Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๒-๒ หน้า ๔๗ - ๙๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
คือเขาจักทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลส
เพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิต
ไม่เศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการ
สุภนิมิต(เครื่องหมายว่างาม) เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตได้ เขาจัก
เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือน
ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส
แต่เจ้าของไม่ได้ใช้สอย ทั้งไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจัก
ครอบงำจิตได้ เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้า
หมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่
มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่ครอบงำจิต เขาจักเป็น
ผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมองตายไป
เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งนัก”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่
ครอบงำจิต เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่
เศร้าหมองตายไป
ท่านโมคคัลลานะ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มี
กิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่
อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’ และนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
กิเลสเพียงดังเนิน
[๖๐] ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า ‘กิเลส
เพียงดังเนิน กิเลสเพียงดังเนิน’ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นั่นเป็นชื่อของอะไรหนอ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็น
ชื่อของอิจฉาวจร๑ ที่เป็นบาปอกุศล
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงรู้ว่า เราต้องอาบัติแล้ว’ แต่เป็นไปได้ที่
ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ว่า ภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้ว ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายรู้ว่า เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว’ ความโกรธและความไม่
แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน

เชิงอรรถ :
๑ อิจฉาวจร หมายถึงการประพฤติตนในทางต่ำทรามตามอำนาจความปรารถนา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๕, ม.มู.
ฏีกา ๑/๖๐/๓๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับเฉพาะ ไม่พึงโจทในท่ามกลางสงฆ์
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงโจทภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ไม่พึงโจทในที่ลับเฉพาะ
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายโจทเราในท่าม
กลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับเฉพาะ’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า
กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุผู้เสมอกัน๑ พึงโจทเรา ภิกษุผู้ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่เสมอกันพึงโจทภิกษุนั้น ภิกษุผู้เสมอกันไม่โจทภิกษุนั้น ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุผู้ไม่เสมอกันโจทเรา แต่ภิกษุผู้
เสมอกันไม่โจทเรา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอพระศาสดาทรงซักถามเฉพาะเราบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ แต่เป็น
ไปได้ที่พระศาสดา พึงทรงซักถามภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุนั้นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘พระศาสดาทรงซักถาม
ภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามเราบ่อย ๆ
แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้
ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายแวดล้อมเราเท่านั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
ทั้งหลายพึงแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ไม่แวดล้อมภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เสมอกัน หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติโจทภิกษุผู้ต้องอาบัติข้อเดียวกัน (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
นั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นแล้วเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมเราอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ๑ น้ำที่ดีเลิศ๒ บิณฑบาตที่ดีเลิศ๓ ใน
โรงฉัน ภิกษุอื่นไม่พึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน
ภิกษุนั้นไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน ดังนั้น ภิกษุนั้น
ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ
บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน เราไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศ
ในโรงฉัน’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา ภิกษุอื่นฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา
ภิกษุนั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ
ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วได้อนุโมทนา เราฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่ได้อนุโมทนา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลส
เพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุอื่นไม่

เชิงอรรถ :
๑ อาสนะที่ดีเลิศ หมายถึงที่นั่งหัวแถว (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๒ น้ำที่ดีเลิศ หมายถึงน้ำทักษิณา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๓ บิณฑบาตที่ดีเลิศ หมายถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
พึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่
ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้
แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ฯลฯ
พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย
ภิกษุอื่นไม่พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
อื่นพึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรม
แก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้
แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ไม่พึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุอื่น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุณีทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ฯลฯ
อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ อุบาสิกาทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น
ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่อุบาสิกาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้น ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘อุบาสิกาทั้งหลายสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่น ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้จีวรอันประณีต’ แต่
เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้จีวรอันประณีต ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้จีวรอันประณีต เราไม่ได้
จีวรอันประณีต’ ความโกรธ และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้บิณฑบาตอันประณีต ฯลฯ เสนาสนะอันประณีต ฯลฯ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้คิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า
‘ภิกษุอื่นได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต เราไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอัน
ประณีต’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็นชื่อแห่งอิจฉาวจรทั้งหลายที่
เป็นบาปอกุศล
อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
[๖๑] ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละ
ไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ว่าภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร มีเสนาสนะ
อันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
นับถือ บูชาภิกษุนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านั้นที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส พวกเจ้าของพึงใส่ซากงู
ซากสุนัข หรือซากศพมนุษย์จนเต็มภาชนะสำริดนั้น ปิดด้วยภาชนะสำริดใบอื่นแล้ว
นำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้นเปิดภาชนะ
สำริดนั้นดู ความไม่พอใจ ความเป็นของปฏิกูล และความเป็นของน่ารังเกียจจึงเกิดขึ้น
พร้อมกับการเห็นซากงูเป็นต้นนั้น แม้คนที่หิวก็ไม่ต้องการจะบริโภค ไม่ต้องกล่าว
ถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่า
เป็นวัตร มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
นุ่มห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็
ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุรูปนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
[๖๒] อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว
ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวร
ของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏ
และเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง
เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย ที่เลือกของสกปรก
ออกแล้วใส่แกงและกับข้าวหลายอย่างจนเต็มภาชนะสำริดนั้นปิดด้วยภาชนะสำริด
ใบอื่นแล้วนำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้
เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้น
เปิดภาชนะสำริดนั้นดู ความพอใจ ความเป็นของไม่น่าปฏิกูล และความเป็นของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
ไม่น่ารังเกียจจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีนั้น แม้คนที่บริโภคอิ่ม
แล้วก็ต้องการบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่หิวเลย แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวรของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่”
อุปมาด้วยบุตรช่างทำรถ
[๖๓] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าว
กับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร อุปมาปรากฏขึ้นแก่กระผม”
ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวว่า “ท่านมหาโมคคัลลานะ ขอให้อุปมาปรากฏขึ้น
แก่ท่าน ท่านจงกล่าวอุปมานั้นเถิด๑”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ สมัยหนึ่งกระผมอยู่
ในเขตกรุงราชคฤห์ซึ่งมีภูเขาล้อมดุจคอกวัว ครั้นในเวลาเช้า กระผมครองอันตร-
วาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นบุตรช่างทำรถชื่อ
สมีติถากกงล้อรถอยู่ อาชีวกผู้เป็นบุตรของนายปัณฑุ ซึ่งเป็นช่างทำรถคนเก่ายืน
อยู่ใกล้นายสมีติ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ
ขอบุตรของช่างทำรถชื่อสมีตินี้พึงถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนี้ออกเสีย
เมื่อเป็นเช่นนี้ กงล้อนี้ก็จะหมดโค้ง หมดคด หมดกระพี้ มีแต่แก่นล้วน ๆ’ บุตร
ของช่างทำรถชื่อสมีติก็ถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนั้นได้เหมือนอย่าง
ที่อาชีวกนั้นมีความคิดขึ้นในใจ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า
‘นายสมีติถากเหมือนรู้ใจ’
อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลเหล่าใดไม่มีศรัทธาต้องการที่จะมีชีวิตอยู่
(ในโลกนี้) ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มิใช่ด้วยศรัทธา เป็นคนโอ้อวด มีมารยา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๙/๒๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร
หลอกลวง ฟุ้งซ่าน ถือตน กลับกลอก ปากกล้า ไม่สำรวมวาจา ไม่คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ ไม่รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียรในธรรม
เป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใส่ใจสมณธรรม ไม่มีความเคารพอย่างหนักแน่นใน
สิกขา เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ขาดสติสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
หมุนไปผิด เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ท่านสารีบุตรถาก(กิเลส) ด้วยธรรมบรรยาย
นี้เหมือนรู้ใจของบุคคลเหล่านั้น
อนึ่ง กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มี
มารยา ไม่หลอกลวง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรใน
ธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่น
ในสิกขา ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่
ทอดธุระในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ
มีจิตมั่นคง มีจิตแน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นฟังธรรม-
บรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตร เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า
‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ทำให้เราทั้งหลาย
ออกจากอกุศลธรรมแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศลธรรม สตรีสาวหรือบุรุษหนุ่มชอบแต่งตัว
ชำระสระเกล้าแล้วได้ดอกอุบล ดอกมะลิ หรือดอกลำดวน ประคองไว้ด้วยมือ
ทั้ง ๒ แล้วยกขึ้นวางไว้เหนือเศียรเกล้า แม้ฉันใด กุลบุตรเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่หลอกลวง ไม่
ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายถึงไม่สำรวมกรรมทวาร (คือ กาย วาจา ใจ) ในอินทรีย์ ๖
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๔) และดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๗/๒๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
อย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่นในสิกขา ไม่เป็น
ผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก
ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิต
แน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตรแล้ว
เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า ‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่าน
พระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารีทำให้เราทั้งหลายออกจากอกุศลธรรมแล้วให้
ดำรงอยู่ในกุศลธรรม”
พระอัครสาวกทั้ง ๒ นั้นต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน ดังนี้แล
อนังคณสูตรที่ ๕ จบ

๖. อากังเขยยสูตร๑
ว่าด้วยความหวัง ๑๗ ประการ
[๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จง
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร๒อยู่ จงเป็น
ผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๑/๑๕๖
๒ คำว่า อาจาระ หมายถึงความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความสำรวมระวังในศีลทั้งปวง
และความที่ภิกษุไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ คำว่า โคจร หมายถึงการไม่เที่ยว
ไปยังสถานที่ไม่ควรเที่ยวไป เช่น ที่อยู่ของหญิงแพศยา การไม่คลุกคลีกับบุคคลที่ไม่สมควรคลุกคลีด้วย
เช่น พระราชา การไม่คบหากับตระกูลที่ไม่สมควรคบหา เช่น ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส
ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระและโคจรดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร (อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๕๑๓-๕๑๔/๓๘๘-๓๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย
๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีล
ให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหิน
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา๑ เพิ่มพูนเรือนว่าง๒
๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบ
ธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชน
เหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘ญาติสาโลหิต๓เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิต
เหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ คือ (๑) อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
(๒) ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์) (๓) อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
(๔) นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย) (๕) วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด) (๖) นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส) (๗) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็น
ความสลัดทิ้งกิเลส) (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนกัมมัฏฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เข้าไปสู่เรือนว่างนั่ง
พิจารณาอยู่ตลอดคืนและวัน แล้วบำเพ็ญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน บำเพ็ญอธิปัญญาสิกขาด้วย
วิปัสสนากัมมัฏฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๔/๑๖๙-๑๗๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗)
๓ ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและเครือญาติของทั้ง ๒ ฝ่าย
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๗๒, ม.มู.ฏีกา
๑/๖๕/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย
๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงข่มความไม่ยินดี(ในกุศลธรรม) และ
ความยินดี(ในกามคุณ ๕) อนึ่ง ความไม่ยินดี ไม่พึงครอบงำเรา
เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเอาชนะความขลาดกลัว อนึ่ง ความ
ขลาดกลัวไม่พึงครอบงำเรา เราพึงเอาชนะ ครอบงำ ย่ำยีความ
ขลาดกลัวที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ฌาน ๔ ซึ่งเป็นอภิเจตสิก๑ เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
๘. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิโมกข์ที่สงบ เป็นอรูปฌาน
เพราะก้าวล่วงรูปาวจรฌานด้วยนามกาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
๙. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระโสดาบัน๒ เพราะสังโยชน์๓ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อภิเจตสิก หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)
๒ โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓ ดูประกอบใน สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๑/๔๙๕)
๓ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ
(๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะหรือกามราคะ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ (๖) รูปราคะ
(๗) อรูปราคะ (๘) มานะ (๙) อุทธัจจะ (๑๐) อวิชชา
๕ ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓
ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ที่ ๔ และที่ ๕ ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ (องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๑๓/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ๑ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๐. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป (และ)เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน
ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้อง
กลับมาจากโลกนั้นอีก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิธีแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง และภูเขา
ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้
ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ ภิกษุนั้นพึง
ทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีทางตกต่ำ หมายถึงไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และพวกอสูร
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๓ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น (เทียบ ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดใน
สุทธาวาส (ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น มีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้น
กิเลสในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๔๒-๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
๑๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์
(๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นและบุคคลอื่น
คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิต
ปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่า
‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ๑ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มี
จิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่
เป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิต
หลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑
ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐
ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง
๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้นเรา
มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น
เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึก

เชิงอรรถ :
๑ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร
ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้’
ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้ง
ชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่าง
จากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๒ ปัญญาวิมุตติ๓
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม คือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ
คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก เพราะ
ปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๓/๓๕๘)
๒ เจโตวิมุตติ หมายถึงสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผล ที่ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ(ที่เป็น
ปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/๓๓๔) ในที่นี้
หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีสมถกัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)
๓ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงปัญญาที่สหรคตด้วยอรหัตตผลนั้น ที่ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจาก
อวิชชา(ที่เป็นปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/
๓๓๔) ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ
องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
อยู่ในปัจจุบัน’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรม
เครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นประโยชน์จึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์
มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จงสำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อากังเขยยสูตรที่ ๖ จบ

๗. วัตถูปมสูตร
ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า
[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมผ้าจะพึงนำผ้าที่สกปรก เปรอะเปื้อน ใส่ลงในน้ำย้อมสี
คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ไม่ดี มีสี
ไม่สดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่ไม่สะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิต
เศร้าหมอง ทุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ช่างย้อมผ้า จะพึงนำผ้าที่สะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติทุคติ หมายถึงคติคือการปฏิบัติชั่วด้วยอำนาจกิเลสแบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือทุคติของคฤหัสถ์ผู้มีจิตเศร้าหมองฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติอกุศล-
กรรมบถ ๑๐ และอนาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือคติของบรรพชิตผู้มีจิตเศร้าหมอง ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์
ทำลายเจดีย์ประพฤติอนาจาร (๒) คติทุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นทุกข์แบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยทุคติ คือคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดในนรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัย
บ้าง และอนาคาริยทุคติ คือทุคติของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้ว ไปเกิดในนรกเป็นต้น เป็นสมณยักษ์ เป็น
สมณเปรต มีกายลุกโชติช่วงเพราะผ้าสังฆาฏิเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐, ม.มู.ฏีกา ๑/๗๐/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
หมดจด ใส่ลงในน้ำย้อมสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้น
จะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ดี มีสีสดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่สะอาด
แม้ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ ชนิด
[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลส๒แห่งจิต อะไรบ้าง คือ
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ(ความโลภไม่สม่ำเสมอคือความเพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

๒. พยาบาท(ความคิดปองร้ายผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๓. โกธะ(ความโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๔. อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๕. มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๖. ปฬาสะ(ความตีเสมอ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๗. อิสสา(ความริษยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

เชิงอรรถ :
๑ สุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติสุคติ หมายถึงคติ คือการปฏิบัติดีด้วยจิตบริสุทธิ์แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่
อาคาริยปฏิปัตติสุคติ มีจิตบริสุทธิ์งดเว้นจากการฆ่าสัตว์บ้าง จากการลักทรัพย์บ้าง บำเพ็ญกุศลกรรมบถ
๑๐ ให้บริบูรณ์ อนาคาริยปฏิปัตติสุคติ คือสุคติของบรรพชิตผู้มีจิตบริสุทธิ์ รักษาปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์
สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ เรียนกัมมัฏฐานในอารมณ์ ๓๘ ประการ กระทำกสิณบริกรรม ทำฌาณสมาบัติให้
เกิดขึ้น เจริญโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อนาคามิมรรค (๒) คติสุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นสุข
แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ อาคาริยสุคติ คือสุคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีชาติตระกูลสูง
มั่งคั่งด้วยทรัพย์ เพียบพร้อมด้วยเกียรติยศบ้าง เป็นเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่บ้าง และอนาคาริยสุคติ คือคติ
ของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้วไปเกิดในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ และตระกูลคหบดี หรือไปเกิดใน
กามาวจรเทวโลก ๖ ชั้นบ้าง ในพรหมโลก ๑๐ ชั้น ในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น หรือในอรูปพรหม ๔ ชั้นบ้าง
(ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐)
๒ อุปกิเลส หมายถึงกิเลสที่จรมาด้วยอำนาจโลภะ โทสะ และโมหะ แล้วทำจิตเดิม(ภวังคจิต)ที่แม้ปกติก็
บริสุทธิ์อยู่แล้วให้ต้องเศร้าหมอง (ม.มู.อ. ๑/๗๑/๑๘๑, อง.เอกก.อ. ๑/๔๙/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
๘. มัจฉริยะ(ความตระหนี่) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๙. มายา(มารยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๐. สาเถยยะ(ความโอ้อวด) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๑. ถัมภะ(ความหัวดื้อ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๒. สารัมภะ(ความแข่งดี) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๓. มานะ(ความถือตัว) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๔. อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๕. มทะ(ความมัวเมา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๖. ปมาทะ(ความประมาท) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่ง
จิตได้ ... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ภิกษุรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุผู้รู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๔] ในกาลนั้น ภิกษุนั้นจะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค‘๑ จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็น
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบ
ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ และ
จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ
๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’
[๗๕] เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว
เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วย
ธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น ...‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรม’ เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ
ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใส
แน่วแน่ในพระสงฆ์’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอรู้ว่า ‘เพราะเราสละ
คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว’ จึงได้ความรู้แจ้งอรรถ ความ
รู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, องฺ.ทุก.(แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗
๒ ๘ บุคคล ได้แก่ (๑) บุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) บุคคลผู้เป็นพระอนาคามี (๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
[๗๖] ภิกษุนั้นมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉัน
อาหารบิณฑบาตข้าวสาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง
การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย ผ้าที่สกปรก
เปรอะเปื้อน จะเป็นผ้าที่สะอาด หมดจดได้ เพราะอาศัยน้ำใสสะอาด หรือทองคำ
จะเป็นทองคำบริสุทธิ์ผุดผ่องได้เพราะอาศัยเบ้าหลอม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉันอาหารบิณฑบาตข้าว
สาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง การฉันบิณฑบาตของ
ภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย
[๗๗] ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ...
ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าใน
ที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
[๗๘] ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า ‘สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรม
เครื่องสลัดออกจากกิเลส๑ ที่ยิ่งกว่าสัญญานี้๒ก็มีอยู่’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิต
ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า
‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๓ ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว๔ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๕’ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้อาบ
สะอาดแล้วด้วยการอาบสะอาดในภายใน”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องสลัดออกจากกิเลส ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๒ สัญญา ในที่นี้หมายถึงพรหมวิหารสัญญา (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๓-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑ - ๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

การอาบน้ำในพระศาสนา
[๗๙] ในสมัยนั้น พราหมณ์ชื่อสุนทริกภารทวาชะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มี-
พระภาค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อ
สรงน้ำหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม่น้ำพาหุกาจะมีประโยชน์อะไร
แม่น้ำพาหุกาจักทำอะไรได้”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม คนจำนวนมากถือ
กันว่า แม่น้ำพาหุกาให้ความบริสุทธิ์ได้ คนจำนวนมากถือกันว่า แม่น้ำพาหุกา
เป็นบุญสถาน อนึ่ง คนจำนวนมากลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
“คนพาลมีกรรมชั่ว แม้จะไปยังแม่น้ำพาหุกา
ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี
ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นประจำ ก็ยังบริสุทธิ์ไม่ได้
แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ แม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะพึงชำระคนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น
ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์๑ เป็นฤกษ์ดีทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
อุโบสถเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
วัตรปฏิบัติสมบูรณ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์ มีกรรมสะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ผัคคุณฤกษ์ หมายถึงงานนักขัตฤกษ์ประจำเดือน ๔ ที่พราหมณ์ถือว่าผู้ที่ชำระหรืออาบน้ำวันข้างขึ้น
เดือน ๔ ได้ชื่อว่าชำระบาปที่ทำมาแล้วตลอดปีได้ (ม.มู.อ. ๑/๗๙/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร
พราหมณ์ ท่านจงอาบน้ำในศาสนาของเรานี้เถิด
ท่านจงทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อ
ไม่ตระหนี่ ท่านจะไปยังท่าน้ำคยาทำไม
แม้การดื่มน้ำจากท่าน้ำคยาจักมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน”
สุนทริกพราหมณ์เป็นพระอรหันต์
[๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย
ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
ท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคแล้ว ไม่นานก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและ
ใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดังนี้แล
วัตถูปมสูตรที่ ๗ จบ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

๘. สัลเลขสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส
[๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่
หลีกเร้น๑ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับอัตตวาทะ๒บ้าง
เกี่ยวกับโลกวาทะ๓บ้าง เมื่อภิกษุมนสิการเพียงเบื้องต้น ก็ละสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น
ได้อย่างนั้นหรือ”
[๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จุนทะ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับ
อัตตวาทะบ้าง เกี่ยวกับโลกวาทะบ้าง เมื่อภิกษุเห็นอารมณ์เป็นที่เกิดขึ้น เป็นที่
หมักหมม และเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งทิฏฐิเหล่านั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ก็ละ
สลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นได้
รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔
จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติชั้นสูงสุด (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๒ อัตตวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภอัตตา เช่น เห็นว่ารูปเป็นอัตตาเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๓ โลกวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภโลก เช่น เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
ปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุ
ทุติยฌานซึ่งมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ภิกษุนั้นพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วย
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือทุติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่อง
ขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันใน
อริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มี
สติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือตติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา
กิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอยู่ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’
ธรรมคือจตุตถฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่
เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดย
กำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคืออากาสานัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็น
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบใน
ปัจจุบันในอริยวินัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ เธอพึง
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
อากิญจัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
จุนทะ เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เธอพึงมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส
[๘๓] จุนทะ ในการเบียดเบียนกันเป็นต้นนี้ เธอทั้งหลายควรทำความ
ขัดเกลากิเลส คือ เธอทั้งหลายควรทำความขัดเกลากิเลสโดยคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่น
จักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลักทรัพย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการลักทรัพย์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ประพฤติพรหมจรรย์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเท็จ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูดเท็จ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดส่อเสียด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
ส่อเสียด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดคำหยาบ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
คำหยาบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเพ้อเจ้อ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
เพ้อเจ้อ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความดำริชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเจรจาผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเจรจาชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการกระทำผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการกระทำชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการเลี้ยงชีพผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการเลี้ยง
ชีพชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความพยายามผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
พยายามชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความระลึกผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ระลึกชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการตั้งจิตมั่นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการตั้งจิต
มั่นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาญาณะ(ความรู้ผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
รู้ชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาวิมุตติ(ความหลุดพ้นผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมี
ความหลุดพ้นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลาย
จักปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตฟุ้งซ่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความสงสัย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักข้ามพ้นความสงสัย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักตีเสมอ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ตีเสมอ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักดื้อรั้น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ดื้อรั้น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถือตัวจัด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ถือตัวจัด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักว่ายาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักว่าง่าย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีมิตรดี’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักประมาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ประมาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีศรัทธา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีศรัทธา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความละอายบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ละอายบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความเกรงกลัวบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
เกรงกลัวบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการได้ยินได้ฟังน้อย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการได้ยิน
ได้ฟังมาก’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเกียจคร้าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักปรารภความเพียร’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีสติหลงลืม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีสติตั้งมั่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีปัญญาทราม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักสมบูรณ์ด้วยปัญญา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
เธอทั้งหลาย ควรทำความขัดเกลากิเลสด้วยความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด
ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิ
ของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’
[๘๔] จุนทะ เรากล่าวว่า ‘แม้จิตตุปบาทก็มีอุปการะมากในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการกระทำด้วยกายและพูดด้วยวาจา’ เพราะฉะนั้น
ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักเบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้
เราทั้งหลายจักไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’ ฯลฯ
เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้ง
ได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’
ทางหลีกเลี่ยงความชั่ว
[๘๕] จุนทะ ทางที่ขรุขระจะพึงมีทางที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง
อนึ่ง ท่าน้ำที่ขรุขระจะพึงมีท่าน้ำที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง แม้ฉันใด
ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
ความไม่พยาบาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด๑
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ(ความรู้ชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ(ความหลุดพ้นชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความ
หลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ
ความไม่ริษยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๗๕/๓๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
ความไม่มีมารยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา (ศรัทธา) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ(ความละอายบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรง
กลัวบาป
พาหุสัจจะ(ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทาง
หลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๖] จุนทะ อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเสื่อม (แต่)
กุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเจริญ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียน
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
ฯลฯ
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความเจริญสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
อุบายเพื่อความดับสนิท
[๘๗] จุนทะ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองจมอยู่ในเปือกตมลึก จักยก
บุคคลอื่นผู้จมอยู่ในเปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมลึก จักยกบุคคลอื่นผู้มอยู่ใน
เปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิท จักฝึก
สอนผู้อื่น แนะนำผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองฝึกตน แนะนำตน ดับสนิท จักฝึกผู้อื่น แนะนำ
ผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดคำหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
ความไม่พยาบาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความหลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มี
ความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่
คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร
ความไม่ริษยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด
ความไม่มีมารยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรงกลัวบาป
พาหุสัจจะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีปัญญา
ทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๘] จุนทะ เราได้แสดงเหตุแห่งธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เหตุแห่ง
จิตตุปบาท เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เหตุแห่งการไปสู่ความเจริญ (และ)เหตุแห่ง
ความดับสนิทไว้แล้วด้วยประการอย่างนี้ เราผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเอ็นดู
อนุเคราะห์สาวกทั้งหลาย ได้ทำกิจที่ควรทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
จุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท
อย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ บท ทรงแสดงสนธิ ๕
พระสูตรนี้ชื่อสัลเลขสูตรลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร
สัลเลขสูตรที่ ๘ จบ

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยความเห็นชอบ
[๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึง
ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีคนกล่าวกันว่า ‘สัมมาทิฏฐิ๑ สัมมาทิฏฐิ’ ด้วยเหตุ
อะไรบ้าง พระอริยสาวกจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอัน
แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรจงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังคำอธิบายของท่านแล้วจักทรงจำไว้ได้”

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง คือ (๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรม
เป็นของตน) และสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ) (๒) โลกุตตร-
สัมมาทิฏฐิ หมายถึงปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ
(ม.มู.อ. ๑/๘๙/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
เรื่องอกุศลและกุศล
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง
อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร
รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
อกุศล เป็นอย่างไร

คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล
การลักทรัพย์ เป็นอกุศล
การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล
การพูดเท็จ เป็นอกุศล
การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล
การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล
การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล
การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล
การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล
นี้เรียกว่า อกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร
คือ โลภะ(ความโลภ) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โมหะ(ความหลง) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งอกุศล
กุศล เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นกุศล
การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นกุศล
การไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นกุศล
สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล
นี้เรียกว่า กุศล

รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
คือ อโลภะ(ความไม่โลภ) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโมหะ(ความไม่หลง) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งกุศล
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและ
รากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือราคะ)
บรรเทาปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือปฏิฆะ) ถอนทิฏฐานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
คือทิฏฐิ)และมานานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือมานะ)ที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการ
ทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอาหาร
[๙๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร
เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร๑ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาหาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาหาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ๔ ชนิดนี้ ย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)

เชิงอรรถ :
๑ ความดับแห่งอาหาร จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อดับตัณหาที่เป็นปัจจัยแห่งอาหารทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและ
อนุปาทินนกะได้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดับไปโดยประการทั้งปวง แม้ผลก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง (ม.มู.อ.
๑/๙๐/๒๒๘, ม.มู.ฏีกา ๑/๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอาหารจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอาหารจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารได้
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องสัจจะ
[๙๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์(สภาวะที่ทน
ได้ยาก) ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่า
มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ทุกข์ เป็นอย่างไร ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทาน-
ขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม)
ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากไม่เป็น
นั่นเป็นนี่) นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ หมายถึงอุปาทาน + ขันธ์ คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ)
หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ บ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) หมาย
ถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิบ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) หมายถึงตัณหาบ้าง (ดู ม.มู.อ.
๑/๑๔๑/๓๓๐) คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง (ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง
“กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น” ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,
ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๔๐-๔๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖, อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๑๗, สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔, วิสุทฺธิ.
๒/๕๐๕/๑๒๒ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอน
ทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำ
วิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องชราและมรณะ
[๙๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งชราและมรณะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชราและมรณะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ความ
ดับแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เป็น
อย่างไร
ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี
หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
ชราและมรณะดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่า ชราและมรณะ
เพราะชาติเกิด เหตุเกิดแห่งชราและมรณะจึงมี
เพราะชาติดับ ความดับแห่งชราและมรณะจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับ
แห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้ เมื่อนั้น
ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องชาติ
[๙๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ๑ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิด
แห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชาติ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชาติ เป็นอย่างไร ความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๙๒ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้
เรียกว่า ชาติ
เพราะภพเกิด เหตุเกิดแห่งชาติจึงมี
เพราะภพดับ ความดับแห่งชาติจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง
ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องภพ
[๙๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิด
แห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ภพ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งภพ เป็นอย่างไร ความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ภพ ๓ เหล่านี้ คือ
๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
เพราะอุปาทานเกิด เหตุเกิดแห่งภพจึงมี
เพราะอุปาทานดับ ความดับแห่งภพจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งภพอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอุปาทาน
[๙๕] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุ
เกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อุปาทาน เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
อุปาทาน เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร
อุปาทาน ๔ ประการนี้ คือ
๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)
เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอุปาทานจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอุปาทานจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่ง
อุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทานอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละ
ราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องตัณหา
[๙๖] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุ
เกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ตัณหา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ความดับแห่งตัณหา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เป็นอย่างไร
ตัณหา ๖ ประการนี้ คือ

๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูป)
๒. สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง)
๓. คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
๔. รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส)
๕. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในโผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในธรรมารมณ์)

เพราะเวทนาเกิด เหตุเกิดแห่งตัณหาจึงมี
เพราะเวทนาดับ ความดับแห่งตัณหาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องเวทนา
[๙๗] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุ
เกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
เวทนา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร ความดับแห่งเวทนา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
เวทนา ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ)

เพราะผัสสะเกิด เหตุเกิดแห่งเวทนาจึงมี
เพราะผัสสะดับ ความดับแห่งเวทนาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น