชฎิล
ครั้นถึงแล้วได้เข้าไปในโรงบูชาไฟ ปูเครื่องลาดหญ้าแล้วจึงนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
พอนาคนั้นเห็นท่านพระสาคตะเข้ามาแล้ว ก็เป็นทุกข์ เสียใจ จึงทำให้ควัน
ตลบขึ้น
แม้ท่านพระสาคตะก็ทำให้ควันตลบขึ้นบ้าง นาคนั้นทนการลบหลู่ไม่ได้
จึงพ่นไฟสู้ แม้ท่านพระสาคตะก็เข้าเตโชกสิณพ่นไฟสู้บ้าง ทีนั้น ท่านพระสาคตะ
ครั้นปราบเดชของนาคนั้นได้แล้ว จึงเดินไปทางหมู่บ้านภัททวดี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านภัททวดีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงโกสัมพี พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีทราบข่าวว่า
พระสาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่าอัมพติตถะ
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงโกสัมพี ทีนั้น พวก
อุบาสกและอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีพากันรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหา
ท่านพระสาคตะ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีผู้
ยืนอยู่ ณที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สิ่งที่หาได้ยาก
และเป็นที่ชอบใจของพระคุณท่านมีอะไรบ้าง พวกข้าพเจ้าจะจัดเตรียมอะไร ”
เมื่ออุบาสกอุบาสิกากล่าวอย่างนี้ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กล่าวกับพวกอุบาสก
อุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีดังนี้ว่า “มีอยู่ท่านทั้งหลาย หัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ๑หายาก
เป็นที่ชอบใจของภิกษุทั้งหลาย พวกท่านจงจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะนั้นไว้”

เชิงอรรถ :
๑ กาโปติกาติ กโปตปาทสมวณฺณรตฺโตภาสา. ปสนฺนาติ สุรามณฺฑสฺเสตํ อธิวจนํ แปลสรุปความได้ว่า
หัวเชื้อสุราที่มีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ (วิ.อ. ๒/๓๒๖/๔๐๔)
คำว่า ปสนฺน หัวเชื้อสุรา ในที่นี้มิได้หมายถึงนํ้าใส แต่หมายถึงนํ้าหัว (ตสฺสาเยวกิณฺ-
ปกฺขิตฺตาย มณฺเฑ คหิเต เมื่อใส่หัวเชื้อในสุรานั้นแล้ว จนจับตัวเป็นฝา - วิ.อ. ๒/๓๒๘/๔๐๕) รสานํ
สพฺพรสานํ อคฺคมฺหิ รเส มณฺฑสทฺโท มัณฑศัพท์ หมายถึงนํ้าที่สุดยอดกว่านํ้าทั้งหมด (ดู อภิธา.
และ อภิธา.ฏีกา คาถา ๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท นิทานวัตถุ
ครั้งนั้น พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวกรุงโกสัมพีจัดเตรียมหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะ
ไว้ทุกครัวเรือน พอเห็นท่านพระสาคตะเดินบิณฑบาตจึงได้กล่าวกับท่านพระสาคตะ
ดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด
พระคุณเจ้า ขอนิมนต์พระคุณเจ้าสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะเถิด”
ครั้นท่านพระสาคตะดื่มหัวเชื้อสุราชื่อกาโปติกะทุก ๆ ครัวเรือนแล้วออกจากเมือง
ได้ล้มกลิ้งที่ประตูเมือง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกมาพร้อมภิกษุหลายรูป
ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสาคตะนอนกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง ครั้นเห็นแล้วจึงรับสั่ง
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพาสาคตะไป”
ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ช่วยกันนำท่านพระสาคตะไปที่
อาราม ให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาค แต่ท่านพระสาคตะพลิกกลับนอน
หันเท้าไปทางพระผู้มีพระภาค
ทีนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ก่อนนี้
สาคตะเคยมีความเคารพยำเกรงตถาคตมิใช่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะยังมีความเคารพ
ยำเกรงตถาคตอยู่อีกหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาคตะต่อสู้กับนาคที่ท่า
อัมพติตถะ มิใช่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้สาคตะพอจะต่อสู้แม้กับ
งูนํ้าได้ละหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “สู้ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “น้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ความจำได้หมายรู้
วิปริตไปนั้น ควรจะดื่มหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท บทภาชนีย์
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ควรดื่มเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของสาคตะนั้นไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนสาคตะจึง
ดื่มนํ้าเมาเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๒๗] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย
เรื่องพระสาคตะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๒๘] ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำจากแป้ง สุราที่ทำจากขนม สุราที่ทำ
จากข้าวสุก สุราหมักแป้งเชื้อเหล้า สุราที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด
ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำหมักดองดอกไม้ น้ำหมักดองผลไม้ น้ำหมักดอง
น้ำผึ้ง น้ำหมักดองนํ้าอ้อยงบ น้ำหมักดองที่ผสมเครื่องปรุงหลายชนิด
คำว่า ดื่ม คือ ภิกษุดื่ม โดยที่สุดแม้ดื่มด้วยปลายหญ้าคาแตะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๑.สุราปานสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าเป็นน้ำเมา ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๒๙] ๑. ภิกษุดื่มยาดองที่มีสี กลิ่น รส เหมือนน้ำเมาแต่ไม่ใช่น้ำเมา
๒. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในแกง
๓. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในเนื้อ
๔. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือในน้ำมัน
๕. ภิกษุดื่มน้ำเมาเจือน้ำอ้อยดองมะขามป้อม
๖. ภิกษุดื่มยาดองอริฏฐะ๑ซึ่งไม่ใช่นํ้าเมา
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
สุราปานสิกขาบทที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ยาดองอริฏฐะ นั้นดองด้วยนํ้ามะขามป้อมเป็นต้น สี กลิ่น และรสคล้ายนํ้าเมา แต่ไม่ใช่นํ้าเมา (วิ.อ.๒/
๓๒๙/๔๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๒. อังคุลิปโตทกสิกขาบท
ว่าด้วยการใช้นิ้วมือจี้กันและกัน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๓๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้นิ้วมือจี้
ภิกษุรูปหนึ่งในกลุ่มภิกษุสัตตรสวัคคีย์ให้หัวเราะ ภิกษุนั้นหัวเราะจนเหนื่อย หายใจ
ไม่ทันถึงแก่มรณภาพ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงใช้นิ้วมือจี้ภิกษุให้หัวเราะเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอใช้นิ้วมือจี้
ภิกษุให้หัวเราะ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงใช้นิ้วมือ
จี้ภิกษุให้หัวเราะเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง
ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๓๑] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะใช้นิ้วมือจี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๓๒] ที่ชื่อว่า ใช้นิ้วมือจี้ คือ ภิกษุจี้ด้วยนิ้วมือ
อุปสัมบันประสงค์จะให้อุปสัมบันหัวเราะ ใช้กายจับต้องกาย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุใช้กายจับต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
[๓๓๓] ภิกษุใช้กายจับต้องกายอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้กายจับต้องของเนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๒.อังคุลิปโตทกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุใช้ของที่เนื่องด้วยกายถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่เนื่องด้วยกาย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุใช้ของโยนไปถูกต้องของที่โยนมา ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๓๔] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ จับต้องกายเมื่อมีเหตุจำเป็น
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
อังคุลิปโตทกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๖๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๓. หัสสธัมมสิกขาบท
ว่าด้วยการเล่นนํ้า
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๓๓๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เล่นนํ้าใน
แม่นํ้าอจิรวดี เวลานั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ที่ปราสาทชั้นบนกับพระนาง
มัลลิกาเทวี พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เล่นนํ้าอยู่ใน
แม่นํ้าอจิรวดี ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงรับสั่งกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า
“น้องมัลลิกา นั่นพระอรหันต์เหล่านั้นกำลังเล่นนํ้า”
พระนางกราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคคงจะยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท หรือ
ภิกษุเหล่านั้นยังไม่รอบรู้พระบัญญัติเป็นแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
ทีนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
ที่ทำให้เราไม่ต้องกราบทูลพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคจะทรงทราบได้ว่า
ภิกษุเหล่านี้เล่นนํ้ากัน” ครั้นแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งให้นิมนต์พวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์มา แล้วพระราชทานนํ้าอ้อยงบเป็นอันมากแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วย
รับสั่งว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดถวายนํ้าอ้อยงบนี้แด่
พระผู้มีพระภาค”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์นำน้ำอ้อยงบนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายนํ้าอ้อยงบนี้แด่พระผู้มี
พระภาค พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระราชาพบพวกเธอที่ไหน”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กราบทูลว่า “พระราชาพบพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลัง
เล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท บทภาชนีย์
ทรงตำหนิแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวก
เธอจึงเล่นนํ้าเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๓๖] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเล่นน้ำ
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๓๗] ที่ชื่อว่า เล่นน้ำ คือ ภิกษุประสงค์จะเล่นน้ำจึงดำลง ผุดขึ้น หรือ
ลอยในนํ้าลึกพอท่วมข้อเท้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๓๘] เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เล่นน้ำ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้เล่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุนั่งเรือเล่นในนํ้า ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๓.หัสสธัมมสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุใช้มือ ใช้เท้า ใช้ไม้ หรือใช้กระเบื้องตีน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุเล่นน้ำ น้ำซาวข้าว น้ำนม เปรียง น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน
ที่ขังในภาชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้เล่น ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๓๙] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่นน้ำ
๒. ภิกษุลงน้ำแล้วดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้าเมื่อมีเหตุจำเป็น
๓. ภิกษุจะข้ามฟากจึงดำลง ผุดขึ้น หรือลอยในนํ้า
๔. ภิกษุผู้ว่ายน้ำในคราวมีเหตุขัดข้อง
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
หัสสธัมมสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๔. อนาทริยสิกขาบท
ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อต่อคำตักเตือน
เรื่องพระฉันนะ
[๓๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขต
กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายกล่าวตักเตือน
อย่างนี้ว่า “ท่านฉันนะ ท่านอย่ากระทำอย่างนั้น การกระทำเช่นนี้ไม่สมควร” ท่าน
ไม่เอื้อเฟื้อยังขืนทำเหมือนเดิม
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะจึงไม่เอื้อเฟื้อเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า เธอไม่เอื้อเฟื้อ จริงหรือ” ท่านพระ
ฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่เอื้อเฟื้อเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้ว
จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๔๑] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะไม่เอื้อเฟื้อ
เรื่องพระฉันนะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๔๒] ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๒ อย่าง คือ
(๑) ความไม่เอื้อเฟื้อต่อบุคคล (๒) ความไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรม
ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อต่อบุคคล ได้แก่ ภิกษุถูกอุปสัมบันตักเตือนด้วยพระ
บัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า “ผู้นี้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ถูกสงฆ์ดูหมิ่นหรือ
ถูกสงฆ์ตำหนิ คำพูดของผู้นี้ไม่น่าทำตาม” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อต่อธรรม ได้แก่ ภิกษุถูกอุปสัมบันตักเตือนด้วย
พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า “จะทำอย่างไร ธรรมข้อนี้พึงเสื่อม พึงสูญ
หรือพึงอันตรธานไป” หรือว่าเธอไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงไม่เอื้อเฟื้อ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๔๓] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุอันอุปสัมบันตักเตือนด้วยเรื่องที่ไม่ใช่พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อด้วยกล่าวว่า
“เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความเป็น
ผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ๑ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ อปจยายาติ สพฺพสฺสปิ วฏฺฏสฺส อปจยตฺถาย, นิพฺพานายาติ อตฺโถ ความไม่ก่อ คือ ไม่ก่อวัฏฏะ ได้แก่
เพื่อนิพพาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๐๖/๕๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๔.อนาทริยสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุอันอนุปสัมบันตักเตือนด้วยพระบัญญัติหรือไม่ใช่พระบัญญัติ ไม่เอื้อเฟื้อ
ด้วยกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นไปเพื่อความขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อความกำจัด ไม่เป็น
ไปเพื่อความเป็นผู้น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่ก่อ ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความ
เพียร” ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๔๔] ๑. ภิกษุผู้กล่าวว่า “อาจารย์ของพวกเราเรียนกันมา สอบถามกัน
มาอย่างนี้”
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
อนาทริยสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๕. ภิงสาปนสิกขาบท
ว่าด้วยการทำให้ตกใจ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำให้พวก
ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตกใจ พวกภิกษุเหล่านั้นถูกทำให้ตกใจ จึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลาย
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์
ตอบว่า “พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทำให้พวกผมตกใจ ขอรับ”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทำให้ภิกษุตกใจเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอทำให้ภิกษุตกใจ
จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงทำให้ภิกษุตกใจเล่า
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๔๖] ภิกษุใดทำให้ภิกษุตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท บทภาขนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๔๗] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุอื่น
คำว่า ทำให้...ตกใจ ความว่า อุปสัมบันต้องการจะทำให้อุปสัมบันตกใจ นำ
รูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะเข้าไปใกล้๑ ภิกษุผู้ถูกทำให้ตกใจนั้นจะกลัวหรือ
ไม่กลัวก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อุปสัมบันตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร กันดาร
เพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ ภิกษุผู้ถูกทำให้ตกใจจะกลัวหรือไม่กลัว
ก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๔๘] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ทำให้ตกใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อนุปสัมบันตกใจ จึงนำรูป เสียง กลิ่น รส หรือ
โผฏฐัพพะเข้าไปใกล้ อนุปสัมปันผู้ถูกทำให้ตกใจนั้นจะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม ต้อง
อาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ นำรูป เสียง กลิ่น รส หรือโผฏฐัพพะที่น่ากลัวเข้าไปใกล้ (ดู พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๑๗๘
หน้า ๑๔๗-๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๕.ภิงสาปนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อุปสัมบันต้องการจะทำให้อนุปสัมบันตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร
กันดารเพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ อนุปสัมบันผู้ถูกทำให้ตกใจนั้น
จะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๔๙] ๑. ภิกษุไม่ต้องการจะทำให้ตกใจ นำรูป เสียง กลิ่น รส หรือ
โผฏฐัพพะเข้าไปใกล้
๒. ภิกษุไม่ต้องการจะทำให้ตกใจ บอกทางกันดารเพราะมีโจร
กันดารเพราะมีสัตว์ร้าย หรือกันดารเพราะมีปีศาจ
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ
ภิงสาปนสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๖. โชติกสิกขาบท
ว่าด้วยการก่อไฟผิง
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน
เขตเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ครั้งนั้นในฤดูหนาว พวกภิกษุก่อไฟที่ขอนไม้ใหญ่
ขอนหนึ่งซึ่งมีโพรงแล้วผิง งูเห่าในโพรงไม้นั้น พอถูกไฟร้อน ได้เลื้อยออกมาไล่
พวกภิกษุ ภิกษุทั้งหลายวิ่งหนีไปในที่นั้น ๆ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงก่อไฟผิงเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ
แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุทั้งหลายก่อไฟผิง จริงหรือ”
พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงก่อไฟผิงเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๗๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ผิงไฟได้
[๓๕๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการไข้
ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ” พวกภิกษุตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมก่อไฟผิง ดังนั้นจึงมีความผาสุก
แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ผิงไฟ
ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก”
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้ก่อ
ไฟหรือใช้ให้ก่อไฟผิงได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ตามประทีป
[๓๕๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงการตามประทีปบ้าง การก่อไฟ
บ้าง การติดไฟในเรือนไฟบ้าง จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อไฟหรือ
ใช้ให้ก่อไฟเพราะมีเหตุผลที่สมควร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๓๕๓] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท บทภาชนีย์
สิกขาบทวิภังค์
[๓๕๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟก็มีความผาสุก
ที่ชื่อว่า เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟจะไม่มีความผาสุก
คำว่า ต้องการผิงไฟ คือ ต้องการให้ร่างกายอบอุ่น
ที่ชื่อว่า ไฟ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอัคคี
คำว่า ก่อ คือ ภิกษุก่อเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ก่อ คือ ภิกษุสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่ก่อไฟหลายครั้ง ภิกษุผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น คือ ยกไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๕๕] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น
ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น
ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๖.โชติกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ติกทุกกฏ
ภิกษุเก็บดุ้นไฟที่ตกเข้าที่เดิม ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๕๖] ๑. ภิกษุเป็นไข้
๒. ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นก่อไว้
๓. ภิกษุผิงไฟถ่านที่ไม่มีเปลว
๔. ภิกษุตามประทีป ก่อไฟหรือติดไฟในเรือนไฟเพราะมีเหตุผลเช่นนั้น
๕. ภิกษุผู้ก่อไฟในคราวมีเหตุขัดข้อง๑
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
โชติกสิกขาบทที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “เหตุขัดข้อง” ในที่นี้หมายถึงจะมีสัตว์ร้าย เนื้อร้าย และอมนุษย์มาทำร้าย (วิ.อ. ๒/๓๕๖/๔๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๗. นหานสิกขาบท
ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร
[๓๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา๑ ทีนั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จไปแม่น้ำตโปทาด้วยมีพระราชประสงค์จะทรง
สนานพระเศียร ประทับรออยู่ด้านหนึ่ง ด้วยพระดำริว่า “เราจะสนานต่อเมื่อพระคุณ
เจ้าทั้งหลายสรงน้ำเสร็จแล้ว” ภิกษุสรงน้ำจนพลบค่ำ ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐต้องทรงสนานพระเศียรในเวลาพลบคํ่า เมื่อประตูเมืองปิดจำต้องประทับ
แรมอยู่นอกเมือง เช้าตรู่จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับทั้ง ๆ ที่
เครื่องประทินในพระวรกายยังไม่จางหายเลย ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วประทับ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่
สมควรดังนี้ว่า “เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาแต่เช้าทั้ง ๆ ที่เครื่องประทินในพระวรกาย
ยังไม่จางหาย” ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้
มีพระภาคทรงทราบ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้
ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้

เชิงอรรถ :
๑ แม่น้ำตโปทา คือแม่นํ้าสายนี้มีนํ้าร้อนเดือดพล่าน ต้นกำเนิดไหลมาจากแอ่งทะเลสาบใต้ภูเขาเวภารบรรพต
ไหลตัดผ่านพระนครราชคฤห์ นํ้าในแอ่งต้นกำเนิดใสเย็น แต่พอไหลเป็นสายแม่นํ้าแล้วกลายเป็นนํ้าร้อน
อรรถกถาอธิบายว่า สาเหตุที่นํ้าในแม่นํ้ามีความร้อนนั้น เพราะไหลผ่านมาระหว่างมหานรก ๒ ขุม (ดู
พระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๓๑ หน้า ๒๔๕, สํ.อ. ๑/๒๐/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระบัญญัติ
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกขึ้นจาก
อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ทำประทักษิณแล้วเสด็จไป
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเห็นพระราชาก็ยัง
อาบน้ำไม่รู้ความพอดี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษ
เหล่านั้นเห็นพระราชาแล้วก็ยังอาบน้ำไม่รู้ความพอดีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร จบ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่ร้อน
[๓๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมอาบนํ้าในสมัยที่ร้อน
ในสมัยที่อบอ้าว จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาตให้อาบ
นํ้าในสมัยที่ร้อน ในสมัยที่อบอ้าวได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน
รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่เป็นไข้
[๓๕๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการ
ไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้
หรือ”
พวกภิกษุผู้เป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนยังไม่ถึงครึ่งเดือน พวกกระผมอาบนํ้า
กันได้ ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ได้อาบนํ้า ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก’’
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มี
พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาต
ให้ภิกษุผู้เป็นไข้อาบนํ้าได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่ง
ฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็น
ไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่ทำงาน
[๓๖๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำงาน มีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า จำวัด
ทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าได้ในสมัยที่ทำงาน” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดู
ฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้
(๓) สมัยที่ทำงาน นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๓๖๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกล มีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า
จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าได้ในสมัยที่เดินทางไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบนํ้า ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ใน
สมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน
รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้
(๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบนํ้าได้ในสมัยที่มีพายุฝุ่น
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเย็บจีวรอยู่กลางแจ้ง ถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อน
ฝนก็ตกประปราย พวกภิกษุมีความยำเกรง จึงไม่อาบนํ้า จำวัดทั้ง ๆ ที่เนื้อตัวยัง
เปรอะเปื้อน จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระ
ผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา
อนุญาตให้อาบนํ้าในสมัยที่มีพายุฝุ่นได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๓๖๓] อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์เว้น
ไว้แต่ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรก
แห่งฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัย
ที่เป็นไข้ (๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล (๕) สมัยที่มีพายุฝุ่น นี้
เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ฯลฯ ชื่อว่าภิกษุ เพราะว่าเป็นผู้ขอ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ยังไม่ถึงครึ่งเดือน คือ หย่อนกว่าครึ่งเดือน
คำว่า อาบน้ำ ได้แก่ ภิกษุอาบน้ำถูตัวด้วยจุรณหรือดินเหนียว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ทุก ๆ ครั้งที่ถู อาบเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า เว้นไว้แต่ในสมัย คือ ยกเว้นแต่ในสมัย
ที่ชื่อว่า สมัยที่ร้อน คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง
ที่ชื่อว่า สมัยที่อบอ้าว คือ เดือนแรกแห่งฤดูฝน ภิกษุพึงอาบนํ้าได้เพราะ
ถือว่า ๒ เดือนครึ่งนี้เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว
ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ภิกษุใดไม่ได้อาบนํ้าจะไม่มีความผาสุก ภิกษุพึง
อาบนํ้าได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้
ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำงาน คือ โดยที่สุดแม้การกวาดบริเวณ ภิกษุพึงอาบนํ้าได้
เพราะถือว่า เป็นสมัยที่ทำงาน
ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า “เราจะเดินทางครึ่งโยชน์” พึง
อาบนํ้าได้ ภิกษุนั้นเมื่อจะไปพึงอาบนํ้าได้ ไปแล้วพึงอาบนํ้าได้
ที่ชื่อว่า สมัยที่มีพายุฝุ่น คือ ภิกษุทั้งหลายถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อนหรือหยาด
ฝนตกถูกกาย ๒-๓ หยด ภิกษุพึงอาบนํ้าได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่มีพายุฝุ่น
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๖๕] หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในสมัย
หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่
ในสมัย
หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ในสมัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๗.นหานสิกขาบท อนาปัตติวาร
ทุกทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ต้องอาบัติทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๖๖] ๑. ภิกษุอาบน้ำในสมัย
๒. ภิกษุอาบน้ำช่วงครึ่งเดือน
๓. ภิกษุอาบน้ำช่วงเกินกว่าครึ่งเดือน
๔. ภิกษุผู้ข้ามฝั่งจึงอาบน้ำ
๕. ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกแห่ง
๖. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
นหานสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๘๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๖.สุราปานวรรค ๘.ทุพพัณณกรณสิกขาบท นิทานวัตถุ
๖. สุราปานวรรค
๘. ทุพพัณณกรณสิกขาบท
ว่าด้วยการทำจีวรใหม่ให้เสียสี

เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๖๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุและปริพาชกจำนวนมาก
ต่างเดินทางไกลจากเมืองสาเกตไปกรุงสาวัตถี ระหว่างทาง โจรทั้งหลายออกมา
ปล้น พวกเจ้าหน้าที่ในกรุงสาวัตถีจับโจรเหล่านั้นได้พร้อมของกลาง จึงส่งข่าวถึง
ภิกษุทั้งหลายว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามาเถิด ถ้าจำได้ นิมนต์รับเอาจีวรของตน ๆ
คืนไป” ภิกษุทั้งหลายจำจีวรของตนไม่ได้ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงจำจีวรของตนไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
แสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตามกับเรื่องนั้นแก่พวกภิกษุแล้วรับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้ง
หลายโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
ฯลฯ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ข้อ ๕๖๖ หน้า ๙๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๔๙๐ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น