Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

คำสอนเซ็นที่น่าสนใจ

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นการรวมคำสอนของศาสนาพุทธ นิกายเซ็นที่น่าสนใจเอาไว้นะครับ

ตักม้อ

(พระโพธิธรรม แห่งวัดเส้าหลิน - ภิกษุชาวอินเดียผู้นำเอานิกายเซ็นไปเผยแพร่ที่ประเทศจีน)

  • การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริง และบรรลุความเป็นพุทธะ.
  • มองดูความขัดแย้งที่อยู่ในใจต่อสู้กัน แล้วสำรวจในตนเองว่ามันคิดมีมายาอย่างไร.
  • หลักการปฏิบัติธรรม 4 ประการของตักม้อ
    1.) สามารถพิจารณาสำรวจใจของตน ซึ่งเป็นรากฐานในการทำสมาธิให้ใจสงบ
    2.) ปฏิบัติตามธรรมชาติ แสวงหาผู้เคลื่อนไหวที่แท้จริง (จิตใจ - ธัมมโชติ)
    3.) ยึดถือศีลเสมือนหนึ่งลมหายใจเข้าออก ไม่จำนนต่อความยากลำบากใดๆ ทั้งสิ้น
    (ตักม้อให้ถือว่าความยากลำบากเป็นผลของกรรมเก่าครับ - ธัมมโชติ)
    4.) แหวกกรอบไม่ว่าเป็นวัตถุหรือจิตใจ (ให้ใจเป็นอิสระ ไม่ยึดติดสิ่งใดๆ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไปในอดีต เหมือนภาพในความฝัน
    (เป็นเหมือนภาพมายา หาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้ - ดูเรื่องธรรมะจากเลขศูนย์ "0" ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน เหมือนเป็นฟ้าแลบ
    (ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็แปรปรวนไป ดับไป ยึดมั่นอะไรไม่ได้ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคต เหมือนเมฆหมอกที่ล่องลอยอยู่ไปมา.
    (ยังเลือนลาง ไม่ชัดเจน แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ - ธัมมโชติ)
  • ชาวโลกมักตั้งชื่อ (ให้กับสิ่งต่างๆ - ธัมมโชติ) ไปต่างๆ ถ้าเรายึดมั่นในชื่อที่เรียกขาน จิตใจก็ถูกแบ่งแยก ธรรมที่ปฏิบัติและคำพูดต่างๆ จะเป็นรูปธรรมผูกมัดใจกายของผู้ยึดมั่นขึ้นมาทันที ทำให้ไม่อิสระ ไม่ว่าง ...... ชื่อนั้นจึงไม่มีความหมาย ไม่ควรที่ผู้ใดจะไปยึดมั่น เพียงแต่รู้และเข้าใจก็เพียงพอ.
  • หากใจเพ่งธรรมมากเกินไป ธรรมจะคอยดึงใจอยู่เสมอ ถ้าเคร่งธรรมอย่างเดียว จิตมีแต่จะต่ำต้อย (เพราะจิตใจจะถูกผูกมัดไว้ ไม่เป็นอิสระ - ดูเรื่องธรรมเปรียบเหมือนแพ ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ)

เว่ยหลาง

(ฮุ่ยเน้ง สังฆนายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็นในประเทศจีน)

  • เมื่อเราพบเห็นความดีก็ตาม ความชั่วก็ตามของบุคคลอื่น เราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบ หรือไม่ถูกมันผลักให้ชัง หรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมัน เมื่อนั้นลักษณะแห่งจิตใจของเราเป็นของว่างเท่ากันกับอวกาศ.
  • เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันโดยไม่ติดขัด และเป็นอิสระที่จะไปหรือมา เมื่อนั้นชื่อว่ามันอยู่ในภาวะแห่งปรัชญา. (คือเมื่อใดจิตใจไม่ยึดมั่นผูกพัน ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งใดๆ เลย เมื่อนั้นได้ชื่อว่าจิตกำลังมีปัญญา - ธัมมโชติ)
  • คำว่าปรัชญาหมายถึงปัญญาความรู้รอบแจ้งชัด คือเมื่อใดเราสามารถรักษาจิตของเรา ไม่ให้ถูกพัวพันด้วยความทะเยอทะยานอันโง่เขลาได้ทุกกาละทุกเทศะ ทำอะไรด้วยความฉลาด (คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ เลยนะครับ - ธัมมโชติ) ไปทุกโอกาส เมื่อนั้นชื่อว่าเรากำลังประพฤติอบรมปรัชญาอยู่ทีเดียว.
  • ..... การมีท่าทีซึ่งไม่เป็นทั้งการผลักดัน หรือการดึงดูดต่อสรรพสิ่งทั้งมวล เหล่านี้คือการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งตัวจิตเดิมแท้ เพื่อการบรรลุถึงพุทธภูมิ.
  • เมื่อเราใช้ปรัชญาของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้งทั้งภายในและภายนอก และอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง (การดูจิตตนเองย่อมทำให้รู้จักและเข้าใจทั้งจิตของตนเองและจิตผู้อื่น รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ด้วยนะครับ เพราะมีธรรมชาติคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เหมือนกัน- ธัมมโชติ)

    การรู้จักใจของเราเองก็คือการลุถึงวิมุตติ การลุถึงวิมุตติก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา ซึ่งเป็นความไม่ต้องคิด ความไม่ต้องคิดคือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน เมื่อเราใช้มันมันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่ง แต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย

    สิ่งที่เราจะต้องทำนั้นมีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่าง เพื่อวิญญาณทั้ง 6 (คือตัวรับรู้ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามลำดับ - ธัมมโชติ) เมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้ง 6 (คืออายตนะภายใน 6 ได้แก่ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นฐานให้วิญญาณ 6 เกิดทางทวารนั้นๆ ตามลำดับ ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้ง 6 (อารมณ์ 6 คืออายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ความคิดความรู้สึกต่างๆ ที่มากระทบกับอายตนะภายใน 6 อันทำให้การรับรู้ต่างๆ คือวิญญาณ 6 เกิดขึ้น - ธัมมโชติ)

    เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค (คือความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) และอยู่ในสถานะที่จะมาหรือไปได้โดยอิสระ เมื่อนั้นชื่อว่าเราได้บรรลุสมาธิฝ่ายปรัชญา หรืออิสรภาพ สถานะเช่นนี้มีนามว่าการทำหน้าที่ของความไม่ต้องคิด

    แต่ว่าการหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้ ข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด (คือให้รับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามปรกติ แต่ไม่ยึดมั่นผูกพัน หรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งใดเลยนะครับ ทางเถรวาทใช้คำว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า อันได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก และอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตไม่เป็นอิสระ - ธัมมโชติ)

  • ความคิดเรื่องตัวตน หรือเรื่องความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ ..... เมื่อใดท่านขจัดความเห็นว่าตัวตน และความเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ออกไปเสียได้ เขาพระสุเมรุก็จะหักคะมำพังทลายลงมา.
  • การเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือด้วยความสำคัญว่าตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล.
  • "การยึดถือในตัวตน" เป็นทางมาแห่งบาป แต่การถือว่า "การได้บรรลุธรรม หรือผลใดๆ ก็ตาม เป็นเพียงของลมๆ แล้งๆ" นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง. (คือต้องไม่ยึดมั่นทั้งในตัวตน และไม่ยึดมั่นว่าได้บรรลุธรรมใดๆ ด้วย คือไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย รวมทั้งไม่ยึดมั่นว่าไม่ยึดมั่นด้วยครับ - ธัมมโชติ)
  • ..... ฉันจะให้คำตักเตือนแก่พวกท่านในเรื่องการสั่งสอน เพื่อท่านจะได้รักษาธรรมเนียมแห่งสำนักของเรา
    1. ครั้งแรกจงกล่าวถึงธรรม 3 ประเภท (คือ ขันธ์ 5, อายตนะ 12, ธาตุ 18 - ธัมมโชติ)
    2. ต่อไปก็กล่าวถึงสิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 คู่ (เพื่อให้เห็นความสุดโต่ง เช่น ยาว/สั้น ดำ/ขาว ดี/ชั่ว - ธัมมโชติ) อันเป็นความไหวตัวของภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้ - ธัมมโชติ)
    3. จากนั้นก็สอนวิธีหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้าง (ให้ผู้ฟังเข้าใจสภาวะจิตที่เป็นกลางๆ ไม่หวั่นไหวไปกับความรู้สึกที่สุดโต่ง - ธัมมโชติ)
    4. การสอนทุกคราวอย่าเบนออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต
    5. เมื่อเพิกถอนการอ้างอิงต่อกันและกันของคำคู่นี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะเหลือเป็นความหมายอันเฉียบขาด (อิสระจากทุกสิ่ง - ธัมมโชติ)

      (เช่นมียาวเพราะมีสั้นมาเปรียบเทียบ มีดีเพราะมีชั่วมาเปรียบเทียบ มีดำเพราะมีขาวมาเปรียบเทียบนะครับ ถ้าไม่มีสิ่งมาเปรียบเทียบ หรือไม่มีการเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่มียาว สั้น ดี ชั่ว ดำ ขาว ฯลฯ ถ้าใจไม่ไปปรุงแต่ง ยึดมั่นผูกพันแล้ว ใจก็จะเป็นอิสระจากทุกสิ่ง ไม่เอียงไปข้างใดเลย - ธัมมโชติ)

ฮวงโป

  • ..... วิธีการชนิดฉับพลัน กล่าวคือการขจัดความคิดปรุงแต่ง โดยอาศัยความรู้อันเด็ดขาดว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะตั้งอยู่อย่างไม่ต้องแปรผัน ไม่มีอะไรเลยที่จะอิงอาศัยได้ ไม่มีอะไรเลยที่จะมอบความไว้วางใจได้ ไม่มีอะไรเลยที่ควรจะเข้าไปอยู่อาศัย ไม่มีอะไรเลยที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ.
  • คนโง่มัวแต่หลบหลีกปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่หลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดย่อมหลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง และไม่ต้องหลบหลีกปรากฏการณ์.
  • โดยการคิดถึงอะไรบางอย่าง เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง) ขึ้นมาอย่างหนึ่ง และโดยการคิดถึงความไม่มีอะไร เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของความไม่มีอะไร) ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
    ขอให้การคิดในทำนองที่ผิดๆ เช่นนี้ จงสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเถิด แล้วก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ให้เธอเที่ยวแสวงหาอีกต่อไป!

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น