Google Analytics 4




พจนานุกรมพุทธศาสน์ ข-ค-ฆ-ง-จ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

ขจร ฟุ้งไป, ไปในอากาศ

ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่ว คราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้ (ขั้นต่อไป คือ อุปจารสมาธิ)

ขณิกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ (ปีติ ๕ ข้อ ๒)

ขนบ แบบอย่างที่ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ

ขนบธรรมเนียม แบบอย่างที่นิยมกัน

ขนาบ กระหนาบ

ขมา ความอดโทษ, การยกโทษให้

ขรรค์ อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้ามสั้น

ขราพาธ อาพาธหนัก, ป่วยหนัก

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือ ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่ รับ (ธุดงค์ข้อ ๗)

ของต้องพิกัด ของเข้ากำหนดที่จะต้องเสียภาษี

ขอนิสัย ดู นิสัย

ขอโอกาส ดู โอกาส

ขัชชภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่แจกของเคี้ยว

ขัณฑ์ ตอน, ท่อน, ส่วน, ชิ้น, จีวรมีขัณฑ์ ๕ ก็คือมี ๕ ชิ้น

ขัณฑสีมา สีมาเล็กผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา มีสีมันตริกคั่น

ขัดบัลลังก์ ดู บัลลังก์

ขัตติยธรรม หลักธรรมสำหรับกษัตริย์, ธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน

ขัตติยมหาสาล กษัตริย์ผู้มั่งคั่ง

ขันติ ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม

ขันธ์ กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง คือ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)

ขันธกะ หมวด, พวก, ตอน หมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัย และสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ที่จัดประมวลเข้าเป็นหมวด ๆ เรียกว่า ขันธกะ, ขันธกะหนึ่ง ๆ ว่าด้วยเรื่องหนึ่ง ๆ เช่นอุโบสถขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยการทำอุโบสถ จีวรขันธกะ หมวดที่ ว่าด้วยจีวร เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี ๒๒ ขันธกะ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๔-๕-๖-๗) ดู ไตรปิฎก

ขันธปัญจก หมวดห้าแห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นิยมเรียก ขันธบัญจก) ดู ขันธ์

ขันธมาร ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ถูกปัจจัยต่าง ๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่ หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (ข้อ ๒ ในมาร ๕)

ขาทนียะ ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น

ข้าวสุก ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด ที่หุงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น

ขิปปาภิญญา รู้ฉับพลัน

ขีณาสพ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว, ผู้หมดกิเลส, พระอรหันต์

ขึ้นใจ เจนใจ, จำได้แม่นยำ

ขึ้นปาก เจนปาก, คล่องปาก, ว่าปากเปล่าได้อย่างว่องไว

ขึ้นวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฎฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือเมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาสยังไม่ ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง ถ้าขึ้น ปริวาสพึงกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า ปริวาสํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร ถ้าขึ้น มานัต พึงกล่าวว่า มานตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นมานัต หรือ วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร

ขุชชโสภิตะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชันน้ำตาไหล (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)

เขต 1. แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น 2. ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อการลาสิกขา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

เขนง เขาสัตว์, ภาชนะที่ทำด้วยเขา

เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระ เจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

เขฬะ น้ำลาย

เข้าที่ นั่งภาวนากรรมฐาน

เข้ารีต เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น (มักใช้แก่ศาสนาคริสต์), ทำพิธีเข้าถือศาสนาอื่น

โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ใช้เปลือกไม้ทุบเอาแต่เส้น แล้วนำเส้นนั้นมาทอเป็นผ้า

โขมทุสสนิคม นิคมหนึ่งในแคว้นสักกะ

คณญัตติกรรม การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่าย หนึ่งสวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึง ทำเหมือนกันอย่างนั้น) ; เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย

คณปูรกะ ภิกษุผู้เป็นที่ครบจำนวนในคณะนั้นๆ เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไปเป็นผู้ทำ ยังขาดอยู่ เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมทบ ทำให้ครอบองค์สงฆ์ในสังฆกรรมนั้นๆ ภิกษุที่สมทบนั้นเรียกว่าคณ ปูรกะ

คณโภชน์ ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน; อีกนัยหนึ่งว่า นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

คณะธรรมยุต คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓ ; เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือธรรมยุติกนิกาย ก็มี; สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความ หมายว่า “พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย” (การคณะสงฆ์ น. ๑๐)

คณะมหานิกาย คณะสงฆ์ไทยเดิมที่สืบมาแต่สมัยสุโขทัย, เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว; สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ของประเทศไทยผู้ เขียน) ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์ น. ๙๐)

คณาจารย์ อาจารย์ของหมู่คณะ

คณิกา หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง

คดีธรรม ทางธรรม, คติแห่งธรรม

คดีโลก ทางโลก, คติแห่งโลก

คติ 1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบ การดำเนินชีวิต มี ๕ คือ ๑. นิรยะ นรก ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจ สูงรู้คิดเหตุผล ๕. เทพ ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิษฐพรหม (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตติวิสัย ด้วย) ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่เกิดอันชั่วหรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี) ๒ คติหลังเป็นสุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนิน ชีวิตที่ดี)

คมิยภัต ภัตเพื่อผู้ไป, อาหารที่เขาถวาย เฉพาะภิกษุผู้จะเดินทางไปอยู่ที่อื่น; คมิกภัต ก็ว่า

คยา จังหวัดที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จเมื่อครั้งโปรดนักบวชชฎิล และได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตรที่ ตำบลคยาสีสะในจังหวัดนี้ ปัจจุบันตัวเมืองคยาอยู่ห่างจากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าประมาณ ๗ ไมล์

คยากัสสป นักบวชชฎิลแห่งกัสสปโคตรตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ เป็นน้องชายคนเล็กของอุรุเวลกัสสปะ ออก บวชตามพี่ชาย พร้อมด้วยชฎิล ๒๐๐ ที่เป็นบริวาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร บรรลุพระอรหัต และ เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง ในอสีติมหา สาวก

คยาสีสะ ชื่อตำบล ซึ่งเป็นเนินเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดคยา พระพุทธเจ้าเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุสงฆ์ ปุราณชฎิลทั้งหมดให้สำเร็จพระอรหัตที่ตำบลนี้

ครรภ์ ท้อง, ลูกในท้อง, ห้อง

ครรโภทร ท้อง, ท้องมีลูก

ครองผ้า นุ่งห่มผ้า

คราวใหญ่ คราวที่ภิกษุอยู่มาด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉัน (ฉันเป็นหมู่ได้ ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์)

ครุ เสียงหนัก ได้แก่ทีฆสระ คือ อา อี อู เอ โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกด ซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน

ครุกกรรม ดู ครุกรรม

ครุกรรม กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม กรรมนี้ ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่าง ๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั่นถึงพื้นก่อน

ครุกาบัติ อาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องแล้วจำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส อยู่กรรมจึงจะพ้นได้

ครุธรรม ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความ เคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ ๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว ๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ ๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง) ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตใน สงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนาง สิกขมานา ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ ๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่า กล่าวภิกษุณีได้

ครุภัณฑ์ ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น (คู่กับ ลหุภัณฑ์)

ครูทั้ง ๖ ดู ติตถกร

คฤหบดี ผู้เป็นใหญ่ในเรือน, พ่อเจ้าเรือน, ผู้มั่งคั่ง

คฤหบดีจีวร ผ้าจีวรที่ชาวบ้านถวายพระ

คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน

คลองธรรม ทางธรรม

ควรทำความไม่ประมาท ในที่ ๔ สถาน ดู อัปปมาท

ความปรารถนา ของบุคคลในโลกที่ได้สมหมายด้วยยาก ๔ อย่าง ดู ทุลลภธรรม

ควัมปติ ชื่อกุลบุตรผู้เป็นสหายของพระยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสีได้ทราบข่าวว่ายสกุลบุตรออกบวชจึงบวช ตามพร้อมด้วยสหายอีกสามคน คือ วิมล สุพาหุ ปุณณชิ ต่อมาได้สำเร็จพระอรหัตทั้งหมด

ความค้ำ ในประโยคว่า “เราจักไม่ทำความค้ำ ไปในละแวกบ้าน” เดินเอามือค้ำบั้นเอว นั่งเท้าแขน

ความไม่ประมาท ดู อัปปมาท

คว่ำบาตร การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วยคือ ไม่ รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม คู่กับ หงายบาตร

คหปติกา “เรือนของคฤหบดี” คือเรือนอันชาวบ้านสร้างถวายเป็นกัปปิยกุฎี ดู กัปปิยภูมิ

คหปติมหาสาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง หมายถึงคฤหบดีผู้ร่ำรวย มีสมบัติมาก

คัคคภิกษุ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล เคยเป็นบ้า และได้ต้องอาบัติหลายอย่างในระหว่างเวลานั้น ภายหลังหาย เป็นบ้าแล้ว ได้มีผู้โจทว่า เธอต้องอาบัตินั้น ๆ ในคราวที่เป็นบ้าไม่รู้ จบ พระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้ ระงับอธิกรณ์ด้วย อมูฬหวินัย เป็นครั้งแรก

คณฺโฑ โรคฝี

คันธกุฎี “กุฎีอบกลิ่นหอม”, ชื่อเรียกพระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า เช่นพระคันธกุฎีที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง ถวายที่พระเชตวัน ในนครสาวัตถีเป็นต้น พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ ก็เรียกว่าคันธกุฎี เช่น เดียวกัน (เช่น ขุ.อป.๓๒/๑๘/๘๕; ๑๗๒/๒๗๒; ๓๓/๑๓๑/๒๒๐) อย่างไรก็ตาม คำเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันว่าคันธกุฎีนั้น มีใช้แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา (ไม่มีในพระไตรปิฎก)

คันถะ 1. กิเลสที่ร้อยรัดมัดใจสัตว์ให้ติดอยู่ 2. ตำรา, คัมภีร์

คันถธุระ ธุระฝ่ายคัมภีร์, ธุระคือการเรียนพระคัมภีร์, การศึกษาปริยัติธรรม; เทียบ วิปัสสนาธุระ

คันถรจนาจารย์ อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์

คันธาระ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำสินธูตอนเหนือ ตรงกับแคว้นปัญ จาบภาคเหนือในปัจจุบัน นครหลวงชื่อตักสิลา เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่าง ๆ แคว้นคันธาระอยู่ติดกันกับ แคว้นกัษมีระ (เขียนอย่างสันสกฤตเป็นกัศมีระ) หรือแคชเมียร์ พระราชาผู้ปกครองคันธาระในสมัยพุทธกาล มีพระ นามว่าปุกกุสาติ

คันโพง คันชั่งที่ถ่วงภาชนะสำหรับตักน้ำ เพื่อช่วยทุ่นแรงเวลาตักน้ำขึ้นจากบ่อลึกๆ (คัน = คันชั่งที่ใช้ถ่วง, โพง = ภาชนะสำหรับตักน้ำในบ่อลึกๆ), เครื่องสำหรับตักน้ำ หรือโพงน้ำ มีคันยาวที่ปลายเพื่อถ่วงให้เบาแรง เวลาตักหรือ โพงน้ำขึ้น (โพง = ตัก, วิด)

คัพภเสยยกสัตว์ สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ คือ สัตว์ที่เกิดเป็นตัวตั้งแต่อยู่ในครรภ์

คัมภีร์ ลึกซึ้ง, ตำราที่ยกย่อง เช่น ตำราทางศาสนา ตำราโหราศาสตร์

คัมภีรภาพ ความลึกซึ้ง

คากรอง เครื่องปกปิดร่างกายที่ทำด้วย หญ้า หรือเปลือกไม้

คาถา 1. คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ในภาษาบาลี คาถาหนึ่ง ๆ มี ๔ บาท เช่น อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฎฺฐีปรมํ ธนํ วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ฯ 2. ในภาษาไทย บางทีใช้ในความหมายว่า คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เรียกว่าคาถาอาคม

คาถาพัน “คาถาหนึ่งพัน” เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกบทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งแต่งเป็นคาถาล้วนๆ อย่างนี้ เรียกว่า เทศน์คาถาพัน

คาพยุต ดู คาวุต

คามเขต เขตบ้าน, ละแวกบ้าน

คามสีมา “แดนบ้าน” คือเขตที่กำหนดด้วยบ้าน, สีมาที่ถือกำหนดตามเขต บ้านเป็นอพัทธสีมาอย่างหนึ่ง

คารวโวหาร ถ้อยคำแสดงความเคารพ

คารวะ ความเคารพ, ความเอื้อเฟื้อ, ความใส่ใจมองเห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ ให้ถูกต้องเหมาะสมมี ๖ อย่างคือ ๑. พุทฺธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้า ๒. ธมฺมคารวตา ความเคารพในพระธรรม ๓. สงฺฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ ๔. สิกฺขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา ๕. อปฺปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ ประมาท ๖. ปฏิสนฺถารคารวตา ความเคารพในปฏิสันถาร คือ การต้อนรับปราศรัย

คาวุต ชื่อมาตราวัดระยะทางเท่ากับ ๘๐ อุสภะ หรือ ๑๐๐ เส้น (๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์) ดู มาตรา

คาหาปกะ ผู้ให้รับ คือผู้แจก

คำรบ ครบ, ถ้วน, เต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้

คำไวยากรณ์ คำร้อยแก้ว ตรงข้ามกับคำว่า คาถา คือ คำร้อยกรองแห่งภาษาบาลี

คิชฌกูฏ ชื่อภูเขาลูกหนึ่ง ในบรรดาภูเขาห้าลูกที่เรียกว่าเบญจคีรี ล้อมรอบพระนครราชคฤห์

คิมหฤดู ฤดูร้อน

คิลานปัจจัย ปัจจัยสำหรับคนไข้, ยารักษาโรค

คิลานภัต อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุอาพาธ

คิลานศาลา โรงพักคนไข้, หอรักษาคนไข้, สถานพยาบาล

คิลานุปฐาก ผู้ปฏิบัติภิกษุไข้

คิลานุปัฏฐากภัต อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้พยาบาลไข้

คิหิณี หญิงผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์หญิง

คิหิปฏิบัติ ข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์

คืบพระสุคต ชื่อมาตราวัดตามอรรถกถา นัยว่า เท่ากับ ๓ คืบของคนปานกลาง คือ เท่ากับศอกคืบช่างไม้ แต่มตินี้ไม่ สมจริง ปัจจุบันยุติกันว่าให้ถือตามไม้เมตร คือ เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ประมาณกันกับคืบช่างไม้ ซึ่งเป็นการสะดวก และถ้าหากจะสั้นกว่าขนาดจริงก็ไม่เสีย เพราะจะไม่เกินกำหนด ไม่เสียทางวินัย

คุณของพระรัตนตรัย คุณของรัตนะ ๓ คือ ๑. พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้วทรงสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ด้วย ๒. พระธรรม เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงาม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ๓. พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตามด้วย

คุณธรรม ธรรมที่เป็นคุณ, ความดีงาม, สภาพที่เกื้อกูล

คุณบท บทที่แสดงคุณ, บทที่กล่าวถึงคุณงามความดี, คำแสดงคุณสมบัติ

คูถภักขา มีคูถเป็นอาหาร ได้แก่สัตว์จำพวก ไก่ สุกร สุนัข เป็นต้น

คู้บัลลังก์ ดู บัลลังก์

เครื่องกัณฑ์ สิ่งของสำหรับถวายพระเทศน์

เครื่องต้น เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์,สิ่งของที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้และเสวย

เครื่องราง ของที่นับถือว่าป้องกันอันตรายได้ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า

เคลือบแฝง อาการชักให้เป็นที่สงสัย, แสดงความจริงไม่กระจ่างทำให้เป็นที่สงสัย

เคหสถาน ที่ตั้งเหย้าเรือน

เคหสิตเปมะ ความรักอันอาศัยเรือน ได้แก่รักกันโดยฉันเป็นคนเนื่องถึงกัน เป็นญาติกัน เป็นคนร่วมเรือนเดียวกัน, ความรักฉันพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้อง

เคารพ ความนับถือ, ความมีคารวะ

เคาะ ในประโยคว่า “เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาว” พูดให้รู้ท่า

เคาะแคะ พูดแทะโลม, พูดเกี้ยว

โคจรคาม หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกขาจาร, หมู่บ้านที่ภิกษุไปเที่ยวบิณฑบาต

โคจรวิบัติ วิบัติแห่งโคจร, เสียในเรื่องที่เที่ยว, ความเสียหายในการไปมาหาสู่ เช่นภิกษุไปในที่อโคจรมีร้านสุรา หญิง แพศยา แม่หม้าย บ่อนการพนัน เป็นต้น

โคณกะ ผ้าขน มีขนยาวกว่า ๔ นิ้ว

โคดม, โคตมะ ชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า มหาชนเรียกพระพุทธเจ้าตามพระโคตรว่า พระโคดม พระโคตมะหรือ พระสมณโคดม

โคตมกเจดีย์ ชื่อเจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเวสาลี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้งและเคย ทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

โคตมโคตร ตระกูลโคตมะ เป็นชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า

โคตมนิโครธ ตำบลที่พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ อยู่ที่พระนครราชคฤห์

โคตมี ชื่อเรียกสตรีแห่งโคตมโคตร เช่น พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระแม่น้าของพระสิทธัตถะ เป็นต้น

โคตร ตระกูล เผ่าพันธุ์, วงศ์

โคตรภู ผู้ตั้งอยู่ในญาณซึ่งเป็นลำดับที่จะถึงอริยมรรค, ผู้อยู่ในหัวต่อระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล

โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือ ปัญญาที่อยู่ในลำดับจะถึงอริยมรรค หรืออยู่ในหัวต่อที่จะข้ามพ้นภาวะปุถุชนขึ้นสู่ ภาวะเป็นอริยะ ดู ญาณ ๑๖

โคตรภูสงฆ์ พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศเช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตน ว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา

โคธาวรี ชื่อแม่น้ำสายหนึ่ง ระหว่างเมืองอัสสกะ กับ เมืองอาฬกะ พราหมณ์พาวารี ตั้งอาศรมสอนไตรเพทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ สายนี้ (มักเพี้ยนเป็นโคธาวารี)

โคนิสาทิกา “กัปปิยภูมิอันดุจเป็นที่โคจ่อม” คือเรือนครัวน้อยๆ ที่ไม่ได้ปักเสา ตั้งอยู่กับที่ ตั้งฝาบนคาน ยกเลื่อนไป จากที่ได้ ดู กัปปิยภูมิ

โคมัย ขี้วัว

โครส ดู เบญจโครส

ฆฏิการพรหม พระพรหมผู้นำสมณบริขารมีบาตรและจีวร เป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เมื่อคราวเสด็จออก บรรพชา (มติของพระอรรถกถาจารย์)

ฆนะ ก้อน, แท่ง

ฆนสัญญา ความสำคัญว่าเป็นก้อน, ความสำคัญเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งบังปัญญาไม่ให้เห็นภาวะที่เป็นอนัตตา

ฆนิโตทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๕ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระอนุชาองค์ที่ ๔ ของพระเจ้า สุทโธทนะ เป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า

ฆราวาส การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน; ในภาษาไทย มักใช้หมายถึงผู้ครองเรือน คือ คฤหัสถ์

ฆราวาสธรรม หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อ สัตย์ต่อกัน ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและ สิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓. ขันติ ความอดทน ๔. จาคะ ความเสียสละเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

ฆราวาสวิสัย วิสัยของฆราวาส, ลักษณะที่เป็นภาวะของผู้ครองเรือน, เรื่องของชาวบ้าน

ฆราวาสมบัติ สมบัติของการครองเรือน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของชีวิตชาวบ้าน

ฆานะ จมูก

ฆานวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบจมูก, กลิ่นกระทบจมูก เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้กลิ่น

ฆานสัมผัส อาการที่ จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน

ฆานสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณ ประจวบกัน

โฆสัปปมาณิกา คนพวกที่ถือเสียงเป็นประมาณ, คนที่นิยมเสียง เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพราะเสียง ชอบฟังเสียง ไพเราะ เช่น เสียงสวดสรภัญญะ เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง เสียงประโคมเป็นต้น; อีกนัยหนึ่งว่า ผู้ถือชื่อเสียง กิตติศัพท์ หรือความโด่งดังเป็นประมาณ เห็นใครมีชื่อเสียงก็ตื่นไปตาม

โฆสิตาราม ชื่อวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง เช่น คราวที่ภิกษุชาวโกสัมพี แตกกัน เป็นต้น

งมงาย ไม่รู้เท่า, ไม่เข้าใจ, เซ่อเซอะ, หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังผู้อื่น

จงกรม เดินไปมาโดยมีสติกำกับ

จตุกกะ หมวด ๔

จตุกกัชฌาน ฌานหมวด ๔ คือ รูปฌานที่แบ่งเป็น ๔ ขั้น อย่างที่รู้จักกันทั่วไป ดู ฌาน ๔ เทียบ ปัญจกัชฌาน

จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ ละสุขเสียได้ มีแต่อุเบกขากับเอกัคคตา

จตุธาตุววัตถาน การกำหนดธาตุ ๔ คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จัดเข้า ในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกายว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่า นั้น ไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริง

จตุบริษัท บริษัทสี่เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

จตุปัจจัย เครื่องอาศัยของชีวิต หรือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต สี่อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช (เครื่องนุ่ง ห่ม อาหาร ที่อยู่ ยา)

จตุรงคินีเสนา กองทัพมีกำลังสี่เหล่า คือ เหล่าช้าง เหล่าม้า เหล่ารถ เหล่าราบ

จตุรบท สัตว์สี่เท้า มี ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น

จตุรพิธพร พร ๔ ประการ คือ อายุ (ความมีอายุยืน) วรรณะ (ความมีผิวพรรณผ่องใส) สุขะ (ความสุขกายสุขใจ) พละ (ความมีกำลังแข็งแรง มีสุขภาพดี)

จตุรวรรค, จตุวรรค สงฆ์พวกสี่, สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำเพียง ๔ รูป เช่น สงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรมเป็นต้น

จตุราริยสัจจ์ อริยสัจจ์สี่ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดู อริยสัจจ์

จรณะ เครื่องดำเนิน, ปฏิปทา คือ ข้อ ปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชา มี ๑๕ คือ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล อปัณณกปฏิปทา ๓ สัทธรรม ๗ และ ฌาน ๔

จริต ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑. ราค จริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติ ปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย) ๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติ ปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)

จริมกจิต จิตดวงสุดท้าย ซึ่งจะดับไปเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

จริยธรรม  “ธรรมคือความประพฤติ”, “ธรรมคือการดำเนินชีวิต”, หลักความประพฤติ, หลักการดำเนินชีวิต, คำ “จริย ธรรม” นี้ นักปราชญ์ในประเทศไทยได้บัญญัติให้ใช้สำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประ- พฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม; จริยะ หรือ จริยธรรมอันประเสริฐ เรียกว่า พรหมจริยะ (พรหมจริยธรรม หรือ พรหมจรรย์) แปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐหรือการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา เทียบ ศีลธรรม

จักกวัตติสูตร ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ พึ่งตน คือ พึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตรนั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความ ว่า ๑. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒. มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓. ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ ทรัพย์ ๔. ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ ; จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑. เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้นสมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้า มาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อเรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตาม แนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารย เมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้

จักขุ ตา ของพระพุทธเจ้า มี ๕ คือ มังสจักขุ ทิพพจักขุ ปัญญาจักขุ พุทธจักขุ สมันตจักขุ (ดูที่คำนั้น ๆ)

จักขุวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา, รูปกระทบตา เกิดความรู้ขึ้น, การเห็น

จักขุสัมผัส อาการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

จักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณ ประจวบกัน

จักร ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมายมี ๔ อย่างคือ ๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ใน ถิ่นที่เหมาะ ๒. สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี ๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ๔. ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดี ไว้ก่อน

จักรธรรม ธรรมเปรียบด้วยล้อรถ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญ หรือให้ถึงจุดมุ่งหมายมี ๔ อย่าง ดู จักร

จักรพรรดิ พระราชาธิราช หมายถึงพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ มีราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางมาก บ้านเมืองในปกครอง มีความร่มเย็น เป็นสุขปราบข้าศึกศัตรูด้วยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา มีรัตนะ ๗ ประการประจำพระองค์ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี

จักรพรรดิราชสมบัติ สมบัติ คือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

จักรรัตนะ จักรแก้ว หมายถึงตัวอำนาจแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ

จักรวรรดิวัตร ๑๒ ๑. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ คุ้มครองสงเคราะห์แก่ชนในพระราชฐานและพยุหเสนา ๒.ขตฺติเยสุ แก่กษัตริย์เมืองขึ้นหรือผู้ครองนครภายใต้พระบรมเดชานุภาพ ๓. อนุยนฺเตสุ แก่กษัตริย์ที่ตามเสด็จคือ เหล่าเชื้อพระ วงศ์ผู้เป็นราชบริพาร ๔. พฺราหฺมณคหปติเกสุ แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ๕. เนคมชานปเทสุ แก่ชาวนิคมและ ชาวชนบทคือ ราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย ๖. สมณพฺราหฺมเณสุ แก่เหล่าสมณพราหมณ์ ๗. มิคปกฺขีสุ แก่เหล่าเนื้อนก อันพึงบำรุงไว้ให้มีสืบพันธุ์ ๘. อธมฺมการปฏิกฺเขโป ห้ามปรามมิให้มีความประพฤติการอันไม่เป็นธรรม ๙. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ เจือจานทรัพย์ทำนุบำรุงแก่ผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ ๑๐. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ไปสู่หา สมณพราหมณ์ไต่ถาม อรรถปฤษณา ๑๑. อธมฺมราคสฺส ปหานํ เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม๑๒. วิสมโลภสฺส ปหานํ เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร จักรวรรดิวัตร ๑๒ นี้ มาในอรรถกถา โดยแบ่งซอยและเพิ่มเติมจากของเดิมใน จักกวัตติสูตร

จักษุ ตา, นัยน์ตา

จักษุทิพย์ ตาทิพย์ คือดูอะไรเห็นได้หมด ดู ทิพพจักขุ

จังหัน ข้าว, อาหาร (ใช้แก่พระสงฆ์)

จัญไร ชั่วร้าย, เลวทราม, เสีย

จัณฑปัชโชต พระเจ้าแผ่นดินแคว้นอวันตี ครองราชสมบัติอยู่ที่กรุงอุชเชนี

จัณฑาล ลูกต่างวรรณะ เช่นบิดาเป็นศูทร มารดาเป็นพราหมณ์ มีลูกออกมา เรียกว่า จัณฑาล ถือว่าเป็นคนต่ำทราม ถูก เหยียดหยามที่สุดในระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์

จันทน์ ไม้จันทน์ เป็นไม้มีกลิ่นหอมใช้ทำยาและปรุงเครื่องหอม

จักทรคติ การนับวันโดยถือเอาการเดินของพระจันทร์เป็นหลัก เช่น ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ และเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เป็นต้น คู่กับ สุริยคติ

จันทรุปราคา การจับจันทร์ คือเงาโลกเข้าไปปรากฏที่ดวงจันทร์ ขณะเมื่อดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์อยู่ตรงกันข้าม โดย มีโลกอยู่ระหว่างกลางที่เรียกว่า ราหูอมจันทร์

จัมปา ชื่อนครหลวงของแคว้นอังคะ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ไม่ห่างไกลมากนักจากที่บรรจบกับแม่น้ำคงคา

จัมเปยยขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๙ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยข้อควรทราบบางแง่เกี่ยวกับนิคหกรรม ต่างๆ

จัมมขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๕ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเครื่องหนังต่างๆ มีรองเท้าและเครื่องลาด เป็นต้น

จาคะ การสละ, การให้ปัน, การเสีย สละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส (ข้อ ๔ ในฆราวาส ธรรม ๔, ข้อ ๓ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๖ ในอริยทรัพย์ ๗)

จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น ดู สัมปรายิกัตถฯ

จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาค คือระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นจาคธรรมที่มีในตน ดู อนุสติ

จาตุมหาราช ท้าวมหาราชสี่, เทวดาผู้รักษาโลกในสี่ทิศ, ท้าวโลกบาลทั้งสี่คือ ๑. ท้าวธตรฐ จอมภูต หรือจอมคน ธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ๒. ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ๓. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก ๔. ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ

จาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นที่ ๑ มีมหาราช ๔ องค์ เป็นประธาน ปกครองประจำทิศทั้ง ๔ ดู จาตุมหาราช

จาตุรงคสันนิบาต การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ ๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม ๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ๔. พระ สงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ดู มาฆบูชา

จ่าย ในประโยคว่า “ภิกษุใดมีบาตรมีแผลหย่อน ๕ ให้จ่ายบาตรใหม่” ให้จ่ายคือให้ขอบาตรใหม่

จาร เขียนตัวหนังสือหรือเลขลงบนใบลาน เป็นต้น โดยใช้เหล็กแหลมขีด, ใช้เหล็กแหลมเขียนตัวหนังสือ

จาริก เที่ยวไป, เดินทางเพื่อศาสนกิจ

จารีต ธรรมเนียมที่ประพฤติกันมา, ประเพณี, ความประพฤติที่ดี

จารึก เขียน, เขียนเป็นตัวอักษร, เขียนรอยลึกเป็นตัวอักษรลงในใบลาน หรือลงแผ่นศิลา แผ่นโลหะ

จำนำพรรษา ดู ผ้าจำนำพรรษา

จำเนียรกาล เวลาช้านาน

จำปา ชื่อเมืองในมัธยมประเทศ ที่ถูกเขียน จัมปา

จำพรรษา อยู่ประจำวัดสามเดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริม พรรษา แปลว่า พรรษาต้น) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ เดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง) ; วันเข้าพรรษาต้นคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลังคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่าปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา; คำอธิษฐานพรรษาว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ; ทุติยมฺปิ อิมสฺ มึ....; ตติยมฺปี อิมสฺมึ....แปลว่า ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้ (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้) ; อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวก เธอ อานิสงส์ทั้งห้านี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่ จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษ เหล่านี้)

จำวัด นอนหลับ (สำหรับพระสงฆ์)

จำศีล อยู่รักษาศีล, ถือศีลเป็นกิจวัตร

จำหลัก แกะให้เป็นลวดลาย, สลัก

จิต ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ; ตามหลักฝ่ายอภิธรรมจำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑) แบ่ง โดยชาติ เป็นอกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗) วิปากจิต ๓๖ (๕๒) และกิริยาจิต ๒๐; แบ่ง โดยภูมิ เป็นกามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)

จิตกาธาน เชิงตะกอน, ที่เผาศพ

จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)

จิตตกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้เหมาะแก่การใช้งาน (ข้อ ๑๕ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตกา เครื่องลาดทำด้วยขนแกะ ที่ปักหรือทอเป็นลวดลายต่าง ๆ

จิตตคฤหบดี ชื่ออุบาสกคนหนึ่ง มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสก ธรรมกถึก; ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อ สุธรรมด่า เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรม คือ การลงโทษ ภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิด ด้วยการให้ไปขอขมาเขา

จิตตปาคุญญตา ความคล่องแคล่วแห่งจิต, ธรรมชาติที่ทำจิตให้สละสลวยคล่องแคล่วว่องไว (ข้อ ๑๗ ในโสภณ- เจตสิก ๒๕)

จิตตภาวนา ดู ภาวนา

จิตตมาส เดือน ๕

จิตตมุทุตา ความอ่อนแห่งจิต, ธรรมชาติทำจิตให้นุ่มนวลอ่อนละมุน (ข้อ ๑๓ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตลหุตา ความเบาแห่งจิต, ธรรม ชาติที่ทำให้จิตเบาพร้อมที่จะเคลื่อนไหวทำหน้าที่ (ข้อ ๑๑ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือได้ฝึกอบรมจิตจนเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา (ข้อ ๒ ในวิสุทธิ ๗)

จิตตสังขาร 1. ปัจจัยปรุงแต่งจิตได้แก่สัญญาและเวทนา 2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่เจตนาที่ก่อให้เกิด มโนกรรม ดู สังขาร

จิตตสันดาน การสืบต่อมาโดยไม่ขาดสายของจิต; ในภาษาไทยหมายถึงพื้นความรู้สึกนึกคิดหรืออุปนิสัยใจคอที่ฝังอยู่ ในส่วนลึกของจิตใจมาแต่กำเนิด (ความหมายนัยหลังนี้ มิใช่มาในบาลี)

จิตตสิกขา ดู อธิจิตตสิกขา

จิตตานุปัสสนา สติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ เช่น จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔)

จิตตุชุกตา ความชื่อตรงแห่งจิต, ธรรมชาติที่ทำให้จิตซื่อตรงต่อหน้าที่การงานของมัน (ข้อ ๑๙ ในโสภณจิต ๒๕)

จินตกวี นักปราชญ์ผู้ชำนาญคิดคำประพันธ์, ผู้สามารถในการแต่งร้อยกรองตามแนวความคิดของตน

จีวร ผ้าที่ใช้นุ่งห่มของพระในพระพุทธศาสนาผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในจำนวน ๓ ผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร คือผ้าทาบ (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และผ้านุ่ง (อันตรวาสก); แต่ในภาษาไทย นิยมเรียกเฉพาะผ้าห่มคืออุตราสงค์ว่า จีวร ดู ไตรจีวร ด้วย

จีวรกรรม การทำจีวร, งานเกี่ยวกับจีวร เช่น ตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น

จีวรการสมัย คราวที่พระทำจีวร, เวลาที่กำลังทำจีวร

จีวรกาล ฤดูถวายจีวร, ฤดูถวายผ้าแก่พระสงฆ์ ดู จีวรกาลสมัย

จีวรกาลสมัย สมัยหรือคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร; งวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่มิได้กรานกฐิน ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ถึง เพ็ญเดือนสิบสอง (คือเดือนเดียว), อีกงวดหนึ่ง สำหรับภิกษุที่ได้กรานกฐินแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๑ ไปจน หมดฤดูหนาวคือถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ (รวม ๕ เดือน)

จีวรทานสมัย สมัยที่เป็นฤดูถวายจีวรตรงกับจีวรกาลสมัย

จีวรนิทหกะ ผู้เก็บจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บรักษาจีวร เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการ แห่งจีวร

จีวรปฏิคคาหก ผู้รับจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวรเป็นตำแหน่งหนึ่งบรรดาเจ้าอธิการแห่งจีวร

จีวรปลิโพธ ความกังวลในจีวร คือภิกษุยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำค้างหรือหายเสียในเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังว่าจะ ได้จีวรอีก

จีวรภาชก ผู้แจกจีวร คือ ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร, เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดาเจ้าอธิการแห่งจีวร

จีวรมรดก จีวรของภิกษุหรือสามเณรผู้ถึงมรณภาพ (มตกจีวร) สงฆ์พึงมอบให้แก่คิลานุปฐาก (ผู้พยาบาลคนไข้) ด้วย ญัตติทุติยกรรม อย่างไรก็ตามอรรถกถาแสดงมติไว้ว่า กรณีเช่นนี้เป็นกรรมไม่สำคัญนัก จะทำด้วยอปโลกนกรรม ก็ควร

จีวรลาภ การได้จีวร

จีวรวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องจีวร เป็นวรรคที่ ๑ แห่งนิสสัคคิยกัณฑ์

จีวรอธิษฐาน จีวรครอง, ผ้าจำกัดจำนวน ๓ ผืนที่อธิษฐานคือ กำหนดไว้ใช้ประจำตัวตามที่พระวินัยอนุญาตไว้ตรง ข้ามกับ อดิเรกจีวร

จีวรักขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องจีวร

จุณณ์ ละเอียด

จุณณิยบท คำร้อยแก้ว, บางแห่งว่าบทบาลีเล็กน้อย ที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ (พจนานุกรมเขียน จุณณียบท)

จุติ เคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่ภพอื่น, ตาย (ส่วนมากใช้กับเทวดา)

จุตูปปาตญาณ ปรีชารู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย, มีจักษุทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังจุติบ้าง กำลังเกิดบ้าง มีอาการดี บ้าง เลวบ้างเป็นต้น ตามกรรมของตน ดู วิชชา

จุนทะ พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวกเป็นน้องชายของพระสารีบุตร เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำ อัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้านเกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

จุนทกัมมารบุตร นายจุนทะ บุตรช่างทองเป็นชาวเมืองปาวา ผู้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระพุทธเจ้าในเช้าวัน ปรินิพพาน

จุลกาล ชื่อน้องชายของพระมหากาลที่บวชตามพี่ชาย แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผล สึกเสียในระหว่าง

จุลคัณฐี ชื่อนิกายพระสงฆ์พม่านิกายหนึ่ง

จุลวรรค ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดหนึ่งแห่งพระวินัยปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุล วรรค บริวาร; คัมภีร์จุลวรรค มี ๑๒ ขันธกะ คือ ๑. กัมมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม ๒. ปาริวาสิกขันธกะ ว่า ด้วยวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส ผู้ประพฤติมานัต และผู้เตรียมจะอัพภาน ๓. สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการประพฤติวุฏฐานวิธี ๔. สมถขันธกะ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ ๕. ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อย จำนวนมาก เช่น การปลงผม ตัดเล็บ ไม้จิ้มฟัน ของใช้ต่างๆ เป็นต้น ๖. เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ ๗. สังฆเภทขันธกะ ว่าด้วยสังฆเภทและสังฆสามัคคี ๘. วัตตขันธกะ ว่าด้วยวัตรต่าง ๆ เช่น อาคันตุกวัตร เป็นต้น ๙. ปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยระเบียบในการงดสวดปาฏิโมกข์ในเมื่อภิกษุมีอาบัติติดตัวมาร่วมฟังอยู่ ๑๐. ภิกขุนี ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุณีเริ่มแต่ประวัติการอนุญาตให้มีการบวชครั้งแรก ๑๑. ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่อง สังคายนาครั้งที่ ๑ ๑๒. สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ (พระไตรปิฎกเล่ม ๖-๗); ต่อจาก มหาวรรค

จุลศักราช ศักราชน้อย ตั้งขึ้นโดยกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งใน พ.ศ. ๑๑๘๒ ภายหลังมหาศักราช, เป็นศักราชที่เราใช้กันมา ก่อนใช้รัตนโกสินทรศก, นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เขียนย่อว่า จ.ศ. (พ.ศ.๒๕๒๒ ตรงกับ จ.ศ. ๑๓๔๐-๑๓๔๑)

จุฬามณีเจดีย์ พระเจดีย์บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระพุทธเจ้าในดาวดึงสเทวโลก อรรถกถาเล่าว่าเมื่อพระ โพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปใน อากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ ปรินิพพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้มานำเอาพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาที่โทณ พราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทอง นำไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ด้วย

จูฬปันถกะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของ มหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบคาถาเพียง ๑ คาถาให้ท่องตลอด เวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้ จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพบพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทาน ผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า “รโชหรณํ ๆ ๆ” ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้ท่าน มองเห็นไตรลักษณ์และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญ แคล่วคล่อง ในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกง่าย ๆ ว่าจูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็นจุลลบันถก

จูฬเวทัลลสูตร ชื่อสูตรหนึ่งในมัชฌิม นิกาย มูลปัณณาสก์ แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงโดยพระธรรมทินนาเถรี เป็น คำตอบปัญหาที่วิสาขอุบาสกถาม

จูฬสังคาม ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวารแห่งพระวินัยปิฎก

จูฬสุทธันตปริวาส สุทธันตปริวาสอย่างเล็ก หมายความว่า ปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกัน จำจำนวนอาบัติและวันที่ปิดได้บ้าง อยู่ปริวาสไปจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์

เจดีย์ ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ ๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระ ธรรม คือพุทธพจน์ ๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่ บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือเช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น

เจตนา ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตน์จำนง, ความจำนง, ความจงใจ, เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัว นำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์ และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมที เดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่าเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม

เจตภูต สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกัน หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่า ออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่า อาตมัน หรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา

เจตสิก ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น มี ๕๒ อย่าง จัดเป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕

เจตสิกสุข สุขทางใจ, ความสบายใจ แช่มชื่นใจ ดู สุข

เจตี แคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ลุ่มแม้น้ำคงคา ติดต่อกับแคว้นวังสะ นครหลวงชื่อ โสตถิวดี

เจโตปริยญาณ ปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, รู้ใจผู้อื่นอ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้า หมองหรือผ่องใส เป็นต้น ดู วิชชา, อภิญญา

เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติ อันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)

เจริญพร คำเริ่มและคำรับที่ภิกษุสามเณรใช้พูดกับคฤหัสถ์ผู้ใหญ่และสุภาพชนทั่วไป ตลอดจนใช้เป็นคำขึ้นต้นและ ลงท้ายจดหมายที่ภิกษุสามเณร มีไปถึงบุคคลเช่นนั้นด้วย (เทียบได้กับคำว่าเรียนและครับหรือขอรับ)

เจริญวิปัสสนา ปฏิบัติวิปัสสนา, บำเพ็ญวิปัสสนา, ฝึกอบรมปัญญาโดยพิจารณาสังขาร คือ รูปธรรมและนามธรรมทั้ง หมดแยกออกเป็นขันธ์ ๆ กำหนดด้วยไตรลักษณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เจ้ากรม หัวหน้ากรมในราชการ หรือในเจ้าหน้าที่ทรงกรม

เจ้าภาพ เจ้าของงาน

เจ้าสังกัด ผู้มีอำนาจในหมู่คนที่ขึ้นอยู่กับตน

เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการของส่วนรวมในวัดตาม พระวินัยแบ่งไว้เป็น ๕ ประเภทคือ ๑. เจ้าอธิการแห่งจีวร ๒. เจ้าอธิการแห่งอาหาร ๓. เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ๔. เจ้าอธิการแห่งอาราม ๕. เจ้าอธิการแห่งคลัง

เจ้าอธิการแห่งคลัง ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ มี ๒ อย่าง คือ ผู้รักษาคลังที่เก็บพัสดุของสงฆ์ (ภัณฑาคาริก) และผู้จ่ายของเล็กน้อยให้แก่ภิกษุทั้งหลาย (อัปปมัตตวิสัชกะ)

เจ้าอธิการแห่งจีวร คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับจีวร ๓ อย่างคือ ผู้รับจีวร (จีวรปฏิคาหก) ผู้เก็บจีวร (จีวรนิทหก) ผู้แจก จีวร (จีวรภาชก)

เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเสนาสนะ แยกเป็น ๒ คือ ผู้แจกเสนาสนะให้ภิกษุคือ (เสนาสนคาหา ปก) และผู้แต่งตั้งเสนาสนะ (เสนาสนปัญญาปก)

เจ้าอธิการแห่งอาราม ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับงานวัด แยกเป็น ๓ คือ ผู้ใช้คนงานวัด (อารามิกเปสก) ผู้ใช้สามเณร (สามเณรเปสก) และผู้ดูแลการปลูกสร้าง (นวกัมมิก)

เจ้าอธิการแห่งอาหาร ภิกษุผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับอาหาร มี ๔ อย่าง คือ ผู้จัดแจกภัต (ภัตตุเทศก์) ผู้แจกยาคู (ยาคุภาชก) ผู้ แจกผลไม้ (ผลภาชก) และผู้แจกของเคี้ยว (ขัชชภาชก)

เจ้าอาวาส สมภารวัด, หัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด

โจท ฟ้องร้อง; ทักท้วง ดู โอกาส

โจทก์ ผู้ฟ้องร้อง

โจทนา กิริยาที่โจท, การโจท, การฟ้อง, การทักท้วง, การกล่าวหา, คำฟ้อง

โจทนากัณฑ์ ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวารแห่งพระวินัยปิฎก

โจรกรรม การลัก, การขโมย, การกระทำของขโมย

โจรดุจผูกธง โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง

ใจจืด ขาดเมตตา เช่น พ่อแม่ มีกำลังพอที่จะเลี้ยงดูลูกได้ก็ไม่เลี้ยงดูลูกให้สมควรแก่สถานะ เป็นต้น, ไม่เอื้อเฟื้อแก่ใคร

ใจดำ ขาดกรุณา คือตนมีกำลังสามารถ จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ก็ไม่ช่วย เช่น เห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วยเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น