มิลินทปัญหา ออนไลน์ ตอนที่ 36 : อุปมาปัญหา มักกฏวรรคที่ ๖ องค์ ๑ แห่งแมงมุม จนถึง องค์ ๒ แห่งช่างไม้, กุมภวรรคที่ ๗ องค์ ๑ แห่งหม้อน้ำ จนถึง องค์ ๔ แห่งนายขมังธนู, พระเจ้ามิลินท์เสด็จออกบรรพชาแล้วได้สำเร็จพระอรหันต์, มิลินทปัญหา จบบริบูรณ์
ตอนที่ ๓๖ (ตอนจบ)
มักกฏวรรคที่ ๖
องค์ ๑ แห่งแมงมุม
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแมงมุมได้แก่อะไร ?”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แมงมุม ชักใยขวางทางไว้แล้วก็จ้องดูอยู่ ถ้าหนอนหรือแมลงมาติดในใยของตน ก็จับกินเสียฉันใด พระโยคาวจรก็ควรชัดใย คือสติปัฏฐาน ขึงไว้ที่ทวารทั้ง ๖ ถ้ามีแมลง คือกิเลสมาติด ก็ควรฆ่าเสียฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแมงมุม ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า “เพดานที่กั้นทวารทั้ง ๖ อยู่ คือสติปัฏฐานอันประเสริฐ เวลากิเลสมาติดที่เพดาน คือสติปัฏฐานนั้น พระภิกษุก็ควรฆ่าเสีย” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งทารก
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งทารกที่ยังกินนมอยู่ได้แก่อะไร? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ทารกที่ยังกินนมอยู่ ย่อมขวนขวายในประโยชน์ของตนเวลาอยากกินนมก็ร้องไห้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรขวนขวายในประโยชน์ของตนฉันนั้น คือควรขวนขวายในธรรมอันชอบใจตน ควรขวนขวายในการเล่าเรียนไต่ถาม การประกอบความสงัด การอยู่ในสำนักครู การคบกัลยาณมิตร อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งทารก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ทีฆนิกาย ปรินิพพานสูตร ว่า “ดูก่อนอานนท์ พวกเธอจงประกอบในประโยชน์ของตน อย่าได้ประมาทในประโยชน์ของตน” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๑ แห่งเต่าเหลือง
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งเต่าเหลืองได้แก่อะไร? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เต่าเหลือง ย่อมเว้นน้ำเพราะกลัวน้ำ เมื่อเว้นน้ำก็มีอายุยืนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเห็นภัยในความประมาท เห็นคุณวิเศษในความไม่ประมาทจึงจักไม่เสื่อมจากคุณวิเศษ จักได้เข้าใกล้นิพพาน อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งเต่าเหลือง ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน พระธรรมบท ว่า “ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท ผู้เห็นภัยในความประมาท ย่อมไม่เสื่อม ย่อมได้อยู่ใกล้นิพพาน” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งป่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งป่าได้แก่สิ่งใด ?”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ป่า ย่อมปิดบังคนที่ไม่สะอาดไว้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปิดบังความผิดพลั้งของผู้อื่นไว้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งป่า
ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีคนไปมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งป่า
ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่เงียบสงัดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเงียบสงัดจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศลฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งป่า
ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่บริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งป่า
ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่อาศัยอยู่ของพระอริยชนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคบอริยชนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งป่า ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “บุคคลควรอยู่ร่วมกับอริยะผู้สงัด ผู้มีใจตั้งมั่น ผู้รู้แจ้ง ผู้มีความเพียรแรงกล้าเป็นนิจ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ที่ ๓ แห่งต้นไม้
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งต้นไม้ได้แก่อะไร ?”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ต้นไม้ ย่อมทรงไว้ซึ่งดอกและผลฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งดอกคือวิมุตติ ผลคือสมณคุณ อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งต้นไม้
ธรรมดาต้นไม้ย่อมให้ร่มเงาแก่ผู้เข้าไปพักอาศัยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรต้อนรับผู้ที่เข้ามาหาตน ด้วยอามิสหรือธรรมฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งต้นไม้
ธรรมดาต้นไม้ย่อมไม่ทำเงาของตนให้แปลกกัน ย่อมแผ่ไปให้เสมอกันฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทำให้แปลกกันในสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น คือควรแผ่เมตตาไปให้เสมอกันทั้งในผู้เป็นโจร เป็นผู้จะฆ่าคน เป็นข้าศึกของตนและตนเอง อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งต้นไม้ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “พระมุนี คือพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นผู้มีพระหฤทัยเสมอไปแก่สัตว์ทั้งหลาย เช่นพระเทวทัต โจรองคุลีมาล ช้างธนบาล และพระราหุล เป็นตัวอย่าง” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๕ แห่งเมฆ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งเมฆได้แก่อะไร ?”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เมฆ ย่อมระงับเสียซึ่งละอองเหงื่อไคล ซึ่งเกิดแล้วฉันใด พระโยคาวจรก็ควรระงับเหงื่อไคล คือกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเมฆ
ธรรมดาเมฆคือฝนที่ตกลงมา ย่อมดับความร้อนในแผ่นดินฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดับทุกข์ร้อนของโลก ด้วยเมตตาภาวนาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเมฆ
ธรรมดาเมฆย่อมทำให้พืชทั้งปวงงอกขึ้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้พืช คือศรัทธาของบุคคลทั้งหลายให้งอกขึ้นฉันนั้น ควรปลูกพืชคือศรัทธานั้นไว้ในสมบัติทั้ง ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเมฆ
ธรรมดาเมฆย่อมตั้งขึ้นตามฤดูฝนแล้วเป็นฝนตกลงมา ทำให้หญ้า ต้นไม้ เครือไม้ พุ่มไม้ ต้นยา ป่าไม้ เกิดขึ้นในพื้นธรณีฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้โยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้วทำให้สมณธรรม และกุศลธรรมทั้งปวงเกิดขึ้นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งเมฆ
ธรรมดาเมฆคือก้อนน้ำ เมื่อตกลงมาก็ทำให้แม่น้ำ หนอง สระ ซอก หัวยระแหง บึง บ่อ เป็นต้น ให้เต็มไปด้วยน้ำฉันใด พระโยคาวจรเมื่อเมฆ คือโลกุตตรธรรมตกลงมาด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม ควรทำใจของบุคคลทั้งหลาย ผู้มุ่งต่อโลกุตตรธรรมให้เต็มบริบูรณ์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งเมฆ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “พระมหามุนีทรงเล็งเห็นผู้ที่ควรจะให้รู้อยู่ในที่ไกลตั้งแสนโยชน์ก็ตาม ก็เสด็จไปโปรดให้รู้ทันที” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งแก้วมณี
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งแก้วมณีได้แก่อะไร?”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แก้วมณี ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์แท้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแก้วมณี
ธรรมดาแก้วมณี ย่อมไม่มีสิ่งใดเจือปนอยู่ข้างในฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรปะปนอยู่ด้วยสหายที่เป็นบาปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งแก้วมณี
ธรรมดาแก้วมณี ย่อมประกอบกับแก้วที่เกิดเองฉันใด พระโยคาวจรก็ควรประกอบกับแก้วมณีคือพระอริยะฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งแก้วมณี ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน สุตตนิบาต ว่า “ผู้บริสุทธิ์เมื่ออยู่กับผู้บริสุทธิ์ ผู้มีสติอยู่กับผู้มีสติ ก็จักมีปัญญาทำให้สิ้นทุกข์” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๔ แห่งนายพราน
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งนายพรานได้แก่สิ่งใด? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นายพราน ย่อมหลับน้อยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหลับน้อยฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนายพราน
ธรรมดานายพรานย่อมผูกใจไว้ในหมู่เนื้อฉันใด พระโยคาวจรก็ควรผูกใจไว้ในอารมณ์อันจักให้ได้คุณวิเศษที่ตนได้แล้วฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนายพราน
ธรรมดานายพรานย่อมรู้จักเวลากระทำของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรู้จักเวลาฉันนั้น คือควรรู้ว่า เวลานี้เป็นเวลาเข้าสู่ที่สงัด เวลานี้เป็นเวลาออกจากที่สงัด อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนายพราน
ธรรมดานายพรานพอแลเห็นเนื้อ ก็เกิดความร่าเริงว่า เราจักได้เนื้อตัวนี้ฉันใด พระโยคาวจรพอได้ความยินดีในอารมณ์ ก็ควรเกิดความร่าเริงใจว่า เราจักได้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งนายพราน ข้อนี้สมกับคำของ พระโมฆราชเถระ กล่าวว่า “ภิกษุผู้มีความเพียร ได้ความยินดีในอารมณ์แล้ว ควรทำให้เกิดความร่าเริงยิ่งขึ้นไปว่า เราจักได้บรรลุธรรมวิเศษอันยิ่ง” ดังนี้ ขอถวายพระพร”
(หมายเหตุ : คำสุภาษิตนี้ ฉบับพิสดารบอกว่า เป็นของพระโมคคัลลาน์)
องค์ ๒ แห่งพรานเบ็ด
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งพรานเบ็ดได้แก่อะไร? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พรานเบ็ด ย่อมดึงปลาขึ้นมาได้ด้วยเหยื่อฉันใด พระโยคาวจรก็ควรถึงผลสมณะ อันยิ่งขึ้นมาให้ได้ด้วยญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพรานเบ็ด
ธรรมดาพรานเบ็ดสละสัตว์ที่เป็นเหยื่อเพียงเล็กน้อย ก็ได้ปลามากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสละเหยื่ออันเล็กน้อย คืออามิสในโลกฉันนั้น เพราะพระโยคาวจรสละสุขของโลกเพียงเล็กน้อยแล้วก็ได้สมณคุณอันไพบูลย์ อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งพรานเบ็ด ข้อนี้สมกับคำของ พระราหุลเถระ ว่า “พระภิกษุสละโลกามิสแล้ว ย่อมได้อนิมิตตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะไม่ถือนิมิตในร่างกาย เพราะเห็นถึงความไม่เที่ยง) สุญญตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะว่างจากกิเลส เพราะเห็นความเป็นอนัตตา) อัปปณิหิตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะไม่ปรารถนาในร่างกาย เพราะเห็นความเป็นทุกข์) และผล ๔ อภิญญา ๖” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งช่างไม้
“ ขอถวายพระพร องค์ ๒ แห่งช่างไม้ได้แก่อะไร ?”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ช่างไม้ ดีดบรรทัดแล้วจึงถากไม้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดีดบรรทัดลงในคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรเจ้า แล้วยืนอยู่ที่เหนือพื้นปฐพีคือศีล จับเอามีดคือปัญญาด้วยมือคือศรัทธา แล้วถากกิเลสทั้งหลายให้สูญหายไปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งช่างไม้
ธรรมดาช่างไม้ถากเปลือกกระพี้ออกทิ้ง ถือเอาแต่แก่นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรถากซึ่งลัทธิต่างๆ เช่น มีความเห็นว่าโลกเที่ยงบ้าง เห็นว่าตายแล้วสูญบ้าง เป็นต้น แล้วถือเอาแต่แก่น คือความเป็นเองแห่งสังขารทั้งหลายว่า ไม่มีอะไรเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา มีแต่ของว่างเปล่า เป็นของที่ไม่เที่ยงทั้งนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งช่างไม้ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน สุตตนิบาต ว่า “ท่านทั้งหลายควรปัดเป่าเสียซึ่งความมืด ควรกวาดเสียซึ่งหยากเยื่อเชื้อฝอย ควรทิ้งเสียซึ่งผู้ไม่ใช่สมณะแต่ถือตัวว่าเป็นสมณะ ควรทิ้งเสียซึ่งผู้มีนิสัยลามก มีความประพฤติและโคจรลามก ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่กับผู้บริสุทธิ์ ควรเป็นผู้มีสติ อยู่กับผู้มีสติ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
จบมักกฏวรรคที่ ๖
กุมภวรรคที่ ๗
องค์ ๑ แห่งหม้อน้ำ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งหม้อน้ำได้แก่อะไร? ”
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา หม้อน้ำ มีน้ำเต็มแล้วย่อมไม่มีเสียงดังฉันใด พระโยคาวจรเมื่อได้ความรู้ความดีเต็มแล้ว ก็ไม่มีเสียง ไม่มีมานะ ไม่ดูถูกผู้อื่น ไม่ปากกล้า ไม่โอ้อวด ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งหม้อน้ำ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “หม้อที่มีน้ำพร่องย่อมมีเสียงดัง หม้อที่มีน้ำเต็มย่อมเงียบ คนโง่เปรียบเหมือนน้ำครึ่งหม้อ บัณฑิตเปรียบเหมือนน้ำเต็มหม้อ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งกาลักน้ำ
“ ขอถวายพระพร องค์ ๒ แห่งกาลักน้ำได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา กาลักน้ำ ย่อมดูดน้ำขึ้นมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดูดใจขึ้นมาไว้ในโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งกาลักน้ำ
ธรรมดากาลักน้ำดูดน้ำขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ปล่อยน้ำลงไปฉันใด พระโยคาวจรเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยความเลื่อมใสนั้นเสีย ควรทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่า “คุณแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาเลิศประเสริฐยิ่ง คุณแห่งพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้เป็นอันดี และพระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณ คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง” ครั้งเห็นดังนี้แล้วก็ไม่ควรปล่อยการพิจารณานั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งกาลักน้ำ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า “ผู้บริสุทธิ์ในความเห็น ผู้แน่ในอริยธรรม ผู้ถึงคุณวิเศษ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งใด ย่อมเป็นผู้คงที่ในที่ทั้งปวง” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งร่ม
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งร่มได้แก่อะไร ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ร่ม ย่อมอยู่บนศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่บนกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งร่ม
ธรรมดาร่มย่อมคุ้มกันศีรษะฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคุ้มกันตนด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งร่ม
ธรรมดาร่มย่อมกำจัด ลม แดด เมฆ ฝนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดลัทธิสมณพราหมณ์ภายนอก และควรกำจัดเครื่องร้อน คือไฟ ๓ กอง ควรกำจัดฝน คือกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งร่ม ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “ร่มใหญ่อันไม่ขาด ไม่ทะลุ แน่นหนา แข็งแรง ย่อมกันลม กันแดด กันฝนห่าใหญ๋ได้ฉันใด พระพุทธบุตรผู้กั้นร่มคือศีล ผู้บริสุทธิ์ก็กันฝนคือกิเลส กันไฟ ๓ กอง อันทำให้เร่าร้อนได้ฉันนั้น” ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งนา
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งนาได้แก่สิ่งใด ? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นา ย่อมมีเหมือง ชาวนาย่อมไขน้ำจากเหมืองเข้าไปสู่นาเลี้ยงต้นข้าวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีเหมือง คือสุจริตด้วยข้อวัตรปฏิบัติฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนา
ธรรมดานาย่อมมีคันนา ชาวนาย่อมรักษาน้ำให้อยู่เลี้ยงต้นข้าวด้วยคันนาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสมบูรณ์ด้วยคันนาคือศีล ควรรักษาความเป็นสมณะไว้ด้วยคันนาคือศีล จึงจักได้สามัญผล ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนา
ธรรมดานาซึ่งเป็นนาดี ย่อมทำให้เกิดความดีใจแก่เจ้าของ ถึงหว่านข้าวลงไปน้อยก็ได้ผลมาก ยิ่งหว่านลงไปมากก็ยิ่งได้ผลมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นนาดี ควรเป็นผู้ให้ผลมาก ให้เกิดความดีใจแก่พวกทายก ถึงเขาจะถวายทานน้อยก็ให้เขาได้ผลมาก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนา ข้อนี้สมกับคำของ พระอุบาลีเถระ ผู้เป็นวินัยธรว่า “พระภิกษุควรเป็นผู้เปรียบด้วยนา ควรให้ผลอันไพบูลย์เหมือนกับนาดี ผู้ใดให้ผลอันไพบูลย์ได้ ผู้นั้นชื่อว่านาประเสริฐ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๒ แห่งยาดับพิษ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งยาดับพิษได้แก่อะไร? ”“ ขอถวายพระพร ตัวหนอนต่างๆ ย่อมไม่อยู่ในยาดับพิษฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสตั้งอยู่ในใจฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งยาดับพิษ
ธรรมดายาดับพิษย่อมกำจัดพิษทั้งปวงอันเกิดจากถูกกัด หรือถูกต้อง หรือพบเห็น หรือกินดื่ม เคี้ยว ลิ้มเลีย ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดพิษ คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งยาดับพิษ ข้อนี้สมกับพระพุทธภาษิตว่า “พระโยคีผู้ใคร่จะเห็นความเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย ควรเป็นเหมือนยาดับพิษ อันทำให้กิเลสพินาศ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
องค์ ๓ แห่งโภชนะ
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งโภชนะได้แก่สิ่งใด? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา โภชนะ ย่อมเลี้ยวชีวิตสัตว์ทั้งปวงไว้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอุปถัมภ์สัตว์ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งโภชนะ
ธรรมดาโภชนะ ย่อมให้เจริญกำลังแก่สัตว์ทั้งหลายฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เจริญบุญ แก่บุคคลทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งโภชนะ
ธรรมดาโภชนะ ย่อมเป็นที่ต้องการแห่งสัตว์ทั้งปวงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้เป็นที่ต้องการแห่งโลกทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งโภชนะ ข้อนี้สมกับคำของ พระโมฆราชเถระ ว่า “พระโยคาวจรแน่ใจในความเป็นสมณะของตน ด้วยศีลและข้อปฏิบัติ ควรให้เป็นที่ปรารถนาของโลกทั้งปวง” ดังนี้ ”
องค์ ๔ แห่งนายขมังธนู
“ ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งนายขมังธนูได้แก่อะไร? ”“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นายขมังธนู เมื่อจะยิงธนู ย่อมเหยียบพื้นด้วยเท้าทั้งสองให้มั่น ทำเข่าไม่ให้ไหว ยกธนูขึ้นเพียงหู ทำกายให้ตรง วางมือทั้งสองลงที่คันธนู จับคันธนูให้แน่น ทำนิ้วให้ชิดกัน เอี้ยวคอ หลิ่วตา เม้มปาก ทำเครื่องหมายให้ตรงแล้วเกิดความดีใจว่า เราจักยิงไปในบัดนี้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเหยียบพื้นดินคือศีล ด้วยเท้าคือวิริยะให้มั่น ทำขันติโสรัจจะไม่ให้ไหว ตั้งจิตไว้ในความสำรวม น้อมตนเข้าไปในความสำรวม บีบกิเลสตัณหาให้แน่น กระทำจิตไม่ให้มีช่องว่างด้วยโยนิโสมนสิการ ประคองความเพียรไว้ ปิดทวารทั้ง ๖ เสีย ตั้งสติเข้าไว้ ทำให้เกิดความร่าเริงว่า เราจักยิงกิเลสทั้งปวงด้วยลูกศร คือญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนายขมังธนู
ธรรมดานายขมังธนู ย่อมรักษาไม้ง่ามไว้ เพื่อดัดลูกธนูที่คดที่งอให้ตรงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรักษาไม้ง่าม คือสติปัฏฐานไว้ในกายนี้ เพื่อทำจิตที่คดงอให้ตรงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนายขมังธนู
ธรรมดานายขมังธนู ย่อมเพ่งที่หมายไว้ให้แน่ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเพ่งกายนี้ฉันนั้น ควรเพ่งอย่างไร...ควรเพ่งว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นของทำให้ลำบาก เป็นของแปรปรวน เป็นของแตกหัก เป็นของจัญไร เป็นของอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน ไม่มีที่หลบลี้ที่ต้านทานที่พึ่งที่อาศัย เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของมีโทษ เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาไม่มีแก่น เป็นรากเหง้าแห่งภัย เป็นผู้ฆ่า เป็นของมีอาสวะเครื่องดอง เป็นของน่าสงสัย เป็นของมีเหตุปัจจัยตกแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้า รำพัน คับแค้น เป็นธรรมดา ดังนี้ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนายขมังธนู
ธรรมดานายขมังธนู ย่อมหัดยิงธนูทั้งเย็นทั้งเช้าฉันใด พระโยคาวจรก็ควรฝึกหัดในอารมณ์ ทั้งเย็นทั้งเช้าฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งนายขมังธนู ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “นายขมังธนูย่อมหัดยิงทั้งเย็นทั้งเช้าไม่ทิ้งการฝึกหัด จึงได้ค่าจ้างรางวัลฉันใด ฝ่ายพระพุทธบุตรก็พิจารณากาย ไม่ทิ้งการพิจารณากาย แล้วได้ความเป็นพระอรหันต์ฉันนั้น” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
จบกุมภวรรคที่ ๗
หมายเหตุ
มิลินทปัญหา ที่มีมาในคัมภีร์ลานนี้มี ๒๖๒ ปัญหา มีวรรค ๒๒ วรรค แบ่งเป็น ๖ กัณฑ์ ส่วนที่ไม่ได้มีมาในคัมภีร์ลานนี้ ๔๒ ปัญหา รวมทั้งสิ้นเป็น ๓๐๔ ปัญหาเกิดเหตุอัศจรรย์ในวันปุจฉาวิสัชนาจบแล้ว
ในเวลาจบการปุจฉาวิสัชนาของพระราชาและพระเถระแล้ว แผ่นดินอันใหญ่ อันหนาได้ ๘ หมื่น ๔ พันโยชน์ ก็ได้แสดงอาการหวั่นไหว มีสายฟ้าแลบแปลบปลาบลงมา เหล่าเทพยดานางฟ้าทั้งหลาย ต่างก็ได้โปรยปรายทิพยบุปผาลงมาบูชา ท้าวมหาพรหมได้เปล่งเสียงสาธุการกึกก้อง ดังเสียงฟ้าร้องในท้องมหาสมุทรฉะนั้น พระเจ้ามิลินท์พร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงพร้อมกันประนมอัญชลีถวายมนัสการ พระองค์มีพระราชหฤทัยเบิกบานยิ่ง เป็นผู้ทรงเล็งเห็นสาระประโยชน์ในพระพุทธศาสนาสิ้นความสงสัยในพระรัตนตรัย จึงทรงเลื่อมใสยิ่งในคุณของพระเถระ คุณในบรรพชา คุณในข้อปฏิบัติและอิริยาบถของพระเถระ เป็นผู้หมดทิฏฐิมานะ เหมือนพญานาคที่ถูกถอนเขึ้ยวแล้วพระองค์จึงตรัสขึ้นว่า “สาธุ...สาธุ...พระนาคเสน ปัญหาอันเป็นพุทธวิสัย พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ไขแล้ว ผู้อื่นยกพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเสียแล้ว ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระเถระในการแก้ปัญหา ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอดโทษให้แก่โยม ในการที่โยมได้ล่วงเกินด้วยเถิด ขอจงจำโยมไว้ว่าเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
พระราชาเสด็จออกบรรพชาแล้วได้สำเร็จพระอรหันต์
ในคราวนั้นพระเจ้ามิลินท์พร้อมกับพลนิกาย ก็เข้าห้อมล้อมพระมหาเถระแห่กลับไปสู่ “มิลินทวิหาร” มอบมหาวิหารถวายพระมหาเถระ แล้วก็ปฏิบัติพระมหาเถระกับพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ด้วยปัจจัย ๔ ตลอดกาลเป็นนิจ อยู่มาภายหลังสมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ผู้ปราชญ์เปรื่องแห่งสาคลนครจอมบพิตรอดิศรจึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส แล้วเสด็จออกบรรพชา เจริญสมถวิปัสสนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สุภาษิตสรรเสริญผู้มีปัญญา
เพราะฉะนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า “ปัญญาเป็นของประเสริฐในโลก ปัญญาทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ บัณฑิตทั้งหลายกำจัดความสงสัยด้วยปัญญาแล้วย่อมถึงความสงบ สติไม่บกพร่องในขันธ์ใด ปัญญาก็ตั้งอยู่ได้ในขันธ์นั้น ผู้ประกอบด้วยปัญญา เป็นผู้ควรรับบูชาอันวิเศษ และเป็นผู้เลิศประเสริฐหาผู้ใดจะเสมอเหมือนมิได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เล็งเห็นความสุขของตน จึงควรบูชา “ท่านผู้มีปัญญา” เหมือนกับบูชา “พระเจดีย์” ฉะนั้น ” ดังนี้มิลินทปัญหา จบบริบูรณ์
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น