Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๒๒-๒ หน้า ๕๕ - ๑๐๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต



พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๔. สีหเสนาปติสูตร
เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่พอใจของคนหมู่มาก สัตบุรุษผู้สงบย่อม
คบหาข้าพระองค์ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ผู้เป็น
ทายกเป็นทานบดี ย่อมขจรไปว่า ‘สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นผู้รับใช้ เป็นผู้บำรุง
พระสงฆ์’ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่บริษัทใด ๆ จะเป็น
ขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม
ก็เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เพียงเชื่อ
ต่อพระผู้มีพระภาคในเรื่องผลแห่งทาน ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้วนี้
เท่านั้น แต่ยังทราบอีกด้วย ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเองประการที่ ๕ ที่พระผู้มี
พระภาคตรัสบอกข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ทายก ทานบดี หลังจากตายแล้วจะไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์’ นั้นข้าพระองค์ยังไม่ทราบ แต่ข้าพระองค์ก็เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค
ในเรื่องนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำว่า “ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น สีหะ ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น
สีหะ คือ ทายก ทานบดี หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ ให้ทานอยู่
ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
คนหมู่มากย่อมคบหานรชนนั้น
เขาย่อมได้รับเกียรติ เจริญด้วยยศ
เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเข้าสู่บริษัท
เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตทั้งหลายผู้หวังสุข
จงขจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินแล้วให้ทาน
บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมดำรงในไตรทิพย์
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดา
รื่นเริงอยู่ตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๕. ทานานิสังสสูตร
บัณฑิตเหล่านั้นได้โอกาสบำเพ็ญกุศลแล้ว
ละโลกนี้ไป ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง
เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อนันทวัน
เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
เพลิดเพลิน รื่นเริง บันเทิงอยู่ในนันทวันนั้น
สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่
ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
ย่อมรื่นเริงในสวรรค์
สีหเสนาปติสูตรที่ ๔ จบ
๕. ทานานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์การให้ทาน
[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการนี้
อานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่พอใจของคนหมู่มาก
๒. สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไป
๔. ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
๕. ผู้ให้ทานหลังจากตายแล้วย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัตบุรุษ
สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๖. กาลทานสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์
ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ
สัตบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรม
เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขารู้ชัดธรรมนั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้
ทานานิสังสสูตรที่ ๕ จบ
๖. กาลทานสูตร
ว่าด้วยกาลทา๑
[๓๖] ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้
กาลทาน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน
๒. ให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป
๓. ให้ทานแก่ผู้เป็นไข้
๔. ให้ทานในสมัยมีภิกษาหาได้ยาก
๕. ให้ข้าวอย่างดี และผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้มีปัญญารู้ความประสงค์ของผู้ขอ๒
เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่
ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้

เชิงอรรถ :
๑ กาลทาน หมายถึงยุตตทาน คือ การให้ที่เหมาะสม (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๓๖/๒๒)
๒ รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ในที่นี้หมายถึงคฤหัสถ์เมื่อเห็นภิกษุเที่ยวบิณฑบาตยืนที่ประตูเรือนของตนเป็น
ผู้นิ่งไม่ออกปากขอ ก็รู้ความหมายได้ว่า ‘ท่านกำลังขอ ซึ่งเป็นการขออย่างพระอริยะ’ เมื่อรู้แล้วก็คิดว่า
‘พวกเราหุงต้มได้ แต่ภิกษุเหล่านี้หุงต้มไม่ได้ แล้วท่านจะหาภัตรได้ที่ไหน‘จึงจัดแจงไทยธรรมถวายท่าน
(องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๓๖-๓๗/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๗. โภชนทานสูตร
ทานที่ให้ในพระอริยะผู้ซื่อตรง ผู้คงที่
ย่อมเป็นทักษิณาที่ไพบูลย์
ทำให้เขามีใจผ่องใส
ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือขวนขวายในทักษิณานั้น
เพราะการอนุโมทนาหรือขวนขวายของชนเหล่านั้น
ทักษิณาย่อมมีผลไม่พร่อง
แม้พวกเขาก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย
จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
กาลทานสูตรที่ ๖ จบ
๗. โภชนทานสูตร
ว่าด้วยการให้โภชนะ
[๓๗] ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหก
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุ ๒. วรรณะ
๓. สุข ๔. พละ
๕. ปฏิภาณ๑
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้ว ย่อมมีส่วนได้วรรณะอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว
ย่อมมีส่วนได้สุขอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้ว ย่อมมีส่วนได้
พละอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมมีส่วนได้ปฏิภาณอัน
เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิภาณ ในที่นี้หมายถึงยุตตปฏิภาณ คือ ตอบปัญหาได้ถูกต้องตามเนื้อหาสาระและเหตุต่าง ๆ แต่ตอบ
ช้าไม่ตอบเร็ว และมุตตปฏิภาณ คือ ตอบปัญหาได้รวดเร็วในขณะที่ถามทีเดียว (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๒/๓๘๐)
และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๒/๒๐๑-๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕๒-๑๕๕/๑๘๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๘. สัทธสูตร
นักปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุ ย่อมได้อายุ
ให้พละ ย่อมได้พละ ให้วรรณะ ย่อมได้วรรณะ
ให้ปฏิภาณ ย่อมได้ปฏิภาณ ให้สุข ย่อมได้สุข
ครั้นให้อายุ พละ วรรณะ สุขะ และปฏิภาณแล้ว
จะเกิดในที่ใด ๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้น ๆ
โภชนสูตรที่ ๗ จบ
๘. สัทธสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์แห่งศรัทธา
[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ
อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบในโลก
๑. เมื่อจะอนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อน ไม่อนุเคราะห์
ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน
๒. เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อน ไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธา
ก่อน
๓. เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อน ไม่ต้อนรับผู้ไม่มี
ศรัทธาก่อน
๔. เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อน ไม่แสดง
ธรรมแก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน
๕. กุลบุตรผู้มีศรัทธา หลังจากตายแล้วย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล
เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของ
หมู่นกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของคน
หมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๙. ปุตตสูตร
ต้นไม้ใหญ่ มีกิ่ง ใบ และผล
มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล
ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย
ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้นซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข
ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา
ผู้ต้องการผล ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด
ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ
ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นนาบุญของโลก
ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธาซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล
ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง๑ สุภาพ
น่าชื่นชม อ่อนโยน มั่นคง ฉันนั้น
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรม
เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขารู้ชัดธรรมนั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้
สัทธสูตรที่ ๘ จบ
๙. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[๓๙] ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดา เมื่อเห็นฐานะ ๕ ประการนี้ จึงปรารถนา
บุตรผู้เกิดในตระกูล
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงเรา
๒. บุตรจักช่วยทำกิจของเรา

เชิงอรรถ :
๑ ไม่กระด้าง หมายถึงปราศจากความกระด้าง คือ โกธะ (ความโกรธ) และมานะ (ความถือตัว) (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๓๘/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๙. ปุตตสูตร
๓. วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
๔. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมควรรับทรัพย์มรดกไว้
๕. เมื่อเราทั้งสองตายไป บุตรจักทำบุญอุทิศให้
ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อเห็นฐานะ ๕ ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตรผู้
เกิดในตระกูล
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะ ๕ ประการ จึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า ‘บุตรที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา
จักช่วยทำกิจของเรา
วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
จักปฏิบัติตนให้สมควรแก่การรับทรัพย์มรดก
และเมื่อเราทั้งสองตายแล้วจักทำบุญอุทิศให้’
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร
เพราะฉะนั้น บุตรผู้เป็นสัตบุรุษ ผู้สงบ
เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล
เมื่อระลึกถึงคุณท่านที่ทำไว้ต่อเราก่อน
จึงเลี้ยงมารดาบิดา ช่วยทำกิจของท่าน
เชื่อฟังโอวาท ตอบสนองพระคุณท่าน
ดำรงวงศ์ตระกูลสมกับที่ท่านเป็นบุพการี
บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมเป็นที่สรรเสริญ
ปุตตสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค ๑๐. มหาสาลปุตตสูตร
๑๐. มหาสาลปุตตสูตร
ว่าด้วยต้นสาละใหญ่กับกุลบุตร
[๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ไม้สาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมพานต์ ย่อมงอกงามด้วย
ความเจริญ ๕ ประการ
ความเจริญ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กิ่ง ใบแก่ และใบอ่อน ๒. เปลือก
๓. สะเก็ด ๔. กระพี้
๕. แก่น
ภิกษุทั้งหลาย ไม้สาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมพานต์ ย่อมงอกงามด้วยความ
เจริญ ๕ ประการนี้ ฉันใด
ชนภายใน๑อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๕ ประการ
ฉันนั้นเหมือนกัน
ความเจริญ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศรัทธา(ความเชื่อ)
๒. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย)
๓. สุตะ(การสดับฟังหาความรู้)
๔. จาคะ (การเสียสละ)
๕. ปัญญา (ความรอบรู้)
ภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมงอกงามด้วยความ
เจริญ ๕ ประการนี้
ภูเขาหินมีอยู่ในป่าใหญ่
หมู่ไม้เหล่านั้นอาศัยภูเขานั้น
เจริญงอกงามเติบโตในป่า แม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงภรรยา บุตร ธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. สุมนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
บุตร ภรรยา พวกพ้อง อำมาตย์๑ หมู่ญาติ
และชนผู้อาศัยเขาเลี้ยงชีพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมงอกงามในโลกนี้
ชนผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นศีล
จาคะ และสุจริต (ความประพฤติดี)
ของกุลบุตรผู้มีศรัทธานั้นแล้วย่อมทำตาม
บุคคลประพฤติธรรมซึ่งเป็นทางนำสัตว์ไปสู่สุคติ
ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้สมปรารถนา
ย่อมบันเทิงในเทวโลก๒
มหาสาลปุตตสูตรที่ ๑๐ จบ
สุมนวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุมนสูตร ๒. จุนทีสูตร
๓. อุคคหสูตร ๔. สีหเสนาปติสูตร
๕. ทานานิสังสสูตร ๖. กาลทานสูตร
๗. โภชนทานสูตร ๘. สัทธสูตร
๙. ปุตตสูตร ๑๐. มหาสาลปุตตสูตร


เชิงอรรถ :
๑ อำมาตย์ ในที่นี้หมายถึงบุคคลที่ทำกิจการงานร่วมกัน ชี้แนะกันได้ ปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่อง ทุกอิริยาบถ
(สํ.สฬา.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙)
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๔๙/๒๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑. อาทิยสูตร
๕. มุณฑราชวรรค
หมวดว่าด้วยพระเจ้ามุณฑราช
๑. อาทิยสูตร
ว่าด้วยประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์
[๔๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า คหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาจากโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้
ประโยชน์ ๕ ประการนี้ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมบำรุงตนเอง บำรุงมารดาบิดา บำรุง
บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และคนใช้ให้เป็นสุข บริหารให้เป็นสุข
โดยชอบด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บ
รวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม๑ นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการ
ที่ ๑
๒. อริยสาวกย่อมบำรุงตนเองบำรุงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข บริหาร
ให้เป็นสุขโดยชอบด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์
ประการที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ได้มาโดยธรรม ในที่นี้หมายถึงได้มาโดยไม่ล่วงละเมิดกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๑/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑. อาทิยสูตร
๓. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร คน
ที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาท ทำตนให้ปลอดภัย นี้เป็นประโยชน์
ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๓
๔. อริยสาวกย่อมทำพลี๑ ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี (๒) อติถิพลี
(๓) ปุพพเปตพลี (๔) ราชพลี (๕) เทวตาพลี นี้เป็นประโยชน์ที่
ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ประการที่ ๔
๕. อริยสาวกย่อมตั้งทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ในสมณพราหมณ์ผู้เว้นขาดจากความ
มัวเมาและความประมาท ดำรงมั่นอยู่ในขันติ (ความอดทน) และ
โสรัจจะ (ความเสงี่ยม) ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้
ดับเย็นสนิท ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์
ประการที่ ๕
คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล
ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์จากโภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์
หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราได้ถือเอาประโยชน์จาก
โภคทรัพย์นั้นแล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป’ ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น
จึงไม่มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ) ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์จากโภคทรัพย์
๕ ประการนี้ โภคทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราถือ

เชิงอรรถ :
๑ พลี (พะลี) หมายถึงการสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้ หรือส่วย มี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
(๒) อติถิพลี ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี ถวายเป็นของหลวงมีเสีย
ภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๒. สัปปุริสสูตร
เอาประโยชน์จากโภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เพิ่มพูนขึ้น’ อริยสาวก
นั้นย่อมไม่มีวิปปฏิสารด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการนี้เลย
นรชนผู้จะต้องตายเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า
‘โภคทรัพย์ เราได้บริโภคแล้ว
คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว
อันตรายทั้งหลาย เราได้ข้ามพ้นแล้ว
ทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป เราได้ให้แล้ว
และพลี ๕ อย่าง เราได้ทำแล้ว
ท่านผู้มีศีลสำรวมระวัง ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว
ประโยชน์ที่บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนปรารถนา เราก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กรรมที่ไม่ก่อความเดือดร้อนในภายหลัง เราก็ได้ทำแล้ว’
ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
อาทิยสูตรที่ ๑ จบ
๒. สัปปุริสสูตร
ว่าด้วยสัตบุรุษ
[๔๒] ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ชื่อว่าเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อ
เกื้อกูล เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก คือ มารดา บิดา บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้
มิตร อำมาตย์๑ และสมณพราหมณ์
สัตบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ชื่อว่าเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่คน
หมู่มาก คือ แก่มารดา บิดา บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้ มิตร อำมาตย์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๔๐ (มหาสาลปุตตสูตร) หน้า ๖๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๓. อิฏฐสูตร
และสมณพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆทำข้าวกล้าทั้งปวงให้งอกงาม ชื่อว่ามี
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
สัตบุรุษครอบครองโภคทรัพย์
เป็นผู้เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เทวดาย่อมรักษาเขาผู้มีธรรมคุ้มครองแล้ว
เป็นพหูสูต สมบูรณ์ด้วยศีลและวัตร
เกียรติย่อมไม่ละเขาผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ใครเล่าจะสามารถติเตียนเขาผู้ตั้งอยู่ในธรรม
สมบูรณ์ด้วยศีล มีวาจาสัตย์
มีหิริ(ความละอายต่อบาป)ในใจ
ดุจแท่งทองชมพูนุท
แม้เทวดาก็ชม ถึงพรหมก็สรรเสริญเขา
สัปปุริสสูตรที่ ๒ จบ
๓. อิฏฐสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา
[๔๓] ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๒. วรรณะที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๓. สุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๓. อิฏฐสูตร
๔. ยศที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๕. สวรรค์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
คหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๕ ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เรามิได้
กล่าวว่า จะพึงได้เพราะความอ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนา ถ้าธรรม ๕
ประการนี้ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก จักได้เพราะการ
อ้อนวอน หรือเพราะความปรารถนาในโลกนี้แล้ว ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไรได้
อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุเพราะอายุเป็นเหตุ แท้จริงปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่
อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวกนั้นย่อมได้อายุอัน
เป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือ
ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะเพราะวรรณะเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็น
ไปเพื่อวรรณะที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้น
ย่อมได้วรรณะอันเป็นทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขเพราะสุขเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริย-
สาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขอันเป็นทิพย์
หรือเป็นของมนุษย์
อริยสาวกผู้ต้องการยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือปฏิบัติ
ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะยศเป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริย-
สาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศ อริยสาวกนั้นย่อมได้ยศอันเป็นทิพย์
หรือเป็นของมนุษย์
คหบดี อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์
หรือปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์เพราะสวรรค์เป็นเหตุ แท้จริง ปฏิปทาอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๔. มนาปทายีสูตร
เป็นไปเพื่อสวรรค์อันอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวก
นั้นย่อมได้สวรรค์
ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ เกียรติยศ
สวรรค์ การเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ
พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น
บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้
คือประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า
ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต
เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้นแล้ว
อิฏฐสูตรที่ ๓ จบ
๔. มนาปทายีสูตร
ว่าด้วยผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ
[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวรเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ของอุคคคหบดีชาวกรุงเวสาลี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่
ปูลาดไว้ ลำดับนั้น อุคคคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มี
พระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็ของเคี้ยวชื่อสาลปุปผกะ๑
เป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับ
ขาทนียาหารของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ของเคี้ยวชื่อสาลปุปผกะ หมายถึงของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ปรุงด้วยของอร่อย ๔ ชนิด คือ เนยใส
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๔/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๔. มนาปทายีสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว
อุคคคหบดีได้กราบทูลอีกว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็เนื้อสุกรอย่างดี๑ เป็นที่
น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเนื้อสุกร
อย่างดีของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว
อุคคคหบดีได้กราบทูลอีกว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็นาลิยสากะ๒ ซึ่งทอด
ด้วยน้ำมันเป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์
รับนาลิยสากขาทนียาหารของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว
อุคคคหบดีได้กราบทูลอีกว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่
ขาวสะอาด มีแกงและกับมากเป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรง
อาศัยความอนุเคราะห์รับข้าวสุกแห่งข้าวสาลีของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว
อุคคคหบดีได้กราบทูลอีกว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระ
ผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจย่อมได้ของที่น่าพอใจ’ ก็ผ้าที่ทอในแคว้นกาสี
เป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับผ้า
ของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อสุกรอย่างดี หมายถึงเนื้อสุกรที่มีอายุ ๑ ปี ที่ปรุงให้สุกด้วยเครื่องปรุงมีเมล็ดยี่หร่าเป็นต้นผสมกับ
พุทรารสอร่อย (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๔/๒๕)
๒ นาลิยสากะ หมายถึงของเคี้ยวที่ใช้ผักประมาณ ๑ ทะนาน ขยำกับแป้งข้าวสาลีแล้วเคี่ยวในเนยใสที่ผสม
เมล็ดยี้หร่าเป็นต้น ผสมกับของอร่อย ๔ ชนิด อบให้สุก (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๔/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๔. มนาปทายีสูตร
อุคคคหบดีได้กราบทูลอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมา
เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ให้ของที่น่าพอใจย่อมได้ของที่น่าพอใจ’
ก็บัลลังก์๑ที่ลาดด้วยผ้าโกเชาว์๒ ลาดด้วยผ้าขนแกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาดมี
สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานข้างบน
มีหมอนสีแดงทั้ง ๒ ข้าง๓ เป็นที่น่าพอใจของข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ทราบ
ดีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาค เตียงไม้จันทน์ของข้าพระองค์นี้ราคาเกิน
กว่า ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเตียง
ของข้าพระองค์นั้นด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาอุคคคหบดีชาวกรุงเวสาลี ด้วย
อนุโมทนียกถานี้ว่า
ผู้ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ
ผู้ใดให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ
และปัจจัยมีประการต่าง ๆ
แก่ท่านผู้ประพฤติตรง ด้วยความพอใจ
สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้น เป็นของที่บริจาคแล้ว
สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสัตบุรุษรู้ชัดว่า
พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ
บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยาก
ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ

เชิงอรรถ :
๑ บัลลังก์ ในที่นี้หมายถึงเตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
๒ ผ้าโกเชาว์ หมายถึงผ้าที่ทำด้วยขนแพะหรือแกะ ผืนใหญ่มีขนาดยาวเกิน ๔ นิ้ว (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
๓ หมอนสีแดงทั้ง ๒ ข้างนี้ใช้สำหรับหนุนศีรษะ ๑ ใบ ใช้หนุนเท้า ๑ ใบ วางไว้ส่วนศีรษะและส่วนเท้า
(วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙-๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๔. มนาปทายีสูตร
ที่นั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาอุคคคหบดีชาวกรุงเวสาลีด้วย
อนุโมทนียกถาแล้ว จึงเสด็จลุกจากพุทธอาสน์หลีกไป
ต่อมาไม่นาน อุคคคหบดีชาวกรุงเวสาลีได้ถึงแก่กรรม เข้าถึงชั้นกายมโนมัย๑
ชั้นใดชั้นหนึ่ง สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรี๒ผ่านไป อุคคเทพบุตรมี
มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามว่า
“อุคคะ สำเร็จตามที่ท่านประสงค์แล้วหรือ” อุคคเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ สำเร็จตามที่ข้าพระองค์ประสงค์แล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุคคเทพบุตรด้วยพระคาถาว่า
ผู้ให้ของที่น่าพอใจ ย่อมได้ของที่น่าพอใจ
ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ
ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี
และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ
นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี
และให้ของที่ประเสริฐ
นรชนนั้น จะเกิดในที่ใด ๆ
ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้น ๆ
มนาปทายีสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กายมโนมัย ในที่นี้หมายถึงเทพกายหรือพรหมกายของผู้บำเพ็ญฌานสมาบัติแล้วบังเกิดในพรหมโลก
ชั้นสุทธาวาสด้วยอำนาจฌาน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๔/๒๖, ๑๖๖/๖๔)
๒ ราตรี ในที่นี้หมายถึงปฐมยามแห่งราตรีผ่านไป มัชฌิมยามย่างเข้ามา (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๕. ปุญญาภิสันทสูตร
๕. ปุญญาภิสันทสูตร๑
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล
[๔๕] ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล๒ ๕ ประการนี้ นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อ
ให้ได้อารมณ์ดี๓ มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ห้วงบุญกุศล ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุใช้สอยจีวรของทายกใด บรรลุเจโตสมาธิที่ประมาณไม่ได้อยู่๔
ห้วงบุญกุศลของทายกนั้นประมาณไม่ได้ นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อ
ให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๒. ภิกษุฉันบิณฑบาตของทายกใด ...
๓. ภิกษุใช้สอยวิหารของทายกใด ...
๔. ภิกษุใช้สอยเตียงตั่งของทายกใด ...
๕. ภิกษุใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารของทายกใด บรรลุเจโต-
สมาธิที่ประมาณไม่ได้อยู่ ห้วงบุญกุศลของทายกนั้นประมาณไม่ได้
นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ห้วงบุญกุศล ๕ ประการนี้แล นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุข
เป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๑/๘๔
๒ ห้วงบุญกุศล ในที่นี้หมายถึงผลบุญกุศลที่หลั่งไหลนำความสุขมาสู่ผู้บำเพ็ญอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๑/๓๔๘,องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๕๑/๓๘๒)
๓ อารมณ์ดี ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๑/๓๔๘)
๔ เจโตสมาธิที่ประมาณไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลสมาธิ (สมาธิในขั้นอรหัตตผล) (องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๕๑/๓๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๕. ปุญญาภิสันทสูตร
การกำหนดประมาณบุญของอริยสาวกผู้เพียบพร้อมด้วยห้วงบุญกุศล ๕ ประการ
นี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุข
เป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร น่าพอใจ’
มิใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญกุศลนั้นย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับ
ไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’
การกำหนดปริมาณของน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำมีปริมาณเท่านี้อาฬหกะ๑ น้ำมี
ปริมาณเท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ น้ำมีปริมาณเท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือน้ำมีปริมาณ
เท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มิใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ปริมาณของน้ำในมหาสมุทรนั้น
ย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย การกำหนดประมาณของอริยสาวกผู้เพียบพร้อมด้วยห้วงบุญ
กุศล ๕ ประการนี้ว่า ‘ห้วงบุญกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ’ มิใช่จะทำได้ง่าย แท้จริง ห้วงบุญกุศลนั้นย่อมถึงการนับว่า
‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลย’ ฉันนั้น
แม่น้ำหลายสายคับคั่งไปด้วยหมู่ปลา
ไหลบ่าไปยังมหาสมุทร

เชิงอรรถ :
๑ อาฬหกะ เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
๔ กุฑวะ หรือ ปสตะ (ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถวะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ วาหะ (เกวียน)
๒๐ วาหะ เป็น ๑ ธารณะ
๒๐ ธารณะ เป็น ๑ ปละ
๑๐๐ ปละ เป็น ๑๒ ตุลา
๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภาระ
(ดู อภิธา.ฏีกา คาถา ๔๘๐-๔๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๖. สัมปทาสูตร
อันเป็นที่ขังน้ำขนาดใหญ่ประมาณไม่ได้
มีสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นแหล่งรัตนะชั้นเยี่ยม ฉันใด
สายธารแห่งบุญ ย่อมหลั่งไหลไปสู่นรชน
ผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า
ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด
เปรียบเหมือนแม่น้ำคือห้วงน้ำไหลไปยังมหาสมุทร ฉันนั้น
ปุญญาภิสันทสูตรที่ ๕ จบ
๖. สัมปทาสูตร
ว่าด้วยสัมปทา
[๔๖] ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๕ ประการนี้
สัมปทา ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
๒. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๓. สุตสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยสุตะ)
๔. จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยจาคะ)
๕. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ ประการนี้แล
สัมปทาสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๗. ธนสูตร
๗. ธนสูตร
ว่าด้วยทรัพย์
[๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ธนะ(ทรัพย์) ๕ ประการนี้
ธนะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาธนะ (ทรัพย์คือศรัทธา)
๒. สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล)
๓. สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ)
๔. จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ)
๕. ปัญญาธนะ (ทรัพย์คือปัญญา)
สัทธาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคต
ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ๑ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’ นี้เรียกว่า สัทธาธนะ
สีลธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๒ เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย๓อันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า
สีลธนะ
สุตธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต ฯลฯ๔ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้เรียกว่า
สุตธนะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๒ (วิตถตสูตร) หน้า ๒-๓ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในข้อ ๓๒ (จุนทีสูตร) หน้า ๔๙ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๒ หน้า ๔๙ ในเล่มนี้
๔ ดูความเต็มในข้อ ๘๗ (สีลวันตสูตร) หน้า ๑๕๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๗. ธนสูตร
จาคธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม๑ ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการ
แจกทาน นี้เรียกว่า จาคธนะ
ปัญญาธนะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาธนะ
ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล
ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในตถาคต
มีศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยใคร่ (และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในสงฆ์ และมีความเห็นตรง
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาไม่สูญเปล่า’
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และการเห็นธรรม๒
ธนสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีฝ่ามือชุ่ม อรรถกถาอธิบายว่า ถ้าคนไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็ชื่อว่ามีมือยังไม่ล้าง มีมือสกปรก
แต่คนมีศรัทธา แม้มีมือสกปรก ก็ชื่อว่าได้ล้างมือสะอาดแล้ว (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๒/๑๔๘)
๒ การเห็นธรรม ในที่นี้หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๘. ฐานสูตร
๘. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ใคร ๆ ไม่พึงได้
[๔๘] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ๑ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา๒ อย่าแก่
๒. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้
๓. ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย
๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไป
๕. ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา อย่าฉิบหาย
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความ
แก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว เขาไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาของเราคนเดียวเท่านั้นที่แก่ไป แท้จริง สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์
ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ และการอุบัติ ก็แก่ไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มีความแก่
เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ
หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง การงานก็จะ
หยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดา แก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงแล้ว ย่อมทำตน
นั่นเองให้เดือดร้อน
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มี
ความตายเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็น
ธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของ

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๘/๒๖)
๒ ธรรมดา ในที่นี้หมายถึงสภาวธรรมที่เกิดเอง คำนี้มุ่งแสดงกฎแห่งเหตุผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๘. ฐานสูตร
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหาย
ไปแล้ว เขาไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราคน
เดียวเท่านั้นที่ฉิบหายไป แท้จริง สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มี
การมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ฉิบหายไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็น
ธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ
หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง การงานก็จะ
หยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหาย
เป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ
หลงงมงาย นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงแล้ว
ย่อมทำตนนั่นเองให้เดือดร้อน
ส่วนสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่
มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มี
ความแก่เป็นธรรมดาของเราคนเดียวเท่านั้นที่แก่ไป แท้จริง สิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็แก่ไปทั้งสิ้น
เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก
คร่ำครวญ หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง
การงานก็จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความ
แก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก
ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศรคือความ
โศกที่มีพิษทิ่มแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับทำตนนั่นเองให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก
ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มี
ความตายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็น
ธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็น
ธรรมดาฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๗๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๘. ฐานสูตร
ไปเป็นธรรมดาของเราคนเดียวเท่านั้นที่ฉิบหายไป แท้จริง สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็น
ธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ฉิบหายไปทั้งสิ้น
เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก
ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน
กายก็จะเศร้าหมอง การงานก็จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะ
เสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อม
ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า
อริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศรคือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับทำตน
นั่นเองให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์
ได้ด้วยตนเอง
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้
ประโยชน์๑แม้เล็กน้อยในโลกนี้
ใคร ๆ ย่อมไม่ได้ด้วยความเศร้าโศก
ย่อมไม่ได้ด้วยความคร่ำครวญ
พวกศัตรูทราบว่า เขาเศร้าโศก เป็นทุกข์
ย่อมดีใจ
แต่ในกาลใด บัณฑิตฉลาดในการวินิจฉัยเหตุผล
ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
ในกาลนั้น พวกศัตรูเห็นหน้าซึ่งไม่ผิดปกติ
ของบัณฑิตนั้น ผู้ยังยิ้มแย้มตามเคย
ย่อมเป็นทุกข์
บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใด ๆ ด้วยวิธีใด ๆ
คือด้วยการสรรเสริญ ด้วยการร่ายมนตร์

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงสภาวะที่มีความแก่เป็นต้นกลับกลายเป็นสภาวะที่ไม่แก่ (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๔๘/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๙. โกสลสูตร
ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ด้วยการให้
หรือด้วยการอ้างประเพณี
ก็พึงบากบั่นในที่นั้น ๆ ด้วยวิธีนั้น ๆ
ถ้าทราบว่า ‘ประโยชน์นี้ เราหรือคนอื่นไม่พึงได้’
เธอผู้ไม่เศร้าโศก ควรอดทนโดยพิจารณาว่า
‘เราได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นแล้ว
บัดนี้ เราจะทำอย่างไร’
ฐานสูตรที่ ๘ จบ
๙. โกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล
[๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้สวรรคตแล้ว ลำดับนั้น มหาดเล็กคนหนึ่ง
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วกราบทูลกระซิบที่ใกล้พระกรรณว่า ‘ขอเดชะ
พระนางมัลลิกาเทวีวรรคตแล้ว’ เมื่อมหาดเล็กกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้า
ปเสนทิโกศลก็ทรงมีทุกข์ เสียพระทัย ประทับนั่งพระศอตกก้มพระพักตร์ ทรง
ครุ่นคิด ทรงอ้ำอึ้งอยู่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบแล้ว จึงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
มหาบพิตร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่
ฯลฯ๑
ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้
ใคร ๆ ย่อมไม่ได้ด้วยความเศร้าโศก
ย่อมไม่ได้ด้วยความคร่ำครวญ
ฯลฯ๒
เธอผู้ไม่เศร้าโศกควรอดทนโดยพิจารณาว่า
‘เราได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นแล้ว
บัดนี้ เราจะทำอย่างไร’
โกสลสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. นารทสูตร
ว่าด้วยพระนารทะ
[๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระนารทะอยู่ที่กุกกุฏาราม เขตกรุงปาตลีบุตร
ก็สมัยนั้น พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามุณฑะ
สวรรคตแล้ว เมื่อพระนางภัททาราชเทวีสวรรคตแล้ว พระองค์ก็ไม่สรงสนาน ไม่แต่ง
พระองค์ ไม่เสวยพระกระยาหาร ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ซบอยู่ที่
พระศพของพระนางตลอดคืนตลอดวัน ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะได้รับสั่งเรียก
มหาอำมาตย์ชื่อว่าโสการักขะผู้เป็นที่รักมาตรัสว่า “ท่านโสการักขะ ผู้เป็นที่รัก
ท่านจงยกพระศพพระนางภัททาราชเทวีใส่ไว้ในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมันแล้วเอา
รางเหล็กอื่นปิดไว้ เพื่อเราจะได้เห็นศพพระนางให้นาน ๆ”
โสการักขะมหาอำมาตย์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว จึงจัดการยก
พระศพพระนางใส่ไว้ในรางเหล็กที่เต็มไปด้วยน้ำมันแล้วเอารางเหล็กอื่นปิดไว้

เชิงอรรถ :
๑,๒ ดูความเต็มในข้อ ๔๘ (ฐานสูตร) หน้า ๗๘-๘๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
ครั้งนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ได้มีความคิดว่า “พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็น
ที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามุณฑะนี้ได้สวรรคตแล้ว เมื่อพระนางสวรรคต
พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่แต่งพระองค์ ไม่เสวยพระกระยาหาร ไม่ทรงประกอบ
พระราชกรณียกิจ ทรงซบอยู่ที่พระศพของพระนางตลอดคืนตลอดวัน พระองค์พึง
เสด็จเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์รูปไหนหนอ ทรงสดับธรรมแล้ว จะพึงละลูกศร
คือความโศกได้”
ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ได้คิดต่อไปว่า “ท่านพระนารทะรูปนี้
อยู่ที่กุกกุฏาราม เขตกรุงปาตลีบุตร กิตติศัพท์อันงามของท่านขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า
‘เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์ เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ
มีปฏิภาณดี เป็นพระผู้ใหญ่ และเป็นพระอรหันต์’ จึงควรที่พระเจ้ามุณฑะจะเสด็จ
เข้าไปหาท่าน เพื่อบางทีได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว จะทรงละลูกศรคือความโศก
ได้บ้าง”
ต่อมา โสการักขะมหาอำมาตย์ ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะแล้วกราบทูลว่า
“ขอเดชะ ท่านพระนารทะรูปนี้อยู่ที่กุกกุฏาราม เขตกรุงปาตลีบุตร กิตติศัพท์
อันงามของท่านพระนารทะขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็น
นักปราชญ์ เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี เป็นพระผู้ใหญ่ และเป็น
พระอรหันต์’ จึงควรที่พระองค์จะเสด็จเข้าไปหาท่าน เพื่อบางทีพระองค์ได้ทรงสดับ
ธรรมของท่านแล้วจะทรงละลูกศรคือความโศกได้บ้าง”
พระเจ้ามุณฑะจึงรับสั่งว่า “ท่านอำมาตย์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกราบเรียน
ท่านพระนารทะให้ทราบก่อน เพราะกษัตริย์เช่นเราพึงเข้าใจว่า สมณะหรือพราหมณ์
ที่อยู่ในราชอาณาจักร ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อนจะพึงเข้าไปหาได้อย่างไร”
มหาอำมาตย์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้เข้าไปพบท่านพระ
นารทะถึงที่อยู่ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนว่า “ข้าแต่
ท่านผู้เจริญ พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ามุณฑะนี้
ได้สวรรคตแล้ว เมื่อพระนางสวรรคต พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่แต่งพระองค์
ไม่เสวยพระยาหาร ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบอยู่ที่พระศพของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
พระนางภัททาราชเทวีตลอดคืนตลอดวัน ขอท่านพระนารทะโปรดแสดงธรรมแก่
พระราชา โดยที่พระองค์ได้สดับธรรมของท่านแล้วจะทรงละลูกศรคือความโศกได้”
ท่านพระนารทะจึงกล่าวว่า “มหาอำมาตย์ บัดนี้ ขอให้พระราชาทรงทราบ
เวลาที่สมควร’
ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทท่านพระนารทะ
ทำประทักษิณแล้ว ได้ไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านพระนารทะได้
เปิดโอกาสให้เสด็จไปแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์ทรงทราบเวลาที่สมควรเถิด พระเจ้าข้า”
พระเจ้ามุณฑะรับสั่งว่า “ท่านอำมาตย์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้พนักงานตระ
เตรียมพาหนะอย่างดีไว้”
มหาอำมาตย์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ให้พนักงานตระเตรียม
พระราชพาหนะอย่างดีไว้เสร็จแล้วจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้
พนักงานตระเตรียมพระราชพาหนะอย่างดีไว้เสร็จแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์ทรงทราบ
เวลาที่สมควรเถิด พระเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะเสด็จพระราชดำเนินไปสู่กุกกุฏารามเพื่อพบท่าน
พระนารทะ ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ เสด็จไปเท่าที่พระราชพาหนะจะไปได้ เมื่อ
เสด็จถึงแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังอาราม ทรงเข้าไปพบท่านพระนารทะ
ทรงถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระนารทะจึงได้ถวายพระพร
ท้าวเธอว่า
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่
๒. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้
๓. ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย
๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไป
๕. ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา อย่าฉิบหาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความ
แก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาของเราคนเดียวเท่านั้นที่แก่ไป แท้จริง สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์
ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็แก่ไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มีความแก่
เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ
หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง การงานก็
จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงแล้ว ย่อมทำตน
นั่นเองให้เดือดร้อน
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มี
ความตายเป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็น
ธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหาย
ไปแล้ว เขาไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเรา
คนเดียวเท่านั้นที่ฉิบหายไป แท้จริง สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของสัตว์
ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ฉิบหายไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มีความ
ฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก
คร่ำครวญ หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง
การงานก็จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มีความ
ฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก
คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษ
ทิ่มแทงแล้ว ย่อมทำตนนั่นเองให้เดือดร้อน
ส่วนสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มี
ความแก่ไปเป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มี
ความแก่เป็นธรรมดาของเราคนเดียวเท่านั้นที่แก่ไป แท้จริง สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
ของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็แก่ไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มี
ความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก
คร่ำครวญ หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง
การงานก็จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มี
ความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร
ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศร
คือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับทำตนนั่นเองให้เดือดร้อน อริยสาวก
ผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง
สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มี
ความตายเป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็น
ธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา
ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาฉิบ
หายไปแล้ว อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา
ของเราคนเดียวเท่านั้นที่ฉิบหายไป แท้จริง สิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของ
สัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ฉิบหายไปทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่มี
ความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว ถ้าเราจะพึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก
คร่ำครวญ หลงงมงาย อาหารเราก็จะไม่อยากรับประทาน กายก็จะเศร้าหมอง
การงานก็จะหยุดชะงัก พวกศัตรูก็จะดีใจ และพวกมิตรก็จะเสียใจ’ เมื่อสิ่งที่มี
ความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก
ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ
ถอนลูกศรคือความโศกที่มีพิษทิ่มแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนเองให้เดือดร้อน
อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือ ใคร ๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้
ท่านพระนารทะ ครั้นกล่าวเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค ๑๐. นารทสูตร
ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้
ใคร ๆ ย่อมไม่ได้ด้วยความเศร้าโศก
ย่อมไม่ได้ด้วยความคร่ำครวญ
พวกศัตรูทราบว่า เขาเศร้าโศก เป็นทุกข์
ย่อมดีใจ
แต่ในกาลใด บัณฑิตฉลาดในการวินิจฉัยเหตุผล
ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
ในกาลนั้น พวกศัตรูเห็นหน้าซึ่งไม่ผิดปกติ
ของบัณฑิตนั้น ผู้ยังยิ้มแย้มตามเคย
ย่อมเป็นทุกข์
บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใด ๆ ด้วยวิธีใด ๆ
คือด้วยการสรรเสริญ ด้วยการร่ายมนตร์
ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต ด้วยการให้
หรือด้วยการอ้างประเพณี
ก็พึงบากบั่นในที่นั้น ๆ ด้วยวิธีนั้น ๆ
ถ้าทราบว่า ‘ประโยชน์นี้ เราหรือคนอื่นไม่พึงได้’
เธอผู้ไม่เศร้าโศก ควรอดทนโดยพิจารณาว่า
‘เราได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นแล้ว
บัดนี้ เราจะทำอย่างไร’
เมื่อท่านพระนารทะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสถามว่า “ธรรม
บรรยายนี้ชื่ออะไร” ท่านพระนารทะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร ธรรม
บรรยายนี้ชื่อเหตุถอนลูกศรคือความโศก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. มุณฑราชวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระเจ้ามุณฑะตรัสชมว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้เป็นเหตุถอนลูกศรคือ
ความโศกได้อย่างแท้จริง ท่านผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้เป็นเหตุถอนลูกศรคือความ
โศกได้อย่างแท้จริง เพราะได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ข้าพเจ้าจึงละลูกศรคือความโศกได้”
ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะได้รับสั่งโสการักขะมหาอำมาตย์ว่า “ท่านจงถวาย
พระเพลิงพระศพของพระนางภัททาราชเทวีแล้วทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจัก
อาบน้ำแต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน”
นารทสูตรที่ ๑๐ จบ
มุณฑราชวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาทิยสูตร ๒. สัปปุริสสูตร
๓. อิฏฐสูตร ๔. มนาปทายีสูตร
๕. ปุญญาภิสันทสูตร ๖. สัมปทาสูตร
๗. ธนสูตร ๘. ฐานสูตร
๙. โกสลสูตร ๑๐. นารทสูตร

ปฐมปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๑. อาวรณสูตร
๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. นีวรณวรรค
หมวดว่าด้วยนิวรณ์
๑. อาวรณสูตร
ว่าด้วยนิวรณ์เครื่องกางกั้น
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทอนกำลัง
ปัญญา๑
นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๒. พยาบาท (ความคิดร้าย)
๓. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
๕. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทอนกำลัง
ปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา และมัคคปัญญา (องฺ.ปญฺจ.อ. ๓/๕๑/๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๘๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๑. อาวรณสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นยังละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการ
นี้ที่ครอบงำจิต ทอนกำลังปัญญาไม่ได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้
ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๑อันวิเศษ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์๒ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังที่อ่อนกำลังได้
เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัด
ไปได้ บุรุษพึงเปิดปากเหมืองทั้ง ๒ ข้างแห่งแม่น้ำนั้น เมื่อเปิดปากเหมืองแล้ว
อย่างนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้นก็ซัดส่ายไหลผิดทาง ไหลไปสู่ที่ไกลไม่ได้
ไม่มีกระแสเชี่ยว และไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นยังละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่ครอบงำจิต
ทอนกำลังปัญญาไม่ได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ทั้งสอง
หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังที่อ่อนกำลังได้ ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่
ครอบงำจิต ทอนกำลังปัญญาได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์
ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรม
ของมนุษย์ด้วยปัญญาที่มีกำลังได้
เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่พอ
จะพัดไปได้ บุรุษพึงปิดปากเหมืองทั้ง ๒ ข้างแห่งแม่น้ำนั้น เมื่อปิดปากเหมืองแล้ว
อย่างนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้นก็ไม่ซัดส่ายไม่ไหลผิดทาง ไหลไปสู่ที่ไกลได้
มีกระแสเชี่ยว และพัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญาอันประเสริฐบริสุทธิ์สูงสุด สามารถ
กำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐)
๒ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๑/๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๒. อกุสลราสิสูตร
เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ที่ครอบงำจิต ทอนกำลัง
ปัญญาได้แล้วจักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำ
ให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ปัญญาที่มีกำลังได้ ฉันนั้น
อาวรณสูตรที่ ๑ จบ
๒. อกุสลราสิสูตร
ว่าด้วยกองอกุศล
[๕๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล เมื่อจะกล่าวให้ถูก
พึงกล่าวถึงนิวรณ์(ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี) ๕ ประการ เพราะกองอกุศล
ทั้งสิ้น คือ นิวรณ์ ๕ ประการ
นิวรณ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทะ ๒. พยาบาท
๓. ถีนมิทธะ ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
๕. วิจิกิจฉา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองอกุศล เมื่อจะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวถึง
นิวรณ์ ๕ ประการนี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้น คือ นิวรณ์ ๕ ประการ
อกุสลราสิสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๓. ปธานิยังสูตร
๓. ปธานิยังคสูตร
ว่าด้วยองค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร
[๕๓] ภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้
องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้๑ของพระตถาคตว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค’
๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อย
อาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การ
บำเพ็ญเพียร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น
ทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ๒
ภิกษุทั้งหลาย องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล
ปธานิยังคสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาเครื่องตรัสรู้ (โพธิ) หมายถึงมัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริย-
บุคคล แต่ละชั้น) ๔ ประการ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๓/๒๙)
๒ ดู เสนาสนสูตร ใน องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๑/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๔. สมยสูตร
๔. สมยสูตร
ว่าด้วยสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร
[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้
สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นคนแก่ ถูกชราครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควร
บำเพ็ญเพียรประการที่ ๑
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้อาพาธ ถูกพยาธิครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่
ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๒
๓. สมัยที่มีภิกษาหาได้ยาก ข้าวกล้าเสียหาย บิณฑบาตได้ยาก จึงไม่
สะดวกแก่การแสวงหาเลี้ยงชีพ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร
ประการที่ ๓
๔. สมัยที่มีภัย มีการปล้นสะดมในดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานพาหนะ
อพยพไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๔
๕. สมัยที่สงฆ์แตกแยกกัน เมื่อสงฆ์แตกแยกกัน จึงมีการด่ากัน
มีการบริภาษกัน มีการใส่ร้ายกัน มีการทอดทิ้งกัน หมู่คนที่ยังไม่
เลื่อมใสในสงฆ์นั้นก็ไม่เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็กลาย
เป็นอื่นไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ นี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้
สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังเป็นคนหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท ประกอบ
ด้วยความเป็นหนุ่มกำลังเจริญ ดำรงอยู่ในปฐมวัย นี้เป็นสมัยที่
ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๑
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ
สำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๕. มาตาปุตตสูตร
๓. สมัยที่มีภิกษาหาได้ง่าย ข้าวกล้าดี บิณฑบาตได้ง่าย สะดวกแก่
การแสวงหาเลี้ยงชีพ นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๓
๔. สมัยที่คนทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือน
น้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ นี้เป็นสมัยที่
ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๔
๕. สมัยที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสที่
สวดร่วมกัน๑ อยู่ผาสุก เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน จึงไม่มีการด่ากัน
ไม่มีการบริภาษกัน ไม่มีการใส่ร้ายกัน ไม่มีการทอดทิ้งกัน หมู่คน
ที่ยังไม่เลื่อมใสในสงฆ์นั้นก็เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็
เลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นสมัยที่ควรบำเพ็ญเพียรประการที่ ๕
ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล
สมยสูตรที่ ๔ จบ
๕. มาตาปุตตสูตร
ว่าด้วยมารดากับบุตร
[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล คนทั้งสอง คือภิกษุและภิกษุณี
ผู้เป็นมารดาเป็นบุตรกัน เข้าจำพรรษาในกรุงสาวัตถี คนทั้งสองนั้นใคร่จะเห็นกัน
เนือง ๆ แม้มารดาก็ใคร่จะเห็นบุตรเนือง ๆ แม้บุตรก็ใคร่จะเห็นมารดาเนือง ๆ เพราะ
การเห็นกันเนือง ๆ ของคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน

เชิงอรรถ :
๑ มีอุทเทสที่สวดร่วมกัน ในที่นี้หมายถึงมีการยกปาติโมกขุทเทส ๕ ประการ (๑) นิทานุทเทส (๒) ปาราชิ-
กุทเทส (๓) สังฆาทิเสสุทเทส (๔) อนิยตุทเทส (๕) วิตถารุทเทส เฉพาะอุทเทสที่ ๕ นั้น รวมเอานิสสัคคิ-
ยุทเทส ปาจิตยุทเทส ปาฏิเทสนิยุทเทส เสขิยุทเทส และสมถุทเทสเข้าไว้ด้วย) ขึ้นสวดร่วมกัน (วิ.อ. ๑/๕๕/
๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๕. มาตาปุตตสูตร
จึงมีความคุ้นเคยกัน เมื่อมีความคุ้นเคยกันจึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอก
คืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้๑ เสพเมถุนธรรม๒แล้ว
ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คนทั้งสองคือภิกษุและภิกษุณีผู้เป็นมารดาเป็นบุตรกัน เข้าจำพรรษาในกรุง
สาวัตถีนี้ คนทั้งสองนั้นใคร่จะเห็นกันเนือง ๆ แม้มารดาก็ใคร่จะเห็นบุตรเนือง ๆ
แม้บุตรก็ใคร่จะเห็นมารดาเนือง ๆ เพราะการเห็นกันเนือง ๆ ของคนทั้งสองนั้น
จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีความคุ้นเคยกัน เมื่อมีความ
คุ้นเคยกันจึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความ
ท้อแท้ เสพเมถุนธรรมแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นย่อมสำคัญหรือหนอว่า
‘มารดาย่อมไม่กำหนัดในบุตร หรือบุตรย่อมไม่กำหนัดในมารดา’
๑. เราไม่เห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกิดความกำหนัด เกิดความใคร่
เกิดความมัวเมา เกิดความผูกพัน เกิดความหมกมุ่น ทำอันตราย
แก่การบรรลุธรรมที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือน
รูปสตรีนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น พัวพันอยู่
ในรูปสตรี ตกอยู่ใต้อำนาจรูปสตรี จึงเศร้าโศกตลอดกาลนาน
๒. เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
๓. เราไม่เห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
๔. เราไม่เห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
๕. เราไม่เห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกิดความกำหนัด
เกิดความใคร่ เกิดความมัวเมา เกิดความผูกพัน เกิดความหมกมุ่น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เปิดเผยความท้อแท้ (ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา) หมายถึงไม่ประกาศความท้อแท้เบื่อหน่ายในการประพฤติ
พรหมจรรย์ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕-๕๔/๓๓-๔๒
๒ เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาว
บ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๕. มาตาปุตตสูตร
ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
เหมือนโผฏฐัพพะสตรีนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ติดใจ
หมกมุ่น พัวพันอยู่ในโผฏฐัพพะสตรี ตกอยู่ในโผฏฐัพพะสตรี
จึงเศร้าโศกตลอดกาลนาน
สตรีแม้เดินอยู่ก็ครอบงำจิตของบุรุษได้ แม้ยืนอยู่ ... แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ ...
แม้หลับอยู่ ... แม้หัวเราะอยู่ ... แม้พูดอยู่ ... แม้ขับร้องอยู่ ... แม้ร้องไห้อยู่ ...
แม้พองขึ้น ... แม้ตายแล้วก็ครอบงำจิตของบุรุษได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า ‘เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร’
เมื่อจะกล่าวให้ถูกก็พึงกล่าวถึงมาตุคาม๑นั่นแลว่า ‘เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร’
บุคคลสนทนากับเพชฌฆาตก็ดี
สนทนากับปีศาจก็ดี
ถูกต้องอสรพิษที่กัดแล้วตายก็ดี
ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าการสนทนาสองต่อสองกับมาตุคามเลย
สตรีทั้งหลายย่อมผูกพันบุรุษผู้ลุ่มหลง
ด้วยการมองดู การหัวเราะ
การนุ่งห่มไม่เรียบร้อย และการพูดอ่อนหวาน
มาตุคามนี้มิใช่จะผูกพันเพียงแค่นี้
แม้ตายไปแล้วพองขึ้น ก็ยังผูกพันได้
กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ซึ่งน่ารื่นรมย์ใจ ย่อมปรากฏในรูปสตรี
เหล่าชนผู้ถูกกาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) พัด
ไม่กำหนดรู้กาม ย่อมมีกาล (แห่งวัฏฏะ) คติ
และภพน้อยภพใหญ่ในวัฏฏสงสารเป็นเบื้องหน้า

เชิงอรรถ :
๑ มาตุคาม หมายถึงหญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย (วิ.มหา. (แปล)
๑/๒๗๑/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๖. อุปัชฌายสูตร
ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้กาม๑
เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ เที่ยวไป
ชนเหล่านั้นผู้บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เป็นผู้ถึงฝั่ง๒ในโลก
มาตาปุตตสูตรที่ ๕ จบ
๖. อุปัชฌายสูตร
ว่าด้วยอุปัชฌาย์๓
[๕๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ของตนถึงที่อยู่ ได้กล่าว
ดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ผม
ธรรมทั้งหลาย๔ก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ผมถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”
ต่อมา ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เดี๋ยวนี้ กายของผมหนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ไม่ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ผม ผมถูกถีนมิทธะครอบงำจิต
ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดรู้กาม ในที่นี้หมายถึงกำหนดรู้กามทั้งสอง คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม ด้วยปริญญา ๓ คือ
(๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา
(๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๕/๓๐)
๒ เป็นผู้ถึงฝั่ง ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๕/๓๐)
๓ อุปัชฌาย์ หมายถึงครูผู้คอยเพ่งโทษน้อยใหญ่ ได้แก่ ผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
และเป็นผู้คอยดูแลผิดและชอบ อบรมให้การศึกษา (วชฺชาวชฺชํ อุปนิชฺฌายตีติ อุปชฺฌาโย) (วิ.อ. ๓/๖๔-๖๕/
๓๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๔/๒๘๑)
๔ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสมถะ(การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ) และวิปัสสนา(ความเห็นแจ้ง) (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๕๕/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๖. อุปัชฌายสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ การที่กายของเธอหนักขึ้น ทิศทั้งหลายไม่
ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่เธอ เธอถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์ และมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียร
เป็นเครื่องตื่นอยู่ ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิย-
ธรรมทั้งหลายทุกวันทุกคืน เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเป็นเครื่อง
ตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายทุกวัน
ทุกคืน’ ภิกษุ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
ครั้งนั้น ภิกษุนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทนี้แล้วก็ลุกจาก
อาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ลำดับนั้น ภิกษุนั้นหลีกออกไปอยู่
ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ๒เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป๓’ ก็ภิกษุนั้นได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์
ทั้งหลาย
ครั้นภิกษุนั้นได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์
ของตนถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น
ทิศทั้งหลายปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่ผม ผมไม่ถูกถีนมิทธะ
ครอบงำจิต ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๕/๗, ม.ม.อ.๒/๘๒/๘๐)
๒ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจ ๔ อย่าง คือ ปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) ปหานกิจ (หน้าที่ละเหตุ
เกิดทุกข์) สัจฉิกิริยากิจ (หน้าที่ทำให้แจ้งความดับทุกข์) และภาวนากิจ (หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ)
เป็นกิจในอริยสัจ ๔ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๙/๑๒๘, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๔๙/๑๔๑, ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓)
๓ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ในที่นี้หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณ (ญาณในขั้น
อริยมรรค)เพื่อความสิ้นกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมาย
สูงสุดแล้ว (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๘ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นพาภิกษุสัทธิวิหาริกนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุ
นี้กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ กายของผมไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ปรากฏแก่ผม ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่ผม ผมไม่ถูกถีนมิทธะครอบงำจิต ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ การที่กายของเธอไม่หนักขึ้น ทิศทั้งหลาย
ปรากฏแก่เธอ ธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้งแก่เธอ ถีนมิทธะไม่ครอบงำจิต ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ และไม่มีความสงสัยในธรรมทั้งหลายนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้ง
กุศลธรรม ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายทุกวันทุกคืน เพราะเหตุ
นั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ รู้จัก
ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ เห็นแจ้งกุศลธรรม ประกอบ
การเจริญโพธิปักขิยธรรมทุกวันทุกคืน’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
อุปัชฌายสูตรที่ ๖ จบ
๗. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่ควรพิจารณาเนือง ๆ
[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ ที่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
ต้องพิจารณาเนือง ๆ
ฐานะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณา เนือง ๆ ว่า
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๙๙ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้จะเป็น
กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความแก่
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความเป็น
หนุ่มสาวซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ
เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้
โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความแก่
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในความไม่
มีโรคซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่ว
ด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้น
ได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความ
เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความตาย
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความมัวเมาในชีวิตซึ่ง
เป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วยวาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขา
พิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้
เบาบางลงได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๐ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีความตาย
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เราจะต้องพลัด
พรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น‘ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในของรักของชอบใจซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วด้วยกาย ประพฤติชั่วด้วย
วาจา ประพฤติชั่วด้วยใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละความ
กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในของรักของชอบใจนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบา
บางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เราจะต้อง
พลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีกรรม
เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อม
เป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร
เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำ
ให้เบาบางลงได้’
สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตจึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า ‘เรามีกรรม
เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม
เป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผล
ของกรรมนั้น’
ผลแห่งการพิจารณาฐานะ ๕ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย
๑. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้น ที่มี
ความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ แท้จริง สัตว์ทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๑ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร
ล่วงพ้นความแก่ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ
มรรค๑ย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ๒ เจริญ ทำให้มากซึ่ง
มรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์๓ได้
อนุสัย๔ย่อมสิ้นไป
๒. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มี
ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ แท้จริง สัตว์
ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนมีความเจ็บไข้
เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณา
ฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ
ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละ
สังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

เชิงอรรถ :
๑ มรรค ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรค ได้แก่ อริยมรรค ๔ คือ โสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑)
๒ เสพในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง การรู้ การเห็น การพิจารณา การอธิษฐานจิต การน้อมใจเชื่อ ประคอง
ความเพียร ตั้งสติไว้ ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละ
ธรรมที่ควรละ เจริญธรรมที่ควรเจริญ ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ.๑/๕๓/๖๓)
เจริญ หมายถึงบำเพ็ญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ให้เจริญขึ้น และตามรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้มีอยู่ตลอดไป
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๔-๕๕/๖๓, ๔๑๘/๔๔๘, ๔๕๓/๔๖๙)
ทำให้มาก หมายถึงทำบ่อย ๆ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๖๐๐-๖๑๑/๔๘๐)
๓ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ หรือธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ,
วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ,
อุทธัจจะ, อวิชชา (สํ.ม.๑๙/๑๘๐-๑๘๑/๕๖-๕๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๓/๒๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๔๐/
๕๙๒)
๔ อนุสัย หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมี ๗ ประการ คือ (๑) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)
(๒) ปฏิฆะ (ความขัดใจ) (๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๕) มานะ (ความถือตัว)
(๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (๗) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๕๗/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๒ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๗. ฐานสูตร
๓. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีความ
ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ แท้จริง สัตว์ทั้งปวง
ที่มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนมีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่
เนือง ๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้
มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้
อนุสัยย่อมสิ้นไป
๔. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้น ที่จะ
ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น แท้จริง สัตว์ทั้งปวงที่มี
การมา การไป การจุติ การอุบัติ ก็ล้วนจะต้องพลัดพรากจากของ
รักของชอบใจทั้งสิ้น’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ
มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่ง
มรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัย
ย่อมสิ้นไป
๕. อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ไม่ใช่เราคนเดียวเท่านั้นที่มีกรรม
เป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็น
เผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือ
กรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น แท้จริง สัตว์ทั้งปวงที่
มีการมา การไป การจุติ การอุบัติ ล้วนมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้
รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม
เป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น’ เมื่ออริยสาวกนั้นพิจารณาฐานะนั้นอยู่
เนือง ๆ มรรคย่อมเกิดขึ้น อริยสาวกนั้น ย่อมเสพ เจริญ ทำให้
มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเสพ เจริญ ทำให้มากอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้
อนุสัยย่อมสิ้นไป
สัตว์ทั้งหลาย มีความแก่ มีความเจ็บ
และมีความตายเป็นธรรมดา
ย่อมเป็นไปตามธรรม
พวกปุถุชนย่อมเกลียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๓ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
ถ้าเราพึงเกลียดธรรมนั้น
ในสัตว์ทั้งหลายผู้มีธรรมอย่างนั้น
ข้อนั้นไม่สมควรแก่เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้
เรานั้นดำรงอยู่อย่างนี้ รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส๑
เห็นเนกขัมมะ๒ว่า เป็นธรรมเกษม
ครอบงำความมัวเมาทั้งปวงในความไม่มีโรค
ในความเป็นหนุ่ม สาว และในชีวิต
ความอุตสาหะได้มีแล้วแก่เราผู้เห็นแจ้งนิพพาน
บัดนี้ เราไม่ควรเสพกาม
จักประพฤติไม่ถอยหลัง๓
มุ่งประพฤติพรหมจรรย์๔
ฐานสูตรที่ ๗ จบ
๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีกุมาร
[๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตหลังจาก
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน ประทับนั่งพักผ่อน
กลางวัน ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ไม่มีอุปธิกิเลส ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑)
๒ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงบรรพชา (การบวช) (องฺ.ปญฺจก.อ.๓/๕๗/๓๑)
๓ ประพฤติไม่ถอยหลัง ในที่นี้หมายถึงไม่ถอยหลังจากบรรพชา จากการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ และจาก
พระสัพพัญญุตญาณ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๗/๓๑)
๔ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นโลกุตตระ (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๕๗/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๔ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีกุมารหลายพระองค์ถือธนูที่ขึ้นสาย มีฝูงสุนัขแวดล้อมเดิน
เที่ยวไปในป่ามหาวัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงวาง
ธนูที่ขึ้นสายไว้แล้ว ปล่อยฝูงสุนัขไป ณ ที่สมควร พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ต่างนั่งนิ่งประคองอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค
สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่ามหานามะเดินพักผ่อนอยู่ในป่ามหาวัน ได้เห็นเจ้า
ลิจฉวีกุมารเหล่านั้นผู้ต่างนั่งนิ่งประคองอัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เปล่งอุทานว่า
“เจ้าวัชชีจักเจริญ เจ้าวัชชีจักเจริญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มหานามะ เพราะเหตุไร เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“เจ้าวัชชีจักเจริญ เจ้าวัชชีจักเจริญ”
เจ้ามหานามะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ เป็นผู้
ดุร้าย หยาบคาย กระด้าง ของขวัญต่าง ๆ คือ อ้อย พุทรา ขนม ขนมต้ม หรือ
ขนมแดกงาที่เขาส่งไปในตระกูลทั้งหลาย เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ก็แย่งชิงเอาไปกิน
ถีบหลังกุลสตรีบ้าง กุลกุมารีบ้าง แต่บัดนี้ เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านี้ต่างนั่งนิ่งประคอง
อัญชลีอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหานามะ กุลบุตรคนใด เป็นกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษก๑แล้วก็ตาม เป็นผู้ปกครองรัฐซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัคร-
เสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ใหญ่บ้านก็ตาม เป็นหัวหน้าคณะก็ตาม เป็นใหญ่เฉพาะตระกูล
ก็ตาม มีธรรม ๕ ประการนี้ กุลบุตรนั้นพึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความ
เสื่อมเลย
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชามารดาบิดาด้วย
โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วย
น้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม

เชิงอรรถ :
๑ มูรธาภิเษก หมายถึงน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ (พจนานุกรม ฉบับ
ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๕ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
มารดาบิดาผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์
กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ‘ขอเจ้าจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน’
กุลบุตรผู้อันมารดาบิดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้ความเจริญอย่าง
เดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
๒. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาบุตร ภรรยา ทาส
กรรมกร และคนใช้ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยัน
หมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร
และคนใช้ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อม
อนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ‘ขอท่านจงมีชีวิตยืนนาน
มีอายุยืนนาน’ กุลบุตรผู้อันบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร และคน
ใช้อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความ
เสื่อมเลย
๓. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเพื่อนชาวนา และ
เพื่อนร่วมงานด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม เพื่อนชาวนา และเพื่อนร่วมงานผู้ได้รับสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงาม
ว่า ‘ขอเพื่อนจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน’ กุลบุตรผู้อันเพื่อน
ชาวนา และเพื่อนร่วมงานอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
๔. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเทวดาผู้รับพลีกรรม
ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวม
ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดย
ธรรม เทวดาผู้รับพลีกรรม ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ‘ขอท่านจงมีชีวิต
ยืนนาน มีอายุยืนนาน’ กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวัง
ได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๖ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๘. ลิจฉวิกุมารกสูตร
๕. กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาสมณพราหมณ์ด้วย
โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วย
น้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม
สมณพราหมณ์ผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อม
อนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ‘ขอท่านจงมีชีวิตยืนนาน
มีอายุยืนนาน ‘กุลบุตรผู้อันสมณพราหมณ์อนุเคราะห์แล้ว พึงหวัง
ได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
มหานามะ กุลบุตรคนใด เป็นกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ตาม เป็นผู้
ปกครองรัฐซึ่งรับมรดกจากบิดาก็ตาม เป็นอัครเสนาบดีก็ตาม เป็นผู้ใหญ่บ้านก็ตาม
เป็นหัวหน้าคณะก็ตาม เป็นใหญ่เฉพาะตระกูลก็ตาม มีธรรม ๕ ประการนี้ พึงหวัง
ได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
กุลบุตรผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑
ช่วยทำกิจของมารดาบิดา เกื้อกูลบุตร ภรรยา
ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย
คือ ชนภายในและชนผู้อาศัยบุคคลนั้นอยู่
กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตเมื่ออยู่ครองเรือนโดยธรรม
ทำความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ญาติทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว
และที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่สมณพราหมณ์และเทวดา
กุลบุตรนั้น ครั้นบำเพ็ญกัลยาณธรรมแล้ว
เป็นผู้ควรบูชา เป็นผู้ควรสรรเสริญ
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”
ลิจฉวิกุมารกสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๖ (กาลทานสูตร) หน้า ๕๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๗ }

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. นีวรณวรรค ๙. ปฐมวุฑฒปัพพชิตสูตร
๙. ปฐมวุฑฒปัพพชิตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ สูตรที่ ๑
[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
หาได้ยาก
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่
๑. เป็นผู้ละเอียด หาได้ยาก
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมารยาท๑หาได้ยาก
๓. เป็นพหูสูต หาได้ยาก
๔. เป็นธรรมกถึก๒ หาได้ยาก
๕. เป็นวินัยธร๓หาได้ยาก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หาได้ยาก
ปฐมวุฑฒปัพพชิตสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มารยาท (อากัปปะ) ในที่นี้หมายถึงมารยาทของสมณะ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๙-๖๐/๓๒)
๒ ธรรมกถึก หมายถึงผู้แสดงธรรม (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๓๙/๓๑๘-๓๒๐, ๒๕๐/๓๓๙-๓๔๑)
๓ วินัยธร หมายถึงเป็นผู้ทรงจำพระวินัยปิฎก (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๑/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า :๑๐๘ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น