Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

แก่นของพระพุทธศาสนา

ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่

หน้านี้จะเป็นพระสูตรในพระไตรปิฎกที่แสดงเรื่องแก่นของพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนาของภิกษุ 5 จำพวก ที่ให้ผลแตกต่างกัน และปิดท้ายด้วยพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องปริญญาของพระพุทธศาสนานะครับ

เนื้อหาประกอบด้วย

เรื่องนี้สรุปความจากพระไตรปิฎก มหาสาโรปมสูตร โอปัมมวรรค พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ครับ

(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๔๐ ข้อ : ๓๐๗)

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบการออกบวชเพื่อการเข้าถึงแก่นของศาสนาว่าเหมือนผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ โดยทรงแบ่งไว้ 5 จำพวกนะครับคือ
  1. บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ เขามีความยินดี พอใจในสิ่งเหล่านั้น ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ยกตนข่มผู้อื่นว่า ตนมีลาภสักการะ และได้รับคำสรรเสริญมากกว่าผู้อื่น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วตัดเอากิ่งและใบถือไป โดยเข้าใจผิด คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ลาภสักการะ และความสรรเสริญ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น

  2. บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ผู้อื่นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาสะเก็ดถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ศีล ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น

  3. บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น ผู้อื่นเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะสมาธินั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาเปลือกถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่สมาธิ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอาเปลือกของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น

  4. บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสมาธินั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสมาธินั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำญาณทัสสนะให้เกิดขึ้น (การเห็นแจ้งในปัญญาจากการเจริญวิปัสสนาขั้นต้น แต่ยังไม่ถึงขั้นมรรค/ผล หรือบรรลุมรรค/ผลขั้นต้นแล้ว (เช่น เป็นโสดาบัน) แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นพระอรหันต์นะครับ) เขามีความยินดี พอใจในญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ผู้อื่นไม่รู้ไม่เห็น เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะญาณทัสสนะนั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอากระพี้ถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ญาณทัสสนะ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอากระพี้ของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้น

  5. บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสมาธินั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสมาธินั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำญาณทัสสนะให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในญาณทัสสนะนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในญาณทัสสนะนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนาต่อไป จนทำอรหัตตมรรค อรหัตตผล ให้เกิดขึ้น (บรรลุเป็นพระอรหันต์)

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาแก่นถือไป เขาย่อมได้ประโยชน์ จากแก่นไม้นั้น ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วไม่ประมาท มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำอรหัตตมรรค อรหัตตผลให้เกิดขึ้น เขาย่อมเข้าถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น

    เพราะพรหมจรรย์นี้ มีอรหัตตมรรค อรหัตตผลเป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด

ปริญญาของพระพุทธศาสนา


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

ปริญเญยยสูตร


(ดูเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ที่ เล่ม : ๑๗ หน้า : ๒๐๒ ข้อ : ๑๐๖)

ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้

[๓๖๙] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เราจักแสดงปริญเญยยธรรม (คือ) ธรรมอันบุคคลควรกำหนดรู้ ปริญญา (คือ) ความกำหนดรู้ และปริญญาตาวีบุคคล (คือ) บุคคลผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

ท่านพระราธะรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน? ดูกรราธะ รูปแลเป็นปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม สังขารเป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม. (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) ดูกรราธะ ธรรมเหล่านี้เรากล่าวว่าปริญเญยยธรรม:

ดูกรราธะ ปริญญาเป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ. (ดูเรื่องอกุศลกรรมบถ กิเลสและอุปกิเลส ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบนะครับ - ธัมมโชติ) (ราคะมีความหมายเดียวกับโลภะนะครับ - ธัมมโชติ) นี้เรากล่าวว่าปริญญา.

ดูกรราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน? ผู้ที่เขาพึงเรียกกันว่าพระอรหันต์ คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรราธะ ผู้นี้เรากล่าวว่าปริญญาตาวีบุคคล.


วิเคราะห์เพิ่มเติม

หลักสูตรหรือเนื้อหาที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนก็คือการกำหนดรู้ หรือการเรียนรู้ธรรมชาติของรูปนาม หรือขันธ์ 5 นั่นเองนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริง คือความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา เอาแน่อะไรไม่ได้ เป็นบ่อเกิดของทุกข์สารพัดอย่าง ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ

โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง อันเป็นผลให้กิเลสทั้งหลายหมดไปอย่างสิ้นเชิง (ดูเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบนะครับ) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปริญญาของพระพุทธศาสนา และผู้ที่ได้ชื่อว่ารับปริญญาขั้นสูงสุดแล้ว ก็คือพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง

ลองพิจารณาดูกันนะครับว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ ทั้งในหลักสูตรที่มีจุดหมายปลายทางเป็นปริญญาบัตร เปรียญธรรม 9 ประโยค (ปธ.9) อภิธรรมบัณฑิต นักธรรมชั้นเอก ผู้เรียนแต่ละท่านมีจุดหมายปลายทางที่แท้จริงอยู่ที่อะไร ตรงกับเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้เป็นหรือไม่ครับ

(ผู้ดำเนินการไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิหลักสูตรนะครับ เพียงแต่ต้องการสะกิดให้แต่ละท่านได้พิจารณาตนเอง และปรับจุดหมายปลายทางให้เหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้นเองครับ)

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น