Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๗-๑๒ หน้า ๕๘๔ - ๖๓๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
[๓๐๐] ท่านผู้เจริญ พระราชโอรสแห่งวิเทหราช
ทรงอาดูรประทับอยู่ในป่า
ข้าพเจ้าอุปัฏฐากพระองค์ผู้ทรงถูกโรคเบียดเบียนตัวต่อตัว
[๓๐๑] อนึ่ง ข้าพเจ้าแสวงหาของป่า
นำรวงผึ้งหรือเนื้อที่เป็นเดนใดมา พระองค์ก็เสวยสิ่งนั้น
วันนี้พระสรีระของพระองค์คงจะเหี่ยวแห้งแน่นอน
(ทั้ง ๒ กล่าวโต้ตอบกันต่อไปว่า)
[๓๐๒] แม่นางสัมพุลา เธอจะทำอะไรได้กับพระราชบุตร
ผู้ทรงระงมไปด้วยความอาดูรอยู่ในป่า
เราจะเป็นภัสดาของเธอ
[๓๐๓] เพราะอัตภาพที่ทุรพล เดือดร้อนเพราะความเศร้าโศก
รูปร่างของข้าพเจ้าจะงดงามได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ
ขอท่านจงแสวงหาหญิงอื่นที่สวยงามกว่าข้าพเจ้าเถิด
[๓๐๔] มาเถิดแม่นาง จงขึ้นมายังภูเขาลูกนี้
เรามีภรรยาอยู่ ๔๐๐ นาง
เธอจะประเสริฐกว่านางเหล่านั้น
และจะสัมฤทธิ์ความประสงค์ทุกอย่าง
[๓๐๕] แม่นางผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่งประดุจดวงดาว
เธอมีใจประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใด
สิ่งนั้นทั้งหมดของพี่มีอยู่มาก หาได้ง่าย
ขอเธอจงมาร่วมอภิรมย์กับพี่ ณ วันนี้เถิด
[๓๐๖] แม่นางสัมพุลา ถ้าเธอไม่ยอมเป็นมเหสี
เธอก็ควรจะเป็นอาหารเช้าของเราในวันรุ่งขึ้น
[๓๐๗] ฝ่ายเจ้าทานพกินคน มีผมเป็นกระเซิง ๗ ชั้น
หยาบช้าทารุณ มีผิวกายดำแดง
ได้จับพระนางสัมพุลานั้นผู้ไม่เห็นที่พึ่งในป่ารวบไว้ในวงแขน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
[๓๐๘] ส่วนพระนางสัมพุลานั้นถูกปีศาจผู้ทารุณเห็นแก่อามิสข่มเหง
ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู ก็เศร้าโศกรำพันถึงแต่พระสวามีเท่านั้น
[๓๐๙] การที่รากษสจะกินเรา
ถึงกระนั้น ก็หาใช่เป็นความทุกข์ของเราไม่
เราทุกข์อยู่แต่ว่า พระลูกเจ้าจะเข้าพระทัยผิด
[๓๑๐] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นจะไม่มีอยู่แน่
ท้าวโลกบาลทั้งหลายชะรอยจะไม่มีในโลกนี้แน่นอน
คนที่จะห้ามปรามยักษ์ผู้ไม่สำรวมทำการหยาบช้าคงไม่มีแน่นอน
(ท้าวสักกะทรงใคร่ครวญทราบเหตุนั้นแล้ว ฉวยเอาพระขรรค์เพชรรีบเสด็จไป
ประทับยืนบนกระท่อมของทานพยักษ์ ตรัสว่า)
[๓๑๑] นางนี้มีเกียรติยศชื่อเสียง ประเสริฐกว่าหญิงทั้งหลาย
เป็นหญิงฉลาด เรียบร้อย มีเดชรุ่งเรืองดุจกองเพลิง
เจ้ารากษส ถ้าเจ้ากินหญิงสาวผู้นั้น
ศีรษะของเจ้าจะพึงแตก ๗ เสี่ยง เจ้าอย่าทำให้นางเดือดร้อน
จงปล่อยนางไป เพราะนางเป็นหญิงมีสามี
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
[๓๑๒] ก็พระนางสัมพุลารอดพ้นจากยักษ์กินคนแล้ว
ก็เสด็จกลับสู่อาศรมดุจแม่นกซึ่งมีลูกอ่อนมีอันตรายบินกลับรัง
ดุจแม่โคนมกลับมายังที่อยู่อาศัยที่ปราศจากลูกโค
[๓๑๓] พระนางสัมพุลาราชบุตรีผู้มียศ
เมื่อไม่ทรงเห็นพระสวามีผู้เป็นที่พึ่งในป่า
ก็มีดวงพระเนตรพร่าพรายเพราะความร้อน
ทรงกันแสงอยู่ ณ ที่นั้น
[๓๑๔] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร พระนางก็ทรงไหว้วอน
สมณพราหมณ์และฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะว่า
ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
[๓๑๕] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนราชสีห์
เสือโคร่ง และหมู่เนื้อเหล่าอื่นในป่าว่า
ข้าพเจ้าขอถึงท่านทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๓๑๖] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนเทพเจ้า
ผู้สิงสถิตอยู่ที่กอหญ้าลดาวัลย์และหมู่ไม้โอสถตลอดจนบรรพต
และพงศ์ไพรว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านทั้งหลายเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๓๑๗] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอน
หมู่ดาวนักษัตรในยามราตรีซึ่งมีรัศมีเสมอด้วยดอกราชพฤกษ์ว่า
ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๓๑๘] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอนเทพเจ้า
ผู้สถิตที่แม่น้ำคงคาซึ่งมีนามว่าภาคีรถี
เป็นที่รองรับการไหลมาแห่งแม่น้ำสายอื่นจำนวนมากว่า
ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๓๑๙] เมื่อไม่ทรงพบพระราชบุตร ก็ทรงไหว้วอน
(เทพเจ้าผู้สิงสถิตอยู่ ณ) ภูเขาหิมวันต์ที่ประเสริฐกว่าขุนเขาทั้งปวง
ซึ่งเต็มด้วยศิลาว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึก
(โสตถิเสนทูลถามพระนางสัมพุลาว่า)
[๓๒๐] พระราชบุตรีผู้มียศ พระนางกลับมาจนเย็นค่ำเชียวหนอ
วันนี้พระนางสมคบกับใครหนอ
ใครกันหนอเป็นที่รักของพระนางยิ่งกว่าหม่อมฉัน
(พระนางสัมพุลาตรัสว่า)
[๓๒๑] หม่อมฉันถูกทานพผู้เป็นศัตรูนั้นจับไว้
ได้กล่าวกับมันอย่างนี้ว่า
การที่รากษสจะกินเรา ถึงกระนั้นก็หาใช่ความทุกข์ของเราไม่
เราทุกข์อยู่แต่ว่า พระลูกเจ้าจะเข้าพระทัยผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๙. สัมพุลาชาดก (๕๑๙)
(โสตถิเสนได้ฟังดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[๓๒๒] นางโจรมีเล่ห์เหลี่ยมมากมาย ยากที่จะหาความสัตย์ได้
หญิงทั้งหลายมีภาวะรู้ได้ยากเหมือนปลาที่ว่ายไปในน้ำ
(พระนางสัมพุลาทรงทำสัจกิริยาหลั่งน้ำลงที่ศีรษะของโสตถิเสนนั้นว่า)
[๓๒๓] ขอความสัตย์จงคอยพิทักษ์รักษาหม่อมฉัน
อย่างที่หม่อมฉันไม่เคยรักชายอื่นยิ่งไปกว่าทูลกระหม่อมเถิด
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอพระโรคของทูลกระหม่อมจงระงับไป
(พระสสุรดาบสตรัสถามพระนางสัมพุลาผู้มีอินทรีย์เหี่ยวแห้งว่า)
[๓๒๔] พญาช้าง ๗๐๐ เชือกซึ่งมีทหารถืออาวุธอย่างเข้มแข็งขับขี่
และนายขมังธนูอีก ๑,๖๐๐ นายเฝ้ารักษาตลอดคืนตลอดวัน
แม่นางผู้เจริญ พระนางยังจะพบศัตรูชนิดไหนอีก
(พระนางสัมพุลากราบทูลว่า)
[๓๒๕] ขอเดชะพระบิดา พระราชบุตรทอดพระเนตรเห็น
นางสนมนารีผู้ประดับตบแต่งเรือนร่าง มีผิวพรรณงามดังกลีบปทุม
รุ่นกำดัด มีเสียงไพเราะดังนางพญาหงส์
และทรงสดับเสียงหัวเราะขับกล่อมประโคม
บัดนี้สำหรับหม่อมฉัน พระลูกเจ้าหาเป็นดังเช่นก่อนไม่
[๓๒๖] ขอเดชะพระบิดา สนมนารีเหล่านั้น
ทรงเครื่องประดับล้วนเป็นทองคำ มีเรือนร่างเฉิดโฉม
ประดับด้วยอลังการนานาชนิด เพริศพริ้งดังสาวสวรรค์
เป็นที่โปรดปรานของท้าวโสตถิเสน ล้วนมีทรวดทรงหาที่ติมิได้
เป็นขัตติยกัญญาพากันปรนเปรอท้าวเธออยู่
[๓๒๗] ขอเดชะพระบิดา ถ้าหากพระราชโอรส
ทรงยกย่องหม่อมฉันและไม่ทรงดูหมิ่นหม่อมฉัน
เหมือนคราวที่หม่อมฉัน เคยเที่ยวแสวงหาผลาผล
เลี้ยงดูพระสวามีอยู่ในป่าในกาลก่อนไซร้ สำหรับหม่อมฉัน
ป่านั้นแหละประเสริฐกว่าราชสมบัติในกรุงพาราณสีนี้เสียอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
[๓๒๘] นารีผู้มีอาภรณ์เกลี้ยงเกลาประดับตกแต่งร่างกายอย่างสวยงาม
ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง อยู่ในเรือนที่มีข้าวและน้ำ
ที่เขาตระเตรียมไว้อย่างไพบูลย์อันใด แต่ไม่เป็นที่รักของสามี
การที่นารีนั้นฆ่าตัวตายเสียยังประเสริฐกว่าการอยู่ครองเรือนนั้น
[๓๒๙] แม้หญิงใดเป็นคนกำพร้า ขัดสน ไร้เครื่องประดับ
นอนบนเสื่อลำแพน แต่เจ้าหล่อนเป็นที่รักของสามี
หญิงนี้แลแม้จะเป็นคนกำพร้าก็ยังประเสริฐกว่า
หญิงที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง แต่ไม่เป็นที่รักของสามี
(พระสสุรดาบสตรัสสอนพระราชโอรสว่า)
[๓๓๐] หญิงผู้เกื้อกูลชายผู้เป็นสามีหาได้ยากยิ่ง
สามีผู้เกื้อกูลหญิงผู้เป็นภรรยาก็หาได้ยาก เจ้าผู้จอมชน
พระนางสัมพุลาเป็นภรรยาผู้เกื้อกูลต่อเจ้าและเป็นผู้มีศีล
เจ้าจงประพฤติต่อพระนางสัมพุลาอย่างยุติธรรมเถิด
(พระเจ้าโสตถิเสนเมื่อจะมอบอิสริยยศแก่พระนางสัมพุลา จึงตรัสว่า)
[๓๓๑] พระน้องนางผู้เจริญ ถ้าเมื่อพระน้องนาง
ได้โภคะอันไพบูลย์แล้วละความริษยาได้จนวันตาย
พี่และราชกัญญาเหล่านี้ทั้งหมดจะทำตามคำของพระน้องนาง
สัมพุลาชาดกที่ ๙ จบ
๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
ว่าด้วยเทวดาชื่อคันธตินทุกะ
(พระโพธิสัตว์ครั้งเกิดเป็นรุกขเทวดาชื่อคันธตินทุกะ แสดงธรรมถวายพระราชาว่า)
[๓๓๒] ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
[๓๓๓] ความประมาทเกิดจากความมัวเมา
ความเสื่อมเกิดจากความประมาท
และเพราะความเสื่อมจึงเกิดการประทุษร้าย
ท่านพระรตูสภะ ขอพระองค์อย่าได้ประมาทเลย
[๓๓๔] แท้จริง กษัตริย์ทั้งหลายผู้ประมาทจำนวนมาก
ย่อมเสื่อมทั้งประโยชน์ทั้งแคว้น
แม้นายบ้านและลูกบ้านก็เสื่อม แม้บรรพชิตและคฤหัสถ์ก็เสื่อม
[๓๓๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
โภคะทั้งปวงในแคว้นของกษัตริย์ผู้ประมาทแล้วย่อมพินาศ
ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา
[๓๓๖] ขอเดชะพระมหาราช นั่นหาใช่ธรรมไม่
พระองค์ทรงประมาทเกินขอบเขต
พวกโจรจึงปล้นทำลายชนบทที่มั่งคั่งสมบูรณ์
[๓๓๗] พระราชบุตรผู้จะสืบสันตติวงศ์จักไม่มี
ทรัพย์สินเงินทองจักไม่มี พระนครก็จักไม่มี
เมื่อแคว้นถูกปล้นสะดม พระองค์ก็จะเสื่อมจากโภคะทั้งปวง
[๓๓๘] พระญาติ มิตร และพระสหายย่อมไม่นับถือพระองค์ผู้เป็น
กษัตริย์ซึ่งเสื่อมจากโภคะทั้งปวงในทางพระปรีชาสามารถ
[๓๓๙] พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าซึ่งอาศัยพระองค์เลี้ยงชีพ
ย่อมไม่นับถือพระองค์ว่า เป็นพระราชาผู้ควรนับถือ
[๓๔๐] สิริย่อมละคนโง่ผู้ไม่จัดแจงการงาน
มีความคิดเลวทราม มีปัญญาทรามไปเหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้ง
[๓๔๑] กษัตริย์ผู้ทรงจัดแจงการงานดี ทรงขยันตลอดกาล
ไม่เกียจคร้าน โภคะทั้งปวงย่อมเจริญโดยยิ่ง
เหมือนฝูงโคที่มีโคอุสภะเป็นจ่าฝูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
[๓๔๒] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์ทรงเสด็จไป
สดับตรับฟังเหตุการณ์ทั้งในแคว้นและชนบท
ครั้นได้ทอดพระเนตรและสดับแล้ว พึงปฏิบัติไปตามนั้น
(ชายแก่ชาวบ้านถูกหนามตำเท้าที่ประตูเรือน จึงนั่งกระโหย่งบ่งหนาม พลาง
ด่าพระราชาว่า)
[๓๔๓] ขอให้พระเจ้าปัญจาละจงถูกลูกศรเสียบแทงในสงคราม
เสวยทุกขเวทนาเหมือนตัวข้าถูกหนามตำเสวยทุกขเวทนาในวันนี้
(พอราชปุโรหิตได้ยินคำด่าของชายแก่ จึงถามว่า)
[๓๔๔] ลุงแก่แล้ว หูตามืดมัว มองเห็นไม่ชัด หนามจึงตำ
ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า
(ชายแก่ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๔๕] ท่านพราหมณ์ ในข้อที่ข้าพเจ้าถูกหนามตำ
พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอย่างมาก
เพราะพระองค์มิได้พิทักษ์คุ้มครอง
ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม
[๓๔๖] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่
ในแคว้นของพระราชาโกง
คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก
[๓๔๗] เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น พราหมณ์
พวกมาณพที่กลัวภัยจึงนำหนามในป่ามาแล้วสร้างที่หลบเร้น
(หญิงชราผู้เก็บผักหักฟืนจากป่ามาเลี้ยงลูกสาวขึ้นพุ่มไม้ กำลังเก็บผักอยู่
พลัดตกลงมา เมื่อจะด่าพระราชาโดยแช่งให้ตาย จึงกล่าวว่า)
[๓๔๘] ในแคว้นของพระเจ้าพรหมทัต
หญิงสาวหาผัวไม่ได้ แก่ลงไป
เมื่อไรหนอ พระเจ้าพรหมทัตจักสวรรคตเสียที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
(เมื่อราชปุโรหิตจะคัดค้านนาง จึงกล่าวว่า)
[๓๔๙] แม่หญิงชั่วช้า ไม่เข้าใจเหตุผล เธอนะพูดไม่ดีเลย
พระราชาเคยหาผัวให้พวกหญิงสาวที่ไหนกัน
(หญิงชราได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๕๐] ท่านพราหมณ์ ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าพูดไม่ดี ข้าพเจ้าเข้าใจเหตุผล
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง
ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม
[๓๕๑] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่
ในแคว้นของพระราชาโกง
คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก
เมื่อความเป็นอยู่ลำบาก ภรรยาก็เลี้ยงได้ยาก
ที่ไหนหญิงสาวจะมีสามีได้เล่า
(เมื่อชาวนากำลังไถนา โคชื่อสาลิยะถูกผาลบาดล้มลง เขาเมื่อจะด่าพระ
ราชาจึงกล่าวว่า)
[๓๕๒] ขอให้พระเจ้าปัญจาละถูกหอกแทงล้มนอนกลิ้งในสงคราม
เหมือนโคพลิพัทท์สาลิยะผู้น่าสงสารถูกผาลบาดล้มนอนกลิ้งอยู่
(เมื่อราชปุโรหิตจะคัดค้านชาวนานั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๕๓] เจ้าคนชาติชั่ว เจ้านะโกรธพระเจ้าพรหมทัตอย่างไม่ถูกต้อง
เจ้าทำร้ายโคของตนเอง กลับมาสาปแช่งพระราชา
(ชาวนาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๕๔] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าโกรธพระเจ้าพรหมทัตโดยธรรม
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง
ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม
[๓๕๕] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่
ในแคว้นของพระราชาโกง
คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
[๓๕๖] แม่ครัวคงหุงใหม่แน่นอน จึงนำอาหารมาสาย
ข้าพเจ้ามัวแลดูคนนำอาหารมา โคสาลิยะจึงถูกผาลบาด
(คนรีดนมโคถูกแม่โคดีดล้มกลิ้งไปพร้อมกับนมสด เมื่อจะด่าพระราชา จึง
กล่าวว่า)
[๓๕๗] ขอพระเจ้าปัญจาละจงถูกฟันด้วยดาบเดือดร้อนอยู่ในสงคราม
เหมือนเราถูกแม่โคนมดีดจนน้ำนมของเรากลิ้งหกในวันนี้
(ราชปุโรหิตกล่าวว่า)
[๓๕๘] สัตว์เลี้ยงหลั่งน้ำนมทิ้งเอง เบียดเบียนคนเลี้ยงสัตว์เอง
ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า
ท่านผู้เจริญไม่น่าจะติเตียนพระองค์ท่านเลย
(เมื่อราชปุโรหิตกล่าวจบลง คนรีดนมได้กล่าวว่า)
[๓๕๙] ท่านพราหมณ์ พระเจ้าปัญจาละควรจะถูกติเตียน
เพราะพระเจ้าพรหมทัตไม่พิทักษ์คุ้มครอง
ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม
[๓๖๐] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่
ในแคว้นของพระราชาโกง
คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก
[๓๖๑] แม่โคตัวดุร้าย ปราดเปรียว เมื่อก่อนพวกเรามิได้รีดนมมัน
บัดนี้ พวกเราถูกเจ้าหน้าที่ต้องการน้ำนมรบกวน
จึงต้องรีดนมมันในวันนี้
(พวกเด็กชาวบ้านเห็นแม่โคนมที่ลูกถูกฆ่าไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำ เพียรร่ำร้อง
หาลูกอยู่ เมื่อจะพากันด่าพระราชา จึงกล่าวว่า)
[๓๖๒] ขอพระเจ้าปัญจาละจงพลัดพรากจากพระราชบุตร
คร่ำครวญหม่นหมองเหมือนแม่โคผู้น่าสงสารตัวนี้
พลัดพรากจากลูกวิ่งพล่านคร่ำครวญอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต] ๑๐. คันธตินทุกชาดก (๕๒๐)
(ลำดับนั้น ปุโรหิตกล่าวว่า)
[๓๖๓] สัตว์เลี้ยงของคนเลี้ยงสัตว์พึงวิ่งไปมาหรือร้องคร่ำครวญ
ในข้อนี้ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิดอะไรด้วยเล่า
(ลำดับนั้น พวกเด็กชาวบ้านกล่าวว่า)
[๓๖๔] ท่านพราหมณ์ พระเจ้าพรหมทัตมีความผิด
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมิได้พิทักษ์คุ้มครอง
ชาวชนบทจึงถูกกดขี่ด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม
[๓๖๕] กลางคืนพวกโจรก็ปล้นสะดม กลางวันพวกเจ้าหน้าที่ก็กดขี่
ในแคว้นของพระราชาโกง
คนผู้ประกอบการงานอันไม่ชอบธรรมจึงมีอยู่มาก
ลูกโคที่ยังดื่มนมจึงถูกฆ่าเพราะต้องการหนังทำฝักดาบ
(พระโพธิสัตว์บันดาลให้กบแช่งด่าพระราชาว่า)
[๓๖๖] ขอพระเจ้าปัญจาละพร้อมทั้งพระโอรสจงถูกฆ่ากิน
ในสนามรบเหมือนเราซึ่งเกิดในป่าถูกกาบ้านฆ่ากินในวันนี้
(ราชปุโรหิตได้ฟังดังนั้น จึงสนทนากับกบว่า)
[๓๖๗] เจ้ากบ พระราชาทั้งหลายในมนุษยโลก
จะจัดการพิทักษ์รักษาเหล่าสัตว์ทั้งปวงหาได้ไม่
พระราชาจะจัดว่าเป็นอธรรมจารีบุคคล
เพราะเหตุเพียงกากินสัตว์เช่นท่านหามิได้
(กบได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๓๖๘] ท่านเป็นพรหมจารีบุคคลผู้ไม่มีธรรม
จึงกล่าวยกย่องกษัตริย์
เมื่อประชากรจำนวนมากถูกปล้นอยู่
ท่านก็ยังบูชาพระราชาผู้เลอะเลือนอยู่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
[๓๖๙] ท่านพราหมณ์ ถ้าแคว้นนี้พึงมีพระราชาที่ดีไซร้
ก็จะมั่งคั่ง เบ่งบาน ผ่องใส
ฝูงกาก็จะได้กินก้อนข้าวที่ดีซึ่งเป็นพลีกรรม
ไม่พึงกินสัตว์เช่นเราเลย
คันธตินทุกชาดกที่ ๑๐ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. กิงฉันทชาดก ๒. กุมภชาดก
๓. ชยัททิสชาดก ๔. ฉัททันตชาดก
๕. สัมภวชาดก ๖. มหากปิชาดก
๗. ทกรักขสชาดก ๘. ปัณฑรกนาคราชชาดก
๙. สัมพุลาชาดก ๑๐. คันธตินทุกชาดก

ติงสตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๔ }


๑๗. จัตตาลีสนิบาต
๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
ว่าด้วยนก ๓ ตัว
(พระราชาตรัสถามธรรมกับนกเวสสันดรในท่ามกลางมหาชนว่า)
[๑] ลูกนก ขอความเจริญจงมีแก่ลูก พ่อขอถามลูกเวสสันดรว่า
กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครองราชสมบัติ
กระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ
(นกเวสสันดรยังไม่ทูลตอบปัญหา แต่ทูลเตือนพระราชาเพราะความประมาท
ก่อนแล้วจึงกราบทูลว่า)
[๒] นานนักหนอ พระเจ้ากังสะพระราชบิดาของเรา
ผู้ทรงครอบครองกรุงพาราณสี ผู้มีความประมาท
ได้ตรัสถามเราผู้เป็นบุตรซึ่งหาความประมาทมิได้
(นกเวสสันดรเมื่อทูลเตือนอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓] ขอเดชะบรมกษัตริย์ อันดับแรกทีเดียว
พระราชาพึงทรงห้ามการตรัสคำไม่จริง ความโกรธ
ความหรรษาร่าเริง ต่อแต่นั้นพึงตรัสสั่งให้ทำราชกิจ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า นั้นเป็นพระราชประเพณี
[๔] ขอเดชะเสด็จพ่อ เมื่อก่อนกรรมใดเป็นกรรมกระทำให้
เดือดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย พระองค์ทรงทำไว้แล้ว ๑
กรรมใดพระองค์ทรงมีความกำหนัดและความขัดเคืองทรงทำ ๑
กรรมนั้นพระองค์ไม่พึงทำต่อไปอีก
[๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
โภคะทั้งปวงในแคว้นของกษัตริย์ผู้ประมาทแล้วย่อมพินาศ
ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
[๖] ขอเดชะเสด็จพ่อ เทพธิดาชื่อสิริและอลักขีถูกสุจิวารเศรษฐีถาม
ได้ตอบว่า ดิฉันชื่นชมยินดีคนที่ขยันหมั่นเพียรและไม่ริษยา
[๗] ขอเดชะมหาราช ส่วนอลักขีเทพธิดาเป็นคนกาฬกัณณี
หักกุศลจักร ย่อมชื่นชมยินดีคนริษยา คนใจร้าย
มักทำลายกุศลกรรม
[๘] ขอเดชะมหาราช พระองค์นั้น โปรดทรงมีพระหทัยดี
ในชนทั้งปวง จงทรงพิทักษ์รักษาชนทั้งปวง
โปรดทรงขับนางเทพธิดาที่อับโชคออกไป
ขอพระราชนิเวศน์จงเป็นที่อยู่ของนางเทพธิดาที่อำนวยโชคเท่านั้นเถิด
[๙] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี
เพราะว่าบุรุษผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาและความเพียรนั้น
มีอัธยาศัยกว้างขวาง ย่อมตัดรากเง่าและยอดของศัตรูได้ขาด
[๑๐] แท้จริง แม้ท้าวสักกะผู้เป็นเจ้าแห่งภูต
ก็มิได้ทรงประมาทในความขยันหมั่นเพียร
ท้าวเธอทรงกระทำความเพียรในกัลยาณธรรม
ทรงสนพระทัยในความขยันหมั่นเพียร
[๑๑] คนธรรพ์ พรหม เทวดาทั้งหลายที่มีชีวิตเกี่ยวเนื่องกับ
พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระองค์ทรงขยันหมั่นเพียร
ไม่ประมาท ก็ย่อมจะคล้อยตาม
[๑๒] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่ออย่าทรงประมาท
อย่าทรงกริ้ว แล้วตรัสสั่งให้ทำราชกิจ
อนึ่ง โปรดทรงพยายามในราชกิจ
เพราะคนไม่เกียจคร้านย่อมประสบความสุข
[๑๓] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ที่สามารถช่วยมิตรให้ถึงความสุขและให้ทุกข์เกิดแก่ศัตรูได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
(พระราชาตรัสถามราชธรรมกับนางนกกุณฑลินีว่า)
[๑๔] แม่กุณฑลินี สกุณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้มีบรรดาศักดิ์
เจ้าคงจะเข้าใจปัญหา กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครอง
ราชสมบัติกระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ
(นางนกกุณฑลินีกราบทูลว่า)
[๑๕] ขอเดชะเสด็จพ่อ มีเหตุอยู่ ๒ ประการเท่านั้น
ที่ประโยชน์สุขทั้งปวงดำรงมั่นอยู่ได้ คือ
การได้ลาภที่ยังไม่ได้ ๑ การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว ๑
[๑๖] ขอเดชะเสด็จพ่อ พระองค์โปรดทรงรู้จักหมู่อำมาตย์
ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์
ไม่ใช่นักเลงการพนัน ไม่ใช่คนปลิ้นปล้อน
ไม่ใช่นักเลงล้างผลาญเถิด พระเจ้าข้า
[๑๗] ขอเดชะเสด็จพ่อ อำมาตย์คนใดพึงรักษาทรัพย์
ที่พระองค์พึงมีไว้ได้เหมือนนายสารถียึดรถ
อำมาตย์ผู้นั้นพระองค์โปรดทรงให้ทำราชกิจเถิด
[๑๘] พระราชาพึงสงเคราะห์ชนฝ่ายในให้ดี
ตรวจตราราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง
ไม่พึงฝังขุมทรัพย์ และให้กู้หนี้โดยทรงไว้วางพระทัยผู้อื่น
[๑๙] พระราชาควรทราบความเจริญและความเสื่อมด้วยพระองค์เอง
ควรทรงทราบสิ่งที่ทรงกระทำแล้วและยังมิได้ทรงกระทำ
ด้วยพระองค์เอง พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง
[๒๐] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์ทรงโปรดพร่ำสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ชาวชนบทด้วยพระองค์เอง
ข้าราชการผู้ไม่มีธรรมที่ทรงใช้สอยอย่าได้ทำพระราชทรัพย์
และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
[๒๑] อนึ่ง พระองค์อย่าทรงกระทำ
หรือตรัสใช้ให้ผู้อื่นกระทำราชกิจด้วยความเร่งด่วน
เพราะการงานที่ทำด้วยความเร่งด่วนไม่ดีเลย
คนโง่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังเพราะการกระทำเช่นนั้น
[๒๒] ขอพระทัยของพระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล
ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยพระทัยให้ขุ่นเคืองเกรี้ยวกราดนัก
เพราะว่าสกุลทั้งหลายที่มั่งคั่งมากมาย
ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ
[๒๓] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอพระองค์อย่าทรงให้ประชาชน
หยั่งลงเพื่อความหายนะ เพราะเข้าพระทัยว่า เราเป็นใหญ่
ขอพวกสตรีและบุรุษของพระองค์อย่าได้มีความทุกข์เลย
[๒๔] พระราชาผู้ปราศจากอาการขนพองสยองเกล้า
มีพระทัยใฝ่หาแต่กาม โภคะทั้งปวงจักพินาศไป
ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา
[๒๕] ข้อความเหล่านั้นที่หม่อมฉันกล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ขอเดชะพระมหาราช บัดนี้
เสด็จพ่อพึงทรงขยันหมั่นบำเพ็ญบุญ
อย่าทรงเป็นนักเลง อย่าทรงล้างผลาญพระราชทรัพย์
ควรทรงเป็นผู้มีศีล เพราะคนทุศีลต้องตกนรก
(พระราชาตรัสถามปัญหากับนกชัมพุกบัณฑิตว่า)
[๒๖] พ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามโกสิยโคตรแล้ว
และแม่กุณฑลินีพ่อก็ได้ถามแล้วเช่นกัน
คราวนี้ พ่อจงบอกกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
(นกชัมพุกบัณฑิตแสดงธรรมแก่พระราชาว่า)
[๒๗] ในโลกมีกำลังอยู่ ๕ ประการ๑มีอยู่ในบุรุษ
ผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง บรรดากำลังทั้ง ๕ ประการนั้น
ขึ้นชื่อว่ากำลังแขนท่านกล่าวว่า เป็นกำลังสุดท้าย
[๒๘] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระชนมายุยืนนาน
ส่วนกำลังแห่งโภคะท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ ๒
และกำลังแห่งอำมาตย์ท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ ๓
[๒๙] อนึ่ง กำลังแห่งชาติสกุลอันยิ่งนั้น
เป็นกำลังที่ ๔ อย่างไม่ต้องสงสัย
กำลังทั้งหมด ๔ ประการเหล่านั้นบัณฑิตย่อมยึดถือไว้ได้
[๓๐] กำลังปัญญานั้นเป็นกำลังประเสริฐสุด
เป็นยอดกำลังกว่ากำลังทั้งหลาย
บัณฑิตผู้มีกำลังปัญญาสนับสนุนย่อมประสบประโยชน์
[๓๑] แม้ถึงคนมีปัญญาทรามจะได้แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ก็จริง
คนอื่นผู้มีปัญญาย่อมกดขี่เขาซึ่งไม่ประสงค์จะให้
ยึดครองแผ่นดินนั้นเสีย
[๓๒] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี
ถึงกษัตริย์แม้อุบัติในสกุลอันสูงยิ่ง
ได้ราชสมบัติแล้ว แต่มีปัญญาทราม
จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยโภคะแม้ทั้งปวงหาได้ไม่
[๓๓] ปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้ฟัง
ปัญญาเป็นเหตุให้เกียรติยศชื่อเสียงเจริญ
นรชนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว
แม้เมื่อเกิดทุกข์ก็ประสบสุขได้

เชิงอรรถ :
๑ กำลัง ๕ คือ (๑) กำลังกาย (๒) กำลังโภคทรัพย์ (๓) กำลังอำมาตย์ (๔) กำลังชาติตระกูล (กษัตริย์)
(๕) กำลังปัญญา (ขุ.ชา.อ. ๗/๒๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
[๓๔] ส่วนคนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี
ไม่อาศัยท่านผู้เป็นพหูสูต ซึ่งตั้งอยู่ในธรรม
ไม่ไตร่ตรองเหตุผล ย่อมไม่ได้ลุถึงปัญญา
[๓๕] อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในกาลที่เหมาะสม
ไม่เกียจคร้าน บากบั่นตามกาลเวลา ผลงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จ
[๓๖] ประโยชน์ของบุคคลผู้มิใช่เป็นบ่อเกิดแห่งศีล
ผู้คบหาบุคคลผู้มิใช่บ่อเกิดแห่งศีล
ผู้มีปกติเบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ
[๓๗] ส่วนประโยชน์ของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน
ผู้คบหาบุคคลผู้เป็นบ่อเกิดแห่งศีลเช่นนั้น
มีปกติไม่เบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ
[๓๘] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่อจงทรงใฝ่หาปัญญา
คือการตามประกอบความเพียรในเหตุที่ควรประกอบ
และใฝ่หาการอนุรักษ์ทรัพย์ที่ทรงรวบรวมไว้ทั้ง ๒ อย่างนั้นเถิด
อย่าทรงทำลายทรัพย์ด้วยเหตุอันไม่สมควรเลย
เพราะคนมีปัญญาทรามย่อมล่มจม
เหมือนเรือนไม้อ้อ เพราะการกระทำอันไม่สมควร
(พระโพธิสัตว์พรรณนากำลัง ๕ ประการนี้แล้ว ยกกำลังคือปัญญาขึ้นกราบ
ทูลแด่พระราชาอีกว่า)
[๓๙] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในพระราชมารดาและพระราชบิดาเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๐] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
[๔๑] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในหมู่มิตรและอำมาตย์เถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๒] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในราชพาหนะและพลนิกายเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๓] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๔] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๕] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๖] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด
ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและสัตว์ปีกทั้งหลายเถิด
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๗] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์โปรดทรงประพฤติธรรม
เพราะธรรมที่บุคคลประพฤติแล้วนำความสุขมาให้
ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์
[๔๘] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงประพฤติธรรมเถิด
เพราะเทวดาพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม
ถึงทิพยสถานได้ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาแสดงจริยธรรม ๑๐ ประการนี้แล้วจึงโอวาทให้ยิ่งขึ้น
ไปว่า)
[๔๙] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ
นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้เป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ
ขอเสด็จพ่อโปรดทรงคบหาคนมีปัญญา จงทรงเป็นผู้มีกัลยาณธรรม
ทรงทราบความข้อนั้นด้วยพระองค์เองแล้ว
โปรดทรงปฏิบัติให้ครบถ้วนเถิด
เตสกุณชาดกที่ ๑ จบ
๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
ว่าด้วยสรภังคดาบสแก้ปัญหา
(อนุสิสสดาบสถือหม้อจะไปตักน้ำได้พบพระราชา ๓ พระองค์ จึงทูลถามว่า)
[๕๐] ท่านทั้งหลายเป็นใครกันหนอ ประดับเครื่องอลังการ
สวมใส่ต่างหู นุ่งห่มเรียบร้อย เหน็บพระขรรค์มีด้ามประดับ
ด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมุกดา ยืนอยู่บนรถอย่างองอาจ
ในมนุษยโลกเขารู้จักพวกท่านว่าอย่างไร
(ในพระราชาทั้ง ๓ องค์ พระเจ้าอัฏฐกะตรัสกับท่านอนุสิสสดาบสว่า)
[๕๑] ข้าพเจ้าชื่ออัฏฐกะ ท่านผู้นี้คือพระเจ้าภีมรถ
ส่วนท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระเกียรติยศระบือไปทั่ว
พวกข้าพเจ้ามา ณ ที่นี่เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลาย
ผู้มีความสำรวมเป็นอันดี และเพื่อที่จะถามปัญหา
(อนุสิสสดาบสปฏิสันถารกับพระราชาแล้วกราบทูลท้าวสักกเทวราชผู้เสด็จมา
เยี่ยมว่า)
[๕๒] ท่านยืนอยู่กลางหาวราวกะพระจันทร์เพ็ญ
ลอยเด่นอยู่ท่ามกลางเวหาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
ท่านผู้มีคุณน่าบูชา ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมากว่า
ในมนุษยโลกเขารู้จักท่านว่าอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
(ท้าวสักกเทวราชสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[๕๓] ท่านผู้ใดในเทวโลกเขาเรียกกันว่า สุชัมบดี
ท่านผู้นั้นในมนุษยโลกเขาเรียกกันว่า มัฆวาน
ข้าพเจ้านั้นเป็นเทพราชามาถึงที่นี้ในวันนี้
เพื่อจะเยี่ยมฤๅษีทั้งหลายผู้มีความสำรวมเป็นอันดี
(ท้าวสักกเทวราชเสด็จลงแล้วเข้าไปหาหมู่ฤๅษี ยืนประคองอัญชลีไหว้อยู่ ตรัสว่า)
[๕๔] ฤๅษีของพวกเรามีฤทธิ์มาก ประกอบด้วยคุณคือฤทธิ์
ปรากฏในที่ไกล ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
ขอนมัสการพระคุณเจ้าผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้
(ต่อมาอนุสิสสดาบสเห็นท้าวสักกเทวราชประทับนั่งใต้ลมของหมู่ฤๅษี จึง
กราบทูลว่า)
[๕๕] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานานย่อมออกจากกายฟุ้งไปตามลม
ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช
ขอมหาบพิตรเสด็จถอยไปจากที่นี่
เพราะกลิ่นของฤๅษีทั้งหลายไม่สะอาด
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๕๖] กลิ่นของฤๅษีผู้ที่บวชมานาน
ขอจงออกจากกายฟุ้งไปตามลมเถิด
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายจำนงหวังกลิ่นนั้น
ดุจพวงบุปผชาติอันวิจิตรมีกลิ่นหอม
เพราะเทวดาทั้งหลายมิได้มีความสำคัญกลิ่นนี้ว่าปฏิกูล
(อนุสิสสดาบสลุกจากอาสนะ ขอโอกาสกับหมู่ฤๅษี กล่าวว่า)
[๕๗] ท้าวมัฆวาน สุชัมบดีเทวราช องค์ปุรินททะจอมเทพ
ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตพระองค์นั้น ทรงพระยศ ย่ำยีหมู่อสูร
ทรงรอคอยโอกาสเพื่อจะตรัสถามปัญหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
[๕๘] บรรดาฤๅษีเหล่านี้ผู้เป็นบัณฑิต ณ ที่นี่
ใครเล่าหนอถูกถามแล้วจักพยากรณ์ปัญหาอันละเอียดสุขุม
ของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ทั้ง ๓ พระองค์
และของท้าววาสวะจอมเทพได้
(หมู่ฤๅษีได้ฟังดังนั้นแล้วจึงกล่าวแนะนำว่า)
[๕๙] ฤๅษีตนนี้ชื่อสรภังคะ มีตบะ เว้นจากเมถุนธรรมตั้งแต่เกิด
เป็นบุตรของปุโรหิตาจารย์ ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอันดี
ท่านจักพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายของพระราชาเหล่านั้นได้
(อนุสิสสดาบสยอมรับไหว้สรภังคดาบสแล้วเมื่อจะโอวาท จึงกล่าวว่า)
[๖๐] ท่านโกณฑัญญะ นิมนต์ท่านพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายเถิด
ฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีขอร้องท่าน
ท่านโกณฑัญญะ ภาระนี้ย่อมมาถึงท่านผู้เจริญด้วยปัญญา
นี้เป็นธรรมดาในมนุษย์ทั้งหลาย
(ต่อมาพระมหาบุรุษสรภังคดาบสเมื่อให้โอกาส จึงกล่าวว่า)
[๖๑] มหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย อาตมาให้โอกาส
ขอเชิญตรัสถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระทัยปรารถนาเถิด
เพราะอาตมารู้จักทั้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง
จักพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ๆ ถวายมหาบพิตร
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๒] ลำดับนั้นแล ท้าวมัฆวานสักกเทวราช องค์ปุรินททะทรงเห็น
ประโยชน์ได้ตรัสถามปัญหาข้อแรกตามที่พระทัยปรารถนาว่า
[๖๓] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าอะไร จึงจะไม่เศร้าโศก
ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละอะไร
บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ใครในโลกนี้กล่าว
นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
(ต่อแต่นั้นพระมหาสัตว์สรภังคดาบสเมื่อจะตอบปัญหา จึงกล่าวว่า)
[๖๔] ในกาลบางคราว บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก
ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญการละความลบหลู่
บุคคลควรอดทนคำหยาบคายที่ทุกคนกล่าว
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนั้นว่า ยอดเยี่ยม
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๖๕] คำของบุคคลทั้ง ๒ จำพวก คือ
คนที่เสมอกัน ๑ คนที่ประเสริฐกว่า ๑
บุคคลอาจจะอดกลั้นได้
แต่บุคคลจะพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้อย่างไรหนอ
นิมนต์บอกเนื้อความข้อนั้นแก่โยมเถิด ท่านโกณฑัญญะ
(สรภังคดาบสตอบว่า)
[๖๖] แท้จริง บุคคลอดทนถ้อยคำของคนประเสริฐกว่าได้
เพราะความกลัว
อดทนถ้อยคำของคนเสมอกันได้เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ
แต่ผู้ใดพึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าในโลกนี้ได้
ความอดทนนั้นของบุคคลนั้นสัตบุรุษกล่าวว่า ยอดเยี่ยม
(ต่อมาพระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบท้าวสักกะแล้ว เมื่อจะประกาศสภาพที่
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้นเป็นสภาพที่รู้ได้ยากด้วยอาการเพียงเห็นรูปร่าง
เว้นแต่การอยู่ร่วมกัน จึงกล่าวคาถาว่า)
[๖๗] สภาวะที่ปกปิดไว้ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔
บุคคลจะรู้ได้อย่างไรว่า ประเสริฐกว่า เสมอกัน หรือเลวกว่า
เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเที่ยวไปด้วยสภาวะที่ผิดรูป
เพราะเหตุนั้น บุคคลควรอดทนถ้อยคำของคนทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
(เมื่อท้าวสักกะหมดความสงสัย พระมหาสัตว์สรภังคดาบสจึงกล่าวคาถา
ทูลว่า)
[๖๘] สัตบุรุษผู้มีขันติพึงได้ประโยชน์อันใด
ประโยชน์นั้นเสนาแม้หมู่ใหญ่พร้อมด้วยพระราชารบอยู่ก็ไม่พึงได้
เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับได้ด้วยกำลังแห่งขันติ
(ต่อมาท้าวสักกเทวราชทรงทราบอัธยาศัยของพระราชาทั้งหลายแล้วจึงตรัสถาม
ความสงสัยของพระราชาเหล่านั้นว่า)
[๖๙] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกถึงคติของพระราชาทั้งหลาย
ผู้กระทำบาปกรรมอันร้ายแรง คือ
พระเจ้าทัณฑกี ๑ พระเจ้านาฬิกีระ ๑
พระเจ้าอัชชุนะ ๑ พระเจ้ากลาพุ ๑
พระราชาทั้งหลายเหล่านั้นเบียดเบียนฤๅษี
พากันไปเกิด ณ ที่ไหน
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบปัญหาของท้าวสักกะว่า)
[๗๐] ก็พระเจ้าทัณฑกีได้ลงโทษกีสวัจฉดาบส เป็นผู้ตัดมูลราก
พร้อมทั้งอาณาประชาราษฏร์หมกไหม้อยู่ในนรกชื่อกุกกุฬะ
ถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวเพลิงตกต้องกายของพระองค์
[๗๑] พระราชาพระองค์ใดได้ทรงเบียดเบียนบรรพชิตทั้งหลาย
ผู้สำรวม ผู้กล่าวธรรม ผู้สงบ ไม่ประทุษร้าย
พระราชาพระองค์นั้นทรงพระนามว่า พระเจ้านาฬิกีระ
สุนัขทั้งหลายพากันรุมกัดกิน ทรงดิ้นรนอยู่ในปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
[๗๒] อนึ่ง พระเจ้าอัชชุนะทรงตกนรกชื่อสัตติสูละ
ทรงมีพระเศียรห้อยลง พระบาทชี้ขึ้นเบื้องบน
เพราะทรงเบียดเบียนพระอังคีรสโคตมฤๅษีผู้มีขันติ
มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์มาช้านาน
[๗๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดได้ทรงตัดบรรพชิตผู้กล่าวขันติ
ผู้สงบ ไม่ประทุษร้าย ขาดออกเป็นท่อน ๆ
พระราชาพระองค์นั้นทรงพระนามว่าพระเจ้ากลาพุ
ตกอเวจีมหานรกซึ่งมีความร้อนร้ายแรง
มีเวทนาเผ็ดร้อน น่าหวาดกลัว หมกไหม้อยู่
[๗๔] บัณฑิตได้ฟังเรื่องนรกเหล่านี้
และนรกเหล่าอื่นที่ชั่วช้ากว่านี้ ณ ที่นี่แล้ว
พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้กระทำอย่างนี้ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์
(ท้าวสักกะตรัสถามปัญหา ๔ ข้อที่เหลือว่า)
[๗๕] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
บัณฑิตเรียกคนเช่นไรว่า มีศีล
เรียกคนเช่นไรว่า มีปัญญา
เรียกคนเช่นไรว่า สัตบุรุษ
สิริย่อมไม่ละคนเช่นไรหนอ
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบปัญหาของท้าวสักกะว่า)
[๗๖] บุคคลใดในโลกนี้ สำรวมกาย วาจา ใจ
ไม่ทำบาปกรรมอะไร ไม่พูดเหลาะแหละเพราะเหตุแห่งตน
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
[๗๗] บุคคลใดคิดปัญหาที่ลึกซึ้งได้ด้วยใจ
ไม่ทำกรรมอันหยาบช้าซึ่งหาประโยชน์เกื้อกูลมิได้
ไม่ตัดรอนประโยชน์ที่มาถึงตามกาลให้เสียไป
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีปัญญา
[๗๘] บุคคลใดเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นปราชญ์
มีกัลยาณมิตร และมีความภักดีมั่นคง
ช่วยกระทำกิจของมิตรที่ตกยากด้วยความเต็มใจ
บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า สัตบุรุษ
[๗๙] บุคคลใดประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้
มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทานด้วยดี
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สิริย่อมไม่ละคนเช่นนั้น
ผู้มีปกติสงเคราะห์ มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘๐] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
ศีล ๑ สิริ ๑ ธรรมของสัตบุรุษ ๑ ปัญญา ๑
บัณฑิตกล่าวข้อไหนว่า ประเสริฐกว่า
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสตอบว่า)
[๘๑] ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด
ดุจดวงจันทร์ราชาแห่งนักษัตรประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
ศีล สิริ และแม้ธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘๒] โยมขออนุโมทนาคำสุภาษิตของพระคุณเจ้า
แต่โยมขอถามปัญหาข้ออื่นกับพระคุณเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)
ขอพระคุณเจ้าโปรดกล่าวแก้ปัญหานั้น
บุคคลในโลกนี้กระทำอย่างไร กระทำกรรมอะไร
ประพฤติกรรมอะไร คบหาคนอย่างไร จึงจะได้ปัญญา
บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกปฏิปทาแห่งปัญญาว่า
บุคคลกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสกล่าวว่า)
[๘๓] บุคคลควรคบหาท่านผู้เจริญด้วยปัญญา
มีความรู้ละเอียดลออเป็นพหูสูต
ควรศึกษาเล่าเรียน สอบถาม ฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ
บุคคลกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าผู้มีปัญญา
[๘๔] ท่านผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นกามคุณ
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค
เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ จึงละความพอใจในกามทั้งหลาย
ซึ่งเป็นทุกข์เป็นภัยอันใหญ่หลวงเสียได้
[๘๕] เขาปราศจากราคะแล้ว พึงกำจัดโทสะได้
เจริญเมตตาจิตหาประมาณมิได้
วางอาชญาในสัตว์ทุกจำพวก
เป็นผู้ไม่ถูกนินทา เข้าถึงพรหมสถาน
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสทราบว่า พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ละความกำหนัด
ยินดีในเบญจกามคุณได้แล้ว จึงกล่าวคาถาด้วยอำนาจความร่าเริงของพระราชา
เหล่านั้นว่า)
[๘๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรอัฏฐกะ
การเสด็จมาของพระองค์ ของพระเจ้าภีมรถ
และของพระเจ้ากาลิงคะผู้มีพระยศระบือไปทั่ว
ได้มีความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง
ทุกพระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
(พระราชาทั้งหลายทรงชมเชยพระมหาสัตว์สรภังคดาบสว่า)
[๘๗] พระคุณเจ้ารู้จิตของผู้อื่นว่า โยมทุกคนละกามราคะได้แล้ว
ข้อนั้นเป็นจริงอย่างนั้นแหละ
ขอพระคุณเจ้าจงกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์
โดยประการที่โยมทุกคนจะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้าเถิด
(พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้โอกาสแก่พระราชาทั้ง ๓ พระองค์ว่า)
[๘๘] อาตมาจะกระทำโอกาสเพื่ออนุเคราะห์
เพราะมหาบพิตรทั้งหลายทรงละกามราคะได้แล้วอย่างแท้จริง
ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงแผ่ปีติที่ไพบูลย์ให้แผ่ซ่านไปทั่วพระวรกาย
โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของอาตมาเถิด
(พระราชาเหล่านั้นเมื่อจะทรงยอมรับ จึงได้ตรัสว่า)
[๘๙] ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน พระคุณเจ้าจะกล่าวคำใดใด
โยมทั้งหลายจะกระทำตามคำพร่ำสอนของพระคุณเจ้านั้นทุกอย่าง
จะแผ่ปีติที่ไพบูลย์ไปทั่วกาย
โดยประการที่จะบรรลุถึงคติของพระคุณเจ้า
(ลำดับนั้น พระมหาสัตว์สรภังคดาบสให้พระราชาเหล่านั้นพร้อมทั้งพลนิกาย
บวช เมื่อจะส่งหมู่ฤๅษีไป จึงกล่าวว่า)
[๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราทำการบูชา
กีสวัจฉดาบสอย่างนี้แล้ว
ขอฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดี จงไปยังที่อยู่ของตนเถิด
ท่านทั้งหลายจงยินดีในฌาน มีจิตตั้งมั่นในกาลทุกเมื่อ
ความยินดีนั้นเป็นคุณชาติประเสริฐสุดสำหรับบรรพชิต
(พระศาสดาทรงทราบความนี้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๙๑] ครั้นได้สดับคาถาซึ่งประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง
ที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว เทวดาทั้งหลายผู้มียศเหล่านั้น
เกิดปีติและโสมนัสอนุโมทนาอยู่ ได้พากันหลีกไปยังเทพบุรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
[๙๒] คาถาที่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้วเหล่านี้
มีอรรถและพยัญชนะอันดีงาม
ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสดับคาถาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์
พึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย
ครั้นได้แล้ว พึงบรรลุสถานที่ที่พญามัจจุราชมองไม่เห็น
(พระศาสดาครั้นทรงรวบยอดเทศนาด้วยพระอรหัตอย่างนี้แล้วประกาศสัจจะ
ทั้งหลาย ทรงประชุมชาดกว่า)
[๙๓] สาลิสสรดาบสคือสารีบุตร เมณฑิสสรดาบสคือกัสสปะ
ปัพพตดาบสคืออนุรุทธะ เทวิลดาบสคือกัจจายนะ
[๙๔] อนุสิสสดาบสคืออานนท์ กีสวัจฉดาบสคือโกลิตะ
นารทดาบสคืออุทายีเถระ บริษัททั้งหลายคือพุทธบริษัท
ส่วนสรภังคโพธิสัตว์คือเราตถาคต
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
สรภังคชาดกที่ ๒ จบ
๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
ว่าด้วยเทพธิดาอลัมพุสา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงทำเนื้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๙๕] ครั้งนั้น พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ทรงปราบปรามวัตรอสูร
ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งเหล่าเทพบุตรผู้มีชัย
ทรงเล็งเห็นอลัมพุสาเทพกัญญาว่ามีความสามารถ
ณ สุธรรมาเทวสถานแล้วจึงมีเทวโองการว่า
[๙๖] แม่นางมิสสาเทพกัญญา เทวดาชั้นดาวดึงส์
พร้อมทั้งพระอินทร์ขอร้องแม่นาง
แม่นางอลัมพุสาผู้สามารถจะประเล้าประโลมฤๅษีได้
แม่นางจงไปหาอิสิสิงคดาบสเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
(ท้าวสักกะทรงพระบัญชานางอลัมพุสาแล้วตรัสว่า)
[๙๗] ดาบสองค์นี้เป็นผู้มีวัตร ประพฤติพรหมจรรย์
ยินดียิ่งในนิพพาน เป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม
อย่าล่วงเลยพวกเราไปก่อนเลย
เธอจงกั้นทางที่จะไปสู่เทวโลกของท่านไว้
(นางอลัมพุสาเทพกัญญาได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๘] ขอเดชะพระเทวราช พระองค์ทรงทำอะไรอยู่
พระองค์จึงทรงเห็นแต่หม่อมฉันเท่านั้นว่า
แม่นางผู้สามารถจะประเล้าประโลมฤๅษีได้
เธอจงไป นางเทพอัปสรแม้อื่นก็มีอยู่
[๙๙] นางเทพอัปสรผู้ทัดเทียมกับหม่อมฉัน
และประเสริฐกว่าหม่อมฉัน ในอโศกนันทวันก็มีอยู่
ขอวาระแห่งการไปจงมีแก่นางเทพอัปสรเหล่านั้นเถิด
แม้นางเทพอัปสรเหล่านั้นก็จงไปประเล้าประโลมเถิด
(ท้าวสักกเทวราชได้ตรัสว่า)
[๑๐๐] เธอพูดถูกต้องอย่างแท้จริง
ถึงนางเทพอัปสรเหล่าอื่นที่ทัดเทียมกับเธอ
และประเสริฐกว่าเธอในอโศกนันทวันก็มีอยู่
[๑๐๑] แม่นางผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
แต่นางเทพอัปสรเหล่านั้นไปแล้ว
ไม่รู้จักการบำเรอชายอย่างที่เธอรู้
[๑๐๒] เชิญไปเถิด แม่นางผู้มีความงาม
เพราะเธอประเสริฐกว่าหญิงทั้งหลาย
เธอจักใช้รูปร่างผิวพรรณของเธอ
นำดาบสมาสู่อำนาจได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
(พระนางอลัมพุสาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๐๓] หม่อมฉันถูกพระเทวราชทรงใช้จะไม่ทำก็ไม่ได้
แต่หม่อมฉันหวั่นเกรงการที่จะประเล้าประโลมให้ดาบสนั้นยินดี
เพราะท่านเป็นพราหมณ์ มีเดชสูงส่ง
[๑๐๔] ชนทั้งหลายประเล้าประโลมฤๅษีให้ยินดีแล้วตกนรก
ถึงสังสารวัฏเพราะความงมงายมีจำนวนมิใช่น้อย
เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงขนพองสยองเกล้า
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๐๕] อลัมพุสา มิสสาเทพอัปสร ผู้มีวรรณะน่าใคร่
ปรารถนาเพื่อจะให้อิสิสิงคดาบสคลุกเคล้าระคนด้วยกิเลส
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็หลีกไป
[๑๐๖] ก็อลัมพุสาเทพอัปสรนั้นได้ลงสู่ป่าที่อิสิสิงคดาบสรักษา
ซึ่งดารดาษด้วยเถาตำลึงสุกมีประมาณกึ่งโยชน์โดยรอบนั้น
[๑๐๗] นางเข้าไปหาอิสิสิงคดาบสผู้กำลังปัดกวาดโรงไฟแต่เช้าตรู่
ก่อนเวลาอาหารเช้า ใกล้เวลาอาทิตย์อุทัย
(ลำดับนั้น ดาบสถามนางว่า)
[๑๐๘] เธอเป็นใครหนอ
รัศมีช่างงามผ่องใสดังสายฟ้า ประดุจดาวประกายพรึก
ประดับกำไลมืออันวิจิตร สวมใส่ต่างหูแก้วมณี
[๑๐๙] มีประกายดุจแสงอาทิตย์ ร่างกายมีกลิ่นหอมด้วยจันทน์เหลือง
ลำขากลมกลึงสวยงาม มีมายามากมาย
กำลังสาวแรกรุ่น น่าทัศนาเชยชม
[๑๑๐] เท้าทั้ง ๒ ของเธออ่อนละมุน สะอาดหมดจด ไม่แหว่งเว้า
ตั้งลงเรียบเสมอด้วยดี ทุกย่างก้าวของเธอน่ารักใคร่
ดึงใจอาตมาให้วาบหวาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
[๑๑๑] อนึ่ง ลำขาของเธอเป็นปล้อง ๆ เหมือนกับงวงช้าง
สะโพกของเธอเกลี้ยงเกลากลมกลึงผึ่งผายสวยงาม
เหมือนแผ่นกระดานสะกา
[๑๑๒] นาภีของเธอตั้งอยู่เรียบร้อยดีเหมือนฝักดอกอุบล
ปรากฏได้แต่ไกลเหมือนเกษรดอกอัญชันเขียว
[๑๑๓] ถันเกิดที่ทรวงอกทั้งคู่หาขั้วมิได้
เต่งเต้าสวยงามทรงเกษียรรสไว้
ไม่หย่อนยาน เสมอเหมือนกับผลน้ำเต้าครึ่งผล
[๑๑๔] ลำคอของเธอยาวประดุจลำคอนางเนื้อทราย
เปล่งปลั่งดั่งพื้นแผ่นทองคำ
ริมฝีปากของเธองามเปล่งปลั่งดั่งลิ้นหัวใจห้องที่ ๔
[๑๑๕] ฟันของเธอทั้งข้างบนข้างล่าง
ขัดสีได้อย่างเลิศด้วยไม้ชำระฟัน
เกิดขึ้น ๒ คราว เป็นฟันที่ปราศจากโทษ ดูสวยงาม
[๑๑๖] ดวงเนตรทั้ง ๒ ของเธอดำขลับ
ตามขอบดวงตาเป็นสีแดง เปล่งปลั่งดั่งเมล็ดมะกล่ำ
ทั้งยาวทั้งกว้าง ดูสวยงาม
[๑๑๗] เส้นผมที่งอกขึ้นที่ศีรษะของเธอไม่ยาวเกินไป
เกลี้ยงเกลาดี ตกแต่งด้วยหวีทองคำ
มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นจันทน์
[๑๑๘] ชาวนาชาวไร่ คนเลี้ยงโค พ่อค้ามีความสำเร็จ
และฤๅษีผู้มีความสำรวม บำเพ็ญตบะ
มีความบากบั่น มีประมาณเท่าใด
[๑๑๙] ชนมีประมาณเท่านั้นในปฐพีมณฑลนี้
แม้คนหนึ่งที่เสมอเหมือนเธอ อาตมายังไม่เห็น
เธอเป็นใคร เป็นลูกของใครหรือ อาตมาจะรู้จักเธอได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
(นางอลัมพุสาเทพกัญญารู้ว่าอิสิสิงคดาบสนั้นหลงใหลแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๒๐] ท่านกัสสปะผู้เจริญ เมื่อจิตของท่านเป็นไปอย่างนี้แล้ว
ก็ไม่ใช่กาลที่จะเป็นปัญหา มาเถิด สหาย
เราทั้ง ๒ จักอภิรมย์กันในอาศรมของเรา
มาเถิด ดิฉันจักคลุกเคล้าท่าน
ขอท่านเป็นผู้ฉลาดในความยินดีในเบญจกามคุณเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๒๑] อลัมพุสา มิสสาเทพอัปสร ผู้มีวรรณะน่าใคร่
ปรารถนาเพื่อจะให้อิสิสิงคดาบสคลุกเคล้าระคนด้วยกิเลส
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็หลีกไป
[๑๒๒] ก็ดาบสนั้นตัดความเฉื่อยชาเสียแล้ว รีบออกไปโดยเร็ว
ประชิดตัวนาง ลูบเรือนผมบนศีรษะ
[๑๒๓] เทพอัปสรกัลยาณีผู้มีความสวยสดงดงาม
หันกลับมาสวมกอดดาบสนั้น
นางมีความยินดีที่ดาบสเคลื่อนจากพรหมจรรย์นั้น
ตามที่ท้าวสักกะปรารถนา
[๑๒๔] นางได้มีใจรำลึกถึงพระอินทร์ซึ่งประทับอยู่ในนันทวัน
ท้าวมัฆวานเทพกุญชรทรงทราบความดำริของนางแล้ว
[๑๒๕] ทรงส่งบัลลังก์ทอง พร้อมทั้งเครื่องบริวาร
พร้อมทั้งทับทรวง ๕๐ อัน
และเครื่องปูลาด ๑,๐๐๐ ผืน ไปโดยเร็วพลัน
[๑๒๖] แม่โฉมงามโอบอุ้มดาบสนั้นไว้แนบทรวงอก
กกกอดอยู่ตลอด ๓ ปีบนบัลลังก์นั้น
เป็นเหมือนเพียงครู่เดียวเท่านั้น
[๑๒๗] โดยล่วงไป ๓ ปี ดาบสพราหมณ์จึงสร่างเมา รู้สึกตัว
ได้เห็นต้นไม้เขียวชะอุ่มขึ้นอยู่โดยรอบเรือนไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
[๑๒๘] ป่าไม้ผลัดใบใหม่ ออกดอกบานสะพรั่ง
กึกก้องไปด้วยฝูงนกดุเหว่า ครั้นท่านเหลียวมองดูโดยรอบ
ก็หลั่งน้ำตาร้องไห้รำพันว่า
[๑๒๙] เรามิได้บูชาไฟ มิได้สาธยายมนต์
อะไรบันดาลการบูชาไฟให้เสื่อมสิ้นไป
ใครหนอประเล้าประโลมบำเรอจิตของเราในกาลก่อน
[๑๓๐] เมื่อเราอยู่ป่า ผู้ใดหนอมายึดเอาฌานคุณ
ที่เกิดมีพร้อมกับเดชของเราไป
ประดุจยึดเอานาวาที่เต็มเปี่ยมด้วยรัตนะนานาชนิดในท้องทะเลหลวง
(นางอลัมพุสาเทพกัญญาได้ฟังดังนั้น จึงปรากฏกายยืนอยู่กล่าวว่า)
[๑๓๑] ดิฉันถูกท้าวเทวราชทรงใช้มาเพื่อบำเรอท่าน
ได้ใช้จิตฆ่าจิตท่าน เพราะความประมาท ท่านจึงไม่รู้สึกตัว
(อิสิสิงคดาบสได้ฟังนางอลัมพุสาเทพกัญญาแล้ว ระลึกถึงโอวาทที่บิดาให้ไว้
คร่ำครวญอยู่ได้กล่าวว่า)
[๑๓๒] เดิมที พ่อกัสสปะพร่ำสอนถ้อยคำเหล่านี้กับเราว่า
พ่อมาณพ หญิงเปรียบได้กับดอกนารีผล
เจ้าจงรู้จักหญิงเหล่านั้น
[๑๓๓] พ่อกัสสปะดูเหมือนจะเอื้อเอ็นดูเรา
จึงพร่ำสอนเราอย่างนี้ว่า มาณพ เจ้าจงรู้จักหญิงผู้มีฝีที่อก
เจ้าจงรู้จักหญิงเหล่านั้น
[๑๓๔] เรามิได้ทำตามคำสอนของบิดาผู้เจริญนั้น
วันนี้เรานั้นจึงซบเซาอยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่หามนุษย์มิได้
[๑๓๕] น่าติเตียนจริงหนอ ชีวิตของเรา
เราจักทำอย่างที่เราเคยเป็นเช่นนั้น
หรือมิฉะนั้นเราก็จักตายเสีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๓. อลัมพุสาชาดก (๕๒๓)
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๓๖] อลัมพุสาเทพกัญญา ครั้นทราบเดช ความเพียร
และปัญญาของดาบสนั้น ดำรงมั่นคงแล้ว
จึงจับเท้าทั้งสองของดาบสทูนไว้ที่ศีรษะ
ละล่ำละลักกล่าวกับอิสิสิงคดาบสว่า
[๑๓๗] อย่าโกรธดิฉันเลย ท่านมหาวีระ
อย่าโกรธดิฉันเลย ท่านมหาฤๅษี
ดิฉันบำเพ็ญประโยชน์อันใหญ่หลวงเพื่อเทพชั้นไตรทศผู้มียศ
เพราะเทพบุรีทั้งหมดถูกพระคุณเจ้าทำให้หวั่นไหวในคราวนั้น
(อิสิสิงคดาบสกล่าวคาถาว่า)
[๑๓๘] แม่นางผู้เจริญ ขอทวยเทพชั้นดาวดึงส์
ท้าววาสวะแห่งเทพชั้นไตรทศ และเธอจงเป็นสุข ๆ เถิด
เชิญเธอไปตามสบายเถิด แม่เทพกัญญา
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๓๙] อลัมพุสาเทพกัญญา ครั้นจับเท้าทั้ง ๒ ของดาบสแล้ว
จึงประคองอัญชลี กระทำประทักษิณดาบสนั้น
แล้วได้หลีกไปจากที่นั้น
[๑๔๐] นางเทพกัญญาขึ้นสู่บัลลังก์ทอง
พร้อมทั้งเครื่องบริวาร พร้อมทั้งทับทรวง ๕๐
และเครื่องปูลาด ๑,๐๐๐ ผืน อันเป็นของนางนั่นเอง
ได้กลับไปในสำนักเทพทั้งหลาย
[๑๔๑] ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีปีติและโสมนัส ปลาบปลื้มหฤทัย
ได้พระราชทานพรกับนางเทพกัญญานั้นซึ่งกำลังมา
ราวกับประทีปอันรุ่งเรือง ดุจสายฟ้าแลบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
(นางอลัมพุสากราบทูลว่า)
[๑๔๒] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์ทรงประทานพรแก่หม่อมฉันไซร้
ขอหม่อมฉันอย่าต้องไปประเล้าประโลมฤๅษีอีกเลย
ข้าแต่ท้าวสักกะ หม่อมฉันขอพรข้อนี้ ดังนี้แล
อลัมพุสาชาดกที่ ๓ จบ
๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
ว่าด้วยสังขปาลนาคราช
(พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสว่า)
[๑๔๓] ท่านมีลักษณะคล้ายพระอริยะ มีดวงตาแจ่มใส
เห็นจะเป็นคนบวชออกจากสกุล
ไฉนหนอท่านผู้มีปัญญาจึงสละทรัพย์และโภคะ
ออกจากเรือนบวชเสียเล่า
(อาฬารดาบสกราบทูลว่า)
[๑๔๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นเทพแห่งนรชน
อาตมาได้เห็นวิมานของพญาสังขปาลนาคราช
ผู้มีอานุภาพมากด้วยตนเอง
ครั้นเห็นแล้ว จึงได้บวช
เพราะเชื่อวิบากอันยิ่งใหญ่แห่งบุญทั้งหลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] บรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่กล่าวคำเท็จ
เพราะความรัก เพราะความชัง เพราะความกลัว
พระคุณเจ้า โยมถามแล้ว
ขอพระคุณเจ้าโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่โยมเถิด
เพราะได้ฟัง ความเลื่อมใสจักเกิดขึ้นแก่โยมบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
(อาฬารดาบสกราบทูลว่า)
[๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้น
อาตมาเมื่อเดินทางไปค้าขายได้เห็นพวกบุตรของนายพราน
พากันหามพญานาคตัวมีร่างกายอ้วนพีใหญ่โตร่าเริงเดินไปในหนทาง
[๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมชน อาตมานั้น
ได้มาประจวบเข้ากับเขาเหล่านั้น ก็เกิดกลัวจนขนพองสยองเกล้า
จึงได้ถามขึ้นว่า พ่อบุตรนายพรานทั้งหลาย พวกท่านจะนำนาค
ซึ่งมีร่างกายน่ากลัวตัวนี้ไปไหน จะทำอะไรกับนาคตัวนี้
(พวกเขาตอบว่า)
[๑๔๘] วิเทหบุตร พวกเราจะนำนาคตัวนี้ไปเพื่อบริโภค
นาคตัวนี้มีร่างกายอ้วนพีใหญ่โต เนื้อของมันมาก
อ่อนนุ่ม และอร่อย ท่านยังมิได้รู้รสเนื้อมัน
[๑๔๙] พวกเราจากที่นี่ไปถึงที่อยู่ของตนแล้ว
จะเอามีดสับกินเนื้อกันให้สำราญ
เพราะว่าพวกเราเป็นศัตรูของนาคทั้งหลาย
(อาตมาจึงพูดว่า)
[๑๕๐] ถ้าพวกท่านจะนำนาค
ซึ่งมีร่างกายอ้วนพีใหญ่โตตัวนี้ไปเพื่อจะบริโภคไซร้
ข้าพเจ้าจะให้โคผู้ซึ่งมีกำลังแข็งแรงแก่พวกท่าน ๑๖ ตัว
ขอพวกท่านจงปล่อยนาคตัวนี้จากเครื่องพันธนาการเถิด
(พวกเขาตอบว่า)
[๑๕๑] ความจริง นาคนี้เป็นอาหารที่ชอบใจของพวกเราอย่างแท้จริง
และพวกเราก็เคยกินนาคมามาก
แต่พวกเราจะทำตามคำของท่าน นายอาฬารวิเทหบุตร
และขอท่านจงเป็นมิตรของพวกเราด้วยนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
[๑๕๒] บุตรนายพรานเหล่านั้นจึงแก้นาคราชตัวนั้น
ออกจากเครื่องพันธนาการซึ่งสอดเข้าทางจมูกร้อยไว้ในบ่วง
นาคราชตัวนั้นพ้นจากเครื่องผูกแล้ว
ครู่หนึ่งจึงบ่ายหน้าสู่ทิศปราจีนหลีกไป
[๑๕๓] ครั้นบ่ายหน้าสู่ทิศปราจีนไปได้ครู่หนึ่ง ได้เหลียวกลับมา
มองดูอาตมาด้วยดวงตาทั้ง ๒ ที่นองไปด้วยน้ำตา
ในคราวนั้น อาตมาได้ประคองอัญชลีทั้ง ๑๐ นิ้ว
เดินตามไปข้างหลัง กล่าวเตือนว่า
[๑๕๔] ท่านจงรีบด่วนไปโดยเร็วเถิด ขอศัตรูอย่าจับท่านได้อีกเลย
เพราะการสมาคมกับพวกพรานอีกเป็นทุกข์
ท่านจงไปยังสถานที่ที่พวกบุตรนายพรานไม่เห็นเถิด
[๑๕๕] นาคราชนั้นได้ไปสู่ห้วงน้ำใส สีเขียวครามโอภาส
มีท่าอันงดงาม น่ารื่นรมย์ใจ
ปกคลุมไปด้วยหมู่ต้นหว้าและต้นอโศก
เป็นผู้ปลอดภัย เบิกบานใจ ได้เข้าไปสู่นาคพิภพ
[๑๕๖] มหาบพิตรผู้จอมชน นาคราชนั้น
ครั้นเข้าไปยังนาคพิภพนั้นได้ไม่นาน
ได้มาปรากฏแก่อาตมาพร้อมด้วยบริวารเป็นทิพย์
บำรุงอาตมาเหมือนบุตรบำรุงบิดา
กล่าวถ้อยคำอันจับใจสบายหูว่า
(พญานาคสังขปาละกล่าวว่า)
[๑๕๗] ท่านอาฬาระ ท่านเป็นมารดาบิดาของข้าพเจ้า
เป็นดังดวงใจ เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นสหาย
ข้าพเจ้าจึงได้อิทธิฤทธิ์ของตนคืนมา
ขอเชิญท่านไปเยี่ยมที่อยู่ของข้าพเจ้า
ซึ่งมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
ดุจขุนเขาสิเนรุพิภพของท้าววาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
(พญานาคสังขปาละกล่าวว่า)
[๑๕๘] นาคพิภพนั้นประกอบไปด้วยภูมิภาค
ภาคพื้นที่ไม่มีก้อนกรวด อ่อนนุ่มและงดงาม
มีหญ้าเตี้ย ๆ ปราศจากฝุ่นละออง น่าเลื่อมใส
เป็นสถานที่ระงับความเศร้าโศกของผู้ที่เข้าไป
[๑๕๙] มีสระโบกขรณีที่ไม่อากูล สีเขียวครามเพราะแก้วไพฑูรย์
มีสวนมะม่วงที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนักทั้ง ๔ ทิศ
ติดผลอยู่เป็นนิตย์ตลอดฤดูกาล มีทั้งผลสุก ผลห่าม และผลอ่อน
(อาฬารดาบสกราบทูลว่า)
[๑๖๐] ขอถวายพระพร นรเทพมหาบพิตร ณ ท่ามกลาง
สวนมะม่วงทั้ง ๔ ทิศ มีนิเวศน์เลื่อมปภัสสรสร้างด้วยทองคำ
[๑๖๑] ณ นิเวศน์นั้น มีเรือนยอดและห้องโอฬาร
สร้างด้วยแก้วมณีและทองคำ วิจิตรด้วยศิลปะอเนกประการ
ซึ่งเนรมิตไว้ดีแล้วติดต่อกัน เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลาย
ผู้ประดับตบแต่งร่างกายล้วนสวมใส่สายสร้อยทองคำ มหาบพิตร
[๑๖๒] สังขปาลนาคราชผู้มีผิวพรรณไม่ทรามนั้น รีบขึ้นสู่ปราสาท
ซึ่งมีอานุภาพนับไม่ได้ มีเสา ๑,๐๐๐ ต้น
อันเป็นสถานที่อยู่ของภรรยาผู้เป็นมเหสีของเขา
[๑๖๓] และนารีนางหนึ่งไม่ต้องเตือน
รีบนำอาสนะอันสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ มีค่ามากงดงาม
ประกอบด้วยแก้วมณีชั้นดีมีราคามาปูลาด
[๑๖๔] ลำดับนั้น นาคราชจูงมืออาตมาให้นั่ง
ณ อาสนะอันเป็นประธานโดยกล่าวว่า
นี้อาสนะ ท่านผู้เจริญโปรดนั่ง ณ อาสนะนี้เถิด
เพราะบรรดาท่านผู้เป็นที่เคารพทั้งหลายของข้าพเจ้า
ท่านผู้เจริญก็เป็นคนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
[๑๖๕] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้จอมชน
และนารีอีกนางหนึ่งรีบนำน้ำเข้ามาล้างเท้าอาตมา
เหมือนภรรยาล้างเท้าภัสดาสามีสุดที่รัก
[๑๖๖] และนารีอื่นอีกนางหนึ่งรีบประคองถาดทองคำ
น้อมนำภัตตาหารที่น่าพอใจ มีแกงหลายชนิด
มีกับหลายอย่างเข้ามา
[๑๖๗] ภารตะมหาบพิตรพระองค์ นารีเหล่านั้นรู้ใจภัสดา
บำเรออาตมาผู้บริโภคเสร็จแล้วด้วยดนตรีทั้งหลาย
ยิ่งไปกว่านั้น นาคราชเข้าไปหาอาตมา
พร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์
อันโอฬารมิใช่น้อย กล่าวว่า
[๑๖๘] ท่านอาฬาระ ภรรยาของข้าพเจ้าทั้ง ๓๐๐ นางเหล่านี้
ล้วนเอวบางร่างน้อย มีผิวพรรณดังกลีบปทุม
ท่านอาฬาระ นางเหล่านี้พึงบำเรอกามแก่ท่าน
ขอท่านโปรดให้นางเหล่านั้นบำเรอท่านเถิด
(อาฬารดาบสกราบทูลต่อไปว่า)
[๑๖๙] อาตมาได้เสวยกามรสอันเป็นทิพย์อยู่ ๑ ปี
คราวนั้น จึงได้ถามยิ่งขึ้นไปว่า นาคสมบัตินี้
ท่านได้เพราะทำกรรมอะไร ได้อย่างไร
ไฉนท่านจึงได้ครอบครองวิมานอันประเสริฐ
[๑๗๐] ท่านได้โดยไม่มีเหตุ หรือเกิดเพราะใครน้อมมาเพื่อท่าน
ท่านทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายให้
ข้าพเจ้าถามเนื้อความนั้นกับท่านนาคราช
ไฉนท่านจึงได้ครอบครองวิมานอันประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[๑๗๑] วิมานนี้ข้าพเจ้าได้มาโดยไม่มีเหตุหามิได้
เกิดเพราะใครน้อมมาเพื่อข้าพเจ้าก็หาไม่
ข้าพเจ้าทำเองก็หาไม่
แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้มอบให้
แต่ข้าพเจ้าได้เพราะบุญกรรมซึ่งมิใช่บาปของตน
(อาฬารดาบสถามว่า)
[๑๗๒] วัตรของท่านเป็นอย่างไร
อนึ่ง พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร
นี้เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่ท่านประพฤติดีแล้วอย่างไร
นาคราช ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิดว่า
ท่านได้วิมานนี้อย่างไรหนอ
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[๑๗๓] ข้าพเจ้านั้นได้เป็นพระราชา ผู้เป็นใหญ่กว่าชนชาวมคธ
มีนามว่า ทุโยธนะ มีอานุภาพมาก
ได้เห็นชัดว่า ชีวิตมีเพียงนิดหน่อย ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
[๑๗๔] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้ให้ข้าวและน้ำ
เป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
พระราชวังของข้าพเจ้าในคราวนั้น เป็นดุจบ่อน้ำ
ทั้งสมณะและพราหมณ์จึงอิ่มหนำสำราญ
[๑๗๕] ณ ที่พระราชวังนั้น ข้าพเจ้าได้ให้พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ประทีป ยานพาหนะ
ที่พักอาศัย ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน
ข้าวและน้ำเป็นทานโดยเคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
[๑๗๖] นั่นเป็นพรตและนั่นเป็นพรหมจรรย์ของข้าพเจ้า
นี้เป็นวิบากแห่งกรรมนั้นที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้ว
เพราะวิบากแห่งกรรมนั้นนั่นแล ข้าพเจ้าจึงได้วิมานนี้
ซึ่งมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
และสมบูรณ์ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง
แต่วิมานนี้ไม่จีรังยั่งยืนและไม่เที่ยง
(อาฬารดาบสถามว่า)
[๑๗๗] บุตรนายพรานทั้งหลาย ผู้มีอานุภาพน้อย ไม่มีเดช
ย่อมเบียดเบียนท่านผู้มีอานุภาพมาก มีเดชได้
เพราะเหตุไร ท่านผู้มีเขี้ยวเป็นอาวุธ เพราะอาศัยเหตุอะไร
ท่านจึงได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของบุตรนายพรานได้
[๑๗๘] มหันตภัยตามมาถึงท่านหรือหนอ
หรือว่าพิษแล่นไปไม่ถึงรากเขี้ยวของท่าน
ท่านผู้มีเขี้ยวเป็นอาวุธ เพราะอาศัยเหตุอะไรแลหรือ
ท่านจึงถึงความทุกข์ในสำนักของพวกบุตรนายพราน
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[๑๗๙] มหันตภัยตามมาถึงข้าพเจ้าก็หาไม่
พิษของข้าพเจ้าพวกบุตรนายพรานเหล่านั้นก็ไม่อาจจะทำลายได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ท่านประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะล่วงได้ดุจเขตแดนแห่งสมุทร
[๑๘๐] ท่านอาฬาระ วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
ข้าพเจ้าเข้าจำอุโบสถอยู่เป็นนิตย์ คราวนั้น
พวกบุตรนายพราน ๑๖ คนถือเชือกและบ่วงอันมั่นคงมา
[๑๘๑] พวกพรานช่วยกันเจาะจมูกแล้วร้อยเชือก
แล้วช่วยกันหามนำข้าพเจ้าไป
ข้าพเจ้าอดกลั้นความทุกข์เช่นนั้น มิได้ทำให้อุโบสถกำเริบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๔. สังขปาลชาดก (๕๒๔)
(อาฬารดาบสถามว่า)
[๑๘๒] พวกบุตรนายพรานได้เห็นท่าน
ผู้สมบูรณ์ด้วยพลังและผิวพรรณที่หนทางที่เดินได้คนเดียว
นาคราช ก็ท่านเป็นผู้เจริญแล้วด้วยสิริและปัญญา
ยังบำเพ็ญตบะอยู่เพื่อประโยชน์อะไร
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[๑๘๓] ท่านอาฬาระ ข้าพเจ้าบำเพ็ญตบะ
เพราะเหตุแห่งบุตร เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ
หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่
แต่เพราะข้าพเจ้าปรารถนากำเนิดแห่งมนุษย์
เพราะเหตุนั้น จึงบากบั่นบำเพ็ญตบะ
(อาฬารดาบสถามว่า)
[๑๘๔] ท่านมีนัยน์ตาแดง มีรัศมีรุ่งเรือง ประดับตบแต่งร่างกาย
ตัดผมและโกนหนวดเรียบร้อย
ลูบไล้ผิวพรรณด้วยดีด้วยจันทน์แดง
ส่องสว่างไปทั่วทิศ ดุจราชาแห่งคนธรรพ์
[๑๘๕] ท่านเป็นผู้บรรลุเทวฤทธิ์แล้ว มีอานุภาพมาก
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทุกอย่าง
นาคราช ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่านว่า
มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพนี้ เพราะเหตุไร
(พญานาคสังขปาละตอบว่า)
[๑๘๖] ท่านอาฬาระ นอกจากมนุษยโลกแล้ว
ความบริสุทธิ์หรือความสำรวมไม่มี
ก็ข้าพเจ้าได้กำเนิดมนุษย์แล้ว
จักกระทำที่สุดแห่งชาติและมรณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(อาฬารดาบสกล่าวว่า)
[๑๘๗] เป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่าน
ได้รับการบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ท่านนาคินทร์ผู้ประเสริฐ
ข้าพเจ้าจากมนุษยโลกมานาน จะขอลาท่านไป
(พญานาคสังขปาละถามว่า)
[๑๘๘] บุตร ภรรยา และชนที่ข้าพเจ้าชุบเลี้ยง
ซึ่งข้าพเจ้าพร่ำสอนเป็นนิตย์ว่า พึงบำรุงท่าน
ไม่มีใครสักคนสาปแช่งท่านแลหรือ ท่านอาฬาระ
ก็การได้พบเห็นท่านนับว่าเป็นที่พอใจของข้าพเจ้า
(อาฬารดาบสตอบว่า)
[๑๘๙] บุตรสุดที่รักพึงได้รับการปฏิบัติ
อยู่ในเรือนมารดาบิดาแม้โดยประการใด
ท่านก็ปฏิบัติข้าพเจ้าในที่นี้แล ประเสริฐกว่าแม้โดยประการนั้น
เพราะจิตของท่านเลื่อมใสในข้าพเจ้า นาคราช
(พญานาคสังขปาละกล่าวว่า)
[๑๙๐] แก้วมณีสีแดง ซึ่งนำทรัพย์มาให้ได้ของข้าพเจ้ามีอยู่
ท่านจงถือเอาแก้วมณีอันโอฬารไปยังที่อยู่ของตน
ครั้นได้ทรัพย์แล้ว จงเก็บแก้วมณีไว้
(อาฬารดาบสกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๑๙๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร กามทั้งหลายแม้เป็นของมนุษย์
อาตมาก็ได้เห็นแล้ว เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
เพราะเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย อาตมาจึงบวชด้วยศรัทธา
[๑๙๒] ทั้งคนหนุ่มทั้งคนแก่
ย่อมมีกายแตกทำลายไป เหมือนผลไม้หล่นจากต้น
มหาบพิตร อาตมาเห็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิดแม้นี้ว่า
ความเป็นสมณะนั่นแลประเสริฐ จึงได้บวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๙๓] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
พระคุณเจ้าอาฬาระ โยมได้ฟังเรื่องของนาคราช
และของพระคุณเจ้าแล้ว จักทำบุญให้มาก
(อาฬารดาบสกล่าวว่า)
[๑๙๔] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงสดับเรื่องนาคราชและของอาตมาแล้ว
ขอจงทรงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด
สังขปาลชาดกที่ ๔ จบ
๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
ว่าด้วยเหตุที่พระเจ้าจูฬสุตโสมออกผนวช
(พระโพธิสัตว์สุตโสมตรัสว่า)
[๑๙๕] เราขอประกาศให้ชาวนิคม มิตร อำมาตย์
และข้าราชบริพารได้ทราบ
บัดนี้ ผมที่ศีรษะของเราหงอกแล้ว
เราจึงพอใจการบรรพชา
(อำมาตย์ผู้องอาจแกล้วกล้าคนหนึ่งกราบทูลว่า)
[๑๙๖] ทำไมหนอ พระองค์จึงรับสั่งความไม่เจริญแก่ข้าพระพุทธเจ้า
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
พระองค์ทรงปักพระแสงศรที่อกของข้าพระพุทธเจ้า
พระองค์ทรงมีพระชายาถึง ๗๐๐ นาง
พระชายาเหล่านั้นของพระองค์จักเป็นอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๑๙๗] นางทั้งหลายเหล่านั้นจักปรากฏตามกรรมของตนเอง
พวกนางยังสาว จักไปพึ่งพาพระราชาแม้พระองค์อื่นได้
ส่วนเราปรารถนาสวรรค์ เพราะเหตุนั้น จึงจักบรรพชา
(พระราชชนนีรีบเสด็จมาโดยด่วนตรัสถามว่า)
[๑๙๘] พ่อสุตโสม การที่แม่เป็นแม่ของเจ้า
นับว่าแม่ได้เจ้ามาด้วยความลำบาก เมื่อแม่พร่ำเพ้อรำพันอยู่
เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่อาลัยจะบวชเสียเล่า
[๑๙๙] พ่อสุตโสม การที่แม่คลอดเจ้ามา
นับว่าแม่ได้เจ้ามาด้วยความลำบาก เมื่อแม่พร่ำเพ้อรำพันอยู่
เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่อาลัยจะบวชเสียเล่า
(พระชนกทรงทราบข่าวแล้วเสด็จมา ตรัสถามว่า)
[๒๐๐] พ่อสุตโสม ธรรมนั่นชื่ออะไร
และอะไรชื่อว่าการบรรพชา
เพราะเหตุไร เจ้าเป็นบุตรของเราทั้ง ๒ จึงไม่มีความอาลัย
จะละทิ้งเราทั้ง ๒ ผู้แก่เฒ่าไปบวชเสียเล่า
[๒๐๑] แม้ลูกชายลูกสาวของพ่อก็มีอยู่มาก
ยังเล็กอยู่ ยังไม่เป็นหนุ่มเป็นสาว
แม้เด็กเหล่านั้นกำลังฉอเลาะอ่อนหวาน
เมื่อไม่เห็นพ่อ เห็นจะเป็นทุกข์ไปตาม ๆ กัน
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมสดับพระดำรัสแล้ว กราบทูลว่า)
[๒๐๒] การอยู่ร่วมกันแม้นานแล้วพลัดพรากจากกัน
ของหม่อมฉันกับลูกทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งยังเด็กอยู่
ยังไม่เป็นหนุ่มเป็นสาว กำลังฉอเลาะอ่อนหวานแม้ทั้งหมด
และจากทูลกระหม่อมทั้ง ๒ พระองค์เป็นของแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(พระชายาทั้งหลายทราบข่าวแล้วคร่ำครวญอยู่กราบทูลว่า)
[๒๐๓] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ทูลกระหม่อมทรงตัดพระทัยแล้วหรือ
ทรงหมดความกรุณาในพวกหม่อมฉันหรือ เพราะเหตุไร
ทูลกระหม่อมจึงไม่อาลัยพวกหม่อมฉันผู้คร่ำครวญอยู่
จะเสด็จออกผนวชเสียเล่า
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมสดับเสียงคร่ำครวญของพระชายาเหล่านั้นแล้วตรัสว่า)
[๒๐๔] เราตัดใจได้แล้วก็หามิได้
และเราก็ยังมีความกรุณาในพวกเธออยู่
แต่ว่าเราปรารถนาสวรรค์
เพราะเหตุนั้น จึงจักบวช
(พระมเหสีทรงพระครรภ์แก่ได้กราบทูลว่า)
[๒๐๕] เจ้าพี่สุตโสม การที่หม่อมฉันเป็นมเหสีของเจ้าพี่
นับว่าหม่อมฉันได้เจ้าพี่มาด้วยความยากลำบาก
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้อรำพันอยู่
เพราะเหตุไร เจ้าพี่จึงไม่ทรงอาลัย จะทรงผนวชเสียเล่า
[๒๐๖] เจ้าพี่สุตโสม การที่หม่อมฉันเป็นมเหสีของเจ้าพี่
นับว่าหม่อมฉันได้เจ้าพี่มาด้วยความยากลำบาก
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ เพราะเหตุไร
เจ้าพี่จึงไม่ทรงอาลัยพระโอรสที่ปฏิสนธิในครรภ์ของหม่อมฉัน
จะทรงผนวชเสียเล่า
[๒๐๗] ครรภ์ของหม่อมฉันแก่แล้ว
ขอพระองค์รออยู่จนกว่าหม่อมฉันจะคลอดพระโอรส
ขอหม่อมฉันอย่าได้เป็นหม้ายอยู่แต่ผู้เดียว
ได้ประสบทุกข์ยากในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๐๘] ครรภ์ของน้องนางแก่แล้ว
เอาเถิด ขอให้น้องนางจงคลอดบุตร ซึ่งมีผิวพรรณไม่ทรามเถิด
ส่วนพี่จักละบุตรและน้องนางไปบวช
(พระโพธิสัตว์ตรัสปลอบโยนพระนางว่า)
[๒๐๙] อย่าร้องไห้เศร้าโศกไปเลย เจ้าจันทา
เจ้าผู้มีดวงเนตรงามดุจดอกกรรณิการ์เขา
จงขึ้นไปยังปราสาทอันประเสริฐเสียเถิด
พี่จักไปอย่างคนหมดความอาลัย
(พระโอรสองค์ใหญ่ทูลถามว่า)
[๒๑๐] เสด็จแม่ ใครทำให้เสด็จแม่ทรงพิโรธ
ทำไมเสด็จแม่จึงทรงกันแสง
และทรงจ้องดูหม่อมฉันนัก
บรรดาพระญาติที่เห็น ๆ กันอยู่
ใครที่หม่อมแม่ฆ่าไม่ได้ หม่อมฉันจะฆ่าเอง
(พระเทวีตรัสว่า)
[๒๑๑] ลูกรัก ท่านผู้ใดทำให้แม่โกรธ
ท่านผู้นั้นเป็นผู้ชนะในแผ่นดิน เจ้าไม่อาจจะฆ่าเขาได้เลย
ลูกรัก พระบิดาของเจ้าได้พูดกับแม่ว่า
เราจักไปอย่างคนหมดความอาลัย
(พระโอรสองค์ใหญ่คร่ำครวญอยู่ตรัสว่า)
[๒๑๒] เมื่อก่อน หม่อมฉันนำช้างตกมัน
ไปพระอุทยานและเล่นรบกัน
บัดนี้ เมื่อเสด็จพ่อสุตโสมทรงผนวชแล้ว
หม่อมฉันจักทำอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(น้องชายองค์เล็กของพระโอรสองค์ใหญ่ตรัสว่า)
[๒๑๓] เมื่อพระมารดาของหม่อมฉันทรงกันแสงอยู่
และเมื่อเจ้าพี่ไม่ทรงยินยอม
หม่อมฉันก็จักยึดแม้พระหัตถ์ทั้ง ๒ ของเสด็จพ่อไว้
เมื่อพวกหม่อมฉันไม่ยินยอม เสด็จพ่อจะเสด็จไปไม่ได้
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๑๔] ลุกขึ้นเถิดเจ้า แม่นม
เจ้าจงชวนกุมารนี้ให้ไปรื่นรมย์ที่อื่นเถิด
กุมารนี้อย่าได้ทำอันตรายแก่เราเลย
เมื่อเรากำลังปรารถนาสวรรค์
(พระพี่เลี้ยงกราบทูลว่า)
[๒๑๕] ถ้ากระไร เราพึงให้แก้วมณีอันมีแสงสว่างนี้
ประโยชน์อะไรของเรากับแก้วมณีนี้หนอ
เมื่อพระจอมนรชนสุตโสมทรงผนวชแล้ว
เราจะทำอย่างไรกับแก้วมณีนั้นหนอ
(มหาเสนคุตตอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๑๖] พระคลังน้อยของพระองค์ก็ไพบูลย์
เรือนคลังหลวงของพระองค์ก็บริบูรณ์
และปฐพี พระองค์ก็ทรงชนะแล้ว
ขอพระองค์ทรงพอพระทัย อย่าทรงผนวชเลย พระพุทธเจ้าข้า
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๑๗] พระคลังน้อยของเราจะไพบูลย์ก็ตาม
เรือนคลังหลวงของเราจะบริบูรณ์ก็ตาม
ปฐพีถึงเราชนะแล้วก็ตาม
แต่เราจักละสิ่งนั้น ๆ ไปบวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(กุลวัฒนเศรษฐีกราบทูลว่า)
[๒๑๘] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
แม้ทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้าก็มีอยู่มากมาย
ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจจะนับได้
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายทรัพย์นั้นแม้ทั้งหมดแด่พระองค์
ขอพระองค์ทรงพอพระทัย อย่าทรงผนวชเลย พระพุทธเจ้าข้า
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๑๙] เรารู้ว่า ทรัพย์ของท่านมีอยู่มาก
กุลวัฒนะ และเราท่านก็บูชา
แต่เราปรารถนาสวรรค์
เพราะเหตุนั้น จึงจักบวช
(โพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสต่อไปว่า)
[๒๒๐] พี่เบื่อหน่ายหนัก ความไม่ยินดีกำลังครอบงำพี่
พ่อโสมทัต เพราะอันตรายของพี่มีมาก
พี่จึงจักบวชวันนี้แหละ
(โสมทัตอนุชาตรัสว่า)
[๒๒๑] ก็บรรพชากิจนี้เจ้าพี่ทรงพอพระทัย
เจ้าพี่สุตโสม เจ้าพี่ทรงผนวชเถิด
ในวันนี้ เดี๋ยวนี้แหละ แม้หม่อมฉันก็จักบวช
เว้นเจ้าพี่เสียแล้ว หม่อมฉันไม่อาจจะอยู่ได้
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๒๒] เจ้ายังบวชไม่ได้
เพราะใคร ๆ ในเมืองและในชนบทจะไม่หุงต้มกิน
เมื่อมหาราชร้องไห้คร่ำครวญว่า
พระจอมนรชนสุตโสมทรงผนวชแล้ว
บัดนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าจักทำอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
(ต่อแต่นั้น พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๒๓] เราเข้าใจว่า ชีวิตนี้ถูกชรานำเข้าไป
เหมือนกับน้ำนิดหน่อยในหม้อกรองน้ำด่าง
เมื่อชีวิตเป็นของน้อยนักอย่างนี้ จึงไม่ใช่เวลาที่จะประมาทเลย
[๒๒๔] เราเข้าใจว่า ชีวิตนี้ถูกชรานำเข้าไป
เหมือนกับน้ำนิดหน่อยในหม้อกรองน้ำด่าง
เมื่อชีวิตเป็นของน้อยนักอย่างนี้
ถึงอย่างนั้นพวกคนพาลก็ยังพากันประมาทอยู่
[๒๒๕] พวกคนพาลเหล่านั้นถูกเครื่องผูกคือตัณหาผูกมัดไว้แล้ว
ย่อมทำนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
เปรตวิสัย และอสุรกายให้เจริญ
(มหาชนคร่ำครวญกล่าวว่า)
[๒๒๖] ก็กลุ่มละอองธุลีฟุ้งลอยขึ้น
ในที่ไม่ห่างไกลจากปุปผกปราสาท
ชะรอยพระเกสาของพระธรรมราชา
ผู้เรืองยศของพวกเรา จักถูกตัดแล้ว
(มหาชนไม่เห็นพระราชา จึงเที่ยวคร่ำครวญว่า)
[๒๒๗] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ ปราสาทใดหนอ นี้คือปราสาทของพระองค์
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุวรรณบุปผามาลัย
[๒๒๘] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ ปราสาทใดหนอ นี้คือปราสาทของพระองค์
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุวรรณบุปผามาลัย
[๒๒๙] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ ปราสาทใดหนอ นี้คือปราสาทของพระองค์
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุวรรณบุปผามาลัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
[๒๓๐] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ ปราสาทใดหนอ นี้คือปราสาทของพระองค์
เกลื่อนกล่นไปด้วยสุวรรณบุปผามาลัย
[๒๓๑] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ อโสกวันใดหนอ นี้คือภูมิภาคแห่งอโสกวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๒] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ อโสกวันใดหนอ นี้คือภูมิภาคแห่งอโสกวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๓] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ พระอุทยานใดหนอ นี้คือพระราชอุทยานของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงามตลอดกาลทั้งปวง น่ารื่นรมย์
[๒๓๔] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ พระอุทยานใดหนอ นี้คือพระราชอุทยานของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๕] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนกรรณิการ์ใดหนอ นี้คือสวนกรรณิการ์ของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๖] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนกรรณิการ์ใดหนอ นี้คือสวนกรรณิการ์ของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๗] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนปาฏลิวันใดหนอ นี้คือสวนปาฏลิวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๓๘] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนปาฏลิวันใดหนอ นี้คือสวนปาฏลิวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต] ๕. จูฬสุตโสมชาดก (๕๒๕)
[๒๓๙] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนอัมพวันใดหนอ นี้คือสวนอัมพวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๔๐] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สวนอัมพวันใดหนอ นี้คือสวนอัมพวันของพระองค์
มีดอกไม้บานสะพรั่งงดงาม น่ารื่นรมย์ตลอดกาลทั้งปวง
[๒๔๑] พระราชาทรงมีพระสนมกำนัลในห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สระโบกขรณีใดหนอ นี้คือสระโบกขรณีของพระองค์
ดารดาษไปด้วยดอกไม้นานาชนิด คับคั่งไปด้วยฝูงนก
[๒๔๒] พระราชาทรงมีหมู่พระญาติห้อมล้อม เสด็จไป
ณ สระโบกขรณีใดหนอ นี้คือสระโบกขรณีของพระองค์
ดารดาษไปด้วยดอกไม้นานาชนิด คับคั่งไปด้วยฝูงนก
[๒๔๓] พระเจ้าสุตโสมบรมราชาทรงสละราชสมบัตินี้ผนวชเสียแล้ว
พระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จเที่ยวไปพระองค์เดียว
ดุจพญาช้างตัวประเสริฐ
(พระโพธิสัตว์จูฬสุตโสมตรัสว่า)
[๒๔๔] ท่านทั้งหลายอย่าหวนระลึกถึงความยินดี
การเล่นและความรื่นเริงทั้งหลายในกาลก่อนเลย
กามทั้งหลายอย่าฆ่าท่านทั้งหลายได้เลย
จริงอยู่ สุทัสสนนครน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก
[๒๔๕] อนึ่ง ท่านทั้งหลายจงเจริญเมตตาจิต
ที่มีอารมณ์ไม่มีประมาณทั้งกลางวันและกลางคืนเถิด
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจะได้ไปสู่เทพบุรี
อันเป็นสถานที่อยู่ของท่านผู้บำเพ็ญบุญ ดังนี้แล
จูฬสุตโสมชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. เตสกุณชาดก ๒. สรภังคชาดก
๓. อลัมพุสาชาดก ๔. สังขปาลชาดก
๕. จูฬสุตโสมชาดก

จัตตาลีสนิบาต จบ
ชาดก ภาค ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓๖ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น