Google Analytics 4




พระไตรปิฎกออนไลน์-หน้าหลัก

วิธีใช้งานพระไตรปิฎกออนไลน์ ข้อมูลความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ความแตกต่างของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ รายละเอียดของพระไตรปิฎกคัมภีร์ต่างๆ และคำแนะนำในการศึกษาพระไตรปิฎก (ท่านสามารถคลิกที่สารบัญที่มุมขวาล่างของหน้าจอ ซึ่งจะแสดงรายชื่อเล่มพระไตรปิฎกสำหรับเลือกอ่าน รวมถึงสารบัญหมวดอื่นๆ ให้เลือกอ่านด้วย)

รายการในหน้านี้


วิธีใช้งานพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การเลือกเล่มพระไตรปิฎกทำได้ 2 ทางนะครับ คือ
  1. ใช้เครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ด้านบนของหน้า (เป็นบริการ custom search engine ของ google) เพื่อหาว่าเรื่องหรือคำที่ต้องการนั้นอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มใด และเมื่อเปิดพระไตรปิฎกเล่มนั้นขึ้นมาแล้ว ก็ค้นหาตำแหน่งของคำที่ต้องการในเล่มนั้นโดยใช้คำสั่งค้นหาในหน้าเว็บ (find in page) ของโปรแกรมที่ใช้ดูเว็บอีกทีนะครับ ซึ่งถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows ก็กดปุ่ม [ctrl]+f หรือคลิกเมนูแล้วเลือก find... หรือ find in page ถ้าเป็น smart phone ก็เปิดเมนูคำสั่งของโปรแกรมแล้วหาคำสั่งพวก ค้นหาในหน้าเว็บ find หรือ find in page หรืออะไรทำนองนี้ดูนะครับ สำหรับอุปกรณ์อื่นก็ทำนองเดียวกันนะครับ

    *** ตรงนี้มีข้อควรระวังเล็กน้อยนะครับ คือในพระไตรปิฎกนั้นใช้เลขไทยทั้งหมด ถ้าค้นด้วยเลขอารบิคจะค้นไม่เจอนะครับ ***

  2. เลือกเปิดจากสารบัญพระไตรปิฎกโดยตรง ซึ่งจะเป็นการเลือกเล่มที่จะเปิดด้วยตัวเองจากรายชื่อในสารบัญนะครับ ทำได้หลายทางคือ

    1. เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ทางเว็บจึงได้ทำเมนูลอยตรึงเอาไว้ที่มุมล่างขวาของทุกหน้า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งใดของหน้าใดในเว็บนี้ก็สามารถคลิกเรียกสารบัญจากเมนูลอยนี้ได้เลยครับ เมื่อคลิกแล้วหน้าต่างสารบัญก็จะแสดงออกมาโดยที่หน้าจอหลักยังอยู่ตำแหน่งเดิม นอกจากจะไม่ต้องเสียเวลาเลื่อนหน้าไปหาเมนูที่ด้านบนแล้วยังเหมาะมากสำหรับท่านที่อ่านแล้วเจอศัพท์ที่ไม่เข้าใจ ก็สามารถเปิดพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ได้จากเมนูลอยนี้ซึ่งจะเปิดพจนานุกรมขึ้นมาในหน้าใหม่โดยที่หน้าเดิมยังอยู่ในตำแหน่งเดิมรอให้ท่านกลับมาอ่านได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วยครับ

    2. นอกจากนี้ท่านยังสามารถคลิกเปิดสารบัญได้จากแถบสารบัญที่อยู่ด้านบนสุดและด้านล่างสุดของทุกหน้าครับ ซึ่งก็จะมีสารบัญย่อยขึ้นมาให้ท่านเลือกต่อไป

    3. และที่หน้าหลัก (คือหน้าที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้) ก็มีสารบัญ (เฉพาะส่วนของพระไตรปิฎก) อยู่ด้านล่างของหน้าเช่นกันครับ ท่านก็สามารถเลื่อนลงไปดูสารบัญได้เช่นกันครับ

โครงสร้างของสารบัญพระไตรปิฎก

เนื่องจากพระไตรปิฎกแต่ละเล่มมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการลดภาระของเครื่องในการโหลดข้อมูลมาดูจึงได้แบ่งพระไตรปิฎกแต่ละเล่มเป็นเล่มย่อยอีกทีนะครับ และเพื่อความสะดวกในการดูสารบัญจึงได้ทำสารบัญเอาไว้เป็น 3 ระดับ คือ
  1. ระดับบนสุดใช้ชื่อว่าสารบัญพระไตรปิฎก โดยจะมีแยกเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อคลิกเลือกปิฎกที่ต้องการแล้ว ก็จะกระโดดไปสารบัญระดับที่ 2 ที่อยู่ด้านล่างลงไปอีก คือสารบัญเล่มพระไตรปิฎก ในตำแหน่งของปิฎกที่เลือกนะครับ

  2. สารบัญระดับที่ 2 คือสารบัญเล่มพระไตรปิฎก จะแยกเป็น 45 เล่ม ตามแบบพระไตรปิฎกที่เป็นเล่มหนังสือจริงๆ นะครับ เมื่อคลิกเลือกเล่มพระไตรปิฎกเล่มใดก็จะกระโดดไปที่สารบัญระดับที่ 3 ที่อยู่ด้านล่างสุดคือสารบัญเล่มย่อยพระไตรปิฎก ในตำแหน่งของเล่มหนังสือที่เลือกนะครับ

  3. สารบัญระดับล่างสุดคือสารบัญเล่มย่อยพระไตรปิฎก จะแยกเล่มพระไตรปิฎกเป็นเล่มย่อยอีกทีเพื่อลดขนาดข้อมูลที่เรียกดูแต่ละครั้งลง เมื่อคลิกเลือกเล่มย่อยเล่มใดก็จะเรียกเปิดพระไตรปิฎกเล่มย่อยนั้นขึ้นมาโดยตรงนะครับ ซึ่งการแบ่งหน้าและเลขหน้าที่แสดงจะตรงกับในพระไตรปิฎกที่เป็นเล่มหนังสือจริงๆ เลยนะครับ ถ้าต้องการไปที่พระสูตรไหนหรือหน้าอะไรก็ใช้คำสั่งค้นหาในหน้าเว็บแบบเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ในวิธีใช้งานข้อ 1. ได้นะครับ

ที่มาของข้อมูล :

โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
MCUTRAI Version 1.0


ขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

ข้อมูลพื้นฐานพระไตรปิฎก :


พระไตรปิฎกมีกี่เล่มกี่ฉบับแตกต่างกันอย่างไร

พระไตรปิฎกภาษาไทยที่เป็นเล่มหนังสือที่มีแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนั้นมี 2 ฉบับนะครับ (แถมอีก 1 ที่หายากแล้ว) ซึ่งแต่ละฉบับก็มีจำนวนเล่มแตกต่างกัน คือ
  1. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แบ่งเป็น 45 เล่ม ตามมาตรฐานนะครับ

  2. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย แบ่งเป็น 91 เล่มครับ

  3. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง แบ่งเป็น 45 เล่มตามมาตรฐานเช่นกันครับ

ความแตกต่างของพระไตรปิฎกแต่ละฉบับ :

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือมหาจุฬาบรรณาคาร ท่าพระจันทร์ ข้างวัดมหาธาตุฯ ใกล้ๆ สนามหลวงนะครับ พระไตรปิฎกฉบับนี้มีจุดเด่นคือใช้ภาษาที่เป็นสำนวนไทยปัจจุบัน ทำให้อ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ ทั้งหมด และมีเชิงอรรถที่ด้านล่างของแต่ละหน้าเพื่อขยายความเนื้อพระไตรปิฎกในส่วนที่เข้าใจยากด้วยครับ ซึ่งพระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นต้นฉบับของพระไตรปิฎกออนไลน์ในเว็บนี้ครับ

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ตรงข้ามวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร บางลำพูนะครับ พระไตรปิฎกฉบับนี้มีจุดเด่นคือมีอรรถกถาของพระไตรปิฎก (การขยายความพระไตรปิฎกโดยภิกษุสมัยหลังพุทธกาล ส่วนมากจะเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค พ.ศ. 900 กว่า) พิมพ์ต่อท้ายพระไตรปิฎกแต่ละสูตรเลย ทำให้เข้าใจพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น แต่เนื่องจากฉบับนี้ใช้สำนวนแบบสมัยเก่าทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยรู้สึกว่าเข้าใจยากเพราะต้องแปลไทยเป็นไทยอีกทีครับ และด้วยอรรถกถาที่เพิ่มเข้าไปทำให้พระไตรปิฎกฉบับนี้มีจำนวนถึง 91 เล่มเลยครับ

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง

มีอีกฉบับซึ่งน่าจะหายากแล้ว เพราะเป็นฉบับเก่ามากคือพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ใช้สำนวนสมัยเก่าเช่นกันครับ ทำให้ไม่น่าสนใจเท่า 2 ฉบับข้างบนซึ่งมีจุดเด่นที่ต่างกัน

คุณค่าของพระไตรปิฎก :


พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร

หากจะถามว่าพระไตรปิฎกมีความสำคัญอย่างไร ก็ตอบได้ว่าพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาเพราะเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเอาคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระสาวกสำคัญต่างๆ เอาไว้ และเนื่องจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นฝ่ายที่เป็นอนุรักษ์นิยมที่สุดในบรรดาพุทธศาสนานิกายต่างๆ เพราะพระอรหันต์ทั้ง 500 รูป ที่ร่วมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยตั้งแต่ครั้งที่ 1 ที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธานหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 3 เดือน (การสังคายนาครั้งนั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 7 เดือน) เพื่อรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และจัดเป็นหมวดหมู่ จนกลายมาเป็นพระไตรปิฎกในปัจจุบันนั้นได้มีมติร่วมกันว่าจะไม่เพิกถอนสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้ และจะไม่บัญญัติสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีก จึงทำให้คำสอนของฝ่ายเถรวาทสามารถรักษาคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าเอาไว้ได้มากที่สุด ต่างจากฝ่ายมหายานที่ปรับตัวไปตามยุคสมัยจึงมีการปรับเปลี่ยนคำสอนไปเรื่อยๆ โดยมุ่งเน้นให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปมากที่สุด จึงทำให้หาร่องรอยของคำสอนดั้งเดิมได้ยากกว่าฝ่ายเถรวาท

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าถ้าต้องการทราบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าก็ต้องอ่านพระไตรปิฎกของเถรวาทนะครับ

พระไตรปิฎกคืออะไร

คำว่าไตรแปลว่า 3 คำว่าปิฎกแปลว่าตะกร้าหรือกระจาด พระไตรปิฎกคือคัมภีร์หรือหนังสือที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้ารวมถึงพระสาวกสำคัญต่างๆ เอาไว้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ หรือ 3 ปิฎก และในแต่ละปิฎกก็แบ่งเป็นคัมภีร์ย่อยๆ อีกที ดังรายละเอียดด้านล่างนะครับ

เนื้อหาในพระไตรปิฎก :

พระไตรปิฎกประกอบด้วย 3 ส่วนหรือ 3 ปิฎก คือ
  1. พระวินัยปิฎก เป็นส่วนที่รวบรวมเรื่องพระวินัยหรือศีลเอาไว้ มี 21,000 พระธรรมขันธ์ (ข้อธรรม)
  2. พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็นส่วนที่รวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้ารวมถึงพระสาวกสำคัญๆ เอาไว้ในลักษณะของการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร มี 21,000 พระธรรมขันธ์
  3. พระอภิธรรมปิฎก เป็นคำสอนที่ไม่กล่าวถึงตัวบุคคลแต่จะกล่าวถึงสภาวธรรมล้วนๆ เช่น จิตมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร มีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง เกิดจากสาเหตุใด ดับไปเพราะอะไร เป็นต้น มีทั้งสิ้น 42,000 พระธรรมขันธ์
เมื่อรวมทั้ง 3 ปิฎก จึงมีคำสอนหรือพระธรรมวินัยทั้งสิ้น 84,000 พระธรรมขันธ์นะครับ

นวังคสัตถุศาสน์

พระพุทธวจนะ หรือ พุทธพจน์มีองค์ประกอบ 9 อย่าง

ลักษณะหรือรูปแบบการแสดงคำสั่งสอนของพระศาสดามี 9 รูปแบบ ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ หรือเขียนอย่างบาลีเป็น นวังคสัตถุสาสน์ หรือบางแห่งใช้คำว่า พุทธพจน์มีองค์ประกอบ 9 อย่าง หรือ พระพุทธวจนะ หรือ พระไตรปิฏก อันประกอบด้วยองค์ 9 ก็คือส่วนประกอบ 9 อย่างที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ ประกอบด้วย

สุตตะ คือพระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรต่างๆ
เคยยะ คือความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่ประกอบด้วยคาถาทั้งหลาย
เวยยากรณะ (ไวยากรณ์) คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฏกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธวจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในองค์ 8 ที่เหลือได้ชื่อว่าเวยยากรณะทั้งหมด
คาถา คือความร้อยกรองล้วน ได้แก่ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต
อุทาน คือพระคาถาพุทธอุทาน ได้แก่ พระสูตร 82 สูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ
อิติวุตตกะ คือพระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้”
ชาตกะ คือชาดก เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด 550 เรื่อง
อัพภูตธรรม คือเรื่องอัศจรรย์ หรือ พระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ ได้แก่ พระสูตรที่ประกอบพร้อมด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด
เวทัลละ คือพระสูตรแบบถามตอบที่ผู้ถามเกิดความรู้แจ้งและความยินดีพอใจ แล้วซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น

คำแนะนำการศึกษาพระไตรปิฎก

ในที่นี้จะขออนุญาตแนะนำท่านที่ยังใหม่ต่อพระไตรปิฎกอยู่นะครับ สำหรับผู้สนใจทั่วไปควรจะเริ่มอ่านจากพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตรก่อนนะครับ พระสูตรมีทั้งสิ้น 5 คัมภีร์ ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียดต่อไป โดยเมื่อตัดสินใจจะอ่านคัมภีร์ไหนก็ควรจะอ่านตั้งแต่หน้าแรกของคัมภีร์นั้นเลยนะครับ เพราะส่วนใหญ่ในตอนหลังๆ ของคัมภีร์เมื่อมีเนื้อหาซ้ำกับตอนแรกๆ ก็จะละข้อความเหล่านั้นเอาไว้ ไม่กล่าวรายละเอียดซ้ำอีก ดังนั้นท่านที่ข้ามตอนแรกๆ ไป ก็จะไม่เห็นรายละเอียดที่ละเอาไว้นั้นครับ

สำหรับพระภิกษุสามเณรก็คงต้องตัดสินใจก่อนนะครับว่าควรจะเริ่มศึกษาจากพระวินัยหรือพระสูตรก่อนดี เพราะมีความสำคัญต่อท่านทั้ง 2 อย่างในต่างแง่มุมกัน และทั้ง 2 ส่วนก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยก็เพื่อเกื้อหนุนพัฒนาการของจิต ศีลที่ด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน ไม่สงบระงับ ยากแก่การปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนา ศีลที่บริสุทธิ์ย่อมทำให้จิตใจปลอดโปร่ง เบาสบาย ไร้กังวล และประณีตขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้การปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมย่อมทำให้จิตใจสงบระงับ ไม่ฟุ้งซ่าน กิเลสรบกวนน้อยลงไป ก็ย่อมทำให้การรักษาศีลทำได้โดยง่ายเช่นกัน โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าท่านควรจะศึกษาพระวินัยแบบเร่งรัดก่อน คือศึกษาจากหนังสือวินัยมุข หรือถ้ารวบรัดกว่านั้นก็หนังสือนวโกวาท (ซึ่งน่าจะรวบรัดเกินไปนะครับ) และถ้าสงสัยพระวินัยเรื่องไหนเป็นการเฉพาะก็ถึงมาอ่านพระวินัยปิฎกเรื่องนั้นให้กระจ่างแจ้ง จะได้หมดความกังวลใจนะครับ และเมื่อศึกษาพระวินัยแบบรวบรัดจนสบายใจแล้ว ก็มาทุ่มเทกับพระสูตรให้เต็มที่ก่อน เมื่อศึกษาพระสูตรจบแล้วก็ค่อยกลับไปอ่านพระวินัยปิฎกให้ละเอียดอีกที หรือจะอ่านพระอภิธรรมปิฎกก่อนก็ตามสะดวกครับ

สำหรับท่านที่คิดว่าพระไตรปิฎกมีเนื้อหามากเกินเวลาที่ท่านมีอยู่ หรือท่านที่มีพื้นฐานไม่มากพอที่จะทำความเข้าใจพระไตรปิฎกได้โดยง่าย อยากจะแนะนำให้ท่านได้อ่านธรรมะในส่วนของธัมมโชติ-เรียนลัดพระไตรปิฎกก่อนนะครับ (คลิกที่สารบัญได้เลยครับ ทั้งที่เมนูลอยที่มุมขวาล่างและที่แถบสารบัญที่ด้านบนสุดและล่างสุดของทุกหน้า) ในส่วนธัมมโชติ-เรียนลัดพระไตรปิฎกนั้นได้รวบรวมพระไตรปิฎกเรื่องที่คนทั่วไปควรจะรู้เอาไว้ โดยแยกเป็น 7 หมวด คือ หมวดทาน หมวดศีล สมถกรรมฐาน (สมาธิ) วิปัสสนา (ปัญญา) ธรรมทั่วไป บทวิเคราะห์ ตัวอย่างการบรรลุธรรม เพื่อให้ง่ายในการเลือกอ่านครับ ซึ่งจะมีทั้งเอาพระไตรปิฎกมาลงไว้โดยตรงพร้อมคำอธิบายประกอบ และการสรุปความมาจากพระไตรปิฎกหลายๆ สูตรอีกที เมื่ออ่านในส่วนของธัมมโชติ-เรียนลัดพระไตรปิฎกจบแล้ว เชื่อว่าท่านจะมีพื้นฐานมากพอที่จะสามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ด้วยตัวท่านเองครับ

รายละเอียดของพระไตรปิฎกคัมภีร์ต่างๆ

พระวินัยปิฎก มี 5 คัมภีร์ คือ

  1. มหาวิภังค์ คือศีล 227 ข้อสำหรับภิกษุ ที่มีในพระปาฏิโมกข์
  2. ภิกขุนีวิภังค์ คือศีล 311 ข้อสำหรับภิกษุณี ที่มีในภิกขุนีปาฏิโมกข์
  3. มหาวรรค เป็นศีลนอกพระปาฏิโมกข์ที่มีเนื้อความยาวๆ เช่น เรื่องวิธีการอุปสมบท เรื่องน้ำปานะที่ทรงอนุญาต เรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจีวร เป็นต้น
  4. จุลวรรค เป็นศีลนอกพระปาฏิโมกข์ที่มีเนื้อความสั้นๆ เช่น เรื่องการเข้าปริวาส การระงับอธิกรณ์ เรื่องเสนาสนะ เป็นต้น
  5. ปริวาร เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์พระวินัย เช่น พระวินัยที่เกิดที่เมืองไหนมีกี่ข้อ พระวินัยเกี่ยวกับเรื่องอะไรมีกี่ข้อ เป็นต้น

พระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร มี 5 คัมภีร์ คือ

  1. ทีฆนิกาย เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหายาว (ทีฆะแปลว่ายาว) เช่น เรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มหาสติปัฏฐานสูตรซึ่งเป็นพระสูตรที่แสดงการเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างละเอียดที่สุด เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นต้น อ่านเพลินและดื่มด่ำในบรรยากาศเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลยครับ
  2. มัชฌิมนิกาย เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาความยาวปานกลาง เช่น ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ ทีฆนขสูตรที่พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น
  3. สังยุตตนิกาย เป็นพระสูตรที่รวมเนื้อหาไว้เป็นหมวดตามสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น เทวดาสังยุตจะรวมเรื่องที่พระพุทธเจ้าตอบปัญหาเทวดา โกสลสังยุตรวมเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ขันธสังยุตรวมเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ 5 โพชฌังคสังยุตรวมเรื่องเกี่ยวกับโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) เป็นต้น เป็นการอ่านธรรมะแต่ละอย่างเช่นเรื่องขันธ์ 5 ในหลายแง่มุม (หลายสูตรในหมวดเดียวกัน) ทำให้เข้าใจเรื่องนั้นอย่างแตกฉานเลยครับ
  4. อังคุตตรนิกาย เป็นพระสูตรที่รวมหมวดไว้ตามจำนวนองค์ประกอบ เช่น จตุกกนิบาต (หมวด 4) ก็จะเป็นพระสูตรพวกความเพียร 4 ประการ อคติ (ความลำเอียง) 4 ประการ วิปลาส 4 สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น
  5. ขุททกนิกาย เป็นพระสูตรที่มีเนื้อความสั้น เช่น มงคลสูตร คาถาธรรมบท ชาดก เปตวัตถุรวมเรื่องเปรต วิมานวัตถุรวมเรื่องวิมานและบุญที่ทำให้ได้วิมานของเทวดานางฟ้า อปทานรวมเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่สำคัญ เป็นต้น

พระอภิธรรมปิฎก มี 7 คัมภีร์ คือ

  1. ธัมมสังคนี เป็นคัมภีร์ที่อธิบายรายละเอียดของสภาวธรรมต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของการศึกษาธรรมะให้เข้าใจลึกซึ้งและถูกต้อง เช่น ลักษณะและองค์ประกอบของจิตแต่ละประเภท เช่น กามาวจรมหากุศลจิตมี 8 ประเภท อกุศลจิตที่มีความโลภเป็นมูลมี 8 ประเภท อกุศลจิตที่มีความโกรธเป็นมูลมี 2 ประเภท อกุศลจิตที่มีความหลงเป็นมูลมี 2 ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง เป็นต้น
  2. วิภังค์ เป็นคัมภีร์ที่จำแนกธรรมเป็นข้อๆ แล้วอธิบายรายละเอียดแต่ละข้ออย่างละเอียดมากๆ หลายแง่หลายมุม นับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของการศึกษาธรรมะให้เข้าใจลึกซึ้งและถูกต้องอีกคัมภีร์หนึ่ง เช่น ขันธวิภังค์ ก็อธิบายเรื่องขันธ์ 5 แต่ละขันธ์อย่างละเอียดเป็นข้อๆ อย่างวิจิตรพิสดาร ธรรมะในหมวดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันครับ
  3. ธาตุกถา เป็นคัมภีร์ที่เป็นการนำความรู้เรื่องสภาวธรรมพื้นฐานมาอธิบายให้สลับซับซ้อนขึ้นในแง่ความเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ เป็นพวกเดียวกันหรือคนละพวกของสภาวธรรมในหมวดต่างๆ คล้ายกับเรื่องเซ็ต สับเซ็ต ยูเนี่ยน อินเตอร์เซ็กชั่นในวิชาคณิตศาสตร์นะครับ ซึ่งจะทำให้เข้าใจสภาวธรรมต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่งขึ้น เช่น "รูปขันธ์สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์ อายตนะ และธาตุเท่าไร - รูปขันธ์สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์ ๑ อายตนะ ๑๑ และธาตุ ๑๑ - สงเคราะห์เข้าไม่ได้กับขันธ์ อายตนะ และธาตุเท่าไร - สงเคราะห์เข้าไม่ได้กับขันธ์ ๔ อายตนะ ๑ และธาตุ ๗" ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมนะครับ ขันธ์ ๑ = รูปขันธ์, อายตนะ ๑๑ = ตา, รูป, หู, เสียง, จมูก, กลิ่น, ลิ้น, รส, กาย, โผฏฐัพพะ, ธัมมายตนะ หรือธัมมารมณ์เฉพาะในส่วนที่เป็นรูป (ธัมมารมณ์ หรือธัมมายตนะ หรือธัมมธาตุ ประกอบด้วยเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, รูปที่เห็นไม่ได้และกระทบไม่ได้ ซึ่งนับเนื่องในธัมมายตนะ (คือรูปที่เกิดขึ้นทางใจ หรือรูปละเอียด เช่น สภาวะความเป็นหญิง ชาย เป็นต้น) และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง คือนิพพาน), ธาตุ ๑๑ = เหมือนอายตนะ ๑๑, ขันธ์ ๔ = เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์, อายตนะ ๑ = มนายตนะ (ใจ), ธาตุ ๗ = จักขุวิญญาณธาตุ, โสตวิญญาณธาตุ, ฆานวิญญาณธาตุ, ชิวหาวิญญาณธาตุ, กายวิญญาณธาตุ, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ
  4. ปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์ที่จำแนกบุคคลออกเป็นประเภทต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมวดสอง ... จนถึงหมวดสิบ ในส่วนแรกจะแสดงอุทเทสคือหัวข้อก่อน แล้วอธิบายรายละเอียดในส่วนนิทเทสซึ่งอยู่ถัดไปนะครับ ยกตัวอย่างเช่น หมวดสี่ เช่น บุคคลผู้เป็นธรรมกถึก ๔ จำพวก, บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษ ๔ จำพวก หมวดห้า เช่น ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก, ภิกษุผู้ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ๕ จำพวก
  5. กถาวัตถุ เป็นคัมภีร์ที่รจนาโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานสองร้อยกว่าปีนะครับ ในสมัยนั้นมีทิฏฐินอกศาสนาเข้ามาปลอมปนในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระจึงได้รจนาคัมภีร์นี้ขึ้นมาเพื่อโต้แย้งทิฏฐิเหล่านั้น โดยรูปแบบจะเป็นการโต้วาทีกันระหว่างฝ่ายที่มีทิฏฐิแบบเถรวาท กับฝ่ายที่มีทิฏฐิที่ปลอมปนเข้ามา เช่น โต้แย้งกันเรื่องบุคคลเป็นเพียงสมมุติบัญญัติคือไม่มีอยู่จริง เป็นอนัตตา สุญญตา หรือเป็นปรมัตถ์คือเป็นสภาวะที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นเพียงรูปกับนาม
  6. ยมก เป็นคัมภีร์ที่อธิบายสภาวธรรมเป็นคู่ๆ ในลักษณะการถามและตอบคำถาม เช่น "อนุ. จักขุนทรีย์ของบุคคลใดกำลังเกิด โสมนัสสินทรีย์ของบุคคลนั้นก็จักเกิดใช่ไหม วิ. ปัจฉิมภวิกบุคคลผู้กำลังอุบัติในปัญจโวการภูมิและบุคคลเหล่าใดผู้มีจักขุเกิดได้มีอุเบกขาจักอุบัติแล้วปรินิพพาน บุคคลเหล่านั้นกำลังอุบัติ จักขุนทรีย์ของบุคคลเหล่านั้นกำลังเกิด แต่โสมนัสสินทรีย์ไม่ใช่จักเกิด บุคคลนอกนี้ผู้มีจักขุเกิดได้กำลังอุบัติ จักขุนทรีย์ของบุคคลเหล่านั้นกำลังเกิดและโสมนัสสินทรีย์ก็จักเกิด"
  7. ปัฏฐาน เป็นคัมภีร์ที่แสดงเรื่องเหตุปัจจัยประเภทต่างๆ อย่างละเอียด ที่พระสวดว่า "เหตุปจฺจโย อารมฺมณปจฺจโย อธิปติปจฺจโย อนนฺตรปจฺจโย..." คือสภาวธรรมที่ช่วยอุปการะโดยความเป็นเหตุ สภาวธรรมที่ช่วยอุปการะโดยความเป็นอารมณ์ สภาวธรรมที่ช่วยอุปการะโดยความเป็นอธิบดี สภาวธรรมที่ช่วยอุปการะโดยความติดต่อกันไม่มีระหว่างคั่น... นะครับ ซึ่งเป็นธรรมะที่ทำให้เข้าใจเรื่องอนัตตาได้อย่างแจ่มชัด คือทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อมีเหตุให้ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ เมื่อมีเหตุให้ดับก็ดับไป เมื่อไม่มีเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีอำนาจเฉพาะตนที่จะบังคับให้สิ่งใดเป็นไปตามที่ใครปรารถนาได้ ทำได้ก็แค่เพียงสร้างเหตุปัจจัยเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยส่วนน้อยในกระแสของเหตุปัจจัยที่ส่งผลอยู่ ดังนั้นตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่จึงไม่มีใครที่พ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความเป็นอนัตตาเป็นกระแสปัจจัยหลักของวัฏสงสาร
*** ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์นี้นะครับ


สารบัญพระไตรปิฎก


สารบัญเล่มพระไตรปิฎก


พระวินัยปิฎก


พระสุตตันตปิฎก


พระอภิธรรมปิฎก


สารบัญเล่มย่อยพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๑ วินัยปิฎกที่ ๐๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๒ วินัยปิฎกที่ ๐๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๓ วินัยปิฎกที่ ๐๓ ภิกขุนีวิภังค์ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๖ วินัยปิฎกที่ ๐๖ จุลวรรค ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๗ วินัยปิฎกที่ ๐๗ จุลวรรค ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๘ วินัยปิฎกที่ ๐๘ ปริวาร [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎกที่ ๐๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎกที่ ๐๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎกที่ ๐๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎกที่ ๐๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎกที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎกที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎกที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอกก ทุก ติกนิบาต [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก ฉักกนิบาต [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก อัฏฐก นวกนิบาต [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก เอกาทสกนิบาต [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎกที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ สุตตันตปิฎกที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๑ ธัมมสังคนี [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๒ วิภังค์ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๓ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๗ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๔ กถาวัตถุ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๘ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๕ ยมก ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๙ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๖ ยมก ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๐ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๗ ปัฏฐาน ภาค ๑ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๑ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๘ ปัฏฐาน ภาค ๒ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๒ อภิธรรมปิฎกที่ ๐๙ ปัฏฐาน ภาค ๓ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๓ อภิธรรมปิฎกที่ ๑๐ ปัฏฐาน ภาค ๔ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๔ อภิธรรมปิฎกที่ ๑๑ ปัฏฐาน ภาค ๕ [กลับด้านบน]
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๕ อภิธรรมปิฎกที่ ๑๒ ปัฏฐาน ภาค ๖ [กลับด้านบน]


[กลับด้านบน]

35 ความคิดเห็น :

  1. อยากดาวน์โหลดไว้อ่อนตอนไม่ได้ออนไลน์ ทำไงครับ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีครับ

    ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

    ดาวน์โหลดได้ที่หน้า download เลยครับ ทำตามรายละเอียดในหน้านั้นเลยนะครับ ลิ้งค์จะอยู่อันสุดท้ายของสารบัญนะครับ

    ตอบลบ
  3. ถ้าติดขัดดาวน์โหลดไม่สำเร็จก็แจ้งเข้ามาใหม่ได้นะครับ

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนา สาธุครับ
    ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  5. ผมกำลังสนใจศึกษาพระไตรปิฎก อยากทราบว่าถ้าอ่านฉบับมหาจุฬาฯ ก็คือเป็นคำสอนดั้งเดิมของเถรวาทเลยใช่ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ในแง่นี้ไม่สามารถยืนยันได้อย่างสมบูรณ์นะครับว่าพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าฉบับไหน มีเนื้อหาที่เป็นคำสอนดั้งเดิมของเถรวาทแบบ 100% ไม่ผิดเพี้ยน (พระไตรปิฎกภาษาไทยแต่ละฉบับมีเนื้อหาที่เป็นแกนหลักเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สำนวนการแปล) บอกได้แต่เพียงว่าพระไตรปิฎกของเถรวาททั้งฉบับมหาจุฬาฯ และฉบับอื่นๆ เป็นหนังสือที่น่าเชื่อถือที่สุดว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมของเถรวาทครับ

      ทั้งนี้เพราะหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานและมีการสังคายนาคือสรุปรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่แล้วนั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ แต่ใช้วิธีท่องจำปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น สืบทอดกันมาอีกหลายร้อยปี จนพระพุทธศาสนาเผยแพร่สู่ประเทศศรีลังกาแล้ว ภายหลังจึงมีการบันทึกพระไตรปิฎกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกโดยบันทึกเป็นภาษาสิงหลครับ หลังจากนั้นประมาณ พ.ศ. 900-1000 พระพุทธโฆษาจารย์ภิกษุชาวอินเดียจึงเดินทางไปที่ศรีลังกาเพื่อแปลพระไตรปิฎกภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี แล้วเผาพระไตรปิฎกฉบับภาษาสิงหลทิ้งไป

      ซึ่งการสืบทอดแบบปากต่อปากในหลายชั่วอายุคน การแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาสิงหล หรือแม้แต่การแปลจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลีแล้วเผาทำลายต้นฉบับภาษาสิงหลทิ้งไปนั้น (ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องในการแปลครั้งนั้นได้อีก) ไม่มีใครรับรองได้ว่าเนื้อหาต่างๆ จะถูกต้องสมบูรณ์ 100% โดยไม่มีข้อผิดพลาดและไม่มีการแทรกสอดความเชื่อส่วนตัวของผู้สืบทอดเข้าไปเลยนะครับ

      ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นจุดที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพระไตรปิฎกในจุดต่างๆ นำมาใช้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธเนื้อหาที่ไม่ตรงกับความเห็นของตน โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่มีการแทรกเข้าไปภายหลังไม่ใช่คำสอนแท้ดั้งเดิม

      ดังนั้นผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกก็ต้องศึกษาให้กว้างขวาง คือศึกษาหลายๆ พระสูตรประกอบกันให้มากที่สุดนะครับ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีแนวทางที่เป็นหลักอย่างไรกันแน่ จะได้ใช้วิจารณญาณได้อย่างถูกต้องและมั่นใจได้ว่าตนเองมีความเข้าใจพระธรรมได้อย่างถูกต้องแท้จริง โดยไม่ถูกความเห็นดั้งเดิมของตน (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้) รวมถึงความเชื่อของสังคมครอบงำหรือหลอกเอา

      แต่ก็แน่นอนครับว่าไม่มีคัมภีร์ไหนจะน่าเชื่อถือว่าตรงกับพุทธพจน์มากเท่าพระไตรปิฎกอีกแล้ว

      ขออนุโมทนาที่ใส่ใจที่จะศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้ง และขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  6. ขอบพระคุณท่านผู้จัดทำมากๆครับ เป็นยอดวิทยาทานโดยแท้

    ตอบลบ
  7. กราบขอบพระคุณมากๆครับ

    ตอบลบ
  8. สาธุ สาธุ สาธุ อำนวยประโยชน์ในการใช้บรรยายธรรมอย่างมาก

    ตอบลบ
  9. อนุโมทนากับคณะผู้จัดทำด้วยครับ มีประโยชน์อย่างมากครับ

    ตอบลบ
  10. อนุโมทนาสาธุครับ

    ตอบลบ
  11. มีบางจุดคือ
    1 จาก พระไตรปิฎกออนไลน์-หน้าหลัก บอกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงน่าจะหายากแล้วเพราะเป็นฉบับเก่ามาก คือผมเข้าใจว่ามันก็หาอ่านได้ง่ายๆจาก web 84000.org ไม่ใช่หรือครับ??
    2 จากหน้าเดียวกันบอกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ใช้สำนวนสมัยเก่าทำให้ไม่น่าสนใจเท่าฉบับมหามกุฏกับฉบับมหาจุฬา คือเหตุผลมันไม่น่าจะเหมาะมั๊งครับ อ้างว่าสำนวนเก่าเลยไม่น่าสนใจ มันน่าจะอยู่ที่ความถูกต้องของการแปลมากกว่า ถ้าอ่านแล้วเข้าใจแต่เป็นความเข้าใจที่ผิดๆหล่ะ ผมว่าไม่เข้าใจยังจะดีกว่านะครับ
    แชร์ความเห็นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่งๆขึ้นไป
    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณคุณ wakeup นะครับที่กรุณาแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ http://tripitaka-online.blogspot.com

      ขออนุญาตชี้แจงนิดนึงนะครับ

      1. ผมระบุเอาไว้ชัดเจนนะครับว่า "ที่เป็นเล่มหนังสือ" (ใช้เป็นตัวหนาด้วยครับ)

      ผู้สนใจท่านใดที่สนใจจะอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง สามารถอ่านได้ที่ www.84000.org ตามที่คุณ wakeup ได้แนะนำเอาไว้นะครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลด้วยครับ

      2. ผมไม่อาจจะก้าวล่วงไปถึงขั้นว่าฉบับไหนแปลผิดนะครับ เพราะฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับ ก็แปลโดยมหาวิทยาลัยสงฆ์อันดับต้นของเมืองไทยอยู่แล้ว

      ผมเพียงแค่แสดงความเห็นเพื่อให้ผู้ที่เริ่มศึกษาพระไตรปิฎกได้ศึกษาได้โดยสะดวก ทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่ท้อถอยไปเสียก่อนเท่านั้น

      ส่วนผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างช่ำชองแล้ว การได้อ่านหลายฉบับเปรียบเทียบกัน รวมถึงฉบับหลวงด้วย ก็ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าอยู่แล้วครับ

      ข้อความไหนที่ทำให้คุณ wakeup ไม่พอใจ ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

      ธัมมโชติ


      ลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ11 ตุลาคม 2563 เวลา 22:38

      คุณ ธัมมโชติ เป็นพระรึป่าวครับผมจะสมัครเป็นลูกศิษย์:

      ลบ
    3. ผมเป็นฆราวาสครับ ^ ^

      ลบ
  12. ขอบคุณครับคุณธัมมโชติ ที่มาช่วยอธิบายให้ชัดเจนขึ้น :)

    ตอบลบ
  13. สาธุ อนุโมทนาในความพากเพียรเพื่อช่วยเผยแพร่พระธรรมคำสอน เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจค่ะ

    ตอบลบ
  14. เริ่มสนใจศึกษาพระไตรปิฎกครับ เพื่อเจริญรอยตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ตอบลบ
  15. นมัสการครับ ท่านพระอาจารย์ ธัมมโชติ คือว่ากระผมอยากทราบ
    ประวัติการทำสังคายนาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้ายที่ทำใน
    ประเทศไทย
    จึงเรียนมาเพื่อขอความเมตตากรุณาอนุเคราะห์คำตอบ
    กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      ขออภัยด้วยครับ ผมไม่มีข้อมูลเรื่องการทำสังคายนาในประเทศไทยเลยครับ ถ้าสนใจเรื่องการทำสังคายนาครั้งที่ 1 ถึง 5 ดูได้จากลิ้งค์นี้นะครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  16. สวัสดีครับ คุณ ธัมมโชติ กระผมอ่านแล้วไม่เข้าใจตรงที่เชิงอรรถ
    อธิบายไว้ ยกตัวอย่าง เป็นสุขอย่างยิ่ง๑ เชิงอรรถ ๑.ขุ.อุ.๒๕/๑๑/๑๐๕ และ
    (สาร ตุ ถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๘) ในวงเล็บนี้ค้นอย่างไรครับ
    จึงเรียนมาเพื่อขอความเมตตากรุณาอนุเคราะห์คำตอบครับ
    ขอแสดงความนับถือครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      ตัวย่อคัมภีร์ในเชิงอรรถ ศึกษารายละเอียดได้จากลิ้งค์นี้นะครับ
      พจนานุกรมศัพท์เชิงอรรถพระไตรปิฎก

      อย่างในคำถาม

      ขุ.อุ.๒๕/๑๑/๑๐๕ หมายถึง ขุทฺทกนิกาย อุทาน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๑
      สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๘ หมายถึง สารตฺถทีปนีฏีกา (เป็นคัมภีร์ชั้นฎีกา)

      ขอขยายความตามนี้ครับ

      คัมภีร์ที่อาจารย์ต่างๆ เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เขียนขยายความพระไตรปิฎก เรียกว่าคัมภีร์อรรถกถา
      คัมภีร์ที่อาจารย์รุ่นหลังเขียนขยายความคัมภีร์อรรถกถา เรียกว่าคัมภีร์ฎีกา
      คัมภีร์ที่อาจารย์รุ่นหลังๆ เขียนขยายความคัมภีร์ฎีกา เรียกว่าคัมภีร์อนุฎีกา

      เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูลในเชิงอรรถ สามารถเข้าไปอ่านพระไตรปิฎกได้ที่ https://84000.org/ นะครับ
      ที่เชิงอรรถ ถ้าเล่มไหนมีข้อมูลอยู่ในเว็บฯ จะสามารถคลิกลิ้งค์เข้าไปอ่านได้เลยครับ

      ขอให้เจริญในธรรมนะครับ
      ธัมมโชติ

      ลบ
  17. อนุโมทนาสาธุค่ะ ขอบพระคุณที่ทำให้สามารถศึกษาพระไตรปิฎกได้ง่ายและสะดวกขึ้นนะคะ อยากให้ชาวพุทธได้มีโอกาสได้อ่านและศึกษาค่ะ

    ตอบลบ
  18. ไม่ระบุชื่อ5 กรกฎาคม 2565 เวลา 23:31

    อนูโมทนา สาธุด้วยนะคะ สำหรับข้อมูลพระไตรปิฎก ช่วยให้สามารถอ่านได้สะดวกขึ้นมากและทำให้สนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติม ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้ง ขอให้เจริญๆนะคะ Malee 5/7/65

    ตอบลบ
  19. อนุโมทนาสาธุค่ะ กราบขอบพระคุณสำหรับข้อมูลพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความสนใจและเริ่มต้นศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอย่างมากค่ะ เมื่อก่อนคิดว่าการศึกษาพระไตรปิฎกนั้นควรเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พอได้มาเริ่มศึกษาพระไตรปิฎก จริงๆแล้วการศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อให้เข้าใจหลักธรรมคำสอนอันลึกซึ้งของพระพุทธองค์เป็นเรื่องของพุทธบริษัททั้ง ๔

    ตอบลบ
  20. ไม่ระบุชื่อ27 พฤษภาคม 2566 เวลา 22:51

    ลุงจันขอให้ความคิดมาว่า (๑)ฆราวาสผู้เป็นหนึ่งในบริษัทสี่นั้น พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า .. ตราบใดถ้าบริษัทในศาสนาของพระองค์...พระศาสนาก็จะยังยั่งยืน... ดังนั้นลุงจันจึงว่าการศึกษาพระไตรปิฎกจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์ และเมื่อเรามีเน็ตให้ค้นคว้าได้จึงควรศึกษา แต่ก็ต้องด้วยความระมัดระวัง เพราะทุกวันนี้คนไม่ดีแทรกเข้ามาทำลายบิดเบือนมาก หรือคุณภาพของผู้ให้ความเห็นลดลงโดยมิได้แกล้งฯ ก็เป็นไปตามหลักความเสื่อม อนึ่งเมื่อรู้มากแล้วก็อย่าไปไล่เบี้ยอวดรู้กับพระซึ่งท่านอาจบวชใหม่หรือเรียนมาน้อยหากท่านเพ่งไปในทางฝึกตน จะได้ไม่มีบาปตามไปชาติหน้าให้อาจเป็นคนเรียนช้าขี้หลงลืมเอาได้. อย่าลืมว่าภิกษุณีแม้บวชมาร้อยปีก็ต้องไหว้ภิกษุแม้บวชได้วันเดียว นั่นมีเหตุผลอะไรเราไม่รู้ไม่มีคำอธิบาย แต่เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสอุปมาธรรมฯไว้ดุจดินในซอกเล็บหรือใบไม้ในกำมือ เป็นต้น.ขอท่านทั้งปวงจงเจริญในพระสัทธรรมฯ.

    ตอบลบ
  21. ไม่ระบุชื่อ2 ตุลาคม 2566 เวลา 16:03

    อนุโมทนาบุญกับคณะผู้บริหารจัดการบริหารให้บริการพระไตรปิฎก ออนไลน์ มจร / สาธุ สาธุ. สาธุ

    ตอบลบ
  22. ไม่ระบุชื่อ29 ตุลาคม 2566 เวลา 16:49

    ขออนุญาตเรียนถามครับทำไมพระไตรปิฎกออนไลน์ 45 เล่มฉบับ มจร. ไม่เอาส่วน "บทนำ" มาลงด้วยครับเพราะมีสาระเนื้อหาโดยย่อได้นำเสนอไว้ในบทนำอย่างครบถ้วนเหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยสนใจศึกษาดูว่าแต่ละเล่มว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง ถ้านำมาลงแบบออไลน์ด้วยจะมีประโยชน์มากเลยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      เนื่องจาก​พระไตรปิฎกออนไลน์ 45 เล่มฉบับ มจร. ในเว็บนี้ไม่ได้จัดทำ​ขึ้น​จาก​หนังสือ​พระ​ไตรปิฎก​ฉบับ​ที่เป็นเล่มหนังสือ​จริง​ๆ ครับ​ แต่ได้นำข้อมูล​ทั้ง​หมดมาจาก "โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย MCUTRAI Version 1.0"

      ดังนั้น​ ข้อมูล​ในส่วน​พระไตรปิฎก​ในเว็บนี้จึงมีเฉพาะ​ที่มีอยู่ในโปรแกรมดังกล่าว​เท่านั้น​ครับ​ จึง​ขาดเนื้อ​หาในส่วนบทนำไป

      ต้องขออภัย​ในเรื่อง​นี้​ด้วย​ครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ
  23. ไม่ระบุชื่อ9 ธันวาคม 2567 เวลา 13:43

    คำสอนเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" มีในพระสูตรใด (พระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย)

    ตอบลบ
    คำตอบ

    1. สวัสดีครับ

      ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์พระไตรปิฎกออนไลน์ https://tripitaka-online.blogspot.com

      คำสอนเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" คือ การเคยอยู่ร่วมกันมาในกาลก่อน อันเป็นเหตุหนึ่งของความรักนั้น มีกล่าวไว้ใน "สาเกตชาดก" ดังนี้ครับ

      พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
      เล่มที่ ๕๗ หน้าที่ ๔๕๗ ข้อที่ ๓๒๓ - ๓๒๔

      ๗. สาเกตชาดก

      เหตุให้เกิดความรัก
      [๓๒๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุไรหนอ
      เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าก็เฉย ๆ
      หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้าจิตก็เลื่อมใส.
      [๓๒๔] ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒
      ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน
      ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน เหมือนดอก
      อุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะ
      อาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม
      ฉะนั้น.
      จบ สาเกตชาดกที่ ๗

      อรรถกถาสาเกตชาดกที่ ๗

      พระศาสดา เมื่อประทับอาศัยเมืองสาเกตทรงปรารภ
      สาเกตพราหมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โก นุ โข
      ภควา เหตุ ดังนี้.
      ส่วนเรื่องราวในชาดกนี้ ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันกล่าวไว้
      ในเอกนิบาตในหนหลังแล้ว.
      ก็ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปสู่วิหาร ภิกษุทั้งหลายทูล
      ถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อว่า ความรักนี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร
      กล่าวคาถาแรกว่า :-
      ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุไรหนอ
      เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าก็เฉย ๆ
      หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้าก็เลื่อมใส.
      เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุให้บุคคล
      บางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าเท่านั้นหัวใจก็สงบนิ่งสนิท คือ
      เยือกเย็นดังเอาน้ำหอมพันหม้อมารด บางคนไม่สงบ บางคน
      พอเห็นกันเข้าเท่านั้นก็มีจิตผ่องใสอ่อนลมุนละไม เยื่อใยต่อกัน
      ด้วยอำนาจความรัก บางคนก็ไม่เยื่อใยต่อกัน.
      ลำดับนั้นพระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งความรัก
      แก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-
      ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสอง
      ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑
      ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือน
      ดอกอุบลเมื่อเกิดในน้ำย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ
      สองประการ คือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น.
      เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดา
      ความรักนี้ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการ คือได้เป็นมารดา บิดา ธิดา บุตร พี่น้องชาย พี่น้องหญิง สามี ภรรยา หรือ สหายมิตร
      กันในภพก่อน เคยอยู่ร่วมที่เคียงกันมา ความรักนั้นย่อมไม่ละ
      คงติดตามไปแม้ในภพอื่น เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน
      อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะความเกื้อกูล
      กันในปัจจุบันอันได้ทำในอัตภาพนี้. ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้น
      ด้วยเหตุสองประการฉะนี้ เปรียบเหมือนอุบลในน้ำฉะนั้น คือ
      เหมือนอุบลและบุปผชาติที่เกิดในน้ำต่าง ๆ เกิดในน้ำก็ได้อาศัย
      เหตุสองอย่าง คือน้ำและเปือกตมฉันใด ความรักก็ย่อมเกิดด้วย
      เหตุสองประการนี้ฉะนั้น.
      พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
      ชาดก. พราหมณ์และพราหมณีในครั้งนั้นได้เป็นชนทั้งสองนี้
      ในครั้งนี้ ส่วนบุตร คือเราตถาคตแล.
      จบ อรรถกถาสาเกตชาดกที่ ๗

      ส่วนในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
      จะอยู่ใน เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๑๑๐ ข้อที่ ๑๗๓ - ๑๗๔
      แต่ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะไม่มีอรรถกถา ขยายความครับ

      ธัมมโชติ

      ลบ