Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๒-๑๒ หน้า ๖๔๗ - ๗๐๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒-๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๙. สัพพทายกเถราปทาน
[๔๗๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายข้าวน้ำ
ให้ภิกษุทั้งหมดนี้ฉันจนอิ่มหนำ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๗๔] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๗๕] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ หลังคาทองคำล้วนจักกางกั้นให้ตลอดเวลา
[๔๗๖] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๗๗] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๔๗๘] ผู้นั้นจักนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วบันลือสีหนาท
เขาสิ้นชีวิตแล้วถูกเผาภายใต้ฉัตร
ที่ชนทั้งหลายกั้นไว้ที่เชิงตะกอน
[๔๗๙] สามัญผลข้าพเจ้าบรรลุแล้วตามลำดับ
กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ที่มณฑปหรือที่โคนต้นไม้
ความเร่าร้อนไม่มีแก่ข้าพเจ้า
[๔๘๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการให้ทุกสิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๘๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๘๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัพพทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัพพทายกเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. อชิตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอชิตเถระ
(พระอชิตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘๔] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จมายังภูเขาหิมพานต์ แล้วประทับนั่งอยู่
[๔๘๕] ข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้พระสุรเสียงข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้ฟัง
ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่าแสวงหาอาหารเพื่อตนเอง
[๔๘๖] ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
ในป่านั้น ครั้นเห็นแล้วจึงปลื้มใจด้วยคิดว่า นี้เป็นใครกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๘๗] ข้าพเจ้าพิจารณาดูลักษณะแล้ว
ระลึกถึงความรู้ของตนเองได้
ข้าพเจ้าฟังคำสุภาษิตของบัณฑิตผู้เจริญ
[๔๘๘] ตามคำของบัณฑิตเหล่านั้น
ท่านผู้นี้คงเป็นพระพุทธเจ้า
ทางที่ดีเราควรสักการะพระองค์
พระองค์จะช่วยชำระคติของเราได้
[๔๘๙] ข้าพเจ้าจึงรีบกลับไปยังอาศรม
หยิบเอาน้ำผึ้งและน้ำมัน
ถือหม้อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๔๙๐] ได้นำไม้ ๓ ท่อนไปวางไว้ในที่กลางแจ้ง
แล้วตามประทีปให้ลุกโพลงเสร็จแล้วกราบ ๘ ครั้ง
[๔๙๑] พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับนั่งอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกได้เสด็จลุกขึ้นในเวลารุ่งสาง
[๔๙๒] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ตามประทีปถวายพระพุทธเจ้า
ด้วยมือของตน ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
[๔๙๓] กลิ่นหอมทุกอย่างที่เกิดในป่า ณ ภูเขาคันธมาทน์
โชยมาในสำนักของพระพุทธเจ้า ด้วยพุทธานุภาพ
[๔๙๔] เวลานั้น ต้นไม้ที่มีดอกมีกลิ่นหอมทุกชนิด บานสะพรั่ง
ร่วงหล่นมารวมกันในกาลนั้นด้วยพุทธานุภาพ
[๔๙๕] นาคและครุฑทั้ง ๒ พวกเท่าที่มีอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ต้องการจะฟังธรรมจึงพากันมายังสำนักของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๙๖] พระสมณะนามว่าเทวละ เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า
พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๒๐๐,๐๐๐ รูป
เข้ามายังสำนักของพระพุทธเจ้า
[๔๙๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔๙๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีความเลื่อมใส
ได้ตามประทีปถวายเราด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๙๙] เขาจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
ภาณวารที่ ๑๖ จบ
[๕๐๐] เขาจักได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๖ ชาติ
จักได้ครองรัชสมบัติอันไพบูลย์ในแผ่นดิน ๗๐๐ ชาติ
[๕๐๑] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ด้วยผลแห่งการตามประทีปถวายนี้ จักเป็นผู้มีทิพยจักษุ
[๕๐๒] ผู้นี้จักมองเห็นได้ไกล ๒๕๐ ชั่วธนู โดยรอบทุกเมื่อ
เมื่อเขาจุติจากเทวโลกมาบังเกิดเป็นมนุษย์
[๕๐๓] ประทีปจักทรงอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อผู้นี้
ซึ่งเกิดมาพรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม
[๕๐๔] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้นจักโชติช่วงตลอดทั่วนคร
[๕๐๕] เพราะผลแห่งการตามประทีปถวาย ๘ ดวงนั้น
ชนทั้งหลายจักบำรุงผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการตามประทีปถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๕๐๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๕๐๗] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๕๐๘] ข้าพเจ้าให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัยแล้ว
จักมีนามว่าอชิตะ เป็นสาวกของพระศาสดา
[๕๐๙] ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป
แม้ในเทวโลกนั้น ประทีบ ๑๐๐ ดวง
ก็ส่องสว่างเพื่อข้าพเจ้าตลอดกาลเป็นนิตย์
[๕๑๐] รัศมีของข้าพเจ้าพวยพุ่ง (โพลง)
ไปในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดแล้ว
จึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๕๑๑] ข้าพเจ้าจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์มารดา
เมื่อข้าพเจ้าเกิดก็ได้มีแสงสว่างเจิดจ้า
[๕๑๒] ข้าพเจ้าออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว
ได้เข้าไปหาพราหมณ์พาวรี ยอมตนเข้าเป็นศิษย์
[๕๑๓] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้ทราบข่าวพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้เป็นผู้นำโดยวิเศษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๕๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ฝึกพระองค์แล้ว ทรงฝึกผู้อื่นด้วย
ทรงข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอุปธิ
ตรัสบอกนิพพานเป็นเหตุพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[๕๑๕] การมาของข้าพเจ้านั้นให้สำเร็จประโยชน์
ข้าพเจ้าให้พระมหามุนีทรงพอพระทัย
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายประทีปไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๕๑๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๑๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอชิตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อชิตเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ปิลินทวัจฉวรรคที่ ๔๐ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน ๒. เสลเถราปทาน
๓. สัพพกิตติกเถราปทาน ๔. มธุทายกเถราปทาน
๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน ๖. พักกุลเถราปทาน
๗. คิริมานันทเถราปทาน ๘. สลฬมัณฑปิยเถราปทาน
๙. สัพพทายกเถราปทาน ๑๐. อชิตเถราปทาน

ท่านนับคาถาได้ ๕๒๐ คาถา
และรวมวรรคได้ ๑๐ วรรค คือ

๑. ปทุมเกสริยวรรค ๒. อารักขทายกวรรค
๓. อุมาปุปผิยวรรค ๔. คันโธทกวรรค
๕. เอกปทุมวรรค ๖. สัททสัญญิกวรรค
๗. มันทารวปุปผิยวรรค ๘. โพธิวันทนวรรค
๙. อัมพฏผลวรรค ๑๐. ปิลินทวัจฉวรรค

และท่านคำนวณคาถาได้ ๑,๑๗๔ คาถา
หมวด ๑๐ แห่งวรรคมีปทุมเกสริยวรรคเป็นต้น จบ
๑๐๐ เรื่อง หมวดที่ ๔ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
๔๑. เมตเตยยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมตเตยยะเป็นต้น
๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติสสเมตเตยยเถระ
(พระติสสเมตเตยยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] (ข้าพเจ้าเป็น)ดาบสชื่อโสภิตะ
บริโภคแต่ผลไม้ที่หล่นเอง
อาศัยยอดเงื้อมอยู่ในระหว่างภูเขา
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
เพื่อเกิดในพรหมโลก
จึงนำฟืนสำหรับก่อไฟมาสุมไฟให้ลุกโพลง
[๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จมาในสำนักของข้าพเจ้า
[๔] ตรัสถามว่า ทำอะไรอยู่หรือ ท่านผู้มีบุญมาก
ขอท่านจงให้ฟืนสำหรับก่อไฟแก่เราบ้าง
เราจะบำเรอไฟ
เพราะการบำเรอไฟนั้น
ความบริสุทธิ์จักมีแก่เรา
[๕] ข้าพเจ้าทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นมนุษย์
ท่านเป็นผู้เจริญดี ท่านเข้าใจเทวดาดี
เชิญท่านบำเรอไฟ
เชิญท่านนำฟืนสำหรับก่อไฟไปเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๖] ลำดับนั้น พระชินเจ้าทรงถือฟืนจากที่นั้นไปก่อไฟ
แต่ไม่ทำฟืนให้ไหม้ในกองไฟนั้น
เพราะพระองค์ผู้แสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ทรงทำปาฏิหาริย์
[๗] พระชินเจ้าตรัสว่า ไฟของท่านไม่ลุกโพลง
เครื่องบูชาของท่านไม่มีการบำเรอ
ไฟของท่านไร้ประโยชน์
เชิญท่านบำเรอไฟของเราบ้างซิ
[๘] ข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก
ไฟของท่านเป็นเช่นไร
ขอจงบอกไฟของท่าน
เมื่อบอกแก่ข้าพเจ้าแล้ว
เราทั้ง ๒ จะบูชา(ร่วมกัน)
[๙] พระชินเจ้าตรัสว่า การบูชาของเรามีไว้
(เพื่อประโยชน์) ๓ ประการนี้
คือเพื่อดับธรรมที่เป็นเหตุ ๑ เพื่อเผากิเลส ๑
เพื่อละความริษยาและความตระหนี่ ๑
[๑๐] ข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก
ผู้นิรทุกข์ พระองค์เป็นคนเช่นไร มีตระกูลอย่างไร
ข้าพเจ้าชอบใจอาจาระและข้อปฏิบัติของพระองค์นัก
[๑๑] พระชินเจ้าตรัสตอบว่า
เราเกิดในตระกูลกษัตริย์
ถึงความสำเร็จแห่งอภิญญา
สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๑๒] ข้าพเจ้าทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ส่องแสงสว่าง
ทรงบรรเทาความมืด
ถ้าพระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ข้าพระองค์จักขอนอบน้อมพระองค์
พระองค์เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์
[๑๓] ข้าพเจ้าจึงปูหนังสัตว์ถวายให้เป็นที่ประทับนั่ง
พระสัพพัญญูประทับนั่งบนหนังสัตว์นั้น
ข้าพเจ้าอุปัฏฐากพระองค์
[๑๔] พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนหนังสัตว์ที่ข้าพเจ้าปูถวายนั้น
ข้าพเจ้านิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปยังภูเขา
[๑๕] เก็บผลมะพลับใส่หาบจนเต็ม
นำผลมาคลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้งแล้ว
ได้ถวายแด่พระพุทธเจ้า
[๑๖] เมื่อข้าพเจ้ามองดูอยู่ พระชินเจ้าทรงเสวยในขณะนั้น
ข้าพเจ้ามองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์
[๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งอยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใสได้ถวายผลไม้
ให้เราฉันจนอิ่มหนำ ด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๙] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๒๕ ชาติ
และจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๒๐] ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน ซึ่งสมควรแก่ค่ามาก
ดังจะรู้ความดำริของเขา ผู้ประกอบด้วยบุญกรรม
[๒๑] ปัจจัยทั้งหลาย ประกอบด้วยบุญกรรมจักบังเกิดขึ้นทันที
ผู้นี้จักบันเทิง และไม่มีโรคตลอดเวลา
[๒๒] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น เขาจักได้เป็นมนุษย์ มีสุขในที่ทุกแห่ง
[๒๓] เขาเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจักเป็นพระอรหันต์
[๒๔] ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ รู้เดียงสา
ความพร่องในโภคสมบัติไม่มีแก่ข้าพเจ้าเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๒๕] ข้าพเจ้าบรรลุถึงธรรมอย่างประเสริฐแล้ว
ถอนราคะและโทสะขึ้นได้แล้ว
สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๒. ปุณณกเถราปทาน
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติสสเมตเตยยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ติสสเมตเตยยเถราปทานที่ ๑ จบ
๒. ปุณณกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณกเถระ
(พระปุณณกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] พระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ทรงพระประชวร
ทรงอาศัยยอดเงื้อมประทับอยู่ระหว่างภูเขา
[๓๐] ขณะนั้น ได้มีเสียงบันลือลั่นรอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ได้มีแสงสว่างในขณะนั้น
[๓๑] หมี หมาใน เสือดาว เนื้อร้าย และพญาราชสีห์
เท่าที่มีอยู่ในไพรสณฑ์
ทั้งหมดได้พากันส่งเสียงร้องขึ้นในขณะนั้น
[๓๒] ข้าพเจ้าเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว ได้ไปยังเงื้อม
ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๓] เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๒. ปุณณกเถราปทาน
เหมือนถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ
พระองค์ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๔] ข้าพเจ้านำหญ้าและไม้มารวมกันแล้ว
ก่อเป็นเชิงตะกอนขึ้นในที่นั้น
ครั้นทำเชิงตะกอนดีแล้ว
ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
[๓๕] ครั้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ใช้น้ำหอมประพรม
ในขณะนั้น เทวดายืนอยู่ในอากาศได้ระบุชื่อว่า
[๓๖] ดูกรท่านผู้เป็นมุนี ในครั้งที่ท่านมีนามว่าปุณณกะ
ท่านก็ได้บำเพ็ญกิจนั้นแก่พระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
[๓๗] ข้าพเจ้าเคลื่อนจากกายนั้นแล้ว ได้ไปเกิดยังเทวโลก
ในเทวโลกนั้น กลิ่นทิพย์ย่อมตกลงจากอากาศ
[๓๘] แม้ในภพไหน ๆ ข้าพเจ้าก็มีชื่อว่าปุณณกะ
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ก็ให้ความดำริบริบูรณ์ได้
[๓๙] นี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในภพนี้ชื่อของข้าพเจ้าก็ยังปรากฏว่าปุณณกะเหมือนกัน
[๔๐] ข้าพเจ้าให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วจึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๔๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุณณกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุณณกเถราปทานที่ ๒ จบ
๓. เมตตคูเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเมตตคูเถระ
(พระเมตตคูเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออโศก
วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตอาศรม
ให้แก่ข้าพเจ้าที่ภูเขาอโศกนั้น
[๔๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้เลิศ
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา เป็นพระมุนี
เวลาเช้าทรงครองผ้าแล้ว
เสด็จเข้ามาบิณฑบาตในสำนักข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๔๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสด็จเข้ามา
จึงรับบาตรของพระสุคตแล้ว
บรรจุเนยใสและน้ำมันจนเต็ม
[๔๘] ถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประคองอัญชลี
เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๔๙] ด้วยผลแห่งการถวายเนยใส(และน้ำมัน)นี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมได้สุขอย่างเหลือล้น
[๕๐] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่
ในภพน้อยภพใหญ่ เว้นวินิบาตนรก
ตั้งจิตมั่นไว้ในพระพุทธเจ้านั้น
ย่อมได้บทที่ไม่หวั่นไหว
[๕๑] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า)
พราหมณ์ การที่ท่านได้เห็นเรานั้น
เป็นลาภที่ท่านได้ดีแล้ว
ด้วยว่า บุคคลอาศัยการเห็นเราแล้วจักได้บรรลุอรหัต
[๕๒] ท่านบรรลุยศใหญ่แล้วเป็นผู้เบาใจ ไม่ต้องกลัว
ถวายเนยใสแก่เราแล้วจักพ้นจากชาติทุกข์ได้
[๕๓] ด้วยการถวายเนยใสนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมได้สุขอย่างเหลือล้น
[๕๔] ด้วยอธิการนี้และด้วยความเป็นผู้มีจิตเมตตา
ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๕๕] จักได้เป็นท้าวเทวราช ๓ ชาติ ตลอด ๑๘ กัป
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๕๖] จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ชาติ
ทรงเป็นใหญ่ มีชัยชนะ มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
เป็นใหญ่ในชมพูทวีป
[๕๗] มหาสมุทรใคร ๆ ให้กระเพื่อมไม่ได้
และแผ่นดินใคร ๆ ยกขึ้นได้ยากฉันใด
โภคสมบัติของข้าพเจ้าก็นับประมาณมิได้ฉันนั้น
[๕๘] ข้าพเจ้าบริจาคเงิน ๖๐ โกฏิแล้วออกบวช
แสวงหากุศลบางอย่างอยู่ จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรี
[๕๙] ข้าพเจ้าเล่าเรียนลักษณะมีองค์ ๖ ในมนตร์นั้นอยู่
ข้าแต่พระมหามุนี
พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นกำจัดความมืดนั้นแล้ว
[๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี
ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์จึงมา
ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว
[๖๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสแด่พระพุทธเจ้า
ในระหว่างนี้ จึงไม่รู้จักว่า
ข้าพเจ้าจะต้องขอเนยใสเลย
[๖๒] เนยใสดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
จึงเกิดขึ้นตามความปรารถนา
รู้ความดำริแล้วจึงบังเกิด
ข้าพเจ้าเลี้ยงดูภิกษุทั้งปวงให้อิ่มหนำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๖๓] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบกับพระศาสดา
ข้าพเจ้าถวายเนยใสหน่อยเดียวแต่ได้เนยใสประมาณมิได้
[๖๔] น้ำในมหาสมุทรมีประมาณตั้งแต่เชิงเขาสิเนรุ
เมื่อเทียบกับเนยใสของข้าพเจ้าจักไม่เท่าส่วนเสี้ยวเลย
[๖๕] โอกาสแห่งจักรวาลที่เขาทำให้เป็นกองประมาณเท่าใด
โอกาสประมาณนั้นไม่สมกับกองผ้าที่บังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๖๖] ภูเขาหิมพานต์มีหินล้วนแม้จะสูงสุด
ก็ยังไม่เท่าของหอมที่ข้าพเจ้าลูบไล้
[๖๗] ผ้า ของหอม เนยใส และสิ่งอื่น ที่เกิดในปัจจุบัน
และนิพพานที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใส
[๖๘] ข้าพเจ้ามีสติปัฏฐานเป็นที่นอน
มีสมาธิและฌานเป็นอารมณ์
วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ให้โพชฌงค์เกิด
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใส
[๖๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๗๐] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๗๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเมตตคูเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เมตตคูเถราปทานที่ ๓ จบ
๔. โธตกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโธตกเถระ
(พระโธตกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๒] ครั้งนั้น แม่น้ำภาคีรถี เกิดจากภูเขาหิมพานต์
ไหลผ่านไปทางประตูกรุงหงสวดี
[๗๓] อารามชื่อโสภิตะ มหาชนสร้างไว้อย่างสวยงามใกล้ฝั่งแม่น้ำ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประทับอยู่ในอารามนั้น
[๗๔] พระผู้มีพระภาคมีหมู่มนุษย์ห้อมล้อม
ดังพระอินทร์จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ประทับนั่งในอารามนั้น ไม่ครั่นคร้ามดุจราชสีห์
[๗๕] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าฉฬังคะ
อยู่ในกรุงหงสวดี พระมหามุนีก็มีนามอย่างนั้น
[๗๖] ครั้งนั้น ศิษย์ ๑๑๘ คน แวดล้อมข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยศิษย์เหล่านั้นไปยังฝั่งแม่น้ำ
[๗๗] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นสมณะหลายรูป
ผู้ไม่คดโกง ผู้ชำระบาปแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้ากำลังข้ามแม่น้ำภาคีรถีคิดอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๗๘] บุตรของพระพุทธเจ้าผู้มียศมากเหล่านี้
ข้ามแม่น้ำทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า
ย่อมทำตนให้ลำบาก ทำตนให้เดือดร้อน
[๗๙] บัณฑิตย่อมกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า
เป็นผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
เครื่องสักการะสำหรับชำระทางคือคติในทักษิณาของเราก็ไม่มี
[๘๐] ทางที่ดี เราพึงให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ
ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเถิด
ครั้นให้สร้างสะพานนี้แล้ว จะข้ามภพนี้ไปได้
[๘๑] ข้าพเจ้าเชื่อว่ากุศลที่ข้าพเจ้าทำแล้วนี้ จักไพบูลย์
จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐ (บ้าง) ๑,๐๐๐ (บ้าง)
แล้วให้สร้างสะพาน
[๘๒] ข้าพเจ้าให้สร้างสะพานนั้นเสร็จแล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ประนมมือเหนือศีรษะแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๘๓] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์ ๑๐๐ (บ้าง) ๑,๐๐๐ (บ้าง)
แล้วให้สร้างสะพานใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
ข้าแต่พระมหามุนี ขอได้โปรดทรงรับเถิด
[๘๔] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใส ซึ่งได้ให้สร้างสะพาน
ถวายเราด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๘๖] ผู้นี้แม้ตกจากซอกเขาก็ดี จากภูเขาก็ดี จากต้นไม้ก็ดี
แม้จุติแล้วก็จักได้ที่ตั้งมั่น (คือที่พึ่ง)
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๗] ศัตรูทั้งหลายข่มไม่ได้ เปรียบเหมือนลมข่มต้นไทร
ที่มีรากและย่านงอกงามไม่ได้ฉะนั้น
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๘] พวกโจรข่มเหงไม่ได้ กษัตริย์ทั้งหลายไม่ดูหมิ่น
ผู้นี้จักผ่านศัตรูทั้งปวงไปได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๙] ผู้นี้ประกอบด้วยบุญกรรม
ถึงจะอยู่ในโอกาสกลางแจ้งถูกแดดกล้าจัดแผดเผา
ก็จักไม่มีเวทนา
[๙๐] ในเทวโลกก็ดี ในมนุษยโลกก็ดี ยานพาหนะคือช้าง
ที่บุญกรรมเนรมิตดีแล้ว
ดังจะรู้ความดำริของผู้นั้น จักบังเกิดในทันที
[๙๑] ม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัวซึ่งเป็นพาหนะวิ่งเร็วปานกำลังลม
จักคอยรับใช้ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๙๒] ผู้นี้มาเกิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้มีความสุข
แม้ในการเกิดเป็นมนุษย์นี้ ก็จักมียานพาหนะคือช้าง
[๙๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙๔] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๙๕] ช่างน่าปลื้มใจ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว
ในพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ข้าพเจ้ากระทำสักการะไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จึงบรรลุความสิ้นอาสวะ
[๙๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเด็ดเดี่ยว เพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๙๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ได้ทราบว่า ท่านพระโธตกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โธตกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
๕. อุปสีวเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปสีวเถระ
(พระอุปสีวเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออโนมะ
เขาได้สร้างอาศรมและสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๑๐๑] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น
มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลอยู่
มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
มีกอปทุมและกออุบลจำนวนมาก
เกิดอยู่ที่ท่าน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ
[๑๐๒] ในแม่น้ำนั้น ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
แม่น้ำมีปลาและเต่าชุกชุมไหลอยู่เสมอ
[๑๐๓] มีต้นดีหมี ต้นอโศก ต้นเข็ม
ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๐๔] มีต้นอัญชันเขียว ต้นมะลิซ้อน
ต้นสาละ ต้นช้างน้าว ต้นจำปา
ขึ้นอยู่เป็นหมู่ ๆ มากด้วยกัน มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๐๕] ต้นรกฟ้าขาว ต้นลำดวน ต้นกระท้อน
ต้นประดู่ และต้นมะซางหอม
มีดอกบานสะพรั่งมีอยู่ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๐๖] ต้นราชพฤกษ์ ต้นหงอนไก่
ต้นคัดเค้า ต้นประยงค์ ต้นมะกล่ำหลวง
มีอยู่ดาษดื่นโดยรอบตลอดกึ่งโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๐๗] ต้นโพธิ์ ต้นชบาซ้อน ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย
ต้นปรู ต้นงิ้ว มีดอกบานสะพรั่ง มีอยู่มาก
ใกล้แม่น้ำนั้น ต้นกำยาน มีดอกบานสะพรั่ง
มีอยู่มากใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น
[๑๐๘] เมื่อต้นไม้เหล่านี้มีดอก ต้นไม้จำนวนมากก็งาม
อาศรมของข้าพเจ้าโดยรอบ
หอมตลบไปด้วยกลิ่นดอกไม้นั้น
[๑๐๙] มีต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง
ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม และต้นมะปราง มีผลมาก ในที่นั้น
[๑๑๐] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด ต้นมะซาง
ต้นหมากเม่า ต้นขนุนสำปะลอ ต้นขนุน
ต้นกล้วย ต้นจันทน์ มีผลมาก ในที่นั้น
[๑๑๑] ต้นมะกอกและต้นเครือเถา มีผลมากในที่นั้น
และเผล็ดผลมีรสหวานทุกฤดูกาล
อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๑๒] ถั่วดำ ถั่วเหลือง มีฝักดกมาก
ต้นไทรย้อย และต้นไม้เลียบ
ต้นมะเดื่อ มีผลสุกงอมเต็มต้น
[๑๑๓] ดีปลี พริก ต้นไทร ต้นมะขวิด ต้นมะเดื่อ
มีผลสุกงอมมากเต็มต้นใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
[๑๑๔] ต้นไม้เหล่านี้และชนิดอื่นอีกมาก
กำลังมีผลใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
แม้ไม้ดอกก็มีมาก
มีดอกบานสะพรั่งใกล้อาศรมของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๑๕] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ
หอม กระเทียม และคนทา
อาลกา ต้นตาล มีอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๑๖] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า
มีสระใหญ่ธรรมชาติสระหนึ่ง
มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ
[๑๑๗] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาบ สะพรั่งด้วยบัวขาว
ดารดาษด้วยบัวเผื่อน
ลมพัดพากลิ่นหอมต่าง ๆ โชยมา
[๑๑๘] ปทุมบางกอ มีดอกตูม บางกอมีดอกบาน
บางกอมีเกสรร่วงหล่น คงมีแต่ฝักบัวจำนวนมาก
[๑๑๙] น้ำหวานไหลออกจากก้านบัว
นมสดและเนยใสไหลออกจากเหง้าบัว
อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ ด้วยกลิ่นหอมนั้นโดยรอบ
[๑๒๐] ต้นโกมุท ต้นจงกลนี และต้นตาเสือ
ปรากฏมีมากที่ใกล้ขอบสระธรรมชาติ
ต้นการะเกดจำนวนมากก็มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๒๑] ต้นชบามีดอกบานสะพรั่ง สาหร่ายมีกลิ่นหอม
จระเข้ ตะโขง นาก เกิดอยู่ในสระนั้น
[๑๒๒] ในสระนั้นมีงูหลาม งูเหลือม ปลาสลาด ปลากระบอก
ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน จำนวนมาก
[๑๒๓] มีปลา เต่า และตะพาบน้ำ นกพิราบ นกเป็ดน้ำ
นกกวัก นกกาน้ำ ชุกชุม
[๑๒๔] นกต้อยตีวิด นกจักรพาก นกช้อนหอย นกโพระดก
กระแต นกเขา เหยี่ยว และนาก มีอยู่มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๒๕] สุนัขจิ้งจอก ลูกนกแขกเต้า ไก่ป่า จามรี มีอยู่มาก
กา เหยี่ยว และเสือดาว ก็อาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต
[๑๒๖] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว
ลิง กินนร ปรากฏอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๗] ข้าพเจ้าสูดกลิ่นหอมเหล่านั้น บริโภคผลไม้
และดื่มน้ำหอม อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๘] ฝูงเนื้อทราย ฝูงสุกร ฝูงเนื้อฟาน
นกเขาชวา นกเขาไฟ และนกกะปูด
อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๙] หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกสาลิกา นกดุเหว่า
นกเค้าแมว นกแสก นกหัวขวาน มีอยู่มากในที่นั้น
[๑๓๐] พวกปีศาจทานพ (อสูร) กุมภัณฑ์ ผีเสื้อน้ำ
ครุฑ งูมีมาก อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๑] ฤๅษีทั้งหลาย มีอานุภาพมาก มีจิตสงบ มีใจมั่นคง
ทั้งหมดล้วนถือคนโทน้ำ นุ่งห่มหนังสัตว์
เพียบพร้อมด้วยชฎาและบริขาร
อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๒] ฤๅษีเหล่านั้น ทอดตาดูประมาณชั่วแอก
มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ
สันโดษตามมีตามได้ อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๓] ฤๅษีเหล่านั้น สลัดผ้าคากรอง
เคาะหนังสัตว์อาศัยพลังของตน
เหาะไปได้ในอากาศ ในครั้งนั้น
[๑๓๔] ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำน้ำหรือฟืนสำหรับก่อไฟมา
สิ่งเหล่านั้นสมบูรณ์ขึ้นเอง
นี้เป็นผลแห่งปาฏิหาริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๓๕] ฤๅษีเหล่านั้นนำรางเหล็กมา อยู่ท่ามกลางป่า
เปรียบเหมือนช้างกุญชรมหานาค
(และ) พญาราชสีห์ผู้ไม่ครั่นคร้ามฉะนั้น
[๑๓๖] ฤๅษีเหล่านั้นทราบกำลังของตนแล้ว
พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป
พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป
พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป
[๑๓๗] ฤๅษีเหล่านั้น ต่างนำอาหาร
จากทวีปนั้น ๆ มาบริโภคร่วมกัน
เมื่อฤๅษีเหล่านั้นผู้มีเดชแผ่ไป
ผู้คงที่ ทั้งหมดหลีกไปอยู่
[๑๓๘] เพราะเสียงหนังสัตว์ของพวกฤๅษี
ป่าย่อมมีเสียงดังลั่นในครั้งนั้น
ข้าแต่พระมหาวีระ พวกศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้น
มีตบะแก่กล้าเช่นนี้
[๑๓๙] ข้าพเจ้ามีฤๅษีเหล่านั้นแวดล้อม
อยู่ในอาศรมของตน
ฤๅษีเหล่านั้น แม้ถูกแนะนำแล้ว
ก็ยินดีด้วยกรรมของตน มาประชุมพร้อมกันแล้ว
[๑๔๐] ฤๅษีเหล่านั้น เพลิดเพลินในกรรมของตน
เป็นผู้มีศีล มีปัญญารักษาตน
และฉลาดในอัปปมัญญา ให้ข้าพเจ้ายินดี
[๑๔๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
ทรงทราบถึงการประชุมแล้วเสด็จเข้ามาใกล้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๔๒] ครั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงตรัสรู้เอง ผู้มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน เป็นพระมุนี จึงประคองบาตร
แล้วเสด็จเข้ามาเพื่อภิกษา
[๑๔๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จเข้ามา
จึงปูลาดเครื่องลาดหญ้าแล้วโปรยด้วยดอกสาละ
[๑๔๔] ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งแล้ว
ทั้งดีใจและสลดใจ ได้รีบขึ้นไปบนภูเขา
แล้วนำกฤษณามา
[๑๔๕] ได้เก็บขนุนที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นทิพย์
ผลโตประมาณเท่าหม้อ ยกขึ้นคอแบกมา
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๑๔๖] ได้ถวายผลขนุนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ใช้กฤษณาไล้ทา
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้กราบไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
[๑๔๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ฤๅษี
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๔๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายผลขนุน
กฤษณา และอาสนะแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๔๙] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม
โภชนาหารดังจะรู้จิตของผู้นี้ จักบังเกิดขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๕๐] คนผู้นี้บังเกิดในเทวโลกหรือในมนุษยโลกก็ตาม
จักให้บริษัทอิ่มเอิบด้วยโภชนาหารและผ้า
[๑๕๑] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น จักมีโภคะนับไม่ถ้วนเวียนว่ายตายเกิดไป
[๑๕๒] จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๑๕๓] จักครองเทวสมบัติ ๗๑ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๑๕๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๕๕] ผู้นี้จักมีนามว่าอุปสีวะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๕๖] การที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๕๗] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม
โภชนาหารดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
ย่อมมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๕๙] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปสีวเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปสีวเถราปทานที่ ๕ จบ
๖. นันทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทกเถระ
(พระนันทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
อยู่ในป่าดงทึบเที่ยวแสวงหาเนื้อฟานอยู่ ได้พบพระสยัมภู
[๑๖๒] ครั้งนั้น พระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอนุรุทธะนั้น
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ เป็นนักปราชญ์
ทรงประสงค์วิเวกจึงเสด็จเข้าป่า
[๑๖๓] ข้าพเจ้าถือท่อนไม้ ๔ ท่อน มาปักลงเป็น ๔ เส้า
ทำเป็นมณฑปเรียบร้อยแล้ว มุงด้วยดอกปทุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๖๔] ครั้นมุงมณฑปแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระสยัมภู
ทิ้งธนูไว้ ณ ที่นั้นเอง แล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๑๖๕] เมื่อข้าพเจ้าบวชแล้วไม่นาน ก็เกิดเจ็บไข้ขึ้น
ข้าพเจ้าระลึกถึงบุพกรรมแล้ว ก็ได้ตายไปในที่นั้น
[๑๖๖] ข้าพเจ้าประกอบด้วยบุพกรรม
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น
วิมานทองบังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามปรารถนา
[๑๖๗] ข้าพเจ้าอธิษฐานยานพาหนะทิพย์เทียมด้วยม้าพันตัว
ขึ้นยานพาหนะนั้นแล้ว ไปได้ตามปรารถนา
[๑๖๘] เมื่อข้าพเจ้าอันบุญกรรมนำ
จากมนุษยโลกนั้นไปเกิดเป็นเทวดา
มณฑปย่อมกางกั้นไว้แก่ข้าพเจ้าตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๑๖๙] ข้าพเจ้านั้นนอนอยู่บนที่นอนที่ไม่มีเครื่องมุง
ลาดด้วยดอกไม้
ดอกปทุมทั้งหลายย่อมตกลงมา
จากอากาศตลอดกาลเป็นนิตย์
[๑๗๐] เมื่อพยับแดดเต้นไหวอยู่ เมื่อแดดแผดเผาอยู่
แดดย่อมไม่แผดเผาข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการทำมณฑปถวาย
[๑๗๑] ข้าพเจ้าล่วงพ้นทุคติแล้ว
อบายทั้งหลายปิดแล้วสำหรับข้าพเจ้า
(เมื่อข้าพเจ้าอยู่) ที่มณฑปหรือที่โคนต้นไม้
ความร้อนย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๗๒] ข้าพเจ้าอธิษฐานสัญญาว่าเป็นแผ่นดินแล้ว
ข้ามทะเลไปก็ได้ กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๓] ข้าพเจ้าทำทางในอากาศแล้วเหาะไปในอากาศก็ได้
น่าปลื้มใจจริง กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๔] ข้าพเจ้าระลึกชาติก่อน ๆ ได้
ทิพยจักษุข้าพเจ้าชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งหลายของข้าพเจ้าสิ้นแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๕] ชาติก่อนข้าพเจ้าละได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า
และเป็นทายาทในพระสัทธรรม
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๖] ข้าพเจ้าให้พระสุคตพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นธงชัยแห่งธรรม และเป็นธรรมทายาท
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๗] ข้าพเจ้าได้บำรุงพระสัมพุทธเจ้าผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
เป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
ได้ทูลถามถึงทางที่จะไปนิพพาน
[๑๗๘] พระพุทธเจ้าอันข้าพเจ้าทูลแล้ว
ได้ตรัสบอกบทที่ลึกซึ้งละเอียด
ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๗๙] น่าปลื้มใจจริง กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากชาติแล้ว สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๘๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๘๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๘๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทกเถราปทานที่ ๖ จบ
๗. เหมกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเหมกเถระ
(พระเหมกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่ออโนมะ
อาศัยยอดเงื้อมเขาสร้างอาศรมไว้อย่างดี
อยู่ในบรรณศาลา
[๑๘๔] การบำเพ็ญตบะของข้าพเจ้านั้นสำเร็จแล้ว
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จในพลังของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
กล้าหาญในสามัญคุณของตน มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน เป็นมุนี
[๑๘๕] แกล้วกล้าในลัทธิสมัยของตน
ฉลาดในการโต้ตอบ
ไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
ฉลาดในลางร้ายลางดี
[๑๘๖] ปราศจากความเศร้าโศก ไม่แข่งดี
มีอาหารน้อย(ฉันอาหารน้อย)
ไม่โลภจัด สันโดษตามมีตามได้ (ลาภาลาเภน)
มีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน เป็นมุนี
[๑๘๗] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นมุนี
พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร)
จึงทรงแผ่พระกรุณาไป
[๑๘๘] พระมหามุนีทรงพระนามว่าปิยทัสสี
ทรงพิจารณาเห็นคนผู้ควรตรัสรู้แล้ว
ก็เสด็จไปประทานโอวาทในที่ ๑,๐๐๐ จักรวาล
[๑๘๙] พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จเข้ามายังอาศรมของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระชินเจ้ามาก่อน
และไม่เคยได้ฟังมาจากใคร ๆ
[๑๙๐] ลางดีลางร้าย ความฝัน
และลักษณะดีร้าย ข้าพเจ้ารู้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
ฉลาดในบทนักษัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๙๑] ข้าพเจ้านั้นได้ฟังข่าวพระพุทธเจ้าแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์
จะยืนหรือนั่งอยู่ก็ตาม
ย่อมระลึกถึงตลอดกาลเป็นนิตย์
[๑๙๒] เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงอยู่อย่างนี้
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงระลึกถึง
เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า ปีติก็เกิดขึ้นทันที
[๑๙๓] พระมหามุนีทรงรอเวลาอีกหน่อยแล้ว
จึงเสด็จมาหาข้าพเจ้า
แม้เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง
ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักว่าผู้นี้คือพระพุทธมหามุนี
[๑๙๔] พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ผู้อนุเคราะห์
ประกอบด้วยพระกรุณาทรงให้รู้จักพระองค์ว่า
เราเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๑๙๕] ครั้นข้าพเจ้ารู้จักแน่ชัดว่า
พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เป็นมหามุนีแล้ว
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๑๙๖] นิมนต์ภิกษุทั้งปวงนั่งบนตั่ง
บนบัลลังก์ และบนพนักพิง
ส่วนพระองค์ผู้มีปกติเห็นเหตุทั้งสิ้น
ขอเชิญประทับบนอาสนะที่รุ่งเรือง
[๑๙๗] ในขณะนั้น ข้าพเจ้าเนรมิตตั่งซึ่งสำเร็จด้วยแก้วล้วน ๆ แล้ว
ถวายอาสนะที่เนรมิตด้วยฤทธิ์แด่พระมุนีพระนามว่าปิยทัสสี
[๑๙๘] เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่ง
บนตั่งแก้วที่ข้าพเจ้าเนรมิตด้วยฤทธิ์แล้ว
ข้าพเจ้าได้ถวายผลหว้าโตประมาณเท่าหม้อทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๙๙] พระมหามุนีทรงให้ความร่าเริงเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้ว ทรงเสวยแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว
ถวายอภิวาทพระศาสดา
[๒๐๐] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งอยู่บนอาสนะแก้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๐๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายตั่งแก้วและผลซึ่งเป็นอมตะแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๐๒] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
[๒๐๓] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๒ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๐๔] จักได้บัลลังก์ทองคำ บัลลังก์เงิน บัลลังก์แก้วทับทิม
และบัลลังก์แก้วล้วน จำนวนมาก ที่ทำอย่างสวยงาม
[๒๐๕] บัลลังก์มากมายจักแวดล้อมผู้นี้ซึ่งเกิดเป็นมนุษย์
พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม แม้เดินอยู่ ทุกเมื่อ
[๒๐๖] ปราสาทที่เป็นเรือนยอดและที่นอนอันควรค่ามาก
ดังจะรู้จิตของผู้นี้ บังเกิดขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง
[๒๐๗] ช้างพลายชาติมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีสายประโคนพานหน้าและพานหลังทำด้วยทอง
ประกอบด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายล้วนเป็นทอง
[๒๐๘] มีควาญช้างผู้ถือหอกซัดและขอขึ้นขี่ประจำ
พลช้างเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๒๐๙] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว
เป็นพาหนะวิ่งเร็ว ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๒๑๐] มีทหารม้าถือธนูสวมเกราะหนังขึ้นขี่ประจำ
พลม้าเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๑] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองบ้าง
หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งบ้าง ปักธงหน้ารถ
[๒๑๒] มีนายสารถีถือกริชและธนูขึ้นประจำ
จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๓] แม่โคนม ๖๐,๐๐๐ ตัว จักตกลูกโคผู้ตัวประเสริฐ
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๔] สตรี ๖๐,๐๐๐ คน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๑๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง
จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๖] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้มีพระจักษุ
ทรงกำจัดความมืดมนอนธการ จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๑๗] ผู้นี้อาศัยการได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จักตัดความกังวลออกบวช
จักให้พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ยินดียิ่งอยู่ในศาสนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๒๑๘] ได้ฟังธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว
จักเผากิเลสทั้งหลาย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๒๑๙] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระไป
เป็นความเพียรนำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าปรารถนาประโยชน์สูงสุด อยู่ในศาสนา
[๒๒๐] นี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
อาสวะทั้งปวงของข้าพเจ้าสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๒๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๒๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเหมกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เหมกเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๑๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
๘. โตเทยยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโตเทยยเถระ
(พระโตเทยยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๔] ครั้งนั้น (ข้าพเจ้าเกิดเป็น)พระราชาพระนามว่าวิชิตชัย
ในกรุงเกตุมดี เป็นเมืองชั้นเลิศ เป็นผู้แกล้วกล้า
เต็มเปี่ยมด้วยความกล้าหาญ
ประทับอยู่ท่ามกลางกรุง
[๒๒๕] เมื่อพระราชาพระองค์นั้น ทรงประมาท
ข้าศึกแห่งแว่นแคว้นก็กำเริบขึ้น
ฝ่ายตรงกันข้ามและพวกยุยงก็ทำลายแว่นแคว้น
[๒๒๖] เมื่อปัจจันตชนบท(ชนบทปลายแดน)กำเริบ
พระราชาจึงรับสั่งให้พลรบและทหารสื่อสารมาประชุมกัน
รับสั่งให้ปราบข้าศึก ในครั้งนั้น
[๒๒๗] พลช้าง พลม้า ทหารสวมเกราะกล้าหาญ
ทหารแม่นธนู และพลรถ มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๒๘] พวกพ่อครัว พนักงานเครื่องต้น พนักงานสรงสนาน
ช่างทำดอกไม้ เป็นผู้กล้าหาญ
เคยชนะในสงคราม มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๒๙] พวกชายฉกรรจ์ถือดาบ ถือธนู สวมเกราะหนัง
เป็นคนแข็งแรง เคยชนะในสงคราม
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๐] ช้างมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง
เสื่อมกำลังเมื่ออายุ ๖๐ ปี มีสายประโคน๑

เชิงอรรถ :
๑ สายรัดจากใต้สัปคับคือที่นั่งบนหลังช้าง ใช้รัดสัปคับอกช้าง หลังขาหน้าแล้วลอดมาบรรจบกันโยงใต้
ท้องช้างและหน้าขาหลังไปจากสายชนักที่คอช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
พานหน้าพานหลัง และเครื่องประดับทองคำ
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๑] นักรบอาชีพ อดทนต่อความหนาวความร้อน
อดทนต่ออุจจาระปัสสาวะ เตรียมการสำเร็จแล้ว
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๒] พวกทหารเหล่านั้นร่าเริงด้วยเสียงสังข์ เสียงกลอง
และเสียงแตกตื่นมาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๓] พวกทหารเหล่านั้นตีรันฟันแทงด้วยหลาว หอก
แหลน ธนู และโตมร กลับมาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๔] ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าสวมเกราะแล้ว
สั่งให้จับทหาร ๖๐,๐๐๐ คน พร้อมทั้งพระราชาผู้ชนะ
คนที่ไม่เคยชนะเสียบหลาว(ประจาน)
[๒๓๕] ทหารเหล่านั้นพากันส่งเสียงร้องว่า
โธ่เอ๋ย พระราชาไร้ธรรม เมื่อถูกไฟเผาไหม้อยู่ในนรก
เมื่อไรจักสิ้นสุดกรรม
[๒๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านอนอยู่บนที่นอน เห็นไฟนรก
จึงนอนไม่หลับตลอดทั้งวันทั้งคืน
พวกนายนิรยบาลใช้หลาวขู่ข้าพเจ้า
[๒๓๗] (ข้าพเจ้าคิดว่า) ความมัวเมาราชสมบัติ สัตว์พาหนะ
และพลรบ จะมีประโยชน์อะไร
สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถจะต้านทานเราไว้ได้
มีแต่จะทำให้สะดุ้งอยู่ทุกเมื่อ
[๒๓๘] บุตร ภรรยา และราชสมบัติทั้งหมด
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเรา
ทางที่ดีเราควรออกบวช ชำระทางที่จะดำเนินไปให้หมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
[๒๓๙] ช้างมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก
ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
มีสายประโคนพานหน้า พานหลัง
เครื่องประดับศีรษะทองคำ
[๒๔๐] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ
ข้าพเจ้าไม่มีความห่วงใยละทิ้งไว้ในสนามรบ
เดือดร้อนเพราะกรรมของตน
จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๑] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว
ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเป็นพาหนะวิ่งเร็ว
[๒๔๒] มีทหารม้าถือธนูสวมเกราะขึ้นขี่ประจำ
ข้าพเจ้าทอดทิ้งม้าเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๓] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ตกแต่งด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
เป็นรถที่หุ้มหนังเสือเหลืองบ้าง
หุ้มหนังเสือโคร่งบ้างบรรทุกอาวุธรบ ปักธงไว้หน้ารถ
ข้าพเจ้าละทิ้งรถนั้นทั้งหมดแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๔] แม่โคนม ๖๐,๐๐๐ ตัว และขันสำริดสำหรับรองน้ำนม
ทั้งหมดข้าพเจ้าละทิ้งแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๕] สตรี ๖๐,๐๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๔๖] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง
รูปร่างงดงาม เอวเล็กเอวบาง
ข้าพเจ้าละสตรีเหล่านั้นผู้พากันคร่ำครวญอยู่แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
[๒๔๗] หมู่บ้าน ๖๐,๐๐๐ ตำบล ที่บริบูรณ์ด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพเจ้าละทิ้งราชสมบัตินั้นแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๘] ข้าพเจ้าออกจากนครแล้ว เข้าไปยังภูเขาหิมพานต์
ได้สร้างอาศรมไว้ ณ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำภาคีรถี
[๒๔๙] สร้างบรรณศาลาเสร็จแล้ว สร้างโรงสำหรับบูชาไฟ
บำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว อยู่ในอาศรม
[๒๕๐] เมื่อข้าพเจ้าเข้าฌานอยู่ในมณฑปก็ดี ที่โคนต้นไม้ก็ดี
ในเรือนว่างก็ดี ความสะดุ้งกลัวย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เห็นภัยที่น่าหวาดกลัวเลย
[๒๕๑] ในขณะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นมุนี
มีแสงสว่างแห่งพระญาณโชติช่วง เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
[๒๕๒] ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า มียักษ์ตนหนึ่งผู้มีฤทธิ์มาก
เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอุบัติขึ้นแล้ว
ยักษ์บอกกับข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า
[๒๕๓] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
พระองค์ทรงพระนามว่าสุเมธะ
ทรงมีจักษุ ทรงช่วยหมู่ชนทั้งปวงให้ข้าม
แม้ท่าน พระองค์ก็จักช่วยให้ข้าม
[๒๕๔] ขณะนั้น ข้าพเจ้าฟังคำของยักษ์แล้วมีความสลดใจ
คิดอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ ปิดอาศรม
[๒๕๕] ข้าพเจ้าทิ้งฟืนสำหรับบูชาไฟ และเก็บสันถัต
ไหว้อาศรมแล้วออกจากป่าใหญ่ไป
[๒๕๖] ข้าพเจ้าถือไม้จันทน์จากที่นั้น จากบ้านไปสู่บ้าน
จากเมืองไปสู่เมือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
แสวงหาพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพอยู่
ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ซึ่งเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๒๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงประกาศสัจจะ ๔ ทำหมู่ชนจำนวนมากให้ตรัสรู้
[๒๕๘] ข้าพเจ้าประนมมือไหว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๕๙] เมื่อต้นมะลิซ้อนมีดอกบานสะพรั่ง
กลิ่นหอมฟุ้งไปในที่ใกล้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
พระองค์มีกลิ่นคือคุณหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
[๒๖๐] เมื่อต้นจำปา ต้นกระถินพิมาน
ต้นลำดวน ต้นการะเกด และต้นสาละ
กำลังมีดอกบาน กลิ่นหอมฟุ้งไปตามลม
[๒๖๑] ข้าพระองค์สูดกลิ่นของพระองค์
จึงจากภูเขาหิมพานต์มาจนถึงที่นี่
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้เจริญที่สุดในโลก มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ขอบูชาพระองค์
[๒๖๒] ข้าพเจ้าใช้จุรณจันทน์อย่างดี
ไล้ทาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกทำจิตของตนให้เลื่อมใส
แล้วได้ยืนนิ่งอยู่ในขณะนั้น
[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๖๔] เราจักพยากรณ์ผู้ที่สรรเสริญคุณของเรา
และได้ใช้จุรณจันทน์บูชา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๖๕] ผู้นี้จักเป็นผู้กล่าวถ้อยคำที่เชื่อถือได้
เป็นพรหม ผู้ซื่อตรง มีตบะ
มีรัศมีสว่างไสวตลอด ๒๕ กัป
[๒๖๖] จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๒,๖๐๐ กัป
จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๒๖๗] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๓ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๖๘] ผู้นี้จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว จักไปเกิดเป็นมนุษย์
ประกอบด้วยบุญกรรม จักเป็นบุตรของพราหมณ์
[๒๖๙] พราหมณ์ชื่อพาวรี ผู้คงแก่เรียน
ทรงมนตร์ จบไตรเพท ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ
[๒๗๐] เขาเป็นศิษย์ของพราหมณ์นั้นเป็นผู้จบมนตร์
จักได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ
[๒๗๑] ข้าพเจ้าได้ทูลถามปัญหาอย่างละเอียด ทำใจให้ร่าเริง
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๗๒] ไฟ ๓ กองของข้าพเจ้าดับแล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๗๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๗๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโตเทยยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โตเทยยเถราปทานที่ ๘ จบ
๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชตุกัณณิกเถระ
(พระชตุกัณณิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในกรุงหงสวดี
เพียบพร้อมห้อมล้อมอยู่ด้วยกามคุณทั้งหลาย
[๒๗๗] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าขึ้นสู่ปราสาท
ใช้สอยโภคสมบัติมากมาย
แวดล้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องอยู่ในปราสาทนั้น ในครั้งนั้น
[๒๗๘] นักดนตรีมีเครื่องประโคมอย่างดีมาประโคมให้ข้าพเจ้า
หญิงทั้งปวงยั่วยวน ทำใจของข้าพเจ้าให้ลุ่มหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๗๙] พวกนางเจลาวกา พวกนางวามนิกา
พวกนางมัชฌิตา พร้อมด้วยนางกุญชวาสี
พวกนางลังฆิกา และพวกนางโสกัชฌายี
ต่างแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๐] คนตีฉิ่ง คนตีกลอง นักฟ้อน นักรำ
ตัวละครและพวกนาฏศิลป์จำนวนมาก
แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๑] ช่างกัลบก คนจัดแจงเครื่องอาบน้ำ
พ่อครัว ช่างร้อยดอกไม้
คนทิ้งมูล(คนทิ้งอุจจาระ) นักกายกรรมและนักมวยเหล่านั้น
ทั้งหมดแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๒] เมื่อคนเหล่านั้นเล่นอยู่
เมื่อข้าพเจ้าชื่นชมการบำเรอที่คนเหล่านั้นทำ
ข้าพเจ้าย่อมไม่รู้วันและคืน
เปรียบเหมือนพระอินทร์ในเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๘๓] คนเดินทาง คนกำพร้า
คนขอทาน นักสืบ จำนวนมาก
เข้ามาขอข้าพเจ้าจนถึงเรือนเป็นนิตย์
[๒๘๔] สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
เมื่อจะให้ข้าพเจ้าเจริญบุญ มาจนถึงเรือนข้าพเจ้า
[๒๘๕] พวกนิครนถ์นุ่งผ้า ใช้มูลไถทา ใช้ดอกไม้กรองนุ่ง
ถือไม้ ๓ อัน ไว้ผมหนึ่งปอย มาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๖] พวกอาชีวก พวกโจรปล้น
พวกประพฤติวัตรเหมือนโค
พวกประพฤติเทวธรรม
พวกคนทิ้งขยะเหล่านั้นต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๘๗] พวกนักสวด พวกรักสิทธิ (เสรีภาพ)
พวกโกธปุคคนิกะ พวกบำเพ็ญตบะ
และพวกฤๅษีเที่ยวอยู่ป่าจำนวนมาก
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๘] ชาวแคว้นอันธกะ (โอฑฑกะ) ชาวทมิฬ
ชาวสากุฬะ ชาวมะละยาฬกะ ชาวสะวะระ
และชาวโยนก ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๙] ชาวแคว้นอันธกะ พวกสมณะโล้นทั้งหมด
ชาวกุฏฐละ ชาวสานุวินทกะ ชาวอาฬวีจีนรัฐ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๐] ชาวอลสันทกะ ชาวปัลลวกะ ชาวปัพพตะ
ชาวนัคคมารุหะ ชาวพาหิกะ และชาวแคว้นเจตปุตตะ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๑] ชาวแคว้นมธุระ ชาวแคว้นโกศล ชาวแคว้นกาสี
ชาวหัตถิบุรี ชาวแคว้นอิสินทะ ชาวแคว้นมักกละ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๒] ชาวเจลาวกะ ชาวอารัมพะ ชาวโอภาสะ
ชาวเมฆละ ชาวขุททกะ ชาวสุททกะ จำนวนมาก
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๓] ชาวโรหกชนบท ชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ ชาวจิตกา
ชาวเอกกัณณิกนิคม ชาวสุรัฏฐา และชาวอปรันตชนบท
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๔] ชาวสุปปารกะ ชาวกุมาร (ชาวมะละกา) ชาวมะลัยชนบท
ชาวสุวรรณภูมิ และชาววัชชี เหล่านั้นทั้งหมด
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๙๕] ช่างสาน ช่างหูก ช่างหนัง
ช่างถาก คนงาน และช่างหม้อ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๖] ช่างแก้ว ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างเย็บผ้า
และช่างดีบุกเหล่านั้นทั้งหมด
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๗] ช่างศร ช่างกลึง คนส่งของ
ช่างปรุงของหอม ช่างย้อม และช่างชุน
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๘] พวกคนขายน้ำมัน คนหาบฟืน คนหาบน้ำ
คนรับใช้ คนหุงต้ม คนตักน้ำ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๙] พวกคนเฝ้าประตู ทหาร
ช่างร้อยดอกไม้ คนทิ้งขยะดอกไม้
ควาญช้าง คนเลี้ยงช้าง
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้ทูลถวายของทุกอย่าง
แก่พระราชาพระนามว่าอานันทะ ผู้พร้อมเพรียง
ข้าพเจ้าทำความพร่องให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ สี
[๓๐๑] ข้าพเจ้ารู้จิตของชนจำนวนมากมีวรรณะต่างกัน
ที่ข้าพเจ้ายกย่องทั้งหมดให้พึงพอใจแม้ด้วยรัตนะ
[๓๐๒] เมื่อดนตรีมีเสียงไพเราะบรรเลงอยู่
เมื่อกลองดังก้องอยู่ เมื่อสังข์เขาเป่าอยู่
ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเรือนของตน
[๓๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ รูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๐๔] พระองค์ ผู้มีจักษุพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย
เสด็จดำเนินไปตามถนน
ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างโชติช่วง
เหมือนต้นพฤกษาประทีป
[๓๐๕] เมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกกำลังเสด็จดำเนินไป
กลองทั้งปวงยังดังก้องอยู่
รัศมีของพระองค์พวยพุ่งดุจดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๓๐๖] ขณะนั้น แสงสว่างจ้าส่องเข้าไปภายในเรือนของข้าพเจ้า
ด้วยพระรัศมีที่ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง
[๓๐๗] ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้กล่าวกับพวกบริวารว่า
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเสด็จมาถึงถนนนี้แน่แล้ว
[๓๐๘] ข้าพเจ้ารีบลงจากปราสาทแล้ว ได้ไปยังระหว่างทาง
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๓๐๙] ขอพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
โปรดทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระมุนีพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์
ทรงรับนิมนต์
[๓๑๐] ครั้นข้าพเจ้านิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้นำเสด็จพระองค์มายังเรือนของตน
อังคาสพระมหามุนีให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำในเรือนนั้น
[๓๑๑] ข้าพเจ้ารู้เวลาที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้คงที่ กำลังเสวย
ได้บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ด้วยการขับร้องและดนตรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๑๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งอยู่ภายในเรือน
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๑๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บำรุงเราด้วยดนตรี
และได้ถวายข้าวน้ำแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๑๔] คนผู้นี้จักเป็นผู้มีอาหารมาก มีเงิน มีโภชนะ
ครองเอกราชในทวีปทั้ง ๔
[๓๑๕] จักสมาทานศีล ๕ ยินดีในกรรมบถ ๑๐
ครั้นสมาทานแล้ว ก็ประพฤติ ให้บริวารศึกษาด้วย
[๓๑๖] เครื่องดนตรี ๑๐๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม
จักบรรเลงให้ผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๓๑๗] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๖๔ ชาติ
[๓๑๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๓๑๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๓๒๐] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น เขาจักเกิดเป็นมนุษย์มีโภคะไม่บกพร่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๒๑] จักเป็นผู้คงแก่เรียน จบไตรเพท
เที่ยวแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุดอยู่ทั่วแผ่นดินนี้
[๓๒๒] และภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนออกบวชแล้ว
จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๒๓] ผู้นี้จักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัย
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว จักเป็นพระอรหันต์
[๓๒๔] วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามอยู่
ในศาสนาของพระศากยะผู้ประเสริฐ
ดุจพญาเสือโคร่งและราชสีห์ พญาเนื้อในป่าใหญ่
[๓๒๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นการบังเกิดของข้าพเจ้าในตระกูลที่ขัดสน
หรือยากจนในเทวโลก หรือในมนุษยโลก
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๓๒๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชตุกัณณิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชตุกัณณิกเถราปทานที่ ๙ จบ
๑๐. อุเทนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุเทนเถระ
(พระอุเทนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อปทุม
ข้าพเจ้าสร้างอาศรมสร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้
[๓๓๑] ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
แม่น้ำไหลอยู่มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
แม่น้ำมีน้ำใสสะอาด เย็นสนิท ไหลอยู่เป็นนิตย์
[๓๓๒] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า
และฝูงปลาตะเพียน อยู่ประจำในแม่น้ำ
ทำให้แม่น้ำงามทุกเมื่อ
[๓๓๓] ดาษดื่นไปด้วยต้นมะม่วง ต้นหว้า
อนึ่ง ต้นกุ่ม ต้นหมากเม่า
ต้นราชพฤกษ์ ต้นแคฝอย
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๔] ต้นปรู ต้นมะกล่ำหลวง
ต้นกาหลง มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๓๕] ต้นลำดวน ต้นชบา ต้นกากะทิง
และต้นสาละ มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๖] ต้นคำ ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นมะเฟือง มีดอกบาน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๗] ต้นสมอ ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า
ต้นสมอพิเภก ต้นพุทรา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม
มีผลดกอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๓๓๘] มันอ้อน ต้นมะเขือพวง กำลังผลิดอกออกผล
ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๙] ต้นอโศก ต้นวารี และต้นสะเดา มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๐] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา
ต้นดีหมี ในที่ใกล้อาศรมนั้น มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๑] ต้นย่านทราย ต้นคนทีเขมา และต้นจำปา
ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๔๒] ในที่ไม่ไกลมีสระโบกขรณี
มีนกจักรพากส่งเสียงร้องอยู่
ดารดาษด้วยบัวเผื่อน บัวหลวง และบัวขาบ
[๓๔๓] มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ
น้ำใสสะอาด เสมอด้วยแก้วผลึก
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๔] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาว
บัวขาบ ดารดาษด้วยบัวเผื่อน มีดอกบานสะพรั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า
และฝูงปลาตะเพียนว่ายเวียนอยู่ในสระนั้น
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๖] จระเข้ ตะโขง เต่า นาก งูหลาม
และงูเหลือมจำนวนมาก
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๗] นกพิราบ นกเป็ดน้ำ นกจักรพาก
นกกาน้ำ นกต้อยตีวิด และนกสาลิกา
อยู่ในที่ใกล้อาศรมนั้น
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๘] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี
ต้นการะเกด ในที่ใกล้อาศรมนั้น
มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๙] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี หมาป่า หมาใน เสือดาว
เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๕๐] ฤๅษีทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยชฎา
และบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์
เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๕๑] บางพวกนุ่งห่มหนังสัตว์ มีปัญญารักษาตน
มีความประพฤติสงบและบริโภคอาหารแต่น้อยเหล่านั้นทั้งหมด
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๕๒] ครั้งนั้น ฤๅษีทั้งหลายหาบบริขารเข้าไปสู่ป่า
กินหัวมันและผลไม้อยู่ในอาศรม
[๓๕๓] ครั้งนั้น ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำฟืนมา
น้ำสำหรับล้างเท้าก็ไม่ต้องนำมา
ด้วยอานุภาพแห่งฤๅษีทั้งปวง ฟืนและน้ำย่อมมาเอง
[๓๕๔] ฤๅษี ๘๔,๐๐๐ ตน
ประชุมกันอยู่ในอาศรมนั้น ทั้งหมดนี้
เป็นผู้เข้าฌาน แสวงหาประโยชน์สูงสุด
[๓๕๕] ฤๅษีเหล่านั้นเป็นผู้มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์
ตักเตือนกันและกัน เป็นผู้แน่นแฟ้น
เหาะไปในอากาศได้ทุกตนอยู่ในอาศรมในครั้งนั้น
[๓๕๖] ประชุมกันทุก ๕ วัน
ไม่ระส่ำระสาย มีความประพฤติสงบ
กราบไหว้กันและกันแล้ว
จึงบ่ายหน้าหลีกไปตามทิศ (ที่ตนอยู่)
[๓๕๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
พระองค์เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนอนธการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๕๘] ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
มียักษ์ตนหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก
ยักษ์ตนนั้นได้บอกข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ แก่ข้าพเจ้าว่า
[๓๕๙] พระพุทธเจ้าองค์นี้พระนามว่าปทุมุตตระ
เป็นพระมหามุนี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
ท่านจงรีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ท่านผู้นิรทุกข์
[๓๖๐] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของยักษ์แล้วก็มีจิตผ่องใสยิ่งนัก
จึงปิดอาศรมแล้วออกจากป่าในขณะนั้น
[๓๖๑] เมื่อไฟกำลังไหม้ผ้าอยู่
ข้าพเจ้าออกจากอาศรม
พักอยู่กลางทางคืนหนึ่งแล้ว
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๓๖๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงประกาศสัจจะ ๔ แสดงอมตบทอยู่
[๓๖๓] ข้าพเจ้าถือดอกปทุมซึ่งบานเต็มที่
เข้าเฝ้าพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
[๓๖๔] บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นผู้นำแล้วห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
สรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๓๖๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ประทับอยู่ที่นี้ด้วยพระญาณใด
ข้าพระองค์จักสรรเสริญพระญาณนั้น
ขอพระองค์จงสดับข้าพระองค์กราบทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๖๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดกระแสวัฏสงสารแล้ว
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
สรรพสัตว์นั้นฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ย่อมข้ามพ้นกระแสตัณหาได้
[๓๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดา
และมนุษย์ พระองค์เป็นพระศาสดา
เป็นธงชัย เป็นหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง
และเป็นประทีปของสัตว์ทั้งหลาย
[๓๖๘] คณาจารย์ผู้นำหมู่ประมาณเท่าใด ที่ถูกกล่าวถึงในโลก
พระองค์เป็นสัพพัญญูผู้เลิศกว่าคณาจารย์เหล่านั้น
คณาจารย์เหล่านั้นนับว่าอยู่ในคำสอนของพระองค์
[๓๖๙] พระองค์ผู้สัพพัญญูทรงช่วยหมู่ชนจำนวนมาก
ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร)
ด้วยพระญาณของพระองค์
หมู่ชนอาศัยการได้เฝ้าพระองค์แล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้
[๓๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
คันธชาติเหล่าใดเหล่าหนึ่งหอมฟุ้งไปในโลก
ข้าแต่พระมหามุนีผู้เป็นนาบุญ
กลิ่นหอมที่จะเสมอด้วยกลิ่นหอมของพระองค์ไม่มี
[๓๗๑] ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงเปลื้อง
กำเนิดดิรัจฉานและนรกเถิด
พระองค์ทรงแสดงบทที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สงบระงับ
[๓๗๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๗๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใสได้บูชาญาณของเรา
ด้วยมือของตน เธอทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๗๔] ผู้นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๓๗๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภอย่างดีแล้ว
ข้าพเจ้าให้พระพุทธเจ้าผู้มีวัตรงามทรงพอพระทัย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๗๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุเทนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุเทนเถราปทานที่ ๑๐ จบ
เมตเตยยวรรคที่ ๔๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน ๒. ปุณณกเถราปทาน
๓. เมตตคูเถราปทาน ๔. โธตกเถราปทาน
๕. อุปสีวเถราปทาน ๖. นันทกเถราปทาน
๗. เหมกเถราปทาน ๘. โตเทยยเถราปทาน
๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน ๑๐. อุเทนเถราปทาน

และในวรรคนี้มีคาถา ๓๙๓ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๔ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น