Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๑๒-๑๐ หน้า ๔๑๗ - ๔๖๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์



พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
[๓๘๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็
ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ๒ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรี
กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น
เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๓ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’
อัคคิเวสสนะ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว
วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของ
เราอยู่ไม่ได้
บุคคลผู้ไม่หลง
[๓๘๗] อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า เมื่อเราแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยบริษัท
ถึงแม้บุคคลหนึ่ง ๆ จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเรา
เท่านั้น’ ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่าอื่นโดยชอบ
เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว และในตอนจบเรื่องหนึ่ง ๆ เราประคองจิตให้สงบ
ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ณ ภายใน ดำรงอยู่ในสมาธินิมิตเบื้องต้นนั้นตลอดนิตยกาล”
“ข้อนี้ ควรเชื่อท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่าน
พระโคดมทราบดีอยู่หรือว่า ‘พระองค์เป็นผู้จำวัดในเวลากลางวัน”
“อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า ‘ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น มีสติสัมปชัญญะ นอน
ตะแคงข้างเบื้องขวา”
“ท่านพระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติแบบนั้น
เป็นการอยู่ด้วยความหลง”
“อัคคิเวสสนะ บุคคลเป็นผู้หลงหรือไม่หลงด้วยเหตุเพียงเท่านั้นหามิได้
บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลงด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร
[๓๘๘] “อัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคล
ผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ‘ผู้หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้หลงเพราะยังละ
อาสวะทั้งหลายไม่ได้
อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละได้แล้ว เราเรียก
บุคคลนั้นว่า ‘ผู้ไม่หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่หลงเพราะละอาสวะทั้งหลายได้แล้ว
ตถาคตละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อัคคิเวสสนะ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้วไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคต
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้”
สัจจกะ นิครนถบุตรสรรเสริญพระพุทธเจ้า
[๓๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
พระโคดมผู้เจริญ ผู้ที่ข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง และไต่ถามด้วยคำที่ปรุงแต่ง
มาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่าน
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับ
ท่านปูรณะ กัสสปะ แม้ท่านปูรณะ กัสสปะนั้น เริ่มโต้วาทะกับข้าพเจ้า ก็นำ
เรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
และความไม่พอใจให้ปรากฏ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับท่าน
มักขลิ โคสาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะ กัจจายนะ ... ท่านสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร‘๑ แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น เริ่มโต้วาทะ
กับข้าพเจ้า ก็นำเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำ
ความโกรธเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ส่วนพระโคดมผู้เจริญผู้ที่ข้าพเจ้ามา
สนทนากระทบกระทั่งและไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณ
ผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เอาละ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก
อาสนะแล้วจากไป ดังนี้แล
มหาสัจจกสูตรที่ ๖ จบ

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก
ปัญหาธรรมของท้าวสักกะ
[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม
เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของชื่อครูทั้ง ๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๖ ข้อ ๓๑๒ (จูฬสาโรปมสูตร) หน้า ๓๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด๑ มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด๒ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๓ มีที่สุดอันสูงสุด๔ เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรม
ทั้งปวง๕ไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควร
ยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้
ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา
เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน
เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย
นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ
ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๖’

เชิงอรรถ :
๑ มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม
เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓, ม.มู.ฏีกา
๒/๓๙๐/๒๖๖)
๒ มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕ องฺ.จตุกฺก.
(แปล) ๒๑/๑๐/๑๒)
๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕,
ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๐๖๖)
๔ มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖)
และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๐/๔๐๖
๕ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา
และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕-๒๐๖)
๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง
พระมหาโมคคัลลานะทดสอบท้าวสักกะ
[๓๙๑] สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี
พระภาค ได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนั้นทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี ทางที่ดี เราควรรู้เรื่องที่ท้าว
สักกะจอมเทพทรงทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วยินดี
หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี”
จากนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้อันตรธานจากปราสาทของมิคารมาตา
ในบุพพารามไปปรากฏในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพกำลังเอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรี
๕๐๐ ชนิด ในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหา-
โมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงรับสั่งให้หยุดบรรเลงทิพยดนตรีทั้ง ๕๐๐ ชนิดไว้ เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วตรัสว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นาน ๆ ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๔/๑๘๔, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๕๖/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพ
ได้ทรงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงทูล
ถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความหลุดพ้นด้วย
ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนในการฟังกถานั้น”
[๓๙๒] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี
ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้
ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุร-
สงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้วได้สร้างเวชยันตปราสาท เวชยันต-
ปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่ง ๆ มีกูฏาคาร(เรือนมียอด) ๗๐๐ หลัง ใน
กูฏาคารหลังหนึ่ง ๆ มีนางอัปสร ๗ องค์ นางอัปสรองค์หนึ่ง ๆ มีเทพธิดาบำเรอ
๗ องค์
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง
เวชยันตปราสาทหรือไม่”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับโดยดุษณีภาพ
พระเถระใช้นิ้วเท้าเขย่าเวชยันตปราสาท
[๓๙๓] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่าน
พระมหาโมคคัลลานะให้นำหน้าเข้าไปยังเวชยันตปราสาท พวกเทพธิดาผู้บำเรอ
ของท้าวสักกะเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็เกรงกลัวละอายอยู่ จึงเข้า
สู่ห้องเล็กของตน ๆ ดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น
จากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อนิมนต์ให้ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินชมไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า “ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้ ขอท่านจง
ดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้
งดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็น
สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ใด ๆ แล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘งามจริง ดุจสถานที่ที่น่า
รื่นรมย์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้
ประมาทอยู่มากนัก ทางที่ดี เราควรให้ท้าวสักกะนี้สังเวช” จึงบันดาลอิทธา-
ภิสังขาร๑ ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีความ
ประหลาดมหัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่
เคยปรากฏ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ
เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า “ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความ
สลดจิตขนลุกแล้ว” จึงทูลถามว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุด
พ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนเพื่อฟังกถานั้น”
ข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา
[๓๙๔] ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้า
จะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว จึงได้
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มี

เชิงอรรถ :
๑ อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ ในที่นี้พระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าอาโปกสิณแล้วอธิษฐานว่า
“ขอให้โอกาส(พื้นที่)อันเป็นที่ตั้งเฉพาะปราสาท จงเป็นน้ำ” แล้วใช้หัวแม่เท้ากดลงที่ช่อฟ้าปราสาท ปราสาทนั้น
สั่นสะท้านหวั่นไหวไปมา เหมือนบาตรวางไว้บนหลังน้ำ เอานิ้วเคาะที่ขอบบาตร ก็หวั่นไหวไปมา อยู่นิ่งไม่
ได้ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๙๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
ความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มี
ที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่
ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนด
รู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็น
ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนา
ทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้
หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด
ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะแล้ว
อันตรธานจากหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหา-
โมคคัลลานะจากไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์หรือ
หนอ”
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มี-
พระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี
ของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร
พวกเทพธิดาเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์
พระองค์ได้ดีแล้วที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นเพื่อน
พรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์คงมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่”
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
[๓๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ‘พระองค์เป็นผู้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่จอมเทพผู้มีศักดามากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะ
จอมเทพเข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ตรัส
ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุ
จึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว เราตอบว่า ‘จอมเทพ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง
ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอ
ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ
และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน
และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความ
เกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นผู้กล่าวความหลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้น
ตัณหาโดยย่อแก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ ๗ จบ

๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรใหญ่
ทิฏฐิของสาติภิกษุ
[๓๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าสาติบุตรชาวประมง มีทิฏฐิ๑
ชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้
นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ลำดับนั้น ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังว่า “สาติภิกษุบุตรชาวประมง มีทิฏฐิชั่ว
เช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๖/๒๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้วถามว่า “ท่านสาติ
ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ จริงหรือ”
สาติภิกษุตอบว่า “จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาที่จะปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจากทิฏฐิชั่ว
นั้นจึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่าได้
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะพระผู้มี
พระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”
สาติภิกษุบุตรชาวประมงถูกภิกษุเหล่านั้นซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้อย่างนี้
ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
เพื่อนภิกษุไม่อาจเปลี่ยนทิฏฐิของท่านสาติ
[๓๙๗] ภิกษุเหล่านั้นเมื่อไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควรแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สดับมาว่า ‘สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้
เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแล
มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหาสาติภิกษุ
แล้วถามว่า ‘ท่านสาติ ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป
จริงหรือ’ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายถามอย่างนี้ สาติภิกษุได้ตอบข้าพระองค์ทั้งหลาย
ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณ
นี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิชั่ว
นั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า ‘ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่าน
อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะ
พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระ
ผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้น
แห่งวิญญาณ’ สาติภิกษุถูกข้าพระองค์ทั้งหลายซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้
อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย
ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่อง
เที่ยวไป แล่นไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุ
จากทิฏฐิชั่วนั้น จึงมากราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค”
พระพุทธเจ้าทรงกำราบท่านสาติ
[๓๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
“มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกสาติภิกษุบุตรชาวประมงมาตามคำของเราว่า ‘ท่าน
สาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน” ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงเข้าไปหา
สาติภิกษุแล้วบอกว่า “ท่านสาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
สาติภิกษุรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามเธอว่า “สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป จริงหรือ”
สาติภิกษุทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
สาติภิกษุทูลตอบว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ เสวยวิบากแห่งกรรมทั้งหลาย
ทั้งส่วนดีและส่วนชั่วในที่นั้น ๆ เป็นวิญญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแล้วแก่ใครเล่า
วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจาก
ปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ ก็เมื่อเป็นดังนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เรา ขุดตน
เองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด โมฆบุรุษ ความ
เห็นของเธอนั้นจักเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน”
ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ
[๓๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สาติภิกษุบุตรชาวประมงนี้จะเป็นผู้ทำ
ความเจริญในธรรมวินัยนี้ได้บ้างหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จะพึงมีอย่างไรได้ ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้ สาติภิกษุบุตรชาวประมงจึงนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าสาติภิกษุบุตรชาวประมงเป็นผู้นิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณแล้ว จึงตรัสกับเธอว่า “โมฆบุรุษ
เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิชั่วของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนที่สาติภิกษุกล่าวตู่เรา ขุดตนเอง
และจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิดหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณ
อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายโดยปริยาย
เป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่เราแสดงแล้ว วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดย
ปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ แต่สาติภิกษุ
บุตรชาวประมงนี้กล่าวตู่เรา ขุดตนเองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากด้วย
เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด ความเห็นอย่างนั้นของโมฆบุรุษนั้น จักเป็นไปเพื่อ
สิ่งมิใช่ประโยชน์ และเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน
[๔๐๐] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็
นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์
ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า
‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆาน-
วิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’
ภิกษุทั้งหลาย ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อใด ๆ ก็นับว่า ‘ไฟ’ ตามเชื้อนั้น ๆ
ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยไม้ก็นับว่า ‘ไฟไม้’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยป่าก็นับว่า
‘ไฟป่า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยหญ้าก็นับว่า ‘ไฟหญ้า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยมูลโค
ก็นับว่า ‘ไฟมูลโค’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยแกลบก็นับว่า ‘ไฟแกลบ’ ไฟที่ติดขึ้น
เพราะอาศัยหยากเยื่อก็นับว่า ‘ไฟหยากเยื่อ’ แม้ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่
เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า ‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะ
อาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆานวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย
ชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและ
โผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและ
ธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งขันธ์ ๕
[๔๐๑] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้วหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นเกิดขึ้นเพราะอาหารหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับ
แห่งอาหารนั้นหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้มีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็น
ธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้น’ ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น มีความ
ดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นแม้
ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา
เพราะความดับแห่งอาหารนั้นแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้
เกิดขึ้นแล้วดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕
เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น
มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“หากเธอทั้งหลายจะพึงติดอยู่ เพลิดเพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถืออยู่ซึ่ง
ทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบ
ด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อประโยชน์แก่
การยึดถือหรือ”
“ข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“หากเธอทั้งหลายไม่ติดอยู่ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถืออยู่
ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่
เปรียบด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่การยึดถือหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการเกิด
[๔๐๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ ชนิดนี้ มี
เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหา
ภพที่เกิดบ้าง
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)
อาหาร ๔ ชนิดนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
อาหาร ๔ ชนิด นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นที่เกิด
มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ตัณหานี้มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่เกิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
เวทนานี้มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นที่เกิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด
ผัสสะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ผัสสะนี้มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นที่
เกิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นที่เกิด
มีนามรูปเป็นแดนเกิด
นามรูปนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
นามรูปนี้มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นที่เกิด
มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นที่เกิด มี
สังขารเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชา
เป็นที่เกิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๓] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี’
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้เป็นอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ เพราะภพเป็นปัจจัย
ชาติจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ เพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย ภพจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมี
ความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ เพราะเวทนา
เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัย เวทนาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ เพราะ
สฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี’ เพราะนาม-
รูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ เพราะ
วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี’ เพราะสังขาร
เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่ง
นี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการดับ
เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๕] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ’ เพราะ
ชาติดับ ชราและมรณะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (ม.มู.อ. ๒/๔๐๔/๒๑๖, วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’ เพราะตัณหาดับ
อุปาทานจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’ เพราะเวทนาดับ
ตัณหาจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’ เพราะผัสสะดับ เวทนา
จึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’ เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’ เพราะนามรูปดับ
สฬายตนะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’ เพราะวิญญาณดับ
นามรูปจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ’ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะ
สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระธรรมคุณ
[๔๐๗] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึง๑ขันธ์
ธาตุ อายตนะ ในอดีตกาลว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือ หรือมิได้มี
แล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึง
มาเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะในอนาคต
ว่า ‘ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือ หรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ
เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงมีความสงสัยภายในตนปรารภปัจจุบันกาล
ในบัดนี้ว่า ‘เราเป็นอยู่หรือ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ
สัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระศาสดาเป็นครูของเรา
ทั้งหลาย เราทั้งหลายต้องกล่าวอย่างนี้ด้วยความเคารพต่อพระศาสดา’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณะตรัสอย่างนี้
และเราทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็กล่าวอย่างนี้’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ กลับระลึกถึง หมายถึงการแล่นไปตามอำนาจตัณหาและทิฏฐิด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ที่ทรงมุ่งจะตรัสถามว่า
เมื่อรู้เห็นถึงปัจจัยแห่งการเกิดครบองค์ ๑๒ แล้ว มีความสงสัยอยู่อีกหรือไม่ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖, ม.มู.
ฏีกา ๒/๔๐๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่นบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงเชื่อถือข้อวัตร การตื่นลัทธิ และการถือ
มงคล๑ของพวกสมณพราหมณ์ปุถุชน โดยเชื่อว่าเป็นแก่นสารบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดที่เธอทั้งหลายรู้เอง เห็นเอง ทราบเองแล้ว เธอทั้งหลายจะพึงกล่าว
ถึงเฉพาะสิ่งนั้นมิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เรานำเธอทั้งหลายเข้าไป
(ถึงนิพพาน)แล้วด้วยธรรมนี้ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย
กาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ เราจึงกล่าวไว้อย่างนี้”
องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์
[๔๐๘] ภิกษุทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกัน การถือ
กำเนิดในครรภ์จึงมีได้
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะ๒ยัง
ไม่ปรากฏ การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ข้อวัตร ในที่นี้หมายถึงวัตรเป็นคนใบ้ วัตรเยี่ยงช้าง วัตรเยี่ยงม้า วัตรเยี่ยงโค เป็นต้น (ดู ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๒๗/๑๑๑) การตื่นลัทธิ หมายถึงความยึดมั่นความเห็นของตนว่า “นี้จริง อย่างอื่นไม่จริง” การถือ
มงคล หมายถึงการยึดถือรูปหรือเสียง เป็นต้นว่าเป็นมงคล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖-๒๑๗, ม.มู.ฏีกา
๒/๔๐๗/๒๗๗)
๒ คันธัพพะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ผู้จะมาเกิดในครรภ์นั้น (ปฏิสนธิวิญญาณ) (ม.มู.อ. ๒/๔๐๘/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏ
การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้
แต่เมื่อใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และคันธัพพะก็ปรากฏ เมื่อนั้น
เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้
มารดาย่อมรักษาทารกในครรภ์นั้น ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด
ทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความกังวลใจมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น
ซึ่งเกิดแล้วด้วยโลหิตของตนด้วยความห่วงใยมาก
น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและ
ความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ
ไถเล็ก ๆ ตีไม้หึ่ง หกคะเมน เล่นกังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์
ทั้งหลาย อิ่มเอิบ พร้อมพรั่ง บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ประการ คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๔๐๙] กุมารนั้นเห็นรูปทางตาแล้วกำหนัด๑ในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่
ไม่น่ารัก เป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจร๒อยู่ ไม่รู้ชัดถึงเจโตวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ กำหนัด ในที่นี้หมายถึงให้เกิดราคะขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ จิตเป็นกามาวจร ในที่นี้หมายถึงจิตฝ่ายอกุศล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้าย๑อย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง๒ ติดใจเวทนานั้น
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ขัดเคืองในธรรมารมณ์
ที่ไม่น่ารัก ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจรอยู่ ไม่รู้ชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนา
นั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี (อนุโรธะ) หมายถึงราคะ ความยินร้าย (วิโรธะ) หมายถึงโทสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ เพลิดเพลิน หมายถึงมีตัณหาทะยานอยาก บ่นถึง หมายถึงพร่ำเพ้อว่า “สุขหนอ ๆ” (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระพุทธคุณ
[๔๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธา
แล้วย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วนดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อย
ใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต
สิกขาและสาชีพของภิกษุ
[๔๑๑] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพเสมอด้วย
ภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๑ อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มี
ถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริม
คนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๒และภูตคาม๓
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๔
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๕

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๙๒ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๓ ในเล่มนี้
๒-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๔ ข้อ ๒๙๓ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็นภาระบินไป
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและ
บิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วย
อริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวม
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง
การทำจิตให้บริสุทธิ์
[๔๑๒] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวรและอริยสติ-
สัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหาร
เสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความ
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ
(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ
ใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร
[๔๑๓] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
และเป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร
สงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ๑ บรรลุ
จตุตถฌาน ฯลฯ๒อยู่
ความดับแห่งกองทุกข์
[๔๑๔] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูป
ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้๓อยู่ ทราบชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์
ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อ
ภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนา
ทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น
ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๑ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๓ มีจิตหาประมาณมิได้ หมายถึงผู้มีโลกุตตรจิตหาประมาณมิได้ คือผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคจิต (ม.มู.อ.
๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ขัดเคือง
ในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ตามความเป็นจริง เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่าง
หนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่
ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน
จึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับ
แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ๑โดยย่อของเรานี้
อนึ่ง เธอทั้งหลายจงทรงจำสาติภิกษุบุตรชาวประมงว่า เป็นผู้ติดอยู่ในข่ายคือ
ตัณหาและกองแห่งตัณหาใหญ่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาตัณหาสังขยสูตรที่ ๘ จบ

๙. มหาอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรใหญ่
ข้อปฏิบัติของสมณะ
[๔๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมารชาวอังคะ
ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาสังขยวิมุตติ หมายถึงเทศนาเป็นเหตุหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ เธอทั้งหลาย
เมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นใคร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็นสมณะ’
เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า ‘เรา
ทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม๑ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเรา
ทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก
มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่
เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล
หิริโอตตัปปะ
[๔๑๖] ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ’
บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะ๒ เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่ง
ขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม หมายถึงไตรลักษณ์ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงหิริ
และโอตตัปปะ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๕/๒๒๐)
๒ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ มีหลายนัย ดังนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ บ้าง หมายถึงความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะบ้าง (ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖/๓๔) แต่ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ และผล ๔
(ม.มู.อ. ๒/๔๑๖/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

กายสมาจารบริสุทธิ์
[๔๑๗] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีกายสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่าง
นี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย
วจีสมาจารบริสุทธิ์
[๔๑๘] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้ง
หลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ หรือศัสตราทุบตีเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เงื้อมือหรือท่อนไม้ไล่กาที่กำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิก
กินข้าวสุกในบาตร (ม.มู.อ. ๒/๔๑๗/๒๒๒)
๒ มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวดูหมิ่นใครๆ หรือไม่
กล่าวถากถางเยาะเย้ยภิกษุใดๆ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๘/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

มโนสมาจารบริสุทธิ์
[๔๑๙] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีมโนสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร และมโนสมาจาร
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอ
บอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย
อาชีวะบริสุทธิ์
[๔๒๐] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะ
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอก
เธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์
จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีมโนสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่มีอภิชฌา ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความเห็นผิด ไม่ยินดีทองและเงิน
หรือไม่ตรึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก (ม.มู.อ. ๒/๔๑๙/๒๒๓)
๒ มีอาชีวะบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่เลี้ยงชีพด้วยกรรมที่ไม่สมควร เช่น การรักษาไข้ การให้น้ำมันทาเท้า
การหุงน้ำมัน พูดเลียบเคียงขอผู้อื่น หรือการสะสมปัญจโครสมีเนยใสเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๒๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

สำรวมอินทรีย์
[๔๒๑] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวม
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส
ครอบงำได้ จักรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’ บางทีเธอทั้งหลายจะ
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์
วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว และเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วย
กิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลาย ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น
เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

รู้จักประมาณในโภชนะ
[๔๒๒] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณใน
โภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา
ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์
เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจัก
กำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต
ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา‘๑ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจี-
สมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้ว
ในอินทรีย์ทั้งหลาย และจักรู้จักประมาณในโภชนะ พอละ ด้วยกิจเพียงเท่านี้
เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเรา
ทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอ
ทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอ
ทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอ
ทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย
ตื่นบำเพ็ญเพียร
[๔๒๓] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็น
เครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
สำเร็จการนอนดุจราชสีห์โดยตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๓ หน้า ๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี’ บางที
เธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกาย-
สมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้
คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความ
เพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลาย
ทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้
บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายถึงความ
ยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจ
ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา
อย่าได้เสื่อมไปเลย
เจริญสติสัมปชัญญะ
[๔๒๔] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า
การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริ-
โอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์
อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณ
ในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง และมี
สติสัมปชัญญะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจ
เพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจ
อะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เรา
ขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

การละนิวรณ์ ๕
[๔๒๕] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละ
ถีนมิทธะ(ความหดหู่และความเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว
ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[๔๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ
ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า
‘เมื่อก่อน เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดีได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว
และกำไรก็ยังมีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนไข้ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วย
บริโภคอาหารได้กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน เราป่วย ถึงความลำบาก
เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง บัดนี้หายป่วย บริโภคอาหารได้
มีกำลังเป็นปกติ’ เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
คนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาพ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ บัดนี้
พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้น
จากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้
ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไป
ไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น
จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ บัดนี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็นไทแก่ตนเองเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร ต่อมาเขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้
โดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ
เดินทางไกลกันดาร บัดนี้ ข้ามพ้นทางกันดารโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้
จ่ายใด ๆ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ
และความสุขใจ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้
ที่ตนยังละไม่ได้เหมือนหนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร และ
พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่ตนละได้แล้วเหมือนความไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค
การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตนเอง และภูมิสถานอันสงบร่มเย็น
อุปมาฌาน ๔
[๔๒๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือ
ลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสำริดแล้วเอาน้ำประพรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
ให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมดไม่กระจายออก
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป
ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยม ซาบซ่านอยู่ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วน
ไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก
เป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ
และด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำ
ห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ เต็มเปี่ยม เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน
ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมี
อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล
ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่
ใต้น้ำและมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ บริบูรณ์ ซึมซาบ
ด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดจดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ
รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
[๔๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
ไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง คนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
อุปมาวิชชา ๓
[๔๓๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น ออกจาก
บ้านแม้นั้นไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม
เขาจะพึงระลึกได้ว่า ‘เราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืน
อย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้น
แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออก
จากบ้านแม้นั้นแล้วกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
กันย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[๔๓๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ๒ เรือน ๒ หลัง มีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี
ยืนอยู่ตรงกลางจะพึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง
กำลังเดินไปมาบ้าง กำลังเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้บ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐-๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร
เหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมว่า ฯลฯ
[๔๓๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’ สระน้ำใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระ
นั้นจะพึงเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลากำลังแหวก
ว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว
หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหินหรือฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่าย
อยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
สมัญญาต่าง ๆ ของภิกษุ
[๔๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ‘สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง นหาตกะ
บ้าง เวทคูบ้าง โสตติยะบ้าง อริยะบ้าง อรหันต์บ้าง‘๑
ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นระงับ
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๘๕-๙๒/๑๘๑-๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น