Google Analytics 4

ร่วมแชร์เป็นธรรมทานนะครับ

เล่มที่ ๓๖-๕ หน้า ๑๕๖ - ๑๙๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖-๕ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๓ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ



พระอภิธรรมปิฎก
ปุคคลบัญญัติ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๑. เอกกปุคคลบัญญัติ
[๓๙] บุคคลผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคล
นั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นโดยต้องใช้ความพยายามมากเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี
[๔๐] บุคคลผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา
บุคคลนั้นจุติจากอวิหาภพแล้วไปสู่ชั้นอตัปปาภพ จุติจากชั้นอตัปปาภพแล้วไปสู่ชั้น
สุทัสสาภพ จุติจากชั้นสุทัสสาภพแล้วไปสู่ชั้นสุทัสสีภพ จุติจากชั้นสุทัสสีภพแล้ว
ไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ ยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในชั้นอกนิฏฐภพเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง
บุคคลนี้เรียกว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
[๔๑] บุคคลผู้เป็นโสดาบันและบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
เป็นไฉน
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๓ ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
บุคคลใดละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโสดาบัน
[๔๒] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบางชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล บุคคลใดทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบาง บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นสกทาคามี
[๔๓] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละกามราคะและพยาบาทโดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล บุคคลใดละกามราคะและพยาบาทได้โดยไม่เหลือ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี
[๔๔] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา
โดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล บุคคลใดละรูปราคะ อรูปราคะ
มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้โดยไม่เหลือ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอรหันต์
เอกกนิทเทส จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๕๖ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๔๕] บุคคลผู้มักโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิด
ประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะ
ที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด
ความที่จิตไม่เบิกบาน นี้เรียกว่า ความโกรธ บุคคลใดยังละความโกรธนี้ไม่ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มักโกรธ
[๔๖] บุคคลผู้ผูกโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความผูกโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธในเบื้องต้นชื่อว่าความโกรธ ความโกรธในเวลาต่อมาชื่อว่าความ
ผูกโกรธ ความผูกโกรธ กิริยาที่ผูกโกรธ ภาวะที่ผูกโกรธ ความไม่หยุดโกรธ
การตั้งความโกรธไว้ การดำรงความโกรธไว้ การโผลงไปตามความโกรธ การตาม
ผูกความโกรธไว้ การทำความโกรธให้มั่น นี้เรียกว่า ความผูกโกรธ บุคคลใดยัง
ละความผูกโกรธนี้ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ผูกโกรธ
[๔๗] บุคคลผู้มักลบหลู่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความลบหลู่ เป็นไฉน
ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่ ความดูหมิ่น การกระทำความ
ดูหมิ่น นี้เรียกว่า ความลบหลู่ บุคคลใดยังละความลบหลู่นี้ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มักลบหลู่
[๔๘] บุคคลผู้ตีเสมอ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตีเสมอ เป็นไฉน
ความตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ตีเสมอ สภาวธรรมที่เป็นอาหารแห่ง
ความตีเสมอโดยนำเอาชัยชนะของตนมาอ้างเหตุแห่งความวิวาท ความแข่งดี
ความไม่ยอมสละ นี้เรียกว่า ความตีเสมอ บุคคลใดยังละความตีเสมอนี้ไม่ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ตีเสมอ
[๔๙] บุคคลผู้มีความริษยา เป็นไฉน ในข้อนั้น ความริษยา เป็นไฉน
ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ริษยา ความเกลียดชัง กิริยาที่เกลียดชัง
ภาวะที่เกลียดชังในเมื่อผู้อื่นได้ลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การ
กราบไหว้ และการบูชา นี้เรียกว่า ความริษยา บุคคลใดยังละความริษยานี้ไม่ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๕๗ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๕๐] บุคคลผู้มีความตระหนี่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตระหนี่ เป็นไฉน
ความตระหนี่ ๕ อย่าง คือ
๑. ความตระหนี่ที่อยู่ ๒. ความตระหนี่ตระกูล
๓. ความตระหนี่ลาภ ๔. ความตระหนี่วรรณะ
๕. ความตระหนี่ธรรม
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความหวงแหน ความเหนียวแน่น
ความปกปิด ความมีจิตไม่เผื่อแผ่ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ บุคคลใดยังละความ
ตระหนี่นี้ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความตระหนี่
[๕๑] บุคคลผู้โอ้อวด เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโอ้อวด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้โอ้อวดจัด ความโอ้อวด กิริยาที่
โอ้อวด ภาวะที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข็งกระด้าง การพูดเป็นเหลี่ยมคู
กิริยาที่พูดแอบอ้าง นี้เรียกว่า ความโอ้อวด บุคคลใดยังละความโอ้อวดนี้ไม่ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้โอ้อวด
[๕๒] บุคคลผู้มีมายา เป็นไฉน ในข้อนั้น มายา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะเหตุจะ
ปกปิดทุจริตนั้นจึงตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาว่า “ใครๆ อย่ารู้จักเรา”
ดำริว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” กล่าวว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” พยายามทางกายว่า
“ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” ความเจ้าเล่ห์ ความเป็นคนเจ้าเล่ห์ กิริยาที่หลอกให้หลง
ความหลอกลวง ความโกง ความกลบเกลื่อน ความหลีกเลี่ยง ความซ่อน
ความซ่อนบัง ความปิดบัง ความปกปิด การไม่ทำให้ชัดเจน การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง
การปิดบังอำพรางกิริยาที่เลวทรามเช่นนี้ นี้เรียกว่า มายา บุคคลใดยังละมายานี้
ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีมายา
[๕๓] บุคคลผู้ไม่มีหิริ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความไม่มีหิริ เป็นไฉน
กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประพฤติทุจริตที่ควรละอาย กิริยาที่ไม่ละอายต่อการ
ประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า ความไม่มีหิริ บุคคลผู้
ประกอบด้วยความไม่มีหิรินี้ชื่อว่าผู้ไม่มีหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๕๘ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๕๔] บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความไม่มีโอตตัปปะ
เป็นไฉน
กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัว
ต่อการประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า ความไม่มีโอตตัปปะ
บุคคลผู้ประกอบด้วยความไม่มีโอตตัปปะนี้ชื่อว่าผู้ไม่มีโอตตัปปะ
[๕๕] บุคคลผู้ว่ายาก เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้ว่ายาก เป็นไฉน
กิริยาของผู้ว่ายาก ภาวะของผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ว่ายาก ความยึดถือข้าง
ขัดขืน ความพอใจการโต้แย้ง ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่
เคารพและไม่รับฟังในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยชอบ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่ายาก
บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ว่ายากนี้ชื่อว่าผู้ว่ายาก
[๕๖] บุคคลผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน
บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ทุศีล สดับมาน้อย มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม
การเสพ การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี
ความจงรักภักดีต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีมิตรชั่วนี้ชื่อว่า
ผู้มีมิตรชั่ว
[๕๗] บุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้
ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ๑ แยกถือ๒ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็เป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมทั้งหลายคืออภิชฌา

เชิงอรรถ :
๑ รวบถือ ในที่นี้หมายถึงการมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือเป็นชาย เช่น
เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาด้วย
อำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๗)
๒ แยกถือ ในที่นี้หมายถึงการมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น
เห็นมือเท้าว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือ
ไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอารมณ์ที่น่าปรารถนา ถ้าเห็นว่าไม่สวยไม่น่ารักก็เกิดอารมณ์ที่ไม่น่า
ปรารถนา (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๕๙ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่ระวังจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง
เสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจ เป็นผู้รวบถือ แยกถือ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็เป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมทั้งหลายคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่ระวังจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ความ
ไม่คุ้มครอง กิริยาที่ไม่คุ้มครอง ความไม่รักษา ความไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็น
ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์นี้ชื่อว่าผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์
[๕๘] บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็น
ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่พิจารณาโดยแยบคายกลืนกินอาหารเพื่อเล่น เพื่อ
ความมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความเป็นผู้ไม่รู้จัก
ประมาณในการพิจารณาแล้วบริโภคโภชนาหารนั้น นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ไม่รู้จัก
ประมาณในการบริโภค บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการ
บริโภคนี้ชื่อว่า ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
[๕๙] บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้มีสติหลงลืม
เป็นไฉน
ความระลึกไม่ได้ ความไม่ตามระลึก ความไม่หวนระลึก ความระลึกไม่ได้
อาการที่ระลึกไม่ได้ ความทรงจำไม่ได้ ความเลื่อนลอย ความหลงลืม นี้เรียกว่า
ความเป็นผู้มีสติหลงลืม บุคคลผู้ประกอบด้วยความมีสติหลงลืมนี้ชื่อว่าผู้มีสติหลงลืม
[๖๐] บุคคลผู้ไม่มีสัมปชัญญะ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความไม่มีสัมปชัญญะ
เป็นไฉน
ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้
ตามความเป็นจริง ความไม่รู้แจ้งตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลง
อย่างรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความไม่ทำให้ประจักษ์ ความ
ทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความหลุ่มหลง ความหลงใหล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๐ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
อวิชชา อวิชโชฆะ อวิชชาโยคะ อวิชชานุสัย ปริยุฏฐานกิเลสคืออวิชชา ลิ่มคือ
อวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่า ความไม่มีสัมปชัญญะ บุคคลผู้ประกอบ
ด้วยความไม่มีสัมปชัญญะนี้ชื่อว่าผู้ไม่มีสัมปชัญญะ
[๖๑] บุคคลผู้มีศีลวิบัติ เป็นไฉน ในข้อนั้น ศีลวิบัติ เป็นไฉน
การล่วงละเมิดทางกาย การล่วงละเมิดทางวาจา การล่วงละเมิดทั้งทางกาย
และทางวาจา นี้เรียกว่า ศีลวิบัติ ความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งหมดชื่อว่าศีลวิบัติ
บุคคลผู้ประกอบด้วยศีลวิบัตินี้ชื่อว่าผู้มีศีลวิบัติ
[๖๒] บุคคลผู้มีทิฏฐิวิบัติ เป็นไฉน ในข้อนั้น ทิฏฐิวิบัติ เป็นไฉน
ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มี
ผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ
บิดาไม่มีคุณ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้ง
โลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งไม่มีในโลก ดังนี้ ทิฏฐิ
ความเห็นผิด รกชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นอันเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ
ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สังโยชน์คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความถือผิด
ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิที่เป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ ความยึดถือโดย
คลาดเคลื่อน นี้เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ มิจฉาทิฏฐิแม้ทั้งหมดชื่อว่าทิฏฐิวิบัติ บุคคลผู้
ประกอบทิฏฐิวิบัตินี้ชื่อว่าผู้มีทิฏฐิวิบัติ
[๖๓] บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายใน เป็นไฉน
บุคคลใดยังละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีสังโยชน์
ในภายใน
[๖๔] บุคคลผู้มีสังโยชน์ในภายนอก เป็นไฉน
บุคคลใดยังละสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ ประการไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีสังโยชน์
ในภายนอก
[๖๕] บุคคลผู้ไม่มักโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิด
ประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๑ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
ที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด
ความที่จิตไม่เบิกบาน นี้เรียกว่า ความโกรธ บุคคลใดละความโกรธนี้ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ไม่มักโกรธ
[๖๖] บุคคลผู้ไม่ผูกโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความผูกโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธในเบื้องต้นชื่อว่าความโกรธ ความโกรธในเวลาต่อมาชื่อว่าความ
ผูกโกรธ ความผูกโกรธ กิริยาที่ผูกโกรธ ภาวะที่ผูกโกรธ ความไม่หยุด
โกรธ การตั้งความโกรธไว้ การดำรงความโกรธไว้ การโผลงไปตามความโกรธ
การตามผูกความโกรธไว้ การทำความโกรธให้มั่น นี้เรียกว่า ความผูกโกรธ
บุคคลใดละความผูกโกรธนี้ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่ผูกโกรธ
[๖๗] บุคคลผู้ไม่ลบหลู่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความลบหลู่ เป็นไฉน
ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่ ความดูหมิ่น การกระทำความ
ดูหมิ่น นี้เรียกว่า ความลบหลู่ บุคคลใดละความลบหลู่นี้ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่
ลบหลู่
[๖๘] บุคคลผู้ไม่ตีเสมอ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตีเสมอ เป็นไฉน
ความตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ตีเสมอ สภาวธรรมที่เป็นอาหารแห่ง
ความตีเสมอโดยการนำเอาชัยชนะของตนมาอ้างเหตุแห่งความวิวาท ความแข่งดี
ความไม่ยอมสละ นี้เรียกว่า ความตีเสมอ บุคคลใดละความตีเสมอนี้ได้ บุคคลนี้
เรียกว่า ผู้ไม่ตีเสมอ
[๖๙] บุคคลผู้ไม่มีความริษยา เป็นไฉน ในข้อนั้น ความริษยา เป็นไฉน
ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ริษยา ความเกลียดชัง กิริยาที่เกลียดชัง
ภาวะที่เกลียดชังในเมื่อผู้อื่นได้ลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การ
กราบไหว้และการบูชา นี้เรียกว่า ความริษยา บุคคลใดละความริษยานี้ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๒ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๗๐] บุคคลผู้ไม่มีความตระหนี่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตระหนี่ เป็นไฉน
ความตระหนี่ ๕ อย่าง คือ
๑. ความตระหนี่ที่อยู่ ๒. ความตระหนี่ตระกูล
๓. ความตระหนี่ลาภ ๔. ความตระหนี่วรรณะ
๕. ความตระหนี่ธรรม
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความหวงแหน ความ
เหนียวแน่น ความปกปิด ความมีจิตไม่เผื่อแผ่ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ บุคคล
ใดละความตระหนี่นี้ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความตระหนี่
[๗๑] บุคคลผู้ไม่โอ้อวด เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโอ้อวด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้โอ้อวดจัด ความโอ้อวด กิริยาที่
โอ้อวด ภาวะที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข้งกระด้าง การพูดเป็นเหลี่ยมคู
กิริยาที่พูดแอบอ้าง นี้เรียกว่า ความโอ้อวด บุคคลใดละความโอ้อวดนี้ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ไม่โอ้อวด
[๗๒] บุคคลผู้ไม่มีมายา เป็นไฉน ในข้อนั้น มายา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะเหตุจะ
ปกปิดทุจริตนั้นจึงตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา”
ดำริว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” กล่าวว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” พยายามทางกายว่า
“ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” ความเจ้าเล่ห์ ความเป็นคนเจ้าเล่ห์ กิริยาที่หลอกให้หลง
ความหลอกลวง ความโกง ความกลบเกลื่อน ความหลีกเลี่ยง ความซ่อน
ความซ่อนบัง ความปิดบัง ความปกปิด การไม่ทำให้ชัดเจน การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง
การปิดบังอำพราง กิริยาที่เลวทรามเช่นนี้ นี้เรียกว่า มายา บุคคลใดละมายานี้ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีมายา
[๗๓] บุคคลผู้มีหิริ เป็นไฉน ในข้อนั้น หิริ เป็นไฉน
กิริยาที่ละอายต่อการประพฤติทุจริตที่ควรละอาย กิริยาที่ละอายต่อการ
ประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า หิริ บุคคลผู้ประกอบด้วยหิริ
นี้ชื่อว่าผู้มีหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๓ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๗๔] บุคคลผู้มีโอตตัปปะ เป็นไฉน ในข้อนั้น โอตตัปปะ เป็นไฉน
กิริยาที่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่เกรงกลัวต่อ
การประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า โอตตัปปะ บุคคลผู้
ประกอบด้วยโอตตัปปะนี้ชื่อว่าผู้มีโอตตัปปะ
[๗๕] บุคคลผู้ว่าง่าย เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นไฉน
กิริยาของผู้ว่าง่าย ภาวะของผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้ว่าง่าย ความไม่ยึดถือข้าง
ขัดขืน ความพอใจในการไม่โต้แย้ง ความเอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้เอื้อเฟื้อ ความเคารพ
และรับฟังในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยชอบ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่าง่าย บุคคลผู้
ประกอบด้วยความเป็นผู้ว่าง่ายนี้ชื่อว่าผู้ว่าง่าย
[๗๖] บุคคลผู้มีมิตรดี เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นไฉน
บุคคลผู้มีศรัทธา มีศีล สดับมามาก มีความเสียสละ มีปัญญา การเสพ
การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี ความจงรักภักดี
ต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น นี้เรียกว่า
ความเป็นผู้มีมิตรดี บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีมิตรดีนี้ชื่อว่าผู้มีมิตรดี
[๗๗] บุคคลผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้คุ้ม
ครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็เป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมทั้งหลายคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมระวังจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจ เป็นผู้ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
ทั้งหลายคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมระวังมนินทรีย์ ย่อมถึงความ
สำรวมในมนินทรีย์ ความคุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง การรักษา การสำรวมอินทรีย์
ทั้ง ๖ เหล่านี้ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ บุคคลผู้ประกอบ
ด้วยความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ นี้ชื่อว่าผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๔ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกปุคคลบัญญัติ
[๗๘] บุคคลผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้
รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร มิใช่เพื่อเล่น
มิใช่เพื่อความมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตกแต่ง เพียงเพื่อความดำรงอยู่
แห่งกายนี้ เพื่อยังชีวิตินทรีย์ให้เป็นไป เพื่อกำจัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่อย่างผาสุกจักมีแก่เรา”
ความเป็นผู้สันโดษ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการพิจารณาแล้วบริโภคในโภชนาหารนั้น
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็น
ผู้รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ชื่อว่าผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[๗๙] บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นไฉน ในข้อนั้น สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ
ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติอันใด นี้
เรียกว่า สติ บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินี้ชื่อว่าผู้มีสติตั้งมั่น
[๘๐] บุคคลผู้มีสัมปชัญญะ เป็นไฉน ในข้อนั้น สัมปชัญญะ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความ
กำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะ
ที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความคิดค้น ความใคร่ครวญ
ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความ
เห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ
ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง
คือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ บุคคลผู้ประกอบด้วย
สัมปชัญญะนี้ชื่อว่าผู้มีสัมปชัญญะ
[๘๑] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นไฉน ในข้อนั้น ความสมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นไฉน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๕ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ทุกนิทเทส
การไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทั้ง
ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า ความสมบูรณ์ด้วยศีล บุคคลผู้ประกอบด้วย
ความสมบูรณ์ด้วยศีลนี้ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
[๘๒] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิเช่นนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีผล โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ
สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นมี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก นี้เรียกว่า ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิแม้ทั้งหมดชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ บุคคลผู้ประกอบด้วยความ
สมบูรณ์ด้วยทิฏฐินี้ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
[๘๓] บุคคลผู้หาได้ยากในโลก ๒ จำพวก เป็นไฉน
คือ ปุพพการีบุคคลและกตัญญูกตเวทีบุคคล บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้หาได้
ยากในโลก
[๘๔] บุคคลผู้ให้อิ่มได้ยากในโลก ๒ จำพวก เป็นไฉน
คือ บุคคลผู้เก็บสะสมสิ่งของที่ตนได้แล้ว ๆ และบุคคลผู้สละสิ่งของที่ตนได้
แล้ว ๆ บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ชื่อว่าผู้ให้อิ่มได้ยาก
[๘๕] บุคคลผู้ให้อิ่มได้ง่าย ๒ จำพวก เป็นไฉน
คือ บุคคลผู้ไม่เก็บสะสมสิ่งของที่ตนได้แล้ว ๆ และบุคคลผู้ไม่สละสิ่งของที่ตน
ได้แล้วๆ บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ชื่อว่าผู้ให้อิ่มได้ง่าย
[๘๖] อาสวะของบุคคล ๒ จำพวกเหล่าไหนย่อมเพิ่มพูน
บุคคลผู้รังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจและบุคคลผู้ไม่รังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ
อาสวะของบุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ย่อมเพิ่มพูน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๖ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๘๗] อาสวะของบุคคล ๒ จำพวกเหล่าไหนย่อมไม่เพิ่มพูน
บุคคลผู้ไม่รังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจและบุคคลผู้รังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ
อาสวะของบุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ย่อมไม่เพิ่มพูน
[๘๘] บุคคลผู้มีอัธยาศัยเลว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม เขาย่อมเสพ ย่อมคบหา
ย่อมเข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นผู้ทุศีลมีธรรมอันเลวทราม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีอัธยาศัยเลว
[๘๙] บุคคลผู้มีอัธยาศัยประณีต เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เขาย่อมเสพ ย่อมคบหา ย่อม
เข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีอัธยาศัยประณีต
[๙๐] บุคคลผู้อิ่มแล้ว เป็นไฉน
พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระตถาคตชื่อว่าผู้อิ่มแล้ว พระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้อิ่มแล้วและทำคนอื่นให้อิ่ม
ทุกนิทเทส จบ
๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๙๑] บุคคลที่หมดความหวัง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด๑ มีสมาจารอัน
คนอื่นระลึกด้วยความรังเกียจ มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็น
สมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ชุ่ม
ด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เธอย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็จักทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่หมดความหวัง

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงมีกายกรรมเป็นต้นไม่สะอาด (อภิ.ปญฺจ.อ. ๙๑/๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๗ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๒. ติกปุคคลบัญญัติ
[๙๒] บุคคลที่ยังมีความหวัง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่อ
อย่างนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็จะทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่ยังมีความหวัง
[๙๓] บุคคลที่ปราศจากความหวัง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เธอได้ฟังมาว่า
“ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ เธอย่อมไม่มีความ
คิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าความหวังในความหลุดพ้นของบุคคลผู้ยังไม่เคยหลุดพ้นในกาลก่อนนั้นสงบ
ระงับแล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่ปราศจากความหวัง
[๙๔] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวก๑ เป็นไฉน
คนไข้ ๓ จำพวก คือ
๑. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะ๒หรือไม่ได้โภชนะที่
เป็นสัปปายะ ได้ยาที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้ยาที่เป็นสัปปายะ ได้
คนพยาบาลที่เหมาะสมหรือไม่ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมไม่หาย
จากอาพาธนั้น
๒. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้โภชนะที่เป็น
สัปปายะ ได้ยาที่เป็นสัปปายะหรือไม่ได้ยาที่เป็นสัปปายะ ได้คน
พยาบาลที่เหมาะสมหรือไม่ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมหายจาก
อาพาธนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๒/๑๖๙
๒ เป็นสัปปายะ ในที่นี้หมายถึงมีประโยชน์ ก่อให้เกิดความเจริญ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๒/๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๘ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
๓. คนไข้บางคนในโลกนี้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธ
เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น ได้ยาที่เป็นสัปปายะย่อมหาย
จากอาพาธ เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น ได้คนพยาบาลที่
เหมาะสมย่อมหายจากอาพาธ เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น
บรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนั้น คนไข้ผู้ได้โภชนะที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธ
นั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้ยาที่เป็นสัปปายะย่อมหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้
ย่อมไม่หาย ได้คนพยาบาลที่เหมาะสมย่อมหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่
หายจากอาพาธนั้น เพราะอาศัยคนไข้นี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตอาหาร
สำหรับภิกษุไข้ ยาสำหรับภิกษุไข้ คนพยาบาลสำหรับภิกษุไข้ ก็เพราะอาศัยคนไข้นี้
คนไข้แม้อื่น ๆ ก็ควรได้รับการพยาบาลด้วย
บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคล ๓ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟัง
ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่
หยั่งลงสู่นิยาม๑ที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ฟัง
ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่ง
ลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคต จึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้อง
เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลง ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศ
แล้ว จึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ฟัง
ย่อมไม่หยั่งลง
บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคตจึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูก
ต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็นย่อมไม่หยั่งลง ได้ฟังธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตประกาศแล้วจึงหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ฟังย่อมไม่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑๒ (เอกกปุคคลบัญญัติ) หน้า ๑๕๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๖๙ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
หยั่งลง เพราะอาศัยบุคคลนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตการแสดงธรรม
เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรมแก่คนแม้เหล่าอื่น
บุคคลเปรียบเหมือนคนไข้ ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
[๙๕] บุคคลผู้เป็นกายสักขี๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ อนึ่ง อาสวะบางอย่าง
ของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นกายสักขี
[๙๖] บุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” และสภาวธรรมที่พระตถาคต
ประกาศแล้ว เป็นอันเขาเห็นชัดแล้วประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และอาสวะบาง
อย่างของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ
[๙๗] บุคคลผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ” สภาวธรรมที่
พระตถาคตประกาศแล้วเป็นอันเขาเห็นชัดแล้ว ประพฤติดีแล้วด้วยปัญญา และ
อาสวะบางอย่างของเขาย่อมสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่ไม่เหมือนอาสวะของ
บุคคลผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสัทธาวิมุตตะ
[๙๘] บุคคลผู้พูดภาษาคูถ๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดเท็จ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางญาติ
อยู่ท่ามกลางทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขานำไปอ้างเป็นพยานซักถาม
ว่า “บุรุษผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “รู้”
หรือรู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” ไม่เห็นก็กล่าวว่า “เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “ไม่เห็น” พูดเท็จ
ทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิส
เล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาคูถ

เชิงอรรถ :
๑ กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ และสัทธาวิมุตตะ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้
ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผล (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๘/๑๗๗-๑๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๐ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๙๙] บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้ ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา
อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลางญาติ อยู่ในท่ามกลางทหาร หรืออยู่ในท่ามกลางราช
สำนัก ถูกเขานำไปอ้างเป็นพยานซักถามว่า “บุรุษผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด
จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “รู้” ไม่เห็นก็
กล่าวว่า “ไม่เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “เห็น” ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน
เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาดอกไม้
[๑๐๐] บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ
เป็นวาจาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง
[๑๐๑] บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าว
เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง
และไม่พอใจ เปรียบเหมือนแผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมหลั่งน้ำ
หนองออกมากขึ้นชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มัก
โกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง
พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคืองและไม่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี
จิตเหมือนแผลเก่า
[๑๐๒] บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” เปรียบเหมือนคนตาดีพึงเห็นรูป
ในขณะที่ฟ้าแลบในเวลากลางคืนที่มืดมิดชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์
นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๘/๑๗๘
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๕/๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๑ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๑๐๓] บุคคลผู้มีจิตเหมือนเพชร๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เปรียบเหมือนแก้วมณีหรือ
หินบางชนิดที่เพชรจะทำลายไม่ได้ย่อมไม่มีชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น
เหมือนกันทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนเพชร
[๑๐๔] บุคคลตาบอด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีนัยน์ตา๒เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำ
โภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน และเขาไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและ
อกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบ
ด้วยธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาบอด
[๑๐๕] บุคคลตาเดียว๓ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์
ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน แต่เขาไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรม
ที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่าย
ดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาเดียว
[๑๐๖] บุคคลสองตา๓ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์
ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน และเขามีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรม
ที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่าย
ดำและธรรมฝ่ายขาว นี้เรียกว่า บุคคลสองตา

เชิงอรรถ :
๑ จิตเหมือนเพชร ในที่นี้หมายถึงจิตที่มีความแข็งแกร่งสามารถกำจัดมูลรากแห่งกิเลสทั้งหลายได้ (องฺ.ติก.อ.
๒/๒๕/๑๐๓) ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๕/๑๗๔
๒ นัยน์ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๙/๑๐๗)
๓ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๙/๑๗๘-๑๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๒ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๑๐๗] บุคคลผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์๒พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้น
ไม่ได้ แม้ลุกจากที่นั้นแล้วก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้
เปรียบเหมือนหม้อคว่ำที่เขาเทน้ำลงไป น้ำย่อมไหลราดไป ไม่ขังอยู่ชื่อแม้ฉันใด
บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่าม
กลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และ
ที่สุดแแห่งกถานั้นไม่ได้ แม้ลุกจากที่นั้นแล้วก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
แห่งกถานั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำ
[๑๐๘] บุคคลผู้มีปัญญาเหมือนชายพก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแแห่งกถา
นั้นได้ แต่ลุกจากที่นั้นแล้วจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ เปรียบ
เหมือนบุรุษเก็บของเคี้ยวต่าง ๆ คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทราไว้ที่ชายพก บุรุษ
นั้นเมื่อลุกจากที่นั้นพึงทำเรี่ยราดเพราะเผลอสติชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษทั้งหลาย ภิกษุ
ทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๐/๑๘๐-๑๘๑
๒ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งรวมอยู่ในไตรสิกขาคือศีล สมาธิ และปัญญาอันเป็น
ความประพฤติประเสริฐ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๐/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๓ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
แก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งกถานั้นได้ แต่ลุกจากที่
นั้นแล้วก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี
ปัญญาเหมือนชายพก
[๑๐๙] บุคคลผู้มีปัญญากว้างขวาง๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และ
มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถา
นั้นได้ แม้ลุกจากที่นั้นก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นได้ เปรียบ
เหมือนหม้อหงายที่เขาเทน้ำลงไป น้ำย่อมขังอยู่ ไม่ไหลราดไปชื่อแม้ฉันใด บุคคล
บางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปวัดเป็นประจำเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เขา เขานั่งตรงที่นั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถา
นั้นได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้วก็ยังจำเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งกถานั้นได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปัญญากว้างขวาง
[๑๑๐] บุคคลผู้ยังมีกามราคะและภวราคะ เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้ยังมีกามราคะ
และภวราคะ
[๑๑๑] บุคคลผู้ไม่มีกามราคะ แต่ยังมีภวราคะ เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอนาคามี บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีกามราคะ แต่ยังมีภวราคะ
[๑๑๒] บุคคลผู้ไม่มีทั้งกามราคะและภวราคะ เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอรหันต์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีกามราคะแต่ยังมีภวราคะ
[๑๑๓] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน๒ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๐/๑๘๑-๑๘๒
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๓๓/๓๘๑-๓๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๔ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเป็นประจำและความโกรธของเขานั้นก็หมักหมม
อยู่นาน รอยขีดบนแผ่นหินย่อมไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมติดอยู่นาน
ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน โกรธเป็นประจำ และความ
โกรธของเขานั้นก็หมักหมมอยู่นาน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน
[๑๑๔] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้โกรธเป็นประจำ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่หมักหมม
อยู่นาน รอยขีดที่แผ่นดินย่อมลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ไม่ปรากฏอยู่นานชื่อแม้
ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน โกรธเป็นประจำ แต่ความโกรธ
ของเขานั้นไม่หมักหมมอยู่นาน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน
[๑๑๕] บุคคลผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้แม้จะถูกว่าด้วยคำหนัก ๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบ
แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่น่าพอใจก็ยังคงสมานไมตรีกลมเกลียวอยู่ ปรองดองกันอยู่
รอยขีดที่น้ำย่อมขาดหายไปเร็ว ไม่ปรากฏอยู่นานชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนใน
โลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนัก ๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบ แม้
จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่น่าพอใจก็ยังคงสมานไมตรีกลมเกลียวอยู่ ปรองดองกันอยู่
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ
[๑๑๖] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวก๒
เป็นไฉน
ผ้าเปลือกไม้ ๓ ชนิด คือ
๑. ผ้าเปลือกไม้ใหม่ มีสีไม่สวย สัมผัสหยาบทั้งราคาก็ถูก
๒. ผ้าเปลือกไม้ปานกลางมีสีไม่สวย สัมผัสหยาบ ทั้งราคาก็ถูก
๓. ผ้าเปลือกไม้เก่า มีสีไม่สวย สัมผัสหยาบ ทั้งราคาก็ถูก

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๓๓/๓๘๒
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๐๐/๓๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๕ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
คนทั้งหลายย่อมทำผ้าเปลือกไม้แม้เก่าให้เป็นผ้าเช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งมันที่
กองหยากเยื่อ
บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้ง
หลายอย่างนี้เหมือนกัน
ภิกษุเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวก เป็นไฉน
๑. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ๑ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม นี้เป็นเหตุให้
ภิกษุนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้มีสีที่ไม่
สวยนั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การ
คบหาเป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่คน
เหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดทุกข์
ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสัมผัสหยาบนั้น ก็ภิกษุนั้นรับจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของคนเหล่าใด ทาน
ของบุคคลเหล่านั้น ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุ
นั้นมีค่าน้อย ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีราคาถูก
๒. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ๒ ฯลฯ แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระ๓ แต่เป็นผู้ทุศีล มี
ธรรมอันเลวทราม นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีผิวพรรณเศร้าหมอง ผู้นี้เปรียบ
เหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสีไม่สวยนั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด
พากันตามอย่างเธอ การคบหาเป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมี
การติดต่อก่อให้เกิดทุกข์ ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีสัมผัสหยาบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เป็นนวกะ ในที่นี้หมายถึงพระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่ยังนับว่ายังใหม่ถึงแม้จะมีอายุ ๖๐ ปี
แต่มีพรรษาไม่ครบ ๕ ก็ยังนับว่าเป็นผู้ใหม่ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗)
๒ ผู้เป็นมัชฌิมะ ในที่นี้หมายถึงพระระดับปานกลาง มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่ยังนับว่าพระ
ปูนกลางคือมีพรรษาตั้งแต่ ๕ จนถึง ๙ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗)
๓ ผู้เป็นพระเถระ ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่คือมีพรรษา
ตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไปและรู้ปาติโมกข์ เป็นต้น (อภิ.ปญฺจ.อ. ๑๑๖/๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๖ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
ก็ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของ
บุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้นไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่าน้อย ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ที่มีราคาถูก
๓. หากภิกษุผู้เป็นเถระเห็นปานนี้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะ
กล่าวกับเธออย่างนี้ว่า “จะมีประโยชน์อะไรด้วยคำที่คนพาล ไม่ฉลาด
กล่าวออกไป แม้ตัวท่านก็เข้าใจคำที่ควรกล่าว” เธอโกรธ ไม่พอใจ
เปล่งวาจาที่เป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตรตน เหมือนผ้าเปลือกไม้ที่เขาทิ้งที่กอง
หยากเยื่อ
บุคคลเปรียบเหมือนผ้าเปลือกไม้ ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
[๑๑๗] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวก๑
เป็นไฉน
ผ้าแคว้นกาสี ๓ ชนิด คือ
๑. ผ้าแคว้นกาสีที่ยังใหม่ มีสีสวย สัมผัสสบาย และมีราคาแพง
๒. ผ้าแคว้นกาสีแม้กลางเก่ากลางใหม่ มีสีสวย สัมผัสสบาย และ
มีราคาแพง
๓. ผ้าแคว้นกาสีแม้จะเก่า แต่ก็มีสีสวย สัมผัสสบาย และมี
ราคาแพง
คนทั้งหลายย่อมทำผ้าแคว้นกาสีแม้เก่าให้เป็นผ้าห่อแก้วหรือเอาใส่ไว้ในผอบ
ของหอม
บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้ง
หลายอย่างนี้เหมือนกัน
ภิกษุ ๓ จำพวก เป็นไฉน
๑. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นนวกะ มีศีล มีธรรมอันงาม นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมี
ผิวพรรณงาม ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีสีสวยนั้น ส่วนบุคคล
เหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การคบหาเป็นต้นนั้นย่อม
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน นี้เป็นเหตุให้
ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดสุข ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มี

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๐๐/๓๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๗ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
สัมผัสสบายนั้น ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขารของบุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก มี
อานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่ามาก ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้น
กาสีที่มีราคาแพง
๒. แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ ผู้เป็นเถระ มีศีล มีธรรมอันงาม นี้
เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีผิวพรรณงาม ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีสีสวย
นั้น ส่วนบุคคลเหล่าใดคบหา ใกล้ชิด พากันตามอย่างเธอ การคบหา
เป็นต้นนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บุคคลเหล่านั้นตลอดกาลนาน
นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีการติดต่อก่อให้เกิดสุข ผู้นี้เปรียบเหมือนผ้าแคว้น
กาสีที่มีสัมผัสสบายนั้น ก็ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของบุคคลเหล่าใด ทานของบุคคลเหล่านั้น
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก นี้เป็นเหตุให้ภิกษุนั้นมีค่ามาก ผู้นี้
เปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสีที่มีราคาแพง
๓. ถ้าภิกษุผู้เป็นเถระเห็นปานนี้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็จะ
กล่าวกับเธออย่างนี้ว่า ขอให้ท่านทั้งหลายจงสงบเถิด ภิกษุที่เป็นพระ
เถระจะกล่าวธรรมและวินัย ถ้อยคำนั้นของพระเถระควรทรงจำไว้ในหทัย
เหมือนผ้าแคว้นกาสีที่ควรเก็บไว้ในผอบของหอมฉะนั้น
บุคคลเปรียบเหมือนผ้าแคว้นกาสี ๓ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
[๑๑๘] บุคคลผู้ประมาณได้ง่าย๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ
มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณได้ง่าย
[๑๑๙] บุคคลผู้ประมาณได้ยาก๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่เป็นคนปากกล้า
ไม่พูดพร่ำเพรื่อ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตแน่วแน่ สำรวมอินทรีย์
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๑๖/๓๕๘-๓๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๘ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
[๑๒๐] บุคคลผู้ประมาณไม่ได้ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ประมาณไม่ได้
[๑๒๑] บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนต่ำทรามกว่าตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา
บุคคลเช่นนี้ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ เว้นไว้แต่ความเอ็นดู และ
ความอนุเคราะห์
[๑๒๒] บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเสมอตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้
ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการสนทนาเกี่ยวกับศีล
สมาธิ ปัญญา จักมีแก่เราทั้งหลายผู้ถึงความเสมอกันในด้านศีล สมาธิ ปัญญา
การสนทนาของเราทั้งหลายนั้นจักเป็นความสำราญและจักดำเนินไปได้ เพราะฉะนั้น
บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้
[๑๒๓] บุคคลที่ควรสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เหนือกว่าตนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา บุคคล
เช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลเช่นนี้คิดว่า “เราจักได้บำเพ็ญศีลขันธ์ (กองศีล) สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ)
ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา) ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์
ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้น ๆ” เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้ควรสักการะ
เคารพแล้วจึงเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้
[๑๒๔] บุคคลที่ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๒
เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด มีความ
ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด ไมใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าป็นสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๖/๑๗๔-๑๗๕
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๗/๑๗๕-๑๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๗๙ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี๑ เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือน
หยากเยื่อ บุคคลเช่นนี้ควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร เพราะคนทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อัน
ชั่วของเขาย่อมกระฉ่อนไปว่า คนคบมิตรชั่ว คบสหายชั่ว คบเพื่อนชั่ว เปรียบ
เหมือนงูที่เปื้อนคูถถึงจะไม่กัดใคร ๆ ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เขาเปื้อนได้ฉันใด คน
ทั่วไปก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้ แต่กิตติศัพท์อันชั่วของ
เขาก็กระฉ่อนไปว่า คนคบมิตรชั่ว คบสหายชั่ว คบเพื่อนชั่ว เพราะฉะนั้น บุคคล
เช่นนี้จึงควรรังเกียจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
[๑๒๕] บุคคลที่ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๒
เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่ากล่าว
เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง
และไม่พอใจ เปรียบเหมือนแผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมหลั่งน้ำ
หนองออกมากยิ่งขึ้นแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมัก
โกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง
พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ
เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมปะทุเกินประมาณ
แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วย
ความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด
แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ
เปรียบเหมือนหลุมคูถถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้น
แม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วย
ความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี ในที่นี้หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุ
แต่ยังเรียกตนเองว่าเป็นภิกษุแล้วร่วมอยู่ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีลใช้สิทธิถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์(องฺ.ติก.อ.
๒/๑๓/๘๖)
๒ ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒๗/๑๗๖-๑๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๐ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ บุคคลเช่นนี้ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ
ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลบางคนคิดว่า
“บุคคลเช่นนี้จะพึงด่าเราบ้าง บริภาษเราบ้าง ทำเราให้ฉิบหายบ้าง” เพราะฉะนั้น
บุคคลเช่นนี้จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
[๑๒๖] บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเช่นนี้ควรเสพ ควรคบ
ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้
แต่กิตติศัพท์อันงามของเขาก็ขจรไปว่า “คนคบมิตรดี คบสหายดี คบเพื่อนดี”
เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้
[๑๒๗] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ
ทำให้พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้
บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา
[๑๒๘] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้
พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอนาคามี บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้
บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา
[๑๒๙] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้
บริบูรณ์ในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอรหันต์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้
บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา
[๑๓๐] ในบทมาติกานั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา ๓ จำพวก เป็นไฉน
ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป ไม่บัญญัติ
การละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่
ไม่บัญญัติการละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป
และบัญญัติการละเวทนา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๑ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๓. ติกปุคคลบัญญัติ
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป
ไม่บัญญติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้รูปาวจรสมาบัติ
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่ไม่
บัญญัติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้อรูปสมาบัติ บรรดา
ศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป และบัญญัติการละ
เวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น
ศาสดา ๓ จำพวกเหล่านี้
[๑๓๑] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา ๓ จำพวกแม้อื่นอีก เป็นไฉน
ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน ส่วนศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความ
เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้า โดยความ
เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และศาสดาบางคนในโลกนี้ไม่บัญญัติอัตตา
ในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาใน
ภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าเที่ยง
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาผู้ที่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง
โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง
โดยความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่าเป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าขาดสูญ
ศาสดาผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ
ยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ
ยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น
ศาสดา ๓ จำพวกแม้อื่นอีก
ติกนิทเทส จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๒ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[๑๓๒] บุคคลผู้เป็นอสัตบุรุษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า ผู้
เป็นอสัตบุรุษ
[๑๓๓] บุคคลผู้เป็นอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ตนเองเป็น
ผู้ลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้พูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ ตนเอง
เป็นผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวนผู้อื่น
ให้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้เป็นอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
[๑๓๔] บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลัก
ทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสัตบุรุษ
[๑๓๕] บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้เว้น
ขาดจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้เว้น
ขาดจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จและ
ชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการเสพ
ของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็น
สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๐๑-๐๖/๓๒๐-๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๓ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[๑๓๖] บุคคลผู้เป็นคนชั่ว๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของผู้อื่น มีจิตพยาบาท เป็น
มิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นคนชั่ว
[๑๓๗] บุคคลผู้เป็นคนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ตนเองเป็น
ผู้ลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้พูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ ตนเองเป็น
ผู้พูดส่อเสียดและชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบและชักชวน
ผู้อื่นให้พูดคำหยาบ ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อและชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ ตนเอง
เป็นผู้โลภอยากได้ของผู้อื่นและชักชวนผู้อื่นให้โลภอยากได้ของผู้อื่น ตนเองเป็นผู้มี
จิตพยาบาทและชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่น
ให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นคนชั่วที่ยิ่งกว่าคนชั่ว
[๑๓๘] บุคคลผู้เป็นคนดี๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลัก
ทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้น
ขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท เป็น
สัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นคนดี
[๑๓๙] บุคคลผู้เป็นคนดีที่ยิ่งกว่าคนดี๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้เว้น
ขาดจากการฆ่าสัตว์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้เว้น
ขาดจากการลักทรัพย์ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและชักชวน
ผู้อื่นให้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จและ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๐๗-๐๘/๓๒๗-๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๔ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
ชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการพูดเท็จ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
และชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูด
คำหยาบและชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจาก
การพูดเพ้อเจ้อและชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ตนเองเป็นผู้ไม่โลภ
อยากได้ของผู้อื่นและชักชวนผู้อื่นไม่ให้โลภอยากได้ของผู้อื่น ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่
พยาบาทและชักชวนผู้อื่นไม่ให้มีจิตพยาบาท ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่น
ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นคนดีที่ยิ่งกว่าคนดี
[๑๔๐] บุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ๑ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้มีธรรมชั่ว
[๑๔๑] บุคคลผู้มีธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ ตนเอง
เป็นผู้ลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ ฯลฯ๒ ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิและชักชวน
ผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมชั่วที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมชั่ว
[๑๔๒] บุคคลผู้มีธรรมดี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลัก
ทรัพย์ ฯลฯ๓ เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมดี
[๑๔๓] บุคคลผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมดี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้เว้น
ขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ๔ ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิและชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีธรรมดีที่ยิ่งกว่าบุคคลผู้มีธรรมดี

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๓๖ หน้า ๑๘๔ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในข้อ ๑๓๗ หน้า ๑๘๔ ในเล่มนี้
๓ ดูความเต็มในข้อ ๑๓๘ หน้า ๑๘๔ ในเล่มนี้
๔ ดูความเต็มในข้อ ๑๓๙ หน้า ๑๘๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๕ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[๑๔๔] บุคคลผู้มีแต่โทษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษ ประกอบด้วยวจีกรรมที่
มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีแต่โทษ
[๑๔๕] บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนมาก๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษ
เป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษเป็นส่วนมาก ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มีโทษเป็นส่วนมาก
[๑๔๖] บุคคลผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษ
เป็นส่วนน้อย ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย
ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษเป็นส่วนมาก มีโทษเป็นส่วนน้อย บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มีโทษเป็นส่วนน้อย
[๑๔๗] บุคคลผู้ไม่มีโทษ๑ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วย
วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีโทษ
[๑๔๘] บุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญญู๒ เป็นไฉน
บุคคลใดบรรลุธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้เป็นอุคฆฏิตัญญู
[๑๔๙] บุคคลผู้เป็นวิปจิตัญญู๒ เป็นไฉน
บุคคลใดเมื่อเขาอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร จึงบรรลุธรรม
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นวิปจิตัญญู

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๕/๒๐๓-๐๔
๒ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๖ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[๑๕๐] บุคคลผู้เป็นเนยยะ ๑ เป็นไฉน
บุคคลใดบรรลุธรรมโดยลำดับอย่างนี้ คือ โดยการแสดง การถาม การ
มนสิการโดยแยบคาย การเสพ การคบ การเข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร บุคคลนี้
เรียกว่า ผู้เป็นเนยยะ
[๑๕๑] บุคคลผู้เป็นปทปรมะ๑ เป็นไฉน
บุคคลใดฟังก็มาก กล่าวก็มาก ทรงจำก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่ได้บรรลุ
ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นปทปรมะ
[๑๕๒] บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้องแต่ไม่รวดเร็ว๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกถามปัญหาย่อมตอบได้ถูกต้องแต่ไม่รวดเร็ว บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ตอบได้ถูกต้องแต่ไม่รวดเร็ว
[๑๕๓] บุคคลผู้ตอบได้รวดเร็วแต่ไม่ถูกต้อง๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกถามปัญหาก็ตอบได้รวดเร็วแต่ไม่ถูกต้อง บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้ตอบได้รวดเร็วแต่ไม่ถูกต้อง
[๑๕๔] บุคคลผู้ตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกถามปัญหาย่อมตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว บุคคลนี้
เรียกว่า ผู้ตอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว
[๑๕๕] บุคคลผู้ตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว๒ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกถามปัญหาย่อมตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ตอบได้ไม่ถูกต้องและไม่รวดเร็ว
[๑๕๖] ในบทมาติกานั้น บุคคลผู้เป็นธรรมกถึก ๔ จำพวก๓ เป็นไฉน
๑. ธรรมกถึกบางคนในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อยและไม่มีประโยชน์ ทั้งหมู่
ผู้ฟังก็ไม่ฉลาดในเรื่องที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึกเช่นนี้นับ
ว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับผู้ฟังเช่นนี้เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒
๒ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๒/๒๐๑
๓ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๙/๒๐๗-๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๗ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
๒. ธรรมกถึกบางคนในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมน้อยแต่มีประโยชน์และหมู่ผู้ฟัง
ก็เป็นผู้ฉลาดในเรื่องที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึกเช่นนี้นับ
ว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังเช่นนี้เหมือนกัน
๓. ธรรมกถึกบางคนในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมากแต่ไม่มีประโยชน์ และหมู่
ผู้ฟังก็เป็นผู้ไม่ฉลาดในเรื่องที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึกเช่น
นี้นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังเช่นนี้เหมือนกัน
๔. ธรรมกถึกบางคนในธรรมวินัยนี้กล่าวธรรมมากและมีประโยชน์ และหมู่
ผู้ฟังก็เป็นผู้ฉลาดในเรื่องที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ธรรมกถึกเช่นนี้
นับว่าเป็นธรรมกถึกสำหรับหมู่ผู้ฟังเช่นนี้เหมือนกัน
บุคคลผู้เป็นธรรมกถึก ๔ จำพวกเหล่านี้
[๑๕๗] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวก๑ เป็นไฉน
เมฆ ๔ ชนิด คือ
๑. เมฆที่คำรามแต่ไม่ให้ฝนตก
๒. เมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม
๓. เมฆที่คำรามและให้ฝนตก
๔. เมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามแต่ไม่ให้ฝนตก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม
๓. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก
๔. บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามแต่ไม่ให้ฝนตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดแต่ไม่ทำ บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนเมฆที่คำราม
แต่ไม่ให้ฝนตก บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามแต่ไม่ให้ฝนตก (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐๑/๑๕๔-๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๘ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบทำแต่ไม่พูด บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝน
ตกแต่ไม่คำราม บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนเมฆที่ให้ฝนตกแต่ไม่คำราม (๒)
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ชอบพูดและชอบทำ บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนเมฆที่
คำรามและให้ฝนตก บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนเมฆที่คำรามและให้ฝนตก (๓)
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่พูดและไม่ทำ บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำราม
และไม่ให้ฝนตก บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนเมฆที่ไม่คำรามและไม่ให้ฝนตก (๔)
บุคคลเปรียบเหมือนเมฆ ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
[๑๕๘] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวก๑ เป็นไฉน
หนู ๔ จำพวก คือ
๑. หนูขุดรูแต่ไม่อยู่ ๒. หนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
๓. หนูขุดรูและอยู่ ๔. หนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่
๒. บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู
๓. บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่
๔. บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่
บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์
นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้
เปรียบเหมือนหนูขุดรูแต่ไม่อยู่ บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหนูที่ขุดรูแต่ไม่อยู่(๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐๗/๑๖๒-๖๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๘๙ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลเปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
“นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์’
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหนูอยู่แต่ไม่ขุดรู บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหนูที่อยู่
แต่ไม่ขุดรู (๒)
บุคคลเปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์
นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้
เปรียบเหมือนหนูขุดรูและอยู่ บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหนูที่ขุดรูและอยู่ (๓)
บุคคลเปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ และเขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
“นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหนูไม่ขุดรูและไม่อยู่ บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหนู
ที่ไม่ขุดรูและไม่อยู่ (๔)
บุคคลเปรียบเหมือนหนู ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก
[๑๕๙] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวก๑ เป็นไฉน
มะม่วง ๔ ชนิด คือ
๑. มะม่วงดิบแต่ผิวสุก ๒. มะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
๓. มะม่วงดิบและผิวดิบ ๔. มะม่วงสุกและผิวสุก
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐๕/๑๖๐-๖๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๙๐ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
๓. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ
๔. บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรน่าเลื่อมใส แต่เขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก บุคคล
ประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนมะม่วงดิบแต่ผิวสุก (๑)
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส
แต่เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ
บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนมะม่วงสุกแต่ผิวดิบ (๒)
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และ
เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ บุคคล
ประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนมะม่วงดิบและผิวดิบ (๓)
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๙๑ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก บุคคล
ประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนมะม่วงสุกและผิวสุก (๔)
บุคคลเปรียบเหมือนมะม่วง ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก
[๑๖๐] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนหม้อ ๔ จำพวก๑ เป็นไฉน
หม้อ ๔ ชนิด คือ
๑. หม้อเปล่าแต่ปิดฝา ๒. หม้อเต็มแต่เปิดฝา
๓. หม้อเปล่าและเปิดฝา ๔. หม้อเต็มและปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อ ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา
๒. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา
๓. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา
๔. บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส แต่เขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา บุคคล
ประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหม้อเปล่าแต่ปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่
เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อเต็มแต่เปิดฝา บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
หม้อเต็มแต่เปิดฝา

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐๓/๑๕๗-๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๙๒ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และเขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคล
เช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อเปล่าและเปิดฝา บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนหม้อ
เปล่าและเปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และ
เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อเต็มและปิดฝา บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
หม้อเต็มและปิดฝา
บุคคลเปรียบเหมือนหม้อ ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก
[๑๖๑] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ๔ จำพวก๑ เป็นไฉน
ห้วงน้ำ ๔ ชนิด คือ
๑. ห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก ๒. ห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น
๓. ห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น ๔. ห้วงน้ำลึกและเงาลึก
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
๑. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก
๒. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น
๓. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น
๔. บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐๔/๑๕๙-๑๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๙๓ }

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ ๔. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส แต่เขา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
ห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่
เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความุดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกแต่เงาตื้น บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
ห้วงน้ำลึก แต่เงาตื้น
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่ไม่น่าเลื่อมใส และ
เขาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
ห้วงน้ำตื้นและเงาตื้น
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวรที่น่าเลื่อมใส และ
เขารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์”
บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกและเงาลึก บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือน
ห้วงน้ำลึกและเงาลึก
บุคคลเปรียบเหมือนห้วงน้ำ ๔ จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๖ หน้า :๑๙๔ }

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น