ธัมมโชติ รวมธรรมะน่าสนใจจากพระไตรปิฎกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อคนรุ่นใหม่
ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานไปตามลำดับขั้น ได้รู้ได้เห็นธรรมชาติรวมทั้งความเป็นไปต่าง ๆ ของรูป/นาม หรือกาย/ใจ มากขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่น่ารักน่าใคร่น่าปรารถนา ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เพราะไม่อยู่ในอำนาจจึงไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ ฯลฯ จนกระทั่งจิตคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปอย่างถาวร คือความยึดมั่นถือมั่นในระดับนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะเห็นชัดด้วยปัญญาของตนเองอย่างแท้จริง จนหมดความเคลือบแคลงและความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งปวงแล้วนั้น จะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคล คือบุคคลอันประเสริฐนะครับ ซึ่งจำแนกอย่างละเอียดได้ 8 ประเภท ตามลำดับขั้นของการละกิเลส หรือตามลำดับขั้นของความยึดมั่นถือมั่นนั้นครับ
ก่อนจะกล่าวถึงอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น จะขออธิบายถึงความเจริญก้าวหน้าในการทำวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่เริ่มต้นก่อนนะครับ เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของอริยบุคคลได้ง่ายขึ้น ดังนี้ครับ
บุคคลทั่วๆ ไปที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อยู่อย่างปกติทั่วไปนั้นได้ชื่อว่าปุถุชน (ปุถุ แปลว่าหนา) คือชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั่นเองครับ ปุถุชนนั้นแบ่งได้ 2 ระดับคือ
- อันธปุถุชน คือปุถุชนที่มืดบอดต่อธรรมมาก จิตใจหยาบกระด้าง เป็นผู้ยากแก่การรู้ธรรม
- กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่แม้จะยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แต่จิตใจก็มีความประณีต เบาสบายกว่าอันธปุถุชน จึงเข้าถึงธรรมได้ง่ายกว่านะครับ
บุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นนี้เรียกว่ามรรคบุคคล ซึ่งนับเป็นอริยบุคคลประเภทหนึ่งครับ
บุคคลจะเป็นมรรคบุคคลแค่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นนะครับ หลังจากนั้นก็จะได้ชื่อว่าผลบุคคล คือบุคคลผู้เสวยผลจากมรรคนั้นอยู่นั่นเองครับ จนกว่ามรรคจิตในขั้นที่สูงขึ้นไปจะเกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อทำลายความยึดมั่นและกิเลสที่ประณีตขึ้นไปอีกก็จะกลายเป็นมรรคบุคคลในขั้นที่สูงขึ้นไปนั้นหนึ่งขณะจิต แล้วก็จะกลายเป็นผลบุคคลในขั้นใหม่นั้นต่อไปนะครับ มรรคจิตแต่ละขั้นนั้นจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นนะครับ แล้วจะไม่เกิดขึ้นในขั้นเดิมซ้ำอีกเลย จะเกิดก็แต่ขั้นที่สูงขึ้นไปเท่านั้นครับ เพราะความยึดมั่นในขั้นที่ถูกทำลายไปแล้วจะไม่มีโอกาสกลับมาให้ทำลายได้อีกเลยครับ
อริยบุคคล 8 ประเภทนั้นประกอบด้วยมรรคบุคคล 4 ประเภท และผลบุคคล 4 ประเภทนะครับ คือ
- โสดาปัตติมรรคบุคคล คือบุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ที่เรียกว่าโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติมรรคบุคคลนี้นับเป็นอริยบุคคลขั้นแรก
และได้ชื่อว่าเป็นผู้หยั่งลงสู่กระแสพระนิพพานแล้วครับ
มรรคจิตในขั้นนี้จะทำลายกิเลสได้ดังนี้คือ
(ในที่นี้จะใช้สังโยชน์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแบ่งประเภทของกิเลส เป็นหลักในการอธิบายนะครับ - ดูเรื่องสังโยชน์ 10 ประกอบนะครับ)
- สักกายทิฏฐิ
- วิจิกิจฉา
- สีลพตปรามาส
รวมทั้งโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ, ขัดเคืองใจ, กังวลใจ, เครียด, กลัว) โมหะ (ความหลง คือไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง) ในขั้นหยาบอื่น ๆ อันจะเป็นผลให้ต้องไปเกิดในอบายภูมิ (เดรัจฉาน, เปรต, อสุรกาย, นรก) ด้วยครับ พูดง่ายๆ ก็คือกิเลสหยาบๆ ทั้งหลายที่สามารถส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิได้จะถูกทำลายไปทั้งหมดในขั้นนี้ครับ
- โสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโสดาบัน
คือผู้ที่ผ่านโสดาปัตติมรรคมาแล้วนะครับ
คุณสมบัติที่สำคัญของโสดาบันก็คือ
- พ้นจากอบายภูมิตลอดไป คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลยครับ เพราะจิตใจมีความประณีตเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิเหล่านั้นได้
(ใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียกว่ามรณาสันนวิถีนะครับถ้าขณะใกล้ตายนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลให้ไปเกิดใหม่ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพจิตนั้นมากที่สุดครับ)
- อีกไม่เกิน 7 ชาติจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ
- มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จะไม่คิดเปลี่ยนศาสนาอีกเลยครับ เพราะได้เห็นถึงแก่นแท้ของศาสนาแล้วว่าเป็นคำสอนที่ถูกตรงเพียงใด
- มีศีล 5 บริบูรณ์ (ไม่ใช่แค่บริสุทธิ์นะครับ) คือความบริสุทธิ์ของศีลนั้นเกิดจากความบริสุทธ์/ความประณีตของจิตใจจริงๆ ไม่ใช่ใจอยากทำผิดศีลแต่สามารถข่มใจไว้ได้ คือใจสะอาดจนเกินกว่าจะทำผิดศีลห้าได้นั่นเองครับ
- พ้นจากอบายภูมิตลอดไป คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลยครับ เพราะจิตใจมีความประณีตเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิเหล่านั้นได้
(ใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียกว่ามรณาสันนวิถีนะครับถ้าขณะใกล้ตายนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลให้ไปเกิดใหม่ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพจิตนั้นมากที่สุดครับ)
- สกทาคามีมรรคบุคคล หรือสกิทาคามีมรรคบุคคล
คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าสกทาคามีมรรคจิตนะครับ
มรรคจิตในขั้นนี้ไม่สามารถทำลายกิเลสตัวใหม่ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนมรรคจิตขั้นอื่นๆ นะครับ เป็นแต่เพียงทำให้ โลภะ โทสะเบาบางลงเท่านั้นครับ โดยเฉพาะกามฉันทะและปฏิฆะ ถึงแม้ว่าความยึดมั่นที่มีอยู่จะน้อยลงไปก็ตาม
ทั้งนี้เพราะกามฉันทะและปฏิฆะนั้นมีกำลังแรงเกินกว่า จะถูกทำลายไปได้ง่ายๆ นั่นเองครับ
- สกทาคามีผลบุคคล หรือสกิทาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่านสกทาคามีมรรคมาแล้วนั่นเองครับ
คุณสมบัติสำคัญของสกทาคามีผลบุคคลก็คือ ถ้ายังไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ในชาตินี้ ก็จะกลับมาเกิดในกามภูมิอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ แล้วจะพ้นจากกามภูมิตลอดไปครับ เพราะอริยบุคคลขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายที่จะเกิดในกามภูมิได้อีก
คำว่ากามภูมินั้นได้แก่ สวรรค์ 6 ชั้น มนุษยภูมิ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก แต่สกทาคามีบุคคลนั้นพ้นจากอบายภูมิไปแล้วตั้งแต่ตอนเป็นโสดาบัน จึงเกิดได้เพียงในสวรรค์ และมนุษย์เท่านั้นนะครับ
- อนาคามีมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่งมรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่เรียกว่าอนาคามีมรรคจิตนะครับ
ทำลายกิเลสได้เด็ดขาดเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัวคือ
- กามฉันทะ
- ปฏิฆะ
- อนาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่านอนาคามีมรรคมาแล้วครับ
คุณสมบัติที่สำคัญของอนาคามีผลบุคคลคือ ถึงจะยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีกเลยครับเพราะความยินดีพอใจในกามได้ถูกทำลายไปแล้ว แต่จะไปเกิดในภูมิที่พ้นจากเรื่องของกามคือรูปภูมิ หรืออรูปภูมิเท่านั้น (ดูหัวข้อรูปราคะ และอรูปราคะในเรื่องสังโยชน์ 10 ประกอบนะครับ)
ในรูปภูมิ 16 ชั้นนั้น จะมีอยู่ 5 ชั้นที่เป็นที่เกิดของอนาคามีผลบุคคลโดยเฉพาะซึ่งรวมเรียกว่าสุทธาวาสภูมิครับ ดังนั้นในสุทธาวาสภูมิทั้ง 5 ชั้นนี้จึงมีเฉพาะอนาคามีผลบุคคล อรหัตตมรรคบุคคล และพระอรหันต์ (ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภูมินี้แล้วยังมีชีวิตอยู่) เท่านั้นครับ
สุทธาวาสภูมิ 5 ชั้นประกอบด้วย
- อวิหาภูมิ
- อตัปปาภูมิ
- สุทัสสาภูมิ
- สุทัสสีภูมิ
- อกนิฏฐาภูมิ
- อรหัตตมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่งมรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ที่เรียกว่าอรหัตตมรรคจิต
ทำลายกิเลสที่เหลือทุกตัวได้อย่างหมดสิ้น จนไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออีกเลยนะครับ สังโยชน์ที่มรรคจิตขั้นนี้ทำลายไป
ได้แก่
- รูปราคะ
- อรูปราคะ
- มานะ
- อุทธัจจะ
- อวิชชา
- อรหัตตผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพระอรหันต์ คือผู้ที่ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะกิเลสตัวสุดท้ายถูกทำลายไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคจิตที่ผ่านมาแล้วครับ เป็นผู้ที่พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวงเพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย แต่ยังคงต้องทนกับทุกข์ทางกายต่อไปจนกว่าจะปรินิพพาน เพราะตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ไม่อาจพ้นจากทุกข์ทางกายไปได้นะครับ
นิพพานนั้นมี 2 ชนิด คือ
- สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานเป็น หมายถึงนิพพานที่ยังมีส่วนเหลือนะครับ คือกิเลสทั้งหลายดับไปหมดแล้ว
พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวงแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่ ทำให้ต้องทนทุกข์ทางกายต่อไปอีก
ได้แก่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเองครับ
- อนุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานตาย หมายถึงนิพพานโดยไม่มีส่วนเหลือ คือพ้นจากทุกข์ทั้งปวงทั้งทางกายและทางใจอย่างสิ้นเชิง ได้แก่พระอรหันต์ที่ตายแล้วนั่นเองครับ ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่าปรินิพพาน (ปริ = โดยรอบ, ปรินิพพาน = นิพพานโดยรอบทุกส่วน คือทั้งร่างกายและจิตใจ คือนิพพานจากทุกข์ทั้งปวงนั่นเองครับ)
ท่านผู้อ่านอยากอยู่ในสภาพไหนก็เลือกเอานะครับ
ธัมมโชติ
ข้อทราบ พระไตรปิฎกเล่มไหน หน้าไหน ครับ
ตอบลบขอบคุณที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com นะครับ
ตอบลบเรื่องนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเล่มนะครับ ตัวอย่างเช่น
http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/07/tpd12-06.html
ข้อ ๒๔๘ หน้า ๒๖๖
http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/07/tpd13-04.html
ข้อ ๑๖๙ หน้า ๑๙๐
http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/07/tpd11-03.html
ข้อ ๑๕๔ หน้า ๑๑๔
http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/07/tpd10-03.html
ข้อ ๑๕๗ หน้า ๑๐๑
ถ้าสนใจข้อมูลเพิ่มเติมก็ใช้เครื่องมือค้นหาที่ด้านบนค้นคำว่า สังโยชน์ ได้นะครับ มีอีกหลายเล่มหลายสูตรเลยครับ
ขอบคุณมากๆเลยครับ แยกเนื้อหาได้ เข้าใจดีมากเลยครับ
ตอบลบแต่ต้องขยันอ่านหน่อยแฮ่ๆ
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
ตอบลบhttp://m.tnews.co.th/contents/199095
ตอบลบตามลิงค์ด้านบน หลวงปู่มั่น บอกว่า นิพพานแล้วไม่สูญ ยังสามารถพบพระพุทธเจ้าได้อยู่
เรียนถามว่า นิพพานแล้วสูญหรือไม่สูญกันแน่คระบ
สวัสดีครับ
ลบขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
ขออภัยที่ตอบช้าเป็นอย่างมากนะครับ เนื่องจากระบบไม่แจ้งเตือนข้อความใหม่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เลยพึ่งเห็นข้อความนี้ครับ
เรื่องหลังจากพระอรหันต์เสียชีวิตแล้ว (ปรินิพพาน) จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคนนะครับ เป็นเรื่องที่คนทั่วๆ ไปไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนกว่าผู้นั้นจะบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปเองแล้วเท่านั้น
จากความเห็นที่แตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ
1. เมื่อปรินิพพานแล้วก็จะเหมือนเปลวเทียนที่ดับไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาอีก
2. เมื่อปรินิพพานแล้วจะมีสภาวธรรมบางอย่างคงอยู่อย่างยืนยาว ตลอดไป ไม่มีการเกิดการตายอีก
เนื่องจากเป็นเรื่องที่คนทั่วๆ ไปพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อคนที่เห็นต่างกันมาคุยกันเรื่องนี้ ก็มีแต่จะเป็นเหตุให้โต้เถียงกันไปไม่จบสิ้น หาข้อยุติไม่ได้ เป็นการสร้างความยึดมั่น สร้างทุกข์ขึ้นมาโดยใช่เหตุนะครับ
ผมขอตั้งข้อสังเกต/ข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้ครับ
1. สิ่งที่คนทั่วไปสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองในขณะที่มีชีวิตอยู่ (โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน) ก็คือร่างกายและจิตใจนี้ รูป/นามนี้ หรือขันธ์ทั้ง 5 นี้ ไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา เป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มากระทำอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ไม่มีอำนาจเฉพาะตน ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ทำได้แค่สร้างเหตุปัจจัยบางส่วนเท่านั้น (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ไม่มีสิ่งใดที่สมควรจะยึดมั่นถือมั่นได้ ยึดสิ่งใดก็จะเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น (เพราะความที่สิ่งต่างๆ แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจนั่นเองครับ) และเมื่อหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็จะสัมผัสถึงสภาวะที่ปราศจากทุกข์ทางใจในขณะที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองในขณะนั้นว่า เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว หลังความตายแล้วจะเป็นอย่างไรครับ
2. ผู้ที่หมดความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว ย่อมมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติด/กังวล/สงสัยกับเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็ย่อมจะหมดความใส่ใจในเรื่องหลังความตายไปโดยอัตโนมัติครับ
3. เรื่องที่มีผู้ประกาศตนหรือยกย่องผู้อื่นว่าเป็นพระอรหันต์นั้น เมื่อไม่มีคำรับรองจากพระพุทธเจ้า แล้วใครจะสามารถยืนยันอะไรได้จริงๆ ครับ อย่างชฎิล 3 พี่น้อง ก่อนที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ท่านก็ประกาศตนเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรครับ คือท่านก็เป็นพระอรหันต์ในแบบของท่าน แต่เมื่อฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์ในแบบของพระพุทธเจ้า
ลบลองอ่านเรื่อง "สมัยพุทธกาลยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล" ในลิ้งค์นี้ประกอบนะครับ วิปัสสนา-ข้อควรระวัง
เรื่องที่มีการยกเรื่องกระดูกกลายเป็นพระธาตุมาเป็นข้อพิสูจน์เรื่องการเป็นพระอรหันต์ โดยบางท่านอ้างพระไตรปิฎกนั้น ก็ไม่ทราบว่าเป็นพระไตรปิฎกฉบับไหนนะครับ ผมอ่านพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยจบ 2 รอบแล้ว ขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยเลยครับ ถ้าท่านไหนกรุณาระบุที่มาของเรื่องนี้ในพระไตรปิฎกได้จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลยครับ
ผมไม่ได้ลบหลู่ใครว่าไม่ใช่พระอรหันต์นะครับ เพียงแต่บอกว่าคนทั่วไปไม่สามารถยืนยันได้เท่านั้น
4. เรื่องที่บางท่านอ้างเรื่องยมกสูตร ในพระไตรปิฎก ว่าความเห็นว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ขอให้ไปอ่านเนื้อความจริงๆ เต็มๆ ในพระไตรปิฎกดูนะครับ (ยมกสูตร ว่าด้วยพระยมกะ : พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต] มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๔๗) พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
ลบในพระสูตรนี้แสดงว่า ความเห็นว่า "ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก" เป็นทิฏฐิชั่ว คือความเห็นว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญเป็นมิจฉาทิฏฐินั้นมีอยู่จริงครับ แต่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เอามาอ้างกันว่าพระอรหันต์ตายแล้วยังคงมีชีวิตอยู่
คือความเห็นของพระยมกะในตอนแรกนั้น หมายถึงว่าท่านเห็นว่าอัตตา หรืออาตมัน คือตัวตนนั้นมีอยู่โดยปรมัตถ์ และเมื่ออัตตานี้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พอตายไปอัตตานี้ก็จะขาดสูญ ซึ่งความเห็นเช่นนี้พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิจริงๆ ครับ
แต่พระสารีบุตรได้แก้ความเห็นของพระยมกะว่าอัตตาไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) เมื่อพระยมกะทำลายความเห็นว่ามีอัตตาได้แล้ว (คือเห็นว่าไม่มีเรา ของๆ เรา ตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงสภาวธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ) จึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง บรรลุเป็นพระอรหันต์ครับ
ตอนหลังเมื่อพระสารีบุตรถามว่า “ท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านยมกะ ภิกษุอรหันตขีณาสพ หลังจากตายแล้วเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างไร”
พระยมกะจึงตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ถ้าพวกเขาถามอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุอรหันตขีณาสพหลังจากตายแล้วเป็นอะไร’ ผมถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้มีอายุ ผมถูกถามอย่างนี้พึงตอบอย่างนี้”
คือหมายความว่าสภาวธรรมที่มีความไม่เที่ยง มีความเกิด/ดับสืบทอดกันมายาวนานเพราะมีปัจจัยให้เกิดนั้น เมื่อหมดเหตุปัจจัยให้เกิดอีก (เพราะสิ้นตัณหา) เมื่อสภาวธรรมนั้นดับไปจึงไม่เกิดขึ้นมาอีก
ซึ่งต่างจากความเห็นในตอนแรกที่เห็นว่ามีอัตตา และเมื่ออัตตานี้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พอตายไปอัตตานี้ก็จะขาดสูญนะครับ
จุดสำคัญของ 2 ความเห็นนี้คือ เมื่อเห็นว่าเป็นอัตตา (เรา ของๆ เรา ตัวตนของเรา) ก็จะมีความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา (ความเป็นเรา) แต่เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่มีเรา ไม่มีของๆ เรา ไม่มีตัวตนของเรา) ก็จะหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงครับ
5. อีกสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ทิฏฐิคตสูตร ว่าด้วยทิฏฐิ (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๔๐๐) พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เนื้อความดังนี้ครับ
ลบ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร ว่าด้วยทิฏฐิ
[๔๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ต่างก็ถูกทิฏฐิ ๒ อย่างครอบงำ คือ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ (เชิงอรรถ ๑) เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป (เชิงอรรถ ๒) ส่วนเทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์พอใจ ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งภพ จิตของเทวดาและมนุษย์นั้นย่อมไม่ยอมรับ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่ยินดีภพนั่นแล จึงหลงเพลิดเพลินความขาดสูญโดยทำนองว่า ท่านทั้งหลาย ทราบว่า อัตตาของเรานี้ เมื่อตายไปย่อมขาดสูญพินาศไป หลังจากตายแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ชื่อว่าเป็นธรรมชาติสงบ ประณีต ถ่องแท้ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างนี้แล
เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยสภาวะแท้จริง ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วก็ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสิ่งที่เป็นจริง โดยความเป็นจริงนั้น เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตามความเป็นจริง เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อริยสาวกพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง
และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ย่อมน้อมจิตไปในนิพพานตามความเป็นจริง
เพราะความสิ้นไปแห่งภวตัณหา
ถ้าอริยสาวกผู้กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและใหญ่ไซร้
ชื่อว่าภิกษุ ย่อมไม่กลับมาสู่ภพอีก
เพราะขันธ์ ๕ เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทิฏฐิคตสูตรที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ :
๑ พวกหนึ่งยึดติดอยู่ หมายถึงพวกสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)
๒ พวกหนึ่งแล่นเลยไป หมายถึงพวกอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)
6. อีกสูตรที่น่าสนใจคือ อนุรุทธเถรคาถา ภาษิตของพระอนุรุทธเถระ (พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๘๖) พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา
ลบในตอนท้าย (หน้า : ๔๘๘) พระอนุรุทธกล่าวถึงการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ดังนี้ครับ
[๙๐๕] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่
ไม่ได้มีลมหายใจเข้าหายใจออก
พระองค์ไม่ทรงหวั่นไหว ปรารภความสงบ
มีพระจักษุ เสด็จปรินิพพานแล้ว
[๙๐๖] ทรงมีพระหฤทัยไม่หดหู่ อดกลั้นเวทนาได้
มีพระหฤทัยหลุดพ้นไป
เหมือนดวงประทีปที่ลุกโชนแล้วก็ดับไป
[๙๐๗] บัดนี้ ธรรมเหล่านี้ซึ่งมีสัมผัสเป็นที่ ๕
ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลง
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป
หลังจากนั้นพระอนุรุทธได้กล่าวถึงตัวท่านเองดังนี้ครับ
[๙๐๘] เทวดา บัดนี้ เราไม่มีการอยู่คือการอุบัติในหมู่เทพอีกต่อไป
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
(เรื่องนี้พระอนุรุทธกล่าวไว้ก่อนปรินิพพานนะครับ ไม่ใช่ปรินิพพานแล้วถึงมากล่าวกับเทวดานะครับ)
7. ในพระไตรปิฎกไม่มีเนื้อความส่วนไหนเลยนะครับที่กล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าหรือใครก็ตาม ได้พบกับพระพุทธเจ้าในอดีตหรือพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้ว มีอย่างมากที่สุดก็คือพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมชั้นสุทธาวาส (อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา) ซี่งเป็นที่เกิดของอนาคามีบุคคล และได้พบปะพูดคุยกับอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ (อนาคามีบุคคลที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้น และยังไม่ปรินิพพาน) ในภูมินั้น
ลบซึ่งพระสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ มหาปทานสูตร (พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑ - ๕๖) พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า ๑ - ๔๑ และ พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า ๔๒ - ๘๒ ซึ่งมีเนื้อหาคร่าวๆ ดังนี้ครับ
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าประวัติของพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ (เริ่มจากพระวิปัสสีพุทธเจ้า ไล่มาจนถึงตัวพระองค์เอง) ให้ภิกษุฟัง เมื่อฟังจบแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความสงสัยขึ้นว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีตได้เพราะทรงมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้ หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระองค์
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เพราะพระองค์มีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้ด้วย และเหล่าเทวดาก็ได้บอกเรื่องนี้แก่พระองค์ด้วย จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้วได้
หลังจากนั้นได้ทรงเล่าพระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้าอย่างละเอียด และทรงเล่าเรื่องที่พระองค์เสด็จเทวโลกชั้นสุทธาวาสและเทพชั้นสุทธาวาสเหล่านั้นได้เล่าประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีตให้พระองค์ฟังครับ
สรุป :
ลบก็ต้องพิจารณาเอานะครับว่าจะเลือกเชื่อความเห็นไหน ทั้งหมดนี้ผมไม่มีเจตนาไปขัดแย้งกับใครนะครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนทั่วไปพิสูจน์ไม่ได้อยู่แล้ว จึงขึ้นกับความเชื่อของแต่ละท่านเอง ผมเพียงแค่นำหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาแสดงเท่านั้น ถ้าใครมีหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าก็แย้งมาได้เลยนะครับ ยินดีรับฟังและขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าเลยครับ
ธัมมโชติ
เว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com
ขอขอบคุณ คุณธัมมโชติ ที่นำเนื้อความในพระไตรปิฎกมาให้อ่าน อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ
ตอบลบหากบอกจาก เล่มที่... ข้อที่... หน้าที่... ด้วย ผู้ที่ประสงค์จะตามไปเปิดอ่านจากหนังสือพระไตรปิฎกอีกครั้งก็น่าจะตามไปอ่านได้ง่ายขึ้น ขอบคุณครับ
สวัสดีครับ
ลบขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com และยังได้ฝากข้อแนะนำเอาไว้ด้วย
สำหรับเนื้อหาในส่วนที่ยกพระไตรปิฎกหรืออรรถกถามาแสดงไว้โดยตรง ไม่ว่าจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมประกอบด้วยหรือไม่ก็ตาม จะมีรายละเอียดบอกเอาไว้ชัดเจนแล้วนะครับ ว่ามาจากเล่มไหน หน้าและข้อที่เท่าไหร่ โดยข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยครับว่าเพิ่มเติมเข้าไป เช่น ใส่ไว้ในวงเล็บพร้อมลงชื่อกำกับ หรือระบุเป็นหัวข้ออย่างชัดเจน
แต่ในเนื้อหาที่เป็นการสรุปความจากหลายๆ พระสูตรรวมกัน หรือเป็นความรู้พื้นฐานทั่วๆ ไป เพื่อแสดงภาพรวมของธรรมะในเรื่องนั้นๆ หรือปูพื้นฐานให้กับผู้ที่ศึกษาธรรมะใหม่ๆ จะไม่สามารถระบุเล่ม/หน้า/ข้อ ได้ครับ เพราะเป็นการประมวลให้เห็นภาพรวมจากหลายพระสูตรรวมกัน
ข้อให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ธัมมโชติ
ผมอยากเป็นโสดาบัน เพื่อตายไปจะได้ไม่ตกสู่อบายภูมิ
ตอบลบกราบเรียนถามว่า
1. การจะเป็นโสดาบัน อย่างน้อยต้องยึดมั่นอย่างแท้จริงในพระรัตนตรัย มีศีลห้าบริบูรณ์ และละสังโยชน์สาม คือ สักกายฐิติ วิจิกิจฉา สีลพตัง แล้วยังต้องมีคุณสมบัติอะไรมากกว่านี้ไหมครับ
2. ที่บ้านมีปลวกขึ้น ทำให้บ้านพัง จะทำยังไง ถ้าไม่กำจัดปลวก
กำจัดปลวก ผิดศีลข้อ ๑ ก็คงไม่ได้บรรลุโสดาบัน ใช่ไหมครับ
ลบสวัสดีครับ
1.) คุณสมบัติของโสดาบันตามคำถามในข้อ 1.) นั้นเป็นผลของการเป็นโสดาบันนะครับ ไม่ใช่เป็นเหตุให้เป็นโสดาบัน
คือเมื่อบรรลุเป็นโสดาบันแล้วคุณสมบัติเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้ เช่น ยึดมั่นในพระรัตนตรัย แล้วเราจะเป็นโสดาบัน
เหมือนบอกว่าถ้าเป็นคนไทยจะร้องเพลงชาติไทยได้ ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่ฝึกจนร้องเพลงชาติไทยได้ คนๆ นั้นจะเป็นคนไทยนะครับ
การเป็นโสดาบันเกิดจากการเห็นแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง คือเห็นว่ารูปนามทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความต้องการของใคร แต่แปรผันไปตามเหตุตามปัจจัยที่มากระทำ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย จนเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นในรูปนามลงไป ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ชัดเจน และมีพลังลงไปถึงจิตใต้สำนึกเลยนะครับ จนถึงขั้นทำลายอนุสัยกิเลสไปได้ตามขั้นแห่งมรรคผลนั้น
และด้วยผลแห่งโสดาปัตติมรรคดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นผลตามมานะครับ คือ
* ความเห็นว่ารูปนี้นามนี้หรือกายนี้ใจนี้เป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตนของเรา (สักกายทิฏฐิ) จึงถูกทำลายไป เพราะสิ่งใดก็ตามที่ควรจะเรียกว่าเป็นเรา หรือตัวตนของเรา สิ่งนั้นก็ควรอยู่ในอำนาจ เป็นไปตามที่เราต้องการให้เป็นไม่ใช่หรือ สิ่งที่แปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยากแก่ก็แก่ ไม่อยากเจ็บก็เจ็บ ไม่อยากร้อนก็ร้อน ไม่อยากหนาวก็หนาว ไม่อยากโกรธก็โกรธ ไม่อยากทุกข์ก็ทุกข์ ฯลฯ อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตนของเราจะสมควรหรือ
* ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ไม่ปักใจเชื่อ (วิจิกิจฉา) ในความมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ จึงหมดไป เพราะเห็นแจ้งในสัจจธรรมด้วยปัญญาของตนเองแล้วนะครับ จึงรู้ว่าทางนี้เป็นทางจริงแท้
* การถือศีลพรตด้วยจุดมุ่งหมายที่ผิดทาง ทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากศีลหรือพรตนั้นอย่างที่ควรจะเป็น (สีลพตปรามาส) จึงหมดไป เพราะรู้ชัดแล้วว่าจุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็นของศีลพรตคือการกำจัดกิเลส และรู้แจ้งด้วยตัวเองแล้วว่ากิเลสจะถูกกำจัดได้ด้วยวิถีทางใดนะครับ
* และเมื่อหมดวิจิกิจฉาในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วศรัทธา ความเลื่อมใสอย่างมั่นคงในพระรัตนตรัยย่อมเกิดขึ้นนะครับ
* และจากการที่เกิดปัญญารู้แจ้งในธรรมชาติของรูปนาม จนคลายความยึดมั่นในสรรพสิ่งลงไป ส่งผลให้อนุสัยกิเลสขั้นหยาบถูกทำลายลงไปในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคนั้น จิตจึงประณีตขึ้น จนโลภะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ มีกำลังไม่มากพอที่จะทำผิดศีล 5 ได้ (เช่น โทสะที่มีอยู่ไม่แรงพอที่จะฆ่าสัตว์ได้) ศีล 5 จึงบริบูรณ์นะครับ
* และด้วยความประณีตของจิตในระดับที่เป็นอยู่นี้เอง จึงพ้นจากอบายภูมิตลอดไปนะครับ
คุณสมบัติที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของโสดาบันนะครับ ส่วนคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ก็ขึ้นกับบารมีที่สร้างไว้ของแต่ละท่านครับ เช่น ท่านพระอานนท์ได้ปฏิสัมภิทาทั้ง 4 ตั้งแต่เป็นโสดาบัน เป็นต้น
สรุปตรงนี้คือ ถ้าอยากเป็นโสดาบันต้องสร้างที่เหตุ คือ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญาขั้นโสดาปัตติมรรค นะครับ ไม่ใช่พยายามสร้างที่ผลแล้วจะเป็นโสดาบันได้
2.) ถ้าเป็นโสดาบันแล้วก็จะฆ่าปลวกไม่ลงเองครับ
แต่ถ้ายังไม่เป็นโสดาบันก็ควรเฝ้าระวังใจตนไม่ให้ผิดศีล 5 นะครับ
เรื่องปลวกนั้น ก็ลองหาวิธีควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปนะครับ ส่วนที่เสียหายไปแล้วถ้าสามารถตัดหรือยกส่วนนั้นออกไป แล้วนำไม้ชิ้นใหม่หรือวัสดุอื่นที่ปลวกไม่ขึ้นมาแทนที่ ถ้าทำได้ก็จะเป็นการดีนะครับ
ธัมมโชติ
สืบเนื่องจากคำถามเดิม ถ้าปลวกยังไม่ขึ้นและเราไม่เห็นตัวปลวกเลย แต่เราฉีดป้องกันปลวกลงไปในดินในจุดที่ปลวกเคยขึ้น ด้วยเจตนาเพื่อป้องกันปลวก (ทั้ง ๆ ที่ดินบริเวณนั้นอาจจะมีปลวกหลงเหลืออยู่ แต่ไม่เห็นตัวปลวก) เช่นนี้ เราผิดศีลปาณาหรือไม่ (ไม่มีเจตนาฆ่าปลวก)
ตอบลบเช่นเดียวกัน ถ้าเราฉีดยาฆ่าหญ้า ทั้ง ๆ ที่ก็น่าจะมีแมลงตัวเล็ก ๆ อยู่บริเวณนั้น แต่เราไม่สังเกตเห็น จะผิดศีลปาณาไหมครับ
ลบทั้ง 2 กรณี ไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์ แต่รู้อยู่ว่าการกระทำนั้นถ้ามีสัตว์ที่มีชีวิตอยู่บริเวณนั้น จะทำให้สัตว์นั้นตายเพราะการกระทำนั้น เทียบเคียงได้กับพระวินัยข้อนี้ครับ (จะแสดงส่วนสำคัญของพระวินัยข้อนี้ก่อน แล้ววิเคราะห์เรี่องการผิดศีล 5ด้านล่างนะครับ)
สัปปาณกสิกขาบท ว่าด้วยการบริโภคน้ำที่มีสัตว์มีชีวิต
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕.ปาจิตติยกัณฑ์] ๗.สัปปาณกวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๐๔
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๓๘๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอรู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค จริงหรือ”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่ว่านํ้ามีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภคเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๓๘๘] ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์มีชีวิต ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๘๙] ...
ภิกษุรู้อยู่ว่า “นํ้ามีสัตว์มีชีวิต” รู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะตายเพราะการบริโภค” ก็ยังบริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
บทภาชนีย์
[๓๙๐] นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต บริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่ามีสัตว์มีชีวิต ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
[๓๙๑] ๑. ภิกษุไม่รู้ว่า “น้ำมีสัตว์มีชีวิต”
๒. ภิกษุรู้ว่า “น้ำไม่มีสัตว์มีชีวิต”
๓. ภิกษุรู้อยู่ว่า “สัตว์มีชีวิตจะไม่ตายเพราะการบริโภค”
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
สัปปาณกสิกขาบทที่ ๒ จบ
ลบวิเคราะห์เรี่องการผิดศีล 5
1.) จากบทภาชนีย์ อาบัติปาจิตตีย์เป็นอาบัติ (การผิดศีลของภิกษุ) ขั้นเดียวกับการจงใจปลงชีวิตสัตว์เลยนะครับ
อาบัติทุกกฏเป็นอาบัติขั้นเล็กน้อย เทียบเท่ากับการนุ่งห่มไม่เรียบร้อย การฉันเสียงดัง ฯลฯ
อ่านบทภาชนีย์ และอนาปัตติวาร ให้ดีแล้วจะเข้าใจเรื่องที่ถามได้ชัดเจนนะครับ
2.) จากประเด็นในคำถามที่ว่า "ทั้ง ๆ ที่ดินบริเวณนั้นอาจจะมีปลวกหลงเหลืออยู่ แต่ไม่เห็นตัวปลวก" และ "ทั้ง ๆ ที่ก็น่าจะมีแมลงตัวเล็ก ๆ อยู่บริเวณนั้น แต่เราไม่สังเกตเห็น"
ทั้ง 2 กรณี ก้ำกึ่งที่จะเทียบเท่ากับ "นํ้ามีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ บริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ" หรือ "นํ้าไม่มีสัตว์มีชีวิต ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ" คือถ้าไม่แน่ใจว่ามีสัตว์มีชีวิตอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าความจริงจะมีสัตว์มีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม ก็ต้องอาบัติทุกกฏเหมือนกันเลยนะครับ
ซึ่งกรณีของศีล 5 ก็จะไม่ถึงขั้นผิดศีล แต่ก็ทำให้ศีลด่างพร้อย ไม่สะอาดหมดจดครับ
3.) ดังนั้น ทางที่ดีก็ควรเปลี่ยนสถานะให้เป็น "ภิกษุสำคัญว่าไม่มีสัตว์มีชีวิต บริโภค ไม่ต้องอาบัติ" ในบทภาชนีย์
หรือ "ภิกษุไม่รู้ว่า “น้ำมีสัตว์มีชีวิต” " หรือ "ภิกษุรู้ว่า “น้ำไม่มีสัตว์มีชีวิต” " ในอนาปัตติวาร
โดยการดูให้ดีเสียก่อน (ตามกำลังที่พึงทำได้) ก่อนที่จะฉีดป้องกันปลวกลงไปในดิน หรือฉีดยาฆ่าหญ้านะครับ
ธัมมโชติ