Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๖-๔ หน้า ๑๖๑ - ๒๑๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๒๖๕] ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรเลย
สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดถึงทั้งหมดจักมีแก่พวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงงดเว้นกรรมชั่วและจงตั้งใจประพฤติธรรมเถิด
[๑๒๖๖] ในหมู่พ่อค้าเกวียนนี้ มีอุบาสกผู้เป็นพหูสูต
ประกอบด้วยศีลและวัตร มีศรัทธา มีจาคะ มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
มีวิจารณญาณ สันโดษ มีความรู้
[๑๒๖๗] ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกกัน
พูดแต่วาจาอ่อนหวานละมุนละม่อม
[๑๒๖๘] เขามีความเคารพ ยำเกรง มีวินัย
ไม่เป็นคนเลว เป็นคนบริสุทธิ์ในอธิศีล
มีความประพฤติประเสริฐ เลี้ยงดูมารดาบิดาโดยชอบธรรม
[๑๒๖๙] เขาเห็นจะแสวงหาโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
มิใช่เพราะเหตุแห่งตน เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป
เขาก็น้อมไปในเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์
[๑๒๗๐] เขาเป็นคนซื่อตรง ไม่คดโกง ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์
ไม่พูดมีเลศนัย เขาทำแต่กรรมดี
ตั้งอยู่ในธรรมเช่นนี้ จะพึงได้รับทุกข์อย่างไรเล่า
[๑๒๗๑] เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ปรากฏตัว
พ่อค้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเห็นธรรมเถิด
เพราะเว้นอุบาสกนั้นเสียแล้ว ท่านทั้งหลายจะสับสน
เหมือนคนตาบอดหลงเข้าไปในป่าเป็นเถ้าถ่านไป
การทอดทิ้งผู้อื่นเป็นการง่ายสำหรับคนทั่วไป
(แต่เป็นการยากสำหรับสัตบุรุษ)
การคบหาสัตบุรุษจึงนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๒๗๒] อุบาสกคนนั้นคือใคร และทำงานอะไร
เขาชื่ออะไร และโคตรอะไร
เทวดา แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็ต้องการจะเห็นอุบาสกนั้น
ที่ท่านมาที่นี้เพื่อช่วยเหลือ อุบาสกที่ท่านชอบ เป็นคนโชคดี
(เทพบุตรตอบว่า)
[๑๒๗๓] ผู้ใดเป็นกัลบก๑ มีชื่อว่า สัมภวะ อาศัยการตัดผมเลี้ยงชีพ
เขาเป็นคนรับใช้ของพวกท่าน
ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าผู้นั้นเป็นอุบาสก
ท่านทั้งหลายอย่าได้ดูหมิ่นเขา เขาเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๒๗๔] เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี
แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเช่นนี้เลย
เทวดา แม้พวกเราฟังคำของท่านแล้ว
ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๒๗๕] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้ ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่
หรือคนปูนกลาง ทุกคนนั้นแหละเชิญขึ้นวิมาน
พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย
(พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว ๖ คาถาในตอนจบเรื่องว่า)
[๑๒๗๖] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้นต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น
พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ
พร้อมกับกล่าวว่าเราก่อน ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ช่างแต่งกาย (ขุ.วิ.อ. ๑๒๗๓/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๐. เสริสสกวิมาน
[๑๒๗๗] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างก็ประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า
เราก่อน ๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[๑๒๗๘] พ่อค้าทุกคนนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นแล้ว
ได้ไปยังประเทศที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี
หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยฤทธิ์ของเทวดาเนือง ๆ
ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป
[๑๒๗๙] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ
พยายามค้าขายตามที่ตั้งใจไว้
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[๑๒๘๐] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
ทำการบูชาเสริสสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสริสสกะขึ้น
[๑๒๘๑] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสริสสกวิมานที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] ๗. สุนิกขิตตวรรค ๑๑. สุนิกขิตตวิมาน
๑๑. สุนิกขิตตวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่อุบาสก
ผู้จัดดอกไม้ให้เป็นระเบียบอยู่หน้าสถูป
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๑๒๘๒] วิมานมีเสาทำด้วยแก้วมณีนี้สูงมาก วัดโดยรอบได้ ๑๒ โยชน์
เป็นปราสาท ๗๐๐ ยอด ดูโอฬาร มีเสาประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์
มีพื้นปูลาดด้วยแผ่นทองคำสวยงาม
[๑๒๘๓] ท่านสถิต ดื่ม กินอยู่ในวิมานนั้น
มีทวยเทพพากันมาบรรเลงพิณทิพย์ดังไพเราะ
ในวิมานของท่านนี้มีเบญจกามคุณอันเป็นทิพรส
และเหล่าเทพนารีผู้ประดับด้วยอาภรณ์ทองคำฟ้อนรำอยู่
[๑๒๘๔] เพราะบุญอะไรท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจ จึงเกิดขึ้นแก่ท่าน
[๑๒๘๕] เทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[๑๒๘๖] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[๑๒๘๗] ข้าพเจ้าได้จัดดอกไม้ที่เขาวางไว้ไม่เรียบร้อยให้เรียบร้อย
แล้วได้วางไว้ที่พระสถูปของพระสุคต๑
จึงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทิพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.วิ.อ. ๘๕/๔๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[๑๒๘๘] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[๑๒๘๙] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
สุนิกขิตตวิมานที่ ๑๑ จบ
สุนิกขิตตวรรคที่ ๗ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จิตตลตาวิมาน ๒. นันทนวิมาน
๓. มณิถูณวิมาน ๔. สุวัณณวิมาน
๕. อัมพวิมาน ๖. โคปาลวิมาน
๗. กัณฐกวิมาน ๘. อเนกวัณณวิมาน
๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน ๑๐. เสริสสกวิมาน
๑๑. สุนิกขิตตวิมาน

ภาณวารที่ ๔ จบ
วิมานวัตถุ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๕ }




หน้าว่าง



{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑. เขตตูปมเปตวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. อุรควรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยงูลอกคราบ
๑. เขตตูปมเปตวัตถุ
เรื่องพระอรหันต์เปรียบเหมือนนาย่อมมีอุปการะแก่เปรตและทายก
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑] พระอรหันต์ทั้งหลายเปรียบเหมือนนา
ทายกทั้งหลายเปรียบเหมือนชาวนา
ไทยธรรมเปรียบเหมือนพืช
ผลทานย่อมเกิดจากการที่ทายกบริจาคไทยธรรมแก่ปฏิคาหก
[๒] เหตุ ๓ อย่างนี้ คือ พืช การหว่าน นา
ย่อมมีอุปการะแก่พวกเปรตและทายก
เปรตทั้งหลายย่อมบริโภคผลนั้น
ทายกย่อมเจริญด้วยบุญ
[๓] ทายกทำกุศลในอัตภาพนี้แล้วอุทิศให้พวกเปรต
ครั้นทำกรรมดีแล้วย่อมไปสวรรค์
เขตตูปมเปตวัตถุที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๓. ปูติมุขเปตวัตถุ
๒. สูกรมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากหมู
(ท่านพระนารทเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๔] ทั่วทั้งกายของท่านมีสีเหมือนทองคำ
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
แต่ปากของท่านเหมือนปากสุกร
เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๕] ท่านพระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย
แต่ไม่ได้สำรวมวาจา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมีรูปร่างและผิวพรรณ
ตามที่ท่านเห็นอยู่นั้น
[๖] ท่านนารทะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่าน
สรีระของข้าพเจ้านี้ท่านเห็นเองแล้ว
ท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก
ท่านอย่าได้มีปากเหมือนสุกรเลย
สูกรเปตวัตถุที่ ๒ จบ
๓. ปูติมุขเปตวัตถุ
เรื่องเปรตปากเน่า
(ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๗] ท่านมีผิวพรรณงามดังทิพย์ ยืนอยู่ในกลางอากาศ
แต่ปากของท่านมีกลิ่นเหม็น
หมู่หนอนพากันชอนไช เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๔. ปิฏฐธีตลิกเปยวัตถุ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๘] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นสมณะลามก มีวาจาชั่วหยาบ
มีปกติสำรวมกาย แต่ไม่สำรวมปาก
จึงได้มีผิวพรรณดังทองคำเพราะความสำรวมกาย
แต่ปากของข้าพเจ้าเหม็นเน่าเพราะพูดส่อเสียด
[๙] ท่านนารทะ รูปร่างของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว
ท่านผู้ฉลาดซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์กล่าวไว้ว่า
ท่านอย่าได้พูดส่อเสียด และอย่าได้พูดมุสา
ท่านจักเป็นเทพผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติที่น่าปรารถนา
ปูติมุขเปตวัตถุที่ ๓ จบ
๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตตุ๊กตาแป้ง
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
[๑๐] บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์
คือ ปรารภบุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน
[๑๑] หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก มีบริวารยศ
คือ ท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์
และท้าววิรูฬหก แล้วพึงถวายทาน
ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลบูชาแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล
[๑๒] การร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้
คร่ำครวญอย่างอื่นใด ไม่ควรทำเลย
เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
[๑๓] ส่วนทักษิณาทานนี้แหละ ที่ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นโดยทันที สิ้นกาลนาน
ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ ๔ จบ
๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ๑
เรื่องเปรตอยู่นอกฝาเรือน
[๑๔] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่งสามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๑๕] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัย
[๑๖] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์
ย่อมให้อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดประณีต
เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย
ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด
[๑๗] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนเล่ม ๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
[๑๘] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใดพวกเราจึงได้สมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง การบูชาญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล
[๑๙] ก็ในเปตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม(การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม(การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม(การค้าขาย)เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงินก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพอยู่ด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๒๐] น้ำฝนตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน
[๒๑] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน
[๒๒] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ญาติผู้ละไปแล้วทำไว้ในกาลก่อนว่า
ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๒๓] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[๒๔] ส่วนทักษิณาทานนี้แหละที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นโดยทันทีสิ้นกาลนาน
[๒๕] ญาติธรรม๑นี้นั้นท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสะสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ ๕ จบ
๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ ๕ ตน
(พระสังฆเถระถามว่า)
[๒๖] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๒๗] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๒๘] เวลาเช้า คลอดลูก ๕ คน เวลาเย็นอีก ๕ คน
แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมคือการสงเคราะห์ญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
[๒๙] หัวใจของดิฉันถูกความหิวแผดเผาสุมอยู่
ดิฉันไม่ได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม
ขอเชิญท่านดูดิฉันซึ่งถึงความพินาศเช่นนี้เถิด
(พระเถระถามว่า)
[๓๐] เมื่อก่อน เธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องกินเนื้อลูก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๑] เมื่อก่อน หญิงร่วมสามีของดิฉันคนหนึ่งได้ตั้งครรภ์
ดิฉันได้คิดร้ายต่อเธอ มีใจประทุษร้ายได้ทำให้เธอแท้ง
[๓๒] นางตั้งครรภ์ ๒ เดือนเท่านั้นก็ตกเลือด
ครั้งนั้น มารดาของนางโกรธแล้วเชิญญาติของดิฉันมาประชุมซักถาม
ให้ดิฉันสาบาน และขู่เข็ญดิฉันให้กลัว
[๓๓] ส่วนดิฉันนั้นได้กล่าวคำสาบานเท็จอย่างรุนแรงว่า
ถ้าดิฉันทำความชั่วอย่างนี้จริง ขอให้ดิฉันกินเนื้อลูกเถิด
[๓๔] เพราะผลกรรม คือการทำลายสัตว์มีชีวิต
และการกล่าวเท็จทั้ง ๒ อย่างนั้น
ดิฉันจึงมีกายเปื้อนหนองและเลือด กินเนื้อลูก
ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุที่ ๖ จบ
๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตกินลูกคราวละ ๗ ตน
(พระมหาเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๓๕] เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป หมู่แมลงวันพากันไต่ตอมเกลื่อนกล่น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ในที่นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๗.สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๓๖] ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๓๗] เวลาเช้า คลอดลูก ๗ คน เวลาเย็นอีก ๗ คน
แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมด
แต่ก็ยังไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้
[๓๘] หัวใจของดิฉันถูกความหิวแผดเผาสุมอยู่
ดิฉันเป็นดังถูกไฟเผาในที่อันร้อนยิ่ง
ไม่ได้ประสบความเย็นเลย
(พระเถระถามว่า)
[๓๙] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องกินเนื้อลูก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๔๐] เมื่อก่อนดิฉันมีลูก ๒ คน ลูก ๒ คนนั้นกำลังหนุ่มแน่น
ดิฉันนั้นประกอบด้วยกำลังคือลูก๑ จึงดูหมิ่นสามีของตน
[๔๑] ภายหลังสามีโกรธดิฉัน จึงได้หาภรรยามาอีก
และภรรยาใหม่นั้นตั้งครรภ์ ดิฉันได้คิดร้ายต่อนาง
[๔๒] มีใจประทุษร้ายได้ทำให้นางแท้ง
ภรรยาใหม่นั้นตั้งครรภ์ ๓ เดือนเท่านั้น ก็ตกเลือด
[๔๓] ครั้งนั้น มารดาของนางโกรธแล้ว
เชิญพวกญาติของดิฉันมาประชุมซักถาม
ให้ดิฉันสาบาน และขู่เข็ญดิฉันให้กลัว

เชิงอรรถ :
๑ ถือตัวว่ามีลูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๘. โคณเปตวัตถุ
[๔๔] ส่วนดิฉันนั้นได้กล่าวคำสาบานเท็จอย่างรุนแรงว่า
ถ้าดิฉันทำความชั่วอย่างนี้จริง ขอให้ดิฉันกินเนื้อลูกเถิด
[๔๕] เพราะผลกรรมคือการทำลายสัตว์มีชีวิต
และการกล่าวเท็จทั้ง ๒ อย่างนั้น
ดิฉันจึงมีกายเปื้อนหนองและเลือด กินเนื้อลูก
สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุที่ ๗ จบ
๘. โคณเปตวัตถุ
เรื่องลูกสอนพ่อด้วยโคที่ตายแล้ว
(กุฎุมพีผู้เป็นบิดาถามสุชาตกุมารว่า)
[๔๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าสด
แล้วเพ้อร้องเรียกโคแก่ซึ่งตายแล้วว่า จงกิน จงกิน
[๔๗] โคตายแล้ว ลุกขึ้นกินหญ้าและน้ำไม่ได้หรอก
เจ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาเหมือนคนโง่อื่น ๆ
(สุชาตกุมารกล่าวว่า)
[๔๘] โคตัวนี้ยังมีเท้าครบทั้ง ๔ เท้า
มีหัว มีตัว พร้อมทั้งหางและนัยน์ตาคงอยู่ตามเดิม
เพราะเหตุนี้ ลูกจึงคิดว่า โคตัวนี้พึงลุกขึ้น
[๔๙] ส่วนคุณปู่ไม่ปรากฏกระทั่งมือ เท้า กาย และศีรษะ
คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของคุณปู่ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน
จะไม่เป็นคนโง่หรือ
(กุฎุมพีฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวสรรเสริญสุชาตกุมารว่า)
[๕๐] เจ้าช่วยรดข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๙. มหาเปสการเปติวัตถุ
[๕๑] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบิดาของข้าผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่า ได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบหทัยของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๕๒] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
ก็เย็นสงบแล้ว
จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเจ้า
[๕๓] ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์มารดาบิดา
ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญาย่อมทำอย่างนี้
ย่อมช่วยมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนสุชาตกุมารช่วยมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศกได้
โคณเปตวัตถุที่ ๘ จบ
๙. มหาเปสการเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตอดีตภรรยาหัวหน้าช่างหูก
(ภิกษุรูปหนึ่งถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[๕๔] นางเปรตนี้กินคูถ๑ มูตร โลหิต และหนอง
นี้เป็นวิบากกรรมอะไร
นางเปรตผู้ที่กินเลือดและหนองเป็นประจำ
เมื่อก่อนได้ทำกรรมอะไรไว้
[๕๕] ผ้าทั้งหลายยังใหม่ สวยงาม
อ่อนนุ่ม บริสุทธิ์ มีขนอ่อน
ที่ท่านให้ ย่อมกลายเป็นแผ่นเหล็ก
เมื่อก่อนนางเปรตนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ

เชิงอรรถ :
๑ คูถ อุจจาระ มูตร ปัสสาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[๕๖] เมื่อก่อนนางเปรตนี้เป็นภรรยาของข้าพเจ้า
เป็นคนตระหนี่ กระด้าง ไม่ให้ทาน
นางได้ด่าและบริภาษข้าพเจ้า
ผู้กำลังถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า
[๕๗] เจ้าจงกินคูถ มูตร เลือด และหนอง
ซึ่งเป็นของไม่สะอาดทุกเมื่อ
คูถ มูตร เลือด และหนองจงเป็นอาหารของเจ้าในโลกหน้า
แผ่นเหล็กจงเป็นผ้าของเจ้า
เพราะประพฤติชั่วเช่นนี้
นางมาในที่นี้ จึงกินแต่คูถและมูตรเป็นต้นตลอดกาลนาน
มหาเปสการเปติวัตถุที่ ๙ จบ
๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตศีรษะล้าน
(หัวหน้าพ่อค้าถามนางเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[๕๘] ท่านเป็นใครกันเล่า อยู่แต่ภายในวิมาน
ไม่ออกมาข้างนอกเลย
นางผู้เจริญ เชิญท่านออกมาเถิด
ข้าพเจ้าจะขอชมท่านผู้มีฤทธิ์มาก
(นางเวมานิกเปรตตอบว่า)
[๕๙] ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้
กระดากอายที่จะออกไปข้างนอก
ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
(หัวหน้าพ่อค้ากล่าวว่า)
[๖๐] นางผู้มีรูปงาม เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะให้ผ้าเนื้อดีแก่ท่าน
เชิญท่านนุ่งผ้านี้ ครั้นนุ่งผ้านี้เสร็จแล้วจงออกมา
ขอเชิญออกมาภายนอกนะนางผู้เจริญ
ข้าพเจ้าจะขอชมท่านผู้มีฤทธิ์มาก
(นางเวมานิกเปรตตอบว่า)
[๖๑] ผ้านั้นถึงท่านจะหยิบยื่นให้ที่มือของดิฉันเอง
ก็ไม่สำเร็จแก่ดิฉัน ถ้าในหมู่ชนนี้มีอุบาสกผู้มีศรัทธา
เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๒] ขอท่านจงให้อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่ท่านจะให้ดิฉัน
แล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉัน เมื่อทำอย่างนั้น
ดิฉันจักถึงความสุข พรั่งพร้อมด้วยสมบัติตามปรารถนาทุกอย่าง
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๓] พ่อค้าเหล่านั้นให้อุบาสกนั้นอาบน้ำ
ลูบไล้ด้วยของหอม ให้นุ่งห่มผ้าแล้ว
อุทิศส่วนบุญไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น
[๖๔] ในลำดับที่พวกพ่อค้าอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๖๕] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
เดินยิ้มออกมาจากวิมาน นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๖๖] อนึ่ง วิมานของท่านงดงาม มีรูปภาพวิจิตรดี สว่างไสว
แม่เทพธิดา พวกข้าพเจ้าถามแล้ว ขอเธอจงบอก
นี้เป็นผลของกรรมอะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๑. นาคเปตวัตถุ
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๖๗] ดิฉันมีจิตเลื่อมใสดีแล้ว
ได้ถวายแป้งคั่วเจือด้วยน้ำมัน
แด่ภิกษุผู้ปฏิบัติตรงซึ่งกำลังเที่ยวภิกขาจาร
[๖๘] ดิฉันเสวยวิบากแห่งกุศลกรรมนั้นในวิมาน สิ้นกาลนาน
แต่เดี๋ยวนี้ ผลบุญนั้นเหลืออยู่นิดหน่อย
[๖๙] พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส
[๗๐] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๗๑] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน
แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๗๒] ดิฉันจักต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรกนั้นยาวนาน
ด้วยว่า การเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลกรรมชั่ว
เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงเศร้าโศกอย่างหนัก
ขัลลาฏิยเปติวัตถุที่ ๑๐ จบ
๑๑. นาคเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้เดินร้องไห้ตามพาหนะช้างของลูกชาย
(สามเณรถามพวกเปรตเหล่านั้นว่า)
[๗๓] คนหนึ่งขี่ช้างเผือกไปข้างหน้า
คนหนึ่งขี่รถเทียมด้วยแม่ม้าอัสดรไปท่ามกลาง
และสาวน้อยขึ้นวอไปข้างหลัง
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๑. นาคเปตวัตถุ
[๗๔] ส่วนพวกท่านถือฆ้องเดินร้องไห้
มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา มีร่างกายแตกเป็นแผล
สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์พวกท่านได้ทำบาปอะไรไว้
ซึ่งเป็นเหตุให้พวกท่านดื่มกินโลหิตของกันและกัน
(เปรตทั้งสองได้ฟังสามเณรถามจึงตอบว่า)
[๗๕] ผู้ที่ขี่ช้างเผือกชาติกุญชร ๔ เท้าไปข้างหน้า
เป็นบุตรคนโตของข้าพเจ้าทั้งสอง
เขาได้ถวายทาน จึงได้รับความสุข บันเทิงใจ
[๗๖] ผู้ที่ขี่รถเทียมด้วยแม่ม้าอัสดร ๔ ตัว
แล่นเรียบไปในท่ามกลาง เป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งสอง
เป็นคนไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี รุ่งโรจน์อยู่
[๗๗] นารีผู้มีปัญญา มีดวงตากลมหยาดเยิ้มดังตาเนื้อ
ขึ้นวอมาข้างหลัง เป็นธิดาคนสุดท้องของข้าพเจ้าทั้งสอง
นางมีความสุขเบิกบานใจ เพราะส่วนแห่งทานครึ่งส่วน
[๗๘] เมื่อก่อน เขาทั้งสามมีจิตเลื่อมใส
ได้ถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองเป็นคนตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
อนึ่ง เขาทั้งสามนี้ถวายทานแล้วได้รับการบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ
อันเป็นทิพย์ ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองซูบซีดอยู่ดังไม้อ้อที่ถูกตัด
(สามเณรถามว่า)
[๗๙] อาหารและที่นอนของพวกท่านเป็นเช่นไร
อนึ่ง พวกท่านผู้มีบาปหนาเลี้ยงอัตภาพได้อย่างไร
เมื่อโภคะพร้อมมูลมีอยู่มิใช่น้อย เหตุไรจึงหน่ายสุข
ประสบแต่ความทุกข์จนทุกวันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๒. อุรคเปตวัตถุ
(เปรตทั้งสองตอบว่า)
[๘๐] พวกเราทั้งสองตีกันเองแล้วดื่มกินเลือดและหนองของกันและกัน
ได้ดื่มเลือดและหนองเป็นอันมากก็ยังไม่อิ่ม มีความหิวอยู่เป็นนิตย์
[๘๑] คนทั้งหลายผู้ไม่ให้ทานตายไปเกิดในยมโลก๑
ย่อมร่ำไห้คร่ำครวญเหมือนอย่างนี้
สัตว์เหล่าใดได้ประสบโภคะต่าง ๆ แล้ว
ไม่ใช้สอยเอง ทั้งไม่ทำบุญ
[๘๒] สัตว์เหล่านั้นจักต้องประสบความหิวกระหายในปรโลก
ภายหลัง ถูกความหิวเป็นต้นแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน
ย่อมได้เสวยทุกข์ เพราะทำกรรมมีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นกำไร
[๘๓] ความจริง ทรัพย์และธัญญาหารอยู่ได้ไม่นาน
ทั้งชีวิตของสัตว์ในมนุษยโลกนี้ก็สั้นนัก
บัณฑิตทราบสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้วพึงทำที่พึ่ง
[๘๔] เหล่าชนผู้ฉลาดในธรรม
ฟังคำสอนของพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว
มารู้ชัดอย่างนี้ ย่อมไม่ประมาทในทาน
นาคเปตวัตถุที่ ๑๑ จบ
๑๒. อุรคเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้จากไปเหมือนงูลอกคราบ
(พราหมณ์ เมื่อจะบอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๘๕] บุตรของข้าพเจ้าละร่างกายของตนไปเหมือนงูลอกคราบ
ในเมื่อร่างกายใช้การไม่ได้ก็ตายจากไปอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ที่อยู่ประจำของพญายมในแดนเปรต (ขุ.เป.อ. ๘๑/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] ๑๒. อุรคเปตวัตถุ
[๘๖] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ บุตรของข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(นางพราหมณี เมื่อจะบอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๘๗] บุตรของดิฉัน ดิฉันไม่ได้เชิญมา ก็มาแล้วจากโลกอื่นนั้น
ดิฉันไม่ได้อนุญาตให้ไป ก็ไปแล้วจากมนุษยโลกนี้
เขามาอย่างไร เขาก็ไปแล้วอย่างนั้น
ทำไมจะต้องไปร่ำไห้ถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจนั้นเล่า
[๘๘] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ บุตรของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(น้องสาวกล่าวว่า)
[๘๙] ถ้าดิฉันร้องไห้ ก็จักซูบผอม
ผลอะไรจะพึงมีแก่ดิฉันในการร้องไห้นั้น
ญาติมิตรและสหายของพวกเราจะพึงมีความไม่สบายใจอย่างยิ่ง
[๙๐] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ พี่ชายของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(ส่วนภรรยาของเขากล่าวว่า)
[๙๑] ผู้ใดเศร้าโศกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว
ความเศร้าโศกของผู้นั้น
เปรียบเหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์ซึ่งโคจรอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๑. อุรควรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[๙๒] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ สามีของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
(ส่วนนางทาสีกล่าวว่า)
[๙๓] ท่านพราหมณ์ หม้อน้ำที่แตกแล้ว
พึงประสานให้เป็นดังเดิมอีกไม่ได้ฉันใด
ความเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ฉันนั้น
[๙๔] เมื่อพวกญาติเผาอยู่ นายของดิฉันก็ไม่รู้ว่า
พวกญาติพากันร้องไห้คร่ำครวญถึง
เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงเขา
เขาไปตามทางของเขา
อุรคเปตวัตถุที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ
รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เขตตูปมเปตวัตถุ ๒. สูกรมุขเปตวัตถุ
๓. ปูติมุขเปตวัตถุ ๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถ ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปติวัตถุ
๗. สัตตปุตตขาทิกเปติวัตถุ ๘. โคณเปตวัตถุ
๙. มหาเปสการเปติวัตถุ ๑๐. ขัลลาฏิยเปติวัตถุ
๑๑. นาคเปตวัตถุ ๑๒. อุรคเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑.สังสารโมจกเปติวัตถุ
๒. อุพพริวรรค
หมวดว่าด้วยพระนางอุพพรีกับเปรต
๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตสังสารโมจิกา
(ท่านพระสารีบุตรเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๙๕] แน่ะนางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ที่นี้
(นางเปรตตอบว่า)
[๙๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(พระเถระถามว่า)
[๙๗] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร
เธอจึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตตอบว่า)
[๙๘] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใดเป็นบิดาก็ตาม มารดาก็ตาม
หรือแม้เป็นญาติ พึงชักชวนดิฉันว่า
เธอจงมีจิตเลื่อมใสให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ชนผู้อนุเคราะห์แก่ดิฉันเช่นนั้น มิได้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
[๙๙] ข้อที่ดิฉันเป็นเปรตเปลือยกาย
ถูกความหิวและความอยากเบียดเบียนเที่ยวไปเช่นนี้
ตลอด ๕๐๐ ปีนับแต่บัดนี้ไป
นั้นเป็นผลกรรมชั่วของดิฉัน
[๑๐๐] พระคุณเจ้าผู้แกล้วกล้า มีอานุภาพมาก
ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ขอไหว้ท่าน และขอท่านจงอนุเคราะห์ดิฉัน
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านจงให้ไทยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้วอุทิศส่วนบุญแก่ดิฉันบ้าง
ขอจงช่วยดิฉันให้พ้นจากทุคติด้วยเถิด
(เพื่อจะแสดงการที่พระเถระปฏิบัติ พระธรรมสังคีติกาจารย์จึงกล่าว ๓ คาถาว่า)
[๑๐๑] พระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์นั้นรับคำนางเปรตนั้นแล้ว
จึงถวายข้าวปั้นหนึ่ง ผ้ามีขนาดเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง
และน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง แก่ภิกษุแล้วอุทิศส่วนบุญให้นางเปรตนั้น
[๑๐๒] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๐๓] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหาพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระถามว่า)
[๑๐๔] แม่เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๐๕] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
โภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๑. สังสารโมจกเปติวัตถุ
[๑๐๖] แม่เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
แม้เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๑๐๗] (เมื่อก่อน) พระคุณเจ้าเป็นมุนีมีความกรุณาในโลก
ได้เห็นดิฉันซุบซีดผอมเหลือง หิวโหย
เปลือยกาย มีผิวแตกเป็นริ้วรอย ได้รับความทุกข์
[๑๐๘] ได้ถวายข้าวปั้นหนึ่ง ผ้ามีขนาดเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง
และน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง แก่ภิกษุแล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉัน
[๑๐๙] ขอพระคุณเจ้าจงดูผลแห่งคำข้าว
ดิฉันสมบูรณ์ด้วยกามที่น่ารื่นรมย์
บริโภคข้าวมีกับข้าวซึ่งมีรสหลายอย่าง ถึง ๑,๐๐๐ ปี
[๑๑๐] ขอพระคุณเจ้าจงดูวิบากแห่งผ้าที่มีขนาดเท่าฝ่ามือว่าเป็นเช่นใด
ผ้าในแคว้นของพระเจ้านันทราชมีประมาณเท่าใด
[๑๑๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้านุ่งผ้าห่มของดิฉันมีมากกว่านั้น
คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน และผ้าฝ้าย
[๑๑๒] ผ้าเหล่านั้นทั้งยาว ทั้งกว้าง มีราคาแพง ห้อยอยู่ในอากาศ
ดิฉันเลือกเอาแต่ผืนที่พอใจนุ่งห่ม
[๑๑๓] อนึ่ง ขอพระคุณเจ้าจงดูวิบากแห่งการถวายน้ำดื่มถ้วยหนึ่ง
ว่ามีผลเช่นใด สระโบกขรณี ๔ เหลี่ยม ลึก ที่สร้างไว้ดีแล้ว
[๑๑๔] มีท่าเรียบ มีน้ำใสเย็น มีกลิ่นหอม หาสิ่งเปรียบมิได้
หนาแน่นไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เต็มด้วยน้ำซึ่งดารดาษด้วยเกสรดอกบัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
[๑๑๕] ดิฉันเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ย่อมรื่นรมย์ร่าเริงบันเทิงใจ
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันมาเพื่อจะไหว้พระคุณเจ้า
ผู้เป็นปราชญ์ มีความกรุณาในโลก
สังสารโมจกเปติวัตถุที่ ๑ จบ
๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตอดีตมารดาพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๑๑๖] แน่ะนางผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ ณ ที่นี้
(นางเปรตตอบว่า)
[๑๑๗] เมื่อก่อนในชาติอื่น ๆ
ดิฉันเกิดในตระกูลศากยะ เป็นมารดาของท่าน
ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย ถูกความหิวกระหายครอบงำ
[๑๑๘] ดิฉันถูกความหิวกระหายครอบงำแล้ว
จึงกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้งแล้ว
กินมันเหลวซากศพที่ถูกเผาอยู่
และกินโลหิตของหญิงทั้งหลายผู้คลอดลูก
[๑๑๙] กินโลหิตของคนที่มีแผลและผู้ที่ถูกตัดจมูกและศีรษะ
และกินหนัง เนื้อ เอ็นเป็นต้น ที่อาศัยร่างกายชายหญิง
[๑๒๐] ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงอันแปดเปื้อน
กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
[๑๒๑] ลูกน้อยเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานเพื่อแม่
ครั้นให้แล้วจงอุทิศส่วนบุญนั้นให้แม่บ้าง
ถ้ากระไร แม่จะพึงพ้นจากการกินหนองและเลือด
[๑๒๒] พระสารีบุตรเถระฟังคำของมารดาแล้วคิดจะช่วยเหลือ
จึงปรึกษาพระมหาโมคคัลลานเถระ พระอนุรุทธะ และพระกัปปินะ
[๑๒๓] ได้สร้างกุฎี ๔ หลัง แล้วถวายกุฎี ข้าว และน้ำ
แด่พระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ อุทิศส่วนบุญให้มารดา
[๑๒๔] ในลำดับที่พระเถระอุทิศส่วนบุญให้นั่นเอง
วิบากคือ อาหาร น้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๒๕] ลำดับนั้น นางมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามนางเปรตนั้นว่า)
[๑๒๖] แม่เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[๑๒๗] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๒๘] แม่เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[๑๒๙] เมื่อก่อนในชาติอื่น ๆ ดิฉันเป็นมารดาของพระสารีบุตรเถระ
เข้าถึงเปตวิสัย๑ ถูกความหิวกระหายครอบงำ
[๑๓๐] ดิฉันถูกความหิวกระหายครอบงำแล้ว
ได้กินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะที่เขาถ่มทิ้งแล้ว
กินมันเหลวซากศพที่ถูกเผาอยู่
และกินโลหิตของหญิงทั้งหลายผู้คลอดลูก
[๑๓๑] กินโลหิตของคนที่มีแผลและผู้ที่ถูกตัดจมูกและศีรษะ
และกินหนัง เนื้อ เอ็นเป็นต้น ที่อาศัยร่างกายชายหญิง
[๑๓๒] ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงอันแปดเปื้อน
กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๓๓] ดิฉันบันเทิงอยู่เพราะทานของพระสารีบุตร จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันจะไหว้พระสารีบุตร
ผู้เป็นปราชญ์ มีความกรุณาในโลก
สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒ จบ
๓. มัตตาเปติวัตถุ
เรื่องนางมัตตาเปรต
(นางติสสาถามนางเปรตตนหนึ่งว่า)
[๑๓๔] แน่ะนางเปรตผู้มีร่างกายซูบผอม มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น
เธอเปลือยกาย มีผิวพรรณและรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
เธอเป็นใครกันเล่ามายืนอยู่ ณ ที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ ที่อยู่ของเปรต, แดนเกิดเป็นเปรต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา
ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ
เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางติสสาถามว่า)
[๑๓๖] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงต้องจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๗] ฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย ริษยา ตระหนี่ และมักโอ้อวด
ได้กล่าววาจาชั่วต่อเธอ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางติสสาถามว่า)
[๑๓๘] เรื่องนั้นเป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร
แต่อยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไร เธอจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๓๙] เธอกับฉันพากันอาบน้ำชำระร่างกายแล้ว
เธอได้นุ่งห่มผ้าสะอาด ประดับตกแต่งร่างกายแล้ว
ส่วนฉันประดับตกแต่งเรียบร้อยยิ่งกว่าเธอมากนัก
[๑๔๐] เมื่อฉันนั้นกำลังจ้องมองดูเธอคุยอยู่กับสามี
ทีนั้นฉันจึงเกิดความริษยาและความโกรธเป็นอันมาก
[๑๔๑] ทันใดนั้น ฉันได้กวาดตะล่อมฝุ่นแล้วเอาฝุ่นโปรยรดเธอ
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงมีร่างกายเปื้อนฝุ่น
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๒] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๓] เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า
เธอหายามาได้ ส่วนฉันนำหมามุ่ยมา
[๑๔๔] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของเธอจนทั่ว
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นหิด
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๕] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า
เธอโปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของฉันจนทั่ว
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นหญิงเปลือยกาย
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๖] (วันหนึ่ง) ได้มีการประชุมมิตรสหายและญาติทั้งหลาย
เธอได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งร่วมสามีกับเธอไม่มีใครเชิญเลย
[๑๔๗] เมื่อเธอเผลอ ฉันได้ลักขโมยผ้าเธอไป
เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงเป็นหญิงเปลือยกาย
(นางติสสาถามว่า)
[๑๔๘] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า
เธอลักขโมยผ้าฉันไป แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงมีกลิ่นกายเหม็นดังกลิ่นคูถ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๔๙] ฉันได้ทิ้งห่อของหอม ดอกไม้
และเครื่องลูบไล้ซึ่งมีราคาแพงของเธอลงส้วม
ฉันทำบาปชั่วช้านั้นไว้แล้ว
เพราะผลกรรมนั้น ฉันจึงมีกายเหม็นดังกลิ่นคูถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางติสสาถามว่า)
[๑๕๐] เรื่องนี้เป็นความจริง ถึงฉันก็รู้ว่า เธอทำบาปนั้นไว้แล้ว
แต่ฉันอยากจะถามเธอถึงเรื่องอื่น
เพราะกรรมอะไรเธอจึงเป็นคนยากจน
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๑] ที่เรือนของเราทั้งสองได้มีทรัพย์อยู่เท่ากัน
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตน
เพราะผลกรรมนั้นฉันจึงเป็นคนยากจน
[๑๕๒] ครั้งนั้น เธอได้กล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำกรรมชั่วว่า
เธอจะไม่มีทางได้สุคติ เพราะกรรมชั่ว
(นางติสสากล่าวว่า)
[๑๕๓] เธอไม่เชื่อเรา ที่แท้กลับริษยาเรา เชิญเธอดูผลกรรมชั่ว
[๑๕๔] เมื่อก่อน ที่เรือนของเธอได้มีนางทาสีและเครื่องประดับเหล่านี้
แต่เดี๋ยวนี้ นางทาสีเหล่านั้นพากันรับใช้คนอื่น
โภคะทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน
[๑๕๕] บัดนี้ กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา
จักกลับจากตลาดมายังบ้านนี้
เธออย่าเพิ่งรีบไปจากที่นี่เสียก่อนละ
บางทีเขากลับมาจะพึงให้อะไรแก่เธอบ้าง
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๖] ฉันเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
การเปลือยกายและการมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวนี้
เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับหญิงทั้งหลาย
กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรอย่าได้เห็นฉันเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๓. มัตตาเปติวัตถุ
(นางติสสากล่าวว่า)
[๑๕๗] ว่ามาเถอะ ฉันจะให้หรือทำอะไรแก่เธอ
ที่เป็นเหตุให้เธอมีความสุข
สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
ฉันจะให้หรือกระทำแก่เธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๕๘] ขอเธอจงนิมนต์ภิกษุ ๔ รูปจากสงฆ์
นิมนต์เจาะจงอีก ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป
ให้ฉันภัตตาหารแล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน
เมื่อนั้น ฉันจักได้รับความสุข
สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
[๑๕๙] นางติสสานั้นรับว่า ได้จ้ะ
แล้วนิมนต์ภิกษุ ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร
ให้ครองไตรจีวร แล้วอุทิศส่วนบุญให้นางเปรตนั้น
[๑๖๐] ในลำดับที่นางติสสาอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๖๑] ทันใดนั้น นางเปรตมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม
เข้าไปหานางติสสาซึ่งเป็นหญิงร่วมสามี
(นางติสสาจึงถามว่า)
[๑๖๒] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
[๑๖๓] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๖๔] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า)
[๑๖๕] เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา เธอชื่อติสสา
ฉันเป็นหญิงร่วมสามีของเธอ
เพราะทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
[๑๖๖] ฉันบันเทิงอยู่เพราะทานที่เธออุทิศให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน
คุณน้อง ขอเธอพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด
จงเข้าถึงสถานที่ที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี
มีความสำราญซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววสวัตดี
[๑๖๗] เธอผู้มีรูปงาม เธอประพฤติธรรม ให้ทานในโลกนี้
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งเหตุได้แล้ว
ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้ จงเข้าถึงโลกสวรรค์
มัตตาเปติวัตถุที่ ๓ จบ
๔. นันทาเปติวัตถุ
เรื่องนางนันทาเปรต
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๖๘] เธอมีผิวดำ รูปร่างน่าเกลียด
ผิวพรรณหยาบกร้าน มองดูน่ากลัว
ตาเหลือง มีเขี้ยวสีน้ำตาลแก่ เรารู้ว่าเธอไม่ใช่มนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๖๙] ท่านนันทิเสน เมื่อก่อนฉันชื่อนันทา เป็นภรรยาของท่าน
เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๗๐] เมื่อก่อนเธอได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๗๑] (เมื่อก่อน) ฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย
และไม่เคารพท่าน ได้กล่าววาจาชั่วร้ายกับท่าน
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(นันทิเสนอุบาสกกล่าวว่า)
[๑๗๒] เอาละ เราจะให้ผ้าอย่างดีแก่เธอ เธอจงนุ่งผ้านี้
นุ่งเสร็จแล้วจงมา เราจักนำเธอไปเรือน
[๑๗๓] เธอไปเรือนแล้ว จักได้ผ้า ข้าว และน้ำ
ทั้งจักได้เห็นบุตรและลูกสะใภ้ทั้งหลายของเธอ
(นางเปรตนั้นตอบว่า)
[๑๗๔] ผ้านั้นถึงท่านจะหยิบยื่นให้ที่มือของฉันเอง ก็ไม่สำเร็จแก่ฉัน
ท่านจงเลี้ยงภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[๑๗๕] ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ จงอุทิศส่วนบุญให้ฉัน
เมื่อนั้น ฉันจักมีความสุข สำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง
[๑๗๖] นันทิเสนอุบาสกนั้นรับคำแล้วได้ถวายทานเป็นอันมาก
คือ ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะ
ร่ม ของหอม ดอกไม้ และรองเท้าต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๔. นันทาเปติวัตถุ
[๑๗๗] และเลี้ยงภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์ ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
แล้วอุทิศส่วนบุญให้นางนันทานั้น
[๑๗๘] ในลำดับที่นันทิเสนอุบาสกอุทิศส่วนบุญให้นั้นเอง
วิบากคือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และน้ำดื่ม
ก็เกิดขึ้นแก่นางเปรตนั้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
[๑๗๙] ทันใดนั้น นางเปรตมีร่างกายหมดจด นุ่งผ้าสะอาด
สวมใส่ผ้าเนื้อดีกว่าผ้าแคว้นกาสี
มีพัสตราภรณ์และเครื่องประดับวิจิตรงดงาม เข้าไปหาสามี
(นันทิเสนอุบาสกถามว่า)
[๑๘๐] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก
[๑๘๑] เพราะบุญอะไรเธอจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในที่นี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[๑๘๒] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามว่า
สมัยเมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
(นันทาเทพธิดาตอบว่า)
[๑๘๓] ท่านนันทิเสนอุบาสก เมื่อก่อนฉันชื่อนันทา
เป็นภรรยาของท่าน เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๑๘๔] ฉันบันเทิงอยู่เพราะทานที่ท่านอุทิศให้แล้ว
จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ท่านคหบดี
ขอท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด
จงเข้าถึงสถานที่ที่ไม่มีความเศร้าโศก
ปราศจากธุลี มีความสำราญซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววสวัตดี
[๑๘๕] ท่านคหบดี ท่านประพฤติธรรม ให้ทานในโลกนี้
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งเหตุได้แล้ว
ไม่มีใครตำหนิติเตียนได้ จงเข้าถึงโลกสวรรค์
นันทาเปติวัตถุที่ ๔ จบ
๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
เรื่องมัฏฐกุณฑลีเปรตผู้ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก่อนสิ้นใจ
(พราหมณ์ถามว่า)
[๑๘๖] เจ้าประดับตกแต่งร่างกาย ใส่ตุ้มหูเกลี้ยง
ทัดทรงดอกไม้ มีกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
ประคองแขนคร่ำครวญอยู่กลางป่า
เจ้าเป็นทุกข์เรื่องอะไร
(มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรตอบว่า)
[๑๘๗] เรือนรถที่ทำด้วยทองคำ
งามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังหาล้อรถทั้งคู่นั้นไม่ได้
เพราะความทุกข์นั้น ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิต
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๘๘] พ่อมาณพผู้เจริญ เจ้าอยากได้ล้อทองคำ ล้อแก้วมณี
ล้อทองแดง หรือล้อเงิน จงบอกข้ามา
ข้าจะจัดล้อทั้งคู่ให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๑๘๙] มาณพนั้นกล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองคำของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๙๐] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียก่อน
เพราะไม่มีทางที่จะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๙๑] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏอยู่
รัศมีก็ยังปรากฏอยู่ในวิถีทั้งสอง
ส่วนคนที่ตายล่วงลับไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๙๒] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้งสองผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า มาปรารถนาถึงคนที่ตายล่วงลับไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์
[๑๙๓] เจ้ามาช่วยรดข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๙๔] เจ้าบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของข้าผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๙๕] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
เย็นสงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
(พราหมณ์เมื่อจะถามต่อไป จึงกล่าวว่า)
[๑๙๖] เจ้าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ๑
เจ้าเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร
(มาณพเปิดเผยตนแก่พราหมณ์นั้นว่า)
[๑๙๗] ท่านเองเผาบุตรที่ป่าช้าแล้ว
คร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด
บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้าซึ่งทำกุศลกรรมแล้ว
ถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์ถามว่า)
[๑๙๘] เมื่อเจ้าให้ทานน้อยหรือมากในเรือนของตน
หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้น ข้าพเจ้ามิได้เห็น
เพราะทำกรรมอะไรไว้เจ้าจึงไปเทวโลกได้
(มาณพตอบว่า)
[๑๙๙] ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ ได้รับทุกข์
มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในที่อยู่ของตน
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสดังธุลี
ทรงข้ามพ้นความสงสัย เสด็จไปดีแล้ว มีพระปัญญาไม่ต่ำทราม

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง ท้าวสักกะผู้ให้ทานในกาลก่อน เป็นชื่อหนึ่งของท้าวสักกะ ท้าวสักกะมีชื่อที่รู้กันส่วนมาก ๗
ชื่อ คือ (๑) ท้าวมฆวาน เพราะเคยเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อมฆมาณพ (๒) ท้าวปุรินททะ เพราะเคยให้
ทานในกาลก่อน (๓) ท้าวสักกะ เพราะให้ทานโดยเคารพ (๔) ท้าววาสวะ เพราะให้ที่พักอาศัย
(๕) ท้าวสหัสสักขะ เพราะคิดเนื้อความตั้งพันได้โดยครู่เดียว (๖) ท้าวสุชัมบดี เพราะเป็นพระสวามีของ
นางสุชาดา (๗) ท้าวเทวานมินทะ เพราะครองราชเป็นใหญ่กว่าเทพชั้นดาวดึงส์ (วินัย. ๔/๒๕๘/๒๗๖)
อีกนัยหนึ่ง มี ๒๐ ชื่อ คือ สักกะ ปุรินททะ เทวราชา วชิรปาณี สุชัมบดี สหัสสักขะ มหินทะ
วชิราวุธ วาสวะ ทสสตนัย (สหัสสนัย) ติทิวาธิภู สุรนาถ วิชิรหัตถะ ภูตปัตยะ มฆวา โกสีย์ อินโท
วัตรภู ปากสาสน์ วิโฑโช (ดู อภิธา. คาถา ๑๘-๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๑๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[๒๐๐] ข้าพเจ้านั้นมีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
ได้ทำอัญชลีกรรมแด่พระตถาคต
ข้าพเจ้าครั้นทำกุศลกรรมนั้นแล้ว
ได้เกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๒๐๑] น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
อัญชลีกรรมมีผลเป็นได้ถึงเช่นนี้
แม้ข้าพเจ้าก็มีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
จึงขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่เอง
(มาณพกล่าวว่า)
[๒๐๒] ท่านจงมีจิตเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่แหละ
อนึ่ง ท่านจงสมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาดและด่างพร้อย
[๒๐๓] คือ จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อย่ากล่าวเท็จ อย่าดื่มน้ำเมา
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๒๐๔] เทวดาผู้น่าบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[๒๐๕] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๐๖] ข้าพเจ้าจะรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุที่ ๕ จบ
๖. กัณหเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกัณหโคตร
(โรหิไณยอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๐๗] พระองค์ผู้กัณหโคตร๑ ขอพระองค์เสด็จลุกขึ้นเถิด
จะมัวบรรทมอยู่ทำไม
จะมีประโยชน์อะไรต่อพระองค์ด้วยการบรรทมอยู่เล่า
พระเกสวะ (บัดนี้) พระภาดาร่วมพระอุทรของพระองค์
ซึ่งเป็นดังพระหทัยและนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์
ทรงมีลมกำเริบ เพ้อคลั่งอยู่
[๒๐๘] พระเจ้าเกสวะทรงสดับคำของโรหิไณยอำมาตย์นั้นแล้ว
ได้ทรงอึดอัดเพราะความโศกถึงพระภาดา
จึงรีบเสด็จลุกขึ้นทันที
(ทรงจับมือทั้งสองของฆฏบัณฑิตไว้มั่น เมื่อจะทรงปราศรัย จึงตรัสว่า)
[๒๐๙] เหตุไรหนอ เธอจึงเป็นดังคนบ้า
เที่ยวบ่นเพ้ออยู่ทั่วพระนครทวารกะนี้ ว่า
กระต่าย ๆ เธอต้องการกระต่ายเช่นไร

เชิงอรรถ :
๑ โคตรดำ เป็นคำร้องเรียกถึงโคตรหรือเหล่ากอของพระวาสุเทพ (ซึ่งเป็นชื่อของพระนารายณ์ปาง
พระกฤษณะ) (ขุ.เป.อ. ๒๐๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๑๐] ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี
กระต่ายโลหะ กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์
กระต่ายศิลา กระต่ายแก้วประพาฬ ให้เธอ
[๒๑๑] แม้กระต่ายอื่น ๆ ที่เที่ยวหากินอยู่ในป่ายังมีอยู่
ฉันจักให้นำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เธอ
เธอต้องการกระต่ายเช่นไร
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๒๑๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการกระต่ายที่อยู่บนแผ่นดิน
ข้าพระองค์ต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
พระเกสวะ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
โปรดนำกระต่ายนั้นลงมาประทานแก่หม่อมฉันเถิด
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[๒๑๓] แน่ะพระญาติ เธอจักละชีวิตที่ประเสริฐยิ่งเสียแน่
เพราะเธอต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๒๑๔] พระองค์ผู้กัณหโคตร หากพระองค์ทรงทราบ
ตามที่พระองค์ทรงพร่ำสอนบุคคลอื่น
เหตุไฉน พระองค์จึงทรงกรรแสงถึงพระราชโอรส
ที่ทิวงคตไปตั้งนาน จนถึงวันนี้เล่า
[๒๑๕] มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า
ขอบุตรของเราผู้เกิดมาแล้วอย่าตายเลย
พระองค์จะทรงได้พระราชโอรสที่ทิวงคตแล้ว
ซึ่งไม่ควรได้แต่ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๖. กัณหเปตวัตถุ
[๒๑๖] พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ไม่อาจจะนำพระราชโอรส
ผู้ทิวงคตแล้ว ที่พระองค์ทรงกรรแสงถึงมาได้ด้วยมนต์
ด้วยยาสมุนไพรหรือทรัพย์ได้
[๒๑๗] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย จะไม่แก่ตายก็ไม่มี
[๒๑๘] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น ๆ
ผู้มีความเกิดของตนเป็นเหตุ จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี
[๒๑๙] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนต์พรหมจินดามีองค์ ๖๑
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[๒๒๐] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวม บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร
[๒๒๑] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป
ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[๒๒๒] เธอมาช่วยรดเราผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

เชิงอรรถ :
๑ องค์ ๖ คือ ๑. สิกขา (การศึกษาในการออกสำเนียง และการอ่าน มีการอ่านให้ถูกจังหวะ ให้คล่อง
และให้ไพเราะ) ๒. กัปปะ (รู้จักแบบแผน การกระทำกิจพิธีต่าง ๆ พิธีสวดคัมภีร์พระเวท ) ๓. นิรุตฺติ
(รู้จักมูลและคำแปลศัพท์) ๔. พยากรณะ (รู้จักตำราภาษามีของปาณินิ เป็นต้น) ๕. โธติสัตถะ (รู้จัก
ดวงดาวและหาฤกษ์ ผูกดวงชตา) ๖. ฉันทะ (รู้จักคณะฉันท์ แต่งฉันท์ได้) (ขุ.เปต.อ. ๒๑๙/๑๐๖) ดู
อภิธา. คาถา ๑๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๒๓] เธอบรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของเราผู้กำลังเศร้าโศก
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หทัยของเราขึ้นได้แล้วหนอ
[๒๒๔] เราผู้ซึ่งเธอช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
เย็น สงบแล้ว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเธอ
[๒๒๕] ชนเหล่าใดเป็นผู้อนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญา
ย่อมทำอย่างนี้ ย่อมช่วยกันและกันให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนฆฏบัณฑิตช่วยพระเชษฐภาดาให้หายจากความเศร้าโศก
[๒๒๖] พวกอำมาตย์ผู้ถวายการรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด
ย่อมเป็นเช่นนี้ ย่อมแนะนำด้วยสุภาษิต
เหมือนฆฏบัณฑิตแนะนำพระเชษฐภาดาของตน
กัณหเปตวัตถุที่ ๖ จบ
๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
เรื่องธนปาลเศรษฐีเปรต
(พวกพ่อค้าถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[๒๒๗] แน่ะเพื่อนยาก ท่านเปลือยกาย
มีผิวพรรณแและรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว
ซูบผอม มีร่างกายสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
มีแต่ซี่โครงผุดขึ้น มีร่างกายซูบผอม
ท่านเป็นใครกันหนอ
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๒๘] ผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าเกิดเป็นเปรตในยมโลก
ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้
จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๒๒๙] ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๓๐] มีพระนครของพระเจ้าทสันนราช ปรากฏชื่อว่า เอรกัจฉะ
เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในนครนั้น
ชนทั้งหลายเรียกข้าพเจ้าว่า ธนปาลเศรษฐี
[๒๓๑] ข้าพเจ้ามีเงิน ๘๐ เล่มเกวียน ทองคำ
แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ ก็มีมากมาย
[๒๓๒] แม้ข้าพเจ้าจะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้น
ก็ไม่พอใจที่จะให้ทาน ปิดประตูเรือนแล้ว จึงบริโภคอาหาร
ด้วยคิดว่า พวกยาจกอย่าได้เห็นเรา
[๒๓๓] ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่ กระด้าง
ได้ด่าพวกคนที่ให้ทาน ทำบุญ
และห้ามชนเป็นจำนวนมากที่ให้ทานทำบุญ
[๒๓๔] ด้วยคำว่า ผลแห่งทานไม่มี
ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน
จึงทำลายสระน้ำ บ่อน้ำ ที่เขาขุดไว้
ทำลายสวนดอกไม้ สวนผลไม้ ศาลาน้ำดื่ม
และสะพานในที่เดินลำบากให้พินาศ
[๒๓๕] ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ทำความดี ทำแต่ความชั่วไว้
เคลื่อนจากมนุษยโลกนั้นแล้วจึงเกิดในแดนเปรต
มีแต่ความหิวกระหาย
[๒๓๖] ตลอด ๕๐ ปี ตั้งแต่ข้าพเจ้าตายแล้ว
ยังไม่ได้กินข้าวและดื่มน้ำเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๗. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๓๗] ความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
ความพินาศก็คือความหวงแหนทรัพย์
ได้ยินว่า เปรตทั้งหลายก็รู้ว่าความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
[๒๓๘] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าหวงแหนทรัพย์
เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นจำนวนมากก็ไม่ได้ให้ทาน
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน
ข้าพเจ้านั้นได้รับผลกรรมของตน จึงเดือดร้อนในภายหลัง
[๒๓๙] พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส
[๒๔๐] นรกนั้นมี ๔ เหลี่ยม มีประตู ๔ ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[๒๔๑] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[๒๔๒] ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรกนั้นยาวนาน
ด้วยว่าการเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลกรรมชั่ว
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกอย่างหนัก
[๒๔๓] ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้
พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
[๒๔๔] ถ้าพวกท่านจักทำกรรมชั่วนั้นหรือกำลังทำอยู่
แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้
[๒๔๕] ขอท่านทั้งหลายจงเกื้อกูลมารดา จงเกื้อกูลบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในสกุล
เป็นผู้เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์
ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์
ธนปาลกเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
เรื่องจูฬเศรษฐีเปรต
(พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามเปรตนั้นว่า)
[๒๔๖] ท่านผู้เจริญท่านเป็นนักบวชเปลือยกายซูบผอม
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงไปที่ไหน ๆ เฉพาะกลางคืน
ขอท่านจงบอกเหตุที่มาแก่ข้าพเจ้าเถิด
บางทีข้าพเจ้าอาจมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจจากโภคะทั้งปวงให้แก่ท่าน
(เปรตนั้นตอบว่า)
[๒๔๗] (เมื่อชาติก่อน) พระนครพาราณสีมีกิตติคุณเลื่องลือไปไกล
ข้าพระองค์เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งอยู่ในพระนครนั้น
แต่เป็นคนมีจิตทราม ไม่เคยให้สิ่งของแก่ใคร
มีใจข้องอยู่ในอามิส ได้ตกไปถึงวิสัยแห่งพญายมเพราะเป็นผู้ทุศีล
[๒๔๘] เพราะบาปกรรมเหล่านั้น
ข้าพระองค์นั้นจึงลำบากเนื่องจากถูกความหิวเสียดแทง
เพราะความทุกข์อันเกิดแต่ความหิวนั้นแหละ
ข้าพระองค์ปรารถนาอามิส จึงได้มาหาหมู่ญาติ
มนุษย์แม้เหล่าอื่นมีปกติไม่ให้ทาน
และไม่เชื่อว่าผลแห่งทานมีอยู่ในปรโลก
[๒๔๙] ธิดาของข้าพระองค์พูดอยู่เสมอว่า
เราจักให้ทานอุทิศบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
พวกพราหมณ์บริโภค ทานที่นางจัดแจงแล้ว
ข้าพระองค์จะไปยังเมืองอันธกวินทะเพื่อบริโภคอาหาร
[๒๕๐] พระราชาจึงตรัสสั่งกับเขาว่า ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานแม้นั้น
พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มีจริงแก่เรา
เราฟังคำมีเหตุผลอันควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำสักการบูชาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๘. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
[๒๕๑] เปรตจูฬเศรษฐีรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปยังเมืองอันธกวินทนั้น
(แต่ไม่ได้รับผลแห่งทานนั้น)
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายที่บริโภคภัตร
เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่ควรแก่ทักษิณา
ภายหลัง เปรตจูฬเศรษฐีกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก
ได้แสดงกายให้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์
ของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน
[๒๕๒] พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้นกลับมาอีก
จึงตรัสถามว่า เราจะให้ทานอะไร
ถ้าเหตุที่จะทำให้ท่านอิ่มหนำตลอดกาลนานมีอยู่
ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา
(จูฬเศรษฐีเปรตกราบทูลว่า)
[๒๕๓] พระราชา ขอพระองค์จงทรงอังคาสพระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ด้วยข้าวน้ำและจีวร
แล้วทรงอุทิศส่วนบุญนั้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์
ด้วยทรงบำเพ็ญกิจอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงอิ่มหนำตลอดกาลนาน
[๒๕๔] เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงรีบเสด็จออก
ทรงถวายทานมากมายแก่สงฆ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
แล้วทรงกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคต
และทรงอุทิศส่วนบุญให้แก่เปรตนั้น
[๒๕๕] จูฬเศรษฐีเปรตนั้นได้รับการบูชาแล้ว เป็นผู้งดงามยิ่งนัก
ได้มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระราชาแล้วกราบทูลว่า
ข้าพระองค์เป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม
มนุษย์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์เสมอเหมือนกับข้าพระองค์ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๕๖] ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรอานุภาพ
ซึ่งหาประมาณมิได้ของข้าพระองค์นี้เถิด
ที่พระองค์ทรงถวายทานมากมายแก่สงฆ์
อุทิศแก่ข้าพระองค์ด้วยความอนุเคราะห์
พระองค์ผู้เป็นเทพแห่งมนุษย์
ข้าพระองค์เป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้อิ่มหนำตลอดกาลเป็นนิตย์
ด้วยไทยธรรมเป็นอันมาก
บัดนี้ ข้าพระองค์มีความสุขแล้ว จึงขอทูลลา
จูฬเสฏฐิเปตวัตถุที่ ๘ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ
๙. อังกุรเปตวัตถุ
เรื่องอังกุระกับเปรต
(พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่งเห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดา๑ จึงเกิดความโลภ
ขึ้น ได้บอกแก่อังกุรพาณิชว่า)
[๒๕๗] เราทั้งหลายนำทรัพย์ที่หาได้ไปสู่แคว้นกัมโพชะเพื่อประโยชน์ใด
พวกเราจะนำเทพบุตรผู้ให้สิ่งที่เราต้องการจะได้นี้ไปเพื่อประโยชน์นั้น
[๒๕๘] พวกเราจะอ้อนวอนเทพบุตรนี้
หรือบังคับให้ขึ้นยานแล้วรีบเดินทางไปยังเมืองทวารวดีโดยเร็ว
(อังกุรพาณิชเมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้นจึงได้กล่าวคาถาว่า)
[๒๕๙] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้แต่กิ่งของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรหัก
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม

เชิงอรรถ :
๑ เทวดาประจำต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า)
[๒๖๐] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้ลำต้นของต้นไม้นั้นก็พึงตัดได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๖๑] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้แต่ใบของต้นไม้นั้นก็ไม่ควรทำลาย
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
(พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า)
[๒๖๒] บุคคลอาศัยนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด
แม้ต้นไม้นั้นพร้อมทั้งรากก็พึงถอนได้ ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๖๓] ด้วยว่าบุรุษพักอยู่ในเรือนของบุคลใดเพียงหนึ่งคืน
หรือได้ข้าวน้ำในที่อยู่ของบุคคลใด ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น
ความเป็นผู้กตัญญูสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
[๒๖๔] บุคคลพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงหนึ่งคืน
ได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่ควรมีจิตคิดร้ายต่อบุคคลนั้น
บุคคลผู้มีมืออันไม่เบียดเบียนย่อมทำให้บุคคล
ผู้ประทุษร้ายมิตรเดือดร้อน
[๒๖๕] บุคคลใดทำความดีไว้ในกาลก่อน
ภายหลังกลับเบียดเบียนบุพการีชนด้วยความชั่ว
บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญ
บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน
ความชั่วย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้
ดังธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(รุกขเทวดาฟังคำโต้ตอบของคนทั้งสองนั้นแล้ว โกรธพราหมณ์ จึงกล่าวว่า)
[๒๖๖] ไม่เคยมีเทวดา มนุษย์
หรือผู้เป็นใหญ่คนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย
เราเป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม
ไปได้ไกล ประกอบด้วยรูปสมบัติและกำลัง
(อังกุรพาณิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า)
[๒๖๗] ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไปหมด
ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วยนิ้วทั้ง ๕
เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
รสต่าง ๆ ย่อมไหลออก
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๖๘] เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในปางก่อน
อังกุระเอ๋ย ท่านจงทราบว่า
เราเป็นเปรตจุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๖๙] เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร
ท่านรักษาศีลเช่นไร มีความประพฤติชอบอย่างไร
เพราะพรหมจรรย์อะไร
ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๗๐] เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร
มีความเป็นอยู่แสนจะฝืดเคือง น่าสงสาร
ในขณะนั้น เราไม่มีอะไรจะให้ทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
[๒๗๑] เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของอสัยหเศรษฐีซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา
เป็นใหญ่ในทาน ทำบุญไว้แล้ว มีความละอาย
[๒๗๒] พวกยาจกวณิพกมีโคตรต่างกัน ไปที่บ้านของเรานั้น
พากันถามเราถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า
[๒๗๓] ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
พวกเราจะไปทางไหน เขาให้ทานกันที่ไหน
เราถูกพวกยาจกวณิพกถามแล้ว
จึงได้ชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐี
[๒๗๔] ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีว่า
ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่านทั้งหลาย
เขาให้ทานอยู่ที่เรือนของอสัยหเศรษฐีนั่น
[๒๗๕] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
เพราะการทำดีนั้น ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[๒๗๖] ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใคร ๆ ด้วยมือทั้งสองของตน
เป็นแต่ร่วมอนุโมทนาทานของผู้อื่น
ยกมือชี้บอกทางให้
[๒๗๗] เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของท่านจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นที่หลั่งออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
เพราะการทำความดีนั้น ผลบุญจึงสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน
[๒๗๘] ท่านผู้เจริญ อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใส
ได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน
ละร่างมนุษย์แล้วไปยังทิศไหนหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [๒. อุพพริวรรค] ๙. อังกุรเปตวัตถุ
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๒๗๙] ข้าพเจ้าไม่รู้ทางไปหรือทางมา
ของอสัยหเศรษฐีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน
แต่เราได้ฟังมาในสำนักของท้าวเวสวัณว่า
อสัยหเศรษฐีได้เป็นสหายของท้าวสักกะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[๒๘๐] บุคคลควรทำความดีแท้
ควรให้ทานตามสมควร
ใครเล่าได้เห็นฝ่ามือซึ่งให้สิ่งที่น่าปรารถนาแล้วจักไม่ทำบุญ
[๒๘๑] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวารวดี
จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจักนำความสุขมาให้เราแน่นอน
[๒๘๒] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำดื่ม สระน้ำ
และสะพานในที่เดินลำบากเป็นทาน
(อังกุรพาณิชถามรุกขเทวดาว่า)
[๒๘๓] เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงหงิกงอ
หน้าของท่านจึงบิดเบี้ยว
และนัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ(ด้วยขี้ตา)
ท่านได้ทำบาปอะไรไว้
(รุกขเทวดานั้นตอบว่า)
[๒๘๔] เราได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ในการให้ทาน
ในโรงทานของคหบดีผู้มีรัศมีซ่านออกจากตน
มีศรัทธา ยังครองเรือนอยู่
[๒๘๕] เห็นยาจกผู้ต้องการอาหารพากันมาที่โรงทานนั้นแล้ว
ได้หลีกไปทำหน้างออยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า :๒๑๓ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น