Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๓-๑๒ หน้า ๗๑๔ - ๗๗๘

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก



พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
[๒๐] จากนั้นพระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[๒๑] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา
พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[๒๒] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[๒๓] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรีผู้ไม่มีอาสวะ
สิ้นราคะ มีจิตตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[๒๔] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกาจักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น
จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี
[๒๕] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
[๒๖] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
[๒๗] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคต
[๒๘] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด
[๒๙] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’
[๓๐] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป
[๓๑] เราระลึกถึงพุทธพยากรณ์อย่างนี้แล้ว
งดเว้นความประพฤติเสียหาย
ข้าพเจ้าทำกรรมที่ทำได้ยาก
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[๓๒] กรุงชื่อว่าพาราณสี กษัตริย์พระนามว่ากิกี
ตระกูลใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในนครนั้น
[๓๓] พรหมทัตตพราหมณ์นั้นเป็นพุทธบิดา
นางพราหมณีชื่อว่าธนวดีเป็นมารดา
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๓๔] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๒,๐๐๐ ปี
มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง
คือหังสปราสาท ยสปราสาท และสิริจันทปราสาท
[๓๕] มีนางสนมกำนัล ๔๘,๐๐๐ นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
พระมเหสีพระนามว่าสุนันทา
พระราชโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ
[๓๖] พระองค์เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ
จึงออกจากปราสาทไปผนวช
ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน (จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[๓๗] พระมหาวีระพระนามว่ากัสสปะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้สูงสุดแห่งนรชน
ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน
[๓๘] พระติสสเถระและพระภารทวาชเถระเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าสรรพมิตตะเป็นพระอุปัฏฐาก
ของพระพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๓๙] พระอนุลาเถรีและพระอุรุเวลาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นไทร
[๔๐] สุมังคลอุบาสกและฆฏิการอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก
วิชิตเสนาอุบาสิกาและภัททาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[๔๑] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๒๐ ศอก
มีพระรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้าในอากาศ
ดุจดวงจันทร์ทรงกลด
[๔๒] พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงมีพระชนมายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี
พระองค์ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
[๔๓] ทรงสร้างสระน้ำคือธรรมไว้ ทรงประทานเครื่องลูบไล้คือศีล
ทรงจัดผ้าคือธรรมไว้๑เป็นเครื่องนุ่งห่ม ทรงแจกพวงมาลัยคือธรรม๒
[๔๔] ทรงตั้งกระจกเงาที่ไร้มลทินคือธรรมไว้๓ให้มหาชน
ด้วยทรงหวังว่า ชนบางพวกปรารถนานิพพาน
จงเห็นเครื่องประดับของเรา
[๔๕] ทรงประทานเสื้อคือศีล๔ เกราะหนังคือฌาน
ทรงจัดหนังคือธรรมไว้๕คลุมกาย และเครื่องผูกสอด๖ อย่างดีเลิศ
[๔๖] ทรงประทานโล่คือสติปัฏฐาน ๔ หอกคือญาณอันคมกล้า
ดาบอย่างดี๗คือธรรม และศาสตราวุธเครื่องย่ำยีศัตรูคือศีลไว้ให้
[๔๗] ประทานภูษาคือวิชชา ๓
พวงมาลัยสำหรับสวมศีรษะคือผล ๔
เครื่องอาภรณ์คืออภิญญา ๖
และดอกไม้เครื่องประดับคือพระธรรม
[๔๘] ร่มขาว๘คือพระสัทธรรมอันเป็นเครื่องป้องกันบาป
ทรงเนรมิตดอกไม้๙คือความไม่มีเวรภัยไว้ให้เสร็จแล้ว
พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ทรงจัดผ้าคือธรรมไว้ หมายถึงหิริและโอตตัปปะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๒ ทรงแจกพวงมาลัยคือธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๓ กระจกเงาที่ไร้มลทินคือธรรมไว้ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๔ ทรงประทานเสื้อคือศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ จตุปาริสุทธิศีล (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๕ หนังคือธรรมไว้ หมายถึงสติสัมปชัญญะ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๖ เครื่องผูกสอด หมายถึงความเพียร (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๗ ดาบอย่างดี หมายถึงมรรคปัญญา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๗)
๘ ร่มขาว หมายถึงวิมุตติ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๘)
๙ ดอกไม้ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๖/๓๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์
[๔๙] แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีคุณหาประมาณมิได้
กระทบกระทั่งได้ยาก
พระธรรมรัตนะนี้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ควรเรียกให้มาดู
[๕๐] พระสังฆรัตนะผู้ปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า
พระรัตนะทั้ง ๓ นี้ ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[๕๑] พระชินศาสดาพระนามว่ามหากัสสปะ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสตัพยาราม
พระสถูปของพระชินเจ้านั้น
ที่เสตัพยารามนั้น สูงถึง ๑ โยชน์ ฉะนี้แล
กัสสปพุทธวงศ์ที่ ๒๔ จบ
๒๕. โคตมพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระโคดมพุทธเจ้า
[๑] ในกาลบัดนี้ ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่าโคดม
เจริญในศากยสกุล บำเพ็ญความเพียรแล้ว
ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[๒] ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๘ โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑
[๓] จากนั้น เราเมื่อแสดงธรรมในสมาคมเทวดาและมนุษย์
การบรรลุธรรมครั้งที่ ๒ ไม่ต้องกล่าวถึงจำนวน
[๔] ต่อมา ในคราวที่เรากล่าวสอนบุตรของเรา บัดนี้ ณ ที่นี้แล
การบรรลุธรรมครั้งที่ ๓ ไม่ต้องกล่าวถึงจำนวน
[๕] เรามีการประชุมสาวก ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งเดียว
ภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์
[๖] เราผู้ปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ให้สิ่งที่ปรารถนาทุกอย่างเหมือนแก้วสารพัดนึก
ให้สิ่งที่ต้องการทั้งปวง ฉะนั้น
[๗] เราประกาศอริยสัจ ๔ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย
ผู้หวังผล ผู้แสวงธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในภพ
[๘] เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ องค์ ได้บรรลุธรรม
การบรรลุธรรมครั้งละองค์สององค์ นับจำนวนไม่ได้เลย
[๙] คำสั่งสอนของเราผู้เป็นศากยมุนี
กว้างขวางรู้กันโดยมาก เจริญแพร่หลาย
งอกงามดี บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ในโลกนี้
[๑๐] ภิกษุหลายร้อยรูปเป็นผู้ไม่มีอาสวะสิ้นราคะ
มีจิตสงบ ตั้งมั่น แวดล้อมเราทุกเมื่อ
[๑๑] ในกาลนี้ บัดนี้ ภิกษุเหล่าใด เป็นพระเสขะ
ยังไม่บรรลุอรหัตตผล๑ ละภพมนุษย์ไป
ภิกษุเหล่านั้น ถูกวิญญูชนตำหนิ
[๑๒] นรชนทั้งหลายชมเชยทางพระอริยะ ยินดีในธรรมทุกเมื่อ
มีความรุ่งเรือง ถึงจะท่องเที่ยวอยู่ในสงสารก็จักบรรลุได้
[๑๓] กรุงของเราชื่อกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดาของเรา
พระมารดาบังเกิดเกล้าของเราชาวโลกเรียกพระนามว่ามายาเทวี
[๑๔] เราครองฆราวาสอยู่ ๒๙ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง
คือสุจันทปราสาท โกกนุทปราสาท และโกญจปราสาท
[๑๕] มีนางสนมกำนัล ๔๐,๐๐๐ นาง
ล้วนประดับประดาสวยงาม
พระมเหสีของเราชื่อว่ายโสธรา
พระโอรสของเราชื่อว่าราหุล

เชิงอรรถ :
๑ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล แปลมาจากศัพท์ว่า อปฺปตฺตมานสา (ดู มงฺคลตฺถ. ๒/๕๖๒/๔๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๑๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์
[๑๖] เราเห็นนิมิต ๔ ประการ
จึงทรงราชพาหนะคือม้าออกผนวชแล้ว
ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี
(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ)
[๑๗] เราเป็นพระชินสีห์ประกาศพระธรรมจักร
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี
เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าโคดม เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์
[๑๘] ภิกษุ ๒ รูป ชื่ออุปติสสะและโกลิตะเป็นอัครสาวกของเรา
ภิกษุชื่อว่าอานนท์เป็นอุปัฏฐากอยู่ในสำนักของเรา
ภิกษุณีชื่อเขมาและภิกษุณีชื่ออุบลวรรณาเป็นอัครสาวิกา
[๑๙] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวีเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
[๒๐] เราบรรลุสัมโพธิญาณอย่างประเสริฐ
ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ เรามีรัศมีวาหนึ่ง
ฟุ้งขึ้นไป ๑๖ ศอกทุกเมื่อ
[๒๑] บัดนี้ อายุของเรามีน้อยประมาณ ๑๐๐ ปี
ถึงเราจะดำรงอยู่เพียงนั้น
ก็ช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๒๒] เราตั้งคบเพลิงคือธรรมไว้สำหรับให้คนรุ่นหลังได้ตรัสรู้
อีกไม่นานเลยแม้เรากับสงฆ์สาวก
ก็จักปรินิพพาน ณ ที่นี้ เหมือนไฟสิ้นเชื้อ(ดับไป)
[๒๓] คู่อัครสาวกเป็นต้นเหล่านั้นมีเดชไม่มีอะไรเทียบเคียง
มียศและกำลัง เรามีร่างกายทรงไว้ซึ่งคุณ
มีร่างกายวิจิตรด้วยพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์
[๒๔] เรามีรัศมี ๖ ประการ สว่างไสวไปทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ
ดุจดวงอาทิตย์ ทุกอย่างล้วนจักอันตรธานไปหมดสิ้น
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ ฉะนี้แล
โคตมพุทธวงศ์ที่ ๒๕ จบ
๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์
ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
[๑] ในกัปอันประมาณมิได้นับจากภัทรกัปนี้ไป
ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ ๔ พระองค์
คือพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระเมธังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระสรณังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
และพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
พระชินเจ้าเหล่านั้น เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน
[๒] สมัยต่อจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระะนามว่าโกณฑัญญะ
ทรงเป็นผู้นำพระองค์เดียวเสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๓] อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคทีปังกร
กับพระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะ จะคำนวณนับมิได้
[๔] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ ทรงเป็นผู้นำ
แม้อันตรกัปของพระโกณฑัญญะกับพระมังคลพุทธเจ้านั้น
จะคำนวณนับมิได้
[๕] พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระนามว่ามังคละ ๑
พระนามว่าสุมนะ ๑ พระนามว่าเรวตะ ๑ พระนามว่าโสภิตะ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์
ผู้เป็นมุนี ผู้มีพระจักษุ มีพระรัศมีสว่างไสว
ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน
[๖] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
ได้มีพระมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
แม้อันตรกัปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
กับพระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี จะคำนวณนับมิได้
[๗] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ พระนามว่าอโนมทัสสี ๑
พระนามว่าปทุมะ ๑ พระนามว่านารทะ ๑ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ผู้เป็นมุนี ทำที่สุดความมืดได้แม้เหล่านั้น
ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน
[๘] สมัยต่อจากพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๙] แม้อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคพระนามว่านารทะ
กับพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ จะคำนวณนับมิได้
[๑๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
มีพระมหามุนีพระองค์เดียว
คือพระปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๑๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์
คือพระสุเมธะและพระสุชาตะ
[๑๒] ในกัปที่ ๑,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์
คือพระปิยทัสสี ๑ พระอัตถทัสสี ๑
พระธัมมทัสสี ๑ ล้วนเป็นผู้นำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์
[๑๓] ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้ไม่มีบุคคลเปรียบได้ในโลก
เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน
[๑๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้มีพระมหามุนีพระองค์เดียวคือพระสิทธัตถะ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นดังศัลยแพทย์ผู้ยอดเยี่ยม
[๑๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์
คือพระติสสะ ๑ พระปุสสะ ๑
ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ
[๑๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
มีพระพุทธเจ้าทรงนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระกรุณา
ทรงเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากเครื่องพันธนาการ
[๑๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์
คือพระสิขี ๑ พระเวสสภู ๑
ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ
[๑๘] ในภัทรกัปนี้ได้มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์
คือพระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑
พระกัสสปะ ผู้ทรงเป็นผู้นำ ๑
[๑๙] บัดนี้ เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรยจักมี(ในอนาคต)
แม้พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ก็ทรงเป็นนักปราชญ์อนุเคราะห์สัตว์โลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา
[๒๐] บรรดาพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชาเหล่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นพร้อมด้วยสาวก
จักตรัสบอกมรรคนั้นแก่ผู้อื่นหลายโกฏิ
แล้วจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน ฉะนี้แล
พุทธปกิณณกกัณฑ์ที่ ๒๖ จบ
๒๗. ธาตุภาชนียกถา
ว่าด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
[๑] พระมหาโคดมชินเจ้าผู้ประเสริฐ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่กรุงกุสินารา
พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์
แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ
[๒] พระบรมสารีริกธาตุทะนานหนึ่งเป็นของพระเจ้าอชาตศัตรู
อีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงเวสาลี
อีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์
และอีกทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงอัลลกัปปะ
[๓] ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงรามคาม
ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงเวฏฐทีปกะ
ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงปาวาของมัลลกษัตริย์
ทะนานหนึ่งอยู่ที่กรุงกุสินารา
[๔] โทณพราหมณ์ให้ช่างสร้างสถูปบรรจุทะนานทอง
กษัตริย์กรุงโมริยะผู้มีหทัยยินดี
รับสั่งให้สร้างพระสถูปบรรจุพระอังคาร
[๕] พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง
ตุมพเจดีย์เป็นแห่งที่ ๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา
และพระสถูปบรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐
ประดิษฐานอยู่แล้วในกาลนั้น
[๖] พระบรมสารีริกธาตุ ๗ อย่าง
คือพระอุณหิส ๑ พระทาฐธาตุทั้ง ๔
และพระรากขวัญ ๒ ข้าง ไม่แตก
พระบรมสารีริกธาตุที่เหลือแตกออกจากกัน
[๗] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่เท่ากับเมล็ดถั่วเขียว
ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก
ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีสีต่าง ๆ กัน
[๘] พระบรมสารีริกธาตุขนาดใหญ่มีสีเหมือนทองคำ
ขนาดกลางมีสีเหมือนแก้วมุกดา
และขนาดเล็กมีสีเหมือนดอกมะลิ
รวมทั้งหมดมีประมาณ ๑๖ ทะนาน
[๙] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นทุกขนาด
คือขนาดใหญ่มี ๕ ทะนาน ขนาดกลางมี ๕ ทะนาน
ขนาดเล็กมี ๖ ทะนานเท่านั้น
[๑๐] พระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด
ประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ กัน
คือพระอุณหิสอยู่ที่เกาะสีหล
พระรากขวัญเบื้องซ้ายอยู่ที่พรหมโลก
และพระรากขวัญเบื้องขวาอยู่ที่เกาะสีหล
[๑๑] พระทาฐธาตุองค์หนึ่งอยู่ที่ภพดาวดึงส์
องค์หนึ่งอยู่ที่นาคปุระ องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองคันธารวิสัย
องค์หนึ่งอยู่ที่เมืองกาลิงคราช
[๑๒] พระทันตธาตุทั้ง ๔๐ พระเกสาและพระโลมาทั้งหมด
เทวดานำมาไว้ จักรวาลละหนึ่งอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๗. ธาตุภาชนียกถา
[๑๓] บาตร ไม้เท้า และจีวรของพระผู้มีพระภาค
อยู่ที่วชิรานคร สบงอยู่ที่กุลฆรนคร
ผ้าปัจจัตถรณะอยู่ที่สีลนคร(กรุงกบิลพัสดุ์)
[๑๔] ธมกรกและประคดเอวอยู่ที่กรุงปาตลีบุตร
ผ้าอาบน้ำอยู่ที่กรุงจัมปา พระอุณณาโลมอยู่ที่แคว้นโกศล
[๑๕] ผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ที่พรหมโลก ผ้าโพกอยู่ที่ดาวดึงส์
รอยพระบาทอันประเสริฐอยู่ที่หินเหมือนมีอยู่ที่กัจฉตบุรี
ผ้านิสีทนะอยู่ที่อวันตีชนบท ผ้าลาดอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๖] ไม้สีไฟอยู่ที่กรุงมิถิลา ผ้ากรองน้ำอยู่ที่วิเทหรัฐ
มีดและกล่องเข็มอยู่ที่กรุงอินทปัตถ์ ในกาลนั้น
[๑๗] บริขารที่เหลืออยู่ที่อปรันตชนบท
หมู่มนุษย์ในกาลนั้นจักบูชาบริขารที่พระมุนีทรงใช้สอย
[๑๘] พระบรมสารีริกธาตุของพระโคดม
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กระจายแผ่กว้างขวางไป
เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย เป็นของเก่าในกาลนั้น ฉะนี้แล
ธาตุภาชนียกถาที่ ๒๗ จบ
พุทธวงศ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๑. อกิตติจริยา
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. อกิตติวรรค
หมวดว่าด้วยอกิตติดาบสเป็นต้น
๑. การบำเพ็ญทานบารมี
๑. อกิตติจริยา
ว่าด้วยจริยาของอกิตติดาบส
[๑] ใน ๔ อสงไขยแสนกัป ความประพฤติใดในระหว่างนี้
ความประพฤตินั้นทั้งหมด เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ
[๒] เราจักเว้นความประพฤติในภพน้อยภพใหญ่ในกัปที่ล่วงแล้วเสีย
จักบอกความประพฤติในกัปนี้ เธอจงฟังเรา
[๓] เราเป็นดาบสมีนามว่าอกิตติ
เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ที่ว่างเปล่า
สงัดเงียบปราศจากเสียงอื้ออึงในกาลใด
[๔] ในกาลนั้น ด้วยเดชแห่งความประพฤติตบะของเรา
ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ในดาวดึงสเทวโลก ทรงร้อนพระทัย
แปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้ามาหาเราเพื่อภิกษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๒. สังขพราหมณจริยา
[๕] เราได้เห็นอินทพราหมณ์มายืนอยู่ใกล้ประตูบรรณศาลาของเรา
จึงหยิบใบหมากเม่าที่เรานำมาจากป่า
ซึ่งไม่มีน้ำมันทั้งไม่มีรสเค็ม มอบให้จนหมดพร้อมทั้งภาชนะ
[๖] เราครั้นให้ใบหมากเม่าแก่อินทพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงคว่ำภาชนะ ละการแสวงหาใหม่ เข้าไปยังบรรณศาลา
[๗] แม้ในวันที่ ๒ ที่ ๓ อินทพราหมณ์ก็เข้ามายังสำนักของเรา
เราไม่หวั่นไหว ไม่ยึดมั่น ได้ให้ไปเหมือนอย่างนั้น
[๘] ในสรีระของเรามีผิวพรรณไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะการอดอาหารนั้นเป็นปัจจัยเลย
เรายับยั้งอยู่ตลอดวันนั้น ๆ ด้วยปีติ สุข และความยินดี
[๙] ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคลที่ประเสริฐ
แม้เดือนหนึ่ง สองเดือน เราก็ไม่หวั่นไหว
ไม่ท้อใจ พึงให้ทานอันอุดม
[๑๐] เมื่อเราให้ทานแก่อินทพราหมณ์นั้น
เราจะได้ปรารถนายศและลาภก็หามิได้
แต่เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น
จึงได้ประพฤติกรรมเหล่านั้น ฉะนี้แล
อกิตติจริยาที่ ๑ จบ
๒. สังขพราหมณจริยา
ว่าด้วยจริยาของสังขพราหมณ์
[๑๑] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพราหมณ์นามว่าสังขะ
ต้องการจะข้ามมหาสมุทรจึงเข้าไปยังปัฏฏนคาม
[๑๒] ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้เดินสวนทางมาตามทางกันดาร
บนภาคพื้นที่แข็งกระด้างอันร้อนจัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๓. กุรุธรรมจริยา
[๑๓] เราครั้นเห็นท่านเดินสวนทางมา จึงคิดถึงประโยชน์นี้ว่า
บุญเขตนี้มาถึงสัตว์ผู้ต้องการบุญ
[๑๔] เปรียบเหมือนบุรุษชาวนาเห็นนาเป็นที่น่ายินดีมาก
(เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ) แต่ไม่ปลูกพืชลงในนานั้น
เขาชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการข้าวเปลือกฉันใด
[๑๕] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นบุญเขตที่ประเสริฐสุดแล้ว
ถ้าไม่ทำสักการะในบุญเขตนั้น
เราก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ต้องการบุญ
[๑๖] อำมาตย์ต้องการจะให้ชนชาวเมืองของพระราชายินดี
แต่ไม่ยอมให้ทรัพย์และข้าวเปลือกแก่ชนชาวเมืองเหล่านั้น
เขาก็ย่อมเสื่อมจากความยินดีฉันใด
[๑๗] เราผู้ต้องการบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นทักขิไณยบุคคลที่ไพบูลย์แล้ว
ถ้าไม่ถวายทานแก่ทักขิไณยบุคคลนั้น ก็จักเสื่อมจากบุญ
[๑๘] เราครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงถอดรองเท้า
กราบเท้าของท่านแล้ว ได้ถวายร่มและรองเท้า
[๑๙] เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นผู้ละเอียดอ่อนเจริญสุขเป็นร้อยเท่า
อนึ่ง เราเมื่อบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์
ได้ถวายแก่ท่านอย่างนี้แล
สังขพราหมณจริยาที่ ๒ จบ
๓. กุรุธรรมจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
[๒๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชานามว่าธนัญชัย
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดม ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๒๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๓. กุรุธรรมจริยา
[๒๑] ครั้งนั้น พวกพราหมณ์ชาวแคว้นกาลิงคะได้มาหาเรา
ขอพญาคชสาร ซึ่งประกอบด้วยธัญญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า
[๒๒] ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัย อดอยากมาก
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร
ตัวประเสริฐมีกายสีเขียวชื่อว่าอัญชันด้วยเถิด
[๒๓] เราคิดว่าการห้ามยาจกที่มาถึงแล้ว
เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย
กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย
เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ
[๒๔] เราได้จับงวงพญาคชสารวางลงบนมือพราหมณ์แล้ว
จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือของพวกพราหมณ์ ได้ให้พญาคชสารไป
[๒๕] เมื่อเราได้ให้พญาคชสารนั้นไป พวกอำมาตย์ได้กล่าวคำนี้ว่า
“เหตุไรหนอ พระองค์จึงพระราชทานพญาคชสารตัวประเสริฐ
ของพระองค์แก่พวกยาจก
[๒๖] เมื่อพระองค์พระราชทานพญาคชสาร
ซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคล ชนะสงคราม
อันสูงสุดนั้นแล้ว พระองค์เป็นพระราชาจักทำอะไรได้”
[๒๗] เราได้ตอบว่า แม้ราชสมบัติทั้งหมดเราก็ควรให้
ถึงสรีระของตนเราก็ควรให้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้พญาคชสาร ฉะนี้แล
กุรุธรรมจริยาที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๔. มหาสุทัสสนจริยา
๔. มหาสุทัสสนจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
[๒๘] ในกาลที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่ามหาสุทัสสนะ
มีพลานุภาพมาก ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงกุสาวดี
[๒๙] ครั้งนั้น เราได้สั่งให้ประกาศทุก ๆ วัน
วันละ ๓ ครั้งว่า “ใครอยากได้อะไร
ปรารถนาอะไร ใครจะให้ทรัพย์อะไร
[๓๐] ใครหิว ใครกระหาย ใครต้องการดอกไม้
ใครต้องการเครื่องลูบไล้
ใครเปลือย จักนุ่งห่มผ้าสีต่าง ๆ
[๓๑] ใครต้องการร่มสำหรับไปในหนทาง ก็จงมารับเอาไป
ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่มสวยงาม ก็จงมารับเอาไป
เราให้ประกาศดังนี้ ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็นทุก ๆ วัน
[๓๒] ทานนั้นเราไม่ตกแต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง
หรือในที่ ๑๐๐ แห่ง แต่เราตกแต่งทรัพย์ไว้
สำหรับยาจกในที่หลายร้อยแห่ง
[๓๓] วณิพกจะมาในเวลากลางวันหรือจะมาในเวลากลางคืนก็ตาม
ก็จะได้โภคะตามความปรารถนาพอเต็มมือกลับไปเสมอ
[๓๔] เราได้ให้มหาทานเห็นปานนี้จนตลอดชีวิต
เราจะให้ทรัพย์ที่น่ารังเกียจก็หาไม่
และเราจะไม่มีการสั่งสมก็หาไม่
[๓๕] เหมือนคนไข้กระสับกระส่าย เพื่อจะพ้นจากโรค
ต้องให้หมอพอใจด้วยทรัพย์จึงจะพ้นจากโรคได้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๖. เนมิราชจริยา
[๓๖] เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้อยู่
เพื่อบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์โดยไม่มีส่วนเหลือ
เพื่อทำใจที่พร่องให้เต็ม จึงให้ทานแก่วณิพก
เรามิได้อาลัย มิได้หวังอะไร ได้ให้ทาน
เพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล
มหาสุทัสสนจริยาที่ ๔ จบ
๕. มหาโควินทจริยา
ว่าด้วยจริยาของมหาโควินทพราหมณ์
[๓๗] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพราหมณ์มีนามว่ามหาโควินทะ
เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์
อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว
[๓๘] ครั้งนั้น เครื่องบรรณาการอันใด
ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ ได้มีแล้วแก่เรา
เราได้ให้มหาทานด้วยเครื่องบรรณาการนั้น
ซึ่งเหมือนทะเลที่ไม่กระเพื่อม
[๓๙] ทรัพย์และข้าวเปลือกจะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่
แม้ตัวเราเองจะไม่มีการสั่งสมก็หาไม่
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงให้ทรัพย์อย่างประเสริฐ ฉะนี้แล
มหาโควินทจริยาที่ ๕ จบ
๖. เนมิราชจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าเนมิราช
[๔๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นมหาราชนามว่าเนมิ เป็นบัณฑิต
ต้องการกุศลอยู่ในกรุงมิถิลาที่อุดมสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๗. จันทกุมารจริยา
[๔๑] เราได้สร้างโรงทานจตุรมุข ๔ แห่ง
แล้วได้บำเพ็ญทานที่ศาลานั้นแก่หมู่เนื้อ นก และคนเป็นต้น
[๔๒] บำเพ็ญมหาทาน คือ เครื่องนุ่มห่ม ที่นอน
ข้าว น้ำ และโภชนะ ไม่ขาดสาย
[๔๓] เหมือนเสวกรับใช้นายเพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมแสวงหานายที่ตนพึงให้ยินดีได้
ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ฉันใด
[๔๔] เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักแสวงหาพระสัพพัญญุตญาณในภพทั้งปวง
จึงให้สัตว์ทั้งหลายได้อิ่มหนำด้วยทานแล้ว
ปรารถนาพระโพธิญาณอันอุดม ฉะนี้แล
เนมิราชจริยาที่ ๖ จบ
๗. จันทกุมารจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระจันทกุมาร
[๔๕] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช
มีนามว่าจันทกุมาร อยู่ในกรุงปุปผวดี
[๔๖] เราพ้นจากการบูชายัญแล้ว ออกมาจากที่บวงสรวงนั้น
ยังความสังเวชให้เกิดขึ้นแล้ว บำเพ็ญมหาทาน
[๔๗] เรายังมิได้ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว
ก็จะไม่ดื่มน้ำ ไม่เคี้ยว
และไม่บริโภคโภชนะแม้ ๕-๖ ราตรี
[๔๘] ธรรมดาพ่อค้า รวบรวมสินค้าไว้แล้ว
ในที่ใดจะมีกำไรมาก ก็จะนำสินค้าไปขายในที่นั้น ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๘. สิวิราชจริยา
[๔๙] สิ่งของที่เราให้แก่ผู้อื่น มีค่ามากกว่าสิ่งของที่ตนใช้เองฉันนั้น
เพราะฉะนั้น ควรให้ทานแก่ผู้อื่น อันนั้นจักมีผลตั้งร้อย
[๕๐] เรารู้อำนาจประโยชน์นั้นแล้ว จึงให้ทานในภพน้อยภพใหญ่
จักไม่ถอยกลับ(ไม่ท้อถอย) จากการให้ทาน
เพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล
จันทกุมารจริยาที่ ๗ จบ
๘. สิวิราชจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าสิวิ
[๕๑] ในกาลที่เราเป็นกษัตริย์นามว่าสิวิ
อยู่ในกรุงชื่ออริฏฐะ เรานั่งอยู่ในปราสาทที่ประเสริฐ
ได้คิดอย่างนี้ว่า
[๕๒] “ทานในมนุษยโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เราไม่ได้ให้แล้วไม่มี แม้ผู้ใดพึงขอจักษุกะเรา
เราก็พึงให้แก่ผู้นั้นได้ไม่หวั่นไหว
[๕๓] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ
ทรงทราบความดำริของเราแล้ว
ประทับนั่งในเทพบริษัทได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๕๔] ‘พระเจ้าสิวิพระองค์นั้นผู้ทรงมีฤทธิ์มาก
ประทับนั่งในปราสาทที่ประเสริฐ
ทรงดำริถึงทานต่าง ๆ ไม่ทรงเห็นสิ่งที่ยังมิได้ให้
[๕๕] ข้อนั้นจะเป็นจริงหรือไม่หนอ เอาเถอะ
เราจักทดลองพระองค์ดู ท่านทั้งหลายพึงคอยเราสักครู่หนึ่ง
เพียงเราทราบความจริงใจของพระเจ้าสิวิเท่านั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๘. สิวิราชจริยา
[๕๖] ท้าวสักกะจึงแปลงร่างเป็นคนตาบอด มีกายสั่น
ศีรษะหงอก หนังย่น กระสับกระส่ายเพราะความชรา
เข้าเฝ้าพระราชา
[๕๗] ครั้งนั้น อินทพราหมณ์นั้นประคองแขนทั้งซ้ายและขวา
ประนมมือขึ้นเหนือศีรษะได้กล่าวคำนี้ว่า
[๕๘] ‘ข้าแต่พระมหาราชผู้ทรงธรรม ทรงปกครองแคว้นให้เจริญ
ข้าพระองค์จะขอรับบริจาคทานกะพระองค์
เกียรติคุณคือความยินดีในทานของพระองค์
ฟุ้งขจรไปในเทวดาและมนุษย์
[๕๙] นัยน์ตาแม้ทั้ง ๒ ข้างของข้าพระองค์ถูกโรคขจัดบอดเสียแล้ว
ขอพระองค์จงพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
แม้พระองค์ก็ทรงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ด้วยพระเนตรข้างหนึ่ง’
[๖๐] เราได้ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ทั้งยินดีและตื่นเต้น
ประนมมือ เกิดปีติปราโมทย์ ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๖๑] ‘เราคิดแล้ว ลงจากปราสาทมาถึงที่นี้เดี๋ยวนี้เอง
ท่านรู้จิตของเราแล้วมาขอนัยน์ตา
[๖๒] โอ ! ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว
ความดำริของเราบริบูรณ์แล้ว วันนี้
เราจักให้ทานอันประเสริฐ ซึ่งเรายังไม่เคยให้แก่พวกยาจก
[๖๓] มานี่แน่ะหมอสิวิกะ จงขมีขมันอย่าชักช้า
อย่าครั่นคร้าม จงควักนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างออกให้แก่วณิพกไปเถิด’
[๖๔] หมอสิวิกะนั้นถูกเราเตือนแล้ว เชื่อฟังคำของเรา
ได้ควักนัยน์ตาทั้ง ๒ ออกให้แก่ยาจก
เหมือนคนควักจาวตาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๖๕] เมื่อเราจะให้ทานก็ดี กำลังให้ทานก็ดี ให้ทานแล้วก็ดี
จิตของเราไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[๖๖] จักษุทั้ง ๒ เป็นที่น่าเกลียดชังสำหรับเราก็หาไม่
แม้ตัวเราเองจะเป็นที่เกลียดชังก็หาไม่
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้จักษุ ฉะนี้แล
สิวิราชจริยาที่ ๘ จบ
๙. เวสสันตรจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเวสสันดร
[๖๗] นางกษัตริย์พระนามว่าผุสดีพระชนนีของเรา
เป็นพระมเหสีที่รักของท้าวสักกะ ในอดีตชาติ
[๖๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบว่าพระนางจะสิ้นอายุ
จึงตรัสดังนี้ว่า ‘นางผู้เจริญ เราจะให้พร ๑๐ ประการ๑
ที่เธอปรารถนาแก่เธอ’
[๖๙] พอท้าวสักกะตรัสอย่างนั้นแล้ว
พระเทวีนั้นได้ทูลท้าวสักกะดังนี้ว่า
หม่อมฉันมีความผิดอะไรหนอ
หม่อมฉันเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระองค์หรือหนอ
พระองค์จึงจะให้หม่อมฉันเคลื่อนจากสถานอันน่ารื่นรมย์
เหมือนลมพัดต้นไม้ให้หวั่นไหว

เชิงอรรถ :
๑ พร ๑๐ ประการ คือ (๑) ขอให้ได้เป็นพระมเหสีของพระองค์ทุกชาติ (๒) ขอให้มีพระเนตรสีเขียว (๓) ขอ
ให้มีพระโขนงสีเขียว (๔) ขอให้มีนามว่าผุสดี (๕) ขอให้ได้บุตรที่ประกอบด้วยคุณ (๖) ตั้งครรภ์มีอุทรไม่นูนขึ้น
(๗) มีถันไม่ยาน (๘) ผมไม่หงอก (๙) มีผิวละเอียด (๑๐) ไม่เป็นหมัน (ขุ.จริยา.อ. ๗๒/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๗๐] ท้าวสักกะนั้นเมื่อพระนางผุสดีตรัสอย่างนี้
ก็ได้ตรัสกะพระนางดังนี้อีกว่า
‘เธอไม่ได้ทำความชั่วเลย
และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่
[๗๑] แต่อายุของเธอมีประมาณเท่านี้เอง
เวลานี้จักเป็นเวลาที่เธอต้องจุติ
เธอจงรับพร ๑๐ ประการอันประเสริฐสุดที่เราจะให้’
[๗๒] พระนางผุสดีนั้น รับพรที่ท้าวสักกะประทานแล้ว
ร่าเริงยินดีปราโมทย์เลือกพร ๑๐ ประการ รวมเราไว้ด้วย
[๗๓] พระนางผุสดีนั้น จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์
ได้สมาคมกับพระเจ้ากรุงสญชัย(เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย)
ในกรุงเชตุดร
[๗๔] ในกาลที่เราลงสู่พระครรภ์ของพระนางผุสดีพระมารดาที่รัก
ด้วยเดชของเรา พระมารดาของเราเป็นผู้ยินดีในทานทุกเมื่อ
[๗๕] คนไม่มีทรัพย์ คนป่วยไข้(กระสับกระส่าย)
คนแก่ ยาจก คนเดินทาง
สมณะ พราหมณ์ คนสิ้นเนื้อประดาตัว
คนไม่มีอะไรเลย พระนางก็ให้ทาน
[๗๖] พระนางผุสดีทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน
เมื่อพระเจ้าสัญชัยทรงทำประทักษิณพระนคร
พระนางก็ประสูติเราที่ท่ามกลางถนนของคนค้าขาย
[๗๗] ชื่อของเราจึงไม่เนื่องข้างฝ่ายพระมารดา
และไม่เนื่องข้างฝ่ายพระบิดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
เพราะเราเกิดที่ถนนของคนค้าขายนี้
เพราะฉะนั้น เราจึงมีนามว่าพระเวสสันดร
[๗๘] ในกาลที่เราเป็นทารกอายุได้ ๘ ขวบแต่กำเนิด
นั่งอยู่ในปราสาทคิดจะให้ทานว่า
[๗๙] เราพึงประกาศให้หัวใจ นัยน์ตา แม้กระทั่งเนื้อและเลือด
พึงให้ทั้งกาย ถ้าใครจะพึงขอกับเรา
[๘๐] เมื่อเราคิดถึงความเป็นจริง จิตของเราก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ในขณะนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
และราวป่าก็ไหว
[๘๑] ในเดือนเต็มวันอุโบสถที่ ๑๕ ทุกกึ่งเดือน
เราขึ้นคอมงคลหัตถีปัจจัยนาค เข้าไปยังศาลาเพื่อจะให้ทาน
[๘๒] พราหมณ์ทั้งหลายชาวแคว้นกาลิงคะได้เข้ามาหาเรา
ได้ขอพญาคชสารซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ
สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า
[๘๓] “ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัยอดอยากมาก
ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร
ตัวประเสริฐเผือกผ่อง ซึ่งเป็นช้างอุดมมงคลด้วยเถิด”
[๘๔] พราหมณ์ทั้งหลายขอสิ่งใดกับเรา
เราจะให้สิ่งนั้นไม่หวั่นไหวเลย
เราไม่ซ่อนเร้นของที่มีอยู่
ใจของเรายินดีในทาน
[๘๕] เมื่อยาจกมาถึงแล้ว การห้าม(การไม่ให้) ไม่สมควรแก่เรา
กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย
เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๘๖] เราได้จับงวงพญาคชสารวางบนมือพราหมณ์แล้ว
จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พญาคชสารแก่พวกพราหมณ์
[๘๗] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราให้พญาคชสารที่อุดมเผือกผ่อง
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
และราวป่าก็ไหวอีก
[๘๘] เพราะเราให้พญาคชสารนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคือง
มาประชุมกันแล้ว ขับไล่เราจากแว่นแคว้นของตนว่า
จงไปยังภูเขาวงกต
[๘๙] เมื่อชาวนครเหล่านั้นกลับไป จิตของเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เราได้ขอพรอย่างหนึ่งเพื่อจะบำเพ็ญมหาทาน
[๙๐] เราขอแล้ว ชาวกรุงสีพีทั้งหมดได้ให้พรอย่างหนึ่งแก่เรา
เราจึงให้นำกลองคู่หนึ่งไปตีประกาศว่า เราจะบริจาคมหาทาน
[๙๑] เสียงดังกึกก้องอึงมี่น่าหวาดกลัวย่อมเป็นไปในโรงทานนั้นว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนี้เพราะทาน
เรายังจะให้ทานอีกหรือ
[๙๒] เราได้ให้ช้าง ม้า รถ ทาสี ทาสา แม่โค ทรัพย์
ครั้นให้มหาทานแล้ว ก็ออกจากนครไปในกาลนั้น
[๙๓] เมื่อเราครั้นออกจากนครแล้ว เหลียวกลับมาดู
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช
และราวป่าก็ไหวแล้ว
[๙๔] เราให้ม้าสินธพ ๔ ตัวและรถแล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ ๔ แยก
ผู้เดียวไม่มีเพื่อน ได้กล่าวกับพระนางมัทรีเทวีดังนี้ว่า
[๙๕] “แม่มัทรี เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด
เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี
เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๓๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๙๖] พระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่มดังดอกปทุมและบัวขาว
เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ
[๙๗] ชนทั้ง ๔ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ผู้อภิชาตบุตร
ได้เสด็จดำเนินไปตามทางที่ขรุขระและราบเรียบไปยังภูเขาวงกต
[๙๘] มนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เดินตามมาในหนทางก็ดี
สวนทางก็ดี เราทั้งหลายได้ไต่ถามเขาถึงหนทางว่า
เขาวงกตอยู่ที่ไหน
[๙๙] เขาเห็นเราทั้งหลาย ณ ที่นั้นแล้ว
ได้เปล่งเสียงอันประกอบด้วยกรุณา
กษัตริย์เหล่านี้คงจะต้องเสวยทุกข์อย่างยิ่ง เพราะภูเขาวงกตไกล
[๑๐๐] ถ้าพระกุมารและกุมารีเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่
พระกุมารกุมารีก็จะทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น
[๑๐๑] ต้นไม้ทั้งหลายอันสูงใหญ่ไพศาล
เห็นพระกุมารและกุมารีทรงกันแสง
ก็จะโน้มยอดลงมาหาพระกุมารและกุมารีเอง
[๑๐๒] พระนางมัทรีผู้ทรงความงามทั่วสรรพางค์กาย
ทรงเห็นความอัศจรรย์นี้ซึ่งไม่เคยมีมา
น่าขนพองสยองเกล้า จึงให้สาธุการเป็นไปว่า
[๑๐๓] ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในโลก บังเกิดขนชูชันหนอ
หมู่ไม้น้อมยอดลงมาเองด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร
[๑๐๔] ยักษ์(เทวดา)ทั้งหลายได้ย่นทางให้
ด้วยความเอ็นดูพระกุมารและกุมารี
ในวันที่เสด็จออกจากกรุงสีพีนั้นเอง
เราทั้ง ๔ ได้ไปถึงเจตราษฎร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๑๐๕] ครั้งนั้น พวกเจ้า ๑๖,๐๐๐ องค์อยู่ในกรุงมาตุละ
ทั้งหมดก็ประนมมือร้องไห้มาหา
[๑๐๖] เราเจรจาปราศรัยกับโอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านี้อยู่ ณ ที่นั้น
ให้พระโอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านั้นกลับที่ประตูนั้นแล้ว
ได้ไปยังภูเขาวงกต
[๑๐๗] ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก
แล้วรับสั่งให้เนรมิตบรรณศาลาอย่างสวยงาม
น่ารื่นรมย์สำหรับเป็นอาศรมอย่างดี
[๑๐๘] วิสสุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก
รับพระบัญชาของท้าวสักกะแล้ว
เนรมิตบรรณศาลาอย่างสวยงาม
น่ารื่นรมย์สำหรับเป็นอาศรมอย่างดี
[๑๐๙] เราทั้ง ๔ คน มาถึงป่าใหญ่อันสงัดเงียบไม่พลุกพล่าน
อยู่ในบรรณศาลานั้น ณ ระหว่างภูเขา
[๑๑๐] ครั้งนั้น เรา พระนางมัทรีเทวี
และโอรสทั้ง ๒ คือ ชาลีและกัณหาชินา
บรรเทาความเศร้าโศกของกันและกันอยู่ในอาศรม
[๑๑๑] เรารักษาสองกุมารเป็นผู้ไม่ว่างอยู่ในอาศรม
พระนางมัทรีนำผลไม้มาเลี้ยงคนทั้ง ๓
[๑๑๒] เมื่อเราอยู่ในป่าใหญ่ พราหมณ์ (ชูชก)
ผู้มีความต้องการ เดินเข้ามาหาเรา
ได้ขอพระโอรสทั้ง ๒ ของเรา คือ ชาลีและกัณหาชินา
[๑๑๓] เพราะได้เห็นผู้ขอเข้ามาหา ความร่าเริงจึงเกิดขึ้นแก่เรา
ครั้งนั้น เราได้พาบุตรและธิดาทั้ง ๒ มาให้พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๙. เวสสันตรจริยา
[๑๑๔] เมื่อเราสละบุตรและธิดาทั้ง ๒ ของตน
ให้พราหมณ์ชูชกไป ในกาลใด
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว
[๑๑๕] ท้าวสักกะทรงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เสด็จลงจากเทวโลก
มาขอพระนางมัทรีเทวีผู้มีศีลจริยาวัตรงดงามกับเราอีก
[๑๑๖] เรามีความดำริแห่งใจผ่องใส
จับพระหัตถ์พระนางมัทรีแล้วมอบให้ด้วยการหลั่งน้ำ(ทักขิโณทก)
ได้ให้พระนางมัทรีแก่พราหมณ์นั้น
[๑๑๗] เมื่อเราให้พระนางมัทรี
หมู่เทวดาในท้องฟ้าพากันเบิกบาน(พลอยยินดี)
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว
[๑๑๘] เราสละพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาผู้เป็นบุตรธิดา
และพระนางมัทรีเทวี ผู้มีจริยาวัตรงดงาม
ไม่คิดถึงเลยเพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั่นเอง
[๑๑๙] บุตรทั้ง ๒ จะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่
พระเทวีมัทรีเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงให้บุตรธิดาและภรรยาผู้เป็นที่รัก
[๑๒๐] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพระมารดาและพระบิดาเสด็จมาพร้อมกัน
ณ ป่าใหญ่ ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นน่าเวทนา
ตรัสถามถึงสุขทุกข์กันอยู่
[๑๒๑] เราได้เข้าเฝ้าพระมารดาและพระบิดาทั้ง ๒
ด้วยหิริและโอตตัปปะด้วยความเคารพ
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๑๐. สสปัณฑิตจริยา
[๑๒๒] อีกเรื่องหนึ่ง เรากับบรรดาพระญาติของเราออกจากป่าใหญ่
เข้าสู่กรุงเชตุดร ซึ่งเป็นนครที่น่ารื่นรมย์
[๑๒๓] แก้ว ๗ ประการตกลงมา มหาเมฆทำฝนให้ตก
แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว
[๑๒๔] แม้แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจ ไม่รู้สุขและทุกข์ ก็ไหวถึง ๗ ครั้ง
เพราะกำลังแห่งทานของเรา ฉะนี้แล
เวสสันตรจริยาที่ ๙ จบ
๑๐. สสปัณฑิตจริยา
ว่าด้วยจริยาของสสบัณฑิต
[๑๒๕] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นกระต่าย เที่ยวอยู่ในป่า
มีหญ้า ใบไม้ ผัก และผลไม้เป็นภักษา เว้นการเบียดเบียนผู้อื่น
[๑๒๖] ครั้งนั้น ลิง สุนัขจิ้งจอก ลูกนาค และเรา
อยู่ร่วมสามัคคีกัน มาพบกันทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น
[๑๒๗] เราสั่งสอนสหายเหล่านั้น ในการทำความดีและความชั่วว่า
“ท่านทั้งหลาย จงเว้นความชั่ว จงตั้งอยู่ในความดี”
[๑๒๘] เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ
จึงบอกแก่สหายเหล่านั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ
[๑๒๙] ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมทานเพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล
ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว จงอยู่จำอุโบสถ
[๑๓๐] สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า “สาธุ”
แล้วได้ตระเตรียมทานต่าง ๆ ตามความสามารถ
ตามกำลัง แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] ๑๐. สสปัณฑิตจริยา
[๑๓๑] เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า
‘ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน
[๑๓๒] งา ถั่วเขียว ของเราก็ไม่มี ถั่วราชมาส
ข้าวสาร เปรียงของเราก็ไม่มี
เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจที่จะให้หญ้า
[๑๓๓] ถ้าทักขิไณยบุคคลสักท่านหนึ่งมาเพื่อขอในสำนักของเรา
เราพึงให้ร่างกายของตน ทักขิไณยบุคคลจักไม่ไปเปล่า’
[๑๓๔] ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว
จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เข้ามายังที่อยู่ของเรา
เพื่อทรงทดลองทานของเรา
[๑๓๕] เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า
‘ท่านมาถึงที่อยู่ของเราแล้ว เพราะเหตุแห่งอาหารเป็นการดีแล
[๑๓๖] วันนี้เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใคร ๆ
ไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ
การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน
[๑๓๗] ท่านจงไปนำไม้ต่าง ๆ มาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น
เราจักปิ้งตัวของเรา ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก’
[๑๓๘] พราหมณ์รับคำว่า “สาธุ” แล้วมีใจร่าเริง
ได้นำไม้ต่างๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่
ทำเป็นห้องซึ่งเต็มด้วยถ่านเพลิง
[๑๓๙] ก่อไฟลุกโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที
เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่
เพราะฉะนั้น เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง
[๑๔๐] ในเมื่อกองไม้ที่ไฟติดทั่วแล้วเป็นควันตลบอยู่
ขณะนั้น เราโดดลงไปในท่ามกลางระหว่างเปลวไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค] รวมจริยาที่มีในวรรคนี้
[๑๔๑] น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว
ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน
ย่อมให้ความยินดี และปีติได้ ฉันใด
[๑๔๒] ในขณะที่เราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนดำลงไปในน้ำเย็น
ความกระวนกระวายทั้งปวงระงับไป
[๑๔๓] เราได้ให้ร่างกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ
คือผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
และชิ้นเนื้อหัวใจแก่พราหมณ์ ฉะนี้แล
สสปัณฑิตจริยาที่ ๑๐ จบ
อกิตติวรรคที่ ๑ จบ
รวมจริยาที่มีในวรรคนี้คือ
อกิตติดาบส สังขพราหมณ์ พระเจ้าธนัญชัยกุรุราช
พระเจ้ามหาสุทัศนจักรพรรดิราช
มหาโควินทพราหมณ์
พระเจ้าเนมิราช จันทกุมาร พระเจ้าสิวิราช
พระเวสสันดร และสสบัณฑิต
ผู้ให้ทานอันประเสริฐในกาลนั้น เป็นเรานี้เอง
การบริจาคเหล่านี้เป็นบริขารแห่งทาน เป็นทานบารมี
เราได้ให้ชีวิตเป็นทานแก่ยาจก จึงบำเพ็ญบารมีนี้ได้
เราเห็นยาจกเข้ามาเพื่อขอแล้ว ได้สละร่างกายของตนให้
ความเสมอด้วยทานของเราไม่มี
นี้เป็นทานบารมีของเรา ฉะนี้แล
การบำเพ็ญทานบารมี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๑. มาตุโปสกจริยา
๒. หัตถินาควรรค
หมวดว่าด้วยพญาช้างเป็นต้น
๒. การบำเพ็ญศีลบารมี
๑. มาตุโปสกจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาช้างตัวเลี้ยงมารดา
[๑] ในกาลที่เราเป็นช้างกุญชรเลี้ยงมารดาอยู่ในป่าใหญ่
ครั้งนั้น ในแผ่นดินนี้ไม่มีอะไรที่จะเสมอด้วยคุณ(ศีล)ของเรา
[๒] พรานป่าพบเราในป่าใหญ่แล้ว ได้กราบทูลแด่พระราชาว่า
‘ข้าแต่มหาราช ช้างมงคลซึ่งสมควรแก่พระองค์อยู่ในป่าใหญ่
[๓] อันการจับช้างนั้นไม่ต้องขุดคู
แม้การปักเสาตะลุง(เสาสำหรับผูกช้าง)
และการขุดหลุมพรางก็ไม่ต้อง
ในขณะที่จับที่งวงเท่านั้น ช้างนั้นก็จะมา ณ ที่นี้เอง พระเจ้าข้า’
[๔] ฝ่ายพระราชาได้สดับคำของพรานป่านั้นแล้ว
ก็ทรงดีพระทัย ทรงส่งควาญช้างซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ฉลาดศึกษาดีแล้วไป
[๕] ควาญช้างนั้นไปแล้ว ได้พบช้างกำลังถอนเหง้าบัวอยู่
ในสระบัวหลวง เพื่อเลี้ยงมารดา
[๖] ควาญช้างรู้คุณคือศีลของเรา พิจารณาดูลักษณะแล้วกล่าวว่า
มานี่แนะลูก แล้วได้จับที่งวงของเรา
[๗] ครั้งนั้น กำลังของเราที่มีอยู่ในกายตามปกติอันใด
วันนี้ กำลังของเรานั้นเสมอเหมือนด้วยกำลังของช้างหลายพันเชือก
[๘] ถ้าเราโกรธควาญช้างเหล่านั้น ผู้เข้ามาใกล้เพื่อจับเรา
เราก็สามารถเหยียบเขาเหล่านั้น(ให้แหลกละเอียด)ได้
แม้จนถึงราชสมบัติของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๒. ภูริทัตตจริยา
[๙] อีกอย่างหนึ่ง แม้เขาจะผูกข้าพเจ้าไว้ที่เสาตะลุง
เราก็ไม่ทำความเสียใจ เพราะรักษาศีล
เพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้บริบูรณ์
[๑๐] ถ้าเขาเหล่านั้นพึงทำลายเราที่เสาตะลุงนี้ด้วยขวานและหอกซัด
เราก็จะไม่โกรธเขาเหล่านั้นเลย
เพราะเรากลัวศีลขาด ฉะนี้แล
มาตุโปสกจริยาที่ ๑ จบ
๒. ภูริทัตตจริยา
ว่าด้วยจริยาของภูริทัตตนาคราช
[๑๑] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาคชื่อว่าภูริทัตตะ
มีฤทธิ์มาก ได้ไปยังเทวโลกพร้อมกับท้าววิรูปักษ์มหาราช
[๑๒] ในเทวโลกนั้น เราได้เห็นทวยเทพ
ผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขโดยส่วนเดียว
จึงสมาทานศีลวัตร เพื่อต้องการจะไปยังสวรรค์นั้น
[๑๓] เราชำระร่างกาย บริโภคอาหารพอเป็นเครื่องเลี้ยงชีพแล้ว
นอนบนยอดจอมปลวก อธิษฐานองค์ ๔ ประการว่า
[๑๔] ‘ผู้ใดพึงทำกิจด้วยผิวก็ดี หนังก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี
กระดูกก็ดี ผู้นั้นจงนำอวัยวะที่เราให้นี้ไปเถิด’
[๑๕] พราหมณ์อาลัมพานะผู้ที่คนอกตัญญูบอกแล้ว
ได้จับเราใส่ไว้ในตะกร้า ให้เล่นในที่นั้น ๆ
[๑๖] แม้เมื่อพราหมณ์อาลัมพานะใส่เราไว้ในตะกร้าบ้าง
บีบเราด้วยฝ่ามือบ้าง เราก็ไม่โกรธพราหมณ์อาลัมพานะนั้น
เพราะเรากลัวศีลขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๓. จัมเปยยจริยา
[๑๗] การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า
การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น
[๑๘] เราพึงสละชีวิตของเราสิ้น ๑๐๐ ชาติเนือง ๆ
เราไม่พึงทำลายศีลแม้เพราะเหตุแห่งทวีปทั้ง ๔
[๑๙] อีกอย่างหนึ่ง แม้เขาจะใส่เราไว้ในตะกร้า
เราก็ไม่ทำความเสียใจ
เพราะรักษาศีล เพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็ม ฉะนี้แล
ภูริทัตตจริยาที่ ๒ จบ
๓. จัมเปยยจริยา
ว่าด้วยจริยาของจัมเปยยกนาคราช
[๒๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาค
ชื่อว่าจัมเปยยกะ มีฤทธิ์มาก
แม้ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประพฤติธรรม เพียบพร้อมด้วยศีลวัตร
[๒๑] หมองูได้จับเราผู้ประพฤติธรรม รักษาอุโบสถ
แล้วให้เล่นรำอยู่ใกล้ประตูพระราชวัง
[๒๒] หมองูนั้นคิดสีใด คือ สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง
เราย่อมเปลี่ยนไปตามความคิดของเขา
แปลงกายให้เหมือนที่เขาคิด
[๒๓] เราได้เนรมิตบก(คือแผ่นดิน)ให้เป็นน้ำบ้าง
เนรมิตน้ำให้เป็นบกบ้าง ถ้าเราโกรธเคืองต่อหมองูนั้น
ก็พึงทำเขาให้กลายเป็นเถ้าไปในพริบตา
[๒๔] ถ้าเราจักเป็นไปตามอำนาจจิต เราก็จักเสื่อมจากศีล
เมื่อเราเสื่อมจากศีล ประโยชน์สูงสุดก็จะไม่สำเร็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๔. จูฬโพธิจริยา
[๒๕] กายของเรานี้จงแตกไป จงกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่นี้
เหมือนแกลบกระจัดกระจายอยู่ก็ตามเถิด
เราไม่ควรทำลายศีล ฉะนี้แล
จัมเปยยจริยาที่ ๓ จบ
๔. จูฬโพธิจริยา
ว่าด้วยจริยาของจูฬโพธิปริพาชก
[๒๖] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นปริพาชกชื่อว่าจูฬโพธิ
มีศีลงาม เราเห็นภพโดยความเป็นของน่ากลัว จึงออกบวช
[๒๗] นางพราหมณี ผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
ซึ่งเป็นภรรยาเก่าของเรา แม้นางมิได้อาลัยในวัฏฏะ ออกบวชแล้ว
[๒๘] เราทั้ง ๒ ไม่มีความอาลัย ตัดขาดพวกพ้อง
ไม่ห่วงใยในตระกูลและหมู่ญาติ
เที่ยวไปยังบ้านและนิคม มาถึงกรุงพาราณสี
[๒๙] เราทั้ง ๒ อยู่ ณ ที่นั้น มีปัญญารักษาตน
ไม่คลุกคลีกับสกุลกับคณะ
เราทั้ง ๒ อยู่ในพระราชอุทยานอันสงัดเงียบ ไม่พลุกพล่าน
[๓๐] พระราชาเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน
ได้ทอดพระเนตรเห็นนางพราหมณี
จึงเสด็จเข้ามาหาเราแล้วตรัสถามว่า
“นางพราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาของใคร”
[๓๑] เมื่อพระราชาตรัสถามอย่างนี้ เราได้ทูลพระองค์ดังนี้ว่า
“นางพราหมณีนี้มิใช่ภริยาของอาตมภาพ
แต่เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน มีศาสนาเดียวกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๔๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๕. มหิสราชจริยา
[๓๒] พระราชาทรงกำหนัดหนักในนางพราหมณีนั้น
จึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษจับ ทรงบีบคั้นด้วยกำลัง
สั่งให้นำเข้าไปภายในนคร
[๓๓] เมื่อภรรยาเก่าของเราซึ่งเกิดร่วมกัน
มีศาสนาเดียวกัน ถูกฉุดคร่าไป ความโกรธเกิดขึ้นแก่เรา
[๓๔] เราระลึกถึงศีลวัตรได้พร้อมกับความโกรธที่เกิดขึ้น
เราข่มความโกรธได้ ณ ที่นั้นเอง ไม่ให้มันเจริญขึ้นไปอีก
[๓๕] ถ้าใคร ๆ พึงเอาหอกอันคมกริบแทงนางพราหมณีนั้น
เราก็ไม่พึงทำลายศีลของเราเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[๓๖] นางพราหมณีนั้นจะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
และเราจะไม่มีกำลังก็หามิได้
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงตามรักษาศีลไว้ ฉะนี้แล
จูฬโพธิจริยาที่ ๔ จบ
๕. มหิสราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญากระบือ
[๓๗] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นกระบือ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่
มีกายอ้วนพี มีกำลังมาก ใหญ่โต ดูน่ากลัว
[๓๘] พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งในป่านี้ อันเป็นที่อยู่ของฝูงกระบือ
มีอยู่ที่เงื้อมภูเขาก็ดี ที่ซอกภูเขาก็ดี ที่โคนต้นไม้ก็ดี ที่ใกล้บึงก็ดี
[๓๙] เราเที่ยวไปในที่นั้น ๆ เมื่อเราเที่ยวไปในป่าใหญ่
ได้เห็นสถานที่อันเจริญ เราจึงเข้าไปยังที่นั้น
แล้วยืนพักอยู่และนอนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๕. มหิสราชจริยา
[๔๐] ครั้งนั้น ลิงป่าตัวชั่วร้าย ไม่เจริญ ลอกแลก
มาที่นั้น ถ่ายปัสสาวอุจจาระรดที่คอ ที่หน้าผาก ที่คิ้ว
[๔๑] ย่อมเบียดเบียนเราวันแรกครั้งหนึ่ง
วันที่ ๒ วันที่ ๓ วันที่ ๔ ก็วันละครั้ง
เราจึงถูกลิงนั้นเบียดเบียนตลอดกาลทั้งปวง
[๔๒] ยักษ์(เทวดา)เห็นเราถูกลิงเบียดเบียนได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า
“ท่านจงทำลิงชั่วช้าลามกตัวนี้ให้ฉิบหาย
ด้วยเขาและกีบเสียเถิด”
[๔๓] เมื่อยักษ์กล่าวอย่างนี้ในครั้งนั้นแล้ว เราได้ตอบยักษ์นั้นว่า
“เหตุไร ท่านจะให้เราเปื้อนซากศพอันลามกไม่เจริญเล่า”
[๔๔] ถ้าเราพึงโกรธต่อลิงนั้น เราก็จะพึงเลวกว่ามัน
ศีลของเราจะพึงขาด และวิญญูชนทั้งหลายก็จะพึงติเตียนเรา
[๔๕] เราเป็นผู้บริสุทธิ์ ตายเสียยังประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ที่น่าติเตียน
เราจักเบียดเบียนผู้อื่น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตได้อย่างไร
[๔๖] ลิงนี้ดูหมิ่นเราได้อย่างนี้ ก็จักกระทำแม้แก่ผู้อื่นอย่างนี้
เขาก็จักฆ่ามันเสีย เราก็จักรอดตัวไป
[๔๗] บุคคลผู้มีปัญญา อดกลั้นคำดูหมิ่นในเพราะคำของคนเลว
คนปานกลาง และคนชั้นสูง
ย่อมได้สิ่งตามที่ใจปรารถนาอย่างนี้ ฉะนี้แล
มหิสราชจริยาที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๖. รุรุราชจริยา
๖. รุรุราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาเนื้อชื่อรุรุ
[๔๘] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ
มีขนสีเหลืองคล้ายทองคำที่หลอมดีแล้ว
ประกอบด้วยศีลอันบริสุทธิ์ยิ่ง
[๔๙] เราเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ประเทศที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นรมณียสถาน สงัดเงียบปราศจากมนุษย์
เป็นที่ยินดีแห่งใจใกล้ฝั่งแม่น้ำ
[๕๐] ครั้งนั้น บุรุษถูกเจ้าหนี้เบียดเบียน
จึงโดดลงในแม่น้ำ ในกระแสน้ำข้างเหนือ
ด้วยคิดว่า เราจะเป็นหรือตายก็ตามเถอะ
[๕๑] เขาถูกกระแสน้ำพัดไปในแม่น้ำใหญ่
ตลอดคืนตลอดวัน ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา
ลอยไปท่ามกลางแม่น้ำคงคา
[๕๒] เราได้ยินเสียงของเขาผู้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาแล้ว
ไปยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำถามว่า ท่านเป็นคนเช่นไร
[๕๓] เขาถูกเราถามแล้ว ได้แจ้งเหตุของตนในกาลนั้นว่า
ข้าพเจ้ากลัว สะดุ้งต่อพวกเจ้าหนี้แล้ว จึงโดดลงยังมหานที
[๕๔] เราทำความกรุณาแก่เขา
สละชีวิตของตนว่ายน้ำไปนำเขามาในเวลากลางคืนข้างแรม
[๕๕] เรารู้กาลที่เขาสบายใจแล้ว
ได้กล่าวแก่เขาดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจะขอพรกะท่านสักข้อหนึ่ง
คือท่านอย่าบอกใครว่า ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้
[๕๖] เขาไปยังนครแล้ว พระราชาตรัสถาม
มีความต้องการทรัพย์จึงกราบทูล
เขาได้พาพระราชามายังที่อยู่ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๗. มาตังคจริยา
[๕๗] เรากราบทูลเหตุการณ์ทุกอย่างแก่พระราชา
พระราชาทรงสดับคำของเราแล้ว
ทรงสอดศรจะยิงบุรุษนั้น ตรัสว่า
“เราจักฆ่าอนารยชน ผู้ประทุษร้ายมิตรเสียในที่นี้แหละ”
[๕๘] เราตามรักษาคนผู้ประทุษร้ายมิตรนั้น
ได้มอบตัวของเราถวายว่า
ข้าแต่มหาราช ขอได้ทรงโปรดก่อนเถิด
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะทำตามพระราชประสงค์ของพระองค์
[๕๙] เราตามรักษาศีลของเรา ไม่ใช่ตามรักษาชีวิตของเรา
เพราะในกาลนั้น เราเป็นผู้รักษาศีล
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
รุรุราชจริยาที่ ๖ จบ
๗. มาตังคจริยา
ว่าด้วยจริยาของชฎิลชื่อมาตังคะ
[๖๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นชฎิลมีนามว่ามาตังคะ ตามโคตร
มีความเพียรทำลายกิเลสที่แรงกล้า มีศีล มีจิตมั่นคงดี
[๖๑] เราทั้ง ๒ คือ เราและพราหมณ์คนหนึ่ง
อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เราอยู่ข้างเหนือ พราหมณ์อยู่ข้างใต้
[๖๒] พราหมณ์เที่ยวไปตามริมฝั่งน้ำ เห็นอาศรมของเราข้างเหนือน้ำ
บริภาษเราในที่นั้น แล้วแช่งให้เราศีรษะแตก
[๖๓] ถ้าเราพึงโกรธต่อพราหมณ์นั้น ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล
เราแลดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นดังขี้เถ้าได้
[๖๔] ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นโกรธ มีจิตคิดประทุษร้าย
จึงแช่งเรา คำแช่งนั้นจะตกลงบนศีรษะของเขาเอง
เราได้ช่วยเปลื้องเขาให้พ้นโดยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๘. ธัมมเทวปุตตจริยา
[๖๕] เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่รักษาชีวิตของเรา
เพราะในกาลนั้น เราเป็นผู้รักษาศีล
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น ฉะนี้แล
มาตังคจริยาที่ ๗ จบ
๘. ธัมมเทวปุตตจริยา
ว่าด้วยจริยาของธรรมเทพบุตร
[๖๖] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นเทพบุตรนามว่าธรรมะ
มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธิ์มาก มีบริวารมาก เป็นผู้อนุเคราะห์โลกทั้งปวง
[๖๗] เราชักชวนมหาชนให้สมาทานกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
พร้อมทั้งมิตรสหาย พร้อมทั้งบริวารชนเที่ยวไปยังบ้านและนิคม
[๖๘] ครั้งนั้น เทพบุตรผู้ลามก เป็นผู้ตระหนี่
แสดงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
แม้เทพบุตรนั้น พร้อมทั้งมิตรสหาย
พร้อมทั้งบริวารชนก็เที่ยวไปบนแผ่นดินนี้
[๖๙] เราทั้ง ๒ คือ ธรรมวาทีเทพบุตรและอธรรมวาทีเทพบุตร
เป็นศัตรูต่อกัน เราทั้ง ๒ นั่งรถสวนทางกันมา
จึงทำแอกรถให้กระทบกัน
[๗๐] การทะเลาะอันน่าสะพรึงกลัวย่อมเกิดขึ้นแก่เทพบุตรทั้ง ๒
ผู้ประกอบด้วยกัลยาณธรรมและบาปธรรม
มหาสงครามปรากฏแล้ว เพื่อต้องการจะให้กันและกันหลีกทาง
[๗๑] ถ้าเราพึงโกรธเคืองอธรรมวาทีเทพบุตรนั้น
ถ้าเราพึงทำลายตบะคุณ เราพึงทำอธรรมวาทีเทพบุตรนั้น
พร้อมทั้งบริวารให้เป็นดุจธุลี
[๗๒] อีกเรื่องหนึ่ง เพื่อรักษาศีลไว้ เราจึงระงับจิตได้แล้ว
พร้อมทั้งบริวาร ได้หลีกทางให้แก่อธรรมวาทีเทพบุตรผู้ชั่วช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๙. ชยทิสจริยา
[๗๓] เพราะทำจิตให้สงบพร้อมกับหลีกทางให้
แผ่นดินได้แยกช่องแก่เทพบุตรผู้ชั่วช้าในขณะนั้น ฉะนี้แล
ธัมมเทวปุตตจริยาที่ ๘ จบ
๙. ชยทิสจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าชัยทิศ
[๗๔] ในกรุงที่ประเสริฐชื่อกัปปิลา เป็นนครที่อุดมในแคว้นปัญจาละ
ได้มีพระราชาพระนามว่าชัยทิศ ประกอบด้วยคุณคือศีล
[๗๕] เราเป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น
มีธรรมอันสดับแล้ว มีศีลดีงาม มีนามว่าอลีนสัตตกุมาร
มีคุณสงเคราะห์บริวารชนทุกเมื่อ
[๗๖] พระราชบิดาของเราเสด็จล่าเนื้อ ได้เข้าใกล้พระยาโปริสาท
พระยาโปริสาทนั้นได้จับพระราชบิดาของเราแล้วกล่าวว่า
ท่านเป็นอาหารของเรา อย่าดิ้นรนไปเลย
[๗๗] พระราชบิดาของเราทรงสดับคำของพระยาโปริสาทนั้น
ตกพระทัย สะดุ้งหวาดหวั่น มีพระเพลาแข็ง๑
เพราะทอดพระเนตรเห็นพระยาโปริสาท
[๗๘] พระยาโปริสาทรับเอาเนื้อแล้วปล่อยไปโดยบังคับให้กลับมาอีก
พระราชบิดาพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วตรัสเรียกเรามาว่า
[๗๙] ลูกเอ๋ย จงปกครองราชสมบัติ อย่าประมาทปกครองนครนี้
พระยาโปริสาทบังคับพ่อให้กลับไปหาอีก
[๘๐] เราไหว้พระราชมารดาและพระราชบิดาแล้ว
ตกแต่งร่างกาย สะพายธนู เหน็บพระแสงขรรค์
ออกไปหาพระยาโปริสาท(เราคิดว่า)

เชิงอรรถ :
๑ พระเพลาแข็ง หมายถึงขาแข็งไม่สามารถจะหนีไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] ๑๐. สังขปาลจริยา
[๘๑] พระยาโปริสาทเห็นเรามีอาวุธถืออยู่ในมือ บางทีจักสะดุ้งกลัว
แต่เพราะเมื่อเราทำความสะดุ้งกลัวต่อพระยาโปริสาท
ศีลของเราจะขาด
[๘๒] เพราะเรากลัวศีลจะขาด จึงไม่กล่าววาจาน่ารังเกียจ
แก่พระยาโปริสาทนั้น
เรามีเมตตาจิตกล่าวคำที่เป็นประโยชน์ว่า
[๘๓] “ท่านจงก่อไฟกองใหญ่ขึ้น เราจักโดดจากต้นไม้เข้ากองไฟ
ท่านปู่ ท่านรู้เวลาว่า เราสุกดีแล้วจงกินเถิด”
[๘๔] เราไม่ได้รักษาชีวิตของเราเพราะเหตุแห่งพระราชบิดาผู้ทรงศีล
และเราได้ให้พระยาโปริสาทผู้ฆ่าสัตว์เป็นปกติทุกเมื่อนั้น
บวชแล้ว ฉะนี้แล
ชยทิสจริยาที่ ๙ จบ
๑๐. สังขปาลจริยา
ว่าด้วยจริยาของสังขปาลนาคราช
[๘๕] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญานาคนามว่าสังขปาละ
มีฤทธิ์มาก มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษแรงกล้า
มีลิ้น ๒ แฉก
[๘๖] เราอยู่ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง คับคั่งไปด้วยชนต่าง ๆ
อธิษฐานองค์ ๔ ว่า
[๘๗] ผู้ใดกระทำกิจที่ควรทำด้วยอวัยวะนี้
คือผิว หนัง เนื้อ เอ็น หรือกระดูก
ผู้นั้นจงนำอวัยวะที่เราให้แล้วเท่านั้นไปเกิด
[๘๘] พวกบุตรของนายพรานเป็นคนดุร้าย หยาบช้า
ไม่มีความกรุณา ได้เห็นเราแล้ว
ถือไม้พลองตะบองสั้นกรูกันเข้ามาหาเรา ณ ที่นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๒. หัตถินาควรรค] รวมจริยาที่มีในวรรค
[๘๙] พวกบุตรของนายพรานได้แทงที่จมูก
หางและกระดูกสันหลัง ยกใส่หาบแล้ว นำเราไป
[๙๐] ถ้าเราปรารถนา ก็พึงเผามหาปฐพีซึ่งมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
พร้อมทั้งป่าทั้งภูเขาได้ด้วยลมจากจมูกในที่นั้น
[๙๑] แต่เราไม่โกรธเคืองพวกบุตรนายพราน
แม้จะแทงเราด้วยหลาว แม้จะทุบตีเราด้วยหอก
นี้เป็นศีลบารมีของเรา ฉะนี้แล
สังขปาลจริยาที่ ๑๐ จบ
หัตถินาควรรคที่ ๒ จบ
รวมจริยาที่มีในวรรคนี้คือ

๑. มาตุโปสกจริยา ๒. ภูริทัตตจริยา
๓. จัมเปยยจริยา ๔. จูฬโพธิจริยา
๕. มหิสราชจริยา ๖. รุรุราชจริยา
๗. มาตังคจริยา ๘. ธรรมเทวปุตตจริยา
๙. ชยทิสจริยา ๑๐. สังขปาลจริยา

จริยาทั้งหมดนี้เป็นกำลังของศีล เป็นบริขารเป็นข้ออ้างของศีล
เราตามรักษาศีลเพราะยังห่วงใยชีวิต
เราผู้เป็นสังขปาลนาคราชได้มอบชีวิตให้
แก่คนใดคนหนึ่ง แม้ตลอดกาลทุกเมื่อ
เพราะเหตุนั้น จริยานั้นจึงเป็นศีลบารมี ฉะนี้แล
นิทเทสแห่งศีลบารมี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑. ยุธัญชยจริยา
๓. ยุธัญชยวรรค
หมวดว่าด้วยกุมารนามว่ายุธัญชัยเป็นต้น
๓. การบำเพ็ญบารมีมีเนกขัมมะเป็นต้น
๑. ยุธัญชยจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระยุธัญชัยกุมาร
[๑] ในกาลที่เราเป็นพระราชโอรส
นามว่ายุธัญชัย มีบริวารยศหาประมาณมิได้
สลดใจเพราะได้เห็นหยาดน้ำค้างที่เหือดแห้งไปเพราะแสงดวงอาทิตย์
[๒] เราทำความเป็นอนิจจัง(ความไม่เที่ยง)นั้นแล
ให้เป็นสิ่งที่สำคัญ พอกพูนความสังเวช
ไหว้พระมารดาและพระบิดาแล้วทูลขอบรรพชา
[๓] พระมารดาและพระบิดาพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งชาวแว่นแคว้น
ประนมมืออ้อนวอนเราว่า
วันนี้ เจ้าจงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเถิดลูก
[๔] เมื่อมหาชนพร้อมทั้งพระบิดา นางสนม ชาวนิคม
และชาวแว่นแคว้น ร้องไห้ร่ำไรน่าเวทนายิ่งนัก
เราไม่ห่วงใย สละไปแล้ว
[๕] เราสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติ บริวารชน
และยศศักดิ์ทั้งสิ้น ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[๖] พระมารดาและพระบิดาจะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
ยศอันยิ่งใหญ่ จะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
ยุธัญชยจริยาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๒. โสมนัสสจริยา
๒. โสมนัสสจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระโสมนัสสกุมาร
[๗] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นบุตรสุดที่รัก
พระมารดาและพระบิดารักใคร่ เอ็นดู ปรากฏนามว่าโสมนัส
อยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดมสมบูรณ์
[๘] เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม
มีกัลยาณธรรม มีปฏิภาณ เคารพนบนอบต่อบุคคลผู้เจริญ
มีหิริ และฉลาดในสังคหธรรม
[๙] ครั้งนั้น มีดาบสโกงผู้หนึ่ง
เป็นที่โปรดปรานของพระราชาพระองค์นั้น
ดาบสนั้นทำสวนและปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับเลี้ยงชีวิต
[๑๐] เราได้เห็นดาบสโกงนั้น เหมือนกองแกลบที่ไม่มีข้าวสาร
เหมือนไม้เป็นโพรงข้างใน เหมือนต้นกล้วยหาแก่นมิได้
[๑๑] ดาบสโกงผู้นี้ ไม่มีธรรมของสัตบุรุษ
ปราศจากความเป็นสมณะ ละหิริและธรรมฝ่ายขาว
เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีวิต
[๑๒] ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น เพราะโจรเที่ยวอยู่ในดง
พระบิดาของเรา เมื่อจะเสด็จไปปราบความกำเริบนั้น ตรัสสั่งเราว่า
[๑๓] พ่ออย่าประมาทในชฎิล ผู้มีตบะแก่กล้านะลูก
พ่อจงอนุวัตรตามความปรารถนา ด้วยว่าชฎิลนั้น
เป็นผู้ให้ความสำเร็จ ความปรารถนาทั้งปวง
[๑๔] เราไปสู่ที่บำรุงชฎิลนั้นแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า
คหบดี ท่านสบายดีหรือ หรือว่าท่านจะให้นำอะไรมา
[๑๕] เหตุนั้น ดาบสโกงนั้นอาศัยมานะจึงโกรธเราว่า
เราจะให้พระราชาประหารท่านเสียในวันนี้
หรือจะให้เนรเทศเสียจากแว่นแคว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๕๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๒. โสมนัสสจริยา
[๑๖] พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทสงบราบคาบแล้ว
ได้ตรัสถามชฎิลโกงว่า พระผู้เป็นเจ้าสบายดีหรือ
สักการสัมมานะยังเป็นไปแก่พระผู้เป็นเจ้าหรือ
[๑๗] ชฎิลชั่วนั้นกราบทูลพระราชา
โดยประการที่กุมารนั้นจะพึงถูกทำให้พินาศเสีย
พระเจ้าแผ่นดินทรงสดับคำของชฎิลโกงนั้น แล้วทรงบังคับว่า
[๑๘] จงตัดศีรษะเสียในที่นั้นนั่นแหละ
จงบั่นออกเป็น ๔ ท่อน ประจานไว้ที่ถนน
นั่นเป็นตัวอย่างที่เบียดเบียนชฎิล
[๑๙] พวกโจรฆาต(ผู้ฆ่าโจร)ผู้มีใจดุร้ายหยาบคาย
ไม่มีความกรุณาเหล่านั้น ผู้ได้รับพระราชโองการไปที่นั้น
เมื่อเรานั่งอยู่บนพระเพลาของพระมารดา ก็ฉุดคร่านำเราไป
[๒๐] เราได้กล่าวแก่เขาเหล่านั้น
ซึ่งกำลังผูกมัดอย่างมั่นคงนี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงพาเราไปเฝ้าพระราชาโดยเร็ว ราชกิจของเรามีอยู่
[๒๑] เขาเหล่านั้น พาเราไปเฝ้าพระราชาผู้ชั่ว คบแต่คนชั่ว
เราไปเฝ้าพระราชาแล้ว
ทูลให้ทรงเข้าพระทัยและนำมาสู่อำนาจของเรา
[๒๒] พระบิดาขอให้เราอดโทษ ณ ที่นั้น
ได้พระราชทานสมบัติอันยิ่งใหญ่แก่เรา
เรานั้นทำลายความมืดมนแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๓] ราชสมบัติจะเป็นที่น่ารังเกียจของเราก็หาไม่
กามโภคะจะเป็นสิ่งที่เราพึงรังเกียจก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
โสมนัสสจริยาที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๓. อโยฆรจริยา
๓. อโยฆรจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระอโยฆรราชกุมาร
[๒๔] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี
เจริญวัยในเรือนเหล็ก จึงมีนามว่าอโยฆระ
[๒๕] พระบิดาตรัสว่า เจ้าได้ชีวิตมาอย่างลำบาก
ถูกเจ้านายเลี้ยงไว้ในที่แคบ ลูกเอ๋ย วันนี้จงปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น
[๒๖] เราประนมมือไหว้กษัตริย์พร้อมทั้งชาวแว่นแคว้น
พร้อมทั้งชาวนิคม และบริวารชน แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๒๗] บรรดาสัตว์ในแผ่นดิน ทั้งชั้นต่ำ ทั้งชั้นสูง
และปานกลาง สัตว์ทั้งหมดนั้นไม่มีอารักขา เจริญอยู่
ในเรือนของตนพร้อมด้วยหมู่ญาติของตน
[๒๘] การเลี้ยงดูข้าพระองค์ในที่คับแคบ
นี้เป็นความยอดเยี่ยมในโลก ข้าพระองค์เติบโตอยู่ในเรือนเหล็ก
เหมือนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ที่ไม่มีแสงสว่าง
[๒๙] ข้าพระองค์ประสูติจากครรภ์พระมารดา
อันเต็มด้วยซากศพที่เน่าแล้ว ยังถูกขังไว้ในเรือนเหล็ก
ซึ่งมีทุกข์ร้ายกว่านั้นเสียอีก
[๓๐] ข้าพระองค์ได้รับความทุกข์ร้ายอย่างยิ่งเช่นนั้นแล้ว
ถ้ายังยินดีในราชสมบัติ ก็จะเป็นผู้เลวทรามที่สุด
แห่งคนที่เลวทรามทั้งหลายเสียอีก
[๓๑] ข้าพระองค์เป็นผู้เหนื่อยหน่ายทางกาย
ไม่ต้องการราชสมบัติ
ข้าพระองค์จะแสวงหาธรรมเครื่องดับทุกข์
ที่มัจจุราชย่ำยีข้าพระองค์ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๔. ภิงสจริยา
[๓๒] เราคิดอย่างนี้แล้ว เมื่อมหาชนไม่เหนี่ยวรั้งไว้
ได้ตัดเครื่องผูกเสียแล้ว เข้าไปยังป่าใหญ่
เหมือนช้างทำลายปลอกหนีไปป่าใหญ่
[๓๓] พระมารดาและพระบิดาจะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่
ยศศักดิ์อันยิ่งใหญ่จะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล
อโยฆรจริยาที่ ๓ จบ
๔. ภิงสจริยา
ว่าด้วยจริยาของภิงสพราหมณ์
[๓๔] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราอยู่ในกรุงกาสี
ซึ่งประเสริฐสุด มีน้องหญิงชาย ๗ คน
เกิดในตระกูลโสตถิยพราหมณ์
[๓๕] เราเป็นพี่ของน้องหญิงชายเหล่านั้น
ประกอบด้วยหิริและธรรมฝ่ายขาว
เราเห็นภพโดยความเป็นภัย
จึงยินดีอย่างยิ่งในการออกบวช
[๓๖] พวกสหายร่วมใจของเรา ที่มารดาและบิดาส่งมาแล้ว
เชื้อเชิญเราด้วยกามทั้งหลายว่า เชิญท่านดำรงสกุลเถิด
[๓๗] คำใดที่สหายเหล่านั้นกล่าวแล้ว
เป็นเครื่องนำสุขมาให้ในธรรมของคฤหัสถ์
คำนั้นเป็นเหมือนคำหยาบ เสมอด้วยผาลไถที่ร้อนสำหรับเรา
[๓๘] ครั้งนั้น เราปฏิเสธอยู่
สหายเหล่านั้นได้ถามถึงความปรารถนาของเราว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๕. โสณนันทปัณฑิตจริยา
ท่านปรารถนาอะไรเล่าเพื่อน
ถ้าท่านไม่บริโภคกาม
[๓๙] เราผู้ใคร่ประโยชน์แก่ตน ได้กล่าวแก่สหาย
ผู้แสวงหาประโยชน์เหล่านั้นว่า
เราไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์
เรายินดีอย่างยิ่งในการออกบวช
[๔๐] สหายเหล่านั้นฟังคำเราแล้ว
ได้บอกแก่มารดาและบิดา
มารดาและบิดาได้กล่าวอย่างนี้ว่า
พ่อผู้เจริญ แม้เราทั้ง ๒ ก็จะบวช
[๔๑] มารดาและบิดาของเราทั้ง ๒
และน้องหญิงชายทั้ง ๗ ของเรา
ละทิ้งทรัพย์นับไม่ถ้วน
แล้วเข้าไปยังป่าใหญ่ ฉะนี้แล
ภิงสจริยาที่ ๔ จบ
๕. โสณนันทปัณฑิตจริยา
ว่าด้วยจริยาของโสณนันทบัณฑิต
[๔๒] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเกิดในตระกูลมหาศาล
ซึ่งประเสริฐสุด อยู่ในกรุงพรหมวัทธนะ
[๔๓] ครั้งนั้น เราเห็นสัตว์โลกเป็นผู้บอดถูกความมืดครอบงำ
จิตของเราเบื่อหน่ายจากภพ
เหมือนช้างที่ถูกสับด้วยกำลังขอมีความสลดใจ
[๔๔] เราเห็นความชั่วต่าง ๆ จึงคิดอย่างนี้ ในกาลนั้นว่า
เมื่อไร เราจึงจะออกไปจากเรือนแล้วเข้าป่าใหญ่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๖. มูคปักขจริยา
[๔๕] แม้ครั้งนั้น พวกญาติก็เชื้อเชิญเราด้วยกามโภคะทั้งหลาย
เราได้บอกความพอใจแม้แก่เขาเหล่านั้นว่า
อย่าเชื้อเชิญเราด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย
[๔๖] น้องชายของเราเป็นบัณฑิตชื่อว่านันทะ
แม้เขาก็คล้อยตามเรา ชอบใจการบรรพชา
[๔๗] แม้ครั้งนั้น เราคือโสณบัณฑิต นันทบัณฑิต
มารดาและบิดาทั้ง ๒ ของเรา
ก็ละทิ้งโภคะทั้งหลายแล้วเข้าป่าใหญ่ ฉะนี้แล
โสณนันทบัณฑิตจริยาที่ ๕ จบ
๖. มูคปักขจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระมูคปักขกุมาร
[๔๘] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี
ชนทั้งหลายเรียกเราโดยชื่อว่ามูคปักขกุมารบ้าง เตมิยกุมารบ้าง
[๔๙] ครั้งนั้น นางสนมกำนัล ๑๖,๐๐๐ นาง ไม่มีพระราชโอรส
โดยวันคืนล่วงไป ๆ เราเกิดขึ้นเพียงผู้เดียว
[๕๐] พระราชบิดารับสั่งให้กั้นเศวตฉัตร
ให้เลี้ยงดูเราผู้เป็นบุตรสุดที่รักซึ่งได้โดยยาก
เป็นอภิชาตบุตร ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง บนที่นอน
[๕๑] ครั้งนั้น เรานอนหลับอยู่บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม
ตื่นขึ้นแล้วได้เห็นเศวตฉัตร ซึ่งเป็นเหตุให้เราตกนรก
[๕๒] ความสะดุ้งหวาดกลัว เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
พร้อมกับได้เห็นเศวตฉัตร เราถึงความตัดสินใจว่า
เมื่อไรหนอ เราจึงจะเปลื้องราชสมบัตินี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๖. มูคปักขจริยา
[๕๓] เทวดาผู้เป็นสาโลหิตของเรามาก่อน
ผู้ใคร่ประโยชน์ต่อเรา เห็นเราประสบทุกข์
จึงแนะนำเราให้ประกอบในเหตุ ๓ ประการว่า
[๕๔] ท่านจงอย่าแสดงความเป็นบัณฑิต
จงแสดงความเป็นคนโง่แก่ชนทั้งปวง
ชนทั้งหมดก็จะดูหมิ่นท่าน
ประโยชน์จักสำเร็จแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้
[๕๕] เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวดังนี้ว่า
เทวดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกับเรา
ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
เป็นผู้ใคร่ความเกื้อกูลแก่เรา
[๕๖] ครั้นเราได้ฟังคำของเทวดานั้นแล้ว
เหมือนได้พบฝั่งในสาคร ร่าเริง ตื้นตันใจ
ได้อธิษฐานองค์ ๓ ประการ
[๕๗] คือ เราเป็นคนใบ้ เป็นคนหูหนวก
เป็นคนง่อยเปลี้ย เว้นจากคติ
เราอธิษฐานองค์ ๓ ประการนี้อยู่ ๑๖ ปี
[๕๘] ครั้งนั้น เสนาบดีเป็นต้นตรวจดูมือเท้าลิ้นและช่องหูของเราแล้ว
เห็นความไม่บกพร่องของเราก็ติเตียนว่า เป็นคนกาลกิณี
[๕๙] แต่นั้น ชาวชนบท เสนาบดี และปุโรหิตทั้งปวง
ร่วมใจกันทั้งหมด ดีใจการที่รับสั่งให้นำไปทิ้ง
[๖๐] เรานั้นได้ฟังความประสงค์ของเสนาบดีเป็นต้นนั้นแล้ว
ร่าเริง ตื้นตันใจว่า เราประพฤติตบะมาเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้วแก่เรา
[๖๑] ราชบุรุษทั้งหลายอาบน้ำให้เรา
ไล้ทาด้วยของหอม สวมราชมงกุฎราชาภิเษกแล้ว
ให้กั้นเศวตฉัตรทำประทักษิณนคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๗. กปิลราชจริยา
[๖๒] ให้กั้นไว้ ๗ วัน พอดวงอาทิตย์อุทัย
นายสารถีก็อุ้มเราขึ้นรถ เข้าไปยังป่า
[๖๓] นายสารถีหยุดรถไว้ ณ โอกาสหนึ่ง
ปล่อยรถเทียมม้าพ้นมือก็ขุดหลุมเพื่อจะฝังเราเสียในแผ่นดิน
[๖๔] พระมหากษัตริย์ทรงคุกคามการอธิษฐาน
ที่เราอธิษฐานไว้ด้วยเหตุต่าง ๆ
แต่เราก็ไม่ทำลายการอธิษฐานนั้นเด็ดขาด
เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
[๖๕] พระมารดาและพระบิดาจะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่
ตนของเราจะเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่
แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
เพราะฉะนั้น เราจึงอธิษฐานองค์ ๓ ประการนี้
[๖๖] เราอธิษฐานองค์ ๓ ประการนี้อยู่ ๑๖ ปี
บุคคลมีอธิษฐานเสมอเราไม่มี
นี้เป็นอธิษฐานบารมีของเรา ฉะนี้แล
มูคปักขจริยาที่ ๖ จบ
๗. กปิลราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาวานร
[๖๗] ในกาลที่เราเป็นพญาวานร อยู่ ณ ซอกภูเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ
ครั้งนั้น เราถูกจระเข้เบียดเบียนไปไหนไม่ได้
[๖๘] เรายืนอยู่ ณ โอกาสใด โดดจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น
จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย แสดงความน่ากลัวอยู่ ณ โอกาสนั้น
[๖๙] จระเข้นั้นกล่าวกับเราว่า “มาเถิด”
แม้เราก็กล่าวกับจระเข้นั้นว่า “แม้เราก็จะไป” ดังนี้
โดดลงเหยียบศีรษะจระเข้นั้นแล้ว ไปยืนอยู่ที่ฝั่งโน้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๙. วัฏฏกโปตกจริยา
[๗๐] เรามิได้ทำตามคำของจระเข้ที่กล่าวหลอกลวงนั้นก็หาไม่
บุคคลมีสัจจะเสมอเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
กปิลราชจริยาที่ ๗ จบ
๘. สัจจสวหยปัณฑิตจริยา
ว่าด้วยจริยาของดาบสผู้เป็นบัณฑิตชื่อว่าสัจจะ
[๗๑] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นดาบสนามว่าสัจจะ
เรารักษาสัตว์โลกไว้ด้วยคำสัจ ได้ทำหมู่ชนให้สามัคคีกัน ฉะนี้แล
สัจจสวหยปัณฑิตจริยาที่ ๘ จบ
๙. วัฏฏกโปตกจริยา
ว่าด้วยจริยาของลูกนกคุ่ม
[๗๒] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นลูกนกคุ่ม ยังอ่อน
ขนยังไม่งอก เป็นดังชิ้นเนื้อ อยู่ในรัง ในมคธชนบท
[๗๓] มารดาเอาจะงอยปากคาบเหยื่อมาเลี้ยงเรา
เราเป็นอยู่ด้วยผัสสะของมารดา
กำลังกายของเรายังไม่มี
[๗๔] ในฤดูร้อนทุก ๆ ปี มีไฟป่าไหม้ลุกลามมา
ไฟป่าเป็นทางดำลุกลามมาใกล้เรา
[๗๕] ไฟกำลังไหม้ มีเปลวโชติช่วง ส่งเสียงดัง
อื้ออึง ลามมาใกล้เราโดยลำดับ
[๗๖] มารดาและบิดาของเราตกใจ สะดุ้งกลัว
เพราะกลัวไฟที่ไหม้มาโดยเร็ว
จึงทิ้งเราไว้ในรังหนีเอาตัวรอดไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๐. มัจฉราชจริยา
[๗๗] เราเหยียดเท้า กางปีกออกรู้ว่า กำลังกายของเราไม่มี
เรานั้นไปไม่ได้ อยู่ในรังนั่นเอง จึงคิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่า
[๗๘] เมื่อก่อนเราสะดุ้งหวาดหวั่น
พึงเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในระหว่างปีกของมารดาและบิดา
บัดนี้ มารดาและบิดาทิ้งเราหนีไปเสียแล้ว
วันนี้เราจะทำอย่างไร
[๗๙] ศีลคุณ ความสัตย์ ความสะอาด
และความเอ็นดู ยังมีอยู่ในโลก
ด้วยความสัตย์นั้น เราจักทำสัจจกิริยาอันยอดเยี่ยม
[๘๐] เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้พิชิตมารซึ่งมีในก่อน
คำนึงถึงกำลังพระธรรม ได้กระทำสัจจกิริยา
เพื่อฝนคือกำลังความสัตย์ว่า
[๘๑] ปีกของเรามีอยู่ แต่ขนไม่มี เท้าของเรามีอยู่
แต่ยังเดินไม่ได้ มารดาและบิดาก็พากันบินออกไปแล้ว
แน่ะไฟจงกลับไป(จงดับไปเสีย)
[๘๒] พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา
เปลวไฟที่ลุกโชติช่วงเว้นที่ไว้ ๑๖ กรีส๑
เหมือนเปลวไฟที่จุ่มน้ำ บุคคลมีสัจจะเสมอเราไม่มี
นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
วัฏฏกโปตกจริยาที่ ๙ จบ
๑๐. มัจฉราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาปลา
[๘๓] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญาปลาอยู่ในสระใหญ่
น้ำในสระแห้งขอด เพราะแสงดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน

เชิงอรรถ :
๑ กรีส หมายถึงมาตรานับ ๑ กรีสเท่ากับ ๑๒๕ ศอก (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย์ ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๘ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๐. มัจฉราชจริยา
[๘๔] ทีนั้น นกกา นกแร้ง นกกระสา นกตะกรุม และเหยี่ยว
มาคอยจับปลากินทั้งกลางวันและกลางคืน
[๘๕] ครั้งนั้น เรากับหมู่ญาติถูกเบียดเบียนจึงคิดอย่างนี้ว่า
โดยอุบายอะไรหนอ หมู่ญาติจะพึงพ้นทุกข์ได้
[๘๖] เราคิดถึงเหตุและผลแล้ว
ได้เห็นสัจจะว่าเป็นที่พึ่งได้
จึงตั้งอยู่ในความสัตย์แล้ว
เปลื้องความพินาศใหญ่ของหมู่ญาตินั้นได้
[๘๗] เราระลึกธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงปรมัตถธรรม
ได้กระทำสัจจกิริยา
ซึ่งเป็นธรรมอันยั่งยืนเที่ยงแท้ในโลก
[๘๘] ตั้งแต่เราจำความได้ ตั้งแต่เรารู้เดียงสาได้มาจนถึงบัดนี้
เราไม่รู้สึกว่าจงใจเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งเลย
[๘๙] ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเมฆจงทำฝนห่าใหญ่ให้ตก
แน่ะเมฆ ท่านจงคำราม
จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป
ท่านจงทำกาให้ตรอมตรมด้วยความโศก
จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก
[๙๐] พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจะอันประเสริฐ
เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครืน ทำฝนให้ตก
ครู่เดียว ก็เต็มเปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม
[๙๑] ครั้นเราทำสัจจะอันประเสริฐเห็นปานนี้
อันเป็นความเพียรอันสูงสุด อาศัยกำลังเดชความสัตย์
บรรดาลฝนห่าใหญ่ให้ตก บุคคลมีสัจจะเสมอเราไม่มี
นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
มัจฉราชจริยาที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๖๙ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๑. กัณหทีปายนจริยา
๑๑. กัณหทีปายนจริยา
ว่าด้วยจริยาของกัณหทีปายนดาบส
[๙๒] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นฤาษีนามว่ากัณหทีปายนะ
เราไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์เกินกว่า ๕๐ ปี
[๙๓] ใคร ๆ จะรู้ใจเราที่ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์นั้นหามิได้
แม้เราก็ไม่บอกแก่ใคร ๆ ว่า ความไม่ยินดี
และความยินดีมีในใจของเรา
[๙๔] สหายเพื่อนพรหมจารีของเราชื่อว่ามัณฑัพยะ
เป็นฤๅษีมีอานุภาพมาก
ประกอบด้วยบุพกรรม(กรรมเก่าให้ผล)
ถูกหลาวเสียบ
[๙๕] เราช่วยเหลือพยาบาลมัณฑัพยดาบสนั้นให้หายโรคแล้ว
ได้อำลากลับมายังอาศรมของเราเอง
[๙๖] พราหมณ์ผู้เป็นสหายของเรา ได้พาภริยาและบุตร
ทั้ง ๓ คนพร้อมใจกันเป็นแขกของเรา
[๙๗] เรานั่งเจรจาปราศรัยกับสหาย
และภรรยาของเขาอยู่ในอาศรมของตน
เด็กโยนลูกข่างเล่นอยู่ ทำให้อสรพิษโกรธแล้ว
[๙๘] ทีนั้น เด็กนั้นใช้มือควานหาตามทางที่ลูกข่างหมุนไป
มือไปถูกหัวอสรพิษเข้า
[๙๙] พอไปถูกหัวของมัน งูก็โกรธ
มันเคืองจนเหลือจะอดกลั้นอาศัยกำลังพิษ ได้กัดเด็กทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๐ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๒. สุตโสมจริยา
[๑๐๐] เด็กถูกงูมีพิษกล้ากัด ล้มลงที่พื้นดิน
เหตุนั้น เราเป็นผู้ได้รับทุกข์
หรือว่าทุกข์นั้นเนื่องจากเรา
[๑๐๑] เราได้ปลอบมารดาและบิดาของเด็กนั้น
ผู้มีทุกข์เศร้าโศกให้เบาใจแล้ว
ได้ทำสัจจกิริยาอันประเสริฐสุดครั้งแรกว่า
[๑๐๒] เราผู้ต้องการบุญ ได้ประพฤติพรหมจรรย์
มีจิตเลื่อมใสอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น
ต่อจากนั้น การประพฤติของเรามีมาเกิน ๕๐ ปีนี้
[๑๐๓] เราไม่ปรารถนาเลย แต่ก็ยังประพฤติอยู่
ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เด็กนี้
พิษจงระงับ ยัญญทัตตกุมารจงเป็นอยู่เถิด
[๑๐๔] พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา
มาณพซึ่งสั่นเทาด้วยกำลังพิษ
ก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นได้ และหายโรค
บุคคลมีสัจจะเสมอเราไม่มี
นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
กัณหทีปายนจริยาที่ ๑๑ จบ
๑๒. สุตโสมจริยา
ว่าด้วยจริยาของพระเจ้าสุตโสม
[๑๐๕] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระเจ้าแผ่นดินนามว่าสุตโสม
ถูกพระยาโปริสาทจับตัวไปได้
ระลึกถึงคำผัดเพี้ยนไว้กะพราหมณ์(โปริสาท)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๑ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๓. สุวัณณสามจริยา
[๑๐๖] พระยาโปริสาทใช้เชือกร้อยฝ่ามือกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ไว้แล้ว
ทำกษัตริย์เหล่านั้นให้เมื่อยล้าแล้ว
เมื่อต้องการจะทำพลีกรรมให้สำเร็จจึงนำเราเข้าไป
[๑๐๗] พระยาโปริสาทได้ถามเราว่า
ท่านปรารถนาจะให้ปล่อยหรือ
ถ้าท่านจะกลับมาหาเรา
เราจักทำตามใจชอบของท่าน
[๑๐๘] เรารับคำพระยาโปริสาทนั้นว่า
การกลับมาของเรามีปัญญาหรือ
แล้วเข้าไปยังนครที่น่ารื่นรมย์
มอบราชสมบัติแล้ว ในกาลนั้น
[๑๐๙] เพราะเราระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ เป็นของเก่า
อันพระชินเจ้าเป็นต้นเสพแล้ว
ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้ว
จึงเข้าไปหาพระยาโปริสาท
[๑๑๐] ในการกลับมายังสำนักของพระยาโปริสาทนั้น
เราไม่มีความสงสัยว่าจักถูกฆ่าหรือไม่
เราตามรักษาสัจจวาจา ยอมสละชีวิตเข้าไปหาพระยาโปริสาท
บุคคลมีสัจจะเสมอเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล
สุตโสมจริยาที่ ๑๒ จบ
๑๓. สุวัณณสามจริยา
ว่าด้วยจริยาของพระสุวรรณสามดาบส
[๑๑๑] ในกาลที่เราเป็นดาบสชื่อสามะ ถูกท้าวสักกะเชื้อเชิญมาอยู่ในป่า
เรากับราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๒ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] ๑๔. เอกราชจริยา
ต่างน้อมเมตตาเข้าหากัน
(เราเข้าใกล้ราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่ได้ด้วยเมตตา)
[๑๑๒] เราแวดล้อมด้วยราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี กระบือ เนื้อฟาน และหมูป่า อยู่ในป่าใหญ่
[๑๑๓] สัตว์อะไร ๆ มิได้สะดุ้งกลัวเรา
แม้เราก็มิได้กลัวสัตว์อะไร ๆ
เพราะเรามีกำลังเมตตาค้ำจุน
จึงยินดีอยู่ในป่า ในกาลนั้น ฉะนี้แล
สุวัณณสามจริยาที่ ๑๓ จบ
๑๔. เอกราชจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าเอกราช
[๑๑๔] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชา
ปรากฏนามว่าเอกราช ครั้งนั้น เราอธิษฐานศีลที่บริสุทธิ์ยิ่ง
ปกครองแผ่นดินใหญ่
[๑๑๕] สมาทานกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ประพฤติโดยไม่มีเศษ
สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ๑
[๑๑๖] เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาทประโยชน์ในโลกนี้
และประโยชน์ในโลกหน้า ด้วยอาการอย่างนี้
พระเจ้าโกศลพระนามว่าทัพพเสน มาชิงเอานครของเราไป
[๑๑๗] ทรงทำข้าราชการ ชาวนิคม พร้อมด้วยทหาร ชาวชนบท
ให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์หมดแล้ว ตรัสสั่งให้ฝังเราเสียในหลุม

เชิงอรรถ :
๑ ดู สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) เปยยวัชชะ (๓) อัตถจริยา (๔) สมานัตตตา (ที.ปา. (แปล)
๑๑/๓๑๓/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๓ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] รวมจริยาที่มีในวรรคนี้
[๑๑๘] เราเห็นหมู่อำมาตย์ที่แย่งชิงราชสมบัติ
ที่มั่งคั่งภายในนครเราไป เหมือนบุตรที่รัก
บุคคลมีเมตตาเสมอเราไม่มี
นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา ฉะนี้แล
เอกราชจริยาที่ ๑๔ จบ
๑๕. มหาโลมหังสจริยา
ว่าด้วยจริยาของมหาโลมหังสบัณฑิต
[๑๑๙] เรานอนอยู่ในป่าช้า เอาซากศพซึ่งมีแต่กระดูกทำเป็นหมอนหนุน
เด็กชาวบ้านพวกหนึ่ง พากันแสดงอาการหยาบช้าร้ายกาจนานัปการ
[๑๒๐] อีกพวกหนึ่งร่าเริงดีใจ พากันนำของหอม ดอกไม้ อาหาร
และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ เป็นอันมากมาให้เรา
[๑๒๑] พวกใดนำทุกข์มาให้เรา และพวกใดนำสุขมาให้เรา
เราเป็นผู้เสมอแก่เขาทั้งหมด ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ
[๑๒๒] เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ
เป็นผู้เสมอในสิ่งทั้งปวง
นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา ฉะนี้แล
มหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕ จบ
ยุธัญชยวรรคที่ ๓ จบ
รวมจริยาที่มีในวรรคนี้คือ
เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ประพฤติจริยาดังนี้ คือ
๑. ยุธัญชยจริยา ๒. โสมนัสสจริยา
๓. อโยฆรจริยา ๔. ภิงสจริยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๔ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] รวมจริยาที่มีในวรรคนี้

๕. โสณนันทปัณฑิตจริยา ๖. มูคปักขจริยา
๗. กปิลราชจริยา ๘. สัจจสวหยปัณฑิตจริยา
๙. วัฏฏกโปตกจริยา ๑๐. มัจฉราชจริยา
๑๑. กัณหทีปายนจริยา ๑๒. สุตโสมจริยา
๑๓. สุวัณณสามจริยา ๑๔. เอกราชจริยา
๑๕. มหาโลมหังสจริยา

ได้เสวยทุกข์และสมบัติมากมายหลายอย่าง
เราได้ให้ทานที่ควรให้ บำเพ็ญศีลโดยหาเศษมิได้
ถึงเนกขัมมบารมีแล้ว จึงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
เราสอบถามบัณฑิตทั้งหลาย ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์
ถึงขันติบารมีแล้ว จึงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
เรากระทำอธิษฐานอย่างมั่นคง ตามรักษาสัจจวาจา
ถึงเมตตาบารมีแล้ว จึงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
เราเป็นผู้มีจิตเสมอในลาภและความเสื่อมลาภ
ในยศและความเสื่อมยศ ในความนับถือและการดูหมิ่นทั้งปวงแล้ว
จึงบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัย
และเห็นการทำความเพียรโดยเป็นทางเกษม
แล้วจงปรารภความเพียรเถิด
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย
และเห็นความไม่วิวาทโดยเป็นทางเกษม
แล้วจงกล่าววาจาอ่อนหวานอันสมัครสมานกันเถิด
นี้เป็นคำสั่งของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๕ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] สโมธานกถา
ท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นทางเกษมแล้ว
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเถิด
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
นิเทสแห่งเนกขัมมบารมีเป็นต้น จบ
ทราบว่าพระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงยกย่องบุพจริยา
ของพระองค์ จึงได้ตรัสธรรมปริยายชื่อพุทธาปทานีย์
ด้วยประการฉะนี้แล
สโมธานกถา
สรุปการบำเพ็ญบารมี ๓๐
พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
“การบำเพ็ญบารมีอันเป็นธรรมเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้
จัดเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐
คือ การบำเพ็ญทานในภพที่เป็นพระเจ้าสิวิราช
ผู้ประเสริฐเป็นทานบารมี ๑
ในภพที่เราเป็นเวสสันดรและเวลามพราหมณ์เป็นทานอุปบารมี ๒
ในภพที่เราเป็นอกิตติดาบสอดอาหารนั้น เป็นทานอุปบารมี
ในภพที่เราเป็นพญาไก่ป่า สีลวนาคและพญากระต่าย
เป็นทานปรมัตถบารมี ๓
ในภพที่เราเป็นพญาวานร ช้างฉัททันต์และช้างเลี้ยงมารดา
เป็นศีลบารมี” ๔
การรักษาศีลในภพที่เราเป็นจัมเปยยนาคราช
และภูริทัตตนาคราชเป็นศีลอุปบารมี ๕
ในภพที่เราเป็นสังขปาลบัณฑิตเป็นศีลปรมัตถบารมี ๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๖ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] สโมธานกถา
ในภพที่เราเป็นยุธัญชัยกุมาร มหาโควินทพราหมณ์ คนเลี้ยงช้าง
อโยฆรราชโอรส ภัลลาติ สุวรรณสาม มฆเทพ
และเนมิราช บารมีเหล่านี้เป็นอุปบารมี
ในภพที่เราเป็นมโหสถ ผู้เป็นทรัพย์ของรัฐ กุณฑล ตัณฑิละ
และนกกระทา บารมีเหล่านี้เป็นปัญญาอุปบารมี ๗
ในภพที่เราเป็นวิธูรบัณฑิตและสุริยพราหมณ์ มาตังคพราหมณ์
ผู้เป็นศิษย์เก่าของอาจารย์ บารมีทั้ง ๒ นี้ เป็นปัญญาบารมี ๘
ในภพที่เราเป็นพระราชาผู้มีศีล มีความเพียร
เป็นผู้ก่อเกิดสัตตุภัสตชาดก บารมีนี้แลเป็นปัญญาปรมัตถบารมี ๙
ในภพที่เราเป็นพระราชา ผู้มีความบากบั่น
เป็นวิริยปรมัตถบารมี ๑๐
ในภพที่เราเป็นธรรมปาลกุมารเป็นขันติบารมี ๑๒
ในภพที่เราเป็นธรรมิกเทพบุตร
ทำสงครามกับอธรรมิกเทพบุตร
เรียกว่าขันติอุปบารมี ๑๓
ในภพที่เราเป็นขันติวาทีดาบสแสวงหาพุทธภูมิ
ด้วยการบำเพ็ญขันติบารมี
ได้ทำกรรมที่ทำได้ยากเป็นอันมาก นี้เป็นขันติปรมัตถบารมี ๑๔
ในภพที่เราเป็นสสบัณฑิต นกคุ่ม ซึ่งประกาศคุณสัจจะ
ทำไฟให้ดับด้วยสัจจะ นี้เป็นสัจจบารมี ๑๕
ในภพที่เราเป็นปลาอยู่ในน้ำ ได้ทำสัจจะอย่างสูง
ทำฝนให้ตกห่าใหญ่ นี้เป็นสัจจบารมีของเรา
ในภพที่เราเป็นสุปารบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์
ยังเรือให้ข้ามสมุทรจนถึงฝั่งด้วยสัจจะ
เป็นกัณหทีปายนดาบส ระงับพิษได้ด้วยสัจจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๗ }

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๓. ยุธัญชยวรรค] สโมธานกถา
และเป็นวานรข้ามกระแสแม่น้ำคงคาได้ด้วยสัจจะ
นี้เป็นบารมีของพระศาสดา บารมีนั้นเป็นอุปปารมี ๑๖
ในภพที่เป็นสุตโสมราชา รักษาสัจจะอย่างสูง
ช่วยปล่อยกษัตริย์ ๑๐๑ นี้เป็นสัจจปรมัตถบารมี ๑๗
อะไรที่จะเป็นความพอใจไปกว่าอธิษฐาน นี้เป็นอธิษฐานบารมี ๑๘
ในภพที่เราเป็นมาตังคชฎิลและช้างมาตังคะ
นี้เป็นอธิษฐานอุปบารมี ๑๙
ในภพที่เราเป็นมูคปักขกุมารเป็นอธิษฐานปรมัตถบารมี ๒๐
ในภพที่เราเป็นมหากัณหฤๅษีและพระเจ้าโสธนะ
และบารมี ๒ อย่างคือ
ในภพที่เราเป็นพระเจ้าพรหมทัตต์และคัณฑิติณฑกะ
ที่กล่าวมาแล้วเป็นเมตตาบารมี ๒๑
ในภพที่เราเป็นโสณนันทบัณฑิตผู้ทำความรัก
บารมีเหล่านั้นเป็นเมตตาอุปบารมี ๒๒
ในภพที่เราเป็นพระเจ้าเอกราช เป็นบารมีไม่มีของผู้อื่นเหมือน
นี้เป็นเมตตาปรมัตถบารมี ๒๓
ในภพที่เราเป็นนกแขกเต้า ๒ ครั้ง เป็นอุเบกขาบารมี ๒๔
ในภพที่เราเป็นโลมหังสบัณฑิต เป็นอุเบกขาปรมัตถบารมี ๒๖
บารมีของเรา ๑๐ ประการนี้ เป็นส่วนแห่งพระโพธิญาณอันเลิศ
บารมีที่เกินกว่า ๑๐ ไม่มี และบารมีที่หย่อนกว่า ๑๐ ก็ไม่มี
เราบำเพ็ญบารมีทุกอย่าง ไม่ยิ่งไม่หย่อน
เป็นบารมี ๑๐ ประการฉะนี้แล
สโมธานกถา จบ
จริยาปิฎก จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๗๗๘ }

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก จบ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น