มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 27 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๖ ปัญหาที่ ๓ ถามถึงความเป็นพระอรหันต์แห่งคฤหัสถ์, ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องโลมกัสสปฤาษี, ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องพญาช้างฉัททันต์, ปัญหาที่ ๖ ถามถึงเรื่องฆฏิการอุบาสก, ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเป็นพระราชาของพระพุทธเจ้า, ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเหตุที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์, ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสัมมาปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต, วรรคที่ ๗ ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องพระสึก
ตอนที่ ๒๗
ปัญหาที่ ๓ ถามถึงความเป็นพระอรหันต์แห่งคฤหัสถ์
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่า "คฤหัสถ์ผู้สำเร็จอรหันต์แล้ว ย่อมมีคติ ๒ ประการ คือบรรพชาในวันนั้น ๑ ปรินิพพานในวันนั้น ๑ ไม่อาจเลยวันนั้นไปได้" ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าในวันนั้นไม่ได้อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตร จีวร ผู้สำเร็จอรหันต์แล้วนั้นจะบรรพชาเอง หรือเลยวันนั้นไป หรือมีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งมาให้บรรพชาจะได้หรือไม่ หรือต้องปรินิพพานไป ? "
พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งบรรพชาเองไม่ได้ ถ้าบรรพชาเองก็ชื่อว่า "ไถยสังวาส" (ลักเพศ คือปลอมบวช) และเลยวันนั้นไปก็ไม่ได้ จะมีพระอรหันต์องค์อื่นมาหรือไม่มีก็ตาม ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น"
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นความเป็นพระอรหันต์ ก็ทำให้สิ้นชีวิตน่ะซิ "
" ขอถวาายพระพร คฤหัสถ์ถึงสำเร็จอรหันต์แล้วต้องบรรพชา หรือปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่มีกำลังพอ ข้อที่สิ้นชีวิตไปนั้นไม่ใช่เป็นเพราะโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นเพราะโทษแห่งคฤหัสถ์ที่ไม่มีกำลังพอต่างหาก ขอถวายพระพร ธรรมดาโภชนาหารย่อมรักษาอายุ รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายไว้ แต่ว่าโภชนาหารนั้น ย่อมทำให้สิ้นชีวิตได้ด้วยไฟย่อยอาหารไม่พอ การสิ้นชีวิตนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งอาหารนั้น เป็นโทษแห่งไฟย่อยอาหารไม่พอฉันใด การที่คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ข้อนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นโทษแห่งเพศคฤหัสถ์ที่มีกำลังไม่พอฉันนั้น อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุคคลยกเอาก้อนศิลาหนักๆ วางลงบนฟ่อนหญ้าเล็กๆ ฟ่อนหญ้าเล็กๆ นั้น ก็ต้องจมลงไปเพราะกำลังไม่พอฉันใด ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เหมือนบุรุษผู้มีบุญน้อยเมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่แล้ว ก็ไม่อาจรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ฉันใด คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อาจรับรองความเป็นอรหันต์ไว้ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "
ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องโลมกัสสปฤาษี
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่เมื่อก่อน เราไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย" ดังนี้ แต่คราวเสวยพระชาติเป็นโลมกัสสปฤาษี ได้เห็นนางจันทวดี ก็ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าข้อว่า "ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย" เป็นของถูก ข้อว่า "ฆ่าสัตว์บูชายัญเมื่อครั้งเป็นโลมกัสสปฤาษี" ก็ผิดไป ถ้าข้อว่า "เป็นโลมกัสสปฤาษีได้ฆ่าสัตว์บูชายัญ" นั้นถูก ข้อว่า "ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์" นั้นก็ผิด ปัญหาข้อนี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยากโปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด "พระนาคเสนจึงตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า "เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่ชาติก่อน เราไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย" นั้นก็ถูก ข้อว่า "ครั้งเป็นโลมกัสสปฤาษีได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ" นั้นก็ถูก ก็แต่ว่าข้อนั้นเป็นด้วยอำนาจราคะ รักใคร่หลงใหลในนางจันทวดี หาได้มีเจตนาแกล้งฆ่าสัตว์ให้ตายไม่ "
" ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลย่อมฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ด้วยอำนาจราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ โลภะ ๑ ชีวิต ๑ ความโง่เขลา ๑ ตามบทบัญญติ ๑ ส่วนโลมกัสสปฤาษีกระทำนั้น เป็นการกระทำปกติ "
" ขอถวายพระพร ไม่ใช่เป็นการกระทำปกติ ถ้าโลมกัสสปฤาษีน้อมใจลงไปเพื่อจะบูชายัญใหญ่ตามสภาวะปกติ ไม่ใช่ด้วยปัญญาก็คงไม่กล่าวไว้ว่า "บุคคลไม่ควรต้องการแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขต มีสาครเป็นกุณฑล พร้อมกับการนินทา ดูก่อนเสยหะอำมาตย์ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด..." ดังนี้ ขอถวายพระพร โลมกัสสปฤาษีผู้พูดอย่างนี้ แต่พอได้เห็นพระนางจันทวดีก็เสียสติหลงใหล ได้ฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยความเสียสติ ขอถวายพระพร ธรรมดาคนเสียสติคือคนบ้า ย่อมเหยียบไฟก็ได้ กินยาพิษก็ได้ วิ่งเข้าหาช้างตกมันก็ได้ แล่นลงไปสู่ทะเลที่ไม่ใช่ท่าก็ได้ ตกน้ำครำก็ได้ เหยียบหนามเหยียบตอก็ได้ กระโดดลงจากภูเขาก็ได้ กินของน่าเกลียดโสโครกก็ได้ เปลือยกายเดินไปตามถนนก็ได้ ทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้ต่างๆ ฉันใด โลมกัสสปฤาษีก็เสียสติ จึงได้ฆ่าสัตว์บูชายัญในคราวนั้น บาปที่คนบ้าทำ ย่อมไม่มีโทษ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาตมภาพขอถามว่า ถ้ามีคนบ้าทำผิด จะทรงลงโทษหรือไม่ ? "
" ไม่ลงโทษ พระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่ให้ไล่ตีให้หนีไปเท่านั้น "
" ขอถวายพระพร ความผิดย่อมไม่มีแก่คนบ้าฉันใด โลมกัสสปฤาษีก็ไม่มีความผิดในการฆ่าสัตว์บูชายัญ เพราะความเป็นบ้าในคราวนั้น พอจิตเป็นปกติขึ้นก็ได้สำเร็จอภิญญา ๕ อีก แล้วได้ขึ้นไปเกิดในพรหมโลกขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว "
อธิบาย เรื่องโลมกัสสปฤาษีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้เสวยพระชาติเป็นฤาษี ได้หลงรักพระราชธิดาของพระเจ้าพาราณสี จนยอมรับว่าจะไปฆ่าสัตว์บูชายัญ แต่พอยกพระขรรค์แล้วขึ้นด้วยคิดจะตัดคอช้าง ช้างก็ได้ร้องขึ้นด้วยความตกใจกลัว ขณะนั้น ช้าง ม้า โค ลา เป็นต้น ที่เขาผูกไว้เพื่อจะฆ่าบูชายัญ ก็ได้ร้องขึ้นด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวด้วยความกลัวตาย โลมกัสสปฤาษีรู้สึกสลดใจ พอก้มลงเห็นเงาบริขารฤาษีของตน มีชฏาเป็นต้น ก็ได้สติทันที แล้วกลับได้ฌานเหมือนอย่างเดิมขึ้นไปนั่งอยู่บนอากาศสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายแล้วก็กลับไปสู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม เป็นอันว่าโลมกัสสปฤาษีไม่ทันได้ฆ่าสัตว์บูชายัญ แต่ในมิลินทปัญหากล่าวว่า "ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ" เรื่องนี้ท่านอาจจะตั้งปัญหาถาม หมายถึงในขณะที่กำลังจะฆ่าก็ได้ จึงได้ใช้คำพูดตายตัวอย่างนั้น เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นบัณฑิต มีความชำนาญในพระไตรปิฏก จึงขอฝากให้ท่านผู้อ่านโปรดวินิจฉัยให้รอบคอบด้วย
ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องพญาช้างฉัททันต์
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคราวเป็นพญาช้างฉัททันต์ได้กล่าวไว้ว่า "เราได้จับนายพรานไว้ด้วยคิดว่าจะฆ่า แต่พอได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็นธงของฤาษีทั้งหลายเราก็นึกขึ้นได้ว่า ผู้ที่มีธงของพระอรหันต์เป็นผู้ไม่ควรฆ่า" ดังนี้ และมีกล่าวไว้อีกว่า "ครั้งพระองค์เป็นโชติปาลมาณพ ได้ด่าว่าสมเด็จพระพุทธกัสสป ด้วยคำว่า "สมณะศีรษะโล้น..." ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ถึงเป็นเดรัจฉานก็เคารพผ้ากาสาวะ ข้อที่ว่า "โชติปาลมาณพด่าว่าสมเด็จพระพุทธเจ้ากัสสปอย่างนั้น" ก็ผิดไป ถ้าไม่ผิดข้อว่า "พญาช้างฉัททันต์เคารพผ้ากาสาวะนั้น" ก็ผิด เป็นเพราะเหตุใด พระโพธิสัตว์ผู้เป็นมนุษย์ผู้มีญาณแก่กล้าแล้ว ได้เห็นสมเด็จพระพุทธกัสสปผู้ล้ำเลิศในโลก ผู้ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะจึงไม่เคารพ ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอได้โปรดแก้ไขด้วย "พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ทั้งสองเรื่องนั้นถูกทั้งนั้น ก็แต่ว่าเรื่องที่โชติปาลมาณพว่าสมเด็จพระพุทธกัสสปในคราวนั้น เป็นด้วยอำนาจเขาถือชาติตระกูลของเขาเกินไป คือ โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส มารดาบิดา พี่น้องหญิง พี่น้องชาย ทาสีทาสาคนใช้ คนบำเรอ และศิษย์ของมาณพนั้นทั้งสิ้น ล้วนแต่เคารพพรหม ถือว่าพวกพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสูงสุด แล้วติเตียนเกลียดชังบรรพชิตทั้งหลาย โชติปาลมาณพได้เชื่อถือตามลัทธิของพวกพราหมณ์ ได้ฟังถ้อยคำของพวกพราหมณ์ที่ด่าว่าบรรพชิตอยู่เสมอ เวลาช่างปั้นหม้อชื่อว่าฆฏิการะ ชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตอบว่า "ต้องการอะไรกับการที่จะพบสมณะศีรษะโล้น..." ขอถวายพระพร ยาอมฤตเมื่อผสมกับยาพิษก็กลายเป็นรสขม ส่วนยาพิษเวลามาผสมกับยาอมฤต ก็กลายเป็นรสหวานฉันใด น้ำเย็นถูกไฟก็ร้อน คนเลวได้มิตรดีก็เป็นคนดี คนดีได้มิตรเลวก็เป็นคนเลวฉันใด โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสก็กลายเป็นอันธพาลไปตามตระกูลฉันนั้น กองไฟใหญ่ที่ลุกรุ่งโรจน์อยู่ ก็มีแสงสว่างดี เวลาถูกน้ำก็หมดแสง กลายเป็นสีดำไป เหมือนกับผลไม้ที่หล่นจากขั้ว แก่งอมแล้วเน่าไปฉะนั้น ด้วยเหตุนั้นแหละ มหาบพิตร โชติปาลมาณพผู้มีปัญญา มีแสงสว่าง ด้วยความไพบูลย์แห่งญาณอย่างนั้นก็จริง แต่เวลาเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสก็กลายเป็นอันธพาลไป ถึงกับได้ด่าว่าพระพุทธเจ้า เวลาเข้าไปถึงพระพุทธเจ้าแล้วจึงรู้จักคุณของพระองค์ แล้วได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ทำอภิญญาสมาบัติให้เกิด แล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่าถูกต้องดีแล้ว "
อธิบาย เรื่องที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญาฉัททันต์นั้น มีปรากฏอยู่ในชาดกว่า ยังมีนางภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง ในขณะที่นั้งฟังพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ได้ระลึกชาติหนหลังว่า ตนเองเคยเกิดเป็นนางพญาช้างซึ่งเป็นภรรยาของพญาฉัททันต์ ต่อมาได้ให้นายพรานฆ่าพญาช้างนั้น ครั้งนึกได้อย่างนี้จึงร้องไห้ขึ้นในท่ามกลางคนทั้งหลาย พระศาสดาทรงปรารภเหตุนี้แล้ว จึงทรงตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาลพญาฉัททันต์มีอัครมเหสีอยู่ ๒ เชือก ชื่อว่า จูฬสุภัททา และมหาสุภัททา ได้อาศัยอยู่ในป่าหินพานต์พร้อมกับบริวารทั้งหลาย และได้กระทำการบูชากราบไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์อยู่เป็นนิจ ต่อมานางจูฬสุภัททาเกิดน้อยใจ ได้ผูกอาฆาตพยาบาทพญาฉัททันต์ จึงได้นำผลไม้ไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่าขอให้ได้ไปเกิดเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ครั้งปรารถนาดังนี้ จึงเริ่มอดอาหารจนถึงแก่ความตาย แล้วก็ได้ไปเกิดเป็นพระมเหสี มีพระนามว่า สุภัททา สมความปรารถนา ครั้นพระนางระลึกชาติหนหลังได้จึงให้นายพรานไปดักยิงพญาฉัททันต์ด้วยลูกศรอาบยาพิษ พญาช้างได้รับความเจ็บปวดมากจึงเอื้อมงวงจับไว้หวังจะฆ่าเสีย แต่พอได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่นายพรานเอามาคลุมศีรษะไว้อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่ตนมีความเคารพเลื่อมใสอยู่ จึงยับยั้งใจเอาไว้ได้ เมื่อซักถามจนทราบความแล้วไซร้ จึงก้มศีรษะลงให้นายพรานเลื่อยเอางา ในขณะที่เลื่อยนั้นพญาช้างได้รับความเจ็บปวดมากมีโลหิตไหลออกมาเต็มปาก พอนายพรานลับตาไปแล้ว นางพญาช้างมหาสุภัททาพร้อมกับบริวารก็มาถึง พอดีกับพญาฉัททันต์ได้สิ้นใจตายไปแล้ว ฝ่ายพระนางสุภัททาได้เห็นงาพญาช้างผู้เคยเป็นสามีที่รักของตน จึงเกิดความสลดใจจนถึงกับหัวใจแตกลงไปทันที ครั้งสมเด็จพระชินสีห์ทรงแสดงเรื่องนี้จบแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระนางสุภัททาได้มาเกิดเป็นภิกษุณีสาวรูปนี้ พญาฉัททันต์นั้นคือตัวเราตถาคตในบัดนี้
ปัญหาที่ ๖ ถามถึงเรื่องฆฏิการอุบาสก
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการะ กระทำอากาศให้เป็นหลังคา ฝนตกลงมาไม่รั่วตลอด ๓ เดือนฤดูฝน" แต่ตรัสไว้อีกว่า "พระคันธกุฏีของพระพุทธกัสสปฝนรั่ว" โยมจึงขอถามว่า เหตุไรพระคันธกุฏีของพระพุทธกัสสป ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพระบารมีแล้วฝนจึงรั่ว ถ้าที่อยู่ของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนไม่รั่วตลอด ๓ เดือนเป็นของถูกแล้ว คำที่ว่า "พระคันธกุฏีของพระพุทธกัสสปฝนรั่วนั้น" ก็ผิด ถ้าคำว่า "พระคันธกุฏีของพระพุทธกัสสปรั่ว" นั้นถูก คำที่ว่า "เรือนของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนตกลงมาไม่รั่ว ไม่เปียกนั้น" ก็ผิด ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยเถิด "พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น แต่ว่าฆฏิการช่างหม้อเป็นคนมีศีล มีธรรมอันดี ได้สร้างสมบุญกุศลไว้มากแล้ว ได้เลี้ยงมารดาบิดาผู้ชราตาบอดอยู่ เวลาที่เขาไม่อยู่ได้มีคนไปรื้อเอาหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขาไปมุงพระคันธกุฏีของพระพุทธเจ้าเสีย เวลาเขากลับมารู้เข้า เขาก็เกิดปีติโสมนัสเต็มที่ว่า เป็นอันว่าเราได้สละหลังคาถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสูงสุดในโลกแล้ว เขาจึงได้รับผลเห็นทันตาอย่างนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ย่อมไม่ทรงหวั่นไหว ด้วยอาการแปลกเพียงเท่านั้น เหมือนกับพระยาเขาสิเนรุราชอันไม่หวั่นไหวด้วยลมใหญ่อันพัดเอาตั้งแสนๆ ฉะนั้น หรือเหมือนกับมหาสมุทรอันไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักพร่อง ไม่รู้จักเปลี่ยงแปลง ด้วยน้ำที่ไหลไปจากคงคาใหญ่ๆ ตั้งหลายหมื่นหลายแสนสายฉะนั้น การที่พระคัทธกุฏีรั่วนั้นย่อมเป็นด้วยทรงพระมหากรุณาแก่มหาชน คือสมเด็จพระทศพรเจ้าทั้งหลาย ย่อมเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ จึงไม่ทรงรับปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง ด้วยทรงเห็นว่า เทพยดามนุษย์ทั้งหลายได้ถวายปัจจัยแก่พระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใส ว่าเป็นผู้ควรแก่การถวายอย่างเลิศแล้วก็พ้นจากทุคติทั้งปวง อีกประการหนึ่ง ทรงเห็นว่าอย่าให้คนอื่นๆ ติเตียนได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงต้องการสิ่งใดก็ทรงเนรมิตเอาเอง ดังนี้ ถ้าพระอินทร์หรือพระพรหมจะทำให้พระคันธกุฏีของพระพุทธเจ้าไม่รั่ว หรือถ้าหากพระพุทธเจ้าทรงทำเอง ก็จะมีผู้ติเตียนได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงทำสิ่งอันเป็นหน้าที่ของสัตว์โลกทั่วไป หาสมควรแก่พระองค์ไม่ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงขอวัตถุสิ่งของใดๆ ถึงไม่มีก็ไม่ทรงขอ จึงมีเทพยดามนุษย์สรรเสริญทั่วไป ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน ข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "
อธิบาย ขอนำเนื้อความใน ฆฏิการสูตรมาให้ทราบโดยย่อว่า สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภนายช่างหม้อชื่อว่าฆฏิการะ ผู้เป็นอุปัฏฐากที่เลิศของพระพุทธกัสสป ได้ชวนโชติปาลมาณพผู้เป็นสหายรักไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธกัสสปถึง ๓ ครั้ง มาณพก็ตอบปฏิเสธว่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะเห็นสมณะศีรษะโล้นผู้นั้น ต่อมาฆฏิการช่างหม้อได้ออกอุบายจนสามารถนำเพื่อนไปฟังธรรมได้ ครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธกัสสปได้ทรงแสดงธรรมว่า "ดูก่อนโชติปาล เราได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้เต็มเปี่ยมแล้ว จึงได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ แล้วมีภิกษุเป็นบริวาร ๒ หมื่นองค์ฉันใด เธอได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ให้เต็ม ก็จักได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ แล้วจักมีหมู่สมณะเป็นบริวารฉันนั้น อันผู้เช่นเธอหาสมควรอยู่ด้วยความประมาทไม่" โชติปาลมาณะได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความเลื่อมใสและได้ออกบวชในกาลต่อมา ดังนี้
ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเป็นพระราชาของพระพุทธเจ้า
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสได้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ" แต่ตรัสไว้อีกว่า "ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชา" ดัวนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าคำที่ว่า "เราเป็นพราหมณ์" นั้นถูก คำที่ว่า "เราเป็นพระราชา" ก็ผิด ถ้าคำที่ว่า "เราเป็นพระราชา" ถูก คำที่ว่า "เราเป็นพราหมณ์" ก็ผิด เพราะเหตุว่าในชาติๆ เดียว จะมี ๒ วรรณะ คือเป็นทั้งกษัตริย์ทั้งพราหมณ์ไม่ได้ ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขด้วย "พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ถูกทั้งสองอย่าง คือเหตุที่ให้เป็นพราหมณ์ก็มี เหตุที่ให้เป็นพระราชาก็มี "
" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุอะไรทำให้เป็นพราหมณ์ เหตุอะไรทำให้เป็นพระราชา ? "
" ขอถวายพระพร เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงละบาปอกุศลทั้งสิ้นนั้นแหละ ทำให้เป็นพราหมณ์ ธรรมดาผู้ชื่อว่าพราหมณ์ ย่อมล่วงพ้นความสงสัยทั้งสิ้นด้วยตนเอง อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาพราหมณ์ย่อมพ้นจาก ภพ คติ กำเนิด ทั้งสิ้น พ้นจากมลทินทั้งสิ้น ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้มากไปด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการเรียน การสอน การขวนขวาย การทรมานตน สำรวมตน มีนิยมเป็นกำหนดการ เป็นผู้รักษาไว้ซึ่งคำสอนและประเพณีอันดีทั้งปวง เป็นผู้อยู่ด้วยฌาน เป็นผู้ทรงทราบซึ่งความเป็นไปในภพน้อย ภพใหญ่ และคติทั้งปวง เป็นผู้ที่ได้พระนามขึ้นเองว่าเป็น พราหมณ์พร้อมกับเวลาที่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ ข้อที่ได้พระนามว่าเป็นพระราชานั้นเพราะธรรมดาพระราชาย่อมสั่งสอนนรชนในอาณาเขตของตน พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนสัตวโลกทั้งสิ้น ธรรมดาพระราชาย่อมครอบงำมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้หมู่ญาติรื่นเริง ทำให้หมู่ศัตรูทุกข์โศก ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวสะอาดปราศจากมลทิน มีซี่ไม่ต่ำกว่าร้อย มีคันไม้แก่นแน่นหนา นำมาซึ่งพระเกียรติยศและศิริอันใหญ่ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเศวตฉัตรอันบริสุทธิ์คือวิมุตติ มรรค ผล นิพพาน แล้วทรงทำหมู่เสนามารที่ปฏิบัติผิดให้เศร้าโศก ทรงทำเทพยดามนุษย์ที่ปฏิบัติถูกให้รื่นเริง ทรงยกเศรตฉัตรอัมมีซี่ คือพระปรีชาญาณอันประเสริฐ มีคันไม้แก่นแน่นหนาแข็งแรง คือพระขันติอันนำมาซึ่งยศและศิริอันใหญ่ในหมื่นโลกธาตุฉันนั้น ธรรมดาพระราชาย่อมเป็นที่กราบไหว้ของประชาชนผู้พบเห็นฉันใด พระพุทธเจ้าควรเป็นที่กราบไหว้ของเทพยดามนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น ธรรมดาพระราชาย่อมทรงโปรดปรานแก่ผู้ทำถูกฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงโปรดปรานผู้ปฏิบัติถูกฉันนั้น ธรรมดาพระราชาย่อมทรงเคารพนับถือโบราณพระราชประเพณี ดำรงราชสกุลวงศ์ไว้ให้ยั่งยืนฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพนับถือซึ่งพระพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนไว้ให้ดีฉันนั้น ด้วยเหตุนี้แหละมหาบพิตร สมเด็จพระธรรมสามิสร์จึงได้พระนามว่าเป็นพระราชาด้วยพระคุณธรรมของพระองค์เอง เหตุที่จะให้พระตถาคตเจ้าได้พระนามว่าเป็นพราหมณ์ และเป็นพระราชานั้นมีอยู่มาก ถึงจะพรรณนาไปตลอดกัปก็ไม่รู้จักสิ้น ไม่จำเป็นอะไรที่จะพูดให้มากเกินไป เชิญรับไว้เพียงย่อๆ เท่านี้เถิด ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน ท่านแก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "
ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเหตุที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดพร้อมกันในโลกธาตุอันเดียว" ก็พระตถาคตเจ้าทั้งปวง เมื่อจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อริยสัจ ๔ เมื่อจะให้ศึกษาก็ให้ศึกษาในไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เมื่อจะทรงพร่ำสอนก็ทรงพร่ำสอนในอัปปมาทปฏิบัติ (การเป็นผู้ไม่ประมาท) เหมือนกันทั้งสิ้น แต่เหตุไรจึงไม่เกิดพร้อมกัน ๒ องค์ โยมเห็นว่าถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันหลายองค์ จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่โลกมากยิ่งขึ้น แต่เหตุไรจึงเกิดพร้อมกับ ๒ องค์ไม่ได้ โยมสงสัย ? "พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร หมื่นโลกธาตุนี้ทรงไว้ได้เพียงพระคุณธรรมของพระพุทธเจ้าคราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ หมื่นโลกธาตุนี้ก็จะทรงอยู่ไม่ไหว จักถล่มทะลายไป เรือที่พอนั่งคนเดียวได้ เมื่อมีผู้มานั่ง ๒ คน เรือนั้นจะทรงอยู่ได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เรือนั้นต้องจม "
" ข้อนี้ก็อุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อีกประการหนึ่งบุรุษกินข้าวอิ่มแล้ว มีผู้ให้กินข้าวอีกเท่านั้นลงไป บุรุษนั้นจะเป็นสุขหรือไม่ ? "
" ไม่เป็นสุข พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเขาขืนกินลงไปให้มากอีกเท่านั้น เขาก็ต้องตาย "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อีกอย่างหนึ่ง มีเกวียนอยู่ ๒ เล่ม บรรทุกเต็มไปด้วยรัตนะเหมือนกัน แต่เมื่อมีผู้มาขนเอารัตนะจากเกวียนอีกเล่มหนึ่งขึ้นไปบรรทุกรวมเกวียนเล่มเดียวกัน เกวียนเล่มนั้นจะทรงไหวไหม ? "
" ไม่ไหว พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มนั้นดุมต้องแตก กำต้องหัก กงต้องทรุดลง เพลาต้องหัก เพราะหนักเกินไป "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร แต่ขอให้พระองค์ทรงสดับเหตุอื่นต่อไปอีก คือถ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์ ความวิวาทของพุทธบริษัทก็จักมีขึ้นคือ ต่างฝ่ายก็จะยกย่องพระพุทธเจ้าของตน เปรียบเหมือนบริวารของอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๒ คน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยกย่องนายของตนฉะนั้น อนึ่ง ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ คำว่า อัคโค พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นอัครบุคคลนั้น คำนี้มิผิดไปหรือ เชฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุดก็จะผิด วิสิฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าประเสริฐกว่าเทพยดามนุษย์นั้นก็ผิด อุตตโม พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุดมก็จะผิดไปสิ้น ดังนี้ เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ธรรมดามีอยู่ว่าในแผ่นดินใหญ่หนึ่งๆ ก็มีสาครใหญ่เพียงหนึ่ง เขาสิเนรุราชเพียงหนึ่ง อากาศเพียงหนึ่ง ท้าวสักกะเพียงหนึ่ง มารเพียงหนึ่ง มหาพรหมเพียงหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุเหล่านี้แหละ จึงไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสนปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขดีด้วยเหตุการณ์หลายอย่าง โยมขอรับว่าถูกต้องดีทั้งนั้น "
ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสัมมาปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะถ้าคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติชอบก็ได้สำเร็จเญยยธรรม (ธรรมที่พึงรู้) อันเป็นกุศล" ดังนี้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากคฤหัสถ์ผู้เกลือกกลั้วด้วยบุตร ภรรยา ผู้ได้นุ่งห่มดี ผู้ได้ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมเครื่องย้อมทา ผู้ยินดีในเงินทอง ผู้ประดับผมด้วยเครื่องประดับมีค่า ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ผู้นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ทำให้บริบูรณ์ในสีลขันธ์ทั้ง ๔ ยึดมั่นในสิกขาบททั้งหลาย ประพฤติธุดงคคุณ ๑๓ แล้ว คฤหัสถ์และบรรพชิต ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรกัน การบรรพชาทนอดอยาก ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อันใด สู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ ประโยชน์อะไรที่จะทำตัวให้ลำบาก เพราะผู้ทำให้ตัวเป็นสุขก็ได้สุขเหมือนกัน "พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตามบรรพชิตก็ตาม เมื่อปฏิบัติชอบแล้วก็ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ทั้งนั้น" ข้อนี้ ทรงมุ่งการปฏิบัติชอบเป็นใหญ่เพราะถึงเป็นบรรพชิตถ้าไม่ปฏิบัติชอบก็ห่างไกลจากคุณวิเศษ ไม่ต้องพูดถึงคฤหัสถ์ ถึงจะเป็นจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตามถ้าปฏิบัติชอบก็สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ก็แต่ว่าบรรพชิตเป็นใหญ่แห่งสามัญผล (ผลของความเป็นสมณะ) เพราะการบรรพชาเป็นของมีคุณมาก มีคุณเป็นเอนก มีคุณหาประมาณมิได้ ไม่อาจประมาณคุณของบรรพชาได้ เหมือนกับแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิที่ไม่มีใครอาจตีราคาได้ หรือเหมือนกับลูกคลื่นในมหาสมุทรซึ่งไม่มีใครประมาณได้ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำทุกสิ่ง บรรพชิตเป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้เงียบสงัด ผู้ไม่คลุกคลี ผู้มีความเพียรแรงกล้า ผู้ไม่มีห่วงใย ผู้มีศีลบริสุทธิ์ผู้มีอาจาระ (ความประพฤติ) ขัดเกลาแล้ว ฉลาดในการปฏิบัติธุดงค์ ย่อมสำเร็จคุณวิเศษได้เร็ว เหมือนกับลูกศรที่ไม่มีข้อมีปมที่เหลาเกลี้ยงเกลาดี ที่ตรงดี เวลายิงไปย่อมไปได้รวดเร็วฉันนั้น เป็นอันว่าสิ่งที่ควรทำทั้งสิ้น บรรพชิตทำให้สำเร็จได้เร็วกว่าคฤหัสถ์ ขอถวายพระพร "
" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "
จบวรรคที่ ๖
วรรคที่ ๗
ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องพระสึก
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า " ข้าแต่พระนาคเสน ศาสนาของพระตถาคตเจ้านี้เป็นของใหญ่ เป็นแก่น เป็นของที่เลือกแล้ว เป็นของดีที่สุด เป็นของประเสริฐไม่มีอะไรเปรียบ เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของไม่มีมลทิน เป็นของขาว เป็นของไม่มีโทษ จึงไม่สมควรให้คฤหัสถ์บรรพชา ต่อเมื่อคฤหัสถ์นั้นได้สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อาจสึกมาได้จึงควรให้บรรพชา ทั้งนี้ เพราะเหตุไร...เพราะเหตุว่า ปุถุชนบรรพชาในพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์แล้วสึกออกมาก็เป็นเหตุให้มีผู้คิดว่า ศาสนาของพระสมณโคดมเป็นศาสนาเปล่า เพราะพวกที่บวชแล้วยังสึกมาได้ โยมเห็นอย่างนี้ โยมจึงว่าไม่สมควรให้คฤหัสถ์ปุถุชนบรรพชา "
พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร มีสระใหญ่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำเย็นใสสะอาดอยู่สระหนึ่ง เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งที่เปื้อนด้วยเหงื่อไคลลงไปอาบน้ำในสระนั้นแล้วไม่ได้ขัดสีเหงื่อไคลหรือสิ่งที่เศร้าหมองได้ขึ้นมาจากสระ จะมีคนติเตียนบุรุษนั้นหรือติเตียนสระนั้นอย่างไร ? "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จะมีแต่คนติเตียนบุรุษนั้นว่า ลงไปอาบน้ำในสระแล้วก็กลับขึ้นมาทั้งร่างกายยังสกปรกอยู่ ไม่มีใครจะติเตียนสระนั้นว่าไม่ทำให้บุรุษนั้นสะอาด "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาราชะ คือพระตถาคตเจ้าได้ทรงสร้างสระอันประเสริฐ คือพระสัทธรรมเต็มด้วยน้ำใสสะอาด คือวิมุตติอันประเสริฐไว้ พวกที่เศร้าหมองด้วยกิเลสก็คิดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายลงสรงน้ำในสระคือพระสัทธรรมนี้แล้วก็ล้างกิเลสทั้งปวงได้ แต้ถ้ามีผู้ใดลงอาบน้ำในสระคือพระะธรรมอันประเสริฐแล้วหวนกลับออกไปทั้งกิเลส ก็จะมีผู้ติเตียนเขาได้ว่าได้บรรพชาในศาสนาอันประเสริฐแล้วก็ยังทำที่พึ่งให้แก่ตนไม่ได้ ยังต้องสึกไป พระศาสนาอันประเสริฐจะทำผู้ไม่ปฏิบัติตามให้บริสุทธิ์เองได้อย่างใด จะโทษพระศาสนาได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีบุรุษคนหนึ่งกำลังป่วยหนัก ได้เห็นหมอผ่าตัดที่เคยรักษาคนไข้หายมามากแล้ว เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องความเกิดแห่งโรค แต่ไม่ให้หมอนั้นรักษา ได้กลับไปทั้งที่ยังเจ็บไข้อยู่ มหาชนจะติเตียนคนป่วยหรือติเตียนหมอ ? "
" อ๋อ...ต้องติเตียนคนป่วย ไม่มีใครจะติเตียนหมอเป็นแน่ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระตถาคตเจ้าได้ทรงจัดยาอมฤตอันสามารถระงับโรค คือกิเลสทั้งสิ้นไว้ในผอบ อันได้แก่พระพุทธศาสนาไว้แล้ว พวกที่รู้ตัวว่าถูกโรคภัยคือกิเลสบีบคั้น ก็ได้ดื่มยาอมฤตของพระพุทธเจ้าแล้วก็หายจากโรคคือกิเลสทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ไม่ดื่มยาอมฤตได้สึกไปทั้งกิเลส ก็จะได้รับคำติเตียนว่าได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้วทำที่พึ่งให้แก่ตัวไม่ได้ ได้หมุนเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวอีก พระพุทธศาสนาจักทำให้ผู้ไม่ปฏิบัติตามให้บริสุทธิ์เองได้อย่างไร โทษอะไรจะมีแก่พระพุทธศาสนา อีกประการหนึ่ง บุรุษที่หิวข้าวไปถึงที่เขาเลี้ยงข้าวแล้วไม่กินข้าว ได้กลับไปทั้งความหิว คนจะติเตียนบุรุษที่หิวนั้น หรือว่าจะติเตียนข้าวล่ะ...มหาบพิตร ? "
" ต้องติเตียนบุรุษนั้นซิ ผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้น มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าได้ทรงจัดข้าวอันได้แก่กายคตาสติอันมีรสอร่อยยิ่ง อันเป็นของเยี่ยม เป็นของประเสริฐ เป็นของสงบ เป็นของเยือกเย็น เป็นของประณีต เป็นของอันไม่รู้จักตายไว้ในผอบคือพระพุทธศาสนาแล้ว พวกใดมีความหิวคือมีกิเลสครอบงำมีใจเร่าร้อนด้วยตัณหา บริโภคข้าวอันนี้แล้วก็กำจัดตัณหาทั้งปวง ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เสียได้ ส่วนผู้ที่ไม่กินข้าวนี้ กลับไปทั้งความหิวด้วยตัณหา ก็จะมีแต่ผู้ติเตียนเขา ไม่มีผู้ติเตียนพระพุทธศาสนา ขอถวายพระพร ถ้าพระพุทธเจ้าให้คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อนแล้ว จึงโปรดให้บรรพชา การบรรพชานี้จะชื่อว่าเป็นไปเพื่อละกิเลส เพื่ออบรมความบริสุทธิ์ได้อย่างไร สิ่งที่ควรทำในบรรพชาก็ไม่มี สมมุติว่า มีบุรุษคนหนึ่งได้ลงทุนให้คนขุดสระไว้ แล้วประกาศว่าพวกที่มีร่างกายเศร้าหมองอย่ามาลงอาบน้ำที่สระนี้เป็นอันขาด ให้ลงอาบได้แต่ผู้มีกายไม่เศร้าหมองเท่านั้น อย่างนี้จะสมควรหรือไม่ ? "
" ไม่สมควร พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาได้สร้างสระน้ำไว้ก็เพื่อต้องการให้คนที่มีร่างกายเศร้าหมองได้อาบ นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถ้าพระพุทธเจ้าจะโปรดให้บรรพชาเฉพาะคฤหัสถ์ ผู้ได้สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาควรทำในการบรรพชาเขาก็ได้ทำแล้ว เขาจะต้องการอะไรกับบรรพชา ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีหมอวิเศษคนหนึ่งทำยาไว้แล้ว เขาควรประกาศว่าผู้ที่เจ็บไข้อย่ามาหาข้าพเจ้า ให้มาแต่ผู้ที่ไม่เจ็บไข้เท่านั้น อย่างนี้หรือจึงจะสมควร ? "
" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า เพราะยาของเขาเป็นของสำหรับรักษาโรค คนไม่มีโรคก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องรักษา "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ให้บรรพชาเฉพาะคฤหัสถ์ที่ได้มรรคผลแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบรรพชา เพราะสิ่งที่ควรทำให้บรรพชาก็ได้ทำแล้ว ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนใดคนหนึ่ง จัดอาหารไว้หลายร้อยถาด แล้วเขาประกาศว่า พวกที่หิวอย่าเข้ามา จงให้เข้ามาแต่พวกที่อิ่มแล้ว เขาประกาศอย่างนี้จะสมควรหรือไม่ ? "
" ไม่สมควร พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร "
คุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการ
" อนึ่ง พวกที่สึกไปย่อมแสดงให้คนอื่นเห็นซึ่งคุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการ ของพระพุทธศาสนา คุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการนั้นคืออะไรบ้าง...คือ ความเป็นภูมิใหญ่ ๑ ความเป็นของบริสุทธิ์ ๑ ความไม่อยู่ร่วมกับผู้ลามก ๑ ความรู้แจ้งแทงตลอดได้ยาก ๑ ความมีการสำรวมมาก ๑ข้อที่ว่าแสดงความเป็นภูมิใหญ่นั้น คืออย่างไร...สมมุติว่ามีบุรุษคนหนึ่ง เป็นคนมีนิสัยต่ำช้า ไม่มีคุณวิเศษอันใด ไม่มีความรู้อันใด เมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่หลวง ไม่ช้าก็จะถึงความวิบัติ ไม่อาจรักษาความเป็นใหญ่ไว้ได้ เพราะความเป็นใหญ่นั้นเป็นของใหญ่ฉันใด พวกที่ไม่มีคุณวิเศษ ไม่ได้กระทำบุญไว้ ไม่มีความรู้อันใด เวลาได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่อาจดำรงเพศบรรพชิตไว้ได้ ได้ตกออกไปจากพระพุทธศาสนาในไม่ช้า เพราะภูมิในพระพุทธศาสนาเป็นของใหญ่ฉันนั้น
ข้อว่า แสดงให้เห็นความบริสุทธิ์อย่างเยี่ยมนั้น คืออย่างไร...คือน้ำที่ตกลงบนในบัวย่อมกลิ้งไหลลงไปจากใบบัว ไม่ติดอยู่ในใบบัวได้ เพราะใบบัวเป็นของบริสุทธิ์ฉันใด พวกที่มีนิสัยโอ้อวดคดโกง มีความเห็นไม่ดี ได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ช้าก็ตกออกไปจากพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ฉันนั้น
ข้อว่า แสดงให้เห็นความไม่อยู่ร่วมกันกับผู้ลามกนั้น คืออย่างไร...คือธรรมดามหาสมุทร ย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมพัดซากศพขึ้นไปบนบกโดยเร็วพลัน เพราะมหาสมุทรเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่สัตว์ใหญ่ๆ ฉันใด พวกที่ลามกได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ช้าก็ตกออกไปจากพระพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นที่อยู่ของผู้มีคุณธรรมใหญ่ คือพระอริยเจ้าทั้งหลายฉันนั้น
ข้อว่า แสดงซึ่งความเป็นของรู้แจ้งได้ยากนั้น คืออย่างไร...คือพวกที่ไม่เก่งในวิชาธนู ย่อมไม่อาจยิงให้ถูกปลายขนทรายได้ฉันใด พวกที่ไม่มีปัญญา บ้าเซ่อ ลุ่มหลง ก็ไม่อาจแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ อันเป็นของละเอียดยิ่งได้ฉันนั้น เขาจึงได้ตกออกไปจากพระพุทธศาสนาโดยเร็วพลัน
ข้อว่า แสดงให้เห็นซึ่งความเป็นของมีการสำรวมมากนั้น คืออย่างไร...คือ บุรุษที่เข้าสู่ยุทธภูมิใหญ่ ได้เห็นข้าศึกล้อมรอบก็กลัวแล้ววิ่งหนี เพราะกลัวการระวังรักษา ซึ่งศาตราวุธมีอยู่มากฉันใด พวกที่มีนิสัยลามก ไม่ชอบสำรวม ไม่มีความละอายบาป ไม่มีความอดทน ก็ไม่อาจรักษาสิกขาบทเป็นอันมากไว้ได้ ต้องตกออกไปจากพระพุทธศาสนาในไม่ช้าฉันนั้น ขอถวายพระพร
ดอกไม้ที่มีหนอนเจาะย่อมมีในกอดอกมะลิอันนับว่าสูงสุดกว่าดอกไม้ที่เกิดอยู่บนบกทั้งสิ้น ดอกที่หนอนเจาะก็ตกร่วงลงไป ส่วนดอกที่ยังอยู่ก็ส่งกลิ่นหอมฉันใด พวกที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้วสึกไปก็เปรียบเหมือนดอกมะลิที่หนอนเจาะ แล้วตกร่วงไปฉันนั้น ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็ทำให้มนุษย์โลก เทวโลก ได้รับกลิ่นหอม คือกลิ่นศีลอันประเสริฐฉันนั้น
ข้าวสาลีอันชื่อว่า "กุรุมพกะ" อันมีในจำพวกข้าวสาลีแดงที่ไม่มีอันตราย แต่พอเกิดขึ้นแล้วก็เสียไปในระหว่าง ส่วนข้าวสาลีที่ยังอยู่ก็สมควรเป็นเครื่องเสวยสำหรับพระราชาฉันใด พวกที่บรรพชาแล้วสึกไปก็เหมือนกับข้าวสาลีที่เสียไปในระหว่างฉันนั้น ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็สมควรแก่ความเป็นพระอรหันต์ฉันนั้น อีกประการหนึ่ง แก้วมณีอันให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง ถึงบางแห่งจะมีตำหนิก็ไม่มีผู้ติ ส่วนที่บริสุทธิ์ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีของมหาชนทั้งปวงฉันใด พวกที่บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วสึกไป เท่ากับเป็นตำหนิหรือเป็นสะเก็ด ส่วนพวกที่ยังอยู่ย่อมทำให้เกิดความร่าเริงยินดีแก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง แก่นจันทน์ถึงจะเน่าเป็นบางแห่ง ก็ไม่มีผู้ติ เพราะที่ไม่เน่าไม่เสียย่อมมีกลิ่นหอมฉันใด พวกที่สึกไปก็เหมือนแก่นจันทร์แดงที่เน่าที่เสีย ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็ส่งกลิ่นหอมอันประเสริฐคือศีล ให้หอมทั่วเทวโลกมนุษย์โลกฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แสดงความเป็นของประเสริฐสุด แห่งพระพุทธศาสนาไว้ถูกต้องดีแล้วทุกประการ "
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น