Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๒-๒ หน้า ๖๐ - ๑๑๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๘๓] บุคคลใดได้บูชาพระสงฆ์ และได้บูชาพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
บุคคลนั้นจักไปเกิดยังเทวโลก
[๓๘๔] จักครองเทวสมบัติ ๗๗ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๓๘๕] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ชาติ
โภคสมบัตินับจำนวนไม่ถ้วนจักเกิดขึ้นแก่เขาในขณะนั้น
[๓๘๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๓๘๗] เขาจุติจากนรกแล้วจักมาเกิดเป็นมนุษย์
เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าโกลิตะ
[๓๘๘] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักบวชเป็นสาวกองค์ที่ ๒ ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๘๙] เป็นผู้บำเพ็ญเพียร๑ มีใจเด็ดเดี่ยว(เพื่อนิพพาน)
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๙๐] (พระเถระครั้นกล่าวคำพยากรณ์ที่ตนได้รับแล้ว
เมื่อจะประกาศความประพฤติชั่วจึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าคลุกคลีมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ
มีใจโกรธเคือง ได้ฆ่ามารดาและบิดาเสียแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้บำเพ็ญเพียร หมายถึงมีความเพียรในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๘๙/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[๓๙๑] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ คือ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม
เพราะเป็นผู้มากด้วยความชั่ว ข้าพเจ้าจึงถูกทุบศีรษะตาย
[๓๙๒] นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
กรรมเช่นนี้จักปรากฏแก่ข้าพเจ้าในเวลาจะตายแม้ในชาตินี้
[๓๙๓] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบความสงัด ยินดีในการเจริญสมาธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๙๔] (เมื่อพระเถระจะประกาศผลแห่งความประพฤติในก่อน จึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ พึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าข้างซ้าย
เขี่ยแผ่นดินซึ่งทั้งลึกทั้งหนาที่อะไร ๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวได้
[๓๙๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นอัสมิมานะ(ถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
ข้าพเจ้าไม่มีความถือตัว
ข้าพเจ้ากระทำจิตให้มีความเคารพ แม้กระทั่งสามเณร
[๓๙๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมินั้น๑ แล้วบรรลุความสิ้นอาสวะ
[๓๙๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภูมินั้น หมายถึงสาวกภูมิ ซึ่งหมายถึงบรรลุพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๙๖/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
๓. มหากัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙๘] ประชาชนพากันทำการบูชาพระผู้มีพระภาค
ผู้ศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ในเมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๙๙] หมู่ชนมีจิตร่าเริง บันเทิงเบิกบาน ทำการบูชา
เมื่อหมู่ชนนั้นเกิดความสังเวช แต่ข้าพเจ้าเกิดความปีติยินดี
[๔๐๐] ข้าพเจ้าได้เชิญญาติมิตรมาประชุมกันแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมากได้ปรินิพพานแล้ว
ขอเชิญพวกเรามาทำการบูชาเถิด
[๔๐๑] ญาติมิตรของข้าพเจ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว
ก็ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความร่าเริงเป็นอย่างยิ่งว่า
พวกเราจักทำการสั่งสมบุญ
ในพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
[๔๐๒] ข้าพเจ้าได้ช่วยกันสร้างอัคฆิยเจดีย์
เป็นเจดีย์ที่สร้างอย่างดี สูง ๑๐๐ ศอก กว้าง ๑๕๐ ศอก
เป็นดังวิมานสูงเสียดฟ้า สั่งสมบุญไว้แล้ว
[๔๐๓] ข้าพเจ้าครั้นสร้างอัคฆิยเจดีย์ ซึ่งงดงามด้วยแนวแห่งต้นตาล
ไว้ใกล้สถานที่ที่ทำการบูชาเจดีย์นั้นแล้ว
ทำจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
[๔๐๔] พระเจดีย์นั้นรุ่งเรืองอยู่(ด้วยรัตนะทั้ง ๗)
ดุจกองไฟลุกโพลงอยู่ ส่องสว่างทั่วทั้ง ๔ ทิศ
ดุจต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง และดุจสายรุ้งในอากาศ
[๔๐๕] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น
สร้างกุศลเป็นอันมากแล้วระลึกถึงบุพกรรมแล้ว
จึงไปเกิดยังสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๔๐๖] ข้าพเจ้าอธิษฐานยานทิพย์เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว
วิมานของข้าพเจ้า สูงตระหง่าน ๗ ชั้น
[๔๐๗] (ในวิมานนั้น) มีเรือนยอด ๑,๐๐๐ หลัง ทำด้วยทองคำล้วน
รุ่งเรืองด้วยเดชของตน ส่องสว่างทั่วทุกทิศ
[๔๐๘] ครั้งนั้น มีศาลาหน้ามุขทำด้วยแก้วทับทิมแม้เหล่าอื่นอยู่
ศาลาหน้ามุขแม้เหล่านั้นมีรัศมีโชติช่วงรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ
[๔๐๙] เรือนยอดซึ่งเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม
ที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
ทำด้วยแก้วมณี โชติช่วงโดยรอบทั่วทุกทิศ
[๔๑๐] แสงสว่างแห่งเรือนยอดซึ่งโชติช่วงอยู่เหล่านั้นได้สว่างเจิดจ้า
ข้าพเจ้าปกครองเทวดาทั้งปวง นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๑๑] ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับแต่กัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์นามว่าอุพพิทธะ มีชัยชนะ
มีทวีปทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ครองแผ่นดิน
[๔๑๒] ในภัทรกัปก็อย่างนั้นเหมือนกัน
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้มีพลานุภาพมาก
ยินดีพอใจในกรรมของตน๑ ถึง ๓๐ ชาติ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมของตน ในที่นี้หมายถึงทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ๑๐ ประการ คือ ทาน (การ
ให้สิ่งของ) ศีล (ประพฤติดีงาม) ปริจจาคะ (ความเสียสละ) อาชชวะ (ความซื่อตรง) มัททวะ (ความอ่อนโยน)
ตบะ (ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ) อักโกธะ (ความไม่โกรธ) อวิหิงสา (ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน)
ขันติ (ความอดทน) อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๔๑๒-๓/๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
[๔๑๓] ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
ในคราวเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ปราสาทของข้าพเจ้าสูงตระหง่านดังสายรุ้ง
[๔๑๔] ปราสาทนั้นยาว ๒๔ โยชน์ กว้าง ๑๒ โยชน์
มีกรุงชื่อว่ารัมมกะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง
[๔๑๕] นครนั้น มีกำแพงและค่ายยาว ๕๐๐ โยชน์
กว้าง ๒๕๐ โยชน์ มีหมู่ชนพลุกพล่านขวักไขว่
ดังเมืองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๔๑๖] เข็ม ๒๕ เล่มที่ใส่ไว้ในกล่องเข็มแล้ว
ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ ฉันใด
[๔๑๗] แม้กรุงของข้าพเจ้าก็ฉันนั้น
พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยช้าง ม้า และรถ
มีมนุษย์ ขวักไขว่น่ารื่นรมย์ เป็นกรุงอันอุดม
[๔๑๘] ข้าพเจ้า ดื่ม กิน อยู่ในกรุงนั้น แล้วกลับไปเกิดเป็นเทวดาอีก
ในภพสุดท้าย กุศลสมบัติได้มีแก่ข้าพเจ้า
[๔๑๙] ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ สะสมรัตนะไว้เป็นอันมาก
สละทรัพย์ ๘๐ โกฏิ แล้วออกบวช
[๔๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัสสปเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๔. อนุรุทธเถราปทาน
๔ อนุรุทธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระ
(พระอนุรุทธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จหลีกเร้นอยู่
[๔๒๒] ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ได้ประคองอัญชลี
ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
[๔๒๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์จะถวายประทีปแด่พระองค์ ผู้เข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๔๒๔] พระสยัมภูธีรเจ้า ทรงเป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายพระองค์นั้นทรงรับแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เจาะต้นไม้ประกอบประทีปยนต์
[๔๒๕] ข้าพเจ้าได้มอบถวายไส้ตะเกียง ๑,๐๐๐ ไส้
แด่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ดวงประทีปทั้งหลายลุกโพลงอยู่ตลอด ๗ วันแล้วก็ดับไปเอง
[๔๒๖] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้นและด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังวิมาน
[๔๒๗] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นเทวดา
วิมานที่กรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว ย่อมรุ่งเรืองรอบด้าน
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๔. อนุรุทธเถราปทาน
[๔๒๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารุ่งเรืองทั่วตลอดหนึ่งโยชน์โดยรอบ
ย่อมปกครองเทวดาทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๔๒๙] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติอยู่ถึง ๓๐ กัป
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ดูหมิ่นข้าพเจ้าไม่ได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๔๓๐] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ชาติ
และในครั้งนั้น ข้าพเจ้ามองเห็นได้ตลอดหนึ่งโยชน์
โดยรอบทั้งกลางวันและกลางคืน
[๔๓๑] ข้าพเจ้าได้ตาทิพย์ ย่อมมองเห็นได้ตลอด ๑,๐๐๐ จักรวาล
ด้วยญาณในศาสนาของพระศาสดา
นี้เป็นผลแห่งการถวายดวงประทีป
[๔๓๒] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายดวงประทีปแด่พระองค์
[๔๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอนุรุทธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อนุรุทธเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๕. ปุณณมันตานีปุตตาเถราปทาน
๕. ปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
(พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๔๓๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์
จบไตรเพท ห้อมล้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายแล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดแห่งนรชน
[๔๓๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงเป็นมหามุนี ได้ประกาศกรรมของข้าพเจ้าโดยย่อ
[๔๓๖] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระศาสดา
ประคองอัญชลี บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศใต้
[๔๓๗] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมมาโดยย่อแล้วแสดงได้โดยพิสดาร
ศิษย์ทุกคนต่างพอใจฟังข้าพเจ้ากล่าวอยู่
แล้วบรรเทาทิฏฐิของตน
ต่างทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
[๔๓๘] แม้โดยย่อข้าพเจ้าก็แสดงได้ โดยพิสดารก็แสดงได้เหมือนกัน
เป็นผู้มีความรู้ในนัยแห่งพระอภิธรรม
เป็นผู้ฉลาดในกถาวัตถุปกรณ์อย่างหมดจด
ให้ปวงชนได้รู้แจ่มแจ้งแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๓๙] ในกัปที่ ๕๐๐ นับจากภัทรกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีชื่อเสียงถึง ๔ ชาติ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้
ได้ทราบว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปุณณมันตานีปุตตเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. อุปาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ
(พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔๑] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าสุชาตะ
ในกรุงหงสวดี มีกองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ
มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอันมาก
[๔๔๒] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์
จบไตรเพท สำเร็จในคัมภีร์พยากรณ์ลักษณะ
คัมภีร์อิติหาสะ และไตรเพท อันเป็นธรรมของตน
[๔๔๓] ครั้งนั้น เหล่าปริพาชกผู้มีผมปอยเดียว
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเชื้อสายพระอาทิตย์
และเหล่าดาบสผู้เที่ยวสัญจร
พากันท่องเที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน
[๔๔๔] แม้พวกเขาก็พากันห้อมล้อมข้าพเจ้า
ด้วยสำคัญว่า เป็นพราหมณ์ มีชื่อเสียง
ชนจำนวนมากพากันบูชาข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่บูชาใคร ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นใครว่าเป็นผู้ที่ควรบูชา จึงถือตัวจัด
พระชินเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นมาตราบใด
คำว่า พุทธะ ก็ยังไม่มีตราบนั้น
[๔๔๖] เมื่อวันคืนล่วงไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นมาบรรเทาความมืดทั้งปวงในโลก
[๔๔๗] เมื่อศาสนาแผ่ไปกว้างขวาง มีท่านผู้รู้มากและเป็นปึกแผ่น
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังกรุงหงสวดี
[๔๔๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงธรรมเป็นประโยชน์แก่พระบิดา
มีชุมนุมชนอยู่โดยรอบตลอดหนึ่งโยชน์ ตามเวลานั้น
[๔๔๙] ครั้งนั้น สุนันทดาบสได้รับสมมติจากหมู่ชน(ว่าเป็นเลิศ)
ได้ใช้ดอกไม้บังแดดทั่วพุทธบริษัท
[๔๕๐] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔
ณ มณฑปดอกไม้ที่งดงาม
เหล่าสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิได้บรรลุธรรม
[๔๕๑] พระพุทธเจ้าทรงบันดาลหยาดฝนคือพระธรรม
ให้ตกลงตลอดทั้ง ๗ คืน ๗ วัน
พอถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า
[๔๕๒] ท่านผู้นี้ เมื่อเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก
ก็จักเป็นผู้ประเสริฐกว่าใครทั้งหมด
จักเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งหลาย
[๔๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๕๔] ท่านผู้นี้จักเป็นบุตรของนางมันตานี มีนามว่าปุณณะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๔๕๕] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑
ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสอย่างนี้แล้ว
ทำให้ประชาชนทั้งปวงร่าเริง ทรงแสดงกำลังของพระองค์
[๔๕๖] ครั้งนั้น๒ ประชาชนประนมมือไหว้สุนันทดาบส
แต่สุนันทดาบสครั้นทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ได้ชำระคติ(กำเนิด)ของตนให้บริสุทธิ์หมดจด
[๔๕๗] เพราะข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระมุนี ณ ที่นั้น
จึงได้มีความดำริว่า เราจักสั่งสมบุญ
โดยประการที่จะได้พบพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๔๕๘] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดถึงกิจที่เราควรทำว่า
เราจะบำเพ็ญบุญกรรมเช่นไร ในเนื้อนาบุญที่ยอดเยี่ยม
[๔๕๙] บรรดาภิกษุผู้เป็นนักสวดทั้งหมดในศาสนา
ภิกษุรูปนี้เป็นนักสวดรูปหนึ่ง
ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เลิศในทางวินัย
ตำแหน่งนั้นข้าพเจ้าปรารถนา๓แล้ว
[๔๖๐] โภคสมบัติของข้าพเจ้านี้นับประมาณมิได้
เปรียบดังห้วงน้ำที่ไม่มีอะไร ๆ ทำให้กระเพื่อมได้ (นับไม่ได้)
ข้าพเจ้าได้จ่ายโภคสมบัตินั้นสร้างอารามถวายพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๕/๓๓๓)
๒ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงก่อนที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติขึ้นมา (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖/๓๓๓)
๓ ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งพระวินัยธรผู้เลิศกว่าพระ
วินัยธรทุกรูป จึงได้สักการะพระศาสดาแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๙/๓๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๖๑] ข้าพเจ้าจ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อสวนชื่อว่าโสภณะ
ด้านทิศตะวันออกนคร สร้างให้เป็นสังฆาราม
[๔๖๒] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป
เรือนโล้น ถ้ำ และที่จงกรมไว้ในสังฆารามอย่างดี
[๔๖๓] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ
โรงน้ำ และห้องอาบน้ำ ถวายแด่หมู่ภิกษุ
[๔๖๔] ข้าพเจ้าได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง
ภาชนะสำหรับใช้สอย คนวัด และเภสัชนั้นครบทุกอย่าง
[๔๖๕] ข้าพเจ้าได้จัดตั้งอารักขาไว้ ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง
ด้วยหวังว่า ใคร ๆ อย่าได้รบกวนอารามแห่งนั้น
ของท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่เลย
[๔๖๖] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนสร้างที่อยู่ไว้ในสังฆาราม
ครั้นให้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงน้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
[๔๖๗] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอารามเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขอพระองค์ทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้าผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ขอมอบถวายแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงรับเถิด
[๔๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงเป็นผู้นำ
ทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้
[๔๖๙] ข้าพเจ้าทราบการรับของพระสัพพัญญู
ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่
จึงตระเตรียมโภชนาหารแล้ว ไปกราบทูลภัตตกาล
[๔๗๐] เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลภัตตกาลแล้ว
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
ได้เสด็จมาสู่อารามของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๗๑] ข้าพเจ้าทราบเวลาที่พระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว
จึงอังคาสให้อิ่มหนำ
ทราบเวลาที่เสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๔๗๒] อารามชื่อโสภณะข้าพระองค์จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อมา
ได้สร้างจนเสร็จเรียบร้อยด้วยทรัพย์จำนวนเท่านั้นเช่นกัน
ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์ทรงรับเถิด
[๔๗๓] ด้วยการถวายพระอารามแห่งนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
เมื่อข้าพระองค์บังเกิดในภพ
ขอจงได้สิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนาเถิด
[๔๗๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆาราม
ที่ข้าพเจ้าสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๔๗๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายสังฆาราม
ซึ่งสร้าง(กุฏิ ที่เร้น มณฑป ปราสาท เรือนโล้น และกำแพงเป็นต้น)
เสร็จเรียบร้อยแล้วแด่พระพุทธเจ้า
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๗๖] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า
พลรถ และพลเดินเท้า จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๗๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๗๘] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ผู้ประดับตกแต่งสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๗๙] มีหน้ากลมโต๑ มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม
เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๘๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๘๑] จักได้สิ่งของทุกอย่างที่ท้าวเทวราชจะพึงได้
เป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่รู้จักพร่อง ครองเทวสมบัติ
[๔๘๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๔๘๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๘๔] ท่านผู้นี้จักมีนามว่าอุบาลี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๔๘๕] จักถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ๒
ดำรงศาสนาของพระชินเจ้าไว้ได้ อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๘๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้ง(อุบาลี)ไว้ในเอตทัคคะ

เชิงอรรถ :
๑ มีหน้ากลมโต ในที่นี้แปลตามบาลี อาฬารมุขา แต่อรรถกถาเป็น อาฬารปมฺหา (ขุ.อป.อ. ๑/๔๗๙/๓๓๕)
และข้ออื่น ๆ ในเล่มเดียวกัน เช่นข้อ ๙๕/๑๐๕,๗๖/๔๒๙ เป็น อาฬารปมฺหา เหมือนกันแปลว่า มีตา
กลมโต
๒ ฐานะและมิใช่ฐานะ หมายถึงเหตุและมิใช่เหตุ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๕/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๘๗] ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์๑
เริ่มต้นตั้งแต่(หลายแสน)กัปที่นับมิได้
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้น
ทั้งได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามลำดับ
[๔๘๘] คนถูกคุกคามด้วยพระราชอาญา
ถูกเสียบไว้ที่หลาวแล้ว ไม่ได้ความสำราญที่หลาว
ต้องการแต่จะหลุดพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกคุกคามด้วยอาชญาคือภพ ถูกเสียบไว้ที่หลาวคือกรรม
ถูกเวทนาคือความกระหายบีบคั้นแล้ว
[๔๙๐] ไม่ประสบความสำราญในภพ
ถูกไฟ ๓ กอง๒ แผดเผาอยู่ แสวงหาอุบายรอดพ้น
ดุจคนแสวงหาอุบายรอดพ้นจากพระราชอาญา ฉะนั้น
[๔๙๑] คนดื่มยาพิษ ถูกยาพิษบีบคั้น
เขาจึงแสวงหายากำจัดยาพิษ
[๔๙๒] เมื่อแสวงหา จึงได้พบยากำจัดยาพิษ
ดื่มยานั้นแล้วก็มีความสุข เพราะรอดพ้นจากยาพิษ ฉันใด
[๔๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็เป็นเหมือนคนถูกยาพิษทำร้าย
ถูกอวิชชาบีบคั้น จึงแสวงหายาคือพระสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ คือข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้เลิศกว่าใคร ๆ ในทางทรงจำวินัย
ในศาสนาของพระโคดมผู้มีพระภาค (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๗/๓๓๖)
๒ ไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟในนรก ไฟที่เกิดขึ้นในกัป ไฟคือทุกข์
(ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๙-๙๐/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๙๔] เมื่อแสวงหายาคือพระธรรมก็ได้พบศาสนาของพระศากยะ
ศาสนานั้นเป็นยาชั้นเลิศกว่ายาทุกขนาน
สำหรับบรรเทาลูกศรทุกชนิด๑
[๔๙๕] ข้าพระองค์ดื่มธรรมโอสถแล้วก็ถอนพิษได้ทั้งหมด
ข้าพระองค์ได้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย
เป็นภาวะเย็นสนิท
[๔๙๖] คนถูกผีคุกคาม ถูกผีสิงบีบคั้น
พึงแสวงหาหมอผี เพื่อรอดพ้นจากผี
[๔๙๗] เมื่อแสวงหา ก็ได้พบหมอผีผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี
หมอผีนั้นจึงขับไล่ผีให้คนนั้น
และทำผีพร้อมทั้งต้นเหตุให้พินาศ ฉันใด
[๔๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกผีคือความมืด(คือกิเลส)เบียดเบียน
จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณเพื่อรอดพ้นจากความมืด
[๔๙๙] ต่อมา ข้าพระองค์ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความมืดคือกิเลส
พระศากยมุนีนั้น ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์
ดุจหมอผีขับไล่ผีไป ฉะนั้น
[๕๐๐] ข้าพระองค์ได้ตัดกระแสการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
ห้ามกระแสแห่งตัณหาได้ ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้น
ดุจหมอผีขับไล่ผีไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉะนั้น
[๕๐๑] พญาครุฑโฉบลงจับนาคซึ่งเป็นภักษาของตน
ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมถึง ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ

เชิงอรรถ :
๑ ลูกศรทุกชนิด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๔๙๔/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๐๒] ครั้นพญาครุฑนั้นจับนาคได้แล้ว เบียดเบียนนาค ให้ห้อยหัวลง
มันจับนาคพาบินไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด
[๕๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็เหมือนพญาครุฑที่มีพลัง
แสวงหาอสังขตธรรม๑ ได้ชำระโทษทั้งหลายแล้ว
[๕๐๔] ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันประเสริฐ
จึงยึดถือเอาสันติบท๒ อันยอดเยี่ยมนี้อยู่
ดุจพญาครุฑจับนาคไป ฉะนั้น
[๕๐๕] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี๓ เกิดในสวนจิตรลดาแล้ว
ล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี เถาวัลย์นั้นจึงจะเกิดผลผลหนึ่ง
[๕๐๖] เทพทั้งหลาย เข้าไปนั่งเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้น
เมื่อกาลนาน ๆ จะมีผลสักคราว
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้นเป็นเถาวัลย์ชั้นสูงสุด
เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดาอย่างนี้
[๕๐๗] นับได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพระองค์จึงจะได้ปรนนิบัติพระมุนีนั้นนอบน้อมทั้งเช้าเย็น
ดุจเหล่าเทวดาได้เข้าไปเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีทั้งเช้าเย็น ฉะนั้น
[๕๐๘] การปรนนิบัติ(พระพุทธเจ้า)ไม่เป็นหมัน(เปล่าประโยชน์)
และการนอบน้อมก็ไม่เปล่าประโยชน์
ถึงข้าพระองค์จะมาจากที่ไกล
ขณะ๔ก็มิได้ล่วงเลยข้าพระองค์ไป

เชิงอรรถ :
๑ อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ธรรมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย ได้แก่ พระนิพพาน (ขุ.อป.อ.
๑/๕๐๓/๓๓๘)
๒ สันติบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๔/๓๓๘)
๓ อาสาวดี เป็นชื่อของผิวพรรณที่ได้ยาก ท่านก็กล่าวถึงเถาวัลย์อาสาวดีที่หายากมากในหมู่เทพยดา
เป็นเถาวัลย์ที่เหล่าเทวดาต้องการ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๕/๓๓๙)
๔ ขณะ ในที่นี้หมายถึงขณะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๘/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๐๙] ข้าพระองค์ค้นหาการถือปฏิสนธิในภพก็ไม่เห็น
เพราะข้าพระองค์ไม่มีอุปธิ หลุดพ้นแล้ว(จากกิเลสทั้งปวง)
มีจิตสงบระงับเที่ยวไป
[๕๑๐] ธรรมดาดอกปทุมพอได้สัมผัสแสงดวงอาทิตย์
ก็แย้มบานทุกเมื่อ ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นบานแล้ว(คือสำเร็จมรรคผลนิพพาน)
เพราะรัศมีแห่งพระพุทธเจ้า
[๕๑๑] ในกำเนิดนกยาง ย่อมไม่มีนกยางตัวผู้ในกาลทุกเมื่อ
เมื่อเมฆฝนคำรน(เมื่อฟ้าร้อง)
นกยางตัวเมียจึงจะตั้งครรภ์ได้ ในกาลทั้งปวง
[๕๑๒] นกยางตัวเมียเหล่านั้นจะตั้งครรภ์อยู่นาน
ตราบเท่าที่เมฆฝนยังไม่คำราม
พวกมันจะพ้นจากภาระ(จะออกไข่)
ได้ก็ต่อเมื่อเมฆฝนตกลงมา ฉันใด
[๕๑๓] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงคำรนด้วยเมฆฝนคือพระธรรม
ก็ได้ตั้งครรภ์คือธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆฝนคือธรรม
[๕๑๔] ใช้เวลาตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ข้าพระองค์ จึงจะได้ตั้งครรภ์คือบุญ
ข้าพระองค์ยังไม่พ้นจากภาระ๑
ตราบเท่าที่เมฆฝนคือพระธรรมยังไม่คำรน
[๕๑๕] ข้าแต่พระศากยมุนี พระองค์ทรงคำรน
ด้วยเมฆฝนคือพระธรรมในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ในกาลใด
ในกาลนั้นข้าพระองค์ก็จะพ้นจากภาระ

เชิงอรรถ :
๑ ภาระ ในที่นี้หมายถึงภาระคือการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๕/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๑๖] ธรรมแม้นั้น คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งปวง
ข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว
ภาณวารที่ ๒ จบ
[๕๑๗] ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์นานจนนับกัปไม่ได้
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
ทั้งได้สันติบท๑ อันยอดเยี่ยมตามลำดับ
[๕๑๘] ข้าพระองค์ถึงความสำเร็จในวินัย
เป็นเหมือนภิกษุผู้แสวงคุณผู้มีชื่อเสียง
ไม่มีภิกษุรูปอื่นจะเสมอเหมือนข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทรงจำคำสั่งสอนไว้ได้
[๕๑๙] ในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ คือ ในวินัย ในขันธกะ๒
ในปริจเฉท ๓ (คือ ในสังฆาทิเสส ๓ หมวด
และปาจิตตีย์ ๓ หมวด)๓

เชิงอรรถ :
๑ สันติบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๗/๓๔๑)
๒ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์, ขันธกะ หมายถึงมหาวรรคและจุลวรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑)
๓ ติกสังฆาทิเสส อาบัติสังฆาทิเสส ๓ หมวด เป็นข้อกำหนด ๓ ประการของพระวินัยธร ผู้จะตัดสินอธิกรณ์
จะต้องตรวจดูว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในข้อกำหนดไหน ใน ๓ ประการนั้น เช่น นางภิกษุณี เรียกนาง
ภิกษุณีอื่นที่ถูกภิกษุณีสงฆ์ยกออกจากหมู่โดยชอบธรรม ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยสัตถุศาสน์ กลับเข้าหมู่
เช่นนี้ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส โดยสถานใดสถานหนึ่ง ในข้อกำหนด ๓ ประการ คือ (๑) มีความเข้าใจ
กรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่าเป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมเรียกนางภิกษุณี ที่ถูกลงโทษ
กลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๒) มีความสงสัยในกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรม เรียกนาง
ภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๓) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบ
ธรรมว่า เป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยไม่ชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส ติกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ ๓ หมวด คือภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ โดยสถานใดสถานหนึ่ง
ในข้อกำหนด ๓ ประการ เช่น ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วันแล้ว (๑) มีความสำคัญว่าเกิน ๑๐
วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๒) มีความสงสัยว่าเกิน ๑๐ วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓) มีความสำคัญ
ว่า ยังไม่เกิน ๑๐ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๖๘/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
ในหมวดที่ ๕๑ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยอักขระ(คือสระ)
หรือแม้ในพยัญชนะเลย
[๕๒๐] ข้าพระองค์ฉลาดในวิธีข่ม ในการกระทำคืน
ในฐานะที่ควรและฐานะที่ไม่ควร
ในการเรียกภิกษุผู้ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่
และในการช่วยให้ภิกษุออกจากอาบัติ
ถึงความสำเร็จในการกระทำทางวินัยกรรมทุกอย่าง
[๕๒๑] ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยและขันธกะ และขยายอุภโตวิภังค์
เรียก(ภิกษุผู้ถูกลงโทษ)กลับเข้าหมู่โดยกิจ(หน้าที่)
[๕๒๒] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติศาสตร์
และฉลาดในประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์
สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ไม่มี
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในศาสนาของพระศาสดา
[๕๒๓] ในวันนี้ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี๒
บรรเทาความสงสัยได้ทุกอย่าง ในศาสนาของพระศากยบุตร
ตัดความลังเลได้หมดสิ้น
[๕๒๔] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บทหน้า
บทหลัง อักขระ พยัญชนะ คำเริ่มต้น และคำลงท้าย
[๕๒๕] เหมือนอย่างพระราชาผู้มีพลัง
ทรงจับไพร่พลของพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์
ให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้ว รับสั่งให้สร้างนครไว้ในที่นั้น
[๕๒๖] พึงรับสั่งให้สร้างกำแพง รับสั่งให้ขุดคูรอบ ตั้งเสาระเนียด
สร้างซุ้มประตู สร้างป้อมต่าง ๆ ไว้ในนคร เป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ในหมวดที่ ๕ ในที่นี้ หมายถึงปริวาร (ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด คือ อาทิกัมมิกะ
ปาจิตตีย์ มหาวรรค จูฬวรรค ปริวาร) (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑)
๒ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี ในอรรถกถาเป็น รูปทกฺเข แก้ว่า ในคราวมองเห็นรูปก็คือในการวินิจฉัยวินัย
(ขุ.อป.อ. ๑/๕๒๓/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๒๗] พึงรับสั่งให้สร้างถนนสี่แยก ทางแยก
ร้านตลาด จัดสรรไว้เป็นอย่างดี
สร้างศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่ตัดสินคดีความไว้ในนครนั้น
[๕๒๘] เพื่อป้องกันอริราชศัตรู เพื่อจะรู้ช่องทาง(ดีร้าย)
เพื่อดูแลรักษากำลังพล พระราชาเจ้านครนั้น
จึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพไว้
[๕๒๙] เพื่อรักษาสิ่งของ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคนที่ฉลาด
ในการเก็บรักษาสิ่งของ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งของ
ด้วยตั้งพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าเสียหายไปเลย
[๕๓๐] ผู้ใดสมัครสมานกับพระราชา
และปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชา
พระราชาย่อมมอบหน้าที่แก่ผู้นั้น๑
เพื่อปฏิบัติตอบแทนต่อมิตร
[๕๓๑] พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงแต่งตั้งผู้ที่ฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตและในลักษณะ
ผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมนตร์๒ ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

เชิงอรรถ :
๑ บาทคาถาว่า สมคฺโค โหติ โส รญฺโ� ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น มมตฺโต โหติ โย รญฺโ� เดิมแปลว่า
เขาเป็นผู้พร้อมเพรียงกับพระราชา ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ใด ย่อมมอบหน้าที่ คือความเป็นใหญ่
ในการวินิจฉัยแก่ผู้นั้นเพื่อปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตร โส เขาสามัคคีกับพระราชาพอฟังได้ แต่ถ้าจะตั้งคน
ที่ตนชอบพอให้เป็นคนตัดสินคดีความ คงไม่ได้ เพราะ โส คงแทนนามนามที่กล่าวชื่อมาแล้ว คือ คนที่ดูแล
รักษาสิ่งของ ถ้าจะว่า โส แทนบทว่า ราชา ก็ฟังไม่ขึ้น ราชาที่ไหนมาสามัคคีกับราชานี้ จึงแปลตามแนว
ฉบับพม่าและอรรถกถา (มมตฺโต โหติ โย รญฺโ�ติ โย ปณฺฑิโต รญฺโ� มมตฺโต มามโก ปกฺขปาโต
โหติ. วุทฺธึ ยสฺส จ อิจฺฉตีติ อสฺส รญฺโ� วุฑฺฒึ จ วิรุฬฺหึ โย อิจฺฉติ กาเมติ, ตสฺส อิตฺถมฺภูตสฺส ราชา
อธิกรณํ วินิจฺฉยาธิปจฺจํ เทติ มิตฺตสฺส มิตฺตภาวสฺส ปฏิปชฺชิตุนฺติ สมฺพนฺโธ ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๐/๓๔๔)
๒ ผู้ที่ฉลาดลางบอกเหตุ หมายถึงผู้บอกคัมภีร์ไวยากรณ์แก่ศิษย์จำนวนมาก ผู้ทรงจำมนต์ ได้แก่ ผู้ทรง
จำไตรเพท (พระเวท ๓ เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ (๑) ฤคเวท ประมวลบทความ
สรรเสริญ เทพเจ้า (๒) ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (๓) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดแล้วร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
ต่อมาเพิ่มอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๑/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๓๒] พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้
พสกนิกรจึงขนานพระนามว่ากษัตริย์
เหล่าอำมาตย์จึงถวายการอารักขาพระราชาทุกเมื่อ
ดุจนกจักรพากเฝ้ารักษานกผู้ประสบทุกข์
[๕๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นดุจกษัตริย์ ผู้ขจัดข้าศึกศัตรูได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงขนานพระนามว่าธรรมราชา
[๕๓๔] พระองค์ทรงปราบเหล่าเดียรถีย์
ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามาร
ทรงขจัดความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนครคือพระธรรมไว้
[๕๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ในนครคือพระธรรมนั้น
พระองค์มีศีลเป็นปราการ มีพระญาณเป็นซุ้มประตู
มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด และมีความสังวรเป็นนายประตู
[๕๓๖] ข้าแต่พระมุนี พระองค์มีสติปัฏฐานเป็นป้อม
มีพระปัญญาเป็นชุมทาง
มีอิทธิบาทเป็นถนนสี่แยก
ธรรมวิถี พระองค์ก็ทรงสร้างไว้ดีแล้ว
[๕๓๗] พระองค์มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม
และพระพุทธพจน์มีองค์ ๙๑ แม้ทั้งมวล
นี้เป็นธรรมสภา

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ คือ (๑) สุตตะ พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส (๒) เคยยะ
ข้อความ ที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน คือพระสูตรที่มีคาถารวมอยู่ด้วยทั้งหมด (๓) เวยยากรณะ
ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (๔) คาถา
ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรีคาถา (๕) อุทาน พระคาถาพุทธอุทาน (๖) อิติวุตตกะ พระสูตร
ที่เรียกว่าอิติวุตตกะ มี ๑๑๒ สูตร (๗) ชาตกะ ชาดก ๕๐๐ เรื่อง (๘) อัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์
คือ พระสูตรที่กล่าวถึง ข้ออัศจรรย์ต่าง ๆ (๙) เวทัลละ พระสูตรแบบถามตอบ เช่นจูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร) (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๗/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๓๘] พระองค์มีสุญญตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันว่าง)
อนิมิตตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีนิมิต)
อัปปณิหิตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีความตั้งปรารถนา)
อาเนญชวิหารธรรม๑(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่หวั่นไหว)
นิโรธวิหารธรรม๒(ธรรมเป็นเครื่องอยู่คือความดับ) นี้เป็นธรรมกุฎี
[๕๓๙] พระเถระผู้เลิศด้วยปัญญา ที่ทรงแต่งตั้งไว้
ฉลาดในปฏิภาณ มีนามว่าสารีบุตร
เป็นจอมทัพธรรมของพระองค์
[๕๔๐] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ฉลาดในจุติและปฏิสนธิ
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ มีนามว่าโกลิตะ (โมคคัลลานะ)
เป็นปุโรหิตของพระองค์
[๕๔๑] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ดำรงวงศ์เก่าแก่
มีเดชแผ่ไป หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เป็นผู้เลิศด้วยธุดงค์คุณ(มีนามว่ากัสสปะ)เป็นผู้พิพากษาของพระองค์
[๕๔๒] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป๓ ในศาสนา
มีนามว่าอานนท์ เป็นผู้รักษาธรรมของพระองค์
[๕๔๓] พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงละพระเถระเหล่านี้ทุกรูป
ทรงมุ่งเฉพาะข้าพระองค์ แล้วทรงประทานการวินิจฉัยวินัย
ซึ่งบัณฑิตผู้รู้แสดงไว้แล้วแก่ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ อาเนญชวิหารธรรม หมายถึงสามัญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (คือโสดาปัตติ-
ผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๘/๓๔๖), ที.ปา. ๑๑/๓๕๔/๒๔๖
๒ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงพระนิพพานเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง (ขุ.อป.อ. ๑๕๓๘/๓๔๖)
๓ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป แปลมาจากศัพท์ สพฺพปาฐิ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๔๒/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๔๔] สาวกของพระพุทธองค์ บางรูปไต่ถามปัญหาในวินัย
ในปัญหาที่ถามมานั้น ข้าพระองค์ไม่ต้องคิด(ลังเล)
ย่อมอธิบายปัญหานั้นได้เลย
[๕๔๕] ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์
ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์
ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน
[๕๔๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
บันลืออย่างนี้ว่า ผู้เสมอกับอุบาลีในพระวินัย๑
และในขันธกะ(คือในมหาวรรค จูฬวรรคและปริวาร)ไม่มี
[๕๔๗] สำหรับท่านผู้เห็นพระวินัยเป็นหลักสำคัญ
นวังคสัตถุศาสตร์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ทั้งหมดพระศาสดาตรัสไว้ในวินัย๒
๕๔๘] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพระองค์
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๕๔๙] ข้าพระองค์ได้ปรารถนาตำแหน่งนี้นานนับได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ถึงความสำเร็จในวินัย

เชิงอรรถ :
๑ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์ วินัยทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณี
๒ คำว่า วินเย กถิตํ สพฺพํ ฉบับพม่าเป็น วินโยคธํ ตํ สพฺพํ ในอรรถกถาก็มีนัยเช่นนี้ โดยพระอรรถ-
กถาจารย์แก้เป็น สพฺพํ วินโยคธํ ตํ วินเย อนฺโตปวิฏฺ�ํ วินยมูลกํ อิจฺเจวํ ปสฺสิโน ปสฺสนฺตสฺส (ขุ.อป.อ.
๑/๕๔๗/๓๔๗)
คาถานี้ เดิมแปลว่า เรากล่าวสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทั้งหมดไว้ใน
พระวินัยแก่บุคคลผู้เห็นมูลพระวินัย (ฉบับสังคายนา)
ข้อความตามนัยเดิมนั้น ดูกระไรอยู่ เพราะทำให้สงสัยว่าพระอุบาลีจะเป็นผู้จัดนวังคสัตถุศาสน์ไว้
ในพระวินัยหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๕๐] เมื่อก่อน ข้าพระองค์เป็นช่างกัลบก (ช่างตัดผม)
เป็นผู้ทำให้เจ้าศากยะทั้งหลายเกิดความเพลิดเพลิน
ได้ละชาติกำเนิดนั้นแล้วมาเป็นบุตร
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๕๕๑] ในกัปที่ ๒ นับจากภัทรกัปนี้ไป
ได้มีกษัตริย์พระนามว่าอัญชสะ
ทรงเดชานุภาพหาที่สุดมิได้
ทรงยศหาประมาณมิได้
เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์มาก
[๕๕๒] ข้าพระองค์ได้เป็นขัตติยกุมารมีนามว่าจันทนะ
เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น
เป็นคนมีกิริยาแข็งกระด้าง
เพราะความมัวเมาในชาติตระกูล ในยศ และในโภคะ
[๕๕๓] ช้างตระกูลมาตังคะ ๑๐๐,๐๐๐ เชือก
ตกมัน ๓ แห่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
แวดล้อมข้าพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๕๕๔] ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีกำลังพลของตนห้อมล้อม
ต้องการจะประพาสอุทยาน
จึงทรงช้างชื่อสิริกะออกจากนครไป
[๕๕๕] พระสัมพุทธเจ้า๑ พระนามว่าเทวละ
ผู้เพียบพร้อมด้วยจรณะ๒ คุ้มครองทวาร
สำรวมด้วยดี เสด็จมาข้างหน้าของข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙)
๒ จรณะ หมายถึงจรณธรรม ๑๕ มีสีลสังวรเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๕๖] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไสช้างสิริกะไป
จะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า
เพราะเหตุนั้น ช้างนั้นเหมือนเกิดความโกรธยกเท้าไม่ขึ้น
[๕๕๗] ข้าพระองค์เห็นช้างเสียใจ จึงโกรธพระพุทธเจ้า
เบียดเบียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปอุทยาน
[๕๕๘] เพราะการจะให้ช้างทำร้ายนั้นเป็นเหตุ
ข้าพระองค์จึงมิได้ประสบความสำราญ
ศีรษะเป็นเหมือนมีไฟลุกโพลงอยู่
ข้าพระองค์ถูกความเร่าร้อนเผาไหม้อยู่ เหมือนปลาติดเบ็ด
[๕๕๙] แผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นดุจไฟลุกท่วม
ข้าพระองค์ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๕๖๐] หม่อมฉันได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระสยัมภูพระองค์ใด
ผู้เป็นดังอสรพิษที่ถูกทำให้โกรธ
ดังกองไฟที่ลามมา ดังช้างพลายตัวตกมัน๑
[๕๖๑] พระพุทธชินเจ้า ผู้มีตบะแก่กล้า ถูกข้าพระองค์รุกราน
พวกเราชาวเมืองทั้งปวงจักพินาศ
พวกเราจักขอขมาพระมุนีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามอรรถกถา (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๐/๓๕๐) ท่านเปรียบพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าว่าเป็นดัง
อสรพิษร้ายบ้าง ดังกองไฟบ้าง ดังราชสีห์ชาติไกรสรบ้าง ดังช้างตกมันบ้าง คนที่เข้าใกล้อสรพิษ กอง
ไฟลุกโชติช่วง ราชสีห์ดุร้าย ช้างตกมัน ย่อมได้รับอันตราย ฉันใด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า พระ
ปัจเจกพุทธเจ้า ก็ย่อม ประสบบาปกรรมใหญ่หลวง ก็ฉันนั้น
ดังบาลีว่า
อาสีวิโส ยถา โฆโร มิคราชาว เกสรี
มตฺโตว กุญฺชโร ทนฺโต เอวํ พุทฺธา ทุราสทา.
(ขุ.อป. ๓๒/๒๗๐/๔๔๙ )
คาถาที่ ๕๖๐ นี้ เดิมแปลอสรพิษร้าย และกองไฟเป็นอุปมาของช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๖๒] หากพวกเราจักไม่ขอขมาพระองค์(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่น
แว่นแคว้นของเราจักพินาศภายในวันที่ ๗
[๕๖๓] พระเจ้าสุเมขลราช พระเจ้าโกสิยราช
พระเจ้าสิคควราช พระเจ้าสัตตกราชเหล่านั้นพร้อมเสนา
ได้รุกรานท่านฤๅษีทั้งหลายแล้ว ได้ถึงความทุกข์ยาก
[๕๖๔] ท่านฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว
ประพฤติประเสริฐ ย่อมโกรธในกาลใด
ในกาลนั้นย่อมทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ท้องทะเล และภูเขา ให้พินาศไป
[๕๖๕] ข้าพระองค์จึงสั่งให้ประชาชนมาประชุมกันในพื้นที่
ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ
จึงเข้าไปหาพระสยัมภูพุทธเจ้า
[๕๖๖] ประชาชน(พร้อมทั้งข้าพระองค์)ทั้งหมด
มีผ้าเปียก ศีรษะเปียก ประนมมือ
พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระสยัมภูพุทธเจ้า
แล้วได้กราบเรียนคำนี้ว่า
[๕๖๗] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษเถิด
ประชาชนอ้อนวอนพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดช่วยบรรเทาความเร่าร้อน
และขอพระคุณเจ้าอย่าได้ทำแว่นแคว้นให้พินาศเลย
[๕๖๘] มวลมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา ทานพ และรากษส๑
จะพึงเอาฆ้อนเหล็กทุบศีรษะของข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ทานพ หมายถึงอสูรจำพวกหนึ่ง รากษส หมายถึงยักษ์ร้าย, ผีเสื้อน้ำ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๘/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๖๙] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า)
ไฟย่อมไม่เกิดในน้ำ พืชย่อมไม่งอกบนแผ่นหิน
กิมิชาติ๑ ย่อมไม่เกิดในยาพิษ ฉันใด
ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
[๕๗๐] แผ่นดินไม่หวั่นไหว ฉันใด
พระพุทธเจ้าใคร ๆ ก็ให้กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น
ทะเลประมาณมิได้ ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณประมาณมิได้ ฉันนั้น
และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณไม่มีที่สุด ฉันนั้น
[๕๗๑] พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝึกฝนตนแล้ว
มีความเพียรมาก มีการงดโทษให้แก่ผู้อื่นและมีตบะ
ท่านผู้มีความอดทนและมีการอดโทษให้ แก่ผู้อื่น
จะไม่มีการลุอำนาจอคติ
[๕๗๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้บรรเทาความเร่าร้อน
เหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าต่อหน้ามหาชน ในครั้งนั้น
[๕๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร๒
เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้เข้าถึงภาวะที่เลวทราม
ล่วงเลยชาตินั้นมาเข้าสู่นคร(คือนิพพาน)ซึ่งไม่มีภัย
[๕๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในครั้งนั้น
พระสยัมภูพุทธเจ้าเห็นข้าพระองค์ถูกไฟแผดเผาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ กิมิชาติ หมายถึงสัตว์จำพวกหนอน
๒ อรรถกถาเป็น ธีราติ ธีร ธิติสมฺปนฺน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๓/๓๕๒) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ (เป็นคำร้อง
เรียกที่พระอุบาลีเรียกพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เล่าประวัติในอดีตของตนมาแล้ว)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
(แต่)ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้
ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้๑
[๕๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้
พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กอง๒แผดเผาอยู่
ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ ๓ กองให้แล้ว
[๕๗๖] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย
โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท๓แล้ว
[๕๗๗] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้
จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ
[๕๗๘] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ๔ไปเลย
เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก
ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด
ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว
[๕๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก
ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก
และยารักษาแก่บุคคลบางพวก

เชิงอรรถ :
๑ ฉบับเก่าประธานของประโยคคือ ตฺวํ (คือ สัพพนาม แทน คำว่า ภควา ซึ่งพระอุบาลี กำลังกราบทูลอยู่)
ดูตามความแล้ว หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต และอรรถกถาก็ขึ้น ปจฺเจกพุทฺโธ เป็นประธาน
๒ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ
(ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๕/๓๕๓)
๓ บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๖/๓๕๓)
๔ ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๘/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๘๐] คือพระผู้มีพระภาค ตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ
ตรัสบอกยาถ่ายแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในผล
ตรัสบอกยารักษาโรคแก่บุคคลผู้ได้ผลแล้ว
ตรัสบอกบุญเขตแก่บุคคลผู้แสวงบุญ
[๕๘๑] ตรัสบอกยาพิษร้ายแรง(คือบาปอกุศล)
แก่บุคคลผู้เป็นข้าศึกต่อศาสนา
ยาพิษร้ายแรงย่อมแผดเผานรชนนั้น
เหมือนอสรพิษร้าย ฉะนั้น
[๕๘๒] ยาพิษร้ายแรงที่บุคคลดื่มแล้วเพียงครั้งเดียว
ก็ย่อมทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลทำผิดต่อศาสนาแล้ว
ย่อมถูกแผดเผานับเป็นโกฏิกัป
[๕๘๓] พระองค์ทรงช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)
ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน
และด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[๕๘๔] พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นเช่นพื้นปฐพี
ไม่ทรงติดข้องในลาภ ในความเสื่อมลาภ
ในความสรรเสริญ ในความถูกดูหมิ่น
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[๕๘๕] พระมุนีทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง คือ ในพระเทวทัต
นายขมังธนู โจรองคุลีมาล พระราหุล และช้างธนบาล
[๕๘๖] พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น
ไม่มีความแค้นเคือง ไม่มีความกำหนัด
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในชนทั้งหมด
คือในนายขมังธนู และในพระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๘๗] ท่านทั้งหลายได้พบผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระฤๅษี
ซึ่งเปื้อนคูถ ถูกทิ้งไว้ที่หนทาง
ก็พึงประนมมือเหนือศีรษะแล้วไหว้เถิด
[๕๘๘] พระพุทธเจ้าเหล่าใดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนี้
เพราะเหตุนั้น จึงควรนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
[๕๘๙] ข้าพเจ้าทรงจำวินัยที่ดีงาม
เช่นกับองค์แทนพระศาสดาไว้ด้วยหทัย
ข้าพเจ้านมัสการวินัยอยู่ในกาลทั้งปวง
[๕๙๐] วินัยเป็นที่อาศัยของข้าพเจ้า เป็นที่ยืนเดินของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าสำเร็จการอยู่ในวินัย วินัยเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้า
[๕๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ภิกษุชื่ออุบาลีถึงความสำเร็จในวินัย
เป็นผู้ฉลาดในวิธีระงับอธิกรณ์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๕๙๒] ข้าพเจ้านั้น เที่ยวไปจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง
นมัสการอยู่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งเป็นธรรมดี
[๕๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๕๙๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
[๕๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาลิเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
(พระอัญญาโกณฑัญญเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๙๖] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ๑
ผู้ถึงพุทธภูมิแล้ว๒ เป็นครั้งแรก
[๕๙๗] ยักษ์จำนวนเท่าที่มีทั้งหมด มาประชุมที่ต้นโพธิ์
ประนมมือไหว้แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๕๙๘] เทวดาทั้งหมดนั้นมีใจยินดีเที่ยวไปในอากาศ
ป่าวประกาศว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นี้
ทรงบรรเทาความมืดมนอนธการ
บรรลุ(อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ)
[๕๙๙] เทวดาเหล่านั้นมีความร่าเริง ป่าวประกาศบันลือลั่นไปว่า
พวกเราจักเผากิเลสทั้งหลายให้ได้
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ นำโดยวิเศษ หมายถึงนำเวไนยสัตว์ให้ถึงฝั่งนอกแห่งสงสารสาคร ได้แก่ อมตมหานิพพาน (ขุ.อป.อ.
๑/๕๙๖/๓๖๐)
๒ พุทธภูมิ หมายถึงภูมิของพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๙๖/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
[๖๐๐] ข้าพเจ้ารู้จากคำพูดของเหล่าเทวดาที่เปล่งออกมาด้วยวาจา
แล้วมีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้ถวายภิกษาครั้งแรก
[๖๐๑] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๐๒] เราออกบวชได้ ๗ วันแล้ว จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ
ภัตตาหารที่ถวายเป็นครั้งแรกนี้
เป็นสิ่งที่ช่วยอัตภาพของเราผู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นไปได้
[๖๐๓] เราจักพยากรณ์เทพบุตรที่จากสวรรค์ชั้นดุสิตมาในที่นี้
น้อมภิกษาหารเข้ามาถวายแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๐๔] เทพบุตรนั้นจักครองเทวสมบัติประมาณ ๓๐,๐๐๐ กัป
ครองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ ปกครองเทวดาทั้งปวง
[๖๐๕] ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว
จักไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ครองราชสมบัติในโลกมนุษย์นั้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๖๐๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๐๗] เทพบุตรนั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว
ไปเกิดเป็นมนุษย์ ออกบวชปฏิบัติอยู่ ๖ ปี
[๖๐๘] ในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักทรงประกาศสัจจะ
ภิกษุมีนามว่าโกณฑัญญะ ทำให้แจ้งเป็นองค์แรก
[๖๐๙] พระโพธิสัตว์ออกผนวช
ข้าพเจ้าก็ออกบวชตามบำเพ็ญความเพียรอย่างดี
ข้าพเจ้าบวชเป็นบรรพชิต เพื่อต้องการจะเผากิเลสทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๑๐] พระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง๑ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ได้เสด็จไปยังป่าใหญ่
ทรงลั่นอมตเภรี๒ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ
ที่ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้วนี้
[๖๑๑] บัดนี้ ข้าพเจ้านั้นได้บรรลุอมตบท สงบ ยอดเยี่ยม
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๖๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อัญญาโกณฑัญญเถราปทานที่ ๗ จบ
๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
(พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๖๑๓] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
ประทับอยู่บนภูเขาจิตรกูฏ เบื้องหน้าภูเขาหิมพานต์

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งปวง หมายถึงอดีต อนาคต และปัจจุบัน อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงเญยยธรรม คือสังขาร วิการ
ลักษณะ นิพพาน และบัญญัติ (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๐/๓๖๑)
๒ อมตเภรี หมายถึงกลองคืออมตมหานิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๐/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๑๔] ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพญาเนื้อ ไม่มีความกลัวเกรง
สามารถวิ่งไปได้ทั้ง ๔ ทิศ อยู่ ณ ที่นั้น
ซึ่งสัตว์จำนวนมากได้ฟังเสียงแล้วย่อมครั่นคร้าม
[๖๑๕] ข้าพเจ้าได้คาบดอกปทุมที่บานดีแล้ว
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชน
ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้เสด็จออกจากสมาธิ
[๖๑๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้นมัสการพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด ผู้สูงสุดแห่งนรชน ในทิศทั้ง ๔
ทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้บันลือสีหนาท
[๖๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๑๘] เทวดาทั้งปวง พอทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็มาประชุมกันด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จมาแล้ว
พวกเราจักฟังธรรมของพระองค์
[๖๑๙] พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระมหามุนี
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเห็นกาลไกล
ทรงประกาศเสียงของข้าพเจ้าข้างหน้าของเทวดา
และมนุษย์เหล่านั้นผู้มีความร่าเริงว่า
[๖๒๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายดอกปทุมนี้และได้บันลือสีหนาท
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๒๑] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ผู้นั้นจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๒๒] จักครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินถึง ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปทุม ตามโคตร
มีพลานุภาพมาก
[๖๒๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมพระองค์นั้น
ทรงประกาศธรรมวินัย ผู้นี้จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
ออกจากตระกูลพราหมณ์แล้วบวชในขณะนั้น
[๖๒๕] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๒๖] ณ เสนาสนะที่สงัด เว้นจากผู้คน พลุกพล่านด้วยเนื้อร้าย
เขากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วประการฉะนี้
ปิณโฑลภารทวาชเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระขทิรวนิยเรวตเถระ
(พระขทิรวนิยเรวตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๒๘] แม่น้ำภาคีรถี ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าเกิดเป็นนายเรือ อยู่ที่ท่าน้ำไม่ราบเรียบ
พาคนส่งข้ามฟากจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้
[๖๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พร้อมกับพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ผู้ได้วสี จักข้ามกระแสแม่น้ำคงคา
[๖๓๐] ข้าพเจ้าได้นำเรือมาจอดรวมกันไว้จำนวนมาก
แล้วจัดประทุนที่นายช่างประกอบอย่างดีไว้บนเรือ
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชน
[๖๓๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ศาสดาได้เสด็จมาขึ้นเรือนั้นแล้ว
ประทับอยู่ท่ามกลางน้ำ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๓๒] นายเรือที่ได้พาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ผู้ไม่มีอาสวะส่งข้ามฟาก
จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๖๓๓] วิมานที่บุญกรรมตกแต่งไว้อย่างดี
มีสัณฐานดุจเรือ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน
จักมีหลังคาดอกไม้กั้นอยู่ในอากาศทุกเมื่อ
[๖๓๔] ในกัปที่ ๕๘ นายเรือผู้นี้
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าตารณะ
เป็นใหญ่ มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
[๖๓๕] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
จักเกิดเป็นกษัตริย์พระนามว่าจัมพกะ
มีพลานุภาพมาก จักรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์อุทัย
[๖๓๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๓๗] นายเรือผู้นี้จุติจากสวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วจักไปเกิดเป็นมนุษย์
เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าเรวตะ ตามโคตร
[๖๓๘] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักออกจากเรือนไปบวชในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๖๓๙] หลังจากบวชแล้ว เขาจักประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๔๐] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๔๑] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้วดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๖๔๒] แต่นั้น พระมุนีผู้มีพระปัญญามาก
ทรงถึงที่สุดแห่งโลก(คือถึงความสิ้นทุกข์)
ได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในป่า
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ขทิรวนิยเรวตเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. อานันทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔๔] พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จออกจากประตูอารามแล้ว
ทรงบันดาลฝนคืออมตธรรมให้ตก ให้มหาชนสงบเย็นแล้ว
[๖๔๕] พระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเหล่านั้น
ผู้เป็นนักปราชญ์ สำเร็จอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจเงาติดตามพระองค์
[๖๔๖] ข้าพเจ้าได้นั่งกั้นเศวตฉัตรอันประเสริฐเลิศอยู่บนคอช้าง
เพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปงดงาม
ข้าพเจ้าจึงเกิดความปีติยินดี
[๖๔๗] ข้าพเจ้าจึงลงจากคอช้างแล้วเข้าเฝ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจกว่านรชน
ข้าพเจ้าได้กั้นฉัตรแก้วของข้าพเจ้าถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๔๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
จึงทรงพักการแสดงธรรมกถาไว้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๔๙] เราจักพยากรณ์ราชกุมาร
ผู้ที่ได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทองนั้น
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๕๐] ราชกุมารนี้จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว
จักไปครองสวรรค์ชั้นดุสิต
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อมเสวยสมบัติ
[๖๕๑] จักครองเทวสมบัติ ๓๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๖๕๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ
จักครองความเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน
[๖๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติในโลก
[๖๕๔] ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นธงชัยแห่งศากยะตระกูล มีนามว่าอานนท์
เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๖๕๕] มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เฉลียวฉลาดในพาหุสัจจะ
ประพฤติถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปาฐะทั้งปวง
[๖๕๖] พระอานนท์นั้นมีจิตเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๕๗] ช้างกุญชรเกิดในป่า เป็นช้างตระกูลมาตังคะ
เสื่อมกำลังเมื่ออายุ ๖๐ ปี ตกมัน ๓ แห่ง
มีงางอนงาม๑ ควรเป็นราชพาหนะ๒ ฉันใด
[๖๕๘] แม้บัณฑิตหลายแสนรูปก็ฉันนั้น มีฤทธิ์มาก
ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ท่านเหล่านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ในการตัดสินใจ
[๖๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสมีใจยินดีนอบน้อม
ทั้งในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม
เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๖๐] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีสติสัมปชัญญะ
บรรลุโสดาปัตติผล เฉลียวฉลาดในเสขภูมิ
[๖๖๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สร้างกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วมีผลมาก
[๖๖๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอานนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อานนทเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อปทาน พุทธวรรคที่ ๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พุทธาปทาน ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
๓. สารีปุตตเถราปทาน ๔. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
๕. มหากัสสปเถราปทาน ๖. อนุรุทธเถราปทาน
๗. ปุณณมันตาณีปุตตเถราปทาน ๘. อุปาลิเถราปทาน
๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน ๑๐. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
๑๑. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน ๑๒. อานันทเถราปทาน

รวบรวมคาถาไว้ทั้งหมดได้ ๖๕๐ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
๒. สีหาสนิยวรรค
หมวดว่าด้วยการถวายแท่นสีหาสน์เป็นต้น
๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีหาสนทายกเถระ
(พระสีหาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เมื่อปาพจน์๑ แผ่กว้างออกไป
เมื่อศาสนาอันมหาชนรู้กันแล้ว
[๒] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีได้ทำพระแท่นสีหาสน์๒
ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทำตั่งสำหรับรองพระบาทถวาย
[๓] ในฤดูฝน ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนคลุมบนพระแท่นสีหาสน์นั้น
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปบังเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๔] บุญกรรมได้สร้างวิมานยาว ๒๔ โยชน์
กว้าง ๑๔ โยชน์ไว้อย่างดีในขณะนั้นเพื่อข้าพเจ้า
[๕] นางเทพกัญญา ๗,๐๐๐ นาง แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
บุญกรรมได้เนรมิตบัลลังก์ทองไว้อย่างดีในวิมาน
[๖] ยานคือช้าง ยานคือม้า ซึ่งเป็นยานทิพย์
ได้รับการจัดเตรียมไว้แล้ว
ปราสาทและวอก็บังเกิดขึ้นตามต้องการ

เชิงอรรถ :
๑ ปาพจน์ หมายถึงปิฎก ๓ (คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก) (ขุ.อป.อ. ๒/๑/๒)
๒ พระแท่นสีหาสน์ หมายถึงอาสนะอย่างดี (ขุ.อป.อ. ๒/๑๒๙/๓๕) เป็นอาสนะของพระผู้มีพระภาคผู้องอาจ
ดุจสีหะ เป็นอาสนะที่ประดับด้วยของมีค่า เช่น เงิน และทองเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๒๑/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
[๗] บัลลังก์แก้วมณีและบัลลังก์ไม้แก่นชนิดอื่นอีกจำนวนมาก
ทั้งหมดบังเกิดขึ้นเพื่อข้าพเจ้า
นี้เป็นผลของการถวายพระแท่นสีหาสน์
[๘] ข้าพเจ้าสวมเขียงเท้าซึ่งทำด้วยทองคำ
เงิน แก้วผลึก และแก้วไพฑูรย์
นี้เป็นผลของการถวายตั่งสำหรับรองพระบาท
[๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าอินทะ
ในกัปที่ ๗๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าสุมนะ
[๑๑] ในกัปที่ ๗๐ ถ้วนนับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าวรุณะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านสีหาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สีหาสนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกถัมภิกเถระ
(พระเอกถัมภิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
มีคณะอุบาสกหมู่ใหญ่ และอุบาสกเหล่านั้น
ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง เชื่อฟังพระตถาคต
[๑๔] อุบาสกทั้งหมดมาประชุมปรึกษาหารือกัน
จะสร้างศาลาโรงฉันถวายพระศาสดา
แต่ยังหาเสาอีกหนึ่งต้นไม่ได้
จึงเที่ยวแสวงหาในป่าใหญ่
[๑๕] ข้าพเจ้าได้พบอุบาสกเหล่านั้นในป่า
จึงเข้าไปหาคณะอุบาสกแล้วยกมือไหว้
ได้สอบถามคณะอุบาสกในครั้งนั้น
[๑๖] หมู่อุบาสกผู้มีศีลที่ข้าพเจ้าถามได้ชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบว่า
พวกเราต้องการจะสร้างศาลาโรงฉัน
แต่ยังหาเสาอีกหนึ่งต้นไม่ได้
[๑๗] (ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า) ท่านทั้งหลาย
จงให้เสาต้นหนึ่ง(เป็นภาระ)ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักถวายพระศาสดา ข้าพเจ้าจักนำเสามาให้
ท่านทั้งหลายไม่ต้องขวนขวายหรอก
[๑๘] อุบาสกเหล่านั้นเลื่อมใส พอใจ
ให้เสาแก่ข้าพเจ้า แล้วกลับจากที่นั้นไปเรือนของตน
[๑๙] เมื่อคณะอุบาสกไปได้ไม่นาน
ข้าพเจ้าจึงได้ถวายเสา มีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกเสานั้น เป็นต้นที่หนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
[๒๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดยังวิมาน
วิมานของข้าพเจ้าสูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
[๒๑] เมื่อกลองตีดังกระหึ่มอยู่
ข้าพเจ้าได้รับการบำเรออยู่ทุกเมื่อ
ในกัปที่ ๕๕ ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชามีนามว่ายโสธระ
[๒๒] แม้ในสถานที่นั้น วิมานของข้าพเจ้าก็สูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
ประกอบด้วยเรือนยอดอย่างดี มีเสาต้นเดียวน่ารื่นรมย์ใจ
[๒๓] ในกัปที่ ๒๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นกษัตริย์มีนามว่าอุเทน
แม้ในสถานที่นั้น วิมานของข้าพเจ้าก็สูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
[๒๔] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ข้าพเจ้าก็ได้เสวยความสุขนั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นหนึ่ง
[๒๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเสาไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นหนึ่ง
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกถัมภิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกถัมภิกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๓. นันทเถราปทาน
๓. นันทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทเถระ
(พระนันทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเปลือกไม้แด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ทรงพยากรณ์ข้าพเจ้านั้นว่า
ด้วยการถวายผ้านี้ ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง
[๒๙] ท่านจักได้เสวยสมบัติทั้ง ๒
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักไปเกิดเป็นพระอนุชา
ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
[๓๐] ท่านมีปกติสุขสบายถูกราคะทำให้กำหนัด
ประกอบด้วยความกำหนัดในกามคุณ
ถูกพระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้วว่า
เพราะเหตุนั้นเธอจักบวชหรือ
[๓๑] ท่านครั้นออกบวชในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมนั้น
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๒] ในกัปที่ ๑,๑๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีพระนามว่าเจฬะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีพระนามว่าอุปเจละ
[๓๓] ในกัปที่ ๑,๐๐๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ มีพระนามว่าเจฬะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. จูฬปันถกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจูฬปันถกเถระ
(พระจูฬปันถกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา พระองค์เสด็จหลีกออกจากหมู่คณะ
ไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ ในครั้งนั้น
[๓๖] ครั้งนั้น แม้ข้าพเจ้าก็อยู่ในอาศรมใกล้ภูเขาหิมพานต์
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ซึ่งเสด็จมาไม่นาน
[๓๗] ข้าพเจ้าถือร่มดอกไม้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชน ข้าพเจ้าได้ทำอันตราย(รบกวนสมาธิ)
ต่อพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเข้าสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
[๓๘] ข้าพเจ้าใช้มือทั้ง ๒ ประคองร่มดอกไม้แล้ว
ได้ถวายพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระทรงรับแล้ว
[๓๙] เทวดาเหล่านั้นทั้งหมดมีใจยินดี
พากันเข้าไปยังป่าหิมพานต์ ส่งเสียงสาธุการว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ จักทรงอนุโมทนา
[๔๐] ครั้นแล้ว เทวดาเหล่านั้น
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้สูงสุดแห่งนรชน
ขณะเมื่อข้าพเจ้ากั้นร่มดอกบัวชั้นดีเยี่ยมอยู่ในอากาศ
[๔๑] (พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระตรัสว่า)
เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ประคองร่มดอกบัวร้อยกลีบถวายเรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
[๔๒] ดาบสนี้จักครองเทวสมบัติ ๒๕ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
[๔๓] เขาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้นดอกบัวก็จักกั้นอยู่เบื้องบนเขาผู้นั่งหรือยืนอยู่กลางแจ้ง
[๔๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๕] เมื่อพระศาสดาทรงประกาศธรรมวินัยแล้ว
ดาบสนี้จักเกิดเป็นมนุษย์
เป็นผู้สูงสุดในการแปลงกายได้ดังใจนึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
[๔๖] จักมีชายหนุ่มสองพี่น้องชื่อว่าปันถกะ ทั้ง ๒ คน
ครั้นได้บรรลุประโยชน์อย่างสูงสุดแล้ว๑
จักทำให้ศาสนารุ่งเรือง
[๔๗] ข้าพเจ้านั้นอายุได้ ๑๘ ปี บวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่สำเร็จคุณวิเศษในศาสนาของพระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร
[๔๘] ข้าพเจ้าโง่เขลา เพราะเคยดูหมิ่นผู้อื่น
พระพี่ชายจึงขับไล่ข้าพเจ้าว่าจงกลับไปบ้านของตนเดี๋ยวนี้
[๔๙] ข้าพเจ้านั้นถูกขับไล่แล้วเสียใจ
ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม
หมดอาลัยในความเป็นสมณะ
[๕๐] ลำดับนั้น พระศาสดาได้เสด็จมายังสถานที่นั้น
ทรงลูบศีรษะข้าพเจ้า ทรงจูงแขนข้าพเจ้าพาเข้าสู่สังฆาราม
[๕๑] พระศาสดาได้ประทานผ้าสำหรับเช็ดเท้าให้ข้าพเจ้า
ด้วยความอนุเคราะห์แล้วตรัสว่า
เธอจงอธิษฐานผ้าสะอาดอย่างนี้
ข้าพเจ้าได้อธิษฐาน ณ ที่สมควร
[๕๒] ข้าพเจ้าใช้มือทั้ง ๒ จับผ้าผืนนั้นแล้วระลึกถึงดอกบัว
จิตของข้าพเจ้าก็น้อมไปในดอกบัวนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุอรหัตตผล
[๕๓] ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จในการแปลงกายทั้งหลาย
ได้ดังใจนึกในที่ทุกสถาน
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์อย่างสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจูฬปันถกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จูฬปันถกเถราปทานที่ ๔ จบ
๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีได้ทำการบูชาพระสถูป
[๕๖] ในสมาคมนั้น พระขีณาสพเหล่าใดผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระขีณาสพเหล่านั้นมา
แล้วทำสังฆภัตถวาย ณ สมาคมนั้น
[๕๗] ครั้งนั้น มีภิกษุอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสุเมธะ ภิกษุนั้นก็มีนามว่าสุเมธะ
ได้อนุโมทนา ในครั้งนั้น
[๕๘] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดในวิมาน
นางอัปสร ๘๖,๐๐๐ นาง รื่นรมย์กับข้าพเจ้า
[๕๙] นางอัปสรเหล่านั้น ประพฤติตามความต้องการ
ของข้าพเจ้าทุกอย่าง
ในทุกสมัย ข้าพเจ้าก็ได้ปกครองเทวดาเหล่าอื่น
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๖๐] ในกัปที่ ๒๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวรุณะ
มีโภชนาหารสะอาดในครั้งนั้น
[๖๑] มนุษย์เหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช ไม่ต้องนำไถไปนา
บริโภคข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืน
[๖๒] ข้าพเจ้าครั้นครองราชสมบัติในอัตภาพนั้น
ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอีก
แม้ในครั้งนั้น โภคสมบัติเช่นนี้ก็ได้บังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๖๓] สัตว์ทั้งปวงทั้งที่เป็นมิตรหรือมิใช่มิตร
ย่อมไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๖๔] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการไล้ทาของหอม
[๖๕] ในภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑ ชาติ
เป็นใหญ่กว่าชน เป็นผู้มีพลานุภาพมาก
[๖๖] ข้าพเจ้านั้น ตั้งมั่นในศีล ๕
ได้พาหมู่ชนจำนวนมากให้ถึงสุคติ
ได้เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย
[๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๖. ราหุลเถราปทาน
๖. ราหุลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระราหุลเถระ
(พระราหุลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๘] ข้าพเจ้าได้ปูลาดกระจกบนปราสาท ๗ ชั้น
ถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๖๙] พระผู้มีพระภาคมหามุนี
ผู้เป็นใหญ่แห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
คับคั่งไปด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
ได้เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี
[๗๐] พระศาสดาผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงองอาจกว่านรชน ทรงยังพระคันธกุฎีให้รุ่งเรือง
ประทับยืนในท่ามกลางหมู่ภิกษุได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๑] เราจักพยากรณ์อุบาสกผู้ทำที่นอนนี้ให้โชติช่วงแล้ว
ดุจกระจกเงาที่ปูลาดไว้อย่างดี
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๗๒] ปราสาททอง ปราสาทเงิน หรือปราสาทแก้วไพฑูรย์
อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่น่าชอบใจ
จักบังเกิดแก่อุบาสกนั้น
[๗๓] อุบาสกนั้นจักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิติดต่อกัน ๑,๐๐๐ ชาติ
[๗๔] ในกัปที่ ๒๑ (นับจากกัปนี้ไป)
อุบาสกนั้นจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวิมละ
เป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๖. ราหุลเถราปทาน
[๗๕] มีกรุงนามว่าเรณุวดี
ยาว ๓๐๐ โยชน์ สี่เหลี่ยมจตุรัส
[๗๖] มีปราสาทชื่อว่าสุทัสสนะ วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตให้
ประกอบด้วยเรือนยอดอย่างดี
ประดับประดาด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗๗] กรุงนั้นไม่สงัดจากเสียง ๑๐ ประการ๑
พลุกพล่านด้วยพวกวิทยาธร
จักเป็นดุจเมืองสุทัสสนะของเหล่าเทวดา
[๗๘] พอเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กรุงนั้นก็เปล่งรัศมี
นครนั้นรุ่งเรืองเป็นนิตย์ แผ่ออกไป ๘ โยชน์ โดยรอบ
[๗๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๘๐] อุบาสกนั้นถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
เกิดเป็นพระโอรสของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๘๑] ถ้าหากเขาจะพึงอยู่ครองเรือนก็จะพึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
แต่ข้อที่เขาผู้คงที่ จะยินดีในการอยู่ครองเรือนนั้น
ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ (เป็นไปไม่ได้)
[๘๒] เขาจักต้องออกจากเรือนไปบวช มีข้อวัตรอันดี
จักสำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยนามว่าราหุล
[๘๓] พระราหุลเป็นผู้มีปัญญารักษาตน สมบูรณ์ด้วยศีล
ดุจนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ ดุจจามรีรักษาขนหาง
พระมหามุนีได้ทรงเห็นเราแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เสียง ๑๐ ประการ ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง
เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’ (ที.ม. (แปล)
๑๐/๒๔๑/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
[๘๔] ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ยินดีอยู่ในศาสนา
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระราหุลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ราหุลเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ
(พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๘๖] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้สูงสุดแห่งนรชนพระองค์นั้น
ประทับนั่งอยู่ ณ เงื้อมเขา
[๘๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบาน
จึงเด็ดขั้วดอกกรรณิการ์นั้นมาประดับฉัตรแล้ว
บูชาพระพุทธเจ้า
[๘๘] ข้าพเจ้าได้ถวายอาหารบิณฑบาต เป็นข้าวสุกชั้นพิเศษ
จัดว่าเป็นโภชนะชั้นดี ได้นิมนต์สมณะ ๘ รูป
เป็น ๙ รูปรวมทั้งพระพุทธเจ้า ให้ฉัน ณ สถานที่วิเวกนั้น
[๘๙] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาว่า
ด้วยการถวายฉัตรและการถวายข้าวสุกชั้นดีนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
[๙๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ
เขาจักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๓๖ ชาติ
[๙๑] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๙๒] เหล่าบัณฑิต เรียกผู้มีปัญญาเหมือนแผ่นดิน
มีปัญญาดีว่าสุเมธะ
ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ผู้นั้นจักสมภพในราชตระกูลโอกกากราช
[๙๓] ผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
เมื่อศาสนารุ่งเรืองอยู่ เขาจักไปเกิดเป็นมนุษย์๑
[๙๔] จักมีนามว่าอุปเสนะ เป็นสาวกของพระศาสดา
จักดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเลิศ
เพราะเป็นผู้ทำให้ประชาชนรอบด้านเลื่อมใส
[๙๕] อัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้ายังเป็นไปอยู่
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าชนะมารพร้อมทั้งพาหนะ(คือเสนามาร)แล้ว
ทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คาถาที่ ๙๒-๙๓ แปลตามฉบับพม่าและ ขุ.เถร.อ. ๒/๒๒๕, ดูข้อ ๑๐๕ ถัดไปด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรัฏฐบาลเถระ
(พระรัฏฐบาลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๗] ช้างเชือกประเสริฐ
มีงางอนงาม ควรเป็นพระราชพาหนะ
ข้าพเจ้าถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๙๘] ช้างนั้น เขากั้นเศวตฉัตรให้งดงาม
พร้อมทั้งหมอขมังเวท พร้อมทั้งนายควาญช้าง
ข้าพเจ้าให้ตีราคาช้างพร้อมทั้งสิ่งของนั้นทั้งหมดแล้ว
ได้ให้สร้างสังฆารามถวาย
[๙๙] ข้าพเจ้าได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง(ไว้ภายในวัด)
ได้บำเพ็ญทานดังห้วงน้ำใหญ่แล้วมอบถวายแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๐๐] พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นพระสยัมภู
ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนา
แสดงอมตบทให้ชนทั้งปวงร่าเริงอยู่
[๑๐๑] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ทรงประกาศผลบุญที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้นให้ปรากฏโดยพิเศษ
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๐๒] ท่านผู้นี้ได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง
เราจักกล่าววิบาก ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๐๓] ผู้นี้จักมีเรือนยอด ๑๘,๐๐๐ หลัง และเรือนยอดเหล่านั้น
สร้างด้วยทองคำล้วน บังเกิดในวิมานสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
[๑๐๔] ผู้นี้จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๕๐ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ
[๑๐๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๐๖] ผู้นี้ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากเทวโลก
ไปบังเกิดในตระกูลที่เจริญ มีโภคสมบัติมาก ในขณะนั้น
[๑๐๗] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักบวช
มีนามว่ารัฏฐบาล เป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๐๘] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๐๙] ข้าพเจ้าลุกขึ้นแล้วสละโภคสมบัติออกบวช
ข้าพเจ้าไม่มีความรักในโภคสมบัติ ดุจในก้อนเขฬะ
[๑๑๐] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รัฏฐปาลเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๙. โสปากเถราปทาน
๙. โสปากเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสปากเถระ
(พระโสปากเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ได้เสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
ผู้กำลังทำความสะอาดเงื้อมเขาอยู่ที่ภูเขาสูงเทือกประเสริฐ
[๑๑๓] ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามา
ปูลาดเครื่องปูลาด
ถวายอาสนะดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๑๑๔] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ได้ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว
ทรงทราบคติของข้าพเจ้าแล้วตรัสถึงสภาวะไม่เที่ยงว่า
[๑๑๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น๑เป็นความสุข
[๑๑๖] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง๒
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทรงเป็นนักปราชญ์
ครั้นตรัสดังนี้แล้วได้เสด็จเหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าดังพญาหงส์
[๑๑๗] ข้าพเจ้าละทิฏฐิของตนแล้ว เจริญอนิจจสัญญา
(กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
ครั้นเจริญอนิจจสัญญาได้วันเดียว ก็สิ้นชีวิต ณ ที่นั้นเอง

เชิงอรรถ :
๑ ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๕/๓๓)
๒ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมทั้งหมด (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๖/๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น