Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๓-๖ หน้า ๒๓๖ - ๒๘๒

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓-๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๓.อัสสาชานิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา
อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. ฉันโภชนะที่เขาถวาย จะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม โดยเคารพ
ไม่รังเกียจ
๓. รังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ตลอดถึงรังเกียจการ
ประกอบบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ
๔. เป็นผู้สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมกันเป็นสุข ไม่รบกวนภิกษุอื่น ๆ
๕. เป็นผู้เปิดเผยความโอ้อวด ความพยศคดโกงแก่พระศาสดา หรือ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน ตามความเป็นจริง
๖. พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชน พยายาม
ช่วยกันกำจัดความโอ้อวด ความพยศคดโกงเหล่านั้นของเธอได้
๗. เป็นผู้ศึกษา คือ ใฝ่ใจอยู่ว่า ‘ภิกษุอื่น ๆ จะศึกษาหรือไม่ก็ตาม
เฉพาะข้อนี้เราจักศึกษาได้’ เมื่อดำเนินไปก็ดำเนินไปตามทางตรงเท่านั้น
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
๘. เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูก
ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด เรายังไม่บรรลุผล
ที่จะพึงบรรลุ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อัสสาชานิยสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๔.อัสสขฬุงกสูตร
๔. อัสสขฬุงกสูตร
ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้ากระจอก ๘ จำพวก และโทษของม้า
กระจอก ๘ ประการ คนกระจอก ๘ จำพวก และโทษของคนกระจอก ๘ ประการ
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ม้ากระจอก ๘ จำพวก และโทษของม้ากระจอก ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตัก๑เตือนอยู่ ย่อมถอยหลัง ดันรถให้กลับหลัง ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๑
๒. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมหกหลัง ดัดทูบให้หัก ม้ากระจอกบางตัวใน
โลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๒
๓. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นเช่นนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๓
๔. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมเดินผิดทาง๒ ทำให้รถไปผิดทาง ม้ากระจอก
บางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๔
๕. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ย่อมเชิดกายส่วนหน้า เผ่นขึ้นไป ม้ากระจอกบาง
ตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๕

เชิงอรรถ :
๑ ประตัก หมายถึงไม้ที่ฝังเหล็กแหลมข้างปลาย ใช้แทงสัตว์พาหนะ เช่น วัว (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕)
๒ ทำให้รถไปผิดทาง หมายถึงลากรถขึ้นเนิน หรือเข้าพงหนาม (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๔/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๔.อัสสขฬุงกสูตร
๖. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ (ไม่คำนึงถึงนายสารถี) ไม่คำนึงถึงประตัก กัด
บังเหียน๑ หลีกไปตามความประสงค์ ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้
เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของม้ากระจอกประการที่ ๖
๗. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ ไม่ก้าวไป ไม่ถอยหลัง ยืนทื่ออยู่เหมือนเสาเขื่อน
ณ ที่ตรงนั้นนั่นเอง ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็น
โทษของม้ากระจอกประการที่ ๗
๘. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วย
ประตักเตือนอยู่ คุกเท้าหน้าและเท้าหลังลงหมอบทับเท้าทั้ง ๔ อยู่
ที่ตรงนั้นนั่นเอง ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็น
โทษของม้ากระจอกประการที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ม้ากระจอก ๘ จำพวก และโทษของม้ากระจอก ๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย คนกระจอก ๘ จำพวก และโทษของคนกระจอก ๘ ประการ
อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้โจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวก
ภิกษุโจทด้วยอาบัตินั้น ย่อมอำพรางอาบัติไว้ เพราะระลึกไม่ได้ว่า
‘ผมระลึกไม่ได้ ผมระลึกไม่ได้’ เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่า
เหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วยประตัก
เตือนอยู่ ก็ถอยหลัง ดันรถให้กลับหลัง ฉะนั้น คนกระจอกบางคน
ในธรรมวินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๑
๒. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น โต้ตอบภิกษุผู้เป็นโจทก์ว่า ‘การกล่าวของท่านผู้เป็น
คนพาล ไม่เฉียบแหลม จะมีประโยชน์อะไรเล่า ท่านเองย่อมเข้าใจ

เชิงอรรถ :
๑ บังเหียน หมายถึงเครื่องบังคับม้าทำด้วยเหล็ก หรือไม้ใส่ผ่าปากม้า (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๔/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๔.อัสสขฬุงกสูตร
สิ่งที่ควรพูด’ เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอก
ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ก็หกหลัง
ดัดทูบให้หัก ฉะนั้น คนกระจอกบางคนในธรรมวินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี
นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๒
๓. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น กลับยกอาบัติขึ้นปรับภิกษุผู้เป็นโจทก์ว่า ‘ท่านเองก็ต้อง
อาบัติชื่อนี้ ท่านจงทำคืนเสียก่อน’ เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้
ว่าเหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วยประตัก
เตือนอยู่ ก็ยกขาขึ้นตะกุยงอนรถ ถีบงอนรถ ฉะนั้น คนกระจอก
บางคนในธรรมวินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอก
ประการที่ ๓
๔. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง
และไม่พอใจ เรากล่าวเปรียบบุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอก
ที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ ก็เดิน
ผิดทาง ทำให้รถไปผิดทาง ฉะนั้น คนกระจอกบางคนในธรรมวินัย
นี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๔
๕. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น กลับแกว่งแขนในท่ามกลางสงฆ์ เรากล่าวเปรียบบุคคล
ประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทง
ด้วยประตักเตือนอยู่ เชิดกายด้านหน้า เผ่นขึ้นไป ฉะนั้น คนกระจอก
บางคนในธรรมวินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอก
ประการที่ ๕
๖. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจท
ด้วยอาบัตินั้น ไม่เอื้อเฟื้อสงฆ์ ไม่เอื้อเฟื้อภิกษุผู้เป็นโจทก์ ทั้งที่มี
อาบัติติดตัวอยู่ ก็หลีกไปตามความประสงค์ เรากล่าวเปรียบบุคคล
ประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๔.อัสสขฬุงกสูตร
ด้วยประตักเตือนอยู่ ก็ไม่คำนึงถึงนายสารถี ไม่คำนึงถึงประตัก
กัดบังเหียน หลีกไปตามประสงค์ ฉะนั้น คนกระจอกบางคนใน
ธรรมวินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๖
๗. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมไม่ได้ต้องอาบัติเลย ผมไม่ได้ต้อง
อาบัติเลย’ เธอใช้ความนิ่งทำให้สงฆ์ลำบาก เรากล่าวเปรียบบุคคล
ประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’ ถูกแทง
ด้วยประตักเตือนอยู่ ก็ไม่ก้าวไป ไม่ถอยกลับ ยืนทื่ออยู่เหมือน
เสาเขื่อน ณ ที่ตรงนั้นนั่นเอง ฉะนั้น คนกระจอกบางคนในธรรม
วินัยนี้เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๗
๘. ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ ภิกษุรูปที่ถูกพวกภิกษุโจทด้วย
อาบัตินั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไมหนอ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
จึงพยายามกล่าวหาผมนัก เอาละ ผมจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์’ เธอบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์แล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บัดนี้ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายโปรดเบาใจเถิด’ เรากล่าวเปรียบ
บุคคลประเภทนี้ว่าเหมือนม้ากระจอกที่นายสารถีสั่งว่า ‘เดินไป’
ถูกแทงด้วยประตักเตือนอยู่ คุกเท้าหน้าและเท้าหลังลงหมอบทับเท้า
ทั้ง ๔ อยู่ที่ตรงนั้นนั่นเอง ฉะนั้น คนกระจอกบางคนในธรรมวินัยนี้
เป็นอย่างนี้ก็มี นี้เป็นโทษของคนกระจอกประการที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย คนกระจอก ๘ จำพวก และโทษของคนกระจอก ๘ ประการนี้แล
อัสสขฬุงกสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๕.มลสูตร
๕. มลสูตร
ว่าด้วยมลทิน
[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย มลทิน (ความมัวหมอง) ๘ ประการนี้
มลทิน ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มนตร์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
๒. เรือน๑มีความไม่ขยันหมั่นเพียรเป็นมลทิน
๓. ผิวพรรณมีความเกียจคร้านเป็นมลทิน
๔. ผู้รักษามีความประมาทเป็นมลทิน
๕. สตรีมีความประพฤติชั่ว๒ เป็นมลทิน
๖. ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
๗. บาปอกุศลธรรมเป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
๘. มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา
ภิกษุทั้งหลาย มลทิน ๘ ประการนี้แล
มนตร์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียรเป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้านเป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาทเป็นมลทิน
สตรีมีความประพฤติชั่วเป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
๑ เรือน หมายถึงบุคคลผู้อยู่ครองเรือน (องฺ.อฏฐก. ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙)
๒ ประพฤติชั่ว หมายถึงประพฤตินอกใจ (องฺ.อฏฺฐก. ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๖.ทูเตยยสูตร
ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
บาปธรรมเป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา
มลสูตรที่ ๕ จบ
๖. ทูเตยยสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของทูต๑
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรทำหน้าที่ทูตได้
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้จักฟัง
๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
๓. ใฝ่ศึกษา
๔. ทรงจำได้ดี
๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด๒
๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรทำหน้าที่ทูตได้
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรทำหน้าที่ทูตได้

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.จู. (แปล) ๗/๓๔๗/๒๐๘-๒๐๙, ขุ.ธ. ๒๕/๒๔๑-๒๔๓/๕๙
๒ เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด หมายถึงเป็นผู้รู้ความหมายของสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๑๖/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๖.ทูเตยยสูตร
ธรรม ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
ในธรรมวินัยนี้ สารีบุตร
๑. รู้จักฟัง
๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
๓. ใฝ่ศึกษา
๔. ทรงจำได้ดี
๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด
๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท
ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ควรทำหน้าที่
ทูตได้
ภิกษุผู้เข้าสู่ชุมชนที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรง
ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ทำคำพูดให้เสียหาย
ไม่ปกปิดข่าวสาส์น ชี้แจงอย่างไม่มีข้อสงสัย
ถูกย้อนถาม ก็ไม่โกรธ
ภิกษุผู้มีลักษณะเช่นนั้นแล ควรทำหน้าที่ทูตได้
ทูเตยยสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๗.ปฐมพันธนสูตร
๗. ปฐมพันธนสูตร
ว่าด้วยอาการที่เป็นเครื่องผูกใจ สูตรที่ ๑
[๑๗] ภิกษุทั้งหลาย สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยอาการ ๘ อย่าง
อาการ ๘ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยรูป
๒. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยรอยยิ้ม
๓. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยวาจา
๔. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยมารยาท๑
๕. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยดอกไม้หรือผลไม้ที่หักมาจากป่า
๖. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยกลิ่น
๗. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยรส
๘. สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยผัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย สตรีย่อมผูกบุรุษไว้ได้ด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แล สัตว์ที่ถูกผัสสะ
ผูกไว้ ชื่อว่าถูกผูกไว้ด้วยดี
ปฐมพันธนสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มารยาท ในที่นี้หมายถึงธรรมเนียมเกี่ยวกับการนุ่งและการห่มเป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๗/๒๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๘.ทุติยพันธนสูตร
๘. ทุติยพันธนสูตร
ว่าด้วยอาการที่เป็นเครื่องผูกใจ สูตรที่ ๒
[๑๘] ภิกษุทั้งหลาย บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยอาการ ๘ อย่าง
อาการ ๘ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยรูป
๒. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยรอยยิ้ม
๓. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยวาจา
๔. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยมารยาท
๕. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยดอกไม้หรือผลไม้ที่หักมาจากป่า
๖. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยกลิ่น
๗. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยรส
๘. บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยผัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษย่อมผูกสตรีไว้ได้ด้วยอาการ ๘ อย่างนี้แล สัตว์ที่ถูกผัสสะ
ผูกไว้ ชื่อว่าถูกผูกไว้ด้วยดี
ทุติยพันธนสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
๙. ปหาราทสูตร
ว่าด้วยท้าวปหาราทะจอมอสูร
[๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่
ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา ครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูร๑ เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกับท้าวปหาราทะจอมอสูรดังนี้ว่า
“ปหาราทะ พวกอสูรต่างพากันยินดีในมหาสมุทรบ้างไหม”
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอสูรต่างพากัน
ยินดีในมหาสมุทร”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ปหาราทะ ในมหาสมุทร มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏเท่าไร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร”
ท้าวปหาราทะจอมอสูรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทร มีสิ่ง
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ
ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไป
โดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่งที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง
นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ในมหาสมุทรที่
พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร

เชิงอรรถ :
๑ จอมอสูร ในที่นี้หมายถึงผู้เป็นใหญ่แห่งเหล่าอสูร จอมอสูรมี ๓ ตน คือ จอมอสูรเวปจิตติ จอมอสูรราหู
และจอมอสูรปหาราทะ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบก
ทันที การที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่ง
จนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓
ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๔. มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทร
แล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’
ทั้งสิ้น การที่มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี
ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า
‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการ
ที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน
ตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่อง หรือเต็มได้ การที่
แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน
ตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นสิ่งที่
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม การที่มหาสมุทรมีรสเดียว คือ
รสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ใน
มหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี
แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว
การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา
แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม
แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ใน
มหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ
ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว
๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่
อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ
อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี ฯลฯ มีลำตัว
๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี
นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่
พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘
ประการนี้แล ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้บ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปหาราทะ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันยินดีใน
ธรรมวินัยนี้”
ท้าวปหาราทะจอมอสูรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในธรรมวินัยนี้มี
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากัน
ยินดีในธรรมวินัย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัย
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ๑ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ๒
มีการปฏิบัติไปตามลำดับ๓ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที

เชิงอรรถ :
๑ การศึกษาไปตามลำดับในที่นี้หมายถึงการศึกษาสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/
๒๔๔)
๒ การบำเพ็ญไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึงการบำเพ็ญธุดงค์ ๑๓ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๔)
๓ การปฏิบัติไปตามลำดับ ในที่นี้หมายถึง อนุปัสสนา ๙ มหาวิปัสสนา ๑๘ อารัมมณวิภัตติ ๓๘ และ
โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๙/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
เหมือนมหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดย
ลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตาม
ลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่
มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่าง
พากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะ
เหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง การที่สาวก
ทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่ง
ชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ใน
ธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๓. บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่
น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่พรหมจารี๑ แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วย
ราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อม
ประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทร
ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที การที่
บุคคลใดผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่
น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็น
สมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน
ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง
ภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๗๒ หน้า ๑๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ที่
ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๔. วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละ
ชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น
เหมือนมหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี
ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวม
เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น การที่วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัย
ที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า
‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากัน
ยินดีในธรรมวินัยนี้
๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก
ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำ
ให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ การที่แม้หากภิกษุจำนวนมาก
ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือ
เต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ใน
ธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือ
รสเค็ม การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุ
ทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๙.ปหาราทสูตร
๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรที่มีรัตนะมาก มีรัตนะ
หลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา
แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่ธรรมวินัยนี้
มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้
เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำ
ให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เหมือน
มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ
ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว
๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่ธรรมวินัยนี้เป็น
ที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
สกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล๑ นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๓/๒๒๔, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑๐.อุโปสถสูตร
อุโปสถสูตร๑
ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงปาติโมกข์
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของ
นางวิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์
แวดล้อม ประทับนั่ง ในวันอุโบสถ เมื่อราตรีผ่านไป๒แล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว
ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง๓
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๓-๓๘๕/๒๗๗-๒๘๔, ขุ.อุ.๒๕/๔๕/๑๖๓-๑๗๐, อภิ.ก.๓๗/๓๔๖/๑๘๘
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๓๒ หน้า ๔๙ ในเล่มนี้
๓ เหตุที่ทรงนิ่ง ไม่ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เพราะพระองค์ทรงมุ่งอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท
หากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จักแตก ๗ เสี่ยง จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๒๐/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑๐.อุโปสถสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณ
เริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์
ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน แล้วจึงกำหนดจิต
(ของภิกษุ)ด้วยจิต(ของตน)แล้วตรวจดูภิกษุสงฆ์ทุกรูป จึงได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล
มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่
สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี
เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นั้น
ครั้นเห็นแล้ว จึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่าน
จงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส๑กับภิกษุทั้งหลาย”
เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๒ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงจับแขนเขาฉุดให้ออกไปภายนอกซุ้มประตู
ใส่กลอนแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทส(ปาติโมกข์ที่ยกขึ้นแสดง)ที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขา
เสมอกัน (วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑๐.อุโปสถสูตร
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปพ้นแล้ว บริษัทบริสุทธิ์
แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ โมคคัลลานะ โมฆบุรุษ
นี้ดื้ออยู่จนต้องฉุดแขนไล่ออกไป”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ตั้งแต่บัดนี้ไป เธอทั้งหลายพึงทำอุโบสถ พึงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุทั้งหลาย
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ภิกษุทั้งหลาย
เป็นไปไม่ได้ที่ตถาคตจะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์๑
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการที่
พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ
ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดย
ลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความพระดำรัสนี้ เป็นพระดำรัสที่ตรัสมอบหมายให้ภิกษุสาวกยกอาณาปาติโมกข์ (ปาติโมกข์เกี่ยวกับ
ศีลบัญญัติ) ขึ้นแสดง (ดู วิ.ม. (แปล) ๔/๑๓๓/๒๐๙,๑๕๐/๒๒๘) หลังจากที่พระองค์ได้ทรงยกโอวาท-
ปาติโมกข์ (ปาติโมกข์คือพระโอวาท) ขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือนมาเป็นเวลา ๒๐ ปีบริบูรณ์ (ดู ที.ม. ๑๐/๙๐/๔๓,
ขุ.ธ. ๒๕/๑๘๓-๑๘๕/๔๙-๕๐)
อนึ่ง เหตุที่ทรงงดแสดงเอง เพราะทรงประสงค์รักษาพุทธประเพณีว่า เมื่อทรงเห็นว่าบริษัท
ไม่บริสุทธิ์แล้ว พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะไม่ทรงทำอุโบสถ ไม่ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง แต่เพื่อป้องกัน
ไม่ให้อุโบสถกรรมของภิกษุสงฆ์ขาดไป จึงทรงอนุญาตให้สงฆ์ยกอาณาปาติโมกข์ขึ้นแสดงแทน (อง.อฏฐก.
ฏีกา ๓/๒๐/๒๘๖-๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค ๑๐.อุโปสถสูตร
ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้ว
ต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ฯลฯ๑
๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ
ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี ฯลฯ
มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์
ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค
คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐ โยชน์ก็มี ฯลฯ มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี
นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่
พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล
ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ
มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที
เหมือนมหาสมุทรที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไป
โดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที การที่ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตาม
ลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ใช่
มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่าง
พากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องหมาย ฯลฯ ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๙ (ปหาราทสูตร) หน้า ๒๔๖-๒๕๑
ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๒.มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ฯลฯ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลา
ติมิติมิงคละ ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว ๑๐๐
โยชน์ก็มี ฯลฯ มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี การที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่
ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล ฯลฯ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล นี้เป็นธรรม
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุ
ทั้งหลาย พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้”
อุโปสถสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๒ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เวรัญชสูตร ๒. สีหสูตร
๓. อัสสาชานียสูตร ๔. อัสสขฬุงกสูตร
๕. มลสูตร ๖. ทูเตยยสูตร
๗. ปฐมพันธนสูตร ๘. ทุติยพันธนสูตร
๙. ปหาราทสูตร ๑๐. อุโปสถสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑.ปฐมอุคคสูตร
๓. คหปติวรรค
หมวดว่าด้วยคหบดี
๑. ปฐมอุคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอุคคคหบดี สูตรที่ ๑
[๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีว่าเป็นผู้ประกอบ
ด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัส
เวยยากรณภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร
ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่งครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น อุคคคหบดี
ชาวเมืองเวสาลีเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุนั้นได้
ถามอุคคคหบดีนั้นดังนี้ว่า
“ท่านอุคคคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วย
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
๘ ประการ ที่เป็นเหตุให้ท่านได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาค เป็นอย่างไร”
อุคคคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ โยมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรง
พยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
เหล่าไหน แต่ขอท่านโปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการที่โยมมี
อยู่เถิด โปรดใส่ใจให้ดี โยมจักกล่าว ภิกษุนั้นรับคำแล้ว อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี
จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
๑. “เมื่อโยมได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ที่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับ
การเห็นนั่นเอง โยมก็มีจิตเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค นี้แลเป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ที่โยมมีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑.ปฐมอุคคสูตร
๒. โยมมีจิตเลื่อมใสแล้ว เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรง
แสดงอนุปุพพีกถาแก่โยม คือ ทรงประกาศทานกถา(เรื่องทาน)
สีลกถา(เรื่องศีล) สัคคกถา(เรื่องสวรรค์) กามาทีนวกถา(เรื่องโทษ
ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม) เนกขัมมานิสังสกถา
(เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โยมเป็นผู้มีจิตควร อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดแก่โยมบนที่นั่งนั้นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือน
ผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี ท่าน
ผู้เจริญ โยมนั้นได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า
ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในศาสนาของพระศาสดา ได้ถึง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว และได้สมาทาน
สิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ บนที่นั่งนั่นเอง นี้แลเป็นธรรม
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ที่โยมมีอยู่
๓. โยมนั้นมีภรรยาที่เป็นสาวรุ่น ๔ คน โยมเข้าไปหาภรรยาเหล่านั้น
ถึงที่อยู่แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย ฉันได้สมาทาน
สิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ แล้ว หญิงใดปรารถนา หญิงนั้น
จงใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านี้ และจงทำบุญ หรือกลับไปยังตระกูลญาติ
ของตนเถิด หรือมีความประสงค์ชาย ฉันก็จะมอบพวกเธอให้แก่เขา’
เมื่อโยมกล่าวอย่างนี้แล้ว ภรรยาหลวงได้กล่าวกับโยมว่า ‘ขอท่าน
โปรดมอบดิฉันให้แก่ชายผู้มีชื่อนี้เถิด’ ลำดับนั้น โยมได้เรียกชาย
คนนั้นมา ใช้มือซ้ายจับภรรยา มือขวาจับเต้าน้ำหลั่งน้ำมอบให้
ชายคนนั้นไป เมื่อบริจาคภรรยาสาวรุ่นให้เป็นทาน โยมไม่รู้สึก
ว่าจิตแปรไป นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการ
ที่ ๓ ที่โยมมีอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒ หน้า ๒๓๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑.ปฐมอุคคสูตร
๔. ตระกูลของโยมมีโภคทรัพย์อยู่พร้อม และโภคทรัพย์เหล่านั้น โยม
ได้จำแนกแจกจ่ายกับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แลเป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ที่โยมมีอยู่
๕. โยมเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุใด ก็เข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเท่านั้น มิใช่เข้าไป
นั่งใกล้โดยไม่เคารพ นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๕ ที่โยมมีอยู่
๖. หากท่านผู้มีอายุนั้นจะแสดงธรรมแก่โยม โยมจะฟังโดยเคารพ
เท่านั้น มิใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นจะไม่แสดงธรรม
แก่โยม โยมก็จะแสดงธรรมแก่ท่าน นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ที่โยมมีอยู่
๗. ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่พวกเทวดาเข้ามาหาโยมแล้วบอกว่า ‘ท่าน
คหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ เมื่อพวกเทวดากล่าว
อย่างนี้แล้ว โยมได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘เทวดา
พวกท่านจะบอกอย่างนี้ หรือไม่บอกอย่างนี้ก็ตาม แท้จริง ธรรมก็
เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ โยมไม่รู้สึกฟูใจเพราะ
เหตุนั้นเลยว่า ‘พวกเทวดาเข้ามาหาโยม หรือโยมสนทนากับพวก
เทวดา’ นี้แลป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗
ที่โยมมีอยู่
๘. สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ โยม
ไม่เห็นสังโยชน์อะไรในตนที่ยังละไม่ได้ นี้แลป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ที่โยมมีอยู่
ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่โยมมีอยู่
แต่โยมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการเหล่าไหน”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีแล้ว
ลุกจากอาสนะจากไป ท่านกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่อง
ที่สนทนาปราศรัยกับอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีทั้งหมดให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๒.ทุตติยอุคคสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี เมื่อจะ
พยากรณ์ให้ถูกต้อง พึงพยากรณ์ไปตามนั้น ภิกษุ เราพยากรณ์ว่าอุคคคหบดีชาว
เมืองเวสาลีเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล
และเธอจงทรงจำอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้”
ปฐมอุคคสูตรที่ ๑ จบ
๒. ทุติยอุคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอุคคคหบดี สูตรที่ ๒
[๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านหัตถิคาม แคว้นวัชชี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคามว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเวยยากรณ-
ภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่งครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคาม แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ต่อมา อุคคคหบดี
ชาวบ้านหัตถิคามเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ภิกษุนั้นได้
กล่าวกับอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคามดังนี้ว่า
“ท่านอุคคคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วย
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ ท่านอุคคคหบดี ธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง”
อุคคคหบดีกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ โยมไม่ทราบเลยว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ทรง
พยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
เหล่าไหน’ แต่ขอท่านโปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการที่โยม
มีอยู่เถิด โปรดใส่ใจให้ดี โยมจักกล่าว” ภิกษุนั้นรับคำแล้ว อุคคคหบดีชาวบ้าน
หัตถิคามจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๒.ทุตติยอุคคสูตร
๑. เมื่อโยมกำลังเที่ยวชมอยู่ในสวนนาควัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่
ที่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับการเห็นนั่นเอง โยมก็มีจิตเลื่อมใสต่อ
พระผู้มีพระภาค และส่างจากเมาสุรา นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์
ไม่เคยปรากฏประการที่ ๑ ที่โยมมีอยู่
๒. โยมมีจิตเลื่อมใสแล้ว เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงอนุปุพพีกถาแก่โยม คือ ทรงประกาศทานกถา
สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโยมมีจิตควร อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดแก่โยมบนที่นั่งนั้นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือน
ผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ท่านผู้เจริญ โยมนั้นได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า
ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในศาสนาของพระศาสดา ได้ถึง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว และได้
สมาทานสิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ บนที่นั่งนั่นเอง นี้แล
เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๒ ที่โยมมีอยู่
๓. โยมนั้นมีภรรยาที่เป็นสาวรุ่น ๔ คน โยมเข้าไปหาภรรยาเหล่านั้น
ถึงที่อยู่แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย ฉันได้สมาทาน
สิกขาบทที่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ แล้ว หญิงใดปรารถนา หญิงนั้น
จงใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านี้ และจงทำบุญ หรือกลับไปยังตระกูล
ญาติของตนเถิด หรือมีความประสงค์ชาย ฉันก็จะมอบพวกเธอให้
แก่เขา’ เมื่อโยมกล่าวอย่างนี้แล้ว ภรรยาหลวงได้กล่าวกับโยมว่า
‘ขอท่านโปรดมอบดิฉันให้แก่ชายผู้มีชื่อนี้เถิด’ ลำดับนั้น โยมได้
เรียกชายคนนั้นมาใช้มือซ้ายจับภรรยา มือขวาจับเต้าน้ำหลั่งน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๒.ทุตติยอุคคสูตร
มอบให้ชายคนนั้นไป เมื่อบริจาคภรรยาสาวรุ่นให้เป็นทาน โยมไม่
รู้สึกว่าจิตแปรไป นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการ
ที่ ๓ ที่โยมมีอยู่
๔. ตระกูลของโยมมีโภคทรัพย์อยู่พร้อม และโภคทรัพย์เหล่านั้น โยม
ได้จำแนกแจกจ่ายกับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แลป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ที่โยมมีอยู่
๕. โยมเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุใด ก็เข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเท่านั้น มิใช่
เข้าไปนั่งใกล้โดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นจะแสดงธรรมแก่โยม
โยมจะฟังโดยเคารพเท่านั้น มิใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มี
อายุนั้นจะไม่แสดงธรรมแก่โยม โยมก็จะแสดงธรรมแก่ท่าน นี้แล
เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๕ ที่โยมมีอยู่
๖. ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่เมื่อโยมนิมนต์พระสงฆ์มาแล้ว พวกเทวดาเข้า
มาหาโยม แล้วบอกว่า ‘ท่านคหบดี ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโต-
ภาควิมุต๑ รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้น
เป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี
รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้น
เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม’ ท่านผู้เจริญ เมื่ออังคาสพระสงฆ์ โยมไม่
รู้สึกให้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า ‘จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย หรือจะ
ถวายแก่ท่านรูปนี้มาก’ แท้จริงโยมวางจิตสม่ำเสมอถวาย นี้แลป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๖ ที่โยมมีอยู่
๗. ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่พวกเทวดาเข้ามาหาโยมแล้วบอกว่า ‘ท่าน
คหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ เมื่อพวกเทวดา
กล่าวอย่างนี้แล้ว โยมได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘เทวดา
พวกท่านจะบอกอย่างนี้ หรือไม่บอกอย่างนี้ก็ตาม แท้จริง ธรรมก็

เชิงอรรถ :
๑ ดูความหมายของบุคคล ๗ จำพวก ตั้งแต่อุภโตภาควิมุตจนถึงสัทธานุสารี ในเชิงอรรถที่ ๒-๕ หน้า ๒๐
และเชิงอรรถที่ ๑-๓ หน้า ๒๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๒.ทุตติยอุคคสูตร
เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว’ โยมไม่รู้สึกฟูใจเพราะเหตุ
นั้นเลยว่า ‘พวกเทวดาเข้ามาหาโยม หรือโยมสนทนากับพวกเทวดา’
นี้แลป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๗ ที่โยมมีอยู่
๘. หากโยมจะสิ้นชีวิตก่อนพระผู้มีพระภาค ก็ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สังโยชน์ที่เป็นเหตุให้อุคค-
คหบดี ชาวบ้านหัตถิคามกลับมาสู่โลกนี้อีกไม่มี นี้แลเป็นธรรมที่
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ที่โยมมีอยู่
ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล ที่โยมมีอยู่
แต่โยมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่าโยมเป็นผู้ประกอบด้วย
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการเหล่าไหน”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคามแล้ว
ลุกจากอาสนะจากไป ท่านกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่อง
ที่สนทนาปราศรัยกับอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคามทั้งหมดให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ อุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคาม เมื่อ
จะพยากรณ์ให้ถูกต้อง พึงพยากรณ์ไปตามนั้น ภิกษุ เราได้พยากรณ์ว่าอุคคคหบดี
ชาวบ้านหัตถิคามป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
นี้แล และเธอจงทรงจำอุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคามว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้”
ทุติยอุคคสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๓.ปฐมหัตถกสูตร
๓. ปฐมหัตถกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของหัตถกอุบาสก สูตรที่ ๑
[๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ กรุงอาฬวี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสก๑ชาวเมืองอาฬวีว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล๒
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
๕. เป็นพหูสูต ๖. เป็นผู้มีจาคะ
๗. เป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่าเป็นผู้
ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธ-
อาสน์เข้าไปสู่พระวิหาร
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่งครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้
ต่อมา หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเข้าไปหาภิกษุนั้นถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ภิกษุนั้นได้กล่าวกับหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ

เชิงอรรถ :
๑ หัตถกอุบาสก หมายถึงอุบาสกที่เป็นพระราชกุมารที่พระผู้มีพระภาคทรงรับจากมือของอาฬวกยักษ์ด้วย
พระหัตถ์ทั้งสอง (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๓/๒๔๖)
๒ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ และศีล ๑๐ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๓/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๓.ปฐมหัตถกสูตร
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
๕. เป็นพหูสูต ๖. เป็นผู้มีจาคะ
๗. เป็นผู้มีปัญญา

ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการนี้แล”
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีถามว่า “ท่านผู้เจริญ คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มี
ในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้บ้างเลยหรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “ผู้มีอายุ คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มี
พระภาคทรงพยากรณ์นี้เลย”
หัตถกอุบาสกกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ดีจริง คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีใน
ตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้เลย”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
ลุกจากอาสนะแล้วจากไป กลับจากบิณฑบาตแล้ว หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในเวลาเช้า ข้าพระองค์ครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ต่อมา หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี ได้เข้ามาหาข้าพระองค์
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้กล่าวกับหัตถก-
อุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า ‘ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็น
ผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๓.ปฐมหัตถกสูตร
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
๕. เป็นพหูสูต ๖. เป็นผู้มีจาคะ
๗. เป็นผู้มีปัญญา

ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๗ ประการนี้’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีได้กล่าวกับ
ข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มี
พระภาคทรงพยากรณ์นี้บ้างเลยหรือ’ ข้าพระองค์ตอบว่า ‘ผู้มีอายุ คฤหัสถ์ผู้นุ่ง
ผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้’ เขาตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ดีจริง คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว ไม่มีในตำแหน่งที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์นี้เลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ภิกษุผู้เป็นกุลบุตรนั้นเป็นผู้มักน้อย
ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงทรงจำหัตถก-
อุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏนี้ คือ
ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน เพราะความเป็นผู้มักนัอย”๑
ปฐมหัตถกสูตรที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้กุศลธรรมที่มีอยู่ในตน เพราะความเป็นผู้มักน้อย” นี้เป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์ไม่เคยปรากฏประการที่ ๘ ที่ตรัสเพิ่มเติมภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๔.ทุติยหัตถกสูตร
๔. ทุติยหัตถกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ของหัตถกอุบาสก สูตรที่ ๒
[๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
ลำดับนั้น หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี๑มีอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คนแวดล้อม
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสกับหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่า
“หัตถกะ บริษัทของท่านนี้มากนัก ท่านสงเคราะห์บริษัทจำนวนมากนี้อย่างไร”
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
สงเคราะห์บริษัทจำนวนมากนี้ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคได้
ทรงแสดงไว้แล้ว คือ ข้าพระองค์รู้ว่า ‘ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน’ ก็สงเคราะห์
ด้วยทาน รู้ว่า ‘ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยคำพูดอันไพเราะ’ ก็สงเคราะห์ด้วยคำพูดอัน
ไพเราะ รู้ว่า ‘ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการทำประโยชน์ให้’ ก็สงเคราะห์ด้วยการ
ทำประโยชน์ให้ รู้ว่า ‘ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวสม่ำเสมอ’ ก็สงเคราะห์ด้วย
การวางตัวสม่ำเสมอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โภคทรัพย์ในตระกูลของข้าพระองค์มี
อยู่พร้อม คนทั้งหลายย่อมเข้าใจคำพูดของข้าพระองค์ว่าควรฟัง ไม่เหมือนคำพูด
ของคนจน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ หัตถกะ วิธีนี้ของท่านเป็นอุบายที่จะ
สงเคราะห์บริษัทจำนวนมากได้ จริงอยู่ ใครก็ตามที่สงเคราะห์บริษัทจำนวนมากได้
ในอดีตกาล ก็ล้วนแต่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล ใครก็ตามที่จัก
สงเคราะห์บริษัทจำนวนมากในอนาคตกาล ก็ล้วนแต่จักสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ
๔ ประการนี้แล ใครก็ตามที่กำลังสงเคราะห์บริษัทจำนวนมากในปัจจุบัน ก็ล้วนแต่
สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้แล”
หลังจากนั้น หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น

เชิงอรรถ :
๑ อุบาสกชาวเมืองอาฬวี ในที่นี้หมายถึงอุบาสกที่เป็นอริยสาวกชั้นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี
(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๔/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๕.มหานามสูตร
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วจากไป
ลำดับนั้น เมื่อหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาครับ
สั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีศีล
๓. เป็นผู้มีหิริ ๔. เป็นผู้มีโอตตัปปะ
๕. เป็นพหูสูต ๖. เป็นผู้มีจาคะ
๗. เป็นผู้มีปัญญา ๘. เป็นผู้มีความมักน้อย

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีว่าเป็นผู้
ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการนี้แล”
ทุติยหัตถกสูตรที่ ๔ จบ
๕. มหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ
[๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ลำดับนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าอุบาสก ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหานามะ เมื่อใดแล บุคคลเป็นผู้ถึง
พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นผู้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ เป็นผู้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
เมื่อนั้น บุคคลชื่อว่าอุบาสก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๕.มหานามสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้มีศีล ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
“มหานามะ เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาด
จากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท เมื่อนั้นอุบาสกชื่อว่าผู้มีศีล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
“มหานามะ เมื่อใดแล อุบาสก ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา แต่ไม่ชักชวน
ผู้อื่นให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น
ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้เป็น
ผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ตนเองเป็นผู้ประสงค์จะเห็นภิกษุ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้เห็นภิกษุ
ตนเองเป็นผู้ประสงค์จะฟังสัทธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ฟังสัทธรรม ตนเองเป็นผู้
ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ ตนเองเป็น
ผู้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ฟังแล้ว แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม
ตนเองเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม๑ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
“มหานามะ เมื่อใดแล อุบาสก ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา และชักชวน
ผู้อื่นให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และชักชวนผู้อื่น
ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ และชักชวนผู้อื่นให้เป็น
ผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ตนเองเป็นผู้ประสงค์จะเห็นภิกษุ และชักชวนผู้อื่นให้เห็นภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นที่เหมาะแก่โลกุตตรธรรม ๙ ประการ
(คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๗/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๖.ชีวกสูตร
ตนเองเป็นผู้ประสงค์จะฟังสัทธรรม และชักชวนผู้อื่นให้ฟังสัทธรรม ตนเองเป็นผู้ทรง
จำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ และชักชวนผู้อื่นให้ทรงจำธรรมที่ฟังแล้วไว้ได้ ตนเองเป็นผู้
พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นให้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม
ตนเองเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม และชักชวนผู้อื่นให้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”
มหานามสูตรที่ ๕ จบ
๖. ชีวกสูตร
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ
[๒๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ชีวกัมพวัน เขตกรุงราชคฤห์
ลำดับนั้น หมอชีวกโกมารภัจเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าอุบาสก ด้วยเพียงเหตุเท่าไรหนอแล”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชีวก เมื่อใดแล บุคคลเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า
เป็นสรณะ เป็นผู้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ และเป็นผู้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เมื่อนั้น
บุคคลชื่อว่าอุบาสก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้มีศีล ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
“ชีวก เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เมื่อนั้น อุบาสก
ชื่อว่าผู้มีศีล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ ๒๕ (มหานามสูตร) หน้า ๒๖๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๖.ชีวกสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
“ชีวก เมื่อใดแล อุบาสก ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา แต่ไม่ชักชวน
ผู้อื่นให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ฯลฯ๑ ตนเองเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น อุบาสก
ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร”
๊ชีวก เมื่อใดแล อุบาสก ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา และชักชวนผู้อื่นให้
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และชักชวนผู้อื่นให้เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยศีล ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ และชักชวนผู้อื่นให้เป็นผู้ถึงพร้อม
ด้วยจาคะ ตนเองเป็นผู้ประสงค์จะเห็นภิกษุ และชักชวนผู้อื่นให้เห็นภิกษุ ตนเองเป็น
ผู้ประสงค์จะฟังสัทธรรม และชักชวนผู้อื่นให้ฟังสัทธรรม ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่
ฟังแล้วไว้ได้ และชักชวนผู้อื่นให้ทรงจำธรรมไว้ได้ ตนเองเป็นผู้พิจารณาเนื้อความแห่ง
ธรรมที่ฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นให้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ตนเองเป็นผู้รู้อรรถ
รู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เมื่อนั้น อุบาสกชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้แล”
ชีวกสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๒๕ (มหานามสูตร) หน้า ๒๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๘.ทุติยพลสูตร
๗. ปฐมพลสูตร
ว่าด้วยกำลัง สูตรที่ ๑
[๒๗] ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๘ ประการนี้
กำลัง ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง
๒. มาตุคามมีความโกรธเป็นกำลัง
๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง
๔. พระราชามีอิสริยยศเป็นกำลัง
๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
๖. บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
๗. คนผู้เป็นพหูสูตมีการพิจารณาเป็นกำลัง
๘. สมณพราหมณ์มีขันติ๑เป็นกำลัง
ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๘ ประการนี้แล
ปฐมพลสูตรที่ ๗ จบ
๘. ทุติยพลสูตร๒
ว่าด้วยกำลัง สูตรที่ ๒
[๒๘] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“สารีบุตร ภิกษุขีณาสพมีกำลัง๓เท่าไร จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า
‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ขันติ ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๗/๒๔๘)
๒ ดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๐/๒๐๔-๒๐๖
๓ กำลัง ในที่นี้หมายถึงญาณพละ(กำลังแห่งญาณ) (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๘/๒๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๘.ทุติยพลสูตร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง
๘ ประการ จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
กำลังของภิกษุขีณาสพ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพในพระธรรมวินัยนี้เห็นว่าเป็น
สภาวะไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบ๑ตามความเป็นจริง แม้ข้อที่
สังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพ
ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะ
ของเราสิ้นแล้ว’
๒. กามทั้งหลายเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แม้ข้อที่กามทั้งหลายเป็น
ธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิงด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพ
อาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
๓. จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติน้อมไป โน้มไป โอนไป ตั้งอยู่ใน
วิเวก๒ ยินดียิ่งในเนกขัมมะ๓ ปราศจากเงื่อนธรรม๔อันเป็นที่ตั้งแห่ง
อาสวะโดยประการทั้งปวง แม้ข้อที่จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติ
น้อมไป โน้มไป โอนไป ตั้งอยู่ในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ ปราศจาก
เงื่อนธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง นี้ก็เป็นกำลัง
ของภิกษุขีณาสพ ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาอันชอบ ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๘/๒๔๘)
๒ วิเวก หมายถึงนิพพาน (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๘/๒๔๘) และดู องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๐/๒๐๔-๒๐๖
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงบรรพชา (การบวช) (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๘/๒๔๘)
๔ ปราศจากเงื่อนธรรม ในที่นี้หมายถึงปราศจากตัณหา ไม่มีความยึดติดหรือหมดตัณหาแล้ว (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๒๘/๒๔๘, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๒๘/๒๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๙.อักขณสูตร
๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว แม้ข้อที่
สติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว นี้ก็เป็น
กำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
๕. อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
๖. อินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
๗. โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
๘. อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว แม้
ข้อที่อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว
นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความ
สิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง ๘ ประการนี้แล จึงปฏิญญา
ความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว”
ทุติยพลสูตรที่ ๘ จบ
๙. อักขณสูตร
ว่าด้วยขณะที่ไม่สมควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์๑
[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับกล่าวว่า ‘ชาวโลกทำกิจในขณะ๒
ชาวโลกทำกิจในขณะ’ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะเลย ภิกษุทั้งหลาย กาลที่ไม่ใช่
ขณะไม่ใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้
กาล ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๒/๒๓๓-๒๓๔
๒ ทำกิจในขณะ หมายถึงทำกิจทั้งหลายในเมื่อมีโอกาส (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๙/๒๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๙.อักขณสูตร
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค อุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ และแสดง
ธรรม๑ที่นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน๒ ให้ถึงการตรัสรู้
ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงนรก นี้ไม่ใช่ขณะ
ไม่ใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ประการที่ ๑
๒. ตถาคต ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค อุบัติขึ้นแล้วในโลก และแสดง
ธรรมที่นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้
ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ฯลฯ
๓. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงเปรตวิสัย ฯลฯ
๔. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงเทพนิกาย๓ที่มีอายุยืนชั้นใด
ชั้นหนึ่งแล้ว ฯลฯ
๕. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่
ในพวกมิลักขะที่ไม่รู้เดียงสา ที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ
อุบาสิกาผ่านไปมา ฯลฯ
๖. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท เป็น
มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็
ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ
โอปปาติกสัตว์๔ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
ก็ไม่มีในโลก ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสัจจะ ๔ (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๙/๒๔๘) และดู ที.ปา.๑๑/๓๕๘/๒๖๙
๒ ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงความดับกิเลส (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๙/๒๔๘)
๓ เทพนิกาย ในที่นี้หมายถึงหมู่เทพเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ (องฺ.อฏฺฐก.อ.๓/๒๙/๒๔๘)
๔ โอปปาติกสัตว์ คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่นเทวดา
และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑/๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๙.อักขณสูตร
๗. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท เป็นคน
มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ๑ ไม่สามารถจะรู้เนื้อความแห่ง
สุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ประการที่ ๗
๘. ตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค ไม่อุบัติขึ้นแล้วในโลก และไม่แสดงธรรมที่นำ
ความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ ที่พระสุคต
ทรงประกาศแล้ว ถึงบุคคลนี้จะกลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท และ
เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ สามารถรู้เนื้อความ
แห่งสุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ประการที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย กาลที่มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการ
นี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ขณะและสมัยที่ควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีประการเดียวเท่านั้น
ขณะและสมัยประการเดียวนั้น เป็นอย่างไร
คือ ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคนเซอะ แปลจากบาลีว่า ‘เอฬมูโค’ อรรถกถาอธิบายว่า ‘ปคฺฆริตเขฬมูโค’ แปลว่า ‘เป็นใบ้มี
น้ำลายไหล’ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๒/๔๘) หมายถึงใช้ปากพูดได้แต่เป็นใบ้ พูดไม่ชัด (สํ.ม.อ. ๓/๒๒๕-๒๓๑/
๒๒๓ แต่ในอภิธานปฺปทีปิกาฏีกา อธิบายว่า หมายถึงผู้ไม่ฉลาดพูดและไม่ฉลาดฟัง และไม่ฉลาดในภาษา
ที่จะพูด (วตฺตุํ โสตุญฺจ อกุสโล, วจเน จ อกุสโล) และแยกอธิบายอีกว่า เอโฬ หมายถึง พธิโร (คนหูหนวก)
มูโค หมายถึง อวจโน (พูดไม่ได้) หรือหมายถึงคนโอ้อวด (สเฐปิ เอฬมูโค) (อภิธา.ฏีกา คาถา ๗๓๔)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” ให้ความหมายว่า Idiot (โง่ บ้า จิตทราม)
หรือ lack-wit (ขาดสติ) (The Book of the Gradual sayings, VOL. 111 PP. 106, 132)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๙.อักขณสูตร
อุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ และแสดงธรรมที่จะนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน
ให้ถึงการตรัสรู้ ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว และบุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท
และเป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ สามารถรู้เนื้อความแห่งสุภาษิตและ
ทุพภาษิตได้ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นขณะและสมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ประการ
เดียวเท่านั้น
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
เหล่าชนผู้ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรมดีแล้ว
ยังไม่ได้ขณะ ชื่อว่าปล่อยขณะให้ล่วงไป
ชนหมู่มากกล่าวถึงกาลที่มิใช่ขณะว่าทำอันตรายต่อมรรค
พระตถาคตทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกเพียงบางครั้งบางคราว
สิ่งที่มาพร้อมกันที่หาได้ยากในโลก คือ
การได้กำเนิดเป็นมนุษย์และการแสดงสัทธรรม
ชนผู้ใคร่ประโยชน์ ควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น
บุคคลควรเข้าใจสัทธรรม
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะคนผู้ล่วงเลยขณะไป
ย่อมยัดเยียดเศร้าโศกอยู่ในนรก
หากเขาปล่อยประโยชน์ให้เสียไป
ไม่บรรลุความเป็นผู้แน่นอนต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้
จักเดือดร้อนในภายหลังสิ้นกาลนาน
เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยประโยชน์ให้เสียไป ฉะนั้น
คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม
จักเสวยสังสารวัฏคือชาติและมรณะสิ้นกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑๐.อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
ส่วนชนเหล่าใดได้ความเป็นมนุษย์แล้ว
เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรมดีแล้ว
ได้ทำแล้ว จักทำ หรือกำลังทำตามพระดำรัสของพระศาสดา
ปฏิบัติตามแนวทางที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้รู้แจ้งขณะ
คือพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก
บุคคลพึงเป็นผู้คุ้มครองสังวร๑ที่พระตถาคตผู้มีพระจักษุ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทรงแสดงแล้ว
พึงเป็นผู้ไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ชนเหล่าใดตัดอนุสัยทั้งปวงที่ไปตามฝั่งคือบ่วงแห่งมาร
เป็นผู้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่ง๒ในโลก
อักขณสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
ว่าด้วยมหาปุริสวิตกของพระอนุรุทธะ
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าเภสกฬามิคทายวัน เขต
กรุงสุงสุมารคิระ๓ แคว้นภัคคะ สมัยนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดอย่างนี้ว่า “นี้เป็นธรรม๔

เชิงอรรถ :
๑ สังวร ในที่นี้หมายถึงสีลสังวร (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๙/๒๔๙)
๒ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๙/๒๔๙)
๓ สุงสุมารคิระ หมายถึงชื่อนครหลวงแห่งแคว้นภัคคะที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๘ สุงสุมารคีรี ก็เรียก
๔ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๕๐) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๘/๒๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑๐.อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
ของบุคคลผู้มักน้อย๑ ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มักมาก นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สันโดษ
ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ไม่สันโดษ นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สงัด๒ ไม่ใช่ธรรมของบุคคล
ผู้ยินดีในการคลุกคลี๓ นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ธรรมของ
บุคคลผู้เกียจคร้าน นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้หลง
ลืมสติ นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีใจไม่ตั้งมั่น นี้เป็น
ธรรมของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีปัญญาทราม”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของท่านพระอนุรุทธะด้วยพระทัยแล้ว
ทรงหายจากเภสกฬามิคทายวัน เขตกรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ไปปรากฏต่อ
หน้าท่านพระอนุรุทธะที่ปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี๔ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ฝ่ายท่านพระอนุรุทธะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ ดีจริง อนุรุทธะ เธอตรึกมหาปุริสวิตกว่า ‘นี้เป็นธรรม
ของบุคคลผู้มักน้อย ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มักมาก นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สันโดษ
ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ไม่สันโดษ นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สงัด ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้
ยินดีในการคลุกคลี นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ธรรมของบุคคล
ผู้เกียจคร้าน นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้หลงลืมสติ

เชิงอรรถ :
๑ มักน้อย ในที่นี้หมายถึงความมักน้อย ๔ อย่าง คือ (๑) มักน้อยในปัจจัย กล่าวคือ เมื่อคนอื่นให้ของมาก
ก็รับน้อย เมื่อเขาให้ของน้อย ก็รับน้อยกว่า (๒) มักน้อยในการบรรลุ กล่าวคือ ไม่ให้บุคคลอื่นรู้การ
บรรลุธรรมของตน (๓) มักน้อยในปริยัตติ กล่าวคือ แม้ตนเองเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ก็ไม่ให้บุคคลอื่นรู้
(๔) มักน้อยในธุดงค์ กล่าวคือ ไม่ให้บุคคลอื่นรู้การรักษาธุดงค์ของตน ดุจพระเถระผู้เป็นพี่น้องกัน ๒ รูป
(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๕๐)
๒ สงัด ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๓ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๕๐)
๓ ยินดีในการคลุกคลี ในที่นี้หมายถึงยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และความคลุกคลีด้วยกิเลส (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๓๐/๒๕๑)
๔ เจตี เป็นชื่อแคว้นหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเจ้าที่มีพระนามว่าเจตี (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑๐.อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีใจไม่ตั้งมั่น นี้เป็นธรรม
ของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีปัญญาทราม’ อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น
เธอจงตรึกมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ นี้ว่า ‘นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ยินดีในนิปปปัญจธรรม๑
ผู้พอใจในนิปปปัญจธรรม ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ยินดีในปปัญจธรรม๒ ผู้พอใจใน
ปปัญจธรรม’
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ เมื่อนั้น เธอจัก
หวังได้ทีเดียวว่า ‘จักสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่’
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ เมื่อนั้น เธอจัก
หวังได้ทีเดียวว่า ‘เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป จักบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใส
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิด
จากสมาธิอยู่’
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ เมื่อนั้น เธอจัก
หวังได้ทีเดียวว่า ‘เพราะปีติจางคลายไป จักเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ
อยู่เป็นสุข’
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ เมื่อนั้น เธอจัก
หวังได้ทีเดียวว่า ‘เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
จักบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่’
อนุรทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ และจักได้ฌาน ๔
อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก เมื่อนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วยความ
ยินดี ด้วยความไม่สะดุ้งกลัว ด้วยความอยู่ผาสุก ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน เปรียบ
เหมือนหีบใส่ผ้าของคหบดี หรือบุตรคหบดีเต็มไปด้วยผ้าที่ย้อมด้วยสีต่าง ๆ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ นิปปปัญจธรรม หมายถึงนิพพาน (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๕๑)
๒ ปปัญจธรรม หมายถึงตัณหา มานะ และทิฏฐิ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๐/๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑๐.อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ และจักได้
ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดย
ไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก เมื่อนั้น อาหารคือคำข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้งจักปรากฏ
แก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้งกลัว ด้วยความอยู่ผาสุก
ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน เปรียบเหมือนข้าวสุกแห่งข้าวสาลีของคหบดีหรือบุตรคหบดี
ที่คัดกากออกแล้ว มีแกงหลายอย่าง มีกับหลายอย่าง ฉะนั้น
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ และจักได้ฌาน ๔
อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก เมื่อนั้น เสนาสนะคือโคนไม้จักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วย
ความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้งกลัว ด้วยความอยู่ผาสุก ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนเรือนยอดของคหบดีหรือบุตรคหบดีที่โบกทั้งภายในและภายนอกลมพัด
เข้าไม่ได้ มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ และจักได้ฌาน ๔
อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก เมื่อนั้น ที่นอนและที่นั่งที่ลาดด้วยหญ้าจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ
อยู่ด้วยความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้งกลัว ด้วยความอยู่ผาสุก ด้วยการก้าวลงสู่
นิพพาน เปรียบเหมือนบัลลังก์ของคหบดีหรือบุตรคหบดีที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วย
เครื่องลาดขนแกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะลาย ลาดด้วยเครื่องลาด
อย่างดีทำด้วยหนังชะมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง ฉะนั้น
อนุรุทธะ เมื่อใดแล เธอจักตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการนี้ และจักได้ฌาน ๔
อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก เมื่อนั้น ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าจักปรากฏแก่เธอผู้สันโดษ อยู่ด้วย
ความยินดี ด้วยความไม่สะดุ้งกลัว ด้วยความอยู่ผาสุก ด้วยการก้าวลงสู่นิพพาน
เปรียบเหมือนเภสัชชนิดต่าง ๆ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยของคหบดี
หรือบุตรคหบดี
อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เธอควรอยู่จำพรรษาที่ปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตีนี้แล
ต่อไปเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [๑.ปฐมปัณณาสก์] ๓.คหปติวรรค ๑๐.อนุรุทธมหาวิตักกสูตร
ท่านพระอนุรุทธะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระอนุรุทธะด้วยพระโอวาทนี้แล้ว
ทรงหายจากปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี ไปปรากฏที่เภสกฬามิคทายวัน เขตกรุง
สุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ แล้วรับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาปุริสวิตก ๘ ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
มหาปุริสวิตก ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มักน้อย ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มักมาก
๒. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สันโดษ ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ไม่สันโดษ
๓. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สงัด ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลี
๔. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้
เกียจคร้าน
๕. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้หลงลืมสติ
๖. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีใจไม่ตั้งมั่น
๗. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้มีปัญญาทราม
๘. นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ยินดีในนิปปปัญจธรรม ผู้พอใจในนิปปปัญจ-
ธรรม ไม่ใช่ธรรมของบุคคลผู้ยินดีในปปัญจธรรม ผู้พอใจในปปัญจธรรม
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มักน้อย ไม่ใช่ธรรมของ
บุคคลผู้มักมาก‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยเหตุนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มักน้อย
ไม่ปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้มักน้อย’ เป็นผู้สันโดษ ไม่ปรารถนา
ว่า คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้สันโดษ’ เป็นผู้สงัด ไม่ปรารถนาว่า ‘คนทั้งหลาย
พึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้สงัด’ เป็นผู้ปรารภความเพียร ไม่ปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึง
รู้จักเราว่า ‘เป็นผู้ปรารภความเพียร’ เป็นผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ปรารถนาว่า คนทั้งหลาย
พึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้มีสติตั้งมั่น’ เป็นผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ปรารถนาว่า คนทั้งหลายพึงรู้จัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า :๒๘๒ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น