Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๐๒-๕ หน้า ๒๔๖ - ๓๐๖

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒-๕ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒



พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๒
___________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. มุสาวาทวรรค
๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท
ว่าด้วยการแสดงธรรม
เรื่องพระอุทายี
[๖๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอุทายีเป็นพระประจำ
ตระกูลในกรุงสาวัตถีเข้าไปหาตระกูลหลายตระกูล เช้าวันหนึ่ง ท่านครองอันตรวาสก
ถือบาตรจีวรเข้าไปยังตระกูลหนึ่ง
สมัยนั้น หญิงแม่เรือนนั่งอยู่ที่ประตูเรือน ลูกสะใภ้นั่งอยู่ที่ประตูห้องนอน
ท่านพระอุทายีเข้าไปหาหญิงแม่เรือนนั้นถึงตัว ครั้นถึงแล้วได้แสดงธรรมใกล้
หูนาง
ขณะนั้นลูกสะใภ้เกิดความคิดขึ้นมาว่า สมณะรูปนี้เป็นชายชู้ของแม่ผัว หรือ
พูดเกี้ยวแม่ผัว
ครั้นท่านพระอุทายีแสดงธรรมใกล้หูหญิงแม่เรือนแล้ว จึงเข้าไปหาหญิงสะใภ้
ถึงตัว ครั้นถึงแล้วจึงแสดงธรรมใกล้หูนาง
ขณะนั้น หญิงแม่เรือนเกิดความคิดขึ้นมาว่า สมณะรูปนี้เป็นชายชู้ของลูกสะใภ้
หรือพูดเกี้ยวลูกสะใภ้
ครั้นท่านพระอุทายีแสดงธรรมใกล้หูลูกสะใภ้แล้วก็จากไป
ทีนั้น หญิงแม่เรือนได้กล่าวกับลูกสะใภ้ว่า “นี่แน่นางตัวดี สมณะรูปนั้นกล่าว
อะไรกับแก”
หญิงสะใภ้ตอบว่า “ท่านแสดงธรรม เจ้าค่ะ แล้วคุณแม่ล่ะ พระคุณเจ้าพูดอะไร”
หญิงแม่เรือนตอบว่า “ท่านก็แสดงธรรมแก่แม่เหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๔๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท พระบัญญัติ
หญิงแม่เรือนกับลูกสะใภ้นั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระ
คุณเจ้าอุทายีจึงแสดงธรรมใกล้หูมาตุคามเล่า พระธรรมกถึกควรแสดงธรรมเสียง
ชัดเจนเปิดเผย มิใช่หรือ”
พวกภิกษุได้ยินหญิงทั้งสองตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงแสดงธรรมแก่
มาตุคามเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอแสดงธรรมแก่มาตุคาม จริงหรือ”
ท่านพระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงแสดงธรรมแก่มาตุคามเล่า การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุทายี จบ
เรื่องอุบาสิกา
[๖๑] สมัยนั้น พวกอุบาสิกาพบภิกษุแล้วนิมนต์ว่า “พระคุณเจ้า ขอนิมนต์
พระคุณเจ้าแสดงธรรมเถิด”
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “น้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่เหมาะ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๔๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท พระอนุบัญญัติ
พวกอุบาสิกากล่าวว่า “ขอนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดแสดงธรรมสัก
๕-๖ คำก็ได้ แม้เพียงเท่านี้พวกดิฉันอาจเข้าใจธรรมได้”
พวกภิกษุก็ยังปฏิเสธว่า “น้องหญิง การแสดงธรรมแก่มาตุคามไม่เหมาะ”
พากันยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมแสดงธรรม
พวกอุบาสิกาจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้า
ทั้งหลายพวกเราอาราธนาอยู่ยังไม่ยอมแสดงธรรม”
พวกภิกษุได้ยินอุบาสิกาตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่มาตุคามได้
๕-๖ คำ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องอุบาสิกา จบ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๖๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้
แสดงธรรมแก่มาตุคามได้ ๕-๖ คำ จึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรม
แก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ
พวกภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๔๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
คำเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุพระฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอให้บุรุษไม่
รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ จริงหรือ” พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ
ว่า “โมฆบุรษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงให้บุรุษไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ ๆ แล้วแสดงธรรม
แก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๖๓] อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๖๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่
สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิตและคำ
ทุพภาษิต คำหยาบและคำสุภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๔๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า เกิน ๕-๖ คำ ได้แก่ เกินกว่า ๕-๖ คำ
ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ พุทธภาษิต สาวกภาษิต ฤๅษีภาษิต เทวดาภาษิต
ที่ประกอบด้วยอรรถ ที่ประกอบด้วยธรรม
คำว่า แสดง คือ แสดงเป็นบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ บท แสดงเป็น
อักษร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุก ๆ อักษร
คำว่า เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ คือ ยกเว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้ความอยู่ด้วย
บุรุษที่ชื่อว่า เป็นผู้รู้เดียงสา คือ สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต
คำหยาบและคำสุภาพ
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๖๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม แสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
ติกทุกกฏ
ภิกษุแสดงธรรมแก่นางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียซึ่ง
แปลงร่างเป็นหญิงมากกว่า ๕-๖ คำ ต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่มีบุรุษรู้เดียงสาอยู่
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๗.ธัมมเทสนาสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๖๖] ๑. ภิกษุที่แสดงธรรมโดยมีบุรุษรู้เดียงสาอยู่ด้วย
๒. ภิกษุแสดงธรรมเพียง ๕-๖ คำ
๓. ภิกษุแสดงธรรมต่ำกว่า ๕-๖ คำ
๔. ภิกษุลุกขึ้นแล้วมานั่งแสดงธรรมต่อไปอีก
๕. ภิกษุแสดงธรรมในที่ที่มาตุคามลุกขึ้นแล้วนั่งลงอีก
๖. ภิกษุแสดงธรรมแก่มาตุคามอื่นต่อ
๗. ภิกษุถูกถามปัญหาแล้วแสดงธรรมแก่มาตุคามผู้ถาม
๘. ภิกษุแสดงธรรมเพื่อคนอื่นแต่มีมาตุคามฟังอยู่ด้วย
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
ธัมมเทสนาสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. มุสาวาทวรรค
๘. ภูตาโรจนสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริง
เรื่องภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา๑
[๖๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมา
จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา คราวนั้น แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง
ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาว
เกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดว่า “บัดนี้
แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วน
ซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ ทำ
อย่างไรหนอ พวกเราจึงจะพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
อย่างผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ภิกษุบางพวกเสนอว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเรามาช่วยกันทำงาน
ของพวกคฤหัสถ์ เมื่อช่วยทำงาน พวกเขาก็คงจะพอใจถวายบิณฑบาตแก่พวกเรา
โดยวิธีนี้แหละ พวกเราก็จะพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษา
อย่างผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ภิกษุอีกพวกเสนอว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลาย ทำไมพวกเราจะต้องไปช่วยกัน
ทำงานของพวกคฤหัสถ์ ขอให้พวกเรามาช่วยกันทำหน้าที่ทูตนำข่าวสารให้พวก
คฤหัสถ์จะดีกว่า เมื่อทำอย่างนี้ พวกคฤหัสถ์ก็คงจะพอใจถวายบิณฑบาตแก่พวก
เรา โดยวิธีนี้แหละพวกเราก็จะพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำ
พรรษาอย่างผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก”

เชิงอรรถ :
๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์แปล เล่ม ๑ ข้อ ๑๙๓ หน้า ๑๗๗ ว่าด้วยการอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท นิทานวัตถุ
ภิกษุอีกพวกเสนอว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลาย ทำไมพวกเราจะต้องไปช่วยกัน
ทำงานหรือทำหน้าที่ทูตนำข่าวสารให้พวกคฤหัสถ์ ทางที่ดี พวกเรามากล่าวอวด
อุตตริมนุสสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ฟังว่า ‘ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน รูป
โน้นได้ทุติยฌาน รูปโน้นได้ตติยฌาน รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน
รูปโน้นเป็นพระสกทาคามี รูปโน้นเป็นพระอนาคามี รูปโน้นเป็นพระอรหันต์ รูปโน้น
ได้วิชชา ๓ รูปโน้นได้อภิญญา ๖’ เมื่อพูดอย่างนี้ พวกคฤหัสถ์ก็คงจะพอใจถวาย
บิณฑบาตแก่พวกเรา โดยวิธีนี้พวกเราจะพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาอย่างผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ในที่สุด ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดตกลงกันว่า “ท่านทั้งหลาย วิธีที่พวกเราพากัน
กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ฟังเป็นวิธีที่ดีกว่าวิธีอื่น”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นได้พากันกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันให้
พวกคฤหัสถ์ฟังว่า “ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน ฯลฯ รูปโน้นได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็น
พระโสดาบัน ฯลฯ รูปโน้นได้อภิญญา ๖”
ครั้งนั้นแล ประชาชนก็พากันยินดีว่า “เป็นลาภของพวกเราหนอ พวกเราได้ดี
แล้วหนอที่มีภิกษุทั้งหลายเช่นนี้มาอยู่จำพรรษา เพราะแต่ก่อนนี้พวกเราไม่มีภิกษุ
ทั้งหลายที่มีคุณสมบัติเหมือนอย่างภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้มาอยู่จำพรรษา
เลย” โภชนะ (อาหาร) ... ขาทนียะ (ของเคี้ยว) ... สายนียะ (ของลิ้ม) ... ปานะ
(เครื่องดื่ม) ชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่รับประทาน ไม่ขบ
เคี้ยว ไม่ลิ้ม ไม่ดื่มด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้แก่มารดาบิดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร
มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิต ภิกษุเหล่านั้นจึงเป็นผู้มีน้ำมีนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีใบ
หน้าเอิบอิ่ม มีผิวพรรณผุดผ่อง
[๖๘] มีประเพณีอยู่ว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วจะไปเข้าเฝ้าพระผู้
มีพระภาค ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วจึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตร
และจีวรออกเดินทางมุ่งไปสู่กรุงเวสาลี จาริกไปโดยลำดับ ถึงกรุงเวสาลี ผ่านป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท นิทานวัตถุ
มหาวัน ไปถึงกูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึง
ถวายอภิวาท แล้วนั่งลงอยู่ ณ ที่สมควร
ภิกษุต่างทิศมาเข้าเฝ้า
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่าง ๆ ดูซูบผอม ซอมซ่อ มี
ผิวพรรณหมองคล้ำ ซีด เหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ส่วนภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
กลับมีน้ำมีนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีใบหน้าเอิบอิ่ม มีผิวพรรณผุดผ่อง อนึ่ง การที่
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นก็เป็น
พุทธประเพณี
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามพวกภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อม
เพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่
ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะ
กัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถาม
เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า “ทำ
อย่างไร เธอทั้งหลายจึงพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก
และบิณฑบาตไม่ลำบาก”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีคุณวิเศษนั่น จริงหรือ” ภิกษุ
เหล่านั้นกราบทูลว่า “มีจริง พระพุทธเจ้าข้า”
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง
พากันกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ฟังเพราะเห็นแก่ปาก
แก่ท้องเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๖๙] ก็ ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุชาวฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๗๐] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน ได้แก่ ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ
มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ความยินดี
ในเรือนว่าง
คำว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
คำว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
คำว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
คำว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
คำว่า ญาณทัสสนะ ได้แก่ วิชชา ๓
คำว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า การทำผลให้แจ้ง ได้แก่ การทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง การทำ
สกทาคามิผลให้แจ้ง การทำอนาคามิผลให้แจ้ง การทำอรหัตตผลให้แจ้ง
คำว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
คำว่า ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ได้แก่ ภาวะที่จิตปลอดจากราคะ ภาวะ
ที่จิตปลอดจากโทสะ ภาวะที่จิตปลอดจากโมหะ
คำว่า ความยินดีในเรือนว่าง ได้แก่ ความยินดีในเรือนว่างด้วยปฐมฌาน
ความยินดีในเรือนว่างด้วยทุติยฌาน ความยินดีในเรือนว่างด้วยตติยฌาน ความ
ยินดีในเรือนว่างด้วยจตุตถฌาน
กล่าวอวดปฐมฌาน
[๗๑] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
แล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานอยู่”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าปฐมฌาน
แล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌาน”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญใน
ปฐมฌาน” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าทำปฐมฌานให้แจ้ง
แล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกทุติยฌาน - จตุตถฌาน
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานแล้ว
ฯลฯ ข้าพเจ้าเข้าตติยฌาน...จตุตถฌานแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้า
แล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้จตุตถฌาน ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำจตุตถฌานให้
แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกสุญญตวิโมกข์ - อัปปณิหิตสมาธิ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์แล้ว
ฯลฯ ข้าพเจ้าเข้าอนิมิตตวิโมกข์ ...อัปปณิหิตวิโมกข์ ...สุญญตสมาธิ ...อนิมิตตสมาธิ
...อัปปณิหิตสมาธิแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้
อัปปณิหิตสมาธิ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำอัปปณิหิตสมาธิให้แจ้งแล้ว”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกสุญญตสมาบัติ - อัปปณิหิตสมาบัติ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าสุญญตสมาบัติ
...อนิมิตตสมาบัติ ...อัปปณิหิตสมาบัติแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อัปปณิหิตสมาบัติ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำอัปปณิหิต
สมาบัติให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกวิชชา ๓
คำว่า บอก คือภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าวิชชา ๓ แล้ว...
ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้วิชชา ๓ ... ข้าพเจ้าเป็น
ผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำวิชชา ๓ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกสติปัฏฐาน ๔ - อิทธิบาท ๔
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ
...สัมมัปปธาน ๔ ...อิทธิบาท ๔ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อิทธิบาท ๔ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำอิทธิบาท ๔ ให้
แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกอินทรีย์ ๕ - พละ ๕
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าอินทรีย์ ๕ ฯลฯ
พละ ๕ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้พละ ๕ ...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำพละ ๕ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกโพชฌงค์ ๗
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าโพชฌงค์ ๗
แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้โพชฌงค์ ๗ ...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำโพชฌงค์ ๗ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกอริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าอริยมรรคมี
องค์ ๘ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อริยมรรค
มีองค์ ๘ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้แจ้งแล้ว”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกโสดาปัตติผล - อรหัตตผล
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าโสดาปัตติผล...
สกทาคามิผล... อนาคามิผล... อรหัตตผลแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้า
แล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อรหัตตผล... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำอรหัตตผล
ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกการสละราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าสละราคะแล้ว ฯลฯ
ข้าพเจ้าสละโทสะแล้ว ข้าพเจ้าสละ คาย พ้น ละ สลัด เพิก ถอนโมหะขึ้นแล้ว”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกว่าจิตปลอดจากราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “จิตของข้าพเจ้าปลอดจากราคะ
ฯลฯ จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโทสะ จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
บอกปฐมฌาน - จตุตถฌานในเรือนว่าง
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน ฯลฯ
ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌานในเรือนว่างแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้า
เป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้จตุตถฌาน ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำ
จตุตถฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๕๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกปฐมฌานและทุติยฌาน
[๗๒] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
และทุติยฌานแล้ว ... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้
ปฐมฌานและทุติยฌาน... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและ
ทุติยฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและตติยฌาน - จตุตถฌาน
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
ตติยฌาน ฯลฯ ปฐมฌานและจตุตถฌานแล้ว ... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้า
แล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและจตุตถฌาน... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้า
ทำปฐมฌานและจตุตถฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและสุญญตวิโมกข์ - อัปปณิหิตสมาธิ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
สุญญตวิโมกข์ ฯลฯ อนิมิตตวิโมกข์... อัปปณิหิตวิโมกข์... สุญญตสมาธิ...
อนิมิตตสมาธิ... อัปปณิหิตสมาธิแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและอัปปณิหิตสมาธิ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำ
ปฐมฌานและอัปปณิหิตสมาธิให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและสุญญตสมาบัติ - อัปปณิหิตสมาบัติ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
สุญญตสมาบัติ ฯลฯ อนิมิตตสมาบัติ... อัปปณิหิตสมาบัติแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่...
ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและอัปปณิหิตสมาบัติ... ข้าพเจ้า
เป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและอัปปณิหิตสมาบัติให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกปฐมฌานและวิชชา ๓
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและวิชชา
๓ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและ
วิชชา ๓ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและวิชชา ๓ ให้แจ้งแล้ว”
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและสติปัฏฐาน ๔ - อิทธิบาท ๔
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
สติปัฏฐาน ๔ ...สัมมัปปธาน ๔ ...อิทธิบาท ๔ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้า
เป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและอิทธิบาท ๔ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ...
ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและอิทธิบาท ๔ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและอินทรีย์ ๕ - พละ ๕
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
อินทรีย์ ๕ ฯลฯ พละ ๕ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้า
เป็นผู้ได้ปฐมฌานและพละ ๕ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและ
พละ ๕ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและโพชฌงค์ ๗
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
โพชฌงค์ ๗ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้
ปฐมฌานและโพชฌงค์ ๗ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและ
โพชฌงค์ ๗ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและอริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
ผู้ได้ปฐมฌานและอริยมรรคมีองค์ ๘ ... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำ
ปฐมฌานและอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌานและโสดาปัตติผล - อรหัตตผล
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและ
โสดาปัตติผล ฯลฯ สกทาคามิผล... อนาคามิผล... อรหัตผลแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่...
ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌานและอรหัตตผล... ข้าพเจ้าเป็นผู้
ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำปฐมฌานและอรหัตตผลให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌาน - สละราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน ข้าพเจ้า
สละราคะ ข้าพเจ้าสละโทสะแล้ว ข้าพเจ้าสละ คาย พ้น ละ สลัด เพิก ถอนโมหะ
ขึ้นแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกปฐมฌาน-จิตปลอดจากราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว...
ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... จิตของข้าพเจ้าปลอดจากราคะ จิตของ
ข้าพเจ้าปลอดจากโทสะ จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกทุติยฌานและจตุตถฌาน
[๗๓] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌาน
และตติยฌาน ทุติยฌานและจตุตถฌานแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว...
ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ทุติยฌานและจตุตถฌาน... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำ
ทุติยฌานและจตุตถฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บอกทุติยฌานและสุญญตวิโมกข์
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานและ
สุญญตวิโมกข์แล้ว ฯลฯ และจิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกทุติยฌานและปฐมฌาน
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานและ
ปฐมฌานแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้
ทุติยฌานและปฐมฌาน... ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ... ข้าพเจ้าทำทุติยฌานและ
ปฐมฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯลฯ
(มูลนัยท่านย่อไว้แล้ว)
บอกว่าจิตปลอดจากโมหะและปฐมฌาน
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ
และข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว... ข้าพเจ้าเข้าอยู่... ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าแล้ว... จิตของ
ข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ และข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌาน ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญ
จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ และข้าพเจ้าทำปฐมฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ ฯลฯ
บอกว่าจิตปลอดจากโมหะและโทสะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “จิตของข้าพเจ้าปลอดจาก
โมหะและจิตของข้าพเจ้าปลอดจากโทสะ” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯลฯ
บอกปฐมฌาน - จิตปลอดจากราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติย
ฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ
อัปปณิหิตสมาบัติ วิชชา ๓ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล
และอรหัตตผล ฯลฯ ข้าพเจ้าสละราคะแล้ว ข้าพเจ้าสละโทสะแล้ว และสละ คาย
พ้น ละ สลัด เพิก ถอนโมหะขึ้นแล้ว” ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
วัตตุกามวารกถา
ประสงค์จะบอกปฐมฌาน
[๗๔] คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้า
เข้าปฐมฌานแล้ว” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ประสงค์จะบอกปฐมฌาน - จิตปลอดจากราคะ โทสะ และโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
แล้ว” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน สุญญตวิโมกข์
อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ วิชชา ๓ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผลแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าสละ
ราคะแล้ว ข้าพเจ้าสละโทสะแล้ว และข้าพเจ้าสละ คาย พ้น ละ สลัด เพิก ถอนโมหะ
ขึ้นแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ประสงค์จะบอกทุติยฌาน - จิตปลอดจากโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติย
ฌานแล้ว” แต่กล่าวว่า จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ประสงค์จะบอกทุติยฌาน
คำว่า บอก คือ ภิกษุต้องการจะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติย
ฌานแล้ว” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
(มูลนัยท่านย่อไว้แล้ว)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
ประสงค์จะบอกว่าจิตปลอดจากโมหะ
คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “จิตของข้าพเจ้า
ปลอดจากโมหะ” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
คำว่า บอก คือ ภิกษุต้องการจะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “จิตของข้าพเจ้า
ปลอดจากโมหะ” แต่กล่าวว่า “จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโทสะ” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ประสงค์จะบอกปฐมฌาน ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานแล้ว ฯลฯ จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ”
แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อ
เขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ประสงค์จะบอกทุติยฌาน ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุประสงค์จะกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติย
ฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานแล้ว ฯลฯ จิตของข้าพเจ้าปลอดจากโมหะ” แต่กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” เมื่อผู้อื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อเขาไม่เข้าใจ
ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าปฐมฌาน
[๗๕] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหาร
ของท่าน ภิกษุรูปนั้นเข้าปฐมฌานแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็น
ผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้ปฐมฌาน... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้น
ทำปฐมฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าทุติยฌาน ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของ
ท่าน ภิกษุรูปนั้นเข้าทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน... จตุตถฌานแล้ว... ภิกษุรูปนั้น
เข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้ทุติยฌาน... ภิกษุรูปนั้น
เป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้นทำจตุตถฌานให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าสุญญตวิโมกข์ ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของท่าน
ภิกษุรูปนั้นเข้าสุญญตวิโมกข์ ฯลฯ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ สุญญตสมาธิ
อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิแล้ว ...ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว...
ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้อัปปณิหิตสมาธิ... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้นทำ
อัปปณิหิตสมาธิให้แจ้งแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าสุญญตสมาบัติ ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของ
ท่าน ภิกษุรูปนั้นเข้าสุญญตสมาบัติ ฯลฯ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติแล้ว...
ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้อัปปณิหิตสมาบัติ
... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้นทำอัปปณิหิตสมาบัติให้แจ้งแล้ว” ต้อง
อาบัติทุกกฏ
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าวิชชา ๓ ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวอวดอนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของ
ท่าน ภิกษุรูปนั้นเข้าวิชชา ๓ ฯลฯ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล
อนาคามิผล และอรหัตตผลแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว...
ภิกษุรูปนั้นสละราคะแล้ว ภิกษุรูปนั้นสละโทสะแล้ว ภิกษุรูปนั้นสละ คาย พ้น ละ
สลัด เพิก ถอนโมหะขึ้นแล้ว จิตของภิกษุรูปนั้นปลอดจากราคะ จิตของภิกษุรูปนั้น
ปลอดจากโทสะ จิตของภิกษุรูปนั้นปลอดจากโมหะ” ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าปฐมฌานในเรือนว่าง ฯลฯ
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของท่าน
ภิกษุรูปนั้นเข้าปฐมฌาน ฯลฯ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานในเรือนว่างแล้ว
ฯลฯ ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้... ภิกษุรูป
นั้นเป็นผู้ชำนาญ...ภิกษุรูปนั้นทำจตุตถฌานให้แจ้งในเรือนว่างแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ
บอกว่าภิกษุอื่นเข้าจตุตถฌานในเรือนว่าง
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ภิกษุรูปใดใช้สอยจีวรของท่าน
ภิกษุรูปใดฉันบิณฑบาตของท่าน ภิกษุรูปใดใช้สอยเสนาสนะของท่าน ภิกษุรูปใด
บริโภคคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๑ของท่าน ภิกษุรูปนั้นเข้าจตุตถฌานในเรือนว่าง
แล้ว... ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้... ภิกษุ
รูปนั้นเป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้นทำจตุตถฌานให้แจ้งในเรือนว่างแล้ว” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
[๗๖] คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “วิหารของท่านภิกษุรูปใด
ใช้สอยแล้ว จีวรของท่านภิกษุรูปใดใช้สอยแล้ว บิณฑบาตของท่านภิกษุรูปใดฉันแล้ว
เสนาสนะของท่านภิกษุรูปใดใช้สอยแล้ว คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของท่านภิกษุรูปใด
บริโภคแล้ว ภิกษุรูปนั้นเข้าจตุตถฌานในเรือนว่างแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่... ภิกษุ
รูปนั้นเป็นผู้เข้าแล้ว... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ได้... ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ชำนาญ... ภิกษุรูปนั้น
ทำจตุตถฌานให้แจ้งในเรือนว่างแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คือเภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐,
สารตฺถ. ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓) เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต
ดุจกำแพงล้อมพระนคร เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็น
สัมภาระของชีวิต คอยประคับประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗,
ม.มู ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓)
เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป (สารตฺถ. ฏีกา ๒/
๒๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๘.ภูตาโรจนสิกขาบท อนาปัตติวาร
คำว่า บอก คือ ภิกษุกล่าวแก่อนุปสัมบันว่า “ท่านอาศัยภิกษุรูปใดแล้วได้
ถวายวิหาร ได้ถวายจีวร ได้ถวายบิณฑบาต ได้ถวายเสนาสนะ ได้ถวายคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร ภิกษุรูปนั้นเข้าแล้ว กำลังเข้า เป็นผู้เข้าจตุตถฌานในเรือนว่าง ภิกษุรูป
นั้นเป็นผู้ได้ เป็นผู้ชำนาญ ทำให้แจ้งจตุตถฌานในเรือนว่างแล้ว” ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๗๗] ๑. ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อุปสัมบัน
๒. ภิกษุต้นบัญญัติ
ภูตาโรจนสิกขาบทที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๙.ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. มุสาวาทวรรค
๙. ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท
ว่าด้วยการบอกอาบัติชั่วหยาบ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๗๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทะเลาะกับ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ท่านต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน จึงขอ
สงฆ์อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัตินั้น สงฆ์ให้ท่านอยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัตินั้น
สมัยนั้น ในกรุงสาวัตถีมีสังฆภัตของสมาคมหนึ่งเกิดขึ้น ท่านพระอุปนันท
ศากยบุตรกำลังอยู่ปริวาส จึงนั่ง ณ อาสนะสุดท้ายในโรงอาหาร
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวกับอุบาสกเหล่านั้นว่า “ท่านพระอุปนันทศากยบุตร
เป็นพระประจำตระกูลที่พวกท่านยกย่อง ใช้มือที่เปิบข้าวที่เขาถวายด้วยศรัทธา
พยายามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน ท่านต้องอาบัติข้อจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน จึงขอสงฆ์
อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัตินั้น สงฆ์ให้ท่านอยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัตินั้น ท่าน
กำลังอยู่ปริวาสจึงนั่ง ณ อาสนะสุดท้าย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบันเล่า” ครั้นภิกษุ
เหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอบอกอาบัติชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๖๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๙.ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
หยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระ
พุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน
พวกเธอจึงบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบันเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้
เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้
พระบัญญัติ
[๗๙] ก็ ภิกษุใดบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๘๐] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น
อาบัติที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท และอาบัติ
สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท
ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุและภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน
คำว่า บอก คือ บอกแก่สตรีหรือแก่บุรุษ แก่คฤหัสถ์หรือแก่บรรพชิต
คำว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ยกเว้นภิกษุที่ได้รับมอบหมายจาก
สงฆ์๑

เชิงอรรถ :
๑ คือมอบหมายให้เป็นผู้บอกอาบัติ (ดู หน้า ๒๗๑-๒๗๒ ประกอบ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๙.ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ภิกษุที่ได้รับสมมติให้บอก กำหนดอาบัติ ไม่กำหนดตระกูลก็มี
ภิกษุที่ได้รับสมมติให้บอก กำหนดตระกูล ไม่กำหนดอาบัติก็มี
ภิกษุที่ได้รับสมมติให้บอก กำหนดอาบัติและกำหนดตระกูลก็มี
ภิกษุที่ได้รับสมมติให้บอก ไม่กำหนดอาบัติและไม่กำหนดตระกูลก็มี
ที่ชื่อว่า กำหนดอาบัติ คือ สงฆ์กำหนดอาบัติว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดตระกูล คือ สงฆ์กำหนดตระกูลว่า พึงบอกในตระกูลมี
ประมาณเท่านี้
ที่ชื่อว่า กำหนดอาบัติและกำหนดตระกูล คือ สงฆ์กำหนดอาบัติและ
กำหนดตระกูลไว้ว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ในตระกูลมีประมาณเท่านี้
ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดอาบัติและไม่กำหนดตระกูล คือ สงฆ์ไม่กำหนดอาบัติและ
ไม่กำหนดตระกูลไว้ว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ในตระกูลมีประมาณเท่านี้
[๘๑] ในการกำหนดอาบัติ ภิกษุบอกอาบัติอื่นนอกจากอาบัติที่สงฆ์กำหนด
ไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดตระกูล ภิกษุบอกในตระกูลอื่นนอกจากตระกูลที่สงฆ์กำหนดไว้
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ในการกำหนดอาบัติและในการกำหนดตระกูล ภิกษุบอกอาบัติอื่น นอกจาก
อาบัติที่สงฆ์กำหนดไว้ และในตระกูลอื่นนอกจากตระกูลที่สงฆ์กำหนดไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดอาบัติและในกรณีที่ไม่ได้กำหนดตระกูล ไม่ต้องอาบัติ
ติกปาจิตตีย์
[๘๒] อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ บอกแก่อนุปสัมบัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๙.ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ บอกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้น
ไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ
อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นอาบัติชั่วหยาบ บอกแก่อนุปสัมบัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ
ทุกกฏ
ภิกษุบอกอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุบอกความประพฤติชั่วหยาบหรือไม่ชั่วหยาบแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสำคัญว่าเป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๓] ๑. ภิกษุบอกเรื่องที่เกิดแต่ไม่บอกอาบัติ
๒. ภิกษุบอกอาบัติแต่ไม่บอกเรื่องที่เกิด
๓. ภิกษุผู้ได้รับสมมติ
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบทที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๑๐.ปฐวีขณนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๑. มุสาวาทวรรค
๑๐. ปฐวีขณนสิกขาบท
ว่าด้วยการขุดดิน
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี
[๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขต
เมืองอาฬวี สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันก่อสร้าง ขุดบ้าง ใช้ให้ขุดบ้าง
ซึ่งดิน พวกชาวบ้านจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงขุดบ้าง ใช้ให้ขุดบ้างซึ่งดินเล่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียน
ชีวะซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี จึงขุดบ้าง
ใช้ให้ขุดบ้างซึ่งดินเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอขุดบ้าง ใช้ให้ขุดบ้างซึ่ง
ดินจริงหรือ” ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงขุดบ้าง ใช้ให้ขุดบ้าง
ซึ่งดินเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย พวกชาวบ้านสำคัญว่าดินมีชีวะ โมฆบุรุษทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง
ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๑๐.ปฐวีขณนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๘๕] ก็ ภิกษุใดขุด หรือใช้ให้ขุดซึ่งดิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๘๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ดิน ได้แก่ ดิน ๒ ชนิด คือ (๑) ดินแท้ (๒) ดินไม่แท้
ที่ชื่อว่า ดินแท้ คือ ดินร่วนล้วน ดินเหนียวล้วน ดินมีหินผสมนิดหน่อย
ดินมีกรวดผสมนิดหน่อย ดินมีกระเบื้องผสมนิดหน่อย ดินมีแร่ผสมนิดหน่อย ดิน
มีทรายผสมนิดหน่อย ดินร่วนเป็นส่วนมาก ดินเหนียวเป็นส่วนมาก แม้ดินที่ยังไม่
เผาไฟก็เรียกว่า ดินแท้
กองดินร่วนหรือดินเหนียวที่ฝนตกรดเกิน ๔ เดือนก็เรียกว่า ดินแท้
ที่ชื่อว่า ดินไม่แท้ คือ หินล้วน ดินมีกรวดล้วน ดินมีกระเบื้องล้วน ดินมี
แร่ล้วน ดินมีทรายล้วน ดินมีดินร่วนผสมนิดหน่อย ดินมีดินเหนียวผสมนิดหน่อย
ดินมีหินมาก ดินมีกรวดมาก ดินมีกระเบื้องมาก ดินมีแร่มาก ดินมีทรายมาก
แม้ดินที่เผาไฟแล้วก็เรียกว่า ดินไม่แท้
กองดินร่วนหรือดินเหนียวที่ฝนตกรดยังไม่ถึง ๔ เดือนก็เรียกว่า ดินไม่แท้
คำว่า ขุด คือ ภิกษุขุดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ขุด คือ ภิกษุใช้ผู้อื่นให้ขุด ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ภิกษุสั่งครั้งเดียว เขาขุดหลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค ๑๐.ปฐวีขณนสิกขาบท อนาปัตติวาร
บทภาชนีย์
[๘๗] ดิน ภิกษุสำคัญว่าเป็นดิน ขุดหรือใช้ให้ขุด ทำลายหรือใช้ให้ทำลาย
เผาหรือใช้ให้เผา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ดิน ภิกษุไม่แน่ใจ ขุดหรือใช้ให้ขุด ทำลายหรือใช้ให้ทำลาย เผาหรือใช้ให้เผา
ต้องอาบัติทุกกฏ
ดิน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ดิน ขุดหรือใช้ให้ขุด ทำลายหรือใช้ให้ทำลาย เผา
หรือใช้ให้เผา ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่ดิน ภิกษุสำคัญว่าเป็นดิน ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ดิน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่ดิน ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ดิน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๘๘] ๑. ภิกษุกล่าวว่า “ท่านจงรู้ จงให้ จงนำสิ่งนี้มา เราต้องการสิ่งนี้
ท่านจงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”๑
๒. ภิกษุไม่จงใจ
๓. ภิกษุไม่มีสติ
๔. ภิกษุไม่รู้
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปฐวีขณนสิกขาบทที่ ๑๐ จบ
มุสาวาทวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือ ใช้ให้ผู้อื่นทำด้วยกล่าวว่า ท่านจงรู้หลุมเสา จงรู้ดินเหนียวมาก จงรู้ดินเหนียวผสมแกลบ ท่านจง
ให้ดินเหนียวมาก จงให้ดินเหนียวผสมแกลบ ท่านจงนำดินเหนียวมา จงนำฝุ่นมา ต้องการดินเหนียว
ต้องการฝุ่น ท่านจงทำหลุมเสานี้ให้เป็นกัปปิยะ จงทำดินเหนียวนี้ให้เป็นกัปปิยะ จงทำฝุ่นนี้ให้เป็นกัปปิยะ
คือให้เป็นของที่ควรใช้ (วิ.อ. ๒/๘๘/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๑.มุสาวาทวรรค รวมสิกขาบทที่มีในมุสาวาทวรรค
รวมสิกขาบทที่มีในมุสาวาทวรรค
มุสาวาทวรรคมี ๑๐ สิกขาบท คือ

๑. มุสาวาทสิกขาบท ว่าด้วยการกล่าวเท็จ
๒. โอมสวาทสิกขาบท ว่าด้วยการกล่าวเสียดสี
๓. เปสุญญสิกขาบท ว่าด้วยการกล่าวส่อเสียด
๔. ปทโสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยการให้กล่าวธรรมเป็นบท ๆ
๕. สหเสยยสิกขาบท ว่าด้วยการนอนร่วมกัน
๖. ทุติยสหเสยยสิกขาบท ว่าด้วยการนอนร่วมกันข้อที่ ๒
๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท ว่าด้วยการแสดงธรรม
๘. ภูตาโรจนสิกขาบท ว่าด้วยการบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริง
๙. ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท ว่าด้วยการบอกอาบัติชั่วหยาบ
๑๐. ปฐวีขณนสิกขาบท ว่าด้วยการการขุดดิน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๑.ภูตคามสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
หมวดว่าด้วยภูตคาม
๑. ภูตคามสิกขาบท
ว่าด้วยการพรากภูตคาม
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี
[๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขต
เมืองอาฬวี ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง ตัดบ้าง ใช้ให้ตัดบ้างซึ่ง
ต้นไม้ ภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่งกำลังตัดต้นไม้ เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ได้กล่าวกับ
ภิกษุนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านต้องการจะสร้างที่อยู่ของท่านก็โปรดอย่าตัดต้นไม้ที่
เป็นที่อยู่ของข้าพเจ้าเลย” ภิกษุนั้นไม่เชื่อฟังยังขืนตัด ได้ฟันถูกแขนลูกของเทวดา
ทีนั้น เทวดาได้มีความคิดว่า “เราฆ่าภิกษุนี้ในที่นี้จะดีไหม” แต่แล้วได้มีความ
คิดว่า “การที่เราจะฆ่าภิกษุในที่นี้ไม่สมควร ทางที่ดี เราควรนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาค” จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลเรื่อง
นั้นให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการว่า “เทวดา ดีแล้ว ดีนักหนาที่ท่านไม่ฆ่าภิกษุ
ถ้าท่านฆ่าภิกษุในวันนี้ ท่านจะประสบบาปมาก เทวดา ไปเถิด ท่านจงไปอยู่ที่
ต้นไม้ว่างในที่โน้น”
พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงตัดบ้าง ใช้ให้ตัดบ้างซึ่งต้นไม้เล่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เบียดเบียนชีวะซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
พวกภิกษุได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีจึงตัดบ้าง ใช้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๑.ภูตคามสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
ตัดบ้างซึ่งต้นไม้เล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอตัดบ้าง ใช้ให้
ตัดบ้าง ซึ่งต้นไม้ จริงหรือ” พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงตัด
บ้าง ใช้ให้ตัดบ้างซึ่งต้นไม้เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย เพราะพวกชาวบ้านมีความสำคัญ
ว่าต้นไม้มีชีวะ โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๙๐] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม๑
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๑] ที่ชื่อว่า ภูตคาม ได้แก่ พืชพันธุ์ ๕ ชนิด คือ (๑) พืชพันธุ์เกิดจากเหง้า
(๒) พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น (๓) พืชพันธุ์เกิดจากตา (๔) พืชพันธุ์เกิดจากยอด
(๕) พืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด

เชิงอรรถ :
๑ ภูตคาม กลุ่มแห่งพืชพันธุ์ที่จะงอกได้ ที่เจริญเติบโตแล้ว เป็นชื่อเรียกต้นไม้ยืนต้นและหญ้าเขียวสด (วิ.อ.
๒/๙๐-๙๑/๒๘๓-๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๑.ภูตคามสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด
ข่า แฝก แห้วหมู หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่เหง้า งอกที่เหง้า นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิด
จากเหง้า
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น ได้แก่ ต้นโพ ต้นไทร ต้นดีปลี ต้นมะเดื่อ
ต้นเต่าร้าง ต้นมะขวิด หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่ลำต้น งอกที่ลำต้น นี้ชื่อว่า
พืชพันธุ์เกิดจากลำต้น
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากตา ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ หรือพืชพันธุ์อย่างอื่น
ซึ่งเกิดที่ตา งอกที่ตา นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากตา
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง หรือ
พืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่งเกิดที่ยอด งอกที่ยอด นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากยอด
ที่ชื่อว่า พืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด ได้แก่ ข้าว ถั่ว งา หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นซึ่ง
เกิดที่เมล็ด งอกที่เมล็ด นี้ชื่อว่าพืชพันธุ์เกิดจากเมล็ด
บทภาชนีย์
[๙๒] พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นพืชพันธุ์ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือ
ใช้ให้ทำลาย ต้ม หรือใช้ให้ต้ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
พืชพันธุ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือใช้ให้ทำลาย ต้ม หรือ
ใช้ให้ต้ม ต้องอาบัติทุกกฏ
พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่พืชพันธุ์ ตัด หรือใช้ให้ตัด ทำลาย หรือใช้ให้
ทำลาย ต้ม หรือใช้ให้ต้ม ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นพืชพันธุ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
ไม่ใช่พืชพันธุ์ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่พืชพันธุ์ ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๗๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๑.ภูตคามสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๙๓] ๑. ภิกษุกล่าวว่า “ท่านจงรู้ จงให้ จงนำสิ่งนี้มา เราต้องการสิ่งนี้
ท่านจงทำสิ่งนี้ให้เป็นกัปปิยะ”๑
๒. ภิกษุไม่จงใจ
๓. ภิกษุไม่มีสติ
๔. ภิกษุผู้ไม่รู้
๕. ภิกษุวิกลจริต
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
ภูตคามสิกขาบทที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คือ ใช้ให้ผู้อื่นทำด้วยกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชพันธุ์เกิดจากเหง้านี้ ท่านจงให้เหง้า หรือใบไม้นี้ ท่านจงนำต้น
ไม้หรือเถาวัลย์นี้มา ต้องการดอกไม้ ผลไม้ หรือใบไม้นี้ ท่านจงทำต้นไม้ เถาวัลย์ หรือผลไม้นี้ให้เป็นกัปปิยะ
คือให้เป็นของที่ควรใช้ (วิ.อ. ๒/๙๓/๒๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๒. อัญญวาทกสิกขาบท
ว่าด้วยการกล่าวกลบเกลื่อน
เรื่องพระฉันนะ
[๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุง
โกสัมพี สมัยนั้น ท่านพระฉันนะประพฤติไม่เหมาะสม ถูกพระวินัยธรไต่สวนอาบัติ
ท่ามกลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า “ใครต้อง
ต้องอะไร ต้องในเรื่องอะไร ต้องอย่างไร พวกท่านกล่าวถึงใคร กล่าวเรื่องอะไร”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระ
ฉันนะถูกพระวินัยธรไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบ
เกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า “ใครต้อง ต้องอะไร ต้องในเรื่องอะไร ต้องอย่างไร พวกท่าน
กล่าวถึงใคร กล่าวเรื่องอะไร” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการ
ต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงสอบถามพระฉันนะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า
เมื่อเธอถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีก
เรื่องหนึ่งว่า ‘ใครต้อง ต้องอะไร ต้องในเรื่องอะไร ต้องอย่างไร พวกท่านกล่าวถึงใคร
กล่าวเรื่องอะไร’ จริงหรือ” ท่านพระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอ เมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่าม
กลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า ใครต้อง ฯลฯ
พวกท่านกล่าวเรื่องอะไรเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท นิทานวัตถุ
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงลงอัญญวาทกกรรม๑ แก่ภิกษุฉันนะ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงลงอัญญวาทกกรรมอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
กรรมวาจา
[๙๕] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติ
ท่ามกลางสงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงลงอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลาง
สงฆ์ กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่ง สงฆ์จึงลงอัญญวาทกกรรม
แก่ภิกษุชื่อฉันนะ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการลงอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ
ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
อัญญวาทกกรรมสงฆ์ลงแก่ภิกษุชื่อฉันนะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ทีนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่าง ๆ แล้วได้
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้
ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “อัญญวาทกกรรม” ได้แก่ การลงโทษภิกษุที่แกล้งยกเรื่องอื่น ๆ มาพูดกลบเกลื่อนข้อหาที่ถูก
โจทไม่ให้การตามตรงเมื่อถูกสงฆ์สอบสวน เช่น ถูกพระวินัยธรถามว่า “ท่านต้องอาบัตินี้หรือ” ก็กล่าวว่า
“กระผมไปกรุงปาฏลีบุตรมา” เมื่อพระวินัยธรกล่าวอีกว่า “ไม่ได้ถามท่านเรื่องไปกรุงปาฏลีบุตร แต่ถาม
เรื่องอาบัติ” ก็กล่าวว่า “ต่อจากกรุงปาฏลีบุตร กระผมก็ไปกรุงราชคฤห์” (วิ.อ. ๒/๙๔/๒๙๓, สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๙๔-๙๘/๒๘-๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท พระบัญญัติ
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
[๙๖] สมัยนั้น ท่านพระฉันนะถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ คิดว่า “เมื่อเรา
นำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งต้องอาบัติ” จึงนิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้
ลำบาก
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระฉันนะเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ จึงนิ่งเสีย ทำสงฆ์ให้ลำบากเล่า” ครั้น
ภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงสอบถามพระฉันนะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระฉันนะว่า “ฉันนะ ทราบว่า
เธอเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ กลับนิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้ลำบากจริงหรือ” ท่าน
พระฉันนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอเมื่อถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลางสงฆ์ จึงนิ่ง ทำสงฆ์ให้ลำบาก
เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้น
ทรงตำหนิแล้วได้ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้า
เช่นนั้น สงฆ์จงลงวิเหสกกรรม๑ แก่ภิกษุฉันนะ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงลงวิเหสกกรรมอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “วิเหสกกรรม” ได้แก่ การลงโทษภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือภิกษุประพฤติไม่สมควร สงฆ์เรียกตัว
มาถามกลับนิ่งเฉยไม่ตอบ สงฆ์จึงสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
กรรมวาจา
[๙๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติ
ท่ามกลางสงฆ์ ได้นิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้ลำบาก ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงลงวิเหสกกรรม
แก่ภิกษุชื่อฉันนะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อฉันนะนี้ถูกไต่สวนอาบัติท่ามกลาง
สงฆ์ ได้นิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้ลำบาก สงฆ์จึงลงวิเหสกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ ท่านรูป
ใดเห็นด้วยกับการลงวิเหสกกรรมแก่ภิกษุชื่อฉันนะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่
เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
วิเหสกกรรมสงฆ์ลงแก่ภิกษุชื่อฉันนะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ทีนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระฉันนะโดยประการต่าง ๆ แล้วได้
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท
นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๙๘] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน
เพราะทำสงฆ์ให้ลำบาก
เรื่องพระฉันนะ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๙๙] ที่ชื่อว่า นำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวน
วัตถุ๑ หรืออาบัติท่ามกลางสงฆ์ ไม่ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “วัตถุ” ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่ถูกสงฆ์นำมาสอบสวน กรณีที่สงฆ์ยกขึ้นมาสอบสวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท บทภาชนีย์
กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า “ใครต้อง ต้องอะไร ต้อง
ในเรื่องอะไร ต้องอย่างไร พวกท่านกล่าวถึงใคร กล่าวเรื่องอะไร” นี้ชื่อว่านำเอา
เรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน
ที่ชื่อว่า ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวนวัตถุหรืออาบัติท่ามกลาง
สงฆ์ ไม่ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเฉย นี้ชื่อว่าทำสงฆ์ให้
ลำบาก
บทภาชนีย์
[๑๐๐] เมื่อสงฆ์ยังไม่ลงอัญญวาทกกรรม ภิกษุถูกไต่สวนวัตถุหรืออาบัติท่าม
กลางสงฆ์ ไม่ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น กลับนำเอาเรื่องอื่นมา
กล่าวกลบเกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า “ใครต้อง ต้องอะไร ต้องในเรื่องอะไร ต้อง
อย่างไร พวกท่านกล่าวถึงใคร กล่าวเรื่องอะไร” ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อสงฆ์ยังไม่ลงวิเหสกกรรม ภิกษุถูกไต่สวนวัตถุหรืออาบัติท่ามกลางสงฆ์
ไม่ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเฉยทำสงฆ์ให้ลำบาก ต้อง
อาบัติทุกกฏ
เมื่อสงฆ์ลงอัญญวาทกกรรม ภิกษุถูกไต่สวนวัตถุหรืออาบัติท่ามกลางสงฆ์
ไม่ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น กลับนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบ
เกลื่อนอีกเรื่องหนึ่งว่า “ใครต้อง ฯลฯ พวกท่านกล่าวเรื่องอะไร” ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เมื่อสงฆ์ลงวิเหสกกรรม ภิกษุถูกไต่สวนวัตถุหรืออาบัติท่ามกลางสงฆ์ ไม่
ต้องการจะบอก ไม่ต้องการจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเฉย ทำสงฆ์ให้ลำบาก ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๐๑] กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เพราะนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน เพราะทำสงฆ์ให้ลำบาก

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงอัญญวาทกกรรมและวิเหสกกรรม (วิ.อ. ๒/๑๐๑/๒๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๒.อัญญวาทกสิกขาบท อนาปัตติวาร
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะนำเอาเรื่องอื่นมา
กล่าวกลบเกลื่อน เพราะทำสงฆ์ให้ลำบาก
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะนำเอาเรื่องอื่นมากล่าวกลบเกลื่อน เพราะทำสงฆ์ให้ลำบาก
ติกทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๒] ๑. ภิกษุไม่เข้าใจจึงถาม
๒. ภิกษุเป็นไข้ให้การไม่ได้
๓. ภิกษุไม่ยอมกล่าวเพราะคิดว่า สงฆ์จะมีความบาดหมางกัน
ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน หรือวิวาทกัน
๔. ภิกษุไม่ยอมกล่าวเพราะคิดว่า สงฆ์จักแตกแยก หรือสงฆ์จะ
ร้าวฉาน
๕. ภิกษุไม่ยอมกล่าวเพราะคิดว่า สงฆ์จักทำกรรมที่ไม่ถูกต้อง จะ
แยกพวกกันทำ หรือจะลงโทษภิกษุผู้ไม่ควรลงโทษ
๖. ภิกษุวิกลจริต
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
อัญญวาทกสิกขาบทที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๓.อุชฌาปนกสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๓. อุชฌาปนกสิกขาบท
ว่าด้วยการกล่าวให้เพ่งโทษ
เรื่องพระทัพพมัลลบุตร
[๑๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรจัดแจงเสนาสนะ
และแจกภัตตาหารสงฆ์
สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ๑ เป็นพระบวชใหม่ มีบุญน้อย
เสนาสนะของสงฆ์ชั้นเลว ภัตตาหารก็ชั้นเลว ตกถึงท่านทั้งสอง ท่านเหล่านั้นจึงกล่าว
ให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษ๒ท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “พระทัพพมัลลบุตรจัดแจง
เสนาสนะด้วยความชอบพอกัน๓ และแจกภัตตาหารด้วยความชอบพอกัน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระเมตติยะ
และพระภุมมชกะจึงกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษท่านพระทัพพมัลลบุตรเล่า” ครั้น
ภิกษุเหล่านั้นตำหนิพระเมตติยะและพระภุมมชกะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ อยู่ในกลุ่มพระ ๖ รูป ซึ่งเรียกว่า “ภิกษุฉัพพัคคีย์” ได้แก่ (๑) พระปัณฑุกะ (๒) พระโลหิตกะ (๓) พระ
เมตติยะ (๔) พระภุมมชกะ (๕) พระอัสสชิ (๖) พระปุนัพพสุกะ (ม.ม.อ ๑๗๕/๑๓๘)
๒ กล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ คือกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายดูหมิ่นพระทัพพมัลลบุตร มองดูพระทัพพมัลลบุตร
อย่างดูหมิ่น หรือกล่าวให้คิดในทางไม่ดีในพระทัพพมัลลบุตร (วิ.อ. ๒/๑๐๓/๒๙๕)
๓ คือจัดเสนาสนะที่ประณีตเพื่อเพื่อนภิกษุที่คบหาสนิทสนมกับตน (วิ.อ. ๒/๑๐๓/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๓.อุชฌาปนกสิกขาบท พระบัญญัติ
ให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษทัพพมัลลบุตร จริงหรือ” พระเมตติยะและพระภุมมชกะ
ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ
โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษทัพพมัลลบุตรเล่า
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
[๑๐๔] สมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะคิดว่า ภิกษุทั้งหลายเชื่อฟัง
พระบัญญัติว่า พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ จึงบ่นว่าท่านพระ
ทัพพมัลลบุตรใกล้ ๆ ภิกษุทั้งหลายว่า “พระทัพพมัลลบุตรจัดแจงเสนาสนะด้วย
ความชอบพอกัน และแจกภัตตาหารด้วยความชอบพอกัน”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระ
เมตติยะและพระภุมมชกะจึงบ่นว่าท่านพระทัพพมัลลบุตรเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิพระเมตติยะและพระภุมมชกะโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอบ่นว่าทัพพมัลลบุตร จริงหรือ” ท่านทั้ง ๒ ทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ
ทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงบ่นว่าทัพพมัลลบุตรเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยก
สิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๓.อุชฌาปนกสิกขาบท บทภาชนีย์
พระอนุบัญญัติ
[๑๐๕] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ เพราะ
บ่นว่า
เรื่องพระทัพพมัลลบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๐๖] ที่ชื่อว่า กล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ คือ ภิกษุต้องการจะทำให้เสียชื่อ
ต้องการจะทำให้อัปยศ ต้องการจะทำให้เก้อเขิน จึงกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษ
หรือบ่นว่าอุปสัมบันที่สงฆ์แต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ แจกภัตตาหาร
แจกข้าวต้ม แจกผลไม้ แจกของเคี้ยวหรือแจกของเล็กน้อย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
กรรมที่ทำถูกต้อง๑ ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ เพราะบ่นว่า
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าวให้ผู้อื่นเพ่ง
โทษ เพราะบ่นว่า
กรรมที่ทำถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ เพราะบ่นว่า
ทุกกฏ
ภิกษุกล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษหรือบ่นว่าอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

เชิงอรรถ :
๑ กรรม คือการสมมติภิกษุให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดแจงเสนาสนะเป็นต้น (วิ.อ. ๒/๑๐๖/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๘๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๓.อุชฌาปนกสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุต้องการจะทำให้เสียชื่อ ต้องการจะทำให้อัปยศ ต้องการจะทำอุปสัมบัน
ที่สงฆ์ไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ แจกภัตตาหาร แจกข้าวต้ม แจก
ผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของเล็กน้อย ให้เก้อเขิน จึงกล่าวให้ภิกษุทั้งหลาย
เพ่งโทษหรือบ่นว่าอุปสัมบันหรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุต้องการจะทำให้เสียชื่อ ต้องการจะทำให้อัปยศ ต้องการจะทำอนุปสัมบัน
ที่สงฆ์แต่งตั้งก็ตาม ไม่ได้แต่งตั้งก็ตาม ให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ แจก
ภัตตาหาร แจกข้าวต้ม แจกผลไม้ แจกของเคี้ยวหรือแจกของเล็กน้อย ให้เก้อเขิน
จึงกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษหรือบ่นว่าอุปสัมบันหรืออนุปสัมบัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำถูกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
กรรมที่ทำไม่ถูกต้อง ภิกษุสำคัญว่าเป็นกรรมที่ทำไม่ถูกกต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๐๗] ๑. ภิกษุผู้กล่าวให้ผู้อื่นเพ่งโทษ หรือบ่นว่าภิกษุผู้มักทำด้วยความชอบ
ด้วยความชัง ด้วยความหลง ด้วยความกลัว
๒. ภิกษุวิกลจริต
๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
อุชฌาปนกสิกขาบทที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๔.ปฐมเสนาสนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท
ว่าด้วยเสนาสนะข้อที่ ๑
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๑๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลาย
จัดตั้งเสนาสนะในที่กลางแจ้งผึ่งกายกัน ครั้นเขาบอกเวลาภัตตาหาร เมื่อจะจากไป
ไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมายพากันจากไปแล้ว เสนาสนะจึง
ถูกนํ้าค้างและฝนตกรด
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไปจึงไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะ
นั้น ไม่บอกมอบหมายพากันจากไปเล่า เสนาสนะถูกนํ้าค้างและฝนตกรด” ครั้น
ภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะใน
ที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไปไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมายพากัน
จากไป เสนาสนะถูกนํ้าค้างและฝนตกรด จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้น จัดตั้งเสนาสนะไว้ในที่กลางแจ้งแล้ว เมื่อจะจากไป จึงไม่เก็บเอง
ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมาย พากันจากไป จนเสนาสนะถูกนํ้าค้าง
และฝนตกรดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๔.ปฐมเสนาสนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๑๐๙] ก็ ภิกษุใดวางไว้ หรือใช้ให้วางไว้ซึ่งเสนาสนะ คือ เตียง ตั่ง ฟูก
หรือเก้าอี้ของสงฆ์ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บ
เสนาสนะนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ
ทรงอนุญาตให้เก็บเสนาสนะ
[๑๑๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่กลางแจ้ง รีบเก็บเสนาสนะก่อนเวลา
อันสมควร พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นรีบเก็บเสนาสนะก่อน
เวลาอันสมควร ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเสนาสนะไว้ในมณฑป โคนไม้ หรือใน
ที่ซึ่งกาหรือเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือนที่ไม่ใช่ฤดูฝน”
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ ของที่มีผู้ถวาย บริจาคแก่สงฆ์
ที่ชื่อว่า เตียง ได้แก่ เตียง ๔ ชนิด คือ (๑) เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา
(๒) เตียงมีแคร่ติดกับขา (๓) เตียงมีขาดังก้ามปู (๔) เตียงมีขาจดแม่แคร่
ที่ชื่อว่า ตั่ง ได้แก่ตั่ง ๔ ชนิด คือ (๑) ตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในขา (๒) ตั่งมี
แม่แคร่ติดกับขา (๓) ตั่งมีขาดังก้ามปู (๔) ตั่งมีขาจดแม่แคร่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๔.ปฐมเสนาสนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ฟูก ได้แก่ ฟูก ๕ ชนิด คือ (๑) ฟูกขนสัตว์ (๒) ฟูกเศษผ้า
(๓) ฟูกเปลือกไม้ (๔) ฟูกหญ้า (๕) ฟูกใบไม้
ที่ชื่อว่า เก้าอี้ ได้แก่ เก้าอี้ที่เขาถักพื้นสำหรับนั่งภายใน ทำด้วยเปลือกไม้ก็มี
ทำด้วยหญ้าแฝกก็มี ทำด้วยหญ้ามุงกระต่ายก็มี ทำด้วยหญ้าปล้องก็มี
คำว่า วางไว้ คือ วางไว้ด้วยตนเอง
คำว่า ใช้ให้วางไว้ คือ ใช้ให้ผู้อื่นให้วางไว้
ภิกษุใช้อนุปสัมบันให้วางไว้ เป็นภาระของภิกษุนั้น ใช้อุปสัมบันให้วางไว้ เป็น
ภาระของผู้วางไว้
คำว่า เมื่อจะจากไปไม่เก็บ...เสนาสนะนั้น คือ ไม่เก็บด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ใช้ให้เก็บ คือ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ
คำว่า หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ความว่า ภิกษุไม่บอกมอบหมาย
ภิกษุ สามเณรหรือคนวัด เดินล่วงเลฑฑุบาต๑ ของบุรุษมีกำลังปานกลางไป ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๑๒] เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ วางไว้หรือใช้ให้วางไว้
ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอก
มอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุไม่แน่ใจ วางไว้ หรือใช้ให้วางไว้ในที่กลางแจ้ง เมื่อ
จะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “เลฑฑุบาต” ได้แก่ ระยะโยนหรือขว้างก้อนดินไปตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๔.ปฐมเสนาสนสิกขาบท อนาปัตติวาร
เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล วางไว้ หรือใช้ให้วางไว้
ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอก
มอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุวางไว้ หรือใช้ให้วางผ้าปูรักษาผิวพื้น ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้น เสื่ออ่อน
ท่อนหนัง ที่เช็ดเท้า ตั่งกระดานไว้ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้
ให้เก็บผ้าปูรักษาผิวเป็นต้นนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ
เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ
เพราะเป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น เสนาสนะเป็นของส่วนบุคคลของตน ไม่
ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๓] ๑. ภิกษุเก็บไว้แล้วจึงไป
๒. ภิกษุใช้ให้เก็บไว้แล้วจึงไป
๓. ภิกษุบอกมอบหมายไว้แล้วจึงไป
๔. ภิกษุนำออกผึ่งแดดไว้ จากไปด้วยคิดว่าจะกลับมาเก็บ
๕. ภิกษุผู้มีเหตุบางอย่างขัดขวาง
๖. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปฐมเสนาสนสิกขาบทที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๕.ทุติยเสนาสนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๕. ทุติยเสนาสนสิกขาบท
ว่าด้วยเสนาสนะข้อที่ ๒
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๑๑๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เป็นสหาย
กัน ภิกษุเหล่านั้นเมื่อจะอยู่ก็อยู่ด้วยกัน เมื่อจะจากไปก็จากไปพร้อมกัน พวกท่านปู
ที่นอนในวิหารของสงฆ์แห่งหนึ่ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น ไม่
บอกมอบหมาย พากันจากไป เสนาสนะถูกตัวปลวกกัด บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ
จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ปูที่นอนในวิหารของ
สงฆ์แล้ว เมื่อจะจากไปไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น ไม่บอกมอบหมาย พากันจาก
ไปจนเสนาสนะถูกตัวปลวกกัดเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์
โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ปูที่นอน
ในวิหารของสงฆ์แล้วเมื่อจะจากไป ไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น ไม่บอกมอบหมาย
พากันจากไป จนเสนาสนะถูกตัวปลวกกัด จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน
โมฆบุรุษเหล่านั้นปูที่นอนในวิหารของสงฆ์แล้ว เมื่อจะจากไป จึงไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บ
ไม่บอกมอบหมาย พากันจากไปจนเสนาสนะถูกตัวปลวกกัดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ
กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุ
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๕.ทุติยเสนาสนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ
[๑๑๕] ก็ ภิกษุใดปูหรือใช้ให้ปูที่นอนในวิหารของสงฆ์ เมื่อจะจากไป
ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๑๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
วิหารที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่มีผู้ถวาย บริจาคแก่สงฆ์
ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ฟูก ผ้าปูรักษาผิวพื้น ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้น เสื่ออ่อน
ท่อนหนัง ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน เครื่องปูทำด้วยหญ้า เครื่องปูทำด้วยใบไม้
คำว่า ปู คือ ปูด้วยตนเอง
คำว่า ใช้ให้ปู คือ ใช้ผู้อื่นให้ปู
คำว่า เมื่อจะจากไปไม่เก็บ...ที่นอนนั้น คือ ไม่เก็บด้วยตนเอง
คำว่า ไม่ใช้ให้เก็บ คือ ไม่ใช้ผู้อื่นให้เก็บ
คำว่า หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ความว่า ภิกษุไม่บอกมอบหมาย
ภิกษุ สามเณรหรือคนวัด เดินล่วงเลยเครื่องล้อมอารามที่มีรั้วล้อมไว้ ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์ เดินล่วงเลยอุปจารอารามที่ไม่มีรั้วล้อมไว้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๖ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๕.ทุติยเสนาสนสิกขาบท บทภาชนีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ปูหรือใช้ให้ปูที่นอน เมื่อจะจาก
ไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุไม่แน่ใจ ปูหรือใช้ให้ปูที่นอน เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือ
ไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ปูหรือใช้ให้ปูที่นอน เมื่อจะ
จากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์
ทุกกฏ
[๑๑๗] ภิกษุปูหรือใช้ให้ปูที่นอนไว้ ในอุปจารวิหาร ในโรงฉัน ในมณฑป
หรือที่โคนไม้ เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บที่นอนนั้น หรือไม่บอกมอบ
หมาย ไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุจัดตั้งไว้ หรือใช้ให้จัดตั้งเตียงหรือตั่งไว้ในวิหาร ในอุปจารวิหาร ในโรงฉัน
ในมณฑป หรือที่โคนไม้ เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเตียงหรือตั่งนั้น
หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะ
เป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น วิหารเป็นของส่วนบุคคลของตน ไม่ต้องอาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๗ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๕.ทุติยเสนาสนสิกขาบท อนาปัตติวาร
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๑๘] ๑. ภิกษุเก็บไว้แล้วจึงไป
๒. ภิกษุใช้ให้เก็บไว้แล้วจึงไป
๓. ภิกษุบอกมอบหมายไว้แล้วจึงไป
๔. ภิกษุผู้ไม่เก็บเสนาสนะที่มีเหตุบางอย่างขัดขวาง
๕. ภิกษุเกิดห่วงใยไปยืนในที่นั้นบอกมอบหมาย
๖. ภิกษุผู้มีเหตุบางอย่างขัดขวาง
๗. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง
๘. ภิกษุวิกลจริต
๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ทุติยเสนาสนสิกขาบทที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๘ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๖.อนุปขัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๖. อนุปขัชชสิกขาบท
ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๑๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กีดกันที่นอน
ดี ๆ เอาไว้ ให้ย้ายภิกษุผู้เป็นเถระออกไป ทีนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้มีความคิด
ว่า “พวกเราจะจำพรรษาในที่นี้ด้วยอุบายอย่างไรหนอ” ลำดับนั้น พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์จึงเข้าไปนอนแทรกแซงภิกษุผู้เป็นเถระด้วยตั้งใจว่า เมื่อท่านมีความคับใจ
ก็จักจากไปเอง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงเข้าไปนอนแทรกแซงภิกษุผู้เป็นเถระเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิ
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเข้าไปนอนแทรก
แซงภิกษุผู้เป็นเถระจริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง
เข้าไปนอนแทรกแซงภิกษุผู้เป็นเถระเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๒๙๙ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๖.อนุปขัชชสิกขาบท บทภาชนีย์
พระบัญญัติ
[๑๒๐] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ เข้าไปนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปอยู่ในวิหาร
ของสงฆ์ก่อนด้วยประสงค์ว่า “ท่านมีความคับใจก็จักจากไปเอง” ประสงค์เพียง
เท่านี้ไม่มีอะไรอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มี
พระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
วิหารที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่มีผู้ถวาย บริจาคแก่สงฆ์
ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้ว่า “เป็นภิกษุผู้เฒ่า” รู้ว่า “เป็นภิกษุผู้เป็นไข้” หรือรู้ว่า
“เป็นภิกษุที่สงฆ์มอบวิหารให้”
คำว่า เข้าไปแทรกแซง คือ เข้าไปเบียดเสียด
คำว่า นอน ความว่า ภิกษุปูไว้หรือใช้ให้ปูที่นอนไว้ในอุปจารเตียง ตั่งหรือ
ประตูเข้าออก ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั่งหรือนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ประสงค์เพียงเท่านี้ ความว่า ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นในการเข้าไปนอน
แทรกแซง
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๒] วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ เข้าไปนอนแทรกแซง
ต้องอาบัติปาจิตตีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๐ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๖.อนุปขัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร
วิหารของสงฆ์ ภิกษุไม่แน่ใจ เข้าไปนอนแทรกแซง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล เข้าไปนอนแทรกแซง ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุปูหรือใช้ให้ปูที่นอน เว้นอุปจารเตียง ตั่งหรือประตูเข้าออก ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุนั่งหรือนอน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุปูหรือใช้ให้ปูที่นอนในอุปจารวิหาร ในโรงฉัน ในมณฑป ที่โคนไม้หรือ
ในที่กลางแจ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุนั่งหรือนอน ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะ
เป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น วิหารเป็นส่วนบุคคลของตน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๓] ๑. ภิกษุผู้เป็นไข้เข้าไปอยู่
๒. ภิกษุถูกความหนาวหรือความร้อนเบียดเบียนแล้วเข้าไปอยู่
๓. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
อนุปขัชชสิกขาบทที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๑ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๗.นิกกัฑฒนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๗. นิกกัฑฒนสิกขาบท
ว่าด้วยการฉุดลากออก
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์
[๑๒๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ซ่อมแซม
วิหารหลังใหญ่แห่งหนึ่งอยู่สุดเขตอารามด้วยหมายใจว่า พวกเราจักจำพรรษาในที่นี้
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ซ่อมแซมวิหาร ครั้นเห็นแล้ว
จึงกล่าวกันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านี้ซ่อมแซมวิหาร
กัน มาเถิด พวกเราจักขับไล่ภิกษุเหล่านั้นออกไป”
ภิกษุบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดรอให้ภิกษุเหล่านั้นซ่อม
แซมวิหารเถิด เมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้ว พวกเราจึงขับไล่ออกไป”
เมื่อพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ซ่อมแซมวิหารเสร็จ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กล่าว
กับพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ดังนี้ว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านน่าจะบอกก่อน
พวกเราจะได้ซ่อมแซมวิหารหลังอื่น”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ใช่ ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “วิหารหลังใหญ่ พวกท่านก็อยู่ได้ พวกเรา
ก็อยู่ได้”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
แล้วโกรธ ไม่พอใจ จับคอลากออกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๒ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๗.นิกกัฑฒนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นเมื่อถูกลากออกไป ก็ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลาย
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธ ไม่
พอใจ ฉุดลากพวกกระผมออกจากวิหารของสงฆ์”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า”
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ทราบว่า พวกเธอโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์ จริง
หรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุ
ทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ
คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น
แสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๑๒๕] ก็ ภิกษุใดโกรธ ไม่พอใจ ฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุออกจาก
วิหารของสงฆ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระสัตตรสวัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๒๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๓ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๗.นิกกัฑฒนสิกขาบท บทภาชนีย์
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุอื่น
คำว่า โกรธ ไม่พอใจ คือ ไม่ชอบใจ แค้นใจ เจ็บใจ
วิหารที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่มีผู้ถวาย บริจาคแก่สงฆ์
คำว่า ฉุดลาก คือ จับในห้องฉุดลากออกไปไว้หน้าห้อง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
จับที่หน้าห้องฉุดลากออกไปข้างนอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุฉุดลากพ้นประตู
หลายประตูด้วยความพยายามครั้งเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
คำว่า ใช้ให้ฉุดลาก ความว่า ภิกษุสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ผู้รับคำสั่ง
ครั้งเดียว แต่ฉุดลากออกไปพ้นหลายประตู ภิกษุผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๑๒๗] วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ โกรธ ไม่พอใจ ฉุดลาก
หรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุไม่แน่ใจ โกรธ ไม่พอใจ ฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลาก
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล โกรธ ไม่พอใจ ฉุดลาก
หรือใช้ให้ฉุดลาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากออกจากอุปจารวิหาร จากโรงฉัน จากมณฑป
จากโคนไม้ หรือจากที่กลางแจ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๔ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๗.นิกกัฑฒนสิกขาบท อนาปัตติวาร
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากอนุปสัมบันออกจากวิหาร จากอุปจารวิหาร
จากโรงฉัน จากมณฑป จากโคนไม้ หรือจากที่กลางแจ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของอนุปสัมบันนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
วิหารของส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ
เพราะเป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น วิหารส่วนบุคคลของตน ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๑๒๘] ๑. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุอลัชชี
๒. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุอลัชชี
๓. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากภิกษุผู้ก่อความบาดหมาง ก่อ
ความทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อให้เกิดการทุ่มเถียง หรือก่อ
อธิกรณ์ในสงฆ์
๖. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของภิกษุผู้ก่อเหตุเหล่านั้น
๗. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากอันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกผู้ไม่
ประพฤติโดยชอบ
๘. ภิกษุฉุดลาก หรือใช้ให้ฉุดลากบริขารของอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เช่นนั้น
๙. ภิกษุวิกลจริต
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ
นิกกัฑฒนสิกขาบทที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๕ }

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๒.ภูตคามวรรค ๘.เวหาสกุฏิสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค
๘. เวหาสกุฏิสิกขาบท
ว่าด้วยกุฎีชั้นลอย
เรื่องภิกษุ ๒ รูป
[๑๒๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุ ๒ รูปอยู่บนกุฎีชั้นลอย๑ ใน
วิหารของสงฆ์ รูปหนึ่งอยู่ชั้นล่าง อีกรูปหนึ่งอยู่ชั้นบน รูปที่อยู่ชั้นบนนั่งอย่างแรงบน
เตียงชนิดที่มีเท้าเสียบ(ไม่มีลิ่มสลัก) เท้าเตียงตกโดนศีรษะรูปที่นั่งอยู่ชั้นล่างจนท่าน
ร้องลั่น ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปหาแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่าน ท่านส่งเสียงทำไม”
ภิกษุรูปที่นั่งอยู่ชั้นล่างจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึงนั่ง
อย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลาย
ตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอนั่ง
อย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์จริงหรือ” ภิกษุนั้นทูลรับ
ว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ
ไฉนเธอจึงนั่งอย่างแรงบนเตียงมีเท้าเสียบบนกุฎีชั้นลอยในวิหารของสงฆ์เล่า โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุ
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ กุฎีชั้นลอย คือกุฎีมีพื้น ๒ ชั้นหรือ ๓ ชั้น แต่มิได้ปูพื้นชั้นบน รอดที่คานสูงพอพ้นศีรษะ (วิ.อ. ๒/
๑๒๙-๑๓๑/๓๐๙-๓๑๐), ภิกษุเอาเตียงซึ่งมิได้ใส่เดือยสลักเท้าเตียงวางพาด เมื่อนั่งอย่างแรง เท้าเตียง
จึงหลุดใส่ศีรษะภิกษุที่อยู่ชั้นล่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า :๓๐๖ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น