Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

มิลินทปัญหา ตอนที่ 28

มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 28 : เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๗ ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องเวทนาทางกายทางใจของพระอรหันต์, ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องอันตรายแห่งการสำเร็จธรรมของคฤหัสถ์ผู้ปาราชิก, ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องสมณะทุศีลคฤหัสถ์ทุศีล, ปัญหาที่ ๕ ถามความมีชีวิตแห่งน้ำ, ปัญหาที่ ๖ ถามถึงสิ่งที่ไม่มีในโลก, ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเผลอสติของพระอรหันต์, ปัญหาที่ ๘ ถามถึงความมีอยู่แห่งนิพพาน, ปัญหาที่ ๙ ถามถึงสิ่งที่เกิดจากกรรมและไม่เกิดจากกรรม

ตอนที่ ๒๘

ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องเวทนาทางกายทางใจของพระอรหันต์


พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวว่าพระอรหันต์ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ (ในที่นี้หมายถึงเฉพาะทุกขเวทนา ไม่รวมสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา) ดังนี้ โยมขอถามว่า พระอรหันต์มีจิตไหม สิ่งใดเป็นไปเพราะอาศัยกาย พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในสิ่งนั้นอย่างนั้นหรือ ?”
พระนาคเสนตอบว่า “ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในกาย อันเป็นไปของผู้มีจิตวิญญาณอยู่นั้น ย่อมไม่สมควร เพราะถึงนกก็ย่อมเป็นใหญ่ในรังของตน ”
“ ขอถวายพระพร สิ่งที่มีอยู่ในกาย วิ่งไปตามกาย หมุนไปตามกายทุกภพมีอยู่ ๑๐ อย่างคือ ความเย็น ๑ ความร้อน ๑ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ อุจจาระ ๑ ปัสสาวะ ๑ ความง่วง ๑ ความแก่ ๑ ความเจ็บ ๑ ความตาย ๑ พระอรหันต์ไมได้เป็นใหญ่ในสิ่งทั้ง ๑๐ นั้น ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน เหตุใดพระอรหันต์จึงไม่มีอำนาจในกาย ไม่เป็นใหญ่ในกาย ? ”
“ ขอถวายพระพร พวกสัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทั้งสิ้น มีอำนาจในแผ่นดินหรือไม่? ”
“ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ถึงจิตของพระอรหันต์อาศัยกาย พระอรหันต์ก็ไม่มีอำนาจทางกายฉันนั้น ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด ปุถุชนจึงได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ? ”
“ ขอถวายพระพร เพราะปุถุชนไม่ได้อบรมจิตใจ จึงได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ข้อนี้เปรียบเหมือนโคที่กำลังหิว เขาผูกไว้ที่กอหญ้า หรือที่เครือไม้ เมื่อหิวจัดเข้าก็กระโดดหนีไป ทำให้เครื่องผูกนั้นขาดไปได้ฉันใด เวทนาเกิดแก่ผู้ไม่ได้อบรมจิตใจ แล้วก็ทำจิตใจให้กำเริบ จิตกำเริบแล้วก็เกี่ยวเนื่องไปถึงกาย แล้วเขาก็ร้องไห้คร่ำครวญ อันนี้แหละเป็นเหตุให้ปุถุชนได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ”

“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็เหตุอันใดเล่าที่ทำให้พระอรหันต์ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ? ”
“ ขอถวายพระพร เพราะพระอรหันต์ได้อบรมจิตใจไว้ดีแล้ว เวลาได้รับทุกขเวทนา ก็ยึดมั่นว่าเป็นอนิจจัง ผูกจิตไว้ในเสาคือสมาธิแล้ว จิตก็ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว มีแต่กายเท่านั้นที่เป็นไปตามอำนาจเวทนา เหตุอันนี้แหละทำให้พระอรหันต์ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว ”
“ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงเหตุ ในการที่จิตไม่หวั่นไหวไปตามกายให้โยมฟัง”
“ ขอถวายพระพร ต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ด้วยลำต้น กิ่ง ก้าน และใบ เมื่อกิ่งไหวเวลาถูกลมพัด ลำต้นจะไหวด้วยไหม? ”
“ ไม่ไหว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะจิตของพระอรหันต์มั่นอยู่ในอนิจจัง ไม่รู้จักหวั่นไหว เปรียบเหมือนลำต้นแห่งต้นไม้ใหญ่ฉะนั้น”
“ น่าอัศจรรย์ ! พระผู้เป็นเจ้า ธรรมประทีปอันมีประจำอยู่ทุกเมื่ออย่างนี้ โยมไม่เคยได้เห็นเลย ”

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องอันตรายแห่งการสำเร็จธรรมของคฤหัสถ์ผู้ปาราชิก

“ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามีคนคฤหัสถ์ผู้ใดผู้หนึ่งต้องปาราชิกแล้ว ต่อมาภายหลังได้บรรพชา เขาเองก็ไม่รู้ว่าเราเป็นคฤหัสถ์ต้องปาราชิกแล้ว ผู้อื่นก็ไม่รู้ ธรรมาภิสมัยจะมีแก่เขาหรือไม่ ? ”
“ ไม่มี มหาบพิตร ”
“ เพราะเหตุไร พระผู้เป็นเจ้า ? ”
“ ขอถวายพระพร เพราะเหตุว่า เหตุอันใดที่จะทำให้ได้ธรรมาภิสมัยเหตุอันนั้นเขาได้ตัดขาดแล้ว เพราะฉะนั้น ธรรมาภิสมัยจึงไม่มีแก่เขา”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มีคำกล่าวว่าความรำคาญใจย่อมมีแก่ผู้รู้ เมื่อมีความรำคาญใจก็มีเครื่องกั้น เมื่อมีเครื่องกั้นแล้วธรรมาภิสมัยก็ไม่มี ก็ผู้ไม่รู้ไม่มีความรำคาญมีจิตสงบอยู่ เหตุไรจึงไม่มีธรรมาภิสมัย แก้ไขยาก โปรดแก้ไขด้วย ?”
“ ขอถวายพระพร พืชที่หว่านลงในที่ดินอันดี จะงอกขึ้นได้หรือไม่? ”
“ งอกได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าพืชนั้นเขาหว่านลงบนศิลาแลง จะงอกขึ้นได้หรือไม่? ”
“ งอกไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร พืชจึงงอกขึ้นในดินที่ดี เพราะเหตุไร จึงไม่งอกขึ้นที่ศิลาแลง ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะศิลาแลง ไม่เป็นเหตุให้พืชงอกขึ้นได้ พืชจึงไม่งอกขึ้น ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะเหตุที่เขาตัดสิ่งจะให้เกิดธรรมาภิสมัยเสียแล้ว ธรรมาภิสมัยจึงไม่มี อีกอย่างหนึ่งไม้ค้อนก้อนดินที่บุคคลโยนขึ้นไปในอากาศจะค้างอยู่ในอากาศหรือไม่? ”
“ ไม่ค้าง พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? ”
“ เพราะเหตุว่า อากาศไม่เป็นที่ตั้งอยู่แห่งไม้ค้อนก้อนดิน”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะเมื่อเขาตัดเหตุที่จะให้ได้อภิสมัยแล้ว อภิสมัยก็ไม่มี อีกประการหนึ่ง ธรรมดาไฟย่อมลุกโพลงอยู่บนบก จึงขอถามว่าไฟนั้นจะลุกโพลงอยู่บนน้ำได้หรือ ? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? ”
“ เพราะเหตุว่า น้ำไม่เป็นที่ให้ไฟลุก ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อเขาตัดเหตุที่จะให้ได้ธรรมาภิสมัย ธรรมาภิสมัยก็ไม่มี ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ขอท่านจงคิดเนื้อความข้อนี้อีก คือสมมุติว่าโยมไม่รู้เลยว่าโยมเป็นปาราชิก เมื่อไม่รู้ก็ไม่เกิดความรำคาญใจ จะมีเครื่องกั้นกางได้อย่างไร ?”
“ ขอถวายพระพร ผู้ที่ไม่รู้จักยาพิษอันแรงกล้า แต่ได้กินยาพิษนั้นเข้าไป เขาจะตายไหม ? ”
“ ตาย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร บาปที่ผู้ไม่รู้กระทำ ก็กระทำอันตรายแก่อภิสมัยได้อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เหยียบไฟด้วยไม่รู้ ไฟจะไหม้ไหม ? ”
“ ไหม้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร บาปที่กระทำลงไปแล้ว ถึงไม่รู้ก็จะกระทำอันตรายแก่อภิสมัยได้ อีกประการหนึ่ง อสรพิษกัดผู้ที่ไม่รู้ตายไหม ? ”
“ ตาย พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงบาปผู้ไม่รู้กระทำ ก็กระทำอันตรายแกอภิสมัยได้ขอถวายพระพร พระราชากาลิงคราชผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ทรงช้างแก้วไปทางอากาศ ถึงไม่ทราบว่าเป็นต้นไม้ศรีมหาโพธิเก่าอยู่ที่ตรงนั้น แต่ก็ไม่อาจเหาะข้ามไปบนต้นไม้ศรีมหาโพธินั้นไม่ใช่หรือ...อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ถึงบาปที่ผู้ไม่รู้กระทำก็กระทำอันตรายแก่ธรรมาภิสมัยได้”
“ ข้าแต่พระนาคเสน คำแก้ไขของพระผู้เป็นเจ้านี้ ไม่อาจมีใครคัดค้านได้”

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องสมณะทุศีลคฤหัสถ์ทุศีล

“ ข้าแต่พระนาคเสน คฤหัสถ์ทุศีลกับสมณะทุศีล ต่างกันอย่างไร คนทั้งสองนี้มีคติเสมอกัน มีวิบากเสมอกันหรืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร คุณธรรม ๑๐ ประการของ สมณะทุศีล ทำให้ดียิ่งกว่า คฤหัสถ์ทุศีล และทำให้การถวายทานของชาวบ้านมีผลมากได้ด้วยเหตุ ๑๐ ประการอีก

คุณธรรม ๑๐ ประการ ๑. ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒. ความเคารพในพระธรรม ๓. ความเคารพในพระสงฆ์ ๔. ความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ ๕. ความพยายามเล่าเรียน ๖. ความมากไปด้วยการฟัง ๗. ความเคารพต่อที่ประชุม ๘. ความเป็นผู้มุ่งต่อความเพียร ๙. ยังรักษาไว้ซึ่งเพศภิกษุ ๑๐. ยังรู้จักปกปิดความชั่วของตัวไปด้วยความละอาย เหมือนกับหญิงที่มีสามี ลักลอบทำความชั่วด้วยกลัวผู้อื่นจะรู้เห็นฉะนั้น

เหตุ ๑๐ ประการ ที่ทำให้การถวายทานของชาวบ้านมีผลมากนั้น คืออะไรบ้าง คือ ๑. ความทรงไว้ซึ่งเกราะ คือกาสาวพัสตร์อันบุคคลไม่ควรฆ่า ๒. ความทรงไว้ซึ่งเพศภิกษุ ๓. ความเข้าถึงซึ่งการกระทำกิจวัตรของสงฆ์ ๔. ความนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ๕. ความอบรมนิสัย ในทางความเพียร ๖. ความแสวงหาซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระชินวร ๗. การแสดงซึ่งธรรมอันประเสริฐ ๘. การถือพระธรรมเป็นเกราะ เป็นคติ เป็นที่พึ่งในเบื้องหน้า ๙. มีความเห็นตรงแน่วแน่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศ ๑๐. การถือมั่นซึ่งอุโบสถ ขอถวายพระพร

สมณะทุศีล ถึงมีศีลวิบัติแล้ว ก็ยังทำทานของทายกผู้ถวายให้บริสุทธิ์ได้ เปรียบเหมือนน้ำอันชำระล้างซึ่งโคลน เลน ฝุ่นละออง เหงื่อไคลให้หายไปได้ หรือเปรียบเหมือนน้ำร้อน ถึงจะร้อน ก็ยังดับไฟกองใหญ่ได้ หรือเปรียบเหมือนโภชนะ อันกำจัดความหิวได้ฉะนั้น ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตรว่า “ผู้มีศีลมีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแล้ว ให้ทานของที่ได้มาโดยชอบแก่ผู้ทุศีล การถวายทานของเขานั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสสรรเสริญว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กระทำปัญหาที่โยมถาม ให้มีรสไม่รู้จักตาย ให้เป็นของควรฟัง ด้วยอุปมาเหตุการณ์หลายอย่าง เหมือนพ่อครัว หรือลูกมือของพ่อครัวผู้ฉลาด ได้เนื้อมาเพียงก้อนเดียว ก็ตกแต่งอาหารได้หลายอย่าง เพื่อถวายแก่พระราชาฉันนั้น”

ปัญหาที่ ๕ ถามความมีชีวิตแห่งน้ำ

“ ข้าแต่พระนาคเสน เวลาน้ำถูกความร้อนย่อมมีเสียงร้องต่างๆ น้ำมีชีวิตหรืออย่างไร ? ”
“ น้ำไม่มีชีวิต ขอถวายพระพร ก็แต่ว่าเวลาน้ำถูกความร้อนด้วยไฟ ก็ย่อมมีเสียง ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน พวกเดียรถีย์บางพวกถือว่าน้ำมีชีวิต เขาจึงไม่ใช้น้ำเย็น ใช้แต่น้ำที่ต้มแล้วเท่านั้น ทั้งเขาติเตียนชาวพุทธว่าพวกสมณศากยบุตรเบียดเบียนของที่มีชีวิตอินทรีย์อันเดียว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงปลดเปลื้องข้อครหานั้นเสียเถิด พระคุณเจ้าข้า”
“ ขอถวายพระพร น้ำไม่มีชีวิตเลย ชีพหรือสัตว์ไม่มีอยู่ในน้ำ ก็แต่ว่าน้ำมีเสียงดังได้ด้วยกำลังความร้อนแห่งไฟ เปรียบเหมือนน้ำอันตกลงในบึง ในสระ ในหนอง ในซอกเขา ในบ่อน้ำ ในที่ลุ่ม ในสระโบกขรณี ก็มีเสียงดังฉะนั้น อีกประการหนึ่ง ขอมหาบพิตรได้ทรงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ คือน้ำอันบุคคลใส่ลงไปในข้าวสาร แล้วยกขึ้นตั้งบนเตาไฟ น้ำจะมีเสียงดังไหม ? ”
“ ไม่มีเสียงดัง พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ขอถวายพระพร เวลาภาชนะน้ำนั้นถูกยกขึ้นตั้งบนเตาไฟ น้ำจะนิ่งสงบอยู่ไหม ? ”
“ ไม่นิ่งสงบ พระผู้เป็นเจ้า น้ำนั้นจะต้องเดือดมีฟองข้าวล้นออกไป”
“ เพราะเหตุไร น้ำปกติจึงนิ่งสงบ ส่วนน้ำที่ร้อนด้วยไฟจึงเดือดพล่าน? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า น้ำปกตินิ่งอยู่ ส่วนที่ร้อนด้วยไฟย่อมมีเสียงดัง เพราะกำลังความร้อนแห่งไฟ ”
“ ขอถวายพระพร ถึงเหตุอันนี้ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า น้ำไม่มีชีวิต ขอพระองค์จงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือน้ำที่อยู่ในภาชนะน้ำในบ้าน เขาปิดไว้ไม่ใช่หรือ? ”
“ ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ก็น้ำนั้นเดือดพล่านหรือไม่ ? ”
“ ไม่เดือด พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับหรือไม่ว่า น้ำในมหาสมุทรงเป็นลูกคลื่นมีเสียงดังลั่นอยู่เสมอ? ”
“ เคยสดับ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร เหตุไรน้ำในขันที่เขาปิดไว้ จึงไม่เป็นลูกคลื่น ไม่มีเสียงดัง ส่วนน้ำในมหาสมุทรมีลูกคลื่น มีเสียงดัง? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า การที่น้ำในมหาสมุทรเป็นลูกคลื่น มีเสียงดังนั้น เพราะกำลังของลมพัด ส่วนน้ำในขันน้ำที่เขาปิดไว้นั้น ไม่ถูกลมพัด ”
“ ขอถวายพระพร น้ำในมหาสมุทรเป็นลูกคลื่นมีเสียงดัง เพราะกำลังลมฉันใด น้ำที่ต้มบนเตาไฟก็มีเสียงดัง เพราะกำลังความร้อนฉันนั้น ขอถวายพระพร ธรรมดาหน้ากลองเขาย่อมหุ้มด้วยหนังแห้งไม่ใช่หรือ? ”
“ ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร กลองเป็นของมีชีวิตจิตใจหรือไม่ ? ”
“ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร กลองไม่มีชีวิตจิตใจแต่เหตุไรจึงมีเสียงดัง? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กลองมีเสียงดังด้วยความพยายาม อันเกิดจากสตรีหรือบุรุษ ”

“ ขอถวายพระพร กลองมีเสียงดังได้ด้วยความพยามยามของสตรีหรือบุรุษฉันใด น้ำก็มีเสียงดังได้ด้วยความร้อนฉันนั้น เหตุอันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าน้ำไม่มีชีวิตจิตใจ แต่มีเสียงดังได้เพราะความร้อนแห่งไฟ ขอถวายพระพร ปัญหาที่มหาบพิตรได้ตรัสถามมาแล้ว ก็ได้แก้ถวายดีแล้วทั้งนั้น จึงขอถามมหาบพิตรว่า น้ำในภาชนะทั้งปวงเมื่อถูกความร้อนก็ดังเหมือนกันทั้งนั้น หรือดังเป็นบางภาชนะ ? ”
“ ไม่ดังเหมือนกันหมด ดังเป็นบางภาชนะ พระผู้เป็นเจ้า”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่ามหาบพิตรได้ทิ้งความเห็นของพระองค์ กลับเข้าหาความเห็นของอาตมาภาพแล้วว่า น้ำไม่มีชีวิตจิตใจ ขอถวายพระพร ถ้าน้ำในภาชนะทั้งปวงเมื่อถูกร้อนก็ดังเหมือนกันหมด คำกล่าวว่าน้ำมีชีวิตก็สมควร เพราะน้ำไม่ได้แยกออกไปเป็นสอง คือ มีชีวิตก็มี ไม่มีชีวิตก็มี ขอถวายพระพร ถ้าน้ำมีชีวิต เวลาฝูงช้างลงเล่นน้ำ ดูดน้ำเข้าไปทางงวง แล้วใส่เข้าไปในปากไหลเข้าไปในท้อง น้ำก็ต้องมีเสียงร้อง หรือเวลาสำเภาใหญ่ๆ บรรทุกเต็มไปด้วยสินค้าแล่นไปในมหาสมุทร น้ำที่ถูกสำเภาเบียบเสียดก็ต้องมีเสียงร้อง หรือเวลาปลาใหญ่ๆ ตัวยาวตั้งหลายร้อยโยชน์ คือปลาติมิติมิงคละ ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำมหาสมุทร ถ้าน้ำมีชีวิตก็ต้องร้องเพราะเหตุน้ำไม่มีชีวิตจึงไม่ร้อง”

พระเจ้ามิลินท์ตรัสยกย่องว่า “ สาธุ...พระนาคเสน ปัญหาอันถึงซึ่งการแสดง พระผู้เป็นเจ้าได้แจงออกไว้ด้วยการแจงสมควรแล้วทั้งนั้น เปรียบเหมือนแก้วมณีที่มีค่ามาก เมื่อส่งไปถึงนายช่างผู้ฉลาด เขาก็ทำให้ดียิ่งขึ้น หรือแก้วมุกดา แก่นจันทน์แดงอันน่าสรรเสริญฉะนั้น ”

ปัญหาที่ ๖ ถามถึงสิ่งที่ไม่มีในโลก

“ ข้าแต่พระนาคเสน ในโลกนี้ย่อมปรากฏมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าประเทศราช เทวดา มนุษย์ ผู้มีทรัพย์ ผู้ไม่มีทรัพย์ ผู้ไปดี ผู้ไปไม่ดี เพศหญิง เพศชาย กรรมดีกรรมชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่ว สัตว์ที่เกิดในฟองไข่ เกิดในท้องแม่ เกิดในเหงื่อไคล เกิดขึ้นเอง ไม่มีเท้าก็มี มีเพียง ๒ เท้า ๔ เท้า หลายเท้าก็มี มีทั้งยักษ์ รากษส กุมภัณฑ์ อสูร ทานพ คนธรรพ์ เปรต ปีศาจ กินนร นาค ครุฑ ฤาษี วิชาธร ช้าง ม้า โค กระบือ อูฐ ลา แพะ แกะ เนื้อ สุกร สิงห์ พยัคฆ์ เสือเหลือง หมี เสือดาว หมาไน สุนัขบ้าน สนัขป่า นกต่างๆ ทอง เงิน มุกดา มณี สังข์ ศิลา ประพาฬ แก้วแดง แก้วลาย แก้วไพฑูรย์ เพชร แก้วผลึก เหล็ก ทองแดง แร่เงิน แร่สัมฤทธิ์ ผ้าป่าน ผ้าไหม ผ้าด้าย ป่าน ปอ ขนสัตว์ ข้าวไม่มีเปลือก ข้าวมีเปลือก ข้าวละมาน หญ้ากันแก้ ลูกเดือย หญ้าละมาน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งาน ถั่วพลู ต้นไม้ที่มีรากหอม มีแก่นหอม มีกระพี้หอม มีเปลือกหอม มีใบหอม มีดอกหอม มีผลหอม มีข้อหอม หญ้า เครือไม้ กอไม้ ต้นไม้ ดวงดาว ต้นไม้ใหญ่ แม่น้ำ ภูเขา ทะเล ปลา เต่า เป็นอันมาก สิ่งเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกทั้งนั้น สิ่งที่ไม่มีในโลก ถ้ามีอยู่ขอจงบอกให้แก่โยมด้วย ”

พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่มีในโลกมีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑. สิ่งที่มีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม จะไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีในโลก ๒. ความเที่ยงแห่งสังขารทั้งหลายไม่มี ๓. เมื่อว่าตามปรมัตถ์แล้ว คำว่าสัตว์บุคคลไม่มี รวมเป็นของไม่มีอยู่ในโลก ๓ อย่างนี้แหละ มหาบพิตร”
“ สาธุ...พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว”

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเผลอสติของพระอรหันต์

“ ข้าแต่พระนาคเสน ความเผลอสติของพระอรหันต์มีอยู่หรือ? ”
“ ขอถวายพระพร ไม่มี ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระอรหันต์ต้องอาบัติบ้างหรือไม่? ”
“ ขอถวายพระพร ต้อง ”
“ ต้องเพราะวัตถุอะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ต้องด้วยสำคัญผิดคือเวลาวิกาล เข้าใจว่าเป็นกาลก็มี ห้ามการรับประเคนแล้ว เข้าใจว่าไม่ได้ห้ามก็มี อาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้ เข้าใจว่าเป็นเดนภิกษุไข้ก็มี ”

“ ข้าแต่พระนาคเสน ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยอาการ ๒ คือ ด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ ๑ ด้วยความไม่รู้ ๑ พระอรหันต์ต้องอาบัติด้วยความไม่เอื้อเฟื้อมีอยู่หรือ? ”
“ ไม่มีเลย มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระอรหันต์ยังต้องอาบัติอยู่ แต่ความไม่เอื้อเฟื้อย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ ถ้าอย่างนั้นความเผลอสติ ก็มีแก่พระอรหันต์น่ะซิ ”
“ ไม่มี มหาบพิตร เป็นแต่พระอรหันต์ยังต้องอาบัติอยู่”
“ ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้โยมเข้าใจในข้อนี้ว่า เป็นเพราะอะไร ? ”

“ ขอถวายพระพร ลักษณะแห่งโทษมีอยู่ ๒ ประการ คือ เป็นโลกวัชชะ ๑ เป็นปัณณัตติวัชชะ ๑ ที่เป็นโลกวัชชะ (โทษทางโลก) นั้นได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นปัณณัตติวัชชะ (เป็นโทษทางพระวินัย) นั้นได้แก่ สิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับพระภิกษุสาวกทั้งหลาย อย่างวิกาลโภชนสิกขาบท คือการฉันอาหารในเวลาวิกาล เป็นโทษในทางพระวินัยแต่ไม่เป็นโทษทางโลก หรือการทำให้ภูตคามเคลื่อนที่ คือการตัดต้นไม้ใบหญ้า เป็นต้น เป็นโทษทางพระวินัย แต่ไม่เป็นโทษทางโลก การว่ายน้ำเล่นเป็นโทษทางพระวินัย แต่ไม่เป็นโทษทางโลก สิ่งที่เป็นโทษทางพระวินัยนี้แหละ เรียกว่า “ปัณณัตติวัชชะ” ส่วนที่เป็นโทษทางโลกนั้นพระอรหันต์ไม่ทำอย่างเด็ดขาด สิ่งที่เป็นโทษทางวินัย เมื่อยังไม่รู้ก็ทำ เพราะว่าการรู้สิ่งทั้งปวงไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์ทั่วไป สิ่งที่พระอรหันต์ไม่รู้ก็มี เช่น นามและโคตรแห่งสตรีบุรุษ พระอรหันต์รู้ได้เฉพาะวิมุตติ คือการหลุดพ้นก็มี พระอรหันต์ขั้นอภิญญา ๖ ก็รู้เฉพาะในวิสัยแห่งตน สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้หมด ขอถวายพระพร ”
“ ถูกต้อง พระนาคเสน ”

ปัญหาที่ ๘ ถามถึงความมีอยู่แห่งนิพพาน

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยฤดู มีปรากฏอยู่ในโลกแล้ว สิ่งใดที่ไม่เกิดด้วยกรรม ไม่เกิดด้วยเหตุ ไม่เกิดด้วยฤดู ขอพระผู้เป็นเจ้าจงบอกสิ่งนั้นแก่โยม”
พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่เกิดด้วยกรรม ไม่เกิดด้วยเหตุ ไม่เกิดด้วยฤดูนั้น มีอยู่ ๒ คือ อากาศ ๑ นิพพาน ๑ ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอย่าลบล้างคำของพระพุทธเจ้า ไม่รู้ก็อย่าแก้ปัญหานี้ ”
“ ขอถวายพระพร เหตุใดอาตมภาพจึงว่าอย่างนี้ และเหตุใดมหาบพิตรจึงห้ามอาตมภาพอย่างนี้? ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะไม่ควรกล่าวว่าอากาศไม่เกิดด้วยกรรม ไม่เกิดด้วยเหตุ ไม่เกิดด้วยฤดู สมเด็จพระบรมครูได้ทรงบอกทางสำเร็จนิพพานให้แก่พระสาวก ด้วยเหตุหลายร้อยอย่าง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า นิพพานไม่เกิดด้วยเหตุ”

พระนาคเสนเฉลยว่า “ ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้ทรงบอกทางสำเร็จนิพพานแก่พวกสาวกด้วยเหตุหลายร้อยอย่างจริง แต่ไม่ใช่ทรงบอกเหตุให้เกิดนิพพาน ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งอีกว่า “ ข้าแต่พระนาคเสน ในข้อนี้เท่ากับโยมออกจากที่มืดเข้าไปสู่ที่มืด ออกจากป่าเข้าสู่ป่าอีก ออกจากที่รกเข้าสู่ที่รกอีก เพราะเหตุให้สำเร็จพระนิพพานมีอยู่ แต่เหตุให้เกิดนิพพานไม่มี ถ้าเหตุให้สำเร็จนิพพานมีอยู่ เหตุให้เกิดนิพพานก็ต้องมี เหมือนบิดามีอยู่ เหตุที่ให้เกิดบิดาก็ต้องมีอยู่ อาจารย์มีอยู่ เหตุที่ให้เกิดอาจารย์นั้นก็ต้องมีอยู่ พืชมีอยู่ เหตุให้เกิดพืชนั้นก็ต้องมีอยู่ หรือเมื่อยอดแห่งต้นไม้มีอยู่ ตอนกลางและรากก็ต้องมี ”
พระนาคเสนตอบว่า “ ขอถวายพระพร มหาราชะ นิพพานเป็น อนุปาทานียะ คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานเพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุ”

“ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้โยมเข้าใจว่า เหตุให้สำเร็จนิพพานมีอยู่ แต่เหตุให้เกิดนิพพานไม่มี ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรตั้งพระโสตลงสดับ อาตมภาพจักแสดงถวาย คือบุรุษอาจจากที่นี้ไปถึงเขาหิมพาต์ได้ตามกำลังปกติหริอ? ”
“ ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร บุรุษนั้นอาจนำภูเขาหิมพานต์ มาไว้ในที่นี้ได้กำลังตามปกติหรือ? ”
“ ไม่อาจ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือบุคคลอาจบอกทางสำเร็จนิพพานได้ แต่ไม่อาจบอกเหตุให้เกิดนิพพานได้ ขอถวายพระพรบุรุษอาจข้ามมหาสมุทรไปได้ ด้วยเรือตามกำลังปกติไหม ? ”
“ อาจได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ก็บุรุษนั้นอาจนำเอาฝั่งมหาสมุทรข้างโน้นมาตั้งไว้ข้างนี้ ด้วยกำลังตามปกติไหม ? ”
“ ไม่อาจ พระผู้เป็นเจ้า ”

“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือทางสำเร็จนิพพานนั้นอาจบอกได้ แต่ไม่อาจบอกเหตุให้เกิดนิพพานได้ เพราะนิพพานเป็นอสังขตธรรม ” ( ธรรมที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง )
“ ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานเป็นอสังขตธรรม ไม่มีใครอาจบอกได้อย่างนั้นหรือ? ”
“ อย่างนั้นมหาบพิตร นิพพานเป็นอสังขตธรรม ไม่มีอะไรตกแต่งได้ ไม่มีอะไรกระทำได้ นิพพานเป็นของไม่ควรกล่าวว่าเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิด หรือจักต้องเกิด ไม่ควรกล่าวว่าเป็นอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน ไม่ควรกล่าวว่าเป็นของต้องเห็นด้วยตา เป็นของต้องได้ยินด้วยหู รู้ด้วยจมูก ลิ้น กาย อย่างใดเลย”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นอย่างนั้นนิพพานก็เป็นความไม่มีเป็นธรรมดา เราพูดได้ว่านิพพานไม่มีอย่างนั้นซิ ”
“ ขอถวายพระพร นิพพานเป็นของต้องรู้ด้วยใจ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้เห็นนิพพาาน ด้วยใจอันบริสุทธิ์ อันสงบอันประณีต อันเที่ยงตรง อันไม่มีเครื่องกั้นกางอันไม่มีอามิส”

“ ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานนั้นเป็นเช่นไร ขอจงให้โยมเข้าใจด้วยคำอุปมา คือด้วยการเปรียบกับสิ่งที่มีอยู่ รู้อยู่ตามธรรมดา”
“ ขอถวายพระพร ลมมีอยู่หรือ ? ”
“ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรจงแสดงลมให้อาตมภาพเป็นด้วยสี สัณฐาน น้อย ใหญ่ ยาว สั้น ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะไม่ใครอาจจับต้องลมได้ แต่ว่าลมนั้นมีอยู่ ”
“ ขอถวายพระพร ถ้าไม่อาจชี้ลมได้ว่าลมมีสี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น อย่างไรลมก็ไม่มีน่ะซิ ? ”
“ มี พระผู้เป็นเจ้า โยมรู้อยู่เต็มใจว่าลมมี แต่ไม่อาจแสดงลมให้เห็นได้”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร นิพพานมีอยู่จริง แต่ว่าไม่มีใครอาจแสดงให้เห็นได้ว่า นิพพานมีสี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น อย่างไร ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน โยมเข้าใจได้ดีตามข้ออุปมาแล้ว โยมยอมรับว่านิพพานมีจริง ”

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงสิ่งที่เกิดจากกรรมและไม่เกิดจากกรรม

“ ข้าแต่พระนาคเสน อะไรเกิดด้วยกรรม เกิดด้วยเหตุ เกิดด้วยฤดู และอะไรไม่เกิดด้วยกรรม ไม่เกิดด้วยเหตุ ไม่เกิดด้วยฤดู? ”
“ ขอถวายพระพร พวกสัตว์ที่มีจิตใจทั้งสิ้นเกิดด้วยกรรม ไฟกับพืชทั้งสิ้นเกิดด้วยเหตุ แผ่นดิน ภูเขา น้ำ ลม ทั้งสิ้นเกิดด้วยฤดู อากาศกับนิพพานไม่เกิดด้วยกรรม ไม่เกิดด้วยเหตุ ไม่เกิดด้วยฤดู นิพพาน ใครๆ ไม่ควรกล่าวว่าเกิดด้วยกรรม หรือเกิดด้วยเหตุ หรือเกิดด้วยฤดู และไม่ควรกล่าวว่าเป็นของเกิดอยู่แล้ว หรือยังไม่เกิด หรือจักต้องเกิด ไม่ควรกล่าวว่า เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ไม่ควรกล่าวว่า เป็นของต้องรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากเป็นของที่รู้ดวยใจเท่านั้น แต่พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมเห็นนิพพานด้วยญาณอันบริสุทธิ์”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาอันน่ายินดีพระผู้เป็นเจ้าได้แก้ไขดีแล้ว ทำให้โยมสิ้นสงสัยแล้ว พระผู้เป็นเจ้าได้ชื่อว่ามาถึงความเป็นผู้เยี่ยมในคณะสงฆ์อันประเสริฐแล้ว”

จบวรรคที่ ๗


ขอขอบคุณต้นฉบับ : www.geocities.com/SouthBeach/Terrace/4587/milindl.htm

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น