Google Analytics 4




พจนานุกรมพุทธศาสน์ ม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ออนไลน์

มกุฏพันธนเจดีย์ ที่ถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระ อยู่ทิศตะวันออกของนครกุสินารา

มคธ 1. ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาลตั้งอยู่ฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคาตอนกลาง เป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในสมัย พุทธกาล มคธมีนครหลวงชื่อ ราชคฤห์ ราชาผู้ปกครองพระนามว่าพิมพิสารตอนปลายพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ถูกโอรสชื่ออชาตศัตรูปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาลาโศก หรือก่อนนั้นเมือง หลวงของมคธ ย้ายไปตั้งที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคา เหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป มคธรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งแคว้นใหญ่อื่นทั้งหมดได้รวมเข้าอยู่ภายในมหาอาณาจักรของพระองค์ทั้งหมดแล้ว บัดนี้ บริเวณที่เคยเป็นแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เรียกว่าแคว้นพิหาร

2. เรียกภาษาที่ใช้พูดในแคว้นมคธ หรือภาษาของ ชาวแคว้นมคธว่า ภาษามคธ และถือกันว่า ภาษาบาลีที่ใช้รักษาพระพุทธพจน์สืบมาจนบัดนี้ คือ ภาษามคธ

มคธชนบท แคว้นมคธ, ประเทศมคธ

มคธนาฬี ทะนานที่ใช้อยู่ในแคว้นมคธ, ทะนานชาวมคธ

มคธภาษา ภาษาของชนชาวมคธ, ภาษาของชนผู้อยู่ในแคว้นมคธ

มคธราช ราชาผู้ครองแคว้นมคธ, หมายถึงพระเจ้าพิมพิสาร

มฆเทวะ พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้น วิเทหะพระองค์หนึ่ง สมัยก่อนพุทธกาลเรียก มขาเทวะ ก็มี

มงคล สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ, มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุง) ๓๘ ประการมีดังนี้ คาถาที่ ๑ = ๑. อเสวนา จ พาลานํ ไม่คนคบพาล ๒. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา คบบัณฑิต ๓. ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ ควรบูชา คาถาที่ ๒ = ๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี ๕. ปุพฺเพ จ กต ปุญญตา ได้ทำ ความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น ๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ ตั้งตนไว้ชอบ คาถา ที่ ๓ = ๗. พาหุสจฺจญฺจ เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ๘. สิปฺปญฺจ มีศิลปวิทยา, ชำนาญ ในวิชาชีพของตน ๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี ๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต, รู้จัก ใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี คาถาที่ ๔ = ๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ บำรุงมารดาบิดา ๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห สงเคราะห์บุตรและ ทารสงฺคห สงเคราะห์ภรรยา ๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากูล คาถาที่ ๕ = ๑๕. ทาน ญฺจ รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ ๑๖. ธมฺมจริยา จ ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีล ธรรม ๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห สงเคราะห์ ญาติ ๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็น ประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย คาถาที่ ๖ = ๑๙. อารติ วิรติ ปาปา เว้นจากความชั่ว ๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม เว้นจาก การดื่มน้ำเมา ๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย คาถาที่ ๗ = ๒๒. คารโว จ ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความ ใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม ๒๓. นิวาโต จ ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน ๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ, ความเอิบอิ่ม พึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียร พยายามของตนเองโดยทาง ชอบธรรม ๒๕. กตญฺญุตา มีความกตัญญู ๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้ ในเรื่องที่ แสดงหลักความจริง คาถาที่ ๘ = ๒๗. ขนฺตี จ มีความอดทน ๒๘. โสวจสฺสตา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺส- นํ พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส ๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถก เถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม คาถาที่ ๙ = ๓๑. ตโป จ มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก ๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร ๓๓. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ เห็นอริยสัจจ์, เข้าใจความจริงของชีวิต ๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ ทำ พระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน คาถาที่ ๑๐ = ๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว ๓๖. อโสกํ จิตไร้เศร้า ๓๗. วิรชํ จิตปราศจากธุลี ๓๘. เขมํ จิตเกษม

มณฑป เรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม

มณฑล วงรอบ, บริเวณ, แคว้น, ดินแดน, วงการ

มณฑารพ ดอกไม้ทิพย์ คือ ดอกไม้ในเมืองสวรรค์ที่ตกลงมาบูชาพระพุทธเจ้า ในวันปรินิพพาน ดาดาษทั่วเมือง กุสินารา และพระมหากัสสปได้เห็นอาชีวกคนหนึ่งถืออยู่ขณะเดินทางระหว่างเมืองกุสินารา กับ เมืองปาวา จึงได้ ถามข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และทราบการปรินิพพานจากอาชีวกนั้น เมื่อ ๗ วันหลังพุทธปรินิพพาน

มณเฑียร ดู มนเทียร

มตกภัต “ภัตเพื่อผู้ตาย”, อาหารที่ถวายแก่สงฆ์เพื่ออุทิศกุศลแก่ผู้ตาย ดู สังฆทาน

มติ ความคิด, ความเห็น

มทะ ความมัวเมา (ข้อ ๑๕ ในอุปกิเลส ๑๖)

มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง, ความสร่างเมา (ไวพจน์อย่างหนึ่งของวิราคะ)

มธุกะ มะทราง, น้ำคั้นมะทรางเจือน้ำแล้ว เรียกมธุกปานะ เป็นสัตตาหกาลิกอย่างหนึ่ง ดู ปานะ

มธุรสูตร พระสูตรที่พระมหากัจจายนะแสดงแก่พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร กล่าวถึงความไม่ต่างกันของวรรณะ ๔ เหล่า คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ใจความว่าวรรณะ ๔ นี้แม้จะถือตัวอย่างไร เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องได้รับโทษไปอบายเหมือนกันหมด ทุกวรรณะเสมอกันในพระธรรม วินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะไหน แต่เป็นสมณะเหมือนกันหมด เมื่อจบเทศนาพระเจ้า มธุรราชประกาศพระองค์เป็นอุบาสก (สูตรที่ ๓๔ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)

มนะ ใจ

มนตร์ คำที่เชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์, คำสำหรับสวด, คำสำหรับเสกเป่า (มักใช้สำหรับศาสนาพราหมณ์)

มนเทียร เรือนหลวง; โบราณใช้ มณเฑียร

มนสิการ การทำในใจ, ใส่ใจ, พิจารณา

มนัส ใจ

มนุษย์ “ผู้มีใจสูง” ได้แก่คนผู้มีมนุษยธรรม เช่น เมตตา กรุณา เป็นต้น, สัตว์ที่รู้จักคิดเหตุผล, สัตว์ที่มีใจสูง, คน

มนุษยชาติเหล่าคน, มวลมนุษย์

มนุษยธรรม ธรรมที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ ได้แก่ ศีล ๕ และคุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา เป็นต้น

มนุษยโลก, มนุสสโลก โลกมนุษย์ คือ โลกที่เราอาศัยอยู่นี้

มนุษย์วิบัติ มีความเป็นมนุษย์บกพร่อง เช่น คนที่ถูกตอน เป็นต้น

มโน ใจ (ข้อ ๖ ในอายตนะภายใน ๖)

มโนกรรม การกระทำทางใจ ทางชั่ว เช่น คิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของเขา ทางดี เช่น คิดช่วยเหลือผู้อื่น ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ

มโนทวาร ทวารคือใจ, ทางใจ, ใจ โดยฐานเป็นทางทำมโนกรรม คือสำหรับคิดนึกต่างๆ (ข้อ ๓ ในทวาร ๓)

มโนทุจริต ความประพฤติชั่วด้วยใจ, ความทุจริตทางใจมี ๓ อย่าง ๑. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้จ้องจะเอาของเขา ๒. พยาบาท ความขัดเคืองคิดร้าย ๓. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม (ข้อ ๓ ในทุจริต ๓)

มโนภาวนีย์ ผู้เป็นที่เจริญใจ, ผู้ทำให้จิตใจของผู้นึกถึงเจริญงอกงาม หมายถึง บุคคลที่เมื่อเราระลึก คะนึง ใส่ใจถึง ก็ ทำให้สบายใจ จิตใจสดชื่น ผ่องใส (ตามปกติ เป็นคุณสมบัติของพระภิกษุ)

มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้ เหมือนชักดาบออกจากฝัก หรืองูออกจากคราบ (ข้อ ๒ ในวิชชา ๘)

มโนรถ ความประสงค์, ความหวัง

มโนรถปูรณี ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในอังคุตตรนิกาย แห่งพระสุตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบ เรียงจากอรรถกถาภาษาสิงหฬเมื่อ พ.ศ. ใกล้ถึง ๑๐๐๐

มโนรม, มโนรมย์ เป็นที่ชอบใจ, น่ารื่นรมย์ใจ, งาม

มโนวิญญาณ ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ, ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ ดู วิญญาณ

มโนสัญเจตนาหาร ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ (ข้อ ๓ ในอาหาร ๔)

มโนสัมผัส อาการที่ใจ ธรรมารมณ์ และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู สัมผัส

มโนสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ใจ ธรรมารมณ์และมโน วิญญาณประจวบกัน ดู เวทนา

มโนสุจริต ความประพฤติชอบด้วยใจ, ความสุจริตทางใจมี ๓ อย่าง คือ ๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา ๒. อพยาบาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๓. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม (ข้อ ๓ ในสุจริต ๓)

มรณะ ความตาย

มรณธรรม มีความตายเป็นธรรมดา, ธรรมคือความตาย

มรดก ทรัพย์สมบัติของผู้ตาย

มรณภัย ภัยคือความตาย, ความกลัวต่อความตาย

มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)

มรณัสสติ ดู มรณสติ

มรรค ทาง, หนทาง 1. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทาง มีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ๓. สัมมา- วาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ 2. มรรคว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละ ขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑

มรรคจิต จิตที่สัมปยุตด้วยมรรค ดู มรรค 2, พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ใน มรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ มรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิต กลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

มรรคนายก “ผู้นำทาง”, ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธี ตามปกติทำหน้าที่ประจำอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดนั้นๆ, ผู้นำทางบุญของเหล่าสัปบุรุษ

มรัมมนิกาย นิกายพม่า หมายถึงพระสงฆ์พม่า เรียกชื่อโดยสัญชาติ

มรัมมวงศ์ ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์พม่า

มฤคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ หมายความว่าห้ามทำอันตรายแก่สัตว์ในป่านี้ เขียน มิคทายวัน ก็ได้ เช่น อิสิป- ตนมฤคทายวัน มัททกุจฉิมิคทายวัน เป็นต้น

มฤตยุราช ยมราช, พญายม, ความตาย (พจนานุกรม เขียน มฤตยูราช)

มละ มลทิน, เครื่องทำให้มัวหมอง เปรอะเปื้อน, กิเลสดุจสนิมใจ มี ๙ อย่างคือ ๑. โกธะ ความโกรธ ๒. มักขะ ความลบ หลู่คุณท่าน ๓. อิสสา ความริษยา ๔. มัจฉริยะ ความตระหนี่ ๕. มายา มารยา ๖. สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา ๗. มุสาวาท การพูดเท็จ ๘. ปาปิจฉา ความปรารถนาลามก ๙. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

มลทิน ความมัวหมอง, ความไม่บริสุทธิ์ เช่น ผ้าขาวเมื่อเป็นจุดสีต่างๆ ก็เรียกว่า ผ้ามีมลทิน นักบวชผิดศีลก็เรียกได้ว่า นักบวชมีมลทิน ดู มละ

มลัยชนบท ชื่อชนบทแห่งหนึ่งในเกาะลังกา เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรลงในใบ ลานเป็นครั้งแรก

มหกรรม การฉลอง, การบูชา

มหรคต “อันถึงความเป็นสภาพใหญ่” “ซึ่งถึงความยิ่งใหญ่” หรือ “ซึ่งดำเนินไปด้วยฉันทะวิริยะจิตตะและปัญญา อย่างใหญ่" คือ เข้าถึงฌาน, เป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร, ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตติ (เขียนอย่างบาลีเป็น มหัคคตะ)

มหรรณพ ห้วงน้ำใหญ่, ทะเล

มหรสพ การเล่นรื่นเริง

มหหมัด, มุหัมมัด ชื่อนบีคนสุดท้าย ซึ่งเป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม ปัจจุบันให้เขียน มะหะหมัด

มหัคฆภัณฑ์ ของมีค่ามาก เช่น แก้วแหวน เงิน ทอง เป็นต้น

มหันตโทษ โทษหนัก, โทษอย่างหนักคู่กับ ลหุโทษ โทษเบา

มหัศจรรย์ แปลกประหลาดมาก, น่าพิศวงมาก

มหากรุณา ความกรุณายิ่งใหญ่, กรุณามาก

มหากัจจายนะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในกัจจายนโคตรที่พระนครอุชเชนี เป็นบุตรปุโรหิตของพระราชาแห่งแคว้นอวันตี เรียนจบไตรเพทแล้ว ต่อมาได้เป็นปุโรหิตแทนบิดา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสสั่งให้หาทางนำพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่กรุงอุชเชนี กัจจายนปุโรหิตจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุอรหัตตผล อุปสมบทแล้ว แสดงความประสงค์ที่จะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าสู่แคว้นอวันตี พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ท่านเดินทางไปเอง ท่านเดินทางไปยังกรุงอุชเชนี ประกาศธรรม ยังพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวเมืองทั้งหมดให้ เลื่อมใสในพระศาสนาแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางขยายความคำย่อให้พิสดาร มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดว่าท่านมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณดังทองคำ บุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อโสเรยยะเห็นแล้ว เกิดมีอกุศลจิตต่อท่านว่าให้ได้อย่างท่านเป็นภรรยาตนหรือให้ภรรยาตนมีผิวพรรณงามอย่างท่าน เพราะอกุศลจิตนั้น เพศของโสเรยยะกลายเป็นหญิงไป นางสาวโสเรยยะแต่งงานมีครอบครัว มีบุตรแล้ว ต่อมาได้พบและขอขมาต่อท่านเพศก็กลับเป็นชายตามเดิม โสเรยยะขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

มหากัปปินะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้วบังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนางทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและ มักอุทานว่าสุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์ พระบรมศาสดายกย่องว่าท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ

มหากัสสปะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อมหาติตถะในแคว้นมคธ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์มีชื่อเดิมว่าปิปผลิมาณพ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้สมรสกับนางภัททกาปิลานีตามความประสงค์ของมารดาบิดา แต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครองเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสาวะออกบวชกันเอง เดินทางออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทางสองแพร่ง ปิปปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธระหว่างเมือง ราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ และได้ถวายผ้าสังฆาฏิของตนแลกกับจีวรเก่าของพระ พุทธเจ้า แล้วสมาทานธุดงค์ ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นผู้มีปฏิปทามักน้อยสันโดษ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในปฐมสังคายนา ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน

มหากาล ชื่อพระสาวกรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นพี่ชายของพระจุลกาลที่ถูกภรรยาเก่า สองคนรุมกันจับสึกเสีย

มหาโกฏฐิตะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองสาวัตถีบิดาเป็นมหาพราหมณ์ชื่ออัสสลายนะ มารดาชื่อจันทวดี ท่านเรียนจบไตรเพท ได้ฟังเทศนาของพระศาสดามีความเลื่อมใส บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา ได้ บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

มหาโกลาหล เสียงกึงก้องเอิกเกริกอย่างมาก, เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นอย่างมาก

มหาคัณฐี ชื่อนิกายพระสงฆ์พม่านิกายหนึ่ง

มหาชนบท แคว้นใหญ่, ประเทศใหญ่

มหาฎีกา ดู ปรมัตถมัญชุสา

มหานาม 1. ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในคณะพระปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก 2. เจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของ พระเจ้าอมิโตทนศากยะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระอนุรุทธะ ได้เป็นราชาปกครองแคว้นศากยะในสมัยพุทธกาล (ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะ) และเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาแรงกล้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ถวายของ ประณีต

มหานามศากยะ ดู มหานาม 2

มหานิกาย ดู คณะมหานิกาย

มหาบพิตร คำสำหรับพระสงฆ์ใช้พูดแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสี

มหาบริจาค การสละอย่างใหญ่ของพระโพธิสัตว์ตามที่อรรถกถาแสดงไว้มี ๕ อย่างคือ ๑. ธนบริจาค สละทรัพย์ สมบัติเป็นทาน ๒. อังคบริจาค สละอวัยวะเป็นทาน ๓. ชีวิตบริจาค สละชีวิตเป็นทาน ๔. บุตรบริจาค สละลูกเป็น ทาน ๕. ทารบริจาค สละเมียเป็นทาน

มหาบันถก ดู มหาปันถกะ

มหาบุรุษ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่, คนที่ควรบูชา, ผู้มีมหาบุรุษลักษณะ เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้

มหาบุรุษลักษณะ ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ มาในมหาปทานสูตร แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค และ ลักขณ- สูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก โดยย่อ คือ ๑. สุปติฏฐิตปาโท ที่ฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ๒. เหฏฺ- ฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔, พระชงฆ์ตั้งอยู่ ในส่วนที่ ๓) ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย) ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์ และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. ชาลหตฺถปาโท ผ่าพระหัตถ์และฝ่าบาทมีลายดุจตาข่าย ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือน สังข์คว่ำอัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน ๘. เอฌิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น ๆ ๑๔. อุ- ทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน ๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรง ดุจท้าวมหาพรหม ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒, และหลังพระบาททั้ง ๒, พระอังสาทั้ง ๒. กับลำพระศอ) ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่ง พญาราชสีห์ ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน ๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้ง เหมือนวงพระจันทร์) ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) ๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอ กัน ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์ ๒๗. ปหูต- ชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้) ๒๘. พฺรหมฺสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่ง คลอด ๓๑. อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระ เศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

มหาบุรุษลักษณพยากรณศาสตร์ วิชาว่าด้วยการทำนายลักษณะของมหาบุรุษ

มหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิ ยวงศ์ เป็นพระภคินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้มอบพระ สิทธัตถะได้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ได้ รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (บวชนานรู้เหตุการณ์ก่อนใครๆ) ดู ภิกษุณีสงฆ์

มหาปทานสูตร สูตรแรกในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎกว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๗ พระ องค์ เฉพาะอย่างยิ่ง พระวิปัสสี ซึ่งเป็นองค์แรกในจำนวน ๗ นั้น

มหาปเทส ข้อสำหรับอ้างใหญ่, หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔ คือ ๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร ๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร ๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นอกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นกัปปิยะ สิ่งนั้นไม่ควร ๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งเป็นกัปปิยะ ขัดต่อสิ่งเป็นอกัปปิยะ สิ่งนั้นควร

มหาปรันตปะ* นามหนึ่งที่บางท่านถือมาว่าอยู่ในรายชื่ออสีติมหาสาวก แต่ไม่ปรากฏว่ามีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร บางทีจะเกิดจากความสับสนกับพระนามพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน (ที่ถูก คือ ปุณณ สุนาปรันตะ)

มหาปรินิพพานสูตร สูตรที่ ๓ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเหตุการณ์ใกล้พุทธปริ- นิพพาน จนถึงโทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จ

มหาปวารณา ดู ปวารณา

มหาปันถกะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเป็นบุตรของธิดาเศรษฐี กรุงราชคฤห์ไปวัดกับเศรษฐีผู้เป็นตา ได้ฟังเทศนา ของพระศาสดาอยู่เสมอ จิตก็น้อมไปทางบรรพชา จึงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบทต่อมา ได้สำเร็จพระอรหัต พระศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางด้านเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏ์ เพราะท่านชำนาญ ในอรูปาวจรฌานและเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนา ท่านเคยรับหน้าที่เป็นภัตตุทเทสก์ คือ ผู้จัดแจกอาหารของสงฆ์ ด้วย, ท่านเป็นพี่ชายของพระจุลลปันถกะ หรือจูฬบันถก

มหาปุริสลักษณะ ดู มหาบุรุษลักษณะ

มหาปุริสวิตก ธรรมที่พระมหาบุรุษตรึก, ความนึกคิดของพระโพธิสัตว์

มหาปุริสอาการ อาการของพระมหาบุรุษ, ท่าทางของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

มหาโพธิ ต้นโพธิเป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกกันสั้นๆ ว่า โพธิ์ตรัสรู้ ดู โพธิ์

มหาภารตะ ชื่อบทประพันธ์มหากาพย์ เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของอินเดีย แสดงเรื่องสงคราม ระหว่างกษัตริย์เผ่า ปาณฑพกับกษัตริย์เผ่าโกรพ เพื่อแย่งความเป็นใหญ่ ในหัสตินาปุระ นครหลวงของกษัตริย์จันทรวงศ์ เผ่าโกรพ

มหาภิกเนษกรมณ์ การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่, การเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า

มหาภูต ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ดู มหาภูตรูป

มหาภูตรูป รูปใหญ่, รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย ดู ธาตุ ๔

มหาโมคคัลลานะ ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลี พราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่ง บิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลี หรือโมคคัลลานีนั้น ได้ เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสญชัย ปริพาชก จนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ สหายทั้งสองจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าบวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่ามหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุอรหัตตผล ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาลท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจน ร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์, ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า พระโมคคัลลาน์

มหายาน ยานใหญ่, ชื่อเรียกพระพุทธศาสนา นิกายที่มีผู้นับถือมากในประเทศฝ่ายเหนือของทวีปอาเซีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีเรียก อุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) บ้าง อาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์) บ้าง เป็นคู่กับนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) คือ เถรวาท ที่ฝ่ายมหายานเรียกว่า หีนยาน อย่างที่นับถืออยู่ในประเทศ ไทยและลังกา เป็นต้น

มหาวงส์ ชื่อหนังสือพงศาวดารลังกาเรื่องใหญ่ แต่งขึ้นในสมัยอรรถกถาพรรณนาความเป็นมาของพระพุทธศาสนา และชาติลังกา ตั้งแต่เริ่มตั้งวงศ์กษัตริย์สิงหล ในตอนพุทธปรินิพพาน จนถึงประมาณ พ.ศ. ๙๐๔ ประวัติต่อจากนั้น มีคัมภีร์ชื่อ จูฬวงส์พรรณนาต่อไป

มหาวรรค ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดที่ ๓ ใน ๕ หมวด แห่งพระวินัยปิฎก คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร, มหาวรรค มี ๑๐ ขันธกะ (หมวด ตอน หรือ บท) คือ ๑. มหาขันธกะ (ว่าด้วยการบรรพชาอุปสมบทเริ่มแต่ เหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ ๆ และการประดิษฐานพระศาสนา) ๒. อุโปสถขันธกะ (ว่าด้วยอุโบสถและสีมา) ๓. วัส- สูปนายิกขันธกะ (ว่าด้วยการเข้าพรรษา) ๔. ปวารณาขันธกะ (ว่าด้วยปวารณา) ๕. จัมมขันธกะ (ว่าด้วยเครื่องหนัง เช่น รองเท้าและเครื่องลาด) ๖. เภสัชชขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องยาตลอดจนเรื่องกัปปิยะ อกัปปิยะ และกาลิกทั้ง ๔) ๗.กฐินขันธกะ (ว่าด้วยกฐิน) ๘. จีวรขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องจีวร) ๙. จัมเปยยขันธกะ (ว่าด้วยข้อควรทราบบางอย่าง เกี่ยวกับนิคหกรรมต่าง ๆ) ๑๐. โกสัมพิกขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกันและสังฆสามัคคี) ดู ไตรปิฎก

มหาวัน 1. ป่าใหญ่ใกล้นครกบิลพัสดุ์ที่พระพุทธเจ้าเคยไปทรงพักผ่อนระหว่างประทับอยู่ที่นิโครธาราม 2. ป่า ใหญ่ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นี้พระศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประทานอนุญาตให้พระมหา ปชาบดีบวชเป็นภิกษุณี ด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ

มหาวิกัฏ ยา ๔ อย่าง คือ มูตร คูถ เถ้า ดิน ภิกษุอาพาธฉันได้โดยไม่ต้องรับประเคน คือไม่ต้องอาบัติเพราะขาดประเคน

มหาวิโลกนะ “การตรวจดูอันยิ่งใหญ่”, ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึงสิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณา ตรวจดูก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลายว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิด ในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ ๑. กาล คือ อายุกาล ของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี) ๒. ทีปะ คือทวีปจะอุบัติแต่ใน ชมพูทวีป ๓. เทสะ คือประเทศ หมายถึงถิ่นแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศ และทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึง บังเกิด ๔. กุละ คือตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมมติว่า ตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็น พุทธบิดา ๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลใน บุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระ นางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)

มหาวิหาร ชื่อวัดสำคัญวัดหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกาสมัยอดีต เคยเป็นที่พำนัก ของพระพุทธโฆษาจารย์ชาวชมพูทวีป เมื่อครั้งท่านมาแปลคัมภีร์สิงหฬเป็นมคธ

มหาศาล ผู้มั่งคั่ง, ผู้มั่งมี, ยิ่งใหญ่

มหาศาลนคร ชื่อถิ่นที่กั้นอาณาเขตด้านตะวันออกของมัชฌิมชนบท

มหาสติปัฏฐานสูตร ชื่อสูตรที่ ๙ แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎกว่าด้วยสติปัฏฐาน ๔

มหาสมณะ พระนามหนึ่งสำหรับเรียกสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มหาสังคาม ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวาร พระวินัยปิฎก

มหาสัจจกสูตร สูตรที่ ๓๖ ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยการอบรมกาย อบรมจิต และมีเรื่องราวในพุทธประวัติตอนแสวงหาโมกขธรรมคือ ตอนตรัสรู้รวมอยู่ด้วย

มหาสัตว์ “สัตว์ผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่” หมายถึงพระโพธิสัตว์มหาสาล ดู มหาศาล

มหาสาวก สาวกผู้ใหญ่, สาวกชั้นหัวหน้า เรียนกันมาว่าปี ๘๐ องค์ ดู อสีติมหาสาวก

มหาสีมา สีมาใหญ่ผูกทั่ววัด มีขัณฑสีมาซ้อนภายในอีกชั้นหนึ่งโดยมีสีมันตริกคั่น

มหาสุทธันตปริวาส สุทธันตปริวาสที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายคราวด้วยกันจนจำจำนวนอาบัติและจำนวน วันที่ปิดไม่ได้เลย อยู่ปริวาสจนกว่าจะเห็นว่าบริสุทธิ์ โดยกะเอาตั้งแต่บวชมาถึงเวลาใดยังไม่เคยต้องสังฆาทิเสส เป็นช่วงแรก แล้วถอยหลังจากปัจจุบันไปจนตลอดเวลาที่ไม่ได้ต้องอีกช่วงหนึ่ง กำหนดเอาระหว่างช่วงทั้งสองนี้

มหาสุทัศน์ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ครองราชสมบัติอยู่ที่กุสาวดีราชธานีในอดีตกาล ก่อนพุทธกาลช้านาน เมืองกุสาวดี นี้ในสมัยพุทธกาลมีชื่อว่าเมืองกุสินารา, เรื่องมาในมหาสุทัสสนสูตรแห่งคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก

มหาสุบิน ความฝันอันยิ่งใหญ่, ความฝันครั้งสำคัญ หมายถึงความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน) ของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่าทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ใจความว่า ๑. เสด็จบรรทม โดยมีมหาปฐพีนี้เป็นพระแท่นไสยาสน์ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย พระหัตถ์ซ้ายเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านบูรพ ทิศ พระหัตถ์ขวาเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านปัจฉิมทิศ พระบาททั้งสองเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทักษิณ (ข้อนี้เป็นบุพพนิมิตหมายถึง การได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า) ๒. มีหญ้าคางอกขึ้นจาก นาภีของพระองค์สูงขึ้นจดท้องฟ้า (หมายถึงการที่ได้ตรัสรู้อารยอัษฎางคิกมรรคแล้วทรงประกาศออกไปถึงมวล มนุษย์และหมู่เทพ) ๓. หมู่หนอนตัวขาวศีรษะดำพากันไต่ขึ้นมาจากพระบาทคลุมเต็มถึงชานุมณฑล (หมายถึงการ ที่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์มากมายพากันถึงตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต) ๔. นกทั้งหลายสี่จำพวกมีสีต่างๆ กันบินมา แต่ทิศทั้งสี่ แล้วมาหมอบจับที่เบื้องพระบาท กลับกลายเป็นสีขาวไปหมดสิ้น (หมายถึงการที่ชนทั้งสี่วรรณะมาออก บวชรวมกันในพระธรรมวินัย และได้ประจักษ์แจ้งวิมุตติธรรม) ๕. เสด็จดำเนินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่ ทรงแปดเปื้อนด้วยคูถ (หมายถึงการทรงเจริญลาภในปัจจัยสี่พรั่งพร้อม แต่ไม่ทรงลุ่มหลงติดพัน ทรงบริโภคด้วย พระปัญญาที่ดำรงจิตปลอดโปร่งเป็นอิสระ)

มหาอุทายี พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่งเป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเมื่อคราว ที่พระองค์เสด็จไปโปรดพระญาติ จึงออกบวชและได้สำเร็จอรหัตตผล ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง มีเรื่องเกี่ยวกับ การที่ท่านแสดงธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง คราวหนึ่งพระอานนท์เห็นท่านนั่ง แสดงธรรมอยู่ มีคฤหัสถ์ล้อมฟังอยู่เป็นชุมนุมใหญ่ จึงได้กราบทูลเล่าถวายพระพุทธเจ้าเป็นข้อปรารภให้พระองค์ ทรงแสดง ธรรมเทศธรรม หรือองค์คุณของธรรมกถึก ๕ ประการคือ ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาด ความ ๒. อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓. มีจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็น แก่ลาภ ๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น

มหินทเถระ พระเถระองค์หนึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชและเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาไป ประดิษฐานที่เกาะลังกา

มหี ชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย ที่เรียกว่าปัญจมหานทีของอินเดีย (คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี)

มเหสี 1. ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่, ฤษีใหญ่, พระพุทธเจ้า 2. ชายาของพระเจ้าแผ่นดิน

มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, หลู่ความดีของผู้อื่น (ข้อ ๕ ในอุปกิเลส ๑๖)

มักน้อย พอใจด้วยของเพียงน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น (อัปปิจฉะ)

มักมาก โลภ, อยากได้มากๆ

มักใหญ่ อยากเป็นใหญ่เป็นโต เกินคุณธรรมและความสามารถของตน

มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค, ปัญญาสูงสุดที่กำจัดกิเลสเป็นเหตุให้บรรลุความเป็นอริยบุคคลชั้นหนึ่งๆ, ดู ญาณ ๑๖

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง (ข้อ ๕ ในวิสุทธิ ๗)

มังคลัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์แห่งลานนาไทย รจนาขึ้นที่ เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่าง ๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำ บรรยายของท่านเอง

มังสะ เนื้อ, ชิ้นเนื้อ

มังสจักขุ จักษุคือดวงตา เป็นคุณพิเศษของพระพุทธเจ้า คือ มีพระเนตรที่งาม แจ่มใส ไว และเห็นได้ชัดเจน แม้ใน ระยะไกล (ข้อ ๑ ในจักขุ ๕)

มังสวิรัติ การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ (เป็นคำบัญญัติภายหลัง)

มัจจุ, มัจจุราช ความตาย

มัจจุมาร ความตายเป็นมาร เพราะตัดโอกาสที่จะทำความดีเสียทั้งหมด (ข้อ ๕ ในมาร ๕)

มัจฉะ ชื่อแคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล อยู่ทิศใต้ของแคว้นสุรเสนะ นครหลวงชื่อ วิราฎ (บางแห่งว่าสาคละ แต่ความจริงสาคละเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัททะ)

มัจฉริยะ ความตระหนี, ความหวง (ข้อ ๔ ในมละ ๙), มัจฉริยะ ๕ คือ ๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๒. กุลมัจ- ฉริยะ ตระหนี่สกุล ๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ ๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ ๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม

มัชชะ ของเมา, น้ำที่ทำผู้ดื่มให้เมา หมายถึงสุราและเมรัย

มัชฌันติกสมัย เวลาเที่ยงวัน

มัชฌิมะ ภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา (ต่ำกว่า ๕ เป็นนวกะ, ๑๐ พรรษาขึ้นไปเป็นเถระ)

มัชฌิมชนบท, มัชฌิมประเทศ ประเทศที่ตั้งอยู่ในท่ามกลาง, ถิ่นกลางเป็นอาณาเขตที่กำหนดว่า มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนหนาแน่นมีเศรษฐกิจดี เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่แห่งนักปราชญ์ผู้มีวิชาความรู้ เป็นที่รวม ของการศึกษาเป็นต้น กำหนดเขต ทิศบูรพา ภายในนับแต่มหาศาลนครเข้ามา อาคเนย์ นับแต่แม่น้ำสัลลวตีเข้ามา ทักษิณ นับแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ปัศจิม นับแต่ถูนคามเข้ามา อุดร นับแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา นอกจากนั้นไป เป็นปัจจันตชนบท หรือ ปัจจันตประเทศ

มัชฌิมนิกาย นิกายที่สองแห่งพระสุตตันตปิฎก มีพระสูตรยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร

มัชฌิมโพธิกาล ระยะเวลาบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้าตอนกลางระหว่างปฐมโพธิกาลกับปัจฉิมโพธิกาลนับ คร่าวๆ ตั้งแต่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธไปแล้ว ถึงปลงประชนมายุสังขาร

มัชฌิมภาณกาจารย์ อาจารย์ผู้สาธยายคัมภีร์มัชฌิมนิกาย คือ ผู้ได้ศึกษาทรงจำและชำนาญในมัชฌิมนิกาย

มัชฌิมภูมิ ขั้น ชั้น หรือระดับพระมัชฌิมะ คือพระปูนกลาง, ระดับอายุคุณธรรม ความรู้ ที่นับว่าเป็นพระปูนกลาง (ระหว่างพระนวกะ กับพระเถระ) คือ มีพรรษาเกิน ๕ แต่ยังไม่ครบ ๑๐ และมีความรู้พอรักษาตัวเป็นต้น

มัชฌิมยาม ยามกลาง, ส่วนที่ ๒ ของราตรี เมื่อแบ่งคืนหนึ่งเป็น ๓ ส่วน,ระยะเที่ยงคืน

มัชฌิมวัย ตอนท่ามกลางอายุ, วัยเมื่อเป็นผู้ใหญ่หรือกลางคน, วัยกลางคน ระหว่างปฐมวัยกับปัจฉิมวัย, ดู วัย

มัชฌิมา ท่ามกลาง, กลาง

มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่หย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป ไม่ข้องแวะที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค, ทางแห่งปัญญา (เริ่มด้วยปัญญา, ดำเนินด้วยปัญญา นำไปสู่ ปัญญา) อันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์ หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด

มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการแสวงหา รู้จักประมาณใน การใช้จ่ายพอเหมาะพอควร เป็นต้น ดู สัปปุริสธรรม

มัตถลุงค์ มันสมอง

มัททกุจฉิมิคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อมัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทำ นิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

มัททวะ ความอ่อนโยน, ความนุ่มนวล, ความละมุนละไม (ข้อ ๕ ในราชธรรม ๑๐)

มัธยม มีในทางกลาง; ระดับกลาง; เที่ยงวัน หมายถึงเวลาเที่ยงที่ปรากฏตามเงาแตด ถ้าเป็นเวลาที่คิดเฉลี่ยกันแล้ว เรียกว่า สมผุส

มัธยมชนบท เมืองในท่ามกลางชมพูทวีป ดู มัชฌิมชนบท

มัธยมประเทศ ดู มัชฌิมชนบท

มันตานี นางพราหมณีผู้เป็นมารดาของปุณณมาณพ

มันตานีบุตร บุตรของนางมันตานี หมายถึงพระปุณณมันตานีบุตร

มัลละ ชื่อแคว้นหนึ่งบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีปครั้งพุทธกาล ปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยมีพวกมัลล- กษัตริย์เป็นผู้ปกครอง นครหลวงเดิมชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินารา กับ ปาวา

มัลลกษัตริย์ คณะกษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นมัลละ แบ่งเป็น ๒ พวก คณะหนึ่งปกครองที่นครกุสินารา อีกคณะหนึ่ง ปกครองที่นครปาวา

มัลลชนบท แคว้น มัลละ

มัลลปาโมกข์ มัลลกษัตริย์ชั้นหัวหน้า

มัสสุ หนวด

มาคสิรมาส เดือน ๑, เดือนอ้าย

มาฆบูชาการบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงค- สันนิบาต ณ พระเวฬุวันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ (การปลง พระชนมานุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)

มาฆมาส เดือน ๓

มาณพ ชายหนุ่ม, ชายรุ่น, คนรุ่นหนุ่ม (มักใช้แก่ชายหนุ่มในวรรณะพราหมณ์)

มาตรา กิริยากำหนดประมาณ, เครื่องวัดต่างๆ เช่น วัดขนาด จำนวน เวลาระยะทางเป็นต้น, มาตราที่ควรรู้ดังนี้

มาตราเวลา ๑๕ หรือ ๑๔ วัน เป็น ๑ ปักษ์ ๒ ปักษ์ เป็น ๑ เดือน ๔ เดือน เป็น ๑ ฤดู ๓ ฤดู เป็น ๑ ปี (๑๔ วัน คือ ข้างแรมเดือนขาด, ๑๒ เดือนตั้งแต่เดือนอ้ายมีชื่อดังนี้: มาคสิร, ปุสส, มาฆ, ผัคคุณ, จิตต, เวสาข, เชฏฐ, อาสาฬห, สาวน, ภัททปท หรือโปฏฐปท, อัสสยุชหรือปฐมกัตติก, กัตติก; พึงเติม มาสต่อท้ายทุกคำเช่นมาฆมาส; ฤดู ๓ คือ เหมันต ฤดูหนาว เริ่มเดือนมาคสิระ ของเราเป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒, คิมห ฤดูร้อน เริ่มเดือนจิตตะ ของ เราเป็นแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔, วัสสาน ฤดูฝน เริ่มเดือนสาวนะ ของเราเป็นแรม ๑ ค่ำเดือน ๘)

มาตราวัด ๗ เล็ดข้าว เป็น ๑ นิ้ว ๑๒ นิ้ว เป็น ๑ คืบ ๒ คืบ เป็น ๑ ศอก ๔ ศอก เป็น ๑ วา ๒๕ วา เป็น ๑ อุสภะ ๘๐ อุสภะ เป็น ๑ คาวุต ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ หรือ ๔ ศอก เป็น ๑ ธนู ๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ ๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์

มาตราตวง ๔ มุฏฐิ (กำมือ) เป็น ๑ กุฑวะ (ฟายมือ) ๒ กุฑวะ เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ) ๒ ปัตถะ เป็น ๑ นาฬี (ทะนาน) ๔ นาฬี เป็น ๑ อาฬหก

มาตรารูปิยะ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท ๔ บาท เป็น ๑ กหาปณะ

มาตาปิตุอุปัฏฐาน การบำรุงมารดาบิดาให้มีความสุข (ข้อ ๓ ในสัปปุริสบัญญัติ ๓, ข้อ ๑๑ ในมงคล ๓๘)

มาติกา 1. หัวข้อ เช่น หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน 2. แม่บท เช่น ตัวสิกขาบท เรียกว่าเป็นมาติกา เพราะจะต้องขยาย ความต่อไป

มาตุคาม ผู้หญิง

มาตุฆาต ฆ่ามารดา (ข้อ ๑ ในอนันตริยกรรม ๕)

มาตุจฉา พระน้านาง, น้าผู้หญิง

มานะ ความถือตัว, ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (ข้อ ๕ ในอนุสัย ๗, ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๑๓ ในอุปกิเลส ๑๖)

มานัต ชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับหมายถึงการนับราตรี ๖ ราตรี คือภิกษุผู้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนจากอาบัติ ตามธรรมเนียมแห่งอาบัติสังฆาทิเสส จะต้องไปหาสงฆ์ จตุรวรรค ทำผ้าห่มเฉวียงป่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือกล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัตแล้ว ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต ๖ ราตรี เป็นวุฏฐานวิธีเบื้องต้น แห่งการออก จากครุกาบัติ แล้วสงฆ์จึงสวดระงับอาบัตินั้น (แต่ถ้าปกปิดอาบัติไว้ ต้องอยู่ปริวาสก่อนจึงประพฤติมานัตได้)

มานัตตจาริกภิกษุ ภิกษุผู้ประพฤติมานัต

มานัตตารหภิกษุ ภิกษุผู้ควรแก่มานัต คือ ภิกษุที่อยู่ปริวาสครบกำหนดแล้ว มีสิทธิขอมานัตกะสงฆ์ และสงฆ์จะให้ มานัตเพื่อประพฤติในลำดับต่อไป

มายา เจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่ง กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นพระราชชนนีของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระพุทธมารดา เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพุทธมารดา เจ้าชาย สิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระนางก็สวรรคต, คำว่า “มายา” ในที่นี้ มิได้หมายความว่ามารยา ที่แปลว่า เล่ห์เหลี่ยม หรือล่อลวง แต่หมายถึงความงามที่ทำให้ผู้ประสบงวยงงหลงใหล, นิยมเรียกว่า พระนางสิริมหามายา

มายา มารยา คือเจ้าเล่ห์ (ข้อ ๕ ในมละ ๙, ข้อ ๙ ในอุปกิเลส ๑๖)

มาร 1. สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุ ความดี มี ๕ คือ ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุง แต่งกรรม ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย

2. พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูง สุดแห่งระดับกามาวจรคือปรนิมมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ใน อำนาจครอบงำของตน อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

มารยา การแสร้งทำ, เล่ห์เหลี่ยม, การล่อลวง, กิริยาที่แสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง

มารยาท กิริยา, กิริยาวาจาที่ถือว่าเรียบร้อย

มาลัย ดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวง

มาลา พวงดอกไม้, ดอกไม้ทั่วไป, สร้อยคอ

มาลี ดอกไม้ทั่วไป, ผู้แต่งด้วยพวงดอกไม้

มาส เดือน ดู มาตรา, เดือน

มาสก ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ห้ามาสก เป็นหนึ่งบาท

มิคจิรวัน พระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ ผู้ครองแคว้นกุรุ

มิจฉัตตะ ความเป็นผิด, ภาวะที่ผิดมี ๑๐ อย่าง คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉา อาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุตติ

มิจฉา ผิด

มิจฉากัมมันตะ ทำการผิดได้แก่กายทุจริต ๓ คือ ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์ ๓. กาเม- สุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

มิจฉาจริยา, มิจฉาจาร ความประพฤติผิด

มิจฉาชีพ การหาเลี้ยงชีพในทางผิด ดู มิจฉาอาชีวะ

มิจฉาญาณ รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ

มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และ ความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรม เขียน มิจฉาทิฐิ)

มิจฉาวณิชชา การค้าขายไม่ชอบธรรม, การค้าขายที่ผิดศีลธรรม หมายถึงอกรณียวณิชชา (การค้าขายที่อุบาสกไม่ ควรทำ) ๕ อย่าง คือ ๑. สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ ๒. สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์ ๓. มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็น อาหาร ๔. มัชชวณิชชา ค้าของเมา ๕. วิสวณิชชา ค้ายาพิษ

มิจฉาวาจา วาจาผิด, เจรจาผิด ได้แก่ ๑. มุสาวาท พูดปด ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อ

มิจฉาวายามะ พยายามผิด ได้แก่พยายามทำบาป พยายามทำอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เป็นต้น

มิจฉาวิมุตติ พ้นผิด เช่น การระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลส นั้นดี แต่การระงับเพราะกลัวอำนาจพระเจ้าสร้างโลกนั้นผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

มิจฉาสติ ระลึกผิด ได้แก่ระลึกถึงการอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ

มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น

มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด ได้แก่ดำริแส่ไปในกาม ดำริพยาบาท ดำริเบียดเบียนเขา

มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพผิด ได้แก่หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น

มิตตปฏิรูป คนเทียมมิตร, มิตรเทียมไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่ ๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑. คิดเอาแต่ได้ ฝ่ายเดียว ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ ประโยชน์ของตัว ๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมา ปราศรัย ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง ๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. จะทำชั่วก็เออออ ๒. จะทำดีก็เออออ ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ ๔. ลับหลังนินทา ๔. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔. คอยเป็น เพื่อนไปเล่นการพนัน

มิตร เพื่อน, ผู้มีความเยื่อใยดี, ผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ แยกเป็นมิตรแท้ ๔ พวก มิตรเทียม (มิตตปฏิรูป) ๔ พวก

มิตรแท้ มิตรด้วยใจจริง มี ๔ พวก ได้แก่ ๑. มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน ๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน ๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ ออกปาก ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. บอกความลับแก่เพื่อน ๒. ปิดความลับของเพื่อน ๓. มีภัย อันตรายไม่ละทิ้ง ๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้ ๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. จะทำชั่วเสียหายคอยห้าม ปรามไว้ ๒. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง ๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้ ๔. มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. เพื่อนมีทุกข์พลอยทุกข์ด้วย ๒. เพื่อนมีสุข พลอยดีใจ ๓. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้ง แก้ให้ ๔. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

มิถิลา ชื่อนครหลวงของแคว้นวิเทหะ

มิทธะ ความท้อแท้, ความเชื่อมซึม, มาคู่กับถีนะ ในนิวรณ์ ๕ ดู ถีนมิทธะ

มิลักขะ คนป่าเถื่อน, คนดอย, คนที่ยังไม่เจริญ, พวกเจ้าถิ่นเดิมของชมพูทวีป มิใช่ชาวอริยกะ

มิลินท์ มหากษัตริย์เชื้อชาติกรีก แห่งสาคลประเทศในชมพูทวีป ผู้เป็นปราชญ์ยิ่งใหญ่ โต้วาทะชนะนักปราชญ์ทั้ง หลายในสมัยนั้น จนในที่สุดได้โต้กับพระนาคเสน ยอมเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนา และเป็นองค์ อุปถัมภกสำคัญ พระนามภาษากรีกว่า พระเจ้าเมนานเดอร์ ครองราชย์ พ.ศ. ๔๒๓ สวรรคต พ.ศ. ๔๕๓

มิลินทปัญหา คัมภีร์สำคัญ บันทึกคำสนทนาตอบปัญหาธรรมระหว่างพระนาคเสนกับพระยามิลินท์

มิสสกสโมธาน การประมวลครุกาบัติระคนกัน, เป็นชื่อปริวาสสำหรับภิกษุผู้ ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิ- เสสต่างวัตถุกัน หมายความว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัวต่างสิกขาบทกัน ซึ่งมีวันปิดเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเหล่านั้น ขอปริวาสจากสงฆ์เพื่ออยู่กรรมชดใช้ทั้งหมด

มุข หัวหน้า, หัวข้อ, ปาก, ทาง

มุขปาฐ คำออกจากปาก, ข้อความที่ท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า ไม่ได้เขียนไว้, ต่อปากกันมา (พจนานุกรมเขียน มุขบาฐ)

มุขปุญฉนะ ผ้าเช็ดปาก

มุจจลินท์ 1. ต้นจิก, ไม้จิก ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติ สุขอยู่ใต้ต้นไม้นี้ ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๓ ตามพระวินัย, สัปดาห์ที่ ๖ ตามคัมภีร์ชาดก) 2. ชื่อพระยานาคที่เข้ามาเฝ้าพระ พุทธเจ้า ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก (มุจจลินท์) ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน พระยามุจจลิ นทนาคราชจึงแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันฝนและลมมิให้ถูกต้องพระกาย นี่เป็นมูลเหตุของการสร้าง พระพุทธรูปนาคปรก

มุจจิตุกัมยตาญาณ ดู มุญจิตุกัมยตาญาณ

มุจฉา ลมจับ, สลบ, สวิงสวาย

มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย, ความหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ ต้อง การจะพ้นไปเสียจากสังขารที่เบื่อหน่ายแล้ว ด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ข้อ ๖ ในวิปัสสนาญาณ ๙)

มุฏฐิ กำมือ ดู มาตรา

มุตตะ ดู มูตร

มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔)

มุนี นักปราชญ์, ผู้สละเรือนและทรัพย์ สมบัติแล้ว มีจิตใจตั้งมั่นเป็นอิสระไม่เกาะเกี่ยวติดพันในสิ่งทั้งหลาย สงบ เย็น ไม่ทะเยอทะยานฝันใฝ่ ไม่แส่พร่านหวั่นไหว มีปัญญาเป็นกำลังและมีสติรักษาตน, พระสงฆ์หรือนักบวชที่เข้า ถึงธรรมและดำเนินชีวิตอันบริสุทธิ์

มุสา เท็จ, ปด, ไม่จริง

มุสาวาท พูดเท็จ, พูดโกหก, พูดไม่จริง (ข้อ ๔ ในกรรมกิเลส ๔, ข้อ ๗ ในมละ ๙, ข้อ ๔ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

มุสาวาทวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องพูดปดเป็นต้น เป็นวรรคที่ ๑ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์ แห่งวินัยปิฎก

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ, เว้นจากการพูดโกหก, เว้นจากพูดไม่จริง (ข้อ ๔ ในศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และ กุศลกรรมบถ ๑๐)

มูควัตร ข้อปฏิบัติของผู้ใบ้, ข้อปฏิบัติของผู้เป็นดังคนใบ้, การถือไม่พูดจากันเป็นวัตรของเดียรถีย์อย่างหนึ่ง มีพุทธ บัญญัติห้ามไว้มิให้ภิกษุถือ เพราะเป็นการเป็นอยู่อย่างปศุสัตว์

มูตร ปัสสาวะ, น้ำเบา, เยี่ยว

มูรธาภิเษก พิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น

มูล (ในคำว่า “อธิกรณ์อันภิกษุจะพึงยกขึ้นว่าได้นั้น ต้องเป็นเรื่องมีมูล”) เค้า, ร่องรอย, ลักษณะอาการที่ส่อว่าน่าจะ เป็นอย่างนั้น, เรื่องที่จัดว่ามีมูลมี ๓ อย่าง คือ เรื่องที่ได้เห็นเอง ๑ เรื่องที่ได้ยินเอง หรือผู้อื่นบอกและเชื่อว่าเป็นจริง ๑ เรื่องที่รังเกียจโดยอาการ ๑

มูลค่า ราคา

มูลเฉท ตัดรากเหง้า, หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งผู้ต้องขาดจากความเป็นภิกษุและภิกษุณี

มูลนาย (ในคำว่า “เลขสม คือ เลขสมัครมีมูลนาย”) ผู้อุปการะเป็นเจ้าบุญ นายคุณ อย่างที่ใช้ว่า เจ้าขุนมูลนาย

มูลบัญญัติ ข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้เดิม, บัญญัติเดิม คู่กับ อนุบัญญัติ (ตามปกติใช้เพียงว่า บัญญัติกับอนุบัญญัติ)

มูลเภสัช มีรากเป็นยาก, ยาทำจากรากไม้ เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ข่า แห้วหมู เป็นต้น

มูลแห่งพระบัญญัติ ต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย

มูลายปฏิกัสสนา การชักเข้าหาอาบัติเดิม เป็นชื่อวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง ดู ปฏิกัสสนา

มูลายปฏิกัสสนารหภิกษุ ภิกษุผู้ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม หมายถึงภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัต อยู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียวกันหรืออาบัติสังฆาทิเสสข้ออื่นเข้าอีกก่อนที่สงฆ์จะอัพภาน ต้องตั้งต้นอยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตใหม่

เมฆิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ คราวหนึ่ง ได้เห็นสวนมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำกิมิ กาฬา น่ารื่นรมย์ จึงขอพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียรที่นั่น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ฟัง ท่านไปบำเพ็ญเพียร ถูกอกุศลวิตก ต่างๆ รบกวนในที่สุดต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธรรม ๕ ประการสำหรับบ่มเจโต วิมุตติ เป็นต้น ที่พระศาสดาทรงแสดงจึงได้สำเร็จพระอรหัต

เมณฑกานุญาต ข้ออนุญาตที่ปรารภเมณฑกเศรษฐี คืออนุญาตให้ภิกษุยินดีของที่กับปปิยการก จัดซื้อมาด้วยเงินที่ผู้ ศรัทธาได้มอบให้ไว้ตามแบบอย่างที่เมณฑกเศรษฐีเคยทำ

เมตตคูมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ณ ปาสาณเจดีย์

เมตตา ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า (ข้อ ๑ ในพรหม วิหาร ๔, ข้อ ๒ ในอารักขกรรมฐาน ๔) ดู แผ่เมตตา

เมตตากรุณา เมตตา และกรุณา ความรักความปรารถนาดีและความสงสารความอยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ (ข้อแรกในเบญจธรรม)

เมตตาจิต จิตประกอบด้วยเมตตา, ใจมีเมตตา

เมตติยะ ชื่อภิกษุผู้โจทพระทัพพมัลลบุตร คู่กับพระภุมมชกะ

เมตติยาภิกษุณี ภิกษุณีผู้เป็นตัวการรับมอบหมายจากพระเมตติยะและพระภุมมชกะมาเป็นผู้โจทพระทัพพมัลล บุตรด้วยข้อหาปฐมปาราชิก

เมตเตยยะ, เมตไตรย ดู ศรีอารยเมตไตรย

เมถุน “การกระทำของคนที่เป็นคู่ๆ”, การร่วมสังวาส, การร่วมประเวณี

เมถุนวิรัติ การเว้นจากร่วมประเวณี

เมถุนสังโยค อาการพัวพันเมถุน, ความประพฤติที่ยังเกี่ยวเนื่องกับเมถุน มี ๗ ข้อ โดยใจความคือ สมณะบางเหล่าไม่ เสพเมถุน แต่ยังยินดีในเมถุนสังโยค คือ ชอบการลูบไล้และการนวดของหญิง, ชอบซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับหญิง, ชอบจ้องดูตากับหญิง, ชอบฟังเสียงหัวเราะขับร้องของหญิง ชอบนึกถึงการเก่าที่เคยหัวเราะพูดเล่นกับหญิง, เห็น ชาวบ้านเขาบำรุงบำเรอกันด้วยกามคุณแล้วปลื้มใจ, หรือแม้แต่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยตั้งความปรารถนาที่จะ เป็นเทพเจ้า

เมทนีดล พื้นแผ่นดิน

เมทฬุปนิคม นิคมหนึ่งในสักกชนบท

เมโท, เมท มันข้น

เมธี นักปราชญ์, คนมีความรู้

เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น, น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่

เมรุ 1. ชื่อภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บางทีเรียกพระสุเมรุ ตามคติของศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นบริเวณที่มี สวรรค์อยู่โดยรอบ เช่น สวรรค์ของพระอินทร์อยู่ทางทิศเหนือ ไวกูณฐ์แดนสถิตของพระวิษณุหรือพระนารายณ์อยู่ ทางทิศใต้ ไกลาสที่สถิตของพระศิวะหรือพระอิศวรก็อยู่ทางทิศใต้เหนือยอดเขาพระสุเมรุนั้น คือ พรหมโลก เป็นที่ สถิตของพระพรหม; ภูเขานี้เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า สิเนรุ และตามคติฝ่ายพระพุทธศาสนา ในชั้นอรรถกถา ยอด เขาสิเนรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอินทร์ เชิงเขาสิเนรุ ซึ่งหยั่งลึกลงไปในมหาสมุทร เป็นอสูรพิภพ สูงขึ้นไปกึ่งทางระหว่างแดนทั้งสองนั้น เป็นสวรรค์ของท้าวจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นอื่นๆ และโลก มนุษย์ เป็นต้น ก็เรียงรายกันอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง รอบเขาสิเนรุนี้ (ในวรรณคดีบาลียุคหลัง เช่น จูฬวงส์ พงศาวดารลังกา เรียก เมรุและสุเมรุ อย่างสันสกฤตก็มี) 2. ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบซึ่งคงได้คติจากภูเขาเมรุนั้น

แม่หม้ายงานท่าน พระสนมในรัชกาลก่อนๆ

โมกข์ 1. ความหลุดพ้นจากกิเลส คือ นิพพาน 2. ประธาน, หัวหน้า, ประมุข

โมกขธรรม ธรรมนำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส, ความหลุดพ้น, นิพพาน

โมคคัลลานะ ดู มหาโมคคัลลานะ

โมคคัลลานโคตร ตระกูลพราหมณ์ โมคคัลลานะ

โมคคัลลี ชื่อนางพราหมณีผู้เป็นมารดาของพระมหาโมคคัลลานะ

โมคคัลลีบุตรติสสเถระ พระเถระผู้ใหญ่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้อาศัยพระบรมราชูปถัมภ์กำจัดพวกเดียรถีย์ที่เข้ามาปลอมบวชในสังฆมณฑล และเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่ ๓

โมฆบุรุษ บุรุษเปล่า, คนเปล่า, คนที่ใช้การไม่ได้, คนโง่เขลา, คนที่พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง

โมฆราชมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วอุปสมบทเป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่ง และได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง

โมทนา บันเทิง, ยินดี; มักใช้พูดเป็นคำตัดสั้น สำหรับคำว่าอนุโมทนา หมายความว่าพลอยยินดี หรือชื่นชมเห็นชอบ ในการกระทำนั้นๆ ด้วย เป็นต้น ดู อนุโมทนา

โมไนย ความเป็นมุนี, ความเป็นปราชญ์, คุณธรรมของนักปราชญ์, ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี

โมริยกษัตริย์ กษัตริย์ผู้ครองเมืองปิปผลิวัน ส่งทูตมาไม่ทันเวลาแจกพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้แต่พระอังคารไป สร้างอังคารสตูป ที่เมืองของตน

โมลี, เมาลี จอม, ยอด, ผมที่มุ่นเป็นจอม

โมหะ ความหลง, ความไม่รู้ตามเป็นจริง, อวิชชา, (ข้อ ๓ ในอกุศลมูล ๓)

โมหจริต พื้นนิสัยที่หนักในโมหะ โง่เขลางมงาย พึงแก้ด้วยให้มีการเรียน การถาม การฟังธรรม สนทนาธรรม ตาม กาล หรืออยู่กับครู (ข้อ ๓ ในจริต ๖)

โมหันธ์ มืดมนด้วยความหลง, มืดมนเพราะความหลง

โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา (ข้อ ๓ ในอคติ ๔)

โมหาโรปนกรรม กิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่า แสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้; เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์ (สิกขาบทที่ ๓ แห่งสหธรรมิกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

โมโห โกรธ, ขุ่นเคือง; ตามรูปศัพท์เป็นคำภาษาบาลี ควรแปลว่า ความหลง แต่ที่ใช้กันมาในภาษาไทย ความหมาย เพี้ยนไปเป็นอย่างข้างต้น

ไม่มีสังวาส ไม่มีธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย, ขาดสิทธิอันชอบธรรม ที่จะถือเอาประโยชน์แห่งความเป็น ภิกษุ, ขาดจากความเป็นภิกษุ, อยู่ร่วมกับสงฆ์ไม่ได้

ไมตรี “คุณชาติ (ความดีงาม) ที่มีในมิตร”, ความเป็นเพื่อน, ความรัก, ความหวังดีต่อกัน, ความเยื่อใยต่อกัน, มิตร ธรรม, เมตตา

ไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร ไตรจีวรอยู่กับตัว คืออยู่ในเขตที่ตัวอยู่

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น