Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 26

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 26 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๕ ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความเสมอกันและไม่เสมอกันแห่งกุศลและอกุศล, ปัญหาที่ ๖ ถามเกี่ยวกับนางอมราเทวีของมโหสถ, ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความไม่กลัวแห่งพระขีณาสพ, ปัญหาที่ ๘ ถามคุณและโทษแห่งสันถวไมตรีและเรื่องพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้เกิดทาง, วรรคที่ ๖ ปัญหาที่ ๑ ถามถึงโทษแห่งปฏิปทา, ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า

ตอนที่ ๒๖

ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความเสมอกันและไม่เสมอกันแห่งกุศลและอกุศล


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน วิบากของบุคคลทั้งสอง คือผู้ทำกุศลกับทำอกุศล มีผลเสมอกันหรือต่างกันอย่างไร ? ”
พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ต่างกัน คือกุศลมีสุขเป็นผล ทำให้ไปเกิดในสวรรค์ อกุศลมีทุกข์เป็นผล ทำให้ไปเกิดในนรก ”
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่าพระเทวทัตมีแต่ดำอย่างเดียว ประกอบด้วยความดำอย่างเดียว ส่วนพระโพธิสัตว์มีแต่ขาวอย่างเดียว ประกอบด้วยของขาวอย่างเดียว แต่มีกล่าวไว้อีกว่าพระเทวทัตเสมอกันกับพระโพธิสัตว์ ด้วยยศและพรรคพวกในชาติในนั้นๆ ก็มี ยิ่งกว่าก็มี อย่างเช่นคราวหนึ่ง พระเทวทัตได้เกิดเป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เกิดในตระกูลเทหยากเยื่อ แต่เป็นผู้มีวิชา ร่ายวิชาให้เกิดผลมะม่วงได้นอกฤดูกาล เป็นอันว่าคราวนั้นพระโพธิสัตว์ต่ำกว่าพระเทวทัตด้วยชาติตระกูล ในคราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระโพธิสัตว์เกิดเป็นช้างของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น อีกเรื่องหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นมนุษย์ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นวานร อีกเรื่องหนึ่งพระโพธิสัตวเกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ พระเทวทัตเกิดเป็นนายพรานฆ่าพญาช้างฉัททันต์นั้นเสีย อีกเรื่องหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพรานป่าพระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระทา อีกเรื่องหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็น “พระเจ้ากาสี” ที่พันธุมตีนครพระโพธิสัตว์เกิดเป็น “ขันติวาทีฤาษี” ถูกพระเจ้ากาสีให้ตัดมือตัดเท้าเสีย เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าพระเทวทัตยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์ด้วยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ บริวารก็มี และยังมีอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่องพระเทวทัตเกิดเป็นชีเปลือย ชื่อว่า “โกรัมภิกะ” พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานาคชื่อว่า “ปันทรกะ” อีกคราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็น “ชฎิลดาบส” พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุกรใหญ่ อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพระราชาผู้ทรงพระนามว่า “อุปริปราช” ผู้เที่ยวไปในอากาศได้พระโพธิสัตว์เกิดเป็น “กบิลพราหมณ์ราชครู” อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่า “สามะ” พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า “รุรุ” อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นนายพรานชื่อว่า “สุสามะ” พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือกถูกพระเทวทัตตามไปเลื่อยงาถึง ๗ ครั้ง อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพญาสุนัขจิ้งจอก เป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็น “วิธุรบัณฑิต” เรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้นก็ชี้ให้เห็นว่าพระเทวทัตยิ่งกว่าด้วยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ บริวารที่เสมอกันก็มี คือชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพญาช้างฆ่าลูกนางนกไส้ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นพญาช้างอีกฝูงหนึ่งเหมือนกัน คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นยักษ์ชื่อว่า “อธรรม” พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นยักษ์เหมือนกันชื่อว่า “สุธรรม” คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นนายเรือเป็นใหญ่กว่าตระกูล ๕๐๐ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นนายเรือเป็นใหญ่กว่าตระกูล ๕๐๐ เหมือนกัน อีกคราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า “สาขะ” พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นพญาเนื้อเหมือนกันชื่อว่า “นิโครธะ” ที่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็มี เช่น คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นปุโรหิตชื่อว่า “กัณฑหาลพราหมณ์” พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชกุมารชื่อว่า “พระจันทกุมาร” อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เหมือนกัน ชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็น “อลาตเสนาบดี” พระโพธิสัตว์เกิดเป็น “นารทพรหม” อีกคราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพระราชากาสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรสทรงพระนามว่า “มหาปทุมกุมาร” อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพระราชามหาตปาตะพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรสถูกพระราชบิดาให้ตัดมือ เท้า และศีรษะเสีย มาถึงชาติปัจจุบันนี้บุคคลทั้งสองนั้นก็ได้มาเกิดในตระกูลศากยราชเหมือนกัน แต่พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระเทวทัตก็ได้ออกบวชสำเร็จฌานโลกีย์โยมจึงสงสัยว่า ข้อที่ว่า “กุศลให้ผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ทำให้เกิดในนรก กุศลและอกุศลมีผลไม่เสมอกัน” แต่เหตุใดบางชาติพระเทวทัตก็ยิ่งกว่าบางชาติก็เสมอกัน บางชาติก็ต่ำกว่า จะว่ามีผลไม่เสมอกันอย่างไร จะว่าต่างกันอย่างไร ถ้าดำกับขาวมีคติเสมอกัน กุศลกับอกุศลก็ต้องมีคติเสมอกัน พระคุณเจ้าข้า ? ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร กุศลกับอกุศลไม่ใช่มีผลเสมอกัน ไม่ใช่ว่าพระเทวทัตจะทำผิดต่อคนทั้งหลายเสมอไป ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำความผิดเลย ผู้ใดทำผิดต่อพระโพธิสัตว์ผู้นั้นก็ได้รับผลร้าย เวลาพระเทวทัตได้เกิดเป็นพระราชาก็ได้ปกครองบ้านเมืองดี มีการให้สร้างสะพานสร้างศาลาและสระน้ำก็มี ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนขอทานก็มี แล้วเขาก็ได้รับสมบัติในชาตินั้นด้วยผลแห่งบุญอันนั้น ใครไม่อาจกล่าวได้ว่าพระเทวทัตได้เสวยสมบัติด้วยไม่ได้ให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม อบรมจิตใจเลย ข้อที่มหาบพิตรตรัสว่าพระเทวทัตกับพระโพธิสัตว์พบกันเสมอนั้นไม่จริง ตั้งร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติก็ไม่พบกัน นานจึงจะพบกันสักชาติหนึ่ง เหมือนกับเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทร โผล่ขึ้นมาตั้งแสนครั้งก็ไม่พบขอนไม้สักทีก็มี หรือเปรียบเหมือนกับการที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นของได้แสนยากฉะนั้น พระสารีบุตรเถระได้เกี่ยวเนื่องกับพระโพธิสัตว์ คือเป็นบิดา เป็นปู่ เป็นอา เป็นพี่ชาย น้อยชาย เป็นบุตร เป็นหลาน เป็นมิตรสหาย กันกับพระโพธิสัตว์ก็มีแต่ว่าหลายแสนชาติกว่าจะได้เกี่ยวเนื่องกันสักชาติหนึ่ง ด้วยเหตุว่าสัตว์ทั้งหลายในวัฏสงสารที่ถูกระแสสงสารพัดไป ย่อมพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็มี พบกับสิ่งอันเป็นที่รักก็มี เหมือนกับน้ำที่ไหลบ่าไป ย่อมพบของสะอาดก็มี ไม่สะอาดก็มี ดีก็มี ไม่ดีก็มี ฉะนั้น พระเทวทัตคราวเกิดเป็น “อธรรมยักษ์” ตัวเองก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ยังแนะนำผู้อื่นไม่ให้ตั้งอยู่ในธรรมอีก แล้วไปตกนรกใหญ่อยู่ถึง ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี ส่วนพระโพธิสัตว์เมื่อคราวเกิดเป็น “สุธรรมยักษ์” ตัวเองก็ตั้งอยู่ในธรรม ยังชักนำบุคคลเหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในธรรมอีก ชาตินั้นได้ขึ้นไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ตลอด ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี มาชาติปัจจุบันนี้พระเทวทัตก็ไม่เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าจนถึงกับทำสังฆเภทแล้วจมลงไปในพื้นดิน ส่วนสมเด็จพระชินสีห์ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงแล้วก็ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงจึงควรเห็นว่า กุศลกับอกุศลให้ผลต่างกันมากขอถวายพระพร”
“ สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว”

อธิบาย

ฏีกามิลินท์ ท่านอธิบายข้อที่กล่าวว่า “พระเทวทัตเกิดเป็นพญาสุนัขจิ้งจอก เป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปนั้น” มีแจ้งอยู่ในสัพพทาฐิชาดก คือในชาดกนั้นว่ามีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งได้ยินพราหมณ์คนหนึ่งไปนั่งร่ายมนต์ปฐวิชัยอยู่ในป่าช้าแห่งหนึ่งก็จำเอามนต์นั้นได้ เมื่อเข้าไปร่ายมนต์ในป่าหิมพานต์ สัตว์ทั้งหลายมีพญาราชสีห์เป็นต้น ก็เกรงกลัวอำนาจ ยอมมอบตัวเป็นทาสทั้งสิ้น ตั้งให้สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเป็นพญา เรียกว่า “พญาทาฐิกะ” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวมีเล็บทั้งปวง แล้วพญาทาฐิกะนั้นก็มีใจกำเริบฮึกเหิมขึ้นนั่งบนหลังพญาราชสีห์กรีฑาทัพสัตว์ป่าเข้าไปล้อมเมืองพาราณสีไว้ คราวนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชครูของพระเจ้าพาราณสี มีชื่อว่าวิธุรบัณฑิต ได้ออกความคิดฆ่าพญาสุนัขจิ้งจอกนั้นเสียทั้งบริวารเมื่อรู้ว่าพญาสุนัขจิ้งจอกยกกองทัพมาล้อมเมือง จะให้ราชสีห์แผดเสียงให้คนตายหมดทั้งเมือง จึงขอผลัดกับพญาสุนัขจิ้งจอกไว้ ๗ วัน หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์จึงประกาศให้ชาวเมืองอุดหูด้วยสำลี เมื่อพญาราชสีห์แผดเสียงแล้ว พญาสุนัขจิ้งจอกกับบริวารซึ่งอยู่ในที่มีประมาณ ๓ โยชน์ ก็มีอันแก้วหูแตกตายสิ้น ดังนี้

ในชาดกไม่ได้กล่าวว่า “พญาสุนัขจิ้งจอกเป็นใหญ่กว่าพระราชาในชมพูทวีปเลย” แต่ในมิลินทปัญหาว่า “พญาสุนัขจิ้งจอกกระทำพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้ยอมเป็นบริวานของตน” เป็นอันผิดจากชาดกไป ฉะนั้นควรถือชาดกเป็นใหญ่ เพราะมีมาก่อนมิลินทปัญหา

ปัญหาที่ ๖ ถามเกี่ยวกับนางอมราเทวีของมโหสถ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ถ้าสตรีทั้งปวงได้ขณะคือ โอกาส ๑ ได้ที่ลับ ๑ ถูกเกี้ยว ๑ พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล้วต้องทำความชั่ว ถึงไม่พบเห็นบุรุษอื่นที่ดีกว่าคนง่อยเปลี้ย ก็ต้องทำความชั่วกับคนง่อยเปลี้ย” ดังนี้ แต่มีกล่าวไว้อีกว่า “นางอมราภรรยาของมโหสถ ถูกมโหสถทิ้งไว้ที่กระท่อมยายแก่คนหนึ่ง ให้อยู่ในที่สงัดโดยลำพังแล้ว ให้บุรุษไปเล้าโลมด้วยทรัพย์ตั้งพัน ก็ไม่ยอมทำความชั่ว” ถ้าข้อที่ตรัสไว้นั้นเป็นของจริง ข้อที่กล่าวถึงนางอมรานั้นก็ไม่จริง ถ้าข้อที่กล่าวถึงนางอมรานั้นจริง ข้อที่ตรัสไว้นั้นก็ไม่จริง ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองอย่างนั้นจริงทั้งนั้น แต่นางอมรานั้นไม่ได้ขณะโอกาส ไม่ได้ที่ลับ ไม่ถูกเกี้ยวข้อที่ว่า นางอมราไม่ได้โอกาสนั้น คือนางอมรากลัวถูกติเตียนในโลกนี้ ๑ กลัวไฟนรกในโลกหน้า ๑ ยังไม่สละมโหสถซึ่งเป็นที่รักของตน ๑ ยังเคารพมโหสถอยู่มาก ๑ ยังเคารพธรรมอยู่มาก ๑ ยังมีนิสัยติเตียนความเลวอยู่ ๑ ไม่อยากจะทำลายความดีของตน ๑ รวมเป็นเหตุหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้จึงเรียกว่าไม่ได้โอกาส ข้อที่ว่าไม่ได้ที่ลับนั้น คือนางอมราเห็นว่าถึงมนุษย์ไม่เห็น อมนุษย์ก็ต้องเห็น ถ้าอมนุษย์ไม่เห็น ผู้รู้จักจิตใจของผู้อื่นก็ต้องเห็น ถ้าผู้รู้จิตใจของผู้อื่นไม่เห็น ตัวเองก็ต้องเห็น นึกอยู่อย่างนี้ จึงไม่ทำความชั่วในคราวนั้น ข้อที่ว่าไม่ถูกเกี้ยวนั้น คือถูกเกี้ยวก็จริงแต่ว่าเหมือนกับไม่ถูกเกี้ยว เพราะนางอมรานึกเกรงความดีของมโหสถอยู่มาก นางรู้ว่ามโหสถเป็นคนเจ้าปัญญา ประกอบด้วยองค์คุณถึง ๒๘ ประการ คือเป็นผู้แกล้วกล้า ๑ เป็นผู้มีความละอายต่อความชั่ว ๑ เป็นผู้กลัวความชั่ว ๑ มีพรรคพวก ๑ มีมิตรสหาย ๑ อดทน ๑ มีศีล ๑ พูดจริง ๑ มีความบริสุทธิ์ ๑ ไม่ขี้โกรธ ๑ ไม่ถือตัว ๑ ไม่ริษยา ๑ มีความเพียร ๑ รู้จักหาทรัพย์ ๑ รู้จักยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น ๑ ชอบแบ่งปัน ๑ มีวาจาไพเราะ ๑ รู้จักเคารพยำเกรง ๑ เป็นคนอ่อนโยน ๑ ไม่โอ้อวด ๑ ไม่มีมารยา ๑ มีความคิดดีมาก ๑ มีวิชาดีมาก ๑ มีชื่อเสียง ๑ เกื้อกูลผู้อาศัย ๑ เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง ๑ มีทรัพย์ ๑ มียศ ๑ นางอมราเห็นว่าผู้ที่มาเกี้ยวนั้นสู้มโหสถไม่ได้ จึงไม่ยอมทำความชั่ว ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ...พระนาคเสน คำแก้ของพระผู้เป็นเจ้านี้ ถูกต้องดีแล้ว”

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความไม่กลัวแห่งพระขีณาสพ

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายหมดความสะดุ้งกลัว หมดความหวังต่อสิ่งใดๆ แล้ว” ดังนี้ แต่มีกล่าวไว้อีกว่า “พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้เห็นช้างธนบาล (พระเทวทัตปล่อยมา) วิ่งตรงมาข้างหน้าก็พากันสละพระพุทธเจ้าแยกกันไปคนละทิศละทาง ยังเหลือแต่พระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น” จึงขอถามว่า พระอรหันต์เหล่านั้นหลีกไปเพราะความกลัว ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าจะปรากฏด้วยกรรมของพระองค์เอง หรืออยากเห็นพระปาฏิหาริย์อันชั่งไม่ได้ อันไพบูลย์อันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ของพระตถาคตเจ้าหรือย่างไร...ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าคำว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีความกลัว ความสะดุ้ง ความหวังจริงแล้ว” ข้อที่ว่า “พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เห็นช้างวิ่งตรงมา ก็ทิ้งพระพุทธเจ้าเสียวิ่งไปองค์ละทิศละทาง ยังเหลือแต่พระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น” ก็ผิด ถ้าว่าข้อนี้ถูก ข้อที่ว่า “พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่มีความกลัว ไม่มีความสะดุ้ง ไม่มีความหวังต่อสิ่งทั้งปวงนั้น” ก็ผิด ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยเถิด”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นจริงทั้งนั้น ก็แต่ว่าการที่ทิ้งพระพุทธองค์ไปนั้น ไม่ใช่เพราะความกลัว เพราะเหตุที่ให้กลัวนั้นพระอรหันต์ตัดขาดไปสิ้นแล้ว ขอถวายพระพร ปฐพีใหญนี้เมื่อถูกขุดหรือถูกทำลาย หรือรองรับไว้ซึ่งทะเล และภูเขาต่างๆ นั้น รู้จักกลัวหรือไม่? ”
“ ไม่รู้จักกลัว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะอะไร มหาบพิตร? ”
“ เพราะเหตุที่ให้กลัวหรือสะดุ้งนั้น ไม่มีแก่ปฐพีใหญ่นี้”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เหตุที่ให้กลัวหรือสะดุ้งก็ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย อนึ่ง ยอดภูเขาเวลาถูกทำลาย หรือถูกตี ถูกเผาด้วยไฟ รู้จักกลัวหรือไม่ ? ”
“ ไม่รู้จักกลัว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ”
“ เพราะยอดภูเขานั้นไม่มีเหตุที่จะให้กลัวหรือสะดุ้ง”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระอรหันต์ทั้งหลายก็ไม่มีเหตุที่ให้กลัว ให้สะดุ้งถึงสัตว์โลกทั้งหลายในแสนโลกธาตุ จะถืออาวุธมาล้อมพระอรหันต์องค์เดียว ก็ไม่อาจทำจิตของพระอรหันต์ให้สะดุ้งกลัวได้ ก็แต่ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายในคราวนั้นได้นึกว่า วันนี้เมื่อพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐกว่าเทพยดามนุษย์ทั้งหลายเสด็จเข้าสู่เมืองนี้ ช้างธนบาลก็วิ่งตรงมา พระอานนท์ผู้เป็นอุปฏฐากก็จะไม่สละพระพุทธองค์ ถ้าพวกเราไม่สละพระพุทธองค์ไป คุณของพระอานนท์ก็จะไม่ปรากฏ เหตุที่จะให้ทรงแสดงธรรมก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อพวกเราสละไป มหาชนหมู่ใหญที่ได้ฟังธรรมแล้วก็จักพ้นจากกิเลสเป็นอันมาก คุณของพระอานนท์ก็จะปรากฏ พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นเล็งเห็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงได้แยกไปองค์ละทิศองค์ละทาง ขอถวายพระพร ”
“ สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่า ความกลัวหรือความสะดุ้ง ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ”

ปัญหาที่ ๘ ถามคุณและโทษแห่งสันถวไมตรีและเรื่องพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้เกิดทาง

“ ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า “ภัยเกิดจากสันถวะคือความชอบกัน ธุลีย่อมเกิดจากที่อยู่อาศัย ความไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีความชอบกันเป็นความเห็นของมุนี” แล้วตรัสไว้อีกว่า “บุคคลควรสร้างวิหารคือที่อยู่ให้น่ายินดี แล้วให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตรมาอยู่” ดังนี้ ถ้าตรัสไว้อย่างนี้จริง ข้อที่ตรัสว่า “ให้สร้างวิหารนั้น” ก็ผิด ถ้าคำว่า “ให้สร้างวิหารนั้น” ถูก ข้อที่ตรัสไว้อย่างนั้นก็ผิด ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ที่ตรัสไว้สองอย่างนั้นจริงทั้งนั้น ข้อที่ตรัสว่า “ภัยเกิดจากสันเถวะความรักใคร่ชอบพอ ธุลีเกิดจากที่อยู่อาศัย การไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีสันถวะเป็นความเห็นของมุนีนั้น” เป็นคำแสดงสภาพ เป็นคำที่ไม่เหลือ เป็นคำไม่มีปัญหา เป็นของสมควรแก่สมณะ เป็นปฏิทาของสมณะ เป็นการปฏิบัติของสมณะ สมณะต้องปฏิบัติเหมือนกับเนื้อในป่า เมื่อจะไปที่ไหนก็ไม่ห่วงใย ไปได้ตามสบายฉะนั้น ข้อที่ตรัสว่า “บุคคลควรสร้างวิหารให้เป็นที่ยินดี แล้วให้พระภิกษุผู้เป็นพหูสูตรมาอยู่นั้น” เป็นเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ ๑. เป็นเพราะผู้ได้สร้างวิหารให้เป็นทานเกษมเยือกเย็น อันเป็นทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ (มรรค ๘) เมื่อผู้สั่งสอนไม่มี ทางนั้นก็ลบเลือนหายไป พระตถาคตเจ้าจึงทรงเล็งเห็นทางนั้น แล้วทรงบอกให้แก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลาย อีกประการหนึ่งหญิงที่มีบุตรเกิดในท้องเขาเรียกว่า “ผู้ทำให้ลูกเกิด” ฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงเห็นทาง แล้วทรงบอกทางที่หายไปแล้วนั้น จึงเรียกว่า “ผู้ทำให้เกิดทาง” ฉะนั้น อีกอย่างหนึ่งเหมือนกับบุรุษคนหนึ่งได้พบของที่หายไป ก็มีการพูดกันว่าของนั้นเกิดขึ้นด้วยผู้นั้น หรือบุรุษคนใดคนหนึ่งถางป่าที่รกให้เตียน ทำให้เกิดเป็นพื้นที่สะอาดขึ้น ก็มีการกล่าวกันว่า ที่นั้นเป็นของบุรุษนั้น บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นเจ้าของฉันใด พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นทางเก่าของพระพุทธเจ้าในปางก่อนแล้วทรงบอก ก็เรียกว่า “ผู้ทำให้เกิดทางอันยังไม่เกิด” ฉันนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

จบวรรคที่ ๕

วรรคที่ ๖

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงโทษแห่งปฏิปทา


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่าข้าแต่พระนาคเสน นับแต่พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำทุกกรกิริยาแล้วมา ก็ไม่ได้ทำความเพียรสู้รบกับกิเลส กำจัดเสนามัจจุ กำหนดอาหารในที่อื่นอีก ในการทำความเพียรยิ่งใหญ่อย่างนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ได้ความดีใจอย่างใด จึงได้ทรงเปลี่ยนความคิดอย่างนั้นเสีย แล้วได้ตรัสไว้ว่า “เราไม่ได้สำเร็จความรู้ความเห็นพิเศษอันเป็นของพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ธรรมดา ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้เลย ทางตรัสรู้ทางอื่นเห็นจะมี” ทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เลิกทุกกรกิริยานั้นเสีย แล้วได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณด้วยทางอื่น แล้วทรงแนะนำสั่งสอนพวกสาวกด้วยปฏิปทานั้นอีกว่า “เธอทั้งหลาย จงทำความเพียร จงประกอบในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนามัจจุ เหมือนช้างหักไม้อ้อฉะนั้น” ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าทรงเบื่อหน่ายในปฏิปทาใดแล้ว เหตุไรจึงทรงชักนำพวกสาวกในปฏิปทานั้น ? ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร ในคราวนั้นก็ดี ในบัดนี้ก็ดี ปฏิปทานั้นก็คงเป็นปฏิปทานั้นเอง พระโพธิสัตว์เจ้าปฏิบัติตามปฏิปทานั้นแล้วจึงสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญู ในเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงทำความเพียรอันยิ่ง ก็ได้ตัดอาหารไม่ให้เหลือ เมื่อตัดอาหารหมดแล้ว ก็หมดกำลังใจ เมื่อหมดกำลังใจ ก็ไม่อาจสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูได้ เมื่อทรงเสวยอาหารที่เป็นคำๆ ตามสมควร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นแหละทำให้ได้พระสัพพัญญุตญาณแก่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เหมือนกับอาหารอันให้ความสุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายฉันนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ไม่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณในขณะนั้นด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่โทษแห่งการทำความเพียร ไม่ใช่โทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการตัดอาหารเท่านั้น ปฏิปทานั้นเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ บุรุษเดินทางไกลด้วยความรีบร้อนจะต้องเสียกำลังแข้งขา หรือเป็นง่อยเปลี้ยเดินไปมาไม่ได้ การที่เดินไปมาไม่ได้นั้นจะว่าเป็นโทษแห่งแผ่นดินอย่างนั้นหรือ...มหาบพิตร ?”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า แผ่นดินอันใหญ่นี้ย่อมมีประจำอยู่ทุกเมื่อ การที่บุรุษนั้นเสียกำลังแข้งขาจนเดินไม่ได้นั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งแผ่นดิน เป็นโทษแห่งความพยายามต่างหาก ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การที่สมเด็จพระพิชิตมารไม่สำเร็จสัพญญุตญาณในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหาก ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่ออีกอย่างหนึ่ง บุรุษนุ่งผ้าที่เศร้าหมองไม่รู้จักซัก ปล่อยให้เศร้าหมองอยู่นั่นเอง การที่ผ้าเศร้าหมองนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งน้ำ น้ำมีอยู่ทุกเมื่อ เป็นโทษแห่งบุรุษนั้นต่างหากฉันใด การที่พระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณในขณะที่บำเพ็ญทุกกรกิริยานั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหากฉันนั้น ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระภควันต์จึงทรงสั่งสอนชักชวนพวกสาวก ด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นเป็นของดีไม่มีโทษ เป็นของอยู่อย่างนั้นแหละ มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า

“ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีเครื่องไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี จงยินดีในเครื่องไม่เนิ่นช้า” ดังนี้ โยมขอถามว่า เครื่องไม่เนิ่นช้านั้นได้แก่อะไร?”
พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร เครื่องไม่เนิ่นช้าได้แก่โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล ”
พระเจ้ามิลินท์ซักถามต่อไปว่า “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าโสดาปัตติผลตลอดถึงอรหัตผลเป็นเครื่องไม่เนิ่นช้าแล้ว เหตุใดภิกษุทั้งหลายจึงเล่าเรียนสอบถามซึ่งพระพุทธวจนะมีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อติวุตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ (รวมเรียกพระไตรปิฏก) อยู่ และยังเกี่ยวข้องอยู่กับนวกรรม คือการก่อสร้าง และเกี่ยวข้องอยู่กับทาน การบูชา ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ากระทำกรรมที่ทรงห้ามไม่ใช่หรือ? ”
พระนาคเสนชี้แจงว่า “ ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใดยังเล่าเรียนสอบถามอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับทานอยู่ เกี่ยวข้องกับการบูชาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นทั้งสิ้นชื่อว่ากระทำเพื่อถึงเครื่องไม่เนิ่นช้าทั้งนั้น ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่านั้นใดบริสุทธิ์ตามสภาพอยู่แล้ว มีวาสนาบารมีอันได้อบรมไว้ในปางก่อนมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าด้วยขณะแห่งจิตดวงเดียว (ได้บรรลุธรรมในชั่วขณะจิตเดียว) ส่วนภิกษุเหล่าใดยังเป็นผู้ศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าด้วยประโยค คือยังต้องบำเพ็ญบารมีด้วยสิ่งหล่านี้อยู่ เนื้อความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา คือสมมุติว่ามีบุรุษชาวนาผู้หนึ่งหว่านพืชลงในนาแล้ว ก็เก็บผลแห่งพืชข้าวได้ด้วยกำลังและความเพียรของตนโดยไม่ต้องล้อมรั้ว ก็มีบุรุษอีกคนหนึ่งหว่านพืชลงในนาแล้ว ต้องเข้าป่าตัดเอากิ่งไม้ ใบไม้ และหลักรั้ว มาทำรั้วจึงได้ผลแห่งพืชข้าว การแสวงหาเครื่องล้อมรั้วนั้นก็เพื่อพืชข้าวฉันใด ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษที่ได้ข้าวด้วยไม่ต้องล้อมรั้วฉะนั้น ส่วนภิกษุเหล่าใดยังศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าไม่เนิ่นช้า ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับบุรุษที่ล้อมรั้วแล้วจึงได้ข้าวฉะนั้น อีกประการหนึ่ง ขั้วผลไม้ย่อมอยู่บนยอดต้นไม้ใหญ่ มีผู้มีฤทธิ์คนใดคนหนึ่งมาถึงต้นไม้ใหญ่นั้น ก็นำเอาผลไม้นั้นไปได้ทีเดียว ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ไม่มีฤทธิ์เมื่อมาถึงต้นไม้นั้นแล้วต้องหาตัดไม้และเถาวัลย์มาผูกเป็นพะอง พาดขึ้นต้นไม้ใหญ่นั้นจึงจะเก็บเอาผลไปได้ การที่บุรุษนั้นหาไม้มาทำพะองก็เพื่อต้องการผลไม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่เนิ่นช้า คือสำเร็จได้ด้วยขณะจิตเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนผู้มีฤทธิ์นำผลไม้นั้นไปได้ฉะนั้น ส่วนพวกที่ยังศึกษาอยู่ ก็ย่อมสำเร็จมรรคผลด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับบุรุษนำผลไม้ไปได้ด้วยอาศัยมีพะองพาดขึ้นไปฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับผู้จะทำประโยชน์คนหนึ่งมีความเข้าใจดี ก็ทำให้สำเร็จได้โดยลำพังผู้เดียว อีกคนหนึ่งเป็นคนมีทรัพย์แต่ไม่เข้าใจดี ต้องจ้างคนอื่นให้ช่วยทำจึงสำเร็จได้ การที่บุรุษนั้นมีทรัพย์จ้างคนอื่นก็เพื่อกิจธุระนั้นฉันใด พวกใดที่บริสุทธิ์ตามสภาพแล้วได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว พวกนั้นก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖ ด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษสำเร็จประโยชน์โดยลำพังผู้เดียวฉะนั้น ส่วนพวกใดยังศึกษาอยู่ พวกนั้นย่อมสำเร็จอริยสัจด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับบุรุษผู้ให้สำเร็จประโยชน์ด้วยเอาทรัพย์จ้างผู้อื่นฉะนั้น ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว โยมขอรับทราบว่าถูกต้องดีแท้ ”


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น